ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ปาณาติบาตจะเข้าถึงกรรมบถหรือไม่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=47839
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 มิ.ย. 2014, 06:04 ]
หัวข้อกระทู้:  ปาณาติบาตจะเข้าถึงกรรมบถหรือไม่

การทำอกุศลต่างๆ นั้นที่เข้าถึงกรรมบถก็มี ไม่ล่วงกรรมบถก็มี
แต่ถ้าล่วงกรรมบถแล้ว การกระทำนั้นสำเร็จเป็นชนกกรรม (นำเกิด)
สามารถนำไปเกิดในอบายภูมิได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ล่วงถึงกรรมบถ
การให้ปฏิสนธิในอบายภูมิก็ไม่เป็นการแน่นอน เพียงให้ผลในปวัตติกาล คือ
ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้นต้องประสบกับความลำบากต่างๆ

การกระทำที่จะก้าวล่วงกรรมบถหรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่องค์ประกอบ คือ ปโยคะ
ในการกระทำนั้น อกุศลปาณาติบาต ที่จะก้าวล่วงกรรมบถนั้น
ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ

๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่า
๔. ทำความเพียรเพื่อให้ตาย
๕. สัตว์ตายลง เพราะความเพียรนั้น

คือ เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันก้าวล่วงกรรมบถ
แต่ถ้าไม่ครบองค์ 5 ประการนี้แล้ว ก็ไม่ชื่อว่า สำเร็จกรรมบถ

ปาณาติบาตนั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. สัตว์ใหญ่
๒. สัตว์นั้นมีคุณ
๓. ความพยายามของผู้ฆ่ามีมาก
๔. กิเลสของผู้ฆ่ารุนแรง

ปาณาติบาตที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของปาณาติบาต
โทษของปาณาติบาต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ในทุจริตวิปากสูตร
อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต อันบุคคลส้องเสพ (ทำ)
เจริญ (ทำด้วยวิธีการต่างๆ) ทำให้มาก (ทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำ)
ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต
ผลร้ายแห่งปาณาติบาต อย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้มีอายุสั้นแก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

ไฟล์แนป:
1450177_10200516660670714_540836734_n.jpg
1450177_10200516660670714_540836734_n.jpg [ 51.64 KiB | เปิดดู 2144 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 มิ.ย. 2014, 06:43 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปาณาติบาตจะเข้ากรรมบถหรือไม่

เรื่องเล่า โทษของปาณาติบาต

โทษของปาณาติบาต

เล่ากันมาว่า ในครั้งพุทธกาล ในพระนครสาวัตถี มีชายคนหนึ่งชื่อ นันทะ มีอาชีพฆ่าโคเอาเนื้อขายเลี้ยงชีพ ตลอด ๕๕ ปีที่เขาทำอาชีพนี้ ไม่เคยบริจาคทานและรักษาศีลเลย ถ้าขาดเนื้อจะไม่ยอมรับประทานอาหารเลย

วันหนึ่ง ในเวลาเย็น เขามอบเนื้อให้ภรรยาเพื่อทำกับข้าว เสร็จแล้วไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ บังเอิญเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีแขกมาที่บ้าน ไม่มีกับข้าวต้อนรับ จึงไปยังบ้านนายนันทะ พบภรรยาของเขา จึงได้ขอซื้อเนื้อ แต่ไม่มีเนื้อสำหรับขาย มีแต่เนื้อที่เตรียมไว้สำหรับทำกับข้าวตอนเย็น ภรรยาของนายนันทะ จึงไม่ขายให้ เพราะทราบดีว่า ถ้าขาดเนื้อแล้ว สามีจะไม่ยอมรับประทานอาหาร แต่ชายผู้นั้นก็ไม่ฟังเสียง ได้ฉวยหยิบเอาเนื้อนั้นไป

นายนันทะกลับมาจากท่าน้ำ ภรรยาได้ยกอาหารที่ปราศจากเนื้อมาให้ ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง เขาไม่ยอมรับประทานอาหาร ฉวยมีดอันคมกริบ เดินเข้าไปหาโคตัวหนึ่ง สอดมือเข้าไปในปาก ดึงลิ้นออกมาแล้ว ใช้มีดเชือดจนขาด นำมาให้ภรรยาทำกับข้าว โคตัวนั้นสิ้นใจตายด้วยความเจ็บปวดทรมาน

เมื่อกับข้าวเสร็จแล้ว นายนันทะจึงรับประทานอาหาร ทันทีที่เขาใส่ชิ้นเนื้อนั้นเข้าไปในปาก ลิ้นของเขาได้ขาดตกลงไปในชามข้าว ได้รับผลกรรมทันตาเห็น เพราะการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจอันเหี้ยมโหด เลือดไหลออกจากปาก ร้องครวญครางเสียงเหมือนโค ตายแล้วไปตกนรกอเวจี ฯ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 มิ.ย. 2014, 06:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปาณาติบาตจะเข้าถึงกรรมบถหรือไม่

ปาณาติบาต

คำว่า ปาณะ ในคำว่า ปาณาติบาต โดยสมมติสัจจะ ได้แก่ สัตว์ โดยปรมัตถสัจจะ
ได้แก่ ชีวิตินทรีย์ ๒ อย่าง คือ รูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการทำให้รูปมีชีวิตอยู่ได้
และอรูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการทำให้นามธรรม
ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีชีวิตอยู่ได้
ชีวิตินทรีย์ทั้งสองนี้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน
เมื่ออย่างหนึ่งถูกทำลาย อีกอย่างหนึ่งก็ถูกทำลายไปด้วย

เจตนาฆ่าของบุคคลผู้รู้อยู่ว่า สัตว์นั้นมีชีวิต อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา
เป็นเหตุให้เกิดความพยายามในการเข้าไปตัดอินทรีย์คือชีวิตทั้ง ๒ นั้น
ชื่อว่า ปาณาติบาต

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 14 มิ.ย. 2014, 06:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ปาณาติบาตจะเข้าถึงกรรมบถหรือไม่

ปาณาติบาติ อาศัยตัดสินโดยปโยคะ คือ
ในขณะที่ฆ่านั้น ได้ใช้ความเพียรพยายาม มากหรือน้อย
ถ้าใช้ความพยายามมากก็มีโทษมาก ถ้าใช้ความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย

อนึ่งผู้กระทำปาณาติบาตโดยรู้ว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นอกุศลกรรมมีโทษ
ไม่ควรทำ แต่ก็ได้กระทำลงไป ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม ย่อมมีโทษน้อยกว่า
ผู้กระทำโดยที่ไม่รู้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นอกุศลที่มีโทษไม่ควรทำ
ซึ่งเป็นผู้ประกอบมิจฉาทิฎฐิอย่างแรงกล้า ฉะนั้นต้องรับโทษมากเป็นมหาวัชชะ

อุปมาเหมือนช่างตีเหล็กเมื่อเผาเหล็กจนแดงจัด แล้วเอาออกมาวางไว้
ช่างตีเหล็กย่อมรู้ดีว่าก้อนเหล็กนั้นร้อน ฉะนั้นในเมื่อจำเป็นจะต้องหยิบเหล็กที่ร้อนนั้น
ก็ย่อมรู้ประมาณในความร้อนนั้น ก็จะไม่จับหมั่นหมายอย่างเต็มที่มั่นคงคือจับแบบ
รีบจับและรีบปล่อยให้ไวๆ ก็จะรู้ว่าร้อนได้เพียงนิดหน่อย

และถ้าหากจะเปรียบเทียบกับเด็กหรือผู้ที่ไม่รู้ว่าเหล็กนั้นร้อน
ย่อมจับเหล็กร้อนนั้นอย่างเต็มที่จนทำให้มือต้องได้รับความร้อนอย่างเต็มที่
จนถึงทำให้เกิดไหม้เกรียมไป ข้อนี้ฉันใดผู้ที่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอกุศล
กับผู้ที่ไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอกุศล โทษของคนทั้งสองที่พึงจะได้รับจึงแตกต่างกัน

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/