ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=30995
หน้า 1 จากทั้งหมด 2

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:17 ]
หัวข้อกระทู้:  สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รูปภาพ

สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



ชีวิตคือความรัก

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

ชีวิตคือความรัก
ชีวิตที่ปราศจากความรัก ไม่ใช่ชีวิต
ความรักคืออาหารใจ
ความรักสร้างชีวิต
ความรักหล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์

ตามหลักทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า
กว่าที่เราจะเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้
จิตวิญญาณของเราได้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร
มานับชาติไม่ถ้วน ในภพภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทพ
เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก
เราได้เกิดตายๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนไม่อาจนับชาติได้

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
สัตว์ทั้งหลายที่เราพบเห็น โดยเฉพาะมนุษย์ด้วยกัน
ซึ่งเกิดมาพบกันในชาตินี้ ที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่
ญาติพี่น้องกัน ในวัฏสงสารนั้นหายาก
ในวัฏสงสารอันยาวนาน


ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน
ดังนั้น ในการดำเนินชีวิต เราจึงไม่ควรประมาท
สร้างศัตรู แบ่งพรรคแบ่งพวก ต่อสู้ แก่งแย่งชิงดีกัน
แต่ควรที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
และมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย

โดยเฉพาะเมื่อเกิดมาในครอบครัวเดียวกัน
เราควรมีความรัก มีเมตตา กรุณาต่อกัน ช่วยเหลือ
เกื้อกูลกัน และพัฒนาชีวิตให้มีความสุข
ชีวิตคนเราในชาติหนึ่ง ต่างมุ่งแสวงหาหลายสิ่ง
หลายอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ฯลฯ
แต่ในที่สุด สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตคือ ความรัก

ความรักที่หมายถึงความปรารถนาดี เอื้ออาทรต่อกัน
ยอมรับได้ทุกสิ่งทุกอย่างในความเป็นเขา
รักอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน
เป็นความรักที่มีแต่ให้ ให้ด้วยความพอใจ สุขใจ
ชีวิตที่มีความรักเช่นนี้ ย่อมอบอุ่นใจ สบายใจ
ถึงแม้ว่าตาย การตายด้วยความสบายใจ สุคติ


(มีต่อ ๑)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ความรักของพ่อแม่

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

การเดินทางร่วมกันของเราในวัฏสงสาร
มีทั้งรักกัน เกลียดกัน ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง
เหล่านี้คือกรรมที่ทำสะสมไว้ซ้ำๆ ซากๆ
กรรมดีหรือนิสัยที่ดี เป็นการสร้างบารมี
กรรมชั่ว นิสัยที่ไม่ดี สะสมเป็นอาสวะ กิเลส

การที่เราเกิดมาในท้องแม่ ถือเป็นกรรมเก่า
ผลของกรรมเก่าที่สร้างสมไว้เปรียบเหมือนเมล็ดพืช
การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
และการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นปัจจัย
หรือเปรียบเหมือน ปุ๋ย ดิน น้ำ แสงแดด
ที่ช่วยบำรุงเลี้ยงเมล็ดพืชให้งอกงาม

อย่างไรก็ตาม เด็กทารกทุกคนคือผู้บริสุทธิ์
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยความรักความเมตตา
จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้น
อย่างมีความสุข ตรงกันข้าม เด็กที่เกิดมาอย่างขาดความรัก
ความอบอุ่นในครอบครัว ยากที่จะมีจิตใจที่ดีได้
มักมีปัญหาทางใจ เป็นคนขี้น้อยใจ ขี้อิจฉาริษยา
ขี้กลัว ขี้โกรธ ขี้ตกใจ ฯลฯ เรียกว่า จิตใจไม่สมบูรณ์

ความรักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ล่อเลี้ยงชีวิต
มนุษย์ทุกคนต้องการความรักจากพ่อแม่
ญาติพี่น้อง และบุคคลที่อยู่รอบข้าง
เราจะเกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย
และสุขใจ เมื่อได้รับความรัก
ความรักจึงทำให้มนุษย์มีจิตใจที่สมบูรณ์


ชีวิตของเราเริ่มสัมผัสกับความรักได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
อาหารถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกผ่านสายสะดือ
ความรู้สึกนึกคิดของแม่ก็ถ่ายทอดถึงจิตใจของลูก
ผ่านสะดืออารมณ์ได้เหมือนกัน ดังนั้น การทำหน้าที่แม่ที่ดี
ไม่เพียงแต่รักษาร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น
หากต้องรักษาอารมณ์และจิตใจที่ดีด้วย
โดยการรักษาศีล ภาวนา คิดดี พูดดี ทำดี
ญาติพี่น้อง บุคคลรอบข้างก็ควรให้ความรัก
ความเมตตา ให้กำลังใจ แก่ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่

ตามหลักจิตวิทยาเชื่อว่า จิตใจของเด็กมีความละเอียดอ่อน
ซึมซับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การเลี้ยงดูเด็กในช่วงอายุ ๓-๔ ขวบ จะเป็นช่วง
หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะมีผลต่อการกำหนด
จริตนิสัย พฤติกรรมของเด็กในเวลาต่อมา
เด็กที่ได้รับความรัก จะมีความรู้สึกอบอุ่น
มีความมั่งคงทางอารมณ์ และเติบโตขึ้นมามีความสุข

เด็กที่ขาดความรัก ถูกทอดทิ้ง จะรู้สึกมีปมด้อย
ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉาริษยา ขี้กลัว เป็นต้น
ความรักที่พอเหมาะพอดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ


(มีต่อ ๒)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ความรักที่พอเหมาะพอดี

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกควรพอเหมาะพอดี
บางครั้งความรักความห่วงใยที่มากเกินไป
ทำให้ลูกอึดอัด คับข้องใจก็มีมาก
อย่าลืมว่า ความรู้สึกของลูกเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อครั้งที่อาจารย์ไปแสงบุญที่อินเดีย
มีอยู่วันหนึ่ง พักที่โรงแรมในนิวเดลลี
มีหนุ่มชาวไต้หวันคนหนึ่ง เมื่อเห็นพระ
ก็รีบเข้ามาหา อยากที่จะระบายความอึดอัดใจ

เขาแนะนำตัวกับอาจารย์ว่า
เขาเป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่
ซึ่งเป็นครอบครัวคนจีน
ทำธุรกิจการค้าอยู่ในประเทศไต้หวัน
มีฐานะดีมาก แต่เขาอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะพ่อแม่

รักเขามากเสียจนเขาอึดอัด ขาดอิสระ ไม่มีความสุข
เขาเล่าว่า พ่อแม่จู้จี้จุกจิก ดูแลเขาใกล้ชิดราวกับเขา
เป็นลูกสาวที่ยังเล็ก ทั้งๆ ที่เขาอายุ ๒๗ แล้ว เขาไม่เคย
มีอิสระเหมือนเพื่อนๆ เลย ถ้าความรักของพ่อแม่
ทำให้เขาเป็นแบบนี้ เขาขอตายดีกว่า

ความรักที่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น จนกลายเป็น
การเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าชีวิตของลูก
กำหนดเส้นทางชีวิตให้ลูก จึงเป็นโทษมาก
การเลี้ยงดูลูก ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา
พยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา

เรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติของเด็กๆ
พยายามให้ลูกซึ่งเป็นฝ่ายที่รับความรักจากเรา
เกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นคงทางอารมณ์
รู้จักผิดชอบชั่วดี และพัฒนาชีวิตของเขา
ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ได้ เรียกว่า มีจิตใจสมบูรณ์

ที่ประเทศญี่ปุ่น เคนมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า
ตนเองเมื่อสมัยเป็นเด็ก มีนิสัยเกเร ก้าวร้าว
แต่ด้วยความหนักแน่นมั่นคงของแม่ และครู
ที่เลี้ยงดูและอบรมเขาด้วยความรักความเข้าใจ

ทำให้เขาพัฒนาขึ้น จนสามารถเปลี่ยนนิสัยได้

เขาจึงเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ประสบความสำเร็จในการงาน
จนมีโอกาส ได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติ
ในฐานะของ รัฐมนตรี


(มีต่อ ๓)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ชีวิตคู่

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

สมรส หมายถึงรสนิยมเสมอกัน
มีจริตนิสัย ชอบและไม่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน
จึงเข้ากันได้เป็นอย่างดี


เมื่อเราใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในฐานะต่างๆ ต้องมี
คุณธรรม และมีรสนิยมเสมอกัน จึงจะมีความสุข
ถ้าต่างกันมาก เข้ากันไม่ได้ ก็มักเกิดปัญหาตามมา

โดยเฉพาะชีวิตคู่ เป็นสามีภรรยาต้องใกล้ชิดกันมาก
จนเรียกได้ว่าทั้งเราและเขา
มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อยู่ร่วมกันไปตลอดชาติ
จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ
หากตัดสินใจจะใช้ชีวิตคู่กับใคร

อารมณ์รักเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเราสามารถเริ่มต้น
ชีวิตคู่กับคนที่เรารักมากๆ เรารู้สึกสมหวังในความรัก
โลกทั้งโลกสดใสสวยงามสำหรับเรา แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง
ในชีวิตของเรานี้ไม่แน่นอน ชีวิตสมรส อาจจะเป็น

ชีวิตคู่ที่อบอุ่น สร้างครอบครัวที่มีความสุขร่วมกัน
หรือโดยส่วนใหญ่ก็มีทุกข์บ้าง สุขบ้าง
อย่างปุถุชนทั่วๆ ไป แต่สำหรับบางคู่อาจจะเป็น
ชีวิตที่ตกนรกทั้งเป็นก็มี เปรียบชีวิตคู่เหมือน

ชีวิตแบบยักษ์อยู่ด้วยกัน
ชีวิตแบบเปรตอยู่ด้วยกัน
ชีวิตแบบเดรัจฉานอยู่ด้วยกัน


อย่าหลงเชื่อในความรู้สึกรัก ซึ่งไม่แน่นอน
อารมณ์รักก็มีลักษณะเช่นเดียวกับ จิตที่เกิดอุปาทาน
เหมือนการติดบุหรี่ เล่นการพนัน ติดยาเสพติด

ที่เกิดจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่นของจิต
การหลงรักในสิ่งที่คนทั่วไปไม่รักก็มีมาก
จึงทำให้ชีวิตมนุษย์เรานั้นสับสนวุ่นวายอยู่ในทุกวันนี้

เมื่อเรารู้ว่าอารมณ์รักเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
เราจึงไม่ควรใช้ อารมณ์รัก เพียงอย่างเดียว
มาเป็นข้อตัดสินใจในการเลือกชีวิตคู่

พระพุทธเจ้าทรงให้หลักในการพิจารณาไว้ว่า
ชีวิตคู่ที่จะมีความสุขร่วมกันได้ดี
ควรมี คุณธรรม เสมอกัน ๔ ประการ คือ

- ศรัทธา ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม
- ศีล ความประพฤติดีทางกาย และวาจา
- จาคะ ความเสียสละ รู้จักแบ่งปัน
- ปัญญา ความรู้ว่าสิ่งใดดีหรือชั่ว

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงเป็นเรื่องยากที่จะได้คู่ครอง
ที่มีความคิดจิตใจเหมือนกันกับเรา หลวงพ่อชา เคย
เปรียบชีวิตคู่ไว้ว่า เหมือนเอาไม้สองท่อนมามัดไว้ด้วยกัน

ถ้าไม้ท่อนเดียวกันเอามือจับปลายสองข้างจะดึงจะโค้งงอ
อย่างไร มันก็ทนกว่าไม้สองท่อนที่จับเอามามัดกันไว้
เมื่อเราจับงอหรือดึงไปคนละทาง
มันง่ายอยู่แล้วที่จะหลุดออกจากกัน

ดังนั้น เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ต้องรักกัน
สามัคคีกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา
เพื่อเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างคนต่างต้องแก้ไข
ปรับตัวเองเพื่อเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องรู้จักอดทน
เมื่อเกิดไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ต้องละทิฏฐิมานะ
ความเห็นแก่ตัว พยายามปล่อยวาง และให้อภัยต่อกัน


เรียกได้ว่าทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษฏ์
ต้องช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
เพื่อที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้
และใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นสุข สบายใจ


(มีต่อ ๔)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:22 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ใช่ ไม่ใช่
เนื้อคู่ : คู่แท้หรือคู่เทียม


:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

เนื้อคู่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
อธิบายไว้ว่า “ชายและหญิง ที่ถือกันว่าได้เคยครองคู่
กันมาแต่ปางก่อน ชายและหญิง ที่เหมาะสมเป็นคู่ครองกัน”

โดยส่วนใหญ่ชีวิตคู่มักเริ่มต้นด้วยดี มีทั้งความรัก ความสุข

ช่วยกันประคับประคองชีวิตคู่ด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย
หลายคนมีชีวิตคู่ราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง
แต่มีไม่น้อยที่ล้มเหลว บางคู่ต้องหย่ากัน บางคู่ถึงแม้ว่าอยู่ด้วยกัน
แต่ความรัก ความสุขที่เคยให้แก่กันไม่เหลือแม้แต่น้อย
ก็ต้องทนอยู่ด้วยกันอย่างเป็นทุกข์

การใช้ชีวิตร่วมกันของสามีภรรยาหลายๆ คู่ หากพิจารณา
ถึงการปฏิบัติต่อกันทั้งแง่ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
จะพบว่า ทางกายกรรม หมายถึง การกินด้วยกัน นอนด้วยกัน
มีลูกด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน
ถ้ามองจากภายนอกดูเหมือนเป็นคู่ที่มีความสุข
รักใคร่ปองดองกันดีจนหลายๆ คนอาจจะรู้สึกอิจฉา

แต่สำหรับเจ้าตัวจริงๆ แล้ว การปฏิบัติต่อกันในทาง
วจีกรรม และมโนกรรม มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งกัน โกรธกัน
น้อยใจ เจ็บใจ มีแต่ความทุกข์ ไม่มีคำว่าสุข แต่ไม่อาจ
เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ ก็ยังต้องอดทนอยู่ด้วยกัน
เพราะความจำเป็นทางสังคม หรือ เพราะเห็นแก่ลูก

ชีวิตคู่ ที่เป็นเนื้อคู่กันประเภทนี้ก็มีมาก คือชาตินี้
แม้จะมีความผูกพันกันทางกายกรรม แต่ทางวจีกรรม
มโนกรรม กลับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน

จึงดูเหมือนว่า ทางกายกรรมนั้นรักกัน โดยที่ความเป็นจริง
แล้วต่างฝ่ายไม่มีความรู้สึกรักกันเลย แต่ในสถานภาพ
ทางสังคมที่เป็นสามีภรรยากัน ต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน
ใช้ชีวิตร่วมกัน จะเดินทางไปไหนก็ยังต้อง
ร่วมรถคันเดียวกันเป็นครอบครัว

สามีภรรยาที่มีปัญหาเช่นนี้ บางครั้งต่างคนต่างตั้งจิต
อธิษฐานว่าชาติหน้าอย่าได้พบกันอีก ขอเจอชาตินี้
เป็นชาติสุดท้าย แต่ด้วย อุปาทานยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะรักกัน
หรือเกลียดชังกันก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยความพอใจหรือ
ไม่พอใจต่อกันอย่างไร ในทางมโนกรรม คือความรู้สึกนึกคิด
ที่มีต่อกัน จะเป็นการดึงเข้าหากันอยู่ตลอด ไม่ปล่อยวางจากกัน

ดังนั้นจึงเป็นไปได้อย่างมากที่ บุคคลทั้งสองเมื่อ
ต่างคนต่างตายจากกันในชาตินี้ ถ้าชาติหน้าเกิดมา
โตเป็นหนุ่มเป็นสาวได้พบกันเมื่อไรก็เกิดอารมณ์รักที่รุนแรง
มีความดีใจ พอใจที่ได้เจอกัน เพราะทางกายกรรมในอดีต
ชาตินั้น เคยใกล้ชิด ใช้ชีวิตร่วมกันมา เกิดมาในชาติใหม่
จึงเป็นเนื้อคู่กันอีก ที่เคยทุกข์ โกรธเกลียดกันก็ลืมไป

แต่คงต้องเรียกว่าเป็นเนื้อคู่เทียม

เพราะเป็นเนื้อคู่ที่เป็นผลของกรรมเก่า คือ กายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรมที่สร้างร่วมกันมา ทำดีต่อกันบ้าง
ทะเลาะกัน โกรธเกลียดกันบ้าง เป็นความรักที่หาความสุข
แท้จริงไม่ได้ เพราะไม่ใช่เนื้อคู่แท้ที่ครองคู่กัน
ด้วยความรักความเมตตา

ดังนั้น เมื่อต้องใช้ชีวิตคู่ด้วยกันในชาตินี้แล้ว
สามีภรรยาจึงควรสร้างกรรมที่ดีต่อกัน ทั้งทางกายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม แม้ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น
ก็ควรรู้จักอดทน ปล่อยวาง ให้อภัยต่อกัน
ถ้าทำได้ก็จะเป็นอานิสงส์ให้มีความสุข
ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า



(มีต่อ ๕)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

โรงครัวที่ไม่มีน้ำตาล เกลือ ไม่ใช่โรงครัว
การปรุงอาหารให้อร่อย ต้องใช้น้ำตาล เกลือ
ขาดน้ำตาล ขาดเกลือ รสชาติอาหารก็ไม่อร่อย
น้ำตาล เกลือ จึงเป็นเครื่องปรุงอาหารที่สำคัญ

ในเวลาเดียวกัน โทษของน้ำตาล เกลือ ก็มีมาก
โรคเจ็บไข้ป่วยของคนเราหลายโรคมีสาเหตุมาจาก
การรับประทาน น้ำตาล เกลือ มากเกินไป
บางคนก็บอกว่า น้ำตาลมีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์เลย
แต่ร่างกายก็ต้องการน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม

ชีวิตที่ปราศจากความรัก ไม่ใช่ชีวิต
สำคัญที่สุดในชีวิต คือ ความรัก
ความรักคือชีวิต ชีวิตคือความรัก
ความสุขของชีวิต เกิดจากความรัก
ความทุกข์ของชีวิต เกิดจากความรักเช่นกัน


ทุกข์เพราะความรัก ก็มีมาก
จนบางครั้งดูเหมือน ความรักคือความทุกข์
ทุกข์มากๆ ทำใจไม่ได้ จนถึงขั้นฆ่ากันตาย
ทำลายชีวิตตัวเอง ก็มีมาทุกยุคทุกสมัย


(มีต่อ ๖)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

เรื่องของนางภัททา

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

ในสมัยพุทธกาล ก็มีเรื่องของ นางภัททา ธิดาเศรษฐี
มีอายุย่างเข้าวัย ๑๖ ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดา
จึงระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ให้หญิงรับใช้คอยดูแล
แต่ธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม
ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำ โจรหนุ่ม ผ่านมาทางบ้านของนาง
พอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้นก็เกิดจิตรักใคร่
ในตัวโจรทันที คิดว่า “ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครอง
ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่”
และรู้ว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไป
ประหาร ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามี
สุดที่รัก ฝ่ายสาวใช้เห็นเช่นนั้น จึงรีบแจ้งให้เศรษฐี
ผู้เป็นบิดามารดาทราบ บิดามารดาของนางพอมาถึง
ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า

“ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป”
บิดามารดา ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน
แต่ก็ไม่เป็นผล ด้วยความรักและห่วงใยในลูกสาว
จึงยอมติดสินบนเจ้าหน้าที่ ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่มคนนั้นโดยให้นำ
มาส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับสินบนไปแล้ว
ก็ได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้แก่เศรษฐี แล้วนำนักโทษ
อีกคนหนึ่งไปประหารชีวิตแทน แล้วกราบทูลพระราชาว่าฆ่าโจร
สัตตุกะเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีรับตัว โจรหนุ่มสัตตุกะ ไว้แล้ว
ให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีให้สวมใส่
ก่อนนำไปยังปราสาทของลูกสาว ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่สามีภรรยา

โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีพรั่งพร้อมทุกอย่าง
ได้ทั้งภรรยาที่แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบาย
แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจร อดที่จะทำชั่วไม่ได้
เขาคิดจะฆ่าภรรยาเพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขาย
แล้วนำเงินมาหาความสุขสำราญ เขาจึงวางแผนพาภรรยา
ไปที่ยอดภูเขา หลอกว่าเพื่อไปทำพิธีพลีกรรมเทวดาที่ตน
ได้บวงสรวงไว้ แต่เมื่อไปถึงหน้าผา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วย
เสียงอันแข็งกร้าวเด็ดขาดว่า “ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออก
แล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้”
นางภัททา ได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้น
ก็ตกใจทำอะไรไม่ถูก ละล่ำละลักถามสามีว่า
“นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ ?”

“นางหญิงโง่ ความจริงเราจะควักตับกับหัวใจของเจ้า
ถวายแก่เทวดาที่นี่แล้วยึดเอาเครื่องอาภรณ์ของเจ้า
ทั้งหมดไปใช้จ่ายหาความสุข”
“นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้
ก็เป็นของท่านอยู่แล้ว ทำไมท่านจะต้องฆ่าฉัน
เพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า”
แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร โจรโง่ใจร้ายก็ไม่ยอมรับฟัง
ตั้งหน้าแต่จะฆ่านาง เอาเครื่องประดับอย่างเดียว

นางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอกมองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม
จึงรวบรวมสติไว้แล้วคิดว่า ขึ้นชื่อว่า ปัญญา ที่ติดกับตัวมา
ตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน แต่มีไว้เพื่อพิจารณา
หาหนทางดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาชีวิต เราควรจะทำอะไร
สักอย่างเพื่อเอาชีวิตให้รอด เมื่อคิดดังนี้แล้ว
จึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า

“เอาละนายจ๋า วันที่ท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
จับกุมพาตระเวนประจานไปทั่วเมืองก่อนนำมาประหาร
ที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดาให้สละทรัพย์
เป็นอันมากไถ่ชีวิตท่านแล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉัน
ก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมีความประสงค์
จะฆ่าดิฉันให้ได้ เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร
ก่อนที่ดิฉันจะตาย ขอให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่าน
เป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้น
แล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง ๔ ทิศ
หลังจากนั้นท่านก็จงประหารดิฉันเถิด”

โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนาง
ดูเป็นปกติสมจริง จึงยอมให้นางกระทำตามที่ขอ
แล้วไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น
นางภัททาผู้เป็นภรรยาได้กระทำการประทักษิณเดินเวียนขวา
รอบสามี ๓ รอบ แล้วไหว้ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า
“นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้
การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว”

เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้าแล้ว
ก็เปลี่ยนมากอดข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น
นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว
ร่างของโจรชั่วแหลกเหลวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวนั้น
นางภัททาหลังจากผลักโจรชั่วผู้สามีตกลงไปในเหวแล้ว
คิดว่าถ้าเรากลับบ้านไป บิดามารดาก็จะต้องซักถาม
หากทราบความจริงแล้ว คงจะตำหนิติเตียนนางที่ดื้อรั้น
ไม่เชื่อฟังบิดามารดาตั้งแต่ต้น เมื่อคิดดังนี้

นางจึงตัดสินใจออกบวชในสำนักของพวกนิครนถ์
และต่อมาได้เที่ยวแสวงหาบัณฑิตจนได้พบกับ พระสารีบุตร
เกิดเลื่อมใสศรัทธาขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ในพระพุทธศาสนา
พร้อมทั้งขอบรรพชาและถึงพระเถระเป็นสรณะ
แต่พระเถระบอกว่าขอให้นางถึง พระพุทธองค์เป็นสรณะเถิด
แล้วพานางไปยังพระวิหารเชตวัน นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงส่งนางให้ไปบวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์
เมื่อนางบวชแล้ว ได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสาเถรี”
เป็นภิกษุณีที่บรรลุอรหัตผลในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บาท
จึงเป็นเหตุให้ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

เรื่องนี้เตือนสติเราได้ว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน
ได้แต่งงานสมหวังในรักแล้ว คิดว่าชีวิตจะมีความสุข
แต่ความสุขในอารมณ์รัก อารมณ์ใคร่ มันวางใจไม่ได้
ไม่เที่ยงแท้แน่นอนจริงๆ



(มีต่อ ๗)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

พุทธพจน์ ว่าด้วยรัก

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

ความโศกย่อมเกิดแต่ ของที่รัก
ภัยย่อมเกิดแต่ของที่รัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้ว
จากของที่รัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน

ความโศกย่อมเกิดแต่ ความรัก
ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้ว
จากความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน

ความโศกย่อมเกิดแต่ ความยินดี
ภัยย่อมเกิดแต่ความยินดี
ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้ว
จากความยินดี ภัยจักมีแต่ที่ไหน

ความโศกย่อมเกิดแต่ กาม
ภัยย่อมเกิดแต่กาม
ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้ว
จากกาม ภัยจักมีแต่ที่ไหน

ความโศกย่อมเกิดแต่ ตัณหา
ภัยย่อมเกิดแต่ตัณหา
ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้ว
จากตัณหา ภัยจักมีแต่ที่ไหน

พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุสาวก ถึงเรื่องความรักไว้ว่า
ความรักเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณ
และเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน

ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้
ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ
ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้วก็เป็นพิษแก่จิตใจ
ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้น
เหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง
เธอทั้งหลายอย่าได้พอใจในความรักเลย
เมื่อหัวใจยึดถือไว้ด้วยความรัก
หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า
แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่

“การไม่มีภรรยา เป็นลาภอันประเสริฐ
การไม่มีสามี เป็นลาภอันประเสริฐ”


ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เช่นนี้ เพื่อเตือนว่า
ชีวิตคู่มีทุกข์สุขคละเคล้ากันไป
แต่เกือบทุกคู่ ทุกข์จะมากกว่าสุข
ตามวัย ตามสัญชาตญาณของสัตว์โลก
มักแสวงหาชีวิตคู่แล้วเกิดความรัก ความผูกพัน ตามมา

ความรู้สึกว่าความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม
เป็นความสุขอย่างที่สุดนั้น เป็นความรู้สึกของตัณหา
เพื่อที่จะได้ความสุขนั้น เหมือนต้องติดหนี้สินมากมาย
เพราะเมื่อได้ดำเนินชีวิตคู่ไปแล้ว หลายคน
รู้สึกว่าตัวเองได้คำนวณผิดพลาดไป ดอกเบี้ยแพง
ตั้งใจแก้ตัว พยายามอย่างไรก็ติดลบตลอด
มีทุกข์มาก มีสุขน้อย หลายคู่ก็ผิดหวัง
เหมือนมีหนี้สิน ชดใช้ไม่รู้จักจบจักสิ้น


(มีต่อ ๘)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

เมื่ออกหัก

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

เมื่อไม่มีใครรัก แม้แต่ตัวเองก็ยังเกลียดชังตัวเอง
บางคนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ควรจะทำอย่างไร

๑. หาที่สงบสติ ให้เวลากับตัวเอง
ทำความเข้าใจกับตัวเองให้ถ่องแท้

๒. พึงเข้าใจว่าการทำร้ายตัวเอง
การฆ่าตัวตายไม่ใช่การแก้ปัญหา
ไม่ใช่วิธีหนีพ้นจากทุกข์
กลับเป็นการเพิ่มปัญหายิ่งขึ้นร้อยเท่าทวีคูณ
เพราะการฆ่าคนเป็นบาปหนัก
ต้องชดใช้กรรมอีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ

๓. ทำใจให้ได้ว่าเขาไม่ได้เป็นเนื้อคู่ของเรา
ถึงจะอยู่ด้วยกันก็จะมีปัญหาในอนาคตแน่นอน
อกหักตั้งแต่ตอนนี้ก็ดีแล้ว
น่าดีใจที่เรารู้ความจริงเสียแต่บัดนี้

๔. ให้ระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า
“ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี”
หมายถึงความรักตน เป็นความรักอันสูงสุด

๕. เรากำลังผิดหวัง หลงอยู่ในอารมณ์อกหัก
จึงคิดว่าไม่มีใครรักเรา พ่อแม่ก็ไม่รักเรา
คนนี้คนนั้นไม่ดี ไม่รักเรา เรากำลังผิดหวัง
จากความรู้สึกที่ว่าไม่มีใครรักเราเลย
พิจารณาดูให้ดีว่าเรารักตัวเองไหม ก็คงจะไม่
ถ้าแม้แต่เรายังคิดที่จะทำลายตัวเอง
ทั้งทางกาย วาจา ใจ
แสดงว่าเราก็ไม่ได้รักตัวเองเลย
แล้วจะให้คนอื่นมารักได้อย่างไร

๖. พยายามตั้งสติระลึกถึงอารมณ์ปกติที่เราก็มีอยู่
ที่เราเคยมีชีวิตอยู่ตามปกติของเราตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ
อารมณ์ยามอกหักก็เปรียบเหมือนถูกน้ำเน่ากระเด็นใส่ตัว
เปื้อนเสื้อผ้าเลอะเทอะเต็มไปหมด เรารู้สึกตัวเหม็นเน่า
น่ารังเกียจ แต่นั่นไม่ใช่ของจริงอะไร
นั่นไม่ใช่ชีวิตจริงของเรา เมื่อเราชำระล้าง
เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นปกติตามเดิม
อารมณ์เมื่อเราอกหักก็เหมือนกัน
มันเพียงแต่ผ่านเข้ามากระทบใจเราเท่านั้น

๗. พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตของเรานี้ประภัสสร
บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติ
จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลส ครอบงำจิต
โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตน
ค้นหาธรรมชาติของตนที่บริสุทธิ์
ผ่องใส เบิกบานใจ สบายใจ

๘. ตั้งใจ หยุดคิด ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดต่างๆ
หายใจออกยาวๆ
หายใจแรงๆ หน่อย
หายใจเข้าลึกๆ หน่อยๆ
เน้นที่หายใจออกยาวๆ

ความตั้งใจปรับลมหายใจยาวๆ
ช่วยให้เกิดสติ ระลึกได้
สัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว
ความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่สบายใจ จะค่อยๆ จางหายไป
ความสบายอกสบายใจ จะปรากฏขึ้นแทน

ในที่สุด เราจะค้นพบตัวเอง
เข้าถึงธรรมชาติของจิตใจ ที่สงบ เบิกบานใจ
ซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคนนั่นเอง
เมื่อเราสบายใจ สุขใจ เราจะรักตัวเอง
เมื่อรักตัวเองแล้ว เราจะมีความสุข สุขภาพใจดี
และเป็นที่รักของบุคคลรอบข้างด้วย


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเราจะเป็นที่รักของผู้อื่นได้
ด้วยการประพฤติตนตามหลักธรรม ๔ ประการ
๑. มีความโอบอ้อมอารี
๒. มีปิยวาจา
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้อื่น
๔. วางตนเหมาะสมเสมอต้นเสมอปลาย

ถ้าเราประพฤติตนตามนี้ได้ ก็จะเป็นการสร้าง
เหตุปัจจัย ที่ดีให้เราอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
ทั้งปัจจุบันในชาตินี้และชาติหน้า


(มีต่อ ๙)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รักตัวเอง คือรักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

มนุษย์ แปลว่า ใจสูง หมายถึงมีจิตใจสูงกว่า
สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก
แม้มนุษย์จะมีความเป็นปุถุชน ที่มากด้วยกิเลสตัณหา
แต่มนุษย์ก็รู้จักผิดชอบชั่วดี
รู้จักว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์

และที่สำคัญ มีสัญชาตญาณที่จะพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น
ปรารถนาจะละความชั่ว ทำความดี ทำใจให้บริสุทธิ์
คล้ายกับว่า มีทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่วต่อสู้กัน
บางครั้งฝ่ายชั่วครอบงำจิตใจ แต่บางครั้งฝ่ายดีก็ชนะ

ศีล ๕ เป็นมนุษย์ธรรม
การรักษาคุณธรรม รักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
คือ ต้องรักษาศีล ๕
การพัฒนาจิตใจ ยกระดับจิตใจของเราให้สูงยิ่งๆ ขึ้น
ต้องประพฤติ กัลยาณธรรม ๕


ศีล ๕ และกัลยาณธรรม ๕
หรือที่เรียกว่าเบญจศีล เบญจธรรม
เป็นหลักธรรมพื้นฐานสำหรับมนุษย์เราทุกคน
พึงปฏิบัติ เพื่อตั้งมั่นอยู่ในความดี ละเว้นความชั่ว
และทำจิตใจให้บริสุทธิ์

ศีล ๕ คือ หลักธรรมที่ควรงดเว้น ๕ ประการ คือ

๑. เจตนางดเว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วง
๒. เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน
๓. เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เจตนางดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
๕. เจตนางดเว้นจากการบริโภคสิ่งมึนเมา สิ่งเสพติด

กัลยาณธรรม ๕ เป็นหลักธรรมที่ควรปฏิบัติ ๕ ประการ คือ

๑. เมตตาและกรุณา คือ ปรารถนาให้เขามีความสุขความเจริญ
และความสงสาร คิดช่วยให้เขาพ้นทุกข์
๒. สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต
๓. กามสังวร คือ ความสังวรในกาม ความสำรวมระวัง
รู้จักยับยั้งควบคุมตนในกามารมณ์
ไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
๔. สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง
๕. สติสัมปชัญญะ คือ ระลึกได้ และรู้ตัวอยู่เสมอ
ฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด รู้สึกตัวเสมอว่าสิ่งใดควรทำ
และไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมา ประมาท

หลายคนอาจรู้สึกว่า การรักษาศีล ๕ เป็นเรื่องพื้นๆ
ไม่มีอะไรพิเศษ จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ
ความจริงแล้วการรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์
ด้วยการปฏิบัติอย่างเข้าถึงจิตใจจริงๆ
ถือเป็นเป้าหมายของการพัฒนาชีวิตที่สมบูรณ์ได้
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น
ได้เคยแสดงธรรมไว้ว่า

จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน
จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน
จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
จิตไม่คิดมีผัวเมีย จิตออกบวช จิตก็เป็นศีล
จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
จิตไม่ขี้ปด จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน
จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน

ที่สุดของจิตบริสุทธิ์ คือต้องเข้าถึงศีล ๕ สมบูรณ์

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม


(มีต่อ ๑๐)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รักที่ไม่มีทุกข์

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

ความรักที่มีแต่สุข ไม่มีทุกข์เจือปน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ในทางพุทธศาสนา ความรักอันบริสุทธิ์
ที่จะนำชีวิตไปสู่ความสุขแท้ คือความรักที่ต้องอาศัย
คุณธรรมสำคัญ ๔ ประการ คือ

พรหมวิหาร ๔ อันประกอบด้วย

๑. เมตตา
ปรารถนาให้เขามีความสุข
๒. กรุณา ปรารถนาให้เขาพ้นจากทุกข์
๓. มุทิตา พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดี
๔. อุเบกขา ทำใจเป็นกลาง วางเฉย

เมตตา คือความรัก ความปรารถนาดีให้เขามีความสุข
การเจริญพรหมวิหาร ๔ เริ่มต้นด้วยเจริญเมตตาก่อน
เพราะกรุณา มุทิตา และอุเบกขานั้น เป็นคุณธรรมที่สูงขึ้น
ไปตามลำดับ ต้องใช้กำลังสติปัญญามากยิ่งๆ ขึ้นไป

เมตตาเป็นบารมีอย่างหนึ่ง
เริ่มต้นให้ฝึกมีเมตตาแก่ตนเองก่อน

พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้มีความรู้สึกที่ดีออกมา
ให้เป็นตามธรรมชาติ และให้สังเกต
ศึกษาถึงความรู้สึกนึกคิด
ที่เป็นข้าศึกคอยกีดขวางไม่ให้เกิดความรู้สึกที่ดีออกมา
ความรู้สึกที่ไม่ได้ จริตนิสัยที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี
ซึ่งจะตรงกันข้ามกับเมตตา ทั้งทางกาย วาจา ใจ

เช่น คิดอาฆาตพยาบาท คิดเบียดเบียน
คิดแต่เรื่องกามารมณ์
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้าศึกต่อความเมตตา
กามารมณ์ คือความรักใคร่พอใจในเรื่องของกาม
กามราคะตัณหา เป็นอุปสรรคในการมีเมตตา
เป็นความรู้สึกที่ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว
อยากจะได้เขามาเป็นของเรา เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ
มักเกิดความไม่พอใจ โกรธแค้น
บางครั้งก็ถึงกับฆ่าตัวตาย ทำลายชีวิตเขา

ถ้าเราสามารถรักษา ศีล ให้มั่นคงได้
ก็จะไม่เกิดเรื่องเดือดร้อนไปเบียดเบียนใคร
แต่ถ้า กามารมณ์ รุนแรงมาก
ก็ควรที่จะพิจารณาร่างกายของตน
เป็นอสุภะ ไม่สวย ไม่งาม เป็นปฏิกูล
พยายามสงบระงับซึ่งกามารมณ์ จนรู้สึกได้ว่า
ทุกคนเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเรา
คือถ้าอยู่ในวัยเดียวกับพ่อแม่
ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่

ถ้าวัยเดียวกับพี่ชายพี่สาว หรือน้องชายน้องสาว
ก็ทำความรู้สึกเหมือนเป็นพี่ชายพี่สาว
หรือน้องชายน้องสาวตามนั้น ทำให้อารมณ์เย็น
ใจเย็น หลุดจากโทสะ จากราคะ ทำให้มีความพอใจ
สุขใจ และพยายามให้ความปรารถนาดีนี้
เผื่อแผ่ไปถึงยังทุกคน

ฝึกคิดในทางบวก มองโลกในแง่ดี
เรื่องส่วนตัวและเรื่องรอบๆ ตัวทั้งโลก
เมื่อไม่ดี ไม่ถูกใจ ให้พักไว้ สงบเงียบอยู่ในใจ
รู้อยู่ เห็นอยู่ แต่ไม่ต้องปรุงแต่งขึ้นมา มีหิริโอตตัปปะ
ต่อคำว่า “ไม่ดี” รักษาใจ รักษาความรู้สึกที่ดีไว้
เมื่อรู้สึกดี ก็สบายใจ สุขใจ คิดดี พูดดี ทำดี

ส่งความรู้สึก กระแสจิตของใจดี สุขใจนี้ออกไป
ความเมตตาจะทำให้เราไม่คิดร้าย ไม่พูดร้าย และ
ไม่ทำร้ายใคร ที่สุดของความเมตตา
คือจะไม่มีความพยาบาทเกิดขึ้นในใจ
แม้ว่าจะมีผู้อื่นคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายเราก็ตาม
เป็นความเมตตาที่ไม่มีสิ้นสุด ไม่มีประมาณ
เป็นเมตตาที่มีให้แม้แต่กับศัตรู

ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า
“แม้ถูกเขาจับมัดมือมัดเท้า
แล้วเอาเลื่อยมาเลื่อยจนร่างกาย
ขาดออกเป็น ๒ ท่อน หากยังคิดโกรธ อาฆาต
พยาบาทอยู่ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเห็นธรรม”

กรุณา คือความสงสาร

เมื่อเห็นเขามีความทุกข์ ก็คิดหาทางช่วยเหลือ
ปลดเปลื้องทุกข์ของเขา
กรุณาต่อตัวเอง หมายถึงมีจิตใจอยากจะช่วยเหลือ
ตนเองให้พ้นจากทุกข์ ด้วยการสำรวจตัวเอง
มองดูชีวิตตัวเอง เริ่มต้นที่การกระทำด้วยกาย วาจา

มีอะไรบ้างที่เราควรแก้ไข ปรับปรุงตน
เริ่มต้นตรวจดูด้วยศีล ด้วยกฎหมาย ระเบียบ วินัย
กติกาของสังคม หรือจากการที่พ่อแม่ ครู อาจารย์
หรือเพื่อนๆ ได้ว่ากล่าวตักเตือนเรามีอะไรบ้าง
จุดอ่อน จุดบกพร่องของตนเองเลือกมา ข้อใดข้อหนึ่ง
ทบทวนตามเหตุผล ยกขึ้นมาตั้งไว้ในหัวใจ

ตั้งใจจะแก้ไขปรับปรุง พิจารณาอยู่บ่อยๆ เป็นประจำ
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น
เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว
“ตั้งใจอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น”
เมื่อเรามีจิตกรุณาที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเองแล้ว
ก็ให้อาศัยอิทธิบาท ๔

ฉันทะ มีความพอใจในการแก้ไขปรับปรุงตนเอง
วิริยะ มีความพยายาม มีความตั้งใจสม่ำเสมอ
จิตตะ มีจิตใจจดจ่อในการแก้ไขปรับปรุง
วิมังสา ใช้ปัญญาทบทวน พิจารณาหาเหตุผล


เมื่อมีข้อผิดพลาด และหาวิธีการ อุบายต่างๆ
ที่จะไม่ให้เกิดผิดพลาดขึ้นอีก สร้างจิตสำนึก
ในการที่จะพัฒนาตน
มีความพอใจในการต่อสู้กับจิตใจตนเอง

กรุณาต่อผู้อื่น
จิตที่กรุณาต่อผู้อื่น คือจิตใจที่คิดช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าเรา
ให้เขาพ้นจากทุกข์ แนะนำ ตักเตือนเขา
เพื่อให้เขาสามารถดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร

สมมติว่าราเป็นแม่ ในการเลี้ยงลูก
เรามีความปรารถนาดีต่อลูก ให้ความรักความเมตตา
สิ่งใดที่ทำให้ลูกมีความสุข เราก็ทำให้แก่ลูก
เรียกว่าทำให้ลูก “ถูกใจ” ก็ดูไม่ยากอะไร แต่ความกรุณา
คือช่วยเหลือให้ลูกพ้นจากทุกข์ เราต้องหมั่นอบรมสั่งสอน
ให้ลูกรู้จักผิดชอบ ชั่วดี บางครั้งอาจจำเป็นต้องเคร่งครัด
ว่ากล่าวตักเตือน ขัดใจลูกเพื่อความ “ถูกต้อง”

ข้อนี้เริ่มยากแล้ว กรุณาต้องอาศัยกำลังสติปัญญา
และจิตใจที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในการเลี้ยงดูลูก
เมตตาจะต้องคู่กับกรุณา ลูกจึงจะไม่เสียคน
เพราะถูกตามใจมากเกินไป ดังนั้นเมตตากรุณา
จึงเป็นคุณธรรมที่ควรพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ความกรุณาที่แท้จริงต้องมีพื้นฐานของความเมตตาอยู่ด้วยเสมอ
ดังนั้น การที่เราจะว่ากล่าวตักเตือนใคร
โดยเข้าใจว่าเป็นความกรุณาที่ต้องการให้เขาพ้นจากทุกข์
เราต้องสำรวจความรู้สึกตนเองให้ดีด้วยว่า
ไม่ได้เจือด้วยความโกรธ หากเรามีเมตตา
เราย่อมปรารถนาให้เขาเป็นสุข การว่ากล่าวตักเตือน
เราจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของเขาด้วย
ต้องทำไปเพื่อประโยชน์และความสุขของเขาจริงๆ

ที่สุดของความกรุณา
ก็เป็นเช่นเดียวกับความเมตตา
คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
มีใจกรุณาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง
ไม่เว้นแม้แต่กับศัตรู

มุทิตา คือความยินดีเมื่อเขาได้ดี

เห็นเขาอยู่ดีมีสุข เจริญก้าวหน้า
ก็พลอยแช่มชื่นเบิกบานใจ ไม่คิดอิจฉาริษยา
และพร้อมที่จะส่งเสริม สนับสนุน

สำหรับคนทั่วไป แม้มีเมตตากรุณามากพอสมควร
แล้วก็ตาม แต่ที่จะมี มุทิตา จากใจจริงนั้น ยังหายาก
ปกติเมตตากรุณา คือเผื่อแผ่ให้คนที่ด้อยกว่าตน
มุทิตา ทำจิตพลอยยินดีกับบุคคลที่มีความสุข

อาจมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มากกว่าตน
ปกติจิตใจที่เห็นแก่ตัว มักจะเกิดความรู้สึกอิจฉา
ริษยา น้อยอก น้อยใจ ฯลฯ เป็นธรรมดา

เราจึงต้องพัฒนาจิตใจให้มีมุทิตาต่อตนเองก่อน
หมายถึง หัดนิสัยมองดูตนเองให้มากๆ
อย่าเปรียบเทียบแต่กับคนที่ดีกว่าเรา
คนที่มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข น้อยกว่าเรา ก็มีมาก
พลเมืองในโลกนี้มีประมาณหกพันล้านคน
เป็นคนยากจนที่ไม่เคยมีข้าวกินอิ่ม หนึ่งในห้าส่วน
ก็เท่ากับคนพันสองร้อยล้านคนที่กินข้าวไม่อิ่ม

คนที่อยู่ในสังคมที่ไม่สงบ อยู่ท่ามกลางสงคราม
ป่วยเป็นโรค ติดยาเสพติด มีปัญหาในชีวิตมากมาย
มองดูตน จะเห็นว่าเรามีโอกาสดีกว่าอีกหลายๆ คน
อย่างน้อยก็ให้เกิดสันโดษขึ้นในจิตใจ
ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มีอยู่
ขอบคุณหลายๆ คนที่ช่วยสนับสนุนชีวิตของเรา

เมื่อเรามองดูชีวิตของตนด้วยใจเป็นธรรม
ใจเป็นศีล ใจมีเมตตา กรุณาแล้ว
จะเกิดความพอใจ สุขใจในฐานะของตน
สันโดษพอใจในชีวิตตนในปัจจุบัน
เมื่อใครได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เขาพอใจ มีความสุข เราก็พลอยยินดีกับเขา
ยิ่งพลอยยินดีกับความสุขของเขา
เราก็ยิ่งเพิ่มความสุขในใจตนยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

มุทิตาธรรมที่สมบูรณ์
จึงต้องประกอบด้วยคุณธรรมของ
ความเมตตากรุณา อยู่ในตัวนั่นเอง

อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลาง เป็นปกติ

ไม่ยินดี ยินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งที่
เกิดขึ้น เป็นไปตามสมควรแก่เหตุปัจจัย
ตามกฎแห่งกรรม

หลายคนเข้าใจผิดว่า อุเบกขา คือเฉยๆ
ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร ช่างมัน ฉันไม่เกี่ยว
อุเบกขา มาจากความหมายเดิมว่า
เข้าไปดู เข้าไปดูจนเข้าใจชัดเจน แล้วจิตปล่อยวาง
ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยินดี ยินร้าย วางใจเฉย
อุเบกขาต้องอาศัยสติ ปัญญา ขันติ

ครูบาอาจารย์เปรียบเทียบไว้ว่า
เมื่อลูกของเราจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนต่อ
ก่อนเดินทาง พ่อแม่อบรมสั่งสอน ทำหน้าที่ของพ่อแม่
ให้ดีที่สุด และสมบูรณ์ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา
เมื่อลูกเดินทางไปต่างประเทศแล้ว
ไม่ต้องคิดถึง หรือเป็นห่วงวิตกกังวลใดๆ อีก
ทำใจวางเฉย รักษาใจ สงบใจ สุขใจ

เราจะพัฒนาอุเบกขาขึ้นในจิตใจได้
ต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต
ว่า ไม่มีใครหนีพ้นจากโลกธรรมแปด
โลกธรรมแปดฝ่ายน่าปรารถนา
ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข
โลกธรรมแปดฝ่ายไม่น่าปรารถนา
ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
โดยเฉพาะโลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนานี้
หากเกิดกับบุคคลอันเป็นที่รัก เช่นลูกของเราแล้ว
ยากที่เราจะวางใจเป็นกลางได้

เรามักคิดว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ไม่สมควรเลย
แต่หากเราพิจารณาชีวิตด้วยปัญญาโดยชอบแล้ว
จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีประสบการณ์อยู่นั้น
มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ทุกสิ่งที่เราประสบล้วนเป็นมรดกแห่งกรรมของเราเอง
ชีวิตที่เรามีประสบการณ์อยู่นี้สมบูรณ์ด้วยเหตุผล
สมบูรณ์ตามเหตุปัจจัยของมันเสมอ

การกระทำของตัวเอง มองดูจากระยะยาว
ตั้งแต่อเนกชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น
จึงพอเหมาะ พอดี สมบูรณ์แล้วด้วยกฎแห่งกรรม
ใช้สติปัญญา เข้าใจความเป็นไปของชีวิต
ปล่อยวางได้ ทำใจได้ ไม่ทุกข์ใจ
เอาใจใส่ และรับผิดชอบในชีวิตปัจจุบัน
ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุดด้วยความพอใจ สงบใจ

ที่สุดของอุเบกขา คือไม่มีปฏิฆะ อันหมายถึง
ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง
เกิดขึ้นในใจแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะมีเรื่องราวเดือดร้อน
รุนแรงขนาดไหนเข้ามากระทบ ก็ทำใจปล่อยวาง
และสงบใจได้ อุเบกขาจึงถือเป็นคุณธรรมขั้นสูง
อันเปี่ยมไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา
อย่างสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน


(มีต่อ ๑๑)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

สันติภาพโลกเริ่มที่ความรัก

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

การพูดถึง สันติภาพโลก ในยุคสมัยปัจจุบัน
ที่โลกกำลังร้อนด้วยไฟสงครามและการก่อการร้าย
ฟังดูเหมือนเป็นการพูดถึงสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม

สันติภาพโลก จะไม่เป็นเพียงโลกแห่งอุดมคติ
หากมนุษย์เราทุกคนปลูกฝังคุณธรรม
ความรักความเมตตา ให้อยู่ในจิตสำนึกตลอดเวลา
สร้างค่านิยมที่ดีในสังคม ไม่หลงมัวเมาในวัตถุนิยม
จนลืมพัฒนาจิตใจ

เมื่ออาจารย์นึกถึงสังคมใน ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็น
บ้านเกิดที่เคยใช้ชีวิตมากว่า ๒๐ ปี สมัยเป็นฆราวาส
สังคมที่นั่นสงบสุข แทบจะไม่มีข่าวการฆ่ากันตีกัน
หรือแม้แต่เรื่องขโมยก็ไม่ค่อยจะได้ยิน
เป็นสังคมที่รังเกียจคนทำชั่ว ยกย่องคนดีมีศีลธรรม
รักชีวิตตนเอง ชีวิตครอบครัว รักสันติสุข

สันติภาพโลกไม่ใช่โลกแห่งอุดมคติที่ไกลเกินเอื้อม
สันติภาพโลกเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคน
ด้วยการให้ความรักและเมตตาแก่ตนเองก่อน
รักและปรารถนาดีต่อตนเองอย่างถูกต้อง
มีหิริโอตตัปปะ เป็นอาวุธต่อสู้ทำลาย โลภ โกรธ หลง
มีหิริโอตตัปปะ ทำลายความรู้สึกยินดี ยินร้าย

รักษาตนให้พ้นจากสิ่งที่ชั่ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ ได้

หากมนุษย์มีศีลธรรมประจำใจกันทุกคนแล้ว
จะทำให้ทุกชีวิตมีหลักประกันของความปลอดภัย
ไม่ต้องมีความกังวลหวาดระแวงเกรงกลัวสิ่งใดๆ อีก
ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขร่มเย็น
สันติภาพโลกเริ่มต้นจากพวกเราทุกคนที่นี่และเดี๋ยวนี้


(มีต่อ ๑๒)

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:40 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ทานจักร ๑๐ ประการ

:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

หากเมล็ดพันธุ์แห่งความรักความเมตตา
ได้เจริญงอกงามขึ้นในจิตใจของเราแล้ว
เราจะตระหนักว่าเรารักชีวิต เราต้องการความสุข
ชีวิตอื่น สัตว์อื่น ต่างก็รักชีวิต
และปรารถนาความสุขเช่นกัน
สาระแห่งชีวิต คือ ความรัก ความเมตตา

อานุภาพแห่งความเมตตาจะนำมาซึ่ง
ความสุขและความเบิกบานแก่ทุกชีวิต

สำหรับเราทุกคน ในฐานะชีวิตหนึ่งในโลกกว้างใหญ่
เราอาจไม่ยิ่งใหญ่พอที่จะแก้วิกฤติของโลกได้
แต่ด้วยความรักความเมตตาที่มีในหัวใจของเรานี้
เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในโลกได้มากมาย

ช่วงหนึ่งพระอาจารย์ได้เคยพิจารณาว่าข้อธรรมะของ
พระพุทธองค์ข้อไหนจะสามารถแก้ปัญหาของโลกได้
และไม่ขัดแย้งต่อเชื้อชาติหรือลัทธิศาสนาใดๆ
และมองเห็นว่า.....
หลักของศีล ๕ เมตตาธรรมและการให้ทาน
น่าจะมีความเหมาะสมที่สุด

ศีล ๕ เป็นพื้นฐานของสังคมที่ปลอดภัย สงบร่มเย็น
เมตตาธรรมและการให้ทาน จะทำให้ทุกคนในสังคม
อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความเอื้ออาทรต่อกัน
ความคิดดังกล่าวเป็นที่มาของ ทานจักร ซึ่งหมายถึง
วงล้อซึ่งมีใจที่มีเมตตากรุณาเป็นศูนย์กลาง
และแสดงออกถึงความเมตตาในจิตใจด้วยการลงมือ
กระทำความดีอย่างตั้งใจแน่วแน่

ความดีนั้นคือ การบำเพ็ญทาน ๑๐ ประการ ได้แก่


๑. ให้ทานด้วย ทรัพย์สินเงินทอง
๒. ให้ทานด้วย สายตาที่เมตตาปรานี
๓. ให้ทานด้วย ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
๔. ให้ทานด้วย วาจาที่ไพเราะน่าฟัง
๕. ให้ทานด้วย ให้แรงงานช่วยเหลือผู้อื่น
๖. ให้ทานด้วย การอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี
๗. ให้ทานด้วย การให้อาสนะ (ที่นั่ง)
๘. ให้ทานด้วย การให้ที่พักอันสะดวกสบาย
๙. ให้ทานด้วย การให้อภัย
๑๐. ให้ทานด้วย การให้ธรรมะ

ให้ศีล ๕ เป็นพื้นทาง
เมื่อวงล้อแห่งทานนี้หมุนเข้าไปที่แห่งใด
จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม
จะเกิดพลังแห่งการสร้างสรรค์
พลังที่จะร่วมกันผลักดันสังคมที่ดีงามให้เกิดขึ้น

ด้วยการหมุนของวงล้อแห่งทานนี้
ย่อมนำความสุขไปสู่เพื่อนมนุษย์ในสังคมวงกว้าง
ยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในโลก

ขอให้พวกเราทุกคนจงเชื่อมั่นว่า
สันติภาพโลกเริ่มต้นจากพวกเราทุกคนที่นี่และเดี๋ยวนี้
ปลูกฝังจิตสำนึกแห่งรักและเมตตาไว้ในหัวใจ
หมุนทานจักรแห่งสันติภาพ ให้เคลื่อนไปๆ
บนพื้นทางที่มั่นคงแล้วด้วยศีล
เพื่อประโยชน์สุขที่กว้างขวางแก่เพื่อนมนุษย์
ด้วยรักและเมตตาที่ไม่จำกัดขอบเขต
ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ


<<<<< เอวัง >>>>>

เจ้าของ:  TU [ 21 เม.ย. 2010, 10:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=38514

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เจ้าของ:  Bwitch [ 21 เม.ย. 2010, 12:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สาระแห่งชีวิต คือรักและเมตตา (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รูปภาพ

:b47: สาธุ อนุโมทามิค่ะ :b47:

หน้า 1 จากทั้งหมด 2 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/