ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=44894
หน้า 3 จากทั้งหมด 3

เจ้าของ:  Hanako [ 28 พ.ค. 2013, 11:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ
ต้นกรรณิการ์ (ต้นกณิการระ)
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย
กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๙ พระนามว่า พระสิทธัตถพุทธเจ้า
(มิใช่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม
จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กรรณิการ์



ผู้ไม่อิ่มในกาม

พระพุทธภาษิต

ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
อติตฺตํ เยว กาเมสุ อนฺตโก กุรุเต วสํ

คำแปล

มัจจุราชย่อมทำไว้ในอำนาจ ซึ่งบุคคลผู้มีใจฟุ้งไปในอารมณ์ต่างๆ
ผู้เลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณอยู่ ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย


:b51:

อธิบายความ

มัจจุราช คือ ความตาย
เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือมนุษย์ปุถุชนทั้งหลายผู้ยังข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ
ผู้ปรารถนาอย่างแรงกล้าในอารมณ์อันยังไม่ได้ไม่ถึง
และผู้หลงติดอยู่ในอารมณ์อันได้แล้วถึงแล้ว

ธรรมดามนุษย์ทั่วไปก็มักเป็นเช่นนั้น
คือสิ่งใดยังไม่ได้, เป็นที่ปรารถนา, ก็มีความต้องการในสิ่งนั้น
เมื่อได้แล้วก็ติดอยู่ สยบอยู่ ไม่สามารถปลีกตนออกไปได้
หมกอยู่ในอารมณ์อันน่ารักน่าพอใจ
เป็นผู้ติดอยู่ในกามทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม-กามเป็นสิ่งละได้ยากในโลก

ดังพระพุทธภาษิตว่า
"กามา หิ โลเก น หิ สุปฺปหายา-กามทั้งหลายเป็นของละได้ยากในโลก"
ผู้ละกามได้จึงเป็นที่ยกย่องเคารพของคนทั้งหลาย
เพราะกระทำได้ในกิจที่คนเป็นอันมากทำไม่ได้
อนึ่งบุคคลเช่นนั้นย่อมมีทุกข์น้อย มีโรคน้อย มีความกังวลน้อย

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ เมื่อประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภนางปติปูชิกา มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ เรื่องนางปติปูชิกา

เรื่องเกิดขึ้นในดาวดึงส์เทวโลกก่อน
เทพบุตรคนหนึ่งชื่อ มาลาภารี ในภพดาวดึงส์
เข้าไปสู่สวนสวรรค์พร้อมด้วยเทพธิดาหนึ่งพันนาง
ในจำนวนนั้น เทพธิดา ๕๐๐ ขึ้นต้นไม้เก็บดอกไม้
แล้วโยนลงมาให้เทพธิดาอีก ๕๐๐ ซึ่งอยู่ใต้ต้นไม้
แล้วเอาดอกไม้เหล่านั้นประดับเทพบุตร

บรรดาเทพธิดาเหล่านั้น เทพธิดาองค์หนึ่งจุติบนกิ่งไม้นั่นเอง
สรีระของเธอดับลงประหนึ่งเปลวไฟ
เธอไปเกิดในสกุลหนึ่งในเมืองสาวัตถีและระลึกชาติได้
ปรารถนากลับไปเถิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่กับสามีอีก
เมื่อเจริญวัยจึงหมั่นทำบุญให้ทานและอธิษฐานว่า
"อานุภาพแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าไปบังเกิด
ในสำนักของสามีในดาวดึงส์เทวโลก"


ภิกษุทั้งหลายจึงพากันเรียกเธอว่า "ปติปูชิกา-ผู้บูชาสามี"

ใครๆ รู้ว่าเธอเป็นผู้มีศรัทธา หมั่นทำบุญให้ทาน
บางทีก็นำอาหารและเครื่องดื่มมามอบให้
เพื่อให้เธอช่วยจัดแจงถวายสงฆ์ด้วย เธอก็รับทำให้ด้วยความเต็มใจ

ต่อมา เธอมีสามี มีลูกถึง ๔ คน และตายด้วยโรคปัจจุบันอย่างหนึ่ง
ไปบังเกิดในดาวดึงส์พิภพตามความปรารถนา

เทพธิดาเพื่อนของเธอยังไม่กลับจากสวนสวรรค์
ยังประดับดอกไม้ให้เทพบุตรอยู่ มาลาภารีเทพบุตรเห็นนางแล้ว
ถามว่า หายไปไหนเสียตั้งแต่เช้า
นางตอบว่า จุติแล้วลงไปเกิดในมนุษย์โลกในเมืองสาวัตถี
อยู่ในท้องมารดา ๑๐ เดือน แต่งงานเมื่ออายุ ๑๖ แล้วได้บุตร ๔ คน
มีปกติเป็นผู้ทำบุญมีทาน เป็นต้น แล้วปรารถนามาเกิดในสำนักของมาลาภารีเทพบุตร
และอายุของมนุษย์โดยประมาณมีแค่เพียง ๑๐๐ ปี ซึ่งน้อยเหลือเกิน
แต่พวกมนุษย์ก็ยังประมาทอยู่เป็นนิตย์ ทำตนเหมือนจะมีอายุสักอสงไขย
ประหนึ่งว่าไม่แก่ไม่ตาย จึงห่างไกลต่อการพ้นจากทุกข์

โดยธรรมดาทั่วไป ๑๐๐ ปี ในมนุษย์เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของเทวดาชั้นดาวดึงส์
พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี (หนึ่งพันปี) ทิพย์
หนึ่งพันปีทิพย์นั้น เมื่อเทียบอายุในมนุษย์เท่ากับ ๓๖ ล้านปี
คิดเสียว่าอายุของเทพชั้นดาวดึงส์คนหนึ่งเท่ากับ ๓๖ ล้านปีในเมืองมนุษย์

มนุษย์อายุน้อยนักไม่ควรประมาทเลย


ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุเข้าไปที่บ้านของนางปติปูชิกาอย่างเคย
เห็นโรงฉันยังไม่ได้จัด อาสนะยังไม่ได้ปู น้ำฉันยังไม่ได้ตั้งไว้ จึงถามชาวบ้าน
ทราบความว่า นางได้ตายเสียแล้วตั้งแต่ตอนเย็นวันวาน
ภิกษุผู้เป็นปุถุชนระลึกถึงอุปการะของนางแล้วไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้
ส่วนพระอรหันต์ได้ธรรมสังเวชแล้ว ทั้งหมดไปทูลถามพระศาสดาว่า
นางปติปูชิกาไปเกิดที่ใด พระศาสดาตรัสตอบว่า นางไปเกิดในสำนักแห่งสามีของนาง
ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วตรัสเล่าเรื่องทั้งปวงให้ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อภิกษุทั้งหลาย ทูลว่าอายุของสัตว์ทั้งหลายน้อยนัก

พระศาสดาจึงตรัสว่า

"ถูกแล้วภิกษุทั้งหลาย! ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยนัก
เมื่อสัตว์ทั้งหลายยังไม่ทันอิ่ม ด้วยวัตถุกาม และกิเลสกาม
มัจจุราชก็ทำเขาไว้ในอำนาจเสีย พาเอาสัตว์ผู้คร่ำครวญร่ำไรอยู่ไปสู่ภพของตน"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"ปุปผานิ เหว ปจินนฺตํ" เป็นอาทิมีนัยดังได้อธิบายมาแล้วแต่ต้น


:b48:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๘ มีนาคม ๒๕๔๗

:b48:

เสมือนแมลงภู่เชยเกสรดอกไม้

พระพุทธภาษิต

ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ วณฺณคนฺธํ อเหจยํ
ปาเลติ รสมาทาย เอวํ คาเม มุนี จเร

คำแปล

เหมือนอย่างว่า ภมรไม่ทำดอก สี และกลิ่นของดอกไม่ให้เสียหายชอกช้ำ
เชยแต่เกสรแล้วบินไปฉันใด มุนี คือผู้รู้ ผู้สงบ
เที่ยวไปในบ้านไม่กระทบศรัทธาและโภคะของเขาฉันนั้น


:b44:

อธิบายความ

คำว่า ภมร ในพระคาถานี้ ท่านหมายเอาสัตว์ที่อาศัยเกสรดอกไม้ทำน้ำหวานทุกชนิด
เช่น แมลงผึ้ง เป็นต้น สัตว์เหล่านั้นเมื่อต้องการน้ำหวานจากเกสรดอกไม้
ก็บินไปดื่มรสหวานจนพอความต้องการแล้ว คาบเอารสที่ต้องการไปสะสมไว้เป็นน้ำผึ้ง
ไม่ทำสี กลิ่น และสัณฐานของดอกไม้ให้เสียหรือชอกช้ำ

พระผู้เข้าสู่สกุลของชาวบ้านก็ควรทำตนเช่นภมรนั้น
คือไม่ทำศรัทธาและโภคะของชาวบ้านให้เสื่อม


ทำอย่างไรเรียกว่าทำศรัทธาให้เสื่อม?
ตอบว่า ไม่ตั้งตนอยู่ในความบริสุทธิ์เยี่ยงสมณะที่ดี
ไม่สำรวม กาย วาจา ใจด้วยดี มีความมักมากในลาภ
ไม่รู้จักประมาณในการรับปัจจัยและในการบริโภคปัจจัย
เป็นผู้คะนองกายวาจา เมื่อชาวบ้านเห็นอาการอย่างนี้ศรัทธาก็ถอย
ไม่ถอยเพียงแต่ในสมณะเช่นนั้น แต่ทำให้เขาลดความมั่นคงในพระรัตนตรัยอีกด้วย

พระไม่ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ๑ หญิงเสเพล ๑ ชายไม่มีสัจจะ ๑
ท่านว่าไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะจะนำความเดือดร้อนมาให้

ผู้ประพฤติตรงกันข้าม ชื่อว่าทำศรัทธาของชาวบ้านให้เจริญ

ส่วนอาการกระทบโภคะ ทำโภคะให้เสื่อมนั้น
คือ การทุศีลของพระ โภคะที่ชาวบ้านถวายแก่พระทุศีลย่อมไม่มีผลมาก
เหมือนหว่านพืชในนาเลว โภคะย่อมเสื่อมไปเปล่า ไม่มีผลเท่าที่ควร

ส่วนการเข้าสู่สกุลของพระผู้มีศีล ชื่อว่าทำโภคะของทายกให้เจริญ
เพราะทานอันเขาหว่านลงแล้วในท่านผู้มีศีล
ย่อมมีผลงอกงาม เหมือนพืชอันหว่านลงแล้วในนาดี

พระดีย่อมไม่เบียดเบียนชาวบ้าน ดังกล่าวมานี้

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวนาราม เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภเศรษฐีผู้ตระหนี่คนหนึ่งในเมืองราชคฤห์
ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะไปโปรดให้กลับเป็นผู้มีศรัทธา มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ
เรื่องเศรษฐีชื่อโภสิยะ ผู้มีความตระหนี่


เศรษฐีคนนี้อยู่ที่นิยมสักการะ ไม่ไกลกรุงราชคฤห์นัก
เขามีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ แต่ตระหนี่เหลือเกิน
ไม่เคยให้แม้แต่น้ำมันสักหยดเดียวแก่ใคร และไม่ค่อยบริโภคเอง
ทรัพย์ของเขาไม่อำนวยประโยชน์แก่ตนเอง บุตร ภรรยา และแก่ใครๆ เลย

วันหนึ่งเศรษฐีกลับจากเฝ้าพระราชา เห็นคนบ้านนอกคนหนึ่งกำลังกินขนมเบื้องอยู่
นึกอยากกินบ้าง เมื่อมาถึงบ้านก็ไม่กล้าบอกภรรยา
เพราะกลัวว่าเมื่อภรรยาทำขนมเบื้องคนเป็นอันมาก
ในเรือนรู้เข้าก็จะขอกินด้วย จะหมดเปลืองมาก
จึงอดกลั้นความอยากไว้ แต่ความอยากก็มิได้หมดไป
เมื่อหลายวันเข้าก็ผอมลงทุกที หมดกำลัง เข้าห้องนอน คิดถึงขนมเบื้อง
แม้ทุกข์อย่างนี้แล้วก็ไม่ยอมบอกภรรยาหรือบุตร เพราะกลัวเสียทรัพย์
จนเมื่อภรรยาเดาใจได้จึงทำขนมเบื้องให้

โดยเศรษฐีกำชับให้เธอเลือกข้าวสารหัก อย่าเอาข้าวสารดี
เตา, นม, เนยใส, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อยอย่างละนิดอย่างละหน่อย
ขึ้นไปบนชั้นที่ ๗ แล้วทอดที่นั่น เพื่อจะได้นั่งกินคนเดียว

วันนั้นพระศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์เวลาใกล้รุ่ง
ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเศรษฐีและภรรยา
แล้วตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะมาแต่เช้า
แล้วให้พระมหาโมคคัลนานะไปชักจูงเศรษฐีโกสิยะที่สักกรนิคม
พระองค์และพระ ๕๐๐ จักคอยเสวยขนมเบื้องอยู่ที่วัดเชตวัน
พระมหาโมคคัลลานะไปที่นั้นด้วยฤทธิ์ ไปยืนอยู่ที่หน้าต่างของเศรษฐี

โกสิยะเหลือบมาเห็นก็ตกใจ พึมพำว่า
"เราอุตส่าห์ขึ้นมาทอดขนมถึงชั้นที่ ๗
ก็เพราะกลัวบุคคลประเภทนี้ แล้วก็หลีกให้พ้น"
จึงพูดออกไปว่า

"สมณะท่านอยู่ทำไมในอากาศนอนหน้าต่าง? แม้จะจงกรมอยู่ในอากาศก็จะไม่ได้อะไร"
พระเถระจงกรมกลับไป-มาอยู่ในอากาศ

เศรษฐีกล่าวอีกว่า ท่านจงกรมจะได้อะไร
ต่อให้นั่งสมาธิบัลลังก์บนอากาศก็จะไม่ได้อะไร, พระเถระได้นั่งสมาธิบัลลังก์

เศรษฐีกล่าวว่า แม้บังหวนควันก็จะไม่ได้อะไร,

พระเถระบังหวนครับ, เศรษฐีไม่กล้ากล่าวว่า "แม้ท่านให้ไฟลุกขึ้น ก็จะไม่ได้อะไร"
เพราะกลัวไฟไหม้ปราสาท คิดว่า
"สมณะนี้คงทำจริง ไม่ได้คงไม่ไปแน่ เราควรให้สักหน่อยหนึ่ง"
ดังนี้แล้วกล่าวกับภรรยาว่า "จงทอดขนมชิ้นเล็กๆ ให้เขาสักชิ้นหนึ่ง"

ภรรยาหยอดแป้งในลงกระทะเพียงนิดเดียว แต่ขนมกลับกลายเป็นชิ้นใหญ่ พองขึ้นเต็มถาด
เศรษฐีเห็นแล้วคิดว่า คงจักหยิบแป้งมากไป จึงตักแป้งด้วยมุมทัพพีเองทีเดียว
ขนมกลับใหญ่กว่าชิ้นก่อนเสียอีก เขาเกิดเบื่อหน่าย
จึงให้ภรรยาหยิบขนมสักชิ้นหนึ่งในกระเช้าให้พระไป
เมื่อภรรยาหยิบ ปรากฏว่าขนมในกระเช้าติดกันหมดแยกไม่ออก นางจึงบอกสามี
คราวนี้สองสามีภรรยาก็ช่วยกันดึงขนมจนเหงื่อท่วมตัว ก็ไม่ออก ความหิวหายไป
เขาจึงกล่าวกับภรรยาว่า เขาหมดหิวแล้ว มอบให้สมณะไปเถิด
นางฉวยกระเช้าได้นำขนมถวายพระเถระ

พระมหาโมคคัลลานะ แสดงธรรมให้ฟังมีพรรณนาถึงคุณพระรัตนตรัย
และแสดงถึงอานิสงส์แห่งทานเป็นต้นให้แจ่มแจ้งเหมือนบุคคลมองเห็นดวงจันทร์ในท้องฟ้า
เศรษฐีและภรรยาเลื่อมใสนิมนต์ท่านฉันอาหารบนบัลลังก์ของตน
แต่พระเถระกล่าวว่า บัดนี้ พระศาสดาและภิกษุจำนวน ๕๐๐
คอยเสวยอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี แล้วท่านก็นำเศรษฐีและภรรยาไปด้วยฤทธิ์ของตน

ขนมเพียงกระเช้าเดียวเลี้ยงพระถึง ๕๐๐ เศษ ก็ไม่หมด
ให้คนวัดกินอีกไม่หมด พระศาสดารับสั่งให้ทิ้งขนมที่เหลือที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวันนั่นเอง
สถานที่ตรงนั้นเรียกกันต่อมาว่า "เงื้อมขนมเบื้อง"

พระศาสดาตรัสอนุโมทนาให้เศรษฐีและภรรยาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
หลังจากนั้นเศรษฐีได้สละทรัพย์เป็นอันมากออกจำแนกแจกทาน
บำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ทำทรัพย์อันไม่มีสาระให้มีสาระ


เย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันพรรณนาถึงอานุภาพของพระมหาโมคคัลลานะ
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสสรรเสริญพระเถระว่า
ธรรมดาภิกษุผู้ฝึกฝนอบรมตระกูล ควรเป็นเช่นพระมหาโมคคัลลานะ
ไม่กระทบศรัทธาและโภคะของสกุล ให้สกุลรู้คุณพระรัตนตรัยและอานิสงส์แห่งทาน เป็นต้น
เหมือนภมรไม่ให้ดอกไม้ชอกช้ำดื่มแต่น้ำหวาน ดังนี้ แล้วตรัสว่า
"ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ" เป็นอาทิ มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น


:b51: :b51:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นกรรณิการ์ หรือต้นกณิการระ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19546

เจ้าของ:  Hanako [ 31 พ.ค. 2013, 17:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ
ต้นจำปาป่า หรือ ต้นจัมปกะ
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อัตถทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๗ พระนามว่า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้จำปาป่า



กิจของตน

พระพุทธภาษิต

น ปเรสํ วิโลมานิ น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโน ว อเวกเขยฺย กตานิ อกตานิ จ

คำแปล

บุคคลไม่ควรใส่ใจในคำหยาบของคนอื่น
ไม่ควรเพ่งเล็งกิจที่ทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำของคนอื่น
แต่ควรพิจารณาถึงกิจที่ทำแล้วหรือยังมิได้ทำของตนดีกว่า


:b44: :b44:

อธิบายความ

พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า "คำหยาบ คือ คำที่ตัดเสียซึ่งความรัก"
คือ ทำให้คนฟังเกลียดชังคนพูด
คำหยาบนั้น มีหลายประเภท เช่น ประชด กดให้ต่ำ (ด่า) กระทบเปรียบเปรย เป็นต้น

โดยปกติ ใครพูดคำหยาบ ความชั่วก็ตกอยู่แก่คนนั้น
คนที่ถูกด่า ถูกประชดหาชั่วไปด้วยไม่

เมื่อไม่รับคำหยาบนั้นก็ตกอยู่แก่ผู้กล่าวแต่ผู้เดียว
คำหยาบย่อมมาจากจิตใจที่หยาบ
ท่านจึงสอนมิให้เอาคำหยาบของคนอื่นมาใส่ใจ
ใครพูดคำหยาบก็ปล่อยให้เป็นของเขาไป

อนึ่ง หน้าที่ของคนอื่น การงานของคนอื่นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขา-
เขาจะทำหรือไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามารกสมองรกหัวใจนัก

นอกจากเรามีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ด้วย การสอดส่องนั้นเป็นหน้าที่ของเราจึงต้องทำ
อย่ามัวมองแต่ความสกปรกในบ้านของคนอื่น
จงหมั่นตรวจตราความสกปรกในห้องของตนเอง
และหมั่นทำความสะอาด หมั่นพิจารณาการงานอันเป็นหน้าที่ของตน
ว่าได้ทำสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หน้าที่ของเราสำคัญ

ข้อว่า ไม่ควรเพ่งเล็งกิจของคนอื่นนั้น
พระอรรถกถาจารย์อธิบายไปในแง่ธรรมอย่างเดียวว่า

"ไม่ควรดูแลกรรมที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่นอย่างนี้ว่า
'อุบาสกคนโน้นไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เคยให้อาหารแม้ข้าวทัพพีเดียว
ไม่เคยถวายจีวร อุบาสิกาโน้นก็เหมือนกัน ภิกษุโน้นไม่มีศรัทธา
ไม่เลื่อมใส ไม่ทำอุปฌายวัตร์ อาจาริยวัตร์ อาคันตุกวัตร์ เป็นต้น ธุดงค์ก็ไม่มี'
ความอุตสาหะพยายามในภาวนาก็ไม่มี..."

ส่วนข้อว่า พึงพิจารณากิจของตนนั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้
กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เมื่อระลึกถึงพระโอวาทนี้ว่า
"บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่"
ดังนี้แล้ว พึงใส่ใจในกิจของตนว่า เราอาจหรือไม่ที่จะยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์
คือ อนิจจัง ทุกขังอนัตตาแล้วทำตนให้พ้นจากกิเลสทั้งปวง"

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ เพราะทรงปรารภอาชีวก ชื่อ ปาฏิกะ
ซึ่งด่าว่าเสียดสีอุบาสิกานานาประการ มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ เรื่องอาชีวกชื่อปาฏิกะ

อาชีวกผู้นี้คุ้นเคยอยู่กับสกุลหนึ่ง
มีสตรีแม่บ้านผู้หนึ่งอุปถัมภ์บำรุงอยู่เหมือนบุตรของตน
ต่อมานางได้ฟังกถาสรรเสริญพระพุทธเจ้า
และพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจากเพื่อนบ้านว่า
พระพุทธเจ้าดีอย่างนั้นๆ พระธรรมเทศนาของพระองค์ไพเราะอย่างนั้นๆ
นางใคร่จะได้ฟังธรรมบ้าง จึงบอกอาชีวก

อาชีวกเกรงว่าหากนางไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
แล้วนางจักเสื่อมความรัก ความนับถือในตนจักไม่บำรุงตนอย่างที่เคย
จึงห้ามไว้ทุกครั้งว่าอย่าไปสำนักของพระสมณโคดมเลย
นางจึงหาวิธีใหม่คืออัญเชิญพระศาสดามาสู่เรือนของตน
จึงให้บุตรชายคนหนึ่งไปทูลอาราธนาพระศาสดาที่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี

บุตรชายไปนิมนต์พระพุทธเจ้า แต่แวะไปหาอาชีวกก่อน
อาชีวกรู้เรื่องแล้วจึงห้ามว่าอย่าไปเลย

"ไม่ได้ แม่จะดุ" เด็กว่า "ผมต้องไป"
"อย่าไปดีกว่า" อาชีวกพูด
"เมื่อเธอไม่ไป พระพุทธเจ้าไม่มา
เราสองคนจักได้กินเครื่องสักการะคาวหวาน
ที่แม่ของเธอเตรียมไว้สำหรับพระพุทธเจ้า"

แต่เด็กยังยืนยันจะไปเพราะกลัวแม่ดุ อาชีวกจึงว่า

"ไปก็ได้ แต่อย่าบอกเรือนและทางที่ไป
คราวนี้พระพุทธเจ้าก็ไปไม่ถูก
พรุ่งนี้เราสองคนจักได้กินอาหารที่แม่ของเธอเตรียมไป
เธอก็ไม่มีความผิดเพราะได้ไปนิมนต์แล้ว"

เด็กเชื่อ ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและทำตามที่อาชีวกว่าทุกอย่าง
แล้วกลับมาบอกอาชีวกอีกทีหนึ่ง วันรุ่งขึ้นอาชีวกไปยังเรือนของอุบาสิกาแต่เช้า

พวกเพื่อนบ้านที่เลื่อมใส พระพุทธเจ้าได้ช่วยกันฉาบทาเรือนด้วยโคมัยสด
โปรยดอกไม้ ปูลาดอาสนะอันควรแก่พระศาสดา
ท่านว่าคนที่ไม่คุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าย่อมปูอาสนะไม่เป็น

รุ่งเช้าพระศาสดาเสด็จไปเรือนของอุบาสิกา อย่างถูกต้อง
เพราะพระองค์ทรงรู้ทางทั้งปวง แม้ทางไปนรกสวรรค์ยังทรงทราบ
จะกล่าวใยถึงทางไปบ้านนั้นนิคมนี้ ย่อมทรงรู้ได้ด้วยญาณ
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดตั้งแต่วันที่ได้ตรัสรู้แล้ว อาชีวกรู้จักพระพุทธเจ้าน้อยไป

อุบาสิกา ออกมาต้อนรับ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ
อัญเชิญให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งแล้ว
นางได้ถวายน้ำทักษิโณทก แล้วถวายขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
เสร็จแล้วพระศาสดาทรงอนุโมนาด้วยพระธรรมและพระสุรเสียงอันไพเราะ
อุบาสิกาฟังธรรมพลางกล่าว พลางว่า "สาธุ สาธุ"

อาชีวกนั่งอยู่ห้องหลังฟังเสียงอุบาสิกาว่า "สาธุ สาธุ"
ไม่อาจทนอยู่ได้ เพราะความริษยา
คิดว่า "นางไม่เป็นของเราเสียแล้ว"
จึงด่าพระศาสดาและอุบาสิกาเป็นอันมาก
มีอาทิว่า "อี กาฬกัณณี มึงเป็นคนฉิบหาย
มึงจงทำสักการะแก่พระสมณโคดมเถิด" ดังนี้แล้วหลีกไป

อุบาสิการู้สึกละอายต่อคำอันหยาบคายของอาชีวกนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ฟุ้งซ่าน ไม่อาจส่งกระแสจิตไปรับพระธรรมเทศนาได้

พระศาสดาทรงทราบดังนั้นจึงตรัสว่า
"ไม่ควรระลึกถึงถ้อยคำเช่นนั้นของคนเช่นนั้น
พึงตรวจดูกิจเฉพาะหน้าของตน"

ดังนี้แล้วตรัสพระพุทธพจน์ว่า

"น ปเรสํ วิโลมานิ" เป็นอาทิ มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น

อุบาสิกาได้สำเร็จโสดาปัตติผล


:b45: :b45:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗

:b39:

วาจาสุภาษิตเหมือนดอกไม้

พระพุทธภาษิต

ยถาปิ รุจิรั ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตา วาจา อผลา โหติ อกุพฺพโต
ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ
เอวํ สุภาษิตา วาจา สผลา โหติ สุกุพฺพโต

คำแปล

ดอกไม้งาม มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่นฉันใด
วาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำตามฉันนั้น
แต่วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี
เหมือนดอกไม้งามสีสวย และมีกลิ่นหอม


:b41: :b41:

อธิบายความ

ความแตกต่างอยู่ที่กลิ่นหอม และไม่มีกลิ่นหอม
ดอกไม้แม้จะมีสีสวย สัณฐานงามเหมือนกัน
แต่ดอกหนึ่งมีกลิ่นหอม อีกดอกหนึ่งกลิ่นไม่หอม คุณค่าย่อมแตกต่างกันมาก
ใจคนย่อมชอบดอกไม้ที่กลิ่นหอมมากกว่า แม้สีจะไม่สวย สัณฐานจะไม่งาม
วาจาสุภาษิตก็เหมือนกัน ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้นำมาปฏิบัติตาม
หาสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติไม่


อนึ่ง คนดีเปรียบได้กับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม
คนชั่วเปรียบกับดอกไม้ที่กลิ่นเหม็น ส่วนรูปร่างหน้าตาอาจคล้ายกันได้
เหมือนสีและสัณฐานของดอกไม้
ดอกอุตพิดนั้น สีและสัณฐานไม่เลว
แต่ไม่มีใครอยากแตะต้อง เพราะกลิ่นมันเหม็นจัด
ส่วนดอกกุหลาบแม้มีหนามแต่คนก็ปรารถนา เพราะกลิ่นหอมชื่นใจ

สีของดอกไม้ไม่สำคัญเท่ากลิ่นฉันใด
หน้าตารูปร่างของคนก็ไม่สำคัญเท่าคุณความดีในตัวของเขาฉันนั้น


พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัส เมื่อประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภฉัตตปาณิอุบาสก
และการเรียนธรรมของพระนางมัลลิกาเทวี
และพระนางวาสภ ขัตติยา มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก

ฉัตตปาณิ เป็นอุบาสกอยู่ในเมืองสาวัตถี
เป็นผู้รอบรู้ในพระพุทธพจน์ และได้บรรลุมรรคผลเป็นอนาคามี
เขารักษาอุโบสถแต่เช้าตรู่ทุกวันและสู่ที่บำรุงพระศาสดาทุกวัน

ความจริงอุบาสกผู้เป็นอนาคามีแล้ว ไม่ต้องรักษาอุโบสถโดยวิธีสมาทาน
เพราะอุโบสถศีล พรหมจรรย์และการบริโภคอาหารวันละครั้ง
ย่อมมาพร้อมกับการบรรลุมรรคผลนั่นเอง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสถึงช่างหม้อชื่อ ฆฏิการะว่า

"ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ การบริโภคอาหารวันละครั้ง
ประพฤติพรหมจรรย์เป็นปกติ มีศีล มีกัลยาณธรรม"

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา
ขณะนั้นฉัตตปาณิอุบาสกอยู่ในที่เฝ้าแล้ว
เขาเห็นพระราชากำลังเสด็จมาจึงคิดว่า เราควรลุกขึ้นต้องรับหรือไม่หนอ?
ในที่สุดเขาตกลงใจไม่ลุกขึ้น
เพราะคิดว่ากำลังนั่งอยู่ในสำนักของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือพระพุทธเจ้า
หากจะลุกรับพระเจ้าปเสนทิก็จะเป็นการขาดความเคารพในพระศาสดา


พระราชาปเสนทิ เห็นฉัตตปาณิอุบาสกไม่ลุกรับ
มีพระมนัสขุ่นเคือง แต่ไม่กล้าตรัสอะไร
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วประทับ ณ ที่อันสมควรแก่พระองค์

พระศาสดาทรงทราบความขุ่นเคืองในพระทัยของพระราชา
มีพระพุทธประสงค์จะบรรเทาความขุ่นเคืองนั้น
จึงตรัสพรรณนาคุณของฉัตตปาณิอุบาสกว่า

"มหาบพิตร! ฉัตตปาณิอุบาสกนี้ เป็นบัณฑิตได้เห็นธรรมแล้ว
รอบรู้ในพุทธพจน์ รู้จักประโยชน์ มิใช่ประโยชน์, สิ่งที่ควรและไม่ควร..."


เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถาของฉัตตปาณิอุบาสกอยู่ พระหฤทัยก็อ่อนลง

ต่อมาอีกวันหนึ่ง พระราชาประทับยืนอยู่บนปราสาท
ทอดพระเนตรเห็นฉัตตปาณิอุบาสก กั้นร่ม สวมรองเท้าเดินผ่านมาทางพระลานหลวง
จึงรับสั่งให้ราชบุรุษเรียกมา อุบาสกหุบร่ม ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้า
ยืนอยู่ ณ ที่ควรแก่ตนแห่งหนึ่ง พระราชาตรัสถามว่า
ทำไมจึงหุบร่มและถอดรองเท้าเสียเล่า เพิ่งรู้วันนี้เองหรือว่าเราเป็นพระราชา
แล้ววันก่อน ท่านนั่งอยู่ในสำนักพระศาสดา เห็นเราแล้ว ทำไมจึงไม่ลุกรับ

ฉัตตปาณิอุบาสก จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่มหาราช! วันนั้น ข้าพระพุทธเจ้านั่งอยู่ในสำนักของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่
หากลุกรับพระราชาประเทศราช ก็จะเป็นการขาดความเคารพในพระศาสดา


พระราชาจึงตรัสตอบว่า ช่างเถอะอุบาสก เรื่องแล้วไปแล้ว,
แต่เขาเล่าลือกันว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต
ท่านรอบรู้ในพระพุทธพจน์ จะช่วยสอนธรรมแก่พวกเราในวังได้หรือไม่?

ฉัตตปาณิอุบาสก จึงกราบทูลปฏิเสธ และถวายเหตุผลว่า
สถานที่ไปของคฤหัสถ์ก็มีโทษมาก
ขอพระองค์ได้โปรดนิมนต์บรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งมาสอนธรรมเถิด

พระราชาเสด็จขึ้นแล้วไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า
พระนางมัลลิกาเทวีและพระนางวาสภขัตติยา มีพระประสงค์จะเรียนธรรม
ขอให้พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสด็จไปสู่ราชนิเวศน์
เพื่อเสวยเป็นเนืองนิตย์และแสดงธรรมแก่พระมเหสีทั้งสอง

พระศาสดาตรัสว่า การที่พระพุทธเจ้าจะไปเสวยในที่แห่งเดียวเป็นประจำนั้นไม่ควร
พระเจ้าปเสนทิ จึงว่า ถ้ากระนั้นขอให้มอบให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
พระศาสดาทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์

วันหนึ่งพระศาสดาตรัสถามถึงผลการเรียนธรรมของพระนางทั้งสองกับพระอานนท์
พระเถระทูลว่า พระนางมัลลิกาเทวีนั้นทรงตั้งพระทัยศึกษาโดยเคารพ
ท่องพระพุทธพจน์โดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยา พระญาติของพระองค์
ไม่เรียนโดยเคารพ (คือไม่ตั้งพระทัยเรียน) ไม่ท่องพระพุทธพจน์โดยเคารพ


พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระอานนท์แล้ว จึงตรัสว่า

"อานนท์! ธรรมที่เรากล่าวดีแล้ว ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ตั้งใจเรียน ฟัง ท่อง
และแสดงเหมือนดอกไม้สีสวย แต่ไม่มีกลิ่น
แต่ธรรมของเราจะมีผลดียิ่งแก่ผู้เรียนผู้ฟังโดยเคารพ"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธภาษิตว่า

"ยถาปิ รุจินํ ปุปฺผํ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b43: :b43:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นจำปาป่า หรือต้นจัมปกะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19544

เจ้าของ:  Hanako [ 04 มิ.ย. 2013, 14:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ
ต้นสะเดา (ต้นนิมพะ)
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๔ พระนามว่า พระสุเมธพุทธเจ้า
ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สะเดา
หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม



กลิ่นศีล

พระพุทธภาษิต

น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ
น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา
สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ
สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติ
จนฺทนํ ตครํ วาปิ อุปฺปลํ อถ วสฺสิกี
เอเตสํ คนฺธชาตานํ สีลคนฺโธ อนุตฺตโร

คำแปล

กลิ่นดอกไม้ทวนลมไม่ได้,
กลิ่นจันทน์, กฤษณา กระลำพักก็ทวนลมไม่ได้
ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษไปทวนลมได้ สัตบุรุษฟุ้งไปได้ทุกทิศ
บรรดากลิ่นหอมทั้งหลายเช่นกลิ่นของไม้จันทน์
กฤษณา อุบล และมะลิ เป็นต้น กลิ่นแห่งศีลเป็นเยี่ยม


:b44: :b44:

อธิบายความ

ไม้หอมมีหลายชนิด บางชนิดหอมที่ดอก บางชนิดหอมที่ลำต้น (เช่น จันทน์)
บางชนิดหอมที่ราก ความหอมเหล่านั้นไปได้ตามลม ทวนลมไม่ได้
และหอมในขอบเขตเพียงเล็กน้อย คือหอมไปได้ไม่ไกลนัก
เมื่อไม่มีลมพัดต้องหยิบมาดมจึงจะหอม
แม้ความหอมของดอกแคฝอยในชั้นดาวดึงส์ของพวกเทพ
ก็หอมไปได้ตามลมเพียง ๑๐๐ โยชน์เท่านั้น

แต่กลิ่นศีลของสัตบุรุษหอมไปได้ไกลทั่วโลก
และหอมอยู่ได้นานนับพันปี หรือหมื่นปี
ดูกลิ่นศีลของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
รวมทั้งกลิ่นศีลและเกียรติคุณของคนดีอื่นๆ
อันพวกเรายังต้องศึกษาประวัติและผลงานของเขาอยู่จนบัดนี้
คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ก่อนพวกเราถึง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี
แต่กลิ่นศีล กลิ่นแห่งความดีของท่าน ก็ยังฟุ้งตลบอยู่
เพราะฉะนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่าบรรดากลิ่นทั้งหลาย กลิ่นศีลเป็นเยี่ยม

พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธพจน์
เพราะทรงปรารภปัญหาของพระอานนท์ มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ
เรื่องปัญหาของพระอานนท์เถระ


วันหนึ่งพระอานนท์เถระอยู่ในที่หลีกเร้น (ที่สงัด) ในเวลาเย็น
คิดว่า พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงกลิ่นของไม้ไว้ ๓ อย่าง
คือ กลิ่นที่เกิดจากดอก เกิดจากแก่น และเกิดจากราก
กลิ่นเหล่านั้นฟุ้งไปตามลมได้เท่านั้น ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้
กลิ่นอะไรหนอที่ฟุ้งไปทวนลมได้

ท่านเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามข้อสงสัยนั้น
พระศาสดาตรัสตอบว่า กลิ่นศีลฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม

โดยใจความพระพุทธพจน์ดังนี้

"อานนท์! หญิงหรือชายก็ตาม ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
เว้นจากปาณาติบาต...สุราเมรัย เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีอัธยาศัยน้อมไปในทางเสียสละ คนจนพอขอได้
คนเช่นนั้นย่อมได้รับสรรเสริญจากสมณพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย
กลิ่นแห่งความดีของเขาย่อมฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม..."


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"น ปุปฺผคนโธ ปฏิวาตเมติ" เป็น อาทิมีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น


:b45:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗

:b50:

ทำกุศลเหมือนรวมพวงดอกไม้

พระพุทธภาษิต

ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเณ พหู
เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุ 

คำแปล

บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ควรทำกุศลให้มาก
เหมือนช่างทำดอกไม้ทำพวงดอกไม้ได้มาก
จากกองดอกไม้อันมากฉะนั้น


:b53: :b51:

อธิบายความ

พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า

"ถ้าดอกไม้มีน้อย! แม้ช่างดอกไม้ฉลาด
ก็ไม่สามารถทำดอกไม้ให้มากได้
หากช่างดอกไม้ไม่ฉลาด เมื่อดอกไม้มีน้อยหรือมากก็ตาม,
ย่อมไม่อาจทำพวกดอกไม้ได้ ฉันใด
บุคคลบางคนมีศรัทธาน้อย แม้สมบัติจะมีมาก ก็ไม่อาจทำกุศลมากได้
บางคนมีศรัทธามาก แต่โภคะมีน้อยก็ไม่อาจทำมากเหมือนกัน
บางคนศรัทธาก็น้อยโภคะก็น้อย ก็ไม่อาจทำได้
ส่วนบางคนมีศรัทธามากด้วย มีโภคะมากด้วย เขาย่อมทำกุศลให้โอฬารได้
นางวิสาขามหาอุบาสิกเป็นผู้เช่นนั้น คือมีมากทั้งศรัทธาและโภคะ
พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ หมายเอา นางวิสาขา นั่นเอง"


ในชีวิตของคนเรานั้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารนอกจากความดี,
เมื่อความแก่ ความเจ็บและความตาย รวมทั้งความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพันต่างๆ
ห้อมล้อมชีวิตอยู่ เสมือนภูเขาใหญ่ ศิลาล้วนกลิ้งบดมาทั้ง ๔ ทิศ
มนุษย์ควรจะทำอะไรยิ่งกว่า
กุศลจริยา (ประพฤติธรรมที่เป็นกุศล) สมจริยา (ประพฤติธรรมที่สุจริต)

ชีวิตมนุษย์น้อยเกินไป ไม่ควรประมาท พอถึงวัย ๖๐ ก็ใกล้ตายเต็มที
และเป็นไปได้เสมอที่จะตายก่อนนั้น มีอะไรเล่าเป็นทุนสำหรับโลกหน้า
นอกจากบุญกุศลอันตนได้ทำเองในเมื่อมีเรี่ยวแรงกำลังอยู่
สัตว์ผู้เกิดมา จึงควรรีบเร่งขวนขวาย ทำบุญกุศลไว้ให้มาก
ชีวิตจริงๆ ของคือชีวิตในโลกหน้า เสมือนเรือนอยู่ประจำของเรา
ส่วนชีวิตในโลกนี้เป็นเสมือนศาลาพักในระหว่างทางเท่านั้น
ชีวิตมนุษย์เราไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตาย แต่ชีวิตของเทพ
แม้เพียงเทพชั้นดาวดึงส์ก็มีระยะอายุถึง ๓๖ ล้านปีมนุษย์
ลองคิดดูเถิดว่าห่างกันเพียงใด
และชีวิตในโลกทิพย์นั้นมิได้ทุกข์ทรมานอย่างชีวิตในโลกมนุษย์


พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ที่เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภนางวิสาขามหาอุบาสิกา


เรื่องประกอบ
เรื่องประวัติของนางวิสาขามหาอุบาสิกา


นางวิสาขา ได้นามตามหลังชื่อว่า มหาอุบาสิกา
เพราะได้มีอุปการะต่อพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกมาก
ไม่มีหญิงใดในสมัยพุทธกาลจะทำได้อย่างนาง
นอกจากเป็นผู้อุปการะพระสงฆ์แล้ว
ยังเป็นที่รักเหลือเกินของชาวเมืองสาวัตถีและสาเกต
เพราะมีอัธยาศัยงาม และกว้างขวาง

ต้นตระกูลเดิมของวิสาขาอยู่เมืองภัททิยะ ปู่ของนางคือเมณฑกเศรษฐี
เป็นเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งของเมืองภัททิยะ
บิดาของวิสาขา ชื่อธนัญชัย เป็นเศรษฐีเหมือนกัน มารดาชื่อ สุมนาเทวี

ภัททิยนครนั้นอยู่ในแคว้นอังคะ สมัยนั้นอังคะและมคธ
คงจะอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร
เพราะเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปทูลขอเศรษฐีใหญ่ๆ กับพระเจ้าพิมพิสารนั้น
พระเจ้าพิมพิสารได้พระราชทาน ธนัญชัยเศรษฐีบุตรชายคนโตของเมณฑกเศรษฐี
และเป็นบิดาของนางวิสาขาไปกับพระเจ้าปเสนทิ

เมื่อเดินทางมาใกล้สาวัตถีประมาณ ๗ โยชน์
ธนัญชัยเห็นสถานที่ดี จึงทูลขอตั้งบ้านเรือนที่นั่น อ้างว่าบริวารของตนมาก
ในเมืองสาวัตถีคนมากอัดแอ พระเจ้าปเสนทิก็พระราชทานให้

ธนัญชัยตั้งบ้านเมืองตรงนั้น ชื่อว่า เมืองสาเกต เพราะพวกเขามาถึงในเวลาเย็น

วิสาขา บุตรีของธนัญชัยนั้นเป็นโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ
คราวเมื่อพระศาสดาเสด็จภัททิยนคร ก่อนที่วิสาขาจะย้ายตามบิดามาอยู่สาเกต

ในเมืองสาวัตถี มีตระกูลเศรษฐีใหญ่อยู่ตระกูลหนึ่ง เศรษฐีชื่อมิคาระ
บุตรชายชื่อปุณณวัฒนกุมาร เมื่อกุมารพอจะมีภรรยาได้แล้ว
บิดามารดาก็ขอให้เขาเลือกหญิงที่ชอบใจแล้วจะแต่งงานให้
แต่บุตรชายบอกว่ายังไม่ต้องการมีภรรยา
พ่อแม่บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ สกุลที่ไม่มีบุตรตั้งอยู่ไม่ได้

เมื่อเขาถูกบิดามารดารบเร้าอยู่เสมอ บ่อยๆ จึงบอกว่า
หากได้หญิงที่ประกอบด้วยความงาม ๕ อย่างเบญจกัลยาณี
ก็จะแต่งงาน ถ้าไม่ได้ก็ไม่แต่ง

ความงามนั้น คือ ผมงาม, เนื้องาม, กระดูกงาม, ผิวงาม, และวัยงาม

ผมงาม ของหญิงมีบุญนั้น คือยาวสลวยลงมาเหมือนกำหางนกยูง
แล้วปลายกลับช้อนงอนขึ้นข้างบน

เนื้องาม นั้นคือ ริมฝีปากแดงสดเหมือนผลตำลึงสุกเรียบชิดสนิทดี

กระดูกงาม นั้น หมายถึงฟันงาม ไม่ห่างกัน
เป็นระเบียบงามดุจระเบียบแห่งเพชร

ผิวงาม นั้น มี ๒ อย่าง คือ หากดำ ก็ดำเหมือนดอกบัวเขียว
หากขาว ก็ขาวอย่างดอกกรรณิการ์

วัยงาม นั้นคือ แม้จะคลอดบุตรแล้วถึง ๑๐ คนก็ยังสวยอยู่ดังเดิม

พ่อแม่ของปุณณวัฒนกุมารตามใจลูก
จึงขอร้องให้พราหมณ์ ๘ คน ไปเที่ยวเสาะแสวงหาหญิงดังกล่าว
กลับมาแล้วจะให้รางวัลอย่างงาม
พร้อมทั้งพวงมาลัยทองคำราคาแสนหนึ่ง
สำหรับมอบให้หญิงผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี


พวกพราหมณ์ท่องเที่ยวไปตามนครใหญ่ๆ ก่อน
เมื่อไม่พบ จึงกลับมายังเมืองสาเกต
พอดีมาถึงในวันมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี
ในงานนี้หญิงทุกคนที่เคยปิดหน้าก็เปิดผ้าคลุมหน้าไปสู่ท่าน้ำ
จึงเรียกกันว่า "วิวฎนักขัตฤกษ์ งานนักขัตฤกษ์เปิด"
วันนั้นวิสาขาก็ออกจากบ้านไปท่าน้ำกับหญิงบริการ
เวลานั้นเธอมีอายุ ๑๖ ปี กำลังสาวสวย

เมื่อวิสาขาเดินมาจวนถึงศาลา ฝนก็ตก
พวกหญิงบริวารกลัวเปียก จึงพากันวิ่งเข้าศาลา
ส่วนวิสาขาไม่ยอมวิ่งคงเดินไปอย่างปกตินั่นเอง
พวกพราหมณ์เห็นลักษณะความงาม ๔ อย่างของนางแล้ว
อยากเห็นฟันของเธอจึงแสร้งถามสาเหตุที่นางไม่วิ่ง

วิสาขาจึงกล่าวว่า เหตุผลประการที่หนึ่งคือ ธรรมดาหญิงเมื่อวิ่งย่อมดูไม่งาม
แต่เมื่อเดินไปตามปกติธรรมดาของคนนั่นแหละจึงแลดูงาม
เพราะท่านกล่าวว่า คน ๔ จำพวกวิ่งไม่งาม คือ

พระราชา ผู้ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง
เมื่อถกเขมนวิ่งไปในพระลานหลวงย่อมไม่งาม
คนทั้งหลายย่อมติเตียนได้ว่า พระราชานี้วิ่งไปเหมือนสามัญชน

แม้ ช้างมงคล ของพระราชาที่ประดับประดาด้วยคชาภรณ์แล้ว
วิ่งไปย่อมดูไม่งาม แต่เมื่อค่อยๆ เดินไปด้วยลีลาแห่งช้างย่อมดูงาม

บรรพชิต เมื่อวิ่งย่อมไม่งาม
คนทั้งหลายย่อมติเตียนว่า สมณะนี้วิ่งเหมือนคฤหัสถ์
อีกพวกหนึ่ง คือ หญิง เมื่อวิ่งไปย่อมได้รับคำติเตียนว่า
ทำไมหญิงนี้จึงวิ่งเหมือนชาย

เหตุผลประการที่สองคือ มารดาบิดาย่อมถนอมอวัยวะน้อยใหญ่ของธิดามาตั้งแต่เยาว์วัย
เพื่อให้เป็นผู้มีอวัยวะสมบูรณ์ หากสตรีวิ่งไป อาจเหยียบชายผ้านุ่งหรือลื่นหกล้มลง
มือหรือเท้าหัก ก็จะต้องตกเป็นภาระของสกุลอีก
ส่วนเสื้อผ้านั้น เปียกแล้วก็แห้งได้ ข้าพเจ้ากำหนดเหตุ ๒ ประการนี้จึงไม่วิ่ง


ขณะที่นางพูด พวกพราหมณ์คอยสังเกตฟัน
เห็นซึ่งพร้อมด้วยลักษณะแห่งฟันของเบญจกัลยาณีแล้ว
จึงให้สาธุการแก่นางและกล่าวว่า

"สมบัติเช่นนี้ พวกเราไม่เคยเห็นเลย"
ดังนี้แล้วได้มอบพวงมาลัยทองคำให้,
วิสาขาสอบถามเรื่องต่างๆ ทราบโดยตลอดแล้วจึงส่งข่าวถึงมารดาบิดาให้นำรถมารับ
นางจึงกลับบ้าน พร้อมกับพวกพราหมณ์ทั้ง ๘ คน
และได้เข้าพิธีแต่งงานอย่างโอฬาร แม้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จไปร่วมในพิธีด้วย

ความงามและชาญฉลาดของนางวิสาขามหาอุบาสิกา
วิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาด มีญาณเฉียบแหลม คมกล้าประดุจเพชร
มีบุญญาธิการมาก แม้จะอายุยังน้อย ทั้งยังเป็นผู้พูดจาไพเราะ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
เป็นที่รักที่นิยมของคนทั้งหลาย นอกจากนี้วิสาขายังมีเมตตากรุณาต่อสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง

คืนหนึ่ง นางลาแม่ม้าอาชาไนยตกลูก
นางได้ให้หญิงคนใช้ถือประทีปลงไปดูพร้อมกับนาง
ให้อาบน้ำอุ่นให้และให้ทาน้ำมันให้

ส่วนมิคารเศรษฐีนั้นเลื่อมใสในพวกชีเปลือย
เมื่อทำอาวาหมงคลบุตรเสร็จแล้ว ระลึกถึงชีเปลือย
จึงให้นิมนต์มาจำนวนร้อยเลี้ยงอาหารอย่างดี
และให้คนไปตามสะใภ้มาว่ามาไหว้พระอรหันต์

พอได้ยิน "อรหันต์" วิสาขาก็ดีใจว่าได้ไหว้พระที่เคารพเพราะตนเองเป็นโสดาบัน
แต่พอมาเห็น อรหันต์เปลือยของพ่อผัวเข้าเธอก็กระดาก คิดว่า
"คนปราศจากหิริโอตตัปปะเช่นนี้จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้
ทำไมพ่อผัวจึงให้เรียกเรามา" ดังนี้แล้ว ไม่ไหว้ ไม่นั่ง กลับไปเสียเฉยๆ

พวกชีเปลือยเห็นอาการของวิสาขาแล้วติเตียนเศรษฐีเป็นเสียงเดียวกันว่า
"หญิงอื่นที่ดีกว่านี้ไม่มีแล้วหรือจึงเอาหญิงกาฬกัณณีอย่างนี้มาเป็นสะใภ้
จงขับไล่นางออกจากเรือนเสียโดยเร็วเถิด"

เศรษฐีคิดว่า "สะใภ้ของเรามาจากตระกูลใหญ่
จะขับไล่นางออกด้วยเหตุเพียงคำพูดของพระคุณเจ้าหาควรไม่"
ดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายอย่าถือเลย นางเป็นเด็ก ทำไปด้วยรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง"


เมื่อพวกชีเปลือยไปแล้ว
มิคารเศรษฐีนั่งรับประทานข้าวมธุปายาส (ข้าวต้มน้ำตาล เจือน้ำนม)
วิสาขาอยู่ปฏิบัติ ขณะนั้น พระภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นปกติรูปหนึ่งมายืนอยู่หน้าเรือน
วิสาขาเห็นแล้วคิดว่ายังไม่ควรบอกพ่อผัวก่อน
แต่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้พ่อผัวเห็นพระจึงเลี่ยงไปยืนเสียข้างหนึ่ง
เศรษฐีเห็นพระแล้วก็แกล้งทำเป็นไม่เห็น นั่งก้มหน้าบริโภคเฉย

วิสาขาทราบอาการนั้น จึงบอกพระว่า

"นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า"

เศรษฐีได้ฟังดังนั้นโกรธมาก แม้จะอดกลั้นได้คราวที่นางไม่เคารพชีเปลือย
แต่คราวนี้อดทนไม่ไหว บอกคนใช้ให้ยกข้าวมธุปายาสออกไป
พร้อมกับให้ไล่วิสาขาออกจากบ้าน
เพราะนางกล้าด่าว่าเขาว่า กินของไม่สะอาดในกาลมงคล

วิสาขากล่าวว่า

"คุณพ่อ, ดิฉันจะไม่ยอมออกจากบ้านด้วยเหตุเพียงเท่านี้
คุณพ่อดิฉันมาเหมือนนำทาสีมาก็หามิได้ ดิฉันเป็นลูกของตระกูลที่ยังมีมารดาบิดา
เมื่อดิฉันมาคุณพ่อของดิฉันได้ให้พราหมณ์ ๘ คนมาด้วย
เพื่อคอยดูแลชำระโทษของดิฉันหากพึงมี
เพราะฉะนั้นขอให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๘ คนมาชำระโทษก่อน"

เศรษฐีอนุโลม เมื่อกระฎุมพีทั้ง ๘ คนมาแล้ว
เศรษฐีจึงเล่าเรื่องให้ฟัง กระฎุมพีถามวิสาขาว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่

วิสาขาตอบว่า

"ฉันมิได้เจตนาว่า พ่อผัวว่าบริโภคของไม่สะอาด
แต่ฉันหมายความว่า พ่อผัวของฉันมั่งมีสีสุกอยู่บัดนี้เพราะบุญเก่า
มิต้องทำงานเหนื่อยแรงก็มีกินมีใช้
ฉันจึงว่าท่านบริโภคของเก่า ฉันหมายความอย่างนี้"


กระฎุมพีกล่าวว่า ในเรื่องนี้
ท่านไม่สามารถกล่าวโทษธิดาของพวกเราได้
ธิดาของเรากล่าวชอบแล้ว เหตุไรท่านจึงโกรธ

เศรษฐี ถึงวิสาขาจะพ้นจากโทษอันนี้ก็จริงแต่ยังมีโทษอื่นอีกมาก
คืนหนึ่งในมัชฌิมยาม นางวิสาขาและคนใช้หญิงชายหลายคนลงไปหลังเรือน ลงไปทำไม?

วิสาขาชี้แจงว่า

"นางลา แม่ม้าอาชาไนยตัวหนึ่งตกลูก
ฉันจึงให้คนใช้ถือประทีปลงไปดูช่วยเหลือมันเท่าที่พอช่วยเหลือได้
ฉันจะมีความผิดอย่างไรในเรื่องนี้"

เศรษฐีได้กล่าวโทษอื่นอีก เกี่ยวกับโอวาท ๑๐ ข้อ ที่บิดาของวิสาขา
ได้กล่าวสอนเธอในคืนหนึ่งก่อนส่งตัวมายังสกุลของสามี
เศรษฐีมิคารกล่าวว่าการให้โอวาทแก่บุตรีเช่นนั้นไม่ควร
เช่นข้อที่หนึ่งว่า "ไฟในอย่านำออก" ก็เมื่อไฟที่บ้านของคนอื่นดับ
เขามาขอไฟเราจะใจแคบอย่างไรถึงกับไม่ยอมให้ไฟภายในเรือนของเราออกไปภายนอก
"ส่วนไฟนอกอย่านำเข้า" ก็เหมือนกับเมื่อไฟภายในเรือนของเราดับ
เราก็ต้องขอไฟจากภายนอก โอวาทของธนัญชัยบิดาของวิสาขาเป็นโอวาทที่ปิดบังซ่อนเร้น
เราไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ นี่เป็นความผิดของวิสาขาเหมือนกัน


มหาอุบาสิกาวิสาขา กับ ความหมายโอวาท ๑๐

ด้วยเหตุที่นางวิสาขาไม่ได้ให้ความเคารพพวกชีเปลือย
มิคารเศรษฐี พ่อสามีจึงหาเรื่อง และกล่าวโทษอื่นอีก
เกี่ยวกับโอวาท ๑๐ ข้อ ที่บิดาของวิสาขาได้กล่าวสอนเธอในคืนหนึ่งก่อนส่งตัว
มายังสกุลของสามีเศรษฐีมิคารกล่าวว่าการให้โอวาทแก่บุตรีเช่นนั้นไม่ควร
เช่นข้อที่หนึ่งว่า "ไฟในอย่านำออก" ก็เมื่อไฟที่บ้านของคนอื่นดับ
เขามาขอไฟเราจะใจแคบอย่างไรถึงกับไม่ยอมให้ไฟภายในเรือนของเราออกไปภายนอก
"ส่วนไฟนอกอย่านำเข้า" ก็เหมือนกับเมื่อไฟภายในเรือนของเราดับ
เราก็ต้องขอไฟจากภายนอก โอวาทของธนัญชัยบิดาของวิสาขาเป็นโอวาทที่ปิดบังซ่อนเร้น
เราไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ นี่เป็นความผิดของวิสาขาเหมือนกัน

กระฎุมพีขอให้วิสาขาอธิบายความหมายของโอวาททั้ง ๑๐ ข้อนั้น

วิสาขาอธิบายตามลำดับดังนี้

ข้อว่า "ไฟในอย่านำออก" นั้นหมายความว่า
เมื่อเห็นโทษของพ่อผัว แม่ผัว หรือสามีแล้ว อย่านำโทษนั้นไปกล่าวให้คนภายนอกรู้

ข้อว่า "ไฟนอกอย่านำเข้า" นั้น หมายความว่า
เมื่อคนบ้านใกล้เรือนเคียงพูดถึงความไม่ดีของพ่อผัว
แม่ผัวหรือของสามีก็จงอย่านำคำเหล่านั้นมาพูดให้ท่านฟังอีก

ข้อว่า "เจ้าจงให้แก่คนที่ควรให้" นั้นหมายความว่า
ใครมายืมเงิน หรือของใช้ไปแล้ว นำมาส่งคืนในเวลาอันควรก็จงให้แก่บุคคลเหล่านั้น

ข้อว่า "จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้" นั้นหมายความว่า
ใครมายืมเงินทองของใช้แล้วไม่ส่งคืน จงอย่าให้แก่บุคคลเช่นนั้นอีก

ข้อว่า "จงให้แก่บุคคลทั้งที่ให้และไม่ให้" นั้น
เมื่อญาติหรือมิตรยากจนมาพึงอาศัย หรือยืมเงินทองของใช้
จงให้แก่คนเหล่านั้น เขาจะใช้คืนหรือไม่ใช้คืนก็ตาม

ข้อว่า "พึงนั่งให้เป็นสุข" นั้น หมายความว่า
ควรนั่งในที่อันเหมาะสมแก่ตน เช่น ไม่นั่งขวางประตู
เมื่อสามีหรือพ่อผัวแม่ผัวนั่งอยู่ในที่ต่ำ ตนเองไม่ควรนั่งในที่สูง เป็นต้น

ข้อว่า "พึงบริโภคให้เป็นสุข" นั้นหมายความว่า
ไม่ควรบริโภคก่อนพ่อผัว แม่ผัวหรือสามี
พึงดูแลปรนนิบัติท่านให้บริโภคให้เป็นสุขก่อน
แล้วตนจึงจะบริโภคในภายหลัง

ข้อว่า "พึงนอนให้เป็นสุข" นั้นหมายความว่า
ไม่พึงนอนก่อนสามี พ่อผัวหรือแม่ผัว
พึงปฏิบัติท่านเหล่านั้นให้นอนให้เป็นสุขก่อนแล้วตนจึงนอนในภายหลัง

ข้อว่า "พึงบำเรอไฟ" นั้นอธิบายว่า พ่อผัวแม่ผัวและสามีเป็นประหนึ่งกองไฟ
เพราะสามารถให้ทั้งคุณและโทษ ให้คุณแก่ผู้ปฏิบัติชอบ ให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติไม่ชอบ
เพราะฉะนั้นพึงปฏิบัติบำเรอท่านเหล่านั้นโดยชอบ

ข้อว่า "พึงนอบน้อมเทวดาภายใน" นั้นอธิบายว่า
พ่อผัวแม่ผัวและสามีอันภรรยาหรือสะใภ้พึงเห็นเป็นเช่นเทวดา
พึงปฏิบัติท่านเหล่านั้นโดยเคารพ พึงเคารพอ่อนน้อมต่อท่านเหล่านั้น


เศรษฐีมิคาร ฟังคำอธิบายโอวาททั้ง ๑๐ ข้อแล้ว
ไม่อาจโต้เถียงอะไรได้ นั่งก้มหน้านิ่งอยู่

กระฎุมพีถามว่า

"ท่านเศรษฐียังมองเห็นโทษอะไรๆ แห่งธิดาของเราอยู่อีกหรือไม่?"

"ไม่มีแล้ว" เศรษฐีตอบ ค่อนข้างอายเล็กน้อย

"เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะขับไล่ธิดาของเราด้วยเหตุไร ท่านทำไปโดยไม่มีเหตุผลเลย"

เมื่อเศรษฐียังนิ่งอยู่ วิสาขาจึงกล่าวว่า

เมื่อบิดาแห่งสามีขับไล่ให้ออกจากบ้าน ฉันยังไม่ออก
ก็เพราะยังไม่ทราบว่า ฉันมีความผิดถูกประการใด
แต่บัดนี้ได้รู้แน่นอนแล้วว่า ฉันไม่มีความผิด
ฉันพร้อมที่จะกลับบ้านอย่างผู้บริสุทธิ์
ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยจัดยานพาหนะไว้ให้พร้อม"

เศรษฐีเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้น จึงยึดลูกสะใภ้ไว้
ขอโทษนางที่กล่าวไปโดยไม่รู้ วิสาขาบอกว่ายกโทษให้บิดาได้ทุกอย่าง
แต่เนื่องจากนางเจริญเติบโตมาในตระกูลอันเลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างไม่คลอนแคลน
มาอยู่ที่นี่ไม่ได้ ปฏิบัติบำรุงพระสงฆ์เลย จึงไม่ปรารถนาจะอยู่
หากบิดาอยากให้อยู่ต่อไปก็ขอให้อนุญาตให้บำรุงเลี้ยงพระสงฆ์ได้

วิสาขาดีใจเหลือเกิน เมื่อเศรษฐีพ่อผัวบอกอนุญาตให้ทำบุญให้ทานได้ตามปรารถนา
ในวันรุ่งขึ้นนางจึงทูลนิมนต์พระศาสดาและภิกษุเข้ารับภัตตาหารที่เรือนของตน

พวกสมณะเปลือย รู้ว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จเรือนของมิคาร
ก็พากันมานั่งล้อมเรือนไว้ วิสาขาถวายน้ำแด่พระศาสดาแล้วส่งคนไปตามพ่อผัว
ว่าขอให้มาอังคาส (เลี้ยงดู) พระทศพลด้วยเถิด
แต่พวกชีเปลือยคอยห้ามเศรษฐีไว้ว่าไม่ควรเข้าใกล้พระสมณโคดม
เศรษฐีจึงให้คนไปบอกวิสาขาว่าจงเลี้ยงพระพุทธเจ้าเองเถิด ท่านไปไม่ได้

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว วิสาขาส่งข่าวไปอีกว่า
ขอให้บิดามาฟังอนุโมทนา เศรษฐีคิดว่า เมื่อลูกสะใภ้ส่งคนมาตามถึง ๒ ครั้งแล้ว
การไม่ไปนั้นไม่สมควร ประกอบกับตนอยากฟังธรรมอยู่ด้วย
แต่พวกชีเปลือยพยายามทัดทานไว้ เมื่อรู้แน่ว่าไม่สามารถห้ามเศรษฐีได้
จึงบอกว่าไปฟังก็ได้ แต่ควรจะฟังนอกม่าน
พวกชีเปลือยพากันล่วงหน้าไปก่อนไป
กั้นม่านไว้ให้เศรษฐีฟังธรรมนอกม่าน เศรษฐีก็ทำอย่างนั้น

พระศาสดานั้น ทรงมีบุญญาธิการมาก ทรงมีพระบารมีเต็มเปี่ยม
แม้บุคคลอยู่คนละฟากภูเขา ฟากแม่น้ำ
หากมีประสงค์จะให้ได้ยินพระธรรมเทศนา บุคคลนั้นย่อมได้ยิน
ไม่ต้องพูดถึงนั่งเพียงนอกม่าน ดังนั้นเมื่อเศรษฐีนั่งเรียบร้อยแล้ว
พระศาสดาจึงเริ่มอนุปุพพิถา และธรรมปริยายอื่นๆ อีก

ท่านว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุปมาดังดวงจันทร์
คือคนทั้งหลายมองเห็นดวงจันทร์อยู่เหนือศีรษะของตน
อยู่ตรงบ้านของตนไม่ว่าเขาจะยืนอยู่ที่ใด หรือบ้านของเขาจะอยู่แห่งใด
พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ คนฟังเข้าใจว่าตรัสอยู่กับตน
ท่านว่านี่เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทรงทำมาดี
ทรงบริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากเช่น บุตร ภรรยาอันเป็นที่รัก เลือดเนื้อ และชีวิต เป็นต้น

พระศาสดาทรงแสดงธรรมโดยอเนกปริยายมุ่งเอามิคารเศรษฐีเป็นสำคัญ
เศรษฐีส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุโสดาปัตติผล
มีศรัทธาไม่หวั่นไหว (อจลสัทธา) หมดความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย
ยกชายม่านขึ้นจุมพิตถันหญิงสะใภ้ แล้วยกให้เป็นมารดาของตน
ในฐานะได้ชักชวนให้มองเห็นแสงสว่างทางชีวิต
คนทั้งหลายจึงเรียกวิสาขาว่า "มิคารมารดา"


วิสาขาทูลอาราธนาพระศาสดาและนิมนต์ภิกษุสงฆ์
เพื่อเสวยและฉันอาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้นอีก
ตั้งแต่นั้นมาเรือนของมิคารและวิสาขามีประตูอันเปิดแล้วเพื่อพระพุทธศาสนา

มหาอุบาสิกาวิสาขาผู้มีน้ำใจอันประเสริฐ

มิคารเศรษฐีคิดว่า วิสาขามีอุปการะมากต่อตน
เพราะทำให้ตนได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้บรรลุโสดาปัตติผล
จึงอยากจะให้บรรณาการอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นปฏิการะ
ตรองเห็นว่าเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ที่ธนัญชัยเศรษฐีเจ้าเมืองสาเกต
บิดาของนางวิสาขามอบให้เป็นของขวัญวันแต่งงานนั้นหนักนัก
สวมใส่ไม่ได้ทุกโอกาส เนื่องจากประดับประดาด้วยเพชร ๔ ทะนาน
แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน
ส่วนใดที่พึงใช้ด้าย ใช้เงินแทนเครื่องประดับนี้คลุมศีรษะยาวลงมาจดหลังเท้า
ลูกดุม ทำด้วยทอง ห่วงลูกดุมทำด้วยเงิน
นกยูงตัวหนึ่งรำแพนอยู่เหนือศีรษะทำด้วยวัตถุต่อไปนี้
ขนปีกขวา ทำด้วยทอง ๕๐๐ ขนขนปีกซ้าย ทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน
จงอยปาก ทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตา ทำด้วยแก้วมณี
คอ และแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนทำด้วยเงิน
ขาทำด้วยเงินเครื่องประดับนี้ มีราคา ๙ โกฏิ (๙๐ ล้าน)
ค่าจ้างทำ (ค่าแรงงาน) หนึ่งแสน
(ซึ่งท่านกล่าวว่า การได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น
เป็นผลแห่งการถวายจีวร ส่วนชายย่อมได้รับจีวร และบาตร
อันสำเร็จด้วยฤทธิ์เป็นอานิสงส์แห่งจีวรทาน)

จึงเรียกช่างทองมาให้ทำเครื่องประดับเบาๆ ให้ใส่ ชื่อ "ฆนมัฏฐกะ"
คงจะแปลว่า กลมๆ เกลี้ยงๆ ราคาไม่แพงนัก คือแสนหนึ่ง
เมื่อเครื่องประดับเสร็จแล้ว เศรษฐีได้ทูลนิมนต์พระศาสดาและภิกษุสงฆ์
มาเสวยให้วิสาขาอาบด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ เป็นสำนวนนิยม (idiom)
แล้วมอบเครื่องประดับใหม่ให้ ให้ยืนถวายบังคมพระศาสดาอยู่ ณ ที่อันควรแก่ตน

จำเดิมแต่นั้นมา วิสาขาทำบุญมากมีทานเป็นต้น
ได้รับพร ๘ ประการในสำนักพระศาสดา เธอปรากฏตนประอนึ่งจันทเลขา (วงจันทร์)
ในกลางนภากาศ สว่างรุ่งเรืองมีรัศมีอันเย็นสนิท เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้เข้าใกล้ และได้ประสบพบเห็น
เธอมีบุตรธิดามากถึง ๒๐ คน บุตรธิดาแต่ละคนมีลูกชาย ๑๐ คน ลูกหญิง ๑๐ คน
หลานของเธอก็เหมือนกัน เธอมีอายุ ๑๒๐ ปี แต่ยังสวยพริ้งเหมือนสาวๆ
เมื่อเดินไปวัดกับบุตรหลาน คนที่ไม่รู้จักมาก่อนย่อมดูไม่ออกว่าคนไหนคือ วิสาขา
บุตรคนหนึ่งของเธอชื่อมิคารเหมือนปู่ของเขา

เมื่อเธอเดิน คนทั้งหลายก็อยากเห็น เธอนั่ง นอน ยืน
คนทั้งหลายก็อยากเห็น เพราะงามทุกอิริยาบถ

บุตรหลานของนางล้วนรูปงาม ผิวพรรณดี ไม่มีโรค
ไม่มีใครตายเมื่อยังหนุ่มสาว ทั้งนี้เป็นด้วยอำนาจแห่งกุศลผลบุญของนาง

นางต้องไปงานมงคล อวมงคลในเมืองสาวัตถีมิได้ว่างเว้น
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องสุมนาเทวี (เรื่องที่ ๑๓ แห่งยมกวรรค)


วันหนึ่งบริโภคอาหารในที่รับเชิญแล้ว
ในงานนั้นนางต้องแต่งเครื่องมหาลดาปสาธน์ไปด้วย
แต่เห็นว่าจะแต่งเครื่องประดับเช่นนี้เข้าเฝ้าพระศาสดาจะไม่เหมาะ
จึงเปลื้องเครื่องประดับให้คนรับใช้ถือไว้
ส่วนตนเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยเครื่องประดับลำลองชื่อ ฆนมัฏฐกะ ที่พ่อผัวทำให้
เมื่อสดับธรรมพอสมควรแล้วก็ถวายบังคมลา
แล้วไปเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุสงฆ์ กับสหายคนหนึ่งชื่อสุปปิยา
เพื่อพระรูปใดต้องการอะไรจะได้ถวาย
เมื่อเยี่ยมพระเสร็จแล้วออกมาถึงประตูวัดเชตวัน
จึงถามหาเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์
แต่ปรากฏว่าหญิงคนใช้ลืมไว้ที่วิหาร พระอานนท์เก็บไว้

เมื่อคนรับใช้จะกลับมาเอาเครื่องประดับ
วิสาขาสั่งว่า ถ้าพระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้ก็ไม่ต้องรับคืนมา
และความจริงก็เป็นเช่นที่วิสาขาคาดหมาย พระอานนท์ได้เก็บไว้
เป็นธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งว่า หากผู้ที่มาฟังธรรมลืมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้
เป็นหน้าที่ของพระอานนท์ที่จะเก็บของนั้นไว้จนกว่าเจ้าของจะมารับคืน

เมื่อหญิงรับใช้ของวิสาขามารับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ทราบว่าพระอานนท์เก็บไว้
นางจึงกราบเรียนท่านว่า นายหญิงมิให้รับคืนสิ่งของที่ท่านจับต้องแล้ว
นางรีบกลับไปบอกนางวิสาขา-วิสาขาบอกว่าจะไม่ประดับเครื่องนั้นอีก
แต่ครั้นจะให้พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้ก็จะลำบากกับการรักษา
จึงให้หญิงคนใช้ไปรับกลับมา แต่มิได้ประดับเพราะความเคารพในพระอานนท์
นางต้องการขายเครื่องประดับนั้นเพื่อนำเงินมาทำอะไรสักอย่างหนึ่งถวายสงฆ์

เมื่อกลับถึงบ้าน นางให้เรียกช่างทองมาตีราคาเครื่องประดับ
พวกช่างทอง บอกว่า ๙ โกฏิ (๙๐ ล้าน) ส่วนค่าจ้างทำอีกแสนหนึ่งต่างหาก
รวมเป็น ๙๐ ล้าน ๑ แสน วิสาขาให้คนเที่ยวนำเครื่องประดับนั้นไปบอกขาย
แต่ไม่มีใครรับซื้อได้ เพราะไม่มีทรัพย์ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง
หญิงผู้มีบุญพอที่จะประดับเครื่องประดับนี้หาได้ยาก


ท่านว่าในพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้น มีผู้หญิงมีบุญอยู่ ๓ คนเท่านั้น
ที่ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ วิสาขา ๑
มัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดี ๑ และลูกสาวเศรษฐีเมืองพาราณสี ๑

เมื่อขายคนอื่นไม่ได้ วิสาขาจึงรับซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเอง
แล้วขนเงิน ๙๐ ล้าน ๑ แสนใส่เกวียนนำไปสู่วิหาร
ถวายบังคม พระศาสดา แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงและความเห็นทั้งปวงของตน
ให้พระศาสดาทรงทราบและทูลถามว่า ตนจะควรทำอย่างไหนในปัจจัย ๔

พระศาสดาตรัสว่า

"วิสาขา ตถาคตเห็นว่า
เธอควรสร้างที่อยู่เพื่อสงฆ์ใกล้ประตูทางทิศตะวันออกแห่งนคร"


วิสาขาดำเนินตามพระดำรัสแห่งพระตถาคต
ได้เอาทรัพย์ ๙๐ ล้านซื้อที่ดิน และอีก ๙๐ ล้าน สร้างที่อยู่เพื่อสงฆ์
สร้างอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จเรียบร้อย นางบริจาคทรัพย์อีก ๙๐ ล้าน
ในการฉลองวัด-วัดนั้นให้ชื่อ "บุพพาราม"
เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งนครสาวัตถี
การสร้างวัดครั้งนี้เป็นการบริจาคอันยิ่งใหญ่ของวิสาขา ซึ่งหญิงอื่นๆ ทำได้ยากเหลือเกิน

ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้วิสาขาปิติภาคภูมิเหลือเกิน
เพราะความปรารถนาหลายอย่างที่ฝังใจอยู่นานได้สำเร็จลง
ดังนั้นเมื่อเลี้ยงพระเพลเสร็จแล้ว ตกบ่ายวิสาขาพร้อมด้วยบุตรและหลาน
เดินเวียนรอบปราสาทในปุพพารามนั่นเอง เปล่งอุทานด้วยความชื่นบานว่า

"ความดำริของเราในการจะสร้างวิหารทานถวายสงฆ์ ๑
สร้างเตียงตั่ง ฟูกหมอน และเสนาสนภัณฑ์ต่างๆ ๑
ถวายโภชนทานอันประณีตแก่สงฆ์ ๑
ถวายจีวรทานด้วยผ้าชนิดต่างๆ ๑
ถวายเภสัชทานมีเนยใส เนยข้นเป็นต้น ๑
บัดนี้ความดำริทั้งปวงของเราได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว..."


ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงของนางแล้ว
เข้าใจว่านางขับร้องเพราะมีจิตวิปลาสไป
จึงกราบทูลพระศาสดา, พระพุทธองค์ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! ธิดาของเราหาขับเพลง ร้องรำแต่ประการใดไม่
แต่เธอกระทำเช่นนั้นเพราะรู้สึกว่าอัชฌาสัยและความปรารถนาต่างๆ ของเธอ
ได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว เธอดีใจว่า ความปรารถนาดีที่ตั้งไว้ได้บรรลุถึงที่สุดแล้ว
จึงเดินเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ"


ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า เธอตั้งความปรารถนาไว้แต่กาลไร?
พระศาสดาจึงตรัสเล่าความปรารถนาในอดีตของวิสาขาให้ภิกษุทั้งหลายทราบดังนี้

ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ
วิสาขาเป็นเพื่อนของหญิงยอดอุปัฏฐายิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก
พูดกับพระศาสดาด้วยความคุ้นเคย เธอปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง
จึงทูลถามพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า หญิงนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา
พระศาสดาตรัสตอบว่า เธอได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแสนกัลป์มาแล้ว

"หากหม่อมฉันปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้างจะได้หรือไม่?"

พระศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ทรงเห็นว่านางสามารถได้ตำแหน่งนั้น
จึงทรงรับรองว่านางจะได้ตำแหน่งยอดแห่งอุปัฏฐายิกา
ในศาสนาแห่งพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า


นางได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ฉันอาหารที่บ้านของตนเป็นเวลา ๗ วัน
ในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าสาฏกแก่พระสงฆ์เพื่อให้ทำจีวร
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วหมอบลงแทบพระบาทตั้งความปรารถนาว่า

"ข้าแต่พระองค์! ด้วยอำนาจผลแห่งทานนี้
หม่อมฉันมิได้ปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลก เป็นต้น อย่างใดอย่างใดหนึ่งเลย
แต่ขอให้หม่อมฉันพึงได้รับพร ๘ ประการในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับพระองค์
ตั้งอยู่ในฐานะดุจมารดา เป็นยอดแห่งอุบาสิกาผู้สามารถบำรุงด้วยปัจจัย ๔"


พระศาสดาทรงรับรองว่า นางจักสำเร็จความปรารถนานั้น
ในศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางทำบุญอยู่จนตลอดอายุ เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก
ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกเป็นเวลานาน
ต่อมาในศาสนาแห่งพระกัสสปทศพล
นางมาเกิดเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้องพระนามว่า สังฆทาสี
ของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกิ
นางได้ตั้งความปรารถนาไว้เหมือนเดิม แม้ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้านั้น
ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกอีกนาน มาในศาสนานี้
กาลบัดนี้นางมาเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี

ครั้นนำเรื่องอดีตมาเล่าแก่ภิกษุทั้งหลายจบแล้ว พระศาสดาจึงตรัสต่อไปว่า

"นี่แหละภิกษุทั้งหลาย! ธิดาของเราหาร้องรำทำเพลงแต่ประการใดไม่
แต่เธออุทานด้วยความเบิกบานใจ
ที่ความปรารถนาในบุญกุศลทุกอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย! จิตของวิสาขาธิดาแห่งเราย่อมน้อมไปในกุศลอยู่เสมอ
ประหนึ่งช่างดอกไม้ผู้ฉลาด รวบรวมดอกไม้ทำให้เป็นกองโต
แล้วเลือกทำพวงมาลัยให้สวยงามฉะนั้น"


ดังนี้แล้วตรัสพระพุทธภาษิตว่า

"ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b40:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกัยต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นสะเดา หรือต้นนิมพะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19542

เจ้าของ:  Hanako [ 13 มิ.ย. 2013, 16:43 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ
ต้นอ้อยช้างใหญ่ (ต้นมหาโสณกะ) พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๑ พระปทุมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๒ พระนามว่า พระนารทพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๔ พระนามว่า พระเวสสภูพุทธเจ้า
ทั้งสามพระองค์ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้อ้อยช้างใหญ่ เช่นเดียวกัน



กลิ่นชั้นสูง

พระพุทธภาษิต

อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ ยฺวายํ ตรคจนฺทนิ
โย จ สีลวตํ คนฺโธ วาติ เทเวสุ อุตฺตโม

คำแปล

กลิ่นกฤษณาและจันทน์เป็นกลิ่นเล็กน้อย
ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลเป็นกลิ่นสูงสุด ย่อมฟุ้งไปแม้ในหมู่เทพ


:b40: :b40:

อธิบายความ

ท่านว่า พวกเทพไม่ค่อยลงมายุ่งกับมนุษย์ เพราะพวกมนุษย์กลิ่นเหม็นแรง
นอกจากนี้ยังเบื่อที่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีศีลธรรม
มนุษย์คนใดมีศีลดี มีธรรมงามย่อมเป็นที่รักของทวยเทพ
พวกเทพย่อมตามคุ้มครองรักษา ขจัดอันตรายออก
น้อมนำแต่สิ่งอันเป็นสิริมงคลเข้าไปให้ สมดังพระพุทธภาษิตว่า

"ยสฺมึ ปเทเส กบฺเปติ ฯลฯ สทา ภทฺรานิ ปสฺสติ"

แปลความว่า

บัณฑิตอยู่ที่ใด ย่อมเลี้ยงดูสมณพราหมณ์ผู้มีศีล
ประพฤติพรหมจรรย์ และผู้สำรวมระวัง
ทำบุญอุทิศให้เทวดาอันสถิตย์ประจำอยู่ ณ สถานที่นั้น
เทวดาเหล่านั้น เมื่อได้รับการบูชานับถือแล้วย่อมบูชาและนับถือตอบ
และอนุเคราะห์บุคคลนั้นเหมือนมารดาบิดาตั้งใจอนุเคราะห์บุตรธิดา
บุคคลผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้วย่อมพบแต่ความเจริญ


การทำบุญอุทิศให้เทวดาเป็นพลีอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า เทวตาพลี
เทวดาย่อมรักและตั้งใจสงเคราะห์บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลในธรรม
หากเป็นพระที่มีสีลาจารวัตรดี เทวดาย่อมเคารพบูชาอย่างยิ่ง
เช่นพระมหากัสสปเป็นตัวอย่าง


เรื่องประกอบ
เรื่องการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสป


พระศาสดาตรัสเทศนาเรื่องนี้ เมื่อประทับอยู่ที่เวฬุวัน
ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ มีเรื่องย่อดังนี้

วันหนึ่งพระเถระออกจากนิโรธสมาบัติ ซึ่งท่านเข้ามา ๗ วันแล้ว
มีความประสงค์จะสงเคราะห์คนจน
ท่านจึงต้องการไปโปรดคนจนคนใดคนหนึ่งในเมืองราชคฤห์
แต่พวกเทพอัปสรประมาณ ๕๐๐ นางรู้เสียก่อน
ต้องการให้บุญเป็นของตนจึงเตรียมอาหาร ๕๐๐ สำรับ ไว้คอยดักถวายพระเถระ
ขอให้พระเถระรับอาหารเพื่อสงเคราะห์พวกตน

พระเถระรู้ว่า นี่เป็นเหล่าเทพธิดา จึงบอกให้หลีกไปเสีย
ท่านจะไปสงเคราะห์คนยากจน พวกเทพธิดารวยอยู่แล้วจะโลภไปถึงไหน
แม้พวกเทพธิดาจะอ้อนวอนสักเพียงไรก็หาฟังไม่
พวกเทพธิดารอหน้าไม่ติดจึงหลีกไปยังพิภพของตน-ไปพบกับท้าวสักกะ

ท้าวสักกะถามว่า ไปไหนกันมา
เมื่อทราบเรื่องจากเทพอัปสรทั้งหมดแล้วปรารถนาจะได้บุญบ้าง
คิดหาอุบายอยู่ ได้มองเห็นอุบายอย่างหนึ่งแล้ว
จึงปลอมร่างเป็นชายแก่ยากจน เป็นช่างหูก
แม้สุชาดา เทพกัญญาก็ปลอมแปลงตนเป็นหญิงแก่ช่างหูกเหมือนกัน
ท้าวสักกะทรงเนรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่งทอหูกอยู่

พระเถระมุ่งหน้าเข้าเมือง เพื่อสงเคราะห์คนจน
เห็นถนนสายที่ท้าวสักกะ เนรมิตขึ้นอยู่นอกเมือง
ได้เห็นคนแก่สองคนทอหูกอยู่ พระเถระคิดว่า

"สองคนนี้ แก่แล้วยังต้องทำงานอยู่
ในเมืองนี้เห็นจะไม่มีใครเข็ญใจยิ่งกว่า ๒ คนนี้
เราจักรับอาหารเพื่อทำการสงเคราะห์คนชราทั้งสอง"


ดังนี้ แล้วได้บ่ายหน้าไปยังเรือนของเขา

ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเถระกำลังเดินมายังเรือนของตน
จึงกระซิบอสุรกัญญา คือสุชาดา
ว่าให้ทำเป็นไม่เห็นท่านเสียชั่วระยะหนึ่ง
ฉันจักลวงท่านสักครู่หนึ่งเพื่อให้ท่านตายใจแล้วถวายบิณฑบาต

พระเถระมายืนอยู่ที่ประตูเรือน ๒ ผัวเมียทำเป็นเสมือนไม่เห็นท่าน
ก้มหน้าทำงานอยู่ ครู่หนึ่งผ่านไปท้าวสักกะจึงกล่าวขึ้นว่า

"ที่ประตูเรือน ดูเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง ยายลองไปดูซิ"

"ตาไปดูเองเถอะ ฉันยังยุ่งอยู่" สุชาดาตอบ

ท้าวสักกะเสด็จออกจากเรือน
ทรงไหว้พระเถระแล้วเอาพระหัตถ์ทั้งสองยันพระชานุ
ถอนพระทัย เสด็จลุกขึ้นย่อพระองค์ลงหน่อยหนึ่งพลางตรัสว่า
"พระผู้เป็นเจ้าเป็นพระเถระรูปไหนหนอแล? ตาของกระผมฝ้าเสียแล้ว"
ดังนี้ แล้วทรงป้องหน้าดู เมื่อเห็นชัดจึงตรัสว่า

"โอ! พระผู้เป็นเจ้า พระมหากัสสปของเรานั่นเอง
นานๆ มายังประตูกระท่อมของพวกเราครั้งหนึ่ง มีอะไรอยู่ในเรือนบ้างไหมหนอ?"

สุชาดาทำกุลีกุจอกุกกักอยู่หน่อยหนึ่งจึงให้คำตอบออกมาว่า "มี ตา"

ท้าวสักกะจึงตรัสกับพระเถระว่า

"ขอพระคุณเจ้าอย่าได้คิดว่า ทานนี้เศร้าหมองหรือประณีตเลย
โปรดทำการสงเคราะห์แก่กระผมทั้งสองด้วยเถิด"

ดังนี้แล้ว ทรงรับบาตรของพระเถระ

ฝ่ายพระเถระก็คิดจะสงเคราะห์เขาจริงๆ ว่า

"จะเป็นผักดองหรือรำกำมือหนึ่งก็ตาม
เราจะรับบิณฑบาตเพื่อสงเคราะห์คนชราทั้งสองนี้"

ดังนี้แล้ว ได้มอบบาตรให้
ท้าวสักกะเสด็จเข้าไปภายในเรือน
ทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อ ใส่ให้เต็มบาตร
มอบถวายแก่พระเถระบิณฑบาตนั้นมีแกงและกับมากมาย

พระเถระพิจารณาว่า

"ชายผู้นี้มีศักดิ์น้อย แต่บิณฑบาตของเขาเสมือนของคนมั่งคั่ง เขาเป็นใครหนอ?"
พิจารณาไปจึงรู้ว่า เป็นท้าวสักกะ จึงต่อว่า
ทรงแย่งสมบัติของคนยากจน เป็นกรรมหนัก
เพราะใครๆ ก็ตาม ที่เป็นคนเข็ญใจ
ถวายบิณฑบาตแก่อาตมาภาพในวันนี้ พึงได้ตำแหน่งและสมบัติ"

"พระคุณเจ้า! ข้าพเจ้าก็เป็นคนเข็ญใจเหมือนกัน
ใครๆ อื่นจะเข็ญใจยิ่งกว่ากระผมมิได้มี" ท้าวสักกะว่า

พระเถระจึงกล่าวว่า
"พระองค์เสวยสิริทิพยสมบัติในเทวโลก จะเรียกว่าเป็นคนเข็ญใจอย่างไร?"

ท้าวสักกะทูลว่า "อย่างที่พระคุณเจ้าพูดมานั้นก็ถูกเหมือนกัน
แต่ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมดีไว้ ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้
น แต่ในสมัยของพระพุทธเจ้านี่เอง มีเทพบุตรใหม่ ๓ องค์มีศักดิ์เสมอกัน
คือจูฬรถเทพบุตร, มหารถเทพบุตร อเนกวรรณเทพบุตร
ทำกรรมดีแล้วเกิดที่ใกล้วิมานของข้าพเจ้า
มีเดชและรัศมียิ่งกว่าข้าพเจ้า เมื่อเทพบุตรทั้ง ๓ พาบาทบริจาริกาออกนอกวิมาน
ข้าพเจ้าต้องหลบหนีเข้าตำหนัก เพราะเดชจากสรีระของเทพบุตรทั้ง ๓ นั้น
ท่วมทับสรีระของข้าพเจ้า ข้าแต่พระคุณเจ้า! ใครเล่าจักเข็ญใจยิ่งกว่าข้าพเจ้า"

"อย่าไรก็ตาม" พระเถระกล่าว "ตั้งแต่นี้ต่อไป ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้อีก"

"เมื่อข้าพเจ้าลวงท่านถวายทาน กุศลจักมีแก่ข้าพเจ้าหรือไม่?"

"มี พระองค์" พระเถระตอบ

"เมื่อเป็นดังนี้ การทำกุศลย่อมเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า"

ท้าวสักกะตรัสดังนี้แล้ว ทรงไหว้พระเถระ
พาสุชาดากระทำประทักษิณแล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส พลางเปล่งอุทานว่า

"โอ, ทาน เป็นทานอันเยี่ยม เราได้ถวายดีแล้วแก่พระมหากัสสป" ดังนี้ ๓ ครั้ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหาร ณ เวฬุวนาราม
ทรงสดับเสียงของท้าวสักกะแล้ว จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ฟังเถิดภิกษุทั้งหลาย! ฟังเสียงอุทานของท้าวสักกะ
ผู้ถวายบิณฑบาตแก่กัสสปบุตรของเราแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! ทั้งเทพยดาและมนุษย์
ย่อมพอใจภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เช่น กัสสปบุตรของเรา"


ดังนี้แล้ว ทรงเปล่งพระอุทานเหมือนกันว่า

"เทวดา และมนุษย์ย่อมพอใจซึ่งภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร
ผู้เลี้ยงเฉพาะตนเอง ไม่เลี้ยงผู้อื่น ผู้มั่นคง ผู้สงบ มีสติอยู่ทุกเมื่อ"


และว่า "ภิกษุทั้งหลาย! ท้าวสักกะจอมเทพ
เสด็จมาถวายบิณฑบาตแก่บุตรของเรา เพราะกลิ่นศีลโดยแท้"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ว่า

"อปฺปมตฺโต อยํ คนฺโธ ยฺวายํ ตครจนฺทนี"
เป็นอาทิมีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b48: :b48:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นอ้อยช้างใหญ่ (ต้นมหาโสณกะ) คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19540

เจ้าของ:  Hanako [ 19 ก.ค. 2013, 14:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นกุ่ม หรือ ต้นกักกุธะ
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อโนมทัสสีพุทธวงศ์,
สิขีพุทธวงศ์ และปิยทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์
คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ พระนามว่า
พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม,
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๓ พระนามว่า พระสิขีพุทธเจ้า
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม และพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๖
พระนามว่า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือนเต็ม
ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กุ่ม เช่นเดียวกัน



ทางที่มารหาไม่พบ

พระพุทธภาษิต

เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ อปฺปมาทวิหารินํ
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตานํ มาโร มคฺคํ น วินฺทติ

คำแปล

มารย่อมหาไม่พบซึ่งทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์,
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ


:b44: :b44:

อธิบายความ

ตามพระพุทธภาษิตนี้
ธรรมอันเป็นเหตุให้มารตามหาไม่พบ ๓ ประการ คือ

๑. ความมีศีลสมบูรณ์
๒. การอยู่ด้วยความไม่ประมาท
๓. ความหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ


ในอุทเทส คือพระบาลีทั้งปวง
เมื่อกล่าวถึงความเป็นผู้มีศีลของภิกษุก็จะให้ข้อความว่า

"เป็นผู้สำรวมในพระปาฏิโมกข์ (ศีลหลัก)
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร (ศีลส่วนปลีกย่อย หรือสมบัติผู้ดี)
มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
คือเห็นการล่วงสิกขาบทแม้เล็กน้อยเป็นสิ่งน่ากลัว
แล้วตั้งใจสำรวมอยู่ในสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้"


อนึ่ง ในอุทเทสอื่นอีกเช่นใน อปริหานิยธรรมสูตร และสารานียธรรมสูตร
กล่าวถึงศีลอันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย
วิญญูชนสรรเสริญอันตัณหาและทิฏฐิเข้าไปจับไม่ได้
และเป็นไปเพื่อสมาธิ คือ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย

ความเป็นผู้มีศีลดีของภิกษุนั้น
เป็นเหตุแห่งความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
ทำผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น
ทำปัจจัยที่ทายกถวายให้มีผลมาก เป็นอุบายรักษาพระศาสนาให้ยั่งยืน
ทำตนให้พ้นจากมาร และเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่สวรรค์และนิพพาน
อันเป็นสถานที่มารไม่สามารถหาให้พบได้

ความไม่ประมาท ได้อธิบายมามากแล้วในอัปปมาทวรรค
รวมความว่า การอยู่ด้วยความไม่ประมาทก็ คือ อยู่ด้วยการมีสติอยู่ทุกเมื่อทุกอิริยาบถ

ความหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ
ความรู้ชอบนั้น คือรู้ตามเป็นจริงในสิ่งทั้งปวง ไม่ยอมให้สิ่งใดลวงได้
ตัวอย่างเช่น รู้สิ่งไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง รู้สิ่งอันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เป็นต้น
หากรู้วิปลาสไป เรียกว่ารู้ไม่ชอบ เมื่อรู้ชอบอยู่สม่ำเสมอย่อมหลุดพ้นได้

วิมุติ ความหลุดพ้นนั้น ท่านจำแนกไว้ ๕ ประการ คือ

๑. ตทังควิมุติ พ้นชั่วคราว เช่นจิตเป็นสมาธิชั่วคราว

๒. วิขันภนวิมุติ พ้นด้วยอาการข่มไว้ เช่นความพ้นของผู้ได้ฌาน

๓. สมุจเฉทวิมุติ พ้นอย่างเด็ดขาด เช่นการพ้นของพระอริยบุคคล

๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุติ พ้นอย่างสงบระงับ (The Pacifier)
เป็นความเป็นอย่างหนึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสมุจเฉทวิมุติ ประการที่ ๓
เหมือนไฟดับแล้วแต่ขี้เถ้ายังอุ่นอยู่
ส่วนประการที่ ๔ นั้นคืออาการที่เป็นเสมือนขี้เถ้าซึ่งเย็นแล้ว

๕. นิสสรณวิมุติ พ้นอย่างสลัดออก (The Departure)
น่าจะหมายถึง การเสวยผลแห่งความหลุดพ้นไปจนตลอดชีวิต
ซึ่งก็เป็นผลของความหลุดพ้นประการที่ ๔ นั่นเองสืบช่วงต่อกันลงมา
เปรียบให้เห็นอีกอย่างหนึ่ง สมุจเฉทวิมุติเหมือนอาการหายโรคเพราะยาเข้าไปตัด,
ปฏิปัสสัทธิวิมุติ เหมือนความเย็นกาย ความสบายของกายเพราะไม่มีโรคใดๆ เบียดเบียน
นิสสรณวิมุติ เหมือนการมีความสุขอันยั่งยืน เพราะไม่มีโรคใหม่ใดๆ เข้ามาเบียดเบียนอีก


อนึ่ง นิสสรณวิมุตินั้นน่าจะกินความไปถึงการดับขันธ์ของพระอริยบุคคลชั้นอรหันต์อีกด้วย
สลัดออกไปจากความทุกข์ทรมานในโลกนี้ทั้งปวง

วิมุติทั้ง ๕ ประการนี้ ๒ ประการแรกเป็นโลกียะ (mundane)
ประการที่หนึ่งคนสามัญทั่วไปก็มีได้ ประการที่ ๒ สำหรับท่านผู้ได้ฌาน
ส่วน ๓ ประการหลังเป็นโลกุตตระ (Supramundane) สำหรับพระอริยบุคคล

วิมุติทั้ง ๕ นี้ บางทีเรียกว่า วิเวก (Seclusion)
คำอธิบายเหมือนกันผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการดังพรรณนามา
มารย่อมหาไม่พบมารนั้น แปลว่า ผู้ล้างผลาญคุณความดี เช่น กิเลสมาร เป็นต้น

ในเรื่องนี้ พระศาสดาทรงปรารภการนิพพานของพระโคธิกะ
แล้วมารเที่ยวตามหาวิญญาณของท่าน มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ
เรื่องการนิพพานของพระโคธิกะ


สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
สมัยนั้น พระโคธิกะ ทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำกาฬสิลา (หินดำ) ข้างภูเขาอิสิคิลิ

ท่านทำความเพียรจนได้เจโตวิมุติ (ความหลุดพ้น) เป็นครั้งคราว
เช่น ตทังควิมุติ และวิขัมภนวิมุติ
แต่วิมุตินั้นต้องเลื่อนไปเพราะโรคอันเรื้อรังประจำสังขาร บางอย่างของท่าน,

ถึงกระนั้นท่านก็พยายามเรื่อยไป
บางคราวยังฌานขั้นที่ ๒ ที่ ๓ ให้เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปอีกถึง ๖ ครั้ง
พอถึงครั้งที่ ๗ ท่านคิดว่า

"เราเสื่อมจากฌานถึง ๖ ครั้งแล้ว
คติของผู้เสื่อมจากฌานเป็นของไม่แน่นอน
คราวนี้เราจะทำฌานให้เกิดขึ้น
แล้วจักฆ่าตัวตายเพื่อมิให้ฌานเสื่อมไปเสียก่อน"


ดังนี้แล้ว นำมีดโกนมาวางไว้บนเตียงเพื่อจะตัดก้านคอ

มารเห็นอาการของพระโคธิกะเช่นนั้นจึงคิดว่า

"ภิกษุนี้นำศัสตรามาเพื่อปลงชีวิตของตน
ภิกษุเช่นนี้ย่อมหมดอาลัยในชีวิตเธอเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว
อาจบรรลุอรหัตตผลได้ ถ้าเราจักห้ามเธอ เธอก็จะไม่เชื่อเรา
อย่ากระนั้นเลย เราจักทูลให้พระศาสดาทรงห้าม"


ดังนี้แล้ว ปลอมตนเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า และมีบุญมาก
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
บัดนี้สาวกของพระองค์ชื่อโคธิกะ กำลังจะฆ่าตัวตาย
ขอพระองค์ทรงห้ามเถิด

ข้าแต่พระองค์! สาวกนี้ของพระองค์เป็นผู้ยินดีในศาสนา
ยังมิได้บรรลุธรรมอะไรเลย
จะพึงทำกาละเสียกระไรอยู่ ขอพระองค์ทรงห้ามเถิด"


ขณะเดียวกันนั้น พระโคธิกะนำศัสตรามา
ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้วเจริญวิปัสสนา
ท่านได้บรรลุเป็นอรหัตน์พร้อมด้วยสิ้นชีวิต
พระศาสดาทรงทราบโดยตลอด
และทรงทราบว่าผู้มาทูลพระองค์นั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า

"ปราชญ์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้ คือไม่อาลัยในชีวิต
โคธิกะ ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว"


พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์เป็นอันมากแวดล้อม
เสด็จไปสู่ที่อยู่ของพระโคธิกะ
ขณะนั้นมารเที่ยวแสวงหาวิญญาณของพระโคธิกะอยู่ว่า
วิญญาณนั้นไปอยู่ที่ใด เมื่อไม่อาจแสวงหาให้พบได้
จึงแปลงเพศเป็นกุมารน้อยถือพิณสีเหลืองเข้ามาเฝ้าพระศาสดา
และทูลถามว่า วิญญาณของพระโคธิกะอยู่ที่ใด

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"ภิกษุชื่อโคธิกะ เป็นปราชญ์ มีศีลสมบูรณ์ ยินดีในฌาน
มีความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ไยดีต่อชีวิต
ชนะเสนาแห่งมัจจุราชได้แล้ว ไม่มาสู่ภพนี้อีก
เธอถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว"


มารได้ยินดังนั้นเสียใจเศร้าโศกหายไปแล้วพระศาสดาตรัสว่า

"มารผู้ลามกต้องการอะไรด้วยวิญญาณของโคธิกะ
คนอย่างมารแม้ตั้งร้อยตั้งพัน
ก็ไม่อาจแสวงหาที่เกิดของกุลบุตรเช่นโคธิกะได้"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"เตสํ สมฺปนฺนสีลานํ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้ว


:b50: :b50:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นกุ่ม หรือต้นกักกุธะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19539

เจ้าของ:  Hanako [ 17 ส.ค. 2013, 03:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นเลียบ (ต้นปิปผลิ)
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย
พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔
พระนามว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกในกาลทั้งปวง
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้เลียบ



ดอกบัวในกองหยากเยื่อ

พระพุทธภาษิต

ยถา สงฺการธารสฺมึ อุชฺฌิตสฺมึ มหาปเถ ปทุมํ ตตฺถ ชาเยถ สุจิคนฺธํ มโนรมํ
เอวํ สงฺการภูเตสุ อนฺธภูเต ปุถุชฺชเน อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก

คำแปล

ดอกบัวเกิดในกองหยากเยื่อ อันบุคคลทิ้งไว้ริมทางใหญ่
ยังมีกลิ่นหอม เป็นที่รื่นรมย์ใจ ฉันใด พระสาวกของสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้เกิดแล้วในหมู่ปุถุชนผู้มืดบอดอันเป็นประดุจกองหยากเยื่อ
ย่อมรุ่งเรืองกว่าปุถุชนเหล่านั้นด้วยปัญญาฉันนั้น


:b39: :b39:

อธิบายความ

ธรรมชาติดอกบัวไม่ว่าเกิดในกองหยากเยื่อหรือเกิดในเปือกตม
ย่อมส่งกลิ่นหอม เป็นที่รื่นรมย์ใจ หามีกลิ่นเช่นกับเปือกตมหรือกองหยากเยื่อไม่
คงรักษาคุณภาพตามธรรมชาติแห่งตนไว้ เข้าทำนอง

ไม้จันทน์แม้แห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น
หัสดินทร์ก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา
อ้อยเข้าสู่หีบยนต์ก็ไม่ทิ้งรสหวาน
บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม


สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
แม้เกิดในหมู่คนพาล อยู่ในหมู่คนพาลก็หาเป็นพาลไปด้วยไม่
มีแต่จะกลับใจคนพาลเหล่านั้นให้เป็นคนดี ไม่ปรับตัวไปในทางเลว
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรุ่งเรืองด้วยปัญญาอยู่เสมอ

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้
ปรารภนายครหทินน์ ขณะประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี มีเรื่องย่อดังนี้


เรื่องประกอบ
เรื่องนายครหทินน์และสิริคุตต์


ในเมืองสาวัตถีมีสหายกัน ๒ คน
คนหนึ่งชื่อ ครหทินน์ เป็นสาวกของนิครนถ์ หรือพวกมหาวีระ
คนหนึ่งชื่อ สิริคุตต์ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

เนื่องจาก ๒ สหายรักกันมาก
จึงปรารถนาให้เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใสอย่างเดียวกัน
วันหนึ่งครหทินน์ ได้รับคำแนะนำจากพวกนิครนถ์
ให้ชักชวนสิริคุตต์ไปเลื่อมใสในพวกตน
หากสิริคุตต์ไปเลื่อมใสในพวกตนได้
ลาภสักการะและชื่อเสียงเป็นอันมากก็จะเกิดขึ้น
เพราะสิริคุตต์เป็นคนรวย และมีพวกมาก

ครหทินน์ก็ทำตามคำของอาจารย์
ชักชวนสิริคุตต์บ่อยๆ จนสิริคุตต์รู้สึกรำคาญ จึงถามว่า
พระผู้เป็นเจ้าของครหทินน์รู้อะไรบ้าง
ครหทินน์ตอบว่า
"ท่านรู้ทุกอย่างทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน อะไรที่ท่านไม่รู้นั้น ไม่มี
ท่านย่อมรู้เหตุที่ควรและไม่ควร ย่อมรู้ว่า เรื่องนี้จักมี เรื่องนี้จักไม่มี"

สิริคุตต์ทำเป็นเชื่อ แล้วให้ครหทินน์นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าของเขา
มาฉันอาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น
ทั้งนี้เพื่อต้องการแกล้งพวกนิครนถ์ให้ได้รับความอับอายขายหน้า
จึงให้คนขุดหลุมยาวใหญ่ระหว่างตัวเรือน ๒ หลัง
ให้เอาอุจจาระเหลวใส่ไว้จนเต็มแล้วเรียบไม้พลางตาเอาไว้
มีเชือกสำหรับดึงให้แผ่นกระดานแยกออกให้นิครนถ์ตกลงไปในหลุมคูถโดยง่าย
ให้คนปูอาสนะทับไว้ไม่ให้มองเห็นหลุม ให้เตรียมตุ่มใหญ่ๆ ไว้
ผูกปากตุ่มด้วยใบกล้วยบ้าง ผ้าเก่าบ้าง
ทำตุ่มเปล่าๆ เหล่านั้นให้เปรอะเปื้อนด้วยเม็ดข้าวสวย เนยใส น้ำอ้อย และขนม
มองดูเหมือนมีของเหล่านั้นอยู่เต็มตุ่มแล้วให้วางเรียงรายไว้หลังเรือน

วันรุ่งขึ้น ครหทินน์รีบไปยังเรือนของสิริคุตต์แต่เช้าตรู่
เพื่อดูว่าอาหารและสถานที่พร้อมหรือไม่ เมื่อเห็นว่าพร้อมแล้วก็กลับไป
ขณะที่ครหทินน์ออก พวกนิครนถ์ก็มาถึง
สิริคุตต์ออกจากเรือนไปต้อนรับ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์
แล้วยืนประคองอัญชลีอยู่เบื้องหน้าของนิครนถ์เหล่านั้น พลางคิดว่า

"นัยว่า ท่านทั้งหลายรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอดีตและอนาคต
อุปฐากของพวกท่าน บอกข้าพเจ้าอย่างนี้
ถ้าท่านรู้จริงก็จงอย่าเข้าไปในเรือนของข้าพเจ้า
เพราะวันนี้ ข้าวต้มก็ไม่มี ข้าวสวยก็ไม่มี ถ้าพวกท่านไม่รู้ก็จงเข้าไป
หากท่านตกลงในหลุมคูถแล้ว จะให้ตีซ้ำ"


พวกนิครนถ์ไม่รู้ความคิดซึ่งอยู่ในใจของสิริคุตต์ จึงเข้าไปในเรือน
เมื่อจะนั่งพวกบริวารของสิริคุตต์กล่าวว่า

"เมื่อพระคุณเจ้าเข้ามาสู่เรือนของพวกข้าพเจ้า
ควรรู้ธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงนั่ง คือ ท่านทั้งหลายควรยืนอยู่ก่อน
ยืนอยู่ใกล้อาสนะของตนๆ เมื่อทุกท่านพร้อมแล้ว จึงค่อยนั่งพร้อมกัน"


พวกนิครนถ์นึกชมเชยอยู่ในใจว่าธรรมเนียมนี้ดี
จึงประกาศให้รู้ทั่วกันว่า จะต้องนั่งพร้อมกัน
เมื่อพวกนิครนถ์พร้อมเพรียงกันนั่งเท่านั้น
พวกมนุษย์ได้ดึงเครื่องลาดออก
ดึงเชือกให้นิครนถ์พวกนั้นตกลงไปในหลุมอุจจาระ
แล้วปิดประตูตีพวกที่ตะเกียกตะกายขึ้นมา
เมื่อเห็นว่าพอสมควรแล้วก็เปิดประตูปล่อยไป

นิครนถ์พวกนั้นไปยังเรือนของครหทินน์
ครหทินน์เห็นดังนั้นโกรธมาก รีบไปเฝ้าพระราชา
ฟ้องว่า สิริคุตต์ทำกับนิครนถ์อันเป็นที่เคารพนับถือของตนๆ ดังนี้ๆ
ขอให้พระราชาลงโทษสิริคุตต์โดยปรับเป็นเงินสักพันกหาปณะ

พระราชาทรงส่งหมายไปยังสิริคุตต์ๆ ทูลเล่าเรื่องทั้งปวงตามเป็นจริง
โดยย้ำว่าอยากจะทดลองว่าพวกนิครนถ์รู้สิ่งทั้งปวง
ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันจริงดั่งคำของครหทินน์หรือไม่
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นผลของความโอ้อวดในสิ่งอันตนไม่รู้จริง

พระราชาตรัสกับครหทินน์ว่า

"เจ้ายินดีคบพวกนิครนถ์ ซึ่งไม่รู้แม้เพียงเท่านี้
แต่โอ้อวดว่าตนรู้ ยังสอนสาวกให้โอ้อวดเสียอีก
เจ้าเองนั่นแหละจะต้องถูกปรับหนึ่งพันกหาปณะ"


ครหทินน์โกรธสิริคุตต์มาก หาอุบายแก้แค้นสิริคุตต์บ้าง
โดยหลอกล่อภิกษุสงฆ์เข้าสู่สกุลของตน จึงพูดดีกับสิริคุตต์แล้วถามว่า

"พระศาสดาของท่านรู้อะไรบ้าง?"

สิริคุตต์ตอบว่า

"พระศาสดานั้นได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นสัพพัญญูรอบรู้ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ไม่รู้นั้น ไม่มี
พระองค์ทรงรู้เหตุการณ์ทุกอย่างทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ย่อมกำหนดรู้จิตของสัตว์ทั้งหลายได้ไม่มีกำหนด ไม่มีขอบเขต"


ครหทินน์จึงขอให้ทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๐๐
มาเสวยภัตตาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น

พระศาสดาทรงส่งพระญาณไปสำรวจดู ทรงทราบเหตุทั้งปวงแล้วทรงรับ
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของครหทินน์และมหาชนเป็นอันมาก


ฝ่ายครหทินน์ให้ขุดหลุมใหญ่ในระหว่างเรือน ๒ หลัง
ให้นำไม้ตะเคียนมาประมาณ ๘๐ เล่มเกวียนสุมไฟไว้ตลอดคืน
ให้กองถ่านเพลิงไม้ตะเคียนไว้ วางไม้เรียบไว้ปากหลุม
ปิดด้วยเสื่อลำแพน ทาด้วยโคมัยสด (ขี้วัวสด) ลาดไม้ผุไว้ด้านหนึ่ง
ด้วยหมายใจว่าเมื่อพระเหยียบที่ไม้ผุจักต้องตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงอย่างแน่นอน

ต่อจากนั้นให้วางตุ่มเรียงรายไว้ทำนองเดียวกับที่สิริคุตต์เคยทำสมัยเชิญนิครนถ์

วันรุ่งขึ้นเมื่อพระศาสดาเสด็จ ครหทินน์ออกมาต้อนรับภายนอกเรือน
ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ยืนประคองอัญชลีอยู่ พลางนึกในใจว่า
"พระเจ้าข้า อุปฐากของพระองค์ คือสิริคุตต์บอกข้าพระองค์ว่า
พระองค์ทรงทราบเหตุทุกอย่างทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ทรงสามารถรู้จิตของคนทั้งหลายได้ หากพระองค์ทรงทราบจริงก็อย่าเสด็จเข้าไป
หากไม่ทรงทราบก็จงเสด็จเข้าไปเถิด
เพราะในเรือนนี้ข้าวยาคู หรือข้าวสวยหรืออาหารใดๆ มิได้มี
เมื่อพระองค์และสาวกตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงก็จะถูกกดขี่โบยตี"


ดังนี้ แล้วรับบาตรพระศาสดานำเสด็จและกราบทูลว่า
ธรรมเนียมในบ้านของตนมีว่า เมื่อภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปในบ้านนั่งเรียบร้อยแล้ว
ภิกษุรูปอื่นจึงควรเข้าไปทีละรูป

พระโลกนาถ ผู้อนาวรณญาณ ทรงรู้ทุกอย่างไม่มีอะไรติดขัด
ทรงเหยียดพระบาทลงเหนือหลุมถ่านเพลิง เสื่อลำแพนหายไป
ดอกบัวประมาณเท่าล้อเกวียนผุดขึ้นบนหลุมถ่านเพลิงนั้น ไฟดับสนิท
พระศาสดาทรงเหยียดดอกบัวไปประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาปูลาดไว้
แม้ภิกษุทั้งหลายก็ไปทำนองเดียวกัน


เมื่อเห็นดังนั้น ครหทินน์เกิดร้อนตัว
รีบไปหาสิริคุตต์โดยเร็ว แล้วเล่าเรื่องทั้งปวงให้ทราบ
สิริคุตต์บอกว่าให้ลองไปสำรวจดูอีกที อาหารอาจมีในตุ่มก็ได้
ครหทินน์ไปเปิดตุ่มดู ปรากฏว่า ทุกตุ่มมีข้าวต้มและข้าวสวย เป็นต้นเต็มปรี่
ครหทินน์เห็นดังนั้นเอิบอาบไปด้วยปีติปราโมชเสื่อมใสพระศาสดายิ่งนัก
อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

เมื่อเสวยเสร็จแล้วพระศาสดาทรงอนุโมทนาว่า

"เพราะไม่มีปัญญาจักษุ คนบางพวกจึงไม่รู้คุณของพระองค์และพระสาวก
ผู้ไม่มีปัญญาจักษุชื่อว่าเป็นผู้มืดบอด ส่วนผู้มีปัญญาชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุ"


เป็นต้น ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

"ยถา สงฺการธานสฺมี" เป็นอาทิมีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้นแล


:b43:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นเลียบ หรือ ต้นปิบผลิ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19536

เจ้าของ:  Hanako [ 05 ก.ย. 2013, 04:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นแคฝอย หรือต้นศรีตรัง (ต้นปาตลีหรือต้นปาฏลิ)
ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ พระนามว่า “พระสรณังกรพุทธเจ้า”
และในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย
พุทธวงศ์ วิปัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๒
พระนามว่า “พระวิปัสสีพุทธเจ้า” ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม
ทั้งสองพระองค์ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้แคฝอย



สังสารวัฏของคนพาล

พระพุทธภาษิต

ฑีฆา ชาครโต รตฺติ ฑีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
ฑีโฆ พาลาน สํสาโร สทฺธมฺมํ อวิชานตํ

คำแปล

ราตรีของผู้ตื่นอยู่ยาวนาน
ระยะทางหนึ่งโยชน์สำหรับผู้เมื่อยล้าแล้ว เป็นทางไกล
สังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดของคนพาล
ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม เป็นของยาวนานอธิบายความ


:b43: :b43:

พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้

"ราตรีหนึ่งมีอยู่ ๓ ยามเท่านั้น
(คือยามต้น ยามกลาง และยามสุดท้าย แบ่งเป็นยามละ ๔ ชั่วโมง)
แต่ราตรีนั้นย่อมปรากฏเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน
สำหรับผู้ที่มิได้หลับ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
เช่น พระผู้ทำความเพียร ตลอดคืนยังรุ่งเพื่อบรรลุธรรม
พระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม,
ผู้ที่ถูกโรคภัยเบียดเบียนเช่น ปวดศีรษะตลอดคืน เป็นต้น
ผู้ถูกจองจำทำโทษมีการถูกตัดเท้า เป็นต้น
ผู้เดินทางไกลต้องเดินทางตลอดคืน
เหล่านี้ล้วนรู้สึกว่าคืนหนึ่งยาวนานเหลือเกินเหมือน ๓-๔ คืน"


"ส่วนผู้หลับนอนอย่างเกียจคร้าน ทำตนให้เป็นเหยื่อของเรือด
นอนกลิ้งเกลือกอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้นก็ดี,
ผู้เสพกาม บริโภคอาหารชนิดดี
ตอนเย็นแล้วเข้านอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม (ด้วยบุตรและภรรยา) ก็ดี
ย่อมรู้สึกว่าคืนหนึ่งน้อยนิดเดียว นอนยังไม่ทันเต็มอิ่ม"


"โยชน์หนึ่งมี ๔ คาวุตเท่านั้น
แต่สำหรับผู้เดินทางจนเหนื่อยแล้วย่อมรู้สึกว่าไกลเหลือเกิน
เมื่อยังไม่เหนื่อย โยชน์หนึ่งดูไม่มากนัก
เมื่อเหนื่อยแล้วโยชน์หนึ่งย่อมปรากฏเหมือน ๓-๔ โยชน์
ส่วนสังสารวัฏของคนพาลผู้ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า
ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ย่อมยาวนาน"


โดยปกติสงสารนั้นยาวนาน อยู่โดยธรรมดาของมันแล้ว
สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! สงสารนี้ยาวนาน รู้เบื้องต้นเบื้องปลายได้ยาก"

ยิ่งสงสารของคนพาลย่อมยาวนานหนักขึ้นไปอีก

มองความจริงอีกด้านหนึ่ง โดยถือเอาพระพุทธภาษิตนี่เองเป็นนัยว่า
วันคืนจะนานหรือไม่นาน ระยะทางจะยาวหรือสั้นนั้น
ความรู้สึกของบุคคลมีส่วนสำคัญอยู่มาก
เวลาเท่ากัน แต่คนหนึ่งรู้สึกว่านานเพราะกำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์
อีกคนหนึ่งกำลังหรรษาอยู่ด้วยความสุขความเพลิดเพลิน
ย่อมรู้สึกว่า ประเดี๋ยวประด๋าวเหลือเกิน เดือนปีก็มีเท่านั้น

แต่สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะอึดอัดคับแค้น
เดือนหนึ่งเหมือน ๖ เดือน ปีหนึ่งเหมือน ๗-๘ ปี
ถ้าใครสามารถชื่นชมต่อวันเวลาได้ วันหนึ่งคืนหนึ่งก็จะล่วงไปอย่างรวดเร็ว
อีกประการหนึ่ง วันเวลาของผู้รอคอย ย่อมปรากฏเหมือนนานเหลือเกิน
ทั้งนี้เพราะใจมัวไปจดจ่ออยู่ที่เวลาอย่างเดียว
เวลานั้นถ้าเรายิ่งเอาใจใส่มันมากก็ยิ่งรู้สึกว่านาน
ถ้าเราทำลืมๆ เสียก็ไม่นาน

ระยะทางก็ทำนองเดียวกัน ยิ่งเมื่อยมาก ระยะทางสั้นก็เหมือนยาว
ถ้ากำลังยังดีอยู่เดินไปได้อย่างสบายๆ ระยะทางก็ไม่ยาว
ความรู้สึกของคนมีความสำคัญอยู่เป็นอันมาก แต่เวลาและระยะทางนั้นคงเดิม

ความจริงอีกแง่หนึ่ง (ในทางปรัชญา) เวลาและระยะทางนั้น ไม่มีตัวตนอยู่จริง
เวลาเป็นกระแสอันหนึ่งที่ไหลอยู่ไม่ขาดสาย ไม่มีขีดขั้นกำหนด
แต่เราไปกำหนดมันขึ้นมาเองว่าเวลาเท่านั้นเท่านี้
ระยะทางก็เหมือนกันเราไปกำหนดมันขึ้นว่าเท่านั้นเท่านี้
รวมความว่าเป็นเรื่องการสมมติ

เมื่อสมมตินั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วก็กลายเป็นสัจจะอย่างหนึ่งขึ้นมา
ท่านเรียกว่า "สมมติสัจจะ"
ส่วนความจริงอันแท้จริง (ultimate truth) นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ท่านเรียกว่า "ปรมัตถสัจจะ" มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์
ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติ หรือความเข้าใจของคน

ตัวอย่างเดิม เช่น ระยะเวลาเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
ใครจะว่านานหรือเร็วก็เป็นเรื่องของคนนั้น มันไม่รับรู้ด้วย
ระยะทางเท่านั้น มันอยู่ของมันอย่างนั้น
ใครจะว่าไกลหรือใกล้ก็เป็นเรื่องของคนนั้นๆ ที่จะทะเลาะกัน
แต่มันไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความเข้าใจของคน
เมื่อคนใดเข้าถึงความจริงได้ คนนั้นก็ได้รู้จริงเห็นจริง
คนที่เข้าไม่ถึงก็จะเข้ามาทะเลาะกับเขาอีกจนกว่าจะรู้แจ้งขึ้นมาจึงพูดเหมือนกัน

นักปรัชญาได้แสวงหาสิ่งนี้ (ultimate truth) อยู่เป็นอันมาก
แม้นักวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกันก็พากันแสวงหาว่าอะไรคือความจริงอันสูงสุดของสิ่งนั้นๆ
ค้นคว้าไป ทำบันทึกไป นานๆ ก็ยุติกันเสียทีหนึ่งว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้
ล่วงไป ๒๐๐-๓๐๐ ปี ก็มีคนยืนขึ้นค้านว่า ไม่ใช่ ความจริงต้องเป็นอย่างนี้
พร้อมทั้งเสนอข้อพิสูจน์ของเขา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเห็นด้วย
ยอมรับทฤษฎีนั้น ก็เชื่อกันไปทั่วโลกเสียคราวหนึ่ง
คนธรรมดาสามัญที่มิใช่นักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วย
เพราะเชื่อเสียแล้วว่านักวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร สิ่งนั้นเป็นสัจจะ
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำเครดิตไว้ดีมาก


พูดถึงเรื่องสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) ของตนพาลยาวนาน
เพราะคนพาลยิ่งอยู่นานยิ่งทำชั่ว
เหมือนคนติดคุกเพราะความชั่วบางอย่างแล้วไปทำชั่วในคุกอีก
ทำอยู่เรื่อยๆ การเพิ่มโทษก็มีมากขึ้นตามเวลาที่ล่วงไป
ไม่มีโอกาสออกจากคุกจนตลอดชีวิต


ท่านว่าความชั่วนั้นยิ่งทำยิ่งมาก ส่วนความดียิ่งทำยิ่งหมด
คือ หมดความดีที่จะทำก็เป็นพระอรหันต์
แปลว่า ที่สุดของคนดีนั้นมีอยู่ แต่ที่สุดของคนชั่วไม่มี
สงสารของคนพาลจึงยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
ในระยะทางนั้นก็ต้องได้รับทุกข์นานาประการเหมือนคนติดคุกต้องถูกจองจำทำโทษ

พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ที่วัดเชตวนาราม เมืองสาวัตถี
ทรงปรารภเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลและบุรุษคนหนึ่ง มีเรื่องย่อดังนี้


:b39: :b39:

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเลียบพระนาคร
ทรงช้างเผือก ชื่อ ปุณฑรีกะ ประทักษิณพระนครมาถึงประสาทหลังหนึ่ง
ได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงงามผู้มีสามีแล้ว
ทรงปรารถนาจะได้นางมาเป็นบาทบริจาริกา
จึงทรงเรียกสามีของนางมาเป็นมหาดเล็กถือเป็นส่วยราชพลี
เพื่อหาโอกาสเอาความผิดแล้วลงพระราชอาญาฆ่าเสีย

วันเวลาล่วงไป ความเร่าร้อนทางกาม
ได้เร่งให้พระราชารับสั่งให้มหาดเล็กทำสิ่งอันเหลือวิสัย
คือ รับสั่งให้ไปนำดินสีอรุณ ดอกโกมุท และดอกอุบลในท้องทะเลลึก
มาถวายให้กลับมาให้ทันเวลาทรงสรงสนานตอนเย็น
มิเช่นนั้นจะลงพระราชอาชญาถึงชีวิต

บุรุษมหาดเล็กไปพบภรรยาก่อนออกเดินทางเพื่อเล่าเรื่องทั้งปวงให้ทราบ
และให้หุงข้าวทำกับสำหรับไปกินกลางทาง
และแบ่งปันให้ผู้คนระหว่างที่หิวโหยได้กินด้วย
เมื่อบริโภคพอตามต้องการแล้ว
ก็โปรยอาหารกำมือหนึ่งลงในน้ำประกาศด้วยเสียงอันดังขึ้น ๓ ครั้งว่า

"นาค ครุฑ และเทพยดาทั้งหลาย! ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า
พระราชาปรารถนาจะลงอาญาแก่ข้าพเจ้า
จึงทรงบังคับให้ข้าพเจ้านำดินสีอรุณ ดอกโกมุทและดอกอุบล
ไปถวายให้ทันเวลาสรงสนานตอนเย็นวันนี้
ข้าพเจ้าได้ให้อาหารแก่คนเดินทาง ทานนั้นมีอานิสงส์หนึ่งพัน
ข้าพเจ้าได้ให้อาหารแก่ปลา ทานนั้นมีอานิสงส์หนึ่งร้อย
ข้าพเจ้าขอแบ่งส่วนบุญเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายได้โปรดนำดินสีอรุณดอกโกมุทและดอกอุบลมาให้ข้าพเจ้าด้วย"


พญานาคได้ยินเสียงนั้น
จึงนำของทั้งสามอย่างมาให้ชายมหาดเล็กนำเข้าวัง
แต่ไม่ทันเวลาเพราะเข้าเมืองไม่ได้
เพราะพระราชารับสั่งให้ปิดประตูเมืองตั้งแต่ยังวัน
ใส่กุญแจแล้วนำกุญแจไปเก็บไว้เสียเอง

ชายมหาดเล็กจึงเอาดอกไม้แขวนไว้ที่ประตูด้านนอก
และโยนก้อนดินเข้าไปภายในกำแพงเมือง
แล้วประกาศแก่ชาวพระนครที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นให้เป็นพยาน
แล้วหนีไปนอนที่วัดเอาพระเป็นที่พึ่ง

ฝ่ายพระราชาบรรทมไม่หลับตลอดราตรีนั้น
เพราะความเร่าร้อนในเพราะกาม ครั้น มัชฌิมยาม (ระหว่าง ๔ ทุ่มถึงตี ๒)
ได้ทรงสดับเสียงประหลาดก้องกังวาลขึ้นว่า "ทุ สะ นะ โส"
ซึ่งปุโรหิตมาทำนายเหตุการณ์ว่า "อันตรายแห่งชีวิตจักมีแก่พระองค์"

ต้องบูชายัญ มีสัตว์อย่างละ ๑๐๐ เป็นเครื่องประกอบยัญ
มีช้าง, ม้า, โคอุสภ (โคผู้), แม่โคนม, แพะ, แกะ, ไก่, สุกร,
เด็กชาย, เด็กหญิง รวมทั้งหมดเป็นหนึ่งพัน


เมื่อสัตว์และคนมารวมกันส่งเสียงร้องไห้ระงมไปทั้งพระลานหลวง
พระนางมัลลิกาเทวี ทรงสดับเสียงนั้น รีบเสด็จไปสู่ตำหนักของพระราชา
จึงทราบเหตุและคำทำนาย พร้อมให้คติว่า

"ควรหรือที่จะเบียดเบียนชีวิตของคนอื่นสัตว์อื่นเพื่อชีวิตของตน
การได้ชีวิต ควรจะเป็นผลของการช่วยชีวิต
มิใช่ผลของการทำลายชีวิต
พระองค์ทรงกระทำลงไปโดยไม่มีเหตุผลเลย"


แล้วพาพระราชาเสด็จดำเนินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ

พระศาสดาทรงสดับเนื้อความนั้นแล้ว
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดโดยประการทั้งปวง จึงตรัสปลอบพระราชาว่า

"มหาบพิตรอย่าได้ทรงวิตกอะไรเลย
อันตรายแห่งชีวิตไม่มีแก่พระองค์ หรือแก่พระอัครมเหสี
เสียงที่ทรงสดับเมื่อคืนนี้นั้น เป็นเสียงของสัตว์นรก
ผู้เคยทำกรรมอันต่ำทรามไว้สมัยเป็นมนุษย์
และบัดนี้กำลังทุกข์ทรมานอยู่ในโลหกุมภีนรก
สัตว์นรกเหล่านั้นยกศีรษะขึ้นดูแลกันและกัน
ปรารถนาจะกล่าวข้อความบางส่วนในใจตน แต่ไม่อาจกล่าวได้
กล่าวได้เพียงคนละอักษรแล้วจมลงไปอีก
เสียงนั้นมิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระองค์เลย"


เมื่อพระราชาผู้มีพระประสงค์จะทรงทราบเรื่องราวของสัตว์นรกนั้น
ทูลถาม พระศาสดาจึงตรัสเล่าดังนี้


:b42: :b42:

ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า คนมีอายุ ๒ หมื่นปี
เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสด็จถึงเมืองพาราณสี
คนเป็นอันมากชักชวนกันทำบุญ แต่มีบุตรเศรษฐี ๔ คนชักชวนกันทำบาป
คือ เที่ยวประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจาร
เห็นใครสวยก็เอาทรัพย์เข้าล่อ ไม่เลือกว่าเป็นบุตรีใคร หรือภรรยาของใคร

พวกเขา ๔ คนทำกรรมอย่างนั้นอยู่ตลอดอายุ
เมื่อสิ้นชีพแล้ว ไปเกิดในอเวจีมหานรก
ไหม้อยู่ในอเวจีพุทธันดรหนึ่ง ทำกาลกิริยา (ตาย) ในอเวจีมหานรกนั้น
สัตว์นรกตนแรกต้องการกล่าวว่า "ทุชชีวิตมชีวมฺหา" เป็นอาทิ ความว่า

"เราทั้งหลาย เมื่อยังมีโภคทรัพย์อยู่ ไม่ได้ให้ทาน
มิได้ทำที่พึ่งแก่ตน พวกเราจัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า"


แต่ไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมด
กล่าวแต่เพียงคำว่า ทุ อักษรเดียวแล้วจมหายลงไปอีก


สัตว์นรกตนที่สองประสงค์จะกล่าวว่า

"เมื่อเราทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ในนรก
ถึง ๖ หมื่นปีบริบูรณ์ (สฎฐิวสฺสสหสฺสานิ) เมื่อไรจักสิ้นสุด"


แต่ไม่อาจกล่าวให้จบได้ กล่าวได้แต่เพียงคำว่า ส. เท่านั้นแล้วจมลงไป

สัตว์นรกตนที่สามประสงค์จะกล่าวว่า

"สหายทั้งหลาย! ที่สุดย่อมไม่มี (นตฺถิ อนฺโต)
ที่สุดจักมีได้อย่างไร ที่สุดจักไม่ปรากฏ
เพราะว่ากรรมชั่ว พวกเราได้ร่วมกันทำไว้แล้วในกาลนั้น"


แต่ไม่อาจกล่าวให้จบได้ กล่าวได้แต่เพียงอักษรเดียวคือ น. แล้วจมลงไป

สัตว์นรกตนที่สี่ประสงค์จะกล่าวว่า

"เรานั้น (โสหํ) ขึ้นจากนรกแล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์
จักเป็นผู้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักษาศีล และพยายามทำแต่กุศลกรรมให้มาก"


แต่ไม่อาจกล่าวให้จบได้ กล่าวได้เพียงอักษรเดียวคือ โส. แล้วจมลงไป


พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว
ทรงสังเวชสลดพระทัยอย่างใหญ่หลวง ทรงรำพึงว่า

"ปรทาริกกรรมนี้หนักจริงหนอ
เราเองก็ทำความเสน่หาในภรรยาของชายอื่น ไม่ได้หลับตลอดคืน
ตั้งแต่วันนี้ไปจักไม่สนใจในภรรยาของคนอื่นอีกแล้ว"


ดังนี้แล้ว กราบทูลพระศาสดาว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!
ข้าพระองค์เพิ่งทราบความที่ราตรีเป็นของนานเมื่อคืนนี้เอง"


ขณะนั้นบุรุษผู้หลบหนีราชภัย, สามีของหญิงซึ่งพระราชาหลงรักนั่งอยู่ที่นั้นด้วย
เขาคิดว่า "บัดนี้เราได้ปัจจัยอันมีกำลังแล้ว"
เขาหมายถึงพระพุทธเจ้าซึ่งสามารถเป็นที่พึ่งอย่างดีแก่เขา จึงกราบทูลขึ้นบ้างว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!
พระราชาทรงทราบความที่ราตรีเป็นของนาน เมื่อคืนนี้
แต่ข้าพระองค์ได้ทราบความที่โยชน์เป็นทางไกลตั้งแต่เมื่อวานนี้เอง"


พระศาสดาทรงเทียบเคียงคำของคนทั้งสองแล้ว
ทรงเข้าพระทัยในความหมายและเรื่องราวทั้งปวงแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า
"ฑีฆา ชาครโต รตฺติ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น
ในกาลจบเทศนา บุรุษนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล


พระเจ้าปเสนทิเสด็จกลับ
รับสั่งให้ปลดปล่อยมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายที่ให้จับมาเพื่อบูชายัญ
คนทั้งหลายทราบเรื่องแล้วกล่าวสรรเสริญพระนางมัลลิกาเป็นอันมาก
และให้พรกันเซ็งแซ่ว่า "เราทั้งหลายได้ชีวิตกลับคืนมา
เพราะอาศัยพระเทวีพระองค์ใด ขอพระเทวีพระองค์นั้น
คือ พระนางมัลลิกา เจ้าแม่เหนือหัวของเราทั้งหลายจงมีพระชนม์ยืนนาน" เป็นต้น

ตกตอนเย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า
"น่าสรรเสริญจริงหนอ พระนางมัลลิกาฉลาดจริง
ทรงอาศัยพระปัญญาของพระองค์ได้ช่วยชีวิตของคน และสัตว์เป็นอันมากไว้ได้"

พระศาสดาเสด็จมา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากัน
แล้วตรัสว่า พระนางมัลลิกามิได้เพียงให้ชีวิตทานในชาตินี้เท่านั้น
แม้ในชาติก่อนก็เคยทรงกระทำมาแล้ว เพื่อจะประกาศความนั้น
พระศาสดาได้ทรงนำเรื่องอดีตมาเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังดังนี้


:b40: :b40:

ในอดีตกาล พระโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี
ได้บนไว้กับรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งว่า
หากตนได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา
ก็จะจับกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ กับพระมเหสี ๑๐๑ เหมือนกัน
มาทำพลีด้วยเลือดในลำพระศอของกษัตริย์และเทวีเหล่านั้น เป็นเทวตาพลี

เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระราชกุมารนั้นได้ขึ้นครองราชย์จริง
แต่หาใช่เพราะการช่วยเหลือของเทวดาไม่ แต่เพราะบุญของพระองค์

อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่า
ทรงได้ราชสมบัติเพราะการช่วยเหลือจากเทวดา
จึงเสด็จออกพร้อมด้วยกองทัพอันเกรียงไกร
ทำสงครามจับกษัตริย์ใน ๑๐๑ พระนคร และมเหสีของกษัตริย์เหล่านั้น
เว้นพระนางธัมมทินนา ผู้ทรงพระครรภ์แก่ไว้
พระนางเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุคคเสน
มีพระราชอำนาจน้อยกว่าพระราชาทั้งปวงในชมพูทวีป

เมื่อจับได้แล้ว พระเจ้ากรุงพาราณสี
มีพระประสงค์จะให้ฆ่ากษัตริย์เหล่านั้นด้วยวิธีให้ดื่มน้ำผสมยาพิษ
ให้คนทั้งหลายจัดแจงทำความสะอาดโคนต้นไทรอยู่

เทวดาผู้สถิตย์อยู่ ณ ต้นไทรนั้นเห็นเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว คิดว่า

"พระราชานี้คิดว่างานสำเร็จด้วยอานุภาพของเรา
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
หากพระองค์จะสำเร็จโทษกษัตริย์เหล่านี้แล้ว จะมีบาปมาก
โคนต้นไม้ของเราก็จะไม่สะอาด
เราจะห้ามพระราชานี้ได้หรือไม่"


พิจารณาเห็นว่า "ไม่อาจห้ามได้" จึงไปหาเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่อื่นๆ
ปรึกษาว่าจะห้ามพระราชาอย่างไร ไม่มีใครสามารถให้ความเห็นได้
จึงไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช หัวหน้าเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะออกความเห็นว่า

"ให้ท่านนุ่งผ้าแดงออกจากต้นไม้ ขณะที่พระราชานั้นทอดพระเนตรเห็นอยู่
พระราชาจักอ้อนวอนให้ท่านกลับ เพื่อรับพลีกรรมของเขา
ท่านพึ่งกล่าวกับกษัตริย์นั้นว่า ท่านบนต่อเราไว้ว่า
จักนำพระราชาและมเหสี ๑๐๑ พระนครมาทำพลี,
แต่บัดนี้พระองค์มิได้นำพระนางธัมมทินนา มเหสีของพระเจ้าอุคคเสนมา
ข้าพเจ้าไม่ขอรับพลีกรรมของพระองค์ผู้พูดเท็จ
เมื่อท่านกล่าวเช่นนี้ พระราชาจักให้นำพระนางธัมมทินนามา
พระนางจักช่วยปลดปล่อยกษัตริย์เหล่านั้นได้"


รุกขเทวดาได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของท้าวสักกะเทวราช

เมื่อพระนางธัมมทินนาเทวีมาถึงขัตติยสมาคม
ก็ถวายบังคมเฉพาะพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว
ทั้งๆ ที่พระเจ้าอุคคเสนนั้นเป็นพระราชาพระองค์น้อย
ประทับนั่งสุดท้ายปลายแถวกว่ากษัตริย์อื่นๆ

พระราชาพาราณสี ทรงกริ้ว ตรัสกับพระเทวีว่า

"เราเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งปวง ทำไมจึงไม่ไหว้,
ไปไหว้กษัตริย์ซึ่งเป็นผู้น้อยกว่าพระราชาทั้งปวง?"


"หม่อมฉันไม่ไหว้พระองค์ เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับหม่อมฉัน
ส่วนพระเจ้าอุคคเสนเป็นพระสวามี
ที่ให้ความเป็นใหญ่แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจึงไหว้"


เทวดายืนอยู่ได้กล่าวอนุโมทนาว่า
"จริงทีเดียวพระเทวีผู้เจริญ พระนางตรัสชอบแล้ว"
แล้วบูชาพระเทวีด้วยดอกไม้กำมือหนึ่ง

"ท่านไม่ไหว้เราก็ช่างเถอะ แต่ทำไม
ท่านเห็นอยู่จึงไม่ไหว้เทวดาของเรา ผู้ให้สิริ ให้ความเป็นราชาแก่เรา?"

พระเทวีทูลตอบว่า

"ที่พระองค์จับพระราชาทั้งหลายได้
ก็เพราะอานุภาพและบุญของพระองค์ หาใช่เพราะเทวดาช่วยจับไม่"


เทวดากล่าวกับพระเทวีอีกว่า
"จริงอย่างนั้นพระเทวี ที่พระนางตรัสนั้นเป็นความจริง"
แล้วบูชาด้วยดอกไม้กำมือหนึ่ง

"หากเทวดามีฤทธิ์จับพระราชา ๑๐๑ พระองค์ได้จริงแล้ว
เหตุไฉนบัดนี้ต้นไม้ใหญ่นี้ถูกไฟไหม้อยู่ด้านซ้าย เทวดาจึงดับไฟนั้นไม่ได้"


เทวดาอนุโมทนาอีกว่า "จริงอย่างนั้นพระเทวี ที่พระนางตรัสนั้นเป็นความจริง"

พระเทวียืนตรัสอยู่ ทั้งทรงกันแสงทั้งทรงพระสรวล
พระราชาพาราณสีตรัสถามว่า เป็นบ้าไปหรือจึงมีกิริยาอย่างนั้น?
พระนางทูลว่ามิได้เป็นบ้าเลย แต่หม่อมฉันร้องไห้
เพราะสงสารพระองค์ ว่าจะต้องตกนรกหมกไหม้นานสักเพียงใด
ในเมื่อฆ่าพระราชาถึง ๑๐๑ พระองค์ พร้อมด้วยพระเทวี
มีอยู่ชาติหนึ่ง หม่อมฉันเคยฆ่าแม่แพะตัวหนึ่ง
เพียงเพื่อทำอาหารมารับแขกเพื่อนของสามี
เพราะกรรมนั้นหม่อมฉันต้องหมกไหม้ในนรกนานแสนนาน
เพราะเศษแห่งกรรมนั้นหม่อมฉันต้องถูกตัดศีรษะเป็นอเนกชาติเท่าจำนวนขนแพะ
หม่อมฉันระลึกถึงทุกข์ใหญ่ของพระองค์เช่นนี้จึงร้องไห้
ส่วนที่หม่อมฉันหัวเราะนั้นก็ด้วยยินดีว่าได้พ้นจากทุกข์นั้นแล้ว


เทวดาได้อนุโมทนาอีกว่า
"จริงอย่างนั้นพระเทวี, ที่พระนางตรัสนั้นเป็นความจริง"

พระราชาแห่งพาราณสี ทรงใคร่ครวญแล้ว ทรงสลดพระทัย
จึงให้ปล่อยพระราชาและพระเทวีทั้งหมด,
ถวายบังคมแก่พระราชา ผู้แก่กว่า
และประคองอัญชลีแก่พระราชา ที่หนุ่มกว่า
ให้พระราชาเหล่านั้นอดโทษแล้ว ทรงส่งไปสู่นครของตนๆ


พระศาสดาทรงนำเรื่องอดีตนี้มาแล้วตรัสย้ำอีกว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! พระนางมัลลิกาอาศัยพระปัญญาของพระนาง
ประทานชีวิตแก่มหาชนในบัดนี้ก็หาไม่
แม้ในชาติก่อนก็เคยทรงทำมาแล้วเหมือนกัน"


ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

"พระเจ้าพาราณสีในกาลนั้นได้มาเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล,
พระนางธัมมทินนาเทวี ได้มาเป็นพระนางมัลลิกา
รุกขเทวดา คือเราตถาคตนี่แล"


:b41:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นแคฝอย หรือ ต้นปาตลี คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19535

เจ้าของ:  Hanako [ 17 ก.ย. 2013, 02:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

บัณฑิตย่อมฝึกตน

พระพุทธภาษิต

อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา
อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ
ทารุ นมยนฺติ ตจฺฉกา
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา

คำแปล

คนไขน้ำย่อมไขน้ำ (เข้านา) ช่างศรย่อมดัดลูกศร
ช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน


:b39: :b39:

อธิบายความ

ธรรมดาน้ำย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มโดยปกติ
แต่คนไขน้ำผู้ฉลาดใช้เครื่องมือบางอย่างไขน้ำให้ไหลไปยังที่สูงได้
สูบขึ้นไปบนภูเขาก็ได้ หรือให้มันไหลไปยังที่ใดที่หนึ่ง
เพื่อประโยชน์บางอย่างตามปรารถนาของตน

ส่วนช่างศร ย่อมดัดลูกศรให้ตรงตามกรรมวิธีของตน เพื่อประโยชน์ของตน
ฝ่ายช่างไม้ นำไม้มาจากป่าแล้วถาก และตบแต่งให้เกลี้ยงเกลา
เพื่อประโยชน์แก่การทำทัพสัมภาระต่างๆ มีปลูกเรือนเป็นต้น

น้ำ ลูกศร และไม้ เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีวิญญาณ
คนทั้งหลายยังสามารถทำให้มันเป็นไปตามความปรารถนาของตนได้
ไฉนเล่ามนุษย์เราซึ่งมีจิตใจ จะไม่พึงฝึกจิตของตนให้เป็นไปตามปรารถนาของตน
บัณฑิตทั้งหลายเห็นดังนี้แล้วจึงฝึกตน

การฝึกตนนั้น คือการคุ้มครอง
บังคับตนให้ดำเนินอยู่ในทางที่ดีที่ชอบอยู่เสมอ

บางคนกล่าวว่า มนุษย์เราจะดีหรือเลว
ก็แล้วแต่พันธุกรรม (heredity) และสิ่งแวดล้อม (environment)
การพูดอย่างนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด
เพราะเป็นการปัดความรับผิดชอบไปจากตนโดยสิ้นเชิง
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง บุคคลทำสิ่งใดก็ไม่พึงมีโทษ
เพราะสิ่งแวดล้อมบ้าง พันธุกรรมบ้างบังคับให้ทำ

แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อโทษทุกข์อันใดเกิดขึ้นเป็นผลอันตามเหตุมา
โทษทุกข์อันนั้นก็ตกอยู่แก่ผู้กระทำ
หาตกอยู่แก่พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมไม่
ด้วยเหตุนี้มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิต
จึงควรมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
ไม่โยนความผิดให้ไปตกแก่สิ่งอื่นเสียเรื่อยไป
ทั้งนี้เพื่อฝึกตนให้เป็นคนมีความยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างตน
ให้เป็นคนรู้จักสำรวมตน ไม่ซบเซาเมื่อทุกข์ ไม่ลำพองเมื่อสุข


มนุษย์เราทุกคนได้อวัยวะ มือ เท้า เป็นต้น มาด้วยกัน
เกิดมาตัวเปล่าเหมือนกัน สิ่งอันเป็นอุปกรณ์สำคัญคือเวลา
ก็ได้ให้โอกาสแก่มนุษย์เท่าๆ กัน มนุษย์จะดีหรือเลว
จะเป็นคนสำคัญหรือเป็นคนอย่างไร ก็แล้วแต่การฝึกฝนตนเอง

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

"ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ผู้ฝึกตนได้แล้ว
ป็นผู้ประเสริฐที่สุด (ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ)"


เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อต้องการให้ตนของตนเป็นอย่างไรก็จงฝึกฝนไปทางนั้น
การฝึกตนเป็นหน้าที่ของบัณฑิตโดยตรง
พึงดูตัวอย่างเรื่องบัณฑิตสามเณร ในเรื่องต่อไปนี้


:b44: :b44:

เรื่องประกอบ บัณฑิตสามเณร

ในอดีตกาล สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป
พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์สองหมื่นเป็นบริวาร
เสด็จไปยังเมืองพาราณสี ชาวเมืองกำหนดกำลังของตน
แล้วชวนกันถวายทานตามกำลังความสามารถของตน

เมื่อเสร็จภัตตกิจ พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุโมทนา ใจความว่า

คนบางคนทำบุญเองแต่มิได้ชักชวนคนอื่น
เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ
บางคนชักชวนคนอื่นทำแต่ไม่ทำเอง
เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้บริวารสมบัติแต่ไม่ได้ทรัพย์สมบัติ
บางคนไม่ทำเองด้วยไม่ชักชวนผู้อื่นด้วย
เมื่อเกิดในที่ใดย่อมไม่ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ
ส่วนบางคนทำเองด้วยชักชวนผู้อื่น
เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ


ขณะนั้นมีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่งได้ฟังอนุโมทนาแล้ว
คิดว่า "เราจักทำบุญอันเป็นเหตุให้ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ"
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลอาราธนาพระพุทธองค์
และภิกษุสาวกให้รับอาหารของตนในวันรุ่งขึ้น

"ท่านต้องการภิกษุเท่าไร?" พระศาสดาตรัสถาม
"ภิกษุบริวารของพระองค์มีเท่าไร พระเจ้าข้า?"
"มี ๒ หมื่นรูป"
"ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์ขอนิมนต์ทั้งหมด"

เมื่อพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว
เข้าเข้าไปในหมู่บ้าน เที่ยวบอกชาวบ้านว่า

"ท่านทั้งหลาย! ข้าพเจ้านิมนต์พระสงฆ์ ๒ หมื่นรูป
มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขไว้ เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้
ท่านผู้ใดมีศรัทธาและมีกำลังจะถวายได้เท่าใด
ขอได้โปรดบอก เพื่อข้าพเจ้าจักได้จดไว้ในบัญชี"


คนทั้งหลายกำหนดกำลังและศรัทธาของตนแล้ว
บางคนกล่าวว่า จักถวาย ๑๐ รูป, บางคน ๒๐ รูป,
บางคน ๑๐๐ รูป, บางคน ๕๐๐ รูป
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้จดชื่อของคนเหล่านั้น
และจำนวนพระสงฆ์ที่เขาต้องการลงในบัญชี

ในสมัยนั้นมีชายคนหนึ่งเป็นคนยากจนมากกว่าใครทั้งหมดในกรุงพาราณสี
ใครๆ ก็เรียกว่า "มหาทุคคตะ" แปลว่า ยากจนมาก

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้พบชายเข็ญใจ (มหาทุคคตะ) นั้น
แล้วบอกเรื่องที่ตนได้นิมนต์พระไว้
ชักชวนให้มหาทุคคตะช่วยเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง

"จะเลี้ยงได้อย่างไรท่าน
ตัวข้าพเจ้าเองหาเลี้ยงตนและภรรยาก็แสนยากลำบาก
การเลี้ยงพระเป็นเรื่องของคนมีทรัพย์
ส่วนข้าพเจ้าไม่มีแม้แต่ข้าวสารสักทะนานหนึ่ง
ที่จะหุงต้มกินในวันพรุ่งนี้
ข้าพเจ้าทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพด้วยความฝืดเคือง"


บุรุษผู้เป็นบัณฑิต มิได้หยุดนิ่ง ได้พูดหว่านล้อมต่อไปว่า

"สหาย! ท่านเห็นหรือไม่ ในเมืองนี้มีคนมั่งคั่งเป็นอันมาก
ได้บริโภคโภชนะอย่างดี นุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียดแต่งกายด้วยอาภรณ์ต่างๆ
นอนบนที่นอนอันกว้างใหญ่สง่างาม
เพราะเขาได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน
ส่วนสหายทำงานจ้างทั้งวัน ก็ไม่ได้อาหารแม้เพียงสักว่าให้เต็มท้อง
ทั้งนี้เพราะท่านมิได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจึงไม่ควรประมาท
รีบขวนขวายในเรื่องบุญกุศลเถิด
ท่านสามารถทำตามสติกำลังของท่าน"


เมื่อได้ฟังดังนี้ มหาทุคคตะก็ถึงความสลดใจ
และกล่าวว่า "ขอท่านลงบัญชีภิกษุรูปหนึ่งสำหรับข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำงานจ้างได้ของมาทำบุญพรุ่งนี้"


ผู้ชักชวนเห็นว่าเป็นภิกษุจำนวนน้อยเพียงรูปเดียวจึงมิได้จดลงในบัญชี
ฝ่ายมหาทุคคตะกลับไปเรือน บอกเรื่องนั้นให้ภรรยาทราบ
ภรรยาของเขาเป็นคนดี มีความเห็นชอบกับการกระทำชอบของสามี
พลอยยินดีร่าเริงด้วย กล่าวว่า

"เพราะชาติก่อนเรามิได้ทำบุญไว้ด้วยดี
เกิดมาชาตินี้จึงเป็นคนจน เราควรทำงานเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง"


เขาทั้งสองได้ไปยังเรือนของมหาเศรษฐีเพื่อของานทำ
ได้จังหวะเหมาะเศรษฐีรับเลี้ยงพระ ๒-๓ ร้อยในวันรุ่งขึ้น
จึงจัดให้มหาทุคคตะผ่าฟืนสำหรับหุงต้ม เขาถกเขมร
ทำท่าทางทะมัดทะแมง ทำงานด้วยความร่าเริง และมีความอุตสาหะอย่างยิ่ง

เศรษฐีเห็นอาการของเขาแปลกกว่าที่เคยเห็น
จึงถามว่าเหตุไรจึงร่าเริงผิดกว่าวันก่อนๆ
เขาเล่าเรื่องที่ได้รับเลี้ยงพระให้เศรษฐีทราบเศรษฐีเลื่อมใส
นับถือในจิตใจของเขาว่า เขาทำสิ่งที่ทำได้ยาก มิได้เฉยเมยว่ายากจน
อุตส่าห์ทำงานจ้างด้วยเรี่ยวแรงกำลังทั้งหมดเพื่อจะได้มีส่วนเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง

ฝ่ายภรรยาของมหาทุคคตะ เข้าไปหาภรรยาเศรษฐีขอทำงานจ้าง
ภรรยาเศรษฐีได้ให้ตำข้าวในโรงกระเดื่อง
นางมีความยินดี ร่าเริงตำข้าวและฝัดข้าวเสมือนหนึ่งว่ารำละคร

ภรรยาเศรษฐีเห็นดังนั้น ประหลาดใจ จึงถาม
ทราบความแล้วเลื่อมใสว่า ภรรยาของมหาทุคคตะทำสิ่งที่ทำได้ยาก

เมื่อมหาทุคคตะผ่าฟืนเสร็จ เศรษฐีได้สั่งให้ให้ข้าวสาลีแก่เขา ๔ ทะนานเป็นค่าจ้าง
และอีก ๔ ทะนานให้ด้วยความพอใจในตัวเขา

ฝ่ายภรรยาเศรษฐี สั่งให้จ่ายเนยใสขวด ๑ นมส้มกระปุก ๑
เครื่องเทศ ๑ และข้าวสาลี ๑ ทะนาน

สองสามีภรรยาดีใจว่าได้ไทยธรรมแล้ว
ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ภรรยาบอกสามีให้ไปหาผัก
เขาไม่เห็นผักที่ตลาด จึงไปริมแม่น้ำ
มีใจยินดีร่าเริงว่าจักได้ถวายอาหารแด่ภิกษุสงฆ์
ไม่อาจเก็บความรู้สึกอันนั้นไว้ได้ จึงร้องเพลงพลางเก็บผักพลาง

ชาวประมงคนหนึ่งยืนทอดแหอยู่ริมแม่น้ำ
ได้ยินเสียงมหาทุคคตะจำได้ จึงถามว่า ไฉนจึงร่าเริงนัก

มหาทุคคตะเล่าให้ฟัง ในเบื้องแรก ชาวประมงพูดจาเป็นเชิงล้อเลียนว่า
พระที่ฉันผักของแกคงจะต้องอิ่มมาก แต่เมื่อมหาทุคคตะบอกว่าจะทำอย่างไรได้
เขาเป็นคนจนต้องเลี้ยงพระตามมีตามได้

ชาวประมงเห็นใจจึงให้เขาร้อยปลาเอาไปทำกับข้าว
แต่ขณะที่เขาร้อยอยู่นั่นเอง ชาวเมืองก็มาซื้อเอาไปเสียหมด
จนกระทั่งถึงเวลาที่พระจะมาฉัน เขาจึงบอกชาวประมงว่าเขาจะต้องรีบไป
เมื่อชาวประมงเห็นว่าพวงปลาหมดเสียแล้ว จึงขุดเอาปลาตะเพียน ๔ ตัว
ซึ่งหมกทรายไว้เพื่อตัวเขาเองให้มหาทุคคตะไป

เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์
มหาทุคคตะเข้าไปในข่ายแห่งพระญาณของพระองค์
ทรงทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ทรงดำริว่า

"วันนี้มหาทุคคตะจะไม่ได้ภิกษุใดๆ เลย
เพราะเจ้าหน้าที่ลืมจดบัญชีจำนวนภิกษุที่เขาต้องการ
เว้นเราเสียแล้ว มหาทุคคตะจะไม่มีที่พึ่ง เราควรสงเคราะห์แก่เขา"


เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงพอพระทัยในการสงเคราะห์คนยากจน
ดังนั้น เมื่อทรงกระทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี
ประทับนั่ง ทรงตั้งพระทัยว่า จักสงเคราะห์มหาทุคคตะ

มหาทุคคตะนำปลาตะเพียนมาสู่เรือนแล้ว
มอบให้ภรรยาทำกับข้าว ในตำนานกล่าวว่า มีเทพลงมาช่วยด้วย
มหาทุคคตะรีบไปรับพระเพื่อมาฉันที่เรือนของตน
เข้าไปบุรุษผู้เป็นบัณฑิตที่ชักชวนเขาให้ทำบุญ
แต่ปรากฏว่าบุรุษผู้นั้นลืมเสียแล้ว เพราะไม่ได้จดไว้
เขาพยายามขอโทษมหาทุคคตะ
แต่ไม่สามารถระงับความเสียใจของบุรุษผู้เข็ญใจได้
เขารู้สึกเหมือนถูกประหารที่ท้องด้วยหอกอันคม ประคองแขนร่ำไห้ว่า

"เหตุไรท่านจึงทำผมให้ต้องพิบัติขัดข้องถึงขนาดนี้
ท่านชวนข้าพเจ้าให้รับเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง ข้าพเจ้ารับแล้ว
เมื่อวานข้าพเจ้าและภรรยาออกทำงานจ้างทั้งวัน
เพื่อได้ค่าจ้างมาเลี้ยงพระ ขอท่านจงให้พระแก่ข้าพเจ้าสักรูปหนึ่งเถิด"


คนทั้งหลายได้เห็นอาการของมหาทุคคตะแล้วสงสาร
แล้วกล่าวกับบุรุษผู้เป็นบัณฑิตว่า
"ท่านได้ทำกรรมหนักเสียแล้วที่ลืมจดบัญชีภิกษุรูปหนึ่งเพื่อมหาทุคคตะ"

บุรุษผู้นั้นละอายใจ จึงพูดกับมหาทุคคตะว่า

"เพื่อน ฉันลำบากใจเหลือเกิน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
คนทั้งหลายได้นำภิกษุตามบัญชีของตนไปหมดแล้ว
ไม่มีใครยอมถอนบัญชีภิกษุแม้เพียงรูปเดียวให้เพื่อน
แต่ยังมีพระผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่อยู่รูปหนึ่ง
คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บัดนี้พระองค์ทรงล้างพระพักตร์แล้วประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี,
พระราชา พระยุพราช และคนใหญ่โตทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น
เฝ้ารอรับบาตรของพระองค์อยู่ ก็ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมพอพระทัยอนุเคราะห์คนยากจน
ท่านจงไปยังที่ประทับของพระองค์แล้วกราบทูลว่า
'ข้าพระองค์เป็นคนยากจน พระเจ้าข้า,
ขอพระองค์จงทำการสงเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด'
ดูก่อนสหาย! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ถ้าท่านมีบุญ
ท่านจักได้พระศาสดาไปสู่เรือนของท่านอย่างแน่นอน"


มหาทุคคตะรีบมุ่งหน้าไปสู่วิหาร
พระราชา และพระยุพราชเป็นต้น เห็นเขาแล้วกล่าวว่า
"มหาทุคคตะเข้ามาทำไม เวลานี้มิใช่เวลาขออาหาร ออกไปเสียเถิด"

ที่ตรัสเช่นนี้ก็เพราะเคยทอดพระเนตร
เห็นเขาเป็นคนกินเดน (วิฆาสาท) อยู่ในวิหารในวันก่อนๆ
มหาทุคคตะจึงทูลว่า

"ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มาเพื่อต้องการอาหาร
แต่มาเพื่อต้องการทูลพระศาสดาเพื่อเสวยที่บ้านของข้าพระพุทธเจ้า"


ดังนี้แล้วได้หมอบลงที่ธรณีพระคันธกุฎี
ถวายบังคมเบญจางคประดิษฐ์ และกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! ในพระนครนี้ ขึ้นชื่อว่าผู้ยากจนกว่าข้าพระพุทธเจ้ามิได้มี
ขอพระองค์ได้โปรดสงเคราะห์และทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด"


พระศาสดาทรงเปิดพระทวารพระคันธกุฎี ทรงประทานบาตรแก่เขา
มหาทุคคตะปลาบปลื้มเสมือนได้บรรลุจักรพรรดิสิริ
พระเจ้าแผ่นดินและพระยุพราช เป็นต้น ทรงมองพระพักตร์กันอย่างพิศวง

แต่ธรรมดามีอยู่ว่า ใครจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม
ย่อมไม่กล้าแย่งบาตรที่พระศาสดาทรงประทานแล้วแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง
ดังนั้นพระราชาเป็นต้นจึงไม่กล้าแตะต้องบาตรในมือของมหาทุคคตะ
ได้แต่อ้อนวอนขอซื้อบาตรว่า

"มหาทุคคตะ! ท่านเป็นคนยากจน จะต้องการบาตรของพระศาสดาทำไม
จงให้บาตรแก่เราเถิด เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่งหรือแสนหนึ่งแก่ท่าน"

แต่มหาทุคคตะปฏิเสธ เขาบอกว่า เวลานี้เขาไม่ต้องการทรัพย์
แต่ต้องการให้พระศาสดาเสวย
คนทั้งหลายเมื่อเห็นว่าอ้อนวอนไม่ได้ผลก็กลับไป
เหลือแต่พระราชาเท่านั้นที่เสด็จติดตามพระศาสดาไป
เพื่อทอดพระเนตรว่าไทยธรรมที่มหาทุคคตะจะถวายพระศาสดานั้นมีอะไรบ้าง
หากว่าไทยธรรมมีน้อย พระศาสดาเสวยไม่พออิ่มก็จะนำเสด็จไปสู่พระราชวังอีกครั้งหนึ่ง

ดังได้กล่าวแล้วว่า ในการทำอาหารครั้งนี้มีเทพเจ้ามาช่วยปรุงด้วย
เพียงพอเปิดออกเท่านั้น กลิ่นหอมของอาหารก็ฟุ้งตลบไป
แม้พระราชาเองก็ไม่เคยทรงได้กลิ่นอาหารอย่างนี้มาก่อน
พระองค์ได้กราบทูลพระศาสดาตามความเป็นจริงว่า
พระองค์เสด็จตามมาเพราะเหตุใด แล้วเสด็จกลับสู่พระราชมณเฑียร

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จทรงอนุโมทนาแล้ว
มหาทุคคตะส่งเสด็จพระศาสดา ท้าวสักกเทวราช (ซึ่งปลอมมาเป็นพ่อครัว)
ได้บันดาลให้ฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงเต็มเรือนของมหาทุคคตะ
(ถ้าสมมติว่าท่านไม่เชื่อเรื่องทำนองนี้ เป็นไปได้ไหมว่าพระราชา
และคนทั้งหลายเลื่อมใสในคุณของมหาทุคคตะ แล้วนำของต่างๆ มาให้มากมาย
ข้อสันนิษฐานนี้ อาจขัดแย้งกับเนื้อเรื่องที่ดำเนินต่อไป - ว.ศ.)

เขาได้มาเห็นแก้วแหวนเงินทองเต็มเรือนเช่นนั้นก็ปลาบปลื้มว่า
บุญที่ทำแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผลทันตาเห็นทีเดียว
เขาได้ไปกราบทูลพระราชาขอให้นำเกวียนไปบรรทุกทรัพย์เหล่านั้นมา
พระราชาให้กระทำเช่นนั้นแล้วตั้งเขาไว้ในตำแหน่งเศรษฐี


เศรษฐีนั้นทำบุญมีทานเป็นต้นตลอดชีวิต
สิ้นชีพแล้วบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง
มาถึงพุทธุปบาทกาลนี้ คือ สมัยแห่งพระโคตมพุทธะนี้
บังเกิดในท้องธิดาคนโตของสกุลอุปฐากของพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี

นางแพ้ท้องอยากถวายอาหารพระสัก ๕๐๐ รูป ด้วยปลาตะเพียน
แล้วนุ่งห่มผ้ากาสายะ นั่งบริโภคอาหารเป็นเดนของภิกษุ
พวกญาติได้จัดให้เธอทำอย่างประสงค์ อาการแพ้ท้องระงับลง

นางให้ลูกชื่อ "บัณฑิต" เพราะเหตุที่ตั้งแต่เด็กนั้นอยู่ในท้องจนคลอด
คนโง่เงอะงะในบ้านของนางก็กลับเป็นคนฉลาด
นางคิดว่าจักไม่ทำลายอัธยาศัยของบุตร คือบุตรต้องการสิ่งใด อย่างไร
หากเป็นไปในทางที่ชอบแล้วก็จะอนุโลมตาม

เมื่อบุตรอายุได้ ๗ ขวบ ก็ขอบวชในสำนักพระสารีบุตรเถระ
แม้พระเถระจะอธิบายสักเพียงใดว่า การบวชเป็นของยาก, ทำได้ยาก
แต่เด็กน้อยก็ยืนยันว่า ทำได้ จะพยายามทำตามโอวาทของพระเถระ
พระเถระจึงให้บวชเป็นสามเณร

มารดาบิดาของสามเณรก็ไปอยู่ในวัดทั้ง ๗ วัน
ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข เป็นวันที่ ๗ จึงกลับเรือน

เช้าวันที่ ๘ พระเถระพาสามเณรไปบิณฑบาตในบ้าน
ในระหว่างทางสามเณรเห็นเหมืองจึงถามอุปัชฌาย์ว่า นี่อะไร?
"เหมือง สามเณร" พระเถระตอบ
"เขามีไว้ทำอะไร?" สามเณรถาม
"เขาไขน้ำจากเหมืองนี้ไปหานาข้าวกล้า เมื่อนาขาดน้ำ"
"น้ำมีจิตไหมครับ?"
"ไม่มี"

สามเณรคิดว่า เมื่อน้ำเป็นของไม่มีจิต
แต่คนทั้งหลายยังไขไปทำประโยชน์ตามปรารถนาได้
ก็ไฉนเล่า คนซึ่งมีจิตจึงจักไม่อาจฝึกจิตของตนให้ดี
คนต้องสามารถฝึกจิตของตนให้ดีได้

สามเณรเดินต่อไปได้เห็นช่างศรกำลังเอาลูกศรลนไฟ
เล็งด้วยหางตาดัดให้ตรง จึงถามอุปัชฌาย์ว่าลูกศรมีจิตหรือไม่
เมื่ออุปัชฌาย์ตอบว่าไม่มี เธอจึงคิดโดยนัยก่อน

เดินทางต่อมาอีกเห็นช่างถาก ถากไม้ทำล้อเกวียนเป็นต้นอยู่
เธอถามพระอุปัชฌาย์ และคิดโดยนัยก่อน

สามเณรบัณฑิตมีความคิดอันลึกซึ้ง ด้วยการเห็นสิ่งต่างๆ เพียงเท่านี้
เธอน้อมนำเข้าปรารภตนว่า เมื่อช่างศรดัดลูกศรได้
ช่างไม้ถากไม้ให้เป็นไปตามต้องการได้ บัณฑิตก็ควรฝึกตนได้
เธอได้บอกอุปัชฌาย์ว่าขอกลับไปวัด
และขอให้พระอุปัชฌาย์กรุณานำอาหารที่มีปลาตะเพียนมาให้ด้วย

"จะหาได้ที่ไหนเล่า สามเณร?" พระเถระถาม
"ท่านผู้เจริญ! หากไม่ได้ด้วยบุญของท่านก็คงจักได้ด้วยบุญของกระผม"
พระเถระอนุญาตให้สามเณรกลับ
เพราะรู้เห็นอัธยาศัยและได้มอบลูกดาล (ลูกกุญแจ) ให้ไปด้วย
เพื่อสามเณรจักได้เข้าไปนั่งในห้อง สามเณรกลับมาบำเพ็ญสมณธรรม
หยั่งความรู้ลงในกรัชกายของตนพิจารณาอัตตภาพอยู่

พระเถระรับภาระของสามเณรแล้ว
คิดว่า ทำอย่างไรหนอจึงจักได้อาหารคือปลาตะเพียน?
ท่านตัดสินใจไปสู่เรือนของอุปฐากคนหนึ่งซึ่งเคารพเลื่อมใสในท่านมาก
พอดีวันนั้นอุปฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว กำลังนั่งคอยการมาของพระเถระอยู่

เมื่อเห็นพระเถระก็ดีใจนิมนต์ให้นั่ง ถวายอาหารมีรสปลาตะเพียน
พระเถระแสดงอาการว่าจะลุกไปฉันที่วัดเพื่อให้สามเณรด้วย
แต่อุปฐากขอร้องวิงวอนให้ฉันเสียที่บ้าน และว่าอาหารที่จะนำไปนั้นมีอยู่
จะถวายเมื่อฉันเสร็จแล้วพระเถระฉันเสร็จแล้ว
อุปฐากได้ถวายอาหารเจือด้วยปลาตะเพียนอีกจนเต็มบาตร

พระเถระรีบกลับมาด้วยเป็นห่วงสามเณร
ฝ่ายสามเณรนั่งบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ได้บรรลุผล ๓
คือโสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผล

วันนั้น พระศาสดาของเราทรงพิจารณาเห็นเรื่องทั้งปวง
เกี่ยวกับสามเณรแล้ว ทรงดำริว่า

"บัดนี้สามเณรบัณฑิตได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว
และอุปนิสัยแห่งอรหัตตผลของเธอมีอยู่ หากเราไม่ไปช่วย
พระสารีบุตรจักนำอาหารมา ทำลายสมณธรรมของสามเณรเสีย"


ดังนี้แล้วเสด็จไปดักพระสารีบุตรอยู่ที่ซุ้มประตู เพื่อชะลอเวลา

เมื่อพระสารีบุตรมาถึง พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อเกี่ยวกับเรื่องอาหารว่า

"อาหารย่อมนำมาซึ่งอะไร?" (๑)
"นำเวทนามา พระเจ้าข้า"
"เวทนานำมาซึ่งอะไร?" (๒)
"นำรูปมา พระเจ้าข้า"
"รูปนำมาซึ่งอะไร?" (๓)
"นำผัสสะมา พระเจ้าข้า" (๔)


มีคำอธิบายโดยย่อดังนี้

"เมื่อบุคคลหิว บริโภคอาหารบำบัดความหิวแล้ว
สุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น ต่อจากนั้น วรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ
คือ ทำให้รูปเปล่งปลั่งมีนวล ต่อจากนั้น วรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ
คือnnทำให้รูปเปล่งปลั่งมีนวล ต่อจากนั้น
นั่งอยู่หรือนอนอยู่ก็ตาม ย่อมได้สุขสัมผัส"

ขณะที่พระสารีบุตรแก้ปัญหาพระศาสดาอยู่นี้
สามเณรได้บรรลุพระอรหัตตผล พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ
แล้วจึงทรงอนุญาตให้พระเถระนำอาหารไปให้สามเณร

พระเถระไปเคาะประตู สามเณรออกมารับบาตรวางไว้แล้ว
เอาพัดก้านตาลพัดพระเถระ เมื่อพระเถระบอกให้ฉัน จึงฉัน

เด็กอายุ ๗ ขวบ บวชแล้วบรรลุอรหัตตผลในวันที่ ๘
ประหนึ่งดอกประทุมอันแย้มบานแล้วด้วยประการฉะนี้

บ่ายวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันเรื่องสามเณรบัณฑิต
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมดาบัณฑิตย่อมเป็นอย่างนี้
คือเห็นคนไขน้ำจากเหมือง ช่างศรดัดลูกศรเป็นต้นแล้ว
ย่อมน้อมนำเข้ามาในตนและฝึกตน
ย่อมสามารถบรรลุอรหัตตผลได้โดยพลัน"


ดังนี้แล้วตรัสพระพุทธภาษิตว่า
"อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น


:b44: :b44:

:b48: จบ :b48:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 17 ก.ย. 2013, 12:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ทางแห่งความดี (อาจารย์วศิน อินทสระ)

ขออนุโมทนากับความเพียรของเจ้าของกระทู้นี้ค่ะ :b8: :b8: :b8:

หน้า 3 จากทั้งหมด 3 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/