วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2020, 18:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: อำนาจแห่งบุญกุศล

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


รูปภาพ

การนึกถึงประโยชน์ของตนโดยเฉพาะ ไม่ได้เกี่ยวกับผู้อื่นแต่ละคนนะ ก็ให้นึกเป็นอย่างนั้น ถ้าเรามีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ดังนั้นก็ให้นึกว่าเราจะสะสมบุญกุศล ความรู้ ความสละ ใส่ตนของตนให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ เวลานี้เรายังบกพร่องอยู่ก็ให้คิดกันอย่างนี้ ถ้าไม่คิดอย่างนี้แล้วก็จะไม่ตั้งใจ ก็จะสำคัญว่าตนนั้นรู้แล้ว พอแล้ว ท่านพูดไปอย่างไร ตนก็เห็นไปตามทุกอย่าง ไม่เห็นแปลกอะไร ตนก็รู้ตามไปหมด บางคนเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฟังธรรม ฟังไป ท่านพูดไป แสดงไปนี้

มีภิกษุรูปหนึ่งไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็สอนธรรมให้ ไปหาอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ก็สอนวินัยให้ เลยมานึกว่า โอ้! ในพุทธศาสนานี้มันหยุมหยิมเหลือเกิน แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย มีแต่ข้อห้าม อุปัชฌาย์อาจารย์รู้ว่าภิกษุรูปนี้มีนิสัยคับแคบ ไม่สามารถที่จะทรงธรรม ทรงวินัยอันกว้างขวางไว้ได้ จึงพาไปเฝ้าพระศาสดา ไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงใช้อุบายตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า

“ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจะปฏิบัติธรรมอันหนึ่งอย่างหนึ่งได้ไหม”

“ถ้าหากว่าปฏิบัติแต่ธรรมอย่างหนึ่งเท่านี้ ข้าพระองค์ปฏิบัติได้ แต่ก็ไม่ทราบว่า หมายเอาอะไร ธรรมอย่างหนึ่งนั้นน่ะ”


พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “ก็การรักษาจิตดวงนี้ให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่นอยู่ภายในนี้น่ะ มันจะเป็นทางพ้นทุกข์ไปได้ พ้นจากมาร พ้นจากเสนามารไปได้ มารก็คือกิเลสนั่นเอง” พระพุทธเจ้าจึงตรัสภาษิตนี้ ให้ภิกษุรูปนั้นได้พิจารณาว่า

ทูรังคะมัง เอกะจะรัง อะสะรีรัง คุหาสะยัง เย จิตตัง สัญญะเมสสันติ โมกขันติ มาระพันธะนา

“ปกติของจิตนี้มีดวงเดียว แต่เที่ยวไปไกล ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อาศัย บุคคลใดจักสำรวมจิตนี้ด้วยดี บุคคลผู้นั้นย่อมจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร”

พระพุทธเจ้าตรัสภาษิตนี้จบลง พระภิกษุรูปนั้นก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล เหตุนี้แหละพระสาวกทั้งหลาย ได้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เป็นผู้เฉลียวฉลาด เหนือมนุษย์และเทวดาทั้งหลายจริงๆ จึงได้มีความเลื่อมใสเคารพนับถืออย่างจริงใจ เคารพนับถือในพระพุทธเจ้านั้นแหละ เพราะว่าเรื่องอย่างนี้ พระสาวกไม่สามารถที่จะรู้ได้ นโยบายต่างๆ แต่พระศาสดาทรงรู้ได้ ถ้าหากว่าพระภิกษุรูปนั้นน่ะ ไม่ได้พระศาสดาทรงแนะนำสั่งสอน โดยอุบายอันแยบคายอย่างนั้น พระภิกษุรูปนั้นก็จะไม่ได้มรรคได้ผลอันใด ลำพังอุปัชฌาย์อาจารย์นั้นคงไม่รู้นะ ไม่มีญาณหยั่งรู้เหมือนพระพุทธเจ้า ไม่มีญาณหยั่งรู้วาระจิต ความคิด ความนึกของผู้อื่นได้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า

ดังนั้นผู้มีบุญวาสนาบารมีใด เมื่อไปเกิดร่วมกับพระพุทธเจ้านั้นแล้ว จึงว่ามีโชคดี มีลาภดี มีวาสนา นาบุญมาก เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงเฉลียวฉลาด หาอุบายแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลาย ให้ได้รู้แจ้งในธรรมของจริง เหลือที่จะนับเหลือที่จะคณนา เรียกว่ามากมายจริงๆ เช่นนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุรูปนั้นแล้ว คำสอนพุทธภาษิตข้อนี้ก็นับว่าใช้ได้มาจนถึงบัดนี้ เพราะว่าในชีวิตของคนเรา ก็มีจิตใจดวงเดียวเท่านี้เป็นแก่นแห่งชีวิต ไม่ใช่มีอย่างอื่นเป็นแก่นของชีวิต

ดังนั้น การที่บุคคลสั่งสมบุญกุศล และประกอบคุณงามความดีอื่นใดก็ดี ก็เพื่อจิตดวงนี้ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ก็ขอให้เข้าใจกัน เพื่อให้บุญกุศลหรือคุณธรรมเหล่านั้น มาแนบแน่นอยู่ในดวงจิตดวงนี้ เมื่อจิตยึดกุศลต่างๆ นั้นแล้ว กุศลธรรมต่างๆ นั้นก็ขับไล่กิเลส อันหมักหมมอยู่ในจิตใจมานมนานออกไป

เหมือนกับยา เมื่อคนป่วยรับประทานเข้าไปแล้ว ยานั้นก็ไปขับไล่โรคภัยออกจากร่างกายของผู้ป่วยนั้นได้ ยานั้นมันก็เข้าบำรุงร่างกายของคนป่วย แทนโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น ก็ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย มีกำลังวังชาขึ้นมาได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อคนน้อมธรรมะอันเป็นฝ่ายกุศล เข้ามาสู่จิตใจนี้ให้มากเข้าไปๆ โดยลำดับแล้วอย่างนี้ กิเลสมันจะไปอยู่ได้ยังไง เพราะว่าจิตของผู้นั้นชอบใจกับบุญกับกุศล ชอบใจกับธรรมะของจริง ของไม่จริงไม่ชอบ บาปอกุศลก็ไม่ชอบ เมื่อจิตนี้ไม่ชอบแล้ว ไม่สั่งสมมันแล้ว กิเลสบาปธรรมเหล่านี้มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ มันก็ระงับไป

เมื่อกิเลสบาปธรรมเหล่านั้นระงับไป ธรรมที่เป็นกุศลก็เกิดขึ้นแทน จิตใจก็สงบสบาย เยือกเย็น มีปัญญารู้แจ้งในขันธ์ ๕ นี้ ตามเป็นจริงได้ ในเมื่ออกุศลดับไปแล้ว กุศลก็เกิดขึ้น ย่อมมีปัญญา ปัญญาย่อมเกิดจากบุญกุศลนี่เอง ไม่ใช่อย่างอื่นใด

ผู้เกิดมาในชาตินี้ หากมาฝึกฝนอบรมจิตใจเข้าไป ก็เกิดปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้นมามาก นี่คืออานิสงส์ตั้งแต่ชาติก่อน มันตามมาอำนวยผลให้ แต่ชาติก่อนผู้นั้นยินดีในการฟังภาษิตของนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นที่แสดงให้ฟัง ไม่เบื่อ ไม่หน่ายต่อการที่ได้ฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น แล้วก็ยังเรียนยังท่องยังจำอีกนั้น แลความดีที่ผู้นั้นทำไว้แต่ชาติก่อนนั้นแหละ มันเป็นอุปนิสัยติดตามมา มาถึงชาตินี้ก็ให้เกิดความชอบใจในศีลในธรรม ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ยินดีที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่เกียจคร้าน และไม่เบื่อหน่าย มีความพอใจเป็นอารมณ์อยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงมีคนหลายประเภทหลายระดับ ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์บารมีของบุคคลแต่ละคน ที่ได้อบรมสั่งสมมาแต่ชาติก่อนนู้น ผู้ใดมีอินทรีย์อ่อน ความเป็นไปแห่งการนับถือพระพุทธศาสนา มันก็เป็นไปอย่างอ่อนๆ ไม่เข้มแข็ง เราก็เห็นกันอยู่อย่างดาษดื่นนะ ผู้ใดมีอินทรีย์บารมีแก่กล้ามาแต่ชาติก่อนนู้น มาถึงปัจจุบันนี้มันก็ทำให้เกิดฉันทะ ความพอใจในการที่จะปฏิบัติธรรมนี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ท้อ ไม่ถอยในการทำข้อวัตรปฏิบัติ

หน้าที่ของตนมีอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องวัดวาศาสนา เกี่ยวกับเรื่องการบุญการกุศล เราก็ทำลงไปเต็มความสามารถอย่างนั้น หน้าที่ใคร ใครศึกษารู้หน้าที่ของตนแล้ว ตนก็ลงมือกระทำ ไม่ต้องไปเพ่งเล็งผู้อื่น คนอื่นยังไม่ทำ คนนี้ยังไม่ทำ เราจะไปโง่ทำไมล่ะ ผู้ใดคิดอย่างนี้นับว่าผู้นั้นยังไม่รู้ธรรม ธรรมะกับข้อปฏิบัตินี้ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น ผู้ใดทำผู้นั้นได้ อย่างนี้นะ พระศาสดาทรงแสดงไว้ ผู้ใดไม่ทำ ผู้นั้นก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้บุญกุศลเพราะไม่ทำ มันจะได้อย่างไรล่ะ

ผู้ไม่ได้ให้ทาน ก็ไม่ได้รับอานิสงส์ เกิดไปชาติใด ก็เป็นคนยากคนจนอยู่นั้นแหละ เพราะไม่มีผลทานที่จะไปอำนวยให้มีเงินทองข้าวของอะไรมากมาย อย่างคนอื่นที่เขาให้ทานมาตั้งแต่อดีตชาติหนหลัง นี่ตนไม่ทำมันก็ไม่ได้รับผลอันเป็นที่พอใจนั้นแล้ว ศีลก็เหมือนกัน เมื่อใครรักษาศีล ศีลก็อำนวยผลให้แก่ผู้นั้น ให้ผู้นั้นมีชีวิตอยู่ยั่งยืนนาน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เป็นคนอายุสั้น ตายก่อนอายุขัย

สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่อานิสงส์ของศีลทั้งนั้น คนไม่รักษาศีลนะ ไปเบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นมาแต่ชาติก่อนโน้น กรรมเวรนั้นมันก็ติดสอยห้อยตามมา เมื่อได้โอกาสเวลาใด มันก็สนองเมื่อนั้น ทำให้ผู้นั้นมีอายุสั้นเข้าไป เรียกว่า กรรมชั่วนั้นมาตัดรอนเอา ทั้งๆ ที่ตนไม่อยากตายเลย แต่จำเป็นต้องก้มหน้าตาย เพราะเราไม่มีอำนาจใดจะไปต่อสู้กับมัจจุราช คือความตายได้

อย่างนี้แหละ คนเราถึงได้มีชีวิตไม่สม่ำเสมอกัน บางคนก็มีอายุยืนยาวไปตลอดจนถึงอายุขัย บางคนเพียงแต่วัยหนุ่มสาว วัยกลางคนเท่านั้น ตายไปแล้วก็มี มันขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล ที่กระทำมาแต่อดีตชาติหนหลังโน้น ไม่ใช่ว่ามาทำบุญทำกุศล ทำความดีชาตินี้แล้ว บุญกุศลอันนี้จะต่อให้อายุยาวนานไปเรื่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น

ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้นจริง ใครล่ะจะไปตายจากโลกนี้ ผู้นับถือพุทธศาสนาจงลองคิดดู ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็ทำความดีเรื่อยไป บุญกุศลที่ทำขึ้นมา มันก็ต่ออายุให้ยืนไปเรื่อยอย่างนี้ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่จะตั้งอยู่ในฐานะจะเป็นไปได้ ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นอย่างนั้นได้ กฎธรรมดาไม่ได้ยกให้อย่างนั้นหรอก กฎธรรมดามีอยู่ว่าอาศัยบุญเก่ากรรมเก่าที่ตนทำมาแต่ชาติก่อน มันมาอุปถัมภ์ชีวิตนี้ให้เป็นอยู่ได้ พอหมดบุญเก่า กรรมเก่าที่ตนทำมาแต่ก่อนแล้ว แม้ว่าตนจะทำบุญกุศลมากมายอันใดในชาตินี้ มันก็ไม่สามารถจะต่ออายุไปได้ มันก็ต้องล้มหายตายจากโลกอันนี้ไป นี่กฎธรรมดานะมันเป็นอย่างนี้

ส่วนบุญใหม่นี้ปัจจุบันก็ให้ผลทางด้านจิตใจ ผู้ใดทำความดีในปัจจุบันก็ทำให้ดีอกดีใจ จิตใจเบิกบาน ผ่องใส เริ่มแต่ให้ทานนั่นแหละ แต่มันจะให้ผลทางรูปกายนี้ มันยังให้ไม่ได้ก่อน บุญกุศลที่ทำในปัจจุบันนี้ พึงเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อเวลาบุญเก่านี้หมดลง จิตวิญญาณนี้ก็ออกจากร่างกายไป บุญใหม่นี้ก็เป็นยานพาหนะรองรับไป นี่หมายถึงบุคคลที่ยังละกิเลสไม่หมด ก็ต้องไปเกิดอีก บุญนั้นแหละพาไป เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าผู้ใดสร้างบุญกุศลเต็มเพียบแล้ว ไม่ได้ไปไม่ได้มาทางไหนแล้ว ไม่มีอาการไป อาการมา ถ้าสร้างบุญกุศลเต็มบริบูรณ์แล้วนะ เรียกว่าจิตนี้มันหยุดหมุนแล้ว คำว่า อรหัตหรืออรหันต์นี่แปลว่า หยุดหมุน แปลว่าชีวิตนี้ไม่หมุนไปในโลกนี้ โลกหน้า ภพน้อย ภพใหญ่ อะไรอีกเลย เรียกว่า หยุดหมุน หยุดอยากได้อะไรต่อมิอะไรในโลกนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นให้พากันเข้าใจ เป็นเช่นนี้แหละ

ดังนั้นอย่าไปนึกว่าเราพอแล้ว บุญกุศลนี้นะ เราทำมามากแล้ว แล้วก็ไปนิ่งนอนใจเสีย แล้วก็ทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ ไป ไม่ขะมักเขม้นอย่างนี้นะ นั่นเรียกว่า เป็นความเห็นที่ยังไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าตนนั้นน่ะมีบุญกุศลมากแล้ว เต็มแล้ว มันก็สำเร็จอรหันต์ได้สิ อันนี้เป็นเครื่องชี้บอกเลย ถ้าบุญกุศลเต็มแล้วมันไม่เป็นอื่น เป็นอรหันต์ บุญกุศลนี้แหละ ที่มันกำจัดอาสวกิเลสอันหมักดองอยู่ในจิตใจนี้ ให้หมดสิ้นไป เหมือนยากำจัดโรคในกายดังกล่าวมาแล้ว มันเป็นเช่นนั้น

เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับบุญให้กำจัดกิเลสตัณหาหรอก บุญกุศลที่ตนทำมานั้น มันเป็นหน้าที่ของมันเอง บุญทำหน้าที่ของบุญกุศลเอง เราไม่ต้องไปบังคับเลยนะ เหมือนอย่างยานี้ บุคคลรับประทานเข้าไปในกระเพาะ ในลำไส้ ในท้องแล้ว เราไม่ต้องไปอธิษฐานหรอกว่า...เออ...ขอให้ยานี้จงไปขับไล่โรคภัย ที่อยู่ในร่างกายของข้าพเจ้าส่วนนี้...ส่วนนั้นออกไปให้หมด ไม่จำเป็นต้องไปอธิษฐานอ้อนวอนอย่างนั้นเลย ไม่อ้อนวอน เดี๋ยวยามันก็ทำหน้าที่ของมันเอง มันก็ขจัดโรคภัยในร่างกายของผู้นั้นให้เบาบางลงไปเอง อันนี้บุญกุศลก็เช่นนั้นแหละ ให้พึงเข้าใจ

แต่ถ้าผู้ใดทำบุญ สั่งสมบุญแต่น้อย ไม่ขะมักเขม้น หรือไม่สะสมให้มาก บุญกุศลนี้มันก็ไม่มีกำลังจะมากำจัดกิเลสตัณหานี้ ให้ขาดออกไปจากจิตใจนี้ได้ นี่ให้พึงเข้าใจ

ดังนั้นพระศาสดาจึงได้ทรงแนะนำสั่งสอน ให้สั่งสมบุญกุศลนี้ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ บุญกุศลนี้เมื่อมากเข้าไปเท่าไหร่ ก็มีกำลังมากขึ้นเท่านั้น มันก็กำจัดกิเลสออกจากจิตใจนี้ไปเรื่อยๆ แหละ ไม่ใช่ว่ามันจะไปกำจัดเอาตอนบรรลุอรหัตต์นั้นทีเดียวนะ มันก็กำจัดให้กิเลสนี้เบาไปๆ เรื่อยๆ ไป เมื่อบุญกุศลนั้นมันเต็มเพียบแล้ว พอได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจบลงเท่านั้นแหละ ก็หลุดพ้นไปเลย เพราะว่ากิเลสส่วนหยาบๆ นี้มันจะละไป ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่ทำมา มันเบาบางไป เบาบางไปเรื่อยๆ มันยังเหลือแต่กิเลสส่วนละเอียดนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ดังนั้นพอได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ก็สามารถละกิเลสนั้นขาดจากสันดานได้เลย

ในเรื่องหนึ่งท่านแสดงไว้ในธรรมบทแปล มีบุรุษท่านหนึ่งเป็นนักฟ้อนนักรำนักดนตรีต่างๆ แล้วเที่ยวไปเล่นดนตรีฟ้อนรำ ขับร้องให้คนดู บุรุษคนนี้พิสดารนัก เอาไม้ไผ่ต้นเดียวฝังลงไป แล้วก็เอาไม้แป้น (มีลักษณะเป็นแผ่นเดียวเหมือนไม้กระดาน) อันหนึ่ง ตีใส่หัวเสา เมื่อฝังเสานั้นลงดินอย่างแน่นหนาดีแล้ว ก็ปีนเสาไม้ไผ่นั้นขึ้นไปนั่งอยู่บนไม้แป้นนั้น ยืนบ้างนั่งบ้าง ฟ้อนรำ ขับร้อง แสดงบทตลกขบขันต่างๆ ให้คนทั้งหลายได้ดูได้เฮได้ฮาไป

ในคราวครั้งนั้น พระศาสดาทรงเล็งญาณส่องสัตว์โลก บุรุษคนนี้ไปต้องข่ายพระญาณของพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงพาพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะ เสด็จดำเนินไปตามทาง ตามสถานที่ที่บุรุษคนนั้นเล่นดนตรีอยู่ เมื่อคนทั้งหลายได้เห็นพระศาสดาทรงพระดำเนินไป พร้อมด้วยพระสาวก ต่างพากันหยุดมองพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายเป็นตาเดียวกัน

ครั้งนั้นบุรุษที่ฟ้อนรำขับร้องอยู่บนปลายไม้นั้น ก็จ้องมองดูพระศาสดาเหมือนกัน พระองค์ได้โอกาสแล้วก็ทรงประทับยืนอยู่ข้างล่าง และก็ตรัสพระคาถาเพียงบาทพระคาถาเดียวเท่านั้น พอตรัสจบ ชายคนนั้นก็บรรลุอรหัตผลอยู่บนปลายไม้นู้นเลย เมื่อสำเร็จอรหัตผลแล้ว ก็ลงจากปลายไม้นั้นสู่พื้นดิน แล้วก็มาขอบวชกับพระศาสดานั้นเอง พระองค์ก็เหยียดพระหัตถ์ไปว่า “เอหิ ภิกขุ อุปะสัมปะทา ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ตลอดไปเถิด” เท่านี้แล้วบริขาร ๘ อันเป็นทิพย์ ก็เลื่อนลอยมาสวมเอาเลย หนวดเครา ผมเผ้านั้นก็ปลิวหายไปหมด เป็นพระภิกษุภาวะขึ้นเต็มที่เลยในขณะนั้น คนทั้งหลายต่างงงงันกันไปหมด นี่แหละแสดงถึงวาสนาบารมี

เมื่อบุคคลใดบำเพ็ญบุญบารมีมาจนเต็มลงไปแล้วนี้นะ การบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ยากสักหน่อย มันยากตั้งแต่อินทรีย์บารมียังไม่แก่กล้าเท่านั้น ให้เข้าใจว่า เมื่ออินทรีย์บารมียังไม่แก่กล้าแล้วอย่างนี้ มันก็จำเป็นต้องทำความเพียรเด็ดเดี่ยว ต้องเอาทุกข์เป็นทุน หมายความว่าอย่างนั้น ถ้าผู้ใดกลัวต่อทุกข์อยู่แล้ว มันก็ทำความดีสะสมบุญบารมีให้แก่กล้าไม่ได้เลย “ผู้จะเป็นสุขก็ต้องเอาทุกข์เป็นทุนก่อน จะเป็นก้อนทีละน้อยค่อยผสม จะเป็นพระต้องละกามารมณ์ จะเป็นพรหมก็ต้องเพียรเรียนทำฌาน” นักปราชญ์ท่านแต่งเป็นคำโคลงไว้อย่างนี้ นับว่าถูกต้องทีเดียว

เพราะฉะนั้นพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ควรพากันพยายามสั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้นในจิตใจของตน การทำจิตใจให้สงบนี้แหละเป็นการสั่งสมบุญได้มากที่สุดทีเดียว เพียงแต่ไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน โดยถวายจตุปัจจัยบำรุงวัดวาศาสนาเป็นหมื่นเป็นแสน บางแห่งก็เป็นล้าน อย่างนี้ก็ยังปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านลอยไป ยังโกรธยังเกลียด ยังมีอิจฉาพยาบาทอยู่ในใจ บุญกุศลจะไม่มากเลย แม้ว่าผู้นั้นจะทานเงินทานทองมากเท่าไหร่ อานิสงส์ก็ไม่มาก ถ้าหากว่าได้ให้ทานอย่างนั้นมากๆ แล้ว ทั้งภาวนาสำรวมใจให้สงบระงับจากกิเลสบาปธรรม กรรมอันชั่วร้ายต่างๆ ได้อย่างนี้แล้ว โอ้...อย่างนี้ยิ่งได้อานิสงส์มากทีเดียวนะ

เพราะฉะนั้น ท่านสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้มั่งมีศรีสุข มั่งมีเงินทอง อย่าไปติดอยู่ในความสุขอันชั่วคราวนั้นเลย อย่าไปสำคัญว่าตนได้ให้ทานมามากแล้ว ตนต้องได้บุญมากแน่ ยังไม่ได้เต็มที่ ถ้ายังไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตให้สงบก่อน ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น อย่าไปเกียจคร้าน ก่อนนอน ตื่นนอนให้ไหว้พระ นั่งสมาธิ ภาวนา น้อมนึกถึงคุณความดีที่ตนกระทำบำเพ็ญมาเป็นอารมณ์ จนกว่าใจนี้มันสงบ มันยินดีปีติอยู่ในบุญอยู่ในคุณนั้นแล้ว อย่างนี้นะจึงค่อยหลับค่อยนอน

ถ้ายังไม่ง่วงหลับง่วงนอน ก็เจริญปัญญาต่อ นั่งเพ่งพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ได้นามว่าอัตภาพร่างกายนี้แหละ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง ความเป็นจริงของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าหากว่ามันเป็นของเที่ยง มันก็จะไม่แปรผันเลย แต่นี่เกิดมาแล้ว ใครอยู่นานไปก็แปรสภาพไปทั่ว ผมเคยดำก็ขาว หูเคยได้ยินเสียงอะไรได้ชัด ก็อื้อไป ตาเคยเห็นอะไรต่ออะไรมา แจ่มใสมาตั้งแต่ยังหนุ่ม เอ้า ! แก่ชรามาแล้วตาก็มัวเข้าไป ผมเคยดำสนิทมาก็เป็นผมขาว หนังเคยเปล่งปลั่งเต่งตึง ก็หย่อนยาน ตัวตกกระ อะไรต่อมิอะไรนี้ล่ะ

ลักษณะแห่งความไม่เที่ยงของร่างกาย มันเห็นได้ชัดๆ อย่างนี้ ต้องพิจารณาลงไป มันเป็นเครื่องชี้บอกถึงอนัตตา เพราะมันบังคับไม่ได้ มันถึงได้แปรผันไปอย่างนี้ ควรหรือที่จะมาถือว่าเป็นเราเป็นของของเราอย่างนี้ล่ะ เราก็ใช้ปัญญาสอนจิตใจไปอย่างนี้นะ ตนเองก็คงตอบตนเองแล้วว่าไม่ควรเลย เพราะว่าถ้าถือว่าเป็นตัวตนก็ต้องเป็นทุกข์ ถือว่าเป็นของตน ตนก็ต้องบังคับมันได้ ไม่ให้มันชำรุดทรุดโทรม มันก็จะไม่ชำรุดทรุดโทรมเลย ถ้าเป็นของเราจริงๆ นะ

แต่นี่มันบังคับไม่ได้ แล้วจะไปถือเป็นของเราได้ยังไงล่ะ ! ที่ตนเองสอนตนเอง ตนเองตอบตนเองไปอย่างนี้ ความรู้ความเห็นเหล่านี้ มันก็แจ่มกระจ่างขึ้นในใจนั่นแหละ แล้วก็เป็นเหตุให้จิตนี้ปล่อยวางขันธ์ ๕ อันนี้ได้ ไม่ถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา

ได้บุญมาก ถ้าผู้ใดภาวนามาถึงขั้นนี้นะ เป็นบุญอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง อันจะเป็นช่องทางให้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษได้ในกาลต่อไป ดังแสดงมาฯ



ที่มา : หนังสือ วรลาโภวาท พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา พระสุธรรมรำลึก
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วันจันทร์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ หัวข้อ อำนาจแห่งบุญกุศล หน้า ๗๑-๘๔ :b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=51952

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร