วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 19:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2009, 21:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3835

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

คัดมาบางส่วนจากหนังสือ “ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ”
โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี)


ปล. ผู้โพสต์ได้จัดหน้าใหม่ บรรดาตัวเน้นเส้นใต้ทั้งหลาย
ล้วนเป้นฝีมื่อผู้โพสต์ดัดแปลงเพื่อให้อ่านง่าย และเน้นสิ่งสำคัญ
หากต้องการต้นฉบับ PDF ซึ่งถูกออกแบบมาให้
พร้อมพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ ก็ขอเชิญที่นี้
http://www.hinmarkpeng.org/dhamma01.html

-------------------------------------------------------------

อนึ่ง เรื่องการทำบุญใช้หนี้เจ้ากรรมนายเวร
เรื่องนี้ผู้เขียนไม่รู้จริงๆ จึงตอบไม่ได้ ขอผู้รู้ทั้งหลายได้
เมตตาแนะแนวให้ผู้เขียนได้ทราบบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง


กรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว
ผลของกรรมนั้นย่อมเกิดที่ใจของตนเอง


มิิใช่ผู้ทำกรรมผู้หนึ่ง เจ้ากรรมนายเวรอีกผู้หนึ่ง
คล้ายๆ กับว่ามีเจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้บัญชาการอยู่

ทำบุญอุทิศกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรผู้บัญชาการเพื่อให้เป็นสินน้ำใจ
แล้วเจ้ากรรมนายเวรก็จะลดหย่อนผ่อนผันให้อย่างนี้เป็นต้น

หรือกรรมเวรที่เราทำแก่คนอื่นนั้น
คนนั้นเองเป็นเจ้ากรรมนายเวรเราเห็นโทษความผิดแล้วทำบุญอุทิศไปให้แก่
เขาเพื่อเขาจะลดโทษผ่อนผันให้ อันนี้ก็ไม่ถูก
เพราะเขาตายไปแล้ว ไม่ทราบไปเกิดในที่ใด และกำเนิดภูมิใด
ดังได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น

คนที่ทำกรรมทำเวรแก่กันแล้วเมื่อยังเป็นคนอยู่นี้
จะพ้นจากกรรมจากเวรได้ก็เมื่ออโหสิกรรมให้แก่กันและกัน
ในเมื่อยังเป็นคนอยู่นี่แหละ
ตายไปแล้วจะอโหสิกรรมให้แก่กันและกันไม่ได้เด็ดขาด


มิใช่ว่าเราได้ทำกรรมชั่วทุจริตด้วยจิตที่เป็นบาปมีอกุศลมูลเป็นพื้น
มาภายหลัง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือเท่าไรก็ตาม
ระลึกถึงกรรมอันนั้นแล้วกลัวบาป
จึงทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ที่เราได้กระทำแก่เขานั้นเพื่อให้เขาอโหสิกรรมให้
ดังนี้เป็นการไม่ยุติธรรม เป็นการตัดสินคดีภายหลังจากเหตุการณ์

ถ้าถือว่าเราระลึกถึงความชั่วของตนแล้ว
ทำความดีเพื่อแก้ตัวหรือปลอบใจของตัวเอง เป็นการสมควรแท้


การทำบุญให้แก่ผู้ตายไปแล้วจะได้หรือไม่
มีอรรถาธิบายกว้างขวางมาก อธิบายมาก็มากพอสมควร
พอที่ผู้ฟังจะเข้าใจบ้างตามสมควร
จึงขอยุติไว้เพียงแค่นี้เสียก่อนเพื่อจะได้ตอบปัญหาคนอื่นต่อไป

-------------------------------------------------------------

เรื่องกรรมนี้
บุคคลที่ทำลงแล้วไม่ว่าดีและชั่ว จะทำอย่างไรๆ
แม้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตาม
เมื่อยังมีวิบากอันนี้เหลืออยู่ ได้โอกาสเมื่อไรย่อมตามขยี้เอาจนได้
ดังพระโมคคัลลานะ เป็นตัวอย่าง

เมื่อนานมาแล้วในอดีต พระโมคคัลลานะท่านเกิดเป็นบุรุษลูกคนเดียว
เลี้ยงบิดามารดาตาบอด โดยความเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องนุ่งห่ม
ตลอดถึงอาบน้ำนวดเท้า ไม่ให้บิดามารดาอุทธรณ์ร้อนใจ ตามปฏิบัติทุกเช้าเย็น

มารดาเห็นเช่นนั้นด้วยสัญชาตญาณก็เกิดสงสารบุตร
จึงเรียกบุตรมาบอกว่า ลูกเอ๋ยลูกคนเดียว ปฏิบัติบิดามารดาเป็นการลำบากมาก
ไหนจะต้องวิ่งเข้าครัวออกครัว ไหนจะต้องวิ่งทำมาหากินภายนอกบ้าน
แล้วจะต้องปฏิบัติคนพิการทั้งตายายอีกด้วย
อย่ากระนั้นเลย แม่จะไปหาภรรยามาให้เพื่อจะได้ช่วยแบ่งเบากัน

ลูกชายคนดีก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ลูกคนเดียวสามารถจะทำได้ทุกอย่าง
ได้ภรรยามาแล้วไม่ทราบว่าเขาจะพอใจปฏิบัติหรือไม่
ถ้าเขาพอใจปฏิบัติก็ดีไป ถ้าเขาไม่พอใจปฏิบัติก็จะทำให้ยุ่งไปเปล่าๆ

มาภายหลังมารดาก็พูดเช่นนั้นอีก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง
ลูกชายก็คัดค้านเช่นเคย

ทีหลังมารดาไม่ได้พูดอีกแล้ว
ขอเอาหญิงในตระกูลที่เห็นว่าสมควรมาให้ลูกชายมาเป็นภรรยา
เมื่อภรรยามาอยู่ทีแรกก็ดีอยู่ น้ำท่า ฟืนไฟ
และปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวแทนผัวได้

อยู่มาหน่อยมันไม่ใช่บิดามารดาของตนเอง
เราปฏิบัติแต่ผัวของเราก็แย่อยู่แล้ว
ธุระอะไรจะมาปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวอีกเล่า
คิดแล้วก็อดกลั้นไว้แต่ในใจไม่กล้าพูดให้ผัวฟัง

เมื่อผัวออกไปทำงานนอกบ้านก็ไม่เอาใจใส่ปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัว
เวลาผัวกลับมาจากทำงานก็แกล้งกุลีกุจอปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวดี

อยู่มาวันหนึ่งทำเป็นหน้าเศร้าข้าวก็ไม่กิน
ผัวจึงเข้าไปถามเรื่องอะไร
ทำเป็นอิดๆ ออดๆ ตามภาษามารยาของหญิงชั่ว
แล้วร้องไห้โฮออกมาว่า
จะเรื่องอะไรก็พ่อแม่ของคุณนั่นแหละ ทำอะไรไม่ถูกใจสักอย่างเดียว
ฉันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนี้เห็นจะอยู่ไม่ได้แน่

สามีบอกว่า พ่อแม่ของฉัน
เธออยู่ไม่ได้จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอก็ตามใจ
แต่ฉันจะต้องปฏิบัติพ่อแม่ของฉัน แล้วเรื่องนั้นก็ระงับไป

อยู่มาทีหลังเธอก็พูดอย่างนี้อีก สามีก็พูดอย่างเก่า

เสาอินทขีลฝังลึกถึง ๘ ศอก
หากมีคนผลักบ่อยๆ หนักเข้ามันก็คลอนเป็นเหมือนกัน
นับประสาอะไรใจผู้ชายถูกเมียกระตุกบ่อยเข้าจะไม่หวั่นไหวได้หรือ

มาวันหนึ่งจึงเข้าไปพูดกับบิดามารดาว่าฉันจะพาไปเยี่ยมญาติที่บ้านโน้น
แล้วเอามารดาบิดาขึ้นเกวียนขับไปพอถึงกลางดงแห่งหนึ่ง
จึงบอกมารดาบิดาว่า ที่แห่งนี้มีโจรชุกชุมมากขอให้ระวังตัวหน่อย

ว่าแล้วก็แกล้งว่ามีธุระ หยุดเกวียนแล้วก็ลงจากเกวียนไป

ประเดี๋ยวเดียวก็ร้องตะโกนมาว่า เหวยๆ ใครมานั่นเอาให้ตาย ใครมาอะไรนั่น
ส่วนมารดาบิดาด้วยรักบุตรสุดกำลังจึงเรียกบอกว่า
พ่อหนูจงหนีให้พ้นจากมือโจร มารดาบิดาจะตายก็ช่างเถิด
หาได้รู้ว่าเป็นโจรบุตรของตนไม่

พอมาถึงก็ทุบเอา ๒ ตายายจนดับในที่นั้น

ลูกทรพีพอดับสิ้นชีพไปแล้วก็ไปเกิดในทุคติและถูกเขาฆ่าเป็นเอนกชาติ
(แต่มิใช่บิดามารดาตามไปฆ่ากรรมหากบันดาลให้เขาฆ่าเอง)

มาในชาติสุดท้ายได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
ไปจำพรรษาอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ กรรมเก่าตามทัน
ทำให้โจรมาล้อมปองทำร้ายอยู่นานถึง ๔ เดือน มาทีไรท่านเหาะหนีทุกที
ทีหลังท่านมาพิจารณาดูก็รู้ว่า อ้อ กรรมเก่า ท่านได้กระทำไว้
จึงปล่อยให้โจรทุบเอาจนนิพพาน อันนี้เรียกว่ากรรม

ส่วนเวรนั้น
สับเปลี่ยนทำร้ายล้างผลาญซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องก่อน แต่เรื่องนี้มีแต่มารดา

เมื่อมารดาหาภรรยามาให้แล้วไม่มีบุตร ทีหลังภรรยาหลวงไปหาภรรยาน้อยมาให้สามีเอง
เมื่อภรรยาน้อยมีบุตรก็กลัวเขาจะใหญ่กว่าตน จึงแกล้งไปทำดีด้วย
ให้อาหารและรักษาครรภ์ ในผลที่สุดทำยาแท้งลูกให้กินเสีย ทำอยู่อย่างนี้ถึง ๒-๓ ครั้ง

ครั้งสุดท้ายนี้แม่ของเด็กเลยตายไปด้วย
ก่อนจะตายจึงรู้ว่าภรรยาหลวงทำให้ตาย
จึงปรารถนาว่าขอให้กูได้ฆ่าลูกมึงถึง ๒ ครั้ง
ครั้งที่ ๓ ขอให้กูได้ฆ่ามึงพร้อมทั้งลูกด้วย
เมื่อสามีรู้เรื่องนั้นเข้าจึงโกรธภรรยาหลวง ทุบด้วยศอกตอกด้วยเข่าเอาจนตาย

ตายไปแล้วเกิดเป็นแม่ไก่ ภรรยาน้อยไปเกิดเป็นแมว

ไก่ไข่มา แมวก็เอาไปกินเสียถึง ๒ ครั้ง
ครั้งที่ ๓ ขม้ำแม่ไก่เอาไปกินด้วย

แม่ไก่ตายไปเกิดเป็นเสือเหลือง แมวตายไปเกิดเป็นนางเนื้อ
นางเนื้อเกิดลูกมาเสือเหลืองก็เอาไปกินหมด
ครั้งที่ ๓ ขม้ำแม่เนื้อเอาไปกินด้วย

นางเนื้อตายไปเกิดเป็นนางยักขินี เสือเหลืองตายไปเกิดเป็นนางกุลธิดา
เมื่อนางกุลธิดาคลอดบุตรมานางยักขินีทำเป็นเหมือนสหาย
แล้วอุ้มลูกของนางกุลธิดาชมไปชมมาก็ฉีกกินลูกนั้นเสีย ครั้งที่ ๒ ก็ทำเช่นนั้นอีก

ครั้งที่ ๓ นางกุลธิดาเข็ด
พอคลอดแล้วก็อุ้มลูกพาสามีหนีไปสู่ตระกูลของตน
พอไปถึงกลางทาง นางอุ้มลูกให้สามีแล้วลงอาบน้ำอยู่ก็เห็นนางยักขินีวิ่งติดตามมา
พอนางเห็นก็วิ่งเข้าไปในวัดเชตวันหวังที่พึ่งพระพุทธเจ้า แล้วบอกว่า ขอพระองค์โปรด
ช่วยลูกของข้าพระองค์ด้วย นางยักขินีมันจะกินเอา

นางยักขินีวิ่งไปถึงประตูวัดพระอานนท์ไม่ให้เข้าไป
พระพุทธองค์บอกว่า ให้เข้ามาเถิด
เมื่อเข้าไปถึงแล้วพระพุทธองค์เทศนาเรื่องเวรก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุด
ดีที่เธอได้มาพบเราตถาคตในวันนี้
ถ้าหาไม่แล้วก็จะก่อเวรแก่กันและกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อจบเทศนาแล้วต่างมีความเบิกบานชื่นใจให้อภัยซึ่งกันและกัน
พระองค์จึงทำให้ทั้งสองเป็นสหายกัน แล้วนำไปเลี้ยงดูกันต่อไป

ทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เวรนั้นถ้าอยู่พร้อมหน้ากัน
ก็สามารถอภัยให้ซึ่งกันและกันได้ ในบางกรณีเช่น เรื่องนางยักขินี นี้เป็นต้น

ส่วนกรรมนั้นใช้กันเป็นเอนกชาติกันทีเดียว
กรรมมิใช่คู่กรรมด้วยกันจะมาสนองกรรมอยู่เรื่อยไป
แต่กรรมที่ตนกระทำไว้มันบันดาลให้เป็นไปเอง

เจ้ากรรมนายเวรก็คือ
ตัวของเราเองนั่นแหละ
เราได้กระทำไว้แล้วด้วยความตั้งใจ
มิใช่มีคนอื่นมาบังคับให้กระทำหรือคนอื่นมายกให้

จิตที่ตั้งเจตนาไว้แล้วว่า
จะทำกรรมนั้นๆ ไม่ว่าดีหรือชั่วนั่นแหละเป็นตัวกรรม
ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็จิตของผู้นั้นได้เสวย
คนอื่นจะเสวยแทนไม่ได้



---------------------------จบพระธรรมเทศนา---------------------------


เจ้ากรรมนายเวรข้ามภพข้ามชาติแบบในหนังไม่มีนะครับท่าน
พิสูจน์แบบง่ายๆ เบื้องต้นก็ได้

คือถามตัวเองว่า ตัวคุณเองน่ะ เป้นเจ้ากรรมนายเวรใคร?
นึกไม่ออก?...

ถ้างั้นก็แสดงว่าชาติที่ผ่านมาคุณคงไม่เคยทำกรรมทำเวรสักนิด?
เลยไม่ได้มีโอกาสเป็นเจ้ากรรมของใคร ไม่ได้เป็นนายเวรของใคร?

...เป็นไปไม่ได้หรอกครับ...ที่ว่าคุณจะไม่เคยทำกรรมทำเวรอะไรมา
คนหมดกรรมหมดเวรมีพวกเดียวคือพระอรหันต์ หมดกรรมหมดเวรแล้วเขาไม่มาเกิดอีกแล้ว

พระไตรปิฏกทั้งเล่มก็ไม่มีเรื่องเจ้ากรรมนายเวรประเภทมาตามล้างจองผลาญบงการชีวิตเรา
พระอรหันต์อย่างหลวงปู่เทสก์ ก็อุตส่าห์มาโปรดให้ว่าไม่มีเจ้ากรรมนายเวร
ก็ไม่เชื่อกันนะ กลับไปเชื่อคนที่ไหนก็ไม่รู้ว่ามีเจ้ากรรมนายเวร

เจ้ากรรมนายเวรประเภทเป้็นตัวเป็นตนมาแกล้งมาชี้นิ้วมาขัดลาภอะไรนี้ไม่มีนะครับ

เจ้าของกรรมคือจิต
นายของเวรคือจิต
จิตเรานี่แหละ

ชั่วขณะปัจจุบันนี้คิด ชั่วขณะต่อไปก็ย่อมมีความสุข
จิตทำเหตุของความสุขให้เกิด คือคิดดี
ก็จิตอีกนั่นแหละ ที่รับผลของการคิดดี

---------------------------

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2015, 00:14 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b20:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2015, 11:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4A ขออนุโมทนาสาธุค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร