วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 08:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


กรรมตามนัยพุทธธรรม : ความนำ

หลักธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใด ๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากหลักสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่าง ๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนส่วนหนึ่งคนละส่วนละตอนกันบ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน

ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตไว้ทั้งหมด มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลักธรรมปลีกย่อยในระดับต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการแห่งชีวิต หรือกระบวนธรรมเบ็ดเสร็จ ถ้าเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็ชื่อว่าเข้าใจชีวิต หรือเข้าใจพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เข้าใจยากอย่างยิ่ง แม้การอธิบายก็ทำได้ยาก (เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ดู “พุทธธรรม” บทที่ 4)

ดังนั้น หนังสือหรือคัมภีร์ที่อธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทอย่างจำเพาะโดยตรงจึงมีน้อยอย่างยิ่งจนหาแทบไม่ได้เลย แต่กระนั้นก็ตาม ก็ได้มีหนังสือ และคัมภีร์จำนวนมากอธิบายหลักธรรมบางหมวดบางเรื่อง ที่เป็นส่วนย่อยของหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาทที่นิยมอธิบายกันมากที่สุดคงจะได้แก่ หลักกรรม

การนำหลักกรรมมาอธิบาย อาจมองได้ทั้งในแง่ที่ว่า กรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจในตัวของมันเอง และในแง่ที่ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนั้น เป็นบันไดสำคัญที่จะก้าวเข้าสู่ความเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท วาที่จริง การอธิบายหลักกรรมตามเนื้อหาอย่างตลอดสาย ก็คือวิธีการอย่างหนึ่งในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการเห็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนี้ออกเป็น 3 วัฏฏะ (วน , วังวน) คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรม และการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้นว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก

อย่าง ไรก็ดี การอธิบายตามแนวปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นการพิจารณาในแง่ของกระบวนการธรรมชาติ ว่าด้วยตัวกฎหรือสภาวะล้วน ๆ และเป็นการมองอย่างกว้าง ๆ ตลอดทั้งกระบวนการ ไม่เน้นที่จุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อมองในแง่คามเป็นไปได้ในชีวิตจริง จะเห็ฯว่าส่วนของปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏเด่นชัดออกมาในการดำเนินชีวิตประจำ วัน เป็นเรื่องของการแสดงออก และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของคนโดยตรง ก็คือส่วนที่เรียกว่ากรรม

ถ้าเพ่งในทางปฏิบัติอย่างนี้ ก็อาจยกเอากรรมขึ้นเป็นจุดเน้นและเป็นบทตั้ง แล้วเอาส่วนอื่น ๆ ของปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวประกอบสำหรับสืบสาวราวเรื่องต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาท ก็จะปรากฏในรูปร่างที่นิยมเรียกกันว่า กฎแห่งกรรม (ตัวอย่างพุทธพจน์แห่งหนึ่งที่เชื่อมปฏิจจสมุปบาทกับกฎแห่งกรรมสินทกันเป็นอย่างดี คือที่ตรัสว่า “บัณฑิตผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมมองกรรมตามเป็นจริงดังนี้...” (ม.ม.13/707/648; ขุ.ส.25/382/457) )

และจะมีเรื่องราวในแง่อื่น ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นแนวการอธิบายที่น่าศึกษา ดังปรากฏว่า ในสมัยหลัง ๆ นี้ก็นิยมพูดถึงกฎแห่งกรรมกันมากกว่าจะพูดถึงปฏิจจสมุปบาท เพราะการพูดถึงกรรมเป็นการพูดถึงกิริยาอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่หยาบ ปรากฎชัดเห็นง่าย เกี่ยวข้องอยู่เฉพาะหน้าทุกขณะทุกเวลา เหมาะที่จะถือเอาเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณา ยิ่งกว่านั้น การอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือจะอธิบายอย่างง่าย ๆ ในระดับผิวเผิน พอให้เหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ จะยกเอาเหตุการณ์หรือบทบาทของคนทั้งหลายขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ก็ทำได้สะดวก หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงจะได้เสนอคำอธิบายหลักกรรม หรือกฎแห่งกรรมไว้ ณ ที่นี้ด้วย พอเป็นแนวสำหรับทำความเข้าใจ .


กรรมตามนัยพุทธธรรม : ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวก้บกฎแห่งกรรม (1)

กรรมในฐานะกฎแห่งธรรมชาติอย่างหนึ่ง

พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องจิตใจ ไม่ว่าชีวิตหรือโลกที่แวดล้อมอยู่ก็ตาม (หมายถึง สังขตธรรม ทั้งหมด)

ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เป็นเรื่องของปัจจัยสัมพันธ์ ธรรมดาที่ว่านี้มองด้วยสายตาของมนุษย์ เรียกว่า กฎธรรมชาติ เรียกในภาษาบาลีว่า นิยาม แปลว่า กำหนดอันแน่นอน

ทำนองหรือแนวทางที่แน่นอน หรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราปรากฎให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น ๆ แล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้น ๆ แน่นอน

กฎธรรมชาติหรือนิยามนั้น แม้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกันทั้งหมด คือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แต่ก็อาจแยกประเภทออกไปได้ตามลักษณะอาการจำเพาะที่เป็นแนวทางหรือเป็นแบบหนึ่ง ๆ ของความสัมพันธ์ อันจะช่วยให้กำหนดศึกษาได้ง่ายขึ้น เมื่อว่าตามสายความคิดของพระพุทธศาสนา พระอรรถกถาจารย์แสดงกฎธรรมชาติหรือ นิยาม ไว้ 5 อย่าง คือ (พึงเทียบความหมายของนิยามตามที่ปราชญ์แปลเป็นภาษาอังกฤษ ว่า orderliness of nature ; the five aspects of natural law; ที่มา เช่น ที.อ.2/34; สงฺคณี อ.408)

1. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฎการณ์ฝ่ายวัตถุ โดยเฉพาะความเป็นไปของธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง การที่ดอกบัวบานกลางวัน หุบกลางคืน การที่ดินน้ำปุ๋ยช่วยให้ต้นไม้งาม การที่คนไอหรือจาม การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น แนวความคิดของท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ

(ปราชญ์แปลกันว่า law of energy ; law of physical phenomena ; physical inorganic order หรือเหมารวมว่า physical laws)

2. พืชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์หรือที่เรียกกันว่าพันธุกรรม เช่น หลักความจริงที่ว่าพืชเช่นใดก็ให้ผลเช่นนั้น พืชมะม่วงก็ออกผลเป็นมะม่วง เป็นต้น

(แปลกันว่า law of heredity ; physical organic order ; biological laws)

3. จิตตนิยาม (ต่อนี้ไป จะเขียนลดรูปเป็น จิตตนิยาม) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่ออารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาท จะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร คือ มีการไหวแห่งภวังคจิต ภวังคจิตขาดตอน แล้วมีอาวัชชนะ แล้วมีการเห็น การได้ยิน ฯลฯ มีสติปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ฯลฯ หรือเมื่อจิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เกิดขึ้น จะมีเจตสิกอะไรบ้างประกอบได้หรือประกอบไมได้ เป็นต้น

(แปลกันว่า psychic law ; psychological laws)

4. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ หรือพูดให้จำเพาะลงไปอีกว่า กระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องสมกัน เช่น ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว เป็นต้น

(แปลกันว่า the of Karma ; order of act and result ; karmic laws ; moral laws)

5. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่นว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ธรรมดาของคนยุคนี้มีอายุขัยประมาณร้อยปี ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เป็นสภาพไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น และไม่เป็นอัตตา ดังนี้เป็นต้น

(แปลกันว่า the general law of cause and effect ; order of the norm ; ธรรมนิยามนี้อรรถกถาอธิบายโดยยกตัวอย่างธรรมดาในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธประวัติ เช่นว่า ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิ ทรงประสูติ ตรัสรู้ เป็นต้น เป็นธรรมดาที่หมื่นโลกธาตุจะหวั่นไหว)

ความจริง กฎ 4 อย่างแรกย่อมรวมลงในกฎข้อที่ 5 คือ ธรรมนิยามทั้งหมด หรือจำแนกออกไปจากธรรมนิยามนั่นเอง หมายความว่า ธรรมนิยามมีความหมายครอบคลุมกฎธรรมชาติหมดทั้ง 5 ข้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจมีผู้สงสัยว่าธรรมนิยามเป็นกฎใหญ่ เมื่อเอามากระจายเป็นกฎย่อย ก็น่าจะกระจายออกไปให้หมด เหตุไรเมื่อแจงเป็นกฎย่อยแล้วยังมีธรรมนิยามอยู่ในรายชื่อกฎย่อยอีกด้วยเล่า คำตอบสำหรับความข้อนี้พึงทราบด้วยอุปมา เหมือนคนทั้งหมดในประเทศไทยนี้ บางทีมีผู้พูดจำแนกออกว่า องค์พระประมุข รัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนบ้าง ว่า ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนบ้าง ว่าอย่างอื่นอีกบ้าง

ความจริง คำว่าประชาชนย่อมครอบคลุมคนทุกหมู่เหล่าในประเทศ ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร พ่อค้า นักศึกษา ก็ล้วนเป็นประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ที่พูดแยกออกไปก็เพราะว่า คนเหล่านั้นนอกจากจะมีลักษณะหน้าที่โดยทั่วไปในฐานะประชาชนเหมือนคนอื่น ๆ แล้ว ยังมีลักษณะหน้าที่จำเพาะพิเศษต่างหากออกไปอีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนคนที่ไม่มีลักษณะหรือหน้าที่จำเพราะพิเศษแปลกออกไป ก็รวมอยู่ในคำว่าประชาชน

อนึ่งจำแนกนั้น อาจแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์จำเพาะของการจำแนกครั้งนั้น ๆ แต่ทุกครั้งก็จะมีคำว่าประชาชนหรือราษฎร หรือคำที่มีความหมายกว้างทำนองนั้นไว้เป็นที่รวมเข้าของคนทั้งหลายที่เหลือ ซึ่งไม่ต้องจำแนกออกไปต่างหากตามวัตถุประสงค์จำเพาะคราวนั้น เรื่องนิยาม 5 ก็พึงเข้าใจความทำนองเดียวกันนี้

การจำแนกกฎธรรมชาติเป็น 5 อย่างนี้ จะเป็นการแบ่งแยกที่ครบจำนวนหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาในที่นี้ เพราะท่านได้กฎเด่น ๆ ที่ท่านต้องการ พอแก่การใช้ตามวัตถุประสงค์ของท่านแล้ว และกฎที่เหลือย่อมรวมลงในกฎที่ 5 คือธรรมนิยามโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว

แต่สิ่งสำคัญที่พึงเข้าใจก็คือสาระที่มุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของการแสดงนิยามทั้ง 5 นี้ อันเป็นข้อที่ควรสังเกต จะขอเน้นไว้บางอย่าง ดังนี้

ประการแรก เป็นการย้ำแนวความคิดแบบพุทธที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือของโลกและชีวิตตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ให้หนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะแยกแยะกฎให้ละเอียดออกไป ก็มองเห็นแต่ความเป็นไปตามธรรมดา หรือสภาวะปัจจัยสัมพันธ์เท่านั้น เป็นอันจะได้ตั้งใจเรียนรู้ เป็นอยู่ และปฏิบัติด้วยความเข้าใจเท่าทันธรรมดานี้แน่นอนไป ไม่ต้องมัวห่วงกังวลถึงท่านผู้สร้างผู้บันดาลที่จะมาผันแปรกระแสธรรมดาให้ผิดเพี้ยน (นอกจากจะเข้ามาร่วมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในธรรมดานั้นเอง) ถ้าจะมีผู้ทักท้วงว่า ถ้าไม่มีผู้วางกฎ กฎธรรมชาติจะมีขึ้นได้อย่างไร

ก็ไม่พึงต้องมัวยุ่งคิดกับคำถามอำพรางตนเองของมนุษย์ข้อนี้ ลองมองง่าย ๆ ว่า ถ้าปล่อยให้สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปของมันเอง มันก็ต้องเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันก็ได้เป็นมาเป็นไปแล้วอย่างนี้แหละ เพราะมันไม่มีทางจะเป็นไปอย่างอื่น นอกจากเป็นไปตามเหตุปัจจัยสัมพันธ์ มนุษย์เราสังเกตและเรียนรู้เอาความเป็นไปอย่างนี้เข้ามาซึมซาบในความคิดของตน แล้วก็เรียกมันว่ากฎ จะเรียกหรือไม่เรียก มันก็เป็นของมันอย่างนั้น

ถ้าขืนมีผู้สร้างตั้งกฎธรรมชาติ ก็จะยิ่งยุ่งที่จะสืบลึกต่อไปอีกว่า ท่านผู้ตั้งกฎนั้นดำรงอยู่ด้วยกฎอะไร มีใครสร้างกฎให้ท่าน หรือคุมท่านไว้ ถ้าขืนไม่คุม ท่านสร้างกฎได้ตามชอบใจ ท่านก็ย่อมเปลี่ยนกฎได้ตามชอบใจ อยู่ไปวันดีคืนดี ท่านอาจจะเปลี่ยนกฎธรรมชาติให้มนุษย์อลหม่านกันหมดก็ได้ (ความจริง ถ้ามีผู้สร้างกฎ และท่านมีกรุณา ท่านก็คงช่วยเปลี่ยนกฎ ช่วยสัตว์โลกไปแล้วหลายกฎย่อย เช่น ไม่ให้มีคนเกิดมาพิการง่อยเปลี้ย อวัยวะบกพร่อง ไร้ปัญญา เป็นต้น)

ประการที่สอง เมื่อแยกแยะออกเป็นกฎย่อย ๆ หลายกฎแล้ว ก็อย่าเผลอพลอยแยกปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นผลให้เป็นเรื่องเฉพาะกฎ ๆ ต่างหากกันไปเด็ดขาด ความจริงปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน อาจเกิดจากเหตุปัจจัยที่เป็นไปต่าง ๆ หรือเนื่องด้วยหลายกฎร่วมกันก็ได้ เช่น การที่ดอกบัวบานกลางวันและหุบกลางคืน ก็มิใช่เพราะอุตุนิยามอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเนื่องจากพืชนิยามด้วย

การที่คนน้ำตาไหล อาจเป็นเพราะจิตตนิยามเป็นตัวเด่น เช่น ดีใจ เสียใจก็ได้ แต่อาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่น ถูกควันรมตาก็ได้ หรือเป็นเพราะจิตตนิยามและกรรมนิยาม เช่น หวาดกลัวหรือคิดหวั่นความผิด เป็นต้น ก็ได้

คนปวดศีรษะ อาจเป็นเพราะอุตุนิยาม เช่น อากาศร้อนอบอ้าว ที่อุดอู้ทึบ อากาศไม่พอก็ได้ หรือเพราะพืชนิยาม เช่น ความบกพร่องของอวัยวะภายใน หรือกรรมนิยามบวกจิตตนิยาม เช่น คิดกลัดกลุ้มกังวลเดือดร้อนใจ เป็นต้น ก็ได้

ประการที่สาม และที่สำคัญที่สุด คือท่านแสดงให้เห็นว่า ในบรรดากฎธรรมชาติทั้งหลายนั้น มีกฎแห่งกรรมหรือกรรมนิยามรวมอยู่เป็นข้อหนึ่งด้วย เมื่อมองในแง่ของมนุษย์ กรรมนิยามเป็นกฎสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง มนุษย์เป็นผู้เสกสรรปรุงแต่งกรรม และกรรมก็เป็นเครื่องปรุงแต่งวิถีชีวิตโชคชะตาของมนุษย์

ถ้าแบ่งขอบเขตอำนาจในโลกตามอย่างที่คนปัจจุบันนิยม คือ แบ่งเป็นเขตแดนหรือวิสัยของธรรมชาติ กับเขตแดนหรือวิสัยของมนุษย์ ก็จะเห็นว่ากรรมนิยามเป็นเขตแดนของมนุษย์ ส่วนกฎหรือนิยามข้ออื่น ๆ ทั้งหมดเป็นเขตแดนของธรรมชาติ มนุษย์เกิดจากธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีวิสัยพิเศษส่วนหนึ่งที่เป็นของตนเอง กล่าวคือกรรมนิยามนี้ ซึ่งได้สร้างสังคมและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ขึ้นเป็นดุจอีกโลกหนึ่งต่างหากจากโลกของธรรมชาติ

อนึ่งในเขตแดนแห่งกรรมนิยามนั้น สาระหรือตัวแท้ของกรรมก็คือเจตนาหรือเจตน์จำนง หรือโลกแห่งความคิดนึกปรุงแต่งสร้างสรรค์ (และทำลาย) ทั้งหมด เท่าที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะไปเกี่ยวข้องกับนิยามอื่นใดหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องมีกรรมนิยามเป็นกฎยืนพื้น ตลอดถึงจะไปเกี่ยวข้องและใช้นิยามข้ออื่นเหล่านั้นอย่างไร ก็อยู่ในกรรมนิยาม

กรรมนิยามเป็นวิสัยของมนุษย์ เป็นของเขตที่มนุษย์มีอำนาจปรุงแต่งควบคุมเสกสรรบันดาล หรือพูดให้ถูกว่า การที่มนุษย์ก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเหตุปัจจัยด้วยอย่างหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาติ จนเกิดเป็นสำนวนพูดของมนุษย์ขึ้นว่า ตนสามารถบังคับควบคุมธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติได้นั้น ก็ด้วยอาศัยกรรมนิยามนี้เอง กล่าวคือมนุษย์เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามหรือกฎธรรมชาติข้ออื่น ๆ ที่เป็นเขตแดนของธรรมชาติ ด้วยการเรียนรู้ความจริงของมันแล้วปฏิบัติต่อมันหรือใช้ประโยชน์มันตามเจตน์จำนงของตน

จึงเรียกว่าเจตน์จำนงของมนุษย์เป็นผู้ปรุงแต่งบังคับควบคุมโลกของธรรมชาติ นอกจากนั้นมนุษย์ก็ใช้เจตน์จำนงหรือเจตนานี้เป็นเครื่องกำหนดการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์เองด้วย และพร้อมกับที่มนุษย์ปฏิบัติต่อผู้อื่น สิ่งอื่น ต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตน ตลอดจนปรุงแต่งโลกของธรรมชาติอยู่นั้นเอง

มนุษย์ หรือว่าให้ถูกคือเจตน์จำนงของมนุษย์นั้น ก็ปรุงแต่งตัวของเขาเอง ปรุงแต่งบุคลิกภาพและวิถีชีวิตหรือชะตากรรมของเขาไปด้วย เนื่องด้วยกรรมนิยามเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง ครอบคลุมโลกแห่งเจตน์จำนงและการปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งหมดของมนุษย์ เป็นแกนนำในการปรุงแต่งชีวิตตนเองของมนุษย์แต่ละคน เป็นเครื่องชี้กำหนดแนวทางของสังคมและผลงานสร้างสรรค์ทำลายของมนุษย์ เป็นฐานที่มนุษย์อาศัย ก้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับนิยามอื่น ๆ เพื่อปรุงแต่งบังคับควบคุมโลกของธรรมชาติโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนเน้นถึงความสำคัญของกรรมเป็นอย่างมาก ดังพุทธพจน์ที่คุ้นกันดีว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” แปลว่า โลกเป็นไปตามกรรม หรือโลกเป็นไปเพราะกรรม (ม.ม.13/707/648; ขุ.สุ.25/382/457) กรรมจึงเป็นคำสอนสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม การที่ท่านรวมเอากรรมนิยามเข้าไว้เป็นข้อหนึ่งในนิยามถึง 5 ข้อนั้น ก็เป็นการบอกให้มองความจริงอีกด้านหนึ่งด้วยว่า กรรมนิยามหรือกฎแห่งกรรมนั้น เป็นเพียงกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งในบรรดากฎธรรมชาติหลาย ๆ อย่าง ดังนั้น เมื่อมีปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น หรือเมื่อมนุษย์ผู้หนึ่งประสบเหตุการณ์สุขทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อย่าเพิ่งเหมาไปเสียทั้งหมดว่าเป็นอย่างนั้นเพราะกรรม (ผู้ศึกษาอภิธรรม ย่อมบอกได้ว่า ชีวิตเราที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 นั้นเป็นไปตามธรรมดาหรือตามกฎธรรมชาติทั้งหมดก็จริง แต่ขันธ์ 5 บางส่วนเท่านั้นที่เกิดจากกรรมและเป็นไปตามกรรมโดยตรง เช่น รูปธรรมในร่างกายของเรา อภิธรรมก็แยกว่าเกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี ดังนี้เป็นต้น)

ดังตัวอย่างที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น แม้พุทธพจน์ที่อ้างข้างต้นว่า โลกเป็นไปตามกรรมนั้น ก็หมายถึงโลกคือหมู่สัตว์ ได้แก่ ชาวโลก หรือสัตว์โลก ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ก็คล้ายว่า กรรมชี้นำสังคม หรือกรรมกำหนดวิถีชีวิตของสังคมนั่นเอง อาจพูดในแง่หนึ่งของธรรมชาติ แต่เป็นกฎที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์

นอกจากกฎธรรมชาติทั้ง 5 ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะไม่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับธรรมชาติโดยตรง ได้แก่กฎที่มนุษย์กำหนดวางกันขึ้นเป็นข้อตกลง เพื่อควบคุมความประพฤติในหมู่มนุษย์ด้วยกันเองให้อยู่ร่วมกันโดยผาสุก นับว่าเป็นบัญญัติทางสังคม เช่น ระเบียบ ข้อบังคับ กติกา กฎหมาย จารีต ประเพณี วินัยบัญญัติ เป็นต้น

อาจจัดเข้าต่อท้ายชุดเป็นกฎที่ 6 แต่ยังไม่มีชื่อที่เข้ากันกับชุด ถ้าพอจะเรียกชื่อว่า สังคมนิยมน์ (“สังคม” เป็นศัพท์บัญญัติในภาษาไทย แม้จะมีใช้ในภาษาบาลีแต่เดิม ก็มิใช่มีความหมายเหมือนกับที่บัญญัติในภาษาไทย ในที่นี้จะอนุวัตรตามภาษาไทย จึงต้องบัญญัติใหม่ทั้งคำ ส่วนนิยมน์ ว่าโดยรูปศัพท์ก็มีความหมายตรงกับนิยาม หรือนิยมนั่นเอง (แปลว่า ข้อกำหนด กฎระเบียบ แบบแผน) แต่ถ้าจะใช้ว่าสังคมนิยามก็เกรงจะเข้าปะปนทำให้นิยาม 5 เดิมที่เป็นของธรรมชาติแท้ ๆ สับสนไป ครั้นจะใช้ว่า สังคมนิยม ก็มีผู้บัญญัติใช้ในความหมายอย่างอื่นเสียแล้ว จึงเลี่ยงให้แปลกกันไปเล็กน้อยพอเป็นที่สังเกตความต่างได้)

ก็ได้ กฎเกณฑ์ของสังคมนี้เป็นเรื่องการปรุงแต่งของมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกรรม และขึ้นต่อกรรมนิยามด้วย แต่เป็นเพียงส่วนซ้อนเสริมเข้ามาในกรรมนิยามเท่านั้น ไมใช่กรรมนิยามเอง จึงมิได้มีลักษณะในด้านปัจจัยสัมพันธ์ และความเป็นจริงเหมือนกับกรรมนิยาม แต่เพราะซ้อนอิงอยู่กับกรรมนิยามจึงมักทำให้เกิดความสับสนกับกรรมนิยาม และมีปัญหาถกเถียงกันเนื่องจากความสับสนนี้บ่อย ๆ

โดยเหตุที่กฎสองประเภท คือ กรรมนิยาม และสังคมนิยมน์นี้ เป็นเรื่องมนุษย์ เกี่ยวข้องกับมนุษย์ใกล้ชิดที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พึงเข้าใจความแตกต่างให้ชัดเจน

ในขั้นต้น อาจพูดเป็นเค้าไว้ก่อนว่า กรรมนิยามหรือกฎแห่งกรรม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของคน ส่วนสังคมนิยมน์หรือกฎของสังคม เป็นกฎของคนซึ่งคนบัญญัติกันขึ้นเอง มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎธรรมชาติเพียงในแง่ว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากการกระทำหรือกรรมหรือการปรุงแต่งสร้างสรรค์ของคน และอีกแง่หนึ่ง โดยกฎแห่งกรรมมนุษย์รับผิดชอบต่อการกระทำของตน ตามกระบวนการของธรรมชาติ แต่โดยกฎของสังคมมนุษย์ มนุษย์รับผิดชอบต่อการกระทำของตน ตามกระบวนการที่จัดวางขึ้นเองของมนุษย์ ข้อที่พึงศึกษาพ้นจากนี้ไป จะพิจารณากันในตอนว่าด้วยปัญหาเกี่ยวกับความดี ความชั่ว และปัญหาเกี่ยวกับการรับผลของกรรม ที่จะกล่าวต่อไป.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


กรรมตามนัยพุทธธรรม : ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวก้บกฎแห่งกรรม (2)

ความหมายของกรรม

กรรม แปลตามศัพท์ว่า การงานหรือการกระทำ แต่ในทางธรรมต้องจำกัดความจำเพาะลงไปว่า หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมในความหมายทางธรรม

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่กล่าวมานี้ เป็นความหมายอย่างกลาง ๆ พอคลุมความได้กว้าง ๆ เท่านั้น ถ้าจะให้ชัดเจนมองเห็นเนื้อหาและขอบเขตแจ่มแจ้ง ควรพิจารณาโดยแยกแยะความหมายออกเป็นแง่ หรือเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้

ก. เมื่อมองให้ถึงตัวแท้ของกรรม หรือมองให้ถึงต้นตอ เป็นการมองตรงตัวหรือเฉพาะตัว กรรมก็คือเจตนาอันได้แก่ เจตน์จำนง ความจงใจ การเลือกคัดตัดสิน มุ่งหมายที่จะกระทำ หรือพลังนำที่เป็นตัวกระทำการนั่นเอง

เจตนาหรือเจตน์จำนงนี้เป็นตัวนำ บ่งชี้ และกำหนดทิศทางแห่งการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ เป็นตัวการหรือเป็นแกนนำในการริเริ่ม ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ทุกอย่าง จึงเป็นแกนนำในการริเริ่ม ปรุงแต่ง สร้งสรรค์ทุกอย่าง จึงเป็นตัวแท้ของกรรม ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” เป็นต้น แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ (องฺ.ฉกฺก.22/334/464)

ข. มองขยายออกไปให้เห็นตัวการอื่น ๆ คือ มองเข้าไปที่ภายในกระบวนการแห่งชีวิตของบุคคลแต่ละคน

จะเห็นกรรมในแง่เป็นตัวประกอบซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการแห่งชีวิต เป็นเจ้าหน้าที่ในการปรุงแต่งโครงสร้างและวิถีที่จะดำเนินไปของชีวิตนั้น กรรมในแง่นี้ตรงกับคำว่า สังขาร หรือมักเรียกชื่อว่า สังขาร เช่นอย่างที่เป็นหัวข้อหนึ่งในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลกันว่า สภาพที่ปรุงแต่งจิต หมายความว่า องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือให้เป็นกลาง ๆ

ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกาย วาจา เป็นกรรมแบบต่าง ๆ ถ้าจะแปลง่าย ๆ ก็ว่า ความคิดปรุงแต่ง แม้ในความหมายแง่นี้ก็ยึดเอาเจตนานั่นเองเป็นหลัก บางครั้งท่านก็แปลเอาง่าย ๆ รวบรัดว่า สังขารก็คือเจตนาทั้งหลายนั่นเอง (ดู สํ.ข.17/122/79;)

ค. มองเลยออกมาข้างนอกเล็กน้อย คือมองในแง่ของชีวิตที่สำเร็จรูปแล้วเป็นหน่วยหนึ่ง ๆ หรือมองชีวิตที่ด้านนอกอย่างเป็นหน่วยรวมหน่วยหนึ่ง ๆ ตามที่สมมติเรียกกันว่า บุคคลผู้หนึ่ง ๆ ซึ่งดำเนินชีวิตอยู่ในโลก เป็นเจ้าของบทบาทของตน ๆ ต่างหาก ๆ กันไป

กรรมในแง่นี้ก็คือ การทำ การพูด การคิด หรือการคิดนึก และการแสดงออกทางกายวาจา หรือความประพฤติที่เป็นไปต่าง ๆ ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบเก็บเกี่ยวผลเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะมองแคบ ๆ เฉพาะเวลาเฉพาะหน้า หรือมองกว้างไกลออกไปในอดีต และอนาคตก็ตาม

กรรมในความหมายนี้ เข้ากับความหมายกว้าง ๆ ที่แสดงไว้ข้างต้น และเป็นแง่ความหมายที่กล่าวถึงบ่อยที่สุด เพราะปรากฏในคำสอนต่อบุคคล มุ่งให้ทุกคนรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และพยายามประกอบแต่กรรมดี เช่น ในพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 2 ประการนี้ เป็นเหตุให้เดือดร้อน สองประการคืออะไร? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มิได้ทำความดีงามไว้ มิได้ทำกุศล มิได้ทำบุญซึ่งเป็นเครื่องต่อต้านความขลาดกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมหยาบช้า ทำแต่กรรมร้ายกาจ เขาย่อมเดือดร้อนว่าเราไม่ได้ทำกรรมดีงาม ดังนี้บ้าง ว่าเราได้ทำบาปไว้ดังนี้บ้าง...” (ดู ขุ.อิติ.25/208-9/248-9)

ง. มองกว้างออกไปอีก คือมองในแง่กิจกรรมของหมู่มนุษย์ ได้แก่ กรรมในความหมายของการประกอบอาชีพการงาน การดำเนินชีวิต และการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเจตน์จำนง การคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปในสังคมมนุษย์อย่างที่เป็นที่เห็นกันอยู่ เช่น พุทธพจน์ในเวเสฏฐสูตรว่า

“ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์... ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยศิลปะเป็นอันมาก ผู้นั้นเป็นศิลปิน... ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า... ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นผู้รับใช้... ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร... ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยลูกศรและศาตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นนักรบอาชีพ... ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยความเป็นปุโรหิต ผู้นั้นเป็นผู้ยังบุคคลให้บูชา มิใช่เป็นพราหมณ์... ผู้ใดผู้หนึ่งปกครองบ้านและแว่นแคว้น ผู้นั้นเป็นพระราชามิใช่พราหมณ์... ฯลฯ

เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลสค้างใจ ไม่มีความถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ เรียกคนที่ไม่มีกิเลสค้างใจ ไม่มีความถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์... คนมิใช่เป็นพราหมณ์เพราะกำเนิด แต่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม (การงาน อาชีพ ความประพฤติ การดำเนินชีวิต) เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ เป็นโจร เป็นทหาร เป็นปุโรหิต และแม้แต่เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม

บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมมองกรรมตามเป็นจริงอย่างนี้ โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่ประชาย่อมเป็นไปเพราะกรรม...” (ม.ม.13/707/643-9; ขุ.สุ.25/382/451-8)

หรือดังพุทธพจน์ใน อัคคัญญสูตร เช่นว่า

“ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างปรับทุกข์กันว่า ท่านเอ๋ย ธรรมชั่วร้ายทั้งหลายปรากฏขึ้นในหมู่สัตว์ทั้งหลายเสียแล้วหนอ อันเป็นเหตุให้การลักทรัพย์ก็ปรากฏมี การติเตียนกันก็ปรากฏมี การพูดเท็จก็ปรากฏมี การถือไม้พลองก็ปรากฏมี อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักเลือกตั้ง (สมมติ) สัตว์ผู้หนึ่งขึ้น ให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ

พวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหาสัตว์ผู้สง่างาม น่าดูน่าชม น่าเลื่อมใส และน่าเกรงขาม ยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว

แจ้งความดังนี้ว่า มาเถิดท่านสัตว์ผู้เจริญ ท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ตำหนิผู้ที่ควรตำหนิได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด พวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ท่าน สัตว์ผู้นั้น ได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว... เพราะเหตุที่เป็นผู้ซึ่งมหาชนเลือกตั้งดังนี้แล จึงเกิดถ้อยคำว่า มหาสมมติ ขึ้นเป็นประถม...” (ที.ปา.11/62-3/101-2 (คำว่า สัตว์ ในภาษาบาลีปกติหมายถึงคนเป็นหลัก เช่น เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ว่า โพธิสัตว์บ้าง มหาสัตว์บ้าง และเรียกแม้ภายหลังตรัสรู้แล้วว่า สัตว์ผู้ไม่มีทางหลงได้เลยบ้าง เช่น ม.มู.12/46/37; 192/165 )

หรือในจักกวัตติสูตร เช่นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย โดยนัยดังนี้แล เมื่อผู้ครองแผ่นดินไม่จัดเสริมเพิ่มทรัพย์ให้แก่ชนทั้งหลายผู้ไร้ทรัพย์ ความยากจนก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อความยากจนถึงความแพร่หลาย การลักทรัพย์ก็ถึงความแพร่หลาย เมื่อการลักทรัพย์ก็ถึงความแพร่หลาย ศัตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัตราก็ถึงความแพร่หลาย การฆ่าฟันสังหารกัน (ปาณาติบาต) ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อการฆ่าฟันสังหารกันได้ถึงความแพร่หลาย การพูดเท็จก็ได้ถึงความแพร่หลาย... การพูดส่อเสียด... กาเมสุมิจฉาจาร... ธรรมสองอย่าง คือผรุสวาทและการพูดเพ้อเจ้อ... อภิชฌาและพยาบาท... มิจฉาทิฏฐิ ก็ได้ถึงความแพร่หลาย...” (ที.ปา.11/45/77 (จัดเสริมเพิ่มให้ แปลจา อนุปทาน ซึ่งหมายถึงคอยจัดเพิ่มให้ หรือเอาใจใส่ คอยจัดแบ่งปันให้ จะแปลว่า ปันเฉลี่ย ก็ได้)

อย่างไรก็ตาม แม้จะให้มองความหมายของกรรมครบทั้ง 4 ระดับอย่างนี้ เพราะได้ความหมายที่สมบูรณ์ แต่ก็ขอสรุปย้ำไว้ว่า จะต้องถือเอาความหมายในแง่ของเจตนาเป็นแกนยืนเสมอไป

เพราะเจตนาเป็นตัวการที่นำมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย และกำหนดแนวทาว่าจะเกี่ยวข้องแบบไหน อย่างไร จะเลือกรับอะไรหรือไม่ จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร จะปรุงแปร ดัดแปลงแต่งเสริมโลกอย่างไร จะทำตัวเป็นช่องทางแสดงออกของอกุศลธรรมในรูปของตัณหา หรือในรูปของโลภะ โทสะ โมหะ

หรือจะนำหน้าพากุศลธรรมออกปฏิบัติงานส่งเสริมประโยชน์สุข ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอำนาจอิสระของเจตนาที่จะทำ การกระทำใดไร้เจตนา ก็ย่อมไม่มีผลตามของกรรมนิยาม คือไม่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม กลายเป็นเรื่องของนิยามอื่นทำหน้าที่ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตุนิยาม คือมีค่าเหมือนกับการที่ดินถล่ม ก้อนหินกร่อนร่วงหล่นจากภูเขา หรือกิ่งไม้แห้งหักลงมา เป็นต้น


กรรมตามนัยพุทธธรรม : ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวก้บกฎแห่งกรรม (3)

ประเภทของกรรม

กรรมนั้นเมื่อจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ ย่อมแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ

(ดู องฺ.ติก20/445/131, 551/338; ขุ.อิติ.25/208-9/248-9; 242-3/272; อกุศลมูลและกุศลมูล ดู ที.ปา.11/394/292; องฺ.ติก.20/509/258; อภิ.สํ.34/663/259; อนึ่ง ในกุศลมูล 3 นั้น พึงทราบว่า อโลภะ ไม่โลภ หมายถึงธรรมที่เป็นปรปักษ์กับความโลภ รวมถึงจาคะ, อโทสะ ไม่คิดประทุษร้าย หมายถึงธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโทสะ โดยเฉพาะเมตตา , อโมหะ ไม่หลง หมายถึงธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความหลง โดยเฉพาะปัญญา (ดูอภิ.สํ.34/690/271, ม.ฎี.ฉบับพม่า 1/56) )

1. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี กรรมชั่ว หมายถึงการกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ

2. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี หรือกรรมดี หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ

แต่ถ้าจำแนกตามทวาร คือทางที่ทำกรรม หรือทางแสดงออกของกรรม จัดเป็น 3 คือ

(ม.ม.13/64/56; องฺ.ติก.20/445/131; อภิ.สํ.34/663/259)

ก. กายกรรม กรรมทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย

ข. วจีกรรม กรรมทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา

ค. มโนกรรม กรรมทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ

เมื่อจำแนกให้ครบตามหลักสองข้อที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีกรรมรวมทั้ง 6 อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แต่ละอย่างที่เป็นอกุศล กับกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แต่ละอย่างที่เป็นกุศล

(องฺ.ติก.20/445/131; 586/376)

อีกอย่างหนึ่ง ท่านจำแนกกรรมตามสภาพที่สัมพันธ์กับวิบากหรือการให้ผล จัดเป็น 4 อย่าง คือ

(กรรม 4 นี้ ทรงแสดงความหมายไว้โดยปริยายต่าง ๆ คือมีหลายนัย ดู ที.ปา.11/256/242; ม.ม.13/88/82; องฺ.จตุกฺก.21/232-8/313-322 )

1. กรรมดำ มีวิบากดำ ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขารและมโนสังขาร ที่มีการเบียดเบียน ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และดื่มสุราเมรัย

2. กรรมขาว มีวิบากขาว ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังจาร ที่ไม่มีการเบียดเบียน ตัวอย่างคือ การประพฤติตามกุศลกรรมบถ 10

3. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร ที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง เช่น การกระทำของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป

4. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ได้แก่ เจตนาเพื่อละกรรมทั้งสามอย่างข้างต้น หรือว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โพชฌงค์ 7 หรือมรรคมีองค์ 8

ในชั้นอรรถกถา มีการแบ่งประเภทของกรรมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนิยมถือตามกันมา และเป็นที่รู้จักกันดีในยุคหลัง ๆ คือ การจัดแบ่งเป็นกรรม 12 หรือกรรมสี่ 3 หมวด เช่น ที่แสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น แต่เพื่อป้องกันความฟั่นเฝือ จึงจะไม่กล่าวไว้ในที่นี้

(ผู้สนใจเรื่องกรรม 12 พึงดู “บันทึกพิเศษท้ายเล่ม”)

ในบรรดากรรม 3 อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น มโนกรรมสำคัญที่สุดและมีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ดังบาลีว่า

“ดูกรตปัสสี บรรดากรรม 3 อย่างเหล่านี้ ที่เราจำแนกไว้แล้วอย่างนี้ แสดงความแตกต่างกันแล้วอย่างนี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในความเป็นไปแห่งบาปกรรม หาบัญญัติกายกรรมอย่างนั้นไม่ หาบัญญัติวจีกรรมอย่างนั้นไม่”

(ม.ม.13/64/56)

เหตุผลที่มโนกรรมสำคัญที่สุด ก็เพราะเป็นจุดเริ่มต้น คนคิดก่อนแล้วจึงพูดจึงกระทำ คือแสดงออกทางกายและวาจา ดังนั้น วจีกรรมและกายกรรม จึงขยายออกมาจากมโนกรรมนั่นเอง และที่ว่ามีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ก็เพราะว่ามโนกรรมรวมถึง ความเชื่อถือ ความเห็น ทฤษฎี แนวความคิดและค่านิยมต่าง ๆ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ

ทิฏฐินี้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทั่ว ๆ ไปของบุคคล ความเป็นไปในชีวิตของบุคคลและคติของสังคมทั้งหมด เมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิดการ พูดจาสี่งสอนชักชวนกัน และทำการต่าง ๆ ไปตามที่เชื่อที่เห็นที่นิยมอย่างนั้น

ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการ ก็ดำเนินไปในทางผิด เป็นมิจฉาไปด้วย

ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการต่าง ๆ ก็ดำเนินไปในทางถูกต้องเป็นสัมมาไปด้วย

(ที่ว่า มิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ เป็นมโนกรรม ดู องฺ.ทสป.24/194-5/318/-230 เป็นต้น)

เช่น คนและสังคมที่เห็นว่าความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุมีค่าสูงสุดเป็นจุดหมายที่พึงใฝ่ประสงค์ ก็จะเพียรพยายามแสวงหาวัตถุที่พรั่งพร้อม และถือเอาความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุนั้น เป็นมาตรฐานวัดความเจริญรุ่งเรือง เกียรติยศ และศักดิ์ศรี เป็นต้น วิถีชีวิตของคนและแนวทางของสังคมนั้นก็จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่ง ส่วนคนและสังคมที่ถือความสงบสุขทางจิตใจเป็นที่หมาย ก็จะมีวิถีชีวิตและความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

พุทธพจน์แสดงความสำคัญของมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐินั้นมีมากมาย เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นก็เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย...”

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายทีเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย...”

(องฺ.เอก.20/181-2/40-41)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ กายกรรมที่ยึดถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี วจีกรรมที่ถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี มโนกรรมตามทิฏฐิก็ดี เจตนาก็ดี ความปรารถนาก็ดี ประณิธานก็ดี การปรุงแต่งทั้งหลายก็ดี

ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

ก็เพราะทิฏฐิชั่วร้าย, เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่เขาเอาลงปลูกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซึมไว้ทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เป็นของเผ็ด เป็นของไม่อร่อย ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ก็เพราะพืชไม่ดี...

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ กายกรรมที่ยึดถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี วจีกรรมที่ถือปฏิบัติพรั่งพร้อมตามทิฏฐิก็ดี มโนกรรมตามทิฏฐิก็ดี เจตนาก็ดี ความปรารถนาก็ดี ประณิธานก็ดี การปรุงแต่งทั้งหลายก็ดี

ธรรมทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

ก็เพราะทิฏฐิดีงาม เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลน้ำจันทน์ก็ดี ที่เขาปลูกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซึมไว้ทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อความมีรสหวาน เพื่อความเป็นของอร่อย เพื่อความน่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? ก็เพราะพืชดีงาม...

(องฺ.เอก20/189-190/42-43; ดู องฺ.ทสก.24/104/226 ด้วย)

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความทุกข์แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นคือใคร?

ได้แก่ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะอันวิปริต, เอกบุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐินั้นย่อมยังพหูชนให้คลาดจากสัทธรรม ให้ตั้งมั่นในอสัทธรรม...

“ภิกษุทั้งหลาย เอกบุคคล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุคคลนั้นคือใคร?

ได้แก่ผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีทัศนะไม่วิปริต, เอกบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐินั้นย่อมยังพหูชนให้ออกพ้นจากอสัทธรรม ให้ตั้งมั่นในสัทธรรม...

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย, ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เป็นโทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง”

(องฺ.เอก.20/191-3/44; พึงกล่าวความสำคัญของทิฏฐิผิดและถูกในการที่จะตรัสรู้ไว้ได้หรือไม่ด้วย ดู สํ.ม.19/42-3/13; 280-1/73)

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นเจ้าใหญ่ สำเร็จด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีจิตใจเสียหายแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไป เหมือนล้อหมุนตามโคที่ลากเกวียน... ถ้าบุคคลมีจิตใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความสุขย่อมติดตามมา เหมือนดังเงาที่ติดตามตัว”

(ขุ.ธ.25/11/15)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


กรรมตามนัยพุทธธรรม : เกณฑ์ตัดสินเกี่ยวกับ ความดี - ความชั่ว (1)

ปัญหาเกี่ยวกับความดี - ความชั่ว


กรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความดีและความชั่วโดยตรง เมื่อพูดถึงกรรม จึงควรพูดถึงเรื่องความดีและความชั่วไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

เรื่องความดีและความชั่ว มักมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายและหลักเกณฑ์ที่จะวินิจฉัย เช่นว่า อะไรและอย่างไร จึงจะเรียกว่าดี อะไรและอย่างไรจึงจะเรียกว่าชั่ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาเช่นนี้มีมากเฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ส่วนในทางธรรมที่ใช้คำบัญญัติจากภาษาบาลี ความหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้นับได้ว่าชัดเจน ดังจะได้กล่าวต่อไป

คำว่าดีและชั่ว ในภาษาไทย มีความหมายกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่าดี มีความหมายกว้างยิ่งกว่าคำว่าชั่ว คนประพฤติดีมีศีลธรรม ก็เรียกว่าคนดี อาหารอร่อยถูกใจผู้ที่กินก็อาจพูดว่า อาหารมื้อนี้ดี หรืออาหารร้านนี้ดี เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพหรือทำงานเรียบร้อย คนก็เรียกว่าเครื่องยนต์ดี ไม้ค้อนที่ใช้ได้สำเร็จประโยชน์สมประสงค์คนก็ว่าค้อนนี้ดี ภาพยนตร์ที่สนุกสนานถูกใจ คนที่ชอบก็ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดี ภาพเขียนสวยงามคนก็ว่าภาพนี้ดี หรือถ้าภาพนั้นอาจขายได้ราคาสูง คนก็ว่าภาพนั้นดีเช่นเดียวกัน

โรงเรียนที่บริหารงานและมีการสอนได้ผลนักเรียนเก่ง ก็เรียกกันว่าโรงเรียนดี โต๊ะตัวเดียวกัน คนสามคนบอกว่าดี แต่ความหมายที่ว่าดีนั้นอาจไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งว่าดีเพราะสวยงามถูกใจเขา อีกคนหนึ่งว่าดีเพราะเหมาะแก่การใช้งานของเขา อีกคนหนึ่งว่าดีเพราะเขาจะขายได้กำไรมาก ในทำนองเดียวกัน ขอบที่คนหนึ่งว่าดี อีกหลายคนอาจบอกว่าไม่ดี ของบางอย่างมองในแง่หนึ่งว่าดี มองในแง่อื่นอาจว่าไม่ดี ความประพฤติหรือการแสดงออกบางอย่าง ในถิ่นหนึ่ง หรือสังคมหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสังคมหนึ่งว่าไม่ดี ดังนี้เป็นต้น

เหตุที่ยุติไม่ได้ หรืออย่างน้อยไม่ชัดเจน อาจต้องจำแนกเป็นดีในทางจริยธรรม ดีในแง่สุนทรียภาพ ดีในแง่เศรษฐกิจ เป็นต้น เหตุที่มีความยุ่งยากสับสนเช่นนี้ ก็เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า และคำว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” ในภาษาไทย ใช้กับเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าได้ทั่วไปหมด

ความหมายจึงกว้างขวางและผันแปรได้มากเกินไป เพื่อตัดปัญหาเกี่ยวกับความยุ่งยากสับสนนี้ จึงจะไม่ใช่คำว่าดี ไม่ดี หรือชั่วในภาษาไทย และเป็นอันไม่ต้องพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

ในการศึกษาเรื่องความดีความชั่ว ที่เกี่ยวกับกรรมนี้ มีข้อควรทราบดังนี้

ก. ความดีความชั่ว ณ ที่นี่ เป็นการศึกษาในแง่ของกรรมนิยาม และมีคำเรียกโดยเฉพาะว่ากุศล และอกุศลตามลำดับ คำทั้งสองคำนี้มีความหมายและหลักเกณฑ์วินิจฉัยที่นับได้ว่าชัดเจน

ข. การศึกษาเรื่องกุศลและอกุศลนั้น มองในแง่จริยธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของกรรมนิยาม จึงเป็นการศึกษาในแง่สภาวะ หาใช่เป็นการศึกษาในแง่คุณค่าอย่างที่มักเข้าใจกันไม่

(ถ้าจะใช้คำว่าคุณค่า ก็หมายถึง คุณค่าโดยสภาวะ ไม่ใช่คุณค่าตามที่กำหนดให้)

การศึกษาในแง่คุณค่าเป็นเรื่องในระดับสังคมนิยมน์ หรือสังคมบัญญัติ ซึ่งมีขอบเขตที่แยกจากกรรมนิยามได้ชัดเจน

ค. ความเป็นไปของกรรมนิยาม ย่อมสัมพันธ์กับนิยามและนิยมน์อื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะที่พึงใส่ใจพิเศษคือ ในด้านภายในบุคคล กรรมนิยามอิงอยู่กับจิตนิยามในด้านภายนอก กรรมนิยามสัมพันธ์กับสังคมนิยมน์ หรือสังคมบัญญัติ ข้อที่พึงเน้นก็คือ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยาม กับสังคมนิยมน์ จะต้องแยกขอบเขตระหว่างกันให้ชัด และจุดเชื่อมต่อซึ่งเป็นทั้งที่แยก และที่สัมพันธ์ ระหว่างขอบเขตทั้งสองนั้นก็มีอยู่


ความหมายของกุศลและอกุศล


กุศล และอกุศล แปลกันโดยทั่วไปว่า ดีและชั่วหรือไม่ดี ก็จริง แต่แท้จริงแล้ว หาตรงกันทีเดียวไม่ สภาวะบางอย่างเป็นกุศล แต่อาจจะไม่เรียกว่าดีในภาษาไทย สภาวะบางอย่างอาจเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยก็ไม่เรียกว่าชั่ว ดังจะเห็นต่อไป

กุศล และอกุศล เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตใจ และมีผลต่อจิตใจก่อน แล้วจึงมีผลต่อบุคลิกภาพและแสดงผลนั้นออกมาภายนอก ความหมายของกุศลและอกุศลจึงเพ่งไปที่พื้นฐาน คือเนื้อหาสาระ และความเป็นไปภายในจิตใจเป็นหลัก

กุศล แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อหรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ ส่วน

อกุศล ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงกันข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น

ความหมายเชิงอรรถในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลักมี 4 อย่างคือ

1. อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค อย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่า สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะหรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไมกระสับกระส่าย เป็นจิตแข็งแรง คล่องแคล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น

2. อนวัชชะ ไม่มีโทษหรือไร้ตำหนิ แสดงถึงสภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสีย ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลา เอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น

3. โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญา หรือมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ สว่าง มองเห็นหรือรู้เท่าทันความเป็นจริง สอดคล้องกับหลักที่ว่า กุศลธรรมมีโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดแยบคาย หรือรู้จักทำใจอย่างฉลาดเป็นปทัฏฐาน

4. สุขวิบาก มีสุขเป็นวิบาก คือเป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ย่อมเกิดความสุขสบายคล่องใจในทันทีนั้นเอง ไม่ต้องรอว่าจะมีผลตอบแทนภายนอกหรือไม่ เหมือนกับว่า เมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน (อโรค) ไม่มีสิ่งสกปรกเสียหาย มลทิน หรือของที่เป็นพิษภัยมาพ้องพาน (อนวัชชะ) และรู้ตัวว่าอยู่ในที่มั่นคงปลอดภัย ถูกต้องเหมาะสม (โกศลสัมภูต) ถึงจะไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดพิเศษออกไป ก็ย่อมมีความสบาย ได้เสวยความสุขอยู่แล้วในตัว



นอกจากความหมายทั้ง 4 นี้แล้ว คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึงความหมายอื่นอีก 3 อย่าง คือ

เฉกะ แปลว่าฉลาด และ

เขมะ แปลว่า เกษม คือปลอมโปร่ง มั่นคง ปลอดภัย และ

นิททรถะ แปลว่า ไม่มีความกระวนกระวาย

แต่พอจะเห็นได้ว่า ความหมาย 3 อย่างนี้ รวมลงได้ในความหมาย 4 อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างบน

(ที่มาพึงดู คือ สงฺคณี อ.103 , 134 ; ปฏิสํ.อ.156 , 246; วิสุทธิ.ฎีกา 3/61-63; สงฺคณี อนุฎีกา 201; ที.อ. 2/325; 3/89; องฺ.อ.2/463; ในที่มาบางแห่ง นอกจากแสดงความหมายของคำอย่างที่ยกมาอ้างแล้ว ท่านได้แสดงความหมายตามรูปศัพท์ไว้ด้วย ผู้สนใจจึงพึงค้นดูได้เอง, อนึ่ง พึงทราบว่า คำอธิบายความหมายที่แสดงไว้ข้างบนนั้น เป็นการขยายความของผู้เขียนเองด้วย มิใช่คัดมาตรง ๆ จากคัมภีร์; กุศล นิยมแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า wholesome; skilful; skilled; meritorious.)

และในบรรดาความหมาย 4 อย่างนั้น ความหมายที่ 3 คือ โกศลสัมภูต เป็นความหมายแกน

ความหมายของอกุศล ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานี้ คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค ไร้สุขภาพ มีโทษ มีตำหนิ มีข้อเสียหาย เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์ เป็นวิบาก พูดสั้น ๆ อีกนัยหนึ่งว่า เป็นสภาพที่ทำให้จิตเสียคุณภาพและเสื่อมสมรรถภาพ ตรงข้ามกับกุศลซึ่งส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต

เพื่อให้เห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น อาจบรรยายลักษณะของจิตที่ดีงาม ไร้โรค ไม่มีโทษ เป็นต้น ให้ดูก่อน แล้วพิจารณาว่ากุศลธรรมคือสิ่งที่ทำให้จิตมีลักษณะเช่นนั้น หรือกุศลธรรมทำให้เกิดสภาพจิตเช่นนั้นอย่างไร อกุศลธรรมคือสิ่งที่ทำให้จิตขาดคุณลักษณะเช่นนั้น หรือทำให้จิตเสื่อมเสียสภาพเช่นนั้นอย่างไร

ลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้ นำมาจากบาลีในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เป็นลักษณะของจิตที่ดีงาม ตั้งแต่ระดับสามัญจนถึงขั้นสูงสุดคือจิตของพระอรหันต์ ขอให้ถือว่าเป็นการวางภาระที่สมบูรณ์ไว้เป็นมาตรฐาน





ชุดหนึ่งว่า ...

ปัสสัทธะ – ผ่อนคลายหรือเรียบสงบ หรือเย็นสบาย

ลหุ – เบา

มุทุ – นุ่มนวลหรืออ่อนโยนหรือละมุน

กัมมัญญะ – ควรแก่งานหรือพร้อมที่จะใช้งาน

ปคุณ – คล่องแคล่ว

อุชุ – ซื่อตรง ไม่คดโค้งโก่งงอ บิดเบือนแชเชือน

(ดู อภิ.สํ.34/240-250/94-5; ชุดนี้จากโสภณเจตสิกส่วนหนึ่งในอภิธรรม)

ชุดหนึ่งว่า ...

มุทุ – นุ่มนวล ละมุน

กัมมนียะ – ควรงาน เหมาะแก่การใช้งาน

ประภัสสร – ผ่องใส แจ่มจ้า

อปภังคุ – ไม่เปราะเสาะ แข็งแรงทนทาน

สมาหิต – ตั้งมั่น

อนาวรณ์ – ไม่มีสิ่งกีดกั้น ไม่ถูกจำกัด

อนิวรณ์ – ไม่มีสิ่งขัดขวาง ไม่ติดขัดหรือคับข้อง

อนุปักกิลิฏฐ - ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว

อวิฆาต – ไม่คับแค้น ไม่คับเครียดอึดอัด

(ชุดนี้เกี่ยวกับนิวรณ์และโพชฌงค์ เลือกเก็บจาก สํ.ม.19/474-502/131-7)

อีกชุดหนึ่งว่า ...

สมาหิต – ตั้งมั่น ทรงตัวเรียบสม่ำเสมอ

ปริสุทธิ์ – สะอาด หมดจด

ปริโยทาตะ - ผุดผ่อง กระจ่าง สว่างไสว

อนังคณะ - ไร้ไฝฝ้า โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา

วิคตูปกิเลส - ปราศสิ่งมัวหมอง

มุทุภูตะ - นุ่มนวลละมุนละไม

กัมมนียะ - ควรแก่งาน

ฐิตะ และ อาเนยชัปปัตตะ - ทรงตัวอยู่ เข้าที่ อยู่ตัว ไม่หวั่นไหว แน่วแน่ ไม่วอกแวก

(ชุดนี้ คือลักษณะที่ประกอบด้วยสมาธิเป็นอย่างดีแล้ว เช่น ม.ม.13/506/460)



ลักษณะต่อไปนี้โดยมากเป็นภาวะจิตและบุคลิกภาพของพระอรหันต์ นำมาลงไว้สำหรับประกอบการพิจารณาด้วย เช่น

อกิญจนะ – ไม่มีอะไรค้างใจ ไม่มีสิ่งคั่งค้างกังวล

สันตะ – สงบ แสนซึ้ง

อโศก – ไร้โศก

วิรชะ– ไม่มีธุลี

เขมะ – เกษม ปลอดโปร่ง มั่นคง ไม่มีภัย

นิจฉาตะ – ใจไม่โหยหิว อิ่มใจ

สีติภูตะ – เย็นหรือเย็นซึ้ง

นิพพุตะ – หมดร้อน

เสรี – เที่ยวไปได้ตามสบายไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว

สยังวสี – มีอำนาจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเองแท้จริง

สุขี – มีความสุข หรือเป็นสุข

(ชุดนี้เป็นลักษณะที่กระจายอยู่ในที่หลายแห่ง พึงดูในตอนว่าด้วยภาวะจิตของผู้บรรลุนิพพาน)



อีกชุดหนึ่ง โดยมากเป็นลักษณะจิตและบุคลิกภาพของพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เน้นเฉพาะแง่ที่เป็นอิสระ เช่น

อนัลลีนะ – ไม่ติดหรือไม่หมกมุ่น

อนัชโฌสิต – ไม่สยบ

อนูปลิตต์ – ไม่ถูกฉาบติดหรือไม่แปดเปื้อน

อนิสสิต – ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด

วิสัญญุต – ไม่พัวพัน

วิปปมุตต์ – หลุดพ้น

วิมริยาทิกตจิต – มีจิตไร้ขอบคั่น หรือมีใจไร้เขตแดน

(ชุดนี้มีมากมายหลายแห่ง จำนวนคำแปลกกันไปบ้างเล็กน้อย พึงดู มงอุ.14/155/117; 168/124; สํ.ข.17/63/38; สํ.สฬ.18/17/14; องฺ.ติก.20/545/334; อง.ทสก.24/81/161; และกระจายทั่วไปในคัมภีร์มหานิทเทส ไม่น้อยกว่า 15 แห่ง เช่น ขุ.ม.29/64/65; 87/84; 121/107; 213/161; ฯลฯ )

เพื่อให้กำหนดได้ง่ายขึ้น อาจรวมลักษณะเหล่านี้เข้าเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1. ตั้งมั่น เช่น แน่วแน่ อยู่ตัว ทรงตัว เรียบสม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว ไม่วอกแวก ไม่พล่าน ไม่ส่าย

2. บริสุทธิ์ผ่องใส เช่น ปราศสิ่งมัวหมอง ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไร้ไฝฝ้า เกลี้ยงเกลา ผุดผ่อง แจ่มจ้า สว่างไสว

3. โปร่งโล่งเป็นอิสระ เช่น ไม่ติดข้อง ไม่คับแคบ ไม่ถูกจำกัดขัดขวาง ไม่ถูกกดทับหรือบีบคั้น ไม่อึดอัด กว้างขวาง ไร้เขตแดน

4. เหมาะแก่การใช้งาน เช่น นุ่มนวล อ่อนละมุน เบาสบาย ไม่หนัก คล่องแคล่ว ทนทาน ไม่เปราะเสาะ ไม่กระด้าง ซื่อตรง ไม่เอนเอียง ไม่คดงอ ไม่บิดเบือน ไม่เฉไฉ

5. สงบสุข เช่น ผ่อนคลาย เรียบสงบ ไม่เครียด ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย หรือทุรนทุราย ไม่ขาดแคลน ไม่หิวโหย เอิบอิ่ม



เมื่อทราบลักษณะของจิตใจที่สมบูรณ์ มีสุขภาพดี ไร้มลทินโทษเช่นนี้แล้ว ก็พึงนำเอาธรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นกุศลและอกุศลมาพิจารณาตรวจสอบดูว่า ธรรมที่เป็นกุศลส่งเสริมคุณภาพ และสมรรถภาพของจิตใจจริงหรือไม่อย่างไร และธรรมที่เป็นอกุศลทำให้จิตมีโรค เกิดความเน่าเสีย ผุโทรม เสียหายบกพร่อง ไม่สบาย เป็นทุกข์ เสื่อมเสียคุณภาพและสมรรถภาพจิตจริงหรือไม่อย่างไร

ตัวอย่างกุศลธรรม เช่น

สติ – ความระลึกได้ ความสามารถคุมจิตอยู่กับสิ่งที่พึงเกี่ยวข้องหรือกิจที่ต้องทำ

เมตตา – ความรัก ความปรารถนาดี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข

อโลภะ – ความไม่โลภ ว่างจากความอยากใคร่ติดใจ ตลอดจนมีความคิดเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น

ปัญญา – ความรู้ชัด ความเข้าใจ ความรู้เท่าทันตามความเป็นจริง

ปัสสัทธิ – ความผ่อนคลายสงบ เย็นกายเย็นใจ ไม่เครียด ไม่กระสับกระส่าย

กุศลฉันทะ – ความพอใจใฝ่รักในสิ่งดีงาม อยากรู้อยากทำให้เป็นจริง มีจิตพุ่งแล่นไปในแนวทางแห่งเหตุปัจจัย

มุทิตา – ความพลอยเบิกบานยินดี บันเทิงใจ เมื่อผู้อื่นประสบความเจริญหรือเป็นสุข เป็นต้น

ตัวอย่างอกุศลธรรม เช่น

กามฉันท์ – ความอยากได้ใคร่เอา

(ความแตกต่างระหว่าง กุศลฉันทะ กับ กามฉันท์ หรือโลภะ ได้แสดงไว้ในตอนว่าด้วยปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจใน “พุทธธรรม” บทที่ 14 ในที่นี้พึงสังเกตคร่าว ๆ ว่า “โลภะ” จับอารมณ์ที่เสมือสำเร็จรูปแล้วหรือตั้งอยู่ ณ สุดทางที่ตันหรือตายตัวของมัน โลภะมุ่งจะเอาอารมณ์นั้นมาเสพเสวย และเกิดมีตัวตนที่จะเอาหรือเสพเสวยนั้น ส่วน “ฉันทะ” จับอารมณ์ที่เสมือนตั้งอยู่ ณ จุดเริ่มต้นของมัน มีอาการที่จิตแผ่ไปรวมกลมกลืนกับสิ่งหรืออารมณ์นั้น ในการกระทำเพื่อก้าวไปสู่จุดหมายคือความเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกที่จะเสพเสวยและไม่เกิดความรู้สึกจำกัดแบ่งแยกมีตัวตนที่จะเอาหรือจะเสพเสวย)

พยาบาท – ความคิดร้าย ขัดเคือง หรือแค้นใจ

ถีนมิทธะ – ความหดหู่ท้อแท้ใจ หงอยเหงา เซื่องซึม และโงกง่วง

อุทธัจจกุกกุจจะ – ความฟุ้งซ่าน คิดพล่าน หงุดหงิด กลัดกลุ้ม รำคาญ และเดือดร้อนใจ

วิจิกิจฉา – ความลังเลไม่อาจตัดสินใจ

โกรธ – ความโกรธ

อิสสา – ความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีทนไม่ได้

มัจฉริยะ – ความตระหนี่ ความหึงหวง ความคิดเกียดกัน เป็นต้น



เมื่อมีเมตตา จิตใจย่อมสุขสบาย แช่มชื่นผ่องใส ปลอดโปร่งและกว้างขวาง เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต เมตตาจึงเป็นกุศล สติทำให้ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้องหรือต้องทำ ระลึกได้ถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในกรณีนั้น ๆ และป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมทั้งหลายได้โอกาส ทำให้จิตใจอยู่ในสภาพร้อมที่จะทำงานได้อย่างดี สติจึงเป็นกุศล

ความริษยา ทำให้จิตใจแคบ ถูกกดทับบีบคั้น ไม่สบาย ไม่ปลอดโปร่ง บั่นทอนคุณภาพและสุขภาพจิตอย่างเห็นได้ชัด ความริษยาจึงเป็นอกุศล ความโกรธก็แผดเผาใจของตนเอง บีบคั้นกระทบใจให้ไม่สบายและส่งผลกระทบกระเทือนออกมาถึงสุขภาพกายได้อย่างรวดเร็ว จึงเห็นได้ชัดเช่นกันว่าเป็นอกุศล

กามฉันท์ หรือแม้ความโลภอย่างกว้าง ๆ ก็ทำให้จิตใจวกวนพัวพัน ติดข้อง กลัดกลุ้ม หรือเอนเอียงไป เดินไม่ตรงและมัวหมอง ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่ผ่องใส จึงเป็นอกุศล ดังนี้เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า ความหดหู่ หงอยเหงา เฉาซึมและความฟุ้งซ่าน เป็นต้น แม้จะเป็นอกุศล แต่ในภาษาไทยจะเรียกว่าเป็นความชั่ว ก็คงไม่สู้ถนัดปากนัก ในทำนองเดียวกัน กุศลธรรมบางอย่าง เช่น ความสงบผ่อนคลายภายในกายในใจ จะเรียกในภาษาไทยว่าความดี ก็อาจจะไม่สนิททีเดียวนัก นี้เป็นตัวอย่างแง่หนึ่งให้เห็นว่า กุศลและอกุศล กับความดีและความชั่ว มิใช่มีความหมายตรงกันแท้ทีเดียว

เมื่อเข้าใจความหมายของกุศลและอกุศลอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าใจความหมายของกรรมดีและกรรมชั่ว คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมด้วย

ดังได้กล่าวแล้วว่า เจตนาเป็นตัวกรรม ดังนั้น เจตนาที่ประกอบกุศล ก็เป็นกุศลเจตนา และเป็นกุศลกรรม ดังนั้น เจตนาที่ประกอบด้วยอกุศล ก็เป็นอกุศลเจนนาและเป็นอกุศลกรรม

เมื่อกุศลเจตนาและอกุศลเจตนานั้น เป็นไปหรือแสดงออกโดยทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ตามลำดับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


1) กุศลและอกุศล เป็นปัจจัยแก่กันได้

คนบางคนหรือบางคราว มีศรัทธา หรือได้บำเพ็ญทาน หรือรักษาศีล หรือเป็นผู้มีปัญญาเป็นต้นอันเป็นกุศล แล้วเกิดความลำพองในความดีเหล่านั้น ถือเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น ความลำพองก็ดี ยกตนข่มผู้อื่นก็ดี เป็นอกุศล อย่างนี้เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยให้แก่อกุศล

บางคนบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานแล้วเกิดราคะ คือติดใจในฌานนั้น บางคนเจริญเมตตาเพียงตั้งความปรารถนาดีมองคนในแง่ดี บางทีประสบอารมณ์ที่น่าปรารถนา เมตตานั้นเลยให้ช่องช่วยให้ราคะเกิดขึ้นโดยง่าย แล้วอาจตามมาด้วยอกุศลธรรมอื่นอีก เช่น ฉันทาคติเป็นต้น อย่างนี้ก็เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล

ศรัทธาเป็นกุศลธรรม ทำให้จิตใจผ่องใสและมีกำลังพุ่งแล่นแน่วไป แต่เมื่อปฏิบัติต่อศรัทธานั้นไม่แยบคาย ก็อาจกลายเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิและมานะ ยึดถือว่าของตนเท่านั้นจริงแท้ ของคนอื่นมีแต่เท็จ อาจถึงกับก่อความวิวาทบาดหมางเบียดเบียนกัน นี้ก็เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล

บางคนมีราคะอยากไปเกิดในสวรรค์ จึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติเป็นผู้มีศีล บางคนมีราคะอยากได้ความสุขสงบทางจิตใจ จึงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ เด็กบางคนมีราคะอยากให้ผู้ใหญ่ชมว่าเป็นคนดี จึงพยายามประพฤติตัวให้ดีมีศีลมีวินัย นักเรียนบางคนมีราคะอยากสอบได้ดี จึงเกิดฉันทะและขยันเล่าเรียนหาความรู้

(คำว่า ราคะในที่น้จะใช้ โลภะแทนก็ได้ และเข้ากับความรู้สึกของคนไทยดีกว่า แต่ที่ใช้อย่างนี้เพื่อคงคำเดิมไว้ตามที่ท่านแสดงในคัมภีร์ปัฏฐาน (อภิ.ป.40/551/179; 488/155; ฯลฯ) กับทั้งจงใจใช้เพื่อแก้ความเข้าใจความหมายคับแคบอย่างที่รู้สึกกันในภาษาไทย)

บางคนเกิดความโกรธเผาลนตัวขึ้นแล้ว บางคราวเกิดปัญญาเข้าใจชัดถึงโทษของความโกรธนั้น บางคนโกรธแค้นศัตรูจึงเกิดความเห็นใจคิดช่วยเหลือผู้อื่น บางคนเกิดความกลัวตายขึ้นแล้วสำนึกได้หายตระหนี่ มีจิตใจเผื่อแผ่เสียสละ ตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป คนอีกบางคนมีความกลุ้มใจจึงเป็นเหตุให้เกิดความศรัทธาธรรม อย่างนี้ก็เรียกว่า อกุศลเป็นปัจจัยให้แก่กุศล

เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง พ่อแม่เตือนไม่ให้ไปมั่วสุมกับหมู่เพื่อนอย่างไม่ระวัง แต่ไม่เชื่อฟัง ต่อมาถูกเพื่อนร้ายคนหนึ่งหลอกทำให้ติดยาเสพติด พอรู้ตัวทั้งโกรธแค้นทั้งเศร้าเสียใจขุ่นหมอง เกิดความเข้าใจในคำเตือนของพ่อแม่และซาบซึ้งต่อความปรารถนาดีของท่าน (อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล) เป็นเหตุให้ยิ่งเสียใจประดังโกรธเกลียดชังตัวเอง (กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล)

เมื่อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล หรืออกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลนั้น ขณะที่กุศลเกิด จิตมีสุขภาพดี ขณะที่อกุศลเกิดจิตใจเสียหายขุ่นข้อง สภาพจิตดีไม่ดีเช่นนี้อาจเกิดสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว จึงต้องรู้จักแยกออกเป็นแต่ละขณะ ๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องกุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กันนี้ ได้กล่าวในที่อื่นบ้างแล้ว จึงแสดงเป็นตัวอย่างแต่เพียงเท่านี้

2) บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล

บุญและบาป กับกุศลและอกุศล บางทีใช้แทนกันได้ บางทีใช้แทนกันไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความสับสนว่า

ความหมายของธรรม 2 คู่นี้ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ในที่นี้มิใช่โอกาสที่จะอธิบายเรื่องนี้โดยตรง จึงจะกล่าวไว้พอเป็นแนวทางความเข้าใจ

บุญ มีความหมายตามรูปศัพท์ที่ท่านนิยมแสดงกันไว้ 2 อย่าง คือ เครื่องชำระสันดาน คือชำระพื้นจิตใจให้สะอาด และว่า สิ่งที่ทำให้เกิดผลคือภพที่น่าชื่นชม นอกจากนี้ บางแห่งยังแสดงอื่นไว้อีกว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความน่าบูชา และว่า สิ่งที่ยังอัธยาศัย (ความประสงค์) ของผู้กระทำให้บริบูรณ์

ส่วน บาป มักแปลตามรูปศัพท์ว่า สิ่งที่ทำให้ถึงวัฏฏทุกข์ หรือสิ่งที่ทำให้ถึงทุคติ ( - สิ่งที่ทำให้ตกไปในที่ชั่ว) บางครั้งใช้เป็นคำสามัญของบาป คือ ลามก (ต่ำทราม หรือเลว) บางครั้งใช้เป็นคำวิเศษณ์ของวิบาก แปลว่า ทุกข์หรืออนิฏฐ์ (ไม่น่าปรารถนา) ก็ได้

(ควาหมายเท่าที่กล่าวมานี้ ดู อิติ.อ.102, 199-200; องฺ.อ.1/538; 2/3; อุ.อ.275; วินย.อ.1/495; วิภงฺค.อ.183; วินย.ฎีกา2/145, 275; วิสุทธิ. ฎีกา3/67, 264)

ที่กล่าวมานั้น เป็นความหมายที่นักศัพทศาสตร์คือนักภาษาแสดงไว้ ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น จึงควรทราบความหมายในแง่ของหลักธรรมแท้ ๆ ด้วย เมื่อว่าโดยความหมายอย่างกว้างที่สุด บุญก็มีความหมายเท่ากับกุศล บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล แต่ในการใช้จริง บุญและบาปมักปรากฏในความหมายที่จำกัดแคบและจำเพาะแง่มากกว่ากุศลและอกุศล

กล่าวได้ว่า บาป ใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล มากกว่าที่บุญใช้ในความหมายเท่ากับกุศล แต่ที่ปรากฏบ่อยก็คือ กุศลใช้ในความหมายเท่ากับบุญ ความที่ว่านี้เป็นอย่างไร พึงพิจารณาต่อไป

บาปที่ท่านใช้ในความหมายเท่ากับอกุศลแห่งสำคัญคือ ในสัมมัปปธาที่ว่า เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด และเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ในที่นั้นบุญไม่ได้มากับกุศลธรรมด้วย

(มีที่มามากมายเคยอ้างไว้แล้ว เช่น สํ.ม.19/1090/319 เป็นต้น; ในอรรถกถา เช่น สํ.อ.1/313; สุตฺต.อ.1/109, 226)

มีบาลีหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง โอปธิกบุญ คือบุญที่อำนวยผลแก่เบญจขันธ์ ซึ่งได้แก่บุญที่เป็นโลกียะ ส่อความว่าจะต้องมีอโนปธิกบุญ หรือนิรูปธิบุญ ที่เป็นโลกุตตระเป็นคู่กัน แต่ก็หาได้ทรงออกชื่ออโนปธิกบุญหรือนิรูปธิบุญ ไว้ด้วยไม่

(ดู สํ.ส.15/923/342; องฺ.อฏฺฐก.23/149/301; ขุ.อิติ.25/205/244; 262/290)

มีแต่คำว่าโลกุตตรบุญที่มาในอรรถกถาสักแห่งหนึ่ง

(ที.อ.3/55)

และอรรถกถาน้อยแห่งเหลือเกินจะไขความบุญว่าเท่ากับกุศลทั้งหมด

(ดู อิติ.อ.102)

เมื่อมองดูโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเห็นว่า คำว่าบุญนั้น ท่านใช้ในความหมายของโอปธิกบุญนั่นเอง คือ ถึงจะไม่ได้เขียนคำว่าโอปธิกะกำกับไว้ แต่ก็มีความหมายเท่ากับเขียนโอปธิกะอยู่ด้วย หมายความว่าตรงกับโลกียสุขนั่นเอง

ข้อนี้เท่ากับพูดว่า คำว่าบุญที่ใช้ทั่วไปมีความหมายอยู่เพียงชั้นโลกียะเท่ากับโลกียกุศล หรือกุศลขั้นโลกีย์ จึงเท่ากับเป็นความหมายส่วนหนึ่งของกุศล ไม่ครอบคลุมเท่ากับกุศลบ ซึ่งมีโลกุตตระกุศลด้วย พระอรรถกถาจารย์ท่านสังเกตการใช้คำว่าบุญ แล้วแสดงความหมายไว้ให้เห็นในแง่ด้านที่ละเอียดลงไปอีก ดังที่คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถากถาอิติวุตตกะ

(อิติ.อ.96)

แสดงความหมายของคำว่า “บุญ” ไว้ 5 อย่าง คือ

1. หมายถึงผลบุญ คือ ผลของกุศลหรือผลของความดี เช่น ในข้อความว่า เพราะการสนทนาทานกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ บุญย่อมเจริญเพิ่มพูน

(ที.ปา.11/50/86 (แต่อรรถกถาของที่นี้ คือ ที.อ.3/55 ว่า = โลกุตตระบุญ) )

2. หมายถึงความประพฤติสุจริตในระดับกามาวจรและรูปาวจร เช่นในคำว่า คนตกอยู่ในอวิชชา หากปรุงแต่งสังขารที่เป็นบุญ ( - ปุญญาภิสังขาร)

(เช่น สํ.นิ.16/191/99)

3. หมายถึงภพที่เกิดขึ้นเป็นสุคติพิเศษ เช่นในคำว่า วิญญาณที่เข้าถึงบุญ

(ขุ.อิติ.258/238/270)

4. หมายถึงกุศลเจตนา เช่นในคำว่า บุญกิริยาวัตถุ (คือเท่ากับกุศลกรรม)

(ขุ.อิติ.25/200/240)

5. หมายถึงกุศลธรรมในภูมิสาม เช่นในคำว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย ข้อนี้ตรงกันกับคำว่าโลกียกุศลนั่นเอง

(ขุ.ม.29/121/106 ไขความ ขุ.สุ.25/411/489 และอธิบายใน นิท.อ.1/272; และพึงดู ขุ.ธ.25/13/20; 29/50; 36/70 ด้วย)

ความจริง ข้อที่ 5 เป็นความหมายหลัก ตรงกับคำอธิบายในมหานิทเทสที่ว่า “กุสลาภิสังขารในไตรธาตุ (คือกามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามเรียกว่าบุญ ; อกุศลทั้งหมด เรียกว่า อบุญ (คือบาป)” พูดด้วยคำที่เข้าใจง่ายว่า

บุญ ได้แก่กุศลที่เป็นโลกีย์

บาป ได้แก่อกุศลทั้งหมด (กุศล มีทั้งโลกียะและโลกุตตระ แต่ อกุศล มีเฉพาะโลกียะอย่างเดียว บุญ และ บาป เป็นโลกียะด้วยกันทั้งหมด พูดยักย้ายอีกอย่างว่า บุญ มีแต่โลกียะอย่างเดียว กุศล มีทั้งโลกียะและโลกุตตระ บาป และอกุศล เป็นโลกียะทั้งสิ้น)

พึงสังเกตด้วยว่า ตามคำอธิบายในมหานิทเทสนั้น คำกล่าวที่ว่า พระอรหันต์ละทั้งบุญและบาป ลอยบุญลอยบาปหมดแล้ว หรืออยู่เหนือดีและความชั่วนั้น มีความหมายว่า ละบาป และละบุญคือโลกียกุศลเท่านั้น หาได้ละโลกุตตระกุศลด้วยไม่

ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อคำว่าบุญกับกุศลมาด้วยกัน กุศลมักมีความหมายเท่ากับบุญ จึงหมายความว่า ในกรณีเช่นนี้ คำว่ากุศลถูกใช้ในความหมายแคบลงเท่ากับบุญ คือเป็นเพียงโลกียกุศลเท่านั้น

(กุศลมากับบุญ มีความหมายเท่ากับบุญ เช่น ในคำว่า ปุญญาภิสันทะ กุสลาภิสันทะ (องฺ.ปญฺจก.22/45/56; องฺ.อฏฺฐก.23/129/249; เทียบ สํ.ม.19/1584/493) ; “เขาคิดว่าจะทำบุญกลับไพล่ไปทำอบุญ คิดว่าจะทำกุศล กลับไพล่ไปทำอกุศล” (องฺ.สตฺตก.23/44/44), พึงสังเกต นิรูปธิกุศล มากับ โอปธิกบุญ ใน ขุ.อิติ.25/262/290)

ลักษณะสำคัญของโลกียกุศลหรือบุญนี้ ก็คือ การที่ยังเกี่ยวข้องกับผลที่เป็นอามิส ไม่ใช่เรื่องของความหลุดพ้นเป็นอิสระ หรือการทำลายกิเลสโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างเสริมความที่กล่าวแล้วมีเป็นอันมาก เช่น ในบาลีเมื่อกล่าวถึงภิกษุคิดจะลาสิกขามักกล่าวว่า จะสึกไปกินใช้โภคทรัพย์และทำบุญทั้งหลาย

(เช่น วินย.5/2/6; ม.ม.13/193/201; องฺ.จตุกฺก.21/122/167; องฺ.ฉกฺก22/326/419)

และชีวิตชาวบ้านที่ดีก็ถือกันว่าได้แก่ชีวิตเช่นนั้น

(ดู ม.ม.13/427/391; องฺ.อฏฺฐก.23/111/213)

คำว่าบุญในกรณีเช่นนี้ ก็หมายถึงการทำความดีต่าง ๆ เช่น เผื่อแผ่แบ่งปัน ให้ทาน ประพฤติดี มีศีล เป็นต้น ตรงกับคำว่า กุศลกรรม

(ดูความหมายที่ วินย.อ.1/238; ม.อ.3/272 เป็นต้น)

หรือในข้อความว่า บุญมีอุปการะแม้แก่ผู้เป็นเทพ แม้แก่ผู้เป็นมนุษย์ แม้แก่บรรพชิต

(องฺ.ปญฺจก.22/31/36)

ก็มีความหมายทำนองเดียวกัน

ส่วนในพุทธพจน์ว่า บุญเป็นชื่อของความสุข บุญก็หมายถึงผลหรือวิบากที่นาปรารถนาของกุศลกรรมคือ การทำความดี

(ขุ.อิติ.25/200/240; อิติ.อ.97)

หรือในคำว่าตายเพราะสิ้นบุญ (บุญขัยมรณะ) ก็หมายถึงหมดผลบุญ หรือสิ้นวิบากของกุศลกรรมที่ปรุงแต่งกำเนิดนั้นนั่นเอง

(เช่น วิสุทธิ.2/1)

ความหมายของคำว่า “ธรรม” ที่เท่ากับบุญ ก็คือความหมายในแง่ที่สัมพันธ์กับการไปสวรรค์ เช่นเดียวกับที่อธรรมเท่ากับบาป ในความหมายที่สัมพันธ์กับการไปนรก

(เช่น ปฏิสํ.อ.20)

เป็นอันสรุปได้ว่า แม้ว่าบุญกับกุศล และบาปกับอกุศล จะเป็นไวพจน์กัน แต่ในการใช้จริงโดยทั่วไป กุศลมีความหมายครอบคลุมที่สุด กว้างกว่าบุญ คำทั้งสองจึงใช้แทนกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนบาปกับอกุศลมีความหมายใกล้เคียงกันมากกว่า จึงใช้แทนกันได้บ่อยกว่า แต่กระนั้นก็มักใช้ในกรณีที่ให้ความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความหมายแง่ต่าง ๆ ของบุญ โดยนัยนี้

ก. กุศล ใช้ในแง่การกระทำคือกรรมก็ได้ มองลึกลงไปถึงตัวสภาวธรรมก็ได้ ส่วนบุญมักเล็งแต่ในแง่กรรมคือการกระทำ ดังนั้น คำว่า กุศลกรรมก็ดี กุศลธรรมก็ดี จึงเป็นคำสามัญ แต่สำหรับบุญ เราพูดได้ว่า บุญกรรม (กรรมที่เป็นบุญ ไม่ใช่บุญและกรรม) ถ้าพูดว่าบุญธรรม จะแปลกหู และไม่รู้สึกเป็นคำศัพท์ทางธรรม ส่วนบาปกับอกุศล จะพบทั้งอกุศลธรรม อกุศลธรรม บาปกรรม บาปธรรม

ข. ในแง่ที่พิเศษ บุญหมายถึงผลของบุญหรือวิบากของกุศลกรรม แม้ในกรณีที่มิได้หมายถึงผลหรือวิบากโดยตรง บุญก็ใช้ในลักษณะที่สัมพันธ์กับผล หรือให้เกิดความรู้สึกเพ่งเล็งถึงผลตอบสนองภายนอก หรือผลที่เป็นอามิส เฉพาะอย่างยิ่งความสุขและการไปเกิดในที่ดี ๆ

ค. ด้วยเหตุที่กล่าวมานั้น การใช้คำว่าบุญจึงมักจัดกัดอยู่เฉพาะในระดับโลกียะ เป็นโอปธิกบุญ คือเป็นโลกียกุศลเท่านั้น กรณีที่กินความถึงโลกุตตรกุศลหาได้ยากอย่างยิ่ง



นอกจากนี้ มีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจทางวิชาการ อาจศึกษาค้นคว้าต่อไป คือ

1. บุญและบาป เป็นคำที่มีใช้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วในพุทธกาล และมีความหมายในทางโชคและความศักดิ์สิทธิ์ปนอยู่ด้วย พระพุทธศาสนารับเข้ามาใช้ในความหมาย เท่าที่ปรับเข้ากับหลักการของตนได้ ส่วนกุศลและอกุศลเดิมใช้ในความหมายอย่างอื่น เช่น ฉลาด ชำนาญ คล่องแคล่ว สบายดี มีสุขภาพ เป็นต้น พระพุทธศาสนา นำเอามาบัญญัติใช้สำหรับความหมายที่ต้องการของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ

2. และโดยนัยนี้ กุศลและอกุศลจึงเป็นศัพท์วิชาการทางธรรมอย่างแท้จริง ส่วนบุญและบาป ท่านมักใช้อยู่ในวงแห่งคำสอนสำหรับชาวบ้าน หรือชีวิตของชาวโลก

(พึงสังเกตว่า ในอภิธรรมปิฎก ตามปกติท่านไม่ใช่คำว่าบุยและบาป ยกเว้นแต่บาปที่เป็นคำประกอบขยายคำว่าอกุศล และบุญในคำว่าปุญญาภิสังขาร ซึ่งมีความหมายตามที่บัญญัติขึ้นโดยเฉพาะ และในอรรถกถาอภิธรรม ท่านใช้บุญกิริยาวัตถุ 10 อธิบายเรื่อง กามาวจรกุศลจิต (สงฺคณี อ.260) )


ดังได้กล่าวแล้วว่า กรรมนิยามมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับจิตนิยามและสังคมนิยมน์ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ง่าย ดังนั้นการที่จะเข้าใจเรื่องกรรมและความดีความชั่วให้ชัดเจน จะต้องแยกขอบเขตระหว่างนิยามและนิยมน์เหล่านี้ให้ได้ก่อน

กรรมนิยามอาศัยจิตนิยามเหมือนซ้อนอยู่บนจิตนิยามนั่นเอง แต่จุดตัดแยกระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามก็ชัดเจน กล่าวคือ เจตนาเป็นเน้อหาสาระและเป็นตัวทำการของกรรมนิยาม ทำให้กรรมนิยามเป็นอิสระออกมาเป็นนิยามหนึ่งต่างหาก หรือทำให้มนุษย์เป็นอิสระ มีบทบาทเป็นของตนเองต่างหาก หรือทำให้มนุษย์เป็นอิสระ มีบทบามเป็นของตนเองต่างหากจากนิยามอื่น ๆ

สามารถสร้างโลกแห่งเจตน์จำนงของตนเองขึ้นมาได้ จนถึงกับยกตนขึ้นเทียมเท่าหรือแข่งขันกับธรรมชาติ และแบ่งแยกว่าตนมีโลกแห่งการประดิษญ์สร้างสรรค์ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ เจตนาสามารถอาศัยกลไกของจิตนิยามเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเมื่อเจตนาทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กระบวนการก่อผลก็ต้องอาศัยจิตนิยามนั่นแหละดำเนินไป

เปรียบได้กับคนขับเรือยนต์ คนขับเหมือนเจตนาที่อยู่ฝ่ายกรรมนิยาม เครื่องเรือทั้งหมดเหมือนกลไกและองค์ประกอบต่าง ๆ ของจิตที่อยู่ฝ่ายจิตนิยาม คนขับต้องอาศัยเครื่องเรือ แต่เครื่องเรือจะพาเรือคือชีวิตที่พร้อมด้วยร่างกายไปสู่ที่ไหนอย่างไร คนขับทั้งเป็นอิสระที่จะทำและเป็นผู้รับผิดชอบทำให้เป็นไป

คนขับทั้งอาศัย และทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเรือ แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของเรือ ที่พร้อมทั้งเครื่องเรือและตัวเรือด้วย เหมือนกรรมนิยามทั้งอาศัย และทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากจิตนิยาม แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชีวิตที่พร้อมทั้งจิตและกายด้วย ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามนี้ ไม่สู้มีปัญหา เพราะไม่สู้มีเรื่องที่มนุษย์เอาใจใส่ และไม่ว่ามนุษย์จะใส่ใจรู้เรื่องของมันหรือแม้แต่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นไปตามปกติของมันเรื่อยไปอย่างมองไม่เห็นตัว

ด้านที่เป็นปัญหาสับสนอย่างมากก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับสังคมนิยมน์ ซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ที่ว่าทำดีทำชั่วเป็นความจริงที่แท้หรือไม่ อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าอะไรดี อะไรชั่ว ในเรื่องนี้มีคนไม่น้อยพูดกันบ่อย ๆ ว่า ความดีและความชั่วเป็นเรื่องของคนหรือสังคมบัญญัติกันขึ้น การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมถิ่นหนึ่งหรือสมัยหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสมัยหนึ่งว่าไม่ดี การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องกระทำ แต่อีกสังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องละเว้น เช่น สังคมคนป่าบางพวกบัญญัติว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี แต่สังคมที่เจริญแล้วบัญญัติว่าฆ่ามนุษย์เป็นความชั่วทั้งนั้น

บางศาสนาบัญญัติว่าฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารไม่บาป บางศาสนาสอนว่าการเบียดเบียนสัตว์ไม่ว่าชนิดใดไม่ดีทั้งนั้น สังคมบางถิ่นว่าบัญญัติว่าหญิงมีสามีมากหลายได้เป็นความดี สังคมบางถิ่นว่าหญิงดีต้องมีสามีเดียว ถ้าให้ดียิ่งขึ้นเวลาสามีตายต้องโดดเข้าเผาตัวตายตามสามีไปในกองไฟที่เผาศพสามีด้วย

บางสังคมถือว่าเด็กต้องเคารพต่อผู้สูงอายุกว่าและต้องเชื่อฟังไม่โต้เถียง มิฉะนั้นเป็นการไม่ดี อีกบางสังคมถือว่าการเคารพกันไม่เกี่ยวกับวัย และทุกคนควรถกเถียงหาเหตุผลกัน ดังนี้เป็นต้น

คำที่ว่า ความดีความชั่วเป็นเรื่องของมนุษย์ และสังคมมนุษย์สมมติบัญญัติกันขึ้นมาเองนี้ เป็นความจริงอยู่มากทีเดียว แต่ถึงแม้จะเป็นจริงอย่างนั้น ก็ไม่มาเกี่ยวข้องในแง่ที่จะกระทบกระเทือนแต่กรรมนิยามแต่ประการใด และก็ไม่น่าจะต้องเอามาสับสนกับเรื่องกรรมนิยามด้วย

เรื่องความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของบัญญัติสังคมหรือสังคมนิยมน์ เรื่องความดีความชั่ว หรือว่าให้ถูกคือกุศลและอกุศลที่เป็นเรื่องของกรรมนิยาม ก็เป็นเรื่องของกรรมนิยาม แม้ว่าทั้งสองนี้จะสัมพันธ์กัน แต่ก็เป็นคนะเรื่องกัน มีจุดตัดแยกระหว่างกันชัดเจน ความสับสนเกิดจากการนำเอาความดีความชั่วของสังคมนิยมน์ไปปะปนกับความดีความชั่ว คือ กุศลและอกุศลของกรรมนิยามที่เป็นคนละแดนกัน และไม่รู้จุดตัดแยกที่ถูกต้อง

ขอย้ำอีกครั้งว่า ความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของสังคมอยู่ในขอบเขตของสังคมนิยมน์ กุศลอกุศลที่เป็นคุณสมบัติของกรรม ก็เป็นเรื่องของกรรมอยู่ในกรรมนิยาม เป็นเรื่องต่างหากกัน แต่สัมพันธ์กัน สิ่งที่เป็นทั้งตัวการสร้างสัมพันธ์และเป็นทั้งจุดตัดแยกระหว่างกันของนิยามและนิยมน์ทั้งสองนี้ ก็เช่นเดียวกับในกรณีระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยาม คือได้แก้เจตนาหรือเจตน์จำนงนั่นเอง เรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอให้ช่วยกันพิจารณาต่อไป

สิ่งที่สังคมบัญญัติเมื่อมองในแง่ของกรรมนิยาม อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งที่บัญญัติขึ้น ไม่เกี่ยวกับกุศลและอกุศลในกรรมนิยามโดยตรง แต่สังคมบัญญัติขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งของสังคมเอง เช่น เพื่อให้คนทั้งหลายในสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข เป็นทำนองข้อตกลงหรือ
พันธสัญญาระหว่างกัน ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่บัญญัตินั้นอาจเป็นเครื่องมือช่วยให้สังคมอยู่ดีมีความสงบสุขได้จริงหรือ อาจไม่จริงก็ได้ อาจเป็นประโยชน์แก่สังคมจริงหรืออาจเป็นโทษก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าข้อกำหนดนั้นได้บัญญัติกันขึ้นมา ด้วยความรู้ความเข้าใจกว้างขวางรอบคอบเพียงพอหรือไม่ หรือว่าคนที่ทำหน้าที่บัญญัติมีความสุจริตใจหรือไม่ เป็นต้น

บัญญัติเช่นนี้มีมาในรูปต่าง ๆ อาจเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีตลอดจนกฎหมาย ดีหรือชั่วในกรณีอย่างนี้ เป็นเรื่องของสังคมนิยมน์ อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและแตกต่างกันไปนานัปการ แต่จะเปลี่ยนจะต่างไปอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม จะต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่ควรเอามาปนเปสับสน และเมื่อคนใดฝ่าฝืนละเมิดบัญญัตินั้น สังคมจะลงโ?ษอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสังคมนิยมน์ ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ให้แยกออกไปอย่างนี้เสียส่วนหนึ่งก่อน

ต่อจากนี้ จึงพิจารณาส่วนที่บัญญัติของสังคมนิยมน์นั้นก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับขอบเขตของกรรมนิยาม กล่าวคือเมื่อคนในสังคมยอมรับบัญญัตินั้นกันแล้ว ไม่ว่าบัญญัตินั้นจะเป็นอย่างไร จะดีงามหรือเป็นประโยชน์แท้จริงหรือไม่ก็ตาม ในเวลาที่คนผู้ใดผู้หนึ่งในสังคมนั้นจะไม่ปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืนหรือละเมิดบัญญัตินั้น เขาจะเกิดมีเจตนา ที่จะฝ่าฝืนละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตาม ขึ้นมาทัน

(ที่ว่านี้ เป็นการพิจารณาชั้นเดียวก่อน ในบางกรณี เรื่องอาจซับซ้อนกว่านี้ได้ โดยมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปัญญาที่จะยอมรับหรือไม่ อย่างไร ซึ่งมีผลต่อเจตนา ทำให้เป็นเจตนาละเมิดหรือไม่ อ่อนหรือแก่ เป็นต้น อันจะต้องวิเคราะห์กันอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อคิดนึกขึ้นมา ก็เป็นอันต้องมีเจตนาอย่างใดอย่างหนี่ง และมีผลต่อชีวิตจิตใจทุกทีไป)

และเขาก็จะตระหนักรู้ต่อเจตนาของเขานั้นอย่างไม่อาจปิดบังหรือหลอกตนเองได้ เจตนานี้แหละคือจุดตั้งต้นของกรรมนิยาม และเป็นเรื่องของกรรมนิยาม สังคมหลายแห่งอาจพยายามสืบเอาเจตนานี้ไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินลงโทษด้วยว่าเขาผู้นั้นทำการละเมิดด้วยเจตนาหรือไม่

แต่นั่นก็เป็นเรื่องของสังคมนิยมน์ แสดงว่าสังคมนั้นฉลาด รู้จักถือเอาประโยชน์จากรรมนิยามไปใช้ในทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ส่วนในเรื่องของกรรมนิยามเองนั้น ไม่ว่าสังคมจะสืบสวนเอาเจตนานั้นไปใช้หรือไม่ หรือจะได้ล่วงรู้ว่าได้มีการละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม กรรมนิยามก็ได้เริ่มทำงานของมันตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเกิดมีเจตนาและใช้เจตนาทำการล่วงละเมิดเป็นต้นไป กล่าวคือ กระบวนการก่อวิบากได้เริ่มดำเนิน และบุคคลนั้นเริ่มได้รับผลของกรรมตั้งแต่บัดนั้นไป

จะเห็นได้ว่า ในความเป็นไปเช่นนี้ ข้อที่ว่าบัญญัติของสังคมนั้นจะดีหรือชั่วจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในแง่ของสังคมนิยมน์ไป ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรง กรรมนิยามเกี่ยวข้องเพียงการรับรู้และใจยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่งต่อข้อกำหนดตามที่สังคมบัญญัติไว้นั้น

เริ่มจากเกิดเจตนาเป็นต้นไป เมื่อจัดเข้าในระบบชีวิตทางธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องในขั้นศีล และนี้เป็นจุดที่กฎเกณฑ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องแยกขอบเขตกันให้ดี

ข้อที่ว่า บัญญัติว่าดีหรือชั่วของสังคมจะเป็นของแท้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสังคมนิยมน์ ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรงนั้น หมายความว่ายังมีแง่ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมได้ เช่น สังคมถือข้อปฏิบัติกันมาอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งดีงาม ถูกต้อง ทุกคนต้องปฏิบัติ ต่อมาเกิดผู้มีปัญญาคนหนึ่งมองเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นไม่ดีจริง ไม่เป็นประโยชน์ หรือถึงกับเป็นผลร้ายแก่สังคมนั้น บุคคลผู้นั้นอาจเพียรพยายามชี้แจงให้ชนร่วมสังคมทั้งหลายเข้าใจตาม พยายามแก้ไขข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้นั้น และอาจถึงกับไม่ยอมทำตามข้อปฏิบัตินั้นเสียทีเดียว

ในกรณีเช่นนี้ การกระทำของบุคคลผู้นั้นมิใช่เกิดจากเจตนาขุ่นมัวของผู้ที่จะละเมิด เหมือนอย่างในกรณีก่อน แต่เกิดจากเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาของผู้ที่จะแก้ไขเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นต้น เนื้อหาที่จะเป็นไปในกรรมนิยาม จึงไม่เหมือนกันสุดแต่คุณสมบัติของเจตนานั้น แต่มีข้อสำทับว่า เจตนาที่กระทำนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้กระทำย่อมรู้ตระหนักตามที่มันเป็น และเขาจะต้องรับผลในแง่ของกรรมนิยามตามเจตนานั้น เขาอาจปิดบังและหลอกสังคมได้ แต่ไม่อาจปิดบังใจตนเองหรือหลอกกฎธรรมชาติได้

พูดอย่างสั้น ๆ ตัวกำหนดในกรรมนิยามอยู่ที่ว่า เจตนาเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลนั่นเอง

เมื่อว่าโดยทั่วไปหรือสำหรับกรณีทั่วไป การไม่ปฏิบัติตามบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่งของสังคม จะชื่อว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิด และไม่เป็นไปด้วยเจตนาที่จะละเมิด ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นได้ตกลงพร้อมใจกันยกเลิกบัญญัตินั้นแล้ว หรือยอมรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบัญญัตินั้นแล้ว พูดอีกภาษาหนึ่งว่า ต่อเมื่อนั้น จึงจะไม่เป็นการเสียความซื่อสัตย์หรือทรยศต่อสัญญาประชาคม

ความที่ว่ามานี้พอจะอธิบายได้ด้วยตัวอย่างง่าย ๆ สมมติว่า คนสองคนมาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้น เป็นไปด้วยดี อำนวยความสุขและเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของทั้งสองฝ่าย เขาจึงได้วางกติกากันไว้ เช่นว่า เขาทั้งสองทำงานคนละแห่ง กลับถึงบ้านไม่พร้อมกัน แต่ควรจะรับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน ครั้นจะรอกันอย่างไม่มีขอบเขตก็ไม่ได้ จึงให้แต่ละคนต้องไม่รับประทานอาหารเย็นก่อน 19.00 น. บรรดาเขาทั้งสองนั้น คนหนึ่งชอบแมว ไม่ชอบสุนัข อีกคนหนึ่งชอบสุนัข ไม่ชอบแมว เพื่อความสงบสุขให้ถือว่า การนำสัตว์เลี้ยงใด ๆ เข้ามาในบ้านเป็นความไม่ดีงามไม่สมควร

เมื่อตกลงวางกติกากันอย่างนี้แล้ว ถ้าเขาคนใดคนหนึ่งจะทำการใด ที่เป็นไปตามกติกานั้น เจตนาที่จะละเมิดก็ย่อมเกิดขึ้น และกรรมก็เกิดขึ้นตามกรรมนิยาม ทั้ง ๆ ที่เมื่อว่าโดยสภาวะแล้ว การรับประทานอาหารก่อน 19.00 น. ก็ดี การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านก็ดี จะเป็นความดีหรือความชั่วโดยตัวของมันเองก็หาไม่ คนคู่อื่นอาจวางกติกาที่ตรงข้ามจากนี้ก็ได้ และในกรณีที่ต่อมาคนใดคนหนึ่งในเขาทั้งสองนั้น พิจารณาเห็นว่า กติกาที่ได้วางไว้ไม่เป็นไปเพื่อผลดีแก่ชีวิตร่วมกันของเขาทั้งสอง เขาก็จะต้องยกขึ้นมาพูดให้ตกลงยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกานั้นก่อน การที่จะไม่ปฏิบัติตามของเขาจึงจะเป็นไปได้โดยไม่ประกอบด้วยเจตนาที่จะละเมิดหรือฝ่าฝืน

วินัยที่นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของศีลก็เป็นไปในลักษณะอย่างนี้ เรื่องความดีความชั่วความผิดความถูกที่เป็นบัญญัติอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังคม กับความเป็นไปแห่งกุศลและอกุศลอันแน่นอนของกรรมนิยาม มีขอบเขตที่แยกกันได้ และมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน อันพึงเข้าใจได้โดยนัยนี้

2) สิ่งที่บัญญัตินั้น กระทบถึงกุศลและอกุศลในกระบวนการของกรรมนิยามด้วย ในกรณีเช่นนี้ สังคมอาจบัญญัติความดีความชั่วด้วยความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล คือรู้ว่าอะไรเกื้อกูลอะไรเป็นโทษแก่ใจเลยก็ได้ แต่ไม่ว่าสังคมจะบัญญัติว่าอย่างไรก็ตาม ความเป็นไปตามกรรมนิยามก็ย่อมเป็นไปของมันตามปกติ หาได้เปลี่ยนไปตามบัญญัติของสังคมไม่

ยกตัวอย่าง สมมติว่าในสังคมหนึ่ง คนถือกันว่าการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการกระทำที่ดีงาม ทำให้คนมีความสุข ควรสนับสนุน ถือว่าเป็นการมีอารมณ์รุนแรงเป็นสิ่งที่ดี ถือว่าควรปลุกเร้าคนให้ตื่นเต้น เคร่งเครียดอยากได้อยากเอา วิ่งหาแข่งขันอยู่เสมอจะได้ทำงามสร้างสรรค์ได้มาก ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี หรือประณีตขึ้นมาอีกว่า ฆ่าสัตว์เดรัจฉานไม่บาป เป็นต้น

กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า ความดีความชั่วในสังคมนิยมน์ ขัดกับกุศลและอกุศลในกรรมนิยาม ถ้ามองในแง่สังคม บัญญัติหรือข้อยึดถือเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลดีบ้าง ผลร้ายบ้าง บัญญัติหรือข้อยึดถือเหล่านี้ อาจะก่อให้เกิดผลดีบ้าง ผลร้ายบ้าง แกสังคม เช่น การถือว่าเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการดี อาจทำให้คนจำนวนมากในสังคมนั้นเป็นคนเฉื่อยชาเกียจคร้าน สังคมนั้นมีอาชญากรรมเช่นลักขโมยมาก มีคนเจ็บป่วยไม่สมประกอบเนื่องจากเหตุนี้ เป็นต้น

หรือการมีชีวิตที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอาตลอดเวลา อาจทำให้สังคมนั้นเจริญก้าวหน้าอย่างมากและรวดเร็ว แต่ต่อมาอาจปรากฏว่าสังคมนั้นมีคนเป็นโรคจิตและโรคหัวใจกันมาก มีการฆ่าตัวตายมาก มีปัญหาสังคมอื่น ๆ มากผิดปกติ หรือในสังคมที่ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นได้เป็นการดี คนของสังคมนั้นมีลักษณะที่ปรากฏแก่คนพวกอื่นว่า เป็นมนุษย์ที่โหดร้าย ควรหวาดระแวง ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น

ผลต่าง ๆ ที่ปรากฏในระดับสังคมเช่นนี้ หลายอย่างอาจสืบเนื่องมาจากกรรมนิยามด้วย แต่กระนั้นในเบื้องแรก ผลที่เป็นไปในด้านสังคม ก็พึงพิจารณาในแง่สังคม ผลในด้านกรรมนิยาม ก็พึงพิจารณาในแง่กรรมนิยาม แยกต่างหากจากกันก่อน เสร็จจากนั้นแล้วจึงค่อยโยงเข้ามาหากันในภายหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ว่าถึงผลในด้านกรรมนิยาม เจตนาในเรื่องนี้ซ้อนกันอยู่เป็นสองชั้น คือ เจตนาที่ประกอบด้วยความยึดถือตามบัญญัตินั้น ที่แสดงออกเป็นความเชื่อถือและค่านิยมเป็นต้น และเจตนาในการกระทำตามหรือไม่ยอมกระทำตามบัญญัติในเฉพาะคราวนั้น ๆ แต่ไม่ว่าในกรณีใด การได้รับผลตามกรรมนิยามย่อมเริ่มดำเนินในทันทีเริ่มแต่ตั้งเจตนา เช่น คนที่จะเสพสิ่งเสพติดมึนเมา พอจะเสพ เจตนาก็ประกอบด้วยความกระหยิ่มอย่างมัวซัว เมื่อเสพเป็นนิตย์ ก็สั่งสมสภาพจิตอย่างนั้นเป็นนิสัย คนที่เคร่งเครียดเร่งร้อน และสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นไว้ คนที่ตั้งหน้าฆ่าผู้อื่น แม้จะได้รับความยกย่องและรางวัลในสังคมของพวกตน แต่ในการกระทำคือการฆ่าแต่ละครั้ง ก็ตั้งเจตนาที่ประกอบด้วยความขึ้งเครียดเหี้ยวเกรียมหรือกระเหี้ยนกระหือรือ หากปล่อยใจไปเรื่อย ๆ ก็จะมีการสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นจนอาจกลายเป็นบุคลิกภาพทั้งหมดของเขา คุณภาพของจิตจะเป็นไปในทางที่หยาบกระด้างมากขึ้น เสื่อมเสียความประณีต ความนุ่มนวลละมุนละไม และความละเอียดลึกซึ้ง เป็นต้น



***************

อนึ่ง พึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่าเจตนาอีกสักเล็กน้อย เจตนาในทางธรรม มีความหมายละเอียดอ่อนกว่าที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย กล่าวคือในภาษาไทยมักใช้เจตนาต่อเมื่อต้องการเชื่อมโยงความคิดที่อยู่ภายใน กับการกระทำที่แสดงออกในภายนอก เช่นว่าพูดพลั้งไป ไม่ได้เจตนา หรือเขากระทำการโดยเจตนาเป็นต้น แต่ในทางธรรม คือตามหลักกรรมนี้ การกระทำ การพูดที่แสดงออกภายนอกโดยจงใจก็ดี ความคิดต่าง ๆ แม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น ๆ ชั่วครู่ขณะแล้วผ่านไป ๆ ภายในจิตใจก็ดี การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ดี ความรู้สึกและท่าทีของจิตใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบทางตาหูจมูกลิ้นกาย และที่ระลึกหรือนึกขึ้นมาในใจก็ดี ล้วนมีเจตนาประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น เจตนาจึงเป็นเจตน์จำนง ความจงใจ การเลือกอารมณ์ของใจ ตัวนำที่หันเหชักพาทำให้จิตเคลื่อนไหวโน้มน้อมไปหาหรือผละไปจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการ หรือตัวเจ้ากี้เจ้าการของจิตว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไรกับเรื่องใดอย่างไร เป็นตัวการจัดแจงแต่งจิตนั้นให้เป็นไปต่าง ๆ

เมื่อเจตนาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือกรรมเกิดขึ้นทีหนึ่ง เมื่อกรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็มีผลทันที เพราะเมื่อเจตนาเกิดขึ้นก็คือมีกิจกรรมเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตมีการเคลื่อนไหว หรือไหวตัวแล้ว แม้เป็นเพียงความคิดอะไรเล็กน้อย ซึ่งถือจะไม่มีผลอะไรสำคัญ แต่ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย อย่างน้อยก็เป็นละอองกรรมอันละเอียด ที่สั่งสมหรือพอกเข้าไว้เป็นเครื่องปรุงแต่งคุณสมบัติของจิตอยู่ภายใน เมื่อมากขึ้น เช่น จิตเสพความคิดนั้นบ่อย ๆ หรือความคิดนั้นรุนแรงขึ้นจนออกมาภายนอก ผลก็แรงขึ้น ขยายออกมาเป็นลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ เป็นต้น เช่น เจตนาในการทำร้าย ไม่ต้องพูดถึงกรรมร้ายแรงถึงขั้นจะฆ่าคน แม้แต่การทำลายสิ่งของที่เล็ก ๆ น้อย ๆ เหลือเกิน

ถ้าทำด้วยเจตนาทำร้าย คือประกอบด้วยโทสจิตหรือมีความโกรธ อย่างคนฉีกกระดาษด้วยความฉุนเฉียว ทั้งที่กระดาษนั้นไม่มีคุณค่าสำคัญอะไร แต่ย่อมมีผลต่อคุณภาพจิต หาเหมือนกันไม่กับการฉีกกระดาษของคนที่ทำด้วยจิตปกติ โดยรู้ว่าจะไม่ใช่กระดาษนั้นแล้ว เมื่อทำการอะไร ๆ ด้วยเจตนาอย่างนั้นบ่อย ๆ ผลแห่งการสั่งสมก็จะปรากฏชัดยิ่งขึ้น และอาจขยายกว้างออกไปในระดับต่าง ๆ โดยลำดับ เปรียบเหมือน ฝุ่นละอองที่ปลิวเข้ามาในห้องทีละเล็กละน้อยอย่างที่มิได้สังเกตเลย ย่อมไม่มีส่วนใดที่ไร้ผลเสียเลย แต่ผลนั้นจะสำคัญแค่ไหน นอกจากเป็นไปตามความแรงและปริมาณของสิ่งที่สั่งสมแล้ว ยังสัมพันธ์กับคุณภาพและการใช้งานของจิตในระดับต่าง ๆ อีกด้วย ฝุ่นละองปลิวลงจับท้องถนน กว่าจะทำให้รู้สึกสกปรก ก็ต้องมีปริมาณมากมาย ฝุ่นละอองน้อยกว่านั้นลงจับบนโต๊ะเขียนหนังสือ ก็สกปรกและรบกวนงาน น้อยกว่านั้นอีก ลงจับกระจกเงาส่องหน้าก็รู้สึกเปื้อนและกระทบการใช้งาน

ธุลีละอองนิดเดียวลงจับแว่นตา ก็รู้สึกได้และทำให้การเห็นพร่ามัวได้ อุปมาอย่างอื่น เช่น เอามีดขีดที่พื้นถนน ที่พื้นห้อง ที่กระจกแว่นตา เป็นต้น รวมความว่า เจตน์จำนงคือเจตนาหรือกรรมนั้น แม้เล็กน้อย ก็มิได้ไร้ผล อาจอ้างพุทธศาสนสุภาษิตว่า

“กรรมดีหรือชั่วทุกอย่างที่คนสั่งสมไว้ ย่อมมีผล ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะนิดหน่อย ที่จะว่างเปล่าไปเลยย่อมไม่มี”

(ขุ.ชา.27/2054/413 (แต่ไม่พึงสับสนกับเรื่องกรรมที่ไม่ให้ผลในระดับชีวิตภายนอก) )

และว่า “กรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมไม่สูญเปล่าเลย”

(ขุ.ชา.28/864/306)

อย่างไรก็ตาม ผลทางด้านกรรมนิยามในระดับจิตใจนี้ คนจำนวนมากคอยจะมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ จึงขอเพิ่มความเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาเกี่ยวกับน้ำอีกสัก 2 อย่าง

1. น้ำสะอาดและน้ำสกปรก มีหลายระดับ เช่น น้ำครำในท่อระบายโสโครก น้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำประปา และน้ำสำหรับผสมยาฉีด เป็นต้น

น้ำครำพอใช้เป็นที่อาศัยของสัตว์หลายอย่างได้ แต่ไม่เหมาะแก่การใช้อาบ ไม่อาจใช้กินหรือทำกิจที่ประณีตอื่น ๆ น้ำในแม่น้ำลำคลองใช้อาบน้ำซักผ้าได้ แต่ก็ยังไม่เหมาะที่จะรับประทาน น้ำประปาใช้ดื่มกินได้ แต่จะใช้ผสมยาฉีดยังไม่ได้ เมื่อมีแต่น้ำประปาและกิจที่ใช้ไม่มีส่วนพิเศษออกไป น้ำประปานั้นก็พอแก่ความประสงค์ แต่ถ้ามีกรณีย์พิเศษ เช่น จะผสมยาฉีด ก็เป็นอันติดขัด เปรียบได้กับจิตที่มีคุณภาพต่าง ๆ กัน โดยความหยาบประณีตขุ่นมัวและสะอาดผ่องใสกว่ากัน เนื่องมาจากกรรมที่ได้ประกอบสั่งสมไว้ ถ้ายังใช้งานในสภาพชีวิตอย่างนั้น ๆ ก็อาจยังไม่รู้สึกปัญหา แต่เมื่อล่วงผ่านกาลเวลาและวัยแห่งชีวิตไป อาจถึงโอกาสที่ต้องใช้จิตที่ประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งกรรมปางหลังจะก่อปัญหาให้อาจติดขัดใช้ไม่ได้ หรือถึงกับเน่าเสียไปทีเดียว

2. น้ำกระเพื่อมและสงบเรียบ มีหลายระดับ ตั้งแต่น้ำในทะเลมีคลื่นโต ๆ น้ำในแม่น้ำที่มีคลื่นตามเรือยนต์ น้ำในลำธารที่ไหลริน น้ำในสระที่ลมสงบ จนถึงน้ำในภาชนะนิ่งปิดสนิท บางกรณีจะใช้น้ำมีคลื่นกระเพื่อมกระฉอกบ้างก็ได้ แต่บางกรณีอาจต้องใช้น้ำสงบนิ่งอย่างที่แม้แต่วางเข็มเย็บผ้าลงไปก็ลอยนิ่งอยู่ได้นาน คุณภาพของจิตที่หยาบและประณีต ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้งาน และการเข้าถึงคุณวิเศษต่าง ๆ ที่มีชีวิตจะเข้าถึงได้ ก็พึงเข้าใจโดยทำนองนั้น

สังคมนิยมน์กับกรรมนิยามต่างหากกัน ผลในฝ่ายกรรม นิยามย่อมดำเนินไปตามกระบวนการของมันเองไม่ขึ้นต่อบัญญัติของสังคมที่ขัดกับมันดังที่กล่าวมานี้ อย่างไรก็ดี เพราะเหตุที่นิยมน์และนิยามทั้งสองนั้นมีแง่ที่สัมพันธ์กันดังกล่าวแล้วในข้อที่หนึ่ง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติถูกต้องในแง่ของกรรมนิยาม คือทำตามหลักกุศล ก็อาจประสบปัญหาจากสังคมนิยมน์ที่ขัดแย้งนั้นได้ เช่น ผู้ที่อยู่ในสังคมที่ชื่นชอบการเสพสิ่งมึนเมา แต่ไม่ยอมเสพด้วย เขาย่อมได้รับผลตามกรรมนิยาม คือไม่เสียคุณภาพจิตที่โปร่งผ่องใสไปเพราะเหตุจากของเมานั้นก็จริง แต่ในแง่สังคมซึ่งต่างหากจากกรรมนิยาม เขาอาจถูกเย้ยหยันล้อเลียน เช่นว่า ไม่เข้มแข็ง หรือถูกมองในทางไม่ดีในแง่สังคมอย่างอื่น ๆ อีก

และแม้ในแง่ของกรรมนิยามเอง เขาอาจประสบปัญหาจารกเจตนาฝ่าฝืนข้อนิยมนี้ของสังคมอย่างที่กล่าวในข้อหนึ่ง เกิดความขัดแย้งในทางจิตใจ ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่ปัญญาที่จะปลดเปลื้องจิตของเขา สังคมเจริญแล้วที่คนทั้งหลายมีปัญญา มักได้อาศัยประสบการณ์ ซึ่งได้สะสมมาชองมนุษย์รุ่นเก่า ๆ ได้เรียนรู้ว่าอะไรเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง อะไรไม่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง อะไรไม่เกื้อกูล แล้วมักบัญญัติกฎเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับความดีความชั่วฝ่ายสังคมนิยมน์ ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกุศลและอกุศลในฝ่ายกรรมนิยาม

ความสามารถบัญญัติหลักความดีความชั่วในฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักกุศลและอกุศลในฝ่ายกรรมนิยาม หรือพูดให้สั้นว่า ความสามารถบัญญัติหลักฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกรรมนิยามนี้ น่าจะเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญที่แท้จริงหรืออารยธรรมของสังคมนั้นอย่างหนึ่ง

โดยนัยนี้ เมื่อมีปัญญาจะต้องวินิจฉัยข้อบัญญัติเกี่ยวกับความดีและความชั่ว จึงน่าจะพิจารณาเป็น 2 ชั้น คือ พิจารณาในแง่สังคมนิยมน์ว่า ข้อบัญญัตินั้นเป็นไปเพื่อผลดี เช่น ช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมหรือไม่ ชั้นหนึ่งแล้ว พิจารณาในแง่กรรมนิยามว่า ข้อบัญญัตินั้นเป็นกุศลหรือไม่ คือเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ อีกชั้นหนึ่ง

ข้อบัญญัติบางอย่าง แม้สังคมจะยึดถือกันมานานแต่แท้จริงแล้วไม่เกื้อกูลเลย แม้ในแง่สังคมนิยมน์ ส่วนในแง่กรรมนิยามเป็นอันไม่ต้องพูดถึง ข้อบัญญัติเช่นนั้น สังคมพึงตกลงกันยกเลิกเสีย หรืออาจต้องอาศัยผู้มีปัญญาที่ใจบริสุทธิ์กอปรด้วยกรุณามาชักนำ เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำต่อประเพณีเกี่ยวกับการบูชายัญและวรรณะ 4 ของสังคมอินเดีย เป็นต้น

ในกรณีที่พิจาณาแล้ว เห็นว่าข้อบัญญัติหรือนิยมน์นั้นเกื้อกูลในแง่สังคม จะช่วยให้เกิดความเจริญแก่หมู่มนุษย์ แต่ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งกุศลธรรมตามกรรมนิยาม กรณีเช่นนี้ควรจะตั้งข้อสงสัยว่า บางทีคนอาจหลงผิด มองเห็นสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่สังคมอย่างแท้จริง ว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลก็ได้ คืออาจหลงพอใจในความเจริญก้าวหน้าที่ผิด ๆ เป็นที่ชื่นชมน่าพอใจในเวลาสั้น ๆ แต่ก่อโทษในระยะยาว สิ่งที่เกื้อกูลแท้จริงน่าจะสอดคล้องกัน ทั้งในแง่สังคมนิยมน์ และในแง่กรรมนิยาม มีหลักทั่วไปว่า

สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ มักเกื้อกูลอย่างเป็นกลาง ๆ คือ เมื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตหนึ่งก็เกื้อกูลแก่ชีวิตทั้งหมด เรื่องนี้พึงเห็นบทเรียนจากการสร้างความเจริญด้านกายภาพ มนุษย์มุ่งหวังความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ เข้าใจว่า ความมีวัตถุพรั่งพร้อมสะดวกบริบูรณ์จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขสูงสุดแก่สังคมมนุษย์ จึงได้เพียรพยายามสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุมากมาย พร้อมกับทำลายชีวิตและสภาพชีวิตต่าง ๆ ที่เห็นว่าขัดขวางความเจริญของตน จนในที่สุดก็ได้ทราบว่า การกระทำของตนมีหลายส่วนที่ได้เป็นไปด้วยความหลงผิด แม้สังคมจะดูคล้ายเจริญก็จริง แต่ได้ก่อพิษภัยแก่ชีวิตด้านร่างกายเป็นอันมาก จนถึงกับว่าถ้าขืนก้าวหน้าในลักษณะเดิมต่อไป อาจกลายเป็นการดำเนินสุ่ความพินาศเสื่อมสูญก็ได้

พึงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านกาย ฉันใด ก็พึงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านจิตปัญญา เป็นต้น

ในการวินิจฉัยว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่วนี้ เมื่อพูดในทางปฏิบัติ เพื่อให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ทุกระดับ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ถือข้อพิจารณาเกี่ยวกับกุศลและอกุศลเป็นหลักแกนกลาง จากนั้นทรงผ่อนขยายออกไป ให้ใช้สำนึกเกี่ยวกับความดีความชั่วของตนเอง อย่างที่เรียกกันว่ามโนธรรม และให้ถือมติของผู้รู้เป็นหลักประกอบหรืออ้างอิง (สองอย่างนี้เป็นฐานของหิริโอตตัปปะ) นอกจากนั้น ให้พิจารณาที่ผลของการกระทำอันจะเกิดแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น หรือแก่บุคคลและสังคม การที่ตรัสเช่นนี้คงจะเป็นด้วยว่า คนบางคนยังมีปัญญาไม่กว้างขวางลึกซึ้งเพียงพอ

อาจมองเห็นภาวะที่เป็นกุศลและอกุศลไม่ชัดเจน จึงให้ถือเอามติของท่านผู้รู้เป็นหลักประกอบด้วย และถ้ายังไม่ชัดพอ ก็มองดูง่าย ๆ จากผลของการกระทำ แม้แต่ที่เป็นไปตามบัญญัติของสังคม สำหรับคนทั่วไป การพิจารณาด้วยหลักทั้งสามนี้ ถือได้ว่าเป็นวิธีการตรวจสอบหลาย ๆ ชั้น เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ .

โดยสรุป เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีและกรรมชั่วมีว่า ในแง่ของกรรม ให้ถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นกรรมหรือไม่ และในแง่ที่ว่ากรรมนั้นดีหรือชั่ว ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังนี้

1. เกณฑ์หลัก

1.1 ตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดย

พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ

พิจารณาตามสภาวะว่า เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบาย ไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์ หรือไม่ ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศลธรรม (สภาพที่เกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคิลกภาพอย่างไร

2. เกณฑ์รวม

2.1 ใช้มโนธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนหรือไม่

2.2 พิจาณาความยอมรับของวิญญู หรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตชน ว่าเป็นสิ่งที่วิญญูชนยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญ หรือตำหนิติเตียน

2.3 พิจารณาลักษณะ และผลของการกระทำ

- ต่อตนเอง

- ต่อผู้อื่น

2.3.1 เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่

2.3.2 เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ ทั้งแก่ตน และผู้อื่น



หลักเกณฑ์นี้อาจสรุปได้อีกแนวหนึ่งด้วยสำนวนแสดงการจัดประเภทของเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน แต่มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อนบางอย่าง กล่าวคือ ประการที่หนึ่งให้ถือว่า การพิจารณาในแง่ของกุศลมูล อกุศลมูล และกุศลอกุศลนั้น ว่าโดยสาระเป็นอันเดียวกัน คือมุ่งพิจารณาความเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูลต่อคุณภาพของชีวิตจิตใจ

อีกประการยอมรับหรือไม่ยอมรับของปราชญ์ การติเตียนหรือสรรเสริญของวิญญูนั้น เมื่อมองอย่างกว้าง ๆ หรือมองในระดับสถาบัน และเมื่อว่าโดยส่วนใหญ่ มติของวิญญูหรือปราชญ์จะปรากฏอยู่ในรูปของบัญญัติทางศาสนาบ้าง ขนบธรรมเนียมประเพณีบ้าง กฎหมายบ้าง เป็นต้น แม้ว่าบทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่านี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมติของวิญญูเสมอไป

และการปฏิบัติที่ขัดแย้งแปลกออกไปจากบทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้อที่วิญญูติเตียนเสมอไป แต่ก็พอจะพูดได้ว่า ส่วนที่แตกต่างนี้เป็นข้อยกเว้น ซึ่งก็เป็นกิจของวิญญูนั่นแหละที่จะต้องหมั่นสอบสวนตรวจตราในเรื่องเหล่านี้ในแต่ละกาลแต่ละสมัยแต่ละครับแต่ละคราวเรื่อย ๆ ไป จึงมักมีพุทธพจน์ตรัสสำทับว่า “อนุวิจฺจ วิญฺญ”

(ดู ม.ม.13/39/35-46/40; 553/500; องฺ.ทุก.20/264/73; 379/111 = องฺ.จตุกฺก21/3/3; 83/108; องฺ.ปญฺจก.22/217/283; 241/296-248/298; องฺ.ทสก.24/23/41; ขุ.ธ.25/27/45)

(วิญญูใคร่ครวญแล้ว จึงติเตียนหรือสรรเสริญ คือยอมรับหรือไม่ยอมรับ) และจะเห็นว่าวิญญูนี่แหละ เมื่อใคร่ครวญแล้ว ก็ได้เป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติบัญญัติกันมาผิด ๆ หรือเคลื่อนคลาดจากความหมายที่ถูกต้อง เช่น พระพุทธเจ้าทรงติเตียนไม่ยอมรับระบบวรรณะและการบูชายัญ เป็นต้น

เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็สรุปหลักเกณฑ์ตัดสินความดีความชั่ว หรือกรรมดีกรรมชั่ว ทั้งตามแนวกรรมนิยามล้วน ๆ และกรรมนิยามที่สัมพันธ์กับสังคมนิยมน์ ทั้งโดนสภาวะและโดยคุณค่า ซึ่งเป็นคุณค่าโดยสภาวะบ้าง คุณค่าตามที่กำหนดให้บ้าง ได้อีกสำนวนหนึ่ง มีสาระอย่างเดียวกับข้อสรุปข้างบนนั้นเอง แต่จัดจำแนกข้อต่างกันมีใจความคาบเกี่ยวกันดังนี้

ก) ว่าโดยคุณโทษต่อชีวิต หรือต่อจิตใจและบุคลิกภาพ คือเป็นสภาวะที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ เอื้อหรือไม่ต่อคุณภาพชีวิต ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ทำให้กุศลธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลายอื่น ลดถอยหรือเจริญงอกงาม ช่วยสร้างเสริมบุคลิกภาพที่ดีงามหรือไม่

ข) ว่าโดยคุณโทษต่อบุคคล คือ เป็นการเบียดเบียนตนหรือไม่ ทำให้ตนเดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลายหรืออำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ตน

(ข้อ “ ข) ” ต่างจากข้อ “ ก) “ ในแง่ที่มุ่งถึงผลซึ่งบุคคลจะได้ประสบในระดับแห่งวิถีชีวิต โดยเฉพาะความสุข ความทุกข์ ความเจริญ และควาเมสื่อมเสียหายอย่างเห็น ๆ (บุคคลอาจไม่รู้จัก ไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของเขาเองด้วยซ้ำ) )

ค) ว่าโดยคุณโทษต่อสังคม คือ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลายหรืออำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม

ง) ว่าโดยมโนธรรม หรือ โดยสำนึกอันตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือ พิจารณาเห็นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองว่า การนั้นเมื่อทำแล้ว ตนเองติเตียนหรือกล่าวโทษตนเองได้หรือไม่

จ) ว่าโดยมาตรฐานทางสังคม คือ ตามบัญญัติทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และสถาบันต่าง ๆ ทางสังคม เช่น กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งขึ้นต่อการใคร่ครวญตรวจสอบกลั่นกรองของวิญญูทั้งหลาย ตามกาลสมัย ที่จะมิให้ถือกันไปโดยงมบายหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตลอดจนการใคร่ครวญแล้วยอมรับหรือไม่ของวิญญูหรือไม่ของวิญญูเหล่านั้นในแต่ละกรณี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


หลักคำสอนที่เป็นเกณฑ์วินิจฉัย


ก่อนจะพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการให้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วในหัวข้อถัดไป ขอนำข้อความจากบาลีต่อไปนี้ มาอ้างเป็นหลักสำหรับความที่ได้กล่าวมาในตอนนี้

“ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ กุศลมูล 3 คือ อโภละ อโทสะ อโมหะ , เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยกุศลมูลนั้น , กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นกุศล”

“ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ อกุศลมูล 3 คือ โภละ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งหลายที่ตื้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น , เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยอกุศลมูลนั้น , กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้คือธรรมเป็นอกุศล”

(อภิ.สํ.34/663/259 (ท่านกล่าวถึงอัพยากตธรรมต่อไปอีก แต่ไม่ยกมา เพราะพ้นที่ต้องการ)

“อันตรายมี 2 อย่าง คือ อันตรายที่เปิดเผย และอันตรายที่ซ่อนเร้น”

“อันตรายที่เปิดเผย เป็นไฉน? ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า ฯลฯ โจร ฯลฯ โรคตา โรคหู โรคจมูก ฯลฯ หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เสือกคลาน เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่เปิดเผย”

“อันตรายที่ซ่อน เป็นไฉน? ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉํนทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ (ลบล้างปิดซ่อนความดีของผู้อื่น) ความยกตัวกดเขาไว้ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความดื้อกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความมัวเมา ความประมาท ปวงกิเลส ปวงความทุจริต ปวงความกระวนกระวาย ปวงความร่านรน ปวงความเดือดร้อน ปวงความปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ซ่อนเร้น

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย? เพราะอรรถว่าครอบงำ ... เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม ... เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย ...”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำ เป็นอย่างไร? คืออันตรายเหล่านั้น ย่อมข่ม ย่อมกดขี่ ครอบงำ ท่วมทับ บั่นรอน ย่ำยี บุคคลนั้น ...”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร? คืออันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ”

“ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย เป็นอย่างไร? คือ อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ภายใน อาศัยอัตภาพอยู่ เหมือนกับสัตว์อาศัยรู ก็อยู่ในรู สัตว์อาศัยน้ำ ก็อยู่ในน้ำ สัตว์อาศัยป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์อาศัยต้นไม้ ก็อยู่ที่ต้นไม้ ฯลฯ”

“สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย ยังมีอาจารย์คอยสอดส่อง

(เป็นสำนวนแบบเล่นคำ แปลตามศัพท์ว่า อยู่ในอันเตวาสิก มีอาจารย์)

ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย ; ภิกษุมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย เป็นอย่างไร? กล่าวคือ พอจักษุเห็นรูป ... พอโสตสดับเสียง ... พอจมูกดมกลิ่น ... พอลิ้มลิ้มรส ... พอกายต้องสิ่งกระทบ .. พอใจรู้ธรรมารมณ์ อกุศลธรรมชั่วร้าย ความดำริร่าน อันก่อกิเลสผูกรัดทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุ อกุศลธรรมชั่วร้ายทั้งหลายย่อมอยู่อาศัย เที่ยววิ่งซ่านไปข้างในของเธอ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอจึงถูกเรียกว่า มีลูกศิษย์อยู่ร่วมด้วย เพราะเหตุดังนั้น เธอจึงถูกเรียกว่า มีอาจารย์คอยสอดส่อง ...”

“สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ; ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการเหล่านี้ เป็นมลทินภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นข้าศึกภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นผู้จองล้างภายใน , สามประการนี้คืออะไร? ได้แก่ โลภะ โทสะ ... โมหะ ฯลฯ”

“โลภะ ก่อความเสียหาย โลภะทำใจให้กำเริบ คนไม่รู้เท่าทันว่ามันเป็นภัยที่เกิดขึ้นข้างใน โลภเข้าแล้วไม่รู้อรรถ โลภเข้าแล้วไม่เห็นธรรม พอความโลภเข้าครอบงำเวลานั้นมีแต่ความมืดตื้อ; โทสะก่อความเสียหาย ฯลฯ โมหะก่อความเสียหาย ฯลฯ (เหมือนกัน)”

“สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า : ดูกรมหาบพิตร ธรรม 3 ประการเกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก , สามประการคืออะไร? ได้แก่ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ ฯลฯ”

“โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นข้างในตนเอง ย่อมบั่นรอนคนใจบาป เหมือนขุยไผ่บั่นรอนต้นไผ่ฉะนั้น ...”

(ขุ.ม.29/22/14-18; 728/436-441; 911/573-8; ขุ.จู.30/692/348-352; ส่วนข้อความที่อ้างเรื่องอยู่มีลูกศิษย์ ท่านยกมาจาก สํ.สฬ.18/236/170; เรื่องมลทินภายใน จาก ขุ.อิติ.25/268/295; เรื่องธรรม 3 เกิดข้างในตน จาก สํ.ส.15/329/101; คาถามีที่ ขุ.อิติ.25/228/264 ด้วย)

“ดูกรมหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก สามประการคืออะไร? ได้แก่ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ ฯลฯ “

(สํ.ส.15/403/142)

“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูลมี 3 อย่างดังนี้ , สามอย่งคืออะไร? ได้แก่ อกุศลมูลคือโลภะ อกุศลมูลคือโทสะ อกุศลมูลคือโมหะ”

“แม้ตัวโลภะเองก็เป็นอกุศล คนโลภแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วย กาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล , คนโลภแล้ว ถูกความโลภครอบงำ มีจิตถูกโลภะบ่อนเสียแล้ว ย่อมหาเรื่องก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น โดยฆ่าเขาบ้าง จองจำบ้าง ทำให้สูญเสียบ้าง ตำหนิโทษเอาบ้าง ขับไล่บ้าง ด้วยถือว่า ข้าฯ เป็นคนมีกำลัง ข้าฯ เป็นผู้ทรงพลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล; อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก ซึ่งเกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด มีโลภะเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมประดังมีแก่เขาด้วยประการฉะนี้”

“แม้ตัวโทสะเองก็เป็นอกุศล คนมีโทสะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วย กาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล ; คนมีโทสะแล้ว ... ย่อมหาเรื่องก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น ... แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล , อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก ... ย่อมประดังมีแก่เขาด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ”

“แม้ตัวโมหะเองก็เป็นอกุศล คนมีโมหะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วย กาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล ; คนมีโมหะแล้ว ... ย่อมหาเรื่องก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น ... แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล , อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก ... ย่อมประดังมีแก่เขาด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ”

“บุคคลเช่นนี้ ผู้ถูกอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดจากโลภะ ... โทสะ ... โมหะ ... ครอบงำแล้ว มีจิตถูกบ่อนแล้ว ในปัจจุบันนี่เอง ก็อยู่เป็นทุกข์ มีความคั่งเครียด คับแค้น เร่าร้อน เพราะกายแตก ตายไป ก็เป็นอันหวังทุคติได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อก็ตาม ถูกเถา ย่านทราย 3 เถา ขึ้นคลุมยอด พันรอบต้นแล้ว ย่อมถึงความไม่เจริญ ย่อมถึงความพินาศ ย่อมถึงความเสื่อม ความวอดวาย ...”

“ภิกษุทั้งหลาย กุศลมูลมี 3 อย่างดังนี้, สามอย่างคืออะไร? ได้แก่ กุศลมูลคืออโลภะ กุศลมุลคืออโทสะ กุศลมูลคืออโมหะ ฯลฯ”

(องฺ.ติก.20/509/258-263 (ท่านบรรยายเรื่องกุศลมูลไว้ด้วย แต่พึงทราบโดยนัยตรงข้ามจากที่กล่าวแล้ว) )

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่างดังนี้ , สามอย่างคืออะไร? ได้แก่ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ ...”

“กรรมใดกระทำด้วยโลภะ ... โทสะ ... โมหะ ... เกิดจาก โลภะ ... โทสะ ... โมหะ มี โลภะ ... โทสะ ... โมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย) ไม่เป็นไปเพื่อดับกรรม (กรรมนิโรธ)”

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่างดังนี้ สามอย่างคืออะไร? ได้แก่ อโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ ...”

“กรรมใดกระทำด้วยอโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ ... เกิดจาก อโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ มี อโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม (กรรมนิโรธ) ไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย) ... ”

(องฺ.ติก.20/551/338)

“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย”

“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร? โลภะ ... โทสะ ... โมหะ เมื่อเกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูล หรือะเพื่อไม่เกื้อกูล”

(ตอบ : เพื่อไม่เกื้อกูล พระเจ้าข้า)

“คนที่โลภแล้ว ... เคืองแค้นแล้ว ... หลงแล้ว ถูกโลภะ ... โทสะ ... โมหะครอบงำ มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมสังหาร ชีวิตบ้าง ถือเอาของที่เขามิได้ให้บ้าง ล่วงภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

(ทูลรับ : จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า)

“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร ? ธรรมเหล่นี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล?

(ตอบ : เป็นอกุศล พระเจ้าข้า)

“ประกอบด้วยโทษ หรือไม่มีโทษ?

(ตอบ : ประกอบด้วยโทษ พระเจ้าข้า)

“ผู้รู้ติเตียน หรือผู้รู้สรรเสริญ?

(ตอบ: ผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า)

“ธรรมเหล่านี้ ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ หรือหาไม่, หรือว่าพวกท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?

(ตอบ: ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์, พวกข้าพระองค์มีความเห็นในเรื่องนี้ว่าอย่างนี้)

“โดยนัยดังนี้แล กาลามชนทั้งหลาย ข้อที่เราได้กล่าวไว้ว่า ; มาเถิด กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าถือโดยฟังตามกันมา ฯลฯ อย่าถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา , เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ฯลฯ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย ดังนี้นั้น เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลดังว่ามานี้”

(องฺ.ติก.20/505/243 (ต่อจากนี้ตรัสเกี่ยวกับธรรมฝ่ายกุศล ซึ่งพึงทราบโดยนัยตรงข้ามจากนี้) : พระสูตรที่มีความคล้ายกันนี้มีอีกที่ องฺ.ติก.20/506/249; องฺ.จตุกฺก.21/193/259)

ต่อไปนี้เป็นคำสนทนาระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศกับพระอานนท์ ถามตอบปัญหาเกี่ยวกับความหมายของความดี ความชั่ว ซึ่งจะเห็นว่า ท่านเอาหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นเข้าสัมพันธ์กันทั้งหมด

ราชา: พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใดเป็นพาล ไม่ฉลาด ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราไม่ยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นแก่นสาร, ส่วนชนเหล่าใดเป็นบัณฑิตฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญาใคร่ครวญ พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราย่อมยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นแก่นสาร

พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ความประพฤติทางกาย ... ความประพฤติทางวาจา ... ความประพฤติทางใจ ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้ คืออย่างไหน?

อานนท์ : คือ ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่เป็นอกุศล มหาบพิตร

ราชา : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่เป็นอกุศล คืออย่างไหน?

อานนท์ : คือ ความประพฤติทาง ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีโทษ

ราชา : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีโทษ คืออย่างไหน?

อานนท์ : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีความบีบคั้น

(“สพฺยาปชฺฌ” เรามักแปลกันว่า มีความเบียดเบียน หรือประกอบด้วยความเบียดเบียน แต่อรรถกถาทั้งหลายท่านแปลว่า มีทุกข์ หรือประกอบด้วยทุกข์ แทบทั้งนั้น ไม่ว่าที่นี้หรือที่อื่น จะแปลว่า มีความคับข้อง ก็ดูดี (อพฺยาปชฺฌ ที่ตรงข้าม ก็เช่นเดียวกัน) ดู ม.อ.3/32, 99, 332, 508 ฯลฯ)

ราชา : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีความบีบคั้น คืออย่างไหน?

อานนท์ : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล

ราชา : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล คืออย่างไหน?

อานนท์ : ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายก็ดี ที่อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งแก่เขา กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมถอยไป, มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้”



ต่อจากนั้น ท่านได้ทูลถามในฝ่ายกุศลโดยทำนองเดียวกัน ลงท้ายสรุปว่า “ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ ที่มีสุขเป็นผล คือความประพฤติ ... ที่ไม่เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตน ทั้งเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ที่อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมถอย และกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งแก่เขา, มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูไม่พึงกล่าวโทษได้”

(ม.ม.13/553-4/500-3)

“คนอยากได้ใคร่ติดแล้ว ... แค้นเคืองแล้ว ... ลุ่มหลงแล้ว ... ถูกราคะ ... โทสะ ... โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมคิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยโทมนัสเป็นทุกข์ทางจิตใจบ้าง , ครั้นละราคะ ... โทสะ ... โมหะ เสียได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องเสวยโทมนัส เป็นทุกข์ทางจิตใจ”

“คนอยากได้ใคร่ติดแล้ว ... แค้นเคืองแล้ว ... ลุ่มหลงแล้ว ... ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ, ครั้นละ ราคะ ... โทสะ ... โมหะ เสียได้แล้ว เขาย่อมไม่ประพฤติทุจริตทางกาย ... ทางวาจา ... ทางใจ”

“คนอยากได้ใคร่ติดแล้ว ... แค้นเคืองแล้ว ... ลุ่มหลงแล้ว ... มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน ... แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น ... แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย, ครั้นละ ราคะ ... โทสะ ... โมหะ เสียได้แล้ว เขาย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน ... แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น ... แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฯลฯ

(องฺ.ติก.20/511/278-9, ความท่อนต้นพบได้อีกที่ องฺ.ติก.20/493-4/199-202)

“บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนใจภายหลัง มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้ เสวยผล กรรมที่ทำนั้นไม่ดี, บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตเอิบอิ่มดีใจ เสวยผล กรรมที่ทำนั้นแลดี”

(ขุ.ธ.25/15/23)

“คนทำกรรมใดไว้ ย่อมเห็นกรรมนั้นในตนเอง”

(ขุ.ชา.27/294/84)

“กรรมชั่ว ก็เหมือนน้ำนมรีดใหม่ ๆ ย่อมไม่แปรเป็นผลในทันที, แต่กรรมชั่วย่อมตามเผาลนคนพาลเหมือนไฟที่เถ้าปิดไว้

(ขุ.ธ.25/15/24)

“บุคคลใดเคยทำกรรมชั่วไว้ แล้ว (กลับตัวได้) หันมาทำดีปิดกั้น, บุคคลนั้นย่อมทำโลกให้แจ่มใสเหมือนดังดวงจันทร์ทีพ้นจากเมฆหมอก”

(ขุ.ธ.25/23/38)

“ความดีที่ทำไว้เอง เป็นมิตรติดตามตัวสืบต่อไป”

(สํ.ส.15/163/51)

“อานนท์! กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าไม่ควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังโทษต่อไปนี้ได้ คือตนเองที่กล่าวโทษตนได้

(กล่าวโทษตน แปลจาก “อุปวทติ” จะแปลว่า ติเตียน หรือหาความผิดก็ได้)

วิญญูทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียน กิตติศัพท์อันชั่วร้ายย่อมขจรไป ตายก็หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ...”

“อานนท์! กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังอานิสงส์ต่อไปนี้ได้ คือตนเองที่กล่าวโทษตนไม่ได้ วิญญูทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ กิตติศัพท์ดีงามย่อมขจรไป ตายก็ไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อกายแตกทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ...”

(องฺ.ทุก.20/264/73)

“ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด อกุศลเป็นสิ่งที่อาจละได้ หากอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่อาจละได้แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวอย่างนั้น ... แต่เพราะอกุศลเป็นสิ่งที่อาจละได้ เราจังกล่าวอย่างนั้น ... อนึ่ง หากอกุศลนี้ คนละเสียแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด แต่เพราะอกุศลนี้คนละได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงละอกุศลเสียเถิด”

“ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมกุศลเถิด กุศลเป็นสิ่งที่อาจฝึกอบรมได้หากกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ฝึกอบรมได้แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวอย่างนั้น ... แต่เพราะกุศลเป็นสิ่งที่ฝึกอบรมได้ เราจังกล่าวอย่างนั้น ... อนึ่ง หากกุศลนี้ คนฝึกอบรมแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แล้วไซร้ เราคงไม่กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมกุศลเถิด แต่เพราะกุศลนี้คนฝึกอบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย จงฝึกอบรมกุศลเถิด”

(องฺ.ทุก.20/265/74)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ก็มี ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกาย ก็มี ธรรมที่พึงละมิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ ก็มี”

“ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา เป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยกาย เพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า : ท่านผู้มีอายุถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยกาย จะเป็นการดีแท้ที่ท่านผู้มีอายุได้โปรดละกายทุจริต จงบำเพ็ญกายสุจริตเถิด, เธอถูกเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่ จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต นี้เรียกว่า ธรรมที่พึงละด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา”

“ธรรมที่พึงละด้วยวาจา มิใช่ด้วยกายเป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยวาจา เพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า : ท่านผู้มีอายุถึงความละเมิดอันเป็นอกุศลบางส่วนด้วยวาจา จะเป็นการดีแท้ที่ท่านผู้มีอายุได้โปรดละวจีทุจริต จงบำเพ็ญวจีสุจริตเถิด, เธอถูกเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่ จึงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต นี้เรียกว่า ธรรมที่พึงละด้วยวาจากาย มิใช่ด้วยวาจากาย”

“ธรรมที่พึงละ มิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ เป็นไฉน? คือ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ ... ความโกรธ ... ความผูกโกรธ ... ความลบหลู่ ... ความยกตัวกดเขาไว้ ... ความตระหนี่ พึงละมิใช่ด้วยกาย มิใช่ด้วยวาจา ต้องเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละได้ ...”

(องฺ.ทสก.24/23/41).


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือการให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย ความจริง ปัญหาเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสังคมนิยมน์

โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามและนิยมน์ทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขตและขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก “ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของทำดีได้ดี ว่าเท่ากับทำความดีได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดี หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น

กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้วได้ผลประโยชน์หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้ จึงควรมีการศึกษากันให้ชัดเจน

จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกัน และที่สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยามกับสังคมนิยมน์ เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เบื้องแรกขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

1. ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติคือกุศธรรมและอกุศลธรรม คุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุข ความทุกข์ เป็นต้น อย่างไรบ้าง

2. ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมทำให้เกิดผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออก ท่าที การวางตัวปรับตัว อาการตอบสนองความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และต่อสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปอย่างไรบ้าง การให้ผลระดับนี้ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ 1 นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน แต่แยกพิจารณา เพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น

3. ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่าง ๆ ที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่า โลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง ผลระดับนี้อาจแยกออกได้สองด้าน คือ

3.1 ผลสนองจากปัจจัยด้านอื่น ๆ ของสภาพแวดล้อมที่นอกจากคน

3.2 ผลสนองจากปัจจัยด้านบุคคลอื่นและสังคม

4. ระดับสังคม ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไปของสังคมอย่างไรบ้าง เช่น ทำให้เกิดความเสื่อม ความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำต่อสภาพแวดล้อมอื่น ๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง

จะเห็นได้ชัดว่า ผลในระดับที่ 1 และ 2 คือผลภายในจิตใจและบุคลิกภาพ เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามเป็นใหญ่ ระดับที่ 3 เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามกับสังคมนิยมน์เข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นจุดที่มักเกิดความสับสน ก่อให้เกิดปัญหาที่ควรพิจารณาในที่นี้ ส่วนระดับที่ 4 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อยู่นอกขอบเจตของการพิจารณาในหัวข้อนี้

คนทั่วไป เมื่อมองดูผลของกรรมที่เกิดแก่ตน หรือเพ่งจ้องติดตามดูผู้อื่นว่า ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ อย่างไร มักมองดูแต่ผลในระดับที่ 3 คือความเป็นไปในชีวิตส่วนที่ได้รับผลตอบสนองจากภายนอกเท่านั้น ทำให้มองข้ามผลในระดับที่ 1 และ 2 ไปเสีย ทั้งที่ผลสองระดับต้นนั้นแหละมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญทั้งในแง่เฉพาะของมันเอง เช่น สุขทุกข์ในใจ ความเข้มแข็งอ่อนแอภายใน ความพร้อม ความแก่หรืออ่อนแห่งอินทรีย์ เป็นต้น

และสำคัญทั้งในแงเป็นที่มาแหล่งใหญ่ของผลในระดับที่สามด้วย กล่าวคือ ผลในระดับที่สามนั้น ส่วนที่เป็นขอบเขตของกรรมนิยามก็ต่อเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และ 2 นั่นเอง เช่น สภาพจิตใจของบุคคลผู้นั้นเอง คือความสนใจ ความนิยมชมชอบ ความโน้มเอียง แนวทางแสวงสุขหรือระบายทุกข์ภายในของเขา ซึ่งเป็นผลของกรรมในระดับที่ 1 จะชักนำให้เขามองสิ่งนั้นเรื่องนั้นในแง่นั้น ๆ นำเขาเข้าไปหาสถานการณ์นั้น ๆ ทำการตอบสนองอย่างนั้น ๆ จะทำหรือไม่ทำสิ่งนั้น ๆ ทำให้เขาดำเนินตามวิถีชีวิตอย่างนั้น ๆ ให้ได้พบประสบการณ์ หรือประสบผลอย่างนั้น ๆ และให้มีความรู้สึกหรือท่าทีต่อสิ่งที่ประสบอย่างนั้น ๆ เป็นต้น

เฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดผลในระดับที่สอง ซึ่งก็ชวยเสริมผลในระดับที่ 1 ในการก่อผลระดับที่สามอย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง รวมทั้งการที่ว่า เมื่อเขาจะทำการใด ๆ เขาจะทำสิ่งนั้น ๆ ตามแนวไหน ลักษณะใด ด้วยอาการใด จะทำไปตลอดไปไหม พบข้อขัดข้องอย่างไหนจะยอม อย่างไหนจะย่ำต่อไปจะทำสำเร็จหรือไม่ จะหยาบประณีตยิ่งหรือหย่อนอย่างไร ตลอดถึงว่า ตัวเขาจะปรากฏเป็นภาพในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นอย่างไร อันจะมีผลย้อนกลับมาหาตัวเขาเองอีก ในรูปของความช่วยเหลือ ร่วมมือ หรือขัดแย้งปฏิเสธ เป็นต้น

อันเป็นส่วนที่บุคลิกภาพของเขาชักนำคนอื่นให้ช่วยพาตัวเขาไปสู่ผลสนองที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธองค์ประกอบด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ที่จะมามีปฏิกิริยาตอบโต้กันและมีอิทธิพลต่อเขาโดยอาศัยกรรมนิยามนี้ เพียงแต่ว่าในที่นี้มุ่งเน้นการมองกรรมนิยามจาด้านภายในออกมาอย่างเดียวก่อน ส่วนการมองจากด้านนอกเข้าไป จะเห็นในหลักปรโตโฆสะและกัลยาณมิตรที่จะกล่าวข้างหน้าเป็นต้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนิยามตามที่กล่าวมานี้ มิใช่มีประโยชน์เฉพาะในด้านการแก้ไขปรับปรุงตนในการประกอบกรรมของบุคคลเองเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในการที่คนอื่นหรือสังคมจะช่วยเหลือบุคคลให้โน้มน้อมไปในทางแห่งกุศลกรรม ด้วยการจัดสรรอำนวยสภาพแวดล้อมและเครื่องชักจูงที่ดีงามตามหลักปฏิรูปเทสวาสและกัลยาณมิตตตา หรือสัปปุริสูปัสสยะ อีกด้วย

ในหัวข้อก่อน ได้กล่าวถึงการก่อผลของกรรมในระดับที่ 1 คือ ภายในจิตใจไว้พอเป็นเค้าแล้ว ส่วนการก่อผลในระดับที่สองก็ต่อเนื่องจากระดับที่ 1 นั้นเอง และได้กล่าวถึงความหมายคร่าว ๆ ไว้แล้ว ทั้งสองระดับนั้นเกี่ยวโยงถึงผลในระดับที่สามด้วย แต่ไม่ใช่ข้อพิจารณาโดยตรง ณ ที่นี้ จึงขอผ่านไป

ผลกรรมในระดับที่สาม คือ ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิตพร้อมด้วยผลตอบสนองต่าง ๆ นั้น ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องของกรรมนิยามนั่นแหละ และส่วนมากก็สืบเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และ 2 เช่น ถ้าคนผู้หนึ่งมีใจรักงาน ทำงานสุจริตด้วยความขยันหมั่นเพียร จัดการงานได้ดี เขาก็น่าจะได้รับผลงานและผลตอบแทนดี อย่างน้อยดีกว่าคนที่เกียจคร้านหรือทำงานไม่สุจริต ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตมีความสามารถ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการบังเกิดผลดี ก็น่าที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการ อย่างน้อยดีกว่าข้าราชการที่ไม่สามารถและไม่เข้มแข็งในหน้าที่

แต่บางทีผลหาเกิดเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะผลในระดับที่สามมิใช่เกิดจากกรรมนิยามอย่างเดียวล้วน หากแต่มีปัจจัยด้านนิยามและนิยมน์อื่น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งสังคมนิยมน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อมองดูแต่กรรมนิยามอย่างเดียว ไม่มองปัจจัยด้านอื่นให้ครบถ้วน และไม่รู้จักแยกขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนิยาม – นิยมน์ต่า งๆ ก็จะเกิดความสับสน แล้วคำกล่าวที่ว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี ก็ติดตามา

ถ้ากรรมนิยามทำงานลำพังอย่างเดียวก็ย่อมไม่มีปัญหา ผลก็เกิดตรงตามกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น ขยันอ่านหนังสือเรียน หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาตั้งใจอ่าน ก็อ่านจบ ได้ความรู้ แต่บางคราวร่างกายอ่อนเพลียเกินไป หรือปวดศีรษะ หรืออากาศร้อนเกินไป ก็อาจอ่านไม่จบ หรืออ่านไม่รู้เรื่อง หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นในระหว่าง การอ่านก็ต้องหยุดชะงักลง ดังนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พึงตระหนักแน่ใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์ กรรมนิยามก็ยังคงเป็นแกนกลางชี้นำวิถีชีวิต หรือเป็นปัจจัยตัวเอกที่กำหนดการได้รับผลสนองดีร้ายต่าง ๆ ในชีวิตอยู่อย่างแน่นอน สำหรับผู้ที่รู้สึกผิดหวังในตนเอง หรือมองเห็นใครอื่นก็ตามว่าทำดีแล้วไม่ได้ดีนั้น แม้ยังไม่ได้ตรวจสอบเหตุปัจจัยในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจนเลยก็อาจลองมองดูอย่างง่าย ๆ ก่อนว่า นี่ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมดีนั้นไว้ คงจะแย่ยิ่งกว่านี้ นั่น ถ้าเขาไม่ได้ทำดีไว้บ้าง เขาคงตกหนักยิ่งกว่านั้นอีก ถ้ามองอย่างนี้ บางทีจะเริ่มเกิดความเข้าใจ มองเห็นอะไร ๆ ค่อย ๆ ชัดมากขึ้น และตระหนักว่า ถึงอย่างไร กรรมที่ทำไว้ก็ไม่ไร้ผลเสียเลย และอาจสืบลงไปจนถึงผลภายในจิตใจและผลต่อบุคลิกภาพอย่างที่กล่าวแล้วด้วย

ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ขอให้มาดูและแก้ไขกันตั้งแต่ข้อความแสดงหลักทีเดียว คำกล่าวที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้นมาจากพุทธภาษิตว่า ดังนี้

ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ

(สํ.ส.15/903/333; ขุ.ชา.27/294/84; 713/166 เรื่องเล่าประกอบมาใน ชา.อ.3/265; 4/425 ภาษิตเต็มของแต่ละที่มา มีข้อความมากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่เล่าประกอบในชาดก ดูเหมือนท่านมุ่งแสดงให้เห็นผลชนิดที่เป็นเหตุการณ์ชัดเจน, อนึ่ง คาถามในชาดก บาทที่สองเป็น ตาทิสํ รุหเต ผลํ บ้าง ตาทิสํ หรเต บ้าง แปลว่า หว่านพืชเช่นใด ผลเช่นนั้นย่อมงอกขึ้น หรือ หว่านพืชเช่นใด ก็นำผลเช่นนั้น ไป)

แปลว่า “หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดีได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว

คาถานี้เป็นพุทธพจน์ในรูปของอิสิภาษิต (คำกล่าวของฤาษี) และโพธิสัตวภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างกะทัดรัดชัดเจน

พึงสังเกตว่า ความท่อนแรกที่อุปมานั้น ท่านนำเอาพืชนิยามมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพียงแต่พิจารณาข้ออุปมานี้ให้ดี ก็จะแยกความสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสังคมนิยมน์ได้ทันที

กล่าวคือข้อความว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น แสดงกฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ว่า ปลูกมะขามได้มะขาม ปลูกองุ่นได้องุ่น ปลูกผักกาดได้ผักกาด เป็นต้น

ไม่ได้แสดงผลในทางสังคมนิยมน์แต่ประการใดว่า ปลูกมะขามแล้วจะได้เงิน หรือปลูกผักแล้วจะรวย เป็นต้น

ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน พืชนิยามกับสังคมนิยมน์จะมาสัมพันธ์กันก็ในตอนที่ว่า ปลูกองุ่นได้องุ่น แล้ว พอดีถึงคราวที่ตลาดต้องการองุ่นมาก จึงขายได้ราคาดี และปีนั้นจึงรวย แต่อีกคราวหนึ่งปลูกแตงโม ได้แตงโม และงอกงามได้ผลมาด้วย แต่ปีนั้น คนปลูกแตงโมกันมาก ผลดกทั่วไปจนมีเกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตก ปีนั้นขายขาดทุน ต้องทิ้งเปล่าเสียมากมาย

นอกจากปัจจัยด้านความต้องการของตลาดแล้ว อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น เรื่องคนกลาง การกดราคา เป็นต้น แต่สาระสำคัญก็คือ จะเห็นความแน่นอนของพืชนิยามคงตัว และเห็นขอบเขตของพืชนิยามกับสังคมนิยมน์ ทั้งที่แยกต่างหากจากกัน และที่สัมพันธ์กันได้อย่างชัดเจน อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น คนมักมองกรรมนิยาม กับสังคมนิยมน์สับสนกัน โดยพูดว่า ทำดีได้ดี ในความหมายว่า ทำดีแล้วรวย ทำความดีแล้วได้เลื่อนตำแหน่งเป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่บางทีก็ไม่เป็น เหมือนกับพูดว่า ปลูกมะม่วงได้เงินดี ปลูกมะพร้าวทำให้รวย เขาปลูกน้อยหน่าจึงยากจน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ แต่ความจริงก็คือ เป็นการพูดข้ามขั้นตอน ไม่แสดงความจริงตลอดสาย อาจใช้ได้สำหรับภาษาพูดพอรู้กัน แต่ถ้าจะเอาความจริงแท้ ต้องแสดงเหตุปัจจัยซอยออกไปโดยว่ากันให้ละเอียด.

การที่กรรมนิยามจะแสดงผลออกมาในระดับของวิถีชีวิต ทำให้มีความเป็นไปต่าง ๆ ประสบผลตอบสนองจากภายนอก อันน่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างนั้น ในบาลีท่านแสดงหลักไว้ว่า ต้องขึ้นต่อองค์ปะรกอบต่าง ๆ 4 คู่ คือ สมบัติ 4 และวิบัติ 4

(อภิ.วิ.35/840/458-9 มีอรรถกถาอธิบายใน องฺ.อ.2/141-4; วิภงฺค.อ.572-593)



สมบัติ แปลง่าย ๆ ว่า ข้อดี หมายถึงความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้น ๆ ว่า องค์ประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี สมบัติมี 4 อย่าง คือ

1. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือคติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะหรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้น คือ ดำเนินชีวิตอยู่หรือไปในถิ่นที่โอกาสอำนวย

2. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย หรือรูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดี แข็งแรง

3. กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาลหรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองมีความสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือ ทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ

4. ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์ หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือเหยาะแหยะ หรือไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ



ส่วน วิบัติ แปลง่าย ๆ ว่า ข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึงความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้น ๆ ว่า องค์ประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว วิบัติ มี 4 อย่าง คือ

ก. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือ เกิดอยู่ใน ภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิต ถิ่นที่ไปไม่อำนวย

ข. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก

ค. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ

ง. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราวที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่ง ๆ กลาง ๆ เป็นต้น



คู่ที่ 1 คติสมบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นเจริญ มีบริการ การศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือเช่น ไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไรก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก คติวิบัติ เชน มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าดงหรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือมีสติปัญญาดีแต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่นหรือในชุมชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถนั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยาบบีบครั้น อยู่อย่างเดือดร้อน เป็นต้น

(คติสมบัติ คติวิบัติ อรรถกถาอธิบายเฉพาะในแง่ของภพภูมิที่ไปเกิด)



คู่ที่ 2 อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิดในตระกูลยากไร้หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติและความสุข อุปธิวิบัติ เช่น เกิดในถิ่นหรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้

คนสองคน มีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอเหมือนกัน คนหนึ่งรูปร่างสง่าหรือสวยงาม อีกคนหนึ่งขี้ริ้วขี้เหร่ หรือขี้โรค ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่จะเอนเอียงเข้าหาคนที่มีรูปสมบัติ คนที่รูปวิบัติจะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่จะมีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียง เพราะเหตุแห่งรูปสมบัติรูปวิบัตินี้ ก็มีแต่คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป

รู้เช่นนี้แล้วไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่น ๆ ให้มีพิเศษยิ่งกว่าปกติ

ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนมีอุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน เป็นต้น ข้อสำคัญอย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อนก็รู้ ที่เสริมได้ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิดประโยชน์

คู่ที่ 3 ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้าหาคนควรเข้าหา รู้จักหลบเลี่ยงเรื่องควรหลบเลี่ยง อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าวหน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตน ก็ไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอมแปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่น ในงานพิสูจน์หลักฐาน

ทางด้านปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่นดีหมด แต่ติดการพนัน จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือตนมีฝีมือดีในทางช่วง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น

ผลในระดับที่สามนี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกผิวภายนอก มิใช่แกนในของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบา ก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจ ก็มีความสุขได้เสมอ หรืออย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป คราวทุกข์คราวเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา เมื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดีคือที่ชื่นชอบเป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติที่เป็นกำลังหรือจุดอ่อนของตน และจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้ หลีกเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิตทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติสี่ประการนั้นเป็นของไม่แน่นอน เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็จะแสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วยเร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือถือเอาแต่ส่วนที่ดีงามไว้

โทษของหลักการที่กล่าวมานี้ โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่น ก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริม เท่าที่เป็นโทษในแง่ของกรรมนิยามต่อไป หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรมและสมบัติวิบัติทั้งสี่ หรือรู้จักใช้ทั้งกรรมนิยามและสังคมนิยมน์ในทางที่เป็นคุณ

สำหรับบางคน อาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดีแต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น

ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่น ๆ ก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ ก็คงไม่แต่จะต้องทรุดหนักลงไปทุกที

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดีย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลกรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจและเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตา กรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบมีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลายครองใจคนและครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามหลักที่ยกมาอ้างแล้วข้างต้น

( พึงสังเกตหลักการทำกรรมให้หมดไปหรือลบล้างกรรมด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ เป็นต้น ในพุทธพจน์ที่จะนำมาลงไว้ต่อจากนี้ด้วย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เนื้อความในหัวข้อที่กำลังจะกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการให้ผลของกรรม ในระดับวิถีชีวิตของบุคคล ที่รวมอยู่แล้วในหัวข้อใหญ่ แต่ที่แยกออกมาตั้งเป็นหัวข้อโดยเฉพาะในที่นี้ ก็เพราะการให้ผลของกรรมชั่วอย่างไกลแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นปัญหาที่มีผู้เอาใจใส่กันมากเป็นพิเศษ แม้ว่าในที่นี้ จะไม่มุ่งอธิบายเรื่องนี้ และถือว่าได้แสดงหลักรวมไว้ในหัวข้อใหญ่แล้ว แต่ก็เห็นว่าควรจะได้กล่าวถึงข้อสังเกตบางอย่างไว้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาพิจารณา

เมื่อเจตนาที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นในใจก็เป็นอันว่ากิจกรรมของจิตได้เริ่มต้นแล้ว จิตได้มีการเคลื่อนไหวหรือไหวตัวแล้ว เราอาจเลียนศัพท์ฝ่ายวัตถุมาใช้และเรียกอาการนี้ว่าพลังแห่งเจตน์จำนงได้เกิดขึ้น พลังนี้เป็นไปอย่างไร มีกระบวนการทำงานในระหว่างอย่างไร โดยอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อะไรอีกบ้าง

เรามักไม่รู้เข้าใจ และไม่ใส่ใจที่จะรู้ แต่มักสนใจเฉพาะผลข้างปลายที่ปรากฏสำเร็จรูปออกมาแล้ว โดยเฉพาะพลังแห่งเจตน์จำนง ที่แสดงผลออกไปในโลกแห่งวัตถุและในสังคมมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัด และพูดถึงได้ง่าย

ผลสำเร็จแห่งพลังเจตน์จำนงในโลกฝ่ายวัตถุ มีตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงยานอวกาศสู่ดวงดาวต่าง ๆ ตั้งแต่ขวานหินจนถึงระเบิดนิวเคลียร์ ตั้งแต่ไม้นับคะแนนจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

หรือในทางสังคม เช่น ระบบ ระบอบ และสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบต่าง ๆ ก็ตาม ระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ตาม สถาบันต่าง ๆ ของสังคมก็ตาม การจัดระเบียบกลไกการบริหารการปกครองรัฐ การจัดรูปองค์กรและระบบงานต่าง ๆ เป็นต้น

เป็นที่รู้กันดีว่าสิ่งเหล่านี้มีความละเอียดซับซ้อนยิ่งนัก ความข้อนี้ย่อมเป็นเครื่องส่องแสดงว่า กระบวนการแห่งเจตน์จำนงพร้อมด้วยกลไกของจิต ที่เป็นเวทีแสดงหรือเป็นโรงงานของมัน จะต้องมีความละเอียดซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ไม่ด้อยไปกว่าระบบระบอบหรือสิ่งประดิษฐ์ชนิดละเอียดซับซ้อนที่สุด ที่มันเองได้คิดสร้างสรรค์ขึ้น เรามีความรู้ที่นับได้ว่าดีมากเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งประดิษฐ์ หรือระบบแบบแผนบางอย่างที่จิตอาศัยเจตน์จำนงสร้างสรรค์ขึ้น ว่าได้ดำเนินมาแต่แรกคิดจนสำเร็จผลอย่างไร แต่ในด้านสภาวะของชีวิตจิตใจ อันเป็นที่อาศัยของเจตน์จำนงนั้น พร้อมทั้งวิถีความเป็นไปของชีวิตจิตใจที่ถูกเจตน์จำนงนั้นปรุงแต่ง กระบวนการปรุงแต่งจะดำเนินไปอย่างไรบ้าง เรากลับมีความรู้น้อยเหลือเกิน อาจพูดได้ว่า ยังเป็นความลับอันมืดมนสำหรับมนุษย์ทั่วไป ทั้งที่ความเป็นไปของชีวิตนั้น เป็นเรื่องของตัวเองที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด ด้วยเหตุที่มีความมืดมัวไม่รู้เช่นนี้ เมื่อประสบภาวะหรือสถานการณ์ที่เป็นผลข้างปลายของการปรุงแต่ง มนุษย์จึงมักจับเหตุจับผลต้นปลายชนกันไม่ติด

มองปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้องไม่เห็นหรือไม่ทั่วถึง แล้วกล่าวโทษสิ่งโน้นสิ่งนี้ พาลไม่ยอมรับกฎแห่งกรรม ซึ่งก็คือไม่เชื่อกฎแห่งเหตุและผลหรือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั้นเอง และการไม่ยอมรับก็ดี การมัวกล่าวโทษสิ่งโน้นสิ่งนี้ก็ดี ก็เป็นการทำกรรมขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะมีผลเสียติดตามมา คือการสูญเสียโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงตน และดัดแปลงแต่งแก้กระบวนวิธีที่จะทำผลให้สำเร็จตามต้องการ หรือหนักกว่านั้น อาจพาลพาโลด้วยโทสะทำกรรมร้ายอื่นที่มีผลเสียรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ดี ท่านยอมรับว่า กระบวนการให้ผลของกรรมนี้ เป็นเรื่องละเอียดซับซ้อนยิ่ง พ้นวิสัยแห่งความคิด ไม่อาจคิดให้เห็นแจ่มแจ้ง บาลีจัดเป็นอจินไตย คือ สิ่งที่ไม่พึงคิดอย่างหนึ่ง

( อจินไตย มี 4 อย่าง คือ พุทธวิสัย ฌานวิสัย กรรมวิบาก และโลกจินตา (กาคิดปัญหาอภิปรัชญาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลกหรือการสร้างโลก) ดู องฺ.จตกฺก.21/77/104)

ท่านว่า ถ้าขืนครุ่นคิดก็มีส่วนที่จะอัดอั้นเป็นบ้า ที่ท่านว่าอย่างนี้ มิใช่หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้เราคิด เพียงแต่ทรงแสดงความจริงไปตามธรรมดาว่า เรื่องนี้คิดเอาไม่ได้หรือไม่อาจจะเข้าใจได้สำเร็จด้วยการคิดหาเหตุผล แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ด้วยการรู้ และเมื่อคิดไปจะเกิดเป็นบ้าขึ้น ก็มิใช่เป็นเพราะพระพุทธเจ้าหรือใครลงโทษหรือทำให้บ้า แต่ผู้คิดเป็นบ้าไปตามธรรมดาของเขาเอง เพราะคิดอัดอั้นตันวุ่นไป

ถึงแม้จะเป็นอจินไตย ก็มิใช่ว่า เราจะแตะต้องไม่ได้ แง่ที่เราจะเกี่ยวข้องได้ก็คือเกี่ยวข้องด้วยความรู้และเท่าที่เรารู้ แล้วมีความมั่นใจตามแนวความรู้นั้น โดยศึกษาพิจารณาสิ่งที่เราตามดูรู้เห็นได้ คือ สิ่งที่กำลังเป็นไปอยู่จริงในปัจจุบัน จากส่วนย่อยหรือจุดเล็กที่สุดขยายออกไป ได้แก่ กระบวนการแห่งความคิดหรือเจตน์จำนงที่กล่าวมาแล้วนั้น

เริ่มตั้งแต่เห็นว่า เมื่อคิดดีเป็นกุศล ก็เกิดเป็นผลดีแก่ชีวิตจิตใจอย่างไร เมื่อคิดร้ายเป็นอกุศล เกิดเป็นผลร้าย ชีวิตจิตใจเสียหายอย่างไร ผลนั้นออกไปภายนอกสู่ผู้อื่น สู่สังคม สู่โลก ในทางดีไม่ดีอย่างไร และให้เห็นกระบวนการก่อผลที่ละเอียดซับซ้อนเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง และหลายฝ่าย จนพอหยั่งเห็นแนวแห่งความละเอียดซับซ้อนที่อาจเป็นไปได้เกินกว่าจะคาดหมายอย่างง่ายๆ และให้เกิดความมั่นใจในความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เมื่อเข้าใจความเป็นไปส่วนย่อยในช่วงสั้นอย่างไร ก็พอมองเข้าใจความเป็นไปช่วงยาวไกลได้อย่างนั้น เพราะความเป็นไปช่วงยาวนั้นก็สืบไปจากช่วงสั้น และประกอบด้วยช่วงสั้นที่ขยายออกไปนั้นเอง ถ้าปราศจากช่วงสั้นเสียแล้ว ช่วงยาวจะมีหาได้ไม่ อย่างนี้เรียกว่าเกิดความเข้าใจตามแนวธรรม

เมื่อมั่นใจในความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับเจตนาหรือเจตน์จำนงแล้ว ก็คือ มั่นใจในกฎแห่งกรรม หรือเชื่อกรรมนั่นเอง ครั้นมั่นใจในกฎแห่งกรรมแล้ว เมื่อต้องการผลที่ปรารถนาก็หวังผลนั้นจากการกระทำ และกระทำการตามเหตุปัจจัย ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยให้ผลเกิดขึ้นตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย

เมื่อยังต้องการผลที่ดี ทั้งในแง่กรรมนิยาม และทั้งในแงโลกธรรม ก็พึงศึกษาปัจจัยหรือองค์ประกอบ ทั้งในด้านกรรมนิยามและด้านนิยามอื่น ๆ ให้ครบถ้วน แล้วทำปัจจัยเหล่านั้นให้เกิดขึ้นพรั่งพร้อมโดยรอบคอบ อย่างที่ได้กล่าวในตอนที่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงงานปรุงแต่งวิถีชีวิตดอก แม้แต่งานประดิษฐ์สร้างสรรค์ในภายนอก นักประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ผู้ฉลาดย่อมจะไม่คำนึงถึงเฉพาะแต่เนื้อหาแห่งความคิดปรุงแต่งหรือเจตน์จำนงของตนเพียงอย่างเดียว แต่ย่อมคำนึงถึงปัจจัย หรือองค์ประกอบฝ่ายนิยามนิยมน์อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ช่างใช้ความวิจิตรแห่งเจตน์จำนงออกแบบบ้านไม้หลังหนึ่ง อย่างสวยงาม เมื่อเอาแบบในความคิดนั้นออกมาสร้างเป็นบ้านจริงในโลกแห่งวัตถุ ก็ต้องคำนึงด้วยว่าจะใช้ไม้ชนิดใด สำหรับส่วนใด มีไม้เนื้อแข็ง เนื้ออ่อน เป็นต้น

หากที่ควรใช้ไม้เนื้อแข็ง กลับใช้ไม้ฉำฉา แม้ว่าแบบที่ออกไว้จะสวยงามปานใด บางทีก็อาจพังเสียก่อน ไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะได้ใช้เป็นบ้านตามประสงค์ หรือแบบที่คิดปรุงแต่งออกไว้ควรจะสวยงาม แต่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ดูน่าเกลียด ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายเขาไม่นิยมชมชอบ ความงามของรูปแบบก็พลอยหมดความหมายไปด้วย หรือเหมือนนักออกแบบเครื่องแต่งกาย คำนึงแต่ความวิจิตรแห่งเจตน์จำนงของตน ไม่นึกถึงอุณหภูมิแห่งดินฟ้าอากาศของถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งอุตุนิยาม ประดิษฐ์เสื้อผ้าสวยงามที่ควรใช้ในถิ่นหนาวจัดให้แก่คนในถิ่นร้อนจัด ก็ไม่สำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกัน มนุษย์ผู้เป็นช่างปรุงแต่งวิถีชีวิตของตน พึงมีความฉลาดรอบคอบในการประกอบเหตุปัจจัย เยี่ยงอุปมาที่กล่าวมานี้

ถึงตอนนี้ มีข้อที่เห็นควรย้ำไว้เป็นพิเศษอย่างหนึ่งคือ ในการที่จะควบคุมการใช้ประโยชน์จากกรรมนิยาม ให้เป็นไปในทางที่ดีงามอย่างแน่นอนนั้น จะต้องพยายามปลูกฝังหรือสร้างเสริมกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะให้เกิดขึ้นด้วย คือ ต้องฝึกอบรมให้คนเกิดความใฝ่ธรรม รักความดีงาม เช่น อยากให้ชีวิตของตนเป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ดีงาม อยากให้สังคมมนุษย์เป็นสังคมแห่งความดีงาม เป็นระเบียบเรียบร้อง มีความสงบสุข อยากให้สิ่งทั้งหลายที่ตนเกี่ยวข้องหรือกระทำ ดำรงอยู่ในภาวะดีงามเป็นเลิศ หรือเจริญเข้าสู่ภาวะดีงามสูงสุดของมัน อยากให้ธรรมแพร่แหลายออกไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ดังนี้เป็นต้น

(ดูใน พุทธธรรม บทที่ 14 ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ)

ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าตราบใดคนยังขาดกุศลฉันทะหรือธรรมฉันทะ และมีแต่ความโลภต่อผลที่ดีในแง่โลกธรรมอย่างเดียว เขาก็จะพยายามเล่นตลกกับกรรมนิยาม หรือพยายามหลอกลวงกฎธรรมชาติอยู่เรื่อยไป (ความจริง เขาหลอกกฎธรรมชาติไม่ได้ แต่เขาหลอกตัวของเขาเองนั่นเอง) และก็จะก่อให้เกิดผลร้ายทั้งแก่ชีวิตของตนเอง แก่สังคม และแก่มนุษยชาติทั้งหมดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


ปราชญ์หลายท่านเห็นว่า การที่จะให้คนสามัญทั้งหลายเชื่อกฎแหงกรรมและตั้งอยู่ในศีลธรรม จะต้องให้เขายอมรับการให้ผลของกรรมในช่วงยาวไกลที่สุด คือ ผลจากชาติก่อน และผลในชาติหน้า และดังนั้น จึงจะต้องพิสูจน์เรื่องตายแล้วเกิด หรืออย่างน้อยแสดงหลักฐานให้เห็นให้ได้ โดยเหตุนี้บ้าง โดยมุ่งแสวงความรู้บ้าง ปราชญ์และผู้สนใจบางท่าน และบางกลุ่มบางคณะจึงได้พยายามอธิบายหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด โดยอ้างกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น The Law of Conservation of Energy โดยขยายออกไปจากเจตนาที่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของจิต ซึ่งเคยเอ่ยถึงแล้ว หรืออ้างทฤษฎีทางจิตวิทยาอย่างอื่น ๆ บ้าง

(เช่น Egergton C Baptist, A Glimpse into the Supreme Science of the Buddha (Colombo: the Colombo Apothecaries’ Co., Ltd., 1958) , pp. 44ff.

K.N. Jayatilleke, Survival and Karma in Buddhist Perspective (Kandy: Buddhist Publication Society, 1969), pp.35-93)

พยายามเสาะสืบพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับการระลึกชาติได้บ้าง

(เช่น Ian Stevenson, Twenty Cases Suggestive of Reincarnation (New York, 1966) , passim

C.J.Ducasse, A Critical Examination of the Belief in A Life After Death (Springfield, Illinois, 1961) , passim)

ตลอดจนใช้วิธีการแบบทางเจ้าเข้าผีก็มี

เรื่องราวและคำอธิบายทำนองนี้ จะไม่นำมากล่าวไว้ เพราะหนังสือนี้มุ่งแสดงพุทธธรรมตามสายความคิดในพระพุทธศาสนาเองเท่านั้น ผู้สนใจเรื่องราวและคำอธิบายเช่นนั้น พึงหาอ่านหาดูด้วยตนเองตามที่มาที่ได้ให้ไว้เป็นต้น สำหรับในที่นี้ จะกล่าวเพียงข้อสังเกตและข้อคิดที่เกี่ยวข้องบางอย่างเท่านั้น

คำที่กล่าวว่า ถ้าพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นได้ว่าตายแล้วเกิด ชาติหน้ามีจริง กรรมตามไปให้ผลจริง จนคนทั้งหลายยอมเชื่อเช่นนั้นแล้ว การสอนศีลธรรมจะได้ผล คนจะกลัวบาป ยอมเว้นชั่วและทำดีกันทั่วไป คำกล่าวนี้ นับว่ามีเหตุผลอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าคนเชื่อเช่นนั้นจริง ผลในทางปฏิบัติก็น่าจะเกิดขึ้นเช่นนั้นเป็นอย่างมาก

ท่านผู้กล่าวเช่นนี้ก็นับว่าเป็นผู้ตั้งใจดีและมีเหตุผลเป็นพื้นฐาน จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องที่จะปล่อยให้ท่านเหล่านั้นดำเนินการศึกษาสอบสวนค้นคว้าของท่านไป โดยคนอื่น ๆ พลอยยินดีและสนับสนุน เท่าที่อยู่ในขอบเขตแห่งเหตุผลและความสมควรไม่เฉไฉคลาดออกไปสู่แนวทางแห่งความงมงายไข้วเขว เช่น มิใช่ว่า แทนที่จะนำสิ่งที่อยู่ในโลกแห่งความลึกลับพิสูจน์ไม่ได้ ออกมาสู่การพิสูจน์ได้ กลับนำสิ่งที่พิสูจน์ได้เข้าไปสู่โลกแห่งความลึกลับที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือแทนที่จะนำสิ่งลึกลับซึ่งคนไร้อำนาจที่จะจัดทำ ออกมาสู่ภาวะที่มนุษย์จัดการได้ กลับทำให้คนหมดอำนาจ ต้องหันไปพึ่งอาศัยสิ่งลึกลับจนตนเองทำอะไรไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

เมื่อสอบสวนค้นคว้ากันอยู่ในขอบเขตแห่งเหตุผลแล้ว อย่างน้อยก็อาจได้ประโยชน์ทางวิชาการ ให้รู้กันไปเสียทีว่า มนุษย์เข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วจะแค่นี้อย่างนี้ ทั้งนี้ มีข้อควรย้ำว่า จะต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของปราชญ์บางท่านบางคณะนั้นท่านทำของท่านไป คนอื่น ๆ หรือคนทั่วไปไม่พึงไปขลุกขลุ่ยสาระวนด้วย เพียงแต่รอรับทราบผลที่แน่นอนเด็ดขาดแล้ว หรือฟังข่าวความเคลื่อนไหวอยู่ห่าง ๆ อย่างคนชอบรู้ขอบฟังเท่านั้น คือ จะต้องไม่พาคนทั่วไปเข้าไปหมกมุ่นในกระบวนการระหว่างการพิสูจน์ด้วย

นอกจากนี้ แม้ตัวนักปราชญ์ผู้สอบสวนค้นคว้าเกี่ยวกับชาติก่อนชาติหน้านั้นเอง ก็ไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องเช่นนั้นเกินไป จนมองด้านเดียว เห็นความสำคัญเฉพาะแต่แนวการพิสูจน์โลกหน้าเท่านั้น แล้วละเลยความสำคัญด้านปัจจุบัน กลายเป็นสุดโต่งหรือเลยเถิดไปเสีย และจะต้องมองให้ครบ ทั้งด้านผลดีและผลเสียของการให้ความสำคัญแก่เรื่องนั้นด้วย กล่าวคือ นอกจากผลดีที่คาดหมายนั้นแล้ว จะต้องตระหนักถึงผลเสียด้วยว่า การย้ำความสำคัญให้คนกลัวการไปเกิดในที่ชั่ว และอยากไปเกิดในที่ดีมากเกินไป จะเป็นการชวนให้คนหันไปวุ่นกับการคิดหวังผลในโลกหน้า และเอาใจใส่เฉพาะแต่กิจการและกิจกรรม ซึ่งเนื่องด้วยการที่จะไปเก็บเกี่ยวผลในชาติหน้า จนละเลยประโยชน์สุขและความดีงาม ที่ตนและหมู่ชนควรพยายามเข้าถึงให้ได้ในชีวิตนี้

นอกจากนั้น เมื่อไม่มีสติระมัดระวังให้ดี ความมุ่งหมายเดิมที่จะให้คนกลัวผลร้ายของกรรมชั่ว สบายใจว่าจะได้พบผลดีของกรรมดีตลอดไปถึงโลกหน้าแล้วมีความมั่นใจในกฎแห่งกรรม พยายามเว้นกรรมชั่ว ทำกรรมดีในโลกนี้ ก็กลับกลายเป็นว่าจะทำการชนิดที่มุ่งเอาผลในชาติหน้าโดยตรงอย่างเดียว เกิดความโลภต่อผลชนิดนั้น แล้วกลายเป็นนักทำบุญแบบค้ากำไรไปเสีย

เมื่อการณ์กลายมาเสียอย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดผลเสียขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ การย้ำความสำคัญของผลดีผลร้ายที่จะได้ประสบในชาติหน้ามากเกินไป เป็นการมองข้ามหลักการฝึกอบรมกุศลฉันทะหรือธรรมฉันทะ กลายเป็นการไม่ยอมรับหรือถึงกับดูหมิ่นมนุษย์ว่า ไม่มีความใฝ่ธรรม รักความดี หรือไม่อาจฝึกปรือความใฝ่ธรรม รักความดีนั้นให้เกิดมีและเจริญเพิ่มพูนได้ เป็นเหมือนกับบอกว่า มนุษย์ไม่สามารถเว้นชั่วทำดีด้วยความใฝ่ดี รักความประณีตบริสุทธิ์ มนุษย์เว้นชั่วทำดีได้ด้วยความโลภ หวังผลตอบแทนแก่ตนเพียงอย่างเดียว แล้วปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจที่จะฝึกอบรมคนในด้านกุศลฉันทะหรือธรรมฉันทะ

อนึ่ง ถึงแม้จะเป็นการสมเหตุสมผลไม่น้อยที่ว่า ถ้าพิสูจน์ให้เห็นชัดจนคนทั่วไปเชื่อว่า ตายแล้วเกิดใหม่จริง คนจะยอมอยู่ในศีลธรรมกันเป็นอย่างดี แต่การที่จะรอให้คนมีศีลธรรมกันขึ้นเอง ต่อเมื่อได้เห็นผลสำเร็จของการพิสูจน์นั้นแล้ว ก็เป็นการไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด เพราะไม่อาจทราบได้ว่า คำว่า “ถ้า” ในการพิสูจน์นั้น จะกลายเป็นผลสำเร็จแท้จริงได้เมื่อใด คือ ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะพิสูจน์กันเสร็จ และถ้าว่ากันตามความจริงแท้อย่างเคร่งครัดแล้ว คำว่าพิสูจน์ในความหมายว่าแสดงให้เห็นแจ้งประจักษ์ ก็ไม่อาจใช้ได้กับเรื่องนี้ เพราะคนอื่นไม่สามารถแสดงการเกิดใหม่ของคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่งดูได้

การเกิดใหม่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ประจักษ์ด้วยนั้นเอง ที่พูดกันว่าพิสูจน์นั้น ก็เป็นเพียงขั้นหาหลักฐานพยานมาให้ดูและวิเคราะห์เหตุผลมาให้ฟังเท่านั้น ส่วนตัวแท้ของเรื่องก็เข้าแนวเป็นอจินไตย คือคิดเองด้วยเหตุผลไม่ได้ และเป็นเรื่องเหนือสามัญวิสัยอยู่นั่นเอง ถึงจะพยายามพิสูจน์แสดงหลักฐานกันไปเพียงไร สำหรับคนสามัญ ก็คงอยู่ในขั้นศรัทธา หรือความเชื่ออยู่นั่นเอง จะแตกต่างกันก็เพียงจากไม่เชื่อมาเป็นเชื่อ และ เชื่อน้อย เชื่อมาก และในเมื่อยังเป็นเรื่องของความเชื่อ ก็จะยังมีผู้ไม่เชื่อและยังมีโอกาสแห่งความคลางแคลงลังเล หรือความสงสัยไม่แน่ใจในผู้ที่เชื่ออยู่ได้ต่อไป

ถึงคนที่ไม่เชื่อก็เช่นกัน ก็ได้เพียงขึ้นเชื่อ คือ เชื่อว่าไม่เป็นอย่างนั้น เพราะยังไม่รู้ประจักษ์เหมือนกัน จึงยังมีช่องว่างที่จะระแวงสงสัยต่อไป จนกว่าจะหมดกังขาเมื่อได้เป็นโสดาบัน

รวมความว่า การที่จะพยายามชี้แจงเหตุผล และแสดงหลักฐานพยานให้คนเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดและให้เชื่อกันมากขึ้น ก็มีผลดีอยู่ ใครทำก็ทำไป (ถ้าความพยายามนั้นไม่กระทบกระเทือนเสียต่อหลักการสำคัญข้ออื่น ๆ ของพระพุทธศาสนา เช่น ไม่ทำให้กลายเป็นผู้ต้องหวังพึ่งอำนาจภายนอกหรือสิ่งเร้นลับมากขึ้น เป็นต้น) แต่การที่จะให้การประพฤติธรรมหรือการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา ต้องขึ้นต่อการพิสูจน์เรื่องนี้ ย่อมเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง.

เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรกสวรรค์ มีจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่คนสนใจกันมาก และเป็นข้อกังวลค้างใจของคนทั่วไป เพราะเป็นความลับของชีวิตที่อยู่ในอวิชชา จึงเห็นควรกล่าวสรุปแทรกไว้ที่นี้เล็กน้อย เฉพาะแง่ว่า มีจริงหรือไม่ พิสูจน์ได้อย่างไร

1. ตามคำสอนในพุทธศาสนา เมื่อว่าตามหลักฐานในคัมภีร์ และแปลความตามตัวอักษร ก็ตอบได้ว่า สิ่งเหล่านี้มี

2. การพิสูจน์เรื่องนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่อาจแสดงให้เห็นประจักษ์แก่ผู้ไม่รู้ ไมว่าในทางบวกหรือในทางลบ คือไม่ว่าในแง่มี หรือในแง่ไม่มี เป็นไปได้เพียงขั้นเชื่อว่ามีหรือเชื่อว่าไม่มี เพราะทั้งผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อ หรือผู้พยายามพิสูจน์ว่ามีและผู้พยายามพิสูจน์ว่าไม่มี ต่างก็ไม่รู้ที่มาที่ไปแห่งชีวิต ไม่ว่าของตนหรือผู้อื่น ต่างก็มืดต่ออดีต รู้ไกลออกไปไมถึงแม้เพียงการเกิดคราวนี้ของตนเอง แม้แต่ชีวิตตนเองที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็ไม่รู้ และมองไม่เห็นอนาคตแม้เพียงว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

3. ถ้าจะพิสูจน์ หลักมีว่า สิ่งที่เห็น ต้องดูด้วยตา สิ่งที่ได้ยิน ต้องฟังด้วยหู สิ่งที่ลิ้ม ต้องชิมด้วยลิ้น เป็นต้น สิ่งที่เห็น ถึงจะใช้สิบหูและสิบลิ้นรวมกัน ก็พิสูจน์ไม่ได้ หรือสิ่งที่ได้ยิน จะใช้สิบตากับสิบจมูกรวมกัน ก็พิสูจน์ไม่ได้ หรือสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน แต่ต่างระดับคลื่น ต่างความถี่ ก็ไม่รู้กัน บางอย่างที่แมวมองเห็น สิบตารวมกันก็ไมเห็น บางครั้งที่ค้างคาวได้ยิน สิบหูคนรวมกันก็ไม่ได้ยิน เป็นต้น

ในแง่หนึ่ง การตายการเกิดเป็นประสบการณ์ของชีวิตโดยตรง หรือแคบลงมาเป็นปรากฏการณ์ของจิต ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยชีวิตหรือจิตเอง การพิสูจน์จึงควรเป็นไปดังนี้

3.1 พิสูจน์ด้วยจิต ท่านให้ต้องใช้จิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ถึงที่ แต่ถ้าไม่ยอมทำตามวิธีนี้ หรือกลัวว่า ที่ว่าเห็นในสมาธิ อาจเป็นการเอานิมิตหลอกตัวเอง ก็เลื่อนสู่วิธีต่อไป

3.2 พิสูจน์ด้วยชีวิต ตั้งแต่เกิดมาคราวนี้ คนที่อยู่ยังไม่เคยมีใครตาย ดังนั้น จะรู้ว่าเกิดหรือไม่ต้องพิสูจน์ด้วยการตายของใครของคนนั้น แต่วิธีนี้ไม่ปรากฏว่ามีใครกล้าทดลอง

3.3 เมื่อไม่ยอมพิสูจน์ ก็ได้เพียงขึ้นแสดงหลักฐาน พยานและชี้แจงเหตุผล เช่น หาตัวอย่างคนระลึกชาติได้และสอบสวนกรณีต่าง ๆ เช่นนั้น หรือแสดงเหตุผลโดยหาความจริงอื่นมาเปรียบเทียบ อย่างเรื่องวิสัยแห่งการเห็น การได้ยินที่ขึ้นต่อระดับคลื่นและความถี่ เป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว ช่วยให้เห็นว่า น่าเชื่อ เชื่อบ้าง หรือเชื่อมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งก็รวมอยู่ในขั้นของความเชื่อเท่านั้น



4. ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือจะพยายามพิสูจน์ให้กันและกันดูได้แค่ไหนก็ตาม สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่มีใครหนีพ้น ทุกคนต้องเกี่ยวข้อง และเป็นที่สืบต่อออกไปของชีวิตข้างหน้าที่เชื่อหรือไม่เชื่อว่ามีนั้นด้วย ก็คือ ชีวิตขณะนี้ ที่มีอยู่แล้วนี้ ที่จะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรเอาใจใส่ให้มากจึงได้แก่ชีวิตในปัจจุบัน และสำหรับพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจุดสนใจกว่า และเป็นที่สนใจแท้ จึงได้แก่ การปฏิบัติต่อชีวิตที่เป็นอยู่นี้อย่างไร จะใช้ชีวิตที่มีอยู่แล้วนี้อย่างไร เพื่อให้เป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี และเพื่อให้ชีวิตข้างหน้า ถ้ามี ก็มั่นใจได้ว่า จะสืบต่อออกไปเป็นชีวิตที่ดีงามด้วย ดังนั้น สิ่งที่ควรกล่าวถึง จึงได้แก่ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

4.1 บาลีชั้นเดิม คือพระสูตรทั้งหลาย กล่าวบรรยายเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า นรก สวรรค์ ไว้น้อยนัก

(พระสูตรต่อกัน 2 สูตร คือ พาลปัณฑิตสูตร และเทวทูตสูตร เป็นที่มาสำคัญของวรรณคดีเกี่ยวกับนรก สวรรค์ สมัยต่อมา (ม.อุ.14/467-503/311-333 และ 504-525/334-346), เอ่ยชื่อนรก 3 ขุม (ม.มู.12/565/608); การไปเกิดในเทวโลกและอายุเทวดา (เช่น องฺ.จตุกฺก.21/123/169; องฺ.ติก.20/510/269, 273; องฺ.อฏฺฐก.23/132-5/257-267; 49/63 , 66; 125-6/243-8; อภิ.วิ.35/1103-7/566-572) และพึงดูเรื่อง วิญญาณัฏฐิติ 7 และสัตตาวาส 9 (เช่น ที.ปา.11/335/265; 353/277; 435/311; 457/329; องฺ.สตฺตก.23/41/41; 228/413)

โดยมากท่านเพียงเอ่ยถึงหรือกล่าวถึงเท่านั้น แสดงถึงอัตราส่วนของการให้ความสนใจแก่เรื่องนี้ว่ามีเพียงเล็กน้อย ในเมื่อเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในโลก หรือข้อปฏิบัติจำพวก ศีล สมาธิ ปัญญา

4.2 บาลีเมื่อกล่าวถึงผลร้ายของกรรมชั่ว และอานิสงส์ของกรรมดี ถ้ากล่าวถึงการไปเกิดในนรกหรือสรรค์ มักกล่าวไว้ต่อท้ายผลที่จะประสบในชีวิตนี้ โดยกล่าวถึงผลในชีวิตนี้สักชีวิตนี้ 4-5-10 ข้อ แล้วจึงจบลงด้วยคำว่า

“เมื่อกายแตกทำลาย ภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก"” หรือ “เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์”

(เช่น องฺ.ปญฺจก.22/211-7/281-4; 34/41; องฺ.เอกาทสก.24/222/370)



ข้อสังเกตในเรื่องนี้มี 2 อย่างคือ

4.2.1 ท่านถือผลในชีวิตปัจจุบันเป็นสำคัญ และแยกแยะอย่างชี้ชัดเป็นอย่าง ๆ ไป ส่วนผลหลังตาย กล่าวเพียงปิดท้ายไว้ให้ครบรายการ

4.2.2 การตรัสถึงผลดีผลร้ายเหล่านั้น เป็นไปในลักษณะแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ เป็นผลที่จะเกิดขึ้นเองตามเหตุ ไม่ต้องวอนหวัง เป็นเรื่องของการรู้ไว้ให้เกิดความมั่นใจเท่านั้น ถึงไม่ตั้งความปรารถนาก็ย่อม เป็นไปเช่นนั้น

4.3 สำหรับคนที่ไม่เชื่อ ในเมื่อยังได้เพียงแค่เชื่อ คือเชื่อว่าไม่มี ยังไม่รู้แจ้งประจักษ์จริง ย่อมไม่อาจปฏิเสธความสงสัยในส่วนลึกแห่งจิตใจของตนได้โดยเด็ดขาด คนเหล่านี้ เมื่อเรี่ยวแรงความมัวเมาในวัยหนุ่มสาวเสื่อมไปแล้ว ถูกชราครอบงำ ความหวาดหวั่นต่อโลกหน้าก็มักได้ช่องแสดงตัว ซึ่งเมื่อไม่ได้เตรียมความดีไว้ ก็จะมีทุกข์มาก ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ ถึงคนที่ไม่เชื่อก็ควรทำดีไว้ จะมีหรือว่าไม่มี ก็มั่นใจและโล่งใจ

4.4 สำหรับคนที่เชื่อ

4.4.1 พึงให้ความเชื่อนั้น อิงหลักแห่งความเป็นเหตุปัจจัยอย่างแท้จริง คือให้มองผลในชาติหน้าว่าสืบต่อไปจากคุณภาพของจิตใจที่ได้สร้างขึ้นไว้แล้วในชาตินี้ แล้วเน้นที่การทำความดีในปัจจุบัน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพจิต คุณภาพชีวิตที่ดีงาม เพื่อให้ชีวิตที่สืบต่อไปข้างหน้าเป็นชีวิตที่ดีงามด้วย การเน้นในแง่นี้จะทำให้การเกี่ยวข้องกับชาติหน้าหรือหวังผลชาติหน้า เป็นไปในรูปของความมั่นใจโดยอาศัยปัจจุบันเป็นฐาน และการหวังผลชาติหน้านั้นจะยิ่งทำให้เอาใจใส่ให้ความสำคัญแก่ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น ไม่เสียหลักที่ว่า ถึงจะยุ่งเกี่ยวกับชาติหน้าอย่างไร ก็อย่าให้สำคัญกว่าชาติที่เป็นอยู่ขณะนี้ และจะได้ไม่เน้นการทำกรรมดีแบบเป็นการลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไร

4.4.2 ความเชื่อต่อชาติหน้านั้น ควรช่วยให้เลิกหรือให้บรรเทาการพึ่งพาอาศัยอำนาจดลบันดาล หรือสิ่งลึกลับในภายนอกลงด้วย เพราะการเชื่อชาติหน้าหมายถึงการเชื่อกรรมดีที่ตนกระทำ และการที่จะต้องก้าวหน้าเจริญสูงในสังสารวัฏนั้น ส่วนการรอหวังพึ่งอำนาจภายนอก ย่อมเป็นการทำตัวให้อ่อนแอลง และเป็นการกดตัวเองให้ถอยจมลงหรือล้าหลังห่างออกไปในสังสารวัฏ หากผู้ใดถลำตัวหวังพึ่งอำนาจเหล่านั้นไปก่อนแล้ว ก็ควรรีบถอยตัวออกมาสร้างเรี่ยวแรงกำลังของตนเองขึ้นใหม่โดยเร็ว

4.5 สำหรับผู้เชื่อหรือไมเชื่อก็ตาม จะต้องพยายามก้าวไป หรือได้รับการสอนให้ก้าวไป จนถึงขึ้นเว้นกรรมชั่วทำกรรมดี โดยไมต้องขึ้นต่อความเชื่อหรือความไม่เชื่อนั้นเลย คือ ทำดีได้โดยไม่ต้องหวังผลชาติหน้า หรือถึงแม้ไม่เชื่อว่ามีชาติหน้า ก็จะไม่ทำชั่ว ผลขั้นนี้ทำให้เกิดขึ้นได้โดย

4.5.1 ฝึกอบรมกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ให้กล้าแข็ง คือ ทำให้เกิดความใฝ่ธรรม รักความดีงาม ต้องการความประณีตหมดจด มุ่งให้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรลุอุดมสภาวะของมัน

(ดู “พุทธธรรม” บทที่ 14 ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ)



4.5.2 สร้างความใฝ่รักในปีติสุขอันประณีตลึกซึ้งภายใน และให้ความใฝ่ปีติสุขประณีตหรือการได้ประสบปีติสุขประณีตนั้น เป็นเครื่องป้องกันการทำชั่วและหนุนการทำดีโดยตัวของมันเอง ทั้งนี้เพราะการที่จะได้ปีติสุขประณีตนั้นย่อมเป็นเงื่อนไขอยู่ในตัวว่าต้องเว้นทุจริตประกอบสุจริต และการได้ปีติสุขประณีตนั้นแล้ว ก็จะเป็นแรงหน่วงเหนี่ยวไม่ให้หลงใหลกามถึงขั้นที่จะประกอบกรรมชั่วร้ายได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปีติสุขประณีตขั้นโลกีย์ อาจต้องระมัดระวังบ้างที่จะไม่ให้ติดเพลินมากเกินไปจนเสียงาน หรือหยุดความก้าวหน้า

(ดู “พุทธธรรม” บทที่ 15 ความสุข)



4.5.3 ฝึกอบรมจิตปัญญาให้เจริญถึงขั้นที่จะเป็นอยู่ด้วยปัญญาหรือดำเนินชีวิตด้วยปัญญา คือ มีความรู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต หรือรู้ธรรมดาแห่งสังขาร พอที่จะทำจิตใจให้เป็นอิสระได้บ้างพอสมควร ไม่หลงใหลติดอามิสหรือกามวัตถุถึงกับจะทำกรรมชั่วร้าย มองชีวิตจิตใจของมนุษย์อื่นสัตว์อื่นด้วยความเข้าใจ หยั่งเห็นทุกข์สุขและความต้องการของเขา พอที่จะทำให้คิดการในทางที่เกื้อกูลช่วยเหลือด้วยกรุณา ใจไม่โน้มน้อมไปในทางที่จะเบียดเบียนผู้อื่น

ข้อนี้นับเป็นขั้นแห่งการดำเนินชีวิตของท่านผู้ได้เข้าถึงโลกุตตระธรรม ซึ่งมีโลกุตตรสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว หรืออยางน้อยก็เป็นขั้นของผู้ดำเนินชีวิตตามแนวปฏิบัติเพื่อเข้าถึงโลกุตตระธรรมนั้น ถ้าแม้ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง ก็เป็นอยู่ด้วยศรัทธาที่เป็นบุพภาคของปัญญานั้น คือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาและเป็นไปเพื่อปัญญา ซึ่งเชื่อในวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มั่นใจในชีวิตที่เป็นอิสระด้วยปัญญานั้นว่าเป็นชีวิตที่ดีงามประเสริฐสุด และพยายามดำเนินปฏิปทาแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยกรุณานั้นด้วยตนเอง

(ศรัทธาที่ออกผลเช่นนั้น ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในท่านซึ่งเป็นผู้นำแห่งการดำเนินชีวิตอิสระด้วยปัญญา คือ พระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในคำสอนของพระองค์ คือ พระธรรม เชื่อมั่นในชุมชนผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนนั้น และประสบความสำเร็จในการมีชีวิตที่เป็นอิสระเช่นนั้นด้วย คือ พระสงฆ์ รวมเรียกว่า ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ดู “พุทธธรรม” บทที่ 11 ชีวิตและคุณธรรมพื้นฐานของอารยชน)



ความจริง หลักปฏิบัติทั้งสามข้อนี้เนื่องถึงกัน ใช้ประกอบเสริมกันได้ โดยเฉพาะข้อ 4.5.1 ต้องใช้ในการทำสิ่งดีงามทุกอย่าง จึงเป็นที่อาศัยของข้อ 4.5.2 และ 4.5.3 ด้วย

ถ้าปฏิบัติได้ตามหลักสามข้อนี้ ความเชื่อเรื่องผลกรรมในชีวิตหน้า ก็จะเป็นเพีงส่วนช่วยเสริมความมั่นใจในการเว้นชั่วทำดี ให้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นสำหรับบางคน แต่ไม่ถึงกับเป็นตัวตัดสินเด็ดขาดว่า ถ้าเขาจะไม่ได้รับผลนั้นในชาติหน้าแล้ว เขาจะไม่ยอมทำความดีเลย

ถ้าอ่อนแอเกินไป ไม่สามารถฝึกคนหรือฝึกตนให้ปฏิบัติตามหลักสามข้อนี้ได้ การใช้ความเชื่อต่อผลกรรมชาติหน้าเป็นเหตุจูงใจให้เว้นชั่วทำดี ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ดำเนินชีวิตกันอย่างหลงใหลในการเสพเสวยกามวัตถุ มุ่งแต่แสวงหาอามิสมาปรนเปรอตน ซึ่งมีแต่จะทำให้การเบียดเบียนและความชั่วร้ายนานาระบาดแพร่หลาย นำชีวิตและสังคมไปสู่หายนะถ่ายเดียว และถึงอย่างไร ความเชื่อผลกรรมชาติหน้า ก็จัดเข้าในโลกียสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อให้ก้าวหน้าไปในทางดีงามได้ง่ายขึ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็ขอนำพุทธพจน์แห่งสำคัญที่กล่าวถึงผลกรรมซึ่งสืบเนื่องมาจากปัจจุบันไปถึงภพหน้า ตามที่ปรากฏในจุฬกัมมวิภังคสูตร มาแสดงไว้ สรุปใจความได้ดังนี้

(เรียกอีกอย่างว่า สุภสูตร, ม.อุ.14/579-597/376-385)

“ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นที่กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้ทรามและประณีต”

ประการแรก

ก. สตรีหรือบุรุษมักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด หมกมุ่นอยู่ในการประหัตประหาร ไร้เมตตาการุณย์ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีอายุสั้น

ข. สตรีหรือบุรุษผู้ละเว้นปาณาติบาต มีเมตตาการุณย์ มักเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีอายุยืน

ประการที่สอง

ก. สตรีหรือบุรุษมีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือไม้ศัตรา ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีโรคมาก (ขี้โรค)

ข. สตรีหรือบุรุษไม่มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีโรคน้อย (มีสุขภาพดี)

ประการที่สาม

ก. สตรีหรือบุรุษผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นง่าย ใครว่ากล่าวนิดหน่อย ก็ขัดใจพลุ่งพล่าน พยาบาท แสดงความขึ้นเคียดให้ปรากฏ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม (ไม่สวยไม่งาม)

ข. สตรีหรือบุรุษผู้เป็นคนไม่มักโกรธ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนน่าเลื่อมใส (มีรูปร่างท่าทางชวนใจนิยม)

ประการที่สี่

ก. สตรีหรือบุรุษผู้มีใจริษยา คนอื่นได้ลาภได้รับความเคารพนับถือกราบไหว้บูชา ก็ไม่สบายใจ ทนไม่ได้ ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีศักดาน้อย (ต่ำต้อยด้อยอำนาจ)

ข. สตรีหรือบุรุษผู้เป็นคนไม่มีใจริษยา ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีศักดามาก (มีเดชมีอำนาจมาก)

ประการที่ห้าา

ก. สตรีหรือบุรุษผู้ไม่บำเพ็ญทาน ไม่ให้ปันข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีโภคะน้อย

ข. สตรีหรือบุรุษผู้บำเพ็ญทาน ให้ปันข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีโภคะมาก

ประการที่หก

ก. สตรีหรือบุรุษผู้เป็นคนแข็งกระด้าง เย่อหยิ่ง ชอบดูถูกคน ไม่เคารพนับถือ กราบไหว้ แสดงความเอื้อเฟื้อ แก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีตระกูลต่ำ

ข. สตรีหรือบุรุษผู้ไม่เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง แสดงความเคารพนับถือ กราบไหว้ เอื้อเฟื้อ แก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีตระกูลสูง

ประการที่เจ็ด

ก. สตรีหรือบุรุษผู้ไม่เข้าหา ไม่สอบถามสมณะหรือพราหมณ์ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีโทษ ไม่มีโทษ อะไรควรปฏิบัติ ไม่ควรปฏิบัติ อะไรเมื่อทำ จะเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ อะไรเมื่อทำ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขชั่วกาลนาน ด้วยกรรมนั้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนทรามปัญญา

ข. สตรีหรือบุรุษผู้รู้จักเข้าหา สอบถามสมณะหรือพราหมณ์ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เป็นต้น ซึ่งถือปฏิบัติพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ตายไป ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ หรือมิฉะนั้นหากมาสู่ความเป็นมนุษย์ จะเกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังก็จะเป็นคนมีปัญญามาก



จะเห็นได้ว่า ในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่จะประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกระทำที่มีลักษณะเป็นความประพฤติปฏิบัติอย่างเป็นประจำ เป็นส่วนแห่งการดำเนินชีวิตที่จะสร้างสมคุณภาพของจิตใจ ปรุงแต่งลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพได้ และเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่า ทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว เช่น ให้ทานครั้งหนึ่ง ก็มีผลมากมายไม่มีขอบเขต จะหวังเป็นอะไร ปรารถนาได้อะไร ก็ได้ก็เป็นอย่างนั้นหมด ซึ่งถ้าเน้นกันนัก ก็จะทำให้คนมุ่งแต่จะทำบุญกรรม แบบฝากเงินในธนาคารเฉยไว้รอรับดอกเบี้ย หรือแบบคนเล่นลอตเตอรี่ที่ลงทุนทีหนึ่งหวังผลกำไรมหาศาล แล้วเลยไม่ใส่ใจกรรมดีชนิดที่เป็นความประพฤติปฏิบัติทั่วไป และการดำเนินชีวิตดีงามประจำวันอย่างที่ตรัสไว้ในสูตรนี้

(เนื้อหาของสูตรนี้ เป็นการตอบปัญหาของสุภมานพ ซึ่งเป็นคนวรรณะพราหมณ์ การที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่สุภมานพอย่างนี้ มองในแง่สัมพันธ์กับศาสนาพราหมณ์ มีข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นการแย้งต่อคำสอนของพราหมณ์ที่ว่า พรหมเป็นผู้สร้าง ผู้บันดาลชีวิตมนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่าง โดยให้มองอย่างใหม่ว่า การกระทำของคนนั่นเอง เป็นเครื่องสร้างสรรค์ปรุงแต่งชีวิตของมนุษย์ ประการที่สอง ตามพิธีกรรมของพราหมณ์ เช่น การบูชายัญ ผู้ประกอบพิธีและถวายทักษิณาแก่พราหมณ์ จะได้รับผลานิสงส์มากมายมหาศาลชนิดที่จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์โดยทางเหตุปัจจัยกับสิ่งที่กระทำนั้นเลย การตรัสผลของกรรมตามแนวแห่งสูตรนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจอย่างใหม่ในแง่นั้นด้วย)



รวมความว่า สาระของจุฬกัมมวิภังคสูตรนี้ ก็ยังคงยืนหลักการสำคัญที่ว่า การนึกถึงผลกรมที่จะได้ประสบในชีวิตภพหน้า พึงเป็นไปในลักษณะของความมั่นใจ ที่อาศัยกรรมคือคุณภาพจิตใจและคุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง และการได้รับผลห่างไกลเบื้องหน้านั้น มีลักษณะที่สืบทอดต่อเนื่องออกไปอย่างมีความสัมพันธ์กันได้ตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัย

หลักสำหรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ อาจพูดอย่างสั้น ๆ ได้แนวหนึ่งว่า ความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกรรมในชาติหน้า จะต้องเป็นความเชื่อที่มีลักษณะช่วยเสริมธรรมฉันทะให้เข้มแข็งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หากความเชื่อเกี่ยวกับผลกรรมในชาติหน้าอย่างใด ไม่ช่วยเสริมธรรมฉันทะ แต่กลับเป็นไปในทางส่งเสริมโลภะหรือตัณหาถ่ายเดียว ก็พึงเข้าใจว่าความเชื่ออย่างนั้น.

(ดู หัวข้อ “มรรคในฐานะทางให้ถึงความสิ้นกรรม” ในพุทธธรรม บทที่ 16 ด้วย)



ในหัวข้อว่าด้วยประเภทของกรรมข้างต้น เฉพาะหมวดสุดท้าย ได้จำแนกธรรมเป็น 4 อย่าง ตามสภาพที่สัมพันธ์กับวิบากหรือการให้ผล คือ

(ดู ที่มา ที่เชิงอรรถ 21)



1. กรรมดำ มีวิบากดำ

2. กรรมขาว มีวิบากขาว

3. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

4. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม



เรื่องการให้ผลของกรรมเท่าที่บรรยายมานี้ จำกัดอยู่ในวงของกรรม 3 ข้อต้น ที่มีชื่อว่า กรรมดำ กรรมขาว และกรรมทั้งดำทั้งขวา หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า กรรมดีและกรรมชั่ว จึงยังเหลือกรรมอย่างที่ 4 ค้างอยู่อีกข้อหนึ่ง กรรมอย่างที่ 4 นี้ มีลักษณะการให้ผลต่างออกไปจากกรรมสามข้อต้นอย่างสิ้นเชิง จึงแยกออกมาพูดไว้ต่างหาก

คนทั่วไป และแม้แต่ชาวพุทธส่วนมาก มักสนใจกันแต่เรื่องกรรมสามอย่างแรก และมองข้ามกรรมข้อที่ 4 นี้ไปเสีย ทั้ง ๆ ที่กรรมข้อสุดท้ายนี้ เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา และเป็นข้อปฏิบัติที่นำไปสู่จุดหมายที่แท้จริงของพุทธธรรม

กรรมดำ และกรรมขาว หรือกรรมดีกรรมชั่ว โดยทั่วไปนั้น แสดงออกเป็นการกระทำในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ซึ่งประมวลผลลงได้ในขอบเขตของหลักที่เรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 และกุศลกรรมบถ 10 เช่น การทำลายชีวิต การละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ความประพฤติผิดทางเพศ การพูดชั่วหรือทำร้ายกันด้วยวาจา เป็นต้น

และการทำความดีในทางตรงกันข้าม กรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้กระทำประสบผลดีและผลร้ายต่าง ๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว เป็นเครื่องปรุงแต่งชีวิตพร้อมทั้งวิถีทางดำเนินของชีวิตนั้น ทำให้เขาทำกรรมดีและกรรมชั่วอื่น ๆ ต่อไปอีก หมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

ส่วนกรรมประเภทที่สี่นี้ มีลักษณะการให้ผลในทางตรงข้าม คือ เป็นกรรมที่ไม่ทำให้เกิดกรรมสั่งสมต่อ ๆ ไป แต่เป็นกรรมที่ทำแล้วกลับทำให้สิ้นกรรม ทำให้หมดกรรม นำไปสู่ความดับกรรม หรือนำมาซึ่งความดับกรรม พูดง่าย ๆ ว่าเป็นกรรมที่ทำแล้วไม่ทำให้เกิดมีกรรม

กรรมที่ทำให้สิ้นกรรม หรือกรรมที่สร้างภาวะปลอดกรรมนี้ ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักการที่นำไปสู่จุดหมายสูงสุดของพุทธธรรม ถ้ามองที่หลักอริยสัจ 4 ก็ได้แก่ ข้อที่ 4 ของอริยสัจนั้น คือ มรรคมีองค์ 8 ซึ่งอาจจะจัดรูปใหม่ เป็นข้อปฏิบัติที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น โพชฌงค์ 7 หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นก็ได้

บางทีท่านกล่าวถึงโดยสัมพันธ์กับกรรมสามข้อแรกว่า ได้แก่ เจตนาเพื่อละกรรมสามอย่างนั้น ซึ่งก็คือ การกระทำหรือการปฏิบัติที่ประกอบด้วยเจตน์จำนง หรือแนวความคิดในทางที่เป็นการทำให้กรรมสามอย่างแรกไม่เกิดขึ้น นั่นเอง หรือถ้ากำหนดด้วยมูลเหตุ ก็เรียกว่า กรรมที่เดจากอโลภะ อโทสะ และอโมหะ

การพูดถึงกรรมนั้น ตามปกติจะมีความหมายโยงไปถึงเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสุขและความทุกข์ เพราะความสุขและความทุกข์ เป็นผลสืบเนื่องไปจากกรรม โดยที่กรรมเป็นเหตุ และสุขทุกข์เป็นผล เมื่อยังมีกรรม ก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งสุขและทุกข์

ถ้าเล็งถึงภาวะที่ดีงามสูงสุดเป็นที่หมาย โดยไม่ให้มีข้อบกพร่องเหลืออยู่เลย ภาวะที่ยังระคนด้วยสุขและทุกข์ ก็คือยังไม่พ้นจากทุกข์ ดังนั้นกรรมจึงยังเกี่ยวเนื่องอยู่กับทุกข์ และยังเป็นเหตุของทุกข์ แต่ที่เป็นอย่างนี้ก็เฉพาะแต่กรรมสามอย่างแรกเท่านั้น กรรมประเภทที่สี่นี้เป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นกรรมที่ทำให้สิ้นกรรม จึงเป็นกรรมที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์ หรือความไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลยอีกด้วย

ในขณะที่กรรมดีนำมาซึ่งผลคือความสุข แต่ความสุขนั้นระคนอยู่ด้วยทุกข์ และอาจเป็นปัจจัยแก่ทุกข์ได้ต่อไป กรรมประเภทที่สี่นี้ มีแต่ทำให้เกิดภาวะปลอดทุกข์อย่างเดียว และโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่ทำกรรมนี้อยู่ ก็กระทำโดยไม่มีความทุกข์อีกด้วย จึงเป็นกรรมที่ไร้ทุกข์ เป็นภาวะสุขล้วนโดยสมบูรณ์

ความสิ้นกรรม หรือดับกรรมนี้ มีสอนในลัทธิศาสนาอื่นที่ร่วมสมัยกับพระพุทธศาสนาด้วย โดยเฉพาะลัทธินิครนถ์ ลัทธินิครนถ์สอนหลักการเรื่องกรรมเก่า (ปุพเพกตวาท) เรื่องความสิ้นกรรม (กรรมกษัย) และการทรมานตนด้วยการบำเพ็ญตบะเพื่อทำให้สิ้นกรรม

หลักการทั้งสามอย่างนี้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจโดยแยกออกออกจากคำสอนในพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน ก็จะเกิดความสับสนกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและเกิดความหลงผิดขึ้น แต่ถ้าสามารถแยกออกจากหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ ก็กลับจะทำให้เข้าใจพุทธธรรมชัดเจนขึ้นด้วย ลัทธินิครนถ์สอนดังนี้

(ม.อุ.14/3/2; ม.มู.12/219/185 ; องฺ.ติก.20/514/284)

“สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตนทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะทำให้กรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่มีผลบังคับต่อไป เพราะไม่มีผลบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงก็จะโทรมซาหมดไปเอง พวกนิครนถ์มีวาทะ มีทิฏฐิอยางนี้”



พวกนิครนถ์ถือว่า อะไร ๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่า จะหมดทุกข์ได้ ก็ต้องทำให้กรรมหมดสิ้นไป ด้วยการบำเพ็ญตบะเผากิเลส ทำกรรมเก่าให้เหือดหาย และไม่ทำกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า กรรมเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย จะต้องรู้เท่าทันตามเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตนได้ถูกต้อง

คนจะหมดทุกข์ได้ ด้วยการทำกรรม แต่เป็นการกระทำอย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ไม่มีกรรมเกิดขึ้นและจึงทำให้กรรมหมดไป ดังนั้นเพื่อให้กรรมกลายเป็นศูนย์ แทนที่จะหยุดนิ่งหรืออยู่เฉย ผู้ปฏิบัติตามหลักการของพุทธธรรม จึงยิ่งต้องเพียรพยายามทำการอย่างเอาจริงเอาจัง แต่เป็นการกระทำหรือปฏิบัติด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งทำให้ปลอดโปร่งเป็นอิสระ พ้นจากการกระทำไปตามอำนาจบงการของตัณหา ที่เข้ามาช่วยอวิชชาชักพาคนให้ร่านรนทะยานไป

เพื่อให้รู้จักกรรมประเภทที่สี่ ชัดเจนขึ้นด้วยการบรรยายสั้น ๆ จึงขอสรุปลักษณะทั่วไปของกรรมที่ทำให้สิ้นกรรมไว้ดังนี้

ก. เป็นทางดับกรรม หรือข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับกรรม (กรรมนิโรธคามินีปฏิปทา) และพร้อมกันนั้น ก็เป็นกรรมอย่างหนึ่งเองด้วยในตัว

ข. มีชื่อเรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

ค. เป็นกรรมที่เกิดจากอโลภะ อโทสะ อโมหะ จึงทำให้ไม่มีการทำความชั่วใด ๆ เลย อย่างเป็นไปเองโดยอัตโนวัติ เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทำความชั่ว

ง. เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยปัญญา ทำด้วยความรู้เข้าใจ มองเห็นคุณโทษเป็นต้นตามสภาพ จึงเป็นการกระทำที่ดีงาม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข สมตามเหตุผล

จ. เป็นการกระทำในทางที่ดีงามเกื้อกูลอย่างเข้มแข็งจริงจังหรือเต็มที่ เพราะความเพียร สติ และปัญญาออกมาทำหน้าที่หนุน และนำการกระทำได้โดยตรง เนื่องจากไม่ถูกตัณหาชักพาไปในทางเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความเห็นแก่ตน หรือหน่วงเหนี่ยวขัดถ่วงไม่ให้กระทำ เพราะความห่วงหาติดพันในความสุขสำราญของตน

ฉ. เป็นกุศลกรรม คือกรรมที่เป็นกุศล ในระดับที่เรียกว่าเป็น โลกุตตรกุศล (อรรถกถาว่าเป็นมรรคเจตนา หรือมรรคญาณ) จึงเรียกว่าเป็นกรรมที่ทำให้สิ้นกรรม เพราะไม่เป็นเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรม คือไม่ทำให้มีการก่อกรรมหรือการก่อตัวของกรรม

ช. ว่าโดยหลักธรรมและองค์ธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ที่เป็ฯทางนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) คือ อริยสัจข้อที่ 4 นั่นเอง แต่อาจมาในชื่ออื่น ๆ เช่น เป็นโพชฌงค์ 7 ไตรสิกขา เป็นต้น แล้วแต่กรณีของการปฏิบัติ หรืออาจเรียกเป็นกลาง ๆ ว่า เจตนาเพื่อละกรรมสามอย่างแรก

สำหรับข้อ จ. ขอตั้งข้อสังเกตว่า คนจำนวนมากมีความเข้าใจผิดว่า ตัณหา คือความอยาก เป็นแรงจูงใจให้คนกระทำการต่าง ๆ ยิ่งมีตัณหามากก็ยิ่งกระทำด้วยความกระตือรือร้นแข็งขันมาก ถ้าไม่มีตัณหา ก็ไม่มีแรงจูงใจให้กระทำ ก็จะหยุดนิ่งอยู่เฉย อาจกลายเป็นคนเกียจคร้าน ความเข้าใจอย่างนี้ เป็นการมองธรรมชาติของมนุษย์ไม่ทั่วตลอด เมื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติ อาจทำให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งต่อชีวิตของบุคคล ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อม

ความจริง ตัณหาเป็นทั้งแรงจูงใจให้กระทำ ตัณหาจะเป็นแรงจูงใจให้กระทำ ในกรณีที่จะแสวงหาสิ่งเสพปรนเปรอตนเอามาสนองความเห็นแก่ตัว การกระทำในกรณีนี้มักเป็นไปในทางเบียดเบียนหรือขัดแย้งแย่งชิงกันระหว่างมนุษย์ หรือเป็นการได้มาเพื่อตน แต่เป็นผลเสียหายเดือดร้อนแก่สังคมหรือชีวิตอื่น แต่ในกรณีที่ควรจะทำการบางอย่างเพื่อความดีงามหรือประโยชน์สุขของชีวิตและสังคม โดยไม่มีสิ่งเสพปรนเปรอตน ตัณหาจะเป็นแรงจูงใจให้ไม่กระทำ เพราะตัณหาทำให้ติดพันเป็นห่วงต่อการเสพสุขหรือความสำราญปรนเปรอที่มีอยู่ในเวลานั้น อย่างน้อยแม้แต่ความสุขในการนอนและความเพลิดเพลินในการปล่อยตัวอยู่เรื่อย ๆ จึงเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว หรือขัดถ่วงให้ไม่สามารถก้าวออกไปทำการต่าง ๆ ที่ควรกระทำ ตัณหาในกรณีนี้จึงเป็นตัวเหตุของความเกียจคร้าน

ยิ่งถ้ามีอวิชชาแรงมาก คือไม่รู้ไม่เข้าใจคุณค่าของการกระทำ ๆ ว่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ที่แท้จริงอย่างไร ตัณหาก็จะหนุนให้มีความเป็นอยู่อย่างนิ่งเฉยเฉื่อยชา โดยนัยนี้ ตัณหาจึงเป็นแรงจูงใจชักพาให้กระทำในทางเบียดเบียน หรือไม่ก็ให้ไม่กระทำโดยซึมเซาอยู่ในความเกียจคร้านเฉื่อยชา สุดแต่ว่าการเสพหรือความติดในความเพลิดเพลินปรนเปรอจะได้รับการสนองด้วยวิธีใด

การกระทำที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และประโยชน์สุขที่แท้จริง เป็นเรื่องต่างหากจากการได้เสพหรือติดในความเพลิดเพลินปรนเปรอ และในหลายกรณี ทำให้ต้องสละการเสพสำราญหรือการติดเพลินด้วยซ้ำ การกระทำเช่นนี้จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัณหา (นอกจากในกรณีของการสร้างเงื่อนไข) แต่จะเกิดขึ้นได้ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจมองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริงของการกระทำนั้น แล้วเกิดความพอใจที่จะกระทำขึ้น ความพอใจหรือความอยากจะทำนี้เรียกว่า ฉันทะ (เรียกเต็มว่า กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ)

ฉันทะนี้เป็นแรงจูงใจตัวแท้ตัวจริงในการกระทำที่ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตและประโยชน์สุขที่แท้จริง แต่การกระทำด้วยฉันทะนั้นอาจถูกต่อต้าน หน่วงเหนี่ยว หรือขัดขวางโดยตัณหาที่ติดเพลินในความเกียจคร้านเฉื่อยชา หรือห่วงสิ่งปรนเปรอในรูปแบบต่าง ๆ ในกรณีเช่นนี้ ตัณหาก็จะทำให้เกิดความทุกข์ เพราะต้องทำการด้วยความบีบคั้นฝืนใจ แต่ถ้าปัญญารู้เข้าใจมองเห็นคุณค่านั้นแจ่มชัดมากและฉันทะมีกำลังมากพอ จนพ้นจากแรงหน่วงเหนี่ยวขัดถ่วงของตัณหา

ฉันทะนอกจากเป็นแรงจูงใจในการกระทำแล้ว ก็จะกลายเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขด้วย แต่เป็นความสุขอย่างใหม่ ที่ปลอดโปร่งกว้างขวาง ไม่คับแคบขุ่นมัวอย่างความสุขจากตัณหา ทำให้บุคคลกระทำงานสร้างสรรค์ด้วยจิตใจที่เป็นสุข หรือเป็นอิสระไร้ทุกข์ ในกรณีเช่นนี้ ก็จะเกิดสมาธิในการกระทำ โดยมีความเพียร สติ และปัญญาออกมาทำหน้าที่คอยหนุนและนำการกระทำนั้นโดยตรงและเต็มที่ การกระทำอย่างนี้นี่แหละ เป็นกรรมในแนวทางที่เรียกว่า กรรมที่ทำให้สิ้นกรรม

กระบวนการแห่งกรรมที่ทำให้สิ้นกรรมนั้น มีสาระสำคัญที่อาจพูดให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่า เมื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแนวปฏิบัติของมรรคมีองค์ 8 หรือโพชฌงค์ 7 (หรือธรรมในชื่ออื่น ๆ แล้วแต่กรณี) ซึ่งมีปัญญาที่รู้เข้าใจคุณค่า และสภาวะที่แท้จริงเป็นเครื่องชี้นำ ตัณหาก็จะถูกลบหายไป เพราะไม่มีช่องที่จะเข้ามาแสดงบทบาททำหน้าที่ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่ปรากฏขึ้น เมื่อไม่มีตัณหา เมื่อปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่เกิดกรรมที่จะก่อผลต่อเนื่องผูกมัดชีวิตจิตใจ เมื่อไม่มีกรรม ก่อผลผูกมัด ก็เป็นภาวะอิสระโปร่งใจไร้ทุกข์ ชีวิตที่เคยเป็นอยู่อย่างทาสรับใช้ที่คอยทำการตามคำบงการของตัณหาก็เปลี่ยนมาสู่ความมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ที่ทำให้เป็นนายของการกระทำอย่างเป็นไทแก่ตน

ต่อไปนี้ จะขอนำเอาพุทธพจน์บางแห่งเกี่ยวกับกรรมที่ทำให้สิ้นกรรม มาแสดงไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา

“ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบกรรม พึงทราบเหตุเกิดแห่งกรรม พึงทราบความแตกต่างแห่งกรรม พึงทราบวิบากแห่งกรรม พึงทราบความดับแห่งกรรม พึงทราบข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม ...

ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำกรรม ด้วย กาย ด้วยวาจา ด้วยใจ, เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน? ผัสสะ เป็นเหตุเกิดแห่งกรรมทั้งหลาย

ความแตกต่างแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นไฉน? คือ กรรมที่เสวยผลในนรก ก็มี กรรมที่เสวยผลในกำเนิดเดรัจฉาน ก็มี กรรมที่เสวยผลในแดนเปรต ก็มี กรรมที่เสวยผลในโลกมนุษย์ ก็มี กรรมที่เสวยผลในเทวโลก ก็มี นี้เรียกว่า ความแตกต่างแห่งกรรมทั้งหลาย

วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน? เรากล่าวถึงวิบากแห่งกรรมว่ามี 3 อย่าง คือ วิบากในปัจจุบัน หรือในที่อุบัติ หรือในเบื้องต่อ ๆ ไป , นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม

ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน? เพราะผัสสะดับ กรรมก็ดับ

มรรคาอันมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐนี้แหละ เป็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ เมื่อนั้น เธอย่อมรู้ชัดซึ่งชีวิตประเสริฐ (พรหมจริยะ) อันทรงปัญญาเฉียบคม ซึ่งเป็นที่ดับแห่งกรรมนี้”

(องฺ.ฉกฺก.22/334/464)

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม ... กรรมเก่าเป็นไฉน? ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตน์จำนงเป็นที่เสวยเวทนา , นี้เรียกว่า กรรมเก่า

“ภิกษุทั้งหลาย กรรมใหม่เป็นไฉน? กรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในบัดนี้ เรียกว่า กรรมใหม่

“ภิกษุทั้งหลาย ความดับกรรมเป็นไฉน ? ภาวะที่สัมผัสวิมุตติ เพราะความดับไปแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เรียกว่า ความดับกรรม

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรมเป็นไฉน? ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐนี้เอง กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ, นี้เรียกว่า ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม

(สํ.สฬ.18/227-230/166)



“ภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของพวกเธอ และก็มิใช่ของใครอื่น พึงเห็นว่า เป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตน์จำนง เป็นที่เสวยเวทนา”

(สํ.นิ.16/143/77)

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม 3 ประการ เหล่านี้ คือ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม,

กรรมที่ทำเพราะโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นที่ก่อตัวขึ้น ย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของบุคคลนั้นเกิดขึ้น กรรมนั้นให้ผลในที่ใด เขาย่อมเสวยผลของกรรมนั้นในที่นั้น จะเป็นในปัจจุบัน หรือในที่อุบัติ หรือในเบื้องต่อ ๆ ไป ก็ตาม ฯลฯ กรรมที่ทำเพราะโทสะ ... กรรมที่ทำเพราะโมหะ ... (ก็เช่นเดียวกัน) ฯลฯ

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม 3 ประการเหล่านี้ คือ อโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม,

กรรมใดที่ทำเพราะอโลภะ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นต้นเหตุ มีอโลภะเป็นที่ก่อตัวขึ้น เมื่อปราศจากโลภะแล้ว กรรมนั้นก็เป็นอันถูกละหมดไป มีมูลขาดแล้ว ถูกทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้ไม่มีเหลือ ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกต่อไป ฯลฯ กรรมที่ทำเพราะอโทสะ ... กรรมที่ทำเพราะอโมหะ ... (ก็เช่นเดียวกัน) ฯลฯ

(องฺ.ติก.20/473/171)

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม 3 ประการ เหล่านี้ คือ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม,

กรรมที่ทำเพราะโลภะ เกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นที่ก่อตัวขึ้น กรรมนั้นเป็นอกุศล ... มีโทษ ... มีทุกข์ เป็นวิบาก; กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความดับแห่งกรรม กรรมใดที่ทำเพราะโทสะ ... กรรมที่ทำเพราะโมหะ ... (ก็เช่นเดียวกัน) ฯลฯ

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม 3 ประการ เหล่านี้ คือ อโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม,

กรรมที่ทำเพราะอโลภะ เกิดจากอโลภะ มีอโลภะเป็นต้นเหตุ มีอโลภะเป็นที่ก่อตัวขึ้น กรรมนั้นเป็นกุศล ... ไม่มีโทษ ... มีสุขเป็นวิบาก; กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะอโทสะ ... กรรมที่ทำเพราะอโมหะ ... (ก็เช่นเดียวกัน) ฯลฯ

(องฺ.ติก.20/551/338 และพึงดูพระสูตรคล้ายกันนี้อีก 2 สูตร ที่ องฺ.ติก.20/552/339; องฺ.ฉกฺก22/310/378)

“ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต เรากล่าวว่ามี 3 อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุก็มี มีโทสะเป็นเหตุก็มี มีโมหะเป็นเหตุก็มี, แม้อทินนาทาน ... กาเมสุมิจฉาจาร ... มุสาวาท ... ปิสุณาจา ... ผรุสาวาจา ... สัมผัปปลาปะ ... อภิชฌา ... พยาบาท ... มิจฉาทิฏฐิ เราก็กล่าวว่ามี 3 อย่าง คือ มีโลภะเป็นเหตุก็มี มีโทสะเป็นเหตุก็มี มีโมหะเป็นเหตุก็มี

โดยนัยดังนี้แล โลภะจึงเป็นเหตุให้เกิดกรรม โทสะจึงเป็นเหตุให้เกิดกรรม โมหะจึงเป็นเหตุให้เกิดกรรม, เพราะสิ้นโลภะ ก็สิ้นเหตุให้เกิดกรรม เพราะสิ้นโทสะ ก็สิ้นเหตุให้เกิดกรรม เพราะสิ้นโมหะ ก็สิ้นเหตุให้เกิดกรรม”

(องฺ.ทสก.24/163/282)

“ดูกร ปุณณะ กรรม 4 อย่างนี้ เราประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศไว้ กล่าวคือ กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มี กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มี

“ดูกรปุณณะ กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขารที่มีการเบียดเบียน ครั้นแล้ว ก็เข้าถึงโลกที่มีการเบียดเบียน ผัสสะที่มีการเบียดเบียนย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกที่มีการเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีการเบียดเบียนถูกต้อง ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน ซึ่งเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่น สัตว์นรก; โดยนัยดังนี้แล เพราะกรรมได้มีแล้ว จึงมีการอุบัติของสัตว์, เขาทำกรรมใด ก็อุบัติเพราะกรรมนั้น, เขาอุบัติแล้ว ก็ถูกผัสสะต้อง, เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงกล่าว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทของกรรม ; นี้เรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ

“ดูกรปุณณะ กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขารที่ไม่มีการเบียดเบียน ครั้นแล้ว ก็เข้าถึงโลกที่ไม่มีการเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีการเบียดเบียนย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีการเบียดเบียนถูกต้อง ย่อมได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน ซึ่งเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่น เทพชั้นสุภกิณหะ; โดยนัยดังนี้แล เพราะกรรมได้มีแล้ว จึงมีการอุบัติของสัตว์, เขาทำกรรมใด ก็อุบัติเพราะกรรมนั้น, เขาอุบัติแล้ว ก็ถูกผัสสะต้อง, เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงกล่าว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทของกรรม ; นี้เรียกว่า กรรมขาว มีวิบากขาว

“ดูกรปุณณะ กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขารที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ครั้นแล้ว ก็เข้าถึงโลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ผัสสะ ที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้างนั้น เขาถูกผัสสะที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ถูกต้อง ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ซึ่งมีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน ดังเช่น พวกมนุษย์ เทพบางพวก และสัตว์วินิบาตบางพวก; โดยนัยดังนี้แล เพราะกรรมได้มีแล้ว จึงมีการอุบัติของสัตว์, เขาทำกรรมใด ก็อุบัติเพราะกรรมนั้น, เขาอุบัติแล้ว ก็ถูกผัสสะต้อง, เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทของกรรม ; นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

“ดูกรปุณณะ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน? ในบรรดากรรมทั้งสามประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรมดา มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาว มีวิบากขาว เจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว, นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

(ม.ม.13/88/82; เทียบ องฺ.จตุกฺก.21/233-4/314-8 ; เฉพาะหัวข้อ มีที่ ที.ปา.11/256/242; องฺ.จตุกฺก.21/232/313)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม 4 อย่างนี้ ... กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำปาณาติบาต เป็นผู้ลักทรัพย์ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม เป็นผู้พูดเท็จ เป็นผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, นี้เรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ... จากอทินนาทาน ... จากกาเมสุมิจฉาจาร ... จากมุสาวาท ... จากการดื่มน้ำเมาและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, นี้เรียกว่า กรรมขาว มีวิบากขาว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร ... วจีสังขาร ... มโนสังขารที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ , นี้เรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน? ในบรรดากรรมสามประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรม (สามอย่างแรก) , นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม”

(องฺ.จตุกฺก21/235/318; เทียบ สูตรต่อไป 21/236/319)

“ภิกษุทั้งหลาย กรรม 4 อย่างนี้ ... กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นไฉน? ... กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน? ... กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นไฉน? ... กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน? ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ...”

(องฺ.จตุกฺก21/237/320)

“ภิกษุทั้งหลาย กรรม 4 อย่างนี้ ... กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นไฉน? ... กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นไฉน? ... กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นไฉน? ... กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน? ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ...”

(องฺ.จตุกฺก21/238/321)

“ดูกรอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่อิงวิเวก อิงวิราคะ อิงนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน , เมื่อเธอเจริญสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ... ตัณหาก็ถูกละหมดไป, เพราะละตัณหา กรรมก็ถูกละหมดไป , เพราะละกรรม ทุกข์ก็ถูกละหมดไป; โดยนัยดังนี้แล เพราะสิ้นตัณหา ก็สิ้นกรรม, เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์”

(สํ.ม.19/450/123)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


มีจุดหรือแง่สำคัญบางประการที่ควรย้ำไว้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่ร้ายแรงในเรื่องกรรม ดังต่อไปนี้ :-



1) สุขทุกข์ ใครทำให้ ?

ตามหลักพุทธพจน์ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยบุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขาร ...

(การปรุงแต่งการกระทำทางกาย (Volitional acts of the body) )

วจีสังขาร ...

(การปรุงแต่งคำพูด (Volitional acts of speech) )

มโนสังขาร ...

( การนึกคิดปรุงแต่ในใจ (Volitional acts of mind) )



ขึ้นเองบ้าง ... เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง ... โดยรู้ตัวบ้าง ... ไม่รู้ตัวบ้าง”

(สํ.นิ.16/83/48)



และพุทธพจน์ที่ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเองของพวกอัตตการวาท และทฤษฎีว่า สุขทุกข์ตัวการอื่นทำของพวกปรการวาท

(ดู ตอนว่าด้วย อัตตการวาท และปรการวาท ใน “ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา” พุทธธรรม บทที่ 4)

เป็นการย้ำให้มองเห็นกรรมในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน เพียงใด ย่อมต้องพิจารณาให้ถูกต้องตามกระบวนการ มิใช่ตัดสินขาดลงไปง่าย ๆ

ที่กล่าวมานี้ เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดสุดโต่งที่มักเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไร ๆ เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น ทำให้ไม่คำนึงถึงตัวการและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ต้องแยกความเข้าใจอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างหลักกรรมในแง่ตัวกฎหรือสภาวะ กับในแง่ของจริยธรรม ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการแสดงในแง่ตัวกฎหรือตัวสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตามธรรมชาติ ที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยต่าง ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ในแง่ของจริยธรรม อันเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ ผู้ที่ถูกต้องการให้ปฏิบัติ ก็คือผู้ที่ถูกสอน ในกรณีนี้ คำสอนจึงมุ่งไปที่ตัวผู้รับคำสอน เมื่อพูดในแงนี้ คือเจาะจงเอาเฉาะตัวบุคคลนั้นเองเป็นหลัก ย่อมกล่าวได้ดีทีเดียวว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ต่อการกระทำต่าง ๆ ที่เขาคิดหมายกระทำลงไป และที่จะให้ผลเกิดขึ้นตามที่มุ่งหมาย เช่น พุทธพจน์ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” เป็นการเพ่งความรับผิดชอบของบุคคลโดยมองจากตัวเองออกไป

ในกรณีนี้ นอกจากจะมีความหมายว่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ลงมือทำเองแล้ว ในแง่ที่สัมพันธ์กับการกระทำของผู้อื่น ยังหมายกว้างไปถึงการที่ความช่วยเหลือจากผู้อื่นจะเกิดขึ้น จะคงมีอยู่ และจะสำเร็จผล ต้องอาศัยการพึ่งตนของบุคคลนั้นเอง ในการที่จะชักจูง เร้าให้เกิดการกระทำจากผู้อื่น ในการที่จะรักษาการกระทำของผู้อื่นนั้นให้คงอยู่ต่อไป และในการที่จะยอมรับหรือสนองต่อการกระทำของผู้อื่นนั้นหรือไม่เพียงใดด้วย ดังนี้เป็นต้น โดยเหตุนี้หลักกรรมในแง่ตัวสภาวะก็ดี ในแง่ของจริยธรรมก็ดี จึงไม่ขัดแย้งกัน แต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องทำความเข้าใจให้ถูก



2) เชื่ออย่างไรผิดหลักกรรม ?



มีลัทธิมิจฉาทิฏฐิ เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์อยู่ 3 ลัทธิ ซึ่งต้องระวังไม่ให้เข้าใจสับสนกับหลักกรรม คือ :-

1. ปุพเพกตเหตุวาท การถือว่า สุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะกรรมเก่า (past-action determinism) เรียกสั้น ๆ ว่า ปุพเพกตวาท

2. อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่ (theistic determinism) เรียกสั้น ๆ ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท

3. อเหตุอปัจจยวาท การถือว่า สุขทุกข์ทั้งปวงเป็นไปสุดแต่โชคชะตาลอย ๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย (indeterminism หรือ accidentalism) เรียกสั้น ๆ ว่า
อเหตุวาท



ทั้งนี้ตามพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ 3 ระบบเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบ ๆ กันมา ยืนกรานอยู่ในหลักอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ

1. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)

2. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)

3. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)”

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้นเราเข้าไปหา (พวกที่ 1) แล้วถามว่า “ทราบว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ ... จริงหรือ? “

ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว รับว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาตเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ทำอทินาทาน เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ... เป็นผู้กล่าวมุสวาท ... ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุน่ะสิ”

“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยจริงจังมั่นคง ดั่งนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แล เป็นนิคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเรา ต่อสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้”

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ 2 ) ... กล่าวกะเขาว่า “ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ จักเป็นผู้ทำอทินาทาน ... ประพฤติพรหมจรรย์ ... เป็นผู้กล่าวมุสวาท ... ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะการบันดาล ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ”

“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ “



“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ 3 ) ... กล่าวกะเขาว่า “ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จักเป็นผู้ทำ
อทินาทาน ... ประพฤติพรหมจรรย์ ... เป็นผู้กล่าวมุสวาท ... ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยน่ะสิ”

“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุ เป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ “

(องฺ.ติก.20/501/222; และดูประกอบใน อภิ.วิ.35/940/496; ม.อุ.14/2/1 )



โดยเฉพาะลัทธิที่ 1 คือ

นั้นเป็นลัทธิของนิครนถ์ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่มีผลบังคับต่อไป เพราะไม่มีผลบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงก็จะโทรมวาหมดไปเอง ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้”

(ม.อุ.14/2/1)

นอกจากนี้ พุทธพจน์ที่เคยยกมาอ้างข้างต้น ซึ่งย้ำความอันเดียวกัน ก็มีว่า

“ดูกรสิวกะ เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี ... เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี ... เกิดจากการถูกทำร้ายก็มี ... เกิดจากผลกรรมก็มี ฯลฯ

สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เวทนานั้นเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน” ฯลฯ เรากล่าวว่า เป็นความผิดพลาดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง”

(สํ.สฬ.18/427/285)

พุทธพจน์เหล่านี้ ป้องกันความเห็นที่แล่นไปไกลเกินไป จนมองเห็นความหมายของกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ตามนัยพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นจะเห็นได้ชัดด้วยว่า ในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายามเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรม และคำสอนเหล่านี้ทั้งหมด

พุทธพจน์เหล่านี้ มิได้ปฏิเสธกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และย่อมมีผลต่อปัจจุบัน สมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไร ที่จะไปยึด ไปหมายมั่น ฝากโชคชะตาไว้ให้ ผู้เข้าใจ
ปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีแล้ว ย่อมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

เหมือนกับการที่ใครคนหนึ่งเดินขึ้นตึก 3 ชั้น ถึงชั้นที่สามแล้ว ก็แน่นอนว่า การขึ้นมาถึงของเขาต้องอาศัยการกระทำ คือการเดินที่ผ่านมาแล้วนั้น จะปฏิเสธมิได้ และเมื่อขึ้นมาถึงที่นั่นแล้ว การที่เขาจะเหยียดมือไปแตะพื้นดินข้างล่างตึก หรือจะนั่งรถเก๋งวิ่งไปมาบนตึกชั้นสามเล็ก ๆ เหมือนอย่างบนถนนหลวง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ และข้อนี้ก็เป็นเพราะการที่เขาขึ้นมาบนตึกเหมือนกัน ปฏิเสธมิได้ หรือเมื่อเขาขึ้นมาแล้วจะเมื่อยหมดแรง เดินต่อขึ้นขึ้นหรือลงไม่ไหว นั่นก็ต้องเกี่ยวกับการที่ได้เดินขึ้นมาแล้วด้วยเหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้

การมาถึงที่นั่นก็ดี ทำอะไรได้ในวิสัยของที่นั่นก็ดี การที่อาจจะต้องมาอยู่กับเขา ณ ที่นั้นด้วยก็ดี ย่อมสืบเนื่องมาจากกรรมเก่าคือการที่ได้เดินมานั้นด้วยแน่นอน แต่การที่เขาจะทำอะไรบ้าง ทำสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องที่นั่นแค่ไหนเพียงไร ตลอดจนว่า จะพักเสียก่อนแล้วเดินต่อ หรือจะเดินกลับลงเสียจากตึกนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่เขาจะคิดตกลงทำเอาใหม่ทำได้ และได้ผลตามเรื่องที่ทำนั้น ๆ แม้ว่าการเดดินมาเดิมยังอาจมีส่วนให้ผลต่อเขาอยู่ เช่น แรงเขาอาจจะน้อยไปทำอะไรใหม่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อยเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น

ถึงอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของเขาอีกที่ว่า จะคิดยอมแพ้แก่ความเมื่อย หรือว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้น ดังนี้ จึงควรเข้าใจเรื่องกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันเป็นตามกระบวนการของมันในทางจริยธรรม ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าได้ในแง่เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ เป็นความรู้พื้นฐานปัจจุบันของตน เพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อผลดีต่อไปในอนาคต



3) กรรม ชำระล้างได้อย่างไร ?

มีพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมไว้อย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ “ เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ (คือไม่มีประโยชน์อะไร) เป็นอันมองไม่เห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้เลย”

“แต่ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมไว้อย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ “ เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ (คือไม่มีประโยชน์อะไร) เป็นอันมองไม่เห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้เลย”

“แต่ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาอย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยวิบากของกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ” เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) จึงมีได้ (คือสำเร็จประโยชน์) เป็นอันเห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้”

“ภิกษุทั้งหลาย สำหรับบางคน กรรมชั่วที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย ก็นำเขาไปนรกได้ แต่สำหรับบางคนกรรมชั่วที่ทำไว้เล็กน้อยอย่างเดียวกันนั่นแหละ ให้ผลแค่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น”

“คนประเภทไหน กรรมชั่วที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย ก็นำเขาไปนรกได้? คือ คนบางคนเป็นผู้ไม่อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปกติอยู่เป็นทุกข์เพราะวิบากเล็ก ๆ น้อย ๆ บุคคลประเภทนี้ กรรมชั่วที่ทำไว้เพียงเล็กน้อย ก็นำเขาไปนรกได้ (เหมือนใส่ก้อนเกลือในขันน้ำน้อย)”

“คนประเภทไหน กรรมชั่วที่ทำไว้เล็กน้อยอย่างเดียวกันนั่นแหละ ให้ผลแค่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น? คือ คนบางคนเป็นผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย เป็นมหาตมะ มีธรรมเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ สำหรับบุคคลประเภทนี้ กรรมชั่วที่ทำไว้เล็กน้อยเช่นเดียวกันนั่นแหละ ให้ผลแค่ปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น (เหมือนใส่ก้อนเกลือในแม่น้ำ )”

(องฺ.ติก.20/540/320; ข้อความว่า “ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไทม่ปรากฏด้วสย ปรากฎแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น” มาจากบาลีว่า นานุปิ ขายติ พหุเทว แปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ทั้งส่วนที่น้อย ก็ไม่ปรากฏเป็นมาก” แต่ถ้าแปลตามอรรถกถาจะได้ความอีกอย่างว่า “ทั้งกรรมที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏผลต่อไป กรรมที่มากเท่านั้นจึงจะปรากฏผลต่อไป” (ดู อ..อ.2/299) )

“ดูกรนายคามณี ศาสดาบางท่าน มีวาทะ มีทิฏฐิ อย่างนี้ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด ผู้ที่ลักทรัพย์ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด ผู้ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด ผู้ที่พูดเท็จต้องไปอบาย ตกนรกทั้งหมด สาวกที่เลื่อมใสในศาสดานั้น คิดว่า “ศาสดาของเรามีวาทะ มีทิฏฐิว่า ผู้ที่ฆ๋าสัตว์ ต้องไปอบายตกนรกทั้งหมด” เขาจึงได้ทิฏฐิขึ้นมาว่า “สัตว์ที่เราฆ่าไปแล้วก็มี เราก็ต้องไปอบาย ตกนรกด้วย เขาไม่ละวาจานั้น ไม่สละทิฏฐินั้นเสีย ก็ย่อมอยู่ในนรกเหมือนถูกจับมาใส่ไว้ ...”

“ส่วนตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในโลก ... พระองค์ทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาต ... อทินนาทาน ... กาเมสุมิจฉาจาร ... มุสาวาท โดยอเนกปริยาย และตรัสว่า

“ท่านทั้งหลายจงงดเว้นเสียเถิดจากปาณาติบาต ... อทินนาทาน ... กาเมสุมิจฉาจาร ... มุสาวาท” สาวกมีความเลื่อมใสในพระศาสดานั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาต ฯลฯ โดยอเนกปริยายและตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงงดเว้นเสียเถิดจากปาณาติบาต ฯลฯ

“ก็สัตว์ที่เราฆ่าเสียแล้วมีมากถึงขนาดนั้น ๆ การที่เราฆ่าสัตว์ไปเสียมาก ๆ ถึงขนาดนั้น ๆ ไม่ดีไม่งามเลย เราจะกลายเป็นผู้เดือดร้อนใจ เพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัยแท้ และเราก็จักไม่ชื่อว่าไม่ได้กระทำกรรมชั่ว” เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปาณาติบาตนั้นเสีย และเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย เป็นอันว่า เขาละกรรมชั่วนั้นได้ด้วยการกระทำอย่างนี้ ...”

“เขาละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ละมุสาวาท ... ปิสุณาวาจา ... ผรุสวาจา ... สัมผัปปลาปะ ... อภิชฌา ... พยาบาท .. มิจฉาทิฏฐิ แล้วเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ เขาผู้เป็นอริยสาวก มีใจปราศจากอภิชฌา (ความละโมบ) ปราศจากพยาบาท (ความคิดเบียดเบียน) ไม่ลุ่มหลง มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น อยู่ด้วยใจที่ประกอบด้วยเมตตาปกแผ่ไปทิศ 1 .. ทิศ 2 .. ทิศ 3 .. ทิศ 4 ครบถ้วน ทั้งสูง ต่ำ กว้างขวาง ทั่วทั้งโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ยิ่งใหญ่ ไม่มีประมาณ ไร้เวร ไร้พยาบาท ฯลฯ เมื่อเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้มากยอย่างนี้ กรรมใดที่ทำไว้พอประมาณ กรรมนั้นจักไม่เหลือ จะไม่คงอยู่ในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ...”

(สํ.สฬ.18/613-619-393-398)

พุทธพจน์ในข้อ 3 นี้ นำมาแสดงไว้เพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม ให้มีการศึกษาโดยละเอียด เป็นการป้องกันไม่ให้ลงความเห็นตัดสินความหมายและเนื้อหาของหลักกรรมง่ายเกินไป แต่ก็ยังเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถนำมารวมไว้ได้ทั้งหมด เพราะจะกินเนื้อที่มากเกินไป



4) กรรมกับอนัตตาขัดกันหรือไม่ ?

(เรื่องนี้ พิมพ์รวมไว้ ทั้งในหนังสือนี้ และในหนังสือ “ไตรลักษณ์” เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมทั้งสองอย่างเท่า ๆ กัน)

ปัญหาหนึ่งซึ่งแม้จะมีผู้ถามขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว แต่เป็นความสงสัยที่ค้างอยู่ในใจผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อย คือ เรื่องที่ว่า หลักกรรมกับอนัตตาขัดกันหรือไม่ ?

ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา คนเราทั้งกายและใจเป็นอนัตตา กรรมจะมีได้อย่างไร ? ใครจะเป็นผู้ทำกรรม? ใครจะรับผลกรรม? ความสงสัยในเรื่องนี้ มิใช่มีแต่ในบัดนี้ แม้ในครั้งพุทธกาลก็ได้มีแล้ว ดังเรื่องว่า

ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดสงสัยขึ้นว่า

“ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วดั่งนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร? “

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหยั่งทราบความคิดสงสัยของภิกษุนั้น จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า:

“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่คนเขลาบางคนในธรรมวินัยนี้ มีใจตกอยู่ในอวิชชา ถูกตัณหาครอบงำ อาจสำคัญว่า คำสอนของพระศาสดาเป็นสิ่งที่พึงคิดไกลล้ำเลยไปได้ว่า “ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา , แล้วดั่งนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร?” ; เธอทั้งหลาย อันเราแนะนำอย่างถี่ถ้วนด้วยการทวนถาม ในข้อธรรมทั้งหลาย ในเรื่องราวทั้งหลายแล้ว จะสำคัญเห็นเป็นไฉน; รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

“เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?”

ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”

สิ่งใดไม่เที่ยง, สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข?”

“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”

“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา , ควรหรือจะมองเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา, นั่นเป็นเรา , นั่นตัวตนของเรา?”

“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

“เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ฯลฯ ก็เป็นแค่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ , นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เธอทั้งหลายพึงมองเห็นตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อย่างนี้; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ มองเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมหายติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ ย่อมหลุดพ้น ฯลฯ กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี”

(ม.อุ.14/129/106; สํ.ข.17/192/126)

ก่อนที่จะวิจารณ์ความตามบาลีที่อ้างข้างต้น หรือพูดถึงเหตุผลต่าง ๆ ต่อไป ขอให้พิจารณาข้อเปรียบเทียบต่อไปนี้ สมมติว่า ขณะนี้ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนกำลังยืนมองกระแสน้ำสายหนึ่งอยู่ กระแสน้ำไหลผ่านที่ราบเป็นส่วนมาก จึงไหลเอื่อย ๆ ไม่สู้เชี่ยว ดินที่กระแสน้ำไหลผ่านส่วนมากเป็นดินสีแดง กระแสน้ำสายนี้มีสีค่อนข้างแดง นอกจากนั้น กระแสน้ำยังไหลผ่านถิ่นที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นหลายแห่ง คนได้ทิ้งขยะและของเสียต่าง ๆ ลงในลำน้ำเป็นอันมากตลอดเวลา ทำให้น้ำสกปรก ยิ่งในระยะหลังนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งมากขึ้น และปล่อยน้ำเสียลงในน้ำทุกวัน ทำให้เกิดเป็นพิษ ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จึงมีปลา กุ้ง เป็นต้น ไม่ชุม

สรุปแล้วกระแสน้ำที่เรากำลังมองดูอยู่นี้สีค่อนข้างแดง สกปรก เจือปนด้วยน้ำพิษมาก มีสัตว์น้ำไม่ชุม ไหลเอื่อย ๆ ช้า ๆ ผ่านที่นั้นที่นั้น ทั้งหมดนี้รวมกันเข้าเป็นลักษณะจำเพาะของกระแสน้ำนี้ ซึ่งลักษณะบางอย่างก็เหมือนกระแสน้ำนู้น ฯลฯ แต่รวมทั้งหมดแล้วไม่เหมือนกระแสน้ำอื่นใด

ต่อมามีผู้บอกเราว่า กระแสน้ำสายนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง เขาบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังเป็นอย่างนั้น ๆ บางคนบอกว่า แม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก ปลาไม่ชุม บางคนบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไม่ไหลเชี่ยว และเป็นอย่างนั้น ๆ บางคนว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านถิ่นที่มีดินสีดแดงมาก จึงมีน้ำสีค่อนข้างแดง เราเกิดความรู้สึกเป็นข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความจริงกระแสน้ำที่เรามองดูอยู่ ก็มีภาวะสมบูรณ์ในตัวตามสภาพของมันอยู่แล้ว มันมีลักษณะต่าง ๆ เช่น ไหลช้า มีสีแดง สกปรก เป็นต้น ก็เพราะมันเกิดจากองค์ประกอบและความเป็นไปต่าง ๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลอันทำให้มันต้องเป็นเช่นนั้น เช่น เมื่อกระแสน้ำกระทบละลายดินแดง ก็เกิดผลขึ้นแก่กระแสน้ำนั้นให้มีสีแดง เป็นต้น

ความเป็นไปต่าง ๆ ของมันมีผลต่อมันอยู่ในตัวเอง ยิ่งกว่านั้น ขณะที่เรามองอยู่นั้น กระแสน้ำก็ไหลผ่านไปเรื่อย ๆ น้ำที่เราเห็นตรงหน้าเมื่อแรกมองกับเวลาต่อมา ก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน และน้ำที่เห็นตอนต่อ ๆ มา กับตอนท้ายที่เราจะเลิกมองก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน แต่กระนั้นมันก็มีลักษณะจำเพาะที่เรียกได้ว่าเป็นอย่างเดิม เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมเข้าเป็นกระแสน้ำนั้นยังคงเหมือน ๆ เดิม แต่มีคนบอกเราว่า แม่น้ำนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง ยิ่งกว่านั้นยังบอกว่า แม่น้ำท่าวังมีกระแสน้ำไม่เชี่ยว น้ำของแม่น้ำท่าวังสกปรก ปลาน้อย เรามองไม่เห็นว่าจะมีแม่น้ำท่าวังอยู่ที่ไหนต่างหาก หรือนอกจากระแสน้ำที่เรามองอยู่นั้น เรามองไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังไหนที่มาเป็นเจ้าของกระแสน้ำที่ไหลอยู่นั้น ยิ่งกว่านั้น เขาบอกว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านละลายดินแดงทำให้มันมีน้ำสีค่อนข้างแดง คล้ายกับว่า แม่น้ำท่าวังไปทำอะไรให้กับดินแดง มันจึงได้รับผลถูกเขาลงโทษให้มีน้ำสีแดง

เราเห็นอยู่ชัด ๆ ว่า กระแสน้ำที่เรามองอยู่นั้น มีความเป็นไป เป็นกระบวนการแห่งเหตุและผลพร้อมอยู่ในตัวของมัน น้ำที่ไหลมากระทบเข้ากับดินแดง ดินแดงละลายผสมกับน้ำเป็นเหตุเกิดขึ้น ผลก็เกิดขึ้นคือกระแสน้ำจึงมีสีค่อนข้างแดง ไม่เห็นจะมีใครมาเป็นผู้ทำหรือเป็นผู้รับผลนั้นอีก

ยิ่งกว่านั้น เราไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันอยู่ที่ไหนได้เลย กระแสน้ำที่ไหลผ่านหน้าเราไปแล้ว ก็ไหลผ่านไปเลย น้ำเก่าที่เราเห็นก็ไม่มีอยู่ที่นั่นแล้ว มีแต่น้ำใหม่มาแทนที่เรื่อยไป เรากำหนดกระแสน้ำนั้นได้ด้วยองค์ประกอบ อาการ และความเป็นไปต่าง ๆ ที่ประมวลกันขึ้น ให้ปรากฏลักษณะอันจะถือเอาได้เช่นนั้นเท่านั้นเอง และถ้ามีตัวตนของแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอนตายตัวอยู่ กระแสน้ำก็คงจะเป็นไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ และในขั้นสุดท้ายเราเห็นว่าแม่น้ำท่าวังนั่นแหละเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น เราพูดถึงกระแสน้ำนั้นได้เต็มตามกระบวนการของมัน โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำท่าวังเลย ว่าให้ถูกแล้วแม่น้ำท่าวังไม่มีอยู่เลยด้วยซ้ำไป

ต่อมาอีกนาน เราเดินทางไปถึงตำบลอื่น เราพบชาวตำบลนั้นหลายคน คราวหนึ่งเราอยากจะเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องกระแสน้ำที่เราได้มองดูคราวก่อนนั้น แล้วเราก็เกิดความติดขัดขึ้นมาทันที เราไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรดี เขาจึงจะเข้าใจตามที่เราต้องการจะบอกเขาได้ เรานึกขึ้นมาได้ถึงคำที่เคยมีคนบอกเราว่า กระแสน้ำสายนั้นชื่อแม่น้ำท่าวัง จากนั้นเราก็สามารถเล่าให้ชาวบ้านฟังอย่างสะดวก คล่องแคล่ว และเขาก็ฟังด้วยความเข้าใจและสนใจเป็นอย่างดี เราพูดด้วยว่า แม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก มีปลาน้อย กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไหลช้า แม่น้ำท่าวังไหลไปกระทบดินแดง ทำให้มันมีสีค่อนข้างแดง ในเวลานั้น เราเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยว่า แม่น้ำท่าวังและบทบาทของมันตามที่เราเล่านั้น เป็นเพียงถ้อยคำสมมติเพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันในโลก แม่น้ำท่าวังและบทบาทของมันตามคำสมมติเหล่านี้ จะมีขึ้นมาหรือไม่มี และเราจะใช้มันหรือไม่ก็ตามที จะไม่มีผลกระทบต่อกระแสน้ำนั้นเลย กระแสน้ำนั้นก็คงเป็นกระบวนการแห่งกระแสที่ไหลเนื่องไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของมันอยู่นั่นเอง เราแยกได้ระหว่างสมมติกับสภาวะที่เป็นจริง บัดนี้ เราทิ้งเข้าใจและสามารถใช้ถ้อยคำเหล่านั้นพูดด้วยความสบายใจ

ที่สมมติเรียกกันว่า คน ว่า นาย ก. นาย ข. เราเขา นั้น โดยสภาวะที่แท้จริงแล้วก็คือ กระบวนธรรมที่ไหลเนื่องเป็นกระแสสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย มีองค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาร่วมสัมพันธ์กันอยู่มากมาย มีความเป็นไปปรากฏให้เห็นได้นานาประการสุดแต่เหตุปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในกระบวนธรรมนั้นเอง

และทั้งที่เนื่องด้วยภายนอก เมื่อมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างหนึ่งเกิดเป็นเหตุขึ้นแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดผลเป็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นในกระบวนธรรมนั้น สิ่งที่เรียกว่ากรรมและวิบากนั้น ก็คือความเป็นไปตามทางแห่งเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมที่กล่าวนี้ มีความสำเร็จพร้อมอยู่ในตัวกระบวนธรรมนั้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยตัวสมมติมี นาย ก. นาย ข. เรา เขา นายสิบ นายพัน มารับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้รับผลแต่ประการใด อันนี้เป็นส่วนตัวสภาวะความจริงอันเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อสารให้เข้าใจกันในหมู่ชาวโลก จะใช้พูดตามสมมติก็ได้ โดยตั้งชื่อให้แก่กระบวนธรรมที่ไหลเวียนอยู่นั้นว่า นาย ก. นาย ข. จมื่น หัวหมู่ เป็นต้น เมื่อรับสมมติเข้าแล้ว ก็ต้องยอมรับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำ และผู้ถูกทำไปตามเรื่อง แต่ถึงจะสมมติหรือไม่สมมติ จะรบสมอ้างหรือไม่รับกระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะความจริงก็เป็นไปอยู่ตามกฎธรรมดา ตามเหตุปัจจัยของมันนั่นเอง ข้อสำคัญก็คือ จะต้องรู้เท่าทัน แยกสมมติกับตัวสภาวะออกจากกันได้ ของอันเดียวกันนั่นแหละ เมื่อใดจะพูดถึงสภาวะ ก็พูดไปตามสภาวะ เมื่อใดจะใช้สมมติ ก็พูดไปตามสมมติ อย่าไขว้เขว อย่าสับสนปะปนกัน และต้องมีความเข้าใจสภาวะเป็นความรู้เท่าทันรับรองยืนเป็นพื้นอยู่

ทั้งตัวสภาวะ และสมมติ เป็นสิ่งจำเป็น ตัวสภาวะ (นิยมเรียกกันว่า ปรมัตถ์) เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนสมมติเป็นเรื่องของประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เอาสภาวะกับสมมติมาสับสนกัน คือ เข้าไปยึดเอาตัวสภาวะจะให้เป็นตามสมมติ จึงเกิดวุ่นวายขึ้น ตัวสภาวะไม่วุ่น เพราะมันเป็นไปอย่างนั้นเอง ตามปกติธรรมดา ไม่เกี่ยวกับใครจะไปยึดหรือไม่ มนุษย์เป็นผู้วุ่นไปฝ่ายเดียว และเพราะมันไม่วุ่นด้วย มนุษย์จึงยิ่งวุ่นวายใหญ่ เพราะขัดความปรารถนาถูกบีบค้น จึงเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง

ตามเรื่องในบาลีที่ยกมาอ้างข้างต้น เห็นได้ชัดว่า ภิกษุทีเกิดความสงสัยนั้น เอาความรู้เกี่ยวกับสภาวะตามที่ตนฟังมาเรียนมา ไปสับสนกับสมมติที่ตนยึดถืออยู่ จึงเกิดความงุนงง ตามข้อสงสัยของเธอ ถ้าคงศัพท์สำคัญไว้ตามเดิมจะแปลว่า

“กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จะถูกต้องอัตตาได้อย่างไร? “

ท่อนแรกเธอพูดตามความรู้เกี่ยวกับตัวสภาวะ ท่อนหลังเธอพูดตามสมมติที่เธอยึดถืออยู่เอง จึงขัดกันเป็นธรรมดา เท่าที่กล่าวมาเป็นอันสรุปได้ว่า

4.1 หลักอนัตตากับกรรมไม่ขัดกันเลย ตรงข้ามอนัตตากลับสนับสนุนกรรม เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา กรรมจึงมีได้ กรรมจึงเป็นไปได้ เมื่อกระบวนธรรมดำเนินไป องค์ประกอบทุกอย่างต้องเกิดดับเข้าสัมพันธ์กันเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไป

กระแสสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยจึงจะดำเนินไปได้ ไม่ใช่มีอะไรมาเป็นตัวเที่ยงคงที่ ลอยทื่อกั้นขวางอยู่กลางกระแส จะไปไหนก็ไม่ไป เพราะอัตตาไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรเข้าถึงเนื้อตัวมัน อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีผลให้เนื้อตัวอัตตาเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็จะต้องแยกคนออกเป็นสองชั้นอย่างลัทธิสัสสตทิฏฐิบางพวก ที่ว่าคนทำกรรมรับผลกรรมกันไป อยู่แค่ชั้นนอก ส่วนแก่นแท้หรืออัตตาอยู่ภายในเที่ยงคงที่ ถึงอะไรจะเป็นไปอย่างไร อัตตาก็คงเดิม ไม่ถูกกระทบกระเทือน

4.2 ที่เราทำกรรมและรับผลกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ทำและรับผลกรรมกันอยู่โดยไม่ต้องมีตัวผู้ทำกรรม และไม่มีคนรับกรรมอยู่แล้ว ในสิ่งทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่และดำเนินไปเป็นกระบวนธรรมนั้น ต้องพิจารณาในแง่ที่ว่า มีอะไรบ้างเข้าไปเป็นปัจจัย อะไรไปสัมพันธ์กับอะไร แล้วมีผลอะไรเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น ทำให้กระบวนธรรมผันแปรเป็นไปอย่างไร ๆ เมื่อมีเหตุที่เรียกว่าการกระทำเกิดขึ้นเป็นปัจจัยแล้ว ก็ย่อมมีผลที่เรียกว่าวิบากเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้นเอง เรียกว่า มีการกระทำ และมีผลการกระทำเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีเจ้าของกรรม ที่มาเป็นผู้ทำกรรมและเป็นผู้รับผลกรรมนั้นอีกชั้นหนึ่ง กรรมคือความเป็นไปตามเหตุและผลในกระบวนธรรมนั้น อันต่างหากจากสมมติที่เราเอาไปสวมใส่ครอบให้มัน เมื่อตกลงจะสมมติเรียกกระบวนธรรมที่ดำเนินอยู่นั้นว่า เป็น นาย ก. นาย ข. ก็ย่อมมี นาย ก. นาย ข. ที่เป็นเจ้าของกรรม เป็นผู้ทำกรรม และรับผลกรรม แต่กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะ ก็ดำเนินไปตามปกติของมัน เป็นเหตุเป็นผลพร้อมอยู่ในตัวโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัย นาย ก. นาย ข. จึงจะมีเหตุมีผลเกิดขึ้น เมื่อจะพูดในแง่กระบวนธรรม ว่าดำเนินไปอย่างไร ด้วยเหตุปัจจัยอะไร เป็นผลอย่างไร ก็พูดไป หรือจะพูดในแง่ นาย ก. นาย ข . ว่าทำกรรมนั้นแล้ว รับผลกรรมอย่างนี้ก็พูดไป เมื่อพูดในแง่สมมติ ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สมมติ เมื่อพูดในแง่สภาวะหรือปรมัตถ์ ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สภาวะ เมื่อรู้เท่าทันความเป็นจริง และความมุ่งหมายในการพูดแบบนั้น ๆ ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่น ไม่เอามาปะปนกัน ก็เป็นอันใช้ได้

(คัมภีร์วิสุทธิมัคค์กล่าวความไว้น่าฟังว่า “ผู้ทำกรรมไม่มี ผู้เสวยผลก็ไม่มี มีแต่ธรรมล้วน ๆ เป็นไป ความเห็นอย่างนี้ จึงเป็นสัมมาทัศนะ” (วิสุทธิ.3/226) )

4.3 ไม่ต้องพูดถึงมนุษย์ซึ่งเป็นประชุมแห่งเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก เพราะมีองค์ประกอบฝ่ายจิตใจร่วมอยู่ด้วย แม้แต่พวกรูปธรรมที่มีองค์ประกอบฝ่ายวัตถุอย่างเดียว เช่นอย่างเรื่องแม่น้ำท่าวังที่กล่าวข้างต้น คนจำนวนมาก็ยังติดในสมมติ ยึดมั่นเอาเป็นตัวเป็นตนจริงจังไปได้; สำหรับองค์ประกอบฝ่ายจิตใจนั้น ละเอียดลึกซึ้งมาก แม้แต่ความเป็นอนิจจัง บางคนก็มองไม่เห็น

เช่น เคยมีบางคนกล่าวแย้งว่า “ใครว่าสัญญาไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่คงที่ , สัญญาต้องนับว่าเป็นของเที่ยง เพราะมันเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ก็เป็นสัญญาทุกครั้ง คงที่ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

คำแย้งนี้บางคนอาจเห็นคล้อยไปตามได้ แต่ถ้าเปลี่ยนข้อความนี้มาใช้กับวัตถุหรือรูปธรรม อาจมองเห็นข้อถูกข้อผิดได้ง่ายและชัดเจนขึ้น คำแย้งข้างต้นนั้น เหมือนกันกับที่พูดว่า “ใครว่าร่างกายไม่เที่ยง , ร่างกายเป็นของเที่ยงแท้ คงที่ เพราะร่างกายเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร ก็เป็นร่างกายอยู่นั่นเอง ไม่เปลี่ยนแปลง”

ข้อความสุดท้ายนี้มองเห็นแง่ผิดง่ายกว่า แต่ความจริง ก็ผิดด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เป็นความสับสนระหว่างสัญญากับบัญญัติว่าสัญญา และร่างกายกับบัญญัติว่าร่างกาย จะอธิบายว่าสัญญาและร่างกายเป็นของเที่ยง คงที่ แต่เหตุผลที่แสดงกลายเป็นพูดว่า บัญญัติว่าสัญญา และบัญญัติว่าร่างกาย เที่ยงแท้คงที่



4.4 การศึกษาหลักกรรม โดยจับเอาที่สมมติ จะทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลในช่วงกว้างเกินไป เช่น จับเอาว่า นาย ก. ทำกรรมชื่อนี้ในวันนี้ ต่อมาอีกสิบปี เขาได้รับผลกรรมชั่วนั้น ความเป็นเหตุเป็นผลที่อธิบายมักจะเป็นแบบก้าวเดียว ข้ามเวลา 10 ปี ดังนั้น จึงยากที่จะให้มองเห็นความสัมพันธ์ในทางเหตุผลได้ละเอียดชัดเจน เพราะไม่มองเห็นกระแสเหตุปัจจัยที่เป็นไปต่อเนื่องโดยตลอด; การศึกษากระบวนธรรมตามสภาวะ จึงจะช่วยให้มองเห็นกระแสความสัมพันธ์นั้นได้ละเอียดตลอดสายว่า ความหมายของการได้รับผลนั้นที่แท้จริงคืออะไร และเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร

(คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม รุ่นอรรถกถา ฎีกา ชี้แจงว่า บัญญัติ (concept; name; designation) เป็นกาลวินิมุต (พ้นจากกาล, ไม่ขึ้นกับกาลเวลา) เพราะไม่มีความพินาศ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีจริง; กาลก็เป็นบัญญัติ ซึ่งมีขึ้นด้วยอาศัยปรากฏการณ์ (สงฺคณี อ.129; สงฺคห.ฎีกา 124) )



นาย ก. มีเรื่องวิวาทกับเพื่อนบ้าน และได้ทำร้ายเพื่อนบ้านนั้นจนถึงแก่ความตาย นาย ก.หวาดกลัวต่อการจับกุมของเจ้าหน้าที่ และการแก้แค้นของญาติพวกพ้องของผู้ตาย เที่ยวหลบซ่อนเขาอยู่ ต่อมาเขาถูกจับได้และถูกลงโทษ แม้ภายหลังพ้นโทษออกมาแล้ว นาย ก. ก็ยังมีความเดือดร้อนใจในการก่อกรรมชั่ว ถูกสภาพของคนตายหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ หาความสุขความเย็นใจไม่ได้เลย หน้าตาท่าทางของเขาเปลี่ยนไป กลายเป็นหม่นหมองร้อนรนหวาดระแวงและอมทุกข์ ภาวะจิตใจเช่นนี้ ประกอบกับปัจจัยอย่างอื่น เช่น ความมีร่างกายแข็งแรง ได้มีผลสืบเนื่องต่อมา โดยทำให้เขากลายเป็นคนฉุนเฉียว โมโหร้าย รุนแรง และเมื่อเวลายาวนานผ่านไป บุคลิกภาพของเขาก็เปลี่ยนไปเป็นคนมีลักษณะหยาบคาย เหี้ยมเกรียม ชอบกลบเกลื่อนความทุกข์ด้วยการแสดงอำนาจ ทั้งเป็นภัยต่อสังคม และตัวเขาเองก็หาความสุขทางสังคมที่แท้จริงไม่ได้

เรื่องที่เล่ามานี้ ถ้าจะพูดให้สั้นก็ว่า นาย ก. ทำกรรมชั่วและได้รับผลของกรรมชั่วนั้น การพูดอย่างนี้เป็นไปตามภาษาสามัญ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เรียกว่าพูดตามสมมติ เป็นวิธีการสื่อสารในระหว่างมนุษย์ ช่วยให้เกิดความสะดวกในการที่จะทำความเข้าใจต่อกัน แต่เป็นการพูดถึงเพียงภาพที่ปรากฏออกมาภายนอก หรือผลรวมหยาบ ๆ ของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องซับซ้อนอยู่ภายใน ไม่เข้าถึงเนื้อหาภายในที่สัมพันธ์สืบทอดกันตามสภาวะของธรรมชาติ

แต่ถ้าพูดโดยปรมัตถ์หรือตามสภาวะของธรรมชาติเองแท้ ๆ ก็จะพูดได้ถึงเนื้อในของความเป็นไปทั้งหมดที่เรียกว่า กระบวนธรรม เช่นบอกว่า ในกระบวนธรรมแห่งขันธ์ 5 ชุดนี้ จิตประกอบด้วยความโกรธเกิดขึ้น มีการปรุงแต่งตามความโกรธนั้น จนแสดงออกเป็นการกระทำ มีกรรมเกิดขึ้น จิตที่มีการปรุงแต่งอย่างนั้นเริ่มแปรคุณภาพไป มีคุณสมบัติร้าย ๆ เช่น ความระแวงหวาดกลัวและความคิดร้ายเกิดมากขึ้น จิตปรุงแต่งอย่างนั้นบ่อย ๆ เกิดการสั่งสมคุณสมบัติร้าย ๆ จนเป็นลักษณะประจำ และคุณสมบัติร้าย ๆ นั้น ๆ ก็เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้น การกระทบทางกายจากภายนอกเกิดขึ้น ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ๆ การพูดตามสภาวะอย่างนี้ มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่ต้องเอ่ยอ้างถึง นาย ก. หรือตัวตนใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อ ตัวกระบวนการจึงมีแต่เพียงองค์ธรรมต่าง ๆ ทีเกิดขึ้น และสัมพันธ์เป็นปัจจัยสืบทอดกันมา มีการกระทำและมีผลของการกระทำ โดยไม่ต้องมีผู้ทำและผู้รับผลของการกระทำ ไม่ว่าจะพูดตามสภาวะอย่างนี้ หรือพูดตามสมมติอย่างข้างต้น เนื้อหาของสภาพที่เป็นจริงก็มีเท่ากัน ไม่ขาดไม่เกินกว่ากัน เพียงแต่ว่า การพูดตามสภาวะเป็นการพูดถึงแต่ตัวความจริงล้วน ๆ โดยไม่พอกเพิ่มถ้อยคำหรือภาพสมมติซ้อนขึ้นมาบนตัวความจริงนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะอธิบายถึงเพียงนี้แล้ว บางคนก็ยังไม่อาจเข้าใจ จึงคงจะต้องเล่าเป็นนิทานว่า

ทิดผ่องไปคุยธรรมะกับท่านพระครูที่วัด ตอนหนึ่งทิดผ่องถามว่า

“เอ ! หลวงพ่อครับ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่เป็นของใคร ๆ ไม่มีตัวผู้ทำกรรม ไม่มีตัวผู้รับผลของกรรม ถ้าอย่างนั้นผมจะไปฆ่าใครตีหัวใคร หรือทำอะไร ๆ ใครก็ได้สิครับ เพราะไม่มีใครทำกรรม แล้วผมก็ไม่ต้องได้รับผลกรรม”

พอทิดผ่องพูดขาดคำ ไม้เท้าในมือของท่านพระครูซึ่งท่านฉวยขึ้นมาจากข้างที่นั่งเมื่อไรทิดผ่องไม่ทันสังเกตเห็นก็ฟาดลงมาอย่างรวดเร็ว จนเขายกแขนขึ้นรับแทบไม่ทัน ปลายไม้เท้าถูกกลางต้นแขนพอหนุ่ย ๆ แดง ๆ ทิดผ่องคลำแขนป้อย ๆ

“หลวงพ่อ! ทำไมทำกับผมอย่างนี้ล่ะ ?” ทิดผ่องพูดเสียงกร้าว แสดงอาการว่ากำลังข่มความโกรธ

“อ้าว! เป็นไงล่ะ ?” ท่านพระครูถามลอย ๆ

“ก็หลวงพ่อตีผม ผมเจ็บนี่” ทิดผ่องตอบเสียงเครียด หน้านิ่ว

“กรรมมีอยู่ ผู้ทำกรรมไม่มี ผลกรรมมีอยู่ ผู้รับผลของกรรมไม่มี เวทนามีอยู่ ผู้เสวยเวทนาไม่มี ความเจ็บมีอยู่ ผู้เจ็บไม่มี” ท่านพระครูพูดเปรย ๆ ปรับเสียงช้า ๆ อย่างทำนองเทศน์ และว่าต่อไปอีก

“ผู้ใดแสวงหาประโยชน์ในทางเห็นแก่ตัวจากอนัตตา ผู้นั้นไม่พ้นจากอัตตา; ผู้ใดยึดมั่นอนัตตา ผู้นั้นแลคือผู้ยึดมั่นอัตตา เขาหารู้จักอนัตตาไม่; ผู้ใดยึดถือว่าผู้ทำกรรมไม่มี ผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากความยึดม่นว่าผู้เจ็บมี เขาหารู้แจ้งไม่ว่า ผู้ทำกรรมก็ไม่มี และผู้เจ็บก็ไม่มี”.

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้ารักจะพูดว่าไม่มีผู้ทำกรรม ก็ต้องเลิกพูดด้วยว่าผมเจ็บ.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


กล่าวโดยสรุป คุณค่าที่ต้องการในทางจริยธรรมของหลักกรรมมีดังนี้ :-

1) ให้เป็นผู้หนักแน่นในเหตุผล รู้จักมองเห็นการกระทำและผลของการกระทำ ตามแนวทางของเหตุปัจจัย ไม่เชื่อสิ่งงมงาย ตื่นข่าว เช่น เรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

2) ให้เห็นว่า ผลสำเร็จที่ตนต้องการ จุดหมายที่ปรารถนาจะเข้าถึง จะสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ

2.1 จึงต้องพึ่งตน และทำความเพียรพยายาม

2.2 ไม่รอคอยโชคชะตา หรือหวังผลด้วยการอ้อนวอนเซ่นสรวงต่อปัจจัยภายนอก

3) ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ที่จะงดเว้นจากกรรมชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่น ด้วยการกระทำความดีต่อเขา

4) ให้ถือว่าบุคคลมีสิทธิโดยธรรมชาติ ที่จะทำการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุง สร้างเสริมตนเองให้ดีขึ้นไป โดยเท่าเทียมกัน สามารถทำตนให้เลวลง หรือให้ดีขึ้น ให้ประเสริฐจนถึงยิ่งกว่าเทวดาและพรหมได้ทุก ๆ คน

5) ให้ถือว่า คุณธรรม ความสามารถ ความประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องวัดความทรามหรือประเสริฐของมนุษย์ ไม่ให้มีการแบ่งแยกโดยชาติชั้นวรรณะ

6) ในแง่กรรมเก่า ให้ถือเป็นบทเรียน และรู้จักพิจารณาเข้าใจตนเองตามเหตุผล ไม่คอยเพ่งโทษแต่ผู้อื่น มองเห็นพื้นฐานของตนเองที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุง และวางแผนสร้างเสริมความเจริญก้าวห้นาต่อไปได้ถูกต้อง

คุณค่าเหล่านี้ พึงพิจารณาตามพุทธพจน์ดังต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงทำกรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”

(องฺ.ฉกฺก.22/334/463)

“สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีต”

(ม.อุ.14/579/376)

“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำดี ย่อมได้ดี ผู้ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว”

(สํ.ส.15/903/333)

“บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ย่อมเสพผลของกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแล ทำไว้เป็นดี”

(ขุ.ธ.25/15/23)

“คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมทำกับตนเองเหมือนเป็นศัตรู ย่อมทำกรรมชั่วอันให้ผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมได้แล้ว ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย”

“บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลังเสวยผลแห่งกรรมใด ด้วยหัวใจแช่มชื่นเบิกบาน กรรมนั้นทำไว้เป็นดี บุคคลรู้กรรมใดว่า เป็นประโยชน์แก่ตนควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว”

(สํ.ส.15/281/81)

“คนพาลมีกรรมดำ ถึงจะแล่นไปยัง (แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ คือ) แม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไมได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย (แต่) ผัคคุณฤกษ์ (ฤกษ์ดีเยี่ยม) ย่อมสำเร็จทุกเมื่อ แก่บุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานสะอาด ย่อมสำเร็จผลทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบตนในคำสอนของเรานี้เถิด จงสร้างความเกษมแก่สัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำอทินนาทาน เป็นผู้มีศรัทธา หาความตะหนี่มิได้ไซร้ ท่าจะต้องไปท่านำคยาทำไม แม่น้ำดื่มของท่านก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว”

(ม.มู.12/98/70)

“ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ (ชำระบาป) กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน ... ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพาเอาบาปที่ทานทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็คงพาเอาบุญของท่านไปได้ด้วย”

(ขุ.เถรี.26/466/473)

“ความสะอาดจะมีเพราะน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์”

(ขุ.อ.25/46/81)

“ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพอันเป็นดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก”

(ขุ.ชา.27/87/28)

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้”

(ขุ.ชา.27/49/16)

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้น ได้ชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดีและเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งกายกรรมของเขา ก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรม ก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรม ก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขา ก็เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทำกรรมทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้วเขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค”

(องฺ.ติก.20/595/379)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


“คนพาลมีกรรมดำ ถึงจะแล่นไปยัง (แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ คือ) แม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไมได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย (แต่) ผัคคุณฤกษ์ (ฤกษ์ดีเยี่ยม) ย่อมสำเร็จทุกเมื่อ แก่บุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานสะอาด ย่อมสำเร็จผลทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบตนในคำสอนของเรานี้เถิด จงสร้างความเกษมแก่สัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำอทินนาทาน เป็นผู้มีศรัทธา หาความตะหนี่มิได้ไซร้ ท่าจะต้องไปท่านำคยาทำไม แม่น้ำดื่มของท่านก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว”

(ม.มู.12/98/70)

“ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ (ชำระบาป) กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน... ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพาเอาบาปที่ทานทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็คงพาเอาบุญของท่านไปได้ด้วย”

(ขุ.เถรี.26/466/473)

“ความสะอาดจะมีเพราะน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์”

(ขุ.อ.25/46/81)

“ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพอันเป็นดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก”

(ขุ.ชา.27/87/28)

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้”

(ขุ.ชา.27/49/16)

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้น ได้ชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดีและเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งกายกรรมของเขา ก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรม ก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรม ก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขา ก็เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทำกรรมทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้วเขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค”

(องฺ.ติก.20/595/379)

“ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์
ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์
ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่าง ๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์
ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า มิใช่พราหมณ์
ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนรับใช้ มิใช่พราหมณ์
ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่พราหมณ์

ฯลฯ

ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา มิใช่พราหมณ์”

“เรามิได้เรียกคนเป็นพราหมณ์ตามที่เกิดมากท้องมารดา ผู้นั้นยังมีกิเลส เป็นแต่สักว่าโภวาที (ธรรมเนียมพราหมณ์เรียกทักทายคนอื่นว่า “โภ”) เท่านั้น เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดมั่นต่างหาก ว่าเป็นพราหมณ์”

“อัน นามและโคตร ที่กำหนดตั้งกันไว้นี้ เป็นแต่สักว่าโวหารในโลก เพราะเกิดมีขึ้นมาตามคำเรียกขานที่กำหนดตั้งกันไว้ในคราวนั้น ๆ ตามทิฏฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัยสิ้นกาลนานของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ก็พร่ำกล่าวว่าคนเป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่บุคคลจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) ก็หาไม่ จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมไมใช่พราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม (การงานอาชีพทำ (กรรม แปลว่า การกระทำ แต่บางแห่งมีความหมายแคบลง หมายถึง การงานที่อาศัยเลี้ยงชีพ) เป็นศิลปินก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นคนรับใช้ก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลาย ผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกยึดกันไว้ด้วยกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น”

(ม.ม.13/707/644; ขุ.สุ.25/382/453)

“ดูกรพราหมณ์ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าต่ำทราม เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าต่ำทราม เพราะความเป็นผู้มีวรรณะโตก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้มีโภคะมากมายก็หามิได้ เราจะเรียกคนว่าต่ำทราม เพราะความเป็นผู้มีโภคะมากก็หามิได้ แท้จริง บุคคลบางคน แม้เกิดในตระกูลสูง ก็ยังเป็นผู้ชอบเข่นฆ่า ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดคำเพ้อเจ้อ เป็นคนละโมบ คิดเบียดเบียนเป็นมิจฉาทิฏฐิ”

(ม.ม.13/664/612)

“บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม (การกระทำ ความประพฤติ)”

(ขุ.สุ.25/306/352)

“วรรณะ 4 เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคนประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น

(องฺ.อฏฺฐก.23/109/205)

“บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้นั้นแลเรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าวรรณะทั้งหมดนั้น”

(ที.ปา.11/71/107)

“การเพียรพยายามเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง”

(ขุ.ธ.25/30/51)

“ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ด้วยตนที่ฝึกไว้ดีแล้วนั้นแหละ บุคคล (ชื่อว่า) ได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก”

(ขุ.ธ.25/22/36)

“ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะของตนคนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้”

(ขุ.ธ.25/22/37)

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตนเป็นที่พี่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

(ที.ม.10/94/119; ที.ปา.11/49/84; สํ.ข.17/87/53)

“หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น”

(องฺ.ปญฺจก.22/57/82)

“ถ้าท่านกลัวทุกข์ ก็อย่าทำกรรมชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ถ้าท่านจักทำ หรือทำอยู่ ซึ่งกรรมชั่ว ถึงแม้จะเหาะหนีไป ก็อย่าไม่พ้นจากความทุกข์ได้เลย”

(ขุ.อุ.25/115/150)

“ธัญชาติ ทรัพย์สิน เงินทอง หรือสิ่งของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ ทาส กรรมกร คนงาน คนอาศัย จะพาเอาไปไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องถูกละทิ้งไว้ทั้งหมด”

“แต่บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่ง กรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น”

“ฉะนั้น บุคคลควรทำความดี สั่งสมสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ภายหน้า ความดีทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในปรโลก”

(สํ.ส.15/392/134)

กรรม 12 หรือ กรรมสี่ 3 หมวด ตามที่ท่านแสดงไว้ในอรรถกถาและฏีกาทั้งหลาย มีหัวข้อและความหมายโดยย่อดังนี้

หมวดที่ 1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล

1. ทิฏฐกรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือภพนี้ ได้แก่กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงแรก ในบรรดาชวนจิตทั้ง 7 แห่ง ชวนวิถีหนึ่ง ๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่หนึ่ง กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ เพราะเป็นเจตนาดวงแรก ไม่ถูกกรรมอื่นครอบงำ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น จึงมีกำลังแรง แต่ไม่ให้ผลต่อจากชาตินี้ไปอีก เพราะไม่ได้การเสพคุ้น จึงมีผลเล็กน้อย ท่านเปรียบว่าเหมือนพรานเห็นเนื้อหยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่นั่น แต่ถ้าพลาด เนื้อก็รอดไปเลย

2. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้ายในบรรดาชวนจิตทั้ง 7 แห่งชวนวิถีหนึ่ง ๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ชวนเจตนาที่ 7 กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้า ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเป็นเจตนาท้ายสุดของชวนวิถี เป็นตัวให้สำเร็จความประสงค์ และได้ความเสพคุ้นจากชวนเจตนาก่อน ๆ มาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีกำลังจำกัด เพราะเป็นขณะจิตที่กำลังสิ้นสุดชวนวิถี

3. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อ ๆ ไป ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่ทำในขณะแหงชวนจิตทั้ง 5 ในระหว่าง คือในชวนจิตที่ 2 – 6 แห่งชวนวิถีหนึ่ง ๆ พูดเป็นภาษาวิชาการว่า ได้แก่ ชวนเจตนาที่สองถึงที่หก กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือ ได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโหสิกรรม ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ ท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ตามทันเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น

4. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ได้แก่ กรรมดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป (อโหสิกรรมนี้ ความจริงเป็นคำสามัญ แปลว่า “กรรมได้มีแล้ว” แต่ท่านนำมาใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในความหมายว่า “มีแต่กรรมเท่านั้น วิบากไม่มี” ดู วิสุทธิ.3/223 ย่อจาก ขุ.ปฏิ.31/523/414 มิใช่แปลว่าเลิกให้ผล หรือให้ผลเสร็จแล้ว อย่างที่แปลแบบให้เข้าใจกันง่าย ๆ ตามสำนวนที่เคยชิน)

หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่

5. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะที่ปฏิสนธิและในเวลาที่ชีวิตเป็นไป (ปวัตติกาล)

6. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่ กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากเอง แต่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ซึ่งเป็นวิบากนั้นเป็นไปนาน

7. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ซึ่งให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

8. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่ กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนความสามารถของกรรมอื่นที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น

หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย จำแนกตามแง่ที่ยักเยื้องกัน คือลำดับความแรงในการให้ผล

9. ครุกรรม กรรมหนัก ได้แก่ กรรมที่ผลแรงมาก ในฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ 8 ในฝ่ายชั่วได้แก่อนันตริยกรรม มีมาตุฆาต เป็นต้น ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่น ๆ เสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่าท่วมทับน้ำน้อยไป

10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ได้แก่ กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ประพฤติมาก หรือทำบ่อย ๆ สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือเป็นคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อยทำมากเคยชิน มีกำลังกว่า ก็ให้ผลได้ก่อน เหมือนนักมวยปล้ำลงสู้กัน คนไหนแข็งแรงเก่งกว่า ก็ชนะไป กรรมนี้ ต่อเมื่อไม่มีครุกกรรม จึงจะให้ผล

11. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ได้แก่ กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย จับใจอยู่ใหม่ ๆ ถ้าไม่มีกรรม 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ (แต่คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ว่า อาสันนกรรมให้ผลก่อนอาจิณณกรรม) เปรียบเหมือนโคแออัดอยู่ในคอก พอนายโคบาลเปิดประตูออก โคใดอยู่ริมประตูคอก แม้เป็นโคแก่อ่อนแอ ก็ออกไปได้ก่อน

12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ๆ โดยตรง เป็นกรรมที่เบา เปรียบเหมือนลูกศรที่คนบ้ายิงไป ต่อเมื่อไม่มีกรรมสามข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล

คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ (สงฺคห.28 และอธิบายใน สงฺคห.ฎีกา 163-6) แสดงกรรมสี่ไว้อีกหมวดหนึ่ง รวมเป็นกรรม 16 คือ

หมวดที่ 4 ว่าโดยปากัฏฐาน จำแนกตามสถานที่คือภพเป็นที่ให้ผล

13. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล ยกเว้นอุทธัจจะ หรือจำแนกโดยนัยหนึ่งได้แก่อกุศลกรรมบถ 10 ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

14. กามาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ 7 (คือ มนุษย์ และสวรรค์6)

15. รูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน 4 หรือ 5 ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

16. อรูปาวจรกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน 4 ของผู้ยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ

คัมภีร์อภิธัมมัต ถสังคหะนั้น เรียงลำดับหมวดกรรมต่างจากนี้ คือ 1 – หมวด 2, 2 - หมวด 3, 3 - หมวด 1, 4 - หมวด 4

คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ (วิสุทธิ.3/223) เรียง 1 – หมวด 1, 2 – หมวด 3, 3 - หมวด 2

คัมภีร์มโนรถปูรณี (องฺอ.2/131-141, 146) อธิบายเรื่องกรรม 12 นี้ไว้โดยพิสดารยิ่งกว่าที่อื่น ๆ แต่ท่านเรียกการจำแนกกรรมแบบนี้ว่าเป็นสุตตันติกปริยาย คือเป็นแนวของนักพระสูตร และนับจำนวนว่าเป็นกรรม 11 โดยถือว่า อโหสิกรรม เป็นเพียงอาการที่กรรมต่าง ๆ ไม่ให้ผล เป็นเพียงคำที่ใช้อธิบายกรรมอื่น ๆ แทรกอยู่ในที่ต่าง ๆ จึงไม่นับเป็นกรรมอย่างหนึ่งต่างหาก นอกจากนั้น ท่านกล่าวว่า กรรมโดยอภิธรรมปริยาย คือแบบอภิธรรมมีจำนวน 16 ได้แก่กรรมที่จำแนกด้วยสมาบัติ 4 และวิบัติ 4 ที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการให้ผลของกรรม

นอกจากนี้ ยังมีอรรถกถาที่อธิบายกรรมชุดนี้ไว้ไม่ครบจำนวนอีก 2 – 3 แห่ง โดยเฉพาะคัมภีร์ปปัญจสูทนี อธิบายเฉพาะหมวดที่ 1 (ม.อ.3/315) และเฉพาะหมวด 2 (ม.อ.3/652)

กรรม 12 นี้เรียกได้ว่าเป็นมติของพระอรรถกถาจารย์โดยแท้ แม้ว่าจะมีบางข้อที่ได้เค้าความเดิมจากพระบาลี คือพระไตรปิฎก กรรมบางข้อที่ว่านั้นได้แก่ กรรมในหมวดแรกซึ่งจำแนกตามเวลาที่ให้ผล โดยเฉพาะ 3 ข้อแรก ซึ่งมีต้นเค้ามาจากบาลีดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมทั้งหลายเป็นไฉน? เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 อย่าง คือ ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) ในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อ ๆ ไป (อปเร วา ปริยาเย)”

(องฺ.ฉกฺก22/334/465)

“ภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลายมี 3 ประการดังนี้ สามประการ อะไรบ้าง? ได้แก่ โลภะ... โทสะ... โมหะ เป็นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรมทั้งหลาย”

“กรรมที่กระทำด้วยโลภะ มีโลภะเป็นเหตุ มีโลภะเป็นสมุทัย... กรรมที่กระทำด้วยโทสะ... กรรมที่กระทำด้วยโมหะ เกิดจากโมหะ มีโมหะเป็นเหตุ มีโมหะเป็นสมุทัย ย่อมให้ผลในที่ที่อัตตภาพของเขาบังเกิด, กรรมนั้นให้ผล ณ ที่ใด เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ณ ที่นั้น ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) หรือในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช วา) หรือในลำดับต่อ ๆ ไป (ปอเรวา ปริยาเย)”

อรรถกถาซึ่งอธิบายบาลีแห่งนี้แหละ คือแหล่งที่อธิบายเรื่องกรรม 12 อย่างพิสดารกว่าที่ใดอื่น ดังได้เคยอ้างถึงแล้วข้างต้น (องฺ.ฉกฺก22/334/465)

ในมหากัมมวิภังคสูตร (ม.อุ.14/62-5/397-8) พระพุทธเจ้าทรงจำแนกบุคคลเป็น 4 ประเภท โดยสัมพันธ์กับการให้ผลของกรรม จับความได้ดังนี้

บุคคลที่ 1 เป็นผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ 10 เมื่อแตกกายภายหลังมรณะ เข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมชั่วอันจะพึงเสวยผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือมิจฉาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, การที่เขาประกอบอกุศลกรรมบถ 10 นั้น เขาย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน (ทิฏฺเฐว ธมฺเม) หรือในที่ที่เกิด (อุปปชฺเช) หรือในลำดับต่อ ๆ ไป (อปเร วา ปริยาเย)

บุคคลที่ 2 เป็นผู้ประกอบอกุศลกรรมบถ 10 เมื่อแตกกายภายหลังมรณะ เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมดีอันจะพึงเสวยผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือสัมมาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, ส่วนการที่เขาประกอบอกุศลกรรมบถ 10 ไว้นั้น เขาก็ย่อมจะได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อ ๆ ไป

บุคคลที่ 3 เป็นผู้ประกอบกุศลกรรมบถ 10 เมื่อแตกกายภายหลังมรณะ เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมดีอันจะพึงเสวยผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อนหรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือสัมมาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, ส่วนการที่เขาประกอบกุศลกรรมบถ 10 ไว้นั้น เขาก็ย่อมจะได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อ ๆ ไป

บุคคลที่ 4 เป็นผู้ประกอบกุศลกรรมบถ 10 เมื่อแตกกายภายหลังมรณะ เข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ทั้งนี้เพราะเขาได้กระทำกรรมชั่วอันจะพึงเสวยผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลหลังต่อมา หรือไม่ก็ในเวลาจะตายเขายึดถือมิจฉาทิฏฐิเข้าไว้เต็มที่, การที่เขาประกอบกุศลกรรมบถ 10 นั้น เขาย่อมได้เสวยผลของมัน ในปัจจุบัน หรือในที่ที่เกิด หรือในลำดับต่อ ๆ ไป

อรรถกถาทีอธิบายบาลีแห่งนี้ (ม.อ.3/660) ไขความโดยใช้คำว่า ทิฏฐธรรมเวทนียะ อุปปัชชเวทนียะ และอปราปริยเวทนียะ อย่างชัดเจน นอกจากนั้นจะเห็นเค้าของอาสันนกรรม (กรรมที่ทำหรือระลึกในเวลาใกล้ตาย) อีกด้วย

คัมภีร์อปทาน ซึ่งเล่าประวัติในอดีตของพระสาวกทั้งหลาย ได้กล่าวถึงอาสันนกรรมกระจายอยู่หลายแห่ง (ขุ.อป.32/350/436; 33/11/24; 22/45; 111/163) เช่น ประวัติอดีตชาติของพระเถระท่านหนึ่งว่า เคยเป็นพรานเนื้อ วันหนึ่งเห็นพระติสสพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส ได้ถวายหญ้ากำหนึ่งเป็นที่รองนั่งแล้วมีจิตใจผ่องใส ครั้นออกจากที่นั้นไปไม่นานก็ถูกราชสีห์กัดตาย เพราะกรรมที่ทำไว้ใกล้ตาย (อาสนฺเน เม กตํ กมฺมํ) คือการที่ได้พบได้ถวายหญ้าและมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้น จึงได้เกิดในสวรรค์ จะเห็นได้ว่า ความคิดใส่ใจเกี่ยวกับกรรมใกล้ตายและการใช้คำว่า อาสันนะ ในแง่ของกรรมนี้ ได้มีอยู่แล้วในยุคของคัมภีร์อปทาน

ทิฏฐธรรมเวทนีย (กรรม) มีกล่าวถึงในบาลีอีกบางแห่ง โดยเฉพาะใน ม.อุ.14/10/10 ; องฺ.นวก.23/217/398 แต่มาคู่กับสัมปรายเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในเบื้องหน้า) ในชุดซึ่งมี 10 คำ อีก 8 คำคือ

สุขเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลเป็นสุขหรือให้ผลเป็นสุข)

ทุกขเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลเป็นทุกข์)

ปริปักกเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในอัตภาพที่พร้อมอยู่หรือถึงคราวแล้ว)

อปริปักกเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลในอัตตภาพที่ไม่ถึงคราว)

พหุเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลมาก)

อัปปเวทนีย (ซึ่งพึงเสวยผลน้อย)

เวทนีย (ซึ่งจะต้องต้องเสวยผล)

อเวทนีย (ซึ่งจะไม่ต้องเสวยผล)

คำว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรม อุปปัชชเวทนียกรรม และ อปราปริยเวทนรียกรรม มีกล่าวไว้ชัดเจน คือเป็นรูปร่างบริบูรณ์ในคัมภีร์กถาวัตถุ (อภิ.ก.37/1853/644; 1854/644) ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระรจนาขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 ราว พ.ศ.218 ส่วนอโหสิกรรมมีอยู่ชัดเจนก่อนแล้วในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ (ขุ.ปฏิ.31/523/414) ที่เคยอ้างแล้ว และอรรถกถานับว่าเป็นกรรม 12 อีกชุดหนึ่ง คือ

1. กรรมได้มีแล้ว วิบากได้มีแล้ว
2. กรรมได้มีแล้ว วิบากไม่ได้มี
3. กรรมได้มีแล้ว วิบากกำลังมีอยู่
4. กรรมได้มีแล้ว วิบากไม่มีอยู่
5. กรรมได้มีแล้ว วิบากจักมี
6. กรรมได้มีแล้ว วิบากจักไม่มี
7. กรรมได้มีแล้ว วิบากมีอยู่
8. กรรมมีอยู่ วิบากไม่มี
9. กรรมมีอยู่ วิบากจักมี
10. กรรมมีอยู่ วิบากจักไม่มี
11. กรรมจักมี วิบากจักไม่มี
12. กรรมจักมี วิบากจักไม่มี

อรรถกถาอธิบายกรรม 12 ชุดนี้ ตามแนวกรรม 12 ชุดก่อนนั่นเอง (องฺ.อ.2/144-5) สาระสำคัญของกรรมชุดนี้ คือแสดงกรรมที่มีผล และกรรมที่ไม่มีผล ซึ่งมีฝ่ายละ 6 เท่ากัน พึงสังเกตว่า อโหสิกรรมก็คือคำแปลท่อนแรกในหลายข้อว่า “กรรมได้มีแล้ว”

ส่วนกรรมอื่นนอกจากนี้ เช่น ครุกะ และอาจิณณะ เป็นต้น แต่เดิมเป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้ในความหมายสำคัญ ยังไม่มีชื่อเป็นกรรม และยังไม่จัดเป็นประเภท มาปรากฏในสมัยอรรถกถาดังกล่าวแล้วข้างต้น.

ที่มา http://books.thport.com/data/kramma/kram.htm


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2015, 19:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาบุญนะครับ :b17:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร