วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2018, 09:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.ย. 2012, 08:47
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว


สามเณรสุขะเป็นบุคคลในสมัยพุทธกาลเกิดในตระกูลคหบดีบิดาเป็นโยมอุปัฏฐากพระสารีบุตร เมื่อครั้งมารดาท่านตั้งครรภ์มีเรื่องเล่าว่านางมีอาการประหลาด อยากกินอาหารที่เหลือจากภิกษุ สามีจึงไปนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนหนึ่งให้มาฉันอาหารที่บ้าน แล้วจัดให้นางนั่งต่อจากพระรูปสุดท้ายคอยรับอาหารที่เหลือจากพระมารับประทาน

ระหว่างที่มารดาท่านตั้งครรภ์คนในตระกูลคหบดีรวมถึงบ่าวไพร่ ทุกคนต่างอยู่กันอย่างมีความสุข หาได้มีผู้ใดมีเรื่องทุกข์ใจให้ต้องขบคิด จะทำการสิ่งใดไม่ว่าจักเป็นเรื่องน้อยเรื่องใหญ่ก็ให้สะดวกราบรื่น ไร้ซึ่งอุปสรรคขัดข้อง ดังนั้นพอท่านคลอดออกมามารดาท่านจึงตั้งชื่อว่า “ สุขะ ”

เด็กชายสุขะนั้นมีความคิดแตกต่างจากเด็กทั่วไป พออายุเจ็ดขวบเขาก็อยากจักบวชเป็นพระ เสียยั้งงั้น ดังนั้นบิดาจึงไปนิมนต์พระสารีบุตรให้มาเป็นพระอุปัชฌาย์ทำการบรรพชาให้ แล้วก็มีการเฉลิมฉลองกันอย่างใหญ่โตถึง ๗ วัน ๗ คืน หลังจากบวชแล้วสามเณรสุขะก็ได้ขอ กัมมัฎฐานกับพระสารีบุตร ดังนั้นพอเสร็จพิธีเฉลิมฉลองเช้ารุ่งขึ้นท่านจึงติดตามพระสารีบุตรออกบิณฑบาตภิกขาจาร

เนื่องจากเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลคหบดี ดังนั้นตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้สุขสามเณรก็ยังไม่เคยออกจากคฤหาสน์ของผู้ที่เป็นบิดาเลย ครั้งนี้พอติดตามพระสารีบุตรได้ออกมาเห็นสภาพผู้คนภายนอกที่ประกอบอาชีพต่างกัน ท่านจึงรู้สึกตื่นตาตื่นใจ อย่างเห็นชาวนากำลังทดน้ำเข้านา เห็นช่างศรกำลังดัดแต่งลูกศร แลเห็นช่างไม้กำลังไสไม้เพื่อทำล้อเกวียน

สามเณรสุขะพอเห็นภาพเหล่านั้นท่านก็ผุดความคิดว่า “ โอ้หนอ ขนาดสิ่งไม่มีชีวิตยังสามารถดัดแต่งได้ แล้วไฉนคนเราที่มีชีวิตจิตใจจึงจักฝึกไม่ได้เล่า? ” พอคิดดังนั้นท่านก็เกิดพลุ่งพล่านใจขึ้นมา อยากจักนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมเดี๋ยวนั้นเลยถ้าเป็นไปได้ จึงกล่าวกับพระอุปัชฌาย์ว่า
“ ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอท่านโปรดจงรับเอาบาตรแลจีวรของท่านกลับคืนไปเถิด ”

พระสารีบุตรพอฟังก็ให้ประหลาดใจ จึงถามลูกศิษย์ไปว่า “ อ้าว! ทำไมรึเณร? ” เณรน้อยเห็นอาจาย์สงสัยจึงตอบว่า “ คือกระผมอยากจักกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดในเพลานี้ ขอรับ! ” ผู้เป็นอาจารย์พอฟังก็ให้แสนดีใจ รีบรับเอาบาตรจีวรของตนมาทันที พร้อมกับบอกสามเณรว่าไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารนะ เดี๋ยวตนจะบิณฑบาตมาเผื่อให้ (จริงๆแล้วอาหารที่พระสารีบุตรบิณฑบาตได้วันนั้น ทั้งหมดล้วนเกิดจากบุญเก่าของสามเณรสุขขะ ดังนั้นแต่ละอย่างแต่ละชนิดจึงเป็นอาหารที่เลิศรส ยากจักหาลิ้มลองจากที่ไหนได้) สามเณรน้อยพอได้ฟังดังนั้นจึงรีบกลับวัด เข้าห้องปิดประตู นั่งกรรมฐานในทันใด

กล่าวถึงท้าวอมรินทร์ผู้เป็นใหญ่เหนือเทพองค์ใดบนตาวติงสาภูมิ (สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) ขณะประทับอยู่บนพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ที่มีความนุ่มละมุนประดุจหงอนพญาราชหงส์ ทอง อยู่ๆพระแท่นประทับก็เกิดกระด้างขึ้นมาเสียยังงั้น ทำให้ทรงรู้สึกเป็นเรื่องผิดปกติ ดังนั้นจึงทรงกำหนดจิตดู

ทันใดก็ทราบเพลานี้สุขสามเณรผู้มากบารมีกำลังปฏิบัติพระกรรมฐานขั้นอุกฤษฎ์อยู่ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ท่านต้องถูกรบกวนจากเสียงรอบข้าง มเหสักขจอมเทพจึงทรงบัญชาให้ท้าวมหาราชทั้งสี่แยกกันไปไล่ฝูงนกฝูงกาที่กำลังส่งเสียงเจี้ยวจ้าวอยู่รอบวิหารนั้น ให้พากันไปหากินยังที่อื่นก่อน และให้เขาทั้งสี่อารักขาวิหารแต่ละด้านเอาไว้ ส่วนตัวพระองค์เองก็ทรงยืนเฝ้าอยู่ที่หน้ากุฏิ
รุ่งสางวันนั้นขณะที่สมเด็จพระศาสดากำลังทรงปฏิบัติพุทธกิจ คือทรงเล็งพระญาณสอดส่องดูว่าจักมีสัตว์ตนใดเข้าข่ายบรรลุธรรมบ้าง ทันใดก็ทรงเห็นภาพสามเณรสุขะกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ พอทรงเห็นดังนั้นก็ทรงรู้ว่าสายวันนี้หากพระองค์ไม่ทรงเข้าไปขัดขวางพระสารีบุตรแล้วไซร้ ปล่อยให้นำอาหารไปให้เณรน้อย เห็นทีสุขสามเณรที่กำลังจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คงจักพลาดโอกาสอันวิเศษนี้ไปแน่ ดังนั้นจึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีมาทรงยืนรออัครสาวกเบื้องขวาอยู่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารทันใด

ไม่นานก็ทรงเห็นพระสารีบุตรซึ่งกลับจากบิณฑบาตกำลังมุ่งมายังที่ซึ่งพระองค์ทรงยืนอยู่ ในใจพระเถระขณะนั้นกำลังคิดถึงเรื่องอาหารที่บิณฑบาตได้ในเช้านี้ ว่าไฉนญาติโยมจึงนำอาหารที่ล้วนแต่หน้าตาน่ากิน รสชาติน่าอร่อย มาใส่บาตรกันมากมายถึงปานฉะนี้? หากเณรน้อยเห็นเข้าคงจักต้องถูกใจเป็นแน่! ขณะที่กำลังคิดอะไรเพลินๆอยู่นั้นท่านก็เหลือบมาเห็นพระศาสดาเข้าพอดี ดังนั้นจึงรีบวางบาตรพร้อมกับก้มลงกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงเห็นพระสารีบุตรถวายบังคมแล้วแต่ยังนั่งอยู่กับพื้น จึงตรัสให้ลุกขึ้น แลเพื่อจักทรงถ่วงเวลาไว้จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามปัญหาสี่ข้อกับพระเถระ แต่ช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์นัก ระหว่างที่พระศาสดาทรงถามปัญหากับพระสารีบุตรนั้น เงาของต้นไม้กลับนิ่งอยู่กับที่ มิได้ผันแปรไปแต่อย่างใด ดูราวกับว่าดวงตะวันจักหยุดนิ่งอยู่กับที่เสียยังงั้น

ผ่านไปพักใหญ่เมื่อทรงทราบว่าสามเณรสุขะบรรลุอรหัตผลแล้วพระศาสดาจึงตรัสให้พระเถระนำภัตตาหารไปให้ลูกศิษย์ได้ หลังจากสุขสามเณรฉันภัตตาหารเสร็จแลล้างบาตรเป็นที่เรียบร้อย เงาพระของต้นไม้ก็ได้เลื่อนไหลไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบ่ายคล้อยแล้ว! บรรดาภิกษุเมื่อเห็นปรากฎการณ์อันผิดธรรมชาติ ต่างก็โจษจันกันให้เซ็งแซ่ ว่าเมื่อครู่ยังสายอยู่แท้ๆ ไฉนพอสามเณรสุขะฉันเสร็จก็กลายเป็นบ่ายไปเสียเล่า?

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงเห็นเหล่าภิกษุต่างพากันสงสัยจึงทรงอธิบายว่า “ ดูก่อนภิกษุ
ผู้ที่สร้างกรรมดีไว้มาก ขณะที่บำเพ็ญธรรมมักจะเป็นเช่นนี้! ” แล้วจึงตรัสถึงบุพกรรมของสามเณรสุขะแก่เหล่าภิกษุว่า

ย้อนไปเมื่อครั้งอดีตอันเนิ่นนาน สมัยนั้นยังมีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งเขาได้รับมรดกจากบิดาเป็นทรัพย์จำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงใช้ทรัพย์ไปอย่างผู้มือเติบ

วันหนึ่งบุตรเศรษฐีได้ให้บ่าวไพร่ไปนัดพ่อครัวที่มีชื่อเสียงของเมืองเพื่อว่าจ้างให้มาทำอาหารที่มีหน้าตาสวยงามรสชาติเอร็ดอร่อย และมีราคาแพงกว่าอาหารใดที่เคยมีมาในอีก ๗ วันข้างหน้า จากนั้นก็ให้ช่างมาสร้างปะรำพิธีเพื่อจักใช้สำหรับบริโภคอาหารชั้นเลิศนี้ให้ผู้คนดู แล้วก็สั่งให้บ่าวไพร่แยกกันไปประกาศให้คนทั่วเมืองรู้ว่าเขาจะนั่งบริโภคอาหารที่มีรสเลิศและราคาแพงนี้ในอีก ๗ วันข้างหน้า ใครอยากจักเห็นอาหารที่เศรษฐีบริโภคกันมีหน้าตาเยี่ยงไร? รสชาติอร่อยแค่ไหน? หรือราคาแพงปานใด? ก็ให้มาดูได้ในวันนั้น

ครั้นถึงวันงานเหล่าประชาชนต่างก็พากันมามุงดูการบริโภคอาหารของเศรษฐีผู้มั่งคั่งนี้ กันจนเนืองแน่นล้นหลาม แต่ละคนต่างก็ไม่เคยเห็นของกินจำนวนมากที่มีหน้าตาสวยงามแลมีสีสันน่ากินอย่างนี้มาก่อน จึงพากันวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา

บังเอิญวันนั้นมีหนุ่มชนบทผู้หนึ่งเขาได้นำฟืนเข้ามาขายที่ยังเมืองหลวง พอขายเสร็จก็เลยถือโอกาสไปเยี่ยมสหายเก่า เนื่องจากนานๆจักเข้าเมืองสักที พอไปถึงก็เห็นเพื่อนเก่ากำลังจักออกจากบ้านจึงถามเพื่อนไปว่าจักไปยังที่ใดรึ? หนุ่มเมืองหลวงบอกว่าวันนี้ท่านเศรษฐีจะกินอาหารที่มีราคาแพงที่สุดอวดให้ผู้คนดู ตัวเขาอยากเห็นว่าอาหารที่แพงที่สุดนั้นมันจะมีหน้าเช่นไร? จึงจะรีบออกจากบ้านไปดู หนุ่มชนบทพอฟังก็อยากจักเห็นขึ้นมาเช่นกัน ดังนั้นทั้งคู่จึงชวนกันไปดู

พอไปถึงก็เห็นบนปะรำพิธีมีถาดอาหารมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดล้วนมีหน้าตาที่น่ากิน วางเรียงรายอยู่หน้าเศรษฐี ชายตัดฟืนพอเห็นก็อยากจักลองลิ้มชิมรสชาติอาหารเหล่านั้นขึ้นมาใจแทบขาด จนมิอาจห้ามใจได้ ดังนั้นเขาจึงร้องบอกลูกเศรษฐีไปว่า “ ข้าแต่ท่านเศรษฐี ขอท่านโปรดแบ่งอาหารดีๆเหล่านี้แก่ข้าพเจ้าสักหน่อยจักได้ไหม?ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นอาหารใดจักมีหน้าตาน่ากินอย่างนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอยากจักขอลองลิ้มสักครั้งในชีวิต ไม่ทราบท่านจักเมตตาให้ข้าพเจ้าสักนิดได้หรือไม่? ”

ลูกเศรษฐีเมื่อเห็นท่าทีของชายบ้านนอกก็รู้ว่าบุรุษผู้นี้ปรารถนาจักกินอาหารเหล่านี้จริงๆ ดังนั้นจึงแกล้งตั้งเงื่อนไขว่า “ ดูก่อนบุรุษหนุ่ม จักกินนั้นไม่ยากดอก เพียงแต่ท่านต้องมาเป็นข้ารับใช้ข้าพเจ้า ๓ ปีก่อนข้าพเจ้าถึงจักยอมให้ท่านได้กินอาหารเหล่านี้หนึ่งถาด ไม่ทราบท่านพอจักทำได้ไหมเล่า? ” บุตรเศรษฐีกล่าวไปอย่างนั้นเอง ในใจเขาไม่เชื่อว่าชายเบื้องหน้าจักกล้าตกปากรับคำ

ที่ไหนได้ หนุ่มบ้านนอกกลับตอบออกมามาด้วยเสียงอันดังว่า “ สามปีจักเป็นไรเล่า ข้าพเจ้ายินดียอมเป็นข้ารับใช้ท่าน! ” บรรดาผู้คนที่อยู่รอบๆเมื่อเห็นหนุ่มชนบทกล้ายอมรับเงื่อนไขอันโหดร้ายของเศรษฐีเพื่อให้ได้กินอาหารแค่หนึ่งมื้อ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งชื่อให้เขาว่า “ภัตตภติกะมานพ” ซึ่งแปลว่า “ชายรับจ้างทำงานเพื่ออาหาร”

หลังจากยอมรับเงื่อนไข นับแต่นั้นภัตตภติกะหนุ่มก็เข้ามาเป็นข้ารับใช้ในบ้านของท่านเศรษฐี บรรดางานทั้งหลายไม่ว่าจักเป็นงานหนักงานเบา เมื่อท่านเศรษฐีเรียกใช้เขาจักกระวีกระกวาดรีบทำให้อย่างเต็มอกเต็มใจทุกครั้ง จนท่านเศรษฐีเกิดความนิยมรักใคร่ในตัวเขาเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งกาลเวลาผ่านไปครบ ๓ ปี

เมื่อถึงกำหนดลูกเศรษฐีได้จัดงานกินอวดให้กับเขาเหมือนดังที่ตนเคยทำเมื่อสามปีก่อน แต่งานครั้งนี้ปรากฏว่าประชาชนต่างให้ความสนใจล้นหลาม มากกว่างานที่เขาเคยจัดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้วเสียอีก

ค่าใช้จ่ายครั้งนี้ลูกเศรษฐีได้จ่ายทรัพย์ให้กับพ่อครัวเป็นจำนวนเงินถึงสามพันกหาปณะ โดยสองพันกหาปณะแรกสำหรับอาหารมื้อเช้าและเย็นของเขา ส่วนอีกหนึ่งพันกหาปณะสำหรับอาหารของภัตตภติกะมานพ นอกจากลูกเศรษฐีจักจัดงานให้อย่างยิ่งใหญ่แล้ว เขายังให้นายภัตตภติกะอาบน้ำชำระร่างกายด้วยของหอมสำหรับตน นุ่งห่มผ้าสาฎกเนื้อดี นั่งบนบัลลังก์ที่เขาเคยนั่ง จัดบ่าวไพร่มาคอยปรนนิบัติรับใช้ ไม่พอเท่านั้นยังมอบทรัพย์ก้อนใหญ่ให้เขาไว้ติดตัวสำหรับเป็นทุนในอนาคตด้วยต่างหาก

เช้าวันนั้น ณ เทือกเขาคันธมาทน์แดนหิมวันตประเทศ พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งท่านเพิ่งจักออกจากนิโรธสมาบัติมาใหม่ๆหลังจากเข้าสมาธิอยู่เป็นเวลาถึงเจ็ดวัน แลกำลังใคร่ครวญว่าอานิสงส์ครั้งใหญ่นี้ควรจักได้แก่ผู้ใด?

ทันใดนั้นภาพนิมิตของภัตตภติกะหนุ่มก็ได้ปรากฎขึ้นทางมโนทวารของท่าน พอเห็นดังนั้นท่านจึงกำหนดจิตพิจารณาว่าชายผู้นี้เป็นผู้ที่มีศรัทธาหรือไม่ บัดนั้นก็ทราบว่าเขาเป็นผู้มีใจศรัทธา แลอานิสงส์จากทานที่เขาถวายจักทำให้เขาได้มหาสมบัติครั้งใหญ่ ดังนั้นท่านจึงหยิบจีวรขึ้นมาห่ม เสร็จแล้วก็คว้าบาตรขึ้นมาถือ จากนั้นก็เหาะขึ้นฟ้ามุ่งหน้ามายังชมพูทวีปทันที

เมื่อมาถึงท่านได้ไปปรากฎกายอยู่ติดกับปะรำ ใกล้กับบัลลังก์ที่ภัตตภติกะกำลังนั่งเตรียมตัวรอที่จะบริโภคอาหารพอดี ชายหนุ่มครั้นเหลือบมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าโดยบังเอิญเขาก็ คำนึงอยู่ในใจว่า

“ การที่เรายอมเป็นข้ารับใช้ผู้คน ๓ ปีเพื่อให้ได้กินอาหารถาดเดียว สาเหตุก็เพราะกาลก่อนเราไม่เคยให้ทานไว้ อาหารเบื้องหน้านี้หากเราบริโภคไป อย่างมากก็ทำให้เราอยู่ได้แค่เพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราถวายอาหารถาดนี้แด่พระคุณเจ้ารูปนี้ อาหารนี้อาจจักรักษาเราไว้มิใช่เป็นพันโกฏิพันกัปดอกรึ? อย่ากระนั้นเลย จำเราจักยกอาหารถาดนี้ให้กับสมณเบื้องหน้าเถิด จึงจักเป็นการดีที่สุด! ”

เมื่อคิดดังนั้นนายภัตตภติกะก็ยกอาหารของตนถวายให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าทันที พร้อมกันนั้นก็อธิษฐานในใจว่า “ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพชาติ ขอความสุขจงมีแก่ข้าพเจ้าในที่บังเกิดนั้นๆด้วยเถิด แลขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนในธรรมที่ท่านเห็นด้วยเถิด! ”

ทานใดที่บุคคลถวายไม่เหลือไว้เพื่อตนแม้เพียงน้อยนิด ทานนั้นย่อมมีผลมากที่สุด!

หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้ารับอาหารของภัตตภติกะแล้ว ท่านได้ให้พรกับเขาว่า “ สิ่งใดที่ท่านปรารถนาขอจงสำเร็จเหมือนแก้วสารพัดนึก ขอความสุขทุกอย่างที่มีบนโลกจงบริบูรณ์แด่ท่านเหมือนดั่งพระจันทร์วันเพ็ญปานฉะนั้น! ”

พอให้พรเสร็จท่านก็อธิษฐานจิตให้มหาชนที่อยู่ ณ ที่นั้น จงเห็นภาพการเดินทางกลับเขาคันธ-มาทน์ของท่านด้วยตาทั้งสอง จากนั้นท่านก็เหาะขึ้นท้องฟ้า เหล่าประชาชนพอเห็นท่านเหาะได้ก็ให้รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างพากันจับจ้องมองดูท่านอย่างไม่กระพริบตา แต่ช่างเป็นเรื่องที่แปลกนัก ถึงแม้ว่าท่านจะเหาะไปไกลแค่ไหนพวกเขาก็ยังมองเห็นท่านชัดเจนเหมือนว่าท่านอยู่ห่างจากพวกเขาไม่มาก จนท่านเหาะไปถึงเทือกเขาคันธมาทน์แหละได้นำเอาอาหารที่ภัตตภติกะถวายนั้นไปแบ่งให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปอื่นๆซึ่งมีอยู่ถึง ๕๐๐ รูปด้วยกัน เหล่าประชาชนเมื่อเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีมากมายปานนั้น ต่างก็พากันสาธุการกันพร้อมพรั่ง จนกระหึ่มไปทั่วอาณาบริเวณแทบนั้น

ฝ่ายลูกเศรษฐีที่นั่งบริโภคอาหารอยู่ในคฤหาสน์อย่างมีความสุข จู่ๆได้ยินเสียงกัมปนาทกึกก้อง ของเหล่ามหาชนก็ถึงกับสะดุ้งตกใจ คิดว่าบรรดาผู้คนที่มาดูการกินอาหารของภัตตภติกะหนุ่มต่างพากันหัวเราะเยาะเขา จึงสั่งให้บ่าวไพร่ไปออกไปดู

ครั้นพอคนรับใช้กลับมารายงานเรื่องราวให้ทราบ เขาก็ถึงกับรำพึงขึ้นในใจว่า “ น่าอัศจรรย์นัก! ภัตตภติกะผู้นี้สามารถทำสิ่งที่บุคคลยากจักทำได้ ให้สามารถเกิดเป็นจริงได้ ตัวเราแม้จักมีสมบัติมากมายถึงปานนี้ แต่ก็ยังมิอาจทำได้เหมือนเขา! อย่ากระนั้นเลย จำเราจักไปขอให้เขาอนุญาตเรา ให้มีส่วนในบุญครั้งนี้ด้วยเถิด ท่าจักดี! ” พอคิดดังนั้นลูกเศรษฐีก็สั่งบ่าวไพร่ให้ไปตามตัวภัตตภติกะมาพบ

เมื่อภัตตภติกะมาถึงเขาได้ถามชายหนุ่มว่า “ ดูก่อนภัตตภติกะ ข้าพเจ้าทราบว่าท่านได้ถวายอาหารอันเลิศรสแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าจนหมดสิ้น เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่? ” ภัตตภติกะมานพพอฟังจึงตอบว่า “ จริงขอรับ! ” ลูกเศรษฐีพอได้รับคำยืนยันจึงรีบถามเขาไปอีก

“ ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ หากข้าพเจ้าจักขอแบ่งบุญจากท่านครึ่งหนึ่ง ท่านจักยินดีหรือไม่? ” ภัตตภติกะหนุ่มเมื่อฟังจึงตอบลูกเศรษฐีว่า“ ข้าแต่นายท่าน อันว่าบุญนั้นยิ่งแบ่งออกไปเท่าไหร่ มันก็มีแต่จักยิ่งเพิ่มขึ้นไปเท่านั้นหาได้ลดน้อยถอยลงไปไม่ ข้าพเจ้ายินดีแบ่งบุญให้กับนายท่านครึ่งหนึ่ง ขอรับ ” คำตอบของเขาทำให้ลูกเศรษฐีถึงกับปลาบปลื้มใจจนยากจักกล่าวได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการทดแทนคุณ ลูกเศรษฐีจึงยกสมบัติของตนครึ่งหนึ่งให้กับภัตตภติกะมานพบ้างเป็นการตอบแทน

ต่อมาภายหลังเมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องการถวายทานของภัตตภติกะ และเรื่องการยกสมบัติครึ่งหนึ่งของลูกเศรษฐีให้เขา พระองค์จึงทรงพระราชทานทรัพย์แก่ภัตตภติกะมานพเช่นกัน นอกจากนั้นยังทรงพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้เขา โดยตั้งชื่อให้เขาว่า “ภัตตภติกเศรษฐี ”

ภัตตภติกเศรษฐีได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเรื่อยมาตราบจนถึงกาลหมดสิ้นแห่งอายุขัย แหละพอตายจากมนุษย์ด้วยอานิสงส์ที่เขาได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า บุญกุศลนี้จึงนำให้เขาไปเกิดยังเทวโลก เสวยสุขจากทิพสมบัติบนเทวโลกต่ออีกเป็นเวลาถึง ๑ พุทธันดร จนพุทธุปบาทกาลนี้แลเขาจึงมาปฏิสนธิในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรนามว่า “ สุขะ ” ซึ่งก็คือสุขสามเณรนั่นเอง.

สืบ ธรรมไทย

(ที่มา:อรรถกถา ขุททกนิกาย)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร