วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 12:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประจำอิริยาบถของเราแล้ว เราก็นับวันที่จะได้รับรสแห่งพระสัทธรรม คือความสงบปรากฏขึ้นที่ใจของเราทุกๆ ราย ตามกำลังความสามารถ เท่าที่ตนของตนจะพึงบำเพ็ญให้เกิดได้มากน้อยแค่ไหน ทีนี้เมื่อเราได้รับความสงบ เพราะเกิดขึ้นจากจิตที่ปล่อยวางอารมณ์แล้ว ความสุขหรือความเชื่อความเลื่อมใสความเป็นอัศจรรย์ ก็จะปรากฏขึ้นที่ใจของผู้ที่ปล่อยวางภาระในขณะนั้นนั่นเทียว


เมื่อใจของเราได้รับความสงบเยือกเย็นแล้วเช่นนี้ แม้จะถอนออกมาแล้วก็ตาม ใจย่อมจะมีความเชื่อความเลื่อมใส ความยินดี ความกระหยิ่มอยู่เสมอว่า เราได้ทำอยู่ในขณะนั้นได้ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมาในใจเช่นนั้น แล้วจะได้เพิ่มความพากเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป การที่เราจะอบรมจิตใจของเราให้เป็นไปเพื่อความสงบ ก็นับวันว่าทำได้ง่ายเป็นลำดับไป และมีความสงบได้อย่างเร็วโดยลำดับไป จนปรากฏว่าเรานั่งอยู่ในสถานที่ใด เราจะกำหนดใจของเราให้เข้าสู่ความสงบ ในกาลใด ในสมัยใด ก็ได้ตามความต้องการ นี่คือความสงบที่ได้ถูกอบรมจนชำนิชำนาญแล้ว นั่งอยู่ที่ไหนก็ปรากฏว่ามีความสุขเกิดขึ้นจากใจของเราเสมอไป ทีนี้เราอยู่ที่ไหน ไปที่ใดก็จะเริ่มเห็นตนว่ามีราคา เป็นผู้มีคุณค่าควรแก่พระศาสนา เป็นภาชนะอันสำคัญ ที่จะรองรับพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้ทุกประเภท ทุกประการ


การอบรมจิตใจให้เป็นไปเพื่อความสงบเยือกเย็นนี้ นอกจากว่าเราจะละจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะไปสู่โลกไหน โลกสูงขนาดไหน แม้ปัจจุบันอยู่ ณ บัดนี้ เราก็อยู่แผ่นดินเช่นเดียวกับมนุษย์เขา แต่ความสุขก็ปรากฏว่า เด่นชัดอยู่ที่ใจของเรา ทั้งที่เราอยู่ในพื้นแผ่นดิน อยู่ในบ้านในเรือน เดินเหินไปมาเช่นเดียวกับมนุษย์ในโลกนี้ แต่ความสุขที่ปรากฏอยู่ที่จิตใจของเรา รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อัศจรรย์อยู่ ณ ภายในจิตใจ อันเกิดขึ้นจากการอบรมใจของเราให้เป็นไปเพื่อความสงบ เมื่อใจของเราได้รับความสงบเยือกเย็นแล้วเราก็มีต้นทุน หรือมีช่องทางที่จะพินิจพิจารณา ให้เห็นสภาวะทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นของมีอยู่ได้โดยถูกต้อง สภาวะนั้นๆ ท่านก็กล่าวว่าเป็นสิ่งแวดล้อม คำว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นได้ ๒ นัย คือ


ผู้ที่มีความโง่เขลาเบาปัญญา หนักไปในทางชั่ว สิ่งทั้งหมดก็กลายเป็นสิ่งที่เสริมความชั่วไปโดยลำดับ


ผู้ที่มีความหนักแน่นในด้านศีลธรรม เช่น เป็นผู้หนักไปในทางสงบ สิ่งทั้งหลายก็กลายเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ได้รับอุบายจากความสัมผัส เป็นการเสริมความสงบให้มีกำลัง และในขณะเดียวกัน เราอาจพิจารณาไตร่ตรองถึงสิ่งแวดล้อมที่มาสัมผัสให้เป็นไปโดยธรรม และถือเอาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมนั้นๆ มาสัมผัส


อีกประการหนึ่ง ท่านผู้ที่ปฏิบัติทั้งหลายพึงทราบว่า คำว่า ความสงบนั้นเป็นสาธารณะ คำว่า สมาธิ คือจิตตั้งมั่นลงในขณะจิตรวม เมื่อจิตถอนขึ้นมาแล้ว ความสงบเยือกเย็นของใจนั้น ไม่ได้ละตามสมาธิที่ถอนขึ้นมา คงมีความสงบ คงมีความเยือกเย็นอยู่ แม้เราจะคิดจะปรุงเรื่องราว หรือคิดอ่านการงานอันใดก็ได้ตามต้องการ แต่ใจของเรามิได้มีความฟุ้งซ่านวุ่นวาย มิได้ติดข้องหม่นหมองไปตามความที่เราคิดไปในสิ่งนั้นๆ นี่ท่านเรียกว่า ความสงบเป็นของประจำตัวอยู่เสมอ สมาธิ คือ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความแน่นหนามั่นคงของใจขณะที่จิตรวมลงไป หรือจะเรียกว่าสมาธิเป็นของแน่นหนามั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ แม้จะคิดจะปรุงจะแต่ง อันนี้ก็แล้วแต่ท่านผู้ที่จะให้ชื่อให้นาม เมื่อสมาธิของเราเป็นต้นทุนแล้วเช่นนี้ เราย่อมมีช่องทางที่จะพิจารณาสภาวะ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา


เราจะพิจารณาเรื่องกองทุกข์เราก็ไม่ต้องเอื้อมไปดูที่ไหน เราจะเห็นอยู่ได้ภายในตัวของเราว่าเป็นก้อนทุกข์ทั้งนั้นทีเดียว เราจะต้องบำบัดรักษาอยู่เสมอ พิจารณาไปสภาพใด อาการใด จะเป็นอาการของทุกข์ทั้งนั้น พิจารณาส่วนใดเป็นต้นว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง เราก็จะเห็นชัดว่า มันเป็นไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แม้ที่สุดอาการของใจที่ปรุงอยู่ แต่งอยู่คิดอยู่ก็ตาม เป็นสภาพที่ไม่แน่นอนทั้งนั้น ปรุงเท่าไรก็ดับไปเท่าๆ กับความปรุง คือความเกิดมีมากน้อยเท่าใด ความดับก็มีมากน้อยเท่ากันเช่นนั้น นี่เรียกว่า ปัญญาของเราเริ่มไหวตัว


ถ้าจะพูดถึงเรื่องอนัตตา เราพิจารณาดูว่า สภาพเหล่านี้ในเมื่อได้จากอัตภาพนี้ไปแล้วเขาเรียกว่าคนตาย สภาพไหนบ้างที่มีอยู่ในร่างกายของเรานี้ที่จะติดตัวของเราไป แม้แต่ผมเส้นเดียวก็ไม่ติดตัวไป ทิ้งเกลื่อนอยู่ในโลกธาตุอันนี้ ส่วนดิน เมื่อร่างกายของเราได้แตกลงไป ก็กลายเป็นดินไปตามเดิม เป็นลม เป็นไฟ เป็นน้ำ ไปตามสภาพของเขา ปฏิเสธในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นหญิงเป็นชายทั้งนั้น เมื่อเราพิจารณาเห็นชัดด้วยปัญญาเช่นนี้ ภายนอกเราก็เห็นเช่นเดียวกับภายใน ภายในก็เห็นเช่นเดียวกันกับภายนอก เราพิจารณาภายนอกก็ส่อถึงการพิจารณาภายใน คือ สภาพทั้งภายนอกภายในนั้น มีความเป็นเช่นเดียวกัน คือ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เช่นเดียวกัน นี้เรียกว่า เราพิจารณาด้วยปัญญาของเรา


เมื่อปัญญาของเรามีความสามารถได้ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ เรื่องของสมาธิ คือ ความแน่นหนามั่นคง ความสงบของใจก็ยิ่งมีกำลังมาก เรายิ่งมีความสุข และยิ่งมีความเห็นภัย แม้ที่สุดในสภาพที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วสกลกายนี้ เราจะเห็นว่าเป็นกองทุกข์ หรือกองเพลิงอันหนึ่ง ที่ได้รับการเยียวยารักษา หรือก่อความกังวลให้กับเราอยู่ตลอดเวลา เราจะได้เห็นโทษในส่วนนี้ สภาพทั้งหลายที่อยู่รอบด้านของเรานี้เล่า เราก็จะได้เห็นตามเป็นจริง ตามสภาพของเขาเช่นนั้น เบื้องต้นก็ต้องมีการตำหนิติชม โดยมากก็ต้องมีความรักเป็นธรรมดา เมื่อเราพิจารณาเห็นสภาพเหล่านั้นชัดเจนด้วยปัญญาของเราแล้ว ความยึดมั่นถือมั่น ก็ย่อมปล่อยวางมาจากความเห็นชอบ เห็นแจ้งเห็นชัดเจนนั่นเอง เมื่อยังไม่เห็นชัดก็ย่อมสำคัญมั่นหมาย หรือย่อมมีความสงสัยเป็นธรรมดาและถือมั่นเอาไว้ ต่อเมื่อปัญญาได้คลี่คลายดูสภาพทั้งหลาย เห็นแจ้งเห็นชัดเจนตามความเป็นจริงแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็ค่อยหดตัว หรือปล่อยวางเข้าสู่ความสงบ


นี้เรียกว่าปัญญาเริ่มไหวตัวก้าวขึ้นสู่ความชำนาญ เมื่อเราได้พิจารณาอยู่เช่นนี้แล้ว ใจของเราจะมีอะไรมาทำให้เศร้าหมองได้เล่า ย่อมมีความขะมักเขม้น และมีความระมัดระวังรักษาตัวอยู่อย่างเข้มแข็ง สติก็กล้า ปัญญาก็รอบตัว ความเพียรก็มีอยู่ตลอดเวลา เห็นภัยในโลกก็เห็นมาก เห็นคุณที่จะข้ามพ้นไปจากความทุกข์ความทรมานทั้งหลายก็เห็นมาก ที่กล่าวนี้ทั้งหมด กล่าวถึงสภาพทั้งหลาย อันเป็นไปในทางด้านวัตถุ ซึ่งเคยสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับจิตมาเป็นเวลานาน จนไม่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สามารถจะกำหนดรู้ได้ว่า ส่วนไหนเป็นภัยแก่จิต เพราะความกลมกลืนกันโดยสามัญสำนึก ทีนี้ส่วนธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อาการทั้ง ๔ นี้ ท่านก็เรียกว่า ขันธ์แต่ละอย่างๆ เหมือนกัน องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงได้ตรัสไว้ว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข


ความสุขอันยิ่งใหญ่นั้น ไม่นอกไปจากตัวของเราเอง รูปขันธ์อันนี้ก็เป็นสังขารประเภทหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ เมื่อเราได้พินิจพิจารณาถึงสังขารธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ชัดแจ้งด้วยปัญญาแล้วนั้น เราสามารถจะรู้เท่าทันในธรรมทั้งหลายไม่เพียงแต่รูปกายของเรา รูปภายนอกจะใกล้จะไกล จะสูงต่ำ หยาบ ปานกลาง หรือเล็กก็ตาม มีค่ามีราคาหรือไม่มีก็ตาม ตามความสมมุตินิยมของโลก เราสามารถที่จะรู้เท่าทันปล่อยวางได้ทั้งนั้น นี่ท่านเรียกว่า ปล่อยวางได้ในสังขารธรรมประเภทหนึ่ง ส่วนสังขารธรรมประเภทที่สำคัญที่สุดก็คือ สังขารธรรมประเภทที่เกิดขึ้นในใจของเรา ได้แก่ความปรุงหรือความคิดของใจ


ท่านว่าการระงับสังขารธรรมทั้งหลายเหล่านั้นได้แล้ว เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่นั้น หมายถึงสังขารธรรมที่เป็นเหตุ เป็นตัวสมุทัยเกิดขึ้นมาจากความลุ่มหลง เมื่อเราสามารถรู้เท่าทัน ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณของเราได้แล้ว ความที่ว่าระงับดับเสียซึ่งสังขารนั้น คือ ระงับสังขารภายในด้วยปัญญาของเรา ถอดถอนอุปาทานความถือมั่นเป็นลำดับเข้าไป อุปาทานเกิดขึ้นมาจากไหน อุปาทานก็เกิดขึ้นมาจากความไม่แน่ ไม่จริง ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งของใจ ที่เป็นความรู้ภายใต้อำนาจของอวิชชาและความสงสัย จึงเป็นเหตุที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นในความสงสัยประเภทนั้นๆ หรือไม่สงสัย แต่เป็นไปเพราะอำนาจอวิชชามันบังคับเสียเลยว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้น่ารัก สิ่งนี้น่าชัง เป็นต้น ไม่สงสัยว่าสิ่งนี้ดีจริงหรือชั่วจริง แต่มันก็ถือได้เหมือนกัน นี่ท่านก็เรียกว่า อวิชชา


เมื่อใจของเราได้พิจารณาคลี่คลายดูสังขารธรรม เห็นชัดในภายนอกตามเป็นจริง และพิจารณาคลี่คลายสังขารภายใน ให้รู้ชัดตามเป็นจริงแล้ว ความปล่อยวางในสังขารธรรมนั้นเราไม่ต้องบังคับ มันปล่อยเองด้วยความรู้แจ้งเห็นชัด สละทิ้งด้วยปัญญา ทีนี้คำว่าการระงับดับเสียซึ่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุขนั้น สังขารที่เป็นตัวผล ได้แก่รูปธาตุอันนี้ สังขารที่เป็นตัวเหตุ ได้แก่ความคิดความปรุงว่าดีว่าชั่ว ว่าหยาบว่าละเอียดเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากใจ เรียกว่าความคิดก็ได้ หรือเรียกว่าสังขารก็ได้ สังขารอันนี้เกิดขึ้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาจากการบงการของอวิชชา เมื่อเราได้พิจารณาด้วยปัญญาส่วนละเอียด ค้นเข้าไปจนถึงหลักเดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งอยู่ของอวิชชาคืออะไร


เมื่อค้นเข้าไปถึงหลักเดิมของอวิชชา อันเป็นตัวกิเลสอย่างละเอียด ด้วยปัญญาอันละเอียดแล้ว ตอนนี้เทียบได้กับสงครามใต้ดิน คือ ถ้าเรายังเห็นอีกว่า อวิชชากับตัวเราเป็นอันหนึ่งจากกันและกันอยู่แล้ว อวิชชากับเรา ก็คงจะเป็นข้าศึกแก่กันไปตลอดเวลา ไม่ทราบว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ เพราะอวิชชาก็คือความหลง เราเป็นผู้หลงเอง ทีนี้ผู้ที่จะรบก็คือเรา แต่เราไปคิดเสียว่า อวิชชาเป็นผู้หนึ่งจากใจของใจ หรือใจเป็นผู้หนึ่งจากอวิชชา แล้วอวิชชากับเราก็คงเป็นข้าศึกแก่กัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เสมอไป ทีนี้เมื่อเราได้พิจารณาถึงขั้นนี้แล้ว อวิชชาทั้งหมดจะปรากฏขึ้นโดยทางปัญญาว่า “นอกจากเราเท่านั้น ไม่มีใครเป็นอวิชชา เราทั้งหมดเป็นผู้หลงเท่านั้น”เมื่อเราได้ความชัดเช่นนี้แล้ว อวิชชาก็หลุดออกไปจากตัวเรา เราก็กลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา


ความหลง ก็คือเราผู้นี้ เมื่อกลายเป็นผู้รู้ด้วยอำนาจปัญญา ก็คือเราผู้นี้ นอกจากเราหลงแล้ว ไม่มีใครหลงในโลก นอกจากเราจะรู้แล้ว ไม่มีใครจะรู้ในโลก ผลแห่งการวินิจฉัยในระหว่างอวิชชากับเรา ได้ลงเอยกันตรงที่ว่า “อวิชชาไม่ใช่ใคร นอกไปจากตัวของเรา” ทีนี้เราก็ทราบว่า เราเป็นตัวโทษ ก็ปรากฏเป็นองค์คุณขึ้นมา เทื่อเราทราบว่า เราเป็นผู้หลง ก็ปรากฏเป็นผู้รู้ขึ้นมาที่ใจดวงนี้แล้ว จึงจะหมดปัญหาในเรื่องที่ว่า “เราคือใคร อวิชชาคือใคร และวิชชาคือใคร” คือตัวของเราคนเดียวแล้วนั่นแล จึงจะจัดว่าระงับสังขารเสียได้ตามบทธรรมที่ว่า “เตสํ วูปสโม สุโข”


ความระงับดับเสียซึ่งสังขาร ซึ่งเป็นไปเพราะอำนาจแห่งอวิชชา เมื่ออวิชชาดวงนี้ได้ดับสนิทลงไปแล้ว แม้สังขารจะปรุงขึ้นมาก็ตาม เช่นพระพุทธเจ้าเมื่อท่านได้ตรัสรู้แล้ว ท่านก็คงใช้ขันธ์นี้ประกาศพระศาสนาอยู่เสมอไป ท่านจะต้องอาศัยพระรูป คือกายของท่านเอง อาศัยสังขาร อาศัยความจดจำที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” นี้ตลอดไป จนกระทั่งถึงวันท่านเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน แต่ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เลยกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ เป็นทวารของจิตเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นกิเลสตัณหา อวิชชาแต่อย่างใด เพราะเหตุใดเล่า เพราะอวิชชาได้ถูกทำลายเสียแล้ว ด้วยอำนาจของปัญญา ฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ นี้จึงเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่ปรากฏเป็นกิเลสตัณหาสืบต่อไป จึงเรียกว่า “การระงับดับเสียซึ่งสังขาร เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่”


ทีนี้เมื่อขยายออกไปถึงสังขารภายนอก คือรูป จะมีมากน้อย กว้าง แคบ ขนาดไหนก็ตาม เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ตาม ปรากฏว่าเป็นสภาพปกติไปตามๆ กัน ย่นเข้ามาภายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของตนก็ปรากฏว่าเป็นสภาพอันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นบาป เป็นบุญ เป็นกิเลสตัณหามานะ แต่อย่างใด เพราะอำนาจแห่งปัญญาได้รู้เท่าทัน ตัวเสนียดจัญไร ที่สำคัญที่สุดก็คืออวิชชาที่ดวงใจ และได้ถูกกำจัดไปเสียแล้วด้วยปัญญา จึงไม่มีอันใดที่จะปรุงแต่งให้เป็นสังขารอันเป็นสมุทัยขึ้นมา ก่อความรำคาญหรือความกังวล ก่อให้เกิดแก่เจ็บตายไปได้ นี้แหละท่านเรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข


เมื่ออวิชชาไม่มีแล้ว สิ่งที่จะปรุงแต่งเป็นรูปกาย เป็นชาย เป็นหญิง เป็นภพเป็นชาติ เป็นความแก่เจ็บตาย หรือเป็นกองทุกข์ทรมานอีกต่อไปนั้น จึงไม่มีจากสังขารใด มีจากสังขารที่เกิดขึ้นมาเพราะอวิชชาเท่านั้น เมื่อสังขารนั้นได้ดับไปเสียแล้ว เพราะอวิชชามันดับ อวิชชานั้นจัดเป็นสมุทัยอันใหญ่หลวงได้ถูกทำลายลงเสียแล้ว สังขารที่ปรากฏในขันธ์ ๕ นี้ จึงเป็นสังขารล้วนๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อท่านผู้รู้อีกต่อไป จึงเรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข


ความระงับดับเสียได้ซึ่งสังขารภายใน อันเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติ และสังขารภายนอก คือกาย อันเป็นตัวผลสืบเนื่องมาจากสังขารภายใน พร้อมทั้งสังขารโดยทั่วๆ ไปด้วยปัญญา สังขารที่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เหลือทั้งหลาย จึงกลายเป็นของธรรมดาตามสภาพของเขา และมีอยู่ตามธรรมดาของเขา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ไฟเป็นไฟ ลมเป็นลม ไม่ติดตามใครไปทั้งนั้น นอกจากใจซึ่งเป็นเจ้าแห่งความลุ่มหลง ที่ไปเที่ยวก่อภพก่อชาติ ก่อกำเนิดก่อเป็นรูปเป็นกาย เป็นสังขารขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่สังขารตัวนี้มันเป็นสังขารตัวผล ไม่ใช่สังขารตัวเหตุ สังขารตัวเหตุได้แก่สังขารตัวที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งอวิชชา เมื่ออวิชชาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว จึงจะครองสังขารอันนี้ไปก็สักแต่ว่าครองอยู่เท่านั้น พอประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็แตกกระเด็นลงไปตามสภาพของเขา ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นเป็นวิมุตติตามเดิมของสภาพที่บริสุทธิ์นั้น ไม่ปรากฏว่าจะเข้าสู่ภพสู่ชาติสู่ความแก่เจ็บตาย เป็นสังขารขึ้นมาอีก นี้เรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารทั้งหลาย เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ดังนี้


ทีนี้การอบรมจิตใจของเรา ก็เพื่อจะทำตนของตนให้พ้นอุปสรรค หรือสิ่งกีดขวางความทุกข์ความทรมานทั้งหลาย ให้ได้มีความราบรื่นในคติของตนๆ ไปเป็นลำดับๆ ถ้าหากว่าเราไม่สามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุดก็ตาม คุณงามความดีทั้งหมดที่เราทำไว้นี้จะเป็นนิสัยปัจจัยของเรา ให้ได้ต่อภพต่อชาติที่ดี สมความมุ่งมาดปรารถนาต่อไป เพราะความเกิดนี้มีช่องมากที่สุด ถ้าเราไม่ได้ทำคุณงามความดีไว้แล้ว เราอาจเกิดผิดพลาดจากความปรารถนาของเรา ห่างไกลกันเหมือนฟ้ากับแผ่นดินเลยทีเดียว ให้เราคิดใกล้ๆ อย่างนี้ เรามองเห็นด้วยตาของเรา เช่นอย่างที่นั่งอยู่ด้วยกันบัดนี้มีทั้งคนชั้นสูง มีทั้งคนชั้นกลาง มีทั้งคนชั้นต่ำ มีทั้งคนมั่งมีคนจน มีทั้งคนโง่คนฉลาด ความเป็นทั้งนี้ใครได้ปรุงให้เรา ได้สมความปรารถนาหรือไม่นั้นเป็นขึ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมที่ทำไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ควรสั่งสมกรรมที่ดีไว้ เพื่อให้สมหวังในอนาคต คือกาลข้างหน้า


เพราะอำนาจของกรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราเป็นผู้มีอำนาจทำกรรม แต่กรรมก็สามารถหรือมีอำนาจที่จะให้ผลแก่เรา เมื่อกรรมให้ผลแล้วเป็นกรรมดี เราก็ดีเป็นคนมั่งมี เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีอำนาจวาสนา มีบุญญาภิสมภาร ต่างจากมนุษย์ทั้งหลาย ที่เกิดมาเป็นชาติมนุษย์ด้วยกัน ถ้าเป็นกรรมชั่ว ผลที่ได้รับก็ชั่ว รูปกายไม่สมประกอบ เต็มไปด้วยความขาดแคลนกันดาร ชื่อว่าทุกข์ในโลกที่เราเกิดนั้น ปรากฏว่าไหลมารวมอยู่กับเราผู้เดียวหมด เช่นเดียวกับส้วม เป็นที่ไหลมารวมแห่งมูตรคูถทั้งหลายฉะนั้น กรรมจึงเป็นเหมือนพรหมลิขิต ผู้ที่รอให้บำเหน็จบำนาญแก่เรา ผู้ทำกรรมดีและกรรมชั่วตลอดเวลา


เพราะฉะนั้น จงพยายามอบรมจิตใจของเรา ให้เป็นผู้มีอำนาจวาสนาขึ้นที่ใจของเรา เราไม่ได้มุ่งที่จะมีอำนาจวาสนาบังคับบัญชาผู้ใดก็ตาม เราเป็นผู้มีอำนาจวาสนาบังคับบัญชา กาย วาจาและจิตใจของเราให้ได้ทำคุณงามความดี หรือได้ทำผลทำประโยชน์แก่โลกแก่ธรรมได้ ตามความต้องการของเราเท่านี้ก็ยังเป็นการดี ดีกว่าบุคคลผู้ที่ไม่เคยสนใจและไม่เคยได้บำเพ็ญทางธรรมมาเลย เมื่อเราเป็นผู้มีอำนาจวาสนาแก่กล้าแล้ว คำว่า เตสํ วูปสโม สุโข พระพุทธเจ้าท่านก็มิได้ผูกขาด วางธรรมคำสั่งสอนลงไว้เพื่อให้เป็นมรดกสำหรับพวกเราทั้งหลาย จะได้ดำเนินเดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า เพื่อส่งเสริมอำนาจวาสนาบารมีของตน จนถึงจุดมุ่งหมายสุดท้าย คือ มรรค ผล นิพพาน ก็ย่อมเป็นของเราแต่ผู้เดียว ซึ่งจะเรืองอำนาจในคุณงามความดีของตน


ฉะนั้น การอบรมจิตใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากว่าเราจะมุ่งวิมุตติพระนิพพาน แต่เมื่อยังไม่สมความมุ่งมาดปรารถนา เพราะการกระทำหรืออำนาจวาสนาบารมีของตนยังไม่แก่กล้าเพียงพอที่จะหลุดพ้นไปได้ เรายังได้ไปถูกจุดหมาย ในกำเนิดที่เราจะเกิดข้างหน้า เราจะมีชีวิตก็มีอยู่ด้วยความราบรื่น เกิดในภพใด โลกใด แดนใดก็ตาม จะเป็นแดนที่มีความสำราญบานใจ เพราะอำนาจแห่งธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า


ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺจารึ


พระธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปที่ชั่ว ดังนี้


คำว่า “พระธรรมเป็นเครื่องรักษานั้น” รักษาอย่างไร เบื้องต้นเราต้องรักษาธรรมเสียก่อน เช่น สภาการศึกษาที่เรานั่งฟังเทศน์อยู่ ณ บัดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือตามธรรมดาของตน ย่อมเกิดขึ้นจากการก่อร่างสร้างขึ้นของบุคคล หรือของท่านผู้มีใจบุญทั้งหลาย ศรัทธารวมกันเข้าหลายท่านหลายคนแล้วก่อร่างขึ้นก็เป็นสภา ฯลฯ เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ร่มเย็น เป็นสุขสำหรับเรา ฝนตกแดดออกเราก็ไม่ต้องเดือดร้อน วิตกวิจารณ์กับสิ่งเหล่านั้น เรานั่งอยู่สบาย นี่เพียงสภาการศึกษา หรือบ้านเมืองของเรานั้นยังรักษาความปลอดภัยให้เราได้หลายประการ สิ่งเหล่านี้อาศัยเราทำขึ้นจึงกลายเป็นสิ่งที่รักษาเราได้ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เบื้องต้นเราจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติธรรม รักษาธรรม คือรักษา กาย วาจา ใจ ของตนให้เรียบร้อย ให้มีความสงบ ให้เป็นไปด้วยความราบรื่นในทางธรรม ด้วยอำนาจแห่งการรักษาธรรมนี้แหละ พระธรรมจะต้องรักษาเรา เราเกิดมาในสถานที่ใด อำนาจของธรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้แล้ว จะตามสนับสนุนเรา ให้ได้มีความอยู่เย็นเป็นสุขในทุกภพทุกชาติ ตลอดกาลที่เรายังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร เมื่อเรามีอำนาจวาสนาแก่กล้าแล้ว ก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ปรากฏเป็น เตสํ วูปสโม สุโข


ความระงับดับเสียซึ่งเครื่องกังวล คือสังขารทั้งหลายเหล่านี้เสียได้ ให้ถึงฝั่งฟากโน้น คือ พระนิพพาน


ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จงมาปกเกล้าเหล่าท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้มีความสุขกายสบายใจ ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ


เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระธรรมเทศนา
แสดง ในโอกาสบำเพ็ญกุศลสตมวารและบรรจุศพ
นางทิพย์ พงศ์พิพัฒน์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ฺมรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโตติ


บัดนี้ จะแสดงธรรมมิกถาพรรณนาศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมีของท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีท่านเจ้าภาพเป็นต้น ซึ่งงานนี้เกี่ยวกับคุณแม่ทิพย์ พงศ์พิพัฒน์ ได้มรณกรรมไป เจ้าภาพมีการบำเพ็ญกุศลอุทิศถึงท่านตลอดมามิได้ขาด นับแต่วันมรณกรรมจนถึงวันนี้ และวันนี้ท่านเจ้าภาพ มีวิสารทศรัทธาคือเป็นผู้มีศรัทธาแกล้วกล้าในพระพุทธศาสนา นิมนต์ให้อาตมามาแสดงธรรม เพื่อเป็นอุบายแก้ไขสิ่งที่ขัดข้องซึ่งอาจมี และเป็นคติเครื่องเตือนใจให้สำเร็จประโยชน์ เป็นธรรมสวนามัยอานิสงส์สืบต่อไป ตามกระทู้ธรรมที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโต ดังนี้แปลใจความว่า เรามีความตายแน่นอน จะหลีกเลี่ยงไปไม่พ้นทั้งคนทั้งสัตว์ไม่มีประมาณซึ่งมีอยู่ในโลก จะไม่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเล็ดลอดออกจากความตายซึ่งขวางหน้าอยู่นี้ได้


ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า อย่าพากันประมาท เมื่อถึงคราวจวนตัวจะเสียหลัก ยึดอะไรไม่ทัน เพราะความตายเป็นคติธรรมดาของทุกคนจะต้องยอมรับ จึงควรพิจารณาเนืองๆ เพราะเป็นสิ่งที่ติดแนบอยู่กับตัวทุกคน ที่ท่านสอนอย่างนี้ ก็เพื่อเตือนหมู่ชนให้รู้ความจำเป็นสำหรับตัว และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ามรณกรรมด้วยความองอาจกล้าหาญ ตามหลักธรรมที่ได้อบรมมา มิได้สอนเพื่อให้จิตใจมีความโศกเศร้าเหงาหงอย และเกิดความท้อใจและเบื่อหน่ายต่อชีวิต ไม่อยากขวนขวายในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จะประกอบการงานใดๆ ก็คิดถึงแต่เรื่องความตายจนไม่เป็นอันกินอยู่หลับนอน ทำให้การครองชีพทุกอย่างล้มเหลวไปหมด แต่สอนเพื่อให้เกิดสติปัญญารู้เท่าทันสิ่งที่มีอยู่กับตัว และสิ่งเกี่ยวข้องซึ่งมีเกิดมีดับ มีได้มาและเสียไป อยู่ทำนองนี้เป็นประจำทั่วโลกดินแดน จะมีวิธีใดบ้างซึ่งสามารถต้านทานเพื่อหลีกเว้นไปได้โดยปลอดภัย ไม่เสียท่าเสียที ซึ่งทั้งโลกจะต้องประสบด้วยกันทุกราย หนีไม่พ้นแน่นอน
การประสบของโลกที่เกี่ยวกับมรณภัยนี้ ย่อมมีผู้ได้เปรียบและเสียเปรียบต่างกัน เพราะความรู้มีลึก ตื้น แหลม คม ต่างกัน ดังนี้ ท่านจึงสอนอุบายวิธีไว้ เพื่อเป็นเครื่องพิจารณาว่า “ชราธมฺโมมฺหิ” เรามีความแก่ประจำขันธ์บ้าง “มรณธมฺโมมฺหิ” เรามีความตายประจำตนบ้าง สำหรับความแก่เป็นภัยอันหนึ่งซึ่งบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาไม่นิยม กาล สถานที่ เช่น กลางวัน กลางคืน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เดือน ปี วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระ วันโกน เป็นวันผ่อนงานหยุดงาน แต่เป็นวันทำงานเพื่อความแก่ไปตลอดสาย และบีบคั้นอยู่ทำนองนั้นตลอดไป ท่านจึงสอนไว้ว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนักยิ่ง เพราะรบกวนและบีบคั้นอยู่เสมอมา อกาลิโก ภูเขาทั้งลูก แม้จะใหญ่โตและสูงจรดฟ้า ก็มิได้มาเกี่ยวข้องและบีบบังคับเราให้เป็นทุกข์หรือลำบากด้วย พอจะจัดว่าเป็นภาระกับเขา


ส่วนธาตุขันธ์ที่มีอยู่กับตัวนี้เป็นภาระที่ทำความกดถ่วง และรบกวนอยู่ตลอดเวลาทุกๆ อาการที่เคลื่อนไหวไปมา เป็นการทำเพื่อระบายทุกข์และบรรเทาทุกข์ พออยู่ได้ไปวันและเวลาหนึ่งๆ ไม่ให้บีบคั้นจนเกินไป นอกจากขันธ์รบกวนเป็นประจำแล้ว ผู้รับผิดชอบในขันธ์ยังต้องคอยระวังรักษา และทำการขวนขวายเพื่อเยียวยาพอประทังๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องแสนกังวลไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้ แม้เช่นนั้น ก็ยังมีการรบกวนได้จากสาเหตุนานาชนิด เช่น เกิดโรคภัยต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นภัยแก่มวลมนุษย์และสัตว์ไม่มีประมาณ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะควรคิดปฏิบัติอย่างไรในทางสติปัญญา อันเกี่ยวแก่คุณธรรมเครื่องป้องกัน และรักษาตนให้พอเหมาะพอควรต่อขันธ์ ไม่ลุ่มหลงจนเกินไปทั้งฝ่ายเพลิดเพลินและเศร้าโศกที่มีขันธ์เป็นเหตุ นี่เป็นปัญญาสำคัญที่เราควรพิจารณาเสมอ


ดังที่เรามาในงานศพวันนี้ ทางที่ถูกตามธรรมแล้วก็คือมาเยี่ยมญาติ เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันนั่นเอง ไม่เพียงคิดว่ามาเยี่ยมศพ มาให้เกียรติศพ หรือมาให้เกียรติท่านผู้เป็นเจ้าภาพเท่านั้น แต่เป็นการมาปลงธรรมสังเวชด้วย ว่าทั้งท่านและเราที่อยู่ในโลกอนิจจัง อันเป็นโลกไม่แน่นอน ทั้งที่เป็นมาแล้ว ทั้งที่กำลังเป็นไปอยู่ และกำลังเป็นไปในอนาคตไม่มีสิ้นสุด ย่อมมีสภาพเช่นเดียวกันกับที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ แม้ตัวเราเองซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์อยู่ ณ บัดนี้ ก็จำต้องมีวันหนึ่งซึ่งจะเป็นเช่นนี้แน่นอน นี่คือธรรมสังเวช ยาแก้ความลืมตัวในการมาเยี่ยมศพและเวลาปกติธรรมดา เรียกได้ว่า “โอปนยิโก” สามารถน้อมเอาเรื่องของคนอื่นเข้ามาสู่ตัวเราได้ ไม่เสียเวลาที่ได้มาพบเห็นเทวทูต คือ ผู้เตือนอย่างประเสริฐ


การพิจารณาความตายอันเป็นสัจธรรมเป็นอารมณ์ ย่อมเกิดสติปัญญาศรัทธาเชื่อมั่นในตัวเอง และกล้าหาญต่อความตายอันจะมาถึงตัวในวันข้างหน้า ทั้งเป็นผู้สนใจต่อการบำเพ็ญกุศลไม่อ่อนแอ เพื่อเป็นเครื่องยึดและเครื่องมือช่วยตัวเองในการเข้าสู่สงคราม คือ มรณกรรม อันเป็นสงครามล้างโลกโศกศัลย์สำหรับตัวโดยเฉพาะ ซึ่งใครๆ ไม่มีทางช่วยได้ การเรียนรู้ความเป็นอยู่ความเคลื่อนไหว ความเป็นไปของตัว ทั้งทางธาตุขันธ์และทางจิตใจด้วยดี จัดเป็นวิชาอันยอดเยี่ยมในไตรภพ และเป็นวิชาที่ทำคนให้องอาจและสม่ำเสมอต่อเหตุการณ์ได้ดี


ฉะนั้น การเรียนและอบรมในวิชาธรรมเพื่อรู้เรื่องของตัวจึงมิใช่เรื่องเล็กน้อย ต้องมีครูอาจารย์สั่งสอนและพาดำเนิน ไม่เช่นนั้นก็เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ หลักวิชาธรรมเป็นธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่า “สวากขาตธรรม” เพราะชอบโดย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เหตุโดยผลที่ลงในหลักความจริงไม่ผิดเพี้ยน เช่น สอนว่าทุกสิ่งมีความแปรปรวนประจำตน ก็เป็นความจริง เกิดแล้วต้องตายก็จริง ไม่ปรากฏสิ่งใดตั้งอยู่ได้ตลอดไป แต่การเกิดตายนั้นเป็นปัญหาสำคัญอยู่ที่ใจผู้เป็นเจ้าของ
เพราะใจเป็นนักท่องเที่ยวที่ลือนาม ไม่มีเวลาอิ่มพอ จนนับภพชาติที่เกิดและตายของตัวไม่ได้ เพราะมากเหลือประมาณ ที่จิตท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ถ้าสามารถเที่ยวตามเก็บเอาภพชาติของตัวที่เกิดและตายไปแล้ว มากองไว้ในแผ่นดินที่อาศัยอยู่นี้ได้ แผ่นดินนี้ก็จะเต็มไปด้วยภพชาติของบุคคลคนเดียว แม้ในมหาสมุทรที่กว้างแสนกว้าง ก็จะไม่มีที่เหลืออยู่ แต่จะเต็มไปด้วยศพที่ตายเก่าตายใหม่ และตายก่อนตายหลังของบุคคลคนเดียว ถึงเช่นนั้นเราก็ไม่มีทางทราบได้ เพราะถูกปิดไว้ด้วยความสับสนระคนแห่งภพชาติจำนวนมากมาย และความหนาแน่นด้วยโมหะอวิชชา จึงสุดวิสัยที่จะไปเที่ยวขุดค้นขึ้นมานับมาอ่านให้เสียเวลา และป่วยการเปล่าๆ สู้ตั้งหลักลงปัจจุบัน คือ ชาตินี้ดีกว่า


โดยถือว่าที่เราเกิดมานี้ ต้องมีสาเหตุพาให้เกิด และต้องมีสาเหตุพาให้เกิดมาเรื่อยๆ จนถึงชาติปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีสาเหตุ คงเกิดมาเป็นคนและเป็นสัตว์ไม่ได้แน่นอนดังนี้ แล้วเตรียมตัวสั่งสมคุณงามความดี คือ กุศลศีลทานให้พร้อมสรรพ สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ รีบจัดรีบเตรียมแต่ต้นมือ ถึงคราวจะออกท่องเที่ยว (คือเวลาตาย) จะไม่ต้องลำบาก และก่ออุปสรรคใส่ตัวเองในภพนั้นๆ เพราะการเกิดตายย่อมเป็นเหมือนเราไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ ผู้ไปต้องเตรียมทุกสิ่ง เครื่องอาศัยที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับตัวในการเดินทาง ถึงจะได้รับความสะดวกในการพักแรมในที่นั้นๆ ถ้าหาไม่จะเป็นความลำบากทุกระยะที่ผ่านไปและพักอยู่


การท่องเที่ยวในวัฏสงสารก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ผู้มีความฉลาดในเรื่องของขันธ์ดีพอสมควร หรือผู้ฉลาดทั่วถึงแล้ว ย่อมเป็นผู้พร้อมมูล เมื่อชีวิตยังอยู่ก็รื่นเริงในผลงานของตน แม้เวลาตายไปก็เป็น สุคโต คือ ไปดี ไม่มีความเดือดร้อนเสียใจ เพราะมีความอบอุ่นอยู่ภายในด้วยกุศลที่สร้างไว้อย่างพร้อมมูลแล้ว ถึงคราวมรณกาลมาถึงตัวก็ปล่อยให้ผ่านไปแบบคติธรรมดา เพราะปลง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใจมีความสงบเย็นอยู่ภายใน ไปแบบสบายหายห่วง ที่เรียกว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ผิดกับผู้ไม่ได้อบรมศึกษาอยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่รู้เรื่องของตัวเสียเลย เห็นคนอื่นเจ็บป่วยก็เดือดร้อนแทน เห็นคนอื่นตายก็เป็นทุกข์เดือดร้อนแทน บทถึงวาระของตัวเข้าจริงๆ เลยคว้าอะไรไม่ทัน และตายไปแบบหมดความหมายไร้ญาติ


ผู้เรียนรู้รอบในขันธ์แล้ว ย่อมทราบตามสภาพของมันที่เป็นอยู่ และสลายไปด้วยความมีหลักใจอันมั่นคง ไม่พะว้าพะวงห่วงหน้าห่วงหลัง อันเป็นทางเพิ่มทุกข์ให้แก่ตัวมากขึ้น จนผลสุดท้ายเป็นไฟทั้งกองเผาผลาญรอบตัวรอบใจ และตายไปแบบลอยแพหมดความหมายในตัวเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หลักวิชาธรรมของพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรียนที่กายที่จิตเป็นสำคัญ เพราะจิตเป็นผู้พาอยู่พาไป และเป็นผู้รับผิดชอบในขันธ์ จิตจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัวพอควร เราทุกคนเมื่อถึงกาลจริงๆ แล้ว จะบังคับให้อยู่ต่อไปก็ไม่ได้ ต้องไปอย่างแน่นอน และไปตามคติและกรรมนิยมของตน ไม่มีสิ่งใดจะต้านทานไว้ได้ เช่นเดียวกับพวกเรามารวมกันอยู่ในสถานที่นี้ด้วยกิจจำเป็น แต่เมื่อถึงกาลจะต้องจากกันแล้ว จะรวมอยู่กันต่อไปดังที่รวมกันอยู่ขณะนี้ย่อมไม่ได้ จำต้องจากกันไปสถานที่อยู่ของตน ซึ่งอยู่ในที่ต่างๆ กัน ใครมีหน้าที่การงานหรือสุขทุกข์ประการใด จำต้องรับผิดชอบในตัวเอง ที่เรียกว่ามาและไปด้วยความจำเป็น


อนึ่ง การเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์จะให้คงเส้นคงวาในภพชาตินั้นๆ ตลอดไปย่อมไม่เป็นฐานะที่สัตว์โลกจะพึงได้ตามหวัง จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งดีชั่วที่ตนทำไว้ต่างๆ กัน พาให้เป็นไป สิ่งที่ทำให้สัตว์โลกหมุนไปเวียนมาในภพชาติไม่มีวันจบสิ้นลงได้มีอยู่สาม คือ กิเลส กรรม วิบาก ท่านเรียกว่าวัฏวนกิเลส เป็นต้น เหตุให้สัตว์คิดนึกดีชั่ว ที่เรียกว่าทำกรรมอยู่ภายใน และระบายออกมาทางวาจาทางกาย ผลจึงทำให้สัตว์ได้รับความสุข ความทุกข์ ความดีใจและเสียใจ เพราะสิ่งที่ประสบสมหวังบ้างไม่สมหวังบ้างประจักษ์ใจที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ และมีทางที่จะประสบกับสิ่งดังกล่าวนี้ตลอดไป เมื่อมีการท่องเที่ยวในภพชาติอยู่ เพราะอำนาจกิเลสและกรรมพาให้เป็นไป


ท่านจึงสอนไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแก่ชาวเรา ผู้มีกิเลสและกรรมพาให้ท่องเที่ยวในภพชาติไม่มีประมาณว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตํ” ดังนี้ แปลความว่า กรรมย่อมจำแนกแจกสัตว์ให้เลวทรามและประณีตต่างๆ กัน ฉะนั้น สัตว์โลกที่เกิดมาในภพต่างๆ จึงมีรูปร่างลักษณะ ดี-ชั่ว-สุข-ทุกข์ เป็นวิบากติดตามมาต่างกันจนประมาณไม่ได้ ผู้ฉลาดจึงเลือกเฟ้นในกิจที่ทำกรรมที่สร้าง ก่อนลงมือทำ ไม่ทำแบบสุ่มเดาเอาตามความชอบใจ จึงเป็นผู้มีหวังได้ครองความสุขความสมหวังในภพชาติที่เกิดกำเนิดที่อุบัติ และมีหวังที่จะกำจัดภพชาติให้น้อยลงเป็นลำดับ ซึ่งเป็นการตัดทอนความทุกข์ทรมาน แห่งการท่องเที่ยวในสงสารให้สั้นเข้าทุกระยะอีกด้วย


คำว่าพุทธศาสนา ถ้าเทียบทางด้านวัตถุก็คือแบบแปลนของท่านผู้รู้นั่นเอง นำออกสั่งสอนสัตว์เพื่อรู้วิธีดำเนินความประพฤติทางกาย วาจา ใจให้ถูกทาง ผลเป็นความสุขความสมหวัง พระพุทธเจ้าทรงทำการประกาศสอนโลกมาเป็นเวลานาน และได้ผลเกินคาดหมายตลอดมา ผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นตามหลักธรรมที่สอนไว้ ย่อมทรงตัวอยู่ได้ด้วยความดี ไม่ลุ่มหลงไปตามมรสุมที่พัดผันอยู่ทั้งวันทั้งคืนที่สามัญสำนึกชอบและตกอยู่ใต้อำนาจของมัน ไม่สนใจศึกษาอบรมธรรมอันเป็นทางแก้ไข ยังพยายามคิดและสั่งสมขึ้นเผาผลาญตนจนหาทางออกไม่ได้อีกด้วย ที่เรียกว่าจมไปเลยเท่านั้น ทั้งนี้เพราะขาดความคิดอ่านไตร่ตรองความยับยั้ง จึงไม่มีโอกาสเข้ามาสนองได้ สุดท้ายก็แสดงความหมดหวังว่า “กรรมของสัตว์” ไปตามๆ กัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พวกเราชาวพุทธ ซึ่งเป็นบริษัทของท่านผู้บริสุทธิ์ ทั้งพระทัยและพระโอวาทที่สั่งสอน เมื่อมาพบกับความวิโยคพลัดพรากอย่างนี้ได้คิดและสะดุดใจอย่างไรบ้างหรือไม่ สมกับเราเป็นชาวพุทธที่ใคร่ครวญ หรือมีแต่การคร่ำครวญระทมทุกข์ไม่มีจบ และลงเอยแบบไม่เป็นท่าทั้งผู้จากไปและผู้ยังอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็นับว่ามาเพื่อก่อทุกข์และกลับไปเพื่อเสริมทุกข์ ไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้ อันนับว่าไม่สมควรแก่เราอย่างยิ่งที่จะอาภัพ ต่อการคิดหาทางปลดเปลื้องตนจากความมืดมนอนธการ ที่ไม่มีกลางวันกลางคืนเช่นนั้น ที่ท่านสอนว่า “มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโต” นั้น ท่านมิได้สอนเพื่อให้เราหดหู่เสียใจ แต่สอนเพื่อให้หาทางออกอย่างแยบยลด้วยปัญญาต่างหาก ดังท่านที่เป็นศาสดาเคยพิจารณา และได้ผลมาแล้วจากธรรมเหล่านี้ เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเสมือนทางเดินเพื่อความปลอดภัยหายทุกข์มีความสุขเป็นแดนเสวย


เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้ประมาท แม้เห็นท่านผู้อื่นตายก็ให้ระลึกถึงตัวเราว่า ท่านผู้นี้ไปแล้วในวันนี้ เราอาจตามไปในวันหน้าก็ได้ เพราะเรื่องเช่นนี้ต้องเป็นเรื่องของเราในวันหนึ่งแน่นนอน เมื่อมีอุบายสอนตนอยู่ทำนองนี้เนืองๆ ย่อมทำให้เราไม่นอนใจในชีวิตความเป็นอยู่ว่าจะไม่มีวันจากไป ความจริงก็คือสิ่งที่จะต้องสลายไปอยู่ทุกเวลา เช่นเดียวกับสังขารทั่วๆ ไป ไม่เป็นสิ่งที่จีรังถาวรอะไรเลย ผู้พิจารณาเนืองๆ อย่างนี้ย่อมมีทางทราบคติธรรมดาของสังขารทั้งภายในภายนอกได้ดี ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวเวลามรณกาลมาถึงตัว มีสติสัมปชัญญะประคองตัวทุกระยะกาลที่คับขัน และไปด้วยความสงบสุข ที่เรียกว่า “สุคโต” (ไปดี) ซึ่งน่าอนุโมทนาด้วยสันติธรรมของผู้เช่นนั้นเป็นอย่างยิ่ง ที่นานๆ จะเจอสักรายหนึ่ง


ถ้ากำลังใจยิ่งกว่านั้นก็เป็นผู้องอาจกล้าหาญไม่สะทกสะท้านต่อความตาย โดยเห็นว่าการมากับการไปเป็นเรื่องของขันธ์โยกย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามกาลของมันเท่านั้น ไม่มีส่วนเสียหายใดมากระเทือนถึงใจของผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่แล้ว ปล่อยให้ขันธ์ผ่านไปอย่างหมดเยื่อใยหายห่วง ด้วยเหตุนี้แลนักปราชญ์ทั้งหลาย จึงสอนไม่ให้มองข้ามใจผู้เป็นตัวการสำคัญไปทางอื่น เพราะร่างกายเปรียบเหมือนบ้านหลังหนึ่งๆ เท่านั้น ส่วนใจเปรียบเหมือนเจ้าของบ้าน กายแตกสลายเปรียบเหมือนบ้านปรักหักพัง เจ้าของบ้านคือใจ ก็ออกจากร่างไปก่อร่างใหม่ ซึ่งเทียบกับเจ้าของบ้านไปปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ ถ้าเจ้าของบ้านฉลาดและมีทรัพย์มาก ก็ปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ได้อย่างมั่นคงและสวยงาม
ถ้าไม่มีทรัพย์มากพอจะปลูกได้ตามใจหวัง ก็เป็นหน้าที่ของตัวจะตะเกียกตะกายหาที่อยู่อาศัยใหม่ตามกฎของความจำเป็นบังคับ ถ้าหาไม่ก็ย่อมทนทุกข์ลำบากเองไม่มีใครช่วยได้ จิตที่ออกจากร่างเก่าไปสู่ร่างใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับทรัพย์ภายใน คือบุญกุศล ถ้าบุญกุศลมีมาก ร่างที่จิตไปก่อภพใหม่ก็สดสวยงดงาม อายุก็ยืนนาน ความสุขเป็นเครื่องเสวยก็มีไม่อับจนในภพชาตินั้นๆ ถ้าหาไม่ก็ลดภพชาติและฐานะให้ต่ำลงมาตามลดับ และอาจลดลงมาเป็นภพ-ชาติแห่งสัตว์ตัวอาภัพก็ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าขยาดอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ผู้มีวิจารณญาณ จึงไม่ควรนอนใจ เมื่ออยู่ในฐานะที่ยังพอแก้ไขได้อยู่ ยังไม่สายเกินไป


เพราะอนาคตของเราแต่ละคน ไม่ทราบจะไปแบบไหน ถ้าเกิดไปเจอเอาแบบที่เห็นๆ กันอยู่ตามข้างถนนหนทาง และสถานที่ต่างๆ เข้า ที่เขาร้อยเป็นพวงๆ มาขายอยู่ตามข้างถนนแถวบางปูและที่ต่างๆ เหมือนปูนาปลาทะเลและร้อยแปด ที่เห็นและน่าสลดสังเวชเหลือประมาณ แล้วจะทำอย่างไร เพราะที่พบเห็นแบบอกสั่นขวัญหายใจไม่อยู่กับตัว ซึ่งมีร้อยแปดพันประการนั้น มักมีอยู่ทั่วไปในไตรภพ ไม่ใช่จะมีอยู่จำนวนน้อยๆ พอที่จะไม่สนใจกับตัวว่าเราอาจเป็นอย่างนั้นเข้าบ้างก็ได้ เรื่องทั้งนี้เป็นเรื่องเจ้ากรรมทั้งนั้น ใครจะไปนึกไปฝันอยากจะเจอเล่า แต่ก็ต้องเจอต้องเป็นจนได้ ถ้าไม่มีคุณงามความดีคอยช่วยฉุดเอาไว้


ฉะนั้นท่านจึงสอนให้เตรียมตัวเตรียมใจ อย่าไว้ใจพราง (คนโกหก) อย่าวางใจคน จะจนใจเรา คำว่าใจพรางและใจคนนั้นก็คือใจเราที่เป็นนักโกหกตัวเองนั่นแล จะเป็นใจใครที่ไหนกัน โปรดคิดดูในวันหนึ่งใจเราคิดโกหกเราวันละเท่าไร นับไม่ถ้วนเลย อย่าเข้าใจว่าใจของเราดีเชื่อถือได้ ถ้าเป็นคนอื่นมาตั้งหน้าโกหกเราขนาดที่เราโกหกเรานี้ เราจะลงใจและยอมคบไม่ได้เลยในชีวิตนี้ และต้องเกิดเรื่องกันอย่างแน่นอน แต่เราโกหกเรา รู้สึกดีและสนิทใจ แบบหลับไม่รู้จักตื่น เหมือนแม่กล่อมลูกด้วยบทเพลงฉะนั้น


เท่าที่อธิบายธรรมในลักษณะยาแก้โรคที่เข้าบอระเพ็ดนี้ เนื่องจากได้เคยเห็นความโกหกที่เคยแสดงอยู่กับตัวตลอดมา จึงได้หยิบยกมาแสดงเพื่อท่านผู้ฟังนำไปพิจารณา หากมีเรื่องโกหกตัวดังที่ว่า จะได้ช่วยกันแก้ไขดัดแปลงเสียให้ดี ความซื่อตรงต่อตัวเองจะได้มีทางเจริญได้ คิดว่าจะทำอะไรที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ จะมีวันสำเร็จได้ง่าย ความโกหกไม่เข้าไปทำลายดังที่เคยเป็น สิ่งสำคัญในตัวเราก็คือการคิดหาอุบายต่างๆ มาหักห้ามตนในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควร เพราะความสงบสุขในปัจจุบันและอนาคตอันเป็นหน้าที่ของตัวจะต้องรับผล เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยใจให้เป็นไปตามบุญตามกรรมซึ่งฟังแล้วน่ากลัวอย่างยิ่ง


เพราะการปล่อยตัวปล่อยใจเช่นนั้น เหมือนไม่มีเจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบในความสุข-ทุกข์เอาเลย ถ้าต้องโทษก็ไม่มีวันปลดปล่อย ติดตะรางก็ไม่มีวันพ้นโทษ ถ้าตกนรกก็ไม่มีวันโผล่ขึ้นมาเห็นดินเห็นฟ้ากับโลกเขา ถ้าเกิดเป็นเปรตเป็นผีก็ไม่มีวันได้รับผลทานที่คณะญาติอุทิศไปให้ ถ้าเกิดเป็นสัตว์ก็ไม่มีวันเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ถ้าเป็นโรคก็ไม่มีวันหาย นอกจากจะคอยวันตายท่าเดียว ความไม่มีหวังนี้ ไม่ว่าอะไรไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาเลย คนหมดหวัง เราหมดหวัง หรืออะไรหมดหวัง มันเป็นสิ่งที่น่าใจหายทั้งนั้น ทั่วโลกไม่มีใครปรารถนากัน เราเป็นมนุษย์ จึงไม่ควรสร้างความหมดหวังไว้สำหรับตัวเมื่อหนทางหลีกเลี่ยงยังมีอยู่


ทางหลีกเลี่ยงความหมดหวังคือ การให้ทานหนึ่ง การรักษาศีลหนึ่ง การอบรมใจด้วยภาวนาให้ใจฉลาดรอบคอบต่อเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตนหนึ่ง ข้อใหญ่ใจความมีสาม ควรพยายาม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 16:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นในตน จะเป็นคนมีหลักยึดมั่นคงและอยู่สบาย เวลาจากไปจะไม่ห่วงหน้าห่วงหลังห่วงตนและสิ่งที่เคยเกี่ยวข้องอาศัย


ขอย้อนอธิบายสังขารธรรมที่เปรียบเหมือนหัวต่อ ซึ่งคอยสะดุดใจเราอยู่เสมออีกครั้ง เพื่อเป็นที่เข้าใจในการปฏิบัติต่อเขา คือร่างกายจิตใจนี่แล ที่ก่อเรื่องรำคาญและวุ่นวายให้แก่เราอยู่เสมอไม่เว้นแต่ละเวลา สังขารภายนอกเช่นตึกรามบ้านช่อง ต้นไม้ใบหญ้าเป็นต้น เขาเกิดขึ้นและดับไปตามเรื่องของเขา ไม่ก่อความกระทบกระเทือนแก่ตัวเราให้เป็นปัญหามากนัก ส่วนสังขารคือร่างกายจิตใจเรานี้ เกิดและคิดขึ้นแต่ละครั้ง ย่อมทำความทุกข์ลำบากให้แก่เรามากมาย ตกคลอดออกมาแต่ละครั้ง กว่าจะเป็นมนุษย์ได้ก็สลบไสลและแทบตาย บางรายก็ตายเสียแต่อยู่ในท้องมารดาก็มีจำนวนไม่น้อย เพราะความทุกข์ทรมานมากในการเกิดการตาย


แต่เราเข้าใจว่าการเกิดเป็นของดีมีความสุข จึงปรารถนาอยากเกิดกันเรื่อยๆ ไม่คิดอยากให้มีสิ้นสุด เนื่องจากไม่คำนึงถึงความทุกข์ที่ตามมาในขณะนั้น และความทุกข์ในการตายที่เป็นผลของความเกิด ทั้งไม่ได้คิดว่าความเกิดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งมวล ความจริงนับแต่เริ่มตั้งครรภ์ในท้องของมารดามา จนถึงวันตกคลอดออกมาเป็นมนุษย์ มันเป็นเรื่องความทุกข์ล้วนๆ ที่เรียกว่าสังขารเริ่มก่อกวนและเริ่มเป็นตัว “อนิจฺจา วต สงฺขารา” ซึ่งแปลได้ ๓ ประเภท คือสังขารที่คิดปรุงออกจากใจหนึ่ง สังขารที่ประชุมขึ้นเป็นร่างกายหนึ่ง และสังขารภายนอกอันได้แก่ทรัพย์สินเงินทองเป็นต้นหนึ่ง


สังขารทั้งสามประเภทนี้เป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ชอบใจและหลงติดอยู่ ทั้งเป็นเหตุก่อทุกข์ให้แก่เจ้าของได้เสมอกัน คือ ความคิดก็ทำให้เพลิดเพลินและเศร้าโศกได้ ร่างกายก็ทำให้รักสงวนน่าเพลิดเพลินหลงใหล และคอยก่อกวนให้เราเป็นทุกข์อยู่เรื่อยๆ ทรัพย์สมบัติก็ทำให้คนลืมตัวและหยิ่ง จนทำให้ลืมความตายโดยไม่มีวันอิ่มพอ ฉะนั้นท่านจึงสอนให้สำนึกตัวอยู่เสมอ ไม่ให้หลงและเพลิดเพลินจนเกินไป สมบัติเงินทองซึ่งเป็นเครื่องประดับเกียรติและช่วยบรรเทาทุกข์ในกรณีต่างๆ เมื่อมีมาแล้วควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้เกี่ยวข้องเท่าที่ควร ไม่ควรกอดและหวงเอาไว้เฉยๆ เหมือนกรวดทราย เวลาตายไปสมบัติต่างๆ ก็ทิ้งอยู่อย่างนั้นไม่อาจติดตามไปด้วย พอช่วยบรรเทาทุกข์ในโลก ผู้ไปก็ไปตัวเปล่า ทุกข์อยู่เปล่าๆ แบบหมดที่พึ่ง คว้าหาอะไรไม่เจอ


สรุปแล้วก็พอได้ความว่า คนเราเวลามาเกิดก็มาตัวเปล่า เวลาตายไปก็ไปตัวเปล่าไม่มีสมบัติเงินทองอะไรๆ ติดตัวไป นอกจากบุญกับบาปเท่านั้น ผู้ฉลาดจึงคิดและขวนขวาย ทั้งสมบัติภายนอกเพื่อธาตุขันธ์ได้อาศัย ไม่อดอยากเดือดร้อนทั้งตนและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ประมาทนอนใจ อันเป็นลักษณะของคนเกียจคร้านผลาญทรัพย์ทั้งสมบัติภายใน คือบุญกุศลเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ทานก็บริจาคไม่ตระหนี่เหนียวแน่นเมื่อสิ่งของมีพอให้ทานได้ เป็นคนกว้างขวางไม่คับแคบเพราะความเห็นแก่ตัว เห็นสัตว์เช่นสุนัขที่ซูบผอมอิดโรยเพราะความหิวโหยอาหารเป็นกำลัง ถ้าพอเป็นไปได้ก็ให้ทานอาหารแก่เขากินพอประทังชีวิต เห็นคนจนและง่อยเปลี้ยเสียอวัยวะ ก็ให้ทาน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 17:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ด้วยความเมตตาสงสารไม่ดูถูกเหยียดหยาม เพราะกรรมของสัตว์ย่อมมีต่างๆ กัน แม้เราเองก็อาจเคยเป็นมา แต่ระลึกไม่ได้ เห็นสมณะชีพราหมณ์ผู้มีศีลสังวร ก็ให้ทานด้วยความเคารพเลื่อมใส เห็นโบสถ์วิหารศาลาธรรมสวนะชำรุดทรุดโทรม ก็ช่วยบริจาคซ่อมแซม เห็นคนตกทุกข์ลำบากทรมานก็ช่วยเหลือเกื้อหนุนเท่าที่ควรจะเป็นไปได้
บุญที่เกิดจากทานนั้นบ้าง ทานนี้บ้าง การช่วยนั้นบ้าง การอุดหนุนนี้บ้าง ย่อมกลายเป็นมหากุศลและช่วยบุคคลผู้บำเพ็ญให้พ้นจากทุกข์ได้ ศีลพอทำได้ก็บำเพ็ญ ไม่ให้หลุดมือไปได้ คืองดเว้นการฆ่าสัตว์และเบียดเบียนกันก็เป็นบุญกองหนึ่ง ไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของผู้อื่นก็เป็นบุญกองหนึ่ง ผู้ไม่ใช่สามีภรรยาของตัว เป็นไม่เกี่ยวข้องเด็ดขาด เป็นบุญกองหนึ่ง ไม่พูดโกหกหลอกลวง เป็นบุญกองหนึ่ง ไม่ดื่มของมึนเมามีสุราเป็นต้น เป็นบุญกองหนึ่ง รวมบุญที่เกิดจากศีลมัยแล้ว ก็เป็นบุญ ๕ กอง ถ้าเป็นกองเงินกองทองมีถึง ๕ กองใหญ่ๆ แล้ว เจ้าของคงจะ……….และอาจจะ…………แน่นอน


การอบรมภาวนาก็บำเพ็ญไม่ท้อถอย มีเวลาว่างบ้างก็นึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่งประจำใจ ไม่ปล่อยใจให้เพ่นพ่านออกนอกลู่นอกทางที่จะเป็นความเสียหาย และทำความยุ่งยากกวนใจ เวลาจะหลับนอนก็บริกรรมพุทโธๆ จนหลับไปกับบทธรรม เมื่อพยายามทำอย่างนี้เสมอ ใจย่อมผ่องใสเยือกเย็น มองเห็นโลกว่า เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันอย่างสนิทใจ ใจอ่อนโยนด้วยเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกไม่คิดเป็นภัยต่อผู้ใด ใจอ่อนน้อมต่อธรรมด้วยความหวังพึ่งเป็นพึ่งตายตลอดกาล ไม่ยอมฝ่าฝืน ยืนหยัดอยู่กับศีลธรรม ใจกับธรรมกลายเป็นธรรมแท่งเดียว นี่แลคือกองมหากุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาลไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน ลงบุญกับใจได้รวมเข้ากันเป็นธรรมทั้งแท่งแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข ดังท่านพระมหากัปบินเปล่งอุทานว่า “สุขํ วต สุขํ วต” สุขหนอๆ คือสุขเพราะใจกลายเป็นธรรมแท่งเดียวนั่นเอง ไม่เลือกกาลสถานที่ โลกนี้ โลกหน้า ถึงจะเป็นสวรรค์นิพพาน คือสถานที่ให้ความสุข เพราะใจเป็นธรรมชาติที่มีความสุขอย่างพร้อมมูลอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่ควรนั่งเฝ้านอนเฝ้าของดีคือใจอยู่เปล่าจะเสียการ รีบตักตวงคุณงามความดีให้พอกับความต้องการจาก ทาน ศีล ภาวนาเสียแต่บัดนี้ จะได้ไม่ต้องบ่นหาความสุขและสวรรค์นิพพานอันเป็นที่น่ารำคาญอีกต่อไป


ได้กล่าวถึงสังขาร ๓ ประเภทที่ได้อธิบายผ่านมาบ้างแล้ว คือสังขารภายนอกได้แก่สมบัติเงินทองเป็นต้น สังขารที่สองคือร่างกายอันเป็นสังขารส่วนกลาง ซึ่งทำความกระทบกระเทือนแก่โลกและแก่เราตลอดมา เกิดก็เกิดยาก ทุกข์ก็มาก รักษาก็ลำบาก ตายก็ง่าย จำต้องรักษาอยู่ทุกขณะเพื่อไม่ให้ตาย โลกจึงวุ่นวายรักษากายมากกว่าสิ่งอื่นๆ ไม่เช่นนั้นก็จะไปจริงๆ แต่ก่อนจะไปต้องเขย่าลำต้นคือเรา (ใจ) ให้บอบช้ำและระทมทุกข์มากมายจนตั้งตัวไม่ติด บางรายถึงกับหมดสติเอาเลยกระทั่งตายไป ซึ่งควรเรียกสังขารเทวทัต เพราะทำลายความสุขของมนุษย์และสัตว์ทั่วโลก จนไม่มีใครจะอยู่สบายหายกังวลได้พอชั่วขณะ เป็นต้องถูกรบกวนจากเจ้ากองทุกข์นี้จนได้ ไม่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เลือกกาลและวัยเอาเลย พระพุทธเจ้าจึงเตือนไว้ว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” เพราะแสนหนักกว่าภูเขาทั้งลูก และแสนทุกข์แสนร้อนยิ่งกว่าไฟทั้งกอง ทำลายจิตใจคนก็คือสังขารตัวนี้ ทำให้หลั่งน้ำตาก็คือสังขารตัวนี้ ขณะเกิดโรคภัยและเวลาจะจากไป ทั้งเคยเป็นอย่างนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ ที่อธิบายมานี้เป็นสังขารประเภทที่สอง


ส่วนสังขารประเภทที่สามได้แก่เจตสิกธรรมที่คิดปรุงขึ้นมาจากใจ นี่ยิ่งเป็นภัยใหญ่ ถ้าเราไม่ใช้สติปัญญายับยั้งเอาไว้ มันต้องพาคิดเข้าป่าดงพงลึก คิดเข้าโรงสุราบาร์เบียร์ คิดเข้าตรอกเข้าซอยต่างๆ อันเป็นทางหายนะโดยถ่ายเดียว เช่นคิดเป็นหญิงร้ายชายเลวทราม เป็นต้น ล้วนเป็นความคิดที่ยุแหย่ก่อกวน และทำลายตัวเองเหมือนรถเบรกแตก หรือผู้ขับเหยียบแต่คันเร่ง เร่งจนล้อหลุดลอยออกจากตัวรถ ทำเอาผู้ขับกระเด็นลงคลองและจมน้ำไปเลยฉะนั้น สังขารคือความคิดปรุงของใจนี้ คิดไม่มีประมาณว่าผิดถูกดีชั่ว ขอแต่ได้คิดก็พอใจ ท่านเรียกว่าสังขารประเภทก่อไฟแล้วดับไม่ลง นอกจากจะทำความพินาศแก่ตนเท่านั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ระวังมากกว่าสังขารอื่นใดในโลก และสอนให้มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้งไม่ให้คิดจนเลยเถิด เพราะโดยมากคนที่เสียจริตจิตวิกลก็เพราะสังขารประเภทนี้ทำลาย เนื่องจากสาเหตุไม่พอใจนานาชนิด ผู้ใช้สติปัญญาภาวนาตรวจดูเสมอ ย่อมมีทางทราบได้ว่าสังขารประเภทนี้เป็นภัยจริง และสามารถระงับดับได้จนถึงขั้น “เตสํ วูปสโม สุโข” คือ การระงับดับเสียซึ่งสังขารจำพวกที่เป็นสมุทัย เป็นความสุขที่ปลอดภัยอย่างยิ่ง


เมื่อดับสังขารประเภทนี้ได้สนิทแล้ว สังขารนอกนั้น เช่นร่างกายและสมบัติเงินทองเป็นต้น ไม่สู้สำคัญและเป็นภัยแก่จิตใจทั้งปัจจุบันและอนาคต จะปรากฏแต่ความสุขล้วนๆ สถิตอยู่ที่ใจเป็นอกาลิโก ไม่มีอะไรรบกวนหรือทำลายได้อีก การเกิดตายที่เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งมวล ก็มาจากสังขารภายในอันเป็นตัวสมุทัยนี้เท่านั้นพาให้เป็นไป เมื่อจิตก้าวเข้าสู่ “เตสํ วูปสโม สุโข” แล้ว ภัยทั้งปวงก็หมดไปโดยสิ้นเชิง ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส” ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด กิเลสตัณหาก็ไม่เกิด ภพ-ชาติก็ไม่มี ทุกข์จึงไม่มีที่จะเกิดอีกต่อไป ปัจจัยเครื่องหมุนเวียนจึงเป็นอันยุติลงที่ เตสํ วูปสโม สุโข


นี้คือที่สุดทุกข์ ที่สุดสมมุติ และที่สุดแห่งธรรมทั้งมวล นี้คือแดนแห่งความเกษมอันแท้จริง แดนทั้งมวลรวมลงที่จิตดวงทรงไว้ซึ่ง “เตสํ วูปสโม สุโข” ที่ยังเหลืออยู่ก็เพียงอาการ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่เคยมีประจำขันธ์เท่านั้น ส่วนเชื้อภายในจิตได้สิ้นไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ขณะที่ “เตสํ วูปสโม สุโข” ปรากฏขึ้น แม้จะคิดอ่านไตร่ตรองไปตามอัธยาศัยก็เป็นเพียงขันธ์ล้วนๆ ไม่ได้เป็นกิเลสตัณหาดังที่เคยเป็นมา ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงดับกิเลสทั้งมวลแล้ว ก็จำต้องอาศัยขันธ์ ๕ เป็นเครื่องมือประกาศสอนธรรมแก่โลกให้ได้รับประโยชน์ตลอดจนถึงวันพระนิพพาน เมื่อถึงกาลระหว่างขันธ์กับจิตจะเลิกรากัน พระองค์ก็ทรงปล่อยให้เป็นไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron