วันเวลาปัจจุบัน 12 พ.ย. 2024, 06:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 8, 9, 10, 11, 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2013, 06:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. ทานบารมี

ปุตฺตทารธนานิ อุปกรณ ปริจาโค ทานปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
เจตนาที่สามารถสละให้ซึ่ง บุตร ภรรยา ธนสารสมบัติ เป็นต้นนั้น เรียกว่า ทานบารมี
คำว่า ทาน หมายถึงการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ จัดเป็นให้เพื่ออนุเคราะห์
ให้เพื่อสงเคราะห์ ให้เพื่อบูชาคุณ ให้เพื่ออนุเคราะห์ เป็นการให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่าตนในอายุ กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เช่น การเลี้ยงดูบุตรธิดา ให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสน คนพิการทุพพลภาพ เป็นต้น
การให้เพื่ออนุเคราะห์ มีความเมตตากรุณาเป็นมูล

ให้เพื่อสงเคราะห์ เป็นการให้แก่บุคคลในชั้นเดียวกันเสมอกัน เช่น เพื่อนฝูง มิตรสหาย เป็นต้น การให้เพื่อสงเคราะห์นี้มีความรักความนับถือเป็นมูล

ให้เพื่อบูชาคุณ เป็นการให้แก่บุคคลที่ทรงคุณควรคารวะบูชา ได้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์ ท่านผู้มีคุณแก่ตน หรือ ผู้ทรงคุณวุฒิ การให้เพื่อบูชาคุณนี้ มีความกตัญญู ความเคารพบูชา เป็นมูล

อนึ่ง การบริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดี บำรุงสาธารณกุสลทั่วไป เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สร้างถนน สร้างสะพานต่าง ๆ เหล่านี้ก็ดี ก็อนุโลมเข้าในการให้เพื่อบูชาคุณ คือ บูชาคุณความดีแห่งบุญกุสลที่ทำให้ตนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อันเป็นความกตัญญูต่อบุญกุสลนั่นเอง

ทานนี้จำแนกประเภทได้เป็นหลายอย่างหลายกระบวน ในที่นี้ขอนำมาแสดงเพียง ๒ นัย คือ

นัยหนึ่ง จำแนกทานออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ วัตถุทาน อภัยทาน และธรรมทาน
วัตถุทาน เป็นการทำบุญให้ทานด้วยการให้สิ่งของต่าง ๆ สิ่งของที่ให้นั้นเมื่อสรุปแล้วก็มี ๕ อย่าง คือ
ก. ธนปริจาค การสละซึ่ง ธนสารสมบัติ
ข. ปุตฺตปริจาค การสละซึ่ง บุตร
ค. ภริยาปริจาค การสละซึ่ง ภรรยา
ง. องฺคปริจาค การสละซึ่ง ส่วนของร่างกาย
จ. ชีวิตปริจาค การสละซึ่ง ชีวิต

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2013, 06:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


อภัยทาน เป็นการทำบุญด้วยการช่วยชีวิตคนหรือสัตว์ให้พ้นจากอันตราย ช่วยป้องกันภัยที่จะทำลายทรัพย์สมบัติให้สูญเสียไป ตลอดจนการให้ความไม่มีภัยแก่ผู้ที่ทำให้ตนเดือดร้อนเสียหาย

ธรรมทาน เป็นการทำบุญด้วยการสอน การแสดงธรรม ให้ผู้อื่นเข้าใจถึงบาปบุญคุณโทษ ตลอดจนการสร้างหนังสือธรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา

อีกนัยหนึ่ง จำแนกทานออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่ หีนทาน เป็นทานชั้นต่ำ มัชฌิมทาน เป็นทานชั้นกลาง ๆ และปณีตทาน เป็นทานชั้นสูง

หีนทาน กล่าวโดยเจตนาในการให้ ก็เป็นการบริจาคด้วยความมุ่งหวังในชื่อเสียงเกียรติคุณ กล่าวโดยวัตถุสิ่งของที่ให้ ก็ให้วัตถุสิ่งของที่เลวกว่า ที่ด้อยกว่าที่ตนเคยบริโภคใช้สอยเป็นประจำตามปกติ

มัชฌิมทาน กล่าวโดยเจตนาในการให้ ก็เป็นการบริจาคที่มุ่งหวังความสุขในมนุษย์สมบัติ ในเทวสมบัติ กล่าวโดยวัตถุสิ่งของที่ให้ ก็ให้วัตถุสิ่งของที่ดีทัดเทียมกับที่ตนเคยบริโภคใช้สอยอยู่เสมอ ๆ นั้น

ปณีตทาน กล่าวโดยเจตนาในการให้ ก็เป็นการบริจาคที่มุ่งพระนิพพานหวังพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล กล่าวโดยวัตถุสิ่งของที่ให้ ก็ให้วัตถุสิ่งของที่ประณีตกว่า ดีกว่าที่ตนเคยบริโภคใช้สอยอยู่เป็นประจำ

อานิสงส์แห่งทานกุสล อังคุตตรอรรถกถา แสดงว่า
ทานํ สคฺคสฺส โสปานํ
ทานกุสลจัดเป็นบันใดชั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
ทานํ ปาเถยฺยมุตฺตมํ
ทานกุสลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ
ทานกุสลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
ทานํ โมกฺขปทํ วรํ
ทานกุสลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น

ในคัมภีร์ สัททสารัตถชาลินี แสดงว่า

ปุพฺเพ ทานาทิกํ กตฺวา อิทานิ ลภตี สุขํ
มูเลว สิญฺจิตํ โหติ อคฺเค จ ผลทายกํ ฯ

บุคคล บำเพ็ญบุญ มีทานเป็นต้น ในปางก่อน ย่อมได้ความสุขในบัดนี้ เหมือนคนรดน้ำที่โคนต้นไม้ (ต้นไม้นั้น) ย่อมให้ผลที่ยอด (คือปลายกิ่ง) ฉะนั้น

ปริจาคลกฺขณา ทานบารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
ทานบารมี มีการบริจาค เป็นลักษณะ
ทานบารมี ที่กล่าวยืดยาวไปหน่อย เพราะทานบารมีเป็นเครื่องอุปการะให้เกิดบารมีอื่น ๆ คือ ความสำเร็จแห่งบารมีอื่น ๆ นั้น ต้องอาศัยทานบารมีนี้เป็นพื้นฐาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2013, 06:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๒. สีลบารมี

อกตฺตพฺพวิรติ กตฺตพฺพกรณ เจตนา ทโย จ สีลปารมิตา ฯ (จริยปิฎก อรรถกถา)

เจตนาที่เว้นจากสิ่งที่พึงเว้น และกระทำในสิ่งที่ควรทำนั้น เรียกว่า สีลบารมี

สิ่งที่พึงเว้น เรียกว่า ปฏิกเขปะ สีลที่พึงเว้นชื่อว่า วาริตตสีล ถ้าไม่เว้นแล้วเป็นบาป เป็นสิ่งชั่ว
ถูกปรับโทษทางวินัย วาริตตสีล ของฆราวาส ก็ได้แก่ สีล ๕ สีล ๘

วาริตตสีลของบรรพชิตก็ได้แก่ สีล ๑๐ สีล ๒๒๗

ผู้รักษาวาริตตสีล นั้นเปรียบไว้ว่าเหมือนกับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม

สิ่งที่ควรทำนั้น เรียกว่า อนุญญาตะ สีลที่ควรทำ ชื่อว่า จาริตตสีล ถ้าไม่กระทำก็ไม่ถึงกับเป็นบาปต้องถูกปรับโทษแต่อย่างใด แต่ว่าถ้าทำได้ก็ยิ่งพอกพูนคุณงามความดี เพิ่มบุญบารมียิ่งขึ้น จาริตตสีลนี้ได้แก่ ธุดงค์ ๑๓, การเจริญสมถภาวนา, การเจริญวิปัสสนาภาวนา ตลอดจนการสอน การเรียน การเขียน การแสดงธรรม

ผู้รักษา จาริตตสีลนั้น เปรียบไว้ว่าเหมือนกับดอกไม้ที่มีสีสวยสดงดงาม

สัทธา ความเลื่อมใสแต่อย่างเดียวก็เป็นปัจจัยนำ ทำให้ วาริตตสีล สำเร็จลงได้ แต่ จาริตตสีล นั้นจะสำเร็จลงได้ก็ต้องประกอบทั้ง สัทธา และวิริยะ เป็นปัจจัยนำด้วยกันทั้งคู่

ทาน ย่อมเป็นเครื่องอุปการะให้เกิดสีล กล่าวคือ เมื่อการให้ได้สำเร็จลงแล้ว ก็ยังให้จิตใจแช่มชื่นเบิกบาน มีกายวาจาเรียบร้อยอ่อนโยน เพื่อมิให้กายวาจาตกไปในทางที่ไม่ดี อันจะมีแต่ความหมองหม่น จึงพึงเว้นในสิ่งที่ควรเว้น และกระทำในสิ่งที่ควรกระทำ นั่นคือ การรักษาสีล

ทาน กับ สีล ย่อมเนื่องกันด้วยประการอย่างนี้อีก ก็คือ ทายก ผู้ให้ทาน เป็นผู้ไม่มีสีล ทานนั้นก็ไม่มีผลพิเศษใหญ่หลวง ด้วยว่าทานนั้นมีสีลเป็นเครื่องชำระให้บริสุทธิ์

ปฏิคาหก ผู้รับทานเป็นผู้ไม่มีสีล ทานนั้นก็ไม่มีผลใหญ่หลวง ด้วยว่าสีลนั้นเหมือนพื้นแผ่นดิน

ต่อเมื่อทายก ผู้ให้ ปฏิคาหก ผู้รับ มีสีลอันบริบูรณ์ด้วยกันแล้วไซร้ ทานนั้นจึงจะมีผลไพบูลย์ยิ่งนัก ประหนึ่งพืชดีเกิดในเนื้อนาอันดีฉะนั้น

สีลนลกฺขณา สีลปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)

สีลบารมี มีการรักษาไว้ซึ่งกายวาจา เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 05:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. เนกขัมมบารมี

กามภเวหิ นิกฺขมฺมนจิตฺตุปฺปาโท เนกฺขมฺมปารมิตา ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
จิตตุปปาท ที่ใคร่พ้นจากกามและภพนั้น เรียกว่า เนกขัมมบารมี
จิตที่ใคร่พ้นจากกามนั้น คำว่า กาม ในที่นี้จำแนกเป็น ๒ ประการ

ก. วัตถุกาม หมายถึง อารมณ์ที่อยู่ในภพทั้ง ๓ คือ อารมณ์ ๖ นั้นเอง ซึ่งมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสถูกต้อง และความนึกคิด
ข. กิเลสกาม หมายถึง เครื่องเศร้าหมอง และเร่าร้อน รวมยอดแล้ว มี ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ

จิตที่ใคร่พ้นจากกามนั้น คำว่า ภพ ในที่นี้จำแนกเป็น ภพ ๓ คือ

ก. กามภพ ได้แก่ กามภูมิ ๑๑ ภูมิ
ข. รูปภพ ได้แก่ รูปภูมิ ๑๖ ภูมิ
ค. อรูปภพ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔ ภูมิ

เนกขัมมะ ความใคร่หลุดพ้นนั้น ก็จำแนกได้เป็น ๓ เหมือนกัน คือ

ก. ปัพพัชชะ ออกบวช (ป=ทั่ว+วช=เว้น)
ข. เพื่อเจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา
ค. เพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น คือ พระนิพพาน

เนกขัมมบารมี ย่อมมีทานบารมีเป็นเครื่องอุปการะ กล่าวคือ บุคคลบางคนมี สัทธา เลื่อมใสใน
พระพุทธศาสนาอยากจะสละเวลามาถือสีล ฟังธรรม เล่าเรียนศึกษาธรม แต่ก็ติดขัดเพราะไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ต้องทำมาหากินตัวเป็นเกลียว ก็ยังไม่ใคร่จะคุ้มปากคุ้มท้อง ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้สร้างสมทานบารมีมาแต่ปางก่อน ในชาตินี้จึงต้องยากจน ถ้าเป็นผู้ที่ได้สร้างสมทานบารมีมาพอควร ก็จะไม่ถึงกับขัดสน ไปฟังเทศน์ศึกษาธรรมได้สะดวก อันจะเป็นเหตุให้เกิดสติปัญญาเห็นโทษในการหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ มีความเบื่อหน่ายต่อความเป็นอยู่ในทางโลก สละบ้านเรือนอันเป็นสมบัตินอกกาย ไปแสวงหาทรัพย์ภายใน คือ การออกบวชเรียน บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาสืบไป

กามโต จ ภวโต จ นิกฺขมฺมลกฺขณา เนกฺขมฺมปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)

เนกขัมมบารมี ย่อมมีการใคร่พ้นจากกามและภพ เป็นลักษณะ

ในบรรดาบารมี ๑๐ ทัส จัดว่า เนกขัมมบารมีนี้เป็นหัวใจของบารมี ด้วยเหตุผลประการใดจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 05:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. ปัญญาบารมี

ธมฺมานํ สามญฺญวิเสสลกฺขณาวโพโธ ปญฺญาปารมิตา ฯ (จริยปิฎก อรรถกถา)
การรอบรู้สามัญญลักษณะ และวิเสสลักษณะของรูปธรรมนามธรรมนั้น เรียกว่า ปัญญาบารมี
สามัญญลักษณะ เป็นลักษณะธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ที่รูปธรรมนามธรรมอันเป็นสังขาร จะต้องมีต้องเป็นไปอย่างนั้นซึ่งมี ๓ ลักษณะจึงเรียกว่าไตรลักษณ์คือ
ก. อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะที่ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ตลอดไป เมื่อเกิดขึ้น คือ อุปปาทะ แล้วก็มี ฐีติ การตั้งอยู่ ในที่สุดก็ ภังคะ ดับไป
ข. ทุกขลักษณะ เป็นลักษณะที่ไม่คงทน ทนอยู่ไม่ได้ มี อุปปาทะ ฐีติ แล้วก็ ภังคะ ดับไปเหมือนกัน
ค. อนัตตลักษณะ เป็นลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจชอบหาได้ไม่ มีอุปปาทะ มีฐีติ แล้วก็ ภังคะ ดับไปเช่นเดียวกัน

ส่วนวิเสสลักษณะนั้น เป็นลักษณะจำเพาะตัวแห่ง รูปธรรมนามธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น
ปฐวี มีลักษณะ แข็ง กกฺขฬ
อาโป มีลักษณะ เกาะกุม อาพนฺธน
เตโช มีลักษณะ ร้อน อุณฺห
วาโย มีลักษณะ เคร่งตึง วิตฺถมฺภน
ผัสสะ มีลักษณะ กระทบ ผุสน
เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ เวทยิต
เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้จะเป็นการเรียนรู้วิชาทางโลกที่ไม่มีโทษ ก็ได้ชื่อว่า ได้อบรมให้เกิดปัญญาเหมือนกัน
ทาน ก็เป็นเครื่องอุปการะให้เกิดปัญญา กล่าวคือ คฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน หรือ บรรพชิต ผู้ครองวัด ก็ตาม ถ้าขัดสนเงินทองของกิน ที่อยู่ มีปัจจัย ๔ ไม่เพียงพอแก่ความเป็นอยู่ตามสมควรแล้ว ย่อมขาดการศึกษาเล่าเรียน หรือว่าได้ศึกษาเล่าเรียนบ้าง แต่ก็ไม่สู้จะสมบูรณ์ เมื่อขาดการศึกษาก็ด้อยปัญญา ทั้งนี้ก็เป็นเพราะขาดทานบารมี ที่จะมาอุปถัมภ์ให้เกิดปัญญาบารมี ขาดปัญญาก็ยากที่จะบริสุทธิ ดังที่ในธรรมบท แสดงว่า

ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ ย่อมบริสุทธิได้ด้วยปัญญา
ยถา สภาวปฏิเวธลกฺขณา ปญฺญาปารมี (จริยปิฎกอรรถกถา)
ปัญญาบารมี ย่อมมีการรู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริง เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 05:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. วิริยบารมี

กายจิตฺเตหิ ปรหิตารมฺโภ วิริยปารมิตา ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
ความเพียรเพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วยกายใจนั้น เรียกว่า วิริยบารมี
วิริยบารมี จัดได้เป็น ๓ ชั้น

ก. หีนวิริยะ ความเพียรอย่างต่ำ เป็นความเพียรประกอบการกุสล ที่มุ่งหวังชื่อเสียงเกียรติคุณ
ข. มัชฌิมวิริยะ ความเพียรอย่างกลาง เป็นความเพียรประกอบการกุสลที่มุ่งหวังความสุขในมนุษย์และในสวรรค์
ค. อุกกัฏฐวิริยะ ความเพียรอย่าง อุกกฤษฏ์ เป็นความเพียรประกอบ วิวัฏฏ นิสสิตกุสล หวังให้พ้นจากความเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ

วิริยะ นี้เป็นธรรมที่ให้ผลอย่างกว้างขวางและสำคัญมาก เพราะแม้แต่จะมีความตั้งใจกระทำสักเพียงใดก็ตาม ถ้าหากว่า ขาดความพากเพียรเสียแต่อย่างเดียวเท่านั้น การงานต่าง ๆ ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จดังที่ได้ตั้งใจไว้ ส่วนมากมักจะไม่ใคร่ได้คำนึงถึงความเพียรกันอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อประสบกับความคับขันเข้าบ้างก็มักจะท้อถอยเสีย ยิ่งเป็นการบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนาภาวนา อันเป็นการประกอบ วิวัฏฏนิสสิตกุสลด้วยแล้ว ก็จะต้องเป็นความเพียรที่สมบูรณ์ด้วยองค์ ๔ ที่เรียกว่า จตุรังควิริยะ คือ แม้เนื้อจะเหือดเลือดจะแห้ง ๑ จะเหลือแต่เพียงหนัง ๑ จะเหลือแต่เพียงกระดูก ๑ จะเหลือแต่เพียงเอ็น ๑ ก็จะไม่ละเสียจากความเพียรที่กำลังกระทำอยู่นั้นเลย ผู้ที่พากเพียรยิ่งอย่างนี้ ย่อมล่วงทุกข์ได้ ดังในธรรมบทแสดงไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ย่อมล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

(จตุรังควิริยะ = ตามนัยแห่งสัมมัปปธานนั้น หมายถึง ๑.เพียรละอกุสลที่เกิดแล้ว, ๒.เพียรไม่ก่ออกุสลใหม่ให้เกิดขึ้น, ๓.เพียรประกอบกุสลใหม่ให้เกิดขึ้น, ๔.เพียรเจริญกุสลใหม่นั้นให้ภิญโญยิ่ง ๆ ขึ้นไป)
ผู้ที่เคยสร้างทานกุสลไว้ ทานกุสลนั้นย่อมส่งผลให้ได้เกิดมาเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ไม่ต้องมีความลำบากกังวลในเรื่องเงินทอง ก็สามารถทำความเพียรพยายามในการเจริญ สีล สมาธิ ปัญญา ได้โดยสะดวก ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า วิริยบารมีจะเกิดมีได้ก็ด้วยอาศัยทานบารมีเป็นเครื่องอุดหนุน
อุสฺสาหลกฺขณา วิริยปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
วิริยบารมี ย่อมมีการอุตสาหะ เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 05:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. ขันติบารมี

สตฺตสงฺขาราปราธสหนํ อโทสปฺปธาโน ตทาการปฺปวตฺตา จิตฺตุปฺปาโท ขนฺติ ปารมิตา ฯ
(จริยปิฎกอรรถกถา)

การอดทนในการล่วงเกินของปวงสัตว์ และสังขารธรรม ด้วยอโทสจิตตุป ปาทะนั้น เรียกว่า ขันติบารมี

ตามปกติ ผู้ที่ประสบกับ อิฏฐวิสยะ คือ อารมณ์ที่ชอบใจ ย่อมแสดงอาการที่แจ่มใสร่าเริงออกมาให้ปรากฏ ครั้นได้ประสบกับ อนิฏฐวิสยะ คือ อารมณ์ที่ไม่ชอบ ย่อมแสดงความบึ้งตึงมึนชาออกมาให้เห็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ถ้าเกี่ยวกับบุคคลหรือสัตว์เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความหวั่นไหวดังกล่าวนั้น ก็จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
ปิยบุคคล ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจ, เวรีบุคคล ผู้ที่เกลียดชังกันเป็นศัตรูต่อกัน และ มัชฌัตตบุคคล ผู้ที่ไม่เป็นที่รักที่ชัง

ส่วนอโทสจิตตุปปาทะ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความโกรธเคือง ไม่เพียงแต่ไม่แสดงออกทางกายและวาจาเท่านั้น แม้ในจิตใจก็ไม่โกรธเกลียดชังเลยแม้แต่สักน้อยหนึ่ง ทั้งนี้เพราะไม่ได้ปล่อยกายวาจาใจให้เพลิดเพลินหลงอยู่แต่ในอารมณ์ที่ชอบจนเกินไป เลยหมดความยับยั้งใจในเมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ชังที่ไม่ชอบ แต่ถ้าได้อบรมฝึกฝนจนมีสติ และรู้ตัวเป็นอย่างดี จึงสามารถมีความอดทนต่อความดีใจหรือเสียใจได้ในทันทีที่ประสบกับอารมณ์นั้น ๆ ดังนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มี

ขันติ ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ สิ่งอื่น ๆ ไม่ยิ่งไปกว่า ขันติ ความอดทน

ผู้มีทรัพย์ อันเป็นผลที่ได้รับมาจากทานกุสลที่ตนได้เคยทำไว้นั้น มักจะเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใสชื่นบาน เพราะไม่ต้องกังวลหรือมีความเดือดร้อนในเรื่องอาชีพ และย่อมมีโอกาสได้ศึกษาวิชาทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งทำให้จิตใจของผู้นั้นสูงและใฝ่ดี มีใจคอหนักแน่น จึงเป็นผู้ที่มีขันติอดทน ไม่เหลิงไปตามคำสรรเสริญ และไม่วู่วามไปตามคำนินทา ดังนี้จึงกล่าวได้ว่า ทานบารมีอุปการะให้เกิดขันติบารมี

ขมนลกฺขณา ขนฺตีปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
ขันติบารมี ย่อมมีการ อดทน เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 05:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๗. สัจจบารมี

วิรตีเจตนาทิเภทํ อวิสํวาทนํ สจฺจปารมิตา ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
บรรดาเจตนาอันมีวิรตีเจตนาเป็นต้นที่ไม่คดโกงนั้น เรียกว่า สัจจบารมี

วิรตี แปลว่า การงดเว้น วัตถุที่เว้นมี ๓ คือ

มิจฉาวาจาวิรตี เว้นจากวจีทุจจริต ๔ มี มุสา พูดปด, ปิสุณา พูดส่อเสียด, ผรุสวาจา พูดหยาบคาย และสัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
มิจฉากัมมันตวิรตี เว้นจากกายทุจจริต ๓ มี ปาณา ฆ่าสัตว์, อทินนา ลักทรัพย์, และกาเม ล่วงประเวณี
มิจฉาอาชีววิรตี เว้นจากมีความเป็นอยู่ด้วยวาจาทุจจริต ๔ กายทุจจริต ๓

อาการที่งดเว้น ก็มี ๓ คือ

สัมปัตตวิรตี เว้นจากความชั่วในขณะที่มีอารมณ์ อันพึงจะล่วงมาปรากฏเฉพาะหน้า
สมาทานวิรตี เว้นจากความชั่วโดยตั้งปณิธาน ตั้งความปรารถนา ไว้เป็นเครื่องสำนึก เป็นเครื่องเตือนใจ จะสมาทานกับพระสงฆ์ พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ หรือแม้แต่กับตัวเองก็ได้

สมุจเฉทวิรตี เว้นจากการตัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งปัญญาในมัคคจิต
วิรตีเจตสิก ที่ไม่คดโกงนั้น มีความหมายว่า ซื่อตรงต่อความตั้งใจในอันที่จะเว้นกล่าววาจาชั่ว เว้นกระทำชั่วและเว้นความเป็นอยู่อย่างชั่ว ๆ
ความซื่อตรงต่อความตั้งใจเว้นสิ่งชั่ว ๆ ดังกล่าวนี่แหละ เรียกว่า สัจจบารมี

ผู้ใดขัดสน ขาดทรัพย์สมบัติ ผู้นั้นย่อมรักษาสัจจะได้ยาก ส่วนผู้ที่มีทรัพย์ ย่อมสะดวกในการที่จะบำเพ็ญ
สัจจบารมี จะเป็นผู้ที่มีทรัพย์ ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้เคยสร้างสมทานบารมีมาแต่ปางก่อน กล่าวแต่เพียงเท่านี้ก็พอจะเห็นได้แล้วว่า ทาน ก็เป็นปัจจัยแก่ สัจจะ
อวิสํวาทนลกฺขณา สจฺจปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
สัจจบารมี ย่อมมีความไม่คดโกง เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 05:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๘. อธิฏฐานบารมี

อจล สมาทานาธิฏฺฐานํ ตทาการปวตฺโต จิตฺตุปฺปาโท อธิฏฺฐานปารมิตา ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
จิตตุปปาทะ ที่ตั้งใจแน่นอนในการกระทำนั้น เรียกว่า อธิฏฐานบารมี
ท่านอรรถกถาจารย์ ได้จำแนกการ อธิฏฐาน คือ การตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้านี้ไว้ ๔ ประการ คือ

๑. สัจจาธิฏฐาน เป็นความตั้งใจอันแน่นอนเพื่อรู้แจ้งแทงตลอดในสัจจธรรม ๔ ประการ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ และอัฏฐังคิกมัคค
๒. จาคาธิฏฐาน เป็นความตั้งใจอันแน่นอนที่จะสละละทิ้งกิเลสให้หมดไปจากตนอย่างเด็ดขาด
๓. อุปสมาธิฏฐาน เป็นความตั้งใจอันแน่นอนเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน
๔. ปัญญาธิฏฐาน เป็นความตั้งใจอันแน่นอนเพื่อให้แจ้ง อนาวรณญาณ (น=ไม่, อาวรณ=ห่วงใย ปิดบัง, ญาณ=ความรู้) ซึ่งหมายถึง พระสัพพัญญุตญาณ อันเป็นญาณที่รู้สิ้นปวงสังขตธรรมและอสังขตธรรม

อธิฏฐานประการที่ ๔ ย่อมมีได้เฉพาะ สัมมาสัมโพธิญาณเท่านั้น ที่เหลืออีก ๓ ประการ เป็นสาธารณะทั้ง สัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกโพธิญาณ (อัคคสาวก, มหาสาวก และ ปกติสาวก)

พึงเห็นได้ว่า อธิฏฐาน ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นการตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าแน่นอน ในอันที่จะให้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน

ผู้มีทรัพย์ เมื่อได้ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าจะบำเพ็ญกุสลอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมกระทำตามความตั้งใจนั้นได้โดยสะดวก ไม่ใคร่มีอุปสรรคข้อขัดข้องให้ต้องเลิกล้มความตั้งใจนั้น ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่ขัดสนจนยาก แม้จะตั้งความ ปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าจะกระทำกุสล ก็มักจะขัด ๆ ข้อง ๆ เพราะต้องมีกังวล
ในการขวนขวายประกอบการเลี้ยงชีพอยู่ ทานจึงเป็นส่วนหนึ่งที่อุปการะให้การอธิฏฐานนั้นเป็นผลสำเร็จ

อนึ่งมีข้อที่ควรกล่าวว่า อธิฏฐานบารมีนี้ จะต้องเกิดร่วมกับบารมีอื่น ๆ เสมอ เพราะลำพังแต่อธิฏฐานบารมีอย่างเดียว ย่อมสำเร็จประโยชน์ไปไม่ได้ เช่น เพียงแต่ตั้งใจว่าจะทำ แต่ไม่ได้ลงมือทำสักที อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นอธิฏฐานบารมี เพราะอธิฏฐานบารมีนั้นต้องประกอบไปด้วยอาการ ๒ อย่าง คือมี ความปรารถนาอย่างแรงกล้าด้วย และมีการกระทำทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ให้สำเร็จสมความตั้งใจนั้นด้วย อย่างนี้จึงจัดว่าเป็น อธิฏฐานบารมี

โพธิสมฺภาเวสุ อธิฏฺฐานลกฺขณา อธิฏฺฐานปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
อธิฏฐานบารมี ย่อมมีการตั้งใจอันแน่นอนเพื่อโพธิญาณ เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๙. เมตตาบารมี

โลกสฺส หิตสุขูปสํหาโร อตฺถโต อพฺยาปาโต เมตฺตาปารมี ฯ (จริยปิฎก อรรถกถา)
จิตตุปปาทะ ที่ยังให้โลกได้รับประโยชน์สุขโดยพ้นจากการพยาบาทปองร้ายนั้นเรียกว่า เมตตาบารมี

เมตตาบารมี เป็นบารมีที่สร้างได้ไม่ง่ายนัก เพราะบุคคลส่วนมากไม่มีความอิสระ เนื่องจากต้องตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ นั้น ความวู่วามจึงมักเกิดขึ้นเสมอ ทำให้ขาดการเมตตา ที่มีความประสงค์ดีต่อกันและกัน ดังนั้นเพื่อให้เมตตาธรรมนี้ได้เกิดขึ้นและดำรงคงเจริญอยู่ในขันธสันดาน จึงจำต้องหมั่นแผ่เมตตาให้แก่ปวงสัตว์ โดยไม่มีการกำหนดขีดคั่นประการใด ๆ โดยถือหลักในการแผ่ ๔ ประการ คือ

อเวรา โหนฺตุ จงอย่ามีเวรแก่กันและกันเลย
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ จงอย่าพยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อนีฆา โหนฺตุ จงอย่าได้มีความทุกข์ร้อนกันเลย
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีความสุขทุกอัตตภาพโดยทั่วกัน เทอญ

ดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น ตรงเมตตากัมมัฏฐาน มีข้อความละเอียดพอสมควร ขอให้ทบทวนดูที่นั่นด้วย
เมตตาบารมี เป็นความรักที่เกิดขึ้นโดยมิได้เกี่ยวแก่ตัณหาเป็นเหตุ แต่เป็นความรักใคร่เอ็นดูต่อเพื่อนมนุษย์ตลอด
จนสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีจำกัดโดย เฉพาะ ๆ มีเจตนาจะให้เขาทั้งหลายได้มีความสุขความสบายโดยทั่วหน้ากัน ส่วนความรักใคร่เอ็นดูต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง ภริยาสามี บิดามารดา เหล่านี้เป็นต้น เป็นเมตตาตามธรรมดาสามัญ ไม่ใช่เมตตาบารมี เพราะเมตตานี้เกิดจาก ตัณหาเปมะ คือ ความรักด้วยตัณหาจึงเกิดเมตตาขึ้นในวงแคบโดยเฉพาะพวกของตัว

เมตตา เกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยมีทานเป็นสิ่งอุปการะเกื้อหนุน เพราะผู้ที่ยากจนก็มักจะคิดเสียว่า ไม่มีใครเขาจะมารักใคร่ใยดีต่อคนยากจนเช่นเรา เราก็ไม่จำเป็นจะไปรักใคร่คนอื่นเขา ดังนี้เมตตาจิตจึงไม่เกิด ส่วนผู้มีทรัพย์มักจะได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น ก็ย่อมจะเกิดความเอ็นดูรักใคร่เป็นการตอบแทน การมีใจรักใคร่เอ็นดู ปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุขเช่นนี้ นับว่ามีเมตตาจิตเกิดขึ้นแล้ว เรียกได้ว่าเป็นเมตตาบารมีอันสืบเนื่องมาจาก ทานบารมีเป็นปัจจัย

หิตาการปวตฺติลกฺขณา เมตฺตาปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
เมตตาบารมี ย่อมมีการทำให้เกิดประโยชน์สุข เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 06:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๐. อุเบกขาบารมี

อนุนยปฏิฆวิทฺธํสนี อิฏฺฐานิฏฺเฐสุ สตฺตสงฺขาเรสุ สมปวตฺติ อุเปกฺขาปารมี ฯ (จริยปิฏกอรรถกถา)
การทำลายอารมณ์รักและชัง อันเกิดแก่สัตว์หรือสังขารธรรม เพื่อทรงไว้ซึ่งความสม่ำเสมอนั้น เรียกว่า
อุเบกขาบารมี
อุเบกขาธรรม มีโลกธรรม ๘ คือ ลาภ อลาภ ยส อยส นินฺนํ ปสนฺนํ สุขํ ทุกฺขํ เป็นศัตรู คอยทำลาย
การทำจิตมิให้ลำเอียงนั้น ล้มเหลวลง

ศัตรูเหล่านี้ย่อมสอดแทรกในอารมณ์ โดยมีสัตว์หรือสังขารธรรม คือ ขันธ์ ๕ รูปนาม เป็นสื่อชักนำมาให้
เกิดความลำเอียงไป ถ้าเป็น อิฏฐารมณ์ ก็เป็นสื่อให้เกิดความชื่นชมยินดี หากเป็น อนิฏฐารมณ์ ก็เป็นสิ่ง
ให้เกิดความวู่วามหมดความยั้งคิด ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจแห่งความหลง คือ โมหะ เมื่อจิตถูกครอบงำไว้ด้วย
อำนาจแห่งโมหะแล้ว ก็ขาดสติที่จะพิจารณายับยั้งมิให้เหลิงไปตามอิฏฐารมณ์ และวู่วามไปตาม
อนิฏฐารมณ์

ที่กล่าวมาเช่นนี้ ดูเหมือนว่าเหมือนกับลักษณะของขันติบารมี จะว่าเป็นอย่างเดียวกันก็ได้ หรือจะว่า
เนื่องกันก็ได้ กล่าวคือ ถ้า อดทนไว้ได้ ไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปในความชอบ ความชัง ก็เป็นอุเบกขา ถ้า
ทนไม่ไหว และเอนเอียงไปในความชอบความชัง ก็ไม่ใช่อุเบกขา

อุเบกขาบารมีนี้ เป็นบารมีที่ไม่เกี่ยวกับทานบารมีเป็นเหตุ เพราะผู้ที่มีจิตใจเป็นอุเบกขาได้นั้น ต้องการ
กระทำตนให้เปรียบประดุจพื้นแผ่นดิน รองรับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีได้ทั้งนั้น โดยไม่มีอาการผิด
แปลกแต่อย่างใด ปราศจากอาการ ยินดีหรือยินร้าย เช่น ได้รับคำกล่าวสรรเสริญ ก็ไม่ตื่นเต้นยินดี เมื่อ
ได้รับคำนินทาว่าร้าย ก็ไม่เกิดความสะดุ้งสะเทือนขึ้น อาการอย่างนี้ก็เป็นการยากที่ผู้ที่มั่งมีทรัพย์แต่
อย่างเดียวจะวางเฉยต่ออารมณ์เหล่านี้ เหตุนี้ทานบารมีจึงไม่เป็นเครื่องอุปการะอุดหนุนให้เกิดอุเบกขา
บารมีได้

มชฺฌตฺตาการปวตฺติลกฺขณา อุเปกฺขาปารมี ฯ (จริยปิฎกอรรถกถา)
อุเบกขาบารมีย่อมมีอาการให้สม่ำเสมอเป็นกลาง ๆ ไม่เอนเอียง เป็นลักษณะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 06:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


ลำดับของบารมี

ตอนที่กล่าวถึงเนกขัมมบารมีอันเป็นลำดับที่ ๓ นั้นได้กล่าวว่าเนกขัมมบารมี เป็นหัวใจแห่งบารมี ๑๐ ทัส ก็น่าจะสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ยกหัวใจขึ้นมาแสดงก่อนเป็นลำดับแรก แต่แสดงทานบารมีและสีลบารมีก่อนเป็นลำดับที่ ๑ และ ๒ ที่เป็นเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุว่า บุคคลทั้งหลาย ย่อมมีความตระหนี่เป็นนิสสัยสันดานด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันแต่ว่ามีมากหรือน้อย การสร้างบารมีต้องทำลายความตระหนี่ให้ลดลงเสียก่อนดังนั้นจึงได้ทรงยกเอาทาน เป็นปฐมบารมี

การบริจาคทานนี้เองทำให้จิตน้อมเข้าหาสีลธรรมจรรยา ประพฤติปฏิบัติตนให้มีกิริยา วาจาตามปกติ ไม่เป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนวุ่นวาย ดังนี้จึงได้ทรงเทสนา สีล เป็นลำดับที่ ๒

เมื่อได้รักษาสีลไม่มีด่างพร้อยแล้ว ก็จะเกิดความสงบ ทำให้ตระหนักในความสับสนยุ่งยากของความเป็นอยู่ในโลก จึงคิดใคร่จะหลีกปลีกตัวให้พ้นจากความโกลาหลนั้น ๆ พระพุทธองค์จึงทรงแสดง เนกขัมมะ เป็นลำดับที่ ๓

การใคร่หนีให้พ้นจากความสับสนยุ่งยาก จะมั่นคงอยู่ได้ก็ต้องมีปัญญาเข้าไปแจ้งในความจริงนั้น ๆ จึงทรงเทสนา ปัญญาบารมี ในลำดับที่ ๔

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 06:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญาที่เข้าไปแจ้งในความจริงนั้น ต้องประกอบด้วยความเพียรเป็นอย่างมาก ขนาดที่ถึงเนื้อจะเหือดเลือดจะแห้ง จนเหลือแต่เพียงหนัง เพียงเอ็น เพียงกระดูก ก็ไม่ละจากความเพียรที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น จึงได้ทรงเทสนา วิริยะ เป็นลำดับที่ ๕

แม้จะเปี่ยมไปด้วยความพากเพียรดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หากขาดความอดทน ไม่ประกอบด้วยความอดทนแล้ว ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงทรงยก ขันติ มาแสดงเป็นลำดับที่ ๖

ความอดทนจะตั้งมั่นอยู่ได้โดยไม่โยกคลอน ในเมื่อถูกปฏิปักษ์ธรรมเข้าเบียดเบียนนั้น ย่อมต้องอาศัยความสัตย์ซื่อ ถือมั่นว่าจะเว้นจากความชั่ว อันเป็นปฏิปักษ์ที่ทำให้คลายความอดทน คลายจากคุณงามความดีทั้งหลาย จึงทรงเทสนา สัจจะ เป็นลำดับที่ ๗

สัจจธรรม ก็จะมั่นคงอยู่ได้ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างแน่นอน ไม่ปรวนแปรไปเป็นอื่น จึงทรงแสดงอธิฏฐานบารมี เป็นลำดับที่ ๘

การตั้งความปรารถนาอันแรงกล้าแน่นอน จะยืนยงอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความวู่วามนั้น ย่อมต้องอาศัยความไม่โกรธเป็นหลัก จึงทรงเทสนา เมตตาเป็นลำดับที่ ๙

ความเมตตา จะคงอยู่ได้อย่างไม่ขาดสายก็ต้องอาศัยความวางเฉยต่อเหตุการณ์ของโลกเป็นเครื่องสนับสนุน ไม่ให้เอนเอียงไปในฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดง อุเบกขาบารมี เป็นลำดับที่ ๑๐ อันเป็นลำดับสุดท้าย

บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมต่อเนื่องกัน ไม่ขาดจากกันไปได้ และไม่จำต้องเริ่มบำเพ็ญทานก่อน ดังที่ท่านปรมัตถทีปนีฎีกาจารย์ได้ขยายอรรถาธิบายของท่านอรรถกถาจารย์ว่า กุสลกรรมใดที่กระทำด้วย
สมฺปชานกต คือเกิดมีปัญญาแจ้งในผลบุญแล้ว บารมีทั้ง ๑๐ ทัส ย่อมบริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง โดยไม่จำต้องคำนึงว่าต้องเริ่มด้วย ทานบารมีก่อน และได้ยก มหากปิชาดก คือ พญาวานรโพธิสัตว์ ที่ได้ช่วยชีวิตพราหมณ์หน่อเทวทัต นั้นมาประกอบด้วย ดังมีเรื่องโดยย่อว่า

ในสมัยหนึ่ง พราหมณ์หน่อเทวทัต ได้ตามหาโคที่หาย จนหลงไปในป่าลึก หาทางออกไม่ได้ มีความหิวโหยเป็นกำลัง ไปพบต้นอินทผลัมกำลังมีผลสุก จึงปีนขึ้นไปบนต้น เพื่อเก็บผลสุกมาแก้หิว ด้วยความรีบร้อน จึงพลัดตกจากต้นอินทผลัมและหล่นลงไปในเหว ขึ้นไม่ได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 06:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


พญาวานรโพธิสัตว์ผ่านไปทางนั้น เห็นพราหมณ์ตกลงไปในเหวลึก ก็มีความสงสาร รับปากว่าจะช่วยให้ขึ้นมาจากเหว และนำไปส่งให้พ้นป่าลึกจนถึงต้นทางที่จะกลับบ้าน ก่อนที่จะนำพราหมณ์ขึ้นมาจากเหว ด้วยปฏิภาณอันเฉียบแหลม ได้ลองกำลังของตน ด้วยการแบกก้อนหินที่มีน้ำหนักพอ ๆ กับพราหมณ์กระโดดดูก่อน เมื่อได้นำพราหมณ์ขึ้นจากเหวลึกได้แล้ว ก็มีความอ่อนเพลีย เพราะต้องใช้กำลังมาก จึงขอให้พราหมณ์ช่วยพิทักษ์ตน เพื่อจักได้นอนเอาแรงสักงีบหนึ่ง แล้วล้มตัวหลับบนตักพราหมณ์ พราหมณ์กลับคิดร้าย หมายจะเอาเนื้อลิงไปกำนัลแก่ภรรยา ก็คว้าก้อนหินมาทุบศีรษะพญาวานรที่กำลังหลับอยู่บนตักของตน แต่ทุบพลาดไปไม่ถูกเหมาะ พญาวานรจึงไม่ถึงแก่ความตาย แต่ก็ศีรษะแตกเลือดไหลอาบไปทั่วร่าง แม้กระนั้นพญาวานรก็มิได้มีจิตโกรธเคือง ทั้งไม่ละเลยวาจาสัตย์ที่ได้กล่าวไว้ คงนำพราหมณ์ออกจากป่าลึกมาส่งจนถึงต้นทางที่จะกลับ

ชาดกเรื่องนี้ พึงเห็นได้ว่า พญาวานรโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบุญบารมีครบทั้ง ๑๐ ทัส กล่าวคือ
ความเมตตาปรานีต่อพราหมณ์ที่ตกอยู่ในเหวลึกนั้น ได้ชื่อว่า เมตตาบารมี
ก่อนที่จะนำพราหมณ์ขึ้นมาจากเหว พญาวานรได้ทดสอบกำลังของตนก่อนนั้น เป็นการใช้ปัญญา เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นับว่าได้สร้างสม ปัญญาบารมี
ด้วยปณิธานที่จะให้พราหมณ์ได้พ้นขึ้นมาจากเหว ต้องใช้ความเพียรไม่ใช่น้อย จึงเป็นการสร้าง วิริยบารมี
การถูกทำร้ายในขณะที่กำลังหลับ และผู้ทำร้าย ก็คือผู้ที่ตนได้ช่วยด้วยความเมตตา และพากเพียรนั้นเอง ถึงกระนั้นพญาวานรก็หาได้โกรธเคือง กลับอดทนต่อความเจ็บปวดไว้ได้ ดังนี้เป็น ขันติบารมี และยังวางเฉย
ต่อเหตุการณ์ที่ผ่านไปเหมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ได้ชื่อว่าเป็น อุเบกขาบารมี
ได้นำพราหมณ์ออกจนพ้นจากป่า ทั้ง ๆ ที่เลือดตกยางออกเช่นนี้ เป็นการเสียสละเป็นการให้อภัยที่ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้ ดังนี้เป็น ทานบารมี
ตลอดเวลานับแต่ถูกทำร้ายเป็นต้นมา พญาวานรไม่ได้เอ่ยวาจาหรือแสดงกิริยาท่าทางส่อไปในทางตัดพ้อต่อว่าเลย คงรักษากายวาจาไว้ได้อย่างปกตินับว่าเป็น สีลบารมี
ความไม่โกรธ ไม่ตัดพ้อต่อว่า คงรักษากายวาจาได้เป็นปกติ ก็เป็นอันว่าตลอดเวลานั้น พ้นจากกิเลสกาม อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง จึงเป็น เนกขัมมบารมี
ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าอย่างแน่นอน ในอันที่จะนำส่งพราหมณ์ให้พ้นจากป่าเช่นนี้เป็น อธิฏฐานบารมี
การกระทำที่สมกับวาจาที่ได้ลั่นไว้ว่า จะช่วยให้ขึ้นจากเหว พาส่งให้พ้นจากป่านั้น เรียกว่า สัจจบารมี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2013, 06:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออนไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8260


 ข้อมูลส่วนตัว


บารมีจัดได้เป็น ๓ ชั้น

บารมีที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังจัดได้เป็น ๓ ชั้น คือ
ก. บารมี ๑๐ ทัส หรือ บารมี
ข. บารมี ๒๐ ทัส หรือ อุปบารมี
ค. บารมี ๓๐ ทัส หรือ ปรมัตถบารมี

บารมี ๓ ชั้นนี้มี วัตถุ ทำให้แตกต่างกัน กล่าวคือ จำแนกเป็น วัตถุภายนอก (พหิทฺธ) และ วัตถุภายใน (อชฺฌตฺติก)
การสร้างสมบารมีด้วยการให้วัตถุภายนอกล้วน ๆ เช่น การให้ธนสารสมบัติ บุตรภริยา เหล่านี้ได้ชื่อว่า สร้างบารมี ท่านอรรถกถาจารย์ได้ให้อรรถาธิบายเกี่ยวแก่ความแตกต่างกันนี้ โดยยกเอาทานบารมีเป็นที่ตั้งเป็นตัวอย่างแต่อย่างเดียว ส่วนบารมีอย่างอื่นที่เหลือนอกนั้น ให้พึงเข้าใจโดยอนุโลมตามแนวทางของทานบารมี

ปุตฺตทาร ธนาทิ อุปกรณ ปริจฺจาโค ปน ทานบารมี ฯ
เจตนาที่สามารถสละให้ซึ่ง บุตร ภริยา ธนสารสมบัติ เป็นต้นนั้น เรียกว่า ทานบารมี

องฺคปริจฺจาโค ทานอุปปารมี ฯ
เจตนาที่สามารถ สละ อุทิศ ซึ่งส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้น เรียกว่า ทานอุปบารมี

อตฺตโน ชีวิต ปริจฺจาโค ทานปรมตฺถปารมี ฯ
เจตนาที่สามารถ สละ อุทิศ ซึ่งชีวิตของตนนั้น เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี
ผู้บำเพ็ญบารมีเพียงแค่ชั้น บารมี เรียกว่า บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัส การบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัสนี้ ย่อมสาธารณะแก่บุคคลทั่วไปที่ปรารถนา โพธิญาณ ซึ่งได้แก่ อัคคสาวก มหาสาวก และปกติสาวก

ผู้บำเพ็ญบารมีถึงชั้น อุปบารมี เรียกว่า บำเพ็ญบารมี ๒๐ ทัส เพราะผู้บำเพ็ญบารมีมาถึงชั้นนี้แล้ว ย่อมต้องมีการบำเพ็ญ บารมี ๑๐ ทัส มาแล้วอย่างมากมาย จึงสามารถบริจาคส่วนของร่างกายได้ การบำเพ็ญ อุปบารมี หรือ บารมี ๒๐ ทัสนี้ ย่อมสาธารณะแก่บุคคลที่ปรารถนา ปัจเจกโพธิญาณ

ผู้บำเพ็ญบารมี จนถึงชั้น ปรมัตถบารมี เรียกว่า บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัส อันเป็นการบำเพ็ญบารมีที่สุดยอดแล้ว การบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัสนี้ ย่อมสมบูรณ์เฉพาะแต่ผู้ที่ปรารถนา สัมมาสัมโพธิญาณ เท่านั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 8, 9, 10, 11, 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ลุงหมาน และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร