วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2018, 07:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




1553685719098.jpg
1553685719098.jpg [ 94.14 KiB | เปิดดู 2144 ครั้ง ]
จิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ที่ปรากฏในพระสูตรและพระอภิธรรม

ความหมายของจิตในพุทธศาสนาเถรวาท

1 ความหมายของจิตและไวพจน์ของจิต

จิตเป็นคำที่แสดงความหมายในเชิงธรรมนาม ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นจิตมาจากธาตุ “จิต”แปลว่า คิด ดังนั้นคำว่าจิตใ จ ความหมายว่าความคิด สภาพที่นึกคิด ใจ ธรรมชาติที่รู้จักอารมณ์ หรือ วิญญาณ (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) 2532:329)

ที่กล่าวว่าจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เพราะจิตนั้นรับอารมณ์ทั้ง ภายนอกและภายใน เสมอจึงเรียกว่ารู้อารมณ์ โดยสภาพเช่นนี้จิตจึงเป็นผู้รู้ หรือตัวรับรู้ ดังบาลีว่า

“จินเตตีติ จิตตํ อารมมณํ วิชานาตีติ อตโถ”

“ธรรมชาติที่ชื่อว่าจิต เพราะคิดหรือรู้อารมณ์”(สงคห. 63)

คำว่าจิต มีชื่อเรียกต่างๆกันไปหลายชื่อ คำเหล่านี้ต่างกันเพียงรูป แต่มีความหมาย เหมือนกันหรือคลายกัน ใช้แทนกันได้ คำไวพจน์ (synonyms) ของจิต ได้แก่ มโนมานัสหรือมนัส หทัย ปัณฑระ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ และมโนวิญญาณธาตุ คำเหล่านี้มีความหมายเกยกัน มิใช่ตรงกันโดยสมบูรณ์ (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต )2532 :329)ใช้แทนกันได้ในบางโอกาส มิใช่ใช้แทนกันได้ทุกโอกาสเสมอไป ในพระอภิธรรมปิฎก คัมภีร์ธัมมสังคณี ได้กล่าวคำเหล่านี้ไว้ว่า

“ธรรมชาติใดที่มีในสมัยนั้น คือ มโนทัย มนัส หทัย ปัณฑระ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ อันสมควรแก่ธรรมทั้งหลาย มีผัสสะเป็นต้น เหล่านั้น ธรรมชาตนั้นคือมนินทรีย์”(อภิ.สํ. 34/21/10 )

ไวพจน์ของจิตเหล่านี้ มุ่งแสดงความหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่ทีเรียกชื่อไปต่างๆกันนั้น ก็เพราะทำหน้าที่ต่างกัน เหมือนกับบุคคลเดียวกัน แต่มีหลายบทบาทหลายหน้าที่เช่นเป็นพ่อของบุตร ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่เป็นครูบ้าง เป็นผู้อำนวยการบ้าง เป็นประธานบ้าง เป็นลุงบ้าง เป็นตาบ้าง เป็นต้น ตามหน้าที่ตามภาวะของแต่ละคน

คำไวพจน์ของจิตเหล่านี้แยกอธิบายได้ดังนี้

1. มโน มาจากธาตุ “ มนุ” แปลว่าคิดดั้งนั้น มโน จึงมีความหมายว่า ความคิดตัวรับรู้ หรือสภาพที่คิด มโนแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า ใจ เช่นในคาถาว่า มโนปุพุพงุคมา(ขุ .ธ.25/11/15) แปลว่ามีใจสภาพถึงก่อน หรือมีใจเป็นประธาน คำว่ามโนทุจิต (ที.สี.11/228/227; อภิ.สํ.34/840/327) แปลว่าความประพฤติชั่วด้วยใจ มโนมยิทธิ

(ที.สี.9/131/101)แปลว่าฤทธิ์ทางใจหรือว่าฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ เป็นต้น ถ้าคำว่ามโนใช้กับคำว่าวิญาณ ย่อมมุ่งหมายแสดงสภาวะของการรับรู้อารมณ์โดยตรงนั่นคือรู้อารมณ์ทางใจหรือความนึกคิด

2.มานัสหรือมนัส มาจาก ธาตุ มนุ แปลว่าคิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นมานัสจึงมีความหมายเช่นเดียวกับมโนดังตัวอย่างกับข้อความต่อไปนี้

“วธเก เทวทตฺตมฺหิ โจเร องฺคุลืมาลเก

ธนปาเล ราหุเล จ สพฺพตฺถ สมมานโส”

“พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยสม่ำเสมอกันในสัตย์ทั้งปวง คือนายขมังธนู พระเทวทัต โจรคุลิมาล ช้างธนบาล และพระราหุล”

(ธ.อ. 1/142)

3 .หทัย มาจาก ธาตุ “หร” + ย ปัจจัย (เปลี่ยน ร เป็น ท) ธาตุ “หร” แปลว่าจับเอายึดเอา ยึดถือ (ประยุทธ์ หลงสมบูญ ม.ป.ป.:700) ดังนั้นคำว่าหทัยจึงหมายถึงสิ่งที่ยึดจับ ซึ่งก็คือใจนั่นเอง เช่นคำว่า “หทยงฺคมาวาจา” แปลว่าถ้อยคำอันจับใจหรือคำว่า “นิพฺพินฺนหทโย” (ธ.อ.1/18)แปลว่าผู้มีใจเบื่อหน่ายแล้วความหมายเหล่านี้แสดงให้

เห็นว่าหทัยนั้นบ่งถึงความรู้สึกนึกคิดด้วยนอกจากนั้น “หทัย” ยังมีความหมายเชิงรูปนามธรรมด้วยเป็นหนึ่งในจำนวนอปาทายรูป 24 (อภิ.สฺ.34/504/185) หทัยรูปได้แก่ หทัยวัตถุ หมายถึงที่ตั้งแต่ใจ คือหัวใจ (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต 2532:84) พระอรรถาจารยณ์รุ่นหลังตีความหมายว่าหทัยวัตถุหน้าจะหมายถึงสมองซึ่งความเห็นนี้ค้านกับความเห็นของพระพทุธโฆษาจารณ์ที่เห็นว่าหทัยวัตถุ หมายถึงหัวใจ (วิสุทธิ. 3/11) ส่วนความเห็นรุ่นหลังที่เห็นว่าหทัยวัตถุหมายถึงสมองนั้น เพราะสมองเป็นที่ตั้งของความคิด ปัญญา และความรู้สึกต่างๆที่อาศัยอยู่ในร่างกายก็อาศัยสมองันนี้เป็นที่ตั้งของประสาทต่างๆ (สมเด็ดพระญาณสังวร สมเด็ดพระสังฆราช สกลมหาฆปรินายก 2539:193)

4.ปัณฑระ แปลว่าธรรมชาติที่ผ่องใส ในที่นี้หมายถึงจิตเหตุที่ใช้คำว่า ปัณฑระเป็นชื่อของจิต ก็เพื่อต้องการแสดงให้ทราบว่า จิตนี้สามารถทำให้ผ่องใส ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสได้ แต่ที่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสที่จรมา” (องฺ. เอก.20/50/11)

อุปกิเลสหมายถึง อวิชา (ความรู้เท่าไม่ทันความเป็นจริง) ตัณหา (ความยาก) อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ซึ่งเป็นสิ่งที่หมักหมมอยู่ในจิตใจของเรา และเป็นต้นเหตุให้จิตไปเกาะอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ที่น่าปรารถนาก็ก่อให้เกิดความกำหนด ที่ไม่น่าปรารถนาก็ก่อให้เกิดความขุ่นเคือง ซึ่งทั้งความกำหนัด และความขุ่นเคือง ที่เกิดจากความได้สัมผัสอารมณ์ต่างๆนี้เองที่ทำให้จิตต้องเศร้าหมองไป ไม่แจ่มใสอย่างที่ควรจะเป็นลักษณะของจิตที่ผ่องใสยอ่มเป็นจิตที่ปราศจากอุปกิเลส มีความบริสุทธิ์แน่วแน่ ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ภายนอก อ่อนโยนเหมาะแก่การงาน คือบังคับควบคุมให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของเราได้ (ที.สี.9/132/102)จากความหมายของปัณฑระนี้ ทำให้เห็นได้ว่า จิตนั้นเป็นสภาวะเดิมเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส ซึ่งปราศจากอุปกิเลสต่างๆ และจิตนี้มีธรรมชาติที่เป็นอาการซึ่งหมายถึความคิดต่างๆคิดดีก็มีคิดไม่ดีก็มีตัวความคิดนี้เป็นจิตที่เป็นอาการไม่ใช่สภาวะเดิม จิตที่เป็นอาการนี้เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทุกขณะจิต อาการที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตก็คือเรื่องราวที่ปรากฏเป็นกิเลส เป็นความคิดปรุงแต่งต่างๆ (สมเด็ดพระญาณสังวร สมเด็ดพพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก 2539 :194)

5 มนายตนะ มาจากธาตุ “มนุ” + อายตนะ (ที่ติดต่อหรือที่เชื่อมต่อเพื่อรับรู้อารมณ์) มนายตนะจึงแปลว่าใจที่เชื่อมต่อของความนึกคิด (ที . ปา. 11/304/225;อภิ . วิ . 35/99/85).ในประเด็นนี้จึงมุ่งกล่าวถึงจิตในฐานะที่เป็นอายตนะหนึ่งในบรรดาอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

6 มนินทรีย์ มาจากธาตุ “ มนฺ”+อินทรีย์ (สิ่งที่เป็นใหญ่ของการทำหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง ) มินนทรีย์ แปลว่า อินทรีย์ คือใจ (อภิ. วิ .35/236/161 )ซึ่งเป็นความหมาย

7 วิญญาณ มาจากอุปสรรค “วิ” แปลว่าต่าง , หลากหลาย + ธาตุ “ญา” แปลว่า “รู้” ดังนั้น คำว่า “วิญญาณ” จึงหมายถึงรู้ความต่างจำเพาะ หรือรู้อย่างหลากหลาย รู้ในที่นี้คือรู้อารมณ์นั่นเอง บางแห่งท่านให้ความหมายว่า ความรู้แจ้งอารมณ์ หมายถึงความรู้ประเภทยืนพื้น หรือความรู้ที่เป็นตัวยืน เป็นฐานและเป็นทางเดินให้กับขันธ์อื่นๆ ทั้งหมด (พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตโต) 2538 : 17 - 18) ความรู้แจ้งอารมณ์นี้เป็นการรับรู้โดย ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 และทางใจด้วย คือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ

จากความหมายข้างต้นจึงทำให้เห็นลักษณะพิเศษของวิญญาณ คือเป็นการรู้ความต่างจำเพาะ รู้ความหมายจำเพาะ หรือรู้แยกต่าง เช่น เมื่อเห็นผืนผ้าลาย ที่ว่าเห็นนั้น ไม่เพียงแต่เห็นเท่านั้น แต่รู้ลักษณะอาการ เช่น สีสัน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันเป็นพื้นอยู่ด้วย ที่เป็นความรู้ขั้นวิญญาณ(consciousness) เพราะวิญญาณรู้เห็นความแตกต่างนั้นอยู่ แม้จะไม่ได้กำหนดหมายว่าอะไรเป็นอะไรก็ตาม อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อรับประทานผลไม้ แม้จะไม่ได้กำหนดหมายว่าเป็นรสเปรี้ยว รสหวาน ก็รู้รสหวาน ที่เปรี้ยวนั้นซึ่งแตกต่างกัน และแม้ในรสที่เปรี้ยวหรือหวานด้วยกัน แม้จะไม่ได้กำหนดหมายรู้ว่าเป็นรสเปรี้ยวมะม่วง เปรี้ยวมะปราง หรือเปรี้ยวสับปะรด หรือหวานกล้วยหอม หวานกล้วยไข่ หรือหวานแอปเปิ้ล แต่เมื่อลิ้มก็ย่อมรู้รสที่ต่างจำเพาะนั้น ความรู้อย่างนี้คือวิญญาณ เป้นความรู้ยืนพื้น เมื่อรู้แล้วนามขันธ์อื่นๆก็จะปฏิบัติตามมา เช่น หมายรู้ว่ารสหวานคืออะไร รสเปรี้ยวอะไร(สัญญา) รู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย(เวทนา) เป็นต้น การรู้อารมณ์ของวิญญาณนี้เป็นกิจกรรมประจำของจิต ดังนั้นวิญญาณจึงแสดงความหมายของจิต ในแง่ที่เป็นความรู้นั่นเอง และเป็นความรู้ที่แยกความหลากหลายของสิ่งต่างๆด้วย

8 วิญญาณขันธ์ แปลว่ากองแห่งวิญญาณ เป็นศัพท์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติใช้ในขันธ์ 5 เพื่อแสดงว่าวิญญาณมีอยู่หลายหมู่หลายประเภท ได้แก่ จักขุวิญญาณ(วิญญาณทางตา หรือการเห็นรูป)เป็นกองหนึ่ง โสตวิญญาณ(วิญญาณทางหูหรือการได้ยินเสียง)เป็นกองหนึ่ง ฆานวิญญาณ(วิญญาณทางจมูก หรือการได้กลิ่น)เป็นกองหนึ่ง ชิวหาวิญญาณ(วิญญาณทางลิ้นหรือการรู้รส)เป็นกองหนึ่ง กายวิญญาณ(วิญญาณทางกายหรือการรู้สัมผัสทางกาย)เป็นกองหนึ่ง และมโน

วิญญาณ(วิญญาณในมโนทวารหรือการนึกคิดอารมณ์ที่รับมาจากทวารทั้ง 5)จัดเป็นกองหนึ่ง (ที.ปา. 11/306/255; อภิ.วิ. 35/120/105)

9 มโนวิญญาณธาตุ แปลว่าธาตุคือมโนวิญาณ (อภิ.วิ. 35/124/108) เป็นศัพท์ที่ใช้ในอภิธรรม หมายถึงวิญญาณในวิถีที่เรียกว่าวิถีวิญญาณ หรือวิถีจิตในส่วนเฉพาะที่เป็นอาวัชชนจิต(อาการที่จิตรับอารมณ์ใหม่เป็นครั้งแรกของวิถีจิตแต่ละขณะ) และสัมปฏิจฉนจิต(อาการที่จิตรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ แต่ยังไม่ถึงชวนจิต) การบัญญัติศัพท์คำนี้มุ่งแสดงให้เห็นความเป็นธาตุของมโนวิญญาณ ซึ่งเป็นความคิดของจิตและความคิดของจิตนี้เอง ที่เป็นธาตุที่ทรงสภาวะของคนอยู่อย่างนั้นเอง ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น ความคิดของจิต หรืออาการรับอารมณ์ในวิถีของจิตนั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีผู้ใดสร้างหรือบันดาลให้จิตมีธรรมชาติอย่างนั้น

ในพระสูตรที่ชื่อว่าธาตุวิภังค์ ได้กล่าวบุรุษสตรีบุคคลว่ามีกายและจิตประกอบกันอยู่ และจิตนั้นเรียกว่า วิญญาณธาตุ (ม.อุ. 14/169/125) แปลว่า ธาตุรู้ หมายถึงจิตที่เป็นธรรมชาติหรือสภาวะเดิม ที่เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้นี้ย่อมผ่องใสควรแก่การงาน คือควบคุมได้

นอกจากนั้นในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาและฎีกายังให้ความหมายของจิตว่าเป็นสิ่งที่วิจิตร เพราะจิตมีอำนาจในการทำธรรมชาติทั้งหลายให้วิจิตรได้ 6 ประการด้วยกัน (สงคหฎีกา 74)คือ

1. วิจิตตกรณา จิตฺตํ (วิจิตรโดยการกระทำ) หมายความว่าที่ชื่อว่าจิตเพราะสร้างสิ่งที่วิจิตร คำว่าวิจิตร ตามรูปศัพท์หมายถึงความหลากหลาย มากมาย หรือว่าชนิดต่างๆ เพราะจิตนี้เองจึงทำให้วัตถุสิ่งของและความประพฤติของสัตว์โลกทั้งหลายในโลก มีการกระทำต่างๆคือให้มีความงดงาม น่าดู แปลกประหลาดและน่าสะพรึงกลัว

2. อตฺตโน จิตฺตตาย (วิจิตรด้วยตนเอง) หมายความว่าที่ชื่อว่าจิต เพราะตัวเองก็วิจิตร จิตสามารถสร้างสิ่งที่วิจิตรได้ ก็เพราะว่าจิตเองนั้น ก็มีความวิจิตรอยู่ด้วย กล่าวคือสภาพของจิตนั่นเองทั้งที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เช่น จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตฟุ้งซ่าน หรือ จิตมีศรัทธา จิตมีปัญญา จิตสงบ เป็นต้น ความวิจิตรของจิตนี้เองที่พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบกับความหลากหลายของสัตว์ทั้งหลายที่แม้มีมากหลายสายพันธุ์ และมีสีสันสวยงาม วิจิตรพิสดารมากมายหลายชนิดก็ตาม แต่ก็ยังไม่เทียบเท่าความวิจิตรของจิต ที่ถูกปรุงแต่งเป็นหลากหลายสภาพ ดังที่

พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า แม้สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นจะดูวิจิตร แต่จิตก็ยังวิจิตรกว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น (ส.ข. 17/259/184)

3. จิตฺตํ กมฺมกิเลเสหิ (วิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส) หมายความว่าชื่อว่าจิต เพราะถูกกรรมและกิเลสทำให้วิจิตร คือจิตนี้เป็นตัวเก็บสั่งสมกรรมและกิเลสที่ทำไว้ทั้งหมด คือบาปบุญทั้งหลาย จิตเป็นตัวสั่งสมเก็บเอาไว้ และสามารถนำข้ามภพข้ามชาติไปได้อีกด้วย

สิ่งที่เป็นตัวการให้จิตมีความวิจิตร ก็คือกรรมกิเลส (กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม) ได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลสเป็นแรงผลักดันให้ทำกรรม ส่วนกรรมก็เกิดมาจากกิเลสที่สั่งสมอยู่ในจิตนั่นเอง หมุนเวียนส่งผลไปตลอดสังสารวัฏ

4. จิตฺตํ ตายติ (วิจิตรในการรักษาวิบาก) หมายความว่า ที่ชื่อว่าจิต เพราะรักษาวิบาก(ผลกรรม)ทำให้วิจิตร ความวิจิตรในที่นี้ก็คืออาการหรือคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความรู้ ความถนัด ความสามารถ ความเคยชิน อุปนิสัย เป็นต้น เมื่อกล่าวโดยสภาพทั่วไปแล้ว คนเราย่อมมีคุณสมบัติหรืออาการต่างๆ เหล่านี้ไม่เหมือนกัน อาการหรือคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นความวิจิตรของจิต เกิดมาจากจิต เพราะจิตเป็นผู้เก็บรักษาไว้ คือกรรมทั้งหมดที่ทำไว้นั้น จิตเป็นตัวรักษาวิบาก คือผลของกรรมนั้นไม่ให้สูญหายไปไหน แล้วผลของกรรมนั้นก็จะปรากฎขึ้นมาเมื่อถึงโอกาส

5. จิโนติ อตฺตสนฺตานํ (วิจิตรในการสั่งสมสันดานของตน) หมายความว่าที่ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมไว้ซึ่งการแผ่ขยายของตน สั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อของตน และสั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อเพื่อการมีตัวตนต่อไป การแผ่ขยาย หมายถึงการที่จิตขึ้นสู่วิถี เพื่อรับอารมณ์ และสั่งสมผลของการเสวยอารมณ์นั้นสู่ภวังคจิต จากนั้นก็สามารถกลับขึ้นสู่วิถีได้อีก (Awale 1995 : 16) สั่งสมเพื่อการสืบต่อ หมายความว่า จิตเป็นธรรมชาติที่เกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา จิตขณะเก่าที่ดับไปส่งผ่านผลที่สั่งสมไว้ต่อมาที่จิตขณะใหม่ที่เกิดขึ้น และสั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อเพื่อการมีตัวตนต่อไป หมายความว่า จิตมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าเป็นเรา เป็นเขาความยึดมั่นถือมั่นเป็นเหมือนเชื้อไฟที่ทำให้จิตมีปฏิสนธิ(เกิด)ขึ้นมาอีก สิ่งใดก็ตาม เมื่อทำไว้เสมอๆแล้ว จิตก็ย่อมสั่งสมสิ่งนั้นไว้ ทำให้เกิดความชำนาญหรือคุ้นเคยในการกระทำสิ่งนั้นๆเรื่อยๆจนทำให้ติดเป็นนิสัยสันดาน

6. วิจิตฺตารมฺมณํ (วิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ) หมายความว่าที่ชื่อว่าจิต เพราะมีอารมณ์อันวิจิตรมากมาย จิตนี้รับอารมณ์ต่างๆอยู่เสมอ ทั้งในด้านการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสกาย และนึกคิดเรื่องต่างๆสับเปลี่ยนเวียนอยู่ในอารมณ์ทั้ง 6

จิตนี้ เมื่อกล่าวตามสภาวะธรรมแล้วก็มีเพียง 1 เท่านั้น คือ เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่เมื่อจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆตามลักษณะของตนแล้ว จิตอย่างย่อมี 89 ดวง อย่างพิสดารมี 121 ดวง

จิตทั้ง 89 ดวง หรือ 121 ดวง จำแนกเป็นนัยต่างๆได้ 6 นัย (พระราชวิสุทธิกวี 2533 : 18 - 20) ดังนี้

1.) ชาติเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตออกเป็นชาติ คือจิตนี้เมื่อจำแนกโดยชาติสกุลแล้วก็มี 4 ชนิด คือ

1.1) กุศลชาติ จิตฝ่ายกุศล

1.2) อกุศลชาติ จิตฝ่ายอกุศล

1.3) วิบากชาติ จิตที่เป็นวิบาก

1.4) กิริยาชาติ จิตที่เป็นกิริยา

ชาติกุศลของจิตทั้ง 4 ประเภทนี้ นิยมเรียกกันแต่เพียงโดยย่อว่า กุศล อกุศล วิบาก และกิริยา

2) ภูมิเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยภูมิ จิตที่แยกโดยภูมินี้มี 4 ภูมิ คือ

2.1) กามภูมิ หรือ กามวจรภูมิ ระดับจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ

2.2) รูปภูมิ หรือ รูปาวจรภูมิ ระดับที่จิตท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพ หรือระดับจิตของผู้ได้อรูปฌาน

2.3) อรูปภูมิ หรือ อรูปาวจรภูมิ ระดับจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพ หรือระดับจิตของผู้ได้อรูปฌาน

2.4) โลกุตตรภูมิ ระดับจิตของพระอริยะบุคคลผู้พ้นแล้วจากโลกียภูมิ 3 ข้างต้น

3) โสภณเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตเป็นประเภทโสภณและอโสภณมี 2 อย่าง คือ

3.1) โสภณจิต จิตที่ดีงาม

3.2) อโสภณจิต จิตที่นอกจากโสภณจิต



4) โลกเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่เป็นอยู่ในโลกทั้ง 3 หรือจิตที่พ้นจากโลกมี 2 ประเภท คือ

4.1) โลกียจิต คือ จิตที่เป็นไปในโลกทั้ง 3 คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก

4.2) โลกุตตรจิต คือ จิตที่พ้นจากความเป็นไปในโลกทั้ง 3 หรือจิตที่เหนือโลก

5.) เหตุเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ประกอบด้วยเหตุและไม่ประกอบด้วยเหตุมี 2 ประเภท คือ

อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต 18

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ 6 ประการ คือเหตุบุญ 3 ได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ เหตุบาป 3 ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ เรียกว่า “สเหตุกจิต” คือ จิตที่มีเหตุ และเหตุทั้ง 6 ประการนี้เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” ส่วนจิตที่เกิดขึ้นโดยมิได้อาศัยเหตุทั้ง 6 ประการ เรียกว่า “อเหตุกจิต” เป็นจิตที่ไม่มีเหตุบุญและเหตุบาปประกอบหากแต่เกิดขึ้นโดยอาศัยอุปัตติเหตุ คือเหตุปัจจุบันทันด่วนที่ให้จิตเกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้เกิดอเหตุจิต 18 ดวง เรียกว่า “อุปัตติเหตุ” ซึ่งกล่าวไว้อย่างสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์อย่าวน่าสนใจยิ่ง ดังต่อไปนี้

1. เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณ 2 ดวง (ฝ่ายกุศลวิบาก 1 ดวง ฝ่ายอกุศลวิบาก 1 ดวง) ได้แก่ จักขุปสาท (มีประสาทตาดี) รูปารมณ์ (มีรูปต่างๆ) อาโลกะ (มีแสงสว่าง)

มนสิการ (มีความตั้งใจ)

2. เหตุให้เกิดโสตวิญญาณ 2 ดวง ได้แก่ โสตปสาท (มีประสาทหูดี) สัททารมณ์ (มีเสียงต่างๆ) วิวรากาส (มีช่องว่างของหู) มนสิการ (มีความตั้งใจ)

3. เหตุให้เกิดฆานวิญญาณ 2 ดวง ได้แก่ฆานปสาท (มีประสาทจมูกดี) คันธารมณ์ (มีกลิ่นต่างๆ) วาโยธาตุ (มีธาตุลม) มนสิการ (มีความตั้งใจ)

4. เหตุให้เกิดชิวหา 2 ดวง ได้แก่ ชิวหาปสาท (มีประสาทลิ้นดี) รสารมณ์ (มีรสต่างๆ) อาโปธาตุ (มีธาตุน้ำ) มนสิการ (มีความตั้งใจ)

5. เหตุให้เกิดกายวิญญาณ 2 ดวง ได้แก่ กายปสาท (มีประสาทกายดี) โผฎฐัพพารมณ์ (มีวัตถุมากระทบ) ถัทธปฐวี (มีธาตุดิน) มนสิการ (มีความตั้งใจ)

6. เหตุให้เกิดมโนธาตุ 3 ดวง ได้แก่ ปัญจทวาร (มีทวารทั้ง 5 คือ ประสาท ตา หู จมูก ลิ้น และกายดี) ปัญจารมณ์ (มีอารมณ์ทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฎฐัพพารมณ์ ) หทัยวัตถุ (มีหทัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งของจิต) มนสิการ (มีความตั้งใจ)

มโนธาตุ เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นมีอยู่ 3 ดวง คือปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ดวง สัมปฏิจฉน 2 ดวง (คือฝ่ายกุศลวิบาก 1 ดวง และ ฝ่ายอกุศลวิบาก 1 ดวง)

7. เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ ทวาร 6 (มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร) อารมณ์ 6 (มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์) หทัยวัตถุ (มีหทัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งของจิต (เว้นอรูปพรหม) ) และมนสิการ (มีความตั้งใจ)

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ เฉพาะในอเหตุกจิต มีมโนวิญญาณธาตุอยู่ 5 ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต 1 ดวง หสิตุปปาทจิต 1 ดวง และสันตีรณจิต 3 ดวง (คือ ฝ่ายกุศลวิบาก 2 ดวง และฝ่ายอกุศลวิบาก 1 ดวง)

เหตต่างๆที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเกิดได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุเกิดทั้ง 4 อย่างนี้มาประกอบครบบริบูรณ์ การเห็นหรือจักขุวิญญาณเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะห้ามกันการเห็นเป็นต้นนั้นได้ แต่ถ้าขาดเหตุใดเหตุหนึ่ง ไม่ครบทั้ง 4 เหตุแล้วการเห็นเป็นต้น ย่อมบังเกิดขึ้นไม่ได้

http://www.bkk.social/topic/49366

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร