วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 01:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

แว่นส่องธรรม


โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี


ที่มา... http://www.luangta.com/
ภาพประกอบจาก... http://www.watpa.com/

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 14:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: สารบาญ :b42:


พระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน (๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕)

พระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕)

พระธรรมเทศนา (๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๑)

ปาฐกถาธรรม (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒)

คำถาม คำตอบ ปัญหาธรรม

อันชนกชนนีนี้รักเจ้า เทียมเท่าชีวาก็ว่าได้

เพื่อใจที่ได้ทุกข์

โอวาท (๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๔)

พระธรรมเทศนา (๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๗)

พระธรรมเทศนา (๑๗ มีนาคม ๒๕๑๘)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน
แสดง ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕



นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
บัดนี้จักแสดงธัมมิกถา เป็นเครื่องอบรมจิตใจของเรานักปฏิบัติทั้งหลายเท่าที่สามารถ การฟังเบื้องต้นจะขอเผดียงให้ทราบ ตามที่ได้เคยเผดียงมาแล้ว เพราะฉะนั้นในโอกาสนี้ เป็นโอกาสที่เหมาะเหลือเกิน ซึ่งจะได้รับฟังการอบรมจิตใจ ให้จิตได้รับการพักผ่อนจากการงานของจิตเสียบ้าง คือว่าการงานของจิตนี้นั้น เป็นการงานที่ทำไม่มีเวลาหยุดยั้ง การงานที่เป็นราชการและการงานที่เป็นกิจส่วนตัวเป็นต้นนั้น ย่อมมีเวลาพักบ้าง แต่การงานของใจนี้เป็นการงานอัตโนมัติ หมุนรอบตัวอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุดยั้ง และหาความสุขให้ใจก็ไม่ได้ด้วย ฉะนั้นโอกาสนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้รับการอบรมพักผ่อนจิตใจให้ได้รับความสงบชั่วครั้งชั่วคราว และเป็นโอกาสอันดีที่เราได้เกิดมาถูกช่องถูกทาง เป็นของที่เราหาได้ยากมาก ตามที่ภาษิตท่านก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า


กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ


บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีช่องทางและโอกาสที่จะได้ประสบพบเห็นความเป็นมนุษย์ แต่เราได้ประสบพบมาแล้ว คือความเป็นมนุษย์ เป็นของที่หาได้ง่ายสำหรับเรา แต่เป็นสิ่งที่หาได้ยากสำหรับสัตว์ผู้ไม่มีโอกาส เมื่อโอกาสได้เป็นของเราแล้วเช่นนี้ จึงไม่ควรปล่อยโอกาสให้เสียไป การอบรมจิตใจให้ได้รับความสุขนั้น เป็นหนทางที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงสรรเสริญมาแล้ว ใจของเราถ้าไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลาสงบ ก็ไม่เป็นของแปลกจากบรรดาสัตว์ทั่วไป เช่นเดียวกัน กาลใดสมัยใดที่ใจของเราได้มีการพักผ่อนหย่อนใจ ได้รับการอบรม เราจะได้เห็นโทษแห่งความคิดความปรุงความวุ่นวายของใจ เราจะได้เห็นคุณแห่งความสงบของใจ ในเมื่อเราได้เข้าถึงความสงบแล้วจะได้เป็นบาทฐาน หรือศรัทธาแห่งความตั้งมั่นในหลักแห่งกรรมเป็นลำดับไป


การฟังเทศน์ ไม่จำเป็นที่จะกำหนดออกมาสู่ภายนอก เช่น กำหนดออกมาสู่ท่านผู้เทศน์ดังนี้ไม่จำเป็น สิ่งที่จำเป็น คือกำหนดดูหัวใจของตนในขณะที่ฟังเทศน์ เมื่อเราตั้งใจไว้ด้วยดี รักษาใจของเราด้วยสติ ให้มีความรู้จดอยู่จำเพาะใจแล้ว เรื่องของพระธรรมเทศนาจะแสดงมากน้อย ลึกตื้น หยาบละเอียดเท่าไร จะต้องเข้าไปสัมผัสที่ใจของเราที่ตั้งไว้ดีแล้วนั่นเอง ธรรมจะเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของเรา ให้ได้รับความสงบ ธรรมส่วนใดที่ตกค้างอยู่ในขณะที่เราฟังพระธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เทศนาเข้าสู่ความจดจำ ธรรมส่วนนั้นเป็นของเราที่จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติในกาลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสงบใจในขณะฟังธรรมสำคัญมาก


คำว่า ความสงบบางท่านก็จะไม่เข้าใจ ความสงบกับความฟุ้งซ่านเป็นของคู่กัน ความฟุ้งซ่านวุ่นวาย เกิดจากความคิดความปรุงของจิตใจ จะปรุงทางอดีตก็ตาม ทางอนาคตก็ตาม ปรุงเรื่องดีก็ตาม เรื่องชั่วก็ตาม ย่อมจัดว่าเป็นงานของจิตทั้งสิ้น เมื่อใจของเราได้ปล่อยงานนั้นๆ เสีย เข้ามาพักดำรงตนอยู่ด้วยความสงบ ปราศจากความปรุงแต่งใดๆ ขณะฟังเทศน์ก็มีความรับรู้อยู่กับพระธรรมเทศนาเท่านั้น นี้ท่านเรียกว่า ใจของเราได้รับความสงบ เมื่อใจของเราได้รับความสงบแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้มีความเยือกเย็นในจิตใจ ใจก็มีกำลัง นอกจากใจของเรามีกำลังแล้ว ยังสามารถที่จะทำร่างกายของเรา ซึ่งเป็นสมบัติของใจนี้ให้มีพลังงานขึ้นอีกได้ เพราะเหตุนั้น ธรรมโอสถจึงเป็นของจำเป็นทั้งภายในและภายนอก คำว่าภายในหมายถึงใจ ที่ได้รับธรรมโอสถเป็นเครื่องเยียวยา แต่ใจก็จะได้เห็นเหตุเห็นผล เห็นความสงบสุขภายในจิตของตน และเห็นความทุกข์ขึ้นเป็นลำดับภายในใจ คำว่าภายนอก หมายถึงกายของเราจะได้มีความสุขความสบาย นี่เรียกว่า “ธรรมโอสถเครื่องเยียวยาจิตใจของเรา” และเยียวยาธาตุขันธ์ของเรา ให้มีความสุขกายสบายเสียได้


ในเบื้องต้นได้กล่าวไว้แล้วว่า “เราทั้งหลายได้เป็นผู้ประสบโอกาสอันดี คือความเป็นมนุษย์” ในเบื้องต้นเราได้เป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นของแท้ของจริง สัตว์ประเภทอื่น เขาไม่มีโอกาสที่จะรู้จักว่า การทำดีเป็นผลอย่างไร การทำชั่วเป็นผลอย่างไร ความทุกข์ความสุขเป็นอย่างไร เขาไม่ทราบ เขาไม่มีโอกาสที่จะพยายามแก้ไขสิ่งที่เป็นความชั่ว และเขาไม่มีโอกาสที่จะบำเพ็ญคุณงามความดี ให้เกิดให้มีขึ้นในตัวของเขาได้ แต่สำหรับมนุษย์เราซึ่งได้ลาภอันประเสริฐในความเป็นมนุษย์มาแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะรู้ได้ทั้งดีทั้งชั่วบาปบุญคุณโทษทุกประเภท นี่จัดว่า ความเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐแล้ว


ทีแรกมันจะเกิดขึ้นจากงาน คือ การทำคุณงามความดี จากการอบรมคุณงามความดี และพยายามแก้ไขความชั่วที่เราได้กระทำมาแล้ว ในคราวที่ได้มีจิตลุ่มหลงเป็นกำลัง พยายามทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นที่เราเอง ที่กาย ที่วาจา และที่ใจของเราเอง ก็จัดว่าเป็นลาภอันหนึ่งของพวกเราแล้ว ถ้าเราได้ผ่านความเป็นมนุษย์ ก็ได้ลาภเพียงมนุษย์เท่านั้น ลาภที่สอง คือคุณงามความดีที่เราจะสั่งสมให้เป็นนิสัยติดกับจิตกับใจของเราไปในกาลข้างหน้า ให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วยอำนาจความดี ถ้าปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะอบรมทำให้เกิดให้มีขึ้นที่ตัวของเราแล้ว ก็ชื่อว่าเราได้ขาดลาภในส่วนนี้ไป


เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า “มนุสฺสปฏิลาโภ” ดังนี้ ความเป็นมนุษย์เป็นลาภนั้น หมายถึงความเป็นมนุษย์ในเบื้องต้น ลาภที่สองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญนั้น เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายจะพึงทำให้เกิดให้มีขึ้นในตัวของเรา หากยังความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นเท่านั้นแล้ว มนุษย์ในโลกนี้มีมากมาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ก่ายกอง ถ้าทำตัวไม่ดีเสียเช่นนี้ ถ้าจะขาดจากความเป็นมนุษย์ในกาลข้างหน้าหรือ ก็จะกลายเป็น “มนุสฺสติรจฺฉาโน” ไปเสีย ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยศีลด้วยธรรม เพราะเหตุนั้นเราพึงย่นเข้าได้ว่า ความเป็นมนุษย์ที่หาได้ยากนั้น ย่นเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ดีมีศีลมีธรรม รู้บาปบุญคุณโทษ จนสามารถแก้ไขอุปสรรคให้ได้เป็นลำดับในกาลนั้นๆ ทั้งอุปสรรคในทางฝ่ายโลก ทั้งอุปสรรคในทางฝ่ายธรรม
ทางฝ่ายโลกหมายถึงการงานหรือความประพฤติในทางผิด เมื่อกระทำลงไปด้วยกาย วาจา ใจ โดยปราศจากปัญญา จะปรากฏผลเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่น จึงควรพยายามหลีกเว้นให้ห่างไกล จนเป็นนิสัย เคยชินต่อการละชั่ว ทำแต่ความดี ชีวิตก็จะเป็นไปเพื่อความราบรื่น เรียกว่า ผ่านอุปสรรคไปได้ทางหนึ่ง ทางฝ่ายธรรมหมายถึงอาสวะกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องผูกรัดจิตใจของตนให้หมดสิ้นไปโดยลำดับๆ มนุษย์ประเภทนี้ จัดว่าเป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก ดังองค์พระศาสดาพร้อมทั้งพระสาวกและสาวิกาเหล่านั้น เป็นสัตว์ที่หาได้ยาก เป็นมนุษย์ที่น่ากราบ น่าไหว้ น่าเคารพบูชาเหลือเกิน แต่มนุษย์นอกจากนั้น ก็เป็นผู้มีคุณงามความดีรองลำดับกันมา ซึ่งตนของตนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงบำเพ็ญตนของตนให้เป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วและในลำดับที่สองว่า


กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ


ความได้ผ่านพ้นอุปสรรค คือความล้มความตายมาแล้วจนถึงในวันนี้ นี่ก็นับว่าเป็นลาภอันหนึ่งแห่งชีวิตจิตใจของเรา และพึงทราบในขณะเดียวกันนี้ว่า ชีวิตจิตใจนี้ไม่เป็นรูป ไม่เป็นตัว ไม่เป็นวัตถุ แต่เป็นเพียงหายใจเข้าหายใจออก เราจะวัดตัวของบุคคล หรือจะเอาความหนุ่มความแก่มาวัดก็ไม่ถูก ข้อสำคัญอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่ออก เขาก็เรียกว่า “คนตาย” ถ้าหายใจออกแล้วไม่เข้า เขาก็เรียกว่า “คนตาย” เช่นเดียวกัน คนตายย่อมไปจากคนเป็นนี้ทั้งนั้น เราเห็นอยู่ในที่ทั่วไป สัตว์ตาย สัตว์เป็น คนตาย คนเป็น เดินเข้าไปในตลาด เราจะเห็นแต่ป่าช้าของสัตว์ทั้งนั้น ทั้งสัตว์เป็นทั้งสัตว์ตายเกลื่อนกล่นกันอยู่นี้ สัตว์เป็นก็เป็นเพื่อจะตาย สัตว์ตายก็ไปจากสัตว์เป็น อยู่ด้วยกันทั้งสัตว์ตายทั้งสัตว์เป็น เมื่อคนตายแล้วไปฝัง ณ ที่ใด เผา ณ ที่ใด เขาก็เรียกว่าป่าช้า


แท้ที่จริงป่าช้ามีอยู่ทั่วไป แม้ในสถานที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นป่าช้าเหมือนกัน ถ้าเราหมายถึงว่า สัตว์เกิดมาแล้ว ได้ตายลงในสถานที่ใด สถานที่สัตว์ตายนั่นเอง เรียกว่า “ป่าช้า” นี่ก็ไม่เป็นของแปลก เพราะแผ่นดินทั้งแผ่นเป็นป่าช้าของสัตว์ทั้งนั้น ไม่มีสถานที่ใดที่จะว่างจากความเป็นป่าช้าของสัตว์ มนุษย์ที่เป็นกับมนุษย์ที่ตายอยู่ด้วยกันเช่นนี้แต่ไหนแต่ไรมา แม้จะไปเผาในวัดใดๆ ก็ตาม เช่นในกรุงเทพ ฯ นี้ ไม่มีโอกาสที่จะได้เผาตามป่าตามรกเหมือนอย่างในชนบท เช่น บ้านป่าขาดงทั้งหลาย ประเพณีของบ้านป่าขาดอนนั้น ในเมื่อคนตายแล้วเขาก็นำศพไปเผาตามป่า


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


จึงเรียกที่เช่นนั้นว่า “ป่าช้า” แต่ในกรุงเทพ ฯ ของเรากลายเป็นวัดไปเสีย ไปเผาในวัดจึงไม่เรียกป่าช้า เรียกเพียงเมรุเท่านั้น เมรุก็คือป่าช้าสำหรับเผาศพนั่นเอง


นี่ถ้าเราได้พิจารณาถึงสภาพเหล่านี้ ทั้งที่เป็นสังขารธรรม ผู้ที่ตายแล้วนั้นไปจากคนเป็นแล้ว ก็เป็นเหตุที่จะไม่ให้เรานิ่งนอนใจในชีวิตจิตใจของเรา ซึ่งเป็นอยู่ ณ บัดนี้ก็เป็นอยู่เพื่อจะตายด้วยกันทั้งนั้น สิ่งใดเล่าที่เราจะพึงอบรมให้เป็นมงคลแก่จิตใจของเรา สิ่งใดเล่าที่เราจะบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นในตัวของเรา คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนของตน เราจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ คำว่า บุญนั้นหมายถึง “ความสุข” จะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นทางใดก็ตาม ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม เป็นสิ่งที่เรามุ่งปรารถนาทั้งนั้น ชื่อว่าความทุกข์แล้วแม้จะมาสัมผัสเพียงเล็กน้อย ใครๆ ก็ไม่ต้องการ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ต้องการ แต่มันเหลือวิสัยที่จะผ่านพ้นความทุกข์ไปได้
เมื่อเราคิดเห็นเหตุผลความเป็นความตาย คนเป็นคนตายไปจากคนๆ เดียวแล้ว เราจึงไม่ควรประมาทในสกลกาย คือ ชีวิตจิตใจของเรานี้ เพราะว่าชีวิตจิตใจนี้น่ะ อยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่มีปรอทเป็นเครื่องวัด ไม่มีอันใดที่จะวัดได้ว่า คนนั้นยังเหลืออีกเท่านั้นเท่านี้ปี คนนั้นมีอายุเท่านั้น ยังอีกเท่านี้จึงจะตาย หรือร่างกายของบุคคลนี้ยังสมบูรณ์ยังไม่ควรจะตาย หรือยังหนุ่มยังสาวอยู่จึงไม่ควรจะตายดังนี้คาดไม่ได้ทั้งนั้น อยู่กับลมหายใจ เมื่อลมหายใจหมดแล้วในกาลใด กาลนั้นเขาก็เรียกว่าคนตายทันที แม้จะเก็บไว้ในบ้านยังไม่นำไปเผาที่ไหน เขาก็เรียกว่าผีตายอยู่แล้ว ก็กลายเป็นผีหลอกขึ้นมาทันที แม้เป็นลูกเป็นหลานหรือเป็นลูกเป็นเต้าก็ตาม แต่ก่อนก็ถือว่า เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นปู่ ย่า ตา ยาย พอชีวิตจิตใจได้ออกไปจากร่างของบุคคลนั้นเท่านั้น ก็เลยกลายเป็นผีแก่ลูกแก่หลานขึ้นมาทันที ทำให้หวาดเสียวหรือน่ากลัวไปหมดทั้งร่าง นี่ก็ไปจากคนเป็นนี่เท่านั้น


เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสภาพที่จะแตกจะดับอยู่ทั่วสกลกายของเรา อยู่รอบด้านของเราแล้ว เรียกว่าเราอยู่ในกองเพลิง เราจะหาวิธีอุบายใดๆ ที่จะแหวกว่ายออกจากกองเพลิงนี้ได้ จะไม่ได้เผาผลาญเราอยู่เป็นเวลานาน ผู้ที่ไม่ประมาท ในเมื่อได้พิจารณาถึงเรื่องความเป็นความตายอันนี้ ซึ่งไม่เป็นสาระแก่นสารทั้งใครๆ ไม่ต้องการ แต่เมื่อได้ยึดถือความตายเหล่านี้ หรือความแก่ ความสลาย ความทำลาย ความแปรสภาพเหล่านี้เป็นหลักใจ เป็นนิมิตเครื่องเตือนจิตใจอยู่เสมอแล้ว ก็สามารถที่จะบำเพ็ญตนของตนให้เป็นประโยชน์ขึ้น ด้วยอำนาจสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร เพราะความตายใครๆ ไม่ต้องการ เช่นอย่างพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา” ดังนี้เป็นต้น ท่านก็ตรัสว่าเป็น อริยสัจ


ความเป็นความตายใครจะต้องการเล่า พระพุทธเจ้าทำไมท่านจึงแสดงอย่างนี้ ท่านแสดงอย่างนี้ท่านมิได้หมายให้เอาความตายนั้นมาเป็นสมบัติของตน หมายถึงว่า ให้พิจารณาถึงเรื่องความตายแล้วจะเป็นเหตุให้ไม่ประมาท จะได้บำเพ็ญคุณงามความดี สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ตนเอง จะได้ขวนขวายรีบเร่งในเมื่อชีวิตยังมีอยู่ เมื่อชีวิตจิตใจหาไม่แล้ว ทำเท่าไรก็ยุติลงเพียงเท่านั้น ทำได้มากก็ตาม ทำได้น้อยก็ตาม เมื่อจิตใจของเราหมดเมื่อใดแล้ว เราก็ต้องยุติคือหยุด เราได้มากได้น้อย เราก็เสวยผลตามกำลังแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว ผลที่เราได้รับนั้น ก็ได้รับมากน้อยตามกำลังแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้วมากน้อยตามกำลังของเรา
เพราะเหตุนั้น ในบทที่สองที่ท่านว่า “กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ” ชีวิตเป็นของหาได้ยากนี้ คือหาได้ยากในกาลที่บุคคลได้มีคุณงามความดี ที่จะให้สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องไปกับชีวิตจิตใจของตนประจำวันๆ อย่าได้มีความประมาทนอนใจ ในวันหนึ่งๆ อย่างน้อยที่สุดจะไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ขอให้ได้ไหว้พระสวดมนต์ นอนก็ขอให้นอนกับคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือกำหนดลมหายใจเป็นบทธรรมเข้ากับจิตใจของเรา เมื่อเวลาหลับไปก็จะได้ไม่ฝันลามกต่างๆ หรือขาดใจตายเสียในขณะที่นอนหลับ ก็ให้เป็น “สุคโต” คือไปดีด้วยอำนาจแห่ง พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นบทธรรมที่ดี เป็นเครื่องกำกับจิตใจของเราให้ไปสู่ที่ดีได้ นี่การอบรมจิตใจเป็นผลเป็นประโยชน์เช่นนี้ นี่เป็นบทที่สอง ในอันดับที่สามว่า


กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ



การได้ฟังพระธรรมเทศนานั้น ท่านว่าเป็นของยาก คำว่า เป็นของยากนั้น ยากสำหรับบุคคลที่ไม่อยากฟัง และสำหรับบุคคลในสมัยนี้ ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้กว่า ๒,๕๐๕ ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีความบกพร่อง ในทางศีลก็ดี ในทางสมาธิก็ดี ในทางปัญญาก็ดี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมซึ่งเป็น “สวากขาตธรรม” ที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ดีแล้วทั้งนั้น เหตุใดท่านจึงกล่าวว่า ยากสำหรับในสมัยนี้ แต่ในสมัยที่ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะมาแสดงได้นั้น นั่นนับว่ายาก ยกให้ว่าเป็นของยากจริง แต่จะยากอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่เช่นนั้น ยากสำหรับเราที่จะไม่มีโอกาส ความไม่พอใจ โลกมันบังคับจิตใจ ท่วมถมจิตใจ ไม่ให้มีเวล่ำเวลาที่จะสดับตรับฟัง คือ ตรองดูเหตุดูผล ดูความล้มความตาย ความแก่ความทรมาน ความทุกข์ซึ่งมีภายในกายในใจของตนเหล่านี้ นี่เรียกว่า พระธรรมเทศนา ทั้งนั้น


เราไม่มีโอกาสที่จะสดับตรับฟังจากพระท่านเทศน์ โอกาสที่ได้พิจารณาสกลกายความเป็นอยู่ ซึ่งมันเดินอยู่ตลอดเวลา ในรอบด้านแห่งสกลกายของเรา ไม่มีด้านไหนที่จะไม่แก่ ไม่มีด้านไหนที่จะไม่เจ็บ ไม่มีด้านไหนที่จะไม่ตาย มันแตกมันดับด้วยกันทั้งนั้น แปรสภาพอยู่ทุกส่วนทุกอวัยวะซึ่งมีอยู่ในร่างกายนี้ นี่การที่เราฟังธรรมเป็นของหายากนั้น หมายถึงยากเพราะอำนาจแห่งจิตใจของเรามันถูกกิเลสตัณหาอาสวะผูกมัดรัดรึงฉุดลากไปในสถานที่ไม่ควร ถ้าจะฝืนไปในทางธรรมแล้ว มันฝืนยากฝืนลำบาก นี่ละการที่จะฟังธรรมมันเป็นของยากอย่างนี้สำหรับสมัยปัจจุบัน เพราะสมัยนี้ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศไว้แล้ว เพราะเหตุนั้น เราจงพยายามฝืนจิตของเรา ไตร่ตรองดูความเป็นอยู่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราไม่ต้องมองดูนอกก็ได้ ถ้าหากมองดูนอกมันเป็นของลำบาก ให้เรามองดูตัวของเรานี่แหละ อริยสัจก็จะเต็มไปในกายในใจของเราทั้งนั้น จะประกาศอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน จะมีแต่อริยสัจทั้งนั้น อริยสัจทั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่จะปรากฏพระองค์ขึ้นมาได้ชื่อว่า เป็นพุทธะ เป็นศาสดาของโลกก็ดี พระสาวกทั้งหลายที่จะปรากฏองค์ว่า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และมาปรากฏองค์ของท่านว่าเป็นสรณะของเราทั้งหลายก็ดี ล้วนแล้วแต่ท่านได้พิจารณาเรื่องอริยสัจธรรมทั้งสี่ ซึ่งมีอยู่รอบตัวของท่านนี้ได้โดยชัดเจนแจ่มแจ้ง จนรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายที่เห็นว่าเป็นข้าศึกแต่ก่อน มีชาติความเกิด ชราความแก่ และมรณะความตาย เป็นต้นเหล่านี้ ก็ได้กลายเป็นคู่มิตร กลายเป็นคติธรรมดา เพราะท่านเห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายแล้ว ไม่มีการตำหนิติโทษในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เพราะเขาเป็นอยู่เช่นนี้


ในเมื่อทางเดินของวัฏฏะมันมีอยู่ตราบใด เรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเป็นผลของวัฏฏะ มันต้องแสดงอยู่ตราบนั้น ทางเดินของวัฏฏะคืออะไรเล่า เราจะหาที่อื่นที่ไหนไม่ได้อีกเหมือนกัน นอกจากเราจะดูหัวใจของเราซึ่งเป็นตัววัฏจักรเท่านั้น เพราะเหตุใดจึงว่าหัวใจของเราเป็นวัฏจักร โลภะเล่าเกิดมาจากที่ไหน คนตายแล้วไม่มีความโลภ คนตายแล้วไม่มีความโกรธ คนตายแล้วไม่มีความหลง คนตายแล้วไม่มีความรักความชัง ไม่มีความอิจฉาบังเบียดใคร ๆ ทั้งนั้น ไม่เป็นกิเลสตัณหาแก่คนตาย มันเกิดขึ้นแต่หัวใจดวงนี้เท่านั้น


คำว่าเกิดนั้น หมายถึงใจดวงนี้ไปก่อกำเนิดเกิดมาในสถานที่ต่าง แล้วแต่อำนาจแห่งกรรมของตนที่ได้ทำไว้แล้วกดดันหัวใจดวงนั้นเองให้ไปเกิดในสถานที่นั้น เมื่อไปปรากฏในสถานที่ใด รูปกายอันใด จะเป็นสัตว์ก็ตามบุคคลก็ตาม ท่านก็เรียกว่ามันเป็นผลแห่งวัฏฏะ มันแสดงตัวขึ้นมาแล้วให้เป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย นี้ท่านเรียกว่าความเกิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเช่นนี้ ความแก่เราไม่ต้องถาม มันก็ต้องเป็นเงาขึ้นมาตามตัวกับความเกิดนั้น ความเกิดความตาย เมื่อเราได้สร้างบ้านสร้างเรือนให้เขาแล้ว ความทุกข์ทรมานเราจะขับไล่ไสส่งเขาไปไหนเล่า บ้านเรือนก็คือกายนี้เอง เป็นบ้านเป็นเรือนของทุกข์ เหตุที่จะเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาก็เพราะนายช่าง นายช่างก็คือตัณหา ตัณหาก็ออกจากความหลงโลกนั่นเอง หลงในความที่เราเคยเจ็บเคยแก่เคยตายเท่าไร ก็เข้าใจว่าจะดีอยู่นั่นแหละ มันก็กดดันให้เป็นอยู่เช่นนี้ นี่ท่านเรียกว่าวัฏฏะ มันออกมาจากหัวใจดวงนี้


ทีนี้เมื่อมันปรากฏเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่ท่านเรียกว่าเป็นผลของวัฏจักร มันแสดงตัวขึ้นมารอบด้าน ผู้ที่จะยกตนของตนให้พ้นจากกองทุกข์ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาสภาพนี้ ที่มีอยู่รอบด้านทุกๆ ท่าน ให้เป็นไปวันละเล็กละน้อย ไตร่ตรองอยู่เสมอ นี่เรียกว่าฟังธรรม เราจะฟังพระธรรมเทศนาจากพระ ก็เป็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฟังในทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ก็เป็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจักฟังจักตรองดูตามเหตุตามผล ในความเป็นอยู่ของตนและความเป็นอยู่ของธรรม ที่ได้ผ่านเห็นในทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ยินเสียงก็ดี เสียงดีก็ดี เสียงไม่ดีก็ดี เสียงร้องไห้ก็ดี เสียงหัวเราะก็ดี ได้ยินข่าวว่าเขาตายก็ดี ได้ยินข่าวว่าเขาเจ็บก็ดี ได้ยินข่าวว่าเขาฝังที่ไหน เผาที่ไหนก็ดี มันล้วนแล้วแต่เป็นอริยสัจ จัดเป็นธรรมที่ออกมาจากหัวใจ ซึ่งเป็นตัวของวัฏฏะทั้งนั้น เมื่อเราพิจารณาเห็นสภาพความเป็นอยู่ของโลกตามเป็นจริง เช่นนี้แล้ว ใครจะอยากมาอยู่ในกระทะแห่งกองทุกข์นี้ มันร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา โลกนี้ใครจะมาอยู่ให้ร่มเย็นเป็นสุขเป็นอิสรเสรีแล้ว มันเป็นไม่ได้สักรายเดียว โลกอันนี้มันต้องเป็นอย่างนั้น


นี่การพิจารณาให้เห็นโทษแห่งความเกิด โทษแห่งความทุกข์ ต้องดูความทุกข์ของเรา ถ้าเราไม่เห็นโทษของเราแล้ว เราจะไม่มีโอกาสเห็นโทษ ซึ่งมันเกิดขึ้นจากความทุกข์นั้น และจะเห็นคุณในการที่เราจะก้าวพ้นไปจากความทุกข์ไม่ได้ เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี พระอริยสาวกก็ดี ท่านจึงถืออริยสัจธรรมทั้งสี่นี้เป็นของประเสริฐสุดประจำศาสนาของท่าน และเป็นหนทางที่บรรดาสัตว์จะไต่เต้าไปตามอริยสัจธรรมทั้งสี่นี้ให้ถึงแดนอันเกษม ได้แก่วิมุตติพระนิพพาน คำว่า วิมุตติ ก็คือความหลุดพ้นจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เอง จิตใจที่เต็มด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ในเมื่อได้ถูกซักฟอกด้วยปัญญา ถูกอบรมด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดี เริ่มต้นตั้งแต่ ทาน ศีล ภาวนา ขึ้นไปตามลำดับๆ จนมีความสามารถแก่กล้าแล้ว ก็สามารถที่จะตัดหัวใจ คือ วัฏฏะอันเต็มไปด้วยอวิชชาอันนี้ ให้พ้นไปจากอวิชชาความหลงตนเสียได้ กลายเป็นความรู้ขึ้นมาอย่างล้วนๆ ไม่มีอันใดที่จะเคลือบแฝงอีกต่อไป นั่นท่านเรียกว่าพระนิพพาน


ใครจะตั้งชื่อหรือไม่ตั้งก็ตาม ในเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว เป็นความรู้ที่เรียกว่า ความรู้ในหลักธรรมชาติแท้ ไม่ใช่ว่าจะมีอยู่เฉพาะผู้ได้พระนิพพานเท่านั้น คนเราและสัตว์ที่ยังไม่ถึงพระนิพพาน ความรู้ที่เป็นเชื้อเดิมที่จะรับรู้สิ่งทั้งหลายก็ยังมีอยู่ประจำ เช่น เมื่อเด็กเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ตกคลอดออกมาจากท้องแม่ใหม่ๆ นั่นน่ะ เขาได้รู้ได้เรียนอะไรบ้าง เช่น รส หรือชื่อของรส มีรสหวาน รสเค็ม เป็นต้นไม่มีใครได้มีโอกาสเรียนทั้งนั้น ทีนี้เมื่อเขาดื่มนม เขาจะต้องรู้รสหวานรสเปรี้ยวหรืออะไรก็ดี หรือเมื่อเขาจะรับประทานอาหารเพราะความหิว เขาจะแสดงอาการอย่างไรขึ้นมาให้เราทราบอีก เวลาเขาอิ่มแล้วก็แสดงอาการให้เราทราบ เราจะฝืนให้เขารับอีกเขาก็ไม่ยอมรับ นี่แสดงว่า ความรู้ในหลักธรรมชาติเริ่มแสดงออกมาให้รู้ตั้งแต่เมื่อเด็ก


จนกระทั่งถึงเราทั้งหลายนี้ก็เหมือนกัน เช่น เราได้สิ่งต่างๆ มีขนมเป็นต้น มาจากเมืองนอก เราไม่เคยรู้จักเลยว่า ขนมอันนี้เป็นชื่ออะไร เมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับลิ้นแล้ว ลิ้นจะบอกทีเดียวว่า ขนมประเภทนี้เป็นอย่างไร ลิ้นจะตัดสินขึ้นมาเอง นี่คือความรู้ในหลักธรรมชาติ แต่เป็นความรู้ชั้นสามัญ ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นธรรมในหลักธรรมชาติ มีอยู่ในตัวของเราทุกๆ ท่าน ขอแต่เราได้พยายามอบรมพินิจพิจารณาฟังธรรมในตัวของเรานี้ แล้วความรู้ของเราก็จะค่อยกลายเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยเหตุผล และรอบคอบในตัวเอง จนสามารถยกฐานะของตนขึ้นสู่ความรู้ธรรมชาติชั้นวิสามัญได้ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายฉะนั้น ในอันดับที่สี่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท


ในเมื่อเราได้ขวนขวายอบรมพินิจพิจารณาฟังธรรมเทศนา ซึ่งเป็นของหาได้ยากนี้แล้ว พยายามทำให้เป็นของที่ง่ายเกิดขึ้นในตัวของเรา จนกระทั่งในใจของเรามีความดูดดื่มที่จะฟังพระธรรมเทศนา ทั้งภายนอกภายในอยู่ทุกเวลาแล้ว คำว่า “พุทโธ” ซึ่งเป็นของที่จะเกิดขึ้นได้ยากนั้น จะปรากฏขึ้นในหัวใจของเรา คำว่า พุทโธนี้ แยกได้ ๓ ประเภทคือ

พุทโธ ซึ่งเป็นของพระพุทธเจ้า ที่อุบัติขึ้นในโลกนี้แต่ละครั้งๆ แต่ละพระองค์ๆ เป็นของหาได้ยากอย่างหนึ่ง

พุทโธ ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ของพระสาวกทั้งหลายนั้น ก็เป็นของที่หาได้ยากอย่างหนึ่ง

พุทโธ ของสามัญสัตว์ ผู้อยู่ภายใต้อำนาจกิเลส จัดเป็นพุทโธที่หาได้ง่ายประเภทหนึ่ง

เพราะเหตุใดเล่า เพราะพุทโธอันนี้ ได้ถูกกิเลสตัณหาอาสวะควบคุมหุ้มห่อไว้ หรือกดขี่บังคับไว้ ไม่ให้แสดงตัวออกมาเป็นอิสรเสรีได้ ในเมื่อจิตคือความรู้ประเภทนี้ไม่สามารถที่จะหลุดพ้น คือยกตนออกมาจากโคลนตม กล่าวคือกิเลสาสวะได้แล้ว ธรรมชาตินี้จะรู้เหตุรู้ผลในสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นจริงตลอดเวลาได้อย่างไรเล่า เมื่อธรรมชาติอันนี้ได้ถูกพินิจพิจารณาขัดเกลาอยู่เสมอ ด้วยการอบรมคุณงามความดี เริ่มต้นตั้งแต่สมาคมกับนักปราชญ์บัณฑิต ผู้ฉลาดในทางแก้ไขตนของตนให้พ้นอุปสรรค ไม่ว่าอุปสรรคภายนอก อุปสรรคภายในแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้ตนของตนมีได้ ความรักความชอบในคุณงามความดี แล้วก็บำเพ็ญตนของตนตามความสามารถ จนเกิดความชำนิชำนาญหรือความติดใจพอใจในการที่จะบำเพ็ญตนของตน ถึงกับว่าวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้ให้ทานแล้วอยู่ไม่ได้ ไม่ได้รักษาศีลแล้วอยู่ไม่ได้ ไม่ได้เจริญเมตตาภาวนาเสียอย่างนี้อยู่ไม่ได้


เมื่อใจของเราได้มีความพอใจถึงขนาดนี้ จนสามารถพินิจพิจารณา หรือฟังธรรมโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นของปรากฏอยู่ภายในกายในใจของตนเองได้จนชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว พุทโธ คือธรรมชาติที่รู้ซึ่งถูกกดขี่ด้วยอำนาจกิเลสนี้ ก็จะค่อยโผล่ขึ้นมาเป็นลำดับๆ จนกระทั่งได้มีความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ แล้วถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกออกจากจิตใจของตนเสียได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือ นั่นแลพุทโธที่เป็นของหาได้ยากนั้น จะปรากฏเป็นพุทโธที่แท้จริงสำหรับตัวของเรา นี่เมื่อแยกออกไป คำว่า “พุทโธ” เป็นของพระพุทธเจ้านั้น เป็นพุทโธประเภทหนึ่ง “ธัมโม” ซึ่งเป็นของพระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นธรรมประเภทหนึ่ง เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า “สังโฆ” ในประเภทที่สาม ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นสังโฆของท่าน เป็นสาวกของท่าน


ในเมื่อเราได้มีความอุตส่าห์พยายามขยันหมั่นเพียร ได้หยิบยืมต้นทุนจากพระพุทธเจ้า คือ พุทธะดวงนั้นมาเข้ากับจิตใจของเรา ได้หยิบยืมพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องชี้ช่องบอกทาง เป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติตามให้เป็นธรรมของเราขึ้นมา เราพยายามหยิบยืม สังโฆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คือข้อปฏิบัติของพระสาวกตั้งแต่สุปฏิปันโนเป็นลำดับๆ ไป น้อมเข้ามาเป็นข้อปฏิบัติของตน ผลรายได้ที่หยิบยืมมาจาก พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ของพระศาสนาเข้ามาเป็นสมบัติของเรา จนกระทั่งเราปรากฏมีทุนมีรอน สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวได้ จนเป็นพุทธะที่ปรากฏขึ้นมาที่ใจของเราเป็นพุทธวิมุตติ หมายถึงพุทธะบริสุทธิ์ที่หลุดพ้นจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายได้ ธรรมะคือความอัศจรรย์ซึ่งเกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ของดวงใจนั้น ก็จะเป็นธรรมของเราอย่างแท้จริง สังฆะคือเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพุทธะกับธรรมะอันบริสุทธิ์และประเสริฐ หรือเป็นเจ้าของแห่งพุทธะกับธรรมะอันวิเศษนั้น ก็กลายเป็น พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ของเรา นี้แหละเราบำเพ็ญตามพระศาสนา บำเพ็ญตามพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตามพระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า สมบัติทั้งสามประการนั้น ก็กลายมาเป็นสมบัติของเรา นี่สมกับชื่อที่มีในบทที่สี่ ว่า


กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท



ความอุบัติตรัสขึ้นแห่งผู้รู้ทั้งหลาย เป็นของหาได้ยากนั้น เราพยายามทำผู้รู้อันนี้ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา เราแลก็จะเป็นผู้ได้ชื่อว่า “ทรงไว้ซึ่งสมบัติอันล้ำค่า”


วันนี้ได้แสดงถึงเรื่องธรรมตั้งแต่ กิจฺโฉ มนุสฺปฏิลาโภ กล่าวถึงความเป็นมนุษย์เป็นของหาได้ยาก เราทั้งหลายเป็นผู้ที่เรียกว่า เกิดขึ้นมาพบกองสมบัติแห่งมนุษย์แล้ว


กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ ความมีชีวิตมาตั้งแต่ต้นทางจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็จัดว่าเป็นบุญลาภของเรา


กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมที่ว่าเป็นของหาได้ยากนั้น เราทั้งหลายก็ได้ฟังอยู่แล้ว ณ โอกาสนี้ และต่างท่านต่างก็ได้อบรมพินิจพิจารณาถึงเรื่องสังขารธรรม ทั้งภายนอกภายใน จัดว่าเป็นปัจจัยแต่ละอย่างๆ แห่งการฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง และในบทสุดท้าย คำว่า


กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท ความอุบัติตรัสขึ้นแห่งผู้มีความบริสุทธิ์แห่งใจที่เป็นอิสรเสรี พ้นจากกิเลสอาสวะตัณหาทั้งหลายนั้น ก็จักกลายเป็นของเราขึ้นมา


เพราะเหตุนั้น บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ในเมื่อได้ฟังแล้ว โปรดได้นำไปพินิจพิจารณา น้อมธรรมทั้งสามสี่ข้อนี้ เข้ามาสู่ตัวของเราให้เป็น “โอปนยิโก” ให้เป็นผลเป็นประโยชน์สำหรับตัวของเรา คำว่า “สนฺทิฏฺฐิโก ได้แก่ความรู้เองเห็นเองนั้น หมายถึง สนฺทิฏฺฐิโก ชั้นต่ำก็มี ชั้นกลางก็มี ชั้นละเอียดสูงสุดก็มี สนฺทิฏฺฐิโก เริ่มจะปรากฏตั้งแต่เราอุตส่าห์บำเพ็ญทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา เป็นลำดับมา เป็นธรรมที่เราจะรู้ในตัวของเราว่า ตั้งแต่ก่อนเราไม่เคยให้ทาน แต่ก่อนเราไม่มีศรัทธาเชื่อในพระศาสนา เชื่อในบุญในกรรม มาบัดนี้เราได้เชื่อแล้ว เราได้เห็นประจักษ์กับใจของเราแล้วว่า เราได้ให้ทาน เราได้รักษาศีล เราได้เจริญภาวนา นี่ก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ความเห็นเอง ด้วยตนเอง


อนึ่งเราได้อบรมภาวนา บังคับจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจ กดขี่ด้วยสติ ไตร่ตรองด้วยปัญญา บังคับบัญชาจิตใจของเราให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวกัน จะปรากฏเป็นอารมณ์ที่สงบขึ้นมา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


และจะปรากฏเป็นความสุขขึ้นมาเป็นลำดับ นี่ก็จัดว่าเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ของเราประเภทหนึ่ง จนกระทั่งเป็นผู้มีความรู้ความฉลาด สามารถแก้ไขจิตใจของตนให้หลุดพ้นจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เป็น สนฺทิฏฺฐิโก อย่างยอดเยี่ยมขึ้นที่ตัวของเรา นี้แหละเป็นผลแห่งการปฏิบัติธรรมให้น้อมเข้ามาสู่ตัวเสมอ ให้เป็น โอปนยิโก สิ่งที่เราเห็นด้วยตา สิ่งใดที่เราฟังด้วยหูจะเป็นเสียงดีหรือชั่วก็ตาม ให้น้อมเข้ามาเป็นเครื่องพร่ำสอนตนเอง หมั่นพินิจพิจารณา ให้ได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่ผ่านมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายของเรา เราจะได้ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบลาภอันประเสริฐ และไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา คำว่า “พุทโธ” ที่บริสุทธิ์นั้น จะได้กลายเป็นของเราเป็นสมบัติของเราทุกๆ ท่าน


ในอวสานกาลเป็นที่จบลงแห่งพระธรรมเทศนา ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ จงมาปกเกล้าเหล่าท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้มีความสุขกาย สบายใจ และท่านทั้งหลายมีความมุ่งมาดปรารถนาสิ่งใด ขอความปรารถนานั้นๆ จงสำเร็จแด่ท่านทั้งหลายทุกๆ ท่าน เทอญ


เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน
แสดง ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕



นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส


บัดนี้จักแสดงพระธรรมเทศนา เป็นภาคอบรมกรรมฐานเป็นคำรบที่ ๒ ต่อจากคราวที่แล้วมา


คำว่า การอบรมกรรมฐาน หมายถึงการอบรมจิตใจของเรานั่นเอง จิตใจเป็นอย่างไรจึงต้องอบรม ตามธรรมดาของใจ ย่อมมีความพยศอยู่เสมอ ในด้านความคิดความปรุงซึ่งเกิดขึ้นมาจากใจเอง แต่เราไม่สามารถที่จะรู้จักวิธีแก้ไขความพยศของตนเอง ความพยศอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ จะทำให้คนชั่วได้ ก็เพราะความพยศซึ่งเกิดขึ้นจากใจ จะทำให้คนเป็นคนดีได้ ก็เพราะความรอบคอบที่รู้จักวิธีรักษาประคับประคองจิตใจ ให้เป็นไปในทางที่ดี


เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์กับคนพาลจึงเป็นของมีอยู่ในโลก เนื่องจากผู้มีความเฉลียวฉลาด และไม่เฉลียวฉลาดต่างกัน ในวิธีการที่จะดำเนินตนไปในทางที่ขัดข้องหรือราบรื่น จึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติต่อใจเป็นสิ่งสำคัญ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า


อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา



ให้ระวังคนพาล อย่าคบค้าสมาคมกับคนพาล และในขณะเดียวกัน พึงพยายามคบกับบัณฑิตนักปราชญ์ ดังนี้


คำว่าคนพาลก็มีได้ทั้งภายนอกและภายใน คนพาลภายนอก ได้อธิบายมาบ้างแล้วในกัณฑ์แรก คนพาลภายในหมายถึงใจของคนเรา ใจของเราเป็นพาลนำตัวของตัวไปสู่ทางที่ไม่ดีเสมอ ใจที่คิดเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความคิดเช่นนี้ท่านเรียกว่า “ความคิดที่เป็นพาล” ออกจากหัวใจดวงนี้ การที่เราพยายามฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้หายพยศเป็นลำดับไปนั้น ก็เพื่อจะให้เป็นผู้เฉลียวฉลาด ในการดำเนินจิตใจให้เป็นไปเพื่อความราบรื่น ก็ต้องอาศัยการอบรมจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ ใจในเมื่อได้รับการอบรมดีแล้ว จะปฏิบัติทางโลกหรือดำเนินการครองชีพก็มีความสะดวก จะปฏิบัติในด้านศีลธรรม ก็เป็นไปเพื่อความราบรื่นเช่นเดียวกัน


เพราะเหตุนั้น การอบรมจิตใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ความเป็นพาลหรือความเป็นบัณฑิต เกิดขึ้นในจิตดวงเดียวนี้ การที่เรามาอบรมกรรมฐาน ณ บัดนี้ ก็เพื่ออบรมจิตใจของเราให้ไปถูกทาง ถูกทางในสถานที่นี้หมายถึงว่า ความคิดออกที่ได้คิดออกในทางใจ แล้วปฏิบัติในทางกาย พูดในทางวาจาเป็นไปเพื่อความถูกต้อง เราจะเกี่ยวกับสังคมหรือบุคคลอื่น การกระทำหรือคำพูดของ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราย่อมเป็นไปเพื่อความราบรื่น หรือความสมัครสมานสามัคคีแก่บรรดาชนทั้งหลายโดยทั่วๆ ไป นี่ก็เพราะเหตุว่า การที่จิตใจของเราได้รับการอบรมมาเรียบร้อยตามสมควร


ทีนี้การอบรมที่จะให้เป็นบัณฑิตยังมีหลายชั้น เพราะคำว่าพาลก็เป็นเช่นเดียวกัน คนพาลอย่างหยาบ คนพาลอย่างกลาง คนพาลอย่างละเอียด คนพาลอย่างหยาบ ก็คือว่าทำความเดือดร้อนแก่พี่ ป้า น้า อา เช่น เที่ยวฉก ลัก ปล้นสะดม ก่อความเดือดร้อนแก่หมู่ชนเหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นคนพาลอย่างหยาบ คนพาลอย่างกลางก็คือว่า ไม่ถึงกับทำเช่นนั้น คนพาลอย่างละเอียดคิดอยู่ภายในใจ คิดอิจฉาพยาบาท ปองร้ายแก่บุคคลผู้อื่น คิดเคียดแค้นต่างๆ อยู่ภายในใจ ไม่ถึงกับลงมือทำด้วยกายวาจา อันนี้ท่านเรียกว่าพาลประเภทหนึ่ง การที่เราได้มานั่งสมาธิ หรือฟังท่านอบรมกรรมฐานดังนี้ เพื่อจะให้เห็นความผิดความถูก ซึ่งเกิดขึ้นจากใจของเรา


เพราะโดยลำพังเราเอง แม้ความคิดที่เป็นไปในทางที่ผิดจะปรากฏอยู่กับเราตลอดเวลาก็ตาม ถ้าเราไม่ได้รับการอบรมหรือไม่มีสติแล้ว ย่อมจะไม่สามารถรู้ความคิดที่ผิดๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากใจของตนเองได้ ความคิดผิดประเภทนี้เมื่อปล่อยให้คิดอยู่เสมอโดยไม่มีการหักห้าม ปล่อยให้เป็นไปตามกระแสของความกดดันอันมีกำลังอยู่ภายในใจ และไม่มีความสนใจในการที่จะพยายามเยียวยารักษา หรือบังคับบัญชาแล้ว ความคิดที่เคยสั่งสมในทางที่ชั่วอยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นความคิดที่มีกำลังมาก สามารถที่จะฉุดลาก กาย วาจา ให้ผิดไปก็ได้ เพราะฉะนั้น การอบรมจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด


สำหรับผู้ที่ชอบในทางกรรมฐาน ยิ่งเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่งไปกว่าการที่กล่าวมานี้ คือพยายามอบรมจิตใจของตนให้มีความสงบเยือกเย็น คำว่าใจเยือกเย็น ย่อมจะเกิดขึ้นจากการที่ใจหยุดทำงาน การที่ใจของเราจะหยุดทำงาน คือความคิดต่างๆ ซึ่งตนเคยคิดมาเสียได้นั้น ย่อมต้องอาศัยบทธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นเครื่องกำกับใจของเราเอง ให้ใจของเราได้อาศัยหรือบริกรรม มีความรู้สึกอยู่กับธรรมประเภทนั้นๆ จนมีความชำนิชำนาญและควบคุมด้วยสติของเราอยู่เสมอ เมื่อใจได้ถูกบังคับบัญชาอยู่ด้วยสติแล้ว ก็เป็นเหตุที่จะหยั่งลงสู่ความสงบ เมื่อใจของเราได้รับความสงบ คือปล่อยอารมณ์ทั้งหลายเสีย เหลือแต่ความรู้อันเดียวนั่นแหละ ความสุขจะปรากฏขึ้นมา เราจะได้มีความเชื่อใจของเราว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า


คนเราที่ไม่ได้อบรมจิตใจให้เป็นสิ่งมีคุณค่าจนประจักษ์แก่ตนเองแล้ว อาจจะคิดเห็นสิ่งภายนอกว่า มีคุณค่ายิ่งกว่าใจไปเสีย นั่นจึงเป็นเหตุให้เราฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในสิ่งทั้งหลาย มีด้านวัตถุนิยมเป็นต้น จนเลยเถิดก็มี การที่เราอบรมจิตใจของเราจนปรากฏเห็นความสงบขึ้นในใจเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุที่จะยับยั้งใจของเรา ให้รู้จักประมาณในสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นความจำเป็น ที่เราจะต้องอาศัยเขาพอสมควร การอบรมจิตใจของเรา ให้เป็นไปเพื่อความสงบ ด้วยอำนาจแห่งความพยายามจริงๆ หรือด้วยอำนาจแห่งความเพียร ด้วยความเป็นผู้มีสติแล้ว ใจจะมีอำนาจเหนือสติ หรือความประคับประคองไปไม่ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาที่ใจดวงที่กำลังฟุ้งเฟ้ออยู่ กำลังฟุ้งซ่านอยู่นี้เอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2011, 15:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนที่จะปรากฏเป็นองค์ศาสดาขึ้นมาในโลกนั้น ก็ปรากฏว่า พระองค์เป็นผู้มีกิเลสตัณหาอาสวะเช่นเดียวกับบรรดาเราทั้งหลาย แต่เหตุไฉนพระองค์เจ้าจึงบังคับบัญชา หรือกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ใจของพระองค์ออกได้จนหมดไม่มีอันใดเหลือ จนปรากฏเป็นพุทโธที่เด่นดวงขึ้นมาในโลกได้ ก็ต้องอาศัยความพยายาม ความขยันหมั่นเพียร ความเอาใจใส่อยู่เสมอ ตามธรรมดาจิตใจของเรา ชอบจะไหลลงทางต่ำเสมอไป เช่นเดียวกับน้ำ นอกจากว่าจะมีเครื่องกดดัน เริ่มตั้งแต่พยายามมีความพากเพียร มีความอดทน หมั่นไตร่ตรอง หมั่นประกอบ หมั่นรักษาจิตใจของตน หมั่นไหว้พระสวดมนต์ หมั่นบังคับบัญชาอยู่เสมอ จนใจของเราเกิดความเคยชิน มีความติดอกติดใจต่องานที่ตนเคยกระทำแล้ว ก็จะปรากฏเห็นผลขึ้นมาที่ใจของเรา เมื่อใจของเราปรากฏเป็นผล คือความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นแหละเป็นต้นทุนของเรา ให้เราได้มีแก่จิตแก่ใจ มีความเชื่อความเลื่อมใสแน่นแฟ้นเข้าโดยลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราก็จะมีช่องทาง ที่จะพยายามทำจิตใจของเราให้มีความสงบยิ่งกว่านั้น


คำว่าความสงบนั้น จะเข้าไปสงบชั่ว ๓ นาที หรือ ๕ นาทีก็ตาม ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความเคยชินและไม่เคยชิน แต่ผู้ที่มีความเคยชินต่อสมาธิ ต่อการภาวนาแล้วนั้น อาจจะอยู่ได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง การที่จิตเข้าไปพักอยู่เช่นนั้น ปรากฏเป็นความสงบ ปรากฏเป็นความสุข ปล่อยวางอารมณ์อันใดทั้งหมดที่ตนเคยคิดมา มีแต่ความรู้และสติคอยกำกับกันอยู่เท่านั้น ปราศจากอารมณ์ที่มารบกวนทุกประเภท นี่ท่านเรียกว่าใจหยั่งเข้าสู่ความสงบ ใจเมื่อปรากฏเป็นความสงบได้เช่นนั้นแล้ว จะเริ่มเห็นใจของตนว่ามีคุณค่า และจะเริ่มเห็นตนของตนว่ามีคุณค่า และจะเริ่มเห็นตนของตนว่า เป็นผู้สมควรแก่พระศาสนา


โดยมากความคิดของเราไม่ว่าใครๆ ทั้งนั้น แม้แต่ผู้แสดงอยู่ ณ บัดนี้ก็เคยมีความรู้สึกที่จะเรียนให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ ณ บัดนี้เหมือนกัน คือเข้าใจเสียว่า คุณงามความดีทั้งหมด ไม่ใช่ฐานะของเรา ที่จะพึงประกอบพึงบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นเป็นสมบัติส่วนตัว จนถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นธรรมชั้นสูงสุด เป็นฐานะหรือวิสัยของท่านผู้มีอำนาจวาสนา ผู้มีบุญญาภิสมภาร เช่นอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงสามารถบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ จะเป็นผู้วิเศษขึ้นได้ก็เพราะพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกทั้งหลายเท่านั้น บรรดาพวกเราๆ นี้ เป็นผู้ที่ไม่สามารถหรือไม่ใช่หน้าที่ที่จะบำเพ็ญตนของตนให้เป็นเช่นนั้นได้ ความคิดเช่นนี้ ในเมื่อเรายังไม่ได้รับการอบรม หรือได้รับความซาบซึ้งในพระศาสนาเพราะการไม่ได้บำเพ็ญ การไม่ได้กระทำ อาจจะเกิดขึ้นได้ มีขึ้นได้แทบทุกรายไป


ทีนี้เมื่อเราได้อุตส่าห์พยายาม ทำด้วยความพากเพียรจริงๆ ให้เป็นกิจประจำวันเช่นเดียวกับการครองชีพของเรา งานการครองชีพของเราวันหนึ่งๆ เราจะละเว้นไม่ได้ ถ้าละเว้นวันหนึ่งการครองชีพของเราก็ขาดตกบกพร่องไป หรือไม่สมบูรณ์ เมื่อเราได้ประกอบอยู่ทุกๆ วัน ตามเวลาแล้ว การครองชีพของเราก็จะเป็นไปเพื่อความสมบูรณ์และร่มเย็นเป็นสุข ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเราได้อุตส่าห์พยายามประกอบจิตใจของเรา จนปรากฏว่าเป็นกิจประจำวัน หรือ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร