วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 15:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ อิริยาบถแห่งอานาปานสติ

อานาปานสติในอิริยาบถ ยืน
อานาปานสติในอิริยาบถ เดิน
อานาปานสติในอิริยาบถ นั่ง
อานาปานสติในอิริยาบถ นอน

เครื่องบินกับสนามบิน

จิตที่ไม่ได้ฝึก คิดฟุ้งซ่าน คิดไปเรื่อยๆ ไม่มีการหยุดคิด
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ไม่มีการหยุดคิด
แม้แต่การนอนหลับก็ยังคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ
ถ้าจำได้เราก็รู้อยู่ว่าฝันแล้ว
แม้แต่จำไม่ได้ก็ฝันอยู่อย่างนั้น หลับจริงๆ ก็แค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
ทุกข์เพราะคิดผิด คิดมากทุกข์มาก จิตที่คิดมาก จิตที่ฟุ้งซ่านมาก
เปรียบเหมือนเครื่องบินที่กำลังบินอยู่ แต่หาที่ลงไม่ได้
เป็นสิ่งที่น่ากลัว อาจมีทุกข์รออยู่ข้างหน้า
เครื่องบินกับสนามบินเป็นของคู่กัน
เครื่องบินต้องลงจอดที่สนามบินเพื่อพักเครื่อง
ทำความสะอาด ซ่อมแซม หรือเติมน้ำมัน
เมื่อจำเป็นก็ต้องบิน ทำธุระ ทำหน้าที่
เมื่อเสร็จธุระ เสร็จหน้าที่ก็กลับมาที่เดิม

จิตของเราก็เหมือนกัน ถึงเวลาที่ควรแล้ว
ก็ต้องหยุดคิดฟุ้งซ่านให้ได้
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ
หายใจออกยาวๆ คือ สนามบินที่เครื่องจะลงจอด
เมื่อมีสติรู้สึกตัวทั่งพร้อม ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
จิตของเรานิ่งสงบ รู้ลมเข้าออกสบายๆ
เป็นการพัก ทำความสะอาดใจ เพิ่มกำลังใจ เพื่อสุขภาพใจดี



(มีต่อ 14)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อิริยาบถยืน
ยืนกำหนดอานาปานสติ

การยืน ยืนอย่างสำรวม เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร
ประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อให้ยืนได้อย่างมั่นคง
เอามือขวาทับมือซ้าย วางลงประสานที่หน้าท้อง เพื่อให้ดูเรียบร้อย
แต่ถ้าอยู่คนเดียว จะปล่อยมือข้างๆ ตัวตามสบาย
แบบโครงกระดูกที่ถูกแขวนไว้ก็ได้
จากนั้นทอดสายตาให้ยาวพอดีๆ ประมาณเมตรครึ่ง
แต่ไม่ให้จ้องอะไร กำหนดสายตาไว้ครึ่งๆ ระหว่าง
พื้นดินกับตัวของเราเอง เพื่อไม่ให้ดูอะไรเป็นพิเศษ
หรืออาจกำหนดดูที่ปลายจมูกก็ได้
บางครั้งอาจจะกำหนดสายตาไว้ที่ๆ สบายตา
เช่น กำหนดที่สนามหญ้าสีเขียว ต้นไม้ ดอกไม้
แต่ไม่ให้คิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราว
ถ้ารู้สึกมีอะไรเกะกะตา หรืออยู่ด้วยกันหลายคน
อาจจะหลับตาก็ได้เหมือนกัน
แต่ระวังอย่าให้ล้ม ต้องมีสติ ทรงตัวไว้ให้ดี

หายใจทางเท้า ทำให้อายุยืน

การหายใจจากทางเท้า ถ้าทำให้ชำนาญ จนเป็นปกติ สบายๆ แล้ว ลมหายใจจะ ค่อนข้างยาวขึ้น 2-3 เท่า ปกติคนทั่วไปหายใจ 17 ครั้งต่อ 1 นาที ผู้ที่หายใจทางเท้าได้เป็นปกติจะหายใจเพียง 5-6 ครั้งต่อ 1 นาที สัตว์ที่อายุยืน เช่น เต่า ปกติจะหายใจ 4 ครั้งต่อ 1 นาที เต่าบางชนิดอายุยืนถึง 300 ปีก็มี การหายใจยาวนี้ ช่วยทำให้จิตใจสงบ ร่างกายสบาย ปล่อยวางร่างกายได้ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะสามัคคีกัน

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยปกติจิตมักไปจดจ่ออยู่ที่โรค หรืออาการเจ็บป่วย การหายใจยาวๆ จะช่วยไม่ให้จิตไปนึกถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่นึกถึงโรค จิตจะค่อยๆ ปล่อยวาง และโดยธรรมชาติของร่างกาย จะมีกลไกที่ทำหน้าที่รักษาตัวเองได้

โรคเกิดจากอุปาทาน ทางการแพทย์ได้วินิจฉัยว่า โรคต่างๆ ที่เราประสบอยู่ในโลกนี้ ประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากความเครียด ความโกรธ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในโรคภัยต่างๆ ที่ร่างกายประสบอยู่ มีผลกระทบต่อร่างกายมาก

พระองค์หนึ่งเข้าห้องกรรมฐาน ปิดวาจานานหลายเดือน ปฏิบัติภาวนาโดยเจริญสติปัฏฐาน 4 พระองค์นี้ ท่านเป็นโรคกระเพาะ ปวดท้องเป็นเดือนๆ วันหนึ่งๆ มีแต่กังวลปวดท้อง ภาวนาไม่ได้ผล เมื่อออกพรรษา ก็ออกจากกรรมฐาน เป็นช่วงเทศกาลกฐิน ท่านเดินทางตลอด เดือนหนึ่งผ่านไป นึกขึ้นมาได้ว่า โรคกระเพาะหายไป ทั้งที่ยังไม่ได้รักษา ลืมไปไม่ได้นึกถึง ทั้งๆ ที่เคยปวดท้องเกือบทั้งวัน นานหลายเดือน เพราะเมื่อเราอยู่ในห้องเฉยๆ จืตมีแต่อุปาทานเรื่องโรคกระเพาะ คิดแต่ว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะอยู่อย่างนั้น แสดงให้เห็นว่า โรคกระเพาะของพระองค์นี้ เกิดจากจิตอุปาทานยึดมั่นถือมั่นของท่านนั่นเอง จิตอุปาทาน จะกีดกั้นระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ถ้ามีโรคอยู่แล้ว จะทำให้แย่ลง ถ้ากำลังจะหายก็จะทำให้อาการไม่ดีขึ้น ถ้าไม่มีโรคก็ทำให้เกิดโรคได้

การหายใจยาวๆ จะช่วยถอนอุปาทาน
ทำให้จิตใจสงบ ร่างกายสบาย ทำให้สุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น


อิริยาบถยืน
ยืนกำหนดอานาปานสติ


การกำหนดลมหายใจ น้อมจิตเข้ามาดูกายยืน ไม่ให้ส่งจิตคิดออกไปข้างนอก ให้มีความรู้ตัวชัดๆ ในการยืน ทุกอย่างให้เป็นธรรมดาๆ หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ หายใจออกสบายๆ ปล่อยลมหายใจทางเท้า หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวหน่อยๆ ตั้งกายตรง หายใจออก ปล่อยลมทางเท้า สบายๆ 3-4 ครั้ง หายใจเข้าลึกๆ หลังจากนั้นหายใจออกสบายๆ จิตนึกถึงเท้าทุกครั้ง ทำความรู้สึกคล้ายกับว่าลมเข้า ลมออกจากทางเท้า วิธีนี้ช่วยทำให้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ยาวขึ้น

ยืนสบายๆ นั่นแหละดี และถูกต้อง รู้ชัดว่าลมหายใจปรากฏอยู่
ลมหายใจปรากฏอยู่อย่างไรก็รับรู้ กำหนดรู้ ระลึกรู้เฉยๆ
มีหลักอยู่ว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น
การระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก คือ การรักษาใจไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ให้อยู่กับปัจจุบัน
การหายใจให้ปล่อยตามธรรมชาติและธรรมดาที่สุด สบายๆที่สุด
กำหนดเบาๆ ให้พยายามมีความรู้สึกว่ามีลมเข้า มีลมออก ทุกครั้งไปเท่านั้น
จิตไม่ต้องตามลมหายใจตลอด เพียงแต่ให้รู้ลมเข้า ลมออก
ถ้าสบาย สงบ มีความสุข แสดงว่ากำหนดได้ถูกต้อง
ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วรู้สึกเหนื่อย เครียดและสับสน
แสดงว่ากำหนดไม่ถูกต้อง ให้พิจารณาทบทวนใหม่
ยืนเฉยๆ ก่อน ปล่อยลมหายใจ ไม่ต้องกังวลกับลมหายใจ สักพักหนึ่ง
ยืนสบายๆ หายใจสบายๆ แล้วกำหนดลมหายใจใหม่
อย่าบังคับลมหายใจมากมาย หายใจสบายๆ เป็นธรรมชาติที่สุด
การส่งความรู้สึกหรือจิตไปถึงเท้า ก็เพื่อให้ลมหายใจค่อนข้างยาวขึ้นตามธรรมชาตินั่นเอง
นี่เป็นวิธีการหายใจทางเท้า


(มีต่อ 15)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อิริยาบถเดิน
เดินกำหนดอานาปานสติ

การเดินจงกรมที่ถูกต้อง คือ เดินอย่างธรรมดา เอากาย เอาใจ มาเดิน เมื่อกายกำลังเดิน ให้ใจเดินไปด้วย ไม่ใช่ว่า เมื่อกายกำลังเดิน ใจคิดไปเที่ยวในอดีต อนาคต หรือ คิดเที่ยวไปทั่วโลก อย่าให้กายกับใจทะเลาะกัน อยู่คนละทิศ คนละทาง ให้กายกับใจสามัคคีกัน รักกัน อยู่ด้วยกัน ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดินให้ถูกต้องและเป็นธรรมชาติที่สุด

ให้เดินธรรมดาๆ แต่ช้ากว่าปกติหน่อย เดินไปเรื่อยๆ นั่นแหละ คือ เดินจงกรม เดินธรรมดาๆ แต่ให้มีอาการสำรวมระวังในการเดิน มีสติ ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกทุกครั้ง บางคนอาจจะไม่เคยชินกับการกำหนดลมหายใจขณะเดิน เพราะว่าความรู้สึกที่เท้ากำลังก้าวอยู่ ความรู้สึกที่เท้ากำลังถูกดิน ความรู้สึกตัวในการเดิน เด่นชัดมากกว่าลมหายใจหลายเท่า แต่ไม่ต้องสงสัยอะไร

อะไรที่กำลังปรากฏอยู่โดยธรรมชาติ รับรู้ รับทราบหมด รู้ชัดว่ากายกำลังเดิน แต่เราไม่ทิ้งลมหายใจ ให้มีความพยายามที่จะกำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้ว่ามีลมเข้า ลมออก เท่านั้น เบาขนาดไหนก็ช่าง แต่ให้รู้ติดต่อกัน ต่อเนื่องกัน
_____

อานิสงส์ของการเดินจงกรม มี 5 อย่าง คือ
1. เป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร
2. เป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล
3. เป็นผู้มีอาพาธน้อย
4. อาหารที่บริโภคเข้าไปย่อมย่อยง่าย
5. สมาธิซึ่งได้ขณะเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน

(จังกมสูตร)
_____

เดินไป เดินมา เริ่มจะเมื่อยคอ เมื่อยหลัง
หายใจเข้าลึกๆ 2-3 ครั้ง ยืดตัวหน่อยๆ เป็นระยะ
เพื่อช่วยผ่อนคลายความรู้สึก
ทำให้เบาตัว สบายตัว เดินไปเรื่อยๆ

ถ้าจิตไม่สงบ หยุดเดินก่อนก็ได้
หายใจเข้าลึกๆ 2-3 ครั้ง
หรือนานพอสมควร จนกว่าจิตจะสงบเรียบร้อย
ตั้งหลัก ตั้งสติ แล้วค่อยๆ เดินต่อไป
เดินกำหนดอานาปานสติ
เหมือนการยืนกำหนดอานาปานสติ
ต่างกันเพียงการเคลื่อนไหวของกายเท่านั้น

ไม่ว่าจะวิ่ง เดินเร็ว เดินธรรมดา เดินช้า
หยุดเดิน คือ ยืน
เรามีหน้าที่ระลึกรู้ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า
ลมหายใจออกติดต่อกันเท่านั้น
หาจุดสบายๆ หายใจเข้าสบายๆ หายใจออกสบายๆ
เป็นการเจริญสติที่จะระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เป็นการรักษาความรู้สึกให้เป็นปกติ คือ
หายใจสบายๆ ใจสงบ เบา สบาย
_____

วิ่ง เดิน หยุดเดิน
เราสามารถกำหนดลมหายใจได้แม้ในช่วงที่วิ่งเร็วๆ โดยระลึกรู้ลมหายใจอยู่อย่างนั้น
เดินเร็วๆ หายใจเข้า-ออก แรงๆ กำหนดลมหายใจ
เมื่อเดินธรรมดาๆ ก็กำหนดลมหายใจ
เดินช้าๆ อย่างสำรวม ก็กำหนดลมหายใจเหมือนเดิม หยุดอยู่ก็กำหนดลมหายใจ
แสดงว่า เราสามารถกำหนดลมหายใจได้ แม้ต้องวิ่งเร็วๆ จนหยุดเดิน คือ ยืน


(มีต่อ 16)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อิริยาบถนั่ง
นั่งกำหนดอานาปานสติ

ใครเคยฝึกนั่งสมาธิในท่าไหน หรือถนัดนั่งท่าไหน ก็ให้นั่งอย่างนั้น นั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธิเพชร นั่งพับเพียบกับพื้น หรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่หลังตั้งตรง และไม่ควรพิงหลังกับสิ่งใด เพราะจะทำให้เกิดความสบายมากไป ทำให้ง่วงนอนได้ง่าย

ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า ลักษณะการนั่งที่เรียบร้อยนั้น ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง พอเหมาะ พอดี พองาม ไมให้เอียงขวา เอียงซ้าย ไม่ก้มหน้าเกินไป และไม่เงยหน้าเกินไป ให้เอาท่านั่งของพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง นั่งให้เรียบร้อยอย่างนั้น เมื่อใครได้เห็น ย่อมรู้สึกศรัทธา เกิดความชื่นอกชื่นใจด้วย

นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติให้มั่น
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ
หายใจเข้าลึกๆ สุดๆ ยืดตัว
หายใจออกยาวๆ สบายๆ ทำอย่างนี้ 3-4 ครั้ง
แล้วค่อย ปล่อย หายใจสบายๆ แบบธรรมชาติ
หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
ปล่อยวางสัญญา อารมณ์ต่างๆ มีสติสัมปชัญญะ
มีความรู้สึกตัวทั่วถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ติดต่อกัน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ



(มีต่อ 17)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อิริยาบถนอน
นอนกำหนดอานาปานสติ


เราสามารถฝึกอานาปนสติในอิริยาบถนอนได้อย่างง่ายๆ โดยการนอนสบายๆ ธรรมดาๆ แบบที่นอนอยู่ตามปกติ พยายามทำความรู้สึกให้ผ่อนคลายมากที่สุด จากนั้นสำรวจร่างกายทั้งหมด โดยเริ่มจากปลายเท้าขึ้นมา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายทุกส่วน ไม่ให้มีกล้ามเนื้อส่วนใดเกร็งอยู่เลย จนกระทั่งมีความรู้สึกตัวเบาเหมือนสำลี

เวลาหายใจเข้า หายใจออก ให้กำหนดความรู้สึกเหมือนกับว่า
หายใจเข้า หายใจออก ทางเท้า


เมื่อหายใจออกให้กวาดเอาความรู้สึกไม่ดี ความเครียด ความกังวล ความรู้สึกเจ็บป่วย ไม่สบาย ทั้งทางกายและทางใจ ออกไปจากร่างกายให้หมด โดยให้หายใจให้ไกล ออกไปจากเท้าหลายเมตรก็ได้

เพื่อหายใจเข้า ตั้งสติไว้ที่เท้า
ให้ความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์ผ่านเข้ามาทางร่างกาย จนถึงใบหน้าและจมูก
สุขภาพของใจจะดีขึ้นและทำให้สุขภาพกายดีขึ้นพร้อมๆ กัน

หาจุดหายใจสบายๆ ใจสบายๆ


(มีต่อ 18)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ ถาม-ตอบ ปัญหาการปฏิบัติ

1. ลืมตานั่งสมาธิได้ไหม

2. การนั่งสมาธิ หากเราเปลี่ยนท่าบ่อยๆ มีผลต่อการทำสมาธิไหม

3. นอนกำหนดอานาปานสติ จะหลับเลย ควรปฏิบัติอย่างไร

4. ปัจจุบันนี้ ชีวิตก็มีความสุขดีอยู่แล้ว ฐานะความเป็นอยู่ดี ไม่มีเรื่องทุกข์ใจ ไม่ได้เบียดเบียนใคร อยู่อย่างสบายๆ มีความจำเป็นต้องเจริญอานาปนสติไหม

5. การเจริญอานาปานสติแตกต่างจากสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอย่างไร

6. รู้สึกว่าการกำหนดลมหายใจเสียเวลาเปล่า อ่านหนังสือ ทำงาน หรือทำอย่างอื่น จะได้รับประโยชน์มากกว่า

7. นั่งสมาธิแล้วง่วงนอนทำอย่างไร

8. นั่งสมาธิแล้วฟุ้งซ่านทำอย่างไร

9. ทำไมเวลานั่งเจริญอานาปานสติทุกครั้ง จะเกิดอาการหงุดหงิด หรือเครียด แต่ถ้านอนกำหนดจะรู้สึกว่าดีขึ้น ทำไมเป็นเช่นนี้ หรือว่าเพราะกิเลส

10. มีวิธีการนั่งสมาธิอย่างไรที่จะไม่ทุกข์ ไม่ทรมานสังขาร

11. ขณะที่นั่งสมาธิและเดินจงกรม ถ้าเราคิดทบทวนข้อธรรมะที่ได้รับฟังมาจะผิดไหม คือเราไม่ได้ตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก หรือว่าเราทำผิดเวลา

12. เมื่อเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ขณะเดินจงกรมจะมีวิธีแก้อย่างไร

13. หายใจยาวลึกประมาณ 3 นาที เมื่อเริ่มต้น รู้สึกเหนื่อยมาก ควรทำอย่างไร

14. การจับลมหายใจ เข้า-ออก ควรดุตามธรรมชาติ หรือเป็นการบังคับลมหายใจ

15. อยากทราบว่า นักปฏิบัติธรรมจะเจริญได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัฒน์ ในเมื่อนักปฏิบัติรู้จักพอ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง


(มีต่อ 19)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แก้ไขล่าสุดโดย TU เมื่อ 29 ก.ย. 2009, 19:31, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


1

ถาม : ลืมตานั่งสมาธิได้ไหม


ตอบ : ตามปกติสำนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ทั้งในไทย ในพม่า หรือในประเทศต่างๆ ก็สอนให้หลับตานั่งสมาธิ ถือเป็นหลักสากลทั่วไป แต่สำหรับพระในนิกายเซนประเทศญี่ปุ่น เวลานั่งสมาธิท่านห้ามหลับตา เพราะเวลานั่งสมาธิแล้วหลับตา อาจจะรู้สึกสงบและสบายก็จริง แต่ความง่วง หดหู่ มักจะเข้ามาครอบงำจิตได้ง่าย หรือบางทีก็ทำให้คิดปรุงแต่ง เคลิบเคลิ้ม เป็นฝันกลางวัน

ข้อพิจารณาว่าการนั่งสมาธิควรหลับตาหรือลืมตา น่าจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสถานที่ปฏิบัติเป็นสำคัญ หากมีสิ่งแวดล้อมที่จะดึงดูดความสนใจเรา ทำให้จิตใจวอกแวก เช่น นั่งปฏิบัติรวมกับผู้อื่น การหลับตาก็น่าจะเหมาะสมกว่า สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ เมื่อหลับตานั่งสมาธิ อาจทำให้เกิดความสบายคล้ายๆ กับช่วงที่กำลังจะหลับ ดังนั้นเมื่อหลับตานั่งสมาธิ ต้องให้แน่ใจว่าจิตใจไม่มีนิวรณ์ โดยเฉพาะความง่วง หดหู่ เคลิบเคลิ้ม และฟุ้งซ่านครอบงำอยู่

อย่างไรก็ตาม หากต้องการลืมตานั่งสมาธิ ก็ควรหาสถานที่ปฏิบัติที่เหมาะสม เช่นนั่งหันหน้าเข้าหาผนังสีขาว อย่าให้มีอะไรมาดึงความสนใจ นั่งลืมตาโดยกำหนดสายตาไว้ที่ปลายจมูก ลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งจะอยู่ในท่านั่งลืมตาเล็กน้อย การลืมตาให้มีแสงสว่างเข้าตาอยู่ตลอด จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกสบายๆ มากเกินไปจนเคลิ้มหลับ แต่จะทำให้มีสมาธิในการนั่ง กำหนดอารมณ์กรรมฐานได้ดี สังเกตความง่วงนอนได้ง่าย และขจัดความเคลิบเคลิ้มได้สะดวก

ที่สุดของการทำสมาธิ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไร ให้ทำจิตตั้งมั่น เป็นสมาธินั่นแหละ


(มีต่อ 20)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


2

ถาม : การนั่งสมาธิ หากเราเปลี่ยนท่าบ่อยๆ มีผลต่อการทำสมาธิไหม


ตอบ : การเปลี่ยนท่ามีผลเสียต่อการทำสมาธิเพื่อจิตตั้งมั่น ซึ่งเป็นสมาธิขั้นละเอียด แต่การปฏิบัติของเราเริ่มต้นด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง ในที่นี้ คือมีความรู้สึกตัวชัดเจนในการนั่ง ในการหายใจ เข้า หายใจออก รู้ความรู้สึกนึกคิด รู้ตามอารมณ์ว่าเป็นพอใจ หรือไม่พอใจ รู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น พยายามไม่ยินดี ยินร้ายต่ออารมณ์ ถึงแม้ว่าทุกข์กาย ไม่สบายใจก็ตาม ให้อาศัยความอดทน อดกลั้น พยายามรักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นศีล ให้เรียบร้อย หากรู้สึกปวดเมื่อย ต้องการเปลี่ยนท่านั่ง ก็ทำได้ แต่ให้ค่อยๆ ทำอย่างมีสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อม จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง


(มีต่อ 21)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


3

ถาม : นอนกำหนดอานาปานสติจะหลับเลย ควรปฏิบัติอย่างไร

ตอบ :
ปกติการปรารถความเพียรก็ต้องอาศัยอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง ไม่ใช่นอน แต่ชีวิตของคนเราต้องนอนประมาณ 1 ใน 3 ส่วนในแต่ละวัน ดังนั้นเพื่อให้การเจริญอานาปานสติเป็นไปอย่างติดต่อกันตลอด สำหรับผู้สามารถปฏิบัติได้ควรทำทั้ง 4 อิริยาบถ หรืออย่างน้อยเวลานอน ก่อนที่จะหลับไปก็ให้พยายามกำหนดอานาปานสติเพื่อที่จะได้หลับอย่างมีสติ ไม่มีความกังวล ไม่ฝันร้าย หลับสบาย สำหรับคนนอนยากก็ช่วยให้ไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ การเจริญอานาปานสติในอิริยาบถนอน สามารถทำได้ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติ รู้สึกปวดเมื่อยมากๆ ไม่มีกำลังสำหรับการยืน เดิน นั่ง แต่ต้องการผักผ่อนอิริยาบถ ก็ให้นอนกำหนดอานาปานสติ เป็นการเจริญสติและรักษาสุขภาพใจดีไว้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษแต่อย่างใด

การเจริญอานาปานสติในอิริยาบถนอนจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วย ที่ต้องนอนเกือบตลอดเวลา เพราะจะช่วยบรรเทาทุกขเวทนาได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ โรคเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเรา มากกว่า 1 ใน 3 ก็เกิดจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นการทำจิตใจให้สงบในอิริยาบถนอนแทนที่จะคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นประโยชน์ในการรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ


(มีต่อ 22)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


4

ถาม : ปัจจุบันนี้ ชีวิตก็มีความสุขดีอยู่แล้ว ฐานะความเป็นอยู่ดี ไม่มีเรื่องทุกข์ใจไม่ได้เบียดเบียนใคร อยู่อย่างสบายๆ มีความจำเป็นต้องเจริญอานาปนสติไหม

ตอบ :
ความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่อยู่อย่างสบายนั้น เป็นของเก่า เป็นผลของทาน ศีล ภาวนา ที่ได้เคยบำเพ็ญมา ถึงแม้ความดีที่ได้ทำในชาติก่อนส่งผลดีแก่เราในชาตินี้ แต่เราไม่ควรประมาท เพราะชีวิตไม่แน่นอน อนาคตเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เมื่อหมดผลบุญแล้ว วิบากกรรมฝ่ายอกุศลส่งผล อาจจะตกต่ำไปเกิดเป็นมนุษย์ที่ลำบาก ขัดสน เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเกิดในอบายภูมิอื่นก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น มารดาของพระโมคคัลลานะ เกิดในตระกูลดีก็ยังตกนรก

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าไม่ให้ประมาท เพราะสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แม้อานิสงส์ของทานและศีลจะทำให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์พรั่งพร้อม แต่เป็นความสุขจากกกามคุณที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงโทษความบกพร่องของความสุขแบบนั้น และทรงแสดงทางออก พร้อมอานิสงส์ของทางออกนั้น ที่เรียกว่า เนกขัมมานิสังสะ คือ การออกจากกาม และสุดท้ายแสดงอริยสัจ 4 อันเป็นทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ดังนั้นถ้าเราเป็นผู้ไม่ประมาท ก็ควรเจริญ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญสติปัฏฐาน 4 จนดวงตาเห็นธรรม ละความผิด อันได้แก่ สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส สำเร็จเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน จึงจะแน่นอนว่า ชีวิตไม่ตกต่ำ ไม่มีทางไปเกิดในอบายภูมิได้อีก


(มีต่อ 23)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


5

ถาม : การเจริญอานาปานสติแตกต่างจากสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอย่างไร

ตอบ :
กรรมฐาน แปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ เป็นวิธีฝึกอบรมจิต มี 2 ประเภท ได้แก่ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐาน หมายถึง การฝึกอบรมจิตเพื่อให้จิตใจสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

วิปัสสนกรรมฐาน หมายถึง การฝึกอบรมจิตเพื่อให้เห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริง ของสภาวธรรม เกิดปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันทำให้ละความหลงผิดรู้ผิดในสังขาร

อานาปานสติเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง การเจริญสติโดยอาศัยการระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จึงเพ่งพิจารณาสภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม จนเห็นแจ้ง เห็นตรงตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสิ่งใดควรแก่การยึดมั่นถือมั่น ทำให้จิตใจปล่อยวาง

ที่สุดของอานาปานสติ คือ “เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ ทุกลมหายใจเข้าออก” หมายความว่า ในอานาปานสติขั้นที่ 16 ซึ่งเป็นวิปัสสนาขั้นสุดท้ายของอานาปานสติ เราจะเป็นผู้เห็นความสลัดคืนในสิ่งที่เรายึดถืออยู่ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ถอนอุปาทานยึดมั่นถือมั่น จนไม่มีความยินดีในขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีสิ่งใดที่ยึดถือเป็นของเราอีกต่อไป มีสติปัญญาระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา กาย สักแต่ว่ากาย เวทนา สักแต่ว่าเวทนา จิต สักแต่ว่าจิต ธรรม สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา


(มีต่อ 24)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


6

ถาม : รู้สึกว่าการกำหนดลมหายใจเสียเวลาเปล่า อ่านหนังสือ ทำงาน หรือทำอย่างอื่น จะได้รับประโยชน์มากกว่า

ตอบ :
ภูมิจิต ภูมิปัญญาของคนเราแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง วันเสาร์อาทิตย์ โยมมีเวลาว่าง ไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อนๆ ที่ต่างจังหวัด นั่งรถหลายๆ ชั่วโมง คุยกัน หาของอร่อยรับประทาน เหนื่อยแล้วก็หลับ เมื่อได้ไปเที่ยว ดูภูมิประเทศ ป่าไม้ ภูเขา ทะเล อยู่กับเพื่อนๆ กินเลี้ยงเฮฮา ร้องเพลง กลับบ้าน นอนหลับ ก็รู้สึกสบาย

พอวันจันทร์ถึงศุกร์ก็ไปทำงาน กลับบ้านเหนื่อยก็นอน ดูทีวี พักผ่อน เวลาผ่านไปวันๆ เราก็รู้สึกปกติดี เพราะสิ่งที่เราทำเป็นไปตามกระแสสังคม กระแสโลก ทำตามกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจเรามาช้านาน แต่การเจริญสติสัมปชัญญะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิกับลมหายใจ เพื่อสร้างกำลังใจและเพื่อสุขภาพใจดี เรารู้สึกว่าเสียเวลาและทำได้ยาก เพราะมันเป็นการทวนกระแสสังคมทางโลก ต้านกระแสกิเลส เราจึงมักพอใจอยู่กับความสุขแบบฉาบฉวย ยังหลงติดยินดีพอใจในสุขภาพใจที่ไม่ดีของตัวเอง ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้กลัว ขี้โกรธ เป็นต้น เราต้องมาทบทวนชีวิตของตัวเองด้วยปัญญาชอบว่า เป้าหมายสูงสุดที่แท้จริงในชีวิตของเรานั้นคืออะไร หากเป้าหมายการดำรงชีวิตของเรา เพื่อละความชั่ว ทำความดี และชำระจิตให้บริสุทธิ์แล้ว เราจะเห็นโทษของสุขภาพใจที่ไม่ดี (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) เห็นประโยชน์ในการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และจะเกิดความพอใจในการเจริญอานาปานสติว่าเป็นความสุข เอาลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นกัลยาณมิตร เป็นวิถีทางแห่งความสงบสุขอย่างแท้จริง


(มีต่อ 25)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


7

ถาม : นั่งสมาธิแล้วง่วงนอนทำอย่างไร

ตอบ :
ให้ลืมตารับแสงอ่อนๆ เข้าตา จะช่วยแก้ง่วงนอนได้ กำหนดสติในท่านั่ง ตั้งสติกำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการนั่ง ถ้าปฏิบัติคนเดียว ให้เปลี่ยนเป็นอิริยาบถยืนกับเดินจงกรมให้มากๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีแก้ง่วงนอนแก่พระโมคคัลลานะ มี 8 ประการ ดังนี้

1. ให้ตั้งสติ ระวังดูสัญญา ไม่ให้เข้าครอบงำจิตได้ ถ้าไม่หายง่วง

2. ให้พิจารณาธรรมะ หมายความว่า ให้ใช้ความคิด พิจารณาธรรมะที่เคยได้ยินได้ฟังมา อาจจะหายง่วง ถ้าไม่หายง่วง

3. ให้สวดมนต์สาธยายธรรมด้วยความตั้งใจ สวดไปๆ อาจหายง่วงได้ ถ้าไม่หาย

4. ให้ยอนหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ ถ้าไม่หายง่วง

5. ให้ลุกจากที่นั่ง ไปล้างหน้า แหงนหน้า ดูฟ้า ดูดาว ดูพระจันทร์ ถ้าไม่หายง่วง

6. ให้เจริญอาโลกสัญญา นึกถึงแสงสว่าง กำหนดหมายว่า “กลางวัน” ไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ถ้าไม่หายง่วง

7. ให้เดินจงกรม สำรวมอินทรีย์ ตั้งใจเดิน ไม่ให้จิตคิดไปภายนอก เดินกลับไป กลับมา ถ้าไม่หายง่วง

8. ให้เอนกายพักผ่อน นอนตะแคงขวา พยายามมีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่า เมื่อมีความรู้สึกตัวตื่นแล้ว จะลุกขึ้นปรารภความเพียรต่อไป


(มีต่อ 26)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


8

ถาม : นั่งสมาธิแล้วฟุ้งซ่านทำอย่างไร

ตอบ :
สงบหรือไม่สงบก็ไม่เป็นไร สงบเป็นกุศลธรรม ไม่สงบเป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมเสมอกัน เมื่อจิตไม่สงบก็กำหนดศึกษาความไม่สงบ การปฏิบัติที่ถูกต้องกับจิตไม่สงบก็มีอยู่ พยายามมีขันติอดทนอดกลั้นไว้ ทำใจเป็นกลางๆ วางเฉย รักษาใจให้ดีต่อจิตที่ไม่สงบ

จิตที่ไม่สงบเป็นอุปมา เช่น ลูกของตัวเองที่ซุกซน ดื้อ เกเร อารมณ์ไม่ดี ไม่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ดีต้องรักษาสุขภาพใจให้ดี ให้มีเมตตาต่อลูกไว้ตลอด ต่อจิตที่ไม่สงบ...ก็เหมือนกัน ใจเป็นกลาง ใจดี ใจเมตตา ใจวางเฉย ต่อจิตไม่สงบ คิดไม่ดีสารพัดอย่าง รู้อยู่ว่าใจไม่สงบ แต่อย่ายินดี ยินร้าย อย่ายึดมั่นถือมั่น รู้แล้วปล่อย หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ พยายามเจริญสติสัมปชัญญะให้มีความรู้สึกตัว กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อเกิดสติสัมปชัญญะต่อลมหายใจ หรืออารมณ์กรรมฐานที่เรากำหนดแล้ว จิตที่ไม่สงบก็จะหายไปเอง อย่าเสียใจ เพราะจิตไม่สงบ อย่าดีใจเพราะจิตสงบ รู้เท่าทันสงบ-ไม่สงบ คือ การปฏิบัติให้ถูกต้อง

การปฏิบัติสำหรับผู้ที่จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ให้ทำ 2 วิธี คือ ปล่อยวาง และพิจารณา

1. ปล่อยวาง เมื่อได้สติรู้ตัวว่าฟุ้งซ่าน ก็โอปนยิโก กลับไปที่อารมณ์กรรมฐานที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ นึกคิดไปทางไหน ก็ให้กลับมาที่ลมหายใจของเรา

2. พิจารณา หากใจไม่สงบ เพราะติดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้หยุดพักกำหนดอารมณ์กรรมฐาน เช่น อานาปานสติ แต่ให้ยกเอาอารมณ์ที่กำหนดอยู่มาทดแทน พิจารณาอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนใจยอมรับ ปล่อยวางอารมณ์ แล้วจึงมากำหนดอานาปานสติต่อไป เมื่อใดที่จิตนึกคิดไปต่างๆ นาน ก็ให้พยายามกลับมาที่ลมหายใจ เมื่อใดที่ใจไม่สงบ พยายามปล่อยวาง ระลึกถึงอารมณ์กรรมฐาน ตั้งสติต่อเนื่องกัน ถ้าอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ยังเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ให้ใช้วิธีพิจารณาแล้วกลับไปที่ปล่อยวาง กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ช่วงเวลาที่ฟุ้งซ่านเพราะติดอารมณ์จะสั้นลง ในที่สุด ก็จะเหลือแต่วิธีที่ 1 ถ้าสงบเป็นสมาธิ ไม่สงบก็ปล่อยวาง


(มีต่อ 27)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


9

ถาม : ทำไมเวลานั่งเจริญอานาปานสติทุกครั้ง จะเกิดอาการหงุดหงิด หรือเครียด แต่ถ้านอนกำหนดจะรู้สึกว่าดีขึ้น ทำไมเป็นเช่นนี้ หรือว่าเพราะกิเลส

ตอบ :
จิตของเราเหมือนสัตว์ป่า ถ้าปล่อยไป มันก็สบายของมัน ถ้าจับสัตว์ป่า ขังไว้ในกรงเล็กๆ มันจะเครียดดิ้นรนอาละวาดได้ จิตของเราก็เหมือนกัน ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เอาสติผูกจิตไว้กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกต่อเนื่องกัน ทำให้จิตที่ยังไม่เคยได้รับการฝึกดิ้นรนหงุดหงิด เครียดบ้าง ก็เป็นธรรมดา

สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ อาการเครียดเพราะปฏิบัติเป็นสิ่งจำเป็น และต้องเป็นอย่างนั้น แต่ไม่เป็นไร ให้มีขันติ อดทน ปฏิบัติกาย วาจา ให้เรียบร้อย ดูอาการหงุดหงิด เครียด เพ่งพิจารณาเป็นไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เห็นอารมณ์เป็นอารมณ์ เราไม่ต้องตั้งใจกำหนดลมหายใจก็ได้ ปรับลมหายใจยาวๆ สบายๆ คล้ายกับว่ากดลมหายใจนิดหน่อย มีเสียงลมภายในเบาๆ กำหนดเสียง กำหนดความรู้สึกหายใจเข้าสบายๆ หายใจออกยาว สบายๆ จะเกิดสติสัมปชัญญะกับลมหายใจ ในที่สุด อาการหงุดหงิด เครียด จะหายไป ความรู้สึกสบายๆ จะปรากฏแทน


(มีต่อ 28)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร