วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 58 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2009, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๓. การคิดถึงความดีเป็นการบริหารจิต

“ความดีเป็นสิ่งไม่ตาย เป็นสิ่งทันสมัยอยู่เสมอ อยู่คู่สมัยทุกสมัย” การคิดถึงความดีเป็นการบริหารจิตโดยตรงที่สุด เพราะจะทำให้จิตใจของผู้คิดใสสว่าง ว่างจากความรู้สึกนึกคิดในด้านรุนแรงขุ่นมัวเศร้าหมอง อย่างน้อยก็ในชั่วระยะเวลาที่กำลังคิดถึงความดีเช่นนั้น ใจที่ใสสว่างจากความรู้สึกมัวหมองดังกล่าวเป็นใจที่มีค่า ควรเป็นที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง การคิดถึงความดีหรือพระคุณของท่านผู้ทำพระคุณแล้วจึงเป็นสิ่งควรทำยิ่งนัก

ไม่เพียงแต่พระคุณของบุคคลเท่านั้นที่มีอยู่ พระคุณของประเทศชาติก็มีเช่นกัน ทั้งยังเป็นพระคุณที่ใหญ่ยิ่ง จนยากจะหาที่เปรียบ คิดให้ดีจะเห็น จะเข้าใจ คิดง่ายๆ ก็เช่นที่เคยรู้สึกกันบ่อยๆ ว่า ชาติไหนก็ไม่สบายเหมือนชาติไทย อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายเหมือนอยู่ประเทศไทย ความคิดแม้เพียงเท่าที่กล่าวนี้ก็เป็นเครื่องแสดงอย่างแจ้งชัดถึงพระคุณของประเทศชาติที่มีต่อคนในประเทศชาติทุกคน

ดังนั้น จึงควรที่จะไม่ละเลยหลงลืมพระคุณนี้ ไม่ควรจะถือว่าประเทศชาติมิใช่บุคคลที่มีชีวิตจิตใจ แล้วมองข้ามไปเสีย ทั้งๆ ที่พระคุณของประเทศชาตินั้นยิ่งใหญ่นัก มีความสำคัญแก่บุคคลทุกคนยิ่งนัก ความสุขกายสบายใจความเจริญรุ่งเรืองใดๆ จะมีไม่ได้แม้ขาดพระคุณของประเทศชาติสนับสนุนค้ำจุนอยู่ เช่นประเทศชาติที่ไม่เป็นไทแก่ตน เป็นเมืองขึ้นเขา คนในประเทศชาติก็ขาดความเป็นไปไปด้วย เป็นผู้ต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่นไปด้วย

ความสุขกายสบายใจความเจริญรุ่งเรืองจะมีมาแต่ไหน ย่อมเห็นกันอยู่อย่างชัดเจน แต่ประเทศชาติมิใช่บุคคลผู้มีชีวิตจิตใจ มิใช่ผู้ที่สามารถจะทำอะไรๆ ได้เช่นบุคคล ประเทศชาติจำเป็นต้องมีบุคคลทั้งหมดพร้อมใจกันสร้างสรรค์รักษา ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างสรรค์รักษาตนของตนเอง แต่ถ้าตามลำพังตนเองไม่มีประเทศชาติเป็นที่ส่งเสริมสนับสนุนค้ำจุนแล้ว ก็หาอาจเกิดผลเท่าที่พึงปรารถนาได้ไม่

คิดให้ดี คิดให้ถูก แล้วจะตระหนักแก่ใจในพระคุณของประเทศชาติ จะไม่อาจยินดีหวั่นไหวกับเครื่องล่อทั้งหลายที่ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตน

ความไม่ยินดีหวั่นไหวนั้นดำรงอยู่ได้เพราะมีความเห็นถูกว่าความมั่นคงของตนจะเกิดไม่ได้ ถ้าขาดความมั่นคงของประเทศชาติ เครื่องล่อทั้งหลายเป็นเพียงเครื่องชักนำไปสู่กับดัก ไปสู่อันตราย เช่นเดียวกับเหยื่อที่ล่อปลาไปสู่ความตายนั่นเอง

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในเรื่องนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อเห็นพระคุณของประเทศชาติเสียก่อนว่าเป็นสิ่งมีจริง ทั้งยังเป็นความสำคัญอย่างยิ่งแก่บุคคลทุกคนในประเทศชาติด้วยจริงๆ ไม่มีผู้ใดเลยที่จะไม่ต้องอาศัยพระคุณของประเทศชาติ ต้องอาศัยด้วยกันทั้งนั้น อาศัยอยู่ทุกเวลานาทีทั้งนั้นแต่ก็ต้องทุคนนี้แหละ พร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างสรรค์รักษาประเทศชาติให้อาจดำรงพระคุณไว้ได้

เปรียบให้เห็นง่ายๆ ประเทศชาติก็คือบ้านของทุกคน เป็นที่ให้ความสุขแก่คนในบ้านทุกคน แต่คนในบ้านก็ต้องรักษาบ้านของตน ให้อยู่ในสภาพที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ปล่อยให้พังไม่ปล่อยให้รั่วไปโดยไม่คอยดูแลซ่อมแซมรักษา นอกจากนั้นในบ้านที่มีเด็ก ผู้ใหญ่ก็ยังต้องคอยตักเตือนว่ากล่าวมิให้เด็กเล่นสนุกแบบทำลายบ้านเรือนให้ชำรุดเสียหาย

เช่นไม่ให้เอามีดเอาขวานเที่ยวถากเที่ยวฟันฝาเรือนเสาเรือน ไม่ให้ทะเลาะกันตีกันสนั่นลั่นบ้าน เด็กก็ต้องมีความเคารพ มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ซึ่งดูแลรักษาบ้านเรือน ตลอดจนกระทั่งเลี้ยงดูรักษาพวกเด็กๆ เองมาก่อน ผู้ใหญ่ว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องรู้จักเชื่อรู้จักฟัง รู้จักหยุดเล่นสนุกแบบทำความชำรุดเสียหายให้แก่บ้านเรือนของตนเอง ซึ่งตนเองนั่นแหละจะมีส่วนได้รับความไม่เป็นสุข เพราะความชำรุดทรุดโทรมของบ้านเรือนนั้นด้วย

เป็นเด็กอาจจะยังไม่ค่อนเข้าใจ แต่เชื่อผู้ใหญ่ไว้ก่อนแหละดี อย่างน้อยก็รู้ก็เห็นอยู่ว่าผู้ใหญ่เป็นผู้มีพระคุณเลี้ยงดูมา อบรมสั่งสอนมา มิได้ทอดทิ้ง การทอดทิ้งของผู้ใหญ่ย่อมหมายถึงการหมดกำลังของเด็ก หรืออาจจะหมายถึงการหมดชีวิตเลยก็เป็นได้ ดังนั้นชีวิตของทุกคนจึงล้วนเป็นหนี้พระคุณของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า มีพระมหากษัตริย์ มารดาบิดา พี่ป้าน้าอา ครูอาจารย์ เป็นต้น คนดีจึงนึกถึงพระคุณนี้ จึงมีโอกาสจะได้กระทำสิ่งที่ควรสรรเสริญสืบไป คือไม่ทำสิ่งที่ลบล้างพระคุณท่าน นั่นก็คือไม่ทำสิ่งที่จะทำให้ตนเองถูกตำหนิ หรือประณามว่าทำไปอย่างคนไม่มีกตัญญูต่อท่านผู้มีพระคุณ รวมทั้งต่อประเทศชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ด้วย

๒๒ กันยายน ๒๕๑๗


(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2009, 08:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๔. ประเทศชาติเปรียบร่มโพธิ์ร่มไทร

การกระทำใดๆ ก็ตามที่จะเป็นเหตุให้ชาติประเทศล่มจมเดือดร้อน นับได้ว่าเป็นการแสดงความอกตัญญูอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับทำความเดือนร้อนให้ท่านผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่เป็นต้นว่ามารดาบิดาครูอาจารย์นั่นเอง หรือว่าที่จริงแล้วยังเป็นความอกตัญญูที่ยิ่งกว่าความอกตัญญูต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้นผู้ที่อยู่ในประเทศชาติใด เช่นผู้ที่อยู่ในประเทศชาติไทย จึงควรที่สุดที่จะต้องรอบคอบระมัดระวังการปฏิบัติทุกอย่างของตนมิให้เป็นเหตุแห่งความวุ่นวายเดือนร้อน หรือล่มจมของประเทศชาติของตน ความรอบคอบระมัดระวังจำเป็นต้องมีอย่างมาก ยิ่งเสียกว่าการปฏิบัติต่อผู้มีพระคุณที่เป็นบุคคลมีชีวิตจิตใจเป็นตัวตน

ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นการยากที่จะแลเห็นความเดือดร้อนใดๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นความเดือดร้อนของประเทศชาติ เหตุก็เพราะประเทศชาติมิใช่บุคคลมิใช่สิ่งมีชีวิตจิตใจนั่นเอง เมื่อเอ่ยถึงประเทศชาติก็มักจะนึกกันถึงผืนแผ่นดินที่ประกอบด้วยตึกรามอาคารน้อยใหญ่และต้นหมากรากไม้เท่านั้น

มักจะไม่นึกถึงความหมายที่ลึกซึ้งและมีความสำคัญสูงสุดอันเป็นความหมายที่ถูกต้องแท้จริง คือเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้ความปลอดภัยอบอุ่นด้วยประการทั้งปวง เป็นทั้งแม่ทั้งพ่อทั้งพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายและครูอาจารย์ ประเทศชาติมีความหมายลึกซึ้งกว้างขวาง แต่ก็เป็นไปในทางดีสถานเดียว ไม่เป็นไปในทางร้ายเลย นั่นก็คือประเทศชาตินั้นทรงพระคุณยิ่งใหญ่ที่สุดยากจะหาที่เปรียบ

การบริหารจิตวิธีหนึ่งซึ่งโดยเฉพาะยุคนี้สมัยนี้ควรปฏิบัติอบรมให้เกิดขึ้นมีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง คือการทำใจให้เชื่อมั่นเห็นจริงว่า ประเทศชาติเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของทุกๆ คน การทำให้กิ่งใบของต้นโพธิ์ต้นไทรหักร่วงหรือการยับยั้งความเจริญเติบใหญ่ไว้เสียก็คือการทำให้ตนเองของผู้อาศัยร่มเงาต้องร้อนแดดร้อนฝน ไม่ร่มเย็นเป็นสุขเท่าที่ควรจะได้รับ ภัยธรรมชาติจะมาแพ้วพานก็ยังควรป้องกันรักษา

จึงหาควรไม่ที่ผู้อยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทรจะทะเลาะเบาะแว้งรบราฆ่าฟันกัน จนถึงเป็นเหตุให้โพธิ์ไทรหักราน เกิดช่องเกิดทางให้แสงแดดสายฝนสดส่องแผดเผาเปียกปอนตนเองให้เป็นทุกข์เดือดร้อน อาจจะเพียงเล็กน้อยในระยะต้น แต่เสนสาหัสได้ในระยะปลาย จึงเป็นสิ่งควรรอบคอบระวังเป็นอย่างยิ่ง จะทำอะไรก็ให้เป็นห่วงป้องกันรักษาโพธิ์ไทรไว้ก่อน แล้วผลดีทั้งหลายตนเองนั่นแหละจะได้รับ

ไม่ใช่จะทำอะไรก็เป็นห่วงตัวเองก่อน การเป็นห่วงตัวเองหรือการนึกถึงตัวเองมากเกินไปไม่เกิดผลดีได้ดังที่คิดกัน ตรงกันข้ามการห่วงตัวเองหรือการนึกถึงตัวเองมากเกินไปจะเกิดผลไม่ดีตามมาได้ทั้งน้อยและใหญ่ ตัวอย่างก็เช่นเป็นผู้อยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทรพร้อมกับใครๆ มากหลาย เห็นคนวุ่นวายใช้มีดใช้ขวานตัดรานกิ่งก้านชุลมุนเพราะคาดคิดว่าเป็นการช่วยตกแต่งให้โพธิ์ไทรนั้นเรียบร้อยงดงามเจริญตาเจริญใจยิ่งขึ้น

ผู้ที่ห่วงตัวเองมากเกินไปจะไม่ห้ามปรามแนะนำตักเตือนทั้งๆ ที่อาจรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความวุ่นวายที่จะก่อผลร้ายให้เกิด แต่ความห่วงตัวเองจะทำให้คิดเกรงไปได้ว่าจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคนไม่รู้จักสวยรู้จักงามบ้าง หรือเป็นคนวุ่นกับเรื่องของคนอื่นเกินไปบ้าง หรือเป็นคนปากอยู่ไม่สุขบ้าง อะไรทำนองนี้ ที่ผู้ห่วงตัวเองมากเกินไปจะหลงถือว่าสำคัญกว่าการที่โพธิ์ไทรต้องถูกหักราน ความห่วงตัวเองหรือเห็นแก่ตัวจนเกินไปนี้แหละที่ปกปิดเหตุผลหรือบดบังแสงแห่งปัญญาให้มืดมิด ไม่อาจเห็นความเสียหายที่จะเกิดแก่ตัวเพราะความห่วงตัวเองจนไม่กล้าพูดไม่กล้าทำสิ่งที่ควรพูดควรทำทั้งหลาย

โพธิ์ไทรที่ยกมากล่าวข้างต้นก็คือประเทศชาติ ประเทศชาติที่มั่นคงไม่คลอนแคลนด้วยความชุลมุนวุ่นวายของผู้คนในชาติก็คือร่มโพธิ์ร่มไทรที่แผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่หนาแน่น ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ดังกล่าวแล้วต้องอาศัยคนในชาติที่ไม่เห็นแก่ตัวเองจนเกินไป ไม่ห่วงตัวเองจนเกินไป เป็นธรรมดาทุกคนก็ต้องห่วงตัวเอง ต้องเห็นแก่ตัวเอง แต่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร ให้สามารถแผ่ความห่วงไปถึงผู้อื่นสิ่งอื่นได้ด้วย

เพราะผู้อื่นสิ่งอื่นมิใช่ว่าจะไม่เกี่ยวพันถึงเรา คนร่วมชาติศาสนาพระมหากษัตริย์เดียวกันย่อมต้องเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก บริหารจิตเสียก่อนด้วยการน้อมใจให้ยอมรับความจริงที่สำคัญนี้ แล้วลดความนึกถึงตัวเองให้น้อยลง ห่วงตัวเองให้น้อยลง นึกถึงชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ให้มากกว่า แล้วตัวเองนั่นแหละจะสวัสดีได้

๒๘ กันยายน ๒๕๒๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2009, 08:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๕. พระคุณของพระศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งอัศจรรย์

ได้กล่าวถึงพระคุณของชาติมาบ้างแล้ว จะได้กล่าวถึงพระคุณของพระศาสนาและพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกัน เพราะการรู้จักพระคุณของสถาบันยิ่งใหญ่ทั้งสามอย่างถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสำนึกในพระคุณ เกิดความกตัญญูกตเวที นั่นก็คือสามารถจะพาใจของตนให้พ้นจากการคิดผิดดำริผิดเชื่อผิด อันจะเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิดสืบต่อมา

ซึ่งเป็นของแน่นอนเมื่อการกระทำทั้งหลายผิด คือเป็นการประกอบกระทำกรรมไม่ดีไม่ชอบ ผลที่จะเกิดขึ้นที่จะต้องได้รับก็จะต้องเป็นผลที่ไม่ดีไม่ชอบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงกันข้ามกับการประกอบกระทำกรรมดีกรรมชอบ ผลที่จะเกิดขึ้นที่จะได้รับก็จะเป็นผลดีผลชอบไปด้วย อย่างที่แม้จะพยายามปฏิเสธไม่รับก็หาอาจเป็นไปได้ไม่ บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายพึงรำลึกให้ดี รำลึกให้ถูก

พระศาสนานั้นทรงพระคุณยิ่งใหญ่ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมได้ประจักษ์ผลรับรองได้ด้วยตนเองมากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติ ขาดพระศาสนา ปราศจากพระธรรมคำสั่งสอนในพระศาสนาซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาคุณและทรงประกาศสอนด้วยพระกรุณาคุณยิ่งใหญ่ ผู้ใดหรือจะสามารถรู้ทางดำเนินเพื่อความผ่อนคลายจนถึงสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้

ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ไม่ผิดว่าคนมีความทุกข์ ความวุ่นวายใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมายเหลือประมาณ แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาพระศาสนาและปฏิบัติพระศาสนาจะรู้ได้ด้วยตนเองอย่างซาบซึ้งในพระคุณของพระศาสนาว่าใจจะเป็นสุขสงบได้ตามควรแก่การปฏิบัติไม่ว่าเหตุการณ์ภายนอกจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะต้องปฏิบัติดำเนินภาระหน้าที่ให้เหมาะให้ควรอย่างไรต่อคุณของพระศาสนานั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ อาจป้องกันภัยทางใจได้อย่างที่เจ้าตัวเองย่อมเห็นประจักษ์แจ่มชัด และก็อาจป้องกันภัยทางกายได้ด้วย เพียงแต่ว่าบางทีก็อาจพิสูจน์ให้เห็นถนัดชัดแจ้งไม่ได้ ซึ่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารทางจิตจะกล่าวเฉพาะพระคุณของพระศาสนาในทางใจเป็นส่วนใหญ่

แทบทุกคนคงจะเคยได้ยินคำพังเพยที่ว่า “คับที่อยู่ง่าย คับใจอยู่ยาก” กันมาแล้ว ความหมายที่ตรงและแคบของคำพังเพยนี้ก็คือ อยู่ที่ไหนก็ตามถ้าไม่สบายใจแล้วแม้ที่อยู่จะกว้างขวางน่าเป็นสุขเพียงใดก็อยู่ยาก ก็ไม่อยากอยู่ แต่แม้ที่อยู่จะคับแคบไม่น่าเป็นสุข แต่อยู่แล้วสบายใจ ก็อยู่ได้ก็อยากอยู่ นั่นเป็นความหมายที่ตรงและเพียงแคบๆ

ความหมายที่กว้างออกไปอีกควรจะเป็นว่า ความสบายใจนั้นสำคัญกว่าความสบายกาย ถ้าใจสบายแล้วความไม่สบายกายก็เกือบไม่เป็นปัญหา เจ็บไข้ได้ป่วยหนักหนาเพียงใดถ้าทำใจให้สบาย ไม่ยึดไม่ถือให้จริงจัง ก็อยู่ได้เป็นสุข หรือถึงตายไปก็ตายไปเป็นสุข

ความจริงเป็นได้ถึงเช่นนี้ แต่ถ้าไม่สบายใจแล้วความสบายกายก็เกือบปราศจากความหมาย มีเงินทองของข้าวชื่อเสียงเกียรติยศสมบูรณ์พูนพร้อมเพียงใดถ้าทำใจให้สบายไม่ได้ยึดอยู่ถืออยู่ในเรื่องร้อนทั้งหลาย ก็อยู่ได้ไม่เป็นสุข ถึงตายไปก็ไปเป็นทุกข์ ความจริงก็เป็นได้ถึงเช่นนี้อีกเช่นกัน ดังนั้น ความสบายใจจึงมีค่ากว่าความสบายกาย

จึงควรเป็นที่พึงปรารถนายิ่งกว่าความสบายกาย พระพุทธศาสนาเป็นพระศาสนาที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องให้ความสบายใจ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมลงเพื่อความสบายใจทั้งสิ้น มิใช่เพื่ออะไรอื่น จับศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ จะได้รับผลเป็นความสบายใจตั้งแต่ขณะแรกที่เริ่มลงมือทีเดียว ตนเองจะสามารถรู้สึกได้ด้วยตนเองว่าพระพุทธศาสนาทรงพระคุณยิ่งนักมีค่าควรแก่การป้องกันรักษาไว้ให้คงคู่โลกยิ่งนัก

ท่านผู้จะสามารถอำนวยความสำเร็จในเรื่องนี้ได้ก็คือ พระมหากษัตริย์ ปราศจากพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ปกป้องค้ำจุนแล้ว ย่อมยากที่จะเทิดทูนศาสนาใดๆ จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นสวัสดี ดังนั้นผู้เป็นศาสนิกชนทั้งหลายที่มีความเห็นถูกจึงเทิดทูนทั้งพระศาสนาและพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกัน ไม่อาจแยกจากกันได้เห็นพระคุณของพระศาสนาเพียงใดก็เห็นพระคุณของพระมหากษัตริย์เพียงนั้นเป็นอย่างน้อย เช่นเดียวกัน

เห็นคุณของความสบายใจเพียงใดก็ควรเห็นคุณของพระศาสนาและพระมหากษัตริย์เพียงนั้น ก็ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาก่อนแล้วในรายการบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ คือแม้ไม่มีพระธรรมชี้ทางปฏิบัติเพื่อความสุขของจิตใจไว้ก็จะมีผู้ใดเล่าสามารถผ่อนคลายความทุกข์ให้ลดน้อยลงจนถึงหมดอย่างสิ้นเชิงก็ได้

ไม่มีชาติก็มีศาสนามีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ มีผู้คนที่มีความสงบสบายใจไม่ได้ไม่มีศาสนาและพระมหากษัตริย์ชาติก็จะเป็นชาติที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้คนไม่ได้ สถาบันสำคัญทั้งสามเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ทั้งยังเกี่ยวข้องถึงคนทุกคนในชาติด้วยดังนี้

การคิดการพูดการทำใดๆ โดยไม่คำนึงให้รอบคอบถึงสถาบันสูงส่งทั้งสามจึงเป็นการทำลายความสงบสุขทางใจของตนเอง ซึ่งเป็นการทำลายความสุขสวัสดีทางกายของตนเองด้วยอย่างแน่นอน พระพุทธองค์ทรงกล่าวสอนสัจธรรมไว้ว่า ผู้ทำกรรมเท่านั้นจะเป็นผู้ได้รับผล กรรมของคนหนึ่งผลจะเกิดแก่อีกคนหนึ่งไม่มี

แต่เรื่องกรรมและการให้ผลเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ผู้ไม่รู้ว่าพระพุทธองค์ทรงสอนไว้เช่นนี้ หรือผู้ที่รู้แต่ไม่เชื่อ จึงหลงคิดหลงพูดหลงทำกรรมที่ตนเองนั่นแหละจะได้รับผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ตั้งแต่เพียงเล็กน้อยจนถึงมากมายอย่างที่สุด ผลของกรรมที่เห็นด้วยตาอาจจะเร็วไปบ้างช้าไปบ้าง แต่ผลของกรรมที่ปรากฏแก่ใจผู้ทำเองนั้นจะเกิดขึ้นทันทีพร้อมกับการประกอบกระทำกรรมนั้นๆ ทีเดียว อย่าว่าแต่จะเป็นถึงขั้นกายกรรม หรือวจีกรรมเลยที่ผลจะปรากฏแก่ใจผู้ประกอบกระทำทันที มโนกรรมก็จะให้ผลปรากฏแก่ใจทันที ที่เป็นกรรมดีก็ให้ความสุขแก่ใจทันที ที่เป็นกรรมไม่ดีก็ให้ความทุกข์แก่ใจทันที

ผู้บริหารจิตควรสังเกตใจของตนเองให้ดี ให้เห็น จะได้เชื่อมั่นในเรื่องกรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือกรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น และเมื่อความเชื่อมั่นในกรรมเกิดขึ้นแม้เพียงพอสมควรแล้ว ความคิดไม่ดีพูดไม่ดีทำไม่ดีก็จะลดน้อยลงเป็นลำดับ ความคิดดีพูดดีทำดีจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นเดียวกัน

ความมีกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้มีพระคุณเป็นความดี เป็นคุณธรรมอันเลิศตรงกันข้ามกับความอตัญญู เมื่อสามสถาบันสูงส่งคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีพระคุณยิ่งใหญ่ดังได้กล่าวทุกคนไม่มียกเว้นจึงต้องมีกตัญญูกตเวทีต่อ ไม่เช่นนั้นก็จะพบความสุขสวัสดีไม่ได้ เพราะไม่ได้ประกอบกระทำกรรมที่ดีคือความมีกตัญญูกตเวทีจึงจะได้รับผลที่ดีได้ไม่

เรื่องของกรรมและผลของกรรมนี้เป็นของจริงแท้ เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็เชื่อไว้ก่อนเป็นถูกต้องที่สุด จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนภายหลังซึ่งแก้ไขไม่ได้แล้ว

กรรมนั้นถ้าทำลงไปแล้วจะแก้ไขให้เป็นอื่นไม่ได้เลย ลบล้างก็ไม่ได้ ได้แต่จะต้องยอมรับผลอย่างสุดวิสัยจะเลี่ยงพ้นเท่านั้น

คนฉลาดหวังความสุขความเจริญแก่ตนเองต้องเชื่อกรรมเป็นประการแรก แล้วจะได้พบความสุขความเจริญสมดังหวัง

๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2009, 11:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๖. ความอกตัญญูเป็นบาปกรรมที่หนัก

เมื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันสูงส่งของเรานี้ทรงพระคุณอย่างยิ่ง มีความประเสริฐอย่างยิ่ง แม้พยายามเชื่อให้มั่นได้เพียงใดก็จะเป็นคุณแก่ตนเองเพียงนั้น เป็นเครื่องกางกั้นภัยอันตรายได้เพียงนั้น ความพยายามแม้มากมายเพียงใดของผู้มีปัญญาในทางชั่วร้ายเพียงไหนก็จะไม่สามารถทำลายได้เลยจึงควรอย่างยิ่งที่จะเชื่อให้มั่นในความประเสริฐสุดแล้วของชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ของเรา อย่าคิดอย่าพูดอย่าทำกรรมแม้เพียงเล็กน้อยที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบความเดือดร้อนแก่สถาบันนั้นทั้งนี้ก็เพื่อความสงบความไม่เดือดร้อนของตนเองด้วย

ความอกตัญญูต่อท่านผู้มีพระคุณเป็นบาปกรรมที่หนัก จึงจะให้บาปผลที่หนัก ทุกคนปรารถนาความสุขสวัสดีในชีวิต แต่ไม่ทุกคนที่เข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ว่าต้องทำอย่างใดจึงจะบรรลุผลที่ปรารถนาได้จริง การเชื่อกรรมอย่างถูกต้องนั่นแหละช่วยได้ทั้งยังเป็นการช่วยที่ไม่มีโอกาสจะผิดพลาดได้เลย การช่วยของผู้อื่นซึ่งแม้จะเป็นผู้มีปรารถนาดีก็อาจมีโอกาสช่วยอย่างผิดพลาดได้ ยิ่งเป็นผู้ปรารถนาร้ายที่แสดงว่าเข้ามาช่วยด้วยแล้วก็ไม่ต้องสงสัยจะต้องพาไปสู่ความหายนะในที่สุดอย่างแน่นอน สติและปัญญาจึงจำปรารถนาเพื่อนำมาพิจารณาใคร่ครวญ โดยยึดกตัญญูกตเวทีให้มั่น

ผู้ใหญ่หรือมารดาบิดาที่มี สัมมาทิฏฐิ บางคนอบรมอบรมสั่งสอนบุตรหลานว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของประเทศชาติ รักพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องรักประเทศชาติด้วย รักประเทศชาติก็ต้องรักพระเจ้าแผ่นดินด้วย รักประเทศชาติ รักพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือรักตัวเองนั่นแหละ ไม่รักประเทศชาติ ไม่รักพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือไม่รักตัวเองนั่นแหละ

คำอบรมสั่งสอนของท่านผู้เป็นสัมมาทิฏฐินี้น่านำมาคิดเป็นอย่างยิ่ง น่าปลูกฝังให้แนบแน่นลงในจิตใจเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นการบริหารจิตโดยตรงวิธีหนึ่งที่ให้ผลดีแท้เพราะเป็นการปลูกฝังทั้งความกตัญญูกตเวทีลงในจิตใจ และเป็นการส่งเสริมให้ประกอบกระทำกรรมดีทั้งปวงอย่างเข้มแข็งไม่หวั่นไหวไปตามเครื่องยั่วยุหรือเหยื่อล่อให้หลงทั้งหลาย

น่าจะเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่าผู้ที่ใช้เครื่องยั่วเครื่องล่อ จะต้องมีความมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตัวเขาที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เขาสละมายั่วมาล่อ นั่นก็คือผู้ถูกยั่วถูกล่อจะได้รับน้อยกว่าที่จะต้องเสียไปดังปลาที่กินเหยื่อ สิ่งที่ปลาได้รับคือความยินดีว่าจะได้อิ่มปากอิ่มท้อง แต่สิ่งที่ปลาต้องเสียไปคือเลือดเนื้อและชีวิต ก่อนจะทันอิ่มปากอิ่มท้องเสียด้วยซ้ำ นี้น่าคิด และควรจะคิดให้มากก่อนจะยินดีว่าจะได้อิ่มปากอิ่มท้องเช่นปลาเห็นเหยื่อทั้งหลาย

เมื่อยกตัวอย่างเหยื่อกับปลาเช่นนี้แล้ว ก็ขอกล่าวแนะนำวิธีบริหารจิตโดยตรงอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ผลเป็นการยับยั้งจิตมิให้ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสเครื่องล่อทั้งหลายนั่นก็คือ ทุกครั้งไปที่เกิดกิเลส จะเป็นกิเลสในใจตนเองหรือที่ผู้หนึ่งผู้ใดนำมาล่อก็ตามต้องนึกถึงปลาที่หลงเหยื่อ เชื่อว่าจะให้ความอิ่มปากอิ่มท้อง แล้วก็รีบอ้าปากคาบ

นึกให้รู้ชัดในความจริงว่าตนกำลังเป็นปลาที่มีเหยื่อล่ออยู่แล้วตรงหน้า แม้ไม่ทำใจให้เข้มแข็งปฏิเสธไม่ยอมรับ ก็จะต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อเช่นเดียวกับปลากินเหยื่อทุกตัวนั่นเอง เตือนตัวเองให้หนัก ให้แรง ให้ตัวเองเชื่อ จะเป็นการบริหารจิต พาให้พ้นภัยได้โดยสวัสดี

เปรียบอีกอย่าง ประเทศชาติคือบ้านเรือน ศาสนาคือเครื่องให้ความร่มความเย็นในบ้านเรือนและพระมหากษัตริย์คือมารดาบิดาผู้เป็นเจ้าของบ้านเรือน ทุกคนคือบุตรหลานผู้อาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่ร่มเย็นเป็นสุข เพราะมีมารดาบิดาปกครองและมีพระศาสนาเป็นเครื่องให้ความร่มความเย็นดังกล่าว

พยายามให้เวลาตนเองสำหรับคิด พิจารณาดูใจตนเองว่ามีหรือไม่ที่อยากจะเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือนของตนเอง ต้องไปขออาศัยผู้อื่นอยู่ หรือมีหรือไม่ที่มีบ้านเรือนของตนเองมีมารดาบิดาอยู่ร่วมบ้านเรือนอย่างอบอุ่น แต่อยากอยู่อย่างว้าเหว่ไม่มีมารดาบิดา ไม่มีเครื่องให้ความร่มความเย็น มิหนำซ้ำยังอาจจะมีคนพาลเกเรเข้ามาปะปนวุ่นวายกองฟืนกองไฟก่อเผาให้เร่าร้อนอีกด้วย ตัวเองก็เป็นเด็ก ไร้ความสามารถที่จะปกปักรักษาตัวเองและบ้านเรือน มารดาบิดาก็ไม่มีจะปกป้องคุ้มครองพิจารณาดูใจตนเองว่าต้องการสภาพชีวิตเช่นนั้นหรือไม่ เชื่อว่าทุกคนมีคำตอบตรงกันว่าไม่ต้องการ

ทุกคนต้องการจะมีบ้านเรือน มีมารดาบิดาปกปักรักษาให้ความอบอุ่น และมีเครื่องให้ความร่มเย็น แต่บางทีก็ไม่ทุกคนไปที่เข้าใจความต้องการของตนทันเวลา จึงประกอบกระทำกรรมต่างๆ ที่ล้วนจะก่อให้เกิดผลตรงกันข้ามกับที่ต้องการ ดังนั้นจึงควรมีสติรอบคอบ อย่าลืมว่าตนปรารถนาสภาพชีวิตเช่นไร จะได้สามารถดำเนินไปได้บรรลุจุดหมายสมดังปรารถนา

วันที่ ๒๑ ตุลาคม เป็นวันพระบรมราชสมภพสมเด็จพระบรมราชชนนีบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้พระราชทานกำเนิดรายการบริหารทางจิตทางวิทยุ อ.ส. นี้ ขอพระราชทานอ้างอานุภาพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถวายพระพรชัยมงคล ขอให้ทรงพระเจริญสุขสวัสดีดำรงพระชนมายุยืนนานเป็นมิ่งเป็นศรีสืบไป ขอถวายพระพร

๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2009, 11:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๗. ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องคุ้มครองรักษา

การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่ได้กล่าวถึงความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ติดต่อกันมาหลายอาทิตย์ เพื่อเป็นการช่วยเตือนสติที่บางทีจะมีผู้หลงลืมไปมากบ้างน้อยบ้างตามวิสัยผู้เป็นปุถุชน ขณะเดียวกันก็ได้แนะให้ใช้ธรรมสำคัญข้อหนึ่งประกอบ คือ กตัญญูกตเวที

ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นเครื่องให้เกิดสุข แม้ความกตัญญูกตเวทีก็เช่นกัน เป็นเครื่องให้เกิดสุข และมิใช่เกิดสุขแก่ผู้อื่น ให้เกิดสุขแก่ตัวเองนั่นแหละ แต่บางทีก็ไม่เข้าใจกัน และความไม่เข้าใจนี้เองทำให้ไม่เห็นความสำคัญของความกตัญญูกตเวที

ที่จริงความกตัญญูกตเวทีมีคุณมาก อาจเป็นเครื่องป้องกันความเสื่อมทราม ความชั่วร้าย ความไม่สวัสดีนานาประการได้จริง และนอกจากจะเป็นเครื่องป้องกันแล้ว ยังเป็นเครื่องส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรื่อง ความดีงาม ความสวัสดีทุกประการได้ด้วย ลองพิจารณาให้เห็นความจริง ซึ่งไม่น่าจะยากจนเกินวิสัยของคนทั่วไป

ผู้มีกตัญญูกตเวทีนั้น จะคิดจะพูดจะทำอะไรมีความกตัญญูกตเวทีคุ้มครองรักษา เพราะผู้มีความกตัญญูกตเวทีย่อมมุ่งดีต่อผู้มีพระคุณเต็มเปี่ยม จะไม่คิดไม่พูดไม่ทำอะไรก็ตามที่ไม่ดี เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือนเป็นโทษถึงผู้มีพระคุณ

เคยมีปัญหาแย้งว่า ถ้าผู้มีพระคุณเป็นคนร้าย ผู้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณจะมิต้องทำอะไรๆ ที่ถูกใจของผู้ร้ายด้วยหรือ เช่นมิต้องไปลักขโมยหรือตีรันฟันแทงเขา เพื่อช่วยเหลือผู้ร้ายผู้มีพระคุณด้วยหรือ ปัญหานี้ตอบได้ว่า ความกตัญญูกตเวทีไม่มีความหมายเช่นนั้น

การรู้พระคุณท่านและการตอบสนองพระคุณท่าน ไม่ใช่การทำให้ถูกใจท่านแม้ในทางที่ไม่ดีไม่งาม ความมีกตัญญูกตเวทีหมายถึง การคิดการพูดการทำเพื่อช่วยยกย่องเชิดชูท่านผู้มีพระคุณ มิใช่ซ้ำเติมให้ที่ไม่ดีอยู่แล้วเพิ่มความไม่ดียิ่งขึ้น

เช่นนั้นเป็น “การเอาใจ” ไม่ใช่ “กตัญญูกตเวที”

“การเอาใจ” นั้นเป็นไปได้ทั้งทาง “ที่ควรและไม่ควร”
แต่การแสดง “กตัญญูกตเวที” นั้น เป็นไปได้ใน “ทางดีทางเดียว”

ผู้มีพระคุณทำไมดีไม่ชอบ จะแสดงกตัญญูกตเวที
ต้องช่วยวิธีใดก็ตามเพื่อให้เลิกทำเช่นนั้น

ไม่จำเป็นจะต้องให้ถูกใจอย่างเดียว
จะขัดใจบ้างหรือแม้จะขัดใจอย่างยิ่งก็ควรทำ

หากด้วยการทำเช่นนั้นจะสามารถช่วยให้ผู้มีพระคุณหยุดทำไม่ดี
หันมาทำดีได้ ไม่มีการตอบแทนพระคุณใดจะงดงามเท่า
การช่วยให้ท่านมีโอกาส “ได้ทำดีทำชอบ”


ดังนั้นแม้ผู้มีพระคุณจะเป็นผู้ร้าย การแสดงกตัญญูกตเวทีตอบสนอง ก็เป็นสิ่งพึงทำอย่างยิ่ง จะไม่เป็นการทำให้ต้องพลอยเป็นคนไม่ดีไปด้วยได้เลย ผู้แสดงกตัญญูกตเวทีตอบสนองพระคุณของผู้แม้เป็นผู้ร้ายย่อมทำให้ผู้แสดงกตัญญูกตเวที ผิดไปว่าเช่นเดียวกับการเอาใจดังกล่าวแล้วข้างต้น

การเอาใจ ที่ไม่ประกอบด้วยความกตัญญูกตเวที แม้บางทีจะเหมือนไม่เป็นโทษแต่บางทีก็เป็นโทษได้อย่างยิ่ง ทั้งผู้เอาใจและผู้ถูกเอาใจ ตัวอย่างที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปก็มีอยู่เป็นอันมาก บางทีถือการเอาใจไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าผิดว่าชอบ ไม่ว่าควรหรือไม่ควรว่า เป็นการแสดง ความกตัญญูกตเวที

เช่นนี้ก็เป็นโทษเห็นๆ อยู่ ควรจะได้รอบคอบสังวรระวังให้เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีจริงๆ อย่าเพียงให้เป็นแต่การเอาใจหรือจะกล่าวว่าประจบไปเสียทุกเรื่องทุกครั้ง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียผลดีอย่างใด การเอาใจถึงเช่นนั้นนอกจากจะไม่เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีแล้ว ยังเป็นความอกตัญญูไปได้ แม้โดยไม่ตั้งใจก็ตาม

ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งละเอียดประณีต ควรทำความเข้าใจให้ดี จะได้ปฏิบัติให้เกิดผลดี ไม่หลงปฏิบัติผิดจนเกิดโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 08:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๘. ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องพาให้งาม

ความมีกตัญญูกตเวที คือรู้คุณท่านและตอบสนองคุณท่าน เป็นคุณธรรมเครื่องทำให้งามจริง แม้ปรารถนาจะเป็นคนงาม ก็ต้องอบรมคุณธรรมประการสำคัญนี้ให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรักษาไว้ และต้องเพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้นเสมอไป

ความจริงนั้น แม้จะเป็นผู้พร้อมด้วยสมบัติอื่นใดมากมายแล้วเพียงไหนก็ตามถ้าขาดสมบัติคือความกตัญญูกตเวทีเสียอย่างเดียว ก็หาอาจเป็นคนงามได้ไม่ ในทางตรงกันข้าม แม้จะเป็นผู้ไม่พร้อมด้วยคุณสมบัติอื่นใดก็ตาม ถ้ามีสมบัติคือความกตัญญูกตเวทีแล้ว ก็อาจเป็นคนงามได้อย่างยิ่ง

เพราะความกตัญญูกตเวทีนั้นเปรียบดังต้นเหตุที่จะก่อให้เกิดการประกอบกระทำกรรมต่างๆ ที่เป็นกรรมดีกรรมงามติดตามมาได้ทุกประการ เช่นเดียวกับ ความอกตัญญูที่จะก่อให้เกิดการประกอบกระทำกรรมต่างๆ ที่เป็นกรรมไม่ดีไม่งามได้ทุกประการ เช่นเดียวกับความอกตัญญูที่จะก่อให้เกิดการประกอบกระทำกรรมต่างๆ ที่เป็นกรรมไม่ดีไม่งามได้ทุกประการ

สำหรับคนไทยทุกคนสิ่งสำคัญสูงสุด คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันสำคัญสูงสุดทั้งสามนี้ จึงเป็นยอดของความกตัญญูกตเวทีที่จะให้ผลดีงามอย่างเยี่ยมยอดเช่นเดียวกัน

คนไทยมีความกตัญญูกตเวทีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เพียงใด คนไทยก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างงดงามเป็นความร่มเย็นเป็นสุขความเจริญรุ่งเรืองเพียงนั้นในทางตรงกันข้าม คนไทยขาดความกตัญญูกตเวทีต่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์เพียงใดคนไทยก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมควรกัน เป็นความเดือดร้อนความเสื่อมทรามเพียงนั้น

อันผลนั้นย่อมเกิดแก่เหตุเสมอ ไม่มีเหตุจะไม่มีผล เหตุเป็นเช่นใดผลก็จะเป็นเช่นนั้น เหตุดีผลก็ดี เหตุไม่ดีผลก็ไม่ดี

ผู้เชื่อในเหตุในผลกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือผู้เชื่อกรรมนั่นเอง คือเชื่อว่ากรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว ผู้ทำกรรมใดไว้จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น

ผู้เชื่อกรรมแน่วแน่มั่นคงเพียงใด นับว่าเป็นผู้ได้เปรียบเพียงนั้น เพราะจะสามารถพาตนให้พ้นความทุกข์ความเดือดร้อนได้จริง เพราะเมื่อเชื่อในกรรมและการให้ผลของกรรมอย่างถูกต้องแล้วก็จักไม่ทำกรรมไม่ดี จักทำแต่กรรมดี ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรืออย่างน้อยเพียงทางกาย ทางวาจา ก็ยังนับว่าดี

วิธีจะดูให้รู้ว่าได้มีการประกอบกระทำกรรมดีหรือไม่ดีขึ้นแล้ว ก็ให้ดูที่ผลซึ่งกำลังปรากฏอยู่ ถ้าผลเป็นความสุขความสงบของส่วนรวมก็แสดงว่าส่วนรวมพร้อมเพรียงกันประกอบกระทำกรรมดีอยู่ ถ้าผลเป็นความเดือดร้อนความวุ่นวายของส่วนรวมก็แสดงว่าส่วนรวมพร้อมเพียงกันประกอบกระทำกรรมไม่ดี

จะแก้ไขก็ต้องแก้ที่เหตุ คือต้องแก้ที่การประกอบกระทำกรรมทั้งหลาย ให้เป็นการประกอบกระทำกรรมดี และจะทำได้ไม่ยากถ้ายกความกตัญญูกตเวทีขึ้นเป็นใหญ่ในหัวใจ กตัญญูกตเวทีต่อชาติ ต่อศาสนา ต่อพระมหากษัตริย์ ดังกล่าวแล้วข้างต้น แล้วผลที่เกิดขึ้นจะเป็นของตนเองแต่ละคนรวมเป็นของส่วนรวม เป็นของประเทศชาติ

อันการจะกระทำเหตุ เพียงเพื่อให้ผลเกิดแก่ตนนั้น ทำได้ง่ายกว่าการจะกระทำเหตุเพื่อให้ผลเกิดแก่ส่วนรวม แม้ว่าส่วนรวมนั้นจะมีตนเองรวมอยู่ด้วยก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะความเห็นแก่ตัวของคนเรามีอยู่เป็นอันมาก ถ้าทำอะไรเพื่อตัวแล้วแม้จะต้องลำบากกายลำบากใจบ้างก็พร้อมจะทำ แต่ถ้าเพื่อส่วนรวมแล้วทำได้ไม่ง่าย เหตุก็เพราะอาจจะลืมไปว่าส่วนรวมที่มีตัวเองอยู่ด้วยก็เหมือนส่วนตัวนั่นเอง การจะกระทำเหตุเพื่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมทำได้ยากเพราะเหตุผลดังกล่าวประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งก็เพราะการกระทำเหตุเพื่อส่วนรวมเช่น เพื่อชาติ เพื่อศาสนา เพื่อพระมหากษัตริย์ จะต้องเป็นการกระทำที่พร้อมเพรียงกันอย่างสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง หน้าที่ของผู้ใดมีอย่างใด ผู้นั้นต้องทำให้ได้ดี ทุกคนไป ทุกฝ่ายไป ทำเพียงบางคนบางฝ่าย แต่บางคนบางฝ่ายไม่ทำ เช่นนั้นย่อมไม่สำเร็จผลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้สมบูรณ์เท่าที่ควร

ตัวอย่างที่เห็นอยู่ก็การทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์นี้แหละ ถ้าคนในชาติทุกฝ่ายไม่ทำหน้าที่ของตนให้ดี ให้สมบูรณ์ ความมั่นคงสมบูรณ์ของประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ไม่มี

ทุกคนทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดให้สมบูรณ์ที่สุด จึงจะถูกจึงจะควรจึงจะก่อให้เกิดผลเป็นความมั่นคงสมบูรณ์บริบูรณ์อย่างดีได้ เด็กก็มีหน้าที่ของเด็กที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ผู้บังคับบัญชาก็มีหน้าที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ผู้อยู่ในปกครองก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ผู้ปกครองก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ดีที่สุด

การจะทำหน้าที่ของตนให้ได้ดีที่สุดนั้นก็ต้องรู้จักหน้าที่ของตนเสียก่อน รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเสียก่อน ต่อจากนั้นก็ต้องไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น ต้องไม่ปัดความรับผิดชอบของตนไปให้ผู้อื่นด้วยอคติใดก็ตาม

ฉันทาคติ อคติเพราะความรัก โทสาคติ อคติเพราะความโกรธ โมหาคติ อคติเพราะความหลง ภยาคติ อคติเพราะความกลัว อคติทุกประการนี้จะเป็นเหตุให้เกิดการปัดความรับผิดชอบของตนไปให้ผู้อื่นได้โดยง่าย

แม้มีความกตัญญูกตเวทีประจำใจพอสมควรแล้วจะสามารถดับอคติทั้งหมดได้เมื่อถึงเวลาจะต้องแสดงกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้ทรงพระคุณ โดยเฉพาะต่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ สามสถาบันอันทรงพระคุณสูงสุดหาที่เปรียบมิได้นี้

๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 09:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๔๙. พึงทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเสมอ

ทุกคนมีหน้าที่ของตน กล่าวได้ว่าไม่มีผู้ใดเลยที่ไม่มีหน้าที่ ผู้ใหญ่หรือเด็กก็มีหน้าที่ คนชั้นไหนก็มีหน้าที่ และหน้าที่นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำให้ดีที่สุด จึงจะให้ผลดีที่สุดแต่ไม่ทุกคนไปที่เข้าใจ คือไม่เข้าใจว่าหน้าที่ของตนมีอย่างไรนั้นประการหนึ่ง ไม่เข้าใจว่าหน้าที่ของตนแล้วตนต้องทำให้ดีที่สุดอีกประการหนึ่ง ความไม่เข้าใจดังกล่าวเป็นสิ่งที่อาจแก้ไขให้เป็นเข้าใจขึ้นมาได้ ทั้งนี้ก็ด้วยการศึกษาให้เกิดความรู้ว่าตนมีหน้าที่อย่างไร

การศึกษานั้นก็มีหลายทาง ไม่ใช่แต่จากหนังสืออย่างเดียว จากบุคคลจากเหตุการณ์ก็เป็นการศึกษาให้เกิดความรู้ได้เช่นเดียวกัน ว่าตนมีหน้าที่อย่างไร เช่นอยู่ในวัยเด็กขนาดไหนก็ศึกษาจากเด็กในวัยเดียวกับตนได้ ว่าเขาทำอะไรกันที่มีผู้รับรองว่าเป็นการทำหน้าที่ที่เหมาะสมถูกต้องเป็นต้นว่าใครๆ ก็รับรองกันทั่วไปว่าเด็กที่ทำหน้าที่ที่เหมาะสมก็คือศึกษาเล่าเรียน เช่นนี้ถ้าตนอยู่ในวัยเดียวกันก็ให้รู้ว่าหน้าที่ของตนก็คือต้องศึกษาเล่าเรียน

เมื่อรู้หน้าที่ของตนแล้วก็ต้องศึกษาให้เข้าใจต่อไปว่าการทำหน้าที่อย่างดีที่สุดกับเพียงว่าทำนั้นอย่างไหนถูกอย่างไหนไม่ถูก จะรู้ว่าถูกหรือไม่ถูกก็รู้ได้จากผลที่เกิดขึ้นซึ่งก็อาจศึกษาจากผู้อื่นที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนเช่นเดียวกับตนนั่นเอง ดูให้เห็นว่าผู้ที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังกับผู้ที่เพียงแต่เรียนไปเท่านั้น ระหว่างสองฝ่ายนี้ฝ่ายไหนที่ได้รับผลสำเร็จดีกว่ากัน ก็ย่อมจะต้องเห็นว่าฝ่ายที่เอาจริงเอาจัง หรือกล่าวให้ถูกก็คือฝ่ายที่ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดนั้นแหละ เป็นฝ่ายที่จะได้รับผลสำเร็จดีกว่า

การทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งควรทำ นี่ก็หมายถึงผู้อยู่ในวัยทำกิจการงานทั้งหลายด้วย ที่ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด จึงจะสมควร จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้แก่ตนเองก่อนอื่นและแก่ประเทศชาติเป็นลำดับไป

การศึกษาให้รู้หน้าที่ของตนและการอบรมตนให้ตั้งใจทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเป็นการบริหารจิตอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการยกจิตให้สูงขึ้นได้

การกระทำใดๆ ที่ถูกต้องเป็นการยกจิตหรือบริหารจิตไปด้วยในตัวทั้งนั้น ตรงกันข้ามกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการทำจิตใจให้ตกต่ำไปด้วยในตัวเช่นกัน

ผู้เห็นค่าของจิตว่าเป็นสิ่งสูงค่ากว่าสิ่งใดอื่นทั้งสิ้นจึงควรเริ่มบริหารจิตด้วยการศึกษาให้รู้หน้าที่ของตนและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด จำเป็นต้องกล่าวไว้ด้วยว่าการที่บุคคลจะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดได้นั้น บางทีก็จำเป็นต้องเสียสละเป็นอันมาก ทั้งนี้แล้วแต่หน้าที่ใดจะต้องการเสียสละอย่างใด

จะยกตัวอย่างพอสมควร เช่นหน้าที่เป็นนักเรียนก็ต้องเสียสละเวลาที่จะได้เที่ยวได้เล่นได้สนุกเพลิดเพลิน เพื่อจะได้มีเวลาศึกษาเล่าเรียนให้มากยิ่งขึ้น ต้องเสียสละเพื่อนฝูงที่จะพาไปผิด คือพาไปให้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง หน้าที่เป็นผู้ปกครองก็ต้องเสียสละความสุขสบายบ้าง ความเป็นญาติพี่น้องมิตรสหายบ้าง ความได้ผลประโยชน์ข้างส่วนตนบ้าง ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ถ้าสิ่งที่จำเป็นต้องสละเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จะกีดขวางมิให้ตนสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ปกครองได้อย่างดีที่สุด แม้ผู้มีหน้าที่ปกครองไม่รู้จักหน้าที่ของตน และไม่เสียสละอย่างเต็มที่ก็จะทำหน้าที่ได้ดีเต็มที่ไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นก็จะดีเท่าที่ควรไม่ได้

ผู้เป็นเด็กทำหน้าที่ไม่ถูกต้องเต็มที่นั้นแม้จะไม่เกิดผลดีเท่าที่ควรก็ยังดีกว่าผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่สำคัญที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องไม่ดีเต็มที่ เพราะผลที่เกิดจากการกระทำเช่นนั้นเป็นผลกว้างขวางครอบคลุมถึงประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองหรือนักปกครองจึงจำเป็นต้องศึกษาให้รู้จักหน้าที่ของตนให้กระจ่างชัดและต้องบริหารจิตให้อย่างยิ่งเพื่อให้สามารถเสียสละได้อย่างถึงที่สุด เพื่อผลสำเร็จในการปกครองให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ซึ่งแน่นอนที่สุดผลสำเร็จนั้นย่อมเป็นผลดีแก่ตนเองด้วย เพราะเรื่องของกรรมนั้นมิใช่เรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องของผู้กระทำกรรมเองที่จะต้องได้รับผลแน่นอน

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ถ้าศึกษาเรื่องกรรมกันให้เข้าใจจริง ให้เชื่อมั่นในเรื่องกรรมให้จริงๆ จะไม่มีการกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ที่ไม่ดีงาม เพราะจะต้องรู้ว่าถ้าผู้ใดทำไม่ดีก็ผู้นั้นแหละจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้นที่เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ความเสื่อมจากภาวะที่พึงปรารถนาทั้งปวง

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๕๐. กรรมเป็นเครื่องจำแนก

ปัญหาหนึ่งซึ่งน่าจะทุกคน ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ชายหญิง ต้องเคยปรารถนากันอยู่เสมอ ก็คือทำไมเราไม่เหมือนคนนั้นไม่เหมือนคนนี้ โดยเฉพาะในเรื่องฐานะชาติกำเนิด ผู้ที่ต่ำกว่ามักจะเป็นผู้ที่ปรารถนาดังกล่าวอยู่เสมอ และไม่ว่าจะมีฐานะชาติกำเนิดดีแล้วสูงแล้วเพียงใด ก็ยังอดจะปรารถนาเพราะนำตนไปเปรียบกับผู้ที่สูงกว่าอยู่ไม่ได้นั่นเอง

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ดีอย่างยิ่ง แม้เมื่อตั้งปัญหาขึ้นแล้วพยายามหาคำตอบให้ได้ถูกต้อง ตามความจริงก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เป็นเจ้าของอย่างยิ่ง แต่ก็มีน้อยเหลือเกินที่จะแก้ปัญหานี้จนกระจ่างแก่ใจให้เป็นความเข้าใจถูกต้องถ่องแท้ มีแต่ปรารภขึ้นแล้วก็หาคำตอบไปตามชอบใจตนเองโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ปัญหาสำคัญที่จะให้คุณได้เป็นอย่างยิ่ง จึงจะยังคงเป็นปัญหาที่ต้องถามกันอยู่ไม่จบสิ้น โดยไม่มีคำตอบอันจะเป็นคุณยิ่งใหญ่แก่ผู้ถามนั้นๆ เลย

ไม่ต้องไปยกตัวอย่างคนอื่นให้ไกลตัวเราออกไป ยกตัวเรานี้แหละขึ้นเป็นตัวอย่างเลยทีเดียว เป็นเจ้าของปัญหาที่ว่า ทำไมเราจึงไม่เหมือนใครก็ได้ที่มีฐานะชาติกำเนิดดีกว่าเราสูงกว่าเรา ทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงเป็นเช่นนี้ เขาเกิดมาในชาติสกุลที่ดีกว่าเรา มีฐานะสูงมั่งคั่งที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่เขาได้สารพัดอย่างเราทำไมไม่เป็นเช่นนั้น เราอาจจะสะดวกสบายกว่าคนพวกหนึ่ง แต่ก็ไม่ทัดเทียมคนอีกพวกหนึ่งซึ่งเราอยากจะทัดเทียม เพราะความสูงส่งมั่งมีศรีสุขสะดวกสบายนั้นยิ่งมีเพียงใดก็ยิ่งดี ปุถุชนทั้งหลายย่อมปรารถนาเช่นนี้ ปัญหาเช่นนี้จึงมีอยู่ทั่วไปแม้ในบรรดาผู้ที่มั่งมีศรีสุขสะดวกสบายอยู่แล้ว ไม่เพียงจะมีอยู่แต่ในบรรดาผู้ลำบากยากจนเท่านั้น

เป็นเรื่องกิเลส ซึ่งถ้าหาคำตอบให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว กิเลสนั่นแหละจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสละกิเลส และกิเลสก็คือโลภโกรธหลงสามประการนี้ละได้เพียงใดก็จะละทุกข์ได้เพียงนั้น ได้พบความสุขร่มเย็นใจเพียงนั้น

คำตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้นนั้นถ้าชอบง่าย ก็ถือเอามาได้ทันทีเลยจากพระพุทธวจนะ พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ นั้นก็คือทรงกล่าวว่าความแตกต่างของสัตว์บุคคลเกิดจากกรรม กรรมแตกต่างกัน สัตว์บุคคลจึงแตกต่างกันไปตามกรรม กรรมในปัจจุบันพอเห็นได้ชัดๆ ก็เช่น ทำกรรมใดก็เป็นไปตามกรรมนั้น ทำเกษตรกรรมก็เป็นเกษตรกร ทำอุตสาหกรรม ก็เป็นอุตสาหกร ทำพาณิชยกรรมก็เป็นพาณิชยกร คือทำนาก็เป็นชาวนา ทำสวนก็เป็นชาวสวน ทำไร่ก็เป็นชาวไร่ ดังนี้เป็นต้น นี้กล่าวว่ากรรมจำแนกอย่างที่เห็นได้ชัดๆ

กรรมจำแนกที่เห็นได้ยากขึ้นไปอีกเพียงเล็กน้อยก็คือ ทำกรรมดีก็เป็นคนดี ทำกรรมชั่วก็เป็นคนชั่ว ที่กล่าวว่าเห็นได้ยากก็เพราะผู้อื่นนอกจากผู้ทำกรรมเองอาจเห็นได้ยาก เพราะไม่ได้รู้ได้เห็นการกระทำนั้นๆ ผู้อื่นจึงอาจจะรู้ไม่ได้เสมอไปว่าคนไหนดีคนไหนชั่ว แม้แต่เจ้าตัวผู้กระทำกรรมเองบางทีโมหะความหลงมีมากก็ยังไม่รู้ว่าตนกระทำกรรมดีหรือชั่วกันแน่ บางทีทำกรรมไม่ดีก็ยังหลงว่าทำกรรมดี ซึ่งก็ทำให้หลงคิดว่าตนเป็นคนดีไปด้วย แม้ผู้ที่ทำจะหลงไปถึงเช่นนี้แต่กรรมก็หาได้จำแนกผิดไปตามความหลงไม่ กรรมจำแนกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงเสมอ

ถ้าทำกรรมไม่ดีต้องเป็นคนไม่ดี ถ้าทำกรรมดีต้องเป็นคนดี ไม่ว่าตัวเองจะคิดอย่างไร คนอื่นจะคิดอย่างไร กรรมก็คงจำแนกไปตรงตามความเป็นจริงอยู่นั่นเอง

หน้าที่ของกรรมมีอยู่เช่นนี้ ไม่อาจมีอะไรมาบิดเบือนได้ ผู้ที่มีความแตกต่างกันทั้งหมดก็ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะกรรมจำแนกนั่นเอง กรรมที่ต่างคนต่างทำกันไว้นั่นเอง ทำนาเป็นชาวนาทำไร่เป็นชาวไร่ ทำความเป็นเศรษฐีก็ต้องเป็นเศรษฐี ทำความเป็นผู้มียศมีตระกูลก็ต้องเป็นผู้มียศมีตระกูล ทำความเป็นคนยากจนอนาถาก็ต้องเป็นคนยากจนอนาถา ทำความเป็นคนฉลาดก็ต้องเป็นคนฉลาด ทำความเป็นคนโง่ก็ต้องเป็นคนโง่

ทำไว้อย่างไรก็ต้องได้อย่างนั้น ติดต่อเกี่ยวพันกันมาเนิ่นนานจนบางทีก็ทำให้แลไม่เห็นเหตุ คือไม่เห็นว่าได้ทำกรรมใดไว้ มาเห็นเอาแต่ผลที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน บริหารจิตให้มากคืออบรมจิตให้มีเหตุผลมีปัญญาให้มากจะได้เข้าใจเรื่องกรรมจำแนกสัตว์บุคคลให้เป็นไปต่างๆ กัน

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 09:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๕๑. ความลืมเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจเรื่องกรรม

ถ้าไม่มีปัญญาจะพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นความจริงว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ ก็น่าจะมีปัญญารับฟังคำที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ด้วย มีพระกรุณาต่อสรรพสัตว์เป็นอย่างยิ่ง

ทำไมจึงกล่าวว่าการที่ทรงสอนว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์เป็นการทรงแสดงพระกรุณาอย่างยิ่งต่อสรรพสัตว์ เหตุผลก็เพราะคำสอนนี้แหละจะเป็นเหตุให้ผู้เชื่อสามารถปฏิบัติดีปฏิบัติชอบละเว้นการปฏิบัติชั่วปฏิบัติผิดทั้งปวง ผลก็คือจะถูกกรรมคือการกระทำของตนเองนั้นแหละจำแนกให้เป็นคนดี มีความสุขความเจริญตามควรแก่การกระทำของตน ส่วนผู้ไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่ละเว้นการปฏิบัติชั่วปฏิบัติผิด ผลก็จะถูกกรรมคือการกระทำของตนเองนั้นแหละจำแนกให้เป็นคนไม่ดี ไม่มีความสุขความเจริญตามควรแก่การกระทำของตน

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระกรุณาอย่างยิ่งแล้วที่ทรงชี้ทางไปสู่ความเป็นคนดีมีความสุขความเจริญ ให้ผู้ไม่เชื่อไม่ดำเนินไปตามทางที่ทรงชี้เป็นผู้ปฏิเสธไม่รับพระกรุณา หาใช่ไม่ทรงมีพระกรุณาไม่ อาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ผู้ไม่ยอมเชื่อว่ากรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์นั้นแหละคือผู้ปฏิเสธไม่รับพระกรุณาของพระพุทธเจ้า ส่วนผู้ยอมเชื่อคือผู้น้อมรับพระกรุณา อาจพาตนไปสู่ความดีงามความสุขสวัสดีได้แน่นอน

ยังไม่ต้องกล่าวถึงกรรมข้ามภพข้ามชาติก็ได้เพราะเป็นสิ่งยากจะเข้าใจ มาพิจารณากันถึงกรรมในปัจจุบันชาตินี้เสียก่อน หากเข้าใจเรื่องกรรมในปัจจุบันชาติแล้วก็ย่อมจะสามารถเข้าใจไปถึงกรรมในชาติภพที่ห่างไกลออกไปได้ ไม้ไม่มากก็ต้องพอสมควร

ยกนาย ก. กับนาย ข. ขึ้นเป็นตัวอย่าง นาย ก. ได้รับการฝึกหัดอบรมมาแต่เด็กให้รู้จักพูดจาแสดงกิริยามารยาทเรียบร้อยสวยงามตามแบบผู้ดีของไทยตลอดมา ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ นาย ก. เคยชินต่อการพูดจามีกิริยามารยาทเรียบร้อยสวยงามเช่นนั้นก็เป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดมาแม้ว่านาย ก. จะไม่รู้เลยว่าเมื่อเด็กก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ตรงกันข้ามกับนาย ข. นาย ข. ได้รับการฝึกหัดอบรมมาแต่เด็กให้พูดจาแสดงกิริยามารยาทไม่เรียบร้อยสวยงามตลอดมา ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่นาย ข. เคยชินต่อการพูดจามีกิริยามารยาทเรียบร้อยสวยงามเช่นนั้นก็เป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดมาแม้ว่านาย ข. จะไม่รู้เลยว่าเมื่อเด็กก็เช่นนั้นเหมือนกัน

นี่เป็นเครื่องแสดงว่าแม้จะไม่ได้จดจำการกระทำในอดีตไว้ แต่ผลในปัจจุบันก็เป็นผลของอดีตนั่นเอง ไม่ใช่ว่าผลในปัจจุบันเป็นสิ่งปุบปับเกิดขึ้นโดยไม่มีการกระทำในอดีตเป็นสาเหตุ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือถ้าไม่มีกรรมแล้วจะมีผลไม่ได้ แต่ผลมีได้แม้ว่าจะจำกันไม่ได้แล้วว่าได้ทำกรรมเช่นใดไว้ แต่ส่วนมากจำกันไม่ได้ว่าได้ทำกรรมใดกันไว้ เมื่อมีผลดีเกิดขึ้นให้ได้เสวยก็ยังไม่ค่อยนึกถึงว่าเป็นเพราะได้ทำกรรมใดไว้ให้เป็นเหตุ ต่อเมื่อใดผลไม่ดีเกิดขึ้นให้ต้องเสวย นั่นแหละจึงจะคิดหาเหตุ และก็มักจะคิดไปว่าเหตุคือกรรมของตนนั้นไม่น่าจะมีผลไม่ดี เหตุที่คิดเช่นนั้นก็เพราะนึกได้แต่กรรมดีที่เพิ่มทำลงไป ส่วนกรรมที่ทำไว้จนลืมเสียแล้วนั้นเป็นกรรมไม่ดีก็นึกไม่ได้ คนจึงมีปรกติสงสัยอยู่เป็นอันมากว่าทำดีทำไมไม่ได้ดี หรือทำไม่ดีทำไมจึงได้ดี

ความลืมเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่เข้าใจเรื่องกรรมตรงตามความเป็นจริง คือ คนจะลืมกรรมที่ตนทำแล้วในอดีตอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอดีตที่นานไกลเพียงใดก็ยิ่งจะลืมกันอย่างสนิทเพียงนั้น ลืมกันอย่างไม่เหลือร่องรอยใดๆ ให้พอเป็นเครื่องสะกิดเตือนความจำได้เลย ดังนั้นเมื่อผลของกรรมเกิดขึ้นให้ต้องเสวยจึงไม่เข้าใจผลของกรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ดังเช่นกล่าวกันอยู่ว่า คนนั้นทำดีเห็นๆ อยู่ทำไมไม่ได้ดี คนนี้ทำไม่ดีเห็นๆ อยู่ทำไมได้ดีเช่นนี้แล้วลังเลสงสัยในสัจธรรมที่ว่าทำดีต้องได้ดีทำชั่วต้องได้ชั่ว

กล่าวได้ว่ามักจะตัดสินกรรมนั้นเฉพาะที่กระทำขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น เท่าที่จำได้เท่านั้น เท่าที่เห็นๆ อยู่เท่านั้น ส่วนที่กระทำมานานแล้ว ลืมไปหมดแล้ว ไม่เห็นอยู่กับตาแล้ว มักจะไม่ยอมถือว่าเป็นกรรมเหมือนกัน ทั้งที่ก็เป็นกรรมเหมือนกัน เพราะได้กระทำแล้วเหมือนกัน

สิ่งที่ได้กระทำแล้วย่อมสำเร็จเป็นรูปร่างแล้ว แม้ว่าผู้ทำหรือใครๆ จะลืมแล้วว่าได้เป็นผู้กระทำก็หาอาจทำให้สิ่งที่เป็นรูปร่างแล้วสลายตัวไปได้ไม่ ยกตัวอย่างวัตถุต่างๆ ที่ทำขึ้นนานแล้วจนไม่รู้ตัวผู้ทำแล้ว วัตถุนั้นก็ยังคงเป็นรูปร่างชิ้นอันอยู่ กรรมก็เช่นกันทำแล้วแม้นานจนไม่รู้แล้วว่าได้ทำไว้แต่เมื่อใด กรรมนั้นก็ยังคงต้องเป็นกรรมอยู่นั่นเอง ผู้ใดจะปฏิเสธหาได้ไม่ และเมื่อกรรมเกิดขึ้นแล้ว ผลของกรรมก็ต้องติดตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าสลับซับซ้อนจนผู้ไม่ใช้ปัญญาหรือไม่ใช้ศรัทธาในพระพุทธเจ้ายากจะเชื่อ แต่เชื่อหรือไม่เชื่อกรรมก็ต้องให้ผลอยู่นั่นเอง และกรรมดีก็ต้องให้ผลดี กรรมชั่วก็ต้องให้ผลชั่ว แน่นอนตายตัวอยู่ตลอดไป ไม่มีอะไรก็ตามผู้ใดก็ตามจะมาเปลี่ยนแปลงผลของกรรมให้ผิดไปจากที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวแล้วได้

จึงกล่าวได้ว่า นอกจากความลืมจะทำให้คนไม่เข้าใจเรื่องของกรรมถูกต้องตามความจริงแล้ว ความให้ผลสลับซับซ้อนของกรรม คือกรรมไม่ให้ผลตามลำดับการกระทำก่อนหลัง ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่อาจเข้าใจเรื่องของกรรมได้ถูกต้องตามความจริง

ส่วนมากเข้าใจว่า กรรมที่ทำในปัจจุบันคือเหตุของผลที่กำลังได้รับในปัจจุบัน แม้กำลังทำกรรมดีอยู่แต่กำลังได้รับผลไม่ดีก็เข้าใจว่าผลไม่ดีนั้นเป็นผลที่เกิดจากกรรมดีที่กำลังกระทำอยู่นั่นเอง หรือแม้กำลังกระทำกรรมไม่ดีอยู่แต่ได้รับผลดีก็เข้าใจว่าผลดีนั้นเป็นผลที่เกิดจากกรรมไม่ดี ความเข้าใจเช่นนี้ที่เกิดจากความสลับซับซ้อนแห่งการให้ผลของกรรมเป็นเหตุสำคัญมากที่ทำให้มีผู้ท้อแท้ที่จะทำกรรมดี เป็นเหตุทำให้มีผู้ถือโอกาสปลุกปั่นให้ทำความไม่ดีกันทั่วๆ ไป โดยชี้ให้หลงเข้าใจผิดว่าทำดีก็เท่านั้นไม่เห็นได้ดี สู้ทำไม่ดีเสียดีกว่าเพราะได้ดีแน่ ดังที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่

ในระยะนี้มีผู้ถือโอกาสในเรื่องนี้กันมากยิ่งกว่าที่เคยมีมาในยุคก่อนๆ การปลุกปั่นให้หลงทำกรรมไม่ดีมีอยู่ทั่วทุกแห่ง และเพราะความไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนี้แหละจึงทำให้มีผู้ทำไปตามการปลุกปั่นมากมายจนชุลมุนวุ่นวายไปหมด ปรากฏให้เห็นผลของการทำไม่ดีอย่างถนัดชันเจน แต่กระนั้นคนจำนวนหนึ่งก็ยังไม่พยายามใช้ปัญญาพินิจพิจารณาให้เห็นว่าการกระทำอันเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนวุ่นวายในทุกวันนี้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ดี ที่ผู้ปรารถนาความสุขสวัสดีแก่ตนเองไม่พึงกระทำอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามจำต้องกล่าวว่า กรรมดีที่จะให้ผลดีนั้นจะต้องเป็นกรรมดีตามสัจธรรม ไม่ใช่เป็นกรรมดีที่แอบอ้างกันเอาเองดังเช่นที่มีผู้แอบอ้างกันเป็นอันมาก คือแอบอ้างกล่าวกรรมไม่ดีว่าเพียงใดก็จะยิ่งปรากฏผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนมากเพียงนั้น และผลนั้นใช่ว่าจะเกิดแก่ผู้อื่นดังที่ผู้ทำมุ่งประสงค์ก็หาไม่ ผลจะเกิดแก่ผู้ทำนั่นแหละ อาจจะในเวลาที่ไม่นานจนเกินไปก็ได้ ดังนั้นอย่าประมาทกรรมว่าไม่มีผล ว่าจะไม่ให้ผล ถ้าสายเกินไปแล้วแก้ไขไม่ได้แล้ว ผู้ทำนั่นแหละจะรับทุกข์อย่างยิ่ง

๘ ธันวาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 09:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๕๒. ไม่มีอำนาจใดเปลี่ยนแปลงผลของกรรมได้

การให้ผลของกรรมนั้น ใครจะเชื่ออย่างไรก็ตาม เมื่อทำกรรมอันเป็นเหตุเช่นใดก็จะต้องได้รับผลเช่นนั้น ผลของกรรมไม่เป็นไปตามความเชื่อ แต่เป็นไปตามความจริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

แม้บางทีกรรมจะไม่ให้ผลปัจจุบันทันทีคือไม่ให้ผลทันตาเห็น แต่ก็จะต้องให้ผลในอนาคตใกล้บ้างไกลบ้าง และตัวผู้ทำกรรมนั่นแหละจะได้รับได้รู้ได้เห็นด้วยตนเองอย่างแน่นอน ในอนาคตอันใกล้ก็มีในชาตินี้ ในอนาคตอันไกลก็มีในชาติข้างหน้า

แม้ไม่เชื่อว่าชาติหน้ามี เพราะไม่รู้ไม่เห็นว่ามีก็น่าจะลองใช้ปัญญาคิดดูบ้างว่าเรามาแต่ไหนชาตินี้เป็นชาติแรกและชาติเดียวของเราเช่นนั้นหรือ เราไม่เคยมีชาติก่อนมาเลยหรือ ถ้าไม่เคยมีชาติก่อนมาเลย ทุกชีวิตในชาตินี้เริ่มต้นในชาตินี้ด้วยกันทั้งหมด ทำไมทุกชีวิตจึงไม่เหมือนกัน ไม่ทัดเทียมกัน มีความสุข ทุกข์ ดีเลว ไม่เท่ากัน อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น

คนอื่นจะไม่คิดก็ช่างเถิด แต่เมื่อตั้งใจมาบริหารจิตแล้วก็ควรได้คิดด้วยกันทุกคน จนให้มีความเข้าใจด้วยกันทุกคนว่า ทำไมทุกชีวิตหรือจะเรียกว่าสรรพสัตว์ในโลกนี้จึงแตกต่างกัน เพียงเล็กน้อยบ้าง มากมายเหลือเกินบ้าง ทั้งในรูปลักษณะหน้าตากิริยามารยาทหรือฐานะมั่งมียากจนตลอดถึงชาติตระกูลที่สูงต่ำต่างกัน

ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างเด่นชัด ความแตกต่างกันทั้งหมดดังกล่าวเกิดจากอะไร ใช้ปัญญาคิดแล้วก็จะได้ความเข้าใจ จะเชื่อในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมว่าเป็นสิ่งมีจริง เมื่อเกิดความเชื่อเช่นนั้นแล้วก็จะกลัวการทำกรรมไม่ดี จะอาจหาญทำกรรมดีทั้งปวงโดยไม่กลัวอำนาจอะไรเลย เพราะไม่มีอำนาจใดจะมาเปลี่ยนแปลงผลของกรรมดีที่ทำแล้วให้เป็นผลไม่ดีได้เลยเป็นอันขาด ควรมั่นใจในสัจธรรมนี้ และความมั่นใจนี้จะให้คุณสถานเดียวไม่มีโทษแม้เล็กน้อยเพียงใดเลย

ความสุขสวัสดีจะเกิดก็ต่อเมื่อทำความดีเป็นเหตุเท่านั้น ลงว่าทำความไม่ดีที่ผิดศีลผิดธรรมผิดวินัยผิดวิสัยของคนดีมีคุณธรรมแล้วจะให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ตนนั้นเป็นไปไม่ได้ ยิ่งทำมากเป็นกรรมดี กำลังทำกรรมไม่ดีแต่แอบอ้างว่ากำลังทำกรรมดีเช่นนี้จะให้เกิดผลดีหาได้ไม่ ผลที่จะเกิดขึ้นในกรณีเช่นนี้ต้องเป็นผลไม่ดีอย่างแน่นอน

เพื่อให้พ้นจากการเชื่อตามคำแอบอ้างกรรมไม่ดีว่าเป็นกรรมดีจึงจำเป็นต้องอบรมปัญญา ให้มีปัญญารู้จักความดีตามความเป็นจริง รู้จักความชั่วตามความเป็นจริง ไม่ใช่เชื่อตามผู้มีปากเสียง มีคารมน่าเชื่อถือ อันผู้ใช้คารมคมคายนั้นเมื่อมุ่งประโยชน์ตนหรือมุ่งประโยชน์พวกพ้องของตนก็ย่อมจะพยายามทำคนอื่นให้ตกเป็นเครื่องมือเสริมสร้างประโยชน์ที่ตนปรารถนาให้บังเกิดขึ้น โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดจะเสียประโยชน์มากน้อยเพียงไหน

การอบรมปัญญาให้รู้ทัน ให้รู้จักความดีความชั่วคนดีคนชั่วอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้นที่จะป้องกันตนเองมิให้พลอยประกอบกระทำกรรมไม่ดีและต้องได้รับผลของกรรมไม่ดีไปด้วยได้

อันกรรมไม่ดีนั้นลงว่าได้กระทำลงไปแล้ว แม้จะเสียใจเพียงใดในภายหลังก็หาอาจแก้ไขได้ไม่ ผลไม่ดีต้องเกิด ต้องหนักเบาตามเหตุคือกรรมไม่ดีที่ได้กระทำลงไปนั้น จึงควรต้องรอบคอบให้ที่สุด ระมัดระวังให้ที่สุด

เชื่อพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างไรที่เกี่ยวกับความดีความชั่ว ทรงมีพระกรุณาสั่งสอนไว้เป็นอันมาก หากไม่ละเลยจนเกินไปก็น่าจะพอรู้พอเข้าใจตามที่ทรงสอนไว้ น่าจะไม่หวั่นไหวลังเลไปตามเสียงทั้งหลายที่มุ่งร้าย น่าจะมีอำนาจใจเข้มแข็งรวมเป็นพลังต้านทานอย่างได้ผล ช่วยตนให้พ้นได้จากการต้องตกไปอยู่ใต้อำนาจของกรรมชั่ว ต้องเสวยผลของกรรมชั่ว เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างที่แม้ไม่ปรารถนาแต่ถ้าไปหลงประกอบกระทำเหตุเข้าแล้วก็ย่อมหนีผลไม่พ้น

๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 09:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๕๓. กรรมปัจจุบันอาจชนะกรรมในอดีตได้

การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ได้แนะนำให้อบรมปัญญาให้มาก ให้ใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาให้เข้าใจว่าทำไมชีวิตทั้งหลายในโลกนี้จึงแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ต่างปรารถนาจะมีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองด้วยกัน แต่ทำไมจึงมีผู้ที่จะต้องเป็นทุกข์ต้องตกต่ำยากจนคับแค้น ทั้งๆ ที่บางคนก็ทำงานมากเท่ากันแต่ผลที่ได้รับก็ไม่ทัดเทียมกัน หรือยิ่งไปกว่านั้น บางทีผู้ทำมากกลับได้รับผลน้อยกว่า ผู้ที่ทำน้อยกลับได้รับผลมากกว่า เป็นเพราะอะไร

ใช้ปัญญาที่อบรมด้วยดีให้มากแล้วจะเข้าใจ ว่าเป็นเรื่องของกรรมที่ได้กระทำกันไว้แล้วทั้งนั้น กรรมแตกต่างกันอย่างใดผลที่ได้รับมาปรากฏให้เห็นก็แตกต่างกันอย่างนั้น กรรมในอดีตที่ส่วนใหญ่แลไม่เห็นจำไม่ได้แล้วนั่นแหละเป็นเจ้าของผลที่ปรากฏให้เห็นความแตกต่างกันอยู่ในทุกวันนี้ แตกต่างกันตั้งแต่เริ่มถือปฏิสนธินั่นทีเดียว กรรมจำแนกมาตั้งแต่นั้นทีเดียว กรรมของตนนั่นแลหาใช่กรรมของผู้อื่นไม่

ที่บางคนเกิดมายากจนแล้วโทษมารดาบิดาว่ายากจนนั้นไม่ถูก โทษตนเองจึงจะถูก ถ้าต้องการจะเลือกมารดาบิดาที่มั่งมีศรีสุขก็ต้องเลือกเองแต่ก่อนมาเกิดด้วยการทำเหตุ อันจะทำให้ตนสามารถเลือกมารดาบิดาผู้มีฐานะเช่นนั้นได้ ถ้าตนเองทำเหตุคือทำกรรมนั่นเองไว้ในอดีตที่จะให้ผลเป็นความมั่งมีศรีสุขแก่ตนก็ไม่มีผู้ใดจะมาทำให้ตนต้องลำบากยากจนได้มารดาบิดาที่ทำให้ตนยากจนไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือถ้าทำกรรมที่จะให้ผลเป็นความมั่งมีศรีสุขก็จะต้องได้มาเกิดกับมารดาบิดาที่มั่งมีศรีสุข จะไม่ไปเกิดอยู่ในสภาพที่เป็นทุกข์ลำบากยากจน

ที่นำมากล่าวนี้เพียงเพื่อให้คิดว่าเรื่องของกรรมมีจริง ให้ผลจริง ปรารถนาผลดีก็ต้องทำกรรมดี ต้องไม่ทำกรรมไม่ดี อย่าเกิดความเห็นผิดต่อไปว่า ถ้าขณะนี้เป็นผู้อยู่ในสภาพที่ไม่ดีต่างๆ เช่นยากจนบ้าง เกะกะเกเรบ้าง แล้วก็ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไปโดยถือเสียว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เช่นนั้นไม่ถูก

กรรมในอดีตที่กำลังให้ผลนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าทำกรรมปัจจุบันให้หนักแน่นจริงจังและมากมายกว่า เช่น มีนิสัยเกะกะเกเรอยู่ก็แก้ได้ เปลี่ยนให้สุภาพเรียบร้อยได้โดยตัวเองต้องทำกรรมปัจจุบันให้ถูกต้องให้จริงจัง คือต้องทำพร้อมทั้งกายวาจาใจ คือใจก็พิจารณาให้เห็นว่าความเกะกะเกเรไม่ดีอย่างไร ทำใจให้มีเหตุผล ให้เห็นโทษของการเป็นเช่นนั้น แล้วก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขการพูดการทำให้ไม่เกะกะเกเรเสีย เช่นนี้กรรมปัจจุบันก็จะสามารถเอาชนะกรรมในอดีตได้ ความเกเรที่แม้อบรมมาในอดีตก็จะสิ้นสุดลงได้ ความสุภาพเรียบร้อยที่พึ่งมาอบรมในปัจจุบันก็จะเกิดขึ้นแทนที่ได้

ฉะนั้น การเชื่อในเรื่องของกรรมจึงต้องไม่ใช่เป็นการเชื่อแบบยอมแพ้แก่กรรมที่ทำแล้วในอดีต จะทำผิดทำชั่วไม่สมควรอย่างใดก็โทษว่ามีกรรมทำไว้เช่นนั้นเป็นเหตุ เช่นนี้ไม่เรียกว่าเป็นการเชื่อกรรมอย่างถูกต้อง แต่กลับเป็นการเชื่อกรรมอย่างผิดอย่างยิ่ง เป็นการเชื่อแบบเดียวกับผู้ไม่เชื่อกรรมเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้ไม่เชื่อกรรมนั้นเมื่อไม่ต้องการแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องใดๆ ก็มักจะอ้างว่าเป็นเรื่องของกรรม ทำอะไรไม่ได้ เกิดมาด้วยกรรมเช่นนั้นเองก็ต้องเป็นเช่นนั้น

เกิดมาขี้เกียจก็ปล่อยให้ขี้เกียจต่อไป เกิดมาอ่อนแอก็ปล่อยให้อ่อนแอต่อไป เกิดมาขี้โมโหโทโสก็ปล่อยให้ขี้โมโหโทโสต่อไป เกิดมามักได้ก็ปล่อยให้มักได้ต่อไป เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าไม่เขื่อกรรมแล้วนำกรรมไปอ้างส่งๆ ไปเพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องมานะพากเพียรทำกรรมดีเพื่อเอาชนะกรรมไม่ดีที่กำลังส่งผลเช่นนี้ไม่ถูก

ผู้มาบริหารจิตต้องไม่ถือเป็นแบบอย่าง ต้องเชื่อกรรมให้ถูกต้อง ต้องมีกำลังใจเข้มแข็งที่จะทำกรรมปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่อว่าจะได้สามารถยับยั้งผลของกรรมในอดีตที่ไม่ดีให้ได้ และเพื่อสะสมไว้ให้ได้มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองสืบไปในอนาคตทั้งในอนาคตอันใกล้ในชาติภพนี้ และในอนาคตอันไกลต่อไปอีก

๒๒ ธันวาคม ๒๕๑๗


>>>>>> จบแล้วครับ <<<<<<
แหะ :b28: ใช้เวลาหลายวัน เอ้ย..หลายเดือน

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มิ.ย. 2009, 16:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สาธุ สาธุ สาธุจ้า...คุณ I am

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
ขยันเป็นที่ 1 เลยนะ

เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะคะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

:b48: cool :b36:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2018, 06:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 58 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร