วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 15:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2011, 01:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม ดังนี้นั้น

เราอาศัยอะไรกล่าว
ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจาด้วยใจ

ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน
คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มีที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มีที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม

ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน
คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ กรรมที่ให้ผลในภพที่
เกิด ๑ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑ นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม

ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน
คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัด กรรมเหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น อริยสาวก
นั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้
ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าว ฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2011, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


กรรม ๔ ประการ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้ เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ดูกรปุณณะ กรรมดำมีวิบากดำมีอยู่ กรรมขาวมีวิบากขาวมีอยู่ กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว มีอยู่กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมมีอยู่

กรรมดำ มีวิบากดำ
ดูกรปุณณะ ก็กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขารอันมีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันมีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึง โลกอันมีความทุกข์ ผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์ ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันมีทุกข์ เขาอัน ผัสสะประกอบด้วยทุกข์ถูกต้อง ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์ อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียวดุจสัตว์นรก ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่ากรรมดำมีวิบากดำ.

กรรมขาว มีวิบากขาว
ดูกรปุณณะ ก็กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ประมวลกายสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลมโนสังขารอันไม่มีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ ผัสสะอันไม่มีความทุกข์ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เขาอันผัสสะไม่มีความทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยส่วนเดียวดุจเทพชั้นสุภกิณหะ ฉะนั้น ดูกรปุณณะเพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้นผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าว สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมขาว มีวิบากขาว.

กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว
ดูกรปุณณะ ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน ดูกรปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลวจีสังขารอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ผัสสะอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ย่อมถูกต้องเขา ผู้เข้าถึงโลก อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้างเขาอันผัสสะที่มีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน ดุจพวกมนุษย์ เทพบางเหล่า และสัตว์วินิบาตบางเหล่า ฉะนั้น ดูกรปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะแม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว
มีวิบากทั้งดำทั้งขาว.

กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมนั้น
ดูกรปุณณะ ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมนั้นเป็นไฉน ดูกรปุณณะ บรรดากรรม ๓ ประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาว มีวิบากขาว เจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวนั้นเสีย ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูกรปุณณะกรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม.


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 15 มิ.ย. 2011, 23:54, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2011, 01:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง

๑. ปาณาติบาต [การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป]
๒. อทินนาทาน [การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้]
๓. กาเมสุมิจฉาจาร [การประพฤติผิดในกาม]
๔. มุสาวาท [พูดเท็จ]
๕. ปิสุณาวาจา [พูดส่อเสียด]
๖. ผรุสวาจา [พูดคำหยาบ]
๗. สัมผัปปลาป [พูดเพ้อเจ้อ]
๘. อภิชฌา [ความโลภอยากได้ของเขา]
๙. พยาบาท [ความปองร้ายเขา]
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ [ความเห็นผิด]

กุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป]
๒. อทินนาทานา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้]
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการประพฤติผิดในกาม]
๔. มุสาวาทา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเท็จ]
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดส่อเสียด]
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดคำหยาบ]
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี [เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ]
๘. อนภิชฌา [ความไม่โลภอยากได้ของเขา]
๙. อัพยาบาท [ความไม่ปองร้ายเขา]
๑๐. สัมมาทิฏฐิ [ความเห็นชอบ]


ธรรม ๑๐ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐
คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
อยากได้ของเขา ปองร้ายเขา เห็นผิดธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ฯ

ธรรม ๑๐ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเจริญเป็นไฉน ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ
เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูด
ส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของเขา ไม่ปองร้ายเขา เห็นชอบ
ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างเจริญ ฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2011, 01:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนแห่งหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเขาว่า

ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลไม่รักษาจิตแม้กายกรรมก็เป็นอันไม่รักษา แม้วจีกรรมก็เป็นอันไม่รักษา แม้มโนกรรมก็เป็นอันไม่รักษา เมื่อเขาไม่รักษากายกรรม ไม่รักษาวจีกรรม ไม่รักษามโนกรรม แม้กายกรรมก็เป็นอันชุ่มแล้ว แม้วจีกรรมก็เป็นอันชุ่มแล้ว แม้มโนกรรมก็เป็นอันชุ่มแล้ว เมื่อเขามีกายกรรมชุ่ม มีวจีกรรมชุ่ม มีมโนกรรมชุ่ม แม้กายกรรมก็เป็นของเสีย แม้วจีกรรมก็เป็นของเสีย แม้มโนกรรมก็เป็นของเสีย เมื่อเขามีกายกรรมเสีย มีวจีกรรมเสีย มีมโนกรรมเสีย การตายก็ไม่ดี การทำกาละก็ไม่งาม ดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนเมื่อเรือนซึ่งมุงไว้ไม่ดี แม้ยอดเรือนก็เป็นอันไม่ได้รักษา แม้ไม้กลอนก็เป็นอันไม่ได้รักษา แม้ฝาเรือนก็เป็นอันไม่ได้รักษาแม้ยอดเรือนก็เป็นอันถูกฝนรั่วรด แม้ไม้กลอนก็เป็นอันถูกฝนรั่วรด แม้ฝาเรือนก็เป็นอันถูกฝนรั่วรด แม้ยอดเรือนก็เป็นของผุ แม้ไม้กลอนก็เป็นของผุ แม้ฝาเรือนก็เป็นของผุฉันใด ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลไม่รักษาจิตไว้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันฯลฯ ความตายก็ไม่ดี การทำกาละก็ไม่งาม

ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิตไว้แม้กายกรรมก็เป็นอันรักษา แม้วจีกรรมก็เป็นอันรักษา แม้มโนกรรมก็เป็นอันรักษา เมื่อเขารักษากายกรรม รักษาวจีกรรม รักษามโนกรรม แม้กายกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม แม้วจีกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม แม้มโนกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม เมื่อเขามีกายกรรมไม่ชุ่ม มีวจีกรรมไม่ชุ่ม มีมโนกรรมไม่ชุ่ม แม้กายกรรมก็เป็นอันไม่เสีย แม้วจีกรรมก็เป็นอันไม่เสีย แม้มโนกรรมก็เป็นอันไม่เสีย เมื่อเขามีกายกรรมไม่เสีย มีวจีกรรมไม่เสีย มีมโนกรรมไม่เสีย ความตายก็ดี การทำกาละก็งามดูกรคฤหบดี เปรียบเหมือนเมื่อเรือนซึ่งมุงไว้เรียบร้อย แม้ยอดเรือนก็เป็นอันรักษา แม้ไม้กลอนก็เป็นอันรักษา แม้ฝาเรือนก็เป็นอันรักษา แม้ยอดเรือนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด แม้ไม้กลอนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด แม้ฝาเรือนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด แม้ยอดเรือนก็เป็นของไม่ผุ แม้ไม้กลอนก็เป็นของไม่ผุ แม้ฝาเรือนก็เป็นของไม่ผุ ฉันใด ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิตไว้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ความตายก็ดี การทำกาละก็งาม ฯ


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 02 ก.ค. 2011, 11:37, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2011, 01:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ประโยชน์จากการพิจารณาเรื่องของกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2011, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.ค. 2008, 15:51
โพสต์: 334

งานอดิเรก: ชอบเรื่องพลังงาน
สิ่งที่ชื่นชอบ: มิลินทปัญหา
ชื่อเล่น: อมร
อายุ: 63
ที่อยู่: 138 หมู่ที่ 1 ต.โนนคูณ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 36180

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขออนุโมทนาได้นำไปลงไว้ที่
http://watphrathatkaenggol.com

.....................................................
ทำบุญตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาทำบุญอุทิศหา รักษาศีลตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาเคาะโลงลุกขึ่นมารักษาศีล เข้าวัดตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาหามเข้าแล้วเผาเลย ฮิฮิฮิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2011, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขออนุโมทนาด้วยนะครับคุณ FLAME สำหรับบทความดีๆ ที่นำมาให้อ่านกัน
ขอให้ท่านเปี่ยมไปด้วยอายุ วัณณะ สุขขะ พละ และมีความสุข ความเจริญ ยิ่งๆขึ้นไปครับ


:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2011, 23:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมใหม่และกรรมเก่า ความดับกรรม และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม เธอทั้งหลายจงฟังจงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

กรรมเก่า เป็นอย่างไร
คือ จักขุ (ตา) อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
โสตะ (หู) อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
ฆานะ (จมูก) อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
กาย (กาย) อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
ชิวหา (ลิ้น) อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
มโน (ใจ) อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า

กรรมใหม่ เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่

ความดับกรรม เป็นอย่างไร
คือ นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะดับกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมได้ นี้เราเรียกว่า ความดับกรรม

ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม

" กรรมเก่าเราได้แสดงแล้ว กรรมใหม่เราได้แสดงแล้ว ความดับกรรมเราได้แสดงแล้ว และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรมเราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์พึงอาศัยความอนุเคราะห์ กระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราก็ได้กระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลัง นี้คือคำพร่ำสอนสำหรับเธอทั้งหลายของเรา”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2011, 23:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มี อวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิดย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิดย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ฯ

วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะเป็นของมีมาตามวิชชานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวิชชาเห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นชอบ ผู้มีความเห็นชอบ ย่อมมีความดำริชอบ ผู้มีความดำริชอบ ย่อมมีวาจาชอบ ผู้มีวาจาชอบย่อมมีการงานชอบ ผู้มีการงานชอบ ย่อมมีการเลี้ยงชีพชอบ ผู้มีการเลี้ยงชีพชอบย่อมมีความพยายามชอบ ผู้มีความพยายามชอบ ย่อมมีความระลึกชอบ ผู้มีความระลึกชอบ ย่อมมีความตั้งใจชอบ ผู้มีความตั้งใจชอบ ย่อมมีความรู้ชอบ ผู้มีความรู้ชอบ ย่อมมีความหลุดพ้นชอบ ฯ


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 02 ก.ค. 2011, 11:33, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2011, 21:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่

บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เจริญฌาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่

บัณฑิตเหล่านั้น มีใจมุ่งนิพพาน มีจิตโน้มไปในนิพพานนั้น มีจิตน้อมไปในนิพพานนั้นให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล ฉะนั้น

นรชนพึงน้อมใจไปในนิพพาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 16 มิ.ย. 2011, 00:02, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2011, 23:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


นิทานสูตรที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ อย่างเป็นไฉน
คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายกรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความโลภ เกิดแต่ความโลภ มีความโลภ เป็นเหตุมีความโลภเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความโกรธ เกิดแต่ความโกรธ มีความโกรธเป็นเหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศลกรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความหลง เกิดแต่ความหลง มีความหลงเป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผลกรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุเพื่อให้เกิดกรรม ๓ อย่างเป็นไฉน
คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความไม่โลภ เกิดแต่ความไม่โลภมีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความไม่โกรธ เกิดแต่ความไม่โกรธ มีความไม่โกรธเป็นเหตุ มีความไม่โกรธเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไปดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดที่บุคคลทำด้วยความไม่หลง เกิดแต่ความไม่หลง มีความไม่หลงเป็นเหตุ มีความไม่หลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ฯ


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 02 ก.ค. 2011, 11:34, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2011, 01:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


นิทานสูตรที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ อย่างเป็นไฉน
คือ ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑
ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑
ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑

- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล

- ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภธรรมอันที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรอง ตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรองตาม อยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรม เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลายความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างนี้แล

- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามด้วยใจเมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แลเป็นเหตุให้เกิดกรรม ๓ อย่างเป็นไฉน
คือ ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑
ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑
ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑

- ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างไรดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะ ในอดีต ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล

- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งฉันทราคะในอนาคต ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิด เพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างนี้แล

- ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจเห็นตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ฯ


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 02 ก.ค. 2011, 11:41, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2011, 01:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
กายกรรมอันมีโทษ ๑
วจีกรรมอันมีโทษ ๑
มโนกรรมอันมีโทษ ๑
ทิฐิอันมีโทษ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนเชิญมาประดิษฐานไว้

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
กายกรรมอันไม่มีโทษ ๑
วจีกรรมอันไม่มีโทษ ๑
มโนกรรมอันไม่มีโทษ ๑
ทิฐิอันไม่มีโทษ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนเชิญมาประดิษฐานไว้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
กายกรรมอันมีความเบียดเบียน ๑
วจีกรรมอันมีความเบียดเบียน ๑
มโนกรรมอันมีความเบียดเบียน ๑
ทิฐิอันมีความเบียดเบียน ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนเชิญมาประดิษฐานไว้

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
กายกรรมอันไม่มีความเบียดเบียน ๑
วจีกรรมอันไม่มีความเบียดเบียน ๑
มโนกรรมอันไม่มีความเบียดเบียน ๑
ทิฐิอันไม่มีความเบียดเบียน ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล
ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนเชิญมาประดิษฐานไว้ ฯ


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 02 ก.ค. 2011, 11:32, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2011, 02:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อกุศลกรรมบถ ๑๐

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม ทางกาย มี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี๓ อย่าง.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน?

- บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหดมีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหารและการฆ่าไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง.

- เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย.

- เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้) ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน?

- บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จคือ ไปในที่ประชุมหรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้างเมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้างเพราะเหตุเห็นแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง.

- เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้างหรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก.

- เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่นอันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต.

- เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่างเป็นอย่างนี้แล.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน?

- บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้.

- เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้.

- เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มีผลแห่งการบูชาไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้ ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาตและนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือไม่ประพฤติธรรมอย่างนี้แล.

พระสุตตันตปิฎก(สยามรัฐ) เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หัวข้อที่ ๔๘๔


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 19 มิ.ย. 2011, 02:37, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2011, 02:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


กุศลกรรมบถ ๑๐

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อยคือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน?

- บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะวางศาตราเสียแล้ว มีความละอาย ความเอ็นดู มีกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่.

- ละการถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย.

- ละการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ถึงความสมสู่ในพวกหญิง ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษาที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดหญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัยดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน?

- บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จไปในทีประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า บุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใดก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า ไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่า รู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็นหรือเมื่อเห็นก็บอกว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง.

- ละวาจาอันส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด คือได้ฟังข้างนี้แล้วไม่นำไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือได้ฟังข้างโน้นแล้ว ไม่นำมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นสมานพวกที่แตกกันให้ดีกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่ดีกันให้สนิทสนมบ้าง ชอบใจพวกที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีแล้วในพวกที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในพวกที่พร้อมเพรียงกัน และกล่าววาจาอันทำให้พร้อมเพรียงกัน.

- ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจเป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ ชอบใจ.

- ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูดตามความจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัยและกล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้างได้มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรม
ทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน?


- บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความโลภมาก ไม่เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้.

- เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริในใจไม่ชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข รักษาตนเถิด ดังนี้.

- เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือมีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการการบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบผู้ทำโลกนี้ และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้ ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อยคือความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล.

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรมอย่างนี้แล.

พระสุตตันตปิฎก(สยามรัฐ) เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หัวข้อที่ ๔๘๕


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร