วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2020, 20:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


เปรตกินของสงฆ์ไม่อุปโลกน์
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

รูปภาพ
:b50: :b49: :b50:

ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโสกก่าม ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวว่าหลวงปู่ตกลงปลงใจจะจำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านโสกก่ามแห่งนี้ ทุกคนต่างก็ดีอกดีใจ ช่วยกันจัดเตรียมเสนาสนะกุฏิชั่วคราวเพื่อกันฝนในฤดูพรรษาเท่าจำนวนพระภิกษุสามเณร และช่วยจัดทำทางเดินจงกรมถวายหลวงปู่และพระเณรทุกรูป เสร็จเรียบร้อยก่อนวันอธิษฐานพรรษาเพียงเล็กน้อย ตลอดฤดูพรรษาหลวงปู่ก็ได้นำพาประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ มีการตั้งสัตยาธิษฐานถือธุดงควัตรกันอย่างเคร่งครัด สำหรับหลวงปู่นั้นท่านจะอธิษฐานถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือ ทำความเพียรอยู่ในอิริยาบถสาม เว้นจากการเอนกายลงนอน ในทุกวันธรรมสวนะ ๘ ค่ำ ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ และผ่อนอาหาร คือ ๗ วันฉันจังหันครั้งหนึ่งบ้าง ๑๕ วันฉันจังหันครั้งหนึ่งบ้าง หลวงปู่จะเร่งความเพียรตลอดทั้งพรรษา กลางวันท่านก็นำหนังสือบุพพสิกขาวรรณนาซึ่งเกี่ยวกับพระวินัยมาอ่านและอธิบายให้พระภิกษุสามเณรได้เข้าใจ นำระเบียบและปฏิปทาที่ท่านได้เคยรับการอบรมถ่ายทอดมาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และครูบาอาจารย์รูปอื่นๆ นั้น มาอบรมสั่งสอนถ่ายทอดอีกต่อหนึ่งให้พระภิกษุสามเณรได้รับฟังกันตลอดพรรษา พระภิกษุสามเณรทุกรูปต่างก็เร่งทำความเพียรกันไม่ได้ลดละประมาท ไม่เป็นอันหลับอันนอนกันทั้งสิ้น

ส่วนบรรดาศรัทธาของญาติโยมชาวบ้านนั้น ก็สังเกตได้ว่าทุกคนต่างพึงพอใจต่อการที่หลวงปู่ได้จำพรรษาโปรดพวกเขาในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ต่างคนต่างมาขวนขวายในการทำความดี บางคนก็สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ บ้างก็ช่วยกิจการงานภายในวัด ทำทางเดินจงกรมบ้าง ช่วยงานอื่นๆ บ้าง เป็นประจำทุกวัน น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็อำลาศรัทธาญาติโยมออกเดินทางเพื่อจาริกแสวงหาสถานที่บำเพ็ญแห่งใหม่ต่อไป โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ภูลังกา” แดนดินถิ่นสถานของท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำโขง หรือ เทพเจ้าแห่งภูลังกา ตามคำเรียกขานของชาวบ้านในเขตจังหวัดนครพนม-หนองคาย-บึงกาฬ


ภายหลังจากออกพรรษาในปีนี้แล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยสามเณร ๔-๕ รูป ก็มุ่งหน้ายังภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เพื่อต้องการที่จะไปศึกษาและพิสูจน์คำล่ำลือที่พูดกันนักหนาว่าท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร นั้นท่านมีอภิญญาสมาบัติพิเศษ และเพื่อแสวงหาความสงบวิเวกไปด้วย มองเห็นยอดภูลังกาอยู่ลิบๆ คงอีกไกลมาก แต่เวลาก็บ่ายคล้อยใกล้ค่ำเข้ามาทุกที มองเห็นวัดร้างท้ายหมู่บ้านซึ่งมีหญ้าปกคลุมแทบมองไม่เห็นทางเข้า ผ่านประตูวัดก็ถึงศาลาหลังหนึ่งที่ทรุดโทรม มองดูโย้...เย้...จะพังมิพังแหล่ ที่มีอยู่เพียงหลังเดียวของวัด รอบๆ ศาลาเห็นมีต้นหมาก ต้นมะพร้าว สูงลิบลิ่วเลยหลังคาศาลาไปไกล แสดงว่าวัดนี้สร้างมานานแล้วนั่นเอง หลวงปู่บอกว่ามองดูบนศาลาที่มีไม้กระดานปูพื้นยังไม่เต็มศาลาดีนั้นดูระเกะระกะ สกปรก รกรุงรัง มองเพดานเห็นมีแต่ยากไย่ใยแมลงมุมสะสมมานาน ขี้ค้างคาวก็หนาเตอะ หลวงปู่ให้เณรน้อยสาม-สี่รูปรีบไปสรงน้ำให้เสร็จก่อนมืด เดี๋ยวจะมองไม่เห็นอะไร สามเณรได้มาปูที่นอนจำวัดถวายหลวงปู่ไว้ด้านมุมศาลา ใกล้พระประธานที่มีอยู่องค์เดียวของวัด ส่วนสามเณรก็ปูที่นอนเรียงกันเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบสวยงามอีกมุมศาลาด้านหนึ่ง...

สามเณรสรงน้ำยังไม่ทันเสร็จ ก็มีเสียงระฆังที่แขวนอยู่ใกล้บันไดทางขึ้น ดัง...เหง่ง...หง่างๆ สุนัขในหมู่บ้านเห่าหอนรับกันเป็นทอดๆ สามเณรรีบเดินกลับมายังศาลาอย่างรวดเร็ว

หลวงปู่ถามว่า “เณร ! เคาะระฆังทำไม เดี๋ยวชาวบ้านก็มาเต็มวัดหรอก...”

สามเณรต่างองค์ต่างมองหน้ากันแล้วกราบเรียนหลวงปู่ว่า...“กระผมเข้าใจว่าหลวงปู่เคาะเรียก พวกกระผมจึงรีบกลับมาครับผม...”

หลวงปู่จุดเทียนไขที่มีติดย่ามมานั้น แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิ อบรมสั่งสอนสามเณรเป็นประจำวัน...แล้วจึงได้แยกย้ายกันพักผ่อนด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางมาตลอดทั้งวัน...ยิ่งมืดก็ยิ่งเงียบและวังเวง...เสียงนกแสกและนกฮูกร้องรับกันอยู่บนหลังคาศาลา...หนูที่ซุกตัวอยู่ตามซอกตามมุมวิ่งกันให้พล่านไปทั้งศาลา...ดึกมากแล้ว นี่...สามเณรองค์ไหนมาเดินเล่นทำไม ? พื้นกระดานของศาลาให้ดัง...กุบ...กั้บ...ๆ...สลับกับมีเสียงลากเสื่อดังพรืด !...ๆ...อยู่บนศาลาด้านที่สามเณรนอนเรียงกัน...

หลวงปู่หันไปมองโดยอาศัยแสงไฟจากเทียนไขที่ริบหรี่ รำไร ใกล้จะมอดดับแต่ยังพอมองเห็นอะไรเป็นอะไรได้บ้างนั้น...หลวงตาแก่ๆ รูปหนึ่งกำลังจับขาสามเณรที่นอนเรียงกันสูงบ้างต่ำบ้าง ดึงลงมาเพื่อให้เท่าๆ กัน เสร็จแล้วก็เดินไปด้านบนหัวนอน หลวงตาก็จับหัวสามเณรดึงขึ้นไปอีก...สามเณรองค์เล็กซึ่งต่ำกว่าเพื่อนก็จะถูกจับลากจับดึงมากกว่าองค์อื่น หลวงตาวนเวียนดึงหัวดึงเท้าสามเณรอยู่อย่างนั้น...เวลาหลวงตาเดินผ่านมาทางแสงเทียน สังเกตว่าตัวท่านสูงศีรษะเกือบชนขื่อของศาลา แถมยังมีกลิ่นสาบฉุนๆ ตามมาอีกด้วย...

หลวงปู่กำหนดจิตดูจึงรู้ได้ว่า หลวงตาที่ออกมาเดินจัดระเบียบสามเณรอยู่นี้ คือ “เปรตขรัววัดองค์ก่อนได้ทำบาปไว้มากเหลือเกิน จึงติดหนี้สงฆ์ เพราะกินของสงฆ์ไม่ได้อุปโลกน์นั่นเอง...”

หลวงปู่เล่าว่า...พอเสียงไก่ที่หมู่บ้านขันบอกยามสองยามสามแล้วนั่นเอง เปรตหลวงตาจึงหายเงียบเข้าไปที่ห้องข้างๆ สามเณรนอนอยู่นั่นเอง...ฟ้าสางของวันใหม่แล้วจึงพากันออกบิณฑบาต มีชาวบ้านออกมาใส่บาตร พร้อมกับถามว่าเมื่อคืนพักที่ไหน...พักที่วัดท้ายบ้าน...หลวงปู่ตอบ !

...วัดนี้สร้างมานานแล้วตั้งแต่สมัยปู่โน่นแหละครับ แต่ไม่มีพระสงฆ์องค์เจ้าที่ไหนอยู่ได้ข้ามคืน เป็นเพราะขรัววัดองค์เก่าที่ท่านตายไปแล้วท่านยังหวงยังห่วงสิ่งของของท่าน ใครไปหยิบไปจับอะไรในวัดไม่ได้เลย ขนาดกลางวันแสกๆ ยังออกมาตีฆ้อง ตีระฆัง ให้สนั่นหวั่นไหว ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้วัดได้เลย พวกชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะช่วยท่านได้อย่างไร ทำบุญให้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่ยอมไปผุดไปเกิดเสียที...

หลวงปู่เดินกลับจากบิณฑบาต มีชาวบ้านตามมาส่งจังหันตามธรรมเนียมของคนอีสาน หลวงปู่ได้หารือว่าควรช่วยกันทำบุญสงเคราะห์สมภารท่านอีกสักครั้ง เพราะท่านตกระกำลำบาก เป็นเปรตเวทนาเฝ้าวัดอยู่อย่างนี้ ท่านอุตส่าห์สร้างวัดสร้างวามาแล้ว มาเป็นอย่างนี้ หลวงปู่จึงให้ชาวบ้านออกไปหานิมนต์ครูบาอาจารย์สายป่ามาอย่างน้อย ๕ รูป และมอบให้ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งช่วยไปจัดหาอาหารและสิ่งของเพื่อถวายเป็นไทยทานอุทิศส่วนกุศลให้เปรตสมภารในวันพรุ่งนี้

หลวงปู่อธิบายต่อไปอีกว่า “ทานที่ทำแล้วจะได้บุญมากต้องพร้อมหน้าแห่งวัตถุสาม ได้แก่ ๑. ศรัทธา ๒. ไทยธรรม ๓. ทักขิไณยบุคคล ทั้งสามประการนี้ แต่ธรรมสองประการหาได้ง่าย คือ ไทยธรรมและทักขิไณยบุคคล...แต่ศรัทธานั้นหาได้ยาก เพราะปุถุชนมีศรัทธาไม่มั่นคง...”

คืนต่อมาภายหลังจากทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิแล้ว สามเณรหลับสนิทตามประสาเด็ก เปรตสมภารองค์เดิมก็จำแลงกายออกมาจัดระเบียบเหมือนอย่างคืนก่อนอีก สามเณรที่ตัวเล็กที่สุดจะถูกดึงขึ้นดึงลงอีกทั้งคืนเช่นเคย...หลวงปู่ได้นั่งมองดูด้วยความสังเวช จึงส่งกระแสจิตถามไปว่า “ท่านเป็นใคร ทำไมจึงมาเป็นเปรตอยู่อย่างนี้ ไม่อยากไปเกิดหรือ...”

สมภารเปรตตอบว่า “เราเป็นขรัววัดนี้เอง สมัยที่ยังไม่ตายได้ทำบาปเพราะกินของสงฆ์...” ตายแล้วจึงต้องมาเป็นเปรตเฝ้าใช้หนี้สงฆ์อยู่อย่างนี้ ทุกข์ทรมานเหลือเกิน อยากจะไปเกิดแต่ก็ไม่มีใครทำบุญให้ ญาติพี่น้องก็ไม่เคยทำบุญให้เลย ชาวบ้านแถวนี้ก็ไม่มาวัดอีกเพราะเขากลัว เราพยายามตีกลองตีระฆังให้เขามากันเพื่อต้องการจะบอกว่าเราทุกข์ทรมานเหลือเกินช่วยทำบุญให้ด้วยเถิด...เขาก็พากันกลัว...เราหวีดร้องเพื่อให้เขาได้ยินเสียงของเรา เขาก็กลัวอีกเช่นกัน...จึงไม่รู้จะทำอย่างไร ทรมานอยู่อย่างนี้เป็นเวลานานมากแล้ว ?

...หลวงปู่ถามต่ออีกว่า “ท่านทำบาปอะไรไว้มากมายนักหรือ จึงไม่สิ้นบาปสักที...”

“เราเป็นสมภารก็จริง แต่ครูบาอาจารย์ไม่เคยบอกเราเลยว่า สิ่งของที่ชาวบ้านนำมาถวายวัดที่เป็นครุภัณฑ์ ประเภทจอบ เสียม มีด พร้า นั้นจัดเป็นของสงฆ์ แจกแบ่งกันไม่ได้ แต่เราได้นำของสงฆ์เหล่านั้นไปให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และของบางอย่างเราก็ขาย จึงเป็นบาปหนักเพราะเอาของสงฆ์ไปขาย...”


และอีกอย่างหนึ่ง “เมื่อชาวบ้านเขาถวายภัตตาหารถวายสังฆทานด้วยคำว่า 'ภิกขุ สังฆัสสะ...' เราไม่เคยได้เผดียงสงฆ์อุปโลกน์ก่อนแจกเลย เราแจกเองกินเองโดยไม่ได้เผดียงสงฆ์ จึงชื่อว่าได้กินของสงฆ์มาโดยที่ไม่ได้อุปโลกน์ให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อน เราจึงกินของสงฆ์มาตั้งแต่บวชจนกระทั่งตาย ตายแล้วก็ต้องมาเป็นเปรตเฝ้าวัด จัดระเบียบอยู่อย่างนี้ ไปไหนไม่ได้ทรมานมาก โปรดช่วยเราด้วยเถิด...”

วันพรุ่งนี้จะทำบุญอุทิศให้ เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมในการรับส่วนกุศลเสียเถิดนะท่านสมภาร...หลวงปู่กล่าว...

เช้าวันใหม่ท้องฟ้าแจ่มใสกว่าทุกวัน ชาวบ้านได้พร้อมใจกันมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้สมภารเปรตอีกครั้งตามที่หลวงปู่ขอร้อง ได้พากันจัดหาสิ่งของต่างๆ ที่สมภารเอาของสงฆ์ไปขาย มาใช้คืนสงฆ์แทนให้ท่านสมภาร เช่น จอบ มีด พร้า เป็นต้น ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติที่นิมนต์ไว้มาพร้อมแล้ว หลวงปู่ก็เริ่มนำชาวบ้านประกอบพิธีทำบุญถวายทานโดยเฉพาะเจาะจงให้แก่ท่านสมภารที่เป็นเปรตโดยตรง ลำดับแรกบูชาพระรัตนตรัย ให้ญาติโยมรับศีลห้ากันทุกคน เสร็จแล้วได้กล่าวคำถวายสังฆทานว่า “อิทัง เม ทานัง, ญาติกานัง, ทักขินัง โหตุ. ผลทานของพวกข้าพเจ้าทั้งหลาย, ที่กระทำในวันนี้, ข้าพเจ้าขอแผ่ผลอุทิศ ไปให้แก่ท่านสมภารวัดแห่งนี้ ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วนั้น, ถ้าหากว่า, ท่านสมภารวัดแห่งนี้, ยังไม่ทราบข่าวสารการทำบุญนี้, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอมอบข่าวสารการทำบุญนี้, แด่เทพดาเจ้าทั้งหลาย, มีรุกขเทวดา, ภุมมเทวดา, และอากาศเทวดาเป็นต้น, จงนำข่าวสารการทำบุญนี้, ไปแจ้งแก่, ท่านสมภารวัดแห่งนี้, จนกว่าจะได้รับทราบ, เมื่อทราบแล้ว, จงอนุโมทนา, เมื่ออนุโมทนาแล้ว, หากตกทุกข์ได้ยาก, ก็ขอให้พ้นจากทุกข์, เมื่อมีความสุขแล้ว, ก็ขอให้มีความสุข, ยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ...” เสร็จแล้วเพื่อความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่จึงพากล่าวคำกรวดน้ำตามแบบอย่างของพระเจ้าพิมพิสารว่า “อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ ญาตะโย, ขอบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีท่านสมภารวัดแห่งนี้เป็นต้น, จงมีความสุขเถิด ฯ...” เปรตสมภารวัดซึ่งรอรับส่วนกุศลอยู่แล้วก็อนุโมทนาในตอนนั้นนั่นเอง...


ภายหลังจากได้ทำบุญถวายทานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ได้พูดถึงการให้ทานที่มีผลมาก ซึ่งประกอบด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน ๖ ประการ คือ

องค์แห่งทายกคือผู้ให้ ๓ ประการ ได้แก่
๑. ทายก ก่อนให้ทานก็มีใจยินดี
๒. ทายก เมื่อกำลังให้ทานก็มีจิตใจเลื่อมใส
๓. ทายก เมื่อให้ทานไปแล้วก็ให้ปลาบปลื้มใจ

องค์แห่งฝ่ายปฏิคาหกคือผู้รับ ๓ ประการ ได้แก่
๑. เป็นสมณพราหมณ์ผู้ปราศจากราคะ หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ
๒. เป็นสมณพราหมณ์ผู้ปราศจากโทสะ หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
๓. เป็นสมณพราหมณ์ผู้ปราศจากโมหะ หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ


• ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาทาน ๔ ประการ

๑. ทายกเป็นผู้มีศีล ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล คือ ทักษิณาทานนั้นบริสุทธิ์แต่ฝ่ายผู้ให้ ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ

๒. ทายกเป็นผู้ทุศีล ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล คือ ทักษิณาทานนั้นบริสุทธิ์ฝ่ายผู้รับ ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายผู้ให้

๓. ทายกเป็นผู้ทุศีล ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล คือ ทักษิณาทานนั้นไม่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ได้บุญน้อยนิดเดียว)

๔. ทายกเป็นผู้มีศีล ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล คือ ทักษิณาทานนั้นบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ได้บุญมากมายมหาศาล)

บุญนั้นจะสำเร็จด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. ด้วยการอนุโมทนาของผู้รับ
๒. ด้วยการอุทิศไปให้ของผู้ให้
๓. ด้วยการถึงพร้อมด้วยทักขิไณยบุคคล

องค์ประกอบที่บริสุทธิ์อีก ๓ ประการ คือ
๑. วัตถุทานที่นำมาทำทานต้องเป็นของบริสุทธิ์
๒. เจตนาของผู้ให้ต้องบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล
๓. พระสงฆ์ผู้รับต้องเป็นผู้บริสุทธิ์

ต่อมาภายหลังหลวงปู่ได้สอบถามผู้คนที่ผ่านไปมาถึงวัดดังกล่าว ก็ปรากฏว่ามีพระอยู่เป็นที่เรียบร้อย สมภารเปรตนั้นก็เงียบหายไปไม่เคยมาหลอกหลอนใครอีกนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ข่าวการทำบุญให้เปรตในครั้งนี้ทราบไปถึงท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แห่งวัดภูลังกา (วัดถ้ำชัยมงคล) พระอาจารย์วังจึงให้ญาติโยมมาติดต่อขอนิมนต์หลวงปู่ช่วยไปทำบุญให้เปรตที่วัดบ้านนางัวด้วย เพราะที่วัดบ้านนางัวนั้นก็มีเปรตอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านอยู่เช่นกัน


รูปภาพ
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำโขง

รูปภาพ
หนังสือบุพพสิกขาวรรณนา
ใช้เป็นคู่มือศึกษาพระวินัยของพระภิกษุสามเณรในวัดต่างๆ
อย่างกว้างขวางทั่วไปมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕
ซึ่งพระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) วัดบรมนิวาส เป็นผู้รจนาขึ้น


:b50: :b49: :b50:
:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก :
หนังสือชีวประวัติพระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ฉบับสมบูรณ์
วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี


:b44: ภูลังกา...แดนลับแล...บึงกาฬ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35542

:b44: ตำนานภูลังกา ดินแดนแห่งพระเจ้าห้าพระองค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35539

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35359

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58572


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร