วันเวลาปัจจุบัน 06 ต.ค. 2024, 08:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ย. 2013, 07:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนูปกิเลส ๙ ประการ ตั้งแต่ โอภาส ถึง อุเบกขานั้น แม้ว่าจะเกิดปรากฏขึ้นมาแล้ว ถ้านิกันติยังไม่เข้าร่วมด้วย คือ ไม่ชอบใจ ติดใจ เพลิดเพลินไปด้วย ก็ไม่เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนา ต่อเมื่อใด

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ โอภาส ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ปีติ ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ปัสสัทธิ ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ อธิโมกข ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ปัคคหะ ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ สุข ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ญาณ ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ อุปัฏฐาน ก็ดี
มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ อุเบกขา ก็ดี

เมื่อนั้นจึงนับว่าองค์ประกอบทั้ง ๙ นี้เป็น วิปัสสนูปกิเลส ทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ยินดีพอใจอยู่เพียงแค่นี้ โดยเข้าใจเสียว่าตนเองสำเร็จมัคคผลแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส เป็นที่อาศัยแห่งคาหธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ และเป็นช่องให้อกุสลธรรมเหล่าอื่นเกิดขึ้นอีกมากมาย ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาองค์ประกอบของวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๙ และองค์วิปัสสนูปกิเลสแท้ ๆ อีก ๑ คือ นิกันติว่าสักแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนี้แล้ว วิปัสสนาก็ไม่เศร้าหมอง แต่จะเจริญขึ้นตามลำดับ

๒๕. อิจฺเจวํ ทสุปเกฺลสา ปริปนฺถ ปริคฺคหา
อมคฺคา ว อิเมธมฺมา ธมฺมสฺส ปริปนฺติกา ฯ

อุปกิเลส ๑๐ ประการ ดังบรรยายมาฉะนี้ กำหนดถือว่า เป็นอันตราย ธรรมเหล่านี้เป็นอันตรายแห่งวิปัสสนาธรรม เป็นอมัคค มิใช่ทางเลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2013, 06:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


มีความหมายว่า วิปัสสนูปกิเลส ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เป็นอันตรายของวิปัสสนาโดยแท้ แต่จะบังคับบัญชามิให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ เมื่อเจริญถึงตรุณอุทยัพพยญาณ วิปัสสนูปกิเลสย่อมเกิดขึ้นตามธรรมชาติคู่กับวิปัสสนา จะเรียกว่าเป็นสหายของวิปัสสนาก็ได้ แต่ว่า วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดแก่บุคคล ๓ จำพวก คือ

๑. พระอริยบุคคล เพราะได้เคยดำเนินในทางที่ถูกแล้ว
๒. ผู้ปฏิบัติผิดจากทางวิปัสสนา
๓. ผู้มีความเพียรอ่อน เพราะความเพียรที่แรงกล้าเท่านั้นจึงจะเป็น วิปัสสนูปกิเลส

เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น พระโยคีผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสปาย ๗ (โดยเฉพาะในที่นี้หมายถึง กัลยาณมิตร คืออาจารย์ผู้อุปถัมภ์) แล้ว ก็ยากที่จะล่วงพ้นไปได้ เพราะชอบใจ ติดใจ เพลิดเพลินในวิปัสสนูปกิเลสนี้เสีย อุปมาเหมือนการเดินทางไกลและกันดาร เมื่อเดินไปพบศาลาพักร้อนข้างทาง ก็แวะเข้าไปพักผ่อนหลับนอนเสีย ไม่เดินทางต่อไป ก็ไม่บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง ด้วยเหตุนี้วิปัสสนูปกิเลสจึงเป็นเครื่องเศร้าหมอง เป็นอันตราย เป็นอมัคค คือ มิใช่ทางแห่งวิปัสสนา ส่วนทางของวิปัสสนานั้นคือ การเห็นแจ้งในรูปธรรมกับนามธรรมโดยลักษณะทั้ง ๓ คือ ไตรลักษณ์ เห็นแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปในอุทยัพพยญาณนั้น จึงจะพ้นอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส

๒๖. สมฺมวีถิ ปฏิปนฺนํ ตตโต ญาณทสฺสนํ
มคฺโค ธมฺมา ธิกมาย มคฺคามคฺค วินิจฺฉยํ ฯ

ความรู้ความเห็นโดยปัญญาอันกว้างขวาง ดำเนินขึ้นสู่วิถีโดยชอบเป็นทางเพื่อบรรลุธรรม ชื่อว่าการวินิจฉัยว่า ทางหรือมิใช่ทาง (คือมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ)

มีความหมายว่า เมื่อพระโยคีผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเกิดญาณแก่กล้า เป็นพลววิปัสสนาในอุทยัพพยญาณแล้ว พ้นจากอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส ไม่ติดไม่ข้องอยู่เลย เพราะมาวินิจฉัยดูว่ามิใช่ทางเลย เป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้น แทรกแซงให้วิปัสสนาเศร้าหมองเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาดังนี้ เป็นอันว่าถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นความบริสุทธิในข้อที่รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง อุปมาเหมือนผู้เดินทางมาถึงทาง ๒ แพร่ง วินิจฉัยแล้วรู้ว่า ทางนี้เป็นทางที่ถูก ปลอดภัย ควรเดิน ทางนั้นเป็นทางที่ผิด มีอันตราย ไม่ควรเดิน จึงมุ่งหน้าไปตามทางที่ถูกต้อง คือ พิจารณาไตรลักษณ์แห่งรูปนาม โดยการกำหนดเพ่งความเกิดดับด้วยความพาก เพียรต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2013, 06:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 99.09 KiB | เปิดดู 3806 ครั้ง ]
สรุป ในอุทยัพพยญาณนี้ คงได้ความว่า จำแนกอุทยัพพยญาณได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ และพลวอุทยัพพยญาณ ตรุณอุทยัพพยญาณนี้แหละที่วิปัสสนูปกิเลสเกิด ตรุณอุทยัพพยญาณ ที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนอยู่ด้วยนั้น เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ กำลังอยู่ในระหว่างวินิจฉัยว่า ทางหรือมิใช่ทางกันแน่ กล่าวอย่างสามัญก็ว่ายังอยู่ในระหว่างลูกผีลูกคน ต่อเมื่อวินิจฉัยได้เด็ดขาดแล้วว่า วิปัสสนูปกิเลสเป็น อมัคค หาใช่ทางไม่ ก็เจริญอุทยัพพยญาณต่อไป อุทยัพพยญาณที่ไม่มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนด้วยนั้น ชื่อว่า
พลวอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่พ้นจากอำนาจแห่งวิปัสสนูปกิเลสแล้วเช่นนี้ จึงเป็น
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ตรุณอุทยัพพยญาณ บ้างก็เรียกว่า มัคคามัคคววัตถานญาณ นี้สามารถละ อมัคเคมัคคสัญญา สัญญาที่เข้าใจผิดนั้นได้

พลวอุทยัพพยญาณ บ้างก็เรียกว่า อุทยญาณ คือ ญาณที่เจริญขึ้น ญาณนี้สามารถละ อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นผิดว่าตายแล้วสูญนั้นเสียได้

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ ซึ่งตรงกับโสฬสญาณถึง ๙ ญาณ คือตั้งแต่ พลวอุทยัพพยญาณ ที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลสรบกวนแล้ว ไปจนถึง อนุโลมญาณ มีคาถาที่ ๒๗ แสดงว่า

๒๗. ปริปนฺถ วิมุตฺโต ว อุทยพฺพยญาณโต
ปฏฺฐาย ยาวานุโลมา นวญาณานิ ภาวิย
ฐิโต ปฏิปทาญาณ ทสฺสนสฺมิ วิสุทฺธิยํ ฯ

การกะบุคคล พ้นแล้วจากอันตราย เจริญวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ จำเดิมแต่อุทยัพพยญาณไปตลอดถึงอนุโลมญาณ ชื่อว่าตั้งอยู่แล้วใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

มีความหมายว่า บุคคลผู้กระทำความเพียรเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยไม่ท้อถอย ไม่ยึดถือนิมิตต่าง ๆ พ้นแล้วจากนิวรณ์ทั้ง ๕ และปราศจากวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ อันเป็นอันตรายของวิปัสสนานั้นมารบกวน เมื่อนั้นวิปัสสนาญาณ ก็จะเจริญแก่กล้าขึ้นในวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ อันได้แก่ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเบกขาญาณ และอนุโลมญาณ ตามลำดับ
ซึ่งญาณทั้ง ๙ นี้ เมื่อกล่าวโดยวิสุทธิทั้ง ๗ แล้ว เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิลำดับที่ ๖ เป็นความบริสุทธิหมดจดโดยมีปัญญารู้ว่า การปฏิบัติดังนี้เป็นทางที่จะดำเนินไปให้บรรลุถึง ญาณทัสสน วิสุทธิแล้ว ความหมายของแต่ละญาณแห่งวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นั้น มีดังนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2013, 06:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


อุทยัพพยญาณ

อุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ ๔ แห่งโสฬสญาณ และเมื่อนับว่า วิปัสสนาญาณ มี ๙ ตามนัยแห่งคาถาที่ ๒๗ ข้างบนนี้แล้ว ก็เป็นญาณที่ ๑ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ อันเป็นญาณที่แจ้งไตรลักษณ์ ด้วยการพิจารณาจนเห็นความเกิดดับของรูปนาม
เมื่อเห็นอนิจจัง เพราะรูปนามนี้ดับไป ๆ สันตติก็ไม่สามารถที่จะปิดบังไว้ให้คงเห็นเป็นนิจจังไปได้ ดังนั้นจึงประหาณมานะเสียได้
เมื่อเห็นทุกขัง เพราะรูปนามนี้ดับไป ๆ อิริยาบถก็ไม่สามารถที่จะปิดบังไว้ให้คงเห็นเป็นสุขไปได้ ดังนั้นจึงประหาณตัณหาเสียได้
เมื่อเห็นอนัตตา เพราะรูปนามนี้ดับไป ๆ ฆนสัญญาก็ไม่สามารถที่จะปิดบังไว้ให้คงเห็นเป็นอัตตาไปได้ ดังนั้นจึงประหาณทิฏฐิเสียได้
อุทยัพพยญาณ นี้เท่ากับอารมณ์ ๓ ญาณข้างต้นรวมกันมาเป็นปัจจัย ให้เกิด อุทยัพพยญาณ กล่าวคือ
นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ให้เกิดปัญญาเห็นรูปและนาม ว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน
ปัจจยปริคคหญาณ เป็นญาณที่ให้เกิดปัญญาเห็นปัจจัยที่ให้เกิดรูปและเกิดนาม
สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ เห็นการเกิดของรูปนาม จึงได้เกิดปัญญารู้ขึ้นมาว่ารูปนามก่อนนี้นั้นได้ดับไปแล้ว
ครั้นถึง อุทยัพพยญาณนี้ จึงทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งทั้งความเกิดและความดับ ของรูปนาม
และต่อไปก็จะเป็นภังคญาณ เป็นญาณที่ เห็นแต่ความดับของรูปนามแต่ถ่าย เดียว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2013, 06:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


ภังคญาณ

ภังคญาณ เป็นญาณที่ ๕ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๒ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และเป็น
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิลำดับที่ ๖ ในวิสุทธิทั้ง ๗

ภังคญาณนี้เห็นแต่ความดับถ่ายเดียว ความดับแห่งรูปนาม เป็นที่น่าหวาดกลัวและสะเทือนใจซึ่งผิดกับความเกิด เพราะความเกิดนั้นนอกจากไม่เป็นที่น่าหวาดกลัวแล้ว ยังก่อให้เกิดกิเลส เช่น ตัณหา เป็นต้นด้วยซ้ำไป

การเห็น ก็เห็นความดับของรูปธรรมนามธรรม ทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอกด้วยกล่าวคือ รูปที่เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นธรรมภายนอกนั้นก็ดับไป ๆ รูปที่รับอารมณ์ที่มากระทบ มีจักขุปสาท เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมภายในนั้นก็ดับไป ๆ นามคือ จิตเจตสิกที่ธรรมภายในอันเป็นตัวรู้ก็ดับไป ๆ เช่นเดียวกัน ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น

ความดับเป็นสิ่งสะเทือนใจ จึงทำให้จิตใจจดจ่อเห็นแต่ความดับชัดขึ้นเด่นขึ้นทุกที จนเกิดปัญญารู้เห็นว่ารูปนามนี้ไม่เป็นแก่นสาร หาสาระมิได้ ทำให้คลายความกำหนัด คลายความยึดมั่น ดังที่ในวิสุทธิมัคคได้แสดงอานิสงส์แห่งภังคญาณนี้ไว้ถึง ๘ ประการ คือ

๑. ภวทิฏฺฐิปฺปหานํ สละละเสียได้ซึ่งสัสสตทิฏฐิ คลายความใคร่ในภพ คือ ขันธ์
๒. ชีวิตนิกนฺติปริจฺจาโค สละละเสียได้ซึ่งความยินดีในชีวิต คลายความใคร่ในชีวิต
๓. สทา ยุตตฺปยุตฺตตา มีความเพียรบำเพ็ญกัมมัฏฐาน สิ้นกาลเป็นนิจ
๔. วิสุทฺธาชีวิตา ประพฤติเลี้ยงชีวิตด้วยความบริสุทธิ ปราศจากโทษ
๕. อุสฺสุกฺกปฺปหานํ สละละเสียซึ่งความขวนขวายในการแสวงหาเครื่อง อุปโภค บริโภค และ
บริขารต่าง ๆ โดยตั้งอยู่ในความมักน้อย
๖. วิคตภยตา ปราศจากความหวาดกลัว บมิได้สะดุ้งตกใจกลัวต่อภยันตรายต่าง ๆ
๗. ขนฺติโสรจฺจปฏิลาโภ มีความอดทน อดกลั้น และว่าง่ายสอนง่าย บมิได้กระด้างกระเดื่อง
๘. อรติรติสหนตา อดกลั้นได้ซึ่งความกระสันและความยินดี บมิได้ลุอำนาจแห่งความกระสันและความยินดี
ภังคญาณ ที่เห็นแต่ความดับของรูปนามนี้ สามารถละ สัสสตทิฏฐิ ที่มีความเห็นผิดว่า สัตว์บุคคลทั้งหลาย มีความเที่ยงไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่นเลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2013, 07:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


ภยตูปัฏฐานญาณ

ภยตูปัฏฐานญาณ นี้มักจะเรียกสั้น ๆ ว่า ภยญาณ เป็นญาณที่ ๖ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๓ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๖ ที่ชื่อว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ แห่งวิสุทธิทั้ง ๗
ภยญาณ เป็นญาณที่ได้รับอารมณ์ สืบเนื่องมาจากภังคญาณ ที่เห็นรูปนามดับไป ๆ ไม่เป็นแก่นสาร หาสาระมิได้ ก็เลยเกิดมีความรู้สึกขึ้นมาว่า สังขารรูปนามนี้เป็นภัยอย่างแน่นอน เพราะสิ่งใดที่น่ากลัว น่าหวาดเสียว สิ่งนั้นย่อมเป็นอันตราย เป็นทุกข์ เป็นภัย เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้จับจิตจับใจโดยอำนาจแห่งภาวนา ก็ทำให้มองเห็นภัยในความเกิดขึ้นของสังขารร่างกาย อันมีรูปมีนามนี้ ที่เป็นไปในกำเนิด ๔, ในคติ ๕, ในวิญญาณฐีติ ๗ และในสัตตาวาส ๙ เหล่านั้นว่าล้วนแต่น่ากลัว น่าหวาดเสียว เต็มไปด้วยอันตรายและภัยพิบัติ สังขารทั้งหลายที่เป็นมาแล้วในอดีต ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่ที่จะเป็นไปในอนาคต ก็ต้องมีความย่อยยับดับไปอย่างนี้เหมือนกัน ที่รู้ดังนี้เป็นการรู้ตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม ด้วยภาวนามยปัญญา ขณะที่รู้ดังนี้อยู่ตราบใด ตัณหา คือตัว สมุทัย ก็จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เป็นการทำให้ตัณหานั้นหยุดชะงักอยู่ ไม่กำเริบขึ้นมาได้ตราบนั้น แต่ว่าความยินร้าย ความกลัว คือ โทสะ อาจอาศัยแอบแฝงเกิดขึ้นได้

ภยญาณ หรือภยตูปัฏฐานญาณ ซึ่งเป็นญาณที่เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย จึงละ สภเยอภยสัญญา สัญญาที่ไม่แจ้งในภัยนั้นได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2013, 07:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


อาทีนวญาณ

อาทีนวญาณ เป็นญาณที่ ๗ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๔ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ ใน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่ง วิสุทธิ ๗

ญาณนี้ได้อารมณ์ต่อเนื่องมาจาก ภยญาณ ที่เห็นรูปนามเป็นภัย จึงเกิดปัญญาเห็นว่า รูปนาม คือสังขารนี้เป็นโทษ ซึ่งสิ่งใดที่เป็นภัยสิ่งนั้นย่อมเป็นโทษ นี่เป็นไปอย่างธรรมดาตามธรรมชาติ การเห็นโทษในที่นี้เห็นถึง ๕ ประการ คือ

๑. เห็นความเกิดขึ้นของสังขารที่ตนปฏิสนธิมา ว่าเป็นโทษ
๒. เห็นความเป็นไปของสังขารในระหว่างที่ตั้งอยู่ในภพ และคติที่ตนได้นั้น ว่าล้วนแต่เป็นโทษ
๓. เห็นกรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นมานั้นเป็นโทษ มิใช่คุณ
๔. เห็นความเสื่อมความสิ้นไปของสังขาร ว่าเป็นโทษ
๕. เห็นว่าการที่จะต้องไปเกิดอีกนั้น เป็นโทษ

ด้วยอำนาจของปัญญาที่ค่อย ๆ แก่กล้าขึ้นมาเป็นลำดับ จึงทำให้เห็นว่า รูปนามสังขารนี้เป็นโทษ เป็นสิ่งที่ร้ายที่ชั่ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีเลย แม้แต่ สติ และปัญญา ที่ทำให้เห็นเช่นว่านี้ ก็ยังถือว่า ญาณคือปัญญา ก็เพียงสักแต่ว่ารู้ สติที่ระลึกก็เพียงแต่อาศัยระลึก ไม่อิงอาศัย ตัณหา ความอยาก ไม่อิงอาศัย ทิฏฐิ ความเห็นผิด มาปรุงแต่งให้เกิดความยินดีในสติปัญญาที่ทำให้รู้แจ้งถึงปานนี้ ไม่ถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังขารนี้เป็นคุณเลย ล้วนแต่เป็นโทษทั้งนั้น

เมื่อเห็นโทษของสังขาร ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า ถ้าไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีขันธ์ อายตนะ ธาตุ ไม่มีรูปนาม ไม่มีสังขารเลย ก็จะปลอดภัย ไม่มีโทษ ปัญญาที่คิดจะให้พ้นจากทุกข์โทษภัยทั้งหลายนี้แหละ คือ อาทีนวญาณ เป็นปัญญาที่ริเริ่มจะให้พ้นทุกข์ บ่ายหน้าไปหาสันติสุข น้อมใจไปสู่พระนิพพาน ซึ่งจะไม่ต้องกลับมาวนเวียนในสังสารวัฏฏอีก

อารมณ์ของอาทีนวญาณนี้ จึงแยกได้เป็น ๒ นัย นัยหนึ่งเห็นโทษของสังขาร อันเป็นธรรมในสังสารวัฏฏ อีกนัยหนึ่งเห็นคุณของพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่พ้นจากสังสารวัฏฏ อารมณ์ทั้ง ๒ นี้จะว่าต่างกันเป็นข้าศึกกันก็ได้ เพราะเมื่อเห็นโทษของสังขารมากเท่าใด ก็พอใจในการที่จะพ้นโทษมากเท่านั้น หรือเห็นคุณในการพ้นโทษมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความอยากที่จะจากสังขารที่มีโทษมากเท่านั้น แต่จะว่าอารมณ์ทั้ง ๒ นี้เหมือนกันและช่วยอุปการะแก่กันก็ได้ เพราะความมุ่งหมายของอารมณ์ทั้ง ๒ นี้ มุ่งไปสู่ความพ้นจากสังสารวัฏฏเหมือนกัน และต่างก็เป็นปัจจัยอุปการะ
ให้เกิดปัญญาแก่กล้า จนนำออกจากสังสารวัฏฏได้เช่นเดียวกัน

ที่คิดจะพ้นทุกข์ ก็เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษของสังขาร ถ้าหากว่ายังเห็นสังขารรูปนามทั้งหลายเป็นของดี เป็นของสวยงาม เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนอยู่ ก็จะติดอยู่ในตัณหา ติดอยู่ในกองทุกข์ ซึ่งจะนำไปสู่สังสารทุกข์
อีกไม่มีที่สิ้นสุด จะพ้นทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ให้เห็นทุกข์ แล้วอาศัยทุกข์นั้นแหละไต่ไปตามความทุกข์ ไม่ใช่เพ่งสุข อาศัยสุข ดำเนินไปตามทางที่สุขสบาย ซึ่งกลับจะติดแน่นอยู่ในสุข ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้เลย

อาทีนวญาณ ปัญญาที่เห็นว่ารูปนามนี้ล้วนแต่เป็นโทษนั้น สามารถละ อัสสาทสัญญา สัญญาที่ชื่นชมยินดีนั้นได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


นิพพิทาญาณ

นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่ ๘ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๕ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

เมื่อเห็นรูปนามเป็นภัยและเป็นโทษด้วยประการต่าง ๆ ทั้งพิจารณาเห็นซ้ำเห็นซากอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งเห็นภัย เห็นโทษชัดขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดความเบื่อหน่ายต่อรูปนามทั้งปวง

การเบื่อหน่ายต่อรูปนาม มีชื่อว่า นิพพิทาญาณ นี้เป็นการเบื่อหน่ายอันเกิดจากปัญญาที่เห็นแจ้งถึงภัยและโทษ ของสังขารรูปนามทั้งปวง มิใช่เบื่อหน่ายในอารมณ์อันไม่เป็นที่น่ารักที่น่าชื่นชมยินดี หรืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจ อันเนื่องด้วยโทสะ เพราะความเบื่อหน่ายอันเนื่องจากโทสะนั้นเป็นการเลือกเบื่อหน่าย สิ่งใดที่ไม่ชอบก็เบื่อหน่าย แต่สิ่งใดที่ยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่าย เวลาอิ่มก็เบื่อหน่าย แต่เวลาหิวก็ไม่เบื่อหน่าย เช่นนี้เป็นต้น แต่ว่าการเบื่อหน่ายด้วยปัญญา เป็นการเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ใช่เลือกเบื่อบ้างไม่เบื่อบ้าง เหมือนอย่างเนื่องด้วยโทสะ นิพพิทาญาณนี้เบื่อหน่ายต่อสังขารรูปนามในทุก ๆ ภูมิ ไม่ใช่เลือกเบื่อหน่ายเฉพาะอบายภูมิ แต่ภูมิในสวรรค์
ไม่เบื่อหน่าย ที่เบื่อหน่ายสังขารรูปนามในทุก ๆ ภูมิ ก็เพราะสังขารรูปนามไม่ว่าจะอยู่ในภูมิไหน ก็เป็นภัยเป็นโทษทั้งนั้น

เมื่อเบื่อหน่ายในรูปนาม จึงปลงใจขะมักเขม้นในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นเครื่องนำออกจากสังสารทุกข์ มุ่งไปสู่สันติสุข คือพระนิพพาน

นิพพิทาญาณ ปัญญาที่เบื่อหน่ายต่อสังขารรูปนามนี้ สามารถละ อภิรติสัญญา สัญญาที่เพลิดเพลินเสียได้

อนึ่ง ภยญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นภัย อาทีนวญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นโทษ และ นิพพิทาญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย รวม ๓ ญาณนี้ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นอรรถอันเดียวกัน คือ

เป็นภัย ก็เพราะไม่ดี ชั่ว มีโทษ ควรเบื่อหน่าย
เป็นโทษ ก็เพราะไม่ดี ชั่ว มีภัย ควรเบื่อหน่าย
ที่เบื่อหน่าย ก็เพราะไม่ดี ชั่ว มีภัย มีโทษ

ดังมีบาลีว่า ยาจ ภย ตุปฏฺฐานปญฺญา ยญฺจ อาทีนวญาณํ ยาจ นิพฺพิทา อิเม ธมฺมา เอกตฺถา พยญฺชนเมวนามํ

ภยญาณที่ได้เห็นเป็นภัยก็ดี อาทีนวญาณที่ได้เห็นเป็นโทษก็ดี นิพพิทาญาณที่เบื่อหน่ายก็ดี รวม ๓ ประการนี้ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นอรรถเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อพยัญชนะเท่านั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


มุญจิตุกมยตาญาณ

มุญจิตุกมยตาญาณ เป็นญาณที่ ๙ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๖ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

โยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเกิดปัญญาถึงกับมีความเบื่อหน่ายต่อรูปธรรมนามธรรมอันเป็นสังขารธรรม ตั้งหน้าเจริญภาวนาต่อไปโดยปราศจากความท้อถอย มีความเบื่อหน่ายในรูปนามยิ่งขึ้น ก็เกิดความมุ่งหมาย ที่จะให้พ้นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ชั่ว เป็นภัย เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย คือสังขารรูปนาม ที่มุ่งจะให้พ้นจากสังขารรูปนาม ที่จะหนีจากสังขารรูปนามนี่แหละเรียกว่า มุญจิตุกมยตาญาณ

การพ้นจากรูปนาม การหนีจากรูปนาม ก็คือ การพ้นจากทุกข์โทษภัยนั่นเอง เป็นความมุ่งมั่นที่จะพ้นอย่างแรงกล้า อันเกิดจากปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่นึกจะพ้นอย่างเลื่อนลอย โดยไม่ได้มีการเจริญภาวนาแต่อย่างใด

มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่ใคร่จะหนีจากรูปนามนี้สามารถละ อมุญจิตุกามภาวะ การติดการข้องอยู่ในกามภาวะได้

ปฏิสังขาญาณ

ปฏิสังขาญาณ เป็นญาณที่ ๑๐ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๗ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

ญาณที่แล้ว คือ มุญจิตุกมยตาญาณ เป็นญาณที่ ปรารถนาจะพ้น จากสังขารรูปนาม ส่วนญาณนี้เป็นญาณที่ หาอุบายให้พ้น จากรูปนาม หาทางหนีให้พ้นจากสังขาร

เมื่อปรารถนาจะพ้นจากสังขารรูปนาม ก็พยายามเจริญภาวนาโดยไม่ยั้งหยุด ด้วยการเพ่งไตรลักษณ์ เพ่งความเกิดดับของรูปนาม ก็จะเกิดปัญญาแจ้งขึ้นมาเองว่า จะต้องหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง และดำเนินการตามอุบายนั้น จึงจะพ้นได้ ปัญญานี่แหละเรียกว่า ปฏิสังขาญาณ ปฏิสังขา มาจากคำว่า ปฏิสังขรณ์ แปลว่า การซ่อมแซม การตกแต่ง คือตกแต่งซ่อมแซม
ความปรารถนาที่จะพ้นจากสังขารรูปนามนั้นให้สมบูรณ์ จนเป็นผลขึ้นมา ถึงกระนั้นในขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นอุบายที่จะทำให้พ้นจากรูปนาม คงเห็นแต่เพียง อนิจจลักษณะ ๑๐ ทุกขลักษณะ ๒๕ อนัตตาลักษณะ ๕ รวม ๔๐ ประการที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แม้จะยังไม่เห็นอุบายแต่ก็ไม่วายที่จะไตร่ตรองมองหาอุบายอยู่

ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองมองหาอุบายให้พ้นจากรูปนามนี้สามารถละ อปฏิสังขาน การยึดโดยไม่ไตร่ตรองนั้นได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


สังขารุเบกขาญาณ

สังขารุเบกขาญาณ เป็นญาณที่ ๑๑ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๘ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

สังขารุเบกขาญาณ เป็นความวางเฉยต่อสังขาร โดยประจักษ์แจ้งความเกิดดับของรูปนามในขณะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุสลญาณสัมปยุตตจิต หาใช่ อุเบกขา เวทนาเจตสิก ไม่ สังขารุเบกขาญาณนี้อาจเกิดพร้อมกับเวทนาที่เป็นโสมนัสก็ได้ หรือเกิดพร้อมกับเวทนาที่เป็นอุเบกขาก็ได้

ที่ว่า ญาณนี้วางเฉยต่อสังขารรูปนามนั้น มีคำอธิบายเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งนั้นว่า เพราะมีความปรารถนาที่จะหนีให้พ้นจากรูปนาม ไตร่ตรองมองหาอุบายที่จะให้พ้นจากรูปนาม ก็เกิดปัญญารู้เห็นขึ้นมาว่า รูปนามนี้เป็นวิบากที่เกิดมาจากเหตุจากปัจจัย ต่อเมื่อทำให้เหตุปัจจัยหมดสิ้นไปเสียก่อน รูปนามอันเป็นวิบากจึงจะไม่เกิดขึ้น แต่ว่า ณ บัดนี้มีรูปนามอยู่แล้ว จะเบื่อหน่ายอยากหนีสักเพียงไรก็ยังหนีไม่พ้นจำต้องวางเฉย อย่างที่เรียกว่า หวานอมขมกลืน ไม่ยินดียินร้าย คือ ไม่มีอภิชฌาและโทมนัสในสังขารรูปนาม แต่ก็ไม่ละเลยในการพยายามต่อการเพ่ง ความเกิดดับ
ของรูปนาม ซึ่งมาถึงตอนนี้ ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัดมาก

อีกนัยหนึ่ง ก็มีเนื้อความทำนองเดียวกัน ต่างกันที่โวหารเท่านั้น คือกล่าวว่า ปัญญาที่ได้พิจารณาเห็นความจริงมาแล้วแต่ในญาณต้น ๆ นั้น มีกำลังแก่กล้าขึ้น เห็นความไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ว่างเปล่าจากตัวตน โดยอาการ ๑๒ คือ

๑. เห็นเบ็ญจขันธ์นี้มิใช่สัตว์ ๒. มิใช่บุคคล
๓. มิใช่ชีวะ ๔. มิใช่อัตตะ
๕. ไม่มีตัวตน ๖. ไม่ใช่เรา
๗. มิใช่ของเรา ๘. มิใช่ของผู้อื่น
๙. มิใช่หญิง ๑๐. มิใช่ชาย
๑๑. มิใช่สิ่งที่ยั่งยืน ๑๒. มิใช่สิ่งที่ควรชื่นชมยินดี

เหตุนี้จึงวางเฉยต่อรูปนาม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


รวมความว่า เมื่อประจักษ์เห็นปานนี้ จึงไม่มีความยินดียินร้าย ต่อสังขารรูปนาม ตลอดจน คาหธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ซึ่งตามนัยแห่ง อนัตตลักขณสูตร แสดงว่า

เอตํ มม นั่นเป็นของเรา ด้วยอำนาจแห่ง ตัณหา
เอโส หมสฺมิ นั้นเป็นของเรา ด้วยอำนาจแห่งมานะ
เอโส เม อตฺตา นั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ

ซึ่งอาศัยเกิดขึ้นตามทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖ และวิญญาณทั้ง ๖ เหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่ทำให้เกิดรู้แจ้งขึ้นมาว่า
เนตํ มม นี่ไม่ใช่ของเรา
เนโส หมสฺมิ นี่ไม่ใช่เรา
นเอโส เม อตฺตา นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ดังนี้ กิเลสจึงไม่มีกำลังพอที่จะเหนี่ยวรั้งจิตใจให้กลับมาชื่นชมยินดีในสังขารรูปนาม อันจะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏนี้อีก มีใจดิ่งไปสู่นิพพานที่สงบสงัดปราศจากนิมิตทั้งหลาย
สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อสังขารนี้ สามารถละ อนุเปกขณะ การยึดถือโดยไม่วางเฉยเสียได้
อนึ่ง มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่ใคร่หนีจากรูปนาม ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองมองหาอุบายหนีจากรูปนาม และสังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม รวม ๓ ญาณนี้ พยัญชนะต่างกันจริง แต่ว่า อรรถเหมือนกัน คือ จะหนีจากรูปนาม ดังมีบาลีว่า

ยาจ มุญฺจิตุกมฺยตา ยาจ ปฏิสงฺขานุปสฺสนา ยาจ สงฺขารุเปกฺขา อิเม ธมฺมา เอกตฺถา
พยญฺชนเมวนานํ

มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ และสังขารุเบกขาญาณ ทั้ง ๓ ญาณนี้ มีอรรถเดียวกัน แต่ชื่อ พยัญชนะนั้นต่างกัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโลมญาณ

อนุโลมญาณ เป็นญาณที่ ๑๒ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๙ คือ ญาณสุดท้ายแห่งวิปัสสนาญาณ ๙
และเป็นญาณสุดท้ายของปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗
เมื่อครุ่นคิดจะหนี หาอุบายหนี เมื่อหนียังไม่พ้น ก็เฉยอยู่ก่อน แต่ยังเพ่งความเกิดดับ โดยไม่ลดละ ก็จะ
ถึงอนุโลมญาณนี้โดยเกิดปัญญาขึ้นมาเองว่า ต้องอนุโลม คือ ต้องคล้อยตาม อริยสัจจ จึงจะหนีพ้น
ก็อริยสัจ คือ ทุกขสัจจ สมุทยสัจจ นิโรธสัจจ และมัคคสัจจ นั้น มีญาณกำกับไว้ สัจจละ ๓ ญาณ ได้แก่
สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ
สัจจญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งว่า ทุกข์ คือรูปนามที่เป็นโลกีย สมุทัย คือ ตัณหา นิโรธ คือ นิพพาน
และมัคค คือ อริยมัคคมีองค์ ๘ รู้อย่างนี้ เป็นการรู้ตามความเป็นจริง จึงได้เรียกว่า สัจจญาณ
กิจจญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งว่า ทุกข์พึงกำหนดรู้ สมุทัยพึงละ นิโรธพึงทำให้แจ้ง มัคคพึงเจริญ รู้
อย่างนี้เป็นการรู้ตามหน้าที่การงาน จึงได้เรียกว่ากิจจญาณ
กตญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งว่า ทุกข์ที่พึงกำหนดรู้นั้นก็ได้กำหนดจนรู้แล้ว สมุทัยที่พึงละนั้นก็ได้ละ
แล้ว นิโรธที่พึงทำให้แจ้งนั้นก็ได้แจ้งแล้ว และมัคคที่พึงเจริญนั้น ก็ได้เจริญจนเป็นสมังคีแล้ว รู้อย่างนี้
เป็นการรู้ตามการกระทำจึงได้เรียกว่า กตญาณ

ทุกขสัจจ ได้แก่ รูปนาม ดังนั้นปัญญาที่เห็นแจ้งในรูปนาม ก็ได้ชื่อว่า กำหนดรู้ทุกข์แล้ว ในขณะที่กำหนด
ดูรูปนามอยู่ ขณะนั้นตัณหาก็ไม่มีมาเกิดร่วมด้วย ก็ได้ชื่อว่า ละสมุทัยแล้ว เพราะตัณหานั้นละได้ด้วยการ
เห็นทุกข์ ยิ่งเห็นรูปนามเป็นทุกข์มากเพียงใด ก็ละตัณหาได้มากเพียงนั้น ละตัณหาได้มากเท่าใด ก็ใกล้ที่
จะแจ้ง นิโรธมาก
ยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะนิโรธเป็นธรรมที่ดับตัณหา ครั้นตัณหาดับสิ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็แจ้งนิโรธ ขณะที่ทำกิจ
เพื่อแจ้งนิโรธ ขณะนั้นก็ทำกิจให้มัคคสัจจเจริญขึ้นด้วย เพราะว่ามัคคสัจจเป็นมรรคาที่ให้ถึงนิโรธ แจ้ง
นิโรธขณะใด ขณะนั้นมัคคสัจจก็สมบูรณ์อย่างพร้อมเพรียง หรือจะกล่าวว่า มัคคสัจจเป็นสมังคีเมื่อใด
เมื่อนั้นก็แจ้งนิโรธ กล่าวอย่าง
ย่อที่สุดก็ว่า เห็นทุกข์ ตัณหาก็ดับ นิโรธก็แจ้ง มัคคก็เป็นสมังคี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


ในญาณทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ นั้น สัจจญาณ และกิจจญาณเป็นญาณในโลกีย
ส่วน กตญาณ เป็นญาณในโลกุตตร โลกียญาณทั้ง ๒ สมบูรณ์มาแต่สังขารุเบกขาญาณแล้ว
ดังนั้น อนุโลมญาณนี้จึงกล่าวว่าเป็นปัญญาที่แจ้งในการคล้อยตาม อนุโลมตามอริยสัจจ และเป็นญาณที่
สามารถละ สัจจปฏิโลมคาหะ การยึดโดยไม่คล้อยตามสัจจะนั้นเสียได้

๒๘. เอวํ ปฏิปชฺชนฺตสฺส สมฺมา ธมฺเม
วิปสฺสโต วิปสฺสนา ปริปากํ อาคมฺม ตสฺส โยคิโน ฯ

๒๙. ทุเว ตีณิ วิปสฺสนา จิตฺตานิ ปิ ติลกฺขเณ
ยํ กิญฺเจวา นิจฺจตาทิ อารพฺภ ปน ลกฺขณํ
ปริกมฺโม ปจารานุ โลมนาเมน วุตฺตเร ฯ

ก็เมื่อพระโยคีนั้น ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ อาศัยความสุกรอบแห่งวิปัสสนา เห็นแจ้งธรรมทั้งหลายโดยชอบ แม้
จิตอันสัมปยุตตด้วย วิปัสสนาทั้งหลาย ย่อมปรารถซึ่งลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอนิจจลักษณะเป็น
ต้น ในพระไตรลักษณ์ เป็นไป ๒-๓ ขณะ โดยชื่อว่า บริกรรม อุปจาระ และ อนุโลม

มีความหมายว่า เมื่อพระโยคีผู้ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตั้งอยู่แล้วในวิปัสสนาญาณ
ทั้งปวง ที่กล่าวมาโดยบริบูรณ์ ถึงแล้วซึ่งความแห้งไปแห่งยาง คือ ตัณหามีผลอันไพบูลย์ รอบรู้ในสภาว
รูปธรรม นามธรรมโดยถูกต้อง มีความสุกรอบ ดุจผลไม้ที่สุกงอมใกล้จะหล่นจากขั้วฉะนั้น จิตมหากุสลที่
ประกอบด้วย วิปัสสนาญาณ ย่อมแจ้งเฉพาะรูปธรรมนามธรรมที่ดับไป ๆ มีลักษณะเป็นอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่
ได้บ้าง เห็นรูปนาม ดับไป ๆ เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้บ้าง เป็นรูปนามดับไป ๆ เป็นอนัตตา บังคับบัญชา
ไม่ได้บ้าง อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ตามควรแก่บารมีที่ได้สร้างสมมาแต่ปางก่อน ถ้าบุญญาธิการ
แต่ปางก่อนแรงด้วยสีล ย่อมประจักษ์อนิจจัง แรงด้วยสมาธิย่อมประจักษ์ทุกขัง และแรงด้วยปัญญา ย่อม
ประจักษ์อนัตตา ดังที่กล่าวแล้วแต่ต้นตอน อนุปัสสนา

เมื่อ วิปัสสนาญาณตั้งอยู่แก่กล้าฉะนี้แล้ว ด้วยอำนาจแห่งอินทรียและพละ ก็จะส่งให้ขึ้นสู่อนุโลมญาณ
ตามกำลังแห่งอริยสัจจ คือจะไปจากข้าศึกอย่างจริงจังเด็ดขาด เป็นความจริงที่ประเสริฐยอดเยี่ยมใน
วิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้วยอาการที่ก้าวขึ้นสู่ มัคควิถี อันเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร มีมโนทวาราวัชชนจิต
เป็นจิตนำวิถีเป็นดวงแรก เกิดขึ้นขณะหนึ่ง เพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิต ต่อจากนั้น ถ้าเป็น มันทบุคคล ผู้
มีปัญญารู้ช้า

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


ชวนจิตดวงที่ ๑ ก็เกิดขึ้น เป็นจิตมหากุสลญาณสัมปยุตต ดวงใดดวงหนึ่งในจำนวน ๔ ดวง จะเป็นโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาก็ตาม เห็นรูปนามดับไปๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกจิตดวงนี้ว่า
บริกรรมชวนะ ครั้นบริกรรมชวนจิตดับไปแล้ว

ชวนจิตดวงที่ ๒ ก็เกิดขึ้น เป็นอย่างเดียวกับชวนจิตดวงที่ ๑ แต่เรียกจิตดวงนี้ว่า อุปจารชวนะ เมื่ออุปจารชวนจิตดับไปแล้ว

ชวนจิตดวงที่ ๓ ก็เกิดขึ้น เป็นอย่างเดียวกับชวนจิตดวงที่ ๒ และดวงที่ ๑ นั้น เรียกจิตดวงนี้ว่า
อนุโลมชวนะ อนุโลมจิต หรือ อนุโลมชวนจิต
เมื่ออนุโลมจิตดับไปแล้ว ชวนจิตที่เกิดต่อ ๆ ไปอีก ๔ ขณะ ก็เป็น โคตรภู มัคค ผล ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ชวนจิต ๓ ดวง คือ บริกรรมชวนะ อุปจารชวนะ และอนุโลมชวนะนี่แหละที่เรียกว่า อนุโลมญาณ อนุโลมญาณนี้บ้างก็เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ แปลว่า ญาณที่อนุโลมตามอริยสัจจ
แต่ถ้าโยคีนั้นเป็น ติกขบุคคล คือ ผู้มีปัญญาไว ก็ไม่มีบริกรรมชวนะ คงมีแต่อุปจารชวนะ และ
อนุโลมชวนะรวม ๒ ขณะ เท่านั้น

วุฏฐานคามินี

๓๐. วิปสฺสนา สิกฺขปฺปตฺตา สานุโลมา อุเปกฺขนา
วุฏฺฐานคามินี นาม วิปสฺสนาติ วุจฺจติ ฯ

วิปัสสนาที่ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอด เป็นไปกับด้วยอนุโลมญาณ วางเฉยในสังขารนั้น เรียกชื่อว่า
วุฏฺฐานคามินี

คำว่า วุฏฐานคามินี แปลว่า เป็นที่ตั้งของการออก เป็นเครื่องออก เป็นทางออก คือออกจากวิปัสสนาญาณ
อันหมายไปถึง ออกจากกิเลส ออกจากทุกข์ ออกจากสังขารวัฏฏ ออกจากสังสารทุกข์ด้วย
และที่ว่า ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอดนั้น หมายความว่า ถึงที่สุดแห่งวิปัสสนาญาณ คือปัญญาที่เห็นการเกิดดับของรูปนามแต่เพียงแค่นี้ ผละออกจากการเห็นรูปนามเกิดดับในตอนนี้ ทิ้งอารมณ์ไตรลักษณ์ที่ญาณนี้แหละ เพราะญาณต่อไป คือโคตรภูญาณนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2013, 17:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8206


 ข้อมูลส่วนตัว


สังขารุเบกขาญาณ และอนุโลมญาณ รวมทั้ง ๒ ญาณนี่แหละ เป็นวิปัสสนาที่ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอด จึงมีชื่อว่า วุฏฐานคามินี เป็นเครื่องออก เป็นที่ตั้งแห่งการออกจากทุกข์ ดังมีบาลีกล่าวว่า

ยา สิขาปตฺตา สา สานุโลมา สงฺขารุเปกฺขา วุฏฺฐานคามินิวิปสฺสนาติ จ ปวุจฺจติ ฯ

สังขารุเบกขาญาณอันใด เข้าถึงกำลังอันยอดยิ่ง สังขารุเบกขาญาณ พร้อมทั้งอนุโลมญาณอันนั้น ท่านเรียกว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา

ตโต ปรํ โคตฺรภุจิตฺตํ นิพฺพานมาลมฺพิตฺวา ปุถุชนโคตฺตม ภิภวนฺติ อริยโคตฺตมพิสมฺโภนฺตญฺจ ปวตฺตติ ฯ

ต่อจาก อนุโลมญาณไป โคตรภูมิ ซึ่งกระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และครอบงำเสียซึ่งโคตรปุถุชน ยังจิตให้ไปสู่ความเป็น อริยะ ย่อมเกิดขึ้น

ญาณทัสสนวิสุทธิ

กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว วิสุทธิ ๗ ก็เหลือเพียง ๑ คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ โสฬสญาณ ก็เหลืออีก ๔ คือ
โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ
โคตรภูญาณ เป็นญาณที่ ๑๓ แห่งโสฬสญาณนั้น ตั้งอยู่ระหว่างปฏิปทาญาณ ทัสสนวิสุทธิกับญาณทัสสนวิสุทธิ แต่สงเคราะห์เข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิที่ ๖ เพราะโคตรภูญาณนี้ แม้ว่าโคตรภูจิตจะมี พระนิพพาน ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรม เป็นอารมณ์ก็จริง แต่ว่าจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่

มัคคญาณ เป็นญาณที่ ๑๔ แห่งโสฬสญาณ ญาณเดียวเท่านี้ที่เรียกว่าเป็น ญาณทัสสนวิสุทธิ โดยแท้ ไม่ได้เป็นโดยปริยายหรือโดยอนุโลม ดังมีคาถาแสดงไว้โดยชัดแจ้ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้าอีก

ผลญาณ ญาณที่ ๑๕ แห่งโสฬสญาณ นั้น แม้ว่าผลจิตจะเป็นโลกุตตรจิต มีอารมณ์เป็นโลกุตตรธรรม คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงกระนั้นก็ยังจัดว่าเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ โดยอนุโลมโดยปริยายเท่านั้น หาใช่โดยตรงโดยแท้ไม่

ส่วน ปัจจเวกขณญาณ อันเป็นญาณที่ ๑๖ คือ ญาณสุดท้ายแห่งโสฬสญาณนั้น จิตก็เป็นโลกีย แต่ว่าปัญญาได้ผ่านความรู้มาจาก มัคค ผล นิพพาน คือผ่านโลกุตตรธรรมมาแล้ว จึงสงเคราะห์เป็นญาณทัสสนวิสุทธินี้ด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron