วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 55 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2014, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




238b1c5a189adcffad9e1e48e63ae8c8.jpg
238b1c5a189adcffad9e1e48e63ae8c8.jpg [ 42.64 KiB | เปิดดู 5406 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 36 พุทธะคือหน้าที่

คนที่ไม่มีศรัทธาที่จะมาในทางธรรมชาติแห่งพุทธะ เป็นคนที่ยึดอยู่ในมิจฉาทิฐิ เปรียบเหมือนคนตาบอดที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นแสงสว่างที่แท้จริงเลย ถึงท่านจะอธิบายเรื่องความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะให้เขาฟัง แต่เมื่อเขาเหล่านี้ขาดศรัทธาแล้ว เขาจึงเปรียบเสมือนคนตาบอด ที่จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถเห็นแสงนั้นได้ ถึงจะอธิบายก็ไม่มีใจที่จะยอมรับฟังเรื่องธรรมชาติที่แท้จริงนี้ พวกเขาเหมือนคนมีกรรมที่มีเหตุและปัจจัย มาทำให้พวกเขาหันหลังให้กับธรรมชาติอันคือความจริงได้อย่างถาวร พวกเขาเหล่านี้จะต้องทนก้มหน้ารับกรรมที่พวกเขาได้กระทำไป อันเกิดจากทิฐิที่ผิดๆของพวกเขาทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้ย่อมใช้ชีวิตไปด้วยความเป็นทาสแก่การกระทำของตนเอง หาความมีอิสระที่แท้จริงไม่ ความมีอิสระที่แท้จริงย่อมปรากฏแก่ ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั่นเอง แต่เขาเหล่านี้ได้ทำเหตุและปัจจัยอันทำให้พวกเขา ไม่มีวันได้พบหนทางที่จะนำพาพวกเขาไปสู่สถานที่ที่มีแสงสว่างได้เลย เมื่อขาดศรัทธาเขาเหล่านี้จึงเป็นเพียงคนตาบอด ที่บอดอย่างถาวรแล้วเท่านั้น แต่บุคคลที่เห็นธรรมชาติของตนเองด้วยความมีศรัทธาเชื่อมั่น ต่อความจริงในความเป็นพุทธะ บุคคลพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปโกนหัวห่มผ้าเหลือง พวกเขาไม่ว่าจะอยู่ฐานะไหนประกอบอาชีพอะไร ก็ในเมื่อใจของพวกเขาเป็นพุทธะที่แท้จริงแล้ว เมื่อเขาคือพุทธะ พุทธะก็คือพวกเขา เขาอยู่ที่ไหนพุทธะก็อยู่ที่นั่น แต่คนที่ยังไม่เห็นความจริงของธรรมชาติ แล้วไปโกนหัวนุ่งห่มผ้าเหลือง พวกนี้เป็นเพียงพวกที่คลั่งไคล้หลงใหลความเป็นพุทธะ ในรูปแบบความเป็นอยู่ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอก ความเป็นพุทธะที่แท้จริงมิได้ต้องอาศัยอะไรกับอะไรเลย แต่ความเข้าใจอย่างแท้จริงซึ่งตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ นั่นก็คือพุทธะแล้ว

เป็นเพียงเพราะเราเข้าไปยึดการปรากฏขึ้นแห่งภาวะ เป็นการเข้าไปยึดติดในรูปกาย จึงเกิดภาวะเคลื่อนไหวไปในทางทวิภาวะแห่งความเป็นคู่ เช่น ร้อนเย็น หิวกระหายและอิ่ม จึงเกิดเป็นมลทินแห่งตัณหา อุปาทาน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ในความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งพุทธะ ธรรมชาตินั้นมันบริสุทธิ์โดยตัวมันเอง มันเป็นความบริสุทธิ์โดยพื้นฐานแห่งความเป็นไปตามธรรมธาตุ มันเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจมีใครเข้ามาทำให้มันเศร้าหมองลงไปได้เลย มันเป็นความบริสุทธิ์มาแต่เดิมของมัน มันเป็นธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์ที่ปราศจากการเคลื่อนไหว ไปในทิศทางใดแห่งความมีตัวมีตนทั้งสิ้น ธรรมชาติมันจึงไม่หิวไม่อิ่ม ไม่อุ่นไม่เย็น ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่รักไม่ชัง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์ จริงๆแล้วธรรมชาติมันไม่มีอะไรเลย มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เพราะมันมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนตามธรรมชาติ เราจึงเรียกความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยของมันว่า "ความบริสุทธิ์" คือความที่มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ปราศจากสิ่งอื่นเข้ามาเจือปนปะปนกับมันได้ นี่คือความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อท่านเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว ท่านปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามหน้าที่ของมัน ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ของมันตามความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ท่านก็จะพ้นจากการเกิดและการตาย ท่านก็จะเป็นอิสระเป็นนายเหนือความต้องการของตนเอง ซึ่งธรรมชาติแห่งพุทธะที่ท่านได้พบนี้ มันคือธรรมชาติแห่งความสงบสุขในทุกหนทุกแห่ง เป็นชีวิตที่มีความสุขอิสระอย่างแท้จริง จงปล่อยให้ธรรมชาติมันทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น นั่นแหละท่านคือพุทธะแล้ว





“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มี.ค. 2014, 20:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




275dcebb53ddfd824c2ee4cda3d77e2b.jpg
275dcebb53ddfd824c2ee4cda3d77e2b.jpg [ 26.78 KiB | เปิดดู 5405 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 37 จิตสู่จิต

ตราบใดที่ท่านยังไม่เข้าใจพุทธะที่แท้จริง หนทางที่ท่านเดินมันก็ยังคงเป็นหนทางที่ ได้สร้างกรรมให้กับตนเองอยู่ร่ำไป หนทางนี้จะพาให้ท่านต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เต็มใจก็ตามที แต่เมื่อท่านได้ประจักษ์ในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว ธรรมชาตินี้ก็จะพาท่านหยุดสร้างกรรม และก็ไม่ต้องไปตายไปเกิด

ท่านอาจารย์ของฉัน คือ ท่านมหาปรัชญาตาระ ซึ่งเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 27 ท่านได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดรอยประทับจิตซึ่งเป็นการถ่ายทอดจิตสู่จิต เป็นการถ่ายความเข้าใจคือความเป็นจริงในธรรมชาติ มาสู่ความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นจิตของฉันเอง ดังนั้นการที่ฉันมาสู่ประเทศจีน ก็ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวก็คือ การถ่ายทอดธรรมอันคือธรรมชาตินี้ ให้แก่ชนชาวจีนได้สืบทอดธรรมเหล่านี้ต่อไป

ก็ "จิต" ที่พูดถึงนี่เองคือพุทธะ มันมิใช่จิตที่เป็นภาวะแห่งการเคลื่อนไหวไปในปรากฏการณ์ต่างๆ แต่มันเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง จิตสู่จิต ก็คือความชี้ตรงถึงความเป็นธรรมชาติ สู่ความเป็นธรรมชาติของพวกท่านเอง เมื่อจิตนี้คือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ มันจึงเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับการถือศีล การให้ทาน หรือการเคร่งครัดในข้อวัตรแบบฤาษี เป็นการทานข้าววันละมื้อ การเข้าฌาน การบำเพ็ญเหล่านี้เป็นความคลั่งไคล้ ซึ่งคุณเอาจิตของคุณเองเข้าไปยึดติดโดยความชอบ และคิดว่ามันคือสิ่งที่จะทำให้ความเป็นพุทธะเกิดขึ้นได้ ความคลั่งไคล้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งความเป็นภาพพจน์แห่งพุทธะ ให้เกิดขึ้นตามจินตนาการของเขา ที่ออกนอกเส้นทางความเป็นธรรมชาติไป เมื่อท่านได้หยุดพฤติกรรมการจินตนาการถึงพุทธะเหล่านี้ทิ้งไปเสีย แล้วหันหน้าเผชิญกับความเป็นจริง ตามที่ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว จิตอันคือการรู้แจ้งแห่งธรรมชาติเหล่านี้ ก็จะเป็นเช่นเดียวกันกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ล้วนแต่กล่าวถึงการถ่ายถอดเรื่องจิต พระพุทธองค์ไม่สอนธรรมชนิดอื่นเลย ท่านสอนแต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติเท่านั้น และถ้าหากผู้ใดเข้าใจและเข้าถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติเหล่านี้ได้ ถึงแม้เขาจะไม่มีความรู้อะไรเลย และไม่สามารถอ่านหนังสือออกได้ แต่ความเป็นจริงที่พวกเขาได้ตระหนักชัด ที่ทำให้เขาเป็นพุทธะที่แท้จริงได้คนหนึ่ง แต่ถ้าท่านไม่พบความเห็นแจ้งอันคือธรรมชาติแห่งตน ไม่เห็นธรรมชาติแห่งการตื่นออกมาจากการหลับใหลมืดมิด ท่านก็จะไม่พบพระพุทธเจ้าเลย และไม่มีวันที่จะได้รู้จักความเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงได้เลย ต่อให้ท่านต้องปฏิบัติอย่างหนักหน่วง จนทำลายตัวเองให้เป็นผุยผงย่อยยับไปเลยก็ตาม

ความเป็นพระพุทธเจ้าคือธรรมชาติอันเป็นจิตดั้งเดิมของท่านนี้ มันเป็นธรรมชาติแห่งจิตที่ไม่ใช่จิต มันเป็นธรรมชาติแห่งจิตที่ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่ประกอบไปด้วยเหตุและผล มันเป็นความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตน โดยที่ไม่อาจจับต้องมันได้ หรือไม่อาจเอาความรู้สึกของเรา ไปจินตนาการถึงความเป็นรูปร่างลักษณะแห่งมัน มันเป็นธรรมชาติที่เป็นความว่างเปล่าของจิต ที่รู้แจ้งในความเป็นธรรมชาตินี้ มันจึงมิใช่เป็นจิตชนิดที่ปรุงแต่งขึ้นในเนื้อหาแห่งความเป็นพุทธะ มันเป็นจิตที่เป็นพุทธะของมันตามธรรมชาติอยู่แล้ว นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้าและบัณฑิตทั้งหลาย ที่รู้แจ้งในธรรมชาติแห่งพุทธะนี้แล้ว ปุถุชนผู้มืดบอดไปด้วย ตัณหา อุปาทาน ความต้องการแห่งตน ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเกิดเป็นสิ่งนั้นตามที่ใจตนเองปรารถนา ก็จะไม่สามารถหยั่งรู้ถึงความจริงตรงนี้ได้เลย เพราะอำนาจแห่งอวิชชาพาหลงไปในทิศทางอื่น

แต่สิ่งนี้ก็เป็นธรรมชาติที่อยู่กับเรามาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีแห่งมันแห่งเรา รูปกายและธาตุทั้งสี่มันเป็นเพียง การได้อยู่อาศัยกับสิ่งเหล่านี้เพียงชั่วคราว และมันก็มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเป็นธรรมชาติเลย แต่ถ้าเราปราศจากมันก็มิอาจเคลื่อนไหวไปไหนได้เลย ถ้ารูปกายนี้ไม่มีจิตมันจะเคลื่อนไหวได้อย่างไร จิตอันคือธรรมชาตินี้ชื่อว่าทำให้กายนี้เคลื่อนไหวไปได้ การเคลื่อนไหวทั้งปวงล้วนเป็นการเคลื่อนไหวแห่งจิต การเคลื่อนไหวไปจึงเป็นหน้าที่ของจิต ปราศจากการเคลื่อนไหวก็ไม่มีจิต แต่การเคลื่อนไหวไปในทางความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนนั้น มิใช่เป็นการเคลื่อนไหวแห่งจิต และธรรมชาติแห่งจิตก็มิใช่การเคลื่อนไหวไป ในทางความหมายแห่งความมีอัตตาตัวตนดังกล่าว

เพราะฉะนั้นแล้วการเคลื่อนไหวไป ก็คือการเคลื่อนไหวไปแบบนั้นตามธรรมชาติ จิตจึงมิใช่การเคลื่อนไหวที่เป็นตัวเป็นตน เพราะแท้จริงแล้วธรรมชาติแห่งจิตอันคือพุทธะนี้ คือความว่างเปล่าแบบเสร็จสรรพเด็ดขาดในความมีอิสรภาพเหนืออื่นใด มันมิใช่เป็นการเคลื่อนไหวไปในความเป็นทาสแห่งความอยาก ที่ปรุงแต่งเป็นจิตที่เป็นภาวะอัตตาตัวตนปรากฏขึ้น จิตนี้มันจึงเป็นจิตตามธรรมชาติแห่งตนที่แท้จริง มันเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ มันจึงเป็นจิตและเป็นการเคลื่อนไหวไปแห่งรูปกายขันธ์ธาตุ ตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น




“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 13:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 ม.ค. 2010, 03:39
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Very nice. Thank you very much for posting.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 15:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




46335_3f240b24abe030b8dc6868e994d2670d_large.jpg
46335_3f240b24abe030b8dc6868e994d2670d_large.jpg [ 86.03 KiB | เปิดดู 5397 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 38 ปลดปล่อยตนเอง

มรรคหมายถึงการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ จากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปวง มรรคก็คือวิถีที่นำเราไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียว กับความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น มรรคก็คือการที่เราได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ตามธรรมชาติที่มันเป็นของเราอยู่อย่างนั้น โดยสามารถปลดปล่อยตนเองออกจากปรากฏการณ์ แห่ง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่มันเป็นอัตตาตัวตนเกิดขึ้น

ธรรมชาติแห่งพุทธะ คือธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่ทุกขณะ ตามความเป็นธรรมชาติของมันว่า ธรรมชาตินี้มันคือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มรรคก็คือการที่ระลึกรู้ได้ตามธรรมชาติว่า ธรรมชาติมันยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้นตามปกติ เมื่อท่านเป็นปุถุชนคนหนึ่ง แต่สามารถเข้าใจและมีธรรมชาติแห่งการระลึกได้ตามธรรมชาตินั้น ก็ถือได้ว่าท่านได้เดินบนหนทางแห่งมรรคนั้นแล้ว แท้จริงแล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ปรากฏการณ์อันเป็นตัวตนได้อย่างแท้จริง เพราะการเกิดขึ้นดังกล่าวมันไม่สามารถดำรงฐานะแห่ง "ความเป็นมัน" ได้อย่างมั่นคงถาวรได้อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เพราะธรรมชาติมันย่อมแปรปรวน มันจึงเป็นเพียง "มายา" แห่งปรากฏการณ์ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญาอันเข้าใจได้ตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทุกสรรพสิ่งย่อมมีความเสมอภาคเป็นเนื้อหาเดียวกัน อันคือความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้เดินไปบนเส้นทางแห่งธรรมชาติอันคือมรรคนั้นแล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถถอนความเป็นตนเองออกจากภพทั้งสามได้

ภพทั้งสามอันคือ โลภ โกรธ หลง การออกจากสามภพคือการหันหลังถอยออกมา จากเส้นทางแห่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนทั้งหลาย มาสู่เส้นทางมรรคซึ่งเป็นเส้นทางในความเป็นธรรมชาติแห่งตนเอง เป็นการเดินบนมรรคอันประกอบไปด้วย การมีศีลตามธรรมชาติ การมีธรรมชาติแห่งสมาธิอันคือความตั้งมั่นในธรรมชาตินั้น การมีปัญญาอันคือความเข้าใจในธรรมชาติทั้งปวง แท้ที่จริงความโลภโกรธหลงก็มิใช่สิ่งใดๆที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่มิใช่ปรากฏการณ์ หากท่านเข้าใจความเป็นธรรมชาติแห่งมันได้

ในพระสูตรกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัยอยู่กับอสรพิษทั้งสาม และรักษาบำรุงเองด้วยธรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านี้" ก็เพราะปรากฏการณ์ทั้งหลายที่แสดงฐานะแห่งมัน ปรากฏเป็นความทุกข์เกิดขึ้นอันได้แก่อสรพิษคือ ความโลภ โกรธ หลง พระพุทธเจ้าได้ใช้ธรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ มารักษาใจของพระพุทธองค์เอง ด้วยการพิจารณาด้วยพุทธิปัญญาของพระพุทธองค์ ถึงความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ ว่าแท้จริงธรรมชาติเหล่านี้มันหามีความเป็นตัวเป็นตน ปรากฏขึ้นมาอย่างแท้จริงไม่ พระพุทธองค์จึงใช้ความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งอสรพิษเหล่านี้ มารักษาใจของพระองค์เองจนกลายเป็นใจแห่งพระพุทธเจ้า ที่มีความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติที่แท้จริงอยู่อย่างนั้น

ในพระสูตรกล่าวอีกว่า "ไม่มียานใดเลย เป็นยานของพระพุทธเจ้า" ใครก็ตามรู้แจ้งชัดว่า อายตนะทั้งหก ไม่ใช่ของจริง ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาพลวงตา แท้ที่จริงธรรมชาติไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์มาก่อน เพราะแท้ที่จริงแล้วธรรมชาติย่อมมีแต่ความว่างเปล่า ของมันตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เมื่อผู้ใดเข้าใจความเป็นจริงดังนี้ได้แล้ว ถือว่าผู้นั้นเข้าใจภาษาของพระพุทธเจ้า และได้ยานแห่งธรรมชาตินั้นพาไปสู่ความเป็นอิสรภาพชั่วนิจนิรันดร

จิตที่เป็นธรรมชาติแห่งการไม่ปรุงแต่งใดๆ ถือว่าเป็นเซน ทุกๆครั้งและตลอดไปที่ท่านได้มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้ ในทุกๆขณะท่ามกลางอิริยาบถทั้งสี่ว่า ธรรมชาตินี้มีแต่ความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น นี่ก็ถือว่าเป็นเซน การรู้ว่าธรรมชาติแห่งจิตนี้คือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น ก็ถือว่าเป็น เซน การรู้ว่าแท้จริง ไม่มีจิต ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจิตต่างๆได้เลย การเห็นว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีจิตเกิดขึ้นเลย นี่ก็เป็นการเห็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และนี่ก็เป็นเซน

การสลัดทิ้งซึ่งปรากฏการณ์แห่งอัตตาตัวตน โดยที่ไม่มีความเสียใจใดๆ เป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การไปอย่างมีอิสระเหนือความเคลื่อนไหวและเหนือความนิ่ง เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่แปรผันไปเป็นอย่างอื่น เป็นกรรมฐานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ปุถุชนยังเคลื่อนไหวไปพร้อมกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย แต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นย่อมหยุดนิ่ง เป็นการหยุดนิ่งที่สามารถเคลื่อนไหวไปได้ด้วยการไร้ปรากฏการณ์ ก็เมื่อบุคคลทั้งหลายมีความเข้าใจ ถึงความเป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมเห็นธรรมชาติที่สามารถปลดปล่อยตนเองออกมา จากปรากฏการณ์ทั้งปวงได้ โดยปราศจากปรากฏการณ์แห่งความพยายาม ที่จะเป็นธรรมชาติตามที่ใจตนต้องการ

การใช้จิตเฝ้าดูจิต แท้ที่จริงเป็นความหลงผิด การเฝ้าดู "บางสิ่งบางอย่าง" ก็เป็นปรากฏการณ์แห่งการปรุงแต่งเป็นจิตขึ้นเพื่อเฝ้าดูสิ่งสิ่งนั้น เมื่อมันเป็นจิตที่เกิดขึ้นแล้ว มันจึงเป็นการเอาการปรุงแต่งของเราไปเฝ้าระมัดระวังสิ่งสิ่งหนึ่ง ที่มันอาจจะปรุงแต่งหรือมันปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว มันจึงเป็นการเอาการปรุงแต่งไปเฝ้าระมัดระวังการปรุงแต่ง มันจึงเป็นการเอาอัตตาเฝ้าระมัดระวังอัตตา เมื่อแท้จริงจิตก็เป็นความมืดมนมาตั้งแต่แรกแล้ว แล้วจะเอาความมืดมนชนิดที่เรียกว่า "จิต" นี้ มาเฝ้าระมัดระวังอะไรอีก เราจึงไม่ควรใช้จิตค้นหาความเป็นจริง แต่เราควรใช้สติปัญญาค้นหาความเป็นจริงตามธรรมชาติ การปลดปล่อยตนเองจากการค้นหาเฝ้าระวัง คือความเป็นอิสรภาพอันแท้จริงแห่งตน การดำรงจิตให้มันเป็นไปตามธรรมชาติแห่งมัน คือการเดินไปบนหนทางแห่งความเป็นจริง โดยสภาพของมันตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น

การไม่เป็นทุกข์กับการมาและการไป เป็นการเข้าถึงมรรค การรู้จักธรรมชาติและการไม่สร้างความหลงขึ้นมาอีก คือ โพธิ การดำรงชีวิตบนพื้นฐานความเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอวิชชาคือญาณปัญญา การพ้นจากความทุกข์ยาก คือ พระนิพพาน การหลุดพ้นจากจิตทั้งหลายอันคือมายา คือการเข้าถึงฝั่งแห่งวิมุตติ เมื่อยังถูกอวิชชาครอบงำ ท่านก็อยู่ฝั่งนี้ ฝั่งที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เมื่อท่านรู้แจ้งในธรรมชาติท่านก็มิได้อยู่ฝั่งนี้ ปุถุชนทั้งหลายผู้หลงอยู่ในความมืดบอด ก็ยังต้องอยู่ฝั่งนี้ แต่บุคคลผู้เดินไปตามมรรคที่มันเป็นความบริบูรณ์พร้อม ก็มิได้อยู่ฝั่งทางนี้หรือฝั่งทางไหน บุคคลผู้มีความสว่าง สามารถมองและรู้ด้วยใจของตนเองว่าอะไรเป็นอะไร บุคคลเหล่านี้ย่อมสามารถก้าวข้ามฝั่งทั้งสองนี้ไป ย่อมทิ้งฝั่งทั้งสองไปได้ บุคคลผู้ยังเห็นความแตกต่างระหว่างฝั่งนี้และฝั่งโน้น บุคคลเหล่านี้ชื่อว่ายังไม่เข้าใจธรรมชาติและยังไม่ใช่เซน

ความหลงเดินไปในหนทางที่มืดมิด เป็นคุณสมบัติของปุถุชน ธรรมชาติแห่งการระลึกรู้เป็นคุณสมบัติของผู้รู้ตื่นพุทธะ ทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีความแตกต่างกัน เพราะความเสมอภาคแห่งทุกสรรพสิ่ง ทำให้ปุถุชนไม่มีความแตกต่างไปจากผู้รู้ตื่น ในพระสูตรกล่าวว่า "อมตธรรม เป็นสิ่งที่ปุถุชนเข้าถึงไม่ได้ และนักปราชญ์ก็ไม่ได้ปฏิบัติ แต่อมฤตธรรม ถูกปฏิบัติโดยโพธิสัตว์ และพระพุทธเจ้าแต่เพียงเท่านั้น" การเฝ้าดูจิตเฉยๆว่านี่คือชีวิตเสมือนต่างจากความตาย การเฝ้าดูความเคลื่อนไหวเสมือนต่างจากความนิ่ง นั่นเป็นการแบ่งแยก

การไม่แบ่งแยกหมายถึง ทุกข์กับนิพพานไม่มีความแตกต่างกัน หากเห็นว่ามีความแตกต่างกัน นิพพานที่เห็นก็เป็นเพียงนิพพานแห่งภาวะ ที่คุณปรุงแต่งถึงความเป็นหน้าตาแห่งมันขึ้น เพราะทุกข์กับนิพพานแท้จริงมีความเสมอภาคกัน ในความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น หากเห็นว่ายังแตกต่าง การเข้าถึงที่สุดแห่งความทุกข์และการเข้าสู่นิพพาน ก็เป็นเพียงภาพแห่งความคิดของเราแต่เพียงเท่านั้น เป็นการติดกับดักในความเป็นปรากฏการณ์แห่งนิพพานที่เกิดขึ้น นิพพานชนิดนี้มันย่อมตั้งอยู่ในสภาพแห่งมันได้ไม่นาน ภาวะแห่งนิพพานนี้ มันต้องดับไปในความเป็นตัวเป็นตนแห่งนิพพานอยู่อย่างนั้น แท้จริงหามีภาวะแห่งนิพพานปรากฏเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้นไม่ มันคงมีแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น แต่ผู้ที่รู้แจ้งย่อมรู้ชัดว่าความทุกข์ โดยสาระตามความเป็นจริง มันคือความว่างตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น การตระหนักอย่างชัดแจ้งและกลมกลืน เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งความว่าง มันก็คือนิพพานโดยเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้น ในความเสมอภาคแห่งทุกสรรพสิ่งโดยไม่มีความแตกต่างใดๆ





“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 16:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




189512_120298641380148_5773474_n.jpg
189512_120298641380148_5773474_n.jpg [ 62.08 KiB | เปิดดู 5396 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 39 นิพพาน

นิพพานหมายถึงความไม่เกิดและไม่ตาย มันเป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือ การต้องไปเกิดและการที่จำพรากจากไปด้วยความตาย และมันอยู่นอกเหนือการปรากฏการณ์แห่งภาวะนิพพานที่เกิดขึ้น เพราะการเข้าไปยึดภาวะแห่งการหลุดพ้น เมื่อจิตหยุดการเคลื่อนไหวไป ในทิศทางแห่งความหมายที่เป็นตัวเป็นตนแห่งจิต จิตนั้นก็กลายเป็นธรรมชาติแห่งจิตที่มีแต่ความว่างเปล่า นิพพานก็คือธรรมชาติแห่งจิตนี้ โมหะไม่ได้อยู่ที่ใด พระพุทธเจ้าก็เข้าสู่นิพพานที่จิตอันเป็นธรรมชาติของท่าน ความทุกข์โดยสภาพของมันไม่มีที่ตั้ง ถึงพยายามจะตั้งให้มันเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น โดยธรรมชาติแล้วมันก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ เมื่อความทุกข์โดยธรรมชาติแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ มันคงเป็นเพียงแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า พระโพธิสัตว์ก็ตรัสรู้ธรรมรู้แจ้งชัดในความตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่นั้น

สถานที่ที่ไม่น่าอยู่มีความอึดอัดคับแคบ คือสถานที่แห่งภพทั้งสาม ในความโลภ โกรธ หลง เมื่อมีความปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็เข้าไปอยู่ในภพทั้งสาม เมื่อรู้แจ้งและเข้าถึงธรรมอันเป็นธรรมชาติ ก็สามารถออกมาจากภพทั้งสามได้ การเริ่มหรือการอยู่กับภพทั้งสามก็ขึ้นอยู่กับจิต จิตนี้ย่อมเข้าถึงได้ทุกสรรพสิ่ง ใครก็ตามที่รู้ว่า จิตมันเป็นเพียงมายาแห่งภาวะที่เกิดขึ้นเป็นจิตต่างๆ จึงเป็นผู้รู้ว่าจิตนี้คือธรรมชาติแห่งความว่าง แต่ปุถุชนผู้ปกคลุมไปด้วยจิตของตนที่เป็นภาวะแห่งการปรุงแต่ง จึงชอบอ้างว่า "จิตมีอยู่" แต่โพธิสัตว์ทั้งหลายและพระพุทธเจ้า รู้แจ้งชัดถึงการไม่ปรุงแต่งและการปรุงแต่งเป็นจิต ซึ่งหมายถึงมิใช่การไม่มีอยู่ของจิตหรือการมีอยู่ของจิต มันมิใช่ความหมายทั้งสองนี้ในเรื่องการมีหรือไม่มี แต่มันเป็นเพียงธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องของจิต และมันไม่ใช่การเป็นเรื่องความมีหรือไม่มีจิต แต่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันจึงเป็นทางสายกลางอย่างแท้จริง มันเป็นกลางนอกเหนือความมีอยู่หรือไม่มีอยู่

ถ้าท่านศึกษาความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอันคือสัจจะ โดยไม่ใช้จิตมาเกี่ยวข้อง ท่านก็สามารถเข้าถึงความเป็นจริงอันคือสัจจะ และความเป็นจริงแห่งจิตได้ บุคคลผู้มืดบอดไม่มีปัญญาอันแท้จริงย่อมไม่เข้าใจสัมมาทิฐิ บุคคลผู้มีปัญญาอันแจ้งชัดย่อมเข้าใจในสัมมาทิฐิ บุคคลที่รู้ว่าธรรมชาติและจิตเป็นสิ่งเดียวกันมาตั้งแต่ต้น รู้ว่าแท้จริงจิตคือธรรมชาติที่มันว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น ก็คือบุคคลที่ได้ปัญญาแห่งความเป็นพุทธะแล้ว คนเหล่านี้ย่อมอยู่เหนือภาวะแห่ง การมีอยู่แห่งปัญญาญาณและการไม่มีอยู่แห่งปัญญาญาณ นั่นคือความเป็นสายกลางแห่งสัมมาทิฐิ

เมื่อได้ดำเนินไปในทางสายกลาง รูปจึงมิใช่รูป เพราะรูปมีความเสมอภาคกับธรรมชาติแห่งจิต จิตและรูปเป็นเพียงเหตุได้อาศัยซึ่งกันและกัน มันจึงมิใช่ความหมายแห่งการมีรูปและมีจิต มันจึงมิใช่เป็นการเกิดขึ้นแห่งการมีอยู่ของการที่รูปกับจิตได้อาศัยกัน ทางสายกลางจึงเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับอะไรและอะไรระหว่างรูปกับจิต

ก็ด้วยความเป็นจริงตามธรรมชาติซึ่งเป็นสัจจะนี้ มันเป็นเพียงธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับจะต้องมีสิ่งใดเห็นและจะต้องมีสิ่งใดถูกเห็น ธรรมชาติมิใช่การได้เห็นและต้องเห็นภาวะที่เกิดขึ้น ธรรมชาติมันย่อมแจ่มแจ้งไปโดยรอบ โดยความเป็นตัวมันเองแห่งธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ความมุ่งเน้นในการดูการเห็น เพราะการดูการเห็นโดยมุ่งเน้นนี้ มันทำให้เกิดภาวะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการได้เห็นได้ดูได้ทัศนาแห่งปุถุชนภาวะแต่เพียงเท่านั้น มันมิใช่การเห็น "ตามความเป็นจริง" แต่อย่างใด

จิตและโลกมันอยู่ตรงข้ามกันเสมอ การรู้เห็นด้วยความเป็น"จิต" ที่ทำให้ความหมายแห่งความเป็นโลกเกิดขึ้น เป็นการรู้เห็นเกิดจากการพบเห็นโดยใช้จิตเพ่งมองดู แต่เมื่อโลกและจิตทั้งสองมีความเสมอภาคแจ่มแจ้งเท่ากัน จึงเป็นการใช้จิตตามธรรมชาติมองดูโลกนี้ตามความเป็นจริง จึงเป็นการเห็นแบบสัมมาทิฐิ การมองไม่เห็นสิ่งใดๆ คือการเข้าใจมรรค การไม่เข้าใจสิ่งใดๆเลย คือการเข้าใจธรรมะ เพราะการเห็นที่แท้จริงมิใช่การมองเห็นหรือการมองไม่เห็น และการเข้าใจที่แท้จริงมิใช่การเข้าใจแล้วหรือยังมิได้เข้าใจ การเข้าใจโดยที่มิต้องอาศัยการเข้าใจ การเข้าใจจึงเป็นการเข้าใจตามความเป็นจริง การเห็นตามความเป็นจริงมิใช่เป็นการเห็นแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็นตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นโดยมิต้องใช้วิธีดู และสัมมาทิฐิมันมิใช่เป็นการเห็นด้วยสติปัญญาแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็นตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านได้เป็นสิ่งเดียวกันกับธรรมชาตินั้นแล้ว จึงมิใช่เป็นเรื่องของความเข้าใจและความไม่เข้าใจ ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติมันมิใช่ความเข้าใจในภาวะที่เกิดขึ้น

เมื่อท่านเข้าใจความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความจริงนั้นก็อาศัยท่าน เมื่อท่านยังไม่เข้าใจในความเป็นจริง ท่านก็อาศัยความเป็นจริงนั้น เมื่อความเป็นจริงอาศัยท่านด้วยความไม่มีอะไรแตกต่าง ระหว่างท่านกับความจริงนั้น สิ่งที่ไม่จริงนั้นก็กลายเป็นจริงตามธรรมชาติ แต่เมื่อท่านต้องอาศัยความเป็นจริง สิ่งที่จริงตามธรรมชาติของมันก็กลายเป็นเท็จในสายตาท่าน ทุกสรรพสิ่งก็เป็นจริงตามเนื้อหาของมัน ที่เป็นอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ดังนั้นผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ใช้จิตของตนค้นหาสัจธรรม เพราะจิตนั้นโดยความเป็น "จิต" ของมันเอง มันคือภาวะแห่งการเคลื่อนไหวไป โดยมิได้ทำให้เกิดความจริงขึ้นมาแต่อย่างใด และความจริงซึ่งคือธรรมชาติก็มิได้ทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งการเกิดขึ้นแห่งจิต ดังนั้นผู้รู้ทั้งหลายจึงใช้สัจธรรมค้นหาสัจธรรม ใครก็ตามที่รู้ว่าแท้จริงตามธรรมชาติ ย่อมไม่มีอะไรกับอะไรอาศัยซึ่งกันได้ ผู้นั้นย่อมเข้าถึงมรรค ใครก็ตามที่รู้ว่า "จิต" นี้ย่อมเป็นจิตอยู่อย่างนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับความเป็นอะไร เขาผู้นั้นย่อมพบเส้นทางแห่งการรู้ชัดแจ้งในธรรมชาติอยู่เสมอ

เมื่อท่านไม่เข้าใจ ท่านก็ผิด ผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อท่านเข้าใจท่านก็ไม่ผิด เป็นความเข้าใจตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เพราะความผิดทั้งหลายมันเป็นของว่างเปล่า เสมอกันในบรรดาแห่งความผิดเหล่านั้น เมื่อท่านไม่เข้าใจ ต่อให้ท่านใช้ความพยายามอีกสักเท่าใด ความที่มันถูกอยู่แล้วตามธรรมชาติของมัน ก็กลับกลายมาเป็นผิดตามความไม่เข้าใจของท่าน และเมื่อท่านเข้าใจมันแล้วความผิดก็มิใช่ความผิดอีกต่อไป มันก็คงมีแต่ความถูกตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่ท่านเข้าใจมันอยู่อย่างนั้น ก็เพราะด้วยความเป็นจริง "ความผิด" ย่อมไม่มีอยู่จริง
พระสูตรกล่าวว่า "ไม่มีธรรมชาติที่เป็นตัวของมันเองได้เลย มันคงมีแต่ธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ในความเป็นจริงแห่งความว่างเปล่า" เมื่อท่านยังหลงไปในความเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อายตนะทั้งหกและขันธ์ทั้งห้าย่อมสร้างความทุกข์ และการเกิดการตายให้แก่ท่านได้อยู่ทุกเมื่อ แต่เมื่อท่านได้มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่เสมอ อายตนะทั้งหกและขันธ์ทั้งห้าก็เป็นเพียงเหตุปัจจัย ที่ท่านได้อาศัยเพื่อความเป็นเสมอภาคในธรรมชาติ ที่คงอยู่กับท่านอยู่อย่างนั้น คนที่พบมรรคเดินไปบนหนทางที่ถูกต้อง ย่อมรู้ว่าธรรมชาติแห่งจิตตนนั้นคือมรรค เมื่อเขาพบกับจิตชนิดนี้เขากลับไม่พบอะไรในความเป็นจริงนั้น เมื่อเขาได้เดินไปบนหนทางแห่งความไม่มีอะไรในมรรคนั้น เขากลับพบความเป็นจริงในทุกย่างก้าวที่ได้ก้าวไป ถ้าท่านยังคิดว่ามรรคนั้นเกิดจากการใช้จิตค้นหา ท่านก็ยังดำเนินไปในทางที่ผิดอยู่ เพราะมรรคนั้นเป็นการทำความเข้าใจ ในความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมรรคจึงไม่ใช่การค้นหาและต้องใช้อะไรค้นหา ถึงท่านจะหลงทางไป แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นยังคงอยู่ เมื่อท่านมีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้ ถึงความที่ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ความหลงก็จะหายไป ความเป็นมรรคที่แท้จริงก็จะปรากฏอยู่ต่อหน้า ต่อให้ท่านใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะค้นหามรรค จนลมหายใจท่านหยุดและร่างกายแตกดับ แต่เมื่อท่านหยุดการดิ้นรนค้นหา ในมายาแห่งมรรคนั้น มรรคนั้นก็จะกลับมาเป็นมรรคตามความเป็นจริงแห่งมัน จงปลดเปลื้องความคิดทุกความคิด อันเกี่ยวกับมรรคและธรรมทุกชนิดออกเสีย แล้วหันหน้ามาเผชิญต่อความเป็นจริงแล้ว ตามที่มันเป็นอยู่ของมันตามธรรมชาติอยู่แล้ว

การเห็นรูปแต่ธรรมชาติแห่งจิตไม่เศร้าหมองเพราะรูปนั้น การได้ยินด้วยธรรมชาติแห่งจิตนั้น ชื่อว่าเป็นการดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตหลุดพ้น อันคือความเป็นไปในความเป็นธรรมชาติของจิตนั้นนั่นเอง ตา ที่มองเห็นด้วยความเป็นธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่า เซน หู ที่ได้ยินด้วยความเป็นธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่า เซน เช่นกัน กล่าวโดยสรุปบุคคลที่ยอมรับว่าชีวิตตนคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น ชื่อว่า จิตอันหลุดพ้นเพราะความเป็นธรรมชาตินั้น เมื่อท่านมองดูรูปด้วยความเป็นธรรมชาติของจิต รูปก็ไม่ขึ้นต่อจิต และจิตก็ไม่ขึ้นต่อรูป ทั้งรูปและจิตนี้ต่างก็บริสุทธิ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เมื่อปราศจากโมหะ จิตก็คือธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อโมหะมี จิตก็คือจิตแห่งการยึดมั่นถือมั่น อวิชชาสร้างความหลงและให้จิตสร้างภพชาติให้เกิดขึ้น ปุถุชนจึงหลงไปเกิดในดินแดนแห่งการเกิดการตายนับไม่ถ้วน พระโพธิสัตว์ได้รู้แจ้งแทงตลอดถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ท่านจึงเลือกที่จะอยู่เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น
ถ้าท่านไม่ใช้จิตปรุงแต่ง จิตโดยธรรมชาติมันนั้นมันคือธรรมชาติแห่งความหยุดนิ่ง ปราศจากความเคลื่อนไหวปรุงแต่งใดๆกลายเป็นจิตต่างๆนานา จิตมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันจึงชื่อได้ว่า ธรรมชาติแห่งการหยุดนิ่งภายใน เมื่อท่านหลงไปปรุงแต่งจนเกิดเป็นภาวะแห่งจิต ท่านก็จะหลงไปทำกรรมดีกรรมชั่ว ต้องไปเกิดในนรก ในสวรรค์

กายไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ แต่กายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความเสมอภาค ในความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น อัตตาเป็นทรัพย์ของปุถุชน อนัตตาเป็นอริยทรัพย์ของบัณฑิต เมื่อท่านได้ทำความเข้าใจรู้จักความเป็นธรรมชาติ ความเป็นอนัตตาคือธรรมชาติแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นญาณที่ดีที่ทำให้ท่านเข้าถึงความเป็นธรรมชาตินั้นๆ โดยไม่ต้องทำอะไรลงไปอีกเลย เมื่อจิตเข้าถึงนิพพานอันคือธรรมชาติที่แท้จริงแห่งจิต ท่านก็จะไม่เห็นนิพพานในลักษณะเป็นภาวะนิพพานที่มันเกิดขึ้น แต่ถ้าท่านเห็นนิพพานด้วยความเป็นจิตแห่งภาวะที่เกิดขึ้น ท่านก็กำลังหลงตัวเอง

ความทุกข์ยากคือเมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ ความทุกข์เป็นสัจธรรมความเป็นจริง ที่เข้ามากระตุ้นให้ปุถุชนใช้ปัญญาพิจารณา ถึงธรรมชาติแห่งทุกข์นั้น
แต่ท่านอาจคิดไปว่า ทุกข์ทำให้พุทธะภาวะเกิดขึ้น แต่ไม่อาจกล่าวว่าทุกข์เป็นพุทธะภาวะ แต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติ ทุกข์และพุทธะต่างก็เป็นเพียงเหตุและปัจจัย อาศัยซึ่งกันและกันแต่เพียงเท่านั้น ทุกข์และพุทธะต่างก็มีความเสมอภาคกัน ด้วยความเป็นเนื้อหาเดียวกันในความเป็นจริงตามธรรมชาตินั้น กายและจิตของท่านเปรียบเสมือนดั่งท้องทุ่งนา ทุกข์คือเมล็ดพืช ปัญญาคือต้นกล้า พุทธะคือเมล็ดข้าว อุปมาอีกอย่างหนึ่ง จิตอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นเปรียบเสมือนกลิ่นหอมในไม้ พุทธะเกิดจากธรรมชาติแห่งจิตที่มีความเป็นอิสระอยู่อย่างนั้น มันเป็นเหตุให้อาศัยซึ่งกันและกันในความเป็นธรรมชาตินั้น ถ้ามีกลิ่นหอมโดยปราศจากไม้ ก็เป็นกลิ่นหอมที่ประหลาด ถ้าเป็นพุทธะโดยปราศจากธรรมชาติแห่งจิต ก็เป็นพุทธะที่ประหลาดเช่นกัน




“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 16:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




b796af7031ce81ef159884f860ef81b1.jpg
b796af7031ce81ef159884f860ef81b1.jpg [ 118.21 KiB | เปิดดู 5396 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 40 ความเป็นพุทธะ

ถ้าอสรพิษทั้งสามอยู่ในจิตท่าน ท่านก็อยู่ในดินแดนแห่งความสกปรก เมื่อธรรมชาติแห่งจิตมันคือความว่างเปล่า ปราศจากอสรพิษทั้งสามแล้ว ท่านก็อยู่ในดินแดนแห่งธรรมชาติ ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น พระสูตรได้กล่าวว่า "ถ้าท่านอยู่ในดินแดนแห่งความสกปรก พุทธะภาวะก็ไม่ปรากฏ เพราะความเศร้าหมองและความสกปรกทั้งหลาย หมายถึงความหลงและกิเลส อันเป็นอสรพิษร้าย พุทธะหมายถึงธรรมชาติแห่งความสว่าง สะอาด สงบ"

ไม่มีภาษาคำพูดใดๆ ที่ไม่ใช่ธรรมะเลย ถ้าพูดได้ทั้งวันโดยไม่ได้พูดถึงสิ่งใดเลย อันหมายถึงมิได้พูดเพื่อให้เกิดเป็นภาวะของสิ่งนั้น นี่คือ มรรคอันเป็นธรรมชาติ การนั่งเงียบทั้งวันแต่ยังมีการพูดถึงบางสิ่ง ที่มันกลายเป็นภาวะที่เกิดขึ้น ย่อมไม่เป็นมรรค และมันเป็นหนทางออกนอกเส้นทางธรรมชาติ ดังนั้นวาจาของตถาคตเจ้านั่นคือสุรเสียงอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะ ที่มิได้อาศัยความเงียบแต่อย่างใด ดังนั้นบัณฑิตผู้เข้าใจวาจาและความเงียบ คือบุคคลที่อยู่ในความเป็นธรรมชาตินั้น อย่างมิได้แปรผันไปเป็นอย่างอื่น มันเป็นธรรมชาติแห่งสมาธิอยู่อย่างนั้น ถ้ารู้หรือพูดออกมา คำพูดด้วยวาจานั้นคือความเป็นอิสระ ถ้าไม่รู้แล้วเงียบ ความเงียบก็คือความกังวล อันคือภาวะแห่งจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาแบบเงียบๆเช่นกัน ถ้าไม่ยึดติดกับปรากฏการณ์ภายนอกเลย นั่นก็คือความเป็นอิสระ ถ้าความเงียบได้ติดอยู่กับปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ความเงียบมันก็คือภาวะแห่งความกังวลอันมิใช่ธรรมชาติแห่งพุทธะภาษาโดยเนื้อหาตามธรรมชาติมันคือความเป็นอิสระ และโดยความเป็นธรรมชาตินั้นแห่งการพูดด้วยวาจาต่างๆ มันไม่มีอะไรต้องทำด้วยการยึดมั่นถือมั่น และการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มีอะไรต้องทำด้วยภาษา ความจริงตามธรรมชาติไม่มีสูงไม่มีต่ำ ถ้าท่านพูดออกมา ด้วยความมีค่าแห่งความสูงส่งและความด้อยค่าแห่งความต่ำต้อย มันก็มิใช่ธรรมชาติที่แท้จริง

ไม่มีจิตก็ไม่มีพุทธะ ปราศจากพุทธะก็ไม่มีจิต ใครก็ตามที่พูดถึงการปลดเปลื้องแห่งจิต เขาผู้นั้นก็ย่อมอยู่ห่างจากจิตอันแท้จริง เพราะจิตอันคือธรรมชาติแห่งความเป็นจริงอยู่อย่างนั้น มันเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้วไม่มีอะไรให้ปลดเปลื้อง เพราะฉะนั้นจงอย่ายึดมั่นในปรากฏการณ์แห่งจิต และจะต้องเข้าไปปลดเปลื้องจิตอันคือปรากฏการณ์นั้นๆ ในพระสูตรกล่าวว่า "เมื่อท่านได้เห็นปรากฏการณ์แห่งจิต ท่านก็เห็นพุทธะ" ซึ่งหมายความถึง เมื่อท่านเข้าใจได้ตามความเป็นจริงแล้วว่า แท้จริงมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถยึดมันให้เป็นตัวเป็นตน ตามความปรารถนาของท่านได้ตลอดไป มันเป็นเพียงความว่างเปล่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว หาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ เมื่อปรากฏการณ์ย่อมมิใช่ปรากฏการณ์ด้วยความเป็นจริงตามธรรมชาติ ท่านก็ได้เห็นธรรมชาติแห่งพุทธะแล้ว

"ปราศจากจิตก็ไม่มีพุทธะ" หมายความว่า พุทธะมาจากจิต จิตอันคือธรรมชาตินั้นให้กำเนิดพุทธะ ถึงแม้พุทธะมาจากจิต แต่จิตก็ไม่ได้มาจากพุทธะ อุปมาเหมือนปลามาจากน้ำอยู่อาศัยในน้ำ แต่น้ำมิได้เกิดจากปลา ใครต้องการเห็นปลาก็ต้องมาดูที่น้ำซึ่งปลาได้อาศัยอยู่ ฉันใดก็ฉันนั้น ใครต้องการพบเจอพุทธะ ก็ต้องมาดูมาทำความเข้าใจในความเป็นธรรมชาติแห่งจิตเสียก่อน เขาจึงจะเป็นพุทธะได้ เมื่อท่านเห็นปลาแล้ว ท่านก็ได้มองดูปลาว่าคือปลา โดยไม่สนใจกับน้ำที่ปลาได้อาศัยอยู่ เมื่อท่านพบพุทธะแล้ว พุทธะนั้นก็จะทำให้ท่านเข้าใจว่า พุทธะก็คือพุทธะ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับจิตอีกต่อไป

ปุถุชนกับความเป็นพุทธะ เปรียบเสมือนน้ำกับความเย็น การที่ชีวิตมีแต่ความทุกข์โศกเป็นปุถุชนภาวะ การที่เห็นธรรมชาติแห่งจิตตนเรียกว่าพุทธะ ความเป็นธรรมชาติที่อาศัยเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน น้ำแข็งก็ย่อมมาจากน้ำธรรมดา ธรรมชาติของน้ำแข็งก็คือความเป็นน้ำนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นปุถุชนภาวะก็คือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั่นเอง ภาวะทั้งสองแห่งความเป็นปุถุชนกับความเป็นพุทธะ มันอยู่ในความเป็นธรรมชาติเดียวกัน มันเป็นเพียงความแตกต่างแต่ชื่อ แต่ความเป็นเนื้อหานั้น มันเท่าเทียมกันในความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น

เมื่องูกลายเป็นมังกรมันก็ไม่ได้เปลี่ยนเกล็ด เมื่อปุถุชนเปลี่ยนมาเป็นบัณฑิต เขาก็ยังเป็นเขาคนเดิมมิได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่ใจเขาได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นพุทธะแต่เพียงเท่านั้น กิเลสปลดปล่อยพุทธะและพุทธะก็ปลดปล่อยกิเลส ความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสนั้น ทำให้เกิดความสำนึกในความเป็นธรรมชาติแห่งมนุษย์ และความรู้สึกสำนึกในความเป็นธรรมชาตินั้น มันก็ช่วยให้เราเป็นอิสระอยู่นอกเหนือความทุกข์ยากนั้น ถ้าไม่มีความทุกข์ถ้าไม่รู้จักความทุกข์ยาก ก็ไม่มีเหตุปัจจัยสำนึกในความเป็นเราขึ้นมา และถ้าไม่มีความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะอันเกิดจากการสำนึก ก็ไม่มีอะไรที่จะลบล้างความทุกข์ได้เช่นกัน พุทธะแท้จริงมันก็คือความเป็นพุทธะตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นมิได้เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใดเลย เพียงแต่ความทุกข์เป็นเหตุและปัจจัยเดียว ที่ทำให้เราก้าวเดินมาสู่ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนี้

เมื่อเรายังถูก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำ ท่านก็ยังอยู่ฝั่งทางนี้ เมื่อท่านมีธรรมชาติแห่งการระลึกได้อยู่ทุกขณะว่า แท้จริงนี้คือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะอยู่อย่างนั้น ท่านก็อยู่ฝั่งทางโน้น และเมื่อใดจิตของท่านได้เป็นจิตอันคือธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที โดยเป็นธรรมชาติแห่งความมีอิสระ ไม่ยึดติดไม่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ภายนอก ท่านก็อยู่เหนืออำนาจแห่งความหลง ใน อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ท่านอยู่เหนือความรู้แจ้งอันทำให้ท่านเป็นอิสระ โดยที่ท่านเป็นอิสระต่อการจะต้องอยู่ฝั่งทางนี้หรือฝั่งทางโน้น พระตถาคตเจ้าก็มิได้อยู่ฝั่งทางนี้หรือฝั่งทางโน้น




“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 16:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




c09c12d9e023cf7edcebb873c033a828.jpg
c09c12d9e023cf7edcebb873c033a828.jpg [ 59.1 KiB | เปิดดู 5396 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 41 กรรม

อวิชชา ตัณหา อุปาทาน แห่งตนย่อมพาสร้างกรรม แต่กรรมมิได้เป็นผู้สร้างคน เพราะคนคือธรรมชาติที่เป็นมาอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะเขาพากันก่อกรรมต่างๆ และต้องรับผลแห่งกรรมนั้นไปบนหนทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด ความเป็นคนไม่เคยพ้นเส้นทางกรรม มีแต่คนที่รู้จักตนเองในความเป็นธรรมชาติแห่งตนที่ได้เกิดมา คนเหล่านี้ได้เดินไปบนมรรคแห่งความเป็นธรรมชาติแล้ว ย่อมไม่สร้างกรรมในชีวิตนี้และไม่ต้องรับผลกรรม บุคคลผู้เดินอยู่บนมรรคอันบริบูรณ์ถึงพร้อมนี้ อาจสร้างกรรมด้วยการกระทำแสดงออก แต่บุคคลเหล่านี้ก็มิได้สร้างความเป็นตัวเอง ในความเป็นตัวตนในการกระทำนั้น ปุถุชนผู้ชอบทำกรรมและยืนยันอย่างผิดๆต่อความเป็นจริงว่า "กรรมที่ทำย่อมไม่มีผลตอบสนอง" ก็ในเมื่อพวกเขาคิดเช่นนี้ หากกรรมเหล่านั้นให้ผลตอบสนอง พวกเขาจะทนทุกข์ได้หรือไม่ เขาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจิตปัจจุบันของเขาเองได้สั่งสมกรรมอะไรมา สภาพจิตที่เกิดขึ้นด้วยการยึดมั่นถือมั่น ด้วยเหตุและปัจจัยในกาลข้างหน้า ก็ย่อม "เก็บเกี่ยวผล" มีความเกี่ยวข้องกับผลกรรมนั้นอีกต่อไป และพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับกรรมเหล่านี้ เพราะพวกเขายังไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงตามธรรมชาติ พวกเขาจะหลบหลีกผลกรรมนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าความเป็นจริง พวกเขาได้รู้จักความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะของตน และเป็นอิสระอยู่นอกเหนือกรรม จิตอันเป็นปัจจุบันของพวกเขา ก็เป็นจิตที่เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ แล้วสภาวะจิตของพวกเขาในวันข้างหน้า ก็คงเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติเช่นนี้อยู่เหมือนเดิม จึงเป็นจิตที่ไม่สามารถสั่งสมกรรมได้อีกต่อไป

ในพระสูตรกล่าวว่า แม้ชาวพุทธจะมีความเลื่อมใสในความเป็นพระพุทธเจ้า แต่ชาวพุทธเหล่านี้ก็มองความเป็นพระพุทธเจ้าไปแบบผิดๆ พวกเขาเข้าใจว่ามีเพียงความเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยังคิดเลยเถิดไปไกลอีกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บันดาลให้เกิดโชคลาภ พวกนี้ไม่อาจเข้าใจในความหมาย แห่งความเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงได้ พวกนี้เป็นมิจฉาทิฐิไม่อาจเชื่อถือได้ คนที่เข้าใจคำสอนแท้จริงของบัณฑิต ก็สามารถกลายเป็นบัณฑิตได้ คนที่เข้าใจคำสอนของปุถุชนและถูกครอบงำให้ปฏิบัติตาม เขาก็เป็นปุถุชน บุคคลผู้มีความเป็นบัณฑิตย่อมมองหาคนที่รู้ถึงความเป็นจริง และสามารถสั่งสอนเขาได้

ในพระสูตรกล่าวว่า "อย่าสอนธรรมอันแท้จริงให้แก่คนที่ไม่เข้าใจ" และยังมีข้อความอีกว่า "ใจซึ่งคือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น คือ คำสอน" คนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติเขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นในทิฐิของเขา และเมื่อพวกเขาปฏิเสธความจริงอันคือธรรมชาตินี้ การปฏิเสธจะทำให้พวกเขาหันหลังให้กับความจริง ด้วยทิฐิที่พวกเขาพยายามก้าวเดินไปในหนทางอื่นอันหลงทาง ไม่อาจหวนกลับมาสู่ความจริงได้ เมื่อเขายังไม่เข้าใจเราก็ยังไม่ควรสอนเขา การสอนโดยขาดความศรัทธาความเชื่อในความเป็นจริงตามธรรมชาติ ย่อมก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย คนพาลผู้ขาดปัญญาเหล่านี้ ย่อมชอบหาความรู้ไกลความเป็นจริงแห่งตัวเองออกไป และเป็นการหาความรู้ที่ไม่ก่อประโยชน์อันใด เช่น ใฝ่หาเอากับพระพุทธรูป ธูปเทียนและแสงสีเป็นต้น พวกเขายอมให้จิตของเขาถูกกดขี่ไปด้วยอำนาจอวิชชา แห่งการสวดมนต์อย่างหลงใหล และยอมเสียความเป็นธรรมชาติแห่งจิตของตนเอง ไปกับสิ่งเหลวไหลไร้สาระ

พระสูตรกล่าวว่า "เมื่อท่านเห็นปรากฏการณ์ทั้งปวงไม่เป็นปรากฏการณ์ ท่านย่อมเห็นตถาคตเจ้า" ประตูที่นำไปสู่สัจจะความเป็นจริงนั้นเป็นหมื่นเป็นแสน ทุกๆประตูเหล่านี้ก็สงบออกมาจากจิต เมื่อปรากฏการณ์แห่งจิตก็มิใช่จิตที่แท้จริง มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่มิได้เกิดขึ้นเป็นตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด มันย่อมเลือนหายไปเหมือนมิได้ปรากฏขึ้นมาก่อนเลย มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่มิใช่ปรากฏการณ์ เมื่อปุถุชนมีชีวิตอยู่ เขาย่อมกังวลถึงความตาย และเมื่อพวกเขามีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข พวกเขาก็กังวลถึงความหิว ที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาใช้ชีวิต ด้วยความอยากแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อยู่ตลอดเวลา ผู้รู้แจ้งย่อมมีชีวิตอยู่เพื่อรอสัจธรรมแห่งชีวิตคือความตาย ผู้รู้แจ้งเมื่อชีวิตเขามีความสุข พวกเขาก็มีความสุขที่แท้จริงแห่งสัจธรรมตามธรรมชาติ เขาย่อมไม่มีความกังวลใดๆ เมื่อหิวเขาก็ย่อมกิน เมื่อง่วงเขาก็ย่อมนอน

ชีวิตของปุถุชนคือชีวิตที่แปรผันไปตามเหตุและปัจจัยอยู่เสมอ แต่ชีวิตของบัณฑิตผู้ที่เดินบนมรรค ย่อมไม่กังวลถึงอดีต และไม่คิดถึงอนาคต และไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นปัจจุบัน จิตอันคือธรรมชาติของบัณฑิตเหล่านี้ย่อมเป็นอิสระอย่างแท้จริง ย่อมอยู่นอกเหนือการไปการมาแห่งทุกห้วงของกาลเวลา ถ้าท่านเป็นผู้มืดบอดหลงอยู่ในวังวนแห่งชีวิตตนเอง ก็ขอให้ท่านรีบตื่นออกมาจากความหลับใหล แล้วหันหน้ามาเผชิญต่อความเป็นจริง อย่าหมกมุ่นอยู่กับชีวิตอันขาดสติของตนอีกต่อไป





“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




fec7ec2794169da04b3b25704ccaa100.jpg
fec7ec2794169da04b3b25704ccaa100.jpg [ 136.53 KiB | เปิดดู 5396 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 42 ปฏิบัติตามธรรมชาติ

"ผู้ที่มีความตั้งใจที่จะเข้าถึงความหลุดพ้น จากกรรมวิบากความทุกข์ทั้งปวง เขาจะต้องปฏิบัติอย่างไร"

วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด คือการปฏิบัติไปตามความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งจิต เพราะแท้จริงแล้วจิตเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นธรรมชาติ ของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว มันเป็นความเจริญเติบโตของสิ่งทั้งปวง ที่ล้วนออกมาจากความเป็นจิตที่แท้จริง ดังนั้นถ้าท่านเข้าใจในความเป็นจิต ทุกๆสิ่งก็ถูกรวมไว้ในจิตนี้หมดแล้วเช่นกัน จิตอันคือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ มันเสมือนเป็นรากของต้นไม้ เพราะผลดอกกิ่งก้านสาขาและใบ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของความเป็นต้นไม้ทั้งหมด ล้วนอาศัยรากของมัน รากเป็นส่วนที่หาอาหารมาหล่อเลี้ยงลำต้น เพื่อให้ดอกใบเจริญเติบโตงอกงาม ถ้าบำรุงที่รากของมัน ต้นไม้ก็มีความเจริญเติบโตด้วยความอุดมสมบูรณ์ ถ้าท่านตัดราก ต้นไม้ก็ตาย

คนที่เข้าใจจิตของตนว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมออกมาจากจิตของตน และทุกๆสรรพสิ่งกับจิตนี้ ย่อมมีความเสมอภาคมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกัน ในความเป็นธรรมชาติของมันมาตั้งแต่แรกเริ่ม คือความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น เมื่อเข้าใจว่าจิตเป็นธรรมชาติแบบนี้แล้ว คนคนนั้นก็สามารถบรรลุธรรม โดยใช้ความเพียรพยายามในการทำความเข้าใจในธรรมชาติ และกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันด้วยเหตุแห่งความเข้าใจนั้น โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ส่วนคนที่ไม่ปฏิบัติธรรมโดยไม่เข้าใจจิตใจของตนเอง ปฏิบัติธรรมไปก็ไร้ประโยชน์ ความดีหรือความเลวล้วนออกมาจากจิตของท่านเอง การค้นหาสิ่งภายนอกนอกจากจิตอันคือธรรมชาตินี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้

"การเข้าใจความเป็นจิตของตนอย่างไร จึงจะถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจธรรมความเป็นจริงอันยิ่งใหญ่ พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งชัดว่า ธาตุทั้งสี่ขันธ์ทั้งห้า แท้ที่จริงมันหามีตัวตนแห่งขันธ์ธาตุทั้งหลายไม่ โดยธรรมชาติมันย่อมเป็นความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนอยู่อย่างนั้น และรู้แจ้งชัดว่าจิตนี้โดยธรรมชาติ มันคือความบริสุทธิ์โดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหากปรุงแต่งเป็นปรากฏการณ์แห่งจิตต่างๆที่เกิดขึ้น จิตเหล่านี้ก็เป็นความไม่บริสุทธิ์โดยเนื้อหามันเองอีกเช่นกัน จิตที่บริสุทธิ์พอใจในการกระทำความดี โดยทำไปแบบนั้นตามธรรมชาติของจิต แต่จิตที่ไม่บริสุทธิ์ก็ถูกปรุงแต่งขึ้น ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แห่งการทำความดีและการทำชั่ว บุคคลที่มิได้รับผลกระทบใดๆจากอำนาจแห่งจิตชั่ว คือผู้ที่เป็นอิสระแล้วในความเป็นธรรมชาติแห่งเขาเหล่านั้น บุคคลเหล่านี้ย่อมอยู่ในความทุกข์และในสุขอันยั่งยืน โดยปราศจากความแปรผันด้วยความหมดเหตุปัจจัยในการปรุงแต่ง เป็นความสุขในความเป็นธรรมชาติแห่งการหลุดพ้นนั้น ส่วนปุถุชนผู้มืดบอดย่อมถูกบีบคั้นด้วยจิตสกปรก และยุ่งเหยิงซับซ้อนด้วยกรรมต่างๆนานาแห่งตน เพราะจิตสกปรกแปดเปื้อนมลทิน ไปด้วยการปรุงแต่งในลักษณะหลากหลาย ย่อมปิดบังธรรมชาติที่แท้จริงแห่งความเป็นเขาเหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการปรุงแต่งจึงพาเขาต้องไปเวียนว่ายตายเกิด ในภพทั้งสามอยู่อย่างนั้น

ในพระสูตรได้กล่าวว่า "ในความเป็นปุถุชน ก็มีความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะที่ไม่อาจทำลายมันลงไปได้ เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่แสงของมันได้สาดส่องไปทั่ว แต่เมื่อใดมันถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกอันหนาทึบ ด้วยเงาของขันธ์ทั้งห้า มันก็เหมือนแสงที่อ่อนแสงด้วยการถูกบดบังนั้น"

และในพระสูตรยังกล่าวอีกว่า "ปุถุชนย่อมมีธรรมชาติแห่งพุทธะ แต่มันถูกปกคลุมไปด้วยอำนาจมืดแห่งอวิชชา ความเป็นพุทธะก็คือธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ที่มันว่างเปล่าโดยความเป็นมันเองอยู่อย่างนั้น การรู้ชัดแจ้งในความเป็นธรรมชาตินี้ คือความหลุดพ้น" การประจักษ์แจ้งในความเป็นธรรมชาติแห่งจิตตน จึงเป็นรากฐานอันคือรากของต้นไม้ที่หาอาหารเลี้ยงบำรุงลำต้น จึงก่อให้เกิดต้นไม้แห่งธรรมและผลิตผลออกมาเป็นนิพพาน การเข้าใจจิตของตน ด้วยความหมายแห่งความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง อันคือ สัมมาทิฐินั่นเอง

"ก็ในเมื่อธรรมชาติแห่งพุทธะ มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่ทุกขณะ(สัมมาสติ)เป็นรากเหง้า แล้วอะไรเล่าเป็นรากเหง้าแห่งอวิชชา"

จิตอันมิใช่ธรรมชาติแต่เป็นจิตที่หลงผิดไปในอวิชชา ย่อมประสบแต่ความทุกข์ ซึ่งเป็นความทะยานอยากไปในความชั่วร้ายอันไม่รู้จักจบจักสิ้น อวิชชาได้หยั่งรากลึกตัวมันเองลงไปในกิเลสทั้งหลาย คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ในเมื่อจิตซึ่งมีอวิชชาเป็นรากเหง้า มันก็ถูกห่อหุ้มไปด้วยกิเลสต่างๆ มันย่อมเอาความชั่วนานัปการรวมเข้าไว้ด้วยกัน กิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นจากอายตนะทั้งหกของเรานี่เอง กิเลสคือพวกโจรทั้งหลายมันผ่านเข้าออกตามทวารของรูปกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และด้วยความทะยานอยากไปในตัณหา อุปาทาน อันไม่มีประมาณด้วยอำนาจแห่งมัน โจรเหล่านี้มันก็ทำให้เราหมกมุ่นอยู่ในความชั่วร้าย และมันสามารถปกปิดความเป็นธรรมชาติแห่งจิต อันคือจิตที่แท้จริงของเราได้ มันจึงทำให้เราต้องเร่ร่อนไปในภพทั้งหลาย และประสบแต่ทุกข์ภัยต่างๆอันหาประมาณมิได้เช่นกัน




“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 16:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




1743598_475976772512344_246977643_n.jpg
1743598_475976772512344_246977643_n.jpg [ 13.39 KiB | เปิดดู 5395 ครั้ง ]
รูปภาพ

จบบริบูรณ์




“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร


แก้ไขล่าสุดโดย เมฆ โซะระคุโมะ เมื่อ 31 ม.ค. 2016, 16:52, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2014, 16:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




ปก099.jpg
ปก099.jpg [ 128.72 KiB | เปิดดู 5393 ครั้ง ]
หนังสือ "คำสอนเซน ภาคเซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
มีวางขายจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไป
ในราคาเล่มละ 239 บาท ความหนา 340 หน้า
ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านโพสต์
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 55 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร