วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 เม.ย. 2020, 19:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระรูปพระเจ้าอโศกมหาราชที่วัดอโศการาม
ดำริสร้างโดยท่านพ่อลี ธมฺมธโร



๑๐. เขาว่าท่านพ่อลีเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชจริงหรือ?
:b8: :b8: :b8: หนังสือ ธรรมะทะลุโลกของท่านพ่อลี ธมฺมธโร หน้า ๑๑๙-๑๓๔
+++++++

....ขอท้าวความหลังก่อนสักเล็กน้อย...หลายปีก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปวัดอโศการาม เห็นพระรูปจอมจักรพรรดิ์อโศกผู้ยิ่งใหญ่..องค์ใหญ่ตั้งเด่นเห็นตระหง่านแต่ไกล นั่งทรงเครื่องรบครบครัน

ก็มีความสงสัยมากว่า ปั้นทำไม ทำไมไม่ปั้นพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ๆ..ตรงนั้นเป็นบริเวณหน้าพระวิหาร..เป็นจุดเด่น ก็ได้แต่นึกค้านอยู่ในใจ!


ได้แบกความสงสัยนั้นมานานหลายปี

วันหนึ่งได้ฟังหลวงตามหาบัว และคิดพิจารณาตามคำเทศน์ของท่านว่า...

...พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นปูชนียบุคคล เป็นถูปารหบุคคลที่ควรสร้างพระเจดีย์ถวาย

..พระเจ้าจักรพรรดิ์..ใช่แล้ว พระเจ้าอโศกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ และเป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาหาที่สุดมิได้

..ไม่มีท่าน ประเทศไทยไม่มีพระพุทธศาสนา

..ท่านมีคุณอย่างใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทย

..ท่านพ่อลีดำริคิดสร้างพระรูปท่านไว้..เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่สุด

แต่..เอ..ทำไมวัดอื่นเขาไม่สร้าง..ทำไมต้องเป็นท่านพ่อลี..ความสงสัยประดังเข้ามา จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสทำประวัติท่านพ่อ

..ผู้เขียนจึงหาหนังสือท่านมาอ่าน สอบถามผู้รู้ทั้งหลาย..และพระเถระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับท่าน..ขอทำตัวเป็นนักสืบชั่วคราว

เบื้องต้นขอม้วนดีวีท่านพ่อลีที่หลวงตากล่าวถึง ไปที่วัดป่าบ้านตาดจากท่านอาจารย์สุลาน ปภสฺสโร พระอาจารย์ชำนาญ อภิชญฺโญ

ลำดับที่สอง ค้นหาจากหนังสือ แถบเสียง และวีซีดีงานฉลอง ๒๕ ศตวรรษของท่านพ่อลี

ลำดับที่สาม สอบถามจากพระเถระผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับท่าน และอื่นๆ อีกจิปาถะนับไม่ถ้วน

ก่อนอื่น..ขอยกประวัติย่อพระเจ้าอโศกฯ มาเล่าก่อน....พอเป็นแนวทาง

พระเจ้าอโศกมหาราช นามเดิม “จันฑาโศก” คือ อโศกผู้ดุร้าย เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ณ กรุงปาฏลีบุตร (พ.ศ. ๒๑๘-๒๖๐ หรือ พ.ศ. ๒๗๐-๓๑๒) เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษาก็ได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคะ (รัฐโอริสาของอินเดียในปัจจุบัน) เพื่อขยายดินแดนออกไปกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอินเดีย

ต่อมาได้ทรงสลดพระทัยในความโหดร้ายทารุณของสงคราม จึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และทรงดำเนินนโยบายทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรตามนโยบายธรรมวิชัย ทรงเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศโดยทางสันติ จนได้ขนานนามว่า “ธรรมาโศก” คือ อโศกผู้ทรงธรรม

เป็นเหตุให้กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ยุคหลังที่นิยมสันติ ทรงดำเนินตามพระราชจริยวัตรของพระองค์ และได้รับสมัญญานามว่า “มหาราช”

พระองค์ทรงเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ต่อมาได้พบสามเณรในพระพุทธศาสนา ชื่อ “นิโครธ” ได้สนทนาธรรมกันจนทำให้พระองค์มีพระทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดแล้วเกิดศรัทธา ได้สร้างมหาวิหารและพระสถูปทั่วชมพูทวีปถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ จารึกชื่อ “อโศก เป็นผู้สร้าง” ทุกแห่ง

จากนั้นก็ได้เสาะหาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุ จนได้พบพระเถระผู้เฒ่ารูปหนึ่งเป็นผู้นำทางเสด็จไปยังสถานที่ฝังพระบรมสารีริกธาตุ รับสั่งให้ถากถางป่าและเคลื่อนย้ายสถูปหินออกไป แล้วขุดลงไปจนพบพระบรมสารีริกธาตุ และพบอักษรจารึกในแผ่นทองคำที่พระมหากัสสปะทำนายไว้ว่า

“ต่อไปภายภาคหน้าเมื่ออโศกกุมาร ได้ครองราชสมบัติแล้ว มีพระนามว่า พระเจ้าธรรมาโศกราช พระองค์จะได้รึ้อพระบรมธาตุนี้ออกแจกจ่ายประดิษฐานทั่วชมพูทวีป”

เมื่ออ่านจารึกนั้น ทรงมีความโสมนัสยิ่งที่พระมหากัสสปะมีพระญาณหยั่งทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า พระองค์จึงรับสั่งให้นำพระบรมสารีริกธาตุออกมาทั้งหมด แล้วอัญเชิญมาสู่กรุงปาฏลีบุตร

พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาอเนกประการ เช่น ทรงเป็นศาสนูปถัมภกในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๓ ที่มีขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร โดยมีพระโมคคัลลีบุตรเป็นองค์ประธาน ประกอบด้วยพระอรหันต์บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐ รูป และทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา ๙ สาย เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายในเอเชียตะวันออกมาจนถึงปัจจุบัน

พระเจ้าอโศกฯ ได้ทรงอาราธนาให้พระสงฆ์ไปประกาศพระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ ๙ สายดังนี้

๑. พระมัชฌันติกเถระ ไปยังแคชเมียร์

๒. พระมหาเทวเถระ ไปยังไมซอร์

๓. พระรักขิตเถระ ไปยังบอมเบย์

๔. พระโยนกธัมมรักขิตเถระ ไปยังปรันตชนบท เหนือบอมเบย์

๕. พระมหาธัมมรักขิตเถระ ไปยังมหารัชตะ

๖. พระมหารักขิตเถระ ไปยังเปอร์เซีย

๗. พระมัชฌิมเถระ ไปยังประเทศเนปาล

๘. พระโสณะเถระ และพระอุตตรเถระ ไปยังประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม

๙. พระมหินทเถระ ไปยังประเทศศรีลังกา

จบการเล่าเรื่องพระเจ้าอโศกฯ พอสังเขปก่อน


..มีคำถามสอดแทรกเข้ามาว่า ท่านพ่อลีเกี่ยวข้องโยงใยมีสายบุญสายกรรมสัมพันธ์กับพระเจ้าอโศกฯ อย่างไร?

ผู้เขียนให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอง เพราะเรียบเรียงลำดับจากข้อมูลความจริงเท่าที่มี ไม่ใช่ข้อมูลที่ลอยมาตามลม ไม่ได้คิดเอาเองเออเอง และบางส่วนเป็นข้อมูลที่ท่านพ่อลีบันทึกไว้เอง

..ก่อนอื่นขอเริ่มเรื่องในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เดือนธันวาคม..ปีนั้นท่านพ่อลีอธิษฐานบำเพ็ญเพียรนั่งสมาธิตลอดรุ่งที่วัดเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี กับสานุศิษย์อีก ๖ รูป

“ขณะนั่งสมาธิภาวนาอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงแปลกประหลาดดังบนศีรษะห่างๆ คล้ายฝนตก

สักครู่หนึ่งได้เห็นพระรูปพระเจ้าอโศกมหาราช ตกลงมาใกล้ๆ เป็นแก้วเจียระไนสี่เหลี่ยมสีดำอมชมพู โตประมาณนิ้วหัวแม่มือ”


ต่อมาแก้วเจียระไนที่เป็นพระรูปของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นได้รับการบรรจุไว้อย่างมิดชิดที่วิหารหลวงพ่อเศียร วัดอโศการาม จนทุกวันนี้

ท่านพ่อลีได้พูดถึงเรื่องนี้ทิ้งท้ายเป็นปริศนาไว้หน่อยหนึ่งว่า

“ขอให้ผู้รู้ ผู้เห็น จงสำเหนียกเอาด้วยตนเอง จิตวิญญาณของพระเจ้าอโศกฯ อาจจะช่วยเหลือพวกเราอยู่ และอาจอยู่ใกล้ๆ พวกเราผู้ปฏิบัติธรรมก็ได้...”

ท่านพ่อลีได้มีความผูกพันซาบซึ้งในผลงานการกระทำของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นอย่างมาก ดุจเหมือนดั่งว่าท่านเคยเกิดเคยมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น

คราวที่ท่านพ่อลีไปประเทศอินเดียได้เห็นพระเจดีย์และสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ ทรุดโทรมหักพัง จนเกิดความคิดที่จะสร้างทดแทนไว้สักแห่งขึ้นในเมืองไทยนั้น อาจเป็นสิ่งที่แปลกอย่างหนึ่ง และการที่ท่านอธิษฐานจิตขอให้พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุพระอรหันต์ต่างๆ จำนวนมากเสด็จมาอยู่กับท่านได้นั้นก็เป็นเรื่องที่แปลก ที่สามารถพิสูจน์ได้อีกอย่างหนึ่ง

ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้กราบเรียนถามพระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม ลำดับที่ ๓ ซึ่งเป็นหลานท่านพ่อลี ถึงเรื่องที่มีคนเล่าลือกันมากว่า ท่านพ่อลีเป็นพระเจ้าอโศกฯ กลับชาติมาเกิด

ท่านตอบว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ที่น่าแปลกมากและเหมือนกันคือ พระเจ้าอโศกฯ สามารถรวบรวมพระบรมสารึริกธาตุได้ ท่านพ่อลีก็สามารถรวบรวมได้มากมายด้วยพลังอธิษฐานเช่นกัน

และเหมือนกันอีกเรื่องก็คือ พระเจ้าอโศกฯ โปรดปรานการปลูกต้นโพธิ์เป็นพิเศษ ท่านพ่อลีก็เช่นกัน ในยุคนั้นท่านปลูกเองและชักชวนคนอื่นปลูกต้นโพธิ์เป็นจำนวนมาก”

คราวหนึ่งท่านพ่อลีไปวิเวกอยู่ถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ท่านอยากปลูกต้นโพธิ์ แต่ไม่มี ท่านจึงอธิษฐานจิตให้ต้นโพธิ์เกิดสัก ๓ ต้น ต่อมาต้นโพธิ์ได้เกิดเอง ๓ ต้นเป็นที่น่าอัศจรรย์!

และงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษกึ่งพุทธกาลที่วัดอโศการาม เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ยากที่จะมีผู้จัดฉลองได้ ห่านสามารถจัดการฉลองได้อย่างดีเยี่ยม แม้รัฐบาลในยุคนั้นยังไม่สามารถจัดฉลองให้ยิ่งใหญ่อย่างท่านได้ (ผู้เขียนดูจากหนังสมัยเก่าที่ถ่ายทำในยุคนั้น..จึงเห็นความยิ่งใหญ่ที่ท่านพ่อลีจัดงานฉลอง)


และอีกเรื่องแต่มีหลักฐานอ้างอิงอันสำคัญจากพระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน ที่ได้อ่านจากบทธรรมเทศนาของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่ตีพิมพ์โดยสานุศิษย์หลวงปู่สิม ท่านได้เล่าเรื่องท่านพ่อลีเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอโศกฯ ไว้ดังนี้

....คราวหนึ่งหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ที่ประเทศอินเดีย เห็นสถูปที่พระเจ้าอโศกรามหาราชสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่ ที่พุทธคยา ก็เกิดความสนใจใคร่อยากทราบว่า

“พระเจ้าอโศกฯ ผู้สร้างคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ ไปเกิดเสวยผลสุขทุกข์อยู่ ณ ที่ไหนหนอ?”

ท่านยืนกำหนดจิตรำพึงถึงเท่านั้นแหละ จิตเกิดญาณความรู้..มีภาพของท่านพ่อลี ปรากฏลอยเด่น..เด่นเข้ามาในนิมิตนั้น

ท่านจึงประจักษ์ใจว่า ท่านพ่อลี เป็นพระเจ้าอโศกฯ กลับชาติมาเกิดเป็นแน่แท้ และเป็นชาติสุดท้ายสมความปรารถนาของพระเจ้าอโศกฯ ที่เคยปรารถนาเป็นทายาทธรรมด้วยการออกบวชแล้วเข้าสู่นิพพาน ไม่มีความประสงค์จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกต่อไป


เล่าเรื่องคนอื่นพูดถึงท่านพ่อลีแล้ว เรามาฟังท่านพ่อลีเล่าเรื่องท่านเองดีกว่า ท่านเล่าแล้วก็หัวเราะขำขันไปด้วยแบบทีเล่นทีจริงว่า...

..มีพระหลวงตารูปหนึ่งไปภาวนาในป่าเกิดนิมิตเป็นที่อัศจรรย์ ด้นดั้นเดินทางมาหาท่านที่วัดอโศการาม

ญาติโยมเขาถามพระหลวงตารูปนั้นว่า มาจากไหน ต้องการพบใคร

พระองค์นั้นก็ตอบว่า “พวกญาติโยมเหล่านี้ไม่รู้อะไร ท่านอาจารย์ลีองค์นี้เดิมท่านเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านจึงมาสร้างวัดอโศการาม

ส่วนอาตมานี่แหละเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นเพื่อนรักกับท่าน สนิทสนมกันมานานหลายภพชาติ จึงอยากจะมาขอเยี่ยมท่านในวัดนี้..ในวันนี้” แล้วก็สั่งให้ลูกศิษย์เข้าไปบอกท่านพ่อลี

ท่านพ่อลีทราบดังนั้นจึงบอกลูกศิษย์ว่า “ไปเร็วๆ ไปบอกท่านว่าให้กลับไปเสียนะ อย่าเข้ามาเป็นอันขาด”

แล้วท่านพ่อลีก็กล่าวต่อไปว่า..

“...มันเป็นไปอย่างนี้ก็มีนะพระเรา นี่แหละพวกตื่นพื้นแผ่นดิน คือหลงนิมิตต่างๆ ที่ตัวได้เห็น

ท่านองค์นั้นคงจะมีความคิดอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในใจแล้วก็เลยเขวไป

เมื่อเห็นอะไรต่างๆ ปัญญาไม่พอเพียง ก็กลายเป็น “วิปัสสนูปกิเลส” เปรียบเหมือนคนตื่นรถเพราะไม่เคยเห็น ก็อยากจะวิ่งเข้าไปหารถ อยากขี่ อยากขับ อยากนั่งบ้าง ไม่เหลียวซ้ายแลขวา พิจารณาให้ดี วิ่งออกไปกลางถนน มันก็จะถูกรถชนตาย หรือทับแข้งขาหักพิกลพิการไปเท่านั้น

นี่ก็หลงไปอีกแบบ ไม่ปลอดภัย ถ้าใครมีปัญญาพอก็จะเป็นอริยทรัพย์ เช่น เห็นป่าลำพู ป่าแสม ก็พิจารณาให้เกิดประโยชน์เอามีดมาตัดเป็นฟืนไว้ใช้สอย หรือจะขายก็ได้ พื้นแผ่นดินมันรกก็ถากถางทำให้เป็นไร่เป็นนา อย่าปล่อยให้ว่างเปล่า ก็จะต้องนำมาซึ่งพืชผลและทรัพย์สินเงินทอง

การหลงนิมิตเช่นนี้กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า “สัญญาวิปลาส”

ทางที่ถูก เมื่อเห็นนิมิตอะไร เราจะต้องมีสติพิจารณาแล้ววางไว้ตามสภาพของความจริง

เราอย่าไปเกาะอยู่ในสิ่งที่รู้เห็น เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เช่น เกิดมาเป็นคนจนก็ทุกข์ เพราะอยากมั่งมี เกิดมามั่งมี ก็ทุกข์ในการปกปักรักษาทรัพย์สมบัติ กลัวจะสูญหายกลัวเขาจะคดโกง กลัวโจรจะปล้น กลัวขโมยจะลัก ก็ไม่มีความสุขอีก

สิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรแน่นอนสักอย่าง นิมิตทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อรู้เห็นอะไร เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของมัน ต้นลำพูมันก็อยู่ในป่า

หญ้าก็มีในดิน ข้าวก็อยู่ในนา รู้ดังนี้ได้เราก็จะสบาย

จะลงไปในทะเลอีกก็สบาย เพราะรู้จักขึ้นรู้จักลง

รู้จักว่าในทะเลมันเป็นอย่างไร บนบกมันเป็นอย่างไร

ผู้มีวิชาจะไปบกไปน้ำก็ไปได้สบายทุกอย่าง จะถอยหน้าถอยหลังก็ไปได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด เป็น “โลกวิทู”

ใจแนบอยู่กับสิ่งนั้นแต่ไม่ติด อยู่ในทะเลนั่นแหละ แต่ก็ไม่จม อยู่ในโลกก็ไม่จมโลก เหมือนใบบัวที่อยู่ในน้ำ แต่น้ำก็ไม่ซึมซับ”


ท่านพ่อลีท่านไม่ได้รับและไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องที่คนเขาลือว่าท่านพระเจ้าอโศกมหาราชกลับชาติมาเกิด แต่ท่านได้กล่าวธรรมะเป็นแง่คิด เป็นคติเตือนใจ ในเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน..ต่อไปว่า..

“...มีบางคนพูดฝากมาว่า ท่านพ่อลีวัดอโศการาม ท่านสบายละซิ มีลูกศิษย์ลูกหาล้วนแต่มหาเศรษฐี เรามาเสียใจอยู่หน่อยว่ามันไม่ค่อยจริงอย่างเขาลือ บางคนได้ยืนแต่ข่าวลือ ก็เข้าใจผิดคิดว่าเราเป็น “นักโกยเงิน”

ขอให้พวกเราพากันระวังให้ดีๆ ให้ปลอดภัยไว้ก่อน อย่าหลงมนุษย์

เรื่องอย่างนี้มันเป็นภัย เมื่อมันนึกว่าหลวงพ่อร่ำรวย มันก็เพ่งเล็งดู ได้ท่าก็จะมาทำความยุ่งยากเดือดร้อนขึ้น ที่พูดมานี้เป็นเรื่องทางโลก

ทีนี้มาพูดเรื่องธรรมะ พูดกันตามจริงที่พวกเราอยู่กันใกล้ๆ ไกลๆ และมีจิตมุ่งดีอยากมาอบรมจิตใจของตนๆ อุตส่าห์เสียสละกันมา โดยได้ยินได้ฟังว่าสถานที่นี้มีการอบรมจิตใจกันเคร่งครัด มุ่งบำเพ็ญความดีกันเป็นส่วนใหญ่ คำกล่าวอย่างนี้ก็เป็นชื่อดีของเรา

ฉะนั้นให้พวกเราในที่นี้ทำตัวให้เหมาะสมกับชื่อของเราไว้ให้รักษาชื่อดีใส่กำมือไว้ อย่าให้รั่วไหล ได้ทั้งชื่อได้ทั้งความจริงเป็นดีแน่ อย่าดีแต่ชื่อ แต่ตัวมันเซ่อ!

เรื่อง “อวดอ้าง” เป็น “อรหันต์” นี่ก็เช่นกัน

พระมันก็หลอกต้มคนต้มพระด้วยกันได้ มีพระรูปหนึ่งมันไปเชียงใหม่ มันว่าจะไปช่วยอาจารย์....สร้างวิหาร

ผู้คนเชื่อถือมาร่วมทำบุญ

พอได้เงินมากก็หาทางขยับขยายมาหากินที่หัวหิน

แล้วพาเงินเชิดไปเลย!

คนโกงแบบนี้แกล้งทำอุบาย ทำเป็นเคร่งให้ผู้คนเลื่อมใสอย่างนี้มีอยู่บ่อยๆ

ที่ประจันตคาม ปราจีนบรี มีพระอยู่องค์หนึ่ง ผู้คนนับถือว่าเป็น “พระอรหันต์”

ท่านชอบนอนป่าช้า ชอบกินข้าวหนเดียว ชอบนั่งสมาธิชอบนอนตามดิน แสดงตัวว่าเป็น อรหันต์ ข่าวลือไปไกล มีผู้คนพากันไปกราบไหว้ แต่เมื่อเข้าไปเห็นในป่าช้า มีหมาอยู่ข้างๆ แกคลุกข้าวใส่ชาม กินร่วมกับหมา

คำหนึ่งเปิบใส่ปากตัวเอง อีกคำหนึ่งใส่ปากหมา

เมื่อมีคนทักท้วง แกว่ามันเป็น “อนัตตา” คนกับหมาก็ไม่ผิดอะไรกัน อยู่ด้วยกัน กินด้วยกันก็ย่อมได้

เมื่อเขานิมนต์ไปสวดก็ยังอุตส่าห์เอาหมาตัวนั้นไปด้วย แล้วก็ไม่ใช่หมาตัวผู้นะ เป็นหมาตัวเมียเสียด้วย ทำอย่างนี้แล้วใครๆ ผู้รู้เขาจะไปนับถือได้ลงคอ ผู้คนหมดศรัทธา

เขาจึงเรียกหลวงพ่อองค์นั้นว่า “อรหันต์หมา” ไปฉิบ......

เรื่อง “ชื่อเสียง” ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา มันก็จะกลายเป็นชื่อเสีย

ฉะนั้น ให้พวกเราช่วยกันรักษาให้ดี ถ้ารักษาดีก็จะเกิดประโยชน์ได้ถึง ๒ ประการ กล่าวคือ

• เป็นการเผยแผ่พระศาสนา
• เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อความศรัทธา


แล้วท่านพ่อลีก็กล่าวถึงคนที่เข้ามาหาท่านว่า....

“.....พวกคนที่เพ่งเล็งท่านเข้ามาหาท่าน มีอยู่ ๒ จำพวก

๑) จำพวกสาธุ คือพวกมุ่งมาอบรมบ่มนิสัยตน หวังจะได้ความดีจากท่าน

๒) จำพวกอิจฉา แขนงนี้เห็นว่าเราดีกว่าเป็นไม่ได้ พยายามตัดรอนเราอยู่เรื่อย ถ้าพวกฆราวาสยังพอทำเนา มันย่อมเป็นไปตามธรรมดา แต่ยังมีพวกหัวโล้นห่มเหลืองด้วยกันอีกนี่ซิ มันแย่! แต่ก็ไม่เห็นกล้าเอาจริง มันไม่กล้าทำตูมตามก็เพราะมันมียศมีลาภผูกคอ ถ้าทำพลาดมันก็แย่เหมือนกัน

มีโยมมาเล่าให้เราฟังว่า “สงสารหลวงพ่อจะถูกพวกเสือมันกิน”

ถามไปถามมาได้ความว่า “เสือเหลือง”

เลยตอบเขาไปว่า “ไม่กลัวหรอก ไอ้พวกเสือกินหมาทั้งนั้น”

พวกฆราวาสที่มุ่งร้ายเราก็มีอยู่ ๒ พวก คือ

พวกที่มุ่งร้ายพยายามให้เราเสื่อมเสียโดยประการต่างๆ

พวกหน้าไหว้หลังหลอก ลับหลังนินทาต่อหน้ายกมือไหว้

ขอให้พวกเราที่เข้ามาประพฤติด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจริงๆ โดยความมุ่งดีต่อตนเองและต่อศาสนาจงอย่าพากันประมาท

อย่างเช่นเรามีเงินมากอย่านึกว่าเป็นสุข เพราะมันมีภัยอยู่ถึง ๒ ด้าน คือ

๑. เขาอาจมาเพ่งเล็งหวังเงินเรา หวังทำลายชีวิตเรา เพื่อแย่งเงินนั้นไป

๒. มาเบียดเบียน มาขอใช้บ้าง มาขอกู้บ้าง มาขอยืมบ้าง ฯลฯ มาทำให้เรายุ่งยากไม่รู้จบสิ้น!

อย่านึกว่าเราทำดีแล้วจะปลอดภัยเสมอไป ให้ระวัง! เพราะคนมันมีหลายใจ ให้พวกเราช่วยรักษา ช่วยระวังทุกผู้ทุกคน

อย่าให้ท่านพ่อลีช่วยรักษาช่วยคุ้มครองเสียองค์เดียวแล้วเป็นพ้นภัย เพราะท่านพ่อลีก็ไม่ใช่มีแปดหูแปดตาเมื่อไร

อย่านึกเป็นอื่น ให้นึกว่าเรามาช่วยศาสนา อันเป็นของหาได้ยาก การช่วยให้ช่วยด้วยความดี ช่วยโดยธรรมะ จะปลอดภัยและเป็นความยินดียิ่งกว่าช่วยเรื่องการอยู่การกินเสียอีก

การช่วยด้วยความดีนี้ ดีทั้งตัวผู้ทำและดีด้วยกันไปหมด

ให้นึกเสมออย่างนี้ว่า..“เชื่อใจคนจนใจตัว”

..เวลาเขามากราบไหว้ อย่าได้คิดว่า “เป็นดอกบัวมาเสมอไป” ให้นึกเสียว่า “เป็นขวานมาจามหัว” เสียอีกด้วยซ้ำ

บางทีหน้ามันอย่างหนึ่ง พอหันกลับไปมันเป็นเสียอีกอย่างหนึ่งก็มี

ฉะนั้น จึงอย่าประมาท ขอให้พวกเราเป็นผู้รอบคอบระมัดระวัง จะปลอดภัย

การที่เราชอบไปตามสถานที่ต่างๆ ก็มิใช่หวังไปเที่ยวพาความเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่มุ่งไปหาวิชาพร้อมกันไปด้วยการจะได้วิชามาก็ขึ้นอยู่กับหลัก ๓ ประการ กล่าวคือ เกิดจากการเห็น การฟัง และการคิด ทั้งนี้โดยการรู้จักใช้อินทรีย์ทั้งหกได้เป็นประโยชน์

เมื่อเราไปพบลัทธิธรรมเนียมของเขานั้นต่ำกว่าเรา เราก็ให้ประโยชน์แก่เขาบ้างโดยการเทศนาอบรมให้เขาเดินทางถูกเสียใหม่

แต่เมื่อไปพบคนใดสิ่งใด ที่เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู และเชื่อด้วยใจแล้ว เห็นว่าของเขาหรือของเราดีจริง ก็จำเอาสิ่งที่ดีๆ นั้นมาใช้ต่อไป

การอันใดจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและแก่ตัวแล้วให้ทำไปแต่อย่าประมาท ของดีบางทีก็เป็นภัย

เรามีตาแล้วต้องรู้จักใช้ตา ลืมไม่หลับ หลับไม่ลืมก็แย่!

ให้รู้จักการปิดเปิด

การอันใดควรทำโง่ ควรทำฉลาด ให้รู้จักปรับปรุงให้เหมาะ อย่าให้ผิดกาลเทศะ


เมื่อใจมุ่งจะทำประโยชน์แก่พระศาสนาแล้ว เราก็ทำความดีมันเรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่ำหรือสูงจะอยู่จะไปก็คิดนึกแต่ประโยชน์เสมอ แต่เรื่องมารยาท คือ การทำความดี ให้แก่คนต่ำคนสูงนั้น ต้องแล้วแต่เหตุการณ์ เราคิดว่าศาสนามิใช่เป็นของบ้าน ของวัด หรือของเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ศาสนาเป็นสิ่งที่ต่อประโยชน์ได้ทั่วกันไปหมด คือเป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของโลก เมื่อมีการขยายหรือเผยแพร่ความดีของพระศาสนาออกไปได้ไกลเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้นฯ

เรามุ่งดี คือปฏิบัติมาอย่างนี้ก็ยังไม่วายถูกเขาติ ที่เขาติก็เพราะเขาคงจะไม่รู้เรื่อง

เราได้พูดสนทนากับพระยา.....มา แต่เราก็ไม่กล้าไปรุนแรงกับเขานัก การติของเขาโดยสรุปก็คือเขาว่า.....

“ท่านอาจารย์มัวไปยุ่งกับพวกญาติโยมมากเหลือเกิน แล้วการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จะทำได้อย่างไร?”

เราถามเขาว่า “แล้วจะให้ทำยังไง”

เขาตอบว่า “สอนคนให้ไปนิพพานซิ! อย่าไปยุ่งกับคนมากนัก”

เลยบอกเขาว่า “อาตมาก็ชอบสอนคนให้ไปนิพพาน แต่มันยาก ชอบนะชอบ แต่อาตมาไม่เอา ถ้าเราเอาอย่างว่า เรามันจะบ้า เหมือนท่านเจ้าพระยา..ไปปลูกข้าว เมื่อมันได้ที่สุกเหลืองดีแล้วจะไปเก็บเกี่ยวเอาแต่ข้าวสารมาอย่างเดียวได้ไหม? ไม่ต้องเอาอย่างอื่น?

อาตมาเอาทุกอย่าง ใครจะว่าบ้าช่างมัน หอบมันมาทั้งต้นเลย เพราะประโยชน์มันมีหลาย ได้ฟางก็เอามาไว้ให้ควายกินหรือขายหรือเอาไปทำเชื้อเพลิงก็ยังได้ ได้แกลบได้รำก็เอาไว้ให้หมูกิน!

แกเลยรับว่า “จริง! จริง!” แล้วเงียบไป

คนเรานั้นมีหลายอย่าง บางคนเหมือนหมู บางคนเหมือนไก่ บางคนเหมือนควาย และบางคนก็เหมือนคน

ผู้ใดเหมือนคนเราจึงจะให้กินข้าว

แม้แต่คนนั้นก็ยังมีหลายจำพวก

บางคนกินข้าวอย่างหนึ่ง บางคนกินข้าวอีกอย่างหนึ่ง

และบางคนก็กินข้าวแดงเลย!”

ต้องขออภัยท่านผู้อ่านจากเรื่องพระเจ้าอโศกฯ แล้วก็เตลิดไปใหญ่ไปน้อย ธรรมะมันพาไป เหมือนชื่อเรื่องที่ว่านั้นแหละ “ธรรมะทะลุโลก”

เรด้าร์แห่งธรรมหมุนไปทุกหนแห่งที่กิเลสมันยั้วเยี้ยๆ

ใช้ก้านและแกนแห่งกรรมอันแหลมคมก่นหัวกิเลสให้ขาดร่องแร่ง ต่องแต่ง

เขียนเรื่องท่านพ่อลีเท่าไหร่ไม่อิ่มไม่เบื่อ

ท่านเป็นผู้มีปัญญามีเรื่องราวชวนให้ติดตาม เป็นคำสอนที่ดี

เป็นบุคคลที่สร้างปริศนาชีวิตให้คนได้ค้นคิด

ท่านเป็นผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งในเรื่องความดี

มีอีกหลายเรื่องที่คนอื่นไม่รู้ อยากนำมาตีแผ่ เสียดายที่หน้ากระดาษเล่มนี้น้อยไปหน่อย

ถ้ากระแสตอบรับดีไม่แน่บางทีอาจจะมีเล่มต่อไป
แต่หากไร้คนสนใจ!
ก็จะถือว่าของดีมีเอาไว้เก็บใส่ตู้รักษา
..กราบบูชาทุกคืนวันฯ


รูปภาพ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
เจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดอโศการาม
ผู้ดำริสร้างพระรูปพระเจ้าอโศกมหาราชที่วัดอโศการาม


รูปภาพ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่

รูปภาพ
พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ)
เจ้าอาวาสวัดอโศการาม ลำดับที่ ๓
เมตตาเล่าเรื่องท่านพ่อลีแก่ทีมงาน
เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙


รูปภาพ
พระพุทธิสารเถร (พระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน)
เมตตาเล่าเรื่องท่านพ่อลีแก่ทีมงาน
เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙

+++++++

:b50: :b50: ถูปารหบุคคล
บุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์ไว้บูชา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001

:b50: :b50: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ซึ่งการสังคายนาครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๕ ณ วัดอโศการาม
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

:b50: :b50: พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
: สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2020, 19:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


อดีตชาติของ “ท่านพ่อลี” วัดอโศการาม คือ “พระเจ้าอโศกมหาราช”
:b8: :b8: :b8: จากประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ รวบรวมโดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน
+++++++

พ.ศ. ๒๔๙๙ อายุ ๔๖ ปี พรรษาที่ ๑๗
หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ ที่ถ้ำพระสบาย


ที่ถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม ขณะมีสมณศักดิ์เป็น พระครูสุทธิธัมมาจารย์ ได้นำคณะญาติโยมจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในถ้ำพระสบาย โดยมีเจ้าแม่สุข ณ ลำปาง แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ แม่เหรียญ กิ่งเทียน เป็นเจ้าศรัทธาใหญ่ตามคำปรารภของท่านพ่อลี ให้จัดสร้างและทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และด้วยจิตอธิฐานของท่านพ่อลีได้เกิดต้นโพธิ์ขึ้นเอง ๓ ต้นบริเวณหน้าถ้ำพระสบาย เมื่อสร้างเจดีย์เสร็จ ท่านพ่อลีได้นิมนต์หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ หลวงปู่แว่น ธนปาโล พระอาจารย์น้อย สุภโร ไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยต่างองค์ก็ต่างสวดบทมนต์ตามถนัดตั้งแต่หัวค่ำจนถึงตี ๔ จึงจบเสร็จพิธี

เป็นพิธีที่แปลก แต่ละองค์จะมีพานไว้ข้างหน้าเพื่อเสี่ยงทายบารมี และจะนั่งอยู่องค์ละทิศของเจดีย์ หลวงปู่แว่น ธนปาโล นั่งอยู่หน้าถ้ำ จึงอธิษฐานว่าถ้าพระธาตุเสด็จมาในพานของใครมากน้อยก็แสดงว่าผู้นั้นได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากน้อยตามปริมาณที่พระธาตุเสด็จมา

แต่ละองค์ก็สวดบทมนต์ที่ตนถนัดหรือจำมาได้ ตลอดเวลารวมทั้งสวดปาฏิโมกข์ เมื่อสวดถึงประมาณตี ๔ ปรากฏว่าเสียงตกกราวลงมาคล้ายกระจกแตก จึงให้สัญญาณหยุดสวดเจริญพระพุทธมนต์ แล้วจึงได้ตรวจดูในพานของแต่ละองค์ที่วางอยู่หน้าที่นั่ง ปรากฏว่าในพานของท่านพ่อลีมีพระธาตุมากที่สุด รองลงมาก็เป็นของหลวงปู่จาม ต่อมาก็พระอาจารย์น้อย, หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แว่น ตามลำดับ


ในมติคณะสงฆ์ตอนนั้นได้มอบหมายให้หลวงปู่ตื้อเป็นผู้วินิจฉัยถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะทุกองค์ยอมรับในความสามารถเข้าฌาณของหลวงปู่ตื้อ ว่ามีญาณทัศนะเป็นที่แน่นอน เมื่อหลวงปู่ตื้อเข้าสมาธิ เล็งญาณดูในอดีต จึงแจ้งให้คณะสงฆ์ทราบร่วมกันว่า

ท่านพ่อลี เป็นพระเจ้าอโศกมหาราช

หลวงปู่จาม เป็นกษัตริย์ชื่อ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ของประเทศศรีลังกา

พระอาจารย์น้อย เป็นเสนาอำมาตย์ของกษัตริย์ศรีลังกาองค์นั้น (พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ)

หลวงปู่ตื้อ เป็นโจรมีเมตตาคนจน ตั้งปางโจรอยู่แถวถ้ำพระสบาย ปล้นคนรวยเอาไปช่วยคนจน

หลวงปู่แว่น เป็นเจ้าเมืองลำปางในอดีต จึงมีความผูกพันกับ จ.ลำปาง มาก


ช่วงนั้นท่านพ่อลีได้บอกหลวงปู่จามอีกว่า “ได้พบสาวกของท่านองค์หนึ่งเป็นเจ้าแห่งผีที่ผานกเค้า (จ.เลย) อย่าลืมไปโปรดเขาด้วย” ต่อมาท่านพ่อลีได้ชวนหลวงปู่จามลงไปกรุงเทพฯ เพื่อไปสร้างวัดที่นาแม่ขาว ที่สมุทรปราการ (วัดอโศการาม ในปัจจุบัน) แต่หลวงปู่จามออกอุบายอ้างว่าชอบที่จะหาสถานที่วิเวกต่อไป

หลวงปู่จามเล่าว่า ชอบที่จะไปภาวนาที่ถ้ำเชียงดาว ถ้ำปากเปียง ถ้ำจันทร์ ถ้ำพระสบาย และถ้ำอื่นๆ ในเขตเชียงใหม่ ซึ่งล้วนเป็นสถานที่สัปปายะ


รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร (พระเจ้าอโศกมหาราช)

รูปภาพ
หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ
(พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งศรีลังกา
ร่วมยุคสมัยกับพระเจ้าอโศกมหาราช)


รูปภาพ
พระอาจารย์น้อย สุภโร
(เสนาอำมาตย์ของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ)

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
(โจรมีเมตตาคนจน ตั้งปางโจรอยู่แถวถ้ำพระสบาย)

รูปภาพ
หลวงปู่แว่น ธนปาโล (เจ้าเมืองลำปาง)
+++++++

:b50: :b50: เทวานัมปิยติสสะ อทิฏฐสหายของพระเจ้าอโศก
: ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58086

:b50: :b50: พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงธรรม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50365

:b50: :b50: วัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47439


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2021, 12:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2023, 10:33 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2023, 14:13 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร