วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านนิทาน จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=5



กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 15:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ รูปภาพ รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


คัดลอกจาก...
http://www.larnbuddhism.com/vetal/

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 16:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำนำ

แม้จะมีการเล่านิทานเวตาลสู่กันฟังมาไม่ต่ำกว่าพันปี ทั้งโดยปากต่อปากและลายลักษณ์อักษร แต่มันกลับมีชีวิตชีวาอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะตัวเวตาลผู้มีบุคลิกโดเด่นด้านความเจ้าเล่ห์แสนกล และช่างพูดข่างเจรจา"เวตาล น่าจะเป็นปีศาจจำนวนไม่กี่ตนในโลกนี้ที่ผู้คนเกลียดและกลัวไม่ลง

ในแวดวงวรรณกรรม เรื่องปรัมปราเรื่องนี้ กลายเป็นตัวอย่างอ้างอิงของวิชาการวรรณกรรมสมัยใหม่แทบทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงงานเขียนแบบเรื่องซ้อนเรื่อง หรือ Metafiction

งานเขียนแบบ Metafiction ตลอดจนทฤษฏีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นผลจากการที่นักวรรณกรรมตะวันตกเบื่อหน่ายกับวรรณกรรมสัจนิยมเหมือนจริง ที่ครอบงำวัฒนธรรมวรรณกรรมตะวันตกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ การค้นพบทฤษฎีเรื่องซ้นเรื่องเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนสมัยใหม่

สำหรับโลกตะวันออก รูปแบบเรื่องซ้อนเรื่องมีมานานตั้งแต่ผู้คนเร่ิมรู้จักการสื่อสารกันด้วย "เรื่องเล่า" ก็ว่าได้ เรื่องรูปแบบนี้เป็นผลผลิตของการสื่อสารแบบมุขปาฐะ จากนิยาย นิทานเรื่องเดี่ยว แก่นเดียว ก็แต่กแยกย่อยออกไปเป็นหลาย ๆ เรื่อง แล้วแต่จะแพร่กระจายออกไปกว้างขวางเพียงไหน โดยที่"แก่นเรื่อง" จะคงเดิม เปลี่ยนไปก็แต่องค์ประกอบแวดล้อม เช่น ชื่อตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ สัญลักษณ์ เท่านั้น ในเชิงวิชาการ เรื่องซ้อนเรื่องจึงถือเป็นพัฒนาขั้นสูงที่สุดของนิทานชาวบ้าน

วรรณคดีอินเดียโบราณ ทั้งที่เขียนโดยภาษาบาลีและสันสกฤต ปรากฎรูปแบบการเขียนชนิดเรื่องซ้อนเรื่องอยู่จำนวนมาก เรื่องเอกส่วนใหญ่คือคัมภีร์ศาสนาหรืออรรถกถาธรรม อันมีแก่นแกนว่าด้วยความดี ความงาม ความจริง การหลุดพ้น ถึงขั้น "สัจจะ" ที่ไม่อาจมีอะไรมาสั่นคลอนได้ นิทานย่อย ๆ จำนวนมากที่เกิดขึ้นภายใต้เรื่องเอกเหล่านี้ จึงมีส่วนเสริมให้แก่นของเรื่องเอกคมชัดกาวววาวและหนักแน่นน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ในระดับของการเล่าเรื่อง นิทานที่ซ้อนเข้าไปในโครงเรื่องใหญ่จะทำให้เรื่องในโครงเรื่องใหญ่เข้าใจง่ายขึ้น ผู้แต่งจะใช้กลวิธีให้ตัวละครในเรื่องใหญ่เป็นผู้เล่าเรื่อง มีการผูกปมปริศนา ตั้งปัญหา สุดท้ายจะเฉลยปัญหา และชี้ทางเลือก

น่าอัศจรรย์ที่นิทานเวตาลเป็นได้ทั้งรากเหง้า และพัฒนาการขั้นสูงสุดของเรื่องเล่าแนวนี้

นักอ่านชาวไทยคุ้นเคยกับนิทานเวตาลของ น.ม.ส. เป็นอย่างดี แม้ว่าจะทรงแปลไว้เพียง ๑๐ เรื่อง จากต้นฉบับ ๒๕ เรื่อง สาระบันเทิงจากนิทานเวตาลฉบับนี้อาจเห็นได้จากการที่มีผู้จัดรายการโทรทัศน์ นำไปสร้างเป็นละครจนได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อหลายปีก่อน

เวตาลปัญจวิงศติ โดย อาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เล่มนี้ กล่าวได้ว่าเป็นนิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์ของบรรณพิภพไทย เพราะท่านแปลจากต้นฉบับดั้งเดิมที่พิมพ์ด้วยอักษรเทวนาครี ครบทั้ง ๒๕ เรื่อง

ด้วยเหตุนี้ นอกจากความบันเทิงแล้ว สิ่งที่นิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์จะให้แก่ผู้อ่าน จึงลึกไปถึงโลกทัศน์และชีวทัศน์อินเดียดั้งเดิม นับเป็นหนทางย้อนกลับสู่การศึกษา "รากเหง้าแห่งวิถีตะวันออก" ได้เป็นอย่างดี

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 16:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เรื่องย่อนิทานเวตาล

ณ ฝั่งแม่น้ำโคทาวรี มีพระมหานครแห่งหนึ่งตั้งอยู่นามว่า ประดิษฐาน ที่เมืองนี้ในสมัยบรรพกาลมีพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ตริวิกรมเสน ได้ครองราไชศวรรย์มาด้วยความผาสุก พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิกรมเสนผู้ทรงเดชานุภาพเทียมท้าววัชรินทร์

ต่อมาได้มีนักบวชชื่อ ศานติศีล ได้นำผลไม้มาถวายทุกวันมิได้ขาด ซึ่งพระราชาแปลกใจ และได้ไปพบในคืนหนึ่งตามนัด ได้ถามถึงเหตุผลและเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ โยคีศานติศีลจอมเจ้าเล่ห์ได้ขอให้พระราชาตริวิกรมเสนนำเวตาลมาให้ตนเพื่อจะ ประกอบมหายัญพิธี

พระราชาผู้มีสัจจะเป็นมั่น ได้ไปนำเวตาลมาให้โยคีเจ้าเล่ห์ แต่เวตาลก็พยายามหน่วงเหนี่ยวด้วยการเล่านิทานทั้งสิ้น ๒๔ เรื่องด้วยกัน ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีคำถามให้พระราชาตอบ โดยมีข้อแม้ว่า หากพระราชาทราบคำตอบแล้วไม่ตอบ ศีรษะของพระราชาจะต้องหลุดจากบ่า และหากพระราชาเอ่ยปากพูดเวตาลก็จะกลับไปสู่ที่เดิม

และก็เป็นดังนั้นทุกครั้ง ที่พระราชาตอบคำถามของเวตาล เวตาลก็จะหายกลับไปสู่ต้นไม้ที่สิงที่เดิม พระราชาก็จะเสด็จกลับไปเอาตัวเวตาลทุกครั้งไป จนเรื่องสุดท้ายพระราชาไม่ทราบคำตอบ ก็ทรงเงียบไม่พูด เวตาลพอใจในตัวพระราชามาก เพราะเป็นพระราชาผู้ไม่ย่อท้อ ผู้มีความกล้าหาญ ทำให้เวตาลบอกความจริงในความคิดของโยคีเจ้าเล่ห์ ว่าโยคีนั้นแท้จริงแล้ว ต้องการตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร โดยจะเอาพระราชาเป็นเครื่องสังเวยในการทำพิธี และอธิบายถึงวิธีกำจัดโยคีเจ้าเล่ห์

เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงโยคีตามที่นัดหมายไว้ ก็ปรากฎว่าโยคีได้เตรียมการทำอย่างที่เวตาลได้บอกกับพระราชาไว้ พระราชาจึงแก้โดยทำตามที่เวตาลได้อธิบายให้พระราชาฟัง พระราชาจึงได้ตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร และเวตาลได้บอกกับพระราชาตริวิกรมเสนว่า "ตำแหน่งนี้ได้มาเพราะความดีของพระองค์ ตำแหน่งนี้จะคอยพระองค์อยู่หลังจากที่ทรงเสวยสุขในโลกมนุษย์จนสิ้นอายุขัย แล้ว ข้าขอโทษในกาลที่แล้วมาในการที่ยั่วยวนประสาทพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงถือโกรธต่อข้า บัดนี้ข้าจะถวายพรแก่พระองค์ ขอทรงเลือกอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาเถิด" พระราชาก็ตรัสว่า "เพราะเหตุที่เจ้ายินดีต่อข้า และข้าก็ยินดีในความมีน้ำใจของเจ้าเช่นเดียวกัน พรอันใดที่ข้าจะปรารถนาก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว ข้าเพียงแต่อยากจะขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึกระหว่างข้ากับเจ้า นั่นก็คือนิทานที่เจ้ายกปัญหามาถามข้าถึงยี่สิบสี่เรื่อง และคำตอบของข้าก็ให้ไปแล้วเช่นเดียวกัน แลครั้งที่ยี่สิบห้าคือวันนี้ถือเป็นบทสรุป แสดงอวสานของเรื่อง ขอให้นิทานชุดนี้จงมีเกียรติแพร่กำจายไปในโลกกว้าง”

เวตาลก็สนองตอบว่า “ขอจงสำเร็จ โอ ราชะ บัดนี้จงฟังเถิด ข้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีเด่นของนิทานชุดนี้ สร้อยนิทานอันร้อยรัดเข้าด้วยกันดังสร้อยมณีสายนี้ ประกอบด้วยยี่สิบสี่เรื่องเบื้องต้น แลมาถึงบทที่ยี่สิบห้า อันเป็นบทสรุปส่งท้าย นับเป็นปริโยสาน นิทานชุดนี้จงเป็นที่รู้จักกันในนามของเวตาลปัญจวิงศติ (นิทานยี่สิบห้าเรื่องของเวตาล) จงมีเกียรติยศบันลือไปในโลก และนำความเจริญมาสู่ผู้อ่านทุกคน ใครก็ตามที่อ่านหนังสือแม้แต่โศลกเดียว หรือเป็นผู้ฟังเขาอ่านก็เช่นเดียวกัน จักรอดจากคำสาปทั้งมวล บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์ เวตาล กุษมาณฑ์ แม่มด หมอผีและรากษส ตลอดจนสัตว์โลกประเภทเดียวกันนี้ จงสิ้นฤทธิ์เดชเมื่อได้ยินใครอ่านนิทาน อันศักดิ์สิทธิ์นี้”

พระศิวะได้ฟังเรื่องของต่าง ๆ ของเวตาลจบก็กล่าวชื่นชมในองค์พระราชาตริวิเสนมาก ซึ่งพระศิวะได้สร้างจากอนุภาคโดยให้มาปราบอสูรคนร้ายต่าง ๆ เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนได้เป็นจอมราชันแห่งวิทยาธรทั้งโลกและสวรรค์แล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่าย หันไปบำเพ็ญทางธรรมจนบรรลุความหลุดพ้น

รูปภาพ


รวมรูปภาำพในเรื่องนิทานเวตาล....

http://www.larnbuddhism.com/vetal/pictures.html

ฟังเพลงเวตาล...
http://www.larnbuddhism.com/vetal/vetalsong.mp3


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 16:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เวตาลปัญจวิงศติ

เป็นปีศาจชั่วร้ายพวกหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ในสุสาน และสิงสู่อยู่ในศพโดยทั่วไป ว่ากันถึงรูปร่างหน้าตาของเวตาล ในวรรณคดีของอินเดียภาคใต้กล่าวไว้ว่า เวตาลได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นภูตที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูแลประชาชนในท้องถิ่น ตั้งแต่ที่ราบสูงเด็กข่าน เรื่อยลงมาทางภาคใต้ เวตาลมักจะปรากฎรูปร่างเป็นมนุษย์ แต่มือและเท้าหันกลับไปทางด้านหลัง นัยน์ตาเป็นสีลานแกมเขียว มีเส้นผมตั้งชันทั้งศีรษะ มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือหอยสังข์ ขณะเมื่อมาปรากฎตัวจะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีเขียวทั้งชุด นั่งมาบนเสลี่ยงบางคราวก็ขี่ม้า มีภูตบริวารถือคบเพลิงแวดล้อมโดยรอบ และส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง รูปเคารพของเวตาลที่ใช้เป็นรูปบูชามักทำด้วยหินทาสีแดง บนส่วนยอดของแท่งหินแกะสลักเป็นรูปหน้าคน

  โอม ขอชัยชนะจงมีแด่พระคเณศ พระผู้ซึ่งขณะฟ้อนรำได้ยังปวงดาราให้พรั่งพรูลงจากฟากฟ้าราวกับสายธารแห่งบุ ปผามาลัย ด้วยแรงลมเป่า จากปลายงวงของพระองค์แม้เพียงเล็กน้อย

  ณ ฝั่งแม่น้ำโคทาวรี มีพระมหานครแห่งหนึ่งตั้งอยู่นามว่า ประดิษฐาน ที่เมืองนี้ในสมัยบรรพกาลมีพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ตริวิกรมเสน ได้ครองราไชศวรรย์มาด้วยความผาสุก พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิกรมเสนผู้ทรงเดชานุภาพเทียมท้าววัชรินทร์

ทุก ๆ วัน เมื่อพระราชาเสด็จออกว่าราชการ ณ ท้องพระโรงธารคำนัล จะมีนักบวชชื่อ ศานติศีล เข้ามาเฝ้าถวายความเคารพ แล้วถวายผลไม้ผลหนึ่งและทุก ๆวัน พระราชาก็ได้ประทานผลไม้นั้นแก่ขุนคลังผู้อยู่ใกล้ชิดให้เอาไปเก็บไว้ ด้วยประการฉะนี้แล กาลเวลาก็ผ่านไปนับสิบปี

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อโยคีศานติศีลเข้ามาเฝ้าถวายผลไม้เช่นเคย แล้วทูลลากลับไป พระราชาทรงยื่นผลไม้นั้นแก่ลิงตัวหนึ่งซึ่งทรงเลี้ยงไว้ในตำหนัก และหนีคนเลี้ยงเข้ามาวิ่งเล่นอยู่ในท้องพระโรง ลิงรับผลไม้แล้วเอาเข้าปากขบกัด ทำให้เปลือกผลไม้ฉีกออก ทันใดนั้นเพชรมณีอันงามและมีค่าหามิได้ก็ร่วงตกลงมาเป็นประกายระยิบระยับ พระราชาทรงหยิบมณีเม็ดนั้นขึ้นมาพิจารณาและตรัสแก่โกศาธิบดีว่า

"นี่แนะขุนคลัง เจ้าจำได้ไหมว่าข้าเคยมอบผลไม้ของโยคีให้แก่เจ้าทุก ๆ วัน ป่านนี้ก็คงจะมีจำนวนมากโขอยู่ เจ้าเอาไปเก็บไว้ที่ไหนเล่า"

ได้ฟังรับสั่งดังนั้น ขุนคลังก็เกิดความตระหนกเป็นล้นพ้น อึกอักกราบทูลว่า "ข้าแต่มหิบาล ขอทรงอภัยด้วยเถิด ข้าพระบาทคิดว่าเป็นผลไม้ธรรมดาก็เลยไม่ได้เอาใจใส่ ได้รับมาครั้งใดก็โยนเข้าไปในหน้าต่างท้องพระคลัง ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ ข้าพระองค์ขอเปิดประตูคลังดูก่อน" โกศาธิบดีกราบทูลแล้วรีบวิ่งมาที่พระคลัง เปิดประตูออกดูภายในครู่หนึ่งก็รีบกลับมาทูลว่า

"โอ นฤบดี ผลไม้ดังกล่าวนั้นเปื่อยเน่าไปหมดแล้ว เหลือแต่เมล็ดคือ ดวงแก้วมณีกองเป็นภูเขาเลากาเต็มไปหมด ส่องแสงระยิบระยับไปทั้งห้องพระเจ้าข้า"

พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ตรัสว่า

"สมบัติของข้าในท้องพระคลังก็มีมากมายเหลือที่จะคณานับ ข้าจะปรารถนาอะไรกับอนรรฆมณีเหล่านั้น ข้าขอมอบให้แก่เจ้าทั้งหมด จงเอาไปเถิด"

วันรุ่งขึ้น เมื่อเสด็จออกท้องพระโรง ทอดพระเตรเห็นโยคีศานติศีลเข้ามาเฝ้า จึงตรัสว่า

"ดูก่อนมุนี ท่านมาหาเราทุกวัน เอามณีจินดาค่าควรเมืองนับไม่ถ้วนมาให้แก่เรา ท่านมีความประสงค์อะไร จงบอกมาตามจริง ถ้าท่านยังไม่บอกเรา วันนี้เราก็จะไม่รับผลไม้จากท่าน"

โยคีได้ฟังก็ตอบว่า

"ข้าพเจ้ากำลังจะประกอบมหายัญพิธีอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้บุรุษสุดกล้าหาญอย่างท่านมาช่วยเหลือ ขอทรงเมตตาเถิด โอ ราชะ"

พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า

"ท่านโยคี ข้ายินดีจะช่วยเหลือท่านทุกอย่าง จะให้ทำอะไรก็บอกมาเถิด"

"โอ วิศามบดี ข้าพเจ้ายินดีนัก" โยคีศานติศีลกล่าว "ข้าพเจ้าจะรอพระองค์อยู่ที่สุสานนอกเมืองเมื่อถึงข้างแรมคืนแรกแห่ง กาฬปักษ์ พระองค์จงมาพบข้าพเจ้าในเวลาค่ำที่บริเวณใต้ต้นไทรเถิด อย่าทรงลืมเป็นอันขาด"

พระราชาทรงยินยอม ตรัสว่า "เอาเถิด ข้าจะไปตามนัด"

โยคี เมื่อได้รับคำสัญญาของพระราชา ก็ทูลลากลับไปด้วยความยินดี

ฝ่ายพระราชาผู้มหาวีระ ครั้นถึงวันแรมแรกก็เสด็จออกจากวัง ทรงแต่งพระองค์อย่างรัดกุม โพกพระเศียรด้วยผ้าสีดำ ทรงเลาะเร้นไปตามทางโดยไม่มีผู้พบเห็น จนกระทั่งบรรลุถึงสุสานนอกเมืองตามที่นัดหมาย บริเวณนั้นมืดด้วยเงาแมกไม้ ปรากฎเพียงตะคุ่ม ๆ ในที่สุดก็มาถึงที่ใกล้จิตกาธานอันสว่างวอมแวมด้วยไฟที่่เผาไหม้ซากอสุภอยู่ บางส่วนก็เหลือเพียงโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะเรี่ยรายอยู่ ทำให้เกิดความสะพรึงกลัวแก่ผู้ได้พบเห็นยิ่งนัก ณ ที่นั้นมีพวกภูตและเหล่าเวตาลลอยอยู่เกลื่อน บ้างก็ยื้อแย่งกินศพอันชวนให้สะอิดสะเอียนเหียนราก เสียงหมาไนหอนโหยหวนอยู่ในที่ใกล้เคียงเหมือนเสียงปีศาจมาหลอกหลอน รวมแล้วความสยดสยองทั้งหลายที่ปรากฎก็เป็นประดุจการมาเยือนของพระไภรวะ (พระศิวะหรือพระอิศวร ปางดุร้าย) นั่นเทียว

จากนั้นพระราชาทรงค้นหาสำนักของโยคีศานติศีลจนพบที่ใต้ต้นไทรใหญ่ อันมีรากย้อยระย้า จึงเสด็จเข้าไปหา ตรัสว่า

"ข้ามาแล้ว ท่านโยคีจะให้ข้าทำอะไรเล่า"

เมื่อโยคีเห็นพระราชาเสด็จมาตามสัญญาก็ดีใจ กล่าวว่า

"โอ ราชะ ข้าพเจ้าเห็นแล้วจากพระเนตรของพระองค์ว่า ทรงมีเมตตาต่อข้าพเจ้า ทรงฟังเถิด ถ้าพระองค์เสด็จจากนี่ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก จะทรงพบต้นอโศกต้นหนึ่ง บนกิ่งอโศกมีศพชายคนหนึ่งแขวนอยู่ ขอให้นำศพนั้นมาให้ข้าพเจ้า นั่นแหละคืองานที่ข้าพเจ้าต้องการจะให้พระองค์ช่วยเหลือ โอ มหาวีระ"

ทันทีที่วีรกษัตริย์ผู้มั่นคงต่อคำสัญญาได้ยินถ้อยคำดังกล่าว ก็ทรงกล่าวแก่โยคีว่า "ข้าจะทำตามคำของท่าน" แล้วเสด็จไปทางทิศใต้ ครู่หนึ่งก็มาถึงที่อันอยู่ไม่ไกลจากกองไฟที่ใกล้จะมอด แลเห็นต้นอโศกอยู่บริเวณนั้น บนกิ่งอโศกมีศพชายผู้หนึ่งแขวนอยู่ราวกับห้อยลงมาจากบ่าของอสุรกาย พระราชาทรงปีนต้นอโศกขึ้นไปปลดเอาศพลงมาอย่างยากเย็นและเหวี่ยงมันลงบนพื้นดิน ทันทีที่ร่างนั้นกระทบแผ่นดินมันก็หวีดร้องราวกับเจ็บปวดเต็มที่ พระราชาทรงคิดว่าร่างนั้นมีชีวิต ก็ปีนลงมาจากต้นอโศกเข้าประคองเอาไว้ ทรงนวดเฟ้นร่างนั้นด้วยความกรุณาเพื่อให้คลายเจ็บ ทันใดนั้นศพก็กรีดเสียงหัวเราะเยือกเย็นราวกับเสียงภูตผี พระราชาทรงทราบได้ทันทีว่าศพนั้นถูกเวตาลสิงอยู่ จึงถามมันว่า "เจ้าหัวเราะอะไร อย่ามัวชักช้าอยู่เลย รีบไปกันเถอะ" ทันใดนั้นเอง ศพที่เวตาลเข้าสิง ก็ลอยกลับขึ้นไปห้อยอยู่บนกิ่งอโศกตามเดิม พระราชาเห็นดังนั้น ก็รีบปีนขึ้นไปดึงเอาศพนั้นลงมาแล้วเหวี่ยงขึ้นบ่า เสด็จไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เสด็จมาตามทาง เวตาลในร่างของศพที่พาดบ่าอยู่ก็กล่าวแก่พระราชาว่า

"โอ ราชัน ข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ระหว่างทางจะได้ไม่เบื่อ โปรดทรงสดับเถิด และเมื่อฟังแล้วอย่าได้ตรัสอะไรเลย"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 16:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๒

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาล เมื่อเสด็จไปถึงที่นั้น ทรงสอดส่ายพระเนตรดูโดยรอบในความมืดอันมีแสงไฟเรือง ๆ จากจิตกาธานส่องมา ในที่สุดก็พบศพนั้นนอนหงายอยู่บนพื้นดินกำลังกรนอยู่ จึงเข้าไปจับตัวศพนั้นซึ่งมีเวตาลสิงอยู่ตวัดขึ้นบนบ่า และรีบดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพื่อไปยังที่ซึ่งนัดไว้กับโยคีศานติศีล เวตาลซึ่งแขวนอยู่บนบ่าก็เริ่มกล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า

"โอ ราชะ ภาระที่พระองค์ต้องทนแบกไว้นี้ช่างสาหัสสากรรจ์เสียจริง ๆ ไม่เหมาะสมแก่พระองค์เลย ถ้ากระไรข้าจะเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อจะได้ทรงเพลิดเพลิน ขอให้ทรงฟังเถิด"

บนฝั่งของแม่น้ำยมุนา ณ ที่แห่งนั้น เป็นเขตคามที่กำหนดไว้สำหรับพวกพราหมณ์โดยเฉพาะ มีชื่อว่าหมู่บ้านพรหมสถล ในหมู่บ้านนี้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอาศัยอยู่ มีชื่อว่า อัคนิสวามิน เป็นผู้ที่เจนจบในคัมภีร์พระเวททั้งปวง (คือคัมภีร์ไตรเวท ประกอบด้วยคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ต่อมาภายหลังได้เพิ่มเข้าไปอีกคัมภีร์หนึ่ง คืออถรรพเวท จึงเรียกว่า จตุรเวท) พราหมณ์ผู้นี้มีบุตรสาวแสนสวยผู้หนึ่งชื่อว่า มันทารวดี ความงามของนางล้ำเลิศหาที่เปรียบมิได้ราวกับเป็นผลงานที่พระพรหมทรงสรรค์สร้างขึ้น และเมื่อนางได้กำเนิดมาแล้วก็ดูเหมือนว่าท้าวธาดาเธอทรงสิ้นเยื่อใยในเทพอัปสรทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เมื่อนางเจริญวัยเป็นสาวแรกรุ่นนั้นปรากฏว่ามีพราหมณ์หนุ่มสามคนเดินทางมาจากแคว้นกันยกุพชะ พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้แตกฉานในศาสตร์ทั้งปวงเท่าเทียมกัน และพราหมณ์แต่ละคนก็มุ่งมาสู่ขอมันทารวดีโฉมงามจากบิดาของนาง ต่างคนต่างก็สาบานว่าถ้านางแต่งงานกับคนอื่น ตนก็จะฆ่าตัวตาย แต่บิดาของนางก็มิได้ยกนางให้แก่ใคร เพราะเกรงว่าถ้ายกให้คนหนึ่ง อีกสองคนก็จะฆ่าตัวตายเสีย ดังนั้นนางจึงคงอยู่เป็นโสดเรื่อยมามิได้คิดแต่งงานกับใคร และพราหมณ์ทั้งสามก็ยังคงพักอยู่ที่นั่นเรื่อยมา ทั้งกลางวันและกลางคืนก็เฝ้าแต่มองดูพักตร์ของนางอันงามเปล่งปลั่งราวกับสมบูรณจันทร์ (พระจันทร์เต็มดวง) ต่างก็ไม่ได้กินไม่ได้นอน ทำตนราวกับนกจโกระ (นกเขาไฟ ตามนิยายโบราณกล่าวว่า "ยังชีพอยู่ได้ด้วยแสงจันทร์") ซึ่งอาศัยแสงจันทร์เป็นอาหารฉะนั้น

ต่อมานางมันทารวดีล้มป่วยเป็นไข้อย่างรุนแรง นางมิอาจจะทนทานต่อพิษไข้ได้ก็ถึงแก่ความตาย พราหมณ์หนุ่มทั้งสามมีความเศร้าโศกอย่างยิ่ง นำร่างอันเป็นศพของนางไปสู่ป่าช้า สวดให้แก่นางด้วยความรักและเผาศพนางที่จิตกาธาน พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งสร้างกระท่อมน้อยขึ้นตรงที่ใกล้ เอาเถ้าถ่านอังคารของนางมาโปรยลงบนเตียงและนอนทับบนพื้น เขายังชีพไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยการถือกะลาขออาหารกินตามมีตามเกิด พราหมณ์คนที่สองรวบรวมกระดูกของนางเอาไปทิ้งในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพราหมณ์คนที่สามถือเพศเป็นโยคีท่องเที่ยวพเนจรไปยังดินแดนต่าง ๆ

โยคีเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อวัชรโลก จึงเข้าไปภิกขาจารที่บ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ท่านพราหมณ์ได้ต้อนรับเขาด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง เขาจึงนั่งบริโภคอาหารในบ้านพราหมณ์ผู้นั้น ขณะนั้นมีเสียงทารกร้องจ้าขึ้นมาและร้องติดต่อกันไม่หยุด ไม่มีใครจะห้ามให้หยุดได้ นางพราหมณีผู้เป็นมารดาบันดาลโทสะจึงจับทารกขึ้นมาแล้วโยนโครมลงไปในกองไฟ เด็กถูกไฟเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน โยคีผู้นั่งกินอาหารอยู่เงียบ ๆ แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ตกใจ รู้สึกสยดสยองจนขนหัวลุกชัน ร้องออกมาว่า "พุทโธ่ พุทโธ่เอ๋ย นี่ข้าเข้ามาในบ้านของพราหมณ์รากษสหรือนี่ ข้าไม่กินอะไรแล้ว เพราะการเสพอาหารในบ้านของพราหมณ์ปีศาจเช่นนี้เป็นบาปกรรมอย่างมหันต์ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม"

ขณะเมื่อเขากล่าวดังนี้ พราหมณ์ผู้คฤหบดี (เจ้าของบ้าน) จึงพูดว่า

"อย่าตกอกตกใจไปเลย ท่านจงคอยดู ข้าจะชุบชีวิตเด็กคนนี้ขึ้นใหม่ โดยการร่ายมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ดูสิ"

เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว มหาพราหมณ์ก็เดินไปหยิบคัมภีร์มหาเวทอันศักดิ์สิทธิ์มาเปิดออกแล้วสวดมนตร์บทหนึ่ง ขณะที่สวดอยู่ก็เอาขี้เถ้าโปรยลงในกองไฟ พอสวดจบลง เด็กก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ มีลักษณะและองคาพยพ (อวัยวะ) เหมือนเดิมทุกประการ พราหมณ์อาคันตุกะเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นก็ค่อยคลายใจ ลงมือเสพอาหารต่อไปตามปกติ พราหมณ์เจ้าของบ้านเมื่อร่ายมนตร์เสร็จแล้ว ก็เอาคัมภีร์ไปเก็บไว้ที่เดิม ลงมือกินอาหารเสร็จแล้วก็เข้านอนในราตรี พราหมณ์อาคันตุกะก็กระทำเช่นเดียวกัน

พอเห็นพราหมณ์เจ้าของบ้านและภรรยานอนหลับแล้ว โยคีหนุ่มก็ลุกขึ้นค่อย ๆ ย่องไปที่เก็บคัมภีร์และหยิบเอาไป ตั้งใจจะเอาไปใช้ชุบชีวิตให้แก่นางมันทารวดีผู้เป็นที่รัก โยคีหนุ่มออกจากบ้านนั้นไปพร้อมด้วยคัมภีร์มหาเวท รีบเร่งเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน มุ่งกลับไปยังสุสานที่ตนและพรรคพวกช่วยกันเผาศพนางครั้งนั้น พอมาถึงป่าช้าก็แลเห็นพราหมณ์คนที่สองเดินทางกลับมาแล้วหลังจากที่เอาอัฐิของนางไปโยนแม่น้ำคงคาเพื่อให้นางไปสู่สุคติ และที่สุสานนั้นเช่นกันก็แลเห็นพราหมณ์ผู้เอาอังคารธาตุของนางมาโปรยนอน กำลังหลับอยู่ในกระท่อมที่สร้างไว้ จึงพูดกับพราหมณ์สหายให้รื้อกระท่อมทิ้งเสีย เพื่อตนจะได้ทำพิธีร่ายมนตร์มฤตสัญชีวินี (มนตร์ชุบคนตายให้ฟื้นคืนชีวิต พระศุกร์ได้มาจากพระศิวะและสืบต่อกันมาถึงคนรุ่นหลัง) ชุบชีวิตนางขึ้นใหม่ เมื่อรื้อกระท่อมทิ้งแล้วเถ้าถ่านของนางก็ตกเรี่ยรายอยู่บนพื้นดิน โยคีหนุ่มเมื่อเห็นทุกสิ่งพร้อมแล้วก็เปิดคัมภีร์ร่ายมนตร์อันศิกดิ์สิทธิ์พร้อมกับโปรยฝุ่นลงไปบนพื้นดินผสมผสานกับเถ้าถ่าน มินานพอจบมนตร์ดังกล่าวก็ปรากฎร่างนางมันทารวดีขึ้นในกองไฟ นางก้าวออกมาจากกองไฟพิธีด้วยรูปโฉมอันเปล่งปลั่งงดงามยิ่งกว่าเดิม ราวกับทองคำที่ถูกไฟชำระแล้วมีความสุกปลั่งผุดผ่องฉะนั้น

เมื่อพราหมณ์ทั้งสามแลเห็นนางมันทารวดีผู้งามเฉิดฉายราวเทพอัปสรปรากฏเฉพาะหน้า ต่างคนต่างก็แทบจะคลั่งตายเพราะความรัก และต่างก็ทุ่มเถียงแก่งแย่งกรรมสิทธิ์ในตัวนางด้วยกัน ไม่มีใครยอมเสียสละแก่กัน พราหมณ์ผู้เป็นโยคีกล่าวว่า "นางต้องเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนร่ายมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ชุบนางขึ้นมาจากความตาย ข้าย่อมมีสิทธิ์ในตัวนาง" พราหมณ์คนที่สองเถียงว่า "นางควรเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนเอาอัฐิของนางไปโปรยลงในแม่น้ำคงคา ทำให้นางสะอาดบริสุทธิ์ด้วยสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์นั้น" และพราหมณ์คนที่สามก็กล่าวขึ้นอย่างเชื่อมั่นเต็มที่ว่า "ข้าเท่านั้นที่ควรจะได้นางเป็นภรรยา เพราะข้าเอาเถ้าถ่านของนางมาเก็บไว้และบำเพ็ญตบะเพื่อนางทุกวัน"

"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวยิ้ม ๆ "โปรดตัดสินทีเถอะ ว่าในสามคนนี้นางควรจะเป็นของใคร ถ้าพระองค์รู้แล้วแกล้งไม่ตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ"

ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนเมื่อได้ยินเวตาลพูดดังนั้นจึงตรัสว่า "ชายคนที่ร่ายมนตร์ทำให้นางคืนชีวิตขึ้นมานั้น ถึงแม้เขาจะต้องใช้ความสามารถและลำบากลำบนปานใด ก็ควรจะเป็นพ่อของนางเท่านั้น และพราหมณ์คนที่เอาอัฐิของนางไปสู่แม่น้ำคงคาก็ควรจะถือว่าเป็นลูกของนางอย่างเดียว ส่วนพราหมณ์ที่เก็บเถ้าถ่านของนางและคงอยู่ที่ป่าช้าถึงกับสร้างที่อยู่ตรงที่เผาศพนาง และบำเพ็ญตบะเพื่อนางนั่นต่างหาก ควรจะได้เป็นสามีของนางโดยแท้ เพราะเขาอยู่กับนางตลอดเวลามิได้ทอดทิ้งนางไปไหน แสดงความรักอันดื่มด่ำต่อนางแม้เพียงนอนบนเถ้าธุลีของนางโดยมิได้รังเกียจ"

เมื่อเวตาลได้ฟังพระเจ้าตริวิกรมเสนตรัส ดังนั้น เป็นการละเมิดสัญญาที่ตกลงกัน จึงอันตรธานจากบ่าของพระราชากลับไปที่อยู่ของตน แต่พระราชาก็ต้องทนลำบากติดตามหาตัวมันอีก ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงถือมั่นในสัจจะที่ให้ไว้แก่โยคีศานติศีล และบุคคลที่มีสัจจะเช่นพระองค์นั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ย่อมจะปฏิบัติเหมือนกันหมด คือต้องทำภาระของตนให้สำเร็จลุล่วงไป ไม่ว่าจะต้องทนลำบากแม้ใหญ่หลวงเพียงไร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๓

พระวีรกษัตริย์ตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาลเอามา ณ ที่นั้นได้แลเห็นซากศพที่มันสิงอยู่ห้องหัวบนกิ่งอโศก จึงปีนขึ้นไปจับตัวมันพาดไหล่ แล้วเสด็จกลับไปตามทางเดิม ระหว่างทางอันเงียบสงัด เวตาลได้ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่วิศามบดี" ข้ารู้สึกประหลาดใจมากที่แลเห็นพระองค์สู้ทนความลำบากเสด็จกลับไปมากลับมาหลายเที่ยว เพื่อจะทำธุระให้แก่คนอื่นโดยใช่เหตุ ข้าจึงคิดว่าจะเล่านิทานสนุก ๆ สักเรื่องหนึ่งถวาย เพื่อเป็นเครื่องปลอบพระทัย ขอทรงฟังเถิด"

แต่ปางบรรพ์มีพระนครอันใหญ่และสวยงามชื่อปาฏลีบุตร มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระเจ้าวิกรมเกศริน ซึ่งทรงมีคุณธรรมอันไพศาล พอ ๆ กับท้องพระคลังของพระองค์ซึ่งอุดมด้วยมณีรัตนนับไม่ถ้วน พระองค์มีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งมีความเฉลียวฉลาดอย่างอัศจรรย์ราวกับเทพยดาเข้าดลใจแลมีความชำนิชำนาญในศาสตร์ทั้งปวง เหตุที่มันต้องมาเกิดเป็นนกในชาตินี้ก็เพราะมันถูกสาปด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นกแก้วตัวนี้มีชื่อว่าวิทัคธจูฑามณี มันได้ทูลแนะนำพระองค์ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงผู้ทรงศักดิ์แห่งแคว้นมคธชื่อจันทรประภา เจ้าหญิงเองก็ทรงเลี้ยงนกไว้เป็นคู่พระทัยตัวหนึ่งเป็นนกขุนทองตัวเมียมีชื่อว่า โสมิกา เป็นนกที่เจนจบในวิชาการต่าง ๆ ทั้งนกแก้วและนกขุนทองถูกเลี้ยงไว้ในกรงทองกรงเดียวกันราวกับเป็นคู่ผัวเมียฉะนั้น

วันหนึ่งนกแก้วเกิดความกำหนัดในนางนกโสมิกาจึงกล่าวแก่นางว่า "มาแต่งงานกับข้าเถิด เจ้ารูปงาม ไหน ๆ เราก็หลับนอนและได้รับการเลี้ยงดูในกรงเดียวกันแล้ว"

นางนกขุนทองได้ฟังก็ตอบว่า "อย่าเลย ข้าไม่เคยพิศวาสในผู้ชายหน้าไหนทั้งนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วล้วนแต่ชั่วช้าและใจร้าย" ทั้งสองต่างก็โต้เถียงกันอย่างไม่ลดละ ในที่สุดเกิดท้าทายและพนันกันว่า ถ้านกแก้วชนะจะได้นกขุนทองเป็นเมีย และถ้านางนกขุนทองชนะ นกแก้วจะต้องกลายเป็นทาสของนางตลอดไป เมื่อตกลงกันดังนี้แล้วก็พากันไปเฝ้าเจ้าชาย ทูลเรื่องให้ฟังและขอให้ตัดสินอย่างยุติธรรม ขณะนั้นเจ้าชายประทับอยู่ในท้องพระโรงธารกำนัลของพระราชบิดา เมื่อได้ฟังคดีวิวาทของนกทั้งสอง จึงตรัสแก่นางนกโสมิกาว่า

"เจ้าจงเล่าให้ข้าฟังสิว่า เหตุใดจึงว่าผู้ชายเป็นคนอกตัญญู"

นางนกได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ขอทรงฟังเถิด" แล้วก็ลงมือเล่าเรื่องประกอบข้อกล่าวหาของตนดังต่อไปนี้

(เรื่องแทรกของนางนกโสมิกา)

พระเจ้าข้า ในสมัยโบราณมีพระนครชื่อ กามันทกี ในเมืองนี้มีพ่อค้าคนหนึ่งร่ำรวยมาก มีชื่อว่า อรรถทัตต์ พ่อค้ามีลูกชายอยู่เพียงคนเดียวชื่อ ธนทัตต์ เมื่อไวศยะผู้เศรษฐีถึงแก่กรรมลง ลูกขายก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ผลาญทรัพย์ที่มีอยู่แม้มากมายมหาศาลให้ห ด เ หี้ ย นไป ธนทัตต์คบเพื่อนที่ล้วนแต่ชั่วช้าเลวทราม ซึ่งคนชั่วเหล่านี้ได้ชักจูงให้เขาประพฤติชั่วต่าง ๆ มีการเล่นการพนันและอื่น ๆ ต่อมามิช้าทรัพย์สมบัติก็มลายไปหมด ชายหนุ่มมีความละอายที่กลายเป็นคนยากจนเพราะรักษาสมบัติของตัวเองไม่ได้ จึงละถิ่นฐานบ้านเรือนออกตุหรัดตุเหร่ไปในดินแดนต่าง ๆ

ในระหว่างทางที่ผ่านไป ชายหนุ่มมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง ชื่อจันทนปุระ และบังเกิดความหิวโหยเหนื่อยล้าเป็นอย่างยิ่ง จึงเข้าไปในบ้านนายวาณิชผู้หนึ่งเพื่อขออาหารกิน และราวกับโชคบันดาลให้เป็นไป เผอิญพ่อค้าผู้นั้นไม่มีบุตรชายและเห็นธนทัตต์เป็นชายหนุ่มรูปงามท่าทางเป็นผู้ดีมีสกุล ก็บังเกิดความสนใจ จึงไต่ถามเรื่องราวความเป็นมาของเขา เมื่อได้ทราบว่าเป็นไวศยะเหมือนกับตน นายวาณิชผู้เฒ่าก็รู้สึกยินดีจึงรับชายหนุ่มไว้เป็นบุตรบุญธรรม และยกธิดาชื่อรัตนวลีให้เป็นภรรยาอีกด้วย ธนทัตต์ก็อยู่บ้านพ่อตามีความสุขสำราญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กาลเวลาผ่านไป ธนทัตต์ผู้อยู่บ้านพ่อตาอย่างสุขสบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือก็เกิดความดิ้นรนขึ้นมาอีก คิดจะกลับบ้านเดิมเพื่อจะเอาทรัพย์ไปเล่นการพนันให้สนุกตื่นเต้นตามนิสัยสันดานเดิมของตนซึ่งอดไม่ได้ จึงขออนุญาตพ่อตาเดินทางกลับบ้านเดิมและพาภรรยาไปด้วย นายวาณิชเฒ่ามีบุตรสาวเพียงคนเดียวก็มีความอาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เมื่อขัดไม่ได้ก็จำใจต้องให้ตามสามีไป นางแต่งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ไปเต็มที่ มีพี่เลี้ยงเฒ่าติดตามไปเป็นเพื่อน ทั้งสามคนก็ออกเดินทางไป หลังจากที่เดินมาพักใหญ่ถึงป่าเปลี่ยว ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของพวกโจร ขายหนุ่มจึงกล่าวแก่นางผู้ภรรยาว่า เพื่อความปลอดภัยขอให้นางถอดเครื่องประดับมามอบให้ตนดูแล เพราะถิ่นนี้เป็นถิ่นโจร เมื่อได้รัตนาภรณ์อันมีค่ามาแล้ว ชายชั่วก็เก็บเข้ารวมกับห่อสมบัติของตนอนิจจาเอ๋ย ขอให้ตรองดูเดิดว่าเจ้าผัวจำแลงนี้มันชั่วชาติเพียงไร มันติดการพนันจนโงหัวไม่ขึ้น คนอย่างนี้ใจแข็งและคมกริบเหมือนดาบ

เจ้าโจรใจฉกาจเมื่อหลอกได้ทรัพย์ของภรรยาแล้ว ก็คิดจะฆ่านางเสียเพื่อปิดปาก จึงผลักนางกับแม่เฒ่าลงไปอยู่ในเหวแล้วรีบเดินทางต่อไป หญิงชรานั้นตายในเหวแต่นางบุตรสาวเศรษฐีหาได้ตายไม่ เพราะเมื่อตกลงไปในเหวนั้น เผอิญนางตกลงไปบนซุ้มไม้เลื้อยที่เกี่ยวพันกันราวกับลงไปอยู่ในตาข่าย นางจึงรอดชีวิตไป นางค่อยไต่เชิงเถาวัลย์ขึ้นมาจนถึงปากเหว มีความรู้สึกเหนื่อยอ่อนแทบจะขาดใจ นางค่อยลัดเลามาจนถึงทางที่นางผ่านมา และล้มลุกคุกคลาน โซซัดโซเซมาตามทางจนในที่สุดกลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัย แต่ร่างกายของนางฟกช้ำดำเขียวเจ็บระบมไปหมด เมื่อนางกลับมาถึงบ้าน บิดามารดาของนางตกใจมาก ไต่ถามสาเหตุด้วยความสงสัย นางผู้มีคุณธรรรมจึงกลับเรื่องเสียใหม่โดยกล่าวแก่บิดามารดาว่า

"พวกเราถูกโจรปล้นระหว่างทาง สามีของลูกถูกโจรมันจับมัดลากเอาตัวไป ยังไม่รู้ชะตากรรมเลย แม่เฒ่าถูกฆ่าตาย แต่ลูกรอดชีวิตมาได้เพราะเมื่อถูกเหวี่ยงลงเหวนั้น เผอิญตกไปค้างอยู่บนซุ้มไม้เลื้อยจึงไต่ขึ้นมาได้ ถึงปากเหวก็สลบเหมือด แต่นักเดินทางกลุ่มหนึ่งช่วยเอาไว้ โชคยังดีอยู่จึงกลับมาถึงบ้านได้"

เมื่อนางรัตนาวลีเล่าเรื่องจบ เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาก็กล่าวปลอบโยนนางต่าง ๆ มิให้เสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะการที่นางเอาชีวติรอดมาได้ก็นับว่าโชคช่วยอย่างมากแล้ว นางอยู่ในบ้านพ่อแม่เรื่อยมา แต่ไม่มีความสุขนักเพราะเฝ้าแต่คิดถึงสามีอันเป็นที่รักไม่เว้นวาย

ฝ่ายธนทัตต์ผู้สามีซึ่งเดินทางกลับไปเมืองที่ตนเคยอาศัยอยู่พร้อมด้วยทรัพย์สินของภรรยานั้น ต่อมามิช้าเขาก็ถลุงเงินจนหมดเกลี้ยงด้วยการเล่นการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ และปรนเปรอตัวเองด้วยของกินชนิดเลิศและสุรานารีไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเงินหมดก็คิดหาทางที่จะแสวงหาอีก โดยมีความคิดว่า "เราจะกลับไปบ้านพ่อตา อ้อนวอนขอเงินเขามาสัก้อนหนึ่งเอาไปทำทุน เราจะบอกแก่เขาว่า ลูกสาวของเขายังพักอยู่ที่บ้านของเรา มิได้เอามาด้วย" เมื่อทำกำหนดแผนการเรียบร้อยแล้ว ชายหนุ่มก็เดินทางไปที่บ้านพ่อตา พอเข้าประตูบ้านภรรยาของเขาแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจ วิ่งมาต้อนรับและทรุดตัวลงคารวะอย่างนอบน้อม ทั้งที่รู้อยู่ว่าเขาเป็นโจรใจอำมหิต ความจริงก็เป็นดังนี้แหละ ผู้หญิงดีนั้นแม้ผัวจะชั่วชาติสักปานใด นางก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเคารพรัก ที่นางมีต่อเขา เมื่อเห็นนางวิ่งเข้ามหาโดยไม่คาดฝัน ชายหนุ่มก็ตกใจแทบสิ้นสติ แต่นางก็กล่าวปลอบโยนเขาให้คลายใจ โดยกล่าววว่า นางได้สร้างเรื่องโกหกแก่บิดมารดาของนางว่า นางถูกโจรปล้นจับเอาตัวสามีไปและผลักนางตกเหว แต่นางเอาชีวิตรอดมาได้และยังไม่รู้ชะตากรรมของสามีว่าเป็นอย่างไร เมื่อชายหนุ่มได้ฟังก็หายวิตก เข้าไปสู่บ้านพ่อตาแม่ยายของตนพร้อมด้วยภรรยา ข้างพ่อตาแม่ยายแลเห็นเข้า ก็ดีอกดีใจที่ลูกเขยกลับมาได้ จึงเรียกประชุมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจัดการฉลองอย่างใหญ่โตเป็นการรับขวัญลูกเขย และประกาศว่า "ช่างน่ายินดีนี่กระไรที่ลูกเขยของเราถูกโจรจับไปแต่หนีรอดมาได้ในที่สุด"

หลังจากนั้นธนทัตต์ก็อาศัยอยู่กับนางรัตนาวลีในบ้านพ่อตาแม่ยายด้วยความสุข มีเงินทองใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เจ้าประคุณเอ๋ย คืนหนึ่งอ้ายคนชั่วเห็นได้โอกาสก็แอบฆ่าภรรยาของตนตอนที่นางหลับอยู่ กวาดเอาทรัพย์สินและของมีค่าต่าง ๆ หนีกลับไปสู่ถิ่นเดิมของตน มีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่มีใครได้ข่าวคราวอีกนับแต่นั้น

"ฉะนั้นเราอาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ผู้ชายมันก็ชั่วเหมือนกันทั้งโลกนั่นแหละ" นางนกขุนทองสรุปทิ้งท้ายอย่างแค้นเคือง

พระราชาจึงหันมาตรัสแก่นกแก้วว่า "คราวนี้ถึงทีเจ้าแล้วละ มีอะไรจะเถียงไหม"

นกแก้วได้ยินก็กล่าวว่า "โอ เทวะ ขึ้นขื่อว่าผู้หญิงแล้ว ล้วนมีจริตเหลือที่จะทนทาน เป็นคนทุศีล และชั่วช้าสามานย์เหมือนกันหมด ขอได้โปรดสดับเรื่องราวที่ข้าพระบาทจะเล่าถวายดังต่อไปนี้"

(เรื่องแทรกของนกแก้ว วิทัคธจูฑามณี)

มีนครหนึ่งชื่อหรรษวดี ในนครนี้มีไวศยะที่มีชื่อเสียงเลื่องลือคนหนึ่งมีชื่อว่า ธรรมทัตต์ มีทรัพย์หลายสิบโกฏิ พ่อค้าผู้นี้มีธิดาคนหนึ่งชื่อ วสุทัตตา มีความงามหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่รักของบิดาปานชีวิต ต่อมาเศรษฐีจัดการแต่งนางกับพ่อค้าหนุ่มผู้มั่งคั่งชื่อ สมุทรทัตต์ ซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สมบัติและรูปสมบัติอันงามพร้อม เป็นที่ต้องตาของสตรีทั้งหลายซึ่งทอดสายตาให้ด้วยความหลงใหลราวกับนกจโกระที่คลั่งไคล้ต่อแสงจันทร์ฉะนั้น ไวศยะหนุ่มผู้นี้มาจากเมืองตามรลิปติ ซึ่งเป็นแหล่งของคนดีมีเกียรติยศทั้งหลาย

ครั้งหนึ่งนางวสุทัตตตาพักอยู่ที่บ้านพ่อของนางในขณะที่สามีกลับไปทำธุรกิจในแว่นแคว้นของตน นางแลเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งเดินทางมาแต่ระยะไกล ชายผู้นั้นมีความงดงามมาก บังเกิดความพิศวาสหลงใหลด้วยอำนาจของมาร (ผู้เฒ่า เป็นฉายานามของกามเทพ) จึงแอบเชื้อเชิญเขาอย่างลับ ๆ และทำเขาให้เป็นชู้ของนาง หลังจากนั้นนางก็แอบมาพบเขาทุก ๆ คืน มีความคลั่งไคล้แต่ชายชู้ผู้เดียวโดยมิเสื่อมคลาย

ครั้นแล้ววันหนึ่ง สามีของนางก็กลับมาจากเมืองของเขา การปรากฏตัวของเขายังความปลาบปลื้มแก่บิดามารดาของนางอย่างยิ่ง ต่างก็ต้อนรับเขาอย่างกุลีกุจอ ในวันแห่งความรื่นรมย์นั้น แทนที่นางจะสดชื่นรื่นเริง กลับไม่พูดอะไรกับสามีเลย และเมื่ออยู่สองต่อสองกับนาง นางก็แกล้งทำเป็นหลับ ไม่ไยดีต่อสามี ในใจนางมีแต่ความโหยไห้คิดถึงแต่หนุ่มชายชู้เท่านั้น ส่วนสามีของนางมึนเมาไม่ได้สติเพราะเสพสุรา ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพราะการเดินทางมาตลอดวันทำให้เขาม่อยหลับไป

ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งแอบเจาะช่องกำแพงเล็ดลอดเข้ามาในบ้าน ประจวบกับนางวสุทัตตาลุกขึ้นจากเตียง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันงดงาม ประดับดัวยรัตนาภรณ์แพรวพราวระยับเดินออกมาจากห้องนอนโดยไม่ทันเห็นโจร มุ่งหน้าออกไปยังสถานที่ที่นางนัดไว้กับชายชู้ เมื่อโจรแลเห็นนางรีบลุกลี้ลุกลนออกไปก็สงสัย กล่าวแก่ตนเองว่า "นางผู้นี้ออกไปจากห้องในเวลาดึกดื่นเที่ยงคืนแต่งตัวงดงามด้วยปิลันธนาภรณ์อันมีค่าซึ่งเราตั้งใจจะเข้ามาขโมยพอดี ดีละเราจะสะกดรอยดูว่านางจะไปไหน" เมื่อโจรตั้งใจดังนี้แล้วก็แอบออกไปจากห้องติดตามนางวสุทัตตาไปโดยมิให้คลาดสายตา และนางไม่ทันสังเกต

นางวสุทัตตาถือช่อดอกไม้และของขวัญอันมีค่าเดินออกจากบ้านไป มีโจรติดตามไปอย่างลับ ๆ เข้าไปสู่อุทยานแห่งหนึ่งนอกพระนครออกไปไม่ไกลนัก ที่อุทยานั้นเอง นางได้เห็นชู้รักของนางถูกแขวนคอห้อยอยู่กับกิ่งไม้ด้วยเชือกเส้นหนึ่ง เนื่องจากราชบุรุษ(ตำรวจ) มาพบเขาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ในสวนในเวลากลางคืน จึงจับเขาแขวนคอเป็นการลงทัณฑ์เพราะคิดว่าเขาเป็นขโมย นางซวนกายผงะหงายด้วยความตกใจแทบสิ้นสติ ร้องออกมาว่า "ฉิบหายแล้วเรา" พร้อมกับทรุดกายลงนั่งกับพื้นดินร่ำไห้ด้วยความรักและเสียดาย

เมื่อค่อยสร่างโศกได้สติขึ้นนางจึงปีนขึ้นไปบนกิ่งไม้ แก้เชือกออกปล่อยร่างชู้รักลงไปบนพื้น แล้วลงมายกศพของเขาขึ้นวางในท่านั่งแล้วลูบไล้ร่างกายของเขาด้วยวิเลปนะของหอม และประดับด้วยบุปผามาลัยอันวิจิตร และถึงแม้ร่างของเขาจะปราศจากชีวิตแล้ว นางก็ยังโอบกอดเขาไว้ด้วยความเสน่หา ร่ำไห้เหมือนใจจะขาด และในความโศกรันทดนั้นเอง นางจับหน้าของเขาให้เงยขึ้นและประจงจูบอย่างทะนุถนอม ขณะนั้นเวตาลเข้าสิงศพอยู่ เห็นนางยื่นหน้าเข้ามาใกล้ก็กัดจมูกนางในทันที นางวสุทัตตาตกใจรีบผละหนีไป แต่แล้วก็เกิดความงุนงงจับต้นชนปลายไม่ถูก จึงเดินกลับมาใหม่เพื่อจะดูให้แน่ว่าชู้รักของนางยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ครั้นเห็นเวตาลละร่างไปแล้ว และร่างนั้นตายสนิทเคลื่อนไหวต่อไปอีกไม่ได้ นางก็ผละจากศพนั้นเดินทางกลับไปบ้าน ร้องไห้ด้วยความกลัวและอัปยศอดสู

ระหว่างนั้นโจรซึ่งแฝงกายแอบดูอยู่ ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็กล่าวแก่ตัวเองว่า

"นางหญิงชั่วมาทำอะไรที่นี่ อนิจจา จิตใจของผู้หญิงนี้ช่างน่ากลัวและดำราวกับความมืดของบ่อน้ำลึกสุดหยั่งที่ใครตกลงไปแล้วไม่มีวันจะได้กลับขึ้นมาได้อีก เราสงสัยนักว่านางจะทำอย่างไรนับแต่นี้"

หลังจากรำพึงดังนี้แล้ว โจรก็แอบย่องตามนางกลับไปทางเดิมด้วยความพิศวงว่านางจะแก้สถานการณ์ด้วยวิธีใด

นางวสุทัตตากลับไปถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องนอน เห็นสามียังหลับอยู่ก็ทำตีอกชกหัวร้องไห้ร้องห่ม แผดเสียงว่า "ช่วยด้วย ช่วยด้วย ไอ้คนชาติชั่วผัวเลวทรามมันกัดจมกูข้าขาดแล้ว ข้าไม่ได้ทำความผิดอะไรแม้แต่สักนิด" ฝ่ายสามีของนางพร้อมด้วยพ่อตาและบรรดาคนใช้ได้ยินเสียงนางร้องตะโกนดังนั้น ต่างตกใจตื่นและวิ่งกรูกันมาด้วยท่าทางตื่นเต้น บิดานางวสุทัตตาแลเห็นลูกสาวของนางที่ถูกกัดมาใหม่ ๆ ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นการกระทำของลูกเขยตน จึงให้บ่าวไพร่ช่วยกันจับตัวมัดและกล่าวหาว่าชายผู้เคราะห์ร้ายเป็นคนทำร้ายธิดาของตน ฝ่ายสมุทรทัตต์ถึงแม้จะถูกมัดและถูกกล่าวหาดังนั้นก็ยังคงนิ่งเฉยมิได้ตอบโต้แต่ประการใด ราวกับเป็นใบ้ พ่อตาและคนอื่น ๆ ต่างก็หันหลังให้แก่เขาด้วยความชิงชัง

เมื่อนายโจรได้เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ค่อย ๆ เลี่ยงหลบไปเงียบ ๆ และเมื่อคืนแห่งความโกลาหลดังกล่าวได้ผ่านไปแล้ว ถึงเวลาเช้าบุตรไวศยะก็ถูกลากตัวไปเฝ้าพระราชาพร้อมด้วยนางผู้ภรรยาซึ่งมีจมูกโหว่เพราะถูกกัด เมื่อพระราชาได้ฟังเรื่องราวฟ้องร้องดังนั้น มิทันได้พิจารณาโดยรอบคอบก็สั่งให้เพชฌฆาตนำตัวบุตรพ่อค้าไปประหารในข้อหาว่า ทำร้ายภรรยาของตนให้พิการ ทั้งนี้โดยมิฟังข้อแก้ตัวใด ๆ เลย ขณะที่ชายหนุ่มถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงเพื่อประหารชีวิต และกลองตีรัวเป็นสัญญาณนั้น ก็มีโจรผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้นและกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้เป็นราชบุรุษว่า "ท่านไม่ควรจะประหารชายผู้นี้เพราะเขามิได้กระทำผิดเลยสักนิด ข้าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดแต่ผู้เดียว พาข้าไปเฝ้าพระราชาโดยเร็วเถิดเพื่อจะได้ทูลความจริงให้ทรงทราบ"

เมื่อได้ยินโจรเล่าวดังนั้น บรรดาราชบุรุษก็พาโจรไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้รับราชานุญาตแล้ว โจรก็กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบโดยตลอดตั้งแต่ต้น และกล่าวเสริมว่า "ถ้าพระองค์ไม่เชื่อข้าพระบาทก็โปรดทอดพระเนตรจมูกของผู้หญิงคนนี้ในปากของศพชายชู้ของนางเถิด"

พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ส่งราชบุรุษไปดูสถานที่เกิดเหตุก็ได้ทราบความจริงจึงกลับคำพิพากษาให้งดโทษประหาร แต่สั่งให้เนรเทศหญิงชั่วไปให้พ้นแว่นแคว้น พร้อมกับตัดใบหูเสียงทั้งสองข้าง ยิ่งกว่านั้นยังโปรดให้ริบทรัพย์ของผู้เป็นบิดานางเสีย และสำหรับนายโจรนั้น พระราชาทรงโปรดปรานว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดและกล้าหาญจึงตั้งให้เป็นหัวหน้าตุลาการของพระนคร

"ได้โปรดเกล้า ทรงเห็นหรือยังว่าผู้หญิงนั้นโดยธรรมชาติเป็นคนชั่วร้ายและเจ้าเล่ห์แสนกลเพียงใด" นกแก้วกล่าวสรุปในที่สุด

พอเล่าเรื่องจบลง นกแก้วก็พ้นจากคำสาปของพระอินทร์ กลายร่างเป็นคนธรรพ์รูปงามชื่อ จิตรรถ เหาะไปสู่สรวงสวรรค์ ขณะเดียวกันคำสาปของนางนกขุนทองก็เสื่อมลง นางนกโสมิกาก็กลายร่างเป็นนางเทพอัปสรชื่อ ติโลตตมา กลับคืนไปถวายการบำเรอท้าววัชรินทร์ในสวรรค์เช่นเดิม อย่างไรก็ดี กรณีพิพาทของนกทั้งสองก็ยังไม่ได้ตัดสินในท้องพระโรง

 

เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "ขอพระองค์โปรดทรงวินิจฉัยด้วยเถิดว่า ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงพูดถูก ถ้าพระองค์ทราบแล้วมิแสดงความเห็น พระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ โดยพลัน"

ฝ่ายพระราชาเมื่อถูกเวตาลซึ่งห้อยอยู่บนบ่ากล่าวถ้อยคำดังนั้นก็ตรัสว่า "นางจอมมายาหญิงในเรื่องของนกแก้วนั่นแหละเป็นหญิงที่ชั่วช้าที่สุด เพราะว่าผู้ชายอาจจะหลงทำผิดได้ชั่วครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ผู้หญิงนั้นว่าโดยความจริงเป็นคนชั่วในทุกโอกาส"

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสดังนี้ เวตาลก็หลุดลอยหนีไปจากพระอังสาของพระองค์ กลับไปยังที่เดิม และพระราชาก็ต้องเสด็จย้อนไปทางเดิมเพื่อไปจับตัวเวตาลกลับมาใหม่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 16:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๔

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง และคว้าตัวเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพโดยปราศจากความหวาดกลัวถึงแม้มันจะกรีดเสียงร้องโหยหวนเพียงใดก็ตาม เมื่อจับมันได้แล้วก็ตวัดร่างมันขึ้นพาดบ่า เสด็จไปตามทางเดินอย่างเงียบ ๆ เวตาลเห็นพระราชานิ่งเงียบอยู่ ก็กล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า

"โอ ราชะ ข้าไม่คิดเลยว่าพระองค์จะมาเสียเวลาทำงานให้แก่อ้ายโยคีชั่วคนนั้น เพื่อประโยชน์อันใด จะว่าไปพระองค์ก็รู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือว่า งานที่ทรงทำนี้ย่อมไร้ผลเปล่าโดยแท้ อย่างไรก็ดีหนทางยังอยู่อีกไกล ข้าคิดว่าข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้พระองค์ฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อคลายเหงาโปรดทรงสดับเถิด"

แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ยังมีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ โศภาวดี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่ทรงทนามว่า ศูทรกะ เป็นผู้ห้าวหาญอย่างยอดยิ่งในสงคราม ซึ่งไฟแห่งชัยชนะของพระองค์ถูกกระพือโหมให้เจิดจ้าด้วยพัดที่โบกจากหัตถ์ของ นางกษัตริย์ที่ตกเป็นเชลยเพราะสวามีทั้งหลายต้องพ่ายแพ้ในสงคราม ข้าคิดว่าแผ่นดินโลกนี้มีเกียรติมหาศาลในรัชสมัยของพระราชาองค์นี้โดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาโดยตลอด มิได้หยุดเว้่นแม้แต่สักวัน คุณธรรมของพระองค์ชนะใจแม้กระทั่งแม่พระธรณี ทำให้พระเทวีลืมบุคคลอื่นโดยสิ้นเชิง แม้องค์พระรามจันทร์ผู้ยอดเยี่ยมในวีรจริตก็ตาม

สมัยหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ วีรวร เดินทางมาจากแคว้นมาลวะ เพื่อมารับจ้างทำงานในราชสำนักของพระราชา เพราะทราบกิตติศัพท์ว่าพระราชาผู้นี้เป็นผู้โปรดปรานคนกล้า ภรรยาของพราหมณ์ชื่อนางธรรมวดี และทั้งสองสามีภริยามีบุตรชายด้วยกันชื่อ สัตตววร และบุตรสาวชื่อวีรวดี คนทั้งสามนี้เป็นครอบครัวของเขา นอกเหนือจากลูกน้องซึ่งมีอีกสามคน วีรวรนั้นเหน็บกริชไว้ที่สีข้าง มือข้างหนึ่งถือดาบ และอีกข้างหนึ่งถือโล่

ถึงแม้ว่าเขาจะรวมกันเป็นบริษัทอันน้อยนิดเท่านี้ก็ตาม เขายังกล้าเรียกร้องค่าจ้างต่อพระราชาถึงวันละห้าร้อยเหรียญทีนาร์ (เหรียญทองโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย) แต่พระราชาศูทรกะก็มิได้เกี่ยงงอน ทั้งนี้เพราะพอพระทัยในรูปร่างท่าทางอันแข็งแรงของเขา จึงตกลงจ้างเอาไว้ แต่ก็ทรงพิศวงในพระทัยไม่หาย ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรมากมายทั้ง ๆ ที่เขาก็เลี้ยงคนเพียงไม่กี่คน พระราชาจึงสั่งให้สายลับของพระองค์ติดตามดูพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด ความจริงปรากฎว่าทุก ๆ วัน วีรวรจะต้องเข้าเฝ้าพระราชาตอนเช้า ตอนกลางวันยืนยามอยู่หน้าประตูวัง มือถือดาบมั่นคง หลังจากนั้นก็กลับไปบ้าน จ่ายเงินหนึ่งร้อยทีนาร์แก่ภรรยาเป็นค่าอาหาร และจ่ายหนึ่งร้อยเหรียญเพื่อเสื้อผ้า วิเลปนะเครื่องลูบไล้ร่างกาย และซื้อหมากพลู เมื่ออาบน้ำแล้วเอาเงินหนึ่งร้อยเหรียญไปบูชาพระวิษณุและพระศิวะ อีกสองร้อยเหรียญสุดท้ายใช้ทำบุญแก่พราหมณ์ที่ยากจน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการใช้จ่ายประจำวันจากเงินค่ารับจ้างห้าร้อยเหรียญต่อวัน หลังจากนี้วีรวรก็ทำการบูชายัญด้วยเนยใส และทำพิธีอื่น ๆ อีก เสร็จแล้วจึงรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็กลับไปอยู่ยามหน้าประตูวังตามเดิมตลอดถึงเวลาค่ำคืนยืนถือดาบเปลีอยอยู่

เมื่อพระราชาศูทรกะได้ทราบเรื่องจากสายลับที่ไปสืบได้ความว่า วีรวรเป็นผู้ประพฤติชอบธรรมดังนั้น ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก จึงโปรดให้จารบุรุษเหล่านั้นยุติการติดตามวีรวร และทรงนิยมเลื่อมใสว่าเขาช่างเป็นคนดีนี่กระไร

วันหนึ่งอากาศร้อนจัด ดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าจนแทบจะทนไม่ไหว และแล้วมรสุมใหญ่ก็เคลื่อนเข้ามาพร้อมด้วยเสียงคำรามกึกก้องในท้องฟ้า สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงไม่ขาดสายทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วีรวรก็ยังยืนนิ่งไม่สะทกสะท้านอยู่กลางห่าฝนที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าศูทรกะทอดพระเนตรเห็นในเวลากลางวันจากยอดมนเทียร ครั้นเวลากลางคืนเสด็จขึ้นไปยอดมนเทียรอีกเพื่อดูว่าเขายังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า จากที่นั้นพระราชาตะโกนลงไปว่า "ใครยืนอยู่ที่ประตูวังนั่น" เมื่อวีรวรได้ยินก็ตอบไปว่า "ข้าพระบาทเอง พระเจ้าข้า" พระราชาศูทรกะทรงนึกในพระทัยว่า "อา วีรวร เจ้าช่างเป็นชายที่เข้มแข็งและจงรักภักดีต่อข้ายิ่งนัก ข้าจะเลื่อนเจ้าให้มีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่านี้" เมื่อพระราชาทรงคิดดังนี้แล้วก็เสด็จลงจากยอดมนเทียรเข้าสู่สิริไสยาและเข้าบรรทม

ในวันรุ่งขึ้น เมฆดำในท้องฟ้าก็ยังหลั่งฝนลงมาอย่างรุนแรงตามเดิม ความมืดแผ่ซ่านไปทั่วเหมือนจะบดบังไม่ให้เห็นสวรรค์อีกต่อไป พระราชาเสด็จขึ้นไปบนยอดมนเทียรอีกครั้งด้วยความสนใจใคร่รู้ ทรงตะโกนถามลงไปด้วยเสียงอันแจ่มใสว่า "ใครยืนเฝ้าหน้าประตูปราสาทนั่น" วีรวรก็ตะโกนขึ้นไปว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่"

ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังนึกชื่นชมองครักษ์ของพระองค์อยู่นั้น พลันได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญมาแต่ที่ไกล เป็นเสียงโหยหวนเหมือนคนมีทุกข์ใหญ่ปิ่มว่าใจจะขาดรอน เมื่อพระราชาได้สดับดังนั้นก็บังเกิดความสงสารจับใจ กล่าวแก่พระองค์เองว่า "ในอาณาจักรของข้า ไม่มีใครถูกบังคับกดขี่ ไม่มีคนยากไร้ หรือมีใครเดือดร้อน ก็ผู้หญิงคนนี้เป็นใครเล่า จึงมาพิลาปร่ำไห้อยู่แต่ผู้เดียวในยามค่ำคืนเช่นนี้" คิดดังนี้แล้วพระราชาก็ออกคำสั่งแก่วีรวรผู้ยืนอยู่ข้างล่างว่า "ฟังนะวีรวร ข้าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ในที่ไกล จงออกไปดูว่านางคือใคร และนางร้องไห้ทำไม"

เมื่อวีรวรได้ฟังรับสั่งก็กราบทูลว่า "ข้าพระบาทจะไปสืบดู พระเจ้าข้า" แล้วออกเดินหา มือถือดาบกระชับแน่น มีกริชห้อยเอว ค่อยด้อมมองเหมือนรากษสที่ด้อมหาเหยื่อ มีแสงฟ้าแลบแวบวาบจากท้องฟ้าดูประหนึ่งแสงจากดวงตาของอสูรร้าย และเม็ดฝนซึ่งตกกราดไปทั่วนั้นเล่าก็ดูประหนึ่งก้อนหินที่มันขว้างปามาฉะนั้น พระราชาศูทรกะเมื่อแลเห็นองครักษ์หนุ่มออกวิ่งไปแต่ผู้เดียวในราตรีเช่นนั้น พระทัยของพระองค์ก็เป็นห่วง และเกิดความอยากจะรู้เหตุการณ์จึงรีบเสด็จลงจากยอดมนเทียร พระหัตถ์กุมดาบวิ่งตามหลังไปติด ๆ แต่ลำพังโดยที่เขาไม่ทันรู้

วีรวรวิ่งติดตามเสียงคร่ำครวญไปจนถึงบึงแห่งหนึ่งอยู่นอกพระนคร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มแลเห็นหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในบึงกำลังเปล่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ นางแลเห็นเขาก็กล่าวว่า "โอ ท่านผู้วีระ ท่านผู้มีเมตตา ท่านผู้มีใจอันกว้างขวาง ขอท่านจงช่วยเหลือข้าด้วยเถิด ข้าจะอยู่ได้อย่างไรเล่า ถ้าปราศจากท่านเสียแล้ว" ฝ่ายวีรวรผู้ซึี่งพระราชาแอบติดตามมาเงียบ ๆ ได้ฟังถ้อยคำของหญิงลึกลับก็กล่าวด้วยความสนเท่ห์ว่า "เธอเป็นใครทำไมมานั่งคร่ำครวญอยู่ที่นี่"

นางได้ฟังก็ตอบว่า "วีรวรที่รัก ท่านจงรู้เถิดว่าข้านี่แหละคือแม่นางธรณี และพระราชาศูทรกะนั้นเป็นนาถะของข้า น่าเสียดายที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เสียแล้วนับแต่นี้ไปอีกสามวัน ข้าจะอยู่ต่อไปได้ไฉน และข้าจะหาใครที่เป็นที่พึ่งอันวิเศษสุดเช่นพระองค์ได้ที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้แหละข้าจึงเศร้าโศกและมานั่งคร่ำครวญสงสารตัวเองและพระราชาองค์นั้นด้วย"

วีรวรได้ยินนางกล่าวก็ตกใจ กล่าวละล่ำละลักว่า

"เรื่องเป็นเช่นนั้นหรือ โอ้พระปฤถิวีเทวี จะมีหนทางใดที่จะช่วยชีวิตของพระราชาไว้ได้เล่า เหตุใดพระโลกนาถจะต้องสิ้นพระชนม์ชีพด้วยเล่า"

พระธรณีนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า

"มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกผันชะตากรรมนี้ได้ และเจ้าผู้เดียวที่จะรับภาระนี้ไป"

เมื่อได้ฟังดังน้น วีรวรก็รีบรับคำว่า "บอกมาเถิด พระแม่เจ้า บอกมาเร็ว ๆ เพื่อข้าจะได้รีบทำ ข้าเต็มใจทุกอย่างแม้จะต้องพลีด้วยชีวิตของข้าก็ตาม"

พระเมทนีได้ฟังก็กล่าวว่า "ใครเล่าจะกล้าหาญและภักดีต่อองค์พระภูบดีเหมือนเจ้า จงฟังคำของข้าให้ดี วิธีที่จะช่วยพระนฤบดินทร์ได้มีอยู่ทางเดียวคือ เจ้าต้องเอาลูกของเจ้าคือสัตตววรสังเวยต่อพระแม่เจ้าจัณฑี (ผู้ดุร้าย หมายถึงพระอุมา มเหสีของพระศิวะในปางดุร้าย ซึ่งเป็นปางที่พระเทวีมาปรากฏพระองค์เพื่อทำสงครามกับเหล่าอสูรเท่านั้น บางทีเรียกว่าเจ้าแม่กาลี) พระมหาเทวีผู้ทรงเกียรติระบือจะทรงปรากฏพระกายต่อหน้าผู้ภักดีต่อพระองค์และพร้อมจะทรงช่วยได้เสมอ พระจัณฑีผู้นี้ประทับอยู่ภายในวิหารที่อยู่ใกล้พระราชวังนี้แหละ เจ้าจงทำอย่างที่ข้าแนะและพระราชาก็จะปลอดภัย และมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกร้อยปี ถ้าเจ้าจะปฏิบัติตามคำของข้าโดยเร็ว ข้าก็เชื่อแน่ว่าพระชนม์ชีพของพระองค์จะดำรงอยู่ แต่ถ้าเจ้ามัวแต่รีรอ ก็เชื่อเถิดว่า พระราชาจะต้องสิ้นชีวิตภายในสามวั้นนับแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อพระปฤถิวีเทวีแจ้งให้ทราบเรื่องความลับดังนี้ วีรวรก็ให้คำมั่นสัญญาว่า "ข้าแต่พระเทวี ข้าจะไปดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด" พระเทวีจึงให้พรว่า "ขอจงสำเร็จเถิด" แล้วอันตรธานหายไป ถ้อยคำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบดังกล่าวมิได้รอดพ้นโสตของพระราชาไปได้ เพราะพระองค์แอบติดตามวีรวรมาอย่างลับ ๆ โดยที่วีรวรไม่รู้ตัว

วีรวรกลับไปบ้านของตนอย่างรวดเร็วในความมืด ส่วนพระราชาศูทรกะมีความอยากรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ก็แอบย่องตามหลังชายหนุ่มไปติด ๆ โดยเขาไม่รู้สึกตัว แลเห็นวีรวรตรงเข้าไปหานางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาและแจ้งให้นางทราบว่า ตนได้รับคำแนะนำจากพระธรณีให้มาเอาบุตรชายไปสังเวยต่อเจ้าแม่กาลี เพื่อช่วยชีวิตพระราชา เมื่อนางได้ฟังก็กล่าวว่า

"ท่านพี่ เรามีหน้าที่ต้องพิทักษ์พระชนม์ชีพของพระราชา จงอย่ารีรอเลย รีบไปปลุกลูกชายของเราเถิด และแจ้งให้เขาทราบด้วยตัวท่านพี่เอง"

วีรวรจึงปลุกลูกชายของตนให้ลุกขึ้น เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และกล่าวว่า "สัตตววรลูกรัก จงรู้เถิดว่า ถ้าเจ้ายอมเป็นเครื่องสังเวยพระแม่เจ้าจัณฑี พระราชาก็จะรอดชีวิต แต่ถ้าเจ้าไม่ยินยอม พระราชาก็จะต้องสูญสิ้นพระชนม์ชีพภายในสามวัน"

สัตตววรแม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่งสมกับชื่่อ สัตตววร ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีชื่อเสียงอันโดดเด่นเพราะความกล้าหาญ" เด็กน้อยจึงตอบบิดาว่า

"ลูกจะสังเวยชีวิตเพื่อพระราชาเอง เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณของพระองค์ผู้ประทานข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตของพวกเรา ฉะนั้นจะต้องลังเลทำไม เอาลูกไปวางบนแท่นสังเวยของพระแม่เจ้าเถิด ขอให้ลูกเป็นผู้รับภาระอันนี้เพื่อความผาสุกขององค์นฤบดีเถิด"

เมื่อสัตตววรกล่าวเช่นนี้ วีวรก็โล่งอก กล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าช่างสมเป็นลูกพ่อยิ่งนัก"

ฝ่ายพระราชาผู้สะกดรอยตามมาและแอบฟังอยู่ข้างนอก ได้ยินเรื่องราวโดยตลอดก็ทรงตื้นตันพระทัยนัก ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า "อา คนเหล่านี้มีความกล้าหาญเหมือนกันหมดโดยแท้"

วีรวรนำบุตรชายออกจากบ้าน ให้เด็กน้อยนั่งบนบ่า และนางธรรมวดีผู้ภรรยาก็จูงลูกสาวชื่อ วีรวดี ติดตามมาด้วย พากันไปยังเทวาลัยของพระจัณฑี ฝ่ายพระราชาก็ติดตามมาดูเหตุการณ์อย่างกระชั้นชิด

คร้ันแล้ววีรวรก็อุ้มลูกชายลงจากบ่า และวางบนแท่นสังเวยของเทวรูป เมื่อสัตตววรถูกนำมาสู่เบื้องพระพักตร์พระเทวีก็มิได้มีความหวาดหวั่นแต่ประการใด ก้มศีรษะลงอย่างนอบน้อม กล่าวว่า

"ข้าแต่พระเทวี ขอให้การสังเวยศีรษะของข้าในวันนี้จงเป็นผลยังพระราชาศูทรกะให้ดำรงพระชนม์ชีพยืนนานถึงร้อยปีด้วยเถิด ขอให้พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยความเกรียงไกรไร้ผู้ต้านทานเถิด"

เมื่อสัตตววรกล่าวจบลง วีรวรก็เปล่งเสียงด้วยความยินดีว่า "ดีละ ลูกของพ่อ" พร้อมกับชักดาบออกจากฝักฟันฉับลงไปที่คอของบุตรชาย แล้วนำไปถวายเบื้องพระพักตร์พระจัณฑีเทวี และกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้สังเวยบุตรต่อองค์พระแม่เจ้าแล้ว ขอทรงช่วยให้พระราชารอดพ้นความตายด้วยเถิด"

ทันใดก็มีเสียงอุโฆษลอยมาในอากาศทำให้ได้ยินทั่วกันว่า "สาธุ วีรวรเจ้าช่างเป็นคนซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชานี่กระไร จะหาใครเสมอเหมือนเจ้าก็ยากนัก เพราะการที่เจ้าทำการสังเวยต่อข้าด้วยชีวิตของลูกชายผู้ประเสริฐดังนี้ พระราชาศูทรกะจะมีพระชนม์ชีพยาวนาน และอาณาจักรของพระองค์จะรุ่งโรจน์สืบไปชั่วกาลนาน"

ขณะนั้นเองนางวีรวดีบุตรสาวของวีรวรก็ลุกขึ้น ตรงไปสวมกอดศีรษะของพี่ชาย ซึ่งหาชีวิตไม่แล้ว สะอึกสะอื้นด้วยความรันทด และด้วยความทุกข์แสนศัลย์สุดทีี่จะทนทาน หัวใจนางก็แตกสลายล้มลงขาดใจตาย พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยตลอดจากที่ซ่อนของพระองค์

ทันใดนั้นนางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาของวีรวรก็ลุกขึ้นกล่าวแก่สามีว่า "เราได้ช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินและอาณาจักรของพระองค์ไว้แล้ว บัดนี้ข้ามีบางสิ่งจะพูดกับท่าน ก็ตั้งแต่ลูกสาวของข้า แม้เป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ยังต้องมาตายเพราะความโศกเศร้าถึงพี่ชาย เป็นอันว่าชีวิตของลูกทั้งสองของข้าก็สิ้นสูญไปแล้ว ชีวิตของข้าจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ข้าเป็นคนโง่เองที่มิได้เสนอตัวเองเพื่อสังเวยตั้งแต่แรกเพื่อความอยู่รอดของพระราชา ฉะนั้นขอให้ข้าเข้ากองไฟตายพร้อมกับลูก ๆ ด้วยเถิด"

เมื่อนางปลงใจจะทำเช่นนี้ วีรวรก็ขัดไม่ได้ จึงกล่าวแก่นางว่า

"นางผู้เป็นภัฏฏินี (หญิงผู้เจริญ หญิงผู้ดี) ของข้า ถ้าเป็นความประสงค์ของเจ้า ก็จงทำเถิด ขอความเจริญจงมีแก่เธอ ข้ารู้ว่าข้าไม่อาจจะยับยั้งเจ้าได้ เพราะเจ้ามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำเช่นนี้ ข้ารู้ว่าเจ้าจะทนทานต่อไปอีกไม่ไหวเพราะเมื่อสิ้นลูก ชีวิตเจ้าก็พลอยสิ้นสูญไปด้วย แต่อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองเลย เพราะเจ้าเองมิได้ถูกกำหนดให้ต้องสังเวยชีวิต ตัวข้าก็เช่นเดียวกันที่จะต้องสังเวย ถ้ามิใช่ความประสงค์ของพระแม่เจ้าที่ประสงค์เฉพาะลูกชายของข้าเท่านั้น เจ้าจงคอยอยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าข้าจะจัดกองไฟสำหรับเจ้าด้วยฟืนเหล่านี้ และทำรั้วล้อมรอบมณฑลแห่งยัชญพิธีของพระแม่เจ้าเสียก่อน" วีรวรกล่าวจบก็ลงมือทำจิตกาธาน (ที่เผาศพ ,เชิงตะกอน) และรั้วยัชญมณฑลจนเสร็จเรียบร้อย แล้ววางศพลูกทั้งสองบนกองฟืน จุดไฟลุกโชติช่วงด้วยตะเกียง

นางธรรมวดีเห็นทุกสิ่งจัดเตรียมเรียบร้อยแล้วก็คุกเข่าลงแทบเท้าสามีกล่าวอำลา และหลังจากที่บูชาพระแม่เจ้าจัณฑีแล้ว ก็สวดมนตร์และอธิษฐานว่า "ขอให้สามีในปัจจุบันของข้าได้ไปเจอกันอีกในชาติหน้าภพใหม่ และขอให้การสังเวยชีวิตของข้าจงเป็นผลเพื่อสวัสดิภาพของพระราชานั้นทุกประการ" กล่าวจบนางผู้เลิศด้วยคุณธรรมก็โผร่างเข้าหากองไฟอันช่วงโชติในจิตกาธานซึ่งเป็นเปลวแลบเลียไปทั่วทุกทิศทุกทาง

ครั้นแล้ววีรวรบุรุษผู้วีระก็กล่าวแก่ตนเองว่า

"เราได้ทำทุกสิ่งไปแล้วเพื่อการรอดชีวิตของพระราชา และทำตามที่เสียงสวรรค์ได้เป็นประจักษ์พยานรับรู้ บัดนี้เราก็ใช้หนี้ให้แก่นายของเราผู้ให้ข้าวให้น้ำเรากินจนหมดสิ้นแล้ว บุญคุณอื่นใดเป็นอันยุติ เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอิสระแล้ว ประโยชน์อันใดที่เราจะยึดมั่นในชีวิตนี้อีกต่อไป การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากผู้เป็นที่รักคือลูกและเมียย่อมไร้ค่าสำหรับคนซึ่งมีหน้าที่จะต้องกระทำอย่างเรา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ไยเราไม่สังเวยชีวิตที่เหลืออยู่นี้ให้แก่พระทุรคาเทวี(เทวีผู้เข้าถึงยาก หมายถึงพระอุมาปางดุร้าย) เล่า"

เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาก็ก้าวเข้าไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเทวี และกล่าวโศลกถวายด้วยความนอบน้อมว่า

"ขอเกียรติคุณจงมีแด่พระเทวีผู้ประหารมหิษาสูร (อสูรผู้มีร่างเป็นควาย เป็นอสูรร้ายกาจที่พระทุรคาต้องเสด็จมาปราบและทรงประหารมันได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้นามว่า มหิษาสรมรรทินี ) ในบรรพกาล พระผู้ทำลายชีพของทานพรุรุ (ทานพ ชื่อรุรุ เป็นชื่อของอสูรหรือทานพผู้หนึ่งที่ได้รับพรจากพระพรหมแล้วมีใจกำเริบ ยกทัพไปย่ำยีสวรรค์ บรรดาทวยเทพต่างก็หนีไปเฝ้าพระทุรคาหรือศักติ (มเหสีพระศิวะ) ที่ภูเขาอัญชัน และทูลขอร้องให้ช่วย พระเทวีจึงเสด็จมาปราบ อสูรรุรุ และทรงประหารอสูรด้วยเล็บพระบาท) โอ พระเทวีผู้ทรงตรีศูลเป็นเทพาวุธ ขอความรุ่งโรจน์จงมีแด่พระโลกมาตา ผู้เป็นยอดแห่งผู้เป็นมารดาทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้นำความบันเทิงสุขมาสู่ทวยเทพ และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งโลกทั้งสาม ขอสิทธิศักดิ์จงมีแด่พระองค์ ผู้มีพระบาทอันชาวโลกทั้งมวลพึงกราบไหว้ พระเป็นที่พึ่งของสัตตวนิกรทั้งหลายผู้มาพึ่งพำนักจิตเพื่อความหลุดพ้น ขอชัยจงมีแด่พระองค์ผู้ทรงพัสตราภรณ์คือรัศมีแห่งสูรยะ ผู้ขับไล่ความมืดความวุ่นวายให้สิ้นไป โอ้ พระแม่เจ้ากาลี พระเทวีผู้ทรงสายประคำคือกะโหลกมนุษย์ และทรงประดับพระเศียรด้วยกระดูกแห่งสรีระ ขออนัตชัยจงมีแด่องค์พระศิวา (มเหสีของพระศิวะ หมายถึงพระอุมา ทุรคา กาลี จัณฑี เคารี และอื่น ๆ) ขอทรงมีพระเกียรติยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพอพระทัยในการสังเวยศีรษะของข้า และทรงอวยพระพรให้พระราชาศูทรกะมีชนมายุยิ่งยืนนานเถิด"

หลังจากการกล่าวถ้อยคำดังนี้แล้ว วีรวรก็ตัดศีรษะของตนให้ขาดออกโดยฟันด้วยดาบเพียงฉับเดียว

พระราชาศูทรกะผู้เป็นสักขีในเหตุการณ์ทั้งหมด จากการแอบดูในที่ซ่อนของพระองค์ ทรงประหลาดพระทัย และรู้สึกงุนงงอย่างยิ่งจากภาพที่ได้เห็น ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ตรัสแก่พระองค์เองว่า "ชายผู้มีค่ายิ่งคนนี้พร้อมด้วยครอบครัวของเขาได้ประกอบกรรมอันยากยิ่งเ้พื่อช่วยเหลือเรา กรรมอันนี้เป็นที่ที่เหลือเชื่อ ยากที่ใคร ๆ ในแผ่นดินโลกจะทำได้อย่างนี้ และเขากระทำเพื่อเราโดยไม่มุ่งหวังการตอบแทนสักนิด ถ้าเรามิได้รู้ถึงบุญคุณของเขา ความเป็นราชันยะของเราจะมีคุณค่าอะไร เราก็คงจะไม่แตกต่างไปจากสัตว์ตัวหนึ่งโดยแท้"

ดำริฉะนี้แลพระวีรราชาก็ชักพระแสงดาบออกจากฝัก เสด็จเข้าไปหาพระเทวี และกล่าวอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมว่า

"ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอได้โปรดข้าด้วยเถิด โปรดประทานพรแก่ข้า ขอให้พราหมณ์ชื่อ วีรวร ผู้นี้ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับชื่อของเขา ผู้เสียสละแม้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดของข้า ขอให้เขาและครอบครัวจงกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเถิด"

เมื่อกล่าวกถาดังนี้แล้ว พระราชาเตรียมจะเชือดพระศอด้วยดาบอันคมกล้า ทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "ช้าก่อนราชะ ข้าพอใจในพลีของท่านแล้ว เอาเถอะ ข้าจะให้พราหมณ์วีรวรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่พร้อมด้วยภรรยาและบุตรของเขา"

เมื่อได้กล่าวประกาศิตแล้วเสียงสวรรค์ก็หายไป ทันใดวีรวรก็คืนชีพขึ้นมาพร้อมด้วยบุตรชาย บุตรสาว และภรรยาของเขา พอเห็นคนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา พระราชาก็รีบวิ่งเข้าหาที่ซ่อนเร้น กำบังมิให้ใครเห็น ทรงจ้องดูภาพของคนเหล่านั้นด้วยความอัศจรรย์ใจ และมีอัสสุชลเปี่ยมปริ่มด้วยความยินดีเป็นล้นพ้น

ฝ่ายวีรวรเมื่อได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนคนตื่นจากหลับแลไปเห็นบุตรและภรรยาต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็สับสนในใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงถามบุตรและภรรยาว่า

"พวกเจ้าถูกไฟเผาไหม้จนเป็นเถ้าถ่าน แล้วกลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นไปได้อย่างไร ข้าก็เหมือนกัน จำได้ว่าข้าตัดหัวตัวเองไปแล้วหลังจากที่เผาศพพวกเจ้า แล้วนี่ข้ากลับมีชีวิตขึ้นมาอีก นี่จะเป็นมายาที่หลอกตาข้าหรือไร หรือว่าพระแม่เจ้าโปรดให้เรารอดจากตายด้วยความกรุณาของพระองค์ ช่างน่าอัศจรรย์เสียจริง ๆ"

เมื่อได้ฟังดังนี้ภรรรยาและบุตรจึงกล่าวว่า "ที่เราได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนี้ คงจะเป็นด้วยอำนาจของพระเทวีบันดาลให้เป็นไประหว่างที่เราหมดสตินั่นเอง"

วีรวรใคร่ครวญดูว่าเรื่องคงจะเป็นไปอย่างที่คนเหล่านั้นพูด มิได้มีข้อสงสัยอีกต่อไป จึงกระทำการบูชาต่อองค์พระจัณฑี แล้วพาครอบครัวกลับไปบ้านมีความยินดีว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จไปแล้วตามปรารถนาทุกประการ และหลังจากที่พาบุตรภรรยากลับไปบ้านแล้วก็กลับมายืนยามหน้าประตูวัง อันเป็นหน้าที่ประจำของตนในราตรีนั้นนั่นเอง ส่วนพระราชาศูทรกะผู้แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ออกจากที่ซ่อนเสด็จกลับสู่วังและขึ้นไปที่ยอดพระมนเทียร และตะโกนลงมาว่า "ใครอยู่หน้าประตูนั่น" วีรวรได้ยินก็กล่าวด้วยเสียงอันดังว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่พระเจ้าข้า โอ ราชะ ตามที่ทรงมีบัญชาให้ข้าพระบาทไปสืบเรื่องหญิงผู้นั้น แต่นางได้อันตรธานไปต่อหน้าต่อตาเมื่อข้าพระบาทแลเห็นนาง ราวกับว่านางคือรากษสี (นางรากษส หรือนางอสูรประเภทหนึ่ง) ตนหนึ่ง หาใช่เป็นคนธรรมดาไม่"

พระราชาได้ฟังคำตอบของวีรวรก็ทรงประหลาดพระทัยมาก เพราะพระองค์เป็นบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ทรงรำพึงในพระทัยว่า "จริงแท้ทีเดียวบุคคลผู้ประเสริฐ ล้วนเป็นผู้ที่รู้จักตนเองและควบคุมจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนทะเลอันกว้างใหญ่และลึกสุดหยั่ง เพราะเมื่อเขาประกอบกรณียกิจอันหาใครเปรียบมิได้นั้น แทนที่เขาจะโอ้อวดตนเอง กลับนิ่งเงียบไม่กล่าวอะไรเลย" เมื่อทรงรำพึงดังนี้แล้ว พระราชาก็เสด็จลงมาจากยอดมนเทียรกลับคืนสู่ห้องบรรทมและทรงพักผ่อนตลอดคืน

ในตอนเช้าวีวรถูกตามมาเฝ้าต่อหน้าประชุมชน พระราชาผู้ทรงมีพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยความยินดีได้ตรัสแก่ที่ประชุมมนตรีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนโดยตลอด ทำให้ทุกคนในท้องพระโรงตื่นเต้นกันมาก ครั้นแล้วพระราชาได้ประทานของขวัญอันล้ำค่าแก่วีรวรเพื่อเป็นเครื่องตอบแทนน้ำใจอันยิ่งใหญ่ คือทรงยกดินแดนเว่นแคว้นลาฏะและกรรณาฏะให้วีวรปกครอง หลังจากนั้นพระราชาสองพระองค์คือ พระเจ้าวีรวรและพระเจ้าศูทรกะ ผู้มีอานุภาพเสมอกันก็ปกครองดินแดนของตนด้วยความสงบสุขสืบมา

เมื่อเวตาลเล่านิทานอันพิสดารสุดขีดจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "โอ นฤบดี ในเรื่องที่ข้าเล่ามานี้ พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในจำนวนคนเหล่านั้น ถ้าพระองค์ทรงทราบและไม่พูด คำสาปที่ข้าเคยกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็จะประสบแก่พระองค์โดยแท้"

พระราชาได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ตรัสว่า "พระราชาศูทรกะนั่นแหละ เป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในบรรดาคนทั้งหลาย"

เวตาลได้ฟังก็แย้งว่า "คนที่กล้าหาญที่สุดมิใช่วีรวรหรอกหรือ เพราะเขาได้ทำวีรกรรมที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนในโลกนี้ และมิใช่ภรรยาของเขาดอกหรือที่กล้าหาญกว่า เพราะเป็นแม่ที่ต้องทนเห็นลูกชายต้องถูกสังเวยไปต่อหน้าต่อตา และมิใช่ลูกชายคือสัตตววรหรอกหรือ แม้จะเป็นเพียงเด็กแต่ก็กล้าพลีชีพของตนเพื่อพระราชาและบิดาของตน นี่ไม่เรียกว่าวีรกรรมอันยอดยิ่งดอกหรือไร ไฉนพระองค์จึงตรัสว่าพระราชาศูทรกะเป็นผู้กล้าหาญยิ่งกว่าคนเหล่านั้นเล่า"

เมื่อได้ยินเวตาลกล่าวดังนั้น พระราชาตริวิกรมเสนก็อธิบายว่า

"เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย ก็วีรวรนั้นเป็นคนตระกูลสูง จะอยู่ในครอบครัวใดก็ตาม ว่าตามจริงเขาต้องเป็นหัวหน้าที่มีความรับผิดขอบ รวมทั้งลูกและเมียของเขาก็เช่นเดียวกัน ทุกคนถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วที่จะต้องสละขีวิตเพื่อคุ้มครองพระราชาของตน ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากวีรวรจะทำตามหน้าที่ผูกพันกับพระราชาแล้ว นางผู้เป็นภรรยานั้นเล่าก็เป็นหญิงประเสริฐที่เคารพรักสามียิ่งชีวิต หล่อนทำไปเพราะถือเป็นหน้าที่ว่าภรรยาจะต้องดำเนินรอยตามสามีด้วยใจภักดิ์ ส่วนสัตตววรผู้เป็นลูกนั้นเล่าก็เป็นเช่นเดียวกับพ่อและแม่ของตน ย่อมทำตามพ่อแม่ด้วยความรักและความผูกพันโดยแนบแน่นเหมือนเส้นด้ายที่ตีขึ้นมาจากฝ้ายฉะนั้น แต่พระราชาศูทรกะเป็นเยี่ยมเหนือกว่าคนเหล่านั้นทุกคน เพราะพระองค์เป็นผู้พร้อมที่จะพลีชีวิตเพื่อคนรับใช้ของพระองค์ เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้นเลย"

เมื่อเวตาลได้ยินคำอธิบายจากพระโอษฐ์ของพระราชาเช่นนั้น ก็ผละจากอังสาของพระราชา หายแวบไปทันทีโดยไม่มีใครเห็น และกลับคืนไปสู่ที่เดิมด้วยอิทธิฤทธิ์ของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับทางเดิม เพื่ือไปนำตัวเวตาลกลับมาใหม่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 17:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๕

พระเจ้าตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศก แลเห็นซากศพที่เวตาลเข้าสิงห้อยอยู่บนกิ่งไม้จึงขึ้นไปลากตัวลงมา และหลังจากที่ทรงบริภาษเวตาลแล้วก็รีบเสด็จกลับไปทางเดิมเพื่อมุ่งไปสู่จุดที่หมาย แต่ในขณะที่ดำเนินไปตามทางที่นำไปสู่สุสานของโยคีในราตรีนั้น เวตาลซึ่งเกาะอยู่บนอังสาของพระราชาก็กล่าวขึ้นว่า

"ราชะ พระองค์ช่างอดทนในภาระนี่กระไร ข้าเห็นพระองค์ครั้งแรกก็รู้สึกชอบเสียแล้ว ข้าจะเล่านิทานให้ทรงฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องบันเทิงพระทัย โปรดสดับเถิด"

ในพระนครอุชชยินี มีพราหมณ์ที่มีชื่่อเสียงโด่งดังผู้หนึ่งเป็นราชเสวกและมนตรีของพระราชาปุณยเสน มีชื่อว่าหริสวามิน พราหมณ์มีภรรรยาที่เป็นหญิงมีตระกูลเสมอกันและมีบุตรชายคนหนึ่งเป็นชายหนุ่มรูปงามชื่อ เทวสวามิน ต่อมานางให้กำเนิดบุตรหญิงคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว มีความงามอันยอดยิ่งหาผู้ใดเสมอมิได้ ชื่อ โสมประภา ครั้นสืบมานางมีวัยอันพึงมีคู่ครองได้แล้ว (คืออายุ ๑๖ ปี) นางจึงให้มารดาไปเจรจาต่อบิดาและพี่ชายของนาง โดยสั่งว่า "ลูกจะแต่งงานกับชายที่มีความกล้าหาญ หรือมีความรู้ดีเลิศ (จากศัพท์ว่า ชญานิน) หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นชายที่เรียนรู้มายาศาสตร์เท่านั้น ขออย่าบังคับให้ลูกแต่งงานกับคนอื่นนอกเหนือจากนี้ ถ้าพ่อยังเห็นว่าชีัวิตของลูกยังมีค่าอยู่"

เมื่อหริสวามินผู้บิดาได้ยินดังนี้ ก็กังวลใจมาก ไม่ทราบว่าจะหาบุรุษใดมีคุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อที่นางตั้งเงื่อนไขเอาไว้ ขณะนั้นพอดีกับที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันติเพื่อไปทำสัญญาไมตรีกับพระราชาแห่งเดกข่าน ซึ่งกำลังจะเข้ามารุกรานแว่นเคว้น

หริสวามินได้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเดินทางกลับมาบ้าน ขณะนั้นเอง พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งได้ทราบข่าวระบือในความงามอันยอดยิ่งของนางโสมประภาก็เข้ามาหา และสู่ขอนางเพื่อการสมรส หริสวามินจึงกล่าวแก่พราหมณ์ผู้นั้นว่า

"ลูกสาวข้าจะไม่แต่งงานกับใครเลย ถ้าชายนั้นมิได้มีคุณสมบัติทางด้านความกล้าหาญ ความเป็นผู้รู้เลิศ หรือเจนจบในมายาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งไหนลองบอกมาสิว่า ท่านชำนาญทางไหนในสามอย่างนี้"

เมื่อหริสวามินกล่าวดังนี้แก่พราหมณ์หนุ่ม ชายหนุ่มก็ตอบว่า "ข้าเป็นผู้ชำนาญในมายาศาสตร์ยิ่งกว่าอย่างอื่น" หริสวามินจึงกล่าวว่า "ถ้ากระนั้นจงแสดงให้ข้าดูสิ"

ชายหนุ่มผู้มีมายาศาสตร์ได้ฟังก็เริ่มการแสดงโดยทันทีตามความชำนาญของตน คือ นำรถมาคันหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพสามารถแล่นไปอย่างรวดเร็วในอากาศ ชายหนุ่มเชิญให้พราหมณ์เฒ่าลงสู่รถแก้วแววฟ้าลอยลิ่วไปในอากาศชมสวรรค์และแผ่นดินโลกเป็นที่เพลิดเพลิน แล้วนำกลับลงมาที่พลับพลาของพระเจ้ากรุงเดกข่าน ผู้ซึ่งใช้ให้เขาไปเจรจาสู่ขอนางโสมประภาต่อบิดานางนั่นเอง หริสวามินก็ตกลงยินยอมให้ธิดาแก่ผู้ชำนาญมายาศาสตร์นั้นโดยกำหนดวันทำพิธีสมรสอีกเจ็ดวันข้างหน้า

ในระหว่างนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งตั้งนิวาสสถานอยู่ในกรุงอุชชยินีก็มาหาเทวสวามินผู้บุตรชายของหริสวามิน และสู่ขอนางโสมประภาในฐานะที่เขาเป็นพี่ชายของนาง เทวสวามินตอบว่า "นางไม่ความประสงค์ที่จะได้สามีที่ไม่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง คือ มีความรู้เลิศ เจนจบในมายาศาสตร์ และเป็นวีรบุรุษ" เมื่อได้ฟังดังนั้นพราหมณ์ก็แสดงตนเป็นวีรบุรุษ แล้วแสดงการใช้อาวุธทั้งไกลตน (คือยิงธนู) และประชิดตน (คือใช้ดาบ) อย่างดีเยี่ยม จนเทวสวามินเลื่อมใส จึงสัญญาว่าจะยกน้องสาวให้ และโดยการแนะนำของโหรตามที่บิดาได้แตอบแก่ชายคนแรกที่มาสูขอไปว่า ฤกษ์แต่งงานจะมีในเจ็ดวันข้างหน้า เทวสวามินก็แจ้งแก่ชายคนที่สองเช่นเดียวกัน และเขาก็ตัดสินใจไปโดยที่มารดามิได้รู้เห็น

ในวันเดียวกันนั้นเอง ชายคนที่สามก็เดินทางมาถึงและเข้าไปพบกับภรรยาของหริสวามิน เจรจากเป็นส่วนตัวสู่ขอนางโสมประภาเช่นเดียวกัน นางพราหมณีได้ฟังก็ตอบว่า "ลูกสาวของข้าต้องการสามีที่ทรงคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างคือ เป็นวีรบุรุษ หรือชำนาญในมายาศาสตร์ หรือเจนจบในชญานะอย่างดีเลิศ" และหลังจากที่นางได้ถามไถ่เรื่องอดีตและอนาคตของเขาแล้ว ก็ตกลงใจรับการสู่ขอของเขา และสัญญาจะให้ธิดาของตนแต่งงานกับชญานินผู้นี้ในเวลาอีกเจ็ดวันข้างหน้า เช่นเดียวกับที่สามีและบุตรชายของนางได้ให้สัญญาแก่ชายสองคนแรก

วันรุ่งขึ้นหริสวามินกลับมาถึงบ้าน กล่าวแก่ภรรยาและบุตรชายเรื่องที่ตนได้ตกลงไว้กับเจ้าบ่าวคนที่หนึ่งว่าจะยกธิดาให้ในพิธีสมรสอีกเจ็ดวันข้างหน้า ภรรยาและบุตรชายต่างก็แจ้งให้หริสวามินทราบเรื่องที่ตนต่างก็สัญญาจะยกนางให้เจ้าบ่าวคนที่สองและที่สามในวันเดียวกันคือ อีกเจ็ดวันข้างหน้า หริสวามินได้ทราบก็ตกใจ และกลัดกลุ้มยิ่งนักเพราะเจ้าบ่าวทั้งสามต่างก็ได้รับการเชิญมาในวันสมรสวันเดียวกัน

ครั้นถึงวันสมรส ชายทั้งสามต่างก็เดินทางมาถึงบ้านของหริสวามินพร้อมกันทั้งชญานิน มายากร และวีรบุรุษ ขณะนั้นเองความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ปรากฎว่าเจ้าสาวคือนางโสมประภาหายไปอย่างไม่มีร่องรอย ถึงจะมีการค้นหาสักเท่าไร ๆ ก็มิได้พบเห็น หริสวามินจึงกล่าวแก่ชญานินว่า "ท่านเป็นผู้ทรงคุณวิทยา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะอะไร ลูกสาวข้าหายไปไหน"

เมื่อชญานินหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็ตอบว่า "รากษสตนหนึ่งชื่อธูมรศิขะ เป็นผู้ลักตัวนางไปสู่ที่อยู่ของมันในป่าเชิงเขาวินธัยแล้ว"

หริสวามินได้ยินชญานินกล่าว ก็ตกใจว้าวุ่นร้องว่า "อนิจจาเอ๋ย อนิจจาเราจะตามตัวนางกลับมาได้อย่างไร แล้วนางจะแต่งงานอย่างไรเล่า"

มายากรผู้ชำนาญในมายาศาสตร์ได้ฟังก็กล่าวว่า "ทำใจให้ดี ๆ ไว้เถิด ข้าจะพาท่านไปในพริบตา เพื่อติดตามนางไปยังที่ซึ่งชญานินกล่าวถึงนั่น"

กล่าวจบมายาวินก็เตรียมงานของตนโดยนำรถแก้วเข้ามาเทียบ แล้วพาหริสวามินพร้อมด้วยชญานินและวีรบุรุษ ลงนั่งในรถเหาะลิ่วไปในอากาศ ชั่วครู่หนึ่งก็มาถึงที่พำนักของรากษสในป่าวินธัย ตามที่ชญานินบรรยายไว้ทุกประการ รากษสเมื่อเห็นดังนั้นก็วิ่งออกมาจากสำนักด้วยความโกรธ วีรบุรุษซึ่งถูกหริสวามินผลักดันให้ออกหน้าก็ตะโกนท้าทายให้รากษสมาต่อสู้กับตนตัวต่อตัว ครั้นแล้วทั้งสองฝ่ายก็ต่อสู้กันอย่างทรหดด้วยอาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อชิงนางมาเป็นของตน ต่อมาในช่วงเวลาอันสั้น รากษสก็เสียทีถูกตัดหัวกระเด็นด้วยฝีมือวีรบุรุษหนุ่ม เมื่อประหารรากษสแล้ว ต่างก็พานางโสมประภาลงรถแก้วแววฟ้าของมายาวินกลับสู่บ้าน

เมื่อกลับมาถึงบ้านหริสวามิน การแต่งงานก็ยังเริ่มไม่ได้ถึงแม้มหุติฤกษ์จะมาถึงและผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะเกิดการโต้เถียงกันไม่ยุติว่านางควรจะแต่งงานกับใคร ทั้งชญานิน มายาวิน และวีรบุรุษต่างก็โต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน อ้างความเป็นเจ้าของนางกันทุกคนน ชญานินกล่าวว่า "ถ้าข้าไม่จับยาม ดูว่านางถูกพาไปไหน พวกท่านยังจะมีปัญญาสืบรู้ได้ละหรือ ด้วยเหตุนี้นางควรจะตกเป็นของข้าจึงจะถูก"

มายาวินได้ฟังก็กล่าวว่า "ถ้าข้าไม่ใช้รถแก้วของข้าเหาะลอยไปในอากาศเพื่อเดินทางไปสุดหล้าฟ้าเขียวอย่างป่าวินธัยโน่น พวกเจ้าจะมีปัญญาทำอะไร ข้ามิได้ทำให้เจ้าเดินทางไปกลับในชั่วอึดใจเดียวราวกับเทวดาเดินหน ป่านนี้เจ้าจะยังมะงุมมะงาหราอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะเหตุนี้โสมประภาจึงควรเป็นของข้าแต่ผู้เดียว" ชายคนที่สามคือวีรบุรุษได้ยินดังนั้นก็กล่าวขึ้นบ้างว่า "ข้าเป็นคนประหารรากษสที่ร้ายกาจนั่นด้วยดาบของข้าแท้ ๆ ทำให้พวกเรารอดอันตรายพานางกลับมาได้ ฉะนั้นข้านี่ต่างหากที่ควรเป็นสามีของนาง"

ขณะที่ทุกคนโต้เถียงกันวุ่นวายอยู่นั้น หริสวามินนั่งฟังอยู่เงียบ ๆ บังเกิดความพิศวงเป็นกำลัง ไม่อาจจะตัดสินอะไรได้

เวตาลจึงกล่าวแก่พระราชาว่า "โอ ราชะ โปรดตัดสินให้ทีเถิด ใครควรจะได้เป็นสามีนางโสมประภาโดยเหตุผลอันสำคัญเป็นเครื่องชี้ขาดเล่า แต่ถ้าพระองค์รู้แล้วไม่ยอมพูดก็จงรู้ไว้เถิดว่า ศีรษะของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ เชียวนะ พระเจ้าข้า"

เมื่อพระเจ้าตริวกรมเสนได้ฟังเวตาลกล่าวดังนี้ ก็ลืมพระองค์ไปชั่วขณะตรัสตอบว่า

"นางควรจะตกเป็นของวีรบุรุษต่างหาก ทั้งนี้เพราะชายกล้าหาญผู้นี้มิใช่หรือที่ต่อสู้ศัตรูอย่างเข้มแข็งเต็มกำลังความสามารถ เอาชีวิตเข้าแลกกับความตายเพื่อนางโดยแท้ ส่วนชายอีกสองคนคือ ชญานิน และมายาวินนัั้น ทำตามหน้าที่ท้าวธาดาพรหมกำหนดมาให้เป็นเครื่องมือของแผนการดังกล่าวนี้ทั้งหมด คนมีความรู้ก็ดี คนถนัดในมายาศาสตร์ก็ดี ล้วนแต่เป็นตัวประกอบในวีรกรรมนี้ทั้งสิ้น"

เวตาลได้ฟังดังนั้นก็รีบรุดลงจากอังสาของพระราชาและหายลับไปในทันที โดยปราศจากร่องรอยใด ๆ ให้เห็น พระราชาทรงรู้สึกพระองค์ก็ต่อเมื่อ เวตาลอันตรธานไปแล้ว จึงต้องเสด็จไปตามตัวมันอีก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 17:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๖

พระราชาตริวกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก จับตัวเวตาลพาดบ่าเสด็จมุ่งหน้าไปยังสุสานที่นัดพบกับโยคีศานติศีล ระหว่างที่เดินทางมาในความเงียบครู่หนึ่ง เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "อารยบุตร ข้าสังเกตุดูพระองค์ก็เป็นคนฉลาดและกล้าหาญมิน้อย ข้าชักจะรักพระองค์แล้วสิ ฉะนั้นข้าจะเล่านิทานถวายให้ทรงฟังเล่นเพลิน ๆ สักเรื่องหนึ่ง โปรดทรงสดับเถิด"

ในอดีตกาลมีพระราชาผู้มีพระนามบันลือในพิภพองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ายศเกตุ ครองราชสมบัติ ณ นครโศภาวดี และในนครนี้เอง มีเทวาลัยของพระเคารี(ผู้มีผิวสีเหลืองอ่อน หรือสีนวล เป็นชื่อของพระอุมามเหสีพระศิวะปางใจดี) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทวาลัย มีทะเลสาบอันงดงามชื่อ เคารีตีรถะ(ฝั่งน้ำ หมายถึงเทวาลัยริมน้ำอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้จาริกแสวงบุญ) และทุก ๆ ปีจะมีการฉลองในวันขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนอาษาฒะ (เดือน ๘ ตกราวเดือนกรกฎาคม)จะมีผู้คนทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาสระสนานกันที่นี่เป็นประจำ


ครั้งหนึ่งในวันดังกล่าวนี้ มีชายคนหนึ่งชื่อธนวละ เดินทางมาจากแคว้นพรหมสถล เขาได้เห็นสาวงามผู้หนึ่งชื่อมัทนสุนทรี บุตรของชายชื่อศุทธบฏ มีเรือนร่างเฉิดโฉมราวอัปสรสวรรค์ กำลังเล่นน้ำอยู่ในบึงนั้น หัวใจเขาก็ถูกนางยึดแน่นราวพระจันทร์ถูกเงาราหูเข้าเบียดบัง เขาพยายามสืบถามจนรู้ว่านางชื่ออะไร และอยู่ในตระกูลอะไร จากนั้นเขาก็เดินทางกลับบ้าน มีแต่ความหลงใหลในตัวนางอย่างไม่ว่างเว้น เขาคิดถึงนางจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ในที่สุดเมื่อถูกมารดาซักไซ้บ่อย ๆ เขาก็จำใจยอมเผยความจริงว่าเขาหลังรักนางมัทนสุนทรี และปรารถนานางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น นางได้ฟังก็เล่าให้สามีของนางชื่อวิมลฟังโดยตลอด ผู้เป็นบิดาได้ทราบเรื่องก็เข้ามาหา แลเห็นลูกรักตกอยู่ในภาพเศร้าโศกท้อแท้เช่นนั้นก็กล่าวว่า

"ลูกของพ่อ ไฉนจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนเช่นนี้ เรื่องนี้ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย ศุทธบฏจะต้องให้ลูกสาวเขาแต่งงานกับลูกแน่ ๆ ถ้าพ่อไปเจรจาต่อเขาด้วยตนเอง ทั้งนี้ก็เพราะพ่อกับเขาต่างก็มีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สินและกิจการงาน พ่อรู้จักเขาและเขาก็รู้จักพ่อดี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ยากเลยในการที่จะไปพูดกับเขา"

เมื่อปลอบโยนบุตรชายดังนี้แล้ว วิมลก็คะยั้นคะยอให้บริโภคข้าวน้ำตามปกติ และในวันรุ่งขึ้นเขาก็พาลูกชายไปยังบ้านของศุทธบฏ เจรจาสู่ขอบุตรสาวของเจ้าของบ้านให้แก่บุตรชายของตน ศุทธบฏก็ยินดีที่จะยกนางให้โดยมิตรไมตรี และเตรียมหาฤกษ์งามยามดีไว้เรียบร้อย ครั้นได้เวลาอันเป็นมงคลก็จัดการแต่งงานนางมัทนสุนทรีกับหนุ่มธนวละ เมื่อชายหนุ่มได้นางมาเป็นคู่ครองสมใจนึกแล้ว ต่อมามิช้าก็พานางเดินทางกลับมาอยู่บ้านบิดาของตนด้วยความสุข และนางทมัทนสุทนทรีก็เช่นเดียวกัน นางรักสามีตั้งแต่พบครั้งแรก จึงยินดียอมเป็นภรรยาของเขาโดยไม่มีข้อเกี่ยงงอนด้วยประการใด ๆ

วันหนึ่งขณะที่ชายหนุ่มมีความสุขด้วยครอบครัวของตนที่บ้าน พลันน้องเมียของนางมัทนสุนทรีก็เดินทางมาเยี่ยมที่บ้าน ทุกคนต่างก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นางมัทนสุนทรีนั้นวิ่งเข้ามาสวมกอดน้องชายของนางด้วยความดีใจ พลางไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันด้วยความคิดถึง หลังจากที่ชายหนุ่มได้พักผ่อนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว เขาก็กล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า "บิดาของข้าให้มาเชิญนางมัทนสุนทรีกับลูกเขยไปยังบ้านของเรา เนื่องด้วยทางบ้านกำลังทำพิธีฉลองพระทุรคาเทวี"

เมื่อได้ยินดังนี้ บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายชายก็เห็นสมควรด้วย และเลี้ยงดูปูเสื่อชายหนุ่มในวันนั้นอย่างเต็มที่ด้วยโภชนาหารและสุราเมรัยครบถ้วน

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ธนวละออกเดินทางไปบ้านพ่อตาพร้อมด้วยนางมัทนสุนทรีและน้องชายของนาง ทั้งหมดมาถึงเมืองโศภวดี และเห็นมหาเทวาลัยของพระทุรคาเทวีอยู่ข้างหน้า จึงเดินเข้าไปใกล้และกล่าวแก่ภรรยาและน้องชายของนางด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้นที่มีต่อพระเทวีว่า

"เราเข้าไปในวิหารของพระแม่เจ้ากันเถอะ"

เมื่อน้องชายของนางได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวแก่พี่เขยด้วยอาการอิดเอื้่อนว่า "พวกเรามีตั้งสามคน จะเข้าไปในเทวาลัยมือเปล่าได้กระไร"

ธนวละจึงตัดบทว่า

"เอาเถอะ พี่จะเข้าไปก่อน แล้วเจ้าค่อยตามเข้าไปทีหลังก็แล้วกัน"

กล่าวจบเขาก็เข้าไปในเทวาลัย เพื่อถวายการสักการะ

เมื่อเขาเข้าไปแล้วก็กระทำอัญชลีต่อพระแม่เจ้า และกระทำสมาธิจิตเพ่งเฉพาะพระเทวีผู้มีสิบแปดกร ถืออาวุธครบครันกำลังประหารมหิษาสูรอยู่ พลันดวงจิตก็ท่วมท้นด้วยแรงศรัทธาและภักดี ชายหนุ่มเข้าไปหมอบแทบบัวบาทของนางซึ่งกำลังกระทืบทานพ (อสูรจำพวกหนึ่งในนิทาน) ร้ายอยู่ และราวกับตกอยู่ในหัตถ์แห่งชะตากรรมอันฝ่าฝืนมิได้ เขาก็กล่าวแก่ตัวเองว่า "คนทั้งหลายต่างก็ถวายพลีกรรมต่อพระเทวีด้วยสัตว์มีชีวิตต่าง ๆ ก็เราเองล่ะ เมื่อแสวงหาวิมุกติ(การเข้าถึงความหลุดพ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ในองค์พระแม่เจ้าแล้วจะรีรอเพื่ออะไรเล่า ทำไมไม่สังเวยชีวิตของเราเพื่อพระองค์ด้วยใจภักดีแท้จริง"

หลังจากใคร่ครวญดังนี้แล้ว ธนวละก็หันมองไปมาแลเห็นดาบเล่มหนึ่งซุกอยู่ข้างแท่นพระเทวี คงจะเป็นสมบัติของผู้จาริกแสวงบุญสมัยก่อนนำมาถวาย จึงหยิบดาบนั้นมาถือไว้ แล้วผูกผมเข้ากับเชือกระฆัง ยกดาบขึ้นฟันฉับศีรษะหล่นกลิ้งลงบนพื้นทันที

ฝ่ายน้องภรรยาของธนวละคอยอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน ไม่เห็นพี่เขยกลับออกมา จึงเข้าไปตาม แลเห็นนอนกลิ้งศีรษะขาดก็ตกใจ บังเกิดความประหลาดใจเป็นล้นพ้น และในท่ามกลางความอัศจรรย์ใจนั้นเอง ชายหนุ่มก็ตัดศีรษะของตนขาดจากร่างด้วยดาบเล่มที่ใช้ประหารธนวละนั่นเอง

ฝ่ายนางมัทนสุนทรี เห็นคนทั้งสองหายเข้าไปข้างในเทวาลัยช้านานก็ร้อนใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงติดตามเข้าไปข้างใน และเห็นศพของสามีและน้องชายนอนกลิ้งอยู่ไร้ศีรษะ ก็ตกใจแทบชีวิตจะออกจากร่าง ร้องว่า

"ตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นนี่ ข้าต้องถึงความฉิบหายแน่ ๆ"

นางค่อยยันกายขึ้น แลดูศพของคนทั้งสอง และร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ พักหนึ่งจึงตั้งสติได้ รำพึงแก่ตนเองว่า "ชีวิตนี้จะมีประโยชน์อะไรแก่ข้าต่อไปเล่า" คิดดังนี้จึงกล่าวแก่เทวรูปพระทุรคาเทวีว่า

"โอ พระเทวีเจ้า พระผู้ทรงความสำคัญอันอุกฤษฏ์เหนือเทพอื่นใด พระผู้ทรงความบริสุทธิ์และเจ้าแห่งกฏอันศักดิ์สิทธิ์ พระผู้เป็นอรรธภาค (ครึ่งส่วน,ครึ่งหนึ่ง) แห่งพระศิวะผู้เป็นพระสวามี พระผู้เป็นสรณะแห่งสตรีทั้งมวลในสกลโลก พระผู้ขจัดความโศกศัลย์ให้สิ้นไป โอ้ พระเทวี เหตุไฉนพระองค์จึงทรงพรากน้องและสามีของข้าไปเสียเล่า พระองค์ไม่ควรทำแก่ข้าถึงเพียงนี้เลย เพราะข้าเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์และภักดีของพระองค์ตลอดมามิเคยเปลี่ยนแปลง ขอได้โปรดฟังคำของข้าสักนิด ข้ากำลังจะละร่างนี้ซึ่งมีแต่ความเศร้าหมองอันไม่อาจจะทานทนต่อไปอีกได้ ข้าขอพระพระแม่เจ้าสักอย่างคือ ไม่ว่าข้าจะเกิดในชาติใดภพใด ขอให้คนทั้งสองนั้นไปเกิดเป็นสามีและน้องของข้าในทุก ๆ ชาติเถิด"

เมื่อกล่าวสดุดีกถาต่อเทวรูปพระเทวีดังนี้แล้ว นางก็ก้มลงกราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วเอาเถาวัลย์มาประดิษฐ์เป็นบ่วง ชายข้างหนึ่งผูกไว้กับกิ่งอโศกแล้วยื่นคอสอดเข้าไปในบ่วง ทันใดนั้นก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "อย่าทำดังนั้นเลย ลูกเอ๋ย แม่พอใจอย่างยิ่งแล้วในความกล้าหาญอันหาที่เปรียบมิได้ของลูก แม้เจ้าจะเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็ตาม ขอให้บ่วงนี้จงต่อคอของสามีและน้องชายของเจ้าเข้ากับร่าง และด้วยพรของข้า ขอให้คนทั้งสองกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นอีกเถิด"

เมื่อนางมัทนสุนทรีได้ฟังดังนั้น นางก็ปล่อยบ่วงให้ตกลงบนพื้น รีบวิ่งกลับมายังศพของคนทั้งสองด้วยความดีใจ แต่ด้วยความฉุกละหุกตะลีตะลานและไม่ทันสังเกตสิ่งที่นางกำลังกระทำอยู่ ทำให้นางต่อศีรษะสามีเข้ากับร่างน้องชาย และต่อศีรษะน้องชายเข้ากับร่างสามี ทันใดคนทั้งคู่ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ไม่มีร่องรอยบาดแผลใด ๆ แต่ศีรษะกับร่างนั้นสับกันเป็นคนละคน

แล้วทั้งสองชายก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตนให้ฟังซึ่งกันและกัน และต่างก็ปลาบปลื้มยินดีที่ได้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง และหลังจากการบูชาพระเทวีแล้ว ทั้งสามคนก็ออกเดินทางต่อไป แต่นางมัทนสุนทรีผู้เดียวมีความรู้สึกว่านางได้ทำผิดเสียแล้วในการสับหัวสับร่างบุคคลทั้งสอง และจนปัญญาไม่รู้ว่าจะทำฉันใดดี

"โอ ราชะ" เวตาลกล่าว "โปรดทรงวินิจฉันด้วยเถิดว่า คนทั้งสองที่คืนชีวิตมานั้น คนไหนเป็นน้อง และคนไหนเป็นสามีของนาง ถ้าทรงรู้แล้วแต่ไม่ยอมพูดก็โปรดทรงทราบเถิดว่า ผลลัพธ์คือคำสาปจะตกอยู่แก่ใคร"

เมื่อพระราชาตริวกรมเสนได้ฟังเรื่องราวโดยตลอด และถูกเวตาลตั้งคำถามอย่างนั้น ก็เผลอพระองค์ตรัสออกไปว่า

"ในสองคนนี้คนใดก็ตามมีศีรษะของชายผู้เป็นสามีติดอยู่ ก็คนนั้นแหละควรเป็นสามีแท้ ๆ ของนาง เพราะหัวเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย และเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราจำได้ว่าใครเป็นใคร การที่จะชี้ว่าใครเป็นใครก็ต้องดูที่หัวของคนคนนั้นแหละ"

เมื่อพระราชาตรัสจบลงเวตาลก็หัวเราะด้วยความชอบใจ ผละจากอังสาของพระราชากลับคืนไปสู่ที่พำนักของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับไปตามตัวมันอีก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 17:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๗

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก เห็นเวตาลอยู่ที่นั่น ก็จับมันเหวี่ยงขึ้นบ่า แล้วเดินทางกลับไปทางเดิม ระหว่างที่เดินทางมาเงียบ ๆ เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "อารยบุตรโปรดฟังหน่อย ข้ามีินิทานเรื่องหนึ่งจะเล่าให้พระองค์ฟัง เผื่อพระองค์จะได้คลายความเหน็ดเหนื่อยลงบ้าง"

มีเมืองเมืองหนึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตะวันออกชื่อ เมืองตามรลิปติ นครแห่งนั้นมีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าจัณฑสิงห์ ผู้ทรงหันพระพักตร์จากภรรยาของผู้อื่น แต่ไม่เคยหันพระพักตร์หนีจากสนามรบ พระองค์ทรงกวาดต้อนทรัพย์สมบัติของอริราชศัตรู แต่ไม่เคยแตะต้องทรัพย์สินของแว่นแคว้นที่เป็นเพื่อนบ้าน

ครั้งหนึ่งมีเจ้าราชปุฏ(ชนพวกหนึ่งซึ่งอ้างตนเป็นราชบุตร โดยกล่าวว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในสมัยโบราณ) แห่งแคว้นแดกข่าน ชื่อว่าสัตตวศีล เดินทางมาถึงหน้าประตูพระราชวัง และประกาศตนเองให้รู้ว่าเป็นผู้ยากไร้แสนเข็ญ โดยฉีกเสื้อผ้าขี้ริ้วที่สวมใส่อยู่ต่อหน้าพระราชา พระราชาจึงโปรดให้เขาเป็นผู้รับอนุเคราะห์โดยมีฐานะเป็นข้าไทและอยู่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินมาหลายปี แต่ก็หาเคยได้บำเหน็จรางวัลแม้แต่ครั้งเดียวไม่ เขาจึงกล่าวแก่ตัวเองด้วยความน้อยใจว่า "ถ้าเราเกิดในตระกูลกษัตริย์จริง ไฉนจึงยากจนถึงเพียงนี้เล่า ดู ๆ ไป ความยากจนนี้ก็ใหญ่หลวงเกินทน แต่เหตุใดท้าวธาดาพรหมจึงสร้างให้เราเป็นคนทะเยอทะยานใหญ่หลวงนัก เพราะถึงแม้เราจะรับใช้พระราชาองค์นี้มาอย่างขยันขันแข็ง และบริวารของเราก็เช่นเดียวกัน ต่างก็เดือดร้อนหิวโหยเหมือนกันกับเรา แต่พระราชาสิจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเราอยู่ในสายตาเลย"

ระหว่างที่เขารำพึงรำพันด้วยความน้อยใจนั้น วันหนึ่งพระราชาเสด็จเข้าไปล่าสัตว์ มีทหารม้าและทหารเดินเท้าแวดล้อมเป็นพลนิกายขบวนใหญ่ เข้าไปสู่ป่าใหญ่อันอุดมด้วยสัตว์ป่า มีเสวกผู้ต่ำต้อยวิ่งนำหน้า มือถือไม้ท่อนหนึ่ง หลังจากที่พระราชาไล่ล่าสัตว์อย่างสนุกสนานมาได้พักหนึ่งก็แลเห็นหมูป่าตัว หนึ่งวิ่งออกมาจากพุ่มไม้ตัดไปข้างหน้าก็ทรงควบม้าติดตามไปจนกระทั่งถึงป่า สูงอันรกชัฏและชุ่มชื้นร่มเย็น หมูป่าตัวนั้นก็หายไป พระราชารู้สึกเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า หลงทางกับข้าราชบริพารไปแต่พระองค์เดียว มีเสวกผู้วิ่งนำหน้าม้าพระที่นั่งเท่านั้นที่อยู่เป็นเพื่อน ต่างคนต่างก็หิวโหยเต็มทีและกระหายน้ำจนคอแห้งผาก พระราชาแลดูเสวกผู้ต่ำต้อยซึ่งอุตส่าห์วิ่งมาอย่างเต็มที่ทั้ง ๆ ที่ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วราวกับลมพัด พระราชาตรัสถามด้วยความเมตตาว่า "เจ้าจำทางที่เรามาได้ไหม"

เสวกได้ฟังก็คุกเข่าลงกับพื้นประสานมืออัญชลีด้วยความนอบน้อมตอบว่า

"ข้าพระบาทจำทางได้ดี แต่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเต็มที น่าจะพักอยู่ที่นี่ก่อน เพราะตอนนี้ดวงอาทิตย์ยังแผดแสงแรงกล้านัก อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย"

พระราชาได้ยินดังนั้น ก็ตรัสแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนโยนว่า

"เอาเถิด เราจะพักอยู่ที่นี่ก่อน แต่ข้ากระหายน้ำเต็มที ถ้าเจ้ารู้ว่ามีน้ำอยู่ที่ไหนก็หามาให้ข้ากินเถอะ"

"ข้าพระบาทจะไปเดี๋ยวนี้" เสวกทูลรับอาสาทันที จัดแจงปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงต้นหนึ่ง มองไปเบื้องหน้าก็แลเห็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ไม่ไกลก็ปีนกลับลงมากราบทูลให้พระราชาทราบ และนำทางไปจนถึงแม่น้ำนั้น เมื่อไปถึงก็เอาอานม้าลง ปล่อยให้ม้ากินน้ำและนอนเกลือกกลิ้งไปมา จากนั้นก็หาหญ้าอ่อนมาให้มันกินอย่างอิ่มหนำ ทำให้มันสดชื่นขึ้นมาก ส่วนพระราชาก็เสด็จลงอาบน้ำในแม่น้ำนั้น เสวกก็ควักผลอามลกะ(มะขามป้อม) จากกระเป๋าสองสามผลถวายให้ทอดพระเนตร เมื่อพระราชาเห็นผลอามลกะก็ประหลาดพระทัย ถามว่าเขาเอามาจากไหน เสวกก็คุกเข่าลงแบมือที่มีผลอามลกะวางอยู่สองสามผล กราบทูลว่า

"พระเจ้าข้า เมื่อสิบปีมาแล้ว ข้าพระบาทยังชีพติดต่อกันมานานด้วยผลอามลกะเช่นนี้ ข้าพระบาทได้ปรนนิบัติพระราชาองค์หนึ่งด้วยความภักดี แต่พระองค์ก็มิได้พระราชทานอะไรให้เลย ข้าพระบาทต้องดำรงชีพแบบฤษี กินแต่ผลอามลกะเพื่อยังชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น"

พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า "อย่างนี้นี่เล่า เจ้าจึงสมกับชื่อของเจ้าว่า สัตตวศีล" ทรงตื้นตันพระทัยด้วยความสงสาร รำพึงในพระทัยว่า "ช่างน่าอายนักที่พระราชาไม่ได้สอดส่องทุกข์สุขของบ่าวไพร่เช่นนั้น ไม่รู้ว่าใครเดือดร้อนแค่ไหน จะช่วยได้อย่างไร ช่างน่าอายนักที่พวกขุนนางวางน้ำทั้งหลายก็เอาแต่เสพสุขเฉพาะตน แม้จะรู้ว่าคนทุกข์ยากลำเค็ญเป็นใครก็เงียบเฉย หาได้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทราบไม่" พระราชาคิดดังนั้นแล้วก็เห็นใจเสวกผู้ต่ำต้อยยิ่งนัก อย่างไรก็ดี ด้วยความหิวโหย พระองค์ก็จำต้องหยิบเอาผลอามลกะไปเสวยสองผล หลังจากเสวยเสร็จและดื่มน้ำแล้ว ก็นอนพักผ่อนเอาแรงชั่วระยะหนึ่งพร้อมด้วยเสวกผู้นั้น

ครั้นตื่นขึ้น เสวกก็เอาม้าทรงมาถวาย พระราชาเสด็จขึ้นม้าเดินทางต่อไป มีเสวกวิ่งนำหน้าเพื่อนำทางเสด็จ แม้พระราชาจะเมตตาโปรดให้เขาขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกับพระองค์ แต่เขาก็เจียมตนไม่ยอมตามพระประสงค์ ในที่สุดพระราชาก็เสด็จกลับคืนพระนคร และพบกองทหารของพระองค์มารอรับอยู่แล้ว พระราชาโปรดให้ประกาศเกียรติคุณของเสวกผู้ภักดีเป็นเลิศ และประทานทรัพย์ศฤงคารเป็นอันมากแก่เขา พร้อมด้วยที่ดินหมู่บ้านอันเป็นส่วยเลี้ยงชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่เขามีต่อพระองค์เป็นอันมาก สัตตวศีลจึงกลายเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งตั้งแต่นั้น และยังคงปรนนิบัติพระราชาอยู่เหมือนเดิม

วันหนึ่งพระราชาจัณฑสิงห์ทรงมอบงานสำคัญให้แก่สัตตวศีลโดยสั่งให้เดินทางไปยังเกาะลังกา เพื่อเจรจาสู่ขอพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์นั้น เสวกหนุ่มออกเดินทางโดยเรือเดินทะเล สัตตวศีลกระทำบวงสรวงแก่ทวยเทพผู้คุ้มครองตน แล้วออกเดินเรือไปกับพราหมณ์คณะหนึ่งซึ่งพระราชาทรงแต่งตั้งให้ร่วมทางไปด้วย เมื่อเรือแล่นไปได้ครึ่งทางก็มีธงผุดขึ้นจากทะเลเป็นที่อัศจรรย์แก่ทุกคนในเรือลำนั้น ธงนี้สูงเด่นจนยอดแตะกล่มเมฆ ประดับด้วยทองคำและเครื่องหมายเหมือนธงทั้งหลายที่พลิ้วสะบัดอยู่ในายลม ในขณะนั้นเองกำแพงเมฆก็ตั้งขึ้นในท้องฟ้า เกิดสายฝนถั่งเทลงมาอย่างหนัก และพายุพัดกระหน่ำรุนแรง จนทำให้เรือถูกบังคับให้แล่นเข้าสู่ธงทองนั้นด้วยอำนาจของลมและฝน และถูกผูกติดกัน มีลักษณาการดังควาญช้างบังคับให้ผูกขาติดกับเสาตะลุงฉะนั้น และทั้งธงทั้งเรือก็ค่อย ๆ จมลงในมหาสาครอันบ้าคลั่ง

บรรดาพราหมณ์ที่อยู่ในเรือต่างก็ตื่นตระหนกตกใจกลัวตาย และตะโกนร้องเรียกให้พระเจ้าจัณฑสิงห์ช่วย เมื่อสัตตวศีลได้ยินเสียงพราหมณ์ร้องก็คิดถึงพระราชาผู้เป็นนาย ด้วยความภักดี จึงถือดาบมือหนึ่ง พันอาภรณ์เข้ากับตนอย่างทะมัดทะแมง กระโจนลงไปในเกลียวคลื่นเพื่อติดตามหมาสาเหตุแห่งภัยพิบัติ โดยดำน้ำลงไปตรงที่ธงผุดขึ้นมา และในทันทีที่เขาจมลงไป เรือลำนั้นก็ถูกกระแสน้ำและลมพัดพาไปไกล ทำให้เรือเคว้งคว้างไปมาครู่หนึ่งแล้ว ก็พาเอาทุกคนจมหายไปในทะเลลึก สู่ปากของอสูรทะเลที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือคอยทีอยู่

ส่วนสัตตวศีลเมื่อจมลงไปในท้องทะเล รู้สึกตัวว่าตกลงมาในนครแห่งหนึ่งอันงดงามโอฬาร ไม่แลเห็นทะเลอยู่ที่ใดเลย เมื่อแลดูรอบ ๆ ก็พบกับภาพอันวิจิตรสุดบรรยาย คือปราสาทราชวังที่หลังคาเป็นทองกระทบแสงอาทิตย์เป็นประกายวูบวาบ ตั้งอยู่บนเสาอันเรียงรายเป็นแถวทำด้วยเพชรมณีระยิบระยับไปทั่ว มีอุทยานแห่งหมู่ไม้และดอกไม้บานสะพรั่งใกล้กับทะเลสาบซึ่งมีน้ำใสกระจ่างราวกับแผ่นแก้ว ที่ทะเลสาบมีบันได้แก้วมณีสีต่าง ๆ ทอดลงสู่ผืนน้ำและในทะเลสาบนั้นเองมีเทวาลัยของพระทุรคาเทวีตั้งโดดเด่นเป็นสง่าราวกับภูผาพระสุเมรุ มีกำแพงหินสีงามและธงทิวเพชรพลอยเรียงรายอยู่โดยรอบ สัตตวศีลเข้าไปสู่ตีรถะของพระเทวี กระทำการบูชาด้วยใจศรัทธา กล่าวโศลกเทวีมาหาตมยันถวายบทหนึ่ง และนั่งพักด้วยความรู้สึกงงงวยราวกับตกอยู่ในความฝัน

ในระหว่างนั้น มีเทพอัปสรตนหนึ่งเปิดทวารเทวาลัยเข้ามา แผ่รัศมีสว่างโชติช่วงตรงหน้าเทวรูปพระเทวี นางมีเนตรยาวเรียวราวกับกลีบบัวอินทีวร(บัวสายสีน้ำเงินชนิดหนึ่ง) มีพักตร์เอิบอิ่มเช่นสมบูรณจันทร์ มียิ้มอันงามละมุนดังดอกไม้ มีสรีระอันแบบางละไมราวกับแท่งเทียนที่หล่อหลอมขึ้นมาจากใยรากพลับพลึง จะเปรียบความงามของนางโดยส่วนรวมก็คล้ายกับสระโบกขรณีที่เคลื่อนไหวได้นั่นเอง นางเดินผ่านฝูงนางบริวารเข้าไปสู่พระวิมาน(ส่วนลึกที่สุดในเทวาลัย เป็นที่สถิตของเทวรูป) ที่สถิตของเทวรูปและที่ที่สถิตของหัวใจสัตตวศีลในขณะเดียวกัน เมื่อนางกระทำการบูชาพระเทวีแล้วก็ออกมาจากพระวิมาน แต่หาได้ออกจากหัวใจของชายหนุ่มไม่ นางเข้าไปสู่ที่ว่างภายนอกวิหาร สัตตวศีลก็ติดตามนางไป พออกมาพ้นเทวาลัยชายหนุ่มก็แลเห็นนครอีกแห่งหนึ่งปรากฏตรงหน้า งามโอ่อ่าคล้ายกับอุทยายอันเป็นที่รวมแห่งความบันเทิงทั้งหลาย เมื่อเข้าไปสู่อุทยานสุตตวศีลก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนแท่นซึ่งประดับประดาด้วยเพชรพลอย เขาจึงตามเข้าไปและนั่งลงเคียงข้างนาง นัยน์ตาจับจ้องแต่ใบหน้าของนางด้วยความเสน่หาเป็นล้นพ้น ราวกับบุรุษที่ปรากฏในภาพวาดมีลักษณะแน่วนิ่งฉะนั้น เพียงแต่มีแข้งขาอันสั่นเทิ้มและโลมาอันชูชันเพราะความปรารถนานางอย่างแรงกล้า เมื่อนางแลเห็นว่าเขามองนางด้วยความหลงใหลก็ยิ้มและพยักหน้าให้บริวารของนางถอยออกไป นางผู้บริวารทั้งหลายจึงกล่าวแก่ชายหนุ่มว่า

"ท่านมาสู่ที่นี่ในฐานะอาคันตุกะของเรา ฉะนั้นจงมีใจรื่นเริงต่อทุกสิ่งที่นายหญิงของพวกข้าจะเสนอแก่ท่่านเถิด จงลุกขึ้นไปอาบน้ำให้สะอาดแล้วมาบริโภคอาหาร"

เมื่อชายหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกชื่นมื่นขึ้น ค่อยลุกขึ้นอย่างมีเรี่ยวแรง เดินไปยังสระน้ำที่นางเหล่านั้นชี้ให้ และในขณะที่เขาดำลงไปในสระนั้น ก็โผล่ขึ้นแลดูโดยรอบด้วยความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเขาโผล่ขึ้นมากลางสระในสวนขวัญของพระราชาจัณฑสิงห์แห่งนครตามรลิปติ และทันทีที่แลเห็นเขาก็ต้องอุทานออกมาว่า

"อะโห นี่มันเรื่องอะไรกัน เดี๋ยวนี้เราอยู่ในอุทยานหลวง แต่เมื่อตะกี้เราอยู่ในนครอันงามโอฬารนี่ ความรื่นรมย์ที่มีอยู่ที่นั่นหายไป กลายเป็นความโศกเศร้าแสนศัลย์ที่นี่เพราะต้องแยกจากนางมา แต่นี่ก็มิใช่ความฝัน เพราะเราเห็นทุกอย่างในสภาพของคนที่ตื่นแล้วแท้ ๆ บัดนี้ความจริงก็แจ่มแจ้งแล้วว่า เราถูกนางในบาดาลแห่งนั้นหลอกเหมือนอ้ายโง่ตนหนึ่งนั่นเอง"

คิดดังนี้แล้ว สัตตวศีลก็ออกเดินท่องเที่ยวไปในสวนอย่างไร้จุดหมาย มีลักษณเหมือนคนบ้า มีความเสียใจอย่างลึกซึ้งที่ต้องพรากจากนางมาโดยไม่มีทางจะได้พบกันอีก เดินพลางร่ำไห้ด้วยใจรันทดผิดหวัง

บรรดาผู้รักษาอุทยานแลเห็นชายหนุ่มเดินกระเซอะกระเซิงอยู่ในสวนมีร่างกายอันเรี่ยราดด้วยเกสรดอกไม้สีเหลืองเต็มไปทั่วเช่นนั้น ก็รีบพากันไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาจัณฑสิงห์ได้ฟังก็งุนงงในพระทัยยิ่งนัก เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แลเห็นเสวกของพระองค์ตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสารเช่นนั้นก็ทรงปลอบด้วยความปรานี ตรัสแก่เขาว่า

"เพื่อนรักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกันเล่า ช่วยเล่าให้ข้าฟังทีสิ ข้าใช้ให้เจ้าเดินทางไปทำธุระในที่หนึ่ง แต่เจ้ากลับไปอีกที่หนึ่ง ลูกศรของเจ้าพลาดที่หมายเสียแล้วหรือ"

เมื่อสัตตวศีลได้ฟังรับสั่งเช่นนั้น ก็กราบทูลเรื่องราวที่เป็นมาทั้งหมดให้พระราชาฟัง พระราชาได้ฟังก็ฉงนพระทัยยิ่งนัก รำพึงแก่ตนเองว่า

"ช่างประหลาดอะไรอย่างนี้ ชายคนนี้เป็นวีรบุรุษอย่างไม่ต้องสงสัย เขาถูกความรักหลอกเล่นจนหัวปั่น แต่จะว่าไปข้ากลับยินดีด้วยซ้ำเพราะข้าได้โอกาสที่จะปลดเปลื้องหนี้แห่งบุญคุณที่เขามีต่อข้าเสียที"

ดังนั้นพระราชวีระจึงกล่าวแก่เขาว่า "เจ้าจงหยุดเศร้าโศกเสียทีเถิด ข้าจะพาเจ้ากลับไปทางเดิมเพื่อไปสู่นางอสุรีที่เจ้ารักด้วยตัวของข้าเอง" เมื่อปลอบโยนดังนี้แล้วก็รับสั่งให้เขาไปอาบน้ำและกินอาหาร เป็นการพักผ่อนเอาแรงไว้

วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงมอบราชอาณาจักรแก่เหล่าเสนาบดีให้ช่วยดูแล แล้วเสด็จลงเรือแล่นใบไปในทะเลพร้อมด้วยสัตตวศีลซึ่งเป็นผู้นำทาง ทันทีที่เรือมาถึงครึ่งทาง สัตตวศีลก็แลเห็นคันธงมหัศจรรย์ผุดขึ้นจากน้ำทะเลพร้อมด้วยผืนธงอันสง่างามเหมือนที่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน จึงกราบทูลพระราชาว่า

"นั่นไงล่ะพระเจ้าข้า เสาธวัชอันยิ่งใหญ่ เครื่องหมายแห่งสมบัติอันหาค่ามิได้ผงาดโดเด่นอยู่ในทะเลอย่างสง่างาม ข้าพระบาทจะกระโดลงตรงนั้น ต่อจากนั้นพระองค์โปรดกระโดดตามข้าพระบาท ดำดิ่งลงไปตามเสาธงนี่แหละ"

ขณะที่สัตตวศีลกราบทูลอยู่นีั้เรือก็แล่นเข้าไปใกล้เสาธงทอง เป็นเวลาเดียวกับที่เสาธงกำลังเริ่มจะจมลง สัตตวศีลรีบกระโดดลงไปเป็นคนแรก พระราชาเป็นคนที่สองที่กระโดดตามลงไป ในไม่ช้าก็ปรากฏว่าทั้งสองคนลงมาถึงนครอันโอฬารพร้อมกัน พระราชาทรงตื่นพระทัยเป็นล้นพ้นต่อภาพที่ปรากฏเฉพาะหน้า หลังจากเสด็จเข้าไปบูชาเทวรูปพระแม่เจ้าปารวตีแล้ว ก็เสด็จกลับมานั่งข้างสัตตวศีล

ระหว่างนั้นเองในท่ามกลางแสงทองระยิบระยับ นางโฉมงามก็ปรากฏร่างแวดล้อมด้วยบริวารจำนวนมาก สัตตวศีลแลเห็นก็รีบกราบทูลละล่ำละลักว่า นั่นแหละคือนางยอดดวงใจของตน พระราชาทอดพระเนตรแล้วรู้สึกว่า ถึงนางจะงามเพียงไร แต่หาได้ผูกมัดพระองค์ให้คลั่งไคล้ได้ไม่ ดวงหทัยของพระองค์มีแต่ความว่างเปล่า หาได้มีเยื่อใยจต่อนางแม้แต่น้อย นางโฉมงามแลเห็นพระราชาผู้สง่างาม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษอันเด่นชัดเช่นนั้นก็ประหลาดใจรำพึงแก่ตนเองว่า

"ใครหนอช่างงามสง่าถึงเพียงนี้"

แล้วนางก็กลับเข้าไปในเทวาลัย กระทำนมัสการเทวรูปพระเทวี และอธิษฐาน ฝ่ายพระราชามีความรู้สึกดูหมิ่นต่อนาง ไม่ต้องการจะเห็นนางอีก จึงพาสัตตวศีลเดินเข้าไปพักผ่อนในสวน ในเวลาไม่นานนักนางแทตย์(จากศัพท์ไทตย หมายถึงอสูรพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของพระกัศปเทพบิดรกับชายาองค์หนึ่งคือนางทิติ) โฉมงามกลับออกมาจากพระวิมาน หลังจากที่ได้อธิษฐานขอสามีที่ดีต่อพระเทวีแล้ว นางเรียกบริวารคนหนึ่งเข้ามาและกล่าวว่า "เพื่อนเอ๋ย ไปหาดูสิว่า ชายผู้งามสง่าเป็นมหาบุรุษที่ข้าเห็นเมื่อตะกี้เป็นใคร แล้วเชิญให้เขาเข้ามาเพื่อเราจะได้ต้อนรับเขาให้สมเกียรติ เราจะต้องต้อนรับเขาให้ดีเพราะเขาเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ สมควรจะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ"

เมื่อนางบริวารได้รับคำสั่งเช่นนั้นก็รีบติดตามจนพบพระราชาอยู่ในสวนกำลังก้มลงกระทำอัญชลีอย่างนอบน้อม และนำสารของผู้เป็นายมากราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาผู้วีระกลับตรัสอย่างไม่แยแสด้วยเสียงอันเหยียดหยามว่า "สวนนี้ก็ให้ความรื่นรมย์แก่ข้าเพียงพอแล้ว ข้าจะปรารถนาความบันเทิงอะไรนอกเหนือไปจากนี้เล่า"

เมื่อนางบริวารนำความกลับมาแจ้งแก่นางอสูรผู้เป็นนาย นางก็คิดในใจว่าพระราชาองค์นี้ไม่ไยดีต่อเรา เพราะถือว่าพระองค์มีเกียรติยศสูงส่งยิ่งกว่าเรา ถ้ากระไรเราควรถวายการต้อนรับอย่างวิเศษสุดแก่พระองค์ดีกว่า ดังนั้นนางแทตย์จึงออกมาหาพระราชาด้วยตนเองที่อุทยาน และคิดว่าพระราชาองค์นี้ถูกส่งมาให้เป็นสวามีของนางด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระทุรคาเทวีนั่นเอง ขณะเมื่องนางยตรกายเข้ามานั้น บรรดารุกขชาติต่างก็ให้เกียรติแก่นางโดยค้อมกิ่งลงต่ำ หมู่มวลปักษินชาติก็ร้องเพลงอย่างไพเราะ และลดาวัลย์ก็กวัดไกวไปมาตามสายลมอ่อนรำเพย ปรายโปรยเกสรกุสุมรสลงสู่ร่างของนางมิขาดสาย เมื่อนางดำเนินเข้ามาใกล้วีรกษัตริย์ ก็ก้มลงถวายความเคารพอย่างนอบน้อม เชิญชวนให้พระองค์ทรงรับไมตรีของนาง

พระราชาได้ฟังก็ทรงชี้ไปที่สุตตวศีล และตรัสแก่นางว่า

"ข้าเดินทางมาที่นี่ก็เพื่อถวายการบูชาแด่องค์พระทุรคาตามที่ชายคนนี้เชิญชวน ข้าก็ได้บูชาพระเทวีแล้วด้วยธวัชอันงาม หลังจากนี้แล้วก็หมดภาระของข้า เจ้ายังมีอะไรจะมาเสนอข้าอีก"

เมื่อนางได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ทรงมาเถิด ข้าจะพาพระองค์ไปยังนครแห่งที่สองของข้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในสามโลกนี้"

เมื่อได้ฟังนางกล่าวจบ พระราชาก็สรวลเสียงกึกก้อง ตรัสว่า

"โอ๊ะโอ๋ เรื่องนั้นน่ะหรือ ชายคนนี้ได้เล่าให้ข้าฟังหมดแล้ว ถึงเรื่องวังอันมหัศจรรย์พร้อมด้วยทะเลสาบที่น่าลงไปอาบของเจ้านั่นแหละ"

นางโฉมงามได้ฟังก็กล่าวว่า "อารยบุตร ขออย่าตรัสอย่างนั้น ข้ามิได้มีเจตนาจะหลอกลวงพระองค์เลย ใครเล่าจะกล้าหลอกลวงบุคคลที่น่านับถืออย่างพระองค์ได้ ข้าเป็นดั่งทาสของท่านทั้งสองอยู่แล้ว จะเกรงอะไรอีก ขอเชิญเสด็จมากับข้าเถิด"

พระราชาได้ฟังก็ทรงตกลง พาสัตตวศีลไปด้วยพระองค์ เสด็จตามนางงามเข้าไปสู่วังชั้นในของนาง เมื่อเปิดประตูเข้าไปสู่วังอันงาม ก็ทอดพระเนตรเห็นสวนขวัญอันงดงามสุดพรรณนา ดารดาษไปด้วยพฤกษชาติซึ่งมีดอกบานตระการตาทุกหนทุกแห่ง นครภายในแห่งนี้มลังเมลืองไปด้วยแสงทองแสงแก้วระยิบระยับไปหมด ราวกับยอดภูผาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งแห่งเมืองฟ้า นางแทตย์เชิญชวนให้พระราชาประทับบนบรรยงก์รัตนาสน์ที่รจิตไว้อย่างสุดบรรเจิด และถวายการต้อนรับด้วยอรรฆยะ (การต้อนรับผู้เป็นแขกด้วยการมอบเมล็ดข้าว หญ้าทูรวะ ดอกไม้ และน้ำ ให้แก่แขกผู้มาเยือน) และทูลพระราชาว่า

"โอ นโรดม ข้านี้เป็นธิดาของอสุรกาลเนมี(นามอสูรหรือรากษสตนหนึ่ง เป็นลูกของอสูรวิโรจนะ ผู้เป็นหลานของพญายักษ์ หิรัณยกศิปุ ถูกพระนารายณ์ฆ่าด้วยจักรสุทรรศน์) ผู้ทรงกิตติคุณอันประเสริฐแห่งเหล่าอสูรทั้งหลาย แต่พ่อของข้าละโลกไปสู่สวรรค์แล้ว โดยอาญาของพระวิษณุ(หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่งในจำนวนสามองค์ ซึ่งประกอบด้วยเทพอีกสองค์คือ พระศิวะ(อิศวร) และพระพรหม) ผู้เป็นพระจักรี(ผู้ทรงจักร (ชื่อสุทรรศน์)เป็นอาวุธ หมายถึงพระวิษณุ หรือพระนารายณ์) และนครแฝดที่ทรงแลเห็นนี้ ข้าได้รับมรดกมาจากบิดาของข้า เป็นนครอันเลิศที่รังสรรค์ด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมัน(หรือวิศวกรรม)(เทพผู้เป็นนายช่างใหญ่แห่งสวรรค์) ผู้ใดอยู่ในปุระนี้จะปรารถนาอะไรก็จะได้ดังใจ เป็นที่ซึ่งความชราและความตายมิอาจมาเยี่ยมกรายเลย มาบัดนี้ข้ามีความนับถือพระองค์ดุจดังพ่อของข้า ตัวข้าและพระนครทั้งสองนี้เป็นของใต้ฝ่าพระบาทแล้ว"

กล่าวแล้วนางก็คุกเข่าลงกราบแทบบัวบาทของพระราชาแสดงการถวายตัว พระราชาจึงตรัสแก่นางว่า "ถ้าเป็นดั่งที่เจ้าพูด ข้าก็ขอมอบเจ้าไว้แก่เพื่อนข้าคือ สัตตวศีลผู้นี้ ผู้ซึ่งข้ารักเหมือนญาติสนิท"

เมื่อพระราชาผู้ทรงสิริดังพระทุรคาเทวีในร่างมนุษย์ตรัสถ้อยคำนี้ นางก็เข้าใจและยอมรับฟังโดยดี ด้วยประการฉะนี้ สัตตวศีลก็ได้บรรลุจุดสุดยอดแห่งความปรารถนาคือ ได้นางผู้เป็นยอดดวงใจ และได้เป็นราชันครองนครทั้งสองด้วยในขณะเดียวกัน พระราชาจึงตรัสแก่เขาว่า

"แน่ะ เจ้าเพื่อนยาก บัดนี้ข้าก็ได้ให้สิ่งที่เจ้าปรารถนาแล้วเป็นเครื่องตอบแทนผลอามลกะที่เจ้าเคยให้ข้ากินผลหนึ่งในสมัยก่อน แต่ข้าก็ยังเป็นหนี้เจ้าอยู่ ข้ายังไม่ได้ให้รางวัลแก่เจ้าเป็นอย่างที่สอง"

เมื่อพระราชาจัณฑสิงห์กล่าวแก่สัตตวศีลผู้ยืนก้มศีรษะอยู่ดังนั้นแล้ว ก็หัสมาตรัสแก่นางแทตยาสุรีว่า

"ทีนี้เจ้าจงแสดงหนทางที่จะนำข้ากลับพระนครเถิด"

นางอสูรได้ฟังดังนั้นก็ถวายกระบี่เล่มหนึ่งแก่พระราชาพร้อมทั้งแนะนำว่า "กระบี่วิเศษนี้ชื่อปราบสกลทิศ ไม่มีใครเอาชนะได้ พระองค์จงเอาติดตัวไปพร้อมด้วยผลไม้นี้ซึ่งมีคุณอันเลิศ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้เสวยแล้วจะสามารถเอาชนะความแก่และความตายได้"

พระราชาทรงทราบวิถีที่นางกล่าวเป็นนัยดังนั้นแล้ว ก็กระโจนลงสู่บึงใหญ่ตามที่นางชี้ให้ และสิ่งที่เกิดตามมาก็คือ พระองค์ได้ผุดขึ้นในนครของพระองค์เองราวปาฏิหาริย์ ส่วนสัตตวศีลมิได้ติดตามไป เพราะได้เป็นราชาครองสองพระนคร ณ บาดาล พร้อมด้วยนางอสุรีโฉมงาม มีความสุขอยู่ในแดนทิพย์แห่งนั้นชั่วกาลนาน

"ข้าแต่เทวบุตร" เวตาลกล่าวหลังจากนิทานจบลงแล้วว่า "ข้ายังสงสัยอยู่ว่าใครกันแน่ระหว่างบุรุษทั้งสองนั้นที่กล้าหาญที่สุดในการโจนลงทะเล"

เมื่อเวตาลตั้งปุจฉาดังนี้ พระราชาตริวกรมเสนผู้ทรงเกรงคำสาปของเวตาลก็กล่าวว่า

"ถ้าจะให้ข้าตอบ ข้าก็ต้องบอกว่า สัตตวศีลนั่นแลคือคนที่กล้าหาญที่สุด เพราะเขากระโจนลงสู่สมุทร ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาไม่รู้ถึงเหตุการณ์ และมิได้มีความหวังใด ๆ เลย ส่วนพระราชานั้นทรงทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้่น เมื่อดำลงไปใต้น้ำเพื่อหาอะไรที่นั่น และพระองค์ก็มิได้ตกหลุมรักนางแทตยาสุรี เพราะพระองค์หาได้มีความปรารถนานางแต่ประการใดไม่"

ฝ่ายเวตาลเมื่อได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นเป็นการละเมิดกติกา ก็หายแวบไปจากอังสาของพระราชา กลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม พระราชาก็เสด็จกลับไปยังที่นั้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะเอาตัวมันมาให้ได้ ทั้้งนี้เพราะบุรุษผู้มีความรับผิดชอบต่องานที่ตนทำ ย่อมไม่ละทิ้งไปก่อนที่งานของตนจะสำเร็จลงตามสัญญา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 17:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๘

ครั้นพระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปจับเวตาลที่ต้นอโศกมาแล้วก็พาดมันไว้บน บ่า เดินกลับไปทางเดิมเพื่อจะไปพบโยคีศานติศีลที่ป่าช้า แต่ขณะที่เดินมาในความเงียบนั้นเอง เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "แน่ะ ราชะหนทางยังอีกไกล เพื่อจะให้พระองค์ลืมภาระอันหนักนี้ โปรดเตรียมสดับปัญหาของข้าเถิด"

แต่โบราณกาล ยังมีท้องถิ่นหนึ่งเป็นสมบัติของตระกูลพราหมณ์ในแคว้นอังคะ เรียกว่า หมู่บ้านพฤกษฆัฏ ในหมู่บ้านดังกล่าวนี้มีพราหมณ์ที่ร่ำรวยคนหนึ่งมีชื่อว่าวิษณุสวามิน พราหมณ์ผู้นี้มีภรรรยาซึ่งอยู่ในตระกูลทัดเทียมกับตนด้วยชาติกำเนิด นางพราหมณีได้ให้กำเนิดบุตรชายสามคนซึ่งมีความเป็นผู้ดีหัวสูงเช่นเดียวกัน ในกาลต่อมาเมื่อเด็กทั้งสามเติบโตเป็นหนุ่มก็เป็นที่ภาคภูมิใจของบิดามารดา มาก

วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์กำลังจะกระทำยัชญพิธี(พิธีบวงสรวง) ก็เรียกบุตรชายทั้งสามเข้ามาและสั่งให้ทั้งสามคนออกไปเที่ยวหาเต่าทะเลที่ ชายหาด เมื่อไปถึงฝั่งทะเลมินานก็พบเต่าตัวหนึ่ง พราหมณ์ผู้พี่ใหญ่ก็กล่าวแก่น้องชายทั้งสองว่า

"พวกเจ้าคนหนึ่งคนใดในสองคนจงแบกเต่าเอาไปให้ท่านพ่อทำยัชญพิธีเถิด ข้าคงจะแบกมันไปไม่ได้เพราะมันลื่นด้วยตะไคร่น้ำ"

เมื่อพี่ชายใหญ่กล่าวดังนี้ น้องทั้งสองก็กล่าวว่า "ถ้าพี่ลังเลใจ ไม่กล้าแบกมันไป ทำไมพวกข้าจะต้องแบกไปเล่า"

พี่ชายใหญ่ได้ฟังก็กล่าวว่า

"เจ้าทั้งสองจะต้องเอาเต่านี้ไป ถ้าเจ้าไม่ทำ เจ้าก็จะได้ชื่อว่า ขัดยัชญพิธีของพ่อ ทำให้ไม่สำเร็จ ทั้งเจ้าและท่านพ่อก็จะตกนรกด้วยกันทั้งคู่แน่ ๆ"

เมื่อเขาบอกแก่น้องทั้งสองดังนี้ คนทั้งสองกลับหัวเราะเยาะและกล่าวว่า "ถ้าพี่รู้หน้าที่ของพวกเราดังนี้แล้ว ทำไมไม่รู้ตัวเองว่าพี่ก็ต้องทำหน้าที่เช่นเดียวกัน"

พี่ชายใหญ่จึงกล่าวว่า "ข้าเป็นผู้ดีในการกิน และข้าไม่คิดว่าจะแตะต้องเจ้าเต่าตัวนี้ มันน่าขยะแขยงสิ้นดี"

น้องคนกลางได้ฟังจึงพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าก็เป็นผู้ดีที่สุด เพราะข้าเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในเรื่ื่องของเพศอันละเอียดอ่อน"

เมื่อได้ฟังดังนี้พี่ชายใหญ่ก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ให้เจ้าน้องเล็กนี่แหละนำเต่านี้ไป"

น้องคนสุดท้องได้ยินก็ขมวดคิ้วด้วยความไม่พอใจ กล่าวแก่พี่ชายทั้งสองว่า "เจ้าคนโง่ ข้าเป็นผู้ดีเรื่องเตียงนอน เพราะฉะนั้นข้านี่แหละเป็นผู้ดีมากที่สุด"

ทั้งสามพี่น้องต่างก็ทะเลากันเพราะความหยิ่งลำพองในตัวเอง ดังนั้น คนทั้งสามจึงละจากเต่าทะเล เดินทางเข้าไปในเมืองวิฏังกปุระ ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินชื่อ พระเจ้าประเสนชิตปกครองอยู่ เพื่อจะให้ตัดสินกรณีพิพาทของตน

เมื่อสมุหราชมนเทียรขานชื่อเรียบร้อยแล้ว พี่น้องทั้งสามก็เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และบรรยายเรื่องราวให้ทรงทราบอย่างละเอียด พระราชาฟังเรื่องราวแล้วก็ตรัสว่า "คอยอยู่ที่นี่แหละ ข้าจะให้เจ้าได้พิสูจน์ตัวเองเสียก่อน" ชายทั้งสามก็ตกลงและนั่งรออยู่ ณ ทีี่นั้น

ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระราชาจะเสวยภัตตาหารมื้อกลางวัน จึงเรียกให้ชายทั้งสามเข้ามาร่วมโต๊ะเสวยซึ่งมีอาหารอันโอชะปรุงแล้วอย่างดี ที่สุด ส่งกลิ่นหอมฟุ้งยั่วยวนจมูก ประกอบด้วยรสต่าง ๆ ถึง ห้ารส พราหมณ์ผู้เป็นพี่ใหญ่แลเห็นแล้วก็ไม่ยอมกิน กลับเชิดหน้าอย่างหยิ่งจองหองและขยะแขยง พระราชาจึงตรัสถามว่า "อาหารบนโต๊ะเสวยนี้ล้วนแต่ของดีวิเศษทั้งสิ้น เหตุใดเจ้าจึงไม่ยอมกิน" พราหมณ์ได้ฟังก็ทูลตอบว่า

"ข้าพระบาทสังเกตเห็นว่า อาหารนี้มีกลิ่นตุ ๆ ราวกับกลิ่นซากศพ ดังนั้นข้าพระบาทจึงไม่อาจเข้าไปเฉียดใกล้อาหารพวกนี้ ไม่ว่ามันจะอร่อยสักแค่ไหนก็ตาม"

พระราชาจึงตรัสถามผู้ที่นั่งล้อมรอบโต๊ะนั้นว่ารู้สึกอย่างไร คนเหล่านั้นได้ฟังรับสั่งก็ทูลว่า "กระยาหารนี้คือข้าวขาวหอมโดยธรรมชาติ ไม่มีตำหนิอะไรเลย" แต่พราหมณ์ผู้หยิ่งในความเป็นผู้ดีอย่างยิ่งยวดในการกินก็ยังไม่ยอมแตะต้อง นั่งทำจมูกย่นอยู่ พระราชาทรงดำริว่าเรื่องนี้สมควรจะสืบสวนให้รู้เท็จจริง มนตรีจึงทูลว่า ข้าวเสวยนี้เป็นข้าวที่ปลูกในสาลีเกษตรซึ่งอยู่ใกล้กับฆาฏ(ที่เผาศพโดย มากอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา เป็นต้น) อันเป็นที่เผาศพของคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระราชาได้ฟังก็ประหลาดพระทัยมาก ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ตรัสแก่พราหมณ์ว่า "ตัวท่านนี้มีความรู้ในโภชนศาสตร์ยิ่งนัก ท่านเป็นคนเก่ง หาได้ยาก จงเลือกกินอาหารอย่างอื่นตามใจชอบเถิด"

หลังจากการกินเลี้ยงสิ้นสุดลง พระราชาก็ปล่อยให้พราหมณ์กลับไปยังที่พักของตน และส่งหญิงงามที่สุดคนหนึ่ง งามเพริศพริ้งทั้งสรรพางค์หาที่เปรียบมิได้ ตกแต่งร่างกายด้วยปิลันธาภรณ์อันแพรวพราวด้วยมณีจินดาค่าควรเมือง ส่งไปประทานแก่พราหมณ์คนรองผู้เป็นเอตทัคคะในกามศาสตร์ นางผู้เปรียบดังผู้จุดไฟของกามเทพ และเป็นผู้ที่มีพักตร์อันงามดังดวงศศีในยามเที่ยงคืน มาสู่ห้องของพราหมณ์โดยมีสาวสรรกำนัลนางแวดล้อมเป็นบริวาร

เมื่อนางผู้งามบรรเจิดมาถึงห้องพักของพราหมณ์หนุ่มผู้เลิศในโลกิยวิสัย พราหมณ์แลเห็นก็แสดงอาการเหมือนจะเป็นลม เอามือซ้ายปิดจมูกไว้และตะโกนบอกแก่เสวกผู้ติดตามนางมาว่า

"เอานางคนนี้ออกไปให้พ้น ขืนชักช้าอยู่ข้าต้องตายแน่ คนอะไรมีกลิ่นตัวเหม็นราวกับแพะ"

ราชเสวกได้ฟังก็ตกใจ มีความประหลาดใจเป็นล้นพ้น รีบพานางโฉมงามกลับไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระราชาจึงส่งคนนำคำสั่งไปแจ้งให้บุรุษที่คลื่นไส้นั้นมาเฝ้า ตรัสว่า "เจ้าจงบอกข้ามาซิว่า หญิงงามที่ข้าส่งไปให้เจ้ามีกลิ่นกายเหม็นได้อย่างไร นางเป็นคนสะอาด หมั่นชำระล้างร่างกายเสมอ และประทิ่นกายด้วยของหอม เช่น ผลจันทน์แดง ผงการะบูน ผงยาดำ(กฤษณา) และเครื่องหอมนานาชนิด ซึ่งนางสรรหามาจากทั่วโลก อย่างนี้ยังจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนแพะอีกหรือ"

ถึงแม้พระราชาจะอ้างเหตุผลอย่างไร ๆ ชายผู้คลื่นไส้ก็ไม่ยอมเชื่อ พระราชาทรงคำนึงว่าเรื่องนี้น่าจะมีความเร้นลับแอบแฝงอยู่ จึงซักถามนางงามด้วยวิธีต่าง ๆ ในที่สุดนางก็ยอมรับว่า เมื่อยังเยาว์วัยนางพรากจากครอบครัวไปอยู่ที่อื่น และนางถูกเลี้ยงมาด้วยนมแพะ

เมื่อพระราชาได้ประจักษ์ความจริงดังนี้ ทรงพิศวงในความรู้แจ้งอันเร้นลับของพราหมณ์หนุ่มเป็นอันมาก จากนี้ทรงสืบสวนถึงความมหัศจรรย์ของพราหมณ์ผู้เป็นน้องสุดท้องว่า เขามีความรู้สึกซึ้งเกี่ยวกับเตียงนอนอย่างไร พระราชาโปรดให้นำเตียงนอนพิเศษสุดตัวหนึ่งมาปูลาดด้วยเสื่อเจ็ดชั้นสลับกับ ฟูก มีผ้าปูที่นอนอันนิ่มละมุนละไม ปูทับด้านบน เมื่อตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปให้พราหมณ์หนุ่มนอนในห้องไสยาอันโอ่อ่า

เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งยาม พราหมณ์หนุ่มก็ผุดลุกขึ้นนั่งเอามือทั้งสองบีบที่สีข้าง และเปล่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด บริพารของพระราชาซึ่งเฝ้าดูอยู่ในที่นั้น แลเห็นเหตุการณ์ก็เข้าไปประคองจึงแลเห็นเครื่องหมายคด ๆ งอ ๆ เป็นผื่นแดงที่สีข้างของชายหนุ่มราวกับเป็นเส้นขนที่ฝังแน่นลงไปในเนื้อ เมื่อคนเหล่านั้นกลับไปทูลพระราชา พระราชก็ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า "พวกเจ้าไปดูสิว่ามีอะไรอยู่ในเสื่อหรือไม่" คนเหล่านั้นจึงช่วยกันดูอย่างพิินิจพิเคราะห์ตั้งแต่เสื่อผืนล่างที่สุดของ เตียง ไล่ขึ้นมาทีละชั้นจนครบเจ็ดชั้น ในที่สุดก็พบขนเส้นหนึ่งอยู่กลางฟูชั้นล่างที่สุดจึงหยิบเอามาแสดงแก่พระ ราชา และนำตัวพราหมณ์ผู้รู้ความลับเกี่ยวกับเตียงนอนมาเฝ้าด้วย และเมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นอาการเจ็บปวดของพราหมณ์ อันเกิดจากขนเส้นหนึ่งจากเสื่อชั้นล่างสุดเข้าไปฝังตัวใต้ผิวหนังของเขาก็ ย่ิงทรงฉงนสนเท่ห์พระทัยนัก ทรงใช้เวลาทั้งคืนเฝ้าขบคิดเรื่องปริศนาจนรุ่งสว่างก็ไม่อาจจะค้นคว้าหาคำ ตอบได้

เช้าวันรุ่งขึ้น พระราชาเสด็จออกท้องพระโรง ประทานรางวัลให้แก่พราหมณ์ทั้งสามคนนั้น คือเหรียญทองสามแสนเหรียญให้ไปแบ่งกัน เพราะบุรุษทั้งสามนั้นเป็นอัจฉริยบุคคลซึ่งหาได้ยากยิ่ง และบุรุษทั้งสามนั้นก็ได้อยู่ในวังของพระเจ้าแผ่นดิน มีความสุขสบายตามอัตภาพวิสัย แต่คนทั้งสามจะคิดสักนิดหนึ่งก็หาไม่ว่าเขาได้ทำบาปต่อพ่อของเขาโดยทำให้ ส่วนหนึ่งในยัชญพิธีต้องขาดไป เพราะเขามิได้เอาเต่าไปให้พ่อทำพิธีนั่นเอง ส่วนเต่าทะเลซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้มีชีวิตอันผาสุกนั้น เขาลืมมันสิ้น

เมื่อเวตาลเล่านิทานจบลง ก็ทูลถามพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "โอ ราชัน ข้ามีคำถามอันชวนให้สงสัยไม่หายและไม่อาจจะหาคำตอบได้ ฉะนั้นโปรดทรงชี้แนะด้วยเถิดว่า ในจำนวนบุรุษอัจฉริยสามคนนั้นใครเป็นคนเก่งที่่สุด และใครเก่งเป็นรองตามอันดับลงมา"

พระราชาได้ฟัง ลืมคิดถึงคำสัญญาที่ตกลงไว้แก่เวตาล ตรัสด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า

"น้องสุดท้อง คนที่ต้องเจ็บปวดเพราะเส้นผมนั่นต่างหากที่ควรนับว่าเก่งที่สุด เพราะเป็นพยานที่สำคัญที่สุด ส่วนพี่ชายอีกสองคนนั่นอาจจะได้ระแคะระคายมาจากคนอื่นแล้วก็ได้ ข้าจึงว่าไม่สู้จะอัศจรรย์อะไรนัก"

"อย่างนั้นหรือพระเจ้าข้า" เวตาลยิ้มอย่างเจ้าเล่ห์ "ถ้ากระนั้นก็โปรดเสด็จกลับมารับข้าอีกก็แล้วกัน" กล่าวจบเวตาลก็อันตรธานไปจากบ่าของพระราชา หายแวบกลับไปที่ต้นอโศกตามเดิม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 17:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๙

เมื่อเวตาลหนีไปแล้วพระเจ้าตริวิกรรมเสนก็ต้องเสด็จกลับไปยังต้นอโศที่ร่างเวตาลแขวนอยู่ ทรงดึงมันลงมาพาดไว้ที่บ่า เสด็จกลับไปตามทางเดินมุ่งหน้าไปยังสุสานผีดิบที่โยคีเฒ่าคอยอยู่ ขณะที่ดำเนินไปเงียบ ๆ เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "จะรีบเสด็จไปไย ที่หมายยังอยู่อีกไกล ฟังนิทานกันดีกว่า ข้าจะเล่าถวายเอง โปรดทรงสดับเถิด"

ในแคว้นอวันตี ยังมีพระนครแห่งหนึ่งซึ่งทวยเทพได้ลงมาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยต้นอายุของโลก มีความไพศาลสุดประมาณดังประกายรัศมีของพระศิวะผู้เป็นเจ้่า เมืองนี้เป็นที่รื่นรมย์ และมีความเจริญยิ่งนัก เฉกเช่นพระกายของพระมหาเทพ(นามหนึ่งของพระศิวะ) ที่ประดับด้วยสังวาลงูที่แผ่พังพาน และมีอังคารเป็นเครื่องลูบไล้(มีร่างกายชโลมด้วยเถ้ากระดูก เป็นลักษณะของพระศิวะในตอนที่ลงมาใช้ป่าช้าเป็นที่พำนัก) เมืองนี้มีชื่อว่าปัทมาวดีในกฤตยุค(ยุคที่ ๑ ของโลก เป็นสมัยที่คนมีศีลธรรมเต็มร้อย) ชื่อโภควดีในสมัยเตรตายุค(หรือไตรดายุค เป็นยุคที่ ๒ ของโลก เมื่อศีลธรรมของคนลดลงไป ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน) ชื่อหิรัณยวดีในสมัยทวาปรยุค(ยุคที่ ๓ ของโลก เมือ่ศีลธรรมของคนลดลงไป ๒ ใน ๔) และในยุคปัจจุบันคือกลียุค(ยุคสุดท้ายของโลก ศีลธรรมของคนลดลงไป ๓ ส่วนใน ๔ ส่วน) นี้มีชื่อว่าอุชชยินี เมืองนี้มีพระราชาปกครองชื่อ พระเจ้าวีรเทพ และมีมเหสีชื่อ ปัทมาวดี ทั้งสองพระองค์นี้เสพสุขอยู่ด้วยกันช้านานแต่หาได้มีโอรสไม่ พระราชาจึงพาพระมเหสีเสด็จไปยังฝั่งของสระมันทากินี(ชื่อสระแห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์) และกระทำความเพียรอันอุกฤษฏ์เพื่อให้พระเจ้าโปรดปรานประทานโอรสให้ และหลังจากที่ทรงบำเพ็ญตบะมาช้านานแล้วทำพิธีสระสนานและสวดมนตร์สรรเสริญพระเป็นเจ้าแล้ว วันหนึ่งก็มีเสียงลอยมาจากสวรรค์ เป็นเสียงแห่งองค์พระภูเตศวร(เป็นฉายาของพระศิวะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือภูตพรายทั้งหลาย) ผู้ทรงยินดีในตบะกรรมที่กษัตริย์ทั้งสองบำเพ็ญถวายว่า

"ดูก่อนราชะ ข้าจะให้พรแก่เจ้า นับแต่นี้ไปเจ้าจะมีโอรสองค์หนึ่ง มีความแกล้วกล้าสามารถเป็นยอดชายในแผ่นดิน จะได้เป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป และเจ้าจักได้ธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีสิริโฉมงามหาใครเปรียบมิได้ เป็นความงามที่แม้นางอัปสรสวรรค์ก็ยังได้อาย"

เมื่อพระราชาวีรเทพได้ฟังเสียงสวรรค์บันลือเช่นนี้ ทรงปลาบปลื้มพระทัยเป็นอันมาก พาพระมเหสีเสด็จกลับพระนคร เมื่อภารกิจได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว

จากนั้นพระองค์ก็ได้พระโอรสองค์แรกมีนามว่า ศูรเทพ และพระนางปัทมาวดีก็ประสูติธิดาองค์หนึ่ง พระบิดาจึงตั้งชื่อนางว่า อนงครตี(อนงค์ (กามเทพ)+รติ(ความยินดี, ความรัก) อันมีความหมายว่า "เป็นที่ยินดีของกามเทพ" และเมื่อนางเจริญวัยขึ้น พระราชาผู้เป็นชนกก็เตรียมการหาคู่ให้นางเพื่อจะได้ชายที่เหมาะสมเป็นคู่ครอง โดยสั่งให้ศิลปินเดินทางไปวาดภาพพระราชาทุกองค์บนพื้นพิภพมาให้นางเลือกดู ปรากฏว่านางมิได้พอใจรูปชายใดเลย พระราชาจึงพูดกับนางด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนว่า "ลูกเอ๋ย พ่อไม่สามารถจะหาชายคนใดที่คู่ควรกับลูกได้อีกแล้ว เราคงจะต้องประกาศเชิญพระราชาและเจ้าชายทั้งหลายมาให้ลูกเลือกเสียแล้ว การได้พบตัวจริงของชายอาจทำให้ลูกตัดสินได้ง่ายเข้าก็ได้"

เจ้าหญิงได้ฟังพระบิดากล่าวดังนั้นจึงทูลตอบว่า "เพคะ ท่านพ่อ ลูกกระดากใจที่จะเลือกสามีเองยิ่งนัก แต่จะอย่างไรก็ตาม ลูกจะแต่งงานกับผู้ชายรูปงามที่มีความรู้ในศิลปศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ลูกไม่ปรารถนาชายอื่นนอกจากที่ว่านี้เป็นอันขาด"

เมื่อพระราชาได้ทราบความประสงค์ของเจ้าหญิงอนงครตีเช่นนั้น ก็ส่งคนไปสืบเสาะหาบุรุษที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ในที่สุดก็ได้ชายหนุ่มจากแคว้นเดกข่านมาสี่คน เป็นชายงาม กล้าหาญและรู้ศิลปศาสตร์ ชายเหล่านี้เดินทางมาก็เพราะได้ทราบข่าวโจษจันกันนั่นเอง ชายทั้งสี่ได้รับการต้อนรับจากพระราชาเป็นอย่างดี และต่างคนต่างก็แสดงวัตถุประสงค์ที่จะให้นางเลือกตนเป็นคู่ด้วยกันทั้งนั้น

คนที่หนึ่งกล่าวว่า "ตัวข้าเป็นศูทร ชื่อ ปัญจาผุฏฏิกะ ข้ามีความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างงามวันละห้าชุด ชุดที่หนึ่งข้าถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า ชุดที่สองให้แก่พราหมณ์ ชุดที่สามข้าเอาไว้ใช้เอง ชุดที่ส่ีกะจะให้แก่ภรรยาของข้า ซึ่งก็ควรจะเป็นเจ้าหญิงองค์นี้ ชุดที่ห้าสำหรับขายเพื่อเอางินมาซื้ออาหารและสุรากิน ข้ามีศิลปะอย่างนี้จึงสมควรที่จะได้นางเป็นภรรยาใช่หรือไม่"

เมื่อชายคนที่หนึ่งกล่าวจบลง ชายคนที่สองก็ประกาศตนว่า "ข้าเป็นไวศยะมีชื่อว่า ภาษชยะ ข้ารู้ภาษาสัตว์และนกทั้งปวง จงยกเจ้าหญิงให้แก่ข้าเถิด"

ชายคนที่สองกล่าวจบลง คนที่สามก็กล่าวขึ้นว่า "ข้าเป็นกษัตริย์มีชื่อว่า ขัฑคธร ได้รับการยกย่องจากคนทั้งหลายว่าเป็นผู้ทรงพลัง ไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้ที่จะรู้ศิลปะในการใช้ดาบยิ่งไปกว่าข้า โอ ราชะ โปรดทรงยกนางให้แก่ข้าเถิด"

เมื่อได้ฟังขายคนที่สามว่าดังนั้น ชายคนที่สี่ก็ลุกขึ้ืนประกาศว่า "ข้าเป็นพราหมณ์ มีชื่อว่า ชีวทัตต์ และข้ามีความรู้ศิลปะอันเลิศคือ สามารถช่วยคนและสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมีชีวิตได้ ดังนั้นขอให้พระธิดาคนงามแต่งงานกับข้าเถอะ เพราะข้าเป็นผู้ที่มีศิลปะเลิศกว่าใครทั้งหมด"

เมื่อได้ฟังบุรุษทั้งสี่อ้างสรรคุณของตัวจบลง พระราชาวีรเทพพร้อมด้วยเจ้าหญิงราชธิดาซึ่งประทับอยู่เคียงข้าง ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า คนทั้งสี่นั้นต่างก็มีรูปงามราวเทพ และนุ่งห่มด้วยพัสตราภรณ์อันงามยิ่งเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าใครดีกว่าใคร จึงต่างนิ่งอึ้งอยู่

เวตาลเมื่อได้เล่านิทานจบลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสน ด้วยการคะยั้นคะยอให้ตอบปัญหา โดยกล่าวว่า "โอ มหาราช โปรดบอกข้าหน่อยได้ไหมว่า ชายคนใดในสี่คนนี้สมควรจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงอนงครตี"

พระราชาได้ฟังก็ตรัสแก่เวตาลว่า

"อ้ายเจ้าเล่ห์ เจ้าพยายามหลอกล่อให้ข้าพูดหลายครั้งหลายหนแล้ว ข้าก็เผลอตอบปัญหาของเจ้าทุกที เพราะมันมีแง่มีมุมที่ตัดสินได้ยาก ข้าจึงต้องแสดงความคิดให้เจ้าฟัง แต่ว่าคราวนี้ข้าเห็นว่าปัญหาของเจ้ามันแสดงความโง่เซอะของเจ้าแท้ ๆ เจ้าไม่เห็นหรือว่าหญิงในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะนั้นเท่านั้น นางกษัตริย์ก็ต้องแต่งงานกับกษัตริย์ด้วยกัน จะไปแต่งกับชายวรรณะอื่นได้อย่างไร ก็ชายทั้งสี่นั้นต่างก็อยู่ในวรรณะแตกต่างกัน ชายตัดเสื้ออยู่ในวรรณะศูทร ชายคนที่รู้ภาษาสัตว์เป็นคนในวรรณะไวศยะ ชายคนที่รู้มนตร์ช่วยชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นเป็นวรรณะพราหมณ์ คงเหลืออยู่คนเดียวคือ ขัฑคธร ที่เป็นวรรณะกษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนที่จะแต่งงานกับเจ้าหญิงได้ก็ต้องเป็นขัฑคธร เท่าน้ัน"

"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวอย่างโล่งอก "ขอบพระทัยที่ช่วยตอบปัญหาของข้า แต่เห็นทีพระองค์จะต้องติดตามข้าอีกแล้วพระเจ้าข้า" กล่าวจบเวตาลก็ผละจากบ่าของพระราชา และหายไปในความมืดของราตรี พระราชาต้องเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่า ความท้อถอยหมดอาลัยหาได้มีอยู่ในบุคคลผู้วีระไม่ เพราะจิตใจของเขาไม่เคยเปิดเพื่อความอ่อนแอเลย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2008, 17:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๑๐

ดังนั้น พระเจ้าตริวกรมเสนจึงได้เสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจับตัวเวตาล เมื่อจับได้แล้วก็ทรงเหวี่ยงขึ้นบนพระอังสา เสด็จมุ่งหน้าไปยังที่นัดพบกับโยคีโดยไม่ปริปากใด ๆ เลย เวตาลเห็นพระราชาทรงเงียบอยู่ก็กล่าวขึ้นว่า

"ราชะ ตอนนี้พระองค์ก็เหน็ดเหนื่อยมาแล้วมากเต็มที ดังนั้นข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อจะได้ขับไล่ความเหน็ดเหนื่อยให้ประลาตนาการไป โปรดฟังเถิด"

แต่ปางบรรพ์ยังมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงนามว่า วีรพาหุ เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่ง คำสั่งของพระองค์นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระราชาทุกแว่นแคว้นจะต้องรับไว้เหนือเศียรเกล้า ทรงครองราชย์ ณ นครอันโอ่อ่า ชื่อนครอนงคปุระ ในนครนี้มีเศรษฐีผู้หนึ่งอาศัยอยู่ชื่อ อรรถทัตต์ ไวศยบดี(หัวหน้าพ่อค้า) ผู้นี้มีบุตรชายผู้หนึี่งชื่อ ธนทัตต์ และมีบุตรหญิงผู้เป็นรัตนะแห่งสตรีทั้งหลายมีชื่อว่า มัทนเสนา

วันหนึ่ง ขณะที่นางมัทนเสนากำลังเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ ในสวน ชายหนุ่มบุตรชายวาณิชชื่อธรรมทัตต์ ซึ่งเป็นสหายของพี่ชายของนางผ่านมาเห็นเข้า ก็ตะลึงในความงามอันกอปรด้วยเสน่ห์อันลึกล้ำของนาง ผู้มีอกอันเต็มอิ่ม มีคอเป็นสามปล้องราวกับริ้วคลื่นในทะเลสาบ และมีเอวอันบางสลวยรับกับสะโพกอันกลมกลึง ชายหนุ่มมองนางด้วยความรักอันรุนแรงราวกับถูกศรกามเทพพรั่งพรูเข้าสู่หัวใจ พลางรำพึงในใจว่า "อนิจจาเอ๋ย หญิงผู้นี้ ช่างงามจับใจจริงหนอ ใครเล่าจะรู้ว่า นางนั้นคือเหยื่อซึ่งกามเทพส่งมาให้เราต้องหลงใหลเพ้อคลั่งเหมือนคนขาดสติ และศรอันอันคมกล้านี้สิหนอที่ผ่าหัวใจของเราจนแยกเป็นเสี่ยง ๆ อย่างไม่เวทนาปรานี" เมื่อรำพึงดังนี้ ชายหนุ่มก็หยุดยืนจ้องดูนางสายตาไม่กระพริบจนเวลาอันยาวนานผ่านไป มีอาการดังนกจากพราก(นกจักรวาก, บางทีเรียกเป็ดแดงหรือเป็ดพกราหมณ์ ตอนกลางคืน นกชนิดนี้จะแยกกันหาอาหารคนละฝั่งแม่น้ำและร้อบงเรียกหากันตลอดคืน) ที่โหยหาคู่ของมันฉะนั้น

ในที่สุดนางมัทนเสนาก็กลับเข้าบ้านของนาง ทิ้งให้ธรรมทัตต์เฝ้าแลตามด้วยความเสห่หาอาลัย เมื่อนางลับสายตาไปแล้ว ความทุกข์ก็กลับมาสุมอก ทำให้ร้อนรุ่มในใจเหลือที่จะทนทาน ขณะนั้นดวงอาทิตย์ก็ค่อยกล้อยต่ำลงทางทิศตะวันตกเหมือนกับว่ายังอาลัยที่จะมิได้พบเห็นเธออีก ส่วนดวงศศี เมื่อถึงเวลาดอกบัวกุมุทเริ่มขยายกลีบแบ่งบานในราตรี แล้วก็ค่อยเคลื่อนขึ้นสู่ขอบฟ้า เปล่งรัศมีสีนวลใยแผ่ซ่านไปทั่วนภดล เหมือนจะช่วยปลอบใจที่รุ่มร้อนของชายหนุ่มให้บรรเทาลง

ธรรมทัตต์กลับไปบ้าน ใจยังคิดถึงนางอยู่ตลอดเวลา นอนพลิกกระสับกระส่ายอยู่ไปมาบนเตียง ถึงแม้ว่ามิตรสหายและญาติพี่น้องจะซักไซ้ไต่ถามสาเหตุเพียงไรเขาก็ไม่ยอมตอบ หัวใจปั่นป่วนเพราะฤทธิ์กามเทพ ตกถึงเวลากลางคืนชายหนุ่มก็เคลิ้มหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย แต่ใจที่คิดถึงนางอยู่มิวายทำให้ฝันเห็นนางผู้เป็นที่รักอีก ถึงเวลาเช้าเขาตื่นขึ้นรีบแต่งตัวให้งดงามออกไปดักดูนางที่สวนอีก พยายามแอบแฝงมิให้ใครเห็น พอถึงเวลา นางก็เข้ามาในสวน ชายหนุ่มแลเห็นก็ดีใจแทบจะวิ่งเข้าไปกอดนาง เขาพร่ำรำพันต่อนางด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน แสดงความรักที่เขามีต่อนางอย่างเหลือล้น แต่นางตอบด้วยความไม่ยินดียินร้ายว่า

"ข้าเป็นหญิงที่มีคนมั่นหมายแล้ว บิดาของข้าได้ยกข้าให้เป็นคู่หมั้นของหนุ่มพ่อค้าคนหนึ่งชื่อสมุทรทัตต์ และข้ากำลังจะแต่งงานกับเขาภายในเร็ววันนี้ ฉะนั้นท่านจงกลับไปเสียเถิด และอย่าให้ใครเห็น เดี๋ยวจะเกิดความเดือดร้อนเปล่า ๆ " แต่ธรรมทัตต์กล่าวแก่เธออย่างหนักแน่นว่า "ช่างมันเถอะ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ข้าจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากเจ้าไม่ได้หรอก"

เมื่อบุตรีไวศยะได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ กลัวว่าเขาจะใช้กำลังบังคับนาง จึงกล่าวว่า

"ข้าขอแต่งงานก่อน และขอให้พ่อของข้าได้ปลื้มใจที่ลูกจะได้เป็นฝั่งเป็นฝาตามความมาดหมายของท่านก่อนเถอะ หลังจากนั้นข้าจะกลับมาหาท่านเพราะความรักของท่านได้ชนะใจของข้าแล้ว"

เมื่อธรรมทัตต์ได้ฟังดังนี้ ก็กล่าวว่า

"ข้าไม่อยากจะกอดผู้หญิงที่ถูกชายอื่นกอดเสียแล้วดอก ก็ภมรไหนเล่าจะปรารถนาดอกบัวที่ผึ้งตัวอื่นย่ำยีเสียแล้วเล่า"

นางได้ฟังก็ตอบว่า

"ถ้าอย่างนั้น ข้าจะรีบมาหาท่านในทันทีที่แต่งงานเสร็จ หลังจากนั้นข้าจึงจะตามสามีไป"

แม้นางจะสัญญาดังนี้ ชายหนุ่มก็ยังไม่ยอมปล่อยนางไปจนกว่านางจะทำให้เขาเชื่อใจด้วยการปฏิญญาสาบานเสียก่อน จนเมื่อนางยอมกระทำแล้ว เขาจึงปล่อยนางไป และนางก็กลับไปเรือนด้วยความวิตก

เมื่อวันที่กำหนดว่าฤกษ์ดีมาถึง และงานพิธีสมรสได้ผ่านไปแล้ว นางมันทเสนาก็เดินทางไปบ้านสามี ใช้เวลารื่นรมย์อยู่ด้วยเขาและพักผ่อนกับเขาด้วยเวลาอันสมควร อย่างไรก็ดีนางพยายามผลักอ้อมกอดของเขาให้หลุดพ้น และแสดงอาการเฉยเมย ครั้นเมื่อสามีซักถามสาเหตุ นางก็น้ำตาไหลอาบแก้มนิ่งอยู่ เขาจึงคิดในใจว่า "ว่าตามจริงนางคงไม่รักเราหรอก" และกล่าวแก่เธอว่า "แม่งาม ถ้าเจ้าไม่รักข้า ข้าก็ไม่รักเจ้าเหมือนกัน ไปสิ ที่รัก ไปหาชายคนที่เจ้ารักเถิด ไม่ว่าจะเป็นชายใดก็ตามที"

เมื่อได้ยินสามีพูดดังนี้ มัทนเสนาก็กล่าวอ้อมแอ้มด้วยความละอายว่า

"ข้ารักท่านยิ่งกว่าชีวิตของข้าเสียอีก อย่าทำหน้าบึ้งตึงอย่างนั้นสิ สัญญาแก่ข้าว่าท่านจะไม่เอาโทษ และสาบานให้ข้าฟังก่อนสิ สวามีของข้า แล้วข้าจะเล่าให้ฟัง"

เมื่อนางกล่าวดังนี้ สามีของนางก็จำต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างไม่เต็มใจนัก นางจึงกล่าวต่อไปด้วยความละอาย รันทด และหวาดกลัวว่า "มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อธรรมทัตต์ เป็นเพื่อนของพี่ชายข้า เขาแลเห็นข้านั่งอยู่แต่ลำพังในสวน จึงเข้ามาหาและระบายความในใจว่าเขาตกหลุมรักข้าอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และเมื่อเขาทำท่าจะปลุกปล้ำข้าด้วยกำลัง ข้าก็กลัวว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พ่อต้องได้รับความอับอาย และสูญเสียผลบุญในการจัดให้ลูกสาวได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา และเพื่อไม่ให้มีข่าวนินทาว่าร้ายในภายหลัง ข้าจึงตกลงทำสัตย์สาบานแก่ชายผู้นั้นว่า "เมื่อข้าแต่งงานแล้ว ข้าจะมาหาเขาครั้งหนึ่งก่อนที่จะตามสามีไป" เพราะฉะนั้นข้าจึงต้องรักษาสัจจะที่ให้ไว้แก่เขา ข้าแต่สวามี อนุญาตให้ข้าไปเถิด ข้าจะไปหาเขาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจะกลับมาหาท่าน ทั้งนี้เพราะข้าไม่อาจจะตระบัดสัตย์ต่อใครได้ ตั้งแต่ข้ายังเป็นเด็กแล้ว"

สมุทรทัตต์ได้ฟังก็รู้สึกปวดแปลบในหัวใจเหมือนถูกสายฟ้าฟาดในทันทีทันใด รู้สึกเป็นพันธะผูกพันที่เขาได้ให้นางไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขารำพึงอยู่ในใจว่า

"โธ่เอ๋ย นางมีรักต่อชายอื่นเสียแล้ว นางจะต้องไปแน่นอน เราจะทำให้นางต้องเสียคำพูดได้อย่างไร สู้ปล่อยนางไปดีกว่า เราจะกระเหี้ยนกระหืออยากจะได้นางไว้เป็นภรรยาด้วยประโยชน์อันใด"

เมื่อไตร่ตรองดังนี้แล้ว เขาก็ปล่อยในางไปตามปรารถนา นางก็ลุกขึ้นและเดินออกจากบ้านสามีไป

ในขณะนั้นดวงจันทร์อันมีรัศมีเย็นก็โผล่พ้นแนวไศลขึ้นมา แสงจันทร์จับพุ่มไม้ใบหญ้าแลเห็นตะคุ่ม ๆ ดอกบัวกุมุทก็แย้มกลีบสลับสล้างแลสะพรั่งในบึง ขณะที่นางก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างใจลอย ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าวิ่งไล่มาข้างหลัง และมีมือยื่นมาคว้าชายเสื้อของเธอไว้ นางเหลียวกลับไปด้วยความตกใจก็พบโจรผู้หนึ่ง มันตะคอกถามว่า "เจ้าเป็นใคร ออกมาเดินกลางค่ำกลางคืนอย่างนี้จะไปไหน"

นางมัทนเสนาได้ฟังโจรตะคอกก็ตัวสั่นด้วยความกลัว แข็งใจตอบว่า

"มันเรื่องอะไรของเจ้า ปล่อยข้าไปเถอะ ข้ามีงานสำคัญจะต้องทำที่นี่"

โจรได้ฟังก็กล่าวว่า

"ข้าเป็นโจร ข้าจะปล่อยเจ้าไปได้อย่างไร"

ได้ยินดังนี้ นางก็อ้อนวอนว่า

"ปล่อยข้าไปเถอะ ข้ามีเครื่องประดับติดตัวราคาไม่น้อย ข้าจะให้เจ้าทั้งหมด"

"นางรูปสวย" โจรพูดพลางจับตาดูนางไม่วางตา "ข้าจะปรารถนาอันใดกับเครื่องประดับนี้เล่า ถ้าข้าจะต้องการก็มีแต่ตัวเจ้าเท่านั้นดอก ว่าที่จริงข้าก็ไม่เคยเห็นผู้หญิงสวยอย่างนี้มาก่อน ดูหน้าเจ้าสิงามเปล่งปลั่งเป็นนวลใยราวแก้วมุกดา ผมดำเหมือนนิลมณี เอวเหมือนเพชรรัตน์(ต้นฉบับใช้คำว่า "วชร" จะแปลว่า เพชร หรือสายฟ้าก็ได้) แขนขาก็งามดังทองศฤงคี และเท้าแดงงามราวแก้วทับทิม(ปัทมราค) อย่างนี้ข้าไม่ปล่อยให้หลุดมือไปหรอก"

เมื่อโจรกล่าวดังนี้ นางมัทเสนาก็จำต้องเล่าความจริงให้มันฟังโดยตลอด และกล่าววิงวอนว่า "ขออภัยเถอะ ข้ามีพันธะจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อเขา แต่เมื่อเสร็จธุระแล้ว ข้าจะรีบกลับมาหาท่าน ถ้าท่านจะรออยู่ที่นี่ก่อน เชื่อข้าเถอะ ข้าไม่เคยผิดสัญญาต่อใครหรอก"

เมื่อโจรได้ยินดังนั้นก็ปล่อยตัวนางไป เพราะเชื่อว่านางคงพูดความจริง เมื่อนางไปแล้วเขาก็นั่งคอยอยู่ ณ ที่นั้นโดยหวังว่านางจะต้องกลับมา

ฝ่ายนางเมื่อละจากโจรแล้วก็รีบเดินทางมาหาธรรมทัตต์ไวศยบุตร เมื่อเขาแลเห็นนางออกมาจากป่าก็ถามนางว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อได้ฟังเรื่องราวแล้วก็ไตร่ตรองอยู่ชั่วขณะหนึ่ง จึงกล่าวว่า

"ข้าดีใจที่เจ้ารักษาคำพูดอย่างแท้จริง แต่ว่าข้าจะทำอะไรกับหญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น ฉะนั้นจงกลับไปตามทางที่เจ้ามานั่นแหละ ก่อนที่ใครจะมาเห็นเจ้าเข้า"

เมื่อเขาสั่งให้นางกลับ นางก็กล่าวว่า "ก็ได้" และละที่นั้นกลับไปหาโจร ซึ่งกำลังคอยนางอยู่ ณ ที่เดิม โจรแลเห็นนางกลับมาก็กล่าวว่า "เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าเมื่อเจ้าไปถึงที่นั่น"

นางมัทนเสนาก็เล่าความจริงโดยตลอดว่าเหตุใดพ่อค้าหนุ่มจึงปล่อยให้นางกลับมา โจรได้ฟังก็กล่าวว่า

"จงกลับไปหาสามีของเจ้าเถิด ข้าเห็นใจในความสัตย์ซื่อของเจ้าที่มีต่อข้าแล้ว ข้าไม่หน่วงเจ้าไว้ให้เสียเวลาหรอก เอาเครื่องประดับของเจ้าไปด้วย"

ดังนั้นโจรก็ปล่อยนางไป และเป็นเพื่อนตามไปส่งนางจนถึงบ้านของสามีและดีใจที่ตนมิได้กระทำให้นางต้องเสียเกียรติ นางอำลาโจรแล้วแอบเข้าไปในบ้านอย่างเงียบ ๆ และตรงไปหาสามีของนาง เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอดมิได้ปิดบัง แม้ความจริงข้อหนึ่งข้อใด ส่วนสมุทรทัตต์ได้เห็นภรรยาของตนเป็นผู้บริสุทธิ์และรักษาวาจาสัจไว้อย่างมั่นคงดังนี้ ก็รับนางไว้ด้วยความยินดี และครองคู่อยู่ด้วยกันด้วยความสุขตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเวตาลเล่านิทานจบลงก็ถามพระราชาว่า "โอ ราชะ ขอได้บอกข้าสิว่าในจำนวนบุรุษสามคนนั้น ใครเป็นคนที่ใจกว้างที่สุด อย่าลืมนะ ถ้าพระองค์รู้แล้วไม่ตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแตกเป็นร้อยเสี่ยง"

พระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังเวตาลพูดดังนั้น ก็ตรัสทำลายความเงียบขึ้นว่า

"ในจำนวนบุรุษทั้งสามคนนั้น ข้าเห็นว่าโจรนั่นแล เป็นคนที่ใจกว้างอย่างแท้จริง ที่เหลืออีกสองคน คนหนึ่งเป็นสามีของนาง เขาปล่อยนางไปด้วยความจำใจ เพื่อให้นางรักษาวาจาสัจไว้ โดยที่เขายังมีจิตประหวัดว่านางจะต้องเสียตัวแก่ชายอื่น ส่วนไวศบุตรชื่อธรรมทัตต์นั้นเล่า เขาปล่อยให้นางเป็นอิสระเพราะเขารักนางด้วยตัณหามาแต่แรก เมื่อตัณหาเบาบางลงแล้ว เขามิได้จริงจังอะไรต่อนางอีก โจรนั่นสิ เป็นคนร้าย ทำมาหากินด้วยความทุจริต หากินอยู่ในความมืด คอยแสวงหาเหยื่อ เขาเปล่อยนางไปและไม่เอาเครื่องประดับของนางเลย เพราะเห็นใจว่านางเป็นคนดี"

เมื่อเวตาลได้ฟังดังนั้นก็ส่งเสียงหัวเราะ ไม่กล่าวประการใด ละพระอังสาของพระราชา แล้วลอยกลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม ส่วนพระราชาผู้มีความเพียรไม่ท้อถอย ก็สู้เสด็จติดตามเวตาลไปโดยไม่ลังเลพระทัย มีความมุ่งมั่นที่จะจับตัวเวตาลมาอีกครั้งหนึ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2009, 11:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๑๑

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จไปสู่ต้นอโศก ทรงดึงตัวเวตาลลงมาเหวี่ยงขึ้นพระอังสา แล้วเสด็จกลับมาทางเดิม มาได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "โอราชะ ข้ามีนิทานสนุกอยู่เรื่องหนึ่ง อยากจะเล่าถวาย โปรดทรงสดับเถิด"

ในอดีตกาลมีพระราชาครองกรุงอุชชยินี ทรงนามว่า พระเจ้าธรรมธวัช พระองค์มีชายาสามองค์ ล้วนแต่เป็นพระธิดาของกษัตริย์ทั้งสิ้น พระนางทั้งสามล้วนเป็นชายาคนโปรดของพระราชาผู้สวามีอย่างยิ่ง ชายาองค์ที่หนึ่งชื่ออินทุเลขา องค์ที่สองช่ือดาราวลี และองค์ที่สามมีนามว่ามฤคางกวดี นางทั้งสามล้วนมีเสน่ห์น่ารักเหมือนกันหมด พระราชาแห่งอุชชยินีเป็นกษัตริย์ผู้กล้าหาญ ทรงมีชัยชำนะเหนืออริราชศัตรูทั้งมวลหาใครเสมอมิได้ เสวยราชย์ด้วยความสุขสำราญพร้อมด้วยพระชายาทั้งสามเรื่อยมา

ครั้งหนึ่ง เมื่อถึงฤดูวสันต์อันเป็นฤดูแห่งความชื่นบาน พระราชาปรารถนาจะพักผ่อนให้สำราญพระทัย จึงพาพระชายาทั้งสามไปสู่สวนขวัญประทับอยู่ด้วยความรื่นรมย์ ณ อุทยานนั้น โอกาสหนึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นลดาวัลย์ไม้เลื้อยต้นหนึี่ง เกี่ยวเกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่มีดอกบานสะพรั่งห้อยระย้าแว่งไกวตามกระแสลม และเครือเถาวัลย์นั้นมีความอ่อนช้อยงดงามราวกับคันศรของพระกามเทพ และฝูงแมลงภู่ซึ่งเกาะและไต่ตอมกลีบดอกไม้นั้นเล่า ก็ดูราวกับสายธนูของพระมันมถะ(ผู้ก่อกวนใจ หมายถึง พระกามเทพ) เช่นเดียวกัน พระราชาผู้องอาจปานพระวัชรปาณี(ผู้มีมือถือวัชระ เป็นสมญานามของพระอินทร์ ทรงเพลินอยู่กับกระแสเสียงของนกโกกิลาอันเจื้อยแจ้วมาตามลม ราวกับเสียงของพระมกรเกตุ(ผู้มีธงรูปปลามังกร หมายถึงกามเทพ) ผู้เป็นเทพแห่งความรัก กำลังพาอัปสรทั้งหลายมาเริงเล่นสำราญด้วยความมึนเมาแห่งสุรามฤตที่เสพกันอยู่ทุกหมู่เหล่าโดยทั่วกัน ขณะนั้นพระชายาอินทุเลขากำลังสรวลเสกับการดึงพระเกศาของพระราชาเล่น ปรากฏว่าดอกบัวอินทีวร (บัวสายสีน้ำเงิน) ที่นางทัดหูเป็นเครื่องประดับเศียรเกล้า ได้ร่วงหล่นลงมาบนตักของนางผู้เอวบาง ทำให้นางตกใจ เปล่งเสียง "ต๊าย ตาย" ออกมาแล้วเป็นลมหมดสติ ในทันทีนั้นก็เกิดรอยแผลขึ้นที่ต้นขาของนาง ทำให้พระราชาและบริพารตื่นตกใจกันมาก และรู้สึกเป็นทุกข์ในอุบัติเหตุของนาง ต่างก็เอาน้ำหอมมาให้นางกำนัลลูบไล้ตามร่างของพระนาง ให้นางกำนัลตกแต่งแผลให้นางและดูแลตามคำสั่งของหมอหลวงอย่างเคร่งครัด

ในเวลาราตรี พระราชาเสด็จมาดูอาการของนาง เห็นว่าค่อยยังชั่วขึ้นบ้างแล้ว ก็พานางดาราวดีพระชายาคนที่สองเสด็จไปสู่งห้องบรรทมชั้นดาดฟ้าซึ่งงามวิจิตรอยู่ในแสงนวลใยของพระจันทร์ ณ ที่นั้นแสงของดวงศศีส่องมาอาบร่างของนางผู้ซึ่งนอนหลับเคียงข้างพระราชาอยู่ สายลมเย็นยามดึกรำเพยพัดมาที่ร่างของนาง ทำให้ภูษาภรณ์ของนางเคลื่อนคล้อยไปจากองค์ ทันใดนั้นนางก็รู้สึกตัวตื่นขึ้นมามีอาการตระหนก เปล่งเสียงร้องออกมาว่า "ช่วงด้วยเถิด ข้าถูกไฟเผา" แล้วลุกจากเตียง เอามือนวดตามแขนขาเป็นพัลวัน เสียงของนางทำให้พระราชาตื่นจากบรรทมด้วยความตกพระทัย และเห็นแผลพุพองขึ้นตามร่างกายของพระเทวี จึงซักถามด้วยความพิศวงว่า "นี่มันเรื่องอะไรกัน" พระนางดาราวดีทูลตอบว่า "รัศมีจันทร์ที่ส่องมากระทบร่างของหม่อมฉัน เป็นเหตุให้หม่อมฉันต้องทนทุกข์เพราะแผลพุพองเหล่านี้" ทูลจบนางก็ฟูมฟายด้วยความโศก ร้องไห้สะอึกสะอื้นมิหยุดหย่อน พระราชาเห็นดังนั้นก็สงสารนัก รับสั่งเรียกนางข้าหลวงบริวารให้เข้ามาช่วยโดยด่วน จัดทำเตียงปูลาดด้วยใบบัวให้นางนอน ประพรมร่างของนางด้วยสุคนธรส โปรยปรายเฟื่องฟุ้งดังฝอยฝน และเอาน้ำมันจันทน์หอมทาตามแผลเจ็บปวดของนาง

ในระหว่างเวลาที่ชุลมุนวุ่นวายกันนี้ นางมฤคางกวดีชายาองค์ที่สาม ได้ยินเสียงอื้ออึงก็ออกจากตำหนักของนางเพื่อมาดูเหตุการณ์ และเมื่อเดินพ้นออกมาสู่ที่แจ้งนั้นเอง นางก็หยุดนิ่ง ได้ยินเสียงหนึ่งดังลอยลมมาแต่ไกลในความเงียบสงัดของราตรี นางหยุดกึกลงด้วยความสนใจและเงี่ยหูฟังในที่สุดก็เข้าใจว่า เป็นเสียงครกตำข้าวดังมาแต่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป ในขณะที่เงี่ยหูฟังเสียงนั้น นางผู้มีเนตรงามดังตากวางก็เปล่งเสียงออกมาด้วยความตกใจว่า "ช่วยด้วย กำลังถูกฆ่า" สิ้นเสียงนางก็ทรุดฮวบลงนั่งกับพื้น ยกมือทั้งสองข้างอันสั่นระริกขึ้นชูไปเบื้องหน้า แสดงอาการเจ็บปวดแสนสาหัส นางข้าหลวงผู้เป็นบริวารเห็นดังนั้นก็รีบเข้าไปประคอง พานางกลับไปตำหนักของนางทันที พอถึงห้องนางมฤคางกวดีก็ล้มลงนอนบนเตียงอย่างหมดเรี่ยวแรง และส่งเสียงครวญครางไม่ขาดระยะ เมื่อนางบริวารช่วยกันตรวจหาสาเหตุแห่งความเจ็บปวดของนางก็แลเห็นมือของนางเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำ เหมือนกับดอกบัวที่ถูกฝูงผึ้งไต่อยู่คลาคล่ำ นางกำลังจึงรีบไปทูลพระราชา พระเจ้าธรรมธวัชได้ฟังก็ตกพระทัยมาก รีบเสด็จมาดูอาการของพระชายาคู่พระทัย และทรงฉงนพระทัยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นางยื่นหัตถ์ให้ดู และกล่าวว่า "หม่อมฉันได้ยินเสียงครกกระเดื่องดังมาจากที่ไกล เสียงของมันทำให้มือของหม่อมฉันต้องฟกช้ำเป็นจ้ำ ๆ อย่างนี้แหละเพคะ" พระราชาทรงเดือดร้อนพระทัยยิ่งนัก รีบสั่งให้นางพนักงานไปนำเอาสีผึ้ง ผงจันทน์หอมและโอสถชนิดต่าง ๆ มาให้นาง เพื่อใช้บรรเทาความเจ็บปวด

พระราชารำพึงในพระทัยว่า "เรื่องนี้ช่างประหลาดยิ่งนัก เมียคนหนึ่งของเราได้รับบาดแผลเพราะดอกบัวตกถูกหน้าขา เมียคนที่สองก็ถูกรังสีพระจันทร์ไหม้ผิวหนัง โธ่เอ๋ย ยังคนที่สามอีกเล่า เพียงแต่ได้ยินเสียงตำข้าวเท่านั้นก็เกิดรอยฟกช้ำที่มือทั้งสองข้าง นี่ต้องเป็นเรื่องของชะตากรรมแน่เทียว จึงบันดาลให้เกิดอาเพศถึงเพียงนี้" รำพึงฉะนี้แล้วพระราชาก็เสด็จออกจากตำหนักใน เดินคิดหาเหตุผลต่าง ๆ ก็ยังคิดไม่ตก เวลาล่วงไปหลายชั่วโมงพระราชาก็ไม่รู้สึกพระองค์ คงดำเนินเรื่อยอยู่ ถึงตอนเช้าแพทย์หลวงจึงพากันมาเฝ้าดูอาการของพระชายาทั้งสาม และช่วยกันพยาบาลจึงอาการดีขึ้น

เมื่อเวตาลผู้เกาะอยู่บนบ่าของพระราชาเล่าเรื่องจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "ไหนทรงเฉลยให้ข้าเข้าใจซิว่า พระองค์มีความเห็นว่าในเรื่องนี้พระชายาองค์ใดเป็นผู้แบบบางต่อการกระทบมากที่สุด แต่ขอให้ทรงตระหนักไว้ว่า ข้าได้เตือนพระองค์มาก่อนแล้วว่า ถ้าพระองค์รู้คำตอบของปัญหานี้แล้วยังไม่ตอบ ศีรษะของพระองค์จะแยกเป็นเสี่ยง ๆ ตามคำสาปของข้า"

เมื่อพระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังดังนั้น ก็ตอบว่า "ข้าไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย นางเทวีองค์ที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดก็คือคนที่เพียงแต่ได้ยินเสียงครกตำข้าวแว่วมาแต่ไกล นางก็เกิดอาการฟกช้ำดำเขียวที่หัตถ์ของนางน่ะซิ สองคนแรกอ่อนไหวเพราะมีสิ่งแตะต้องวรกายของนาง คือดอกบัวและแสงจันทร์ แต่คนที่สามนั้นไม่มีอะไรมาแตะต้องกายของนาง เพียงแต่แว่วเสียงมาตามลมแต่ที่ไกล แม้จะมองไม่เห็นมัน นางก็ได้รับบาดแผลอันเกิดจากความอ่อนไหวของนาง เป็นดังนี้ข้าจึงเชื่อว่านางผู้นี้แหละคือ คำตอบที่เจ้าต้องการจะรู้ จริงหรือไม่"

"จริงสิ พระเจ้าข้า" เวตาลกล่าวด้วยสำเนียงเยาะหยัน ประชดประชัน แล้วก็ละจากพระอังสาของพระราชา ลอยละลิ่วกลับไปสู่ต้นอโศกอันเป็นที่อยู่ของตนทันที ทำให้พระราชาต้องย้อนกลับไปลากตัวมันมาอีก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2009, 11:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


นิทานเรื่องที่ ๑๒

พระเจ้าตริวิกรมเสนแสด็จกลับไปยังต้นอโศก ดึงร่างเวตาลลงจากคบไม้ วางไว้บนพระอังสา แล้วเดินย้อนกลับไปทางเดิม ถึงกลางทางเวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "ราชะ ข้ารักพระองค์มาก รู้ไหมว่าทำไม ก็พระองค์เป็นคนดื้อรั้นไม่ยอมจำนนต่อใครง่าย ๆ น่ะซิ เอาละ ข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ถวายสักเรื่องหนึ่งให้เป็นที่บันเทิงพระทัย ขอได้โปรดทรงสดับเถิด"

ในแคว้นอังคะ มีพระราชหนุ่มองค์หนึ่งทรงนามว่า ยศเกตุ พระองค์มีความงามล้ำเลิศราวกับพระกามเทพที่ปราศจากร่างแล้ว (พระกามเทพต้องปราศจาร่าง กลายเป็นพระอนงค์ก็เพราะว่า ไปแผลงบุษปศรต้องพระทรวงของพระศิวะ เพื่อให้พระองค์หลงรักพระอุมาไหมวตี พระศิวะทรงพิโรธว่ากามเทพบังอาจดูหมิ่น จึงลืมพระเนตรที่สามเป็นไฟกรดเผาผลาญร่างกามเทพ จนกลายเป็นเถ้าถ่านไป กามเทพจึงไม่ร่างกายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) กลับมาปรากฏในเรือนร่างของพระราชานั่นเทียว พระราชาทรงเป็นผู้กล้าหาญเด็ดเดี่ยวสามารถสยบศัตรูได้ทุกแว่นแคว้น ราวกับท้าววัชรินทร์ผู้ประหารศัตรูทั่วหน้า โดยมีพระพฤหัสบดีเป็นที่ปรึกษาฉะนั้น พระราชายศเกตุก็เช่นเดียวกัน ทรงมียอดมนตรีผู้หนึ่งเป็นที่ปรึกษาข้อราชการทั้งปวง ชื่อว่าทีรฆทรรศิน ในกาลต่อมาปรากฏว่าพระราชาผู้ทรงลุ่มหลงในพระรูปโฉมของตนเองเริ่มแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นความบันเทิงเริงรมย์ หาความสุขให้แก่พระองค์เอง และละเลยราชการแผ่นดินให้ตกอยู่ในมือของมหาอำมาตย์ทีรฆทรรศินแต่ผู้เดียว ซึ่งเขาก็ตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดีเรื่อยมา ในขณะที่พระราชาทรงปล่อยพระองค์ให้เพลิดเพลินอยู่แต่ในฮาเร็ม หมกมุ่นอยู่กับนางบำเรอ และเสียงเพลงอันไพเราะ ไม่สนใจไยดีกับเสียบงทักท้วงของผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย

แต่ผู้ที่แบกภาระไว้บนบ่าแต่ผู้เดียวก็คือทีรฆทรรศิน ซึ่งต้องทุ่มเทกำลังความสามารถทั้งหมดให้แก่ราชการแผ่นดินโดยมิรู้จักการพักผ่อน ทั้งนี้เพราะมีความจงรักภักดีต่อพระราชาเป็นที่ตั้ง ถึงแม้เขาจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเหนื่อยยากเพียงไรก็ยังมิวายมีเสียงเล่าลืออันไม่เป็นมงคลว่า เขากำลังจะฮุบอำนาจในการปกครองประเทศไปจากพระราชา และจะตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ การนินทาว่าร้ายดังกล่าวนี้นับวันจะทวียิ่งขึ้นทุกที ทีรฆทรรศินจึงปรารภแก่นางเมธาวดีผู้เป็นภรรยาว่า

"ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก บัดนี้พระราชาทรงมัวเมาเพลิดเพลินอยู่แต่กามสุขอย่างเดียว ข้าต้องรับภาระบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเหน็ดเหนื่อยเหลือประมาณ แม้กระนั้นก็ยังมีผู้อิจฉาตาร้อนพากันประโคมข่าวใส่ความว่าข้ากำลังคิกบฎต่อราชบัลลังก์ คำกล่าวอันไร้สัจจะนี้ได้ทิ่มแทงหัวใจของข้าให้เจ็บแปลบ เช่นเดียวกับมหาบุรุษและรัฐบุรุษทั้งหลายต้องถูกทิ่มตำให้ทนทุกข์มาแล้ว ก็เรื่องนินทาฉาวโฉ่อย่างนี้ใช่ไหมเล่าที่ทำให้พระรามต้องเนรเทศพระแม่เจ้าสีดาไปโดยนางหาความผิดมิได้ ก็ในกรณีของข้านี้จะให้ข้าทำอย่างไรเล่า"

เมื่อได้ยินสามีกล่าวดังนี้ นางเมธาวดีผู้เป็นปดิวรัดา (หญิงผู้จงรักภักดีต่อสามี) ก็กล่าวปลอบโยนว่า "ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ท่านพี่ก็ควรจะทูลลาพระเจ้าแผ่นดิน โดยอ้างว่าจะไปบำเพ็ญบุณยยาตรานมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตีรถะ (แปลว่า ฝั่งน้ำ หมายถึงท่าน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน และมีเทวาลัยตั้งอยู่ ผู้ใดอาบน้ำ ณ ท่าดังกล่าวนี้และกระทำการบูชาเทวรูปในเทวาลัย จะได้รับผลบุญบริสุทธิ์ ตีรถะดังกล่าวมีเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำคงคา และอื่น ๆ เป็นต้น) ต่าง ๆ พระราชาก็คงไม่อาจจะห้ามท่านได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วไซร้ โอ้ท่านมหาตมัน (ผู้มีอาตมันใหญ่ หมายถึง ผู้มีใจบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ หรือผู้มีใจสูง เพราะอาตมันที่อยู่ในใจนั้นเป็นสิ่งอมตะชั่วนิรันดร์) ท่านจงถือโอกาสท่องเที่ยวไปยังดินแดนต่างประเทศเป็นการพักผ่อนจิตใจของท่านเสียบ้าง จะทำให้ท่านรู้สึกว่าดวงจิตของท่านได้ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องหน้าที่การงานอีกต่อไป และในเวลาที่บ้านเมืองปราศจากท่านนี้ พระราชาก็จะต้องแบกภาระเองทุกสิ่งทุกอย่าง และจะค่อยสำนึกพระองค์เองทีละน้อย ๆ จนถึงที่สุดทรงกลับเป็นพระราชาที่่ดีตามเดิม เมื่อถึงเวลาที่ท่านพี่กลับมาจะได้ทำงานโดยสะดวกใจ ไม่ต้องถูกคนนินทาว่าร้ายอีกต่อไป"

เมื่อได้ฟังภริยากล่าวดังนี้ ทีรฆทรรศิน ก็ตกลงและกล่าวว่า "ข้าจะทำดังนั้น" และเข้าไปเผ้าพระราชายศเกตุในวัง กราบทูลว่า

"ข้าบาทขอทูลลาไปบำเพ็ญบุญกิริยาตามเทวสถานต่าง ๆ เพราะข้าบาทมีความเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะต้องสร้างสมผลบุญทางพระศาสนาเสียที ช้าไปก็อาจจะไม่มีโอกาส เพราะข้าบาทอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ขอทรงอนุญาตด้วยเถิด"

เมื่อพระราชาได้ดังนั้นก็ตกพระทัย ตรัสว่า "เจ้าทำอย่างนั้นนะ เจ้าไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปยังตีรถะต่าง ๆ ก็ได้นี่นา จะบำเพ็ญบุญอยู่ที่บ้านเฉย ๆ ก็ได้ อนึ่งเทวาลัยต่าง ๆ ในเมืองเราก็ถมเถไป เจ้าจะต้องเสียเวลาเดินทางไปนอกประเทศให้เหนื่อยยากทำไม การทำบุญไม่เลือกว่าที่ไหน ๆ ก็ทำให้คนขึ้นสวรรค์ได้ทั้งนั้น"

ทีรฆทรรศินได้ฟังก็กราบทูลว่า "โอ ราชะ ผลบุญที่เกิดจากการให้ทรัพย์ แม้จะมากหลายเพียงไรก็ไม่อาจจะนับว่าเป็นผลบุญอันสูงสุดได้ เพราะมิได้ยังให้เกิดศรัทธาวิสุทธ์ได้ การธุดงค์ไปยังตีรถะต่าง ๆ และลงอาบน้ำอันศักดิ์สิทธิ์หน้าเทวาลัยนั่นต่างหากที่นับว่าเป็นบุญบริสุทธิ์ที่แท้จริง โอ อารยบุตร ขึ้นชื่อว่า การธุดงค์ไปยังตีรถะต่าง ๆ นั้นพึงกระทำแต่วัยหนุ่ม เพราะใครเลยจะรู้ได้ว่ามฤตยูจะมาถึงตนเมื่อใด บุคคลไม่พึงประมาทต่อกิจอันจำเป็นที่จะต้องทำมิใช่หรือ ขอทรงโปรดอนุญาตข้าพระบาทเถิด"

ขณะที่พระราชากำลังโต้ตอบอยู่กับมหามนตรีนั้น ก็พอดีมหาดเล็กคนหนึ่งเข้ามาขัดจังหวะกราบทูลว่า "พระอาญาไม่พ้นเกล้า โอ พระนฤเบศร บัดนี้พระสูรยาทิตย์กำลังคล้อยต่ำลงแล้ว ได้เวลาบูชาเทวะแล้วพระเจ้าข้า"

พระราชาได้ฟังก็รีบลุกจากพระราชอาสน์ เสด็จเข้าข้างในเพื่อลงสรงทันที เป็นโอกาสให้ทีรฆทรรศินรีบออกจากตำหนักกลับไปบ้านของตน เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เพื่อจะไปกระทำบุณยยาตราและห้ามภริยามิให้ติดตามไป การเดินทางถูกปิดเป็นความลับ มิให้คนรับใช้และใคร ๆ ล่วงรู้ เขามุ่งหน้าเดินทางไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ตามลำดับ ได้บำเพ็ญบุญตามตีรถะสำคัญ ๆ โดยทั่วถึง ในที่สุดก็เดินทางมาถึงแคว้นปาณฑระ นครหลวงของแคว้นนนี้อยู่ริมทะเล ทีรฆทรรศินได้เข้าไปบูชาพระศิวะในเทวาลัย ณ ที่นั้น เสร็จแล้วออกมานั่งพักอยู่ที่ลานภายนอก ขณะนั้นมีวาณิชผู้หนึ่งขื่อนิธิทัตต์ เข้ามานมัสการเทวรูปพระมหาเทพ (ชื่อหนึ่งขอพระศิวะ หรือพระอิศวร) เช่นเดียวกัน นายวาณิชแลเห็นทีรฆทรรศินนั่งอยู่ที่ลานหินแต่ลำพัง มีท่าทางอิดโรยเพราะแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงแลเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล ก็มีใจเมตตาเพราะผู้ที่แลเห็นนั้นเป็นพราหมณ์ เพราะสวมสายยุชโญปวีต (เส้นด้ายศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์สวมเฉวียงบ่า แสดงว่าเกิดครั้งที่ ๒ คือ เกิดในศาสนา) และมีเครื่องหมายบางประการแสดงให้รู้ว่าเป็นพราหมณ์ผู้สูงส่ง ก็เข้าไปทักทายและเชิญมาบ้านของตนด้วยใจอารี ให้อาบน้ำและรับประทานอาหารตลอดจนเครื่องดื่มอันแสดงถึงฐานะอันมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เสร็จแล้วก็สนทนาปราศรัยผู้เป็นแขกว่า "ท่านเป็นใคร มาจากไหน และกำลังจะไปที่ใด" มหามนตรีจึงตอบว่า

"ตัวข้าเป็นพราหมณ์ชื่อ ทีรฆทรรศิน ข้าเดินทางมาจากแคว้นอังตคะ เพื่อทำบุญยจาริกไปในที่ต่าง ๆ "

เมื่อได้ฟังดังนั้น ไวศยบดี (เจ้าแห่งไวศยะ หมายถึง หัวหน้าพ่อค้า) ผู้ชื่อนิธิทัตต์ ก็กล่าวว่า

"ข้ากำลังเตรียมจะออกเดินทางไปค้าขายที่สุวรรณทวีป (เกาะทอง หมายถึงดินแดนแหลมอินโดนีเซีย) ฉะนั้นท่านจะต้องพักอยู่ที่บ้านข้าก่อน จนกว่าข้าจะกลับ เมื่อหายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการจาริกครั้งนี้แล้วจึงค่อยกลับบ้านเถิด"

ทีรฆทรรศินได้ยินจึงกล่าวว่า

"ทำไมข้าจะต้องเฝ้าบ้านอยู่ที่นี่ เสียเวลาเปล่า ๆ ข้าจะเดินทางไปกับท่านนั่นแหละ ท่านมหาไวศยะ ถ้าท่านไม่ขัดข้องที่จะพาข้าไปด้วย"

หัวหน้าพ่อค้าได้ฟังก็ยิ้ม ตอบตกลงทันที มหามนตรีได้รับอนุญาตก็ดีใจ เตรียมของใช้ส่วนตัวไว้พร้อมแล้ว ก็ออกเดินทางไปกับกองคาราวานของนิธิทัตต์ ขบวนคาราวานมาถึงริมทะเลก็จัดแจงขนสินค้าลงเรือ และแล่นออกสู่ทะเลกว้าง รอนแรมไปในมหาสมุทรนับเดือน ในที่สุดก็เดินทางมาถึงสุวรรณทวี ทีรฆทรรศินมองดูบ้านเรือนหอห้างร้านค้าอันจ้อกแจ้กจอแจด้วยความตื่นใจและออกท่องเที่ยวเตร็ดเตร่ในเมืองนั้นหลายวัน จนกระทั่งนิธิทั้ตต์ขายสินค้าเสร็จและซื้อสินค้ากลับบ้าน เรือของสมุทรวาณิชก็ออกจากท่ารอนแรมมาในทะเลตามเส้นทางเดิม ขณะที่เรือแล่นมาในมหาสาคร วันหนึ่งทีรฆทรรศินแลไปในทะเล เห็นลูกคลื่นใหญ่พุ่งขึ้นไปในอากาศ มีต้นกัลปพฤกษ์ (ต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้สวรรค์อย่างหนึ่งในจำนวน ๔ อย่าง คือ กัลปพฤกษ์ ปาริชาติ มณฑารพ (หรือมณฑา) และสันตานะ) ชูต้นและกิ่งก้านเป็นทองระยิบระยับ มีแก้วประพาล (ปะการังสีแดง) เกาะอยู่ตามกิ่งแพรวพราว ต้นไม้ตั้นมีดอกและผลเป็นเพชรพลอยหลากสีสวยงามยิ่งนัก บนกิ่งของต้นไม้มีร่างของนางงามอันหาที่เปรียบมิได้เอนร่างนอนอยู่บนรัตบรรยงก์ (แท่นแก้ว) อันงามวิจิตร ปรากฎการณ์อันประหลาดนี้ทำให้มหามนตรีพิศวงอยู่ในใจว่า "พระช่วย นี่มันอะไรกัน"

ทันใดนั้นนางงามผู้มีพิณอยู่ในหัตถ์ก็เริ่มขับลำนำเพลงเจื้อยแจ้ว มีเนิื้อร้องว่า "ใครก็ตามที่สร้างสมบุญไว้ในชาติปางก่อน มาถึงชาตินี้ก็ย่อมได้แสวงผลบุญของตนอย่างไม่มีที่สงสัย เพราะชะตากรรมใดเล่าจะมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอื่นได้"

พอร้องเพลงจบ นางโฉงงามก็กลับจมหายไปในทะเลพร้อมด้วยต้นกัลปพฤกษ์และมัญจาสนะ (เตียงนอน) ที่นางนอน ทีรฆทรรศินประสบเหตุการณ์ประหลาดอัศจรรย์ดังนั้น ก็รำพึงแก่ตัวเองว่า

"วันนี้เราได้ประจักษ์ภาพอันประหลาดเหลือเชื่อจริงหนอ ใครเล่าจะเคยคิดฝันบ้างว่า มีต้นกัลปพฤกษ์และนางเทพธิดาอยู่ในทะเล ปรากฏอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หายไป หรือว่านี่คือเหตุการณ์อย่างเดีียวกับที่เกิดขึ้นในกูรมาวตาร (นารายณอวตาร ปางที่ ๒ พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นเต่าใหญ่รองรับภูเขามันทรตอนกวนน้ำทิพย์ ก่อนจะกวนได้สำเร็จมีของวิเศษผุดขึ้นมาจากทะเล ๑๔ อย่าง ในจำนวนนี้มีต้นปาริชาติ พระลักษมี และพระจันทร์ รวมอยู่ด้วย) ซึ่งในคราวกวนน้ำทิพย์ครั้งนั้น พระลักษมี พระจันทร์ ต้นปาริชาติ และของวิเศษต่าง ๆ มิได้ผุดขึ้นยมาจากทะเลหรอกหรือ"

บรรดาลูกเรือแลเห็นทีรฆทรรศินแสดงอาการงงงวยเช่นนั้นก็กล่าวว่า "ท่านประหลาดใจนักหรือ ความจริงก็น่าประหลาดดอก เพราะท่านเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แต่พวกเราเคยเห็นเสียจนชินแล้วจึงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร"

นี่คือถ้อยคำที่เหล่ากะลาสีกล่าวแก่มนตรีหนุ่ม แต่พราหมณ์หนุ่มก็ยังครุ่นคิดอยู่ไม่หาย จวบจนเรือสินค้าแล่นมาเทียบท่าที่เมืองเดิม บรรดาลูกเรือต่างก็ขนข้าวของลงจากเรือเป็นจ้าละหวั่น พอมาถึงบ้านพ่อค้าทีรฆทรรศินก็กล่าวแก่หัวหน้าพ่อค้าว่า

"ดูก่อนไวศยบดี บัดนี้การเดินทางก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว ข้ารู้สึกขอบคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง เห็นทีข้าจะต้องอำลาท่านไปก่อน จงอยู่เย็นเป็นสุขเถิด"

ธนทัตต์ได้ฟังก็อาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพยายามหน่วงเหนี่ยวไว้อีก จึงยอมให้มนตรีหนุ่มจากไป ทีรฆทรรศินก็ออกเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ ตามทางที่เคยผ่านมา ในที่สุดก็บรรลุถึงแคว้นอังคะอันเป็นบ้านของตน

ฝ่ายจารบุรุษที่พระราชายศเกตุส่งไปสอดแนมทีรฆทรรศิน แลเห็นอัครมนตรีเดินทาบงกลับมาและกำลังจะผ่านประตูเมืองเข้ามาก็รีบนำข่าวไปทูลพระราชา พระราชาผู้มีความทุกข์เพราะการจากไปของเสวกามาตย์ตัวโปรดก็รีบเสด็จออกไปต้อนรับถึงนอกเมือง ทรงทักทายและสวมกอดทีรฆทรรศินด้วยความรัก และรีบพาเข้าวัง ไม่ทันที่เขาจะได้พักผ่อนเพราะความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทรงตัดพ้อว่า

"เจ้าช่างใจร้ายนี่กระไร ทิ้งข้าได้ลงคอเหมือนคนไม่มีหัวใจ นึกจะไปก็ไปง่าย ๆ ปุบปับก็เกิดอยากจะไปธุดงค์โดยกะทันหัน นี่คงเป็นชะตาลิขิตที่พระพรหมธาดากำหนดไว้เป็นแน่แท้กระมัง เอาเถอะไหนลองบอกข้ามาซิว่า เจ้าไปถึงไหน และได้พบได้เห็นอะไรแปลกบ้าง"

ทีรฆทรรศินได้ฟังก็เล่าเรื่องทูลพระราชาตั้งแต่ต้นจนจบ ตลอดจนเรื่องที่เดินทางกลับจากสุวรรณทวีป และได้เห็นนางทิพย์ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล มีความงามเลอเลิศยิ่งกว่านางใดในโลกทั้งสาม และมัญจาสนะของนางบนกิ่งของต้นกัลปพฤกษ์นั้นเล่าก็วิจิตรตระการตาสุดที่จะบรรยาย แต่ได้ชมไม่ถึงอึดใจนางก็หายกลับลงไปใต้ทะเลอีก

ทันทีที่พระราชาฟังจบ ก็บังเกิดความหลงใหลใฝ่ฝัน อยากจะได้เห็นนางเป็นกำลัง ทรงรุ่มร้อนพระทัยด้วยความรัก จนคิดว่าราชอาณาจักรและชีวิตของพระองค์หมดความหมายลงทันทีถ้ามิได้นางเชยชมสมพระทัย พระราชาทรงจับมือมนตรีไว้ ละล่ำละลักว่า

"ข้าจะต้องได้เห็นนางยอดดวงใจนั้นให้ได้ มิฉะนั้นข้าคงตายแน่ ๆ ข้าเดินทางไปพบนางโดยทางที่เจ้าบอกข้า และในกรณีนี้ข้าจะไปคนเดียวเจ้าไม่ต้องไปด้วย ข้าจะมอบราชการทั้งปวงให้เจ้าดูแล จงอย่าขัดคำสั่งของข้า มิฉะนั้นมฤตยูจะไปเยือนเจ้าถึงบ้านทีเดียว"

ตรัสดังนั้นแล้ว โดยมิให้โอกาสมนตรีของพระองค์ได้อ้าปากตอบแต่ประการใด พระราชาก็รีบส่งมนตรีกลับไปบ้านของตนเพื่อพบปะญาติมิตรที่มาคอยต้อนรับอยู่ แต่เมื่อกลับไปถึงบ้านและพักผ่อนแล้วทีรฆทรรศินก็ยังหาได้มีความสงบใจไม่ ก็มนตรีที่ไหนเล่าจะมีความสุขอยู่ได้ในเมื่อเจ้านายของตนต้องเดือดร้อนใจเพราะไฟพิศวาสเผาผลาญเช่นนั้น

คืนวันรุ่งขึ้นพระราชายศเกตุออกเดินทาง ทรงปลอมพระองค์เป็นโยคี และทรงมั่นพระทัยว่าได้มอบราชกิจทั้งปวงไว้ในมือของมหามนตรีเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เดินทางไปนั้นทรงพบโยคีชื่อ กุศนาภ ในระหว่างทางจึงเข้าไปกระทำความเคารพอย่างนอบน้อม พระโยคีแลเห็นก็ยิ้มกล่าวปราศรัยแก่นักบวชปลอมว่า

"ข้ารู้ว่าท่านจะไปไหน แต่หนทางที่จะไปนั้นมิใช่ง่าย จงมีความกล้าหาญและอดทนเถิด จากนี้ไปถึงฝั่งทะเลจะมีเรือพ่อค้าวาณิชจอดอยู่จงลงเรือไปสุวรรณทวีป วาณิชที่เป็นเจ้าของเรือมีชื่อว่าลักษมีทัตต์ เรือของเขาจะต้องแล่นผ่านทะเลที่มีนางทิพย์ปรากฏ ถ้าท่านโชคดีก็อาจจะมีโอกาสได้พบนางดังใฝ่ฝัน ขอให้โชคดีเถิด"

ถ้อยคำของตปัสวิน(ผู้มีตบะ หมายถึง ฤษี หรือโยคี) ทำให้พระราชาเกิดกำลังใจขึ้นเป็นอันมาก ทรงกระทำอัญชลีแล้วเดินทางต่อไป หลังจากที่ผ่านแม่น้ำหลายสายและภูเขาหลายลูกแล้วในที่สุดก็มาถึงฝั่งทะเล ได้พบคนมากหน้าหลายตาเดินขวักไขว่อยู่ที่ท่าจอดเรือ พระราชาทรงไต่ถามชาวเรือ ณ ที่นั้น จนได้พบลักษมีทัตต์ผู้ซึ่งโยคีแนะนำมา กำลังจะออกเรือไปสุวรรณทวีป ลักษมีทัตต์แลดูพระราชา เห็นมีลักษณะผิดจากคนทั่วไป กล่าวคือมีลายกงจักรอยู่ที่รอยเท้าและลักษณะต่าง ๆ แสดงวรรณะของกษัตริย์ก็มีความสนใจอนุญาตให้โยคีจำแลงโดยสารเรือไปด้วย เรือของวาณิชแล่นฝ่าฟันคลื่นลมไปจนถึงสะดือทะเล ก็มีนางงามโผล่ขึ้นมาจากน้ำโดยนั่งบนกิ่งของต้นกัลปพฤาษ์ พระราชารู้สึกตื่นเต้นต่อภาพที่แลเห็นเฉพาะหน้า จนตะชึตะไล อ้าปากค้าง ราวกับนกจักโกระ (นกเขาไฟผู้เสพแสงจันทร์เป็นอาหาร) ที่เพ่งดูแสงจันทร์ฉะนั้น ขณะนั้น นางก็เริ่มขับร้องด้วยน้ำเสียงอันอ่อนหวานประสานกับเสียงพิณที่นางดีดด้วยท่วงท่าอันเป็นเสน่ห์จับใจยิ่งนัก บทเพลงที่นางขับมีเนื้อร้องว่า

"คนที่กระทำกรรมอันใดไว้ในชาติก่อน ย่อมไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เขาจะต้องเสวยผลแห่งกรรมในชาตินี้ ชะตากรรมของเขาย่อมเที่ยงแท้แน่นอนไม่มีวนผันเป็นอื่น ฉะนั้นบุคคลใดที่เกิดมาไม่ว่าที่ใดสถานใด จะหลีกหนีพรหมลิขิตของตนหาได้ไม่"

พระราชาได้ฟังนางขับร้องด้วยเนื้อเพลงนี้ ทรงรู้สึกเคลิ้มตาม และมีหัวใจอันแหลกสลายเพราะความรัก ทรงหยุดนิ่งมิได้แสดงอาการเคลื่อนไหว พระเนตรจ้องเหม่อที่นางอย่างไม่กะพริบ ครั้นแล้วก็รู้สึกทรงโค้งพระเศียรลงต่อแสดงความคารวะต่อมหาสมุทรอันไพศาล และกล่าวถ้อยคำต่อไปนี้

"ข้าแต่พระสมุทรคงคาอันเป็นรัตนากร (ที่เกิดแห่งรัตนะ หมายถึง มหาสมุทร) ของโลก ผู้ทรงความลึกซึ้งดื่มด่ำจนสุดที่จะหยั่งได้ ท่านได้ซ่อนเร้นนางอัปสรสมุทรนี้ไว้โดยยื้อยุดหฤทัยขององค์พระวิษณุไว้ให้เหินห่างจากองค์พระลักษมี ด้วยประการฉะนี้แล ข้าขอทอดตัวเองให้อยู่ในความพิทักษ์ของท่าน โอ้สมุทรเทพผู้เป็นที่พึ่งของราชะเยี่ยงข้านี้ ขอได้โปรดประทานพรให้ข้าสมปรารถนาด้วยเถิด"

ขณะที่พระราชาทรงกล่าวถ้อยคำนี้ นางโฉมงามก็ค่อยอันตรธานตนหายไปจากท้องทะเล พร้อมกับต้นกัลปพฤกษ์ พอพระราชาแลเห็นดังนั้น ก็รีบกระโจนลงสู่ทะเลติดตามนางไป เหมือนกับจะขอให้น้ำทะเลช่วยขจัดเปลวไฟเสน่หาในพระอุระให้บรรเทาลง

เมื่อไวศยบดีลักษมีทัตต์ แลเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ตกใจเป็นอันมาก คิดว่าพระราชาสิ้นชีวิตแล้ว มีความโศกเศร้ายิ่งนัก ว้าวุ่นด้วยความวิตกแทบว่าจะฆ่าตัวตาย แต่ทันใดมีเสียงดังมาจากสวรรค์ว่า "ไวศยะเจ้าอย่าทำโง่ ๆ หน่อยเลย พระราชาหาได้เป็นอันตรายไม่ ถึงแม้พระองค์จะจมหายลงในทะเล พระราชายศเกตุผู้นี้ซึ่งปลอมร่างเป็นโยคีเพื่อติดตามหานางนั้น ความจริงทั้งพระองค์และนางต่างก็เคยเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติก่อน เมื่อได้นางสมปรารถนาแล้ว พระองค์ก็จะกลับคืนบ้านเมืองของพระองค์เอง"

เมื่อลักษมีทัตต์ได้ยินเสียงสวรรค์บันลือเช่นนั้นก็หายวิตก ให้เรือแล่นต่อไปยังสุวรรณทวีปอันเป็นที่หมาย

ฝ่ายพระราชายศเกตุ เมื่อโจนลงทะเลไปนั้น ชั่วอึดใจหนึ่งก็ลงมาถึงก้นสมุทร ทันใดก็ประสบภาพนครอันงามวิจิตรตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก นครนั้นสว่างรุ่งเรืองด้วยปราสาทราชวัง อันมีเสาทำด้วยรัตนมณีสีต่าง ๆ เป็นประกายระยิบระยับ มีหลังคาอันดาษด้วยทองศฤงคีทอแสงวูบวาบลังเมลือง หน้าต่างทุกบานก็ประดับด้วยไข่มุกขาวปลั่งเป็นสายสร้อยห้อยระย้า ใกล้ ๆ กับปราสาทมีสวนขวัญอันสะพรั่งด้วยดอกไม้นานาพรรณ แลสระน้ำอันมีน้ำใสปานแก้ว บันไดท่าน้ำประดับด้วยมณีหลากสี บนฝั่งเล่าก็เรียงรายไปด้วยต้นกัลปพฤกษ์อันมีกิ่งก้านเป็นอำพันสีน้ำผึ้ง เมื่อพระราชาทรงเปิดประตูแก้วเข้าไปในปราสาท ทอดพระเนตรเห็นตั่งทองอันแกะสลักอย่างประณีตบรรจง บนตั่งนั้นมีร่างมนุษย์ผู้หนึ่งนอนเหยียดยาว มีผ้าแพรปิดหน้าอยู่ พระราชาทรงประหลาดพระทัยไม่ทราบว่าเป็นร่างใคร ด้วยความใคร่รู้จึงเปิดผ้าที่คลุมออก ก็จำได้ทันทีว่านางคือสตรีที่พระองค์ใฝ่ฝันนั่นเอง นางมีวงพักตร์อันงามปลั่งดั่งสมบูรณจันทร์ หาที่ตำหนิมิได้ ทันทีที่ผ้าคลุมร่างสีดำตกลง ภาพของนางก็เฉิดฉายปรากฏขึ้นประหนึ่งดวงศศีที่งามปลั่งในราตรี

ทันทีที่พระราชาทอดพระเนตรเห็นนาง พระองค์ก็มีพระทัยแช่มชื่นขึ้นทันที ประหนึ่งว่า บุรุษที่เดินกระเซอะกระเซิงมาในทะเลทรายในเวลากลางวันที่ร้อนระอุด้วยแดดที่แผดเผาอย่างแรงกล้า และได้พบแม่น้ำโดยบังเอิญ ทันใดนั้นนางก็เปิดเปลือกตาขึ้น แลไปเ็นพระราชาผู้ประกอบด้วยบุรุษลักษณ์อันงามสง่า ก็รีบลุกขึ้นจากแท่นด้วยความดีใจ กระทำการต้อนรับด้วยท่าทางอันละมุนละม่อม และกล่าวด้วยความขวยเขินว่า "อภัยเถิด ข้าอยากรู้ว่าท่านเป็นใคร เหตุใดจึงลงมาถึงที่อันอยู่ก้นบึ้งของบาดาลนี้ อันใคร ๆ ยากจะลงมาถึง และทำไมท่านผู้ประกอบด้วยกษัตริยลักษณะจึงปลอมตัวมาโดยเพศโยคี โปรดตรัสเถิดว่าพระองค์มีพระประสงค์สิ่งใด จึงมาหาข้าถึงที่นี่"

เมื่อพระราชาได้ฟังคำของนางจึงตอบว่า "แม่โฉมงาม ข้าเป็นราชาแห่งแคว้นอังคะ มีชื่อว่ายศเกตุ ที่ข้ามานี่ก็เพราะข้าได้ทราบข่าวจากสหายที่ข้าเชื่อถือ ว่าเจ้าจะปรากฏร่างขึ้นจากน้ำทะเลทุกวัน ดังนั้นข้าจึงปลอมตัวเป็นโยคีมาสืบเรื่องของเจ้า รู้ไหมว่าข้าต้องสละราไชสวรรย์ ติดตามเจ้ามาจนได้เห็นหน้าเจ้า และโจนลงทะเลโดยไม่อาลัยแก่ชีวิต เจ้าจะบอกได้ไหมว่าเจ้าคือใคร"

นางได้ฟังคำของพระราชาก็ทูลตอบด้วยความรู้สึกที่กระอักกระอ่วนครึ่งอดสูและปลาบปลื้มในใจว่า

"โอ ราชะ ขอจงทรงทราบเถิด เมืองนี้เป็นของพระราชาแห่งวิทยาธร ชื่อ มฤคางกเสน ตัวข้าเป็นลูกของพระราชาผู้นั้น มีชื่อ มฤคางกวดี บิดาของข้ามีความจำเป็นบางอย่างต้องละทิ้งบ้านเมืองและตัวข้าไป ทำให้ข้าต้องอยู่โดดเดี่ยวด้วยความเหงาหงอย ข้าทนความเปล่าเปลี่ยวไม่ไหว จึงต้องขึ้นมาจากทะเลพร้อมด้วยต้นกัลปพฤกษ์และพิณงาม นั่งขับเพลงให้หายเหงาไปวันหนึ่ง ๆ "

เมื่อนางได้กล่าวดังนี้ วีรกษัตริย์ก็กล่าวปลอบโยนด้วยความสงสาร ทำให้นางแช่มชื้นขึ้น นางสนองตอบด้วยอากับปกิริยาอันแสดงความเสน่หาอย่างท่วมท้น และให้สัญญาว่านางจะยอมเป็นชายาของพระองค์โดยมีเงื่อนไขว่า

"โอ บดินทร์ ข้าขอให้พระองค์อนุญาตให้ข้าลาจากไปเดือนละสี่วันทุก ๆ เดือน คือวันสิบสี่ค่ำและแปดค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้าคงจะไม่ได้อยู่ปรนนิบัติพระองค์ตามวันดังกล่าวนั้น โปรดอย่าทรงบังคับให้ข้าน้อยต้องตอบว่าไปไหน หรือย่าได้ทรงห้ามข้ามิให้ไปเลย"

เมื่อนางทิพย์ได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นเงื่อนไขดังนี้ พระราชาก็ตรัสตกลง และทรงวิวาห์กับนางโดยแบบคานธรรพวิวาหะ(การแต่งงานโดยฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ยินยอมได้เสียกันเอง)

วันหนึ่ง ขณะที่พระราชากำลังเสพสุขสำราญด้วยนางมฤคางกวดี นางได้กล่าวกำชับว่า

"ยอดรัก ข้าขอเตือนพระองค์ว่าวันนี้เป็นวันแรมสิบสี่ค่ำ ข้าจะต้องจากไปด้วยกิจสำคัญอย่างหนึ่งตามที่ทูลไว้แล้ว ขอให้พระองค์ประทับอยู่ที่นี่อย่าออกไปไหน และระหว่างที่ประทับรออยู่นี้ อย่าได้เสด็จเข้าไปในพลับพลาแก้วนั้นเป็นอันขาด โอ สวามิน ถ้าพระองค์เข้าไปในพลับพลาแก้ว ก็จะเจอทะเลสาบแห่งหนึ่ง พระองค์จะตกลงไปในนั้นและจะต้องกลับคืนไปสู่โลกมนุษย์อีก" เมื่อกล่าวจบนางก็อำลาออกเดินจากนครไป แต่พระราชามิได้ทำตามคำของนาง ทรงถือขรรคาวุธย่องติดตามนางไปอย่างลับ ๆ โดยหวังจะสืบหาสาเหตุแห่งพฤติกรรมของนางให้จงได้

เมื่อตามนางไปมิชาก็แลเห็นราษสตนหนึ่ง เดินตรงเข้ามาหานางด้วยท่วงท่าอันดุร้าย มีปากอ้าแสยะแลเห็นฟันอันแหลมคมน่าสะพรึงกลัวเรียงรายเป็นแถว มันรองคำรามกึกก้อง และคว้าร่างนางยัดใส่ปากกลืนหายลงไปในคอทันที พระราชาแลเห็นดังนั้นก็ตกตะลึง เมื่อได้สติก็รีบชักดาบออกจากฝัก ปราดเข้าหารากษสนั้นด้วยความโกรธสุดขีด และฟันคอของมันขาดกระเด็นไป เลือดพรั่งพรูราวกับน้ำ ร่างอันใหญ่โตล้มฮวบลงขาดใจตาย ทันใดร่างนางมฤคางกวดีก็ปรากฏออกมา พระราชาทรงประคองนางไว้ด้วยความตื่นเต้นและเต็มตื้นไปด้วยความดีพระทัย ละล่ำละลักถามว่า "ที่รักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกัน ข้าฝันไปหรือว่าที่นี่เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น"

เมื่อถูกพระราชาถามดังนี้ นางวิทยาธรี (วิทยาธรผู้หญิง) ก็รำลึกถึงเหตุการณ์ขึ้นมาได้ จึงทูลเล่าความจริงว่า

"โอ นฤเบศร ทรงฟังเถิด นี่มิใช่ความฝันและมิใช่มายาดอก แต่เป็นคำสาปที่เกิดจากบิดาของข้าเอง ผู้เป็นราชาแห่งวิทยาธรทั้งหลาย เดิมทีเดียวท่านพ่อเคยครองนครนี้อยู่ ถึงแม้จะมีโอรสหลายองค์ แต่ก็ทรงรักข้ายิ่งกว่าใคร ๆ ขนาดที่ว่าวันไหนไม่เจอหน้าข้า พระองค์จะไม่ยอมเสวยเป็นอันขาด แต่ข้าเป็นผู้ที่มีความภักดีในองค์พระศิวะ ข้าต้องมาทำพิธีบูชาพระองค์ ณ ที่นี้ อันเป็นที่สงัดปราศจากผู้คน ในวันแปดค่ำและสิบสี่ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมของเดือน วันหนึ่งเป็นวันสิบสี่ค่ำ ข้ามาที่นี่และบูชาพระเคารี (เป็นชื่อหนึ่งของพระอุมา ชายาของพระศิวะ ถือว่าเป็นปางที่สวยงาม และใจดี เช่นเดียวกับพระอุมา เคารี แปลว่า ผู้มีผิวสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล) เป็นเวลาช้านาน เพราะข้าเป็นผู้ขยันมั่นภักดีในพระองค์อย่างยิ่ง เวลาผ่านไปจวฝนจะสิ้นวันก็ยังบูชาไม่เสร็จ วันนั้นท่านพ่อไม่ได้เสวยอะไรทั้งข้าวและน้ำ มีความหิวกระหายเป็นกำลัง ทั้งนี้เพราะท่านรอข้าอยู่ ท่านโกรธมาก พอข้ากลับมาข้ารู้สึกสำนึกผิด มีความละอายเป็นอันมาก พอแลเห็นหน้าข้าท่านก็สาปด้วยความโกรธว่า

"กลับมาแล้วหรือนางตัวดี ช่างอวดดีนี่กระไร ข้าหิวแทบตายชักเพราะอดมาทั้งวัน เจ้าเคยเห็นใจข้าบ้างไหม ปล่อยให้ข้าคอยมาทั้งวัน ดีละนับแต่นี้ไป ในวั้นแปดค่ำและสิบสี่ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้าจะให้รากษสชื่อ กฤตานตสันตราส จับเจ้ากินเป็นอาหารให้สามสมกับที่เจ้าขยันไปบูชาพระศิวะ ณ ที่นั้นจนลืมข้า และทุก ๆ ครั้งที่เจ้าถูกกิน เจ้าจะต้องเป็นไปตามคำสาปของข้า และจะได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสเื่อถูกราษสมันขย้ำ เจ้าจะต้องอยู่แต่เดียวดายในนครนี้เรื่อยไปไม่มีกำหนด"

เมื่อถูกท่านพ่อสาปเอาเช่นนี้ ข้าตกใจแทบสิ้นชีวิต พยายามวิงวอนขอโทษ จนในที่สุดท่านใจอ่อน ยอมแก้ไขคำสาปลงว่า "เอาเถิด เจ้าจะพ้นโทษสักวันหนึ่ง เมื่อใดก็ตามถ้ามีพระราชาองค์หนึ่งชื่อยศเกตุ ผู้ครองแคว้นอังคะเดินทางมาถึงที่นี่ พระองค์จะได้เป็นสามีของเจ้า ได้เห็นรากษสกลืนกินเจ้าเป็นอาหาร พระองค์จะฆ่ามัน เจ้าก็จะได้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่งและพ้นจากคำสาปของข้า"

"เมื่อท่านพ่อกำหนดคำสาปแก่ข้าดังนี้แล้ว ท่านก็จากไป พร้อมกับนำบริวารไปสู่ภูเขานิษัทอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ส่วนตัวข้าก็ถูกทอดทิ้งอยู่ที่นี่ต่อไปตามคำสาป บัดนี้คำสาปก็สิ้นสุดลงแล้ว และข้าก็จำความหลังได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บัดนี้ข้าก็จะได้กลับไปหาท่านพ่อของข้าที่ภูเขานิษัท เพราะมีกฏในระหว่างพวกเราชาวสวรรค์ว่า เมื่อใดคำสาปสิ้นสุดลง เมื่อนั้นผู้ถูกสาปจะได้คืนสู่สภาพเดิม และกลับไปอยู่กับพวกพ้องตามเดิม ส่วนพระองค์จะพอพระทัยประทับอยู่ที่นี่ต่อไปก็สุดแต่ความประสงค์ หรือจะเสด็จกลับบ้านเมืองก็แล้วแต่จะทรงตัดสินพระทัย"

เมื่อนางกล่าวจบลง พระราชารู้สึกเสียพระทัยนัก ตรัสแก่นางว่า

"เจ้ารูปงาม ได้โปรดเถอะ เจ้าอย่าจากข้าไปภายในเจ็ดวันนี้เลย ข้าอยากจะอยู่กับเจ้าในสวนขวัญนี้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อรักษาความเจ็บปวดในหัวใจด้วยความสุขครั้งสุดท้าย จากนั้นข้าก็จะกลับไปบ้านเมืองของข้า"

นางฟังคำวิงวอนก็ใจอ่อน ยอมตกลงตามสัญญา พระราชาได้ประทับอยู่กับนางในอุทยานเป็นเวลาหกวัน ทรงเล่นน้ำในสระแก้วอันมีดอกบัวบานสะพรั่งกับนาง น้ำในสระอุบลนั้นแผ่ไพศาลสุดสายตา มีคลื่นม้วนตัวเป็นเกลียววิ่งเข้าสู่ฝั่งไม่ขาดระยะ ยังเสียงบังเกิดดังซ่าผสานเสียงหงส์และนากกาเรียนที่บินและเล่นอยู่เหนือผิวน้ำ เป็นเสียงเศร้าสร้อยเหมือนกับจะกล่าวว่า "อยู่ที่นี่เถิดนะ อย่าได้จากไปเลย"

ถึงวันที่เจ็ด พระราชาพานางกลับเข้าสู่พลับพลาแก้ว ผ่านพ้นทวารเข้าไปเป็นบึงน้ำสีเขียวสดใสดังมรกต เป็นที่จะผ่านไปสู่แดนมนุษย์ พระราชาทรงโอบเอวนางเดินมาถึงฝั่งสระศักดิ์สิทธิ์ แล้วกระโจนหายลงไปในสระนั้น ปรากฏว่ามาผุดขึ้นที่สระในสวนหลวงที่แคว้นอังคะ เมื่อคนเฝ้าอุทยานแลเห็นก็รีบพากันมาต้อนรับด้วยความยินดี และส่งข่าวไปยังทีรฆทรรศินผู้เป็นมหาอำมาตย์นายก เมื่อมหาอำมาตย์ทราบข่าวก็รีบมาเฝ้าทูลเชิญเสด็จเข้าวังพร้อมด้วยนางผู้มีสิริ คือนางมฤคางกวดี มนตรีหนุ่มแลเห็นนางก็จำได้ว่านางคือใคร มีความฉงนใจถึงกับรำพึงในใจว่า

"กระไรหนอ แท้จริงนางนี้คือทิพยกัญญาที่ข้าเห็นในมหาสมุทรนี่นา ทำไมพระราชาไปหานางมาได้เล่า ช่างเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ แต่เรื่องเช่นนี้ทำไมจะเป็นไปไม่ได้เล่า ในเมื่อชะตาชีวิตของทุกคนนั้นเป็นที่สิ่งที่พระธาดาพรหมทรงลิขิตไว้แล้วบนหน้าผากของเขา"

บรรดาข้าเฝ้าเหล่าบริพารตลอดจนประชาราษฎรทั้งหลาย ได้ทราบข่าวการเสด็จกลับมาของพระราชา ต่างก็ปิติยินดีกันทั่วหน้า มีการเฉลิมฉลองและเล่นมหรสพกันเป็นที่ครึกครื้น แต่นางมฤคางกวดีผู้เดียวบังเกิดความร้อนรุ่มในใจ เมื่อเป็นเวลาเจ็ดวัน บัดนี้ก็ครบกำหนดแล้ว จะต้องกลับคืนไปสู่ดินแดนแห่งวิทยาธรอันเป็นที่อยู่ของตนตามสัญญา ถึงแม้จะมีความรักและความอาลัยในพระราชาเพียงใดก็จำเป็นจะต้องไป แต่พอเตรียมตัวจะไป ก็ปรากฏว่าอิทธิฤทธิ์ที่จะเหาะเหินเดินอากาศได้นั้นเสื่อมหายไป ไม่อาจจะเดินทางกลับสวรรค์ได้อีก แม้นางจะพยายามเพ่งมโนมยิทธิอย่างไรก็ไม่เป็นผล ทำให้นางเศร้าโศกผิดหวังยิ่งนัก พระราชาแลเห็นนางเอาแต่พิลาปคร่ำครวญก็ถามว่า "เจ้าผู้เป็นที่รักองข้า เจ้าเป็นทุกข์ร้อนด้วยเหตุใด จึงโศกศัลย์ถึงเพียงนี้ เป็นอะไรบอกข้าบ้างสิ" นางวิทยาธรีได้ฟังก็ทูลตอบว่า "โอ้ อารยบุตร ข้าติดตามพระองค์มาด้วยความรัก และอยู่ด้วยพระองค์จนเกินกำหนดเวลา บัดนี้ไสยเวทของข้าได้เสื่อมหมดแล้ว ไม่อาจจะกลับไปหาพวกพ้องของข้าได้อีก ข้าจึงเป็นทุกข์ยิ่งนัก"

เมื่อพระราชาได้ฟังนางกล่าวดังนั้น ก็กล่าวว่า "จะเป็นทุกข์ไปไยเล่า เจ้ามีข้าอยู่ทั้งคนแล้วมิใช่หรือ ควรจะดีใจเสียอีกว่า เราทั้งสองจะได้อยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องพรากจากไปไหนอีกจนชั่วชีวิต ข้าสัญญาว่าข้าจะรักเจ้าตลอดไป ไม่มีใจเป็นอื่นเลย"

พระราชากับนางวิทยาธรีมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกนับตั้งแต่นั้น เว้นแต่ทีรฆทรรรศิน จอมมนตรีแต่ผู้เดียวที่ประสบความผิดหวังเต็มแปล้ ต้องนอนแซ่วอยู่บนเตียงด้วยความโทมนัส และสิ้นใจตายไปด้วยหัวใจที่แตกสลาย แม้จะได้รับการชดเชยด้วยนางงามมาแทนที่ก็ตาม พระราชายังทรงรู้สึกว่าชีวิตของพระองค์นั้นขาดอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางจะเรียกคืนได้อีก

เมื่อเวตาลผู้นั่งอยู่บนพาหาของพระเจ้าตริวิกรมเสนได้จบนิทานของตนลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "เรื่องนี้พระองค์ทรงคิดอย่างไร เหตุใดหัวใจของมหามนตรีจึงแตกสลาย ในเมื่อเจ้านายของตนได้ประสบความสำเร็จสมความปรารถนาเช่นนั้น เขาต้องหัวใจสลายเพราะความโศกเศร้าเนื่ืองจากเอาชนะความรักของนางทิพย์ยอดเสน่หาผู้นั้นไม่ได้ หรือว่าเสียใจที่จะต้องสูญเสียอำนาจในการปกครองไป และต้องผิดหวังอย่างยิ่งในการที่พระราชาเสด็จกลับพระนครพร้อมด้วยนาง โอ ราชะ ถ้าแม้พระองค์รู้คำตอบแล้ว แต่ไม่ยอมตอบข้า ผลบุญที่พระองค์สะสมไว้ทั้งหมดก็จะสิ้นสูญไป และพระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแยกเป็นเจ็ดเสี่ยงด้วย"

เมื่อพระราชาติวิกรมเสนได้ฟังดังนั้นก็ตรัสแก่เวตาลว่า

"มหามนตรีต้องช้ำใจตายหาได้เกี่ยวกับนางงามที่พระราชาพามาด้วยไม่ แท้ที่จริงเป็นเพราะชายที่ทรงคุณธรรมอันเลิศผู้นี้ได้ตระหนักแก่ใจว่า พระราชานั้นหาได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและราษฎรของพระองค์ไม่ พระองค์ทรงทอดทิ้งราชกิจไปอย่างคนไร้น้ำใจ เพียงเพราะต้องการผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น ตัวมหามนตรีเองต้องสู้ทนความเหนื่อยยากตรากตรำรับภาระอันยิ่งใหญ่แต่ผู้เดียว ในขณะที่พระราชามิได้มีความรู้สึกแม้แต่สักนิดว่า เขามีค่าในสายพระเนตรของพระองค์บ้างหรือไม่ ด้วยประการฉะนี้แล คนดี ๆ อย่างเขาจึงไม่อาจจะทนทานอยู่ต่อไปเพื่อคนที่เห็นแก่ตัวเช่นนั้นได้ เมื่อทนไม่ได้หัวใจของเขาจึงต้องแตกสลายดังนี้"

พอได้ฟังพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็หัวเราะคิกคักด้วยความสะใจผละจากบ่าของพระองค์ หายแวบกลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม ทำให้พระราชาต้องรีบเสด็จกลับไปลากตัวมันมาอีกครั้งหนึ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร