วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 05:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2010, 14:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เกิดมาทำไม
โดย ชยสาโร ภิกขุ


ในเมืองไทย หากถึงวันเกิด ก็มักจะไปทำบุญทำทานตามประเพณีและธรรมเนียมอันงดงามของชาวพุทธ ในขณะที่ชาวพุทธตะวันตกบางคน เคยออกความเห็นว่าชาวพุทธไม่ควรฉลองวันเกิด เพราะจุดมุ่งหมายในชีวิตของชาวพุทธคือการเห็นโทษในการเกิด เขาถือว่าการเกิดไม่ใช่สิ่งที่ดี อันนี้ก็เป็นทัศนะอันหนึ่ง แต่ถ้าเรามองในแง่หนึ่ง เป็นการฉลองการมีบุญพอที่จะเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งพระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์มีน้อยมาก ชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง

นักวิชาการชาวตะวันตกบางคน เคยตำหนิพระพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่มองชีวิตในแง่ร้าย แต่ผู้ใดลงมือปฏิบัติธรรมย่อมเห็นว่าความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนามองชีวิตของมนุษย์ในแง่ดี มองในแง่สร้างสรรค์ อาจดีกว่าศาสนาอื่นด้วยซ้ำไป คือเราเชื่อในความสามารถของมนุษย์ ศาสนาอื่นนั้นมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่ชาติปัจจุบัน หากมองเป็นแค่อารัมภบทก่อนขึ้นสวรรค์นิรันดรหรือตกนรกนิรันดร ไม่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพ้นจากความทุกข์ในชาตินี้ แต่ทางพระพุทธศาสนาเห็นว่า ชาตินี้สำคัญที่สุดแล้ว การที่เราเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะว่าเรามีความสามารถพิเศษบางอย่าง ซึ่งสัตว์ที่เกิดในภพอื่นหรือภูมิอื่นไม่มี คือเรามีความสามารถในการละความชั่ว บำเพ็ญกุศลความดี และการชำระจิตใจของตน

ชีวิตที่สมบูรณ์ของมนุษย์ ต้องประกอบไปด้วยการกระทำเหล่านี้ ต้องมีการละ ต้องมีการบำเพ็ญ ต้องมีการชำระ ฉะนั้นในการฉลองวันเกิด เราก็ฉลองในฐานะที่การเกิดครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เรามาพบกับพระพุทธศาสนา ได้มาสัมผัสกับหลักสัจธรรมความจริง และได้มีความคิดวิเคราะห์ชีวิตของตนว่า เราเกิดมาทำไม และสิ่งสูงสุดในชีวิตคืออะไรหรือควรจะเป็นอย่างไร

การพิจารณาในเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเอง เรื่องคุณภาพชีวิตของตน คือจุดเริ่มต้นของการภาวนา การภาวนาคือการพัฒนาย่อมอาศัยจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ของเราทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้มีแนวทางปรับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ความทุกข์คือความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกนึกคิด การพูด และการกระทำของเรากับความจริงของธรรมชาติ ความทุกข์นี้จึงหายไปโดยสิ้นเชิงด้วยพลังของปัญญาเท่านั้น เราไม่สามารถกำจัดความทุกข์นี้ได้ด้วยวิธีการอย่างอื่น การอ้อนวอนพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี การกลบเกลื่อนความทุกข์ด้วยความมัวเมาเพลิดเพลินในความสุขทางเนื้อหนังก็ดี ล้วนเป็นแค่การบรรเทาชั่วคราว เพราะไม่ได้แก้ที่เหตุ

อะไรๆ ก็เหมือนกัน ไม่ดูก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ เราไม่ยอมมองด้านในก็ไม่เห็นตัวเอง ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบพูดว่า เขาไม่เห็นว่าศาสนามีความจำเป็นอะไรแก่ชีวิต เขามีความสุขพอสมควรแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรนักหนา และไม่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่ใครๆ (พอกล่าวคำนี้ ผู้ใกล้ชิดมักจะต้องอมยิ้มหรือส่ายหัวนิดๆ) คนที่มองอย่างนี้ มักขอให้หาความสุขแบบชาวบ้านก่อน คือ เขามองธรรมะเป็นยาสมุนไพรขมๆ ที่ควรเอาไว้ในอนาคตโน้น ตอนจวนหมดบุญ รักษาทางอื่นไม่ได้ผล ไม่มีทางเลือกแล้วจึงค่อยลอง นี่คือความประมาท ทำไม เพราะมองไม่เห็นเนื้อร้ายที่เกิดที่หัวใจเสียแล้ว ซึ่งธรรมะเท่านั้นที่ขจัดได้ เป็นความคิดที่เกิดจากการไม่มองด้นใน ไม่ดูก็ไม่เห็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่แล้ว และคอยบั่นทอนคุณภาพชีวิตตลอดเวลา

ความยึดติดเกิดที่ไหน ความเครียดและความกลัวเกิดที่นั้น ผู้อยู่ในโลกไม่รู้เท่าทันโลก ไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรมคือไม่สนใจธรรมชาติของตัวเอง ไม่สนใจธรรมชาติของตัวเองย่อมเป็นเหยื่อนของมันอยู่เรื่อย อย่างเช่นกลัวตาย เป็นต้น และกลัวการพลัดพรากจากสิ่งที่ให้ความสุขแก่ชีวิต


ตราบ ใดที่เขาสามารถสัมผัสหรือเก็บสิ่งที่เขาสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นความสุขหรืออำนวยความสุข เราก็ประมาทและหมกมุ่นในสิ่งนั้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้เขาต้องพลัดพราก หรือแค่คุกคามว่าจะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น เขาจะเป็นทุกข์เป็นร้อน ไม่มีที่พึ่ง เพราะไม่พร้อม ไม่เคยซ้อม ไม่เคยตระหนักว่าเป็นเรื่องธรรมดาว่า ความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่แน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเหมือนกัน

ความสุขที่อาศัยการกระตุ้นจากข้างนอกเป็นของเปราะ ขาดความมั่นคง เป็นความสุขที่หลอกให้เราหลง และผู้ที่จะเอาจริงเอาจังกับความสุขอย่างนี้มาก ก็ย่อมตาบอดต่อความจริงของธรรมชาติ ที่ท่านเรียกว่าไตรลักษณ์ จึงไม่ฉลาดในการบริหารอารมณ์ตัวเองเท่าที่ควร

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือผู้กล้าทวนกระแสโลก ต้องเด็ดเดี่ยวไม่ยอมหนีจากความทุกข์ ไม่หลับหูหลับตาต่อความจริง ไม่เอาหูไปบาร์เอาตาไปห้าง กำลังใจในการปฏิบัติจะเกิดได้อย่างไร ก็เกิดด้วยการพิจารณาเห็นโทษ และความไร้แก่นสารสาระของชีวิตที่ขาดธรรมะ ต้องสังเกตเห็นว่า การฝากความหวังในชีวิตไว้กับความสุขจากสิ่งนอกตัว ก่อให้เกิดความว้าเหว่เบื่อหน่ายและกังวลเป็นเงาตามตัวความสุขนั้นอยู่ตลอด เวลา การเก็บกดหรือวิ่งหนีจากเงานี้ทำให้เหน็ดเหนื่อย บางครั้งอาจแน่นหน้าอกวิงเวียนหรือตัวสั่นอย่างฉับพลันก็ได้ ความรู้สึกว่าชีวิตของเราไม่มีความหมายห้ามไม่อยู่ เป็นโทษของการวิ่งตามวัตถุและความสุขทางเนื้อหนังมากเกิดไป

นักปฏิบัติต้องเห็นชัดว่า ความสุขทางเนื้อหนังไม่สามารถตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของมนุษย์ คือความสงบที่เต็มไปด้วยปัญญาและกรุณา ความสงบนี้หลวงพ่อชาเคยเรียกว่า “บ้านที่แท้จริง” แต่พฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นอาการต่างๆ ของคนคิดถึงบ้าน แต่ไม่รู้จักบ้าน น่าสงสารเนอะ

ฉะนั้น คนส่วนมากไม่กล้ารับรู้โทษของกาม เพราะเขาปล่อยให้กามเป็นชีวิตจิตใจของเขาทีเดียว เขากลัวว่าความสุขแบบนี้หมดไปเมื่อไร ชีวิตจะไม่มีอะไรเหลือ แต่นักปฏิบัติกล้ารับรู้ต่อโทษของกาม เพราะเห็นว่ามีสิ่งที่สูงกว่า เชื่อมั่นว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งมีค่า ไม่ควรเสียเวลากับสิ่งเปล่าประโยชน์ เราเกิดมาเพื่อแสวงหาปัญญา เพื่อความดับทุกข์ เพื่อบรรลุถึงสุดยอดของการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตคือ “อมตธรรม” ความไม่เกิดไม่ตาย

ถึงแม้ว่าเราจะไปไม่ถึงในชาตินี้ อย่างน้อยเราก็ควรตั้งเข็มทิศเอาไว้ เรามาศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่ามีคำสอนที่ทนต่อการพิสูจน์ ให้คำแนะนำชี้แจงในการเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิตที่ชัดเจนและละเอียดอ่อน ให้วิธีการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎธรรมชาติ ไม่เกิดโทษ ธรรมะสำคัญขนาดนี้ การเกิดเป็นมนุษย์ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องถือว่าเป็นโชคเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อเราระลึกถึงและพินิจพิจารณาในสาระของชีวิตของตน ความรู้สึกใหม่หลายอย่างย่อมปรากฏขึ้น เกิดซาบซึ้งดื่มด่ำในบางสิ่งบางอย่าง ข้อหนึ่งที่จะเห็นชัดอยู่ในใจคือ ความรู้สึกต่อความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายในชีวิต การไตร่ตรองในเรื่องนี้ทำให้เกิดปัญญา ไม่ยึดมั่นถือมั่น

อีกประการหนึ่ง การพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นย่อมนำไปสู่ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มี พระคุณต่อเรา ส่วนมากเรามักจะมองว่าความสำนึกในบุญคุณของผู้มีอุปการคุณต่อเราว่าเป็นธรรม พื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องสูงฟังยากเหมือนอนัตตา แต่ที่จริงแล้วความกตัญญูกตเวทีอันแท้จริงเกิดขึ้นและเข้มแข็ง เพราะความเข้าใจในเรื่องอนัตตาคือความระลึกรู้อยู่ว่า เราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก ไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียว ความสุขทั้งหมดที่เราเคยเสวยในชาตินี้ย่อมอาศัยคนอื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นไม่มากก็น้อย ในชีวิตของเรานั้น เคยไหม เคยมีความสุขแม้แต่นิดเดียวที่ไม่ได้อาศัยคนอื่นเป็นปัจจัย ขอตอบแทนว่าไม่เคย แล้วเมื่อชีวิตเราไม่มีอะไรที่ไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่นหรือสิ่งอื่น เราจะถือตัวถือตนได้อย่างไร แล้วเราจะหาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรได้ที่ไหน

วันเกิดของเราควรเป็นวันที่เราคำนึงว่า เป็นวันที่คุณแม่ผ่านการทรมานเพื่อเรา การคลอดลูกมักทำให้มีทุกขเวทนารุนแรง ความสุขของเราในชีวิตนี้เกิดขึ้น เพราะคุณแม่ของเรายอมทนต่อความทุกข์ความทรมาน และไม่ใช่เฉพาะวันคลอดเท่านั้นที่ท่านลำบาก ร่างกายท่านผิดปกติตลอดเก้าเดือน และก็ไม่ได้สิ้นสุดในวันคลอดด้วย แต่ท่านยังยอมรับความลำบากหลายๆ อย่างในการเลี้ยงดูเรา ด้วยความภาคภูมิใจ ฉะนั้น วันเกิดของเราควรจะเป็นวันแม่ของเราด้วย


อาตมา เคยฟังนิทานของชาวธิเบตเรื่องความรักของแม่ เขาเล่าว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งมีภรรยาสองคน ภรรยาหลวงไม่มีลูกและกำลังอิจฉาภรรยาคนที่สองซึ่งเพิ่งมีลูกชายคนแรก ลูกยังเป็นทารกอยู่ เศรษฐีก็ตาย สงสัยว่าบ้านเขาคงอยู่ห่างไกลจากคนอื่น เพราะยังไม่มีใครทราบว่ามีลูก เมียหลวงจึงวางแผนชั่วร้าย คือยืนยันกับแขกที่งานศพว่าเด็กเป็นลูกของเขา ไม่ใช่ของเมียน้อย เนื่องจากกฎหมายของธิเบตกำหนดว่า ทรัพย์สมบัติของเศรษฐีทั้งหมดต้องตกเป็นของลูกชายคนเดียว

เมียหลวงและเมียน้อยพร้อมกับลูก พากันเข้าไปในเมืองหลวง โดยทั้งสองคนต่างยืนกรานว่าเด็กเป็นลูกของตน คดีขึ้นศาล ผู้พิพากษาฟังผู้หญิงทั้งสองคนพูด ต่างคนต่างร้องไห้ของความยุติธรรม ผู้พิพากษาดูไม่ออกว่าใครพูดจริงใครพูดเท็จ ท่านจึงสั่งให้ผู้หญิงไปจับลูก คนละแขน แล้วให้ดึง ท่านสั่งว่าคนที่เป็นแม่จริงจะต้องดึงแรงกว่าคนที่ไม่ใช่แม่ ทั้งสองก็ทำตามคำสั่งผู้พิพากษา ดึงไปดึงมา เด็กเล็กๆ ก็ร้องไห้ ทรมาน เมียน้อยเห็นลูกร้องไห้ ทนไม่ไหวก็เลยปล่อย ยอมแพ้ดีกว่าจะให้ลูกเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้าดึงต่อไปอีก ลูกอาจจะถึงตายได้ ก็จำเป็นต้องปล่อยแขนของลูก เมียหลวงก็ร้อง ไชโย! ชนะแล้ว ยิ้มบาน แต่ผู้พิพากษากลับสั่งเจ้าหน้าที่เอาลูกไปให้เมียน้อย

เมียหลวงแชมป์ชักเย่อลูกก็งง ทำไม เขาร้อง อย่างนี้ไม่ยุติธรรม เขาแย้ง ผู้พิพากษาดุ บอกว่า พอแล้ว ยุติธรรมแล้ว ผู้ยอมปล่อยนั้นแหละต้องเป็นแม่จริง คนนั้นแสดงความรักของแม่ เพราะเห็นความทุกข์ของลูกเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าความต้องการหรือความรู้สึก ของตัวเอง ในที่สุดเมียน้อยก็ได้ลูกกลับมา และได้ทรัพย์สมบัติตามกฎหมาย...จบ แต่อาตมาไม่อยากให้จบตรงนี้ ถ้าอาตมาเป็นผู้เขียน ตอนท้ายเรื่องจะให้ผู้เป็นแม่จริงแบ่งสมบัติไว้ให้เมียหลวงสักครึ่งหนึ่ง เพราะชนะแล้วควรให้อภัย น่าเห็นใจเมียหลวงว่า เขาทำน่าเกลียดอย่างนี้เพราะไม่มีลูกและกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง เดี๋ยวนี้เขาเป็นแม่หม้ายเสียแล้ว ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครเลี้ยง ถ้าเมียน้อยไม่ช่วยเขา ใครจะช่วย ยิ่งขึ้นศาลในเรื่องอื้อฉาวก็ต้องตกเป็นขี้ปากของสังคมแน่ๆ คงเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน

ฉะนั้น ก็ต้องให้อภัยเขา และเชิญเขากลับมาอยู่ด้วยกันต่อ ช่วยกันดูแลลูก ถ้าภรรยาคนที่สองทำอย่างนี้ เรียกว่าน่าชม เป็นนักปฏิบัติธรรม คือมีทั้งความรักของแม่ และทั้งความรักที่ประกอบด้วยธรรม คือเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

ในการภาวนา เราเปิดจิตใจของเรากว้างออกไปรับรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เปรียบเสมือนกับห้องที่อับๆ และมืดสนิท ซึ่งเราเปิดหน้าต่างเปิดประตูให้แสงสว่างและอากาศเข้าไป ถ้าเราไม่พิจารณาความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ชีวิตย่อมถูกกิเลสครอบงำอยู่เสมอ พุทธศาสนาของเราถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ไม่ใช่ว่าพอเกิดแล้วปั๊บเราประเสริฐทันที เราจะประเสริฐได้ก็ด้วยการฝึก ความประเสริฐเป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งที่เราบรรลุได้ แต่มันทำยากลำบากเหมือนกัน

หลวงพ่อชาเคยสอนอยู่เสมอว่า ความทุกข์ในโลกมีสองอย่าง คือความทุกข์ที่เป็นไปเพื่อความทุกข์ และความทุกข์ที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ความทุกข์ประเภทที่สองนั้นเราต้องยอมรับ พระพุทธองค์เคยตรัสว่า “ทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ศรัทธาเป็นเหตุให้เกิดความปิติปราโมทย์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสุข และความสุขเป็นเหตุให้จิตเข้าถึงความสงบได้”

นี่เป็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่เราไม่ควรลืม เราปฏิบัติเพื่อกำหนดรู้ความทุกข์โดยจิตที่เข้มแข็งพอจะกำหนดรู้ทุกข์ได้ จิตที่ประกอบด้วยความสุขจะเป็นจิตที่เข้มแข็ง ถ้าจิตใจของเรายังหิวโหยขาดความสุข จิตนั้นจะอ่อนแอและจิตนั้นจะบรรลุสัจธรรมไม่ได้

พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า “ผู้มีปีติในธรรมย่อมเป็นสุข” คนเราต้องยกทุกๆ เรื่องในชีวิตประจำวันขึ้นสู่ธรรมะ เพราะถ้าเรารู้จักมองทุกอย่างเป็นธรรมะ ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข

เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปในประเทศต่างๆ สถาบันสงฆ์และแนวการสอนแปรเปลี่ยนไป ที่ประเทศจีนท่านเน้นเรื่องปรัชญาไปเสียมาก สุดท้ายเกิดปฏิกิริยาจากผู้ที่ต้องการสนับสนุนฝ่ายปฏิบัติ ผลอย่างหนึ่งคือการปรากฏขึ้นของนิกายเซ็น พวกนี้ทิ้งหนังสืออ่านแต่ใจ

ข้อหนึ่งที่อาจารย์เซ็นเห็นว่ามีปัญหา คือการที่นักวิชาการในสมัยนั้นยกธรรมะขึ้นมาเป็นเรื่องสูงเกินไป จนกระทั่งคนทั่วไปรู้สึกว่าเหลือวิสัยของคนธรรมดา ฉะนั้น เพื่อสอนให้คนเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ พระเซ็นชอบใช้คำพูดสั้นๆ ให้ผู้ฟังสะดุ้ง โดยถือว่าจิตใจเราสะดุ้ง ก็สามารถรับของใหม่ได้ง่ายขึ้น


ครั้ง หนึ่งมีอุบาสกคนหนึ่งถามอาจารย์เซ็นว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร พุทธภาวะคืออะไร ท่านตอบทันควันว่า พุทธภาวะคือขี้หมา เหตุผลในการตอบอย่างนี้คือ ท่านยกสิ่งที่คนทั่วไปเห็นว่าสกปรกหรือต่ำต้อยที่สุด และเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนทั่วไปเชื่อว่าสูงสุด เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่บริสุทธิ์ไม่ได้อยู่ห่างจากสิ่งสกปรกหรือธรรมดา

ถ้ามองด้วยปัญญา เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้น ล้วนแล้วแต่มีลักษณะอันเดียวกันคือเกิดขึ้นแล้วดับไป การประจักษ์แจ้งในธรรมชาติของประสบการณ์ของเราคือการปรากฏของพุทธภาวะ ฉะนั้น พุทธภาวะจึงไม่ใช่สิ่งลึกลับที่เราจะหยั่งรู้ได้ ไม่จำเป็นต้องรอออกบวชไปอยู่ในป่าในเขา แต่เป็นความเข้าใจเรื่องสิ่งธรรมดา ที่อยู่กับเราตลอดเวลา อาบน้ำ แปรงฟัน ทำกับข้าว ทานข้าว ล้างจาน ขับรถ เดินไปเดินมา ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นโอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมะได้ เพราะธรรมะไม่ใช่สิ่งลึกลับจนเกินไป เป็นสิ่งสูงสุดก็จริง แต่เป็นสิ่งสูงสุดที่อยู่ในสิ่งต่ำสุดได้ด้วย

นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษคนหนึ่งเคยบอกว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ แต่เกิดขึ้นจากการมองข้อมูลเก่าด้วยสายตาใหม่ ก็คล้ายๆ กับ ความก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติไม่ได้อยู่นอกเหนือจากชีวิตประจำวันของเรา คนเราต้องพยายามมีธรรมะอยู่ในใจตลอดเวลา เพราะธรรมะเป็นเครื่องแก้กิเลส และกิเลสเกิดได้ทุกเวลานาที

ตามหลักปริยัติ เราถือว่าธรรมะประกอบด้วยแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มีให้เลือกเยอะ แต่เราต้องรู้จักเลือกธรรมะที่เหมาะกับเหตุการณ์ปัจจุบัน บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ธรรมะที่ลึกซึ้ง บางครั้งเราก็ต้องใช้ธรรมะพื้นๆ สำคัญแต่ว่า ได้ผลไหม

โดยปรกติในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดอารมณ์หงุดหงิดไม่พอใจ เราชอบระบายความรู้สึกออกไป โดยการดุหรือพูดอะไรให้คนอื่นเจ็บใจ แต่ถ้าเรารู้สึกตัวแล้วไม่พูดอย่างนั้น เราก็จะได้ธรรมะหลายข้อ ความรู้สึกตัวว่ากำลังหงุดหงิดคือตัวสติ และการที่ไม่ทำตามความรู้สึกนั้นคือความอดทน เมื่อความเศร้าหมองในใจเราหาย เกิดสำนึกในความไม่เที่ยงของอารมณ์ ความไม่เป็นตัวเป็นตนของอารมณ์ นั่นคือตัวปัญญา การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้

ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เราควรพิจารณาบ่อยๆ ก็คือความเบื่อ ตัวนี้จะเป็นตัวที่มีผลต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก คนทั่วไปทำหลายสิ่งหลายอย่างเพียงเพราะเบื่อ หรือเพราะกลัวการเบื่อ การภาวนาเป็นโอกาสที่ดีเราจะมารู้จักกิเลสตัวนี้ พิจารณาดูความรู้สึกว่า เบื่อคืออะไร มีอาการอย่างไร สังเกตตัวเบื่อนี้ในระหว่างการภาวนา แล้วจะสามารถจับความรู้สึกนี้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น บางทีอาจหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ให้ดูเจตนาของเราในขณะที่เราหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน หรือว่าหยิบเทปมาฟัง อาจเป็นได้ว่าเป็นอาการของความเบื่อมากกว่าการใฝ่ธรรม นั่งสมาธิไม่สงบ เบื่อ และอยากลุกหนีความจากความรู้สึกนั้น จึงหาหนังสืออ่านแทน ไม่ปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นเหตุของทุกข์ ในการปฏิบัติไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้อ่านหนังสือ ห้ามไม่ให้ฟังเทปเลย เพียงแค่เตือนให้รู้จักเจตนาของตัวเอง ตัวความเบื่อนี้สำคัญ

การภาวนา คือ การสร้างความคุ้นเคยกับตัวเอง นักภาวนาต้องดูตัวเองอยู่เสมอว่าในขณะนี้มีอะไรอยู่บ้าง โดยไม่หลวงว่าสิ่งที่เห็นเป็นของตัวเป็นของตน คือไม่มองด้านในผ่านแว่นสี คือความรู้สึกว่าเรา หรือของเรา มนุษย์ส่วนมากมักห่างไกลจากตัวเอง ไม่รู้จักเลย บางคนชอบบ่นว่าคนอื่นไม่รู้จักเขาหรือไม่เข้าใจเขา แต่ตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจตัวเองเท่าไร แล้วทำไมคนอื่นจะต้องเข้าใจ น่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

นักปฏิบัติผู้เฝ้าสังเกตจิตใจ จะต้องเห็นว่าอารมณ์ใดเกิดบ่อย อารมณ์ใดเกิดไม่ค่อยบ่อย จะต้องเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ต่างๆ เช่น จะสังเกตว่าเวลาเครียดหรือกลัว ความโกรธมักจะวิ่งตามมาเป็นเพื่อน ตอนโกรธเรามักจะเพลินในความโกรธ แล้วทำหรือพูดในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเองหรือคนอื่น หรือเวลามีใครยกย่องสรรเสริญ เราจะรู้สึกดีใจสบายใจ

ในการปฏิบัติธรรม เราเพียรพยายามมองอาการของจิต เช่น นี้เป็นเรื่องธรรมะ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือไม่ต้องมีคำว่า “ฉัน” หรือคำว่า “เรา” เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย มีแต่ธรรมะล้วนๆ อย่างเช่น ความโกรธเกิดขึ้นแล้วมีผลอย่างนั้นอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็กลายเป็นเหตุของอารมณ์อย่างอื่น เช่น ความเดือดร้อน เป็นต้น ขาดสติแล้ว กิเลสเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ ตามหลัก ปฏิจจสมุปปบาท

มองใจตัวไม่เป็น เห็นสิ่งที่ดีก็เหลิง หรือถือตัวว่าเราดีเราเก่ง เห็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตกใจ หรือถือตัวว่าเราเลวเราไม่เก่ง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเป็นสมบัติของเรา การภาวนาอย่างนี้ผิดทาง เป็นการสร้างอัตตาตัวตน ไม่ใช่การโค่นหรือการทำลาย เราเพียงแต่ได้อัตตาตัวตนใหม่ ทิ้งของเราแล้ว เอาของใหม่ไว้แทน

ความเพียรคือการทำความรู้สึกตัว ว่าจิตใจของเราผิดปกติไหม เอนเอียงไปทางไหนไหม เอนเอียงไปทางชอบ เอนเอียงไปทางไม่ชอบไหม หนักไปทางโลภไหม หนักไปทางโกรธไหม หนักไปทางหลงไหม รับรู้อยู่โดยไม่ถือว่าตัวเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ สักแต่ว่า ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ ประคับประคองความรู้ตัวอย่างนี้ไว้เรื่อยๆ แล้วปล่อยในสิ่งที่ควรปล่อย สนับสนุนสิ่งที่ควรสนับสนุน จิตใจจะเข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะต่อความรู้สึกของคนอื่น


คน ที่ไม่รู้จักตัวเอง มักแสวงหาความมั่นคงจากความรู้สึกของคนอื่น เราอาจจะเคยก็ได้ คนรอบข้างชอบหรือมีความสุขก็สบาย มีใครไม่ชอบก็ไม่สบาย ต้องพยายามทำให้ทุกคนรัก ให้ทุกคนชอบ ดิ้นรนที่จะเป็นที่รักของคนทุกคน ถ้าอยู่ในออฟฟิศหรือในที่ๆ มีสักสิบคน รู้สึกว่าเขาชอบเราเก้าคน มีคนเดียวที่ไม่ชอบ ก็แทบจะอยู่ไม่ได้ ทุกข์ สงสัยว่าเรามีอะไรเขาจึงไม่ชอบ มีใครเข้าใจเรา ผิดหรือโกรธ จะมีความรู้สึกว่าตัวเรา ตัวตนของเราถูกกระทบอย่างแรง

แต่คุณค่าของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยสายตาของคนอื่น เขากล่าวหาในสิ่งที่ไม่จิรง คุณค่าของเราก็ยังมีเหมือนเดิม เป็นสิ่งที่เรากำลังสัมผัสอยู่ คนอื่นจะเห็นหรือไม่เห็น เป็นเรื่องของเขา ส่วนเรื่องของความรัก อาตมาว่าความรักมันเหมือนกับไวรัสตัวหนึ่ง ไม่ใช่คนรักกันเพราะบุคลิกตรงกัน ดวงตรงกัน ฯลฯ เท่าไรหรอก มันคล้ายกับเป็นปฏิกิริยาทางเคมี หรือไวรัสตัวหนึ่งมากกว่า ติดไวรัสกัน ติดไวรัสนั้นตลอดชีวิตก็มี หรืออาจจะติดไวรัสไปอาทิตย์สองอาทิตย์ก็ยังมี พอหายแล้วก็ไม่รักเสียแล้ว

มองอย่างนี้อาจจะแรงไปหน่อย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการเชื่อว่าเขารักเรา เราต้องเป็นคนดี เพราะตามเหตุผลนี้ถ้าเผื่อเขาเกิดไม่รักเรา ก็หมายความว่าเราต้องเป็นคนไม่ดีซิ สุขภาพจิตเราจะแย่ ที่แท้มันไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนอื่นเลย เราก็ต้องรู้จักตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่ โดยไม่เข้าข้างตัวเอง ให้เราระลึกอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในใจเราไม่ใช่ของตายตัว คือคำว่าบุคลิกหรือจริตนิสัยก็เป็นเพียงแค่ชื่อตามความเคยชินต่างๆ ซึ่งเราเปลี่ยนได้ ถ้าเรามีศรัทธาและเห็นคุณค่าในการเปลี่ยน

ศรัทธาเป็นเรื่องสำคัญ สำคัญมากทีเดียว ความพากเพียรก็ดี ความอดทนก็ดี ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ มีโยมฝรั่งคนหนึ่งเคยอยู่ที่นี่ เขาเคยติดเฮโรอีนมาหลายปี เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะเลิกแต่เลิกไม่ได้ มาเมืองไทยเขาไปรักษาที่วัดถ้ำกระบอก พอออกจากวัดแล้วก็ลงไปกรุงเทพฯ ซื้อเฮโรอีน ไม่ได้เรื่องเลย นานมาแล้วเขาเคยมาเที่ยววัดป่านานาชาติสองครั้ง มาครั้งนี้เขาถือว่าเป็นความหวังสุดท้าย เขามาอยู่ที่นี่ สนทนากับพระ เริ่มศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เขาเกิดศรัทธาแล้วเลิกยาเสพติดได้

ทุกวันนี้บางทีเดินผ่านพระพุทธรูป น้ำตาเขาไหล เขาก็แปลกไม่เคยคิดว่าความซาบซึ้งอย่างนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตเขาได้ แล้วศรัทธาแรงกล้านี้ไม่งมงายด้วย เป็นศรัทธาที่เกิดด้วยเหตุผล เขาอ่านหนังสือแล้วสงสัยข้อไหนก็มาถาม อาตมาก็ตอบ แล้วเขาก็จะร้อง อ้อ ! อย่างนี้เอง เขาบอกว่าสมัยที่เขาติดเฮโรอีนเคยอ่านหนังสือปรัชญา หนังสือศาสนาทั้งตะวันออกตั้งเยอะแยะ รู้สึกว่าดี รู้สึกว่าลึกซึ้ง แต่ยังไม่มีถึงขั้นเห็นโทษในวิถีชีวิต เพียงแต่รับไว้เป็นปรัชญาประดับความรู้เฉยๆ แต่ตอนนี้เกิดศรัทธาแล้ว เขาก็พร้อมที่จะอดทนต่อกิเลส ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง ตั้งใจดีมาก แล้วได้ผล อาตมาบอกเขาว่า ทุกวันนี้ คนติดเฮโรอีนกันงอมแงม ต่อไปนี้นี้ท่านอาจจะช่วยพวกนี้ได้ดี ใช้ประสบการณ์เลวร้ายเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์ เขาดีใจ

ส่วนโยมก็เป็นผู้มีศรัทธามานานแล้ว และวันเกิดปีนี้ ขอให้ระลึกถึงความตายบ้าง เพราะวันนี้เหมือนกับหลักกิโลข้างทางอีกกิโลหนึ่ง ทุกวันนี้อาตมาอยู่ที่วัดภูจ้อมก้อม พิจารณาน้ำในห้วยอยู่ทุกวัน ช่วงหน้าฝนน้ำไหลเชี่ยว บางวันเกือบจะข้ามไม่ได้ บางวันน้ำถึงระดับหน้าอก ข้ามก็อันตราย พอเข้าหน้าหนาวนับวันน้ำก็แห้งไปหมดไป ระลึกว่าชีวิตของเราก็เหมือนกัน นับวันมันก็หมดไปแห้งไป เหี่ยวไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราพิจารณาเรื่องความเกิดดับในชีวิตประจำวัน ส่วนมากเราจะจับจ้องแต่ความเกิด เพราะมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เราไม่ค่อยชอบดูความดับความสิ้นไปของสิ่งต่างๆ แต่การหัดมาดูเรื่องความดับ ย่อมเกิดปัญญามากกว่าการดูการเกิด

การสังเกตเห็นความดับของอารมณ์ ความดับของความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทำให้สลดสังเวชในการเวียนว่ายตายเกิด และนำไปสู่ นิพพิทา ความเบื่อหน่าย นิพพิทา หรือความเบื่อหน่ายนี้เป็นความรู้สึกที่เยือกเย็น ไม่มีโทสะเข้าไปแอบแฝงเลย เป็นความรู้สึกหมดสนุกในการยึดมั่นถือมั่น

ในชีวิตประจำวัน การยึดมั่นถือมั่น มักปรากฏในหลายรูปแบบ อย่างเช่นการที่เราจะหมายมั่นปั้นมือว่าต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ให้ได้ คนนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น คนนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้แล้วเราจึงชอบพยายามบังคับให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นไปตามใจเรา เมื่อเราเห็นว่าความคิดอย่างนี้เป็นการเบียดเบียน เป็นการทรมานตัวเองโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นความพยายามที่ลมๆ แล้งๆ ไม่มีวันที่เราจะสำเร็จได้ เราก็ยอมปล่อย ในขณะที่เราเห็นความโง่ในความยึดมั่นถือมั่นนั้นอย่างชัดแจ้ง ท่านให้ชื่อว่า นิพพิทา เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดยินดีในสังขาร เพราะเล็งเห็นโทษของการยึดมั่น เป็นเหตุให้เราเข้าถึงความหลุดพ้นในที่สุด

ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9412


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2010, 16:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


ขอโมทนาครับ คุณ wincha สาธุ :b8:

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร