วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 110 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 14:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• จึงกราบลา อาจารย์…. ผ่านมคธ
ชนบท สดใส…. ได้ความหวาน
มีท่าน้ำ ร่มรื่นย์…. ให้ชื่นนาน
พร้อมหมู่บ้าน ย่านเคียง…. อยู่เรียงกัน

• "อุรุเวลา เสนา.... นิคม"
ต้นไม้ห่ม ร่มเรียบ…. เงียบสุขสันต์
คือที่หมาย ไช้ประทับ…. รับตะวัน
รอวสันต์ ผันผ่าน…. สราญใจ

• "ปัญจวัคคีย์" มีนาม…. "โกณทัญญะ"
"พระวัปปะ" "ภัททิยะ"…. ธ สดใส
"มหานามะ" "อัสสชิ"…. ต่างคลาไคล
ครานเข้าใกล้ น้อมกราบ…. ทาบบาทา

• เฝ้าดูแล วัตรถาก…. ฝากความหวัง
ธ ถึงฝั่ง สั่งสอน…. ป้อนภาษา
แม้พุทธท่าน เข้าฌาณ…. ผ่านเวลา
เวทนา กล้าเกิด…. ประเสริฐใจ

• "ทุกกร กิริยา"…. กว่าสิบหน
ทรงกัดทนต์ ด้วยทนต์…. จนเหงื่อไหล
เวทนา กล้าแกร่ง…. ทุกแห่งไป
ธ ข่มไว้ ด้วยจิต…. พิจารณา

• ครั้นไม่เห็น เช่นความ…. ตามฝันถึง
ทรงละพึ่ง หนึ่งทาง…. ย่างเข้าหา
“อัสสาสะ ปัสสาสะ”…. ลดลงมา
จนกายา ท่านร้อน…. ราวนอนไฟ

• พระเศียรหมุน งุนงง…. ตรงกระหม่อม
พระทัยน้อม ยอมทน…. จนหวั่นไหว
เอทางนี้ มิมี…. ที่จะไป
ทรงคิดใหม่ ได้ยาก…. ลำบากนาน

• ทรงทอดทอน ถอนอาหาร…. ให้ผ่านน้อย
กายาพลอย ถอยโทรม…. มิสุขศานต์
พระฉวี เหี่ยวแห้ง…. แร้งน้ำนาน
โลมาท่าน พานหลุด…. ถึงทรุดองค์

ส่วนบรรพชิตทั้ง ๕ อันมีนามว่า ปัญจวัคคีย์ คือ พระโกณทัญญะ
พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พากันเที่ยวติด
ตามหา พระพุทธองค์ ในที่ต่าง ๆ จนพบยังตำบลอุรุเวลา เสนา
นิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง จัดทำธุระกิจ
ถวายทุกประการ โดยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดง
ธรรมโปรดตนบ้าง

พระพุทธองค์ เริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็น
ทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็น
กิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้

วาระแรก ทรงกดพระทนต์ (ฟัน) ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ
(เพดานปาก)ุ ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ไว้ให้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหล
จากพระกัจฉะ (รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า พระ
องค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้น
ทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธี

วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ (ลมหายใจเข้า
ออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก (จมูก) และ
ช่องพระโอฐ (ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ (หู) ทั้งสอง
ให้ปวดพระเศียร (หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกข
เวทนากล้าถึงเพียงนี้ มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน เพียรไม่ย่อหย่อน
ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ก็ทรงเปลี่ยนวิธี

วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อยๆ บ้าง เสวย
อาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิว) เศร้าหมอง
พระอัฏฐิ (กระดูก) ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระ
โลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จ
ไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิว
ที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ (สลบ)


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

• สิบสี่ค่ำ เดือนหก.… เกือบศกหนึ่ง
พระคนึง ถึงนิมิต.… ลิขิตใส
ทรงนอนบน พสุธา…. กว้างกว่าใคร
หิมาลัย คือเขนย.… ที่เกยนอน

• สองหัตถ์อ้า แผ่ข้าม.… น้ำนที
พระบาทศรี สู่สมุทร.… สุดแรงถอน
นิมิตสอง นาภี.… มีหญ้าชอน
สูงเทียมขอน เมฆา.… บนฟ้าไกล

• นิมิตสาม ตามขา.… มีหนอนขาว
ชานุพราว วาวแวม.… แซมหลงไหล
นิมิตสี่ สกุณี.… สีอำไพ
บินมาใกล้ กลับกลาย.… คลายสีลง

• นิมิตห้า ฝ่าตาม…. ข้ามกองคูถ
สิ่งเน่าบูด รูดผ่าน.… ปานผุยผง
สิ่งเหล่านี้ คือนิมิต.… ติดตามองค์
สิ่งประสงค์ ตรัสรู้.… ดูแน่นอน

• พระโอวาท ประกาศไว้.… ไกลหลายถิ่น
คนยลยิน สิ้นแหนง.… แคลงคำสอน
จะยอมรับ จับจด.… ทุกบทตอน
ลือกระฉ่อน ค่อนโลกา.… จะมาเรียน

• ใครปฏิบัติ จัดจิต.… คิดสดใส
จะก้าวไกล ในจิตตน.… พ้นอ่านเขียน
ลาภสักการะ จะไหล.… ไม่ต้องเพียร
เหมือนแสงเทียน ส่องหล้า.… ห้าพันปี


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา
ก็เริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา
คืนก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงพระสุบินนิมิต ๕ ประการ เรียกว่า “ปัญจมหาสุบินนิมิต” มีความว่า

๑. ทรงบรรทมหงายอยู่เหนือพื้นแผ่นดินนี้
ใช้พื้นพสุธาเป็นพระแท่นบรรทม (เตียงนอน)
เอาเทือกเขาหิมาลัยเป็นพระเขนย (หมอนหนุน)
พระหัตถ์ซ้ายพาดไปทางมหาสมุทรด้านตะวันออก
พระหัตถ์ขวาพาดไปทางมหาสมุทรด้านตะวันตก
พระบาททั้งสองพาดยาวไปทางมหาสมุทรด้านใต้

๒. มีต้นหญ้าแพรกเกิดขึ้นที่พระนาภี (สะดือ) สูงใหญ่ทะลุเมฆ

๓. มีหนอนสีขาวจำนวนมากไต่ตามพระบาทจนท่วมพระชานุ (เข่า)

๔. มีฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆ กัน คือ สีเหลือง เขียง แดง ดำ
บินมาจากทิศทั้ง ๔ มาเกาะที่พระบาท น้อมคำนับแล้วกลายเป็นสีขาวหมด

๕. ทรงดำเนินจงกรมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยกองอุจจาระ
แต่พระบาททั้งสองไม่ได้แปดเปื้อนด้วยกองคูถเลย

พระสุบินนิมิตทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นนิมิตให้รู้ว่า
พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้
และคำสอนของพระองค์จะโด่งดังทะลุฟ้า
คนทุกชาติชั้นวรรณะจะหันมานับถือพระพุทธศาสนา
ผู้ใดปฎิบัติธรรม ผู้นั้นจะมีจิตใจขาวสะอาดเหมือนกันหมด
จะมีคนมากมายเคารพนับถือและมอบลาภสักการะให้
แต่ก็มิอาจทำให้พระองค์หลงใหลมัวเมาในลาภสักการะ


***************************************

:b44: ปัญจมหาสุบินนิมิต ๕ ประการ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48479

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ครั้นรุ่งสาง สิบห้าค่ำ.… ย่ำเดือนหก
ดาวเดือนตก นกร้อง…. ก้องไพรสีห์
สุชาดา ทาสา…. จรลี
หมายบัดพลี คลี่ทำ…. คำบนบาน

• โอ้เทวา ข้าขอ.… ต่อเทพไท้
ขอข้าได้ ในสามี…. ดีสุขศานต์
มีทรัพย์สิน ยศศักดิ์.… รักเนิ่นนาน
ตราบกาลผ่าน ลูกหัวปลี…. มีผู้ชาย

• ครั้นสมคิด สมมาตร…. ปรารถนา
สุชาดา ตระเตรียม.… สิ่งเยี่ยมหลาย
“ข้าวมธุปายาส” ถาดทอง…. มองเลื่อมพราย
เตรียมถวาย หมายมอบ…. ตอบองค์ไทร

• นางมองเห็น พุทธา…. สง่าสม
เครื่องนุ่งห่ม บ่มขับ…. จับสดใส
พระฉัพพรรณ- รังสี…. ที่อำไพ
แลไสว ใต้ไทร…. ใบปกบัง

• ธ เหลี่ยวแล ชะแง้จ้อง…. มองหาบาตร
สุชาดา นงนาฎ…. วาดแผนผัง
ไม่เห็นบาตร คาดได้…. ใจพุทธัง
จึงน้อมนั่ง ส่งให้…. ใช้ถาดทอง

• สี่สิบเก้า ข้าวปั้น…. ทรงฉันหมด
เหมือนโอสถ อิ่มอยู่…. มิกู่ร้อง
ทรงดำเนิน เดินลง…. ทึ่ริมคลอง
พร้อมประคอง ถาดไว้…. ใช้เสี่ยงทาย


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นางสุชาดา เป็นธิดาของเสนียกุฏมพี ในหมู่บ้าน
เสนานิคม แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธี
บวงสวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดย
ได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ 2 ประการ คือ

“ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพย์สมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน
ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย”

ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้ง 2 ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะ
ทำพลีกรรม แก่ท่านด้วยของอันมีค่า 100,000 กหาปณะ
ครั้นกาลต่อมา ความปรารถาของนางสำเร็จทั้งสองประการ จึงปรารภที่จะทำ
พลีกรรมบวงสรวง สังเวยเทพยดา ด้วยข้าวมธุปยาส เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้
นางทาสีสาวใช้ไปปัดกวาดทำความสะอาด บริเวณโคนต้นไทรนั้น

ขณะนั้น พระสิทธัตถะ หลังจากเลิกการทรมานร่างกายหันมา เสวยพระ
กระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ต้นไทรนั้น
มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสี
สาวใช้เห็นแล้วก็แน่ในจิตคิดว่า คงเป็นเทพยดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่อง
พลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา

นางสุชาดาจึงรีบ ยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วย
บริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดี
สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา มานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวาย
พร้อมทั้งถาดทองคำ

พระองค์ทรงแสดงให้นางสุชาดาทราบว่า ไม่มีอะไรจะรับข้าวมธุปายาส
ด้วยบาตรที่ ฆฏิการพรหม ได้ถวายไว้ ณ วันที่ออกผนวชหายไป นางสุชาดา
จึงถวายข้าวพร้อมถาดทอง พระองค์ได้นำข้าวมธุปายาสมาแบ่งเป็น ๔๙ ก้อน
แล้วฉันจนหมด ปฐมสมโพธิว่า 'เป็นอาหารที่คุ้มไปได้ ๗ วัน ๗ หน'

วิธีเตรียมทำข้าวมธุปายาสของนางมีดังนี้ นางให้เลี้ยงแม่วัวนมไว้ในป่าชะเอม ๑,๐๐๐ ตัว แล้วให้แม่วัวนม ๕๐๐ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๒๕๐ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๕๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๒๕ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๒๕๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๖๓ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๒๕ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๓๒ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๖๓ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๖ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๓๒ ตัวนั้น และในท้ายที่สุดนางให้แม่วัวนม ๘ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๖ ตัวนั้น หลังจากนั้นนางก็จะนำแม่วัวนมทั้ง ๘ ตัว มารีดเอาน้ำนม และนำน้ำนมมาเคี่ยวจนข้นเป็นนมข้นหวาน ทำให้มีรสอร่อยมาก เรียกว่า "ขีรปริวรรต" และในวันที่นางให้รีดนมนั้น ลูกวัวไม่กล้าเข้าใกล้แม่วัวเหล่านั้นเลย พอนางสุชาดาน้อมภาชนะเข้าไปเท่านั้น น้ำนมก็หลั่งออกมาจากเต้านมของแม่วัวเอง นางเห็นดังนั้นก็เกิดความปิติยินดีอย่างยิ่ง เมื่อได้แล้วจึงเทน้ำนมลงใส่ภาชนะใหม่ยกขึ้นตั้งบนเตา

ในวันที่นางปรุงข้าวมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสวัณ ก็มายืนอารักขาก้อนเส้าเตาปรุงทั้ง ๔ ทิศ รวมทั้ง ท้าวมหาพรหม ก็นำทิพย์เศวตฉัตรมากางกั้นข้างบนกระทะเพื่อเป็นสิริมงคล และป้องกันธุลีบนนภากาศ สมเด็จอมรินทราธิราช เสด็จลงมาก่อไฟใส่ฟืน เทวดาเจ้าในหมื่นโลกธาตุ ก็นำทิพยโอชามารวมใส่ลงไปในหม้อปรุงนั้น ประชาชนในทวีปทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ห้อมล้อม ต่างเป็นดังจักรบีบรวงผึ้งอันอุดมด้วยน้ำผึ้งใส่เข้าไปในภาชนะที่กำลังปรุงนั้น เมื่อทำดังนี้แล้วก็ได้เป็นข้าวมธุปายาส เพื่อนำไปถวายต่อไป

***************************************

:b44: บ้านนางสุชาดา พุทธคยา ประเทศอินเดีย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48201

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• "วัสสวดีมาร" ….ตามรานรอน
ขี่กุญชร 'นาราคี-…. รีเมขล์' หงษ์
เข้าหลอกล่อ ต่อกร…. มิผ่อนปลง
ธ ไม่หลง คงประทับ….. ดับราคี

• พญามาร พาลตู่…. ขู่ที่ข้า
ใยพุทธา มาใช้….. ในที่นี้
แล้วทรงอ้าง ข้าไท….. ล้วนไพรี
ต่างมุงชี้ ที่นายเรา…. เจ้าขี้โกง

• ทรงสดับ ประทับนิ่ง…. มิติงไหว
จะอ้างใคร ให้เห็น…. เป็นโอ่โถง
เมื่อเหล่าเทพ เทวี…. หนีเปิดโปง
เหลือที่โล่ง ตรงหน้า…. แค่ธาตรี

• จึงยกหัตถ์ ตรัสความ…. ร้องถามหา
'สุนธรี- วนิดา'.... มารศรี
นางรู้เห็น เช่นไร…. ช่วยไขที
เป็นสักขี ที่สง่า…. มาช้านาน

• พระเทวี กราบก้ม…. ประนมหัตถ์
ช่วยขจัด กล่าวถ้อย…. ร้อยผสาน
แค่ 'ทักษิโณทก'…. ยกโองการ
คราว ธ ขาน อ่านเอ่ย…. เผยบารมี

• ทรงบีบเผ้า เกล้ามวยผม…. ข่มมารร้าย
อุทกสาย คล้ายสมุทร…. คือสักขี
นางบีบไป ไล่ล่า…. ข้าธุลี
“มารวัสส- วดี” …. ก็หนีไป

เหตุการณ์ที่เกิดกับพระมหาบุรุษตอนนี้เรียกว่า 'มารผจญ' ซึ่งเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนตรัสรู้ไม่กี่ชั่งโมง พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับทิวไม้ 'นาราคีรีเมขล์' เป็นช้างทรงของ พระยาวัสสวดีมารซึ่งเป็นจอมทัพ สตรีที่กำลังบีบมวยผมนั้นคือพระนางธรณี มีชื่อจริงว่า 'สุนธรีวนิดา'

พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เมื่อคราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว กำลังพลที่พระยามาร ยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน มาทั้งบนเวหา บนดิน และใต้บาดาล ขนาดเทพเจ้าที่มาเฝ้า รักษาพระมหาบุรุษต่างเผ่นหนีกลับวิมานกันหมดเพราะเกรงกลัวมาร

ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้ แพ้แล้วก็ใช้เล่ห์ คือ กล่าวตู่พระพุทธองค์ว่ามายึดเอาโพธิบัลลังก์ คือตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพระยามารตู่เป็นที่ของตน พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน ฝ่ายพระพุทธองค์ทรงมองหาใครเป็นพยานไม่ได้ เทพเจ้าเล่าก็เปิดหนีกันหมด จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณี พระนางธรณีจึงผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน

ปฐมสมโพธิว่า "พระธรณีก็มิอาจดำรงกายอยู่ได้...ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้น
ปฐพี..." แล้วกล่าวเป็นพยานมหาบุรุษ พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า 'ทักษิโณทก' อันได้แก่ น้ำที่พระมหาบุรุษทรงกรวดทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมี แต่ชาติปางก่อนเป็นลำดับมา ซึ่งแม่พระธรณีเก็บไว้ที่มวยผม เมื่อนางบีบก็หลั่งไหลออกมาเป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศทั้งปวง ประดุจห้วงมหาสาครสมุทร หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ปลาสนาการไปสิ้น

ส่วนคิรีเมขลคชินทร ที่นั่งทรงองค์พระยาวัสสวดี ก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร พระยามารก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด"

บารมีนั้นคือความดี พระมหาบุรุษท่านทรงรำพึงว่า ชีวิต ดวงหทัย นัยน์เนตรที่ท่านทรงบริจาคให้เป็นกุศลผลทานมาก่อนนั้น ถ้าจะเก็บรวมไว้ก็จะมากกว่าผลาผลไม้ในป่า มากกว่าดวงดาราในท้องฟ้า ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หนีไปไหน ถึงใครไม่เห็น ฟ้าดินก็เห็น ดินคือแม่พระธรณี


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พระชนะมาร ผ่านเวลา…. คราใกล้ค่ำ
อาทิตย์ต่ำ อัศดง…. ตรงไศล
ทรงเข้า “ฌาน” ผ่านจิตา…. กล้ากว่าใคร
เกิดความใส ในจิต…. จนลุ “ญาณ”

• “ปฐมยาม” สามทุ่ม…. ทรงบรรลุ
ธรรมเอกอุ รู้ชาติ…. อย่างอาจหาญ
“บุพเพนิวาสานุสติ" ….ก็ผลิบาน
เกินกล่าวขาน อ่านได้…. ทุกผู้คน

• “มัชฌิมยาม” เที่ยงคืน…. หมื่นแก่กล้า
“จุตูปปา- ตญาณ”…. ขานโกศล
กำหนดรู้ ดูตายเกิด…. เปิดสากล
“กรรม” ส่งผล ดลจิต…. คิดอย่างไร

• “ปัจฉิมยาม” หลังเที่ยงคืน…. ทรงตื่นหนัก
“อาสวัก- ขยญาณ”…. อ่านอสงไขย
ท่านรู้แจ้ง แทงกิเลส….. จนสิ้นไป
เกิดความใส ใจพิสุทธิ์…. หยุดห่วงกรรม

• “อริย- สัจสี่”…. มีความ “ทุกข์”
เกิดแก่ตาย ไม่สุข…. สนุกขำ
“สมุทัย” ให้อยาก…. ไม่อยากทำ
“ตัณหา” ช้ำ นำเกิด…. เปิดทุกข์จัง

• “นิโรธ” คือ ดับทุกข์.… ซุกตัณหา
ไม่ปรารถนา หาตรึง…. จีงสุขขัง
“มรรค” ทั้งแปด แวดล้อม…. ห้อมพลัง
จึงถึงฝั่ง ดังจิต…. ติดนิพพาน

• เหล่าทวยเทพ เสพสุข… กันทั่วหน้า
ต่างบูชา มาลา…. เกษมศานติ์
ธ หลุดแล้ว ได้แก้วใจ…. ให้ชื่นบาน
ทั่วโลกขาน พระนามใหม่…. ให้สมญา

• “พระอรหันต์ สัมมา… สัมพุทธเจ้า”
ผู้รู้เท่า เงากิเลส… เศษตัณหา
ตรัสรู้ธรรม นำสอน… ป้อนวิชา
มนุสสา พาสุข… ทุกข์ห่างไกล

เมื่อพระพุทธองค์ทรงชนะมาร พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่าเข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ

ฌาน คือวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่น คิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา ส่วนญาณคือปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ “ฌาน” แสงสว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับปัญญา (ญาณ)

พระพุทธองค์ทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (๓ ทุ่ม) ญาณที่หนึ่งเรียกว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” หมายถึงความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น

พอถึงมัชฌิมยาม (เที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” หมายถึงความรู้แจ้งถึงความจุติ คือ ดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า “กรรม”

ปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สาม คือ “อาสวักขยญาณ” หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์

การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระพุทธองค์เรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้นพระนาม สิทธัตถะ พระโพธิสัตว์ที่เกิดใหม่ ตอนก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษ ได้กลายเป็นพระนาม

ในอดีตหนหลัง ต่อนี้ไปทรงมีพระนามใหม่ว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลส โดยชอบด้วยพระองค์เอง ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ทรงเสวยวิ- มุตติสุข…. แสนสุขขี
เจ็ดราตรี ใต้ศรีโพธิ์…. สว่างไสว
พระฉัพพรรณ- รังสี…. รวีไว
แสนสดใส สว่างโรจน์…. โชตินา

• แล้วทรงย้าย หมายไทร…. ใบสบัด
"นิโครธ" จัด พัดพลิ้ว…. ริ้วพฤกษา
บุตรีมาร พาลโกรธ…. โทษพุทธา
บิดาข้า สุดช้ำ…. ระกำใจ

• นางตัณหา ราคะ…. อรดี
ตามเซ้าซี้ มีจริต…. ชวนหลงไหล
พระพุทธท่าน มิมอง…. จ้องสิ่งใด
สติใช้ ใจพินิจ…. พิจารณา

• นาง "ตัณหา" พาอยาก….. ไม่สิ้นสุด
"ราคะ" จุด ฉุดกำหนัด…. ปรารถนา
"อรดี" ยินร้าย…. คล้ายโกรธา
เกิดริษยา น่าสมเพช…. กิเลสมาร

• “ภควา” หามอง…. จ้องกิเลส
จึงหลับเนตร ไม่ลืม….. ปลื้มประสาน
ทั้งสามนาง หมดแรง…. จะแต่งการ
เกิดความคร้าน รานรอน…. อ้อนพุทธา

• พระชินสีห์ มีสง่า…. น่าเกรงขาม
ทรงงดงาม ข้ามพ้น…. กิเลสหนา
เกิดแก้วกลาง สร้างใจ….. ใช้จิตา
ที่แรงกล้า ห้าพันปี….. ยังมีชัย

หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้น
พระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน คำว่า 'เสวยวิมุติสุข' เป็นภาษาที่ใช้สำหรับ
ท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็ คือพักผ่อน
ภายหลัง ที่ตรากตรำงานมานั่นเอง

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศ ตะวันออก
ของต้น ศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ 'อชปาล' แปลว่า
เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่า ที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้ เคยเป็นที่อาศัยของ
คนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้ เข้ามาอาศัยร่มเงาต้น
ไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา

ลูกสาวพญามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อน
ตรัสรู้เล็กน้อย แต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพญามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อ
พระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ ในอำนาจ ของพญามารให้จงได้ ลูกสาวพญามาร
มี ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี

ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้า ด้วยกลวิธีทางกามารมณ์
ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาว
ใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้า ผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้ว
ไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง

เรื่องธิดาพญามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอด
ความได้ว่า ทั้งสามธิดาพญามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่ง
คือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้าย หรือความเกลียดชัง ความยินดี
ส่วนหนึ่งแยกออกเป็น ตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่ง
เป็นราคา หรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้าย
ออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือ ความริษยา

เมื่อพระพุทธเจ้ามิได้ลืมเนตรแลมอง = พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลส ดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• “ภัลลิกะ” “ตปุสสะ”…. จิตะใส
ขับเกวียนไกล ได้เห็น…. เป็นสุขสันต์
จึงน้อมส่ง “สัตตุก้อน”…. อ้อนเทวัญ
“สัตตุผง” จำนงมั่น…. ได้วันทา

• ธ จึงได้ ใช้บาตรใหม่…. มารับของ
เพื่อสนอง ปองบุญ…. ทุนรักษา
สองพานิช อิ่มเอม…. เปรมอุรา
ปวาราณา “อุบาสก”…. ยกจิตใจ

• พร้อมขอถึง ซึ่งรัตนะ…. พระทั้งสอง
ตามครรลอง ของพุทธ…. พิสุทธิ์ใส
แก้วที่หนึ่ง พุทธองค์…. ทรงหลักชัย
พระธรรมให้ ได้มณี…. ที่จิตา

• อุบาสก ถกร้อง…. ขอของไว้
พระทรงให้ ได้จับ…. รับเกศา
ทั้งสองท่าน กราบก้ม…. ประนมลา
สองหัตถา ประคองผม…. ชื่นชมกัน


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

ในสัปดาห์ที่ ๗ สัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุติสุข
หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปประทับ ณ ใต้ต้นราชายตนะ
(ต้นเกด หรือต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา)
ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาอีก ๗ วัน

แล้วจึงทรงออกจากฌานสมาบัติหรือสมาธิ ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่า
นับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน มิได้เสวยภัตตาหารเลย
จึงนำไม้สีพระทนต์ ชื่อ “นาคลดา” พร้อมน้ำจากสระอโนดาต
และผลสมออันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาน้อมถวาย
ในตอนเช้าของวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ หรือเดือนอาสาฬหะ
พระพุทธองค์ได้ทรงใช้ไม้สีพระทนต์ บ้วนพระโอษฐ์ สรงพระพักตร์
ด้วยน้ำจากสระอโนดาตที่ท้าวสักกเทวราชน้อมถวาย รวมทั้งทรงเสวยผลสมอ

ณ ต้นราชายตนะ นี้เอง ได้มีพ่อค้าพานิช ๒ พี่น้องเป็นชาวพม่า
ชื่อ “ตปุสสะ” กับ “ภัลลิกะ” นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม
เดินทางจากอุกกลชนบท หรืออุกกลาชนบท
(น่าจะเป็นภาคเหนือของชมพูทวีป แถวเมืองตักสิลา)
ผ่านมาทางตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าขณะทรงประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะ
มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส
จึงนำข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนไปน้อมถวาย
ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร
ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ จึงได้น้อมนำบาตรแก้วอินทนิลมาถวายองค์ละใบ
พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา
จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้นประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน
แล้วทรงรับข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนจากพ่อค้าพานิชทั้งสอง

(ในทางประวัติศาสตร์ ชาวพม่าได้ไปมาค้าขายกับชาวอินเดีย
มาเป็นเวลาช้านานแล้ว พอออกพรรษาน้ำหยุดท่วมนอง
ชาวพม่าจะบรรทุกของใส่เกวียน
มาแลกสินค้ากับชาวอินเดีย กลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ)

หลังจากพระพุทธองค์เสวยข้าวสัตตุผง สัตตุก้อนเสร็จแล้ว
ก็ทรงแสดงธรรมและประทานอนุโมทนาแก่พ่อค้าพานิชทั้งสอง
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าพานิชทั้งสองก็เปล่งวาจา
ถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต
ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์เพราะขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์
ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะคู่แรกในพระพุทธศาสนา
ที่เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก (อ่านว่า ทะ-เว-วา-จิ-กะ-อุ-บา-สก)


ก่อนที่จะเดินทางต่อไป พ่อค้าพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอสิ่งของที่ระลึก
จากพระพุทธองค์เพื่อให้นำกลับไปบูชาสักการะ
พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร
เส้นพระเกศา ๘ เส้นหลุดติดพระหัตถ์มา

จึงทรงประทานให้แก่พ่อค้าพานิชทั้งสองไปเป็นการสนองความศรัทธาของเขา
ชาวพม่าสองพี่น้องนี้ได้นำพระเกศาธาตุ ๘ เส้นนั้น
กลับไปยังเมืองย่างกุ้ง บ้านเมืองของตน
ครั้นพอถึงประเทศพม่าได้มีพิธีสมโภชพระเกศาธาตุ
ซึ่งบรรจุไว้ภายในผอบทองคำนี้หลายวันหลายคืน
และได้จัดสร้าง “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง”
เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุมาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้
(เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางประทานเกศาธาตุ)

หมายเหตุ : (๑) ข้าวสัตตุผง ภาษาบาลีเรียกว่า “มันถะ” คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด
ข้าวสัตตุก้อน ภาษาบาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือ ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ

(๒) เทฺววาจิกอุบาสก อ่านว่า ทะ-เว-วา-จิ-กะ-อุ-บา-สก
ไม่ใช่อ่านว่า เท-วะ-วา-จิ-กะ-อุ-บา-สก

มีอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการอ่านภาษาบาลี ที่เหมือนกับกรณีข้างต้น
นำมาจากส่วนหนึ่งของ บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร :b16:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=20815

เท๎วเม (อ่านว่า ทะ-เว-เม) ภิกขะเว อันตา,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดแห่งการกระทำ ๒ อย่างเหล่านี้ มีอยู่,

เท๎วเม อ่านว่า ทะ-เว-เม ไม่ใช่อ่านว่า เท-วะ-เม


***************************************

:b44: เกด ต้นไม้สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุข
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19577

:b44: สัตตมหาสถาน สถานที่เสวยวิมุติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39332

:b44: ประวัติ “พระอินทร์ (ท้าวสักกเทวราช)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39890

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• สัปดาห์หก เจ็ดแปด.... แสงแดดใส
ทรงเปลี่ยนไป ใช้ไทรโพธิ์.... อักโขศานติ์
ธ รำลึก ตรึกตรอง.... มองชื่นบาน
ทรงละย่าน ผ่านคยา.... ท่าวารี

• “อาชีวก” พระนอกพุทธ.... หยุดรอถาม
“อุปกะ” นาม พราห์มเฒ่า.... ตามเซ้าซี้
ด้วยเห็นแสง แห่งองค์.... ทรงรุจี
พระรังสี ที่สง่า.... เกินกว่าใคร

• “อิสิปตนมฤคทายวัน”
ป่าแห่งนั้น ท่านรู้.... อยู่แห่งไหน
ธ ทรงถาม เอาความ.... ตามหทัย
เพื่อจะไป ให้ถึง.... หนึ่งราตรี

• “อุปกะ” จึงถาม.... เอาความบ้าง
ใครผู้สร้าง ศาสดา.... สง่าศรี
ท่านจึงมี สีแสง.... แห่งบารมี
รัศมี ที่กระจ่าง.... สว่างตา

• “สยัมภู” รู้เห็น.... เป็นตัวเรา
ที่เพียรเฝ้า ตรัสรู้.... ดูศึกษา
เรานี่แหละ เป็นปราชญ์.... ศาสดา
ผู้รู้หา พาจิต.... ปลิดหว่งกรรม

• “อุปกะ” สั่นหน้า.... พาแลบลิ้น
ยามได้ยิน สิ้นพจน์.... สลดขำ
ต่างคนต่าง จรลี.... หนีทางนำ
อาทิตย์ต่ำ ค่ำคืน.... พร้อมกลืนกาล


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

ในสัปดาห์ที่ ๖ ถึงที่ ๘ เป็นระเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จแปรสถานที่ประทับ ไปมาที่ระหว่างต้นศรีมหาโพธิ์กับต้นอชปาลนิโครธ หรือต้นไทร จนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ในสัปดาห์ที่ ๘ นับแต่ตรัสรู้มา พระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจาก บริเวณสถานที่ตรัสรู้ เพื่อเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าสารนาถ ซึ่งอยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี เวลาที่กล่าวนี้พวกเบญจวัคคีย์ ที่เคยตามเสด็จออกบวชและอยู่เฝ้าอุปัฏฐากได้พากันผละหนีพระพุทธเจ้ามาอยู่ที่นี่

ระหว่างทางคือเมื่อเสด็จถึงแม่น้ำคยาอันเป็นที่สุดเขตตำบลของสถานที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า “อุปกะ” เดินสวนทางมา อาชีวกคือนักบวชนอกาสนาพุทธนิกายหนึ่งในสมัยพระพุทธเจ้า ตอนที่เดินยังไม่เข้าใกล้และได้เห็นพระพุทธเจ้านั้น อาชีวกผู้นี้ได้เห็น พระรัศมีที่แผ่ซ่านออกจากพระวรกายพระพุทธเจ้ามากระทบเข้าที่หน้าตนก่อน พระรัศมีนั้น สมัยนั้นเรียกว่า “ฉัพพรรณรังสี” คือ พระรัศมี ๖ ประการที่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า ได้แก่

๑. นีละ สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตะ สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน
๔. โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฐะ สีแสดเหมือนดอกหงอนไก่
๖. ประภัสสระ สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก


มาถึงสมัยสร้างพระพุทธรูปฉัพพรรณรังสีนี้เรียกกันว่า “ประภามณฑล” คือ พระรัศมีที่พุ่งขึ้นจากเบื้องพระเศียรที่เป็นรูปกลมรีขึ้นข้างบนนั่นเอง พอพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ อาชีวกจึงได้เห็นที่มาของรัศมี พอเห็นก็เกิดความสนใจจึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ใครเป็นพระศาสดาของพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่มีศาสดาผู้เป็นครูสอน พระพุทธองค์เป็นสยัมภู คือ ผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง อาชีวกได้ฟังแล้วแสดงอาการสองอย่างคือสั่นศีรษะและแลบลิ้น แล้วเดินหลีกพระพุทธเจ้าไป

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• สิบสี่ค่ำ เดือนแปด…. แดดเริ่มตก
เถลิงศก ยกหนึ่ง…. ซึ่งอาจหาญ
ปัญจวัคคีย์ มีจิต…. คิดเนิ่นนาน
ต่างกล่าวขาน ผ่านคนึง… คิดถึงองค์

• ครั้นเหลือบแล ชะแง้เห็น…. เป็นรัศมี
พระรังสี ที่สว่าง…. ต่างจากหงส์
ต่างนัดแนะ กะการ…. ปานเจาะจง
จะไม่หลง ส่งสวัสดิ์…. ไม่พัดวี

• คราพระองค์ ทรงถึง…. ซึ่งที่หมาย
ต่างลืมกาย ถวายงาน…. พระชินสีห์
ล้วนรีบเร่ง ปัดกวาด…. อาสน์รุจี
ไม่ตะหนี่ พาทีนับ… รับภควัน

• ทรงประทับ ร้บไหว้…. ชายทั้งห้า
เสวนา พาที…. มีสุขสันต์
ปัญจวัคคีย์ มีจิต…. ติดสำคัญ
ข้อความนั้น หวั่นระแวง…. ทรงแกล้งลวง

• ธ แจกแจง แสดงอิง…. สิ่งกังขา
เหล่าเบญจา หาจิต…. คิดตามสรวง
น้อมรำลึก ตรึกตาม…. ความทั้งปวง
สิ่งเคยถ่วง ลวงจิต…. ปลิดทิ้งไป

• ทรงบอกกล่าว เล่าความ…. ตามจริงสิ้น
ว่าภูมินทร์ ชินสีห์…. นี้สดใส
ทรงตรัสรู้ ชูคิด… ริดรานใจ
ปรารถนาให้ ปัญจวัคคีย์…. นี้เดินตาม

พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในเย็นวัน ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ตามวันเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือปฐมสมโพธิ (มีบ้างที่ว่า พระองค์เดินทางจากที่ที่พระองค์ตรัสรู้ ถึงป่า ภายในวันเดียวกัน บ้างว่า สิบกว่าวัน…แต่ตรงกัน ที่ถึงป่า ในเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8)

ขณะนี้พวกเบญจวัคคีย์ ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้ากำลังสนทนากันอยู่ เรื่องที่สนทนากัน ก็เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรงว่า นับตั้งแต่ผละหนีจากพระพุทธเจ้ามาก็นานแล้ว ป่านนี้จะประทับอยู่ที่ไหน จะทรงระลึกถึงพวกตนอยู่หรือหาไม่

ทันใด เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ อัสสชิ และมหานามะ ก็เห็นพระฉัพพรรณรังสีสว่างรุ่งเรืองมาแต่ไกล เมื่อเหลียวแลลำแสงพระรัศมี ก็เห็นพระ พุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินมา ทั้ง ๕ จึงนัดหมายกันว่าจะไม่รับเสด็จพระพุทธเจ้า และจะไม่ถวายความเคารพ คือจะไม่ลุกขึ้นออกไปรับบาตรและจีวร จะปูแต่อาสนะถวายให้ประทับนั่ง จะไม่ถวายบังคม แต่ต่างจะนั่งอยู่เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ ไม่สนใจว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา

แต่ครั้นพอพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงจริง เบญจวัคคีย์ทั้งหมดต่างลืมนัดหมายกันเสียสิ้น เพราะต่างก็ลุกขึ้นรับเสด็จ ถวายบังคม และรับบาตรและจีวรด้วยความเคารพ อย่างแต่ก่อนเคยทำมา ผิดแต่ว่าเวลาทั้ง ๕ กราบทูลพระพุทธเจ้านั้นได้ใช้ถ้อยคำ ที่พวกตนไม่เคยใช้มาก่อนเท่านั้น

เบญจวัคคีย์ใช้โวหารเรียกพระพุทธเจ้าว่า 'อาวุโส โคดม' คำท้ายคือ โคดม หมายถึงชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า ส่วนอาวุโส เป็นคำเดียวกับที่คนไทยเรานำมา ใช้ในภาษาไทย ผิดแต่หมายต่างกันในทางตรงกันข้าม ภาษาไทยใช้และหมายกับ ผู้สูงอายุและคุณวุฒิ แต่ภาษาบาลีใช้เรียกบุคคลผู้อ่อนทั้งวัยและวุฒิ คือเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อย 'อาวุโส' จึงเท่ากับคำว่า 'คุณ' ในภาษาไทย

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนสติเบญจวัคคีย์ว่า เคยใช้โวหารนี้กับพระองค์มาก่อนหรือไม่ เมื่อเบญจวัคคีย์ได้สติ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าเรื่องให้ฟังว่าพระองค์ได้บรรลุความ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่เสด็จมาที่นี่ก็เพื่อจะมาแสดงธรรมโปรดนั้นเอง

• "อาสาฬห ปุณมี"…. ศรีพุทธา
"ปฐมเทศนา" พาคิด…. จิตเกรงขาม
"ธัมมจักกัปปวัตนสูตร"…. พูดออกนาม
ธ กล่าวความ 'มัชฌิมา- ….ปฏิปทา'

• ทรงให้ลด ปลดใคร่…. อย่าได้หมาย
ทรมานกาย หลายสิ่ง…. ยิ่งกังขา
เพราะเราเข่น เน้นลอง…. ทั้งสองครา
เวทนา พาเกิด…. ไม่เลิศเลย

• “ศีล ทาน สมาธิ”…. ผลิคุณค่า
เกิดปัญญา หานิ่ง…. สิ่งเปิดเผย
ธ กล่าวความ ตามจริง…. ยิ่งภิเปรย
“พระอัญญา” นิ่งเฉย…. เลยเข้าใจ

• "อัญญาสิ วตโก…. โกณฑัญโญ"
อัญญาโข เดโชเลิศ…. เกิดสดใส
ท่านคิดตาม ความจริง…. นิ่งภายใน
ธรรมส่งให้ ได้ "โสดา"…. ค่าอนันต์

• "อัญญาโกณฑัญญะ"…. ละทิฐิ
จึงดำริ ขอบวช…. กวดอรหันต์
ธ ทรงให้ ได้ดัง…. ตั้งรำพัน
รัตนานั้น พลันบรรจบ…. ครบสามดวง

• “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
ธรรมรักษา พรหมจรรย์…. อันใหญ่หลวง
จงดำเนิน ตามธรรม…. นำทั้งปวง
ให้ลุล่วง กล่าวลาทุกข์…. สุขที่ใจ

• ภัททิยะ มหานามะ ธ สวัสดิ์
วัปปะ อัสสชิ ผลิสดใส
ต่างรู้แจ้ง แทงกรรม ทำสิ้นไป
ทั้งห้าได้ อรหันต์ ทันเวลา

วันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์ คือ วันอาสาฬหบูชา
วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม 'ปฐมเทศนา' ผู้ฟังธรรมมี ๕ คน ที่เรียกว่า 'เบญจวัคคีย์' เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
…..ทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่ ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า 'มัชฌิมาปฏิปทา' คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่กล่าวโดยย่อคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
…..เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า 'ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร' หรือเรียกโดยย่อว่าธรรมจักร โดยเปรียบเทียบการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือธรรมจักร
…..พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง โกณฑัญญะ ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม
คือ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ "อัญญาสิ วตโก โกณฑัญโญ ฯลฯ" แปลว่า "โอ! โกณฑัญญะ ได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว" ตั้งแต่นั้นมา ท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า 'อัญญาโกณฑัญญะ'
….โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาต
ให้ท่านบวช ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เป็นชื่อเรียกวิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้นๆ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง โดยการตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิดบัดนั้น ถือว่าโลกมี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์สาม เป็นครั้งแรก
….ในวันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ทรงให้พระภัททิยเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๒ ในวันแรม ๑ ค่ำ
….ในวันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๓
…. ในวันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๔
….ในวันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๕
….วันแรม ๕ ค่ำ ทรงเทศนาอนัตตลักขณสูตร ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วย ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์
….การอุปสมบทแบบนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญมหาเถระเป็นท่านแรก จึงถือว่าท่านเป็นปฐมสาวกหรือเป็นปฐมเถระในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงเลิกวิธีอุปสมบทแบบนี้ และทรงเปลี่ยนวิธีใหม่เป็น ติสรณคมนูปสัมปทา และเป็นวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจาซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ …'พระอัญญาโกณฑัญญะ' เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ และพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู-ผู้รู้ราตรีนาน คือเป็นผู้รู้ธรรมก่อนใครในพระพุทธศานาและได้บวชก่อนผู้อื่น พระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเท่าใดนัก เนื่องจากท่านทรงอายุพรรษากาลมากแล้ว ในช่วง 12 ปีสุดท้ายในบั้นปลายของท่าน ท่านได้ไปพักจำพรรษาและได้นิพพานที่สระฉันทันต์ ป่าหิมพานต์ ในช่วงต้นพุทธกาล

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้คือ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใครและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ทศพรรษา ชายป่า…. รักขิตวัน
คือที่มั่น แห่งองค์…. พระชินสีห์
"ช้างปาลิไลยกะ"…. มานะดี
เปลี่ยนพื้นที่ ปรับปรุง…. ผดุงองค์

• เก็บไม้ผล ขนหา…. มาอังคาส
ช่วยปัดกวาด…. ลาดอาสนะสงฆ์
ระวังเหตุ เภทภัย…. อยู่ใกล้ดง
มิลืมหลง ตรงช่วย…. อำนวยงาน

• เจ้าลิงน้อย คอยมอง…. อยากปองผล
สู้อดทน ขวนขวาย…. หมายน้ำหวาน
เก็บรังผึ้ง หนึ่งช่อ…. พอชื่นบาน
จึงกล้าหาญ ผ่านส่ง…. องค์สัมมา

• ครั้นพระองค์ ทรงรับ…. แล้วจับดื่ม
ด้วยความปลื้ม ลืมจับ…. กับพฤกษา
เจ้าลิงน้อย หล่นผลอย…. ลอยลงมา
ถูกไม้หนา ทิ่มแทง…. เลือดแดงนอง

• อานิสงส์ ส่งล้ำ…. นำประเสริฐ
ได้บังเกิด ดาวดึงส์…. พึงสนอง
มีปราสาท แวววาว…. พราวด้วยทอง
อัปสรร้อง ร่ายรำ…. ให้ฉ่ำใจ

• ส่วนปาลิไลยกะ ….ยามละร่าง
มิแตกต่าง กับลิง…. ยิ่งสดใส
"สุมังคละ" พระพุทธเจ้า…. อันเกรียงไกร
นับเนื่องได้ แสนปี…. ที่ทรงครอง


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

***************************************

“พระยาช้างปาลิไลยกะ” เป็นพระยาช้างที่มีความสำคัญยิ่งเชือกหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นพระยาช้างผู้อุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดพรรษาที่ ๑๐ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จจำพรรษาอยู่ ณ ชายป่ารักขิตวัน ใกล้หมู่บ้านปาลิไลยกะ อันตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากเมืองโกสัมพี และเพราะพระยาช้างปาลิไลยกะนั้น ได้หลีกออกจากโขลงช้างอันเป็นบริวารของตน มาอาศัยอยู่ชายป่ารักขิตวัน ป่ารักขิตวันนั้นจึงปรากฏมีชื่อว่า ปาลิไลยกะ หรือปาลิเลยกะ ตามชื่อของหมู่บ้านปาลิไลยกะนั้น

เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองโกสัมพี ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีได้เกิดทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องอาบัติเล็กน้อย จนเป็นเหตุให้เกิดแตกแยกกันเป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่ายๆ ละ ๕๐๐ รูป และแม้พระองค์จะทรงตักเตือนไม่ให้ทะเลาะวิวาทกัน ถึง ๓ ครั้ง ๓ คราว แต่ภิกษุเหล่านั้นก็หาได้เชื่อฟังพุทธโอวาทของพระองค์ไม่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงหลีกออกจากหมู่แห่งพระภิกษุเหล่านั้น แล้วเสด็จไปลำพังเพียงพระองค์เดียว ทรงเสด็จไปประทับอยู่ใต้ต้นสาละ ณ ชายป่ารักขิตวัน และทรงจำพรรษาที่ป่ารักขิตวันนั้น

ในเวลาเดียวกัน พระยาช้างปาลิไลยกะผู้เป็นหัวหน้าโขลงแห่งช้างบริวารทั้งหลาย ได้เกิดความเบื่อหน่ายต่อการอยู่ร่วมกับช้างบริวารของตน จึงหลีกออกจากโขลง แล้วไปดำรงชีวิตเป็นอิสระอยู่ลำพังเพียงเชือกเดียว ณ ชายป่ารักขิตวัน เช่นเดียวกัน

เมื่อพระยาช้างปาลิไลยกะไปถึงที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ชายป่ารักขิตวันแล้ว ก็เข้าไปจบพระองค์ด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง และเมื่อไม่เห็นสิ่งอื่นใด เป็นเสนาสนะของพระองค์ พระยาช้างปาลิไลยกะจึงช่วยปรับพื้นที่ใต้ต้นสาละ ที่ทรงประทับให้เรียบราบ และช่วยปัดกวาดบริเวณให้สะอาดเรียบร้อย ต่อจากนั้น ก็เฝ้าปรนนิบัติพระองค์ด้วยการเตรียมน้ำฉันและน้ำใช้ โดยใช้งวงจับหม้อน้ำ แล้วตักน้ำมาเตรียมไว้ให้พร้อม นอกจากนั้นยังเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ในป่ามาถวาย

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พระยาช้างปาลิไลยกะ ก็จะเดินตามส่งเสด็จพระองค์ถึงชายป่า และมาคอยรับเสด็จเมื่อพระองค์ออกจากหมู่บ้าน พระยาช้างปาลิไลยกะจะใช้งวงรับบาตรของพระองค์ แล้วไปส่งถึงที่ประทับ ต่อจากนั้น ก็จะถวายงานพัดแด่พระองค์ด้วยกิ่งไม้ ในเวลากลางคืน พระยาช้างปาลิไลยกะ จะถือท่อนไม้ใหญ่ด้วยงวง แล้วเดินเลียบตามชายป่าคอยระแวดระวังภัย ถวายการอารักขาพระองค์จนถึงเวลาเช้า ครั้นเมื่อถึงเวลาเช้า ก็จะจัดน้ำสรงพระพักตร์ถวาย

นอกจากจะมีพระยาช้างปาลิไลยกะคอยถวายการอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังมีวานรตัวหนึ่งได้นำรวงผึ้งอันปราศจากตัวอ่อนเข้าไปถวายพระองค์

และเมื่อทรงรับรวงผึ้งจากวานรนั้นแล้ว จึงทรงเสวยน้ำผึ้งจากรวงผึ้งนั้น ทันทีที่วานรเห็นพระองค์เสวยน้ำผึ้งจากรวงผึ้งของตน จึงบังเกิดความปีติ ปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ได้กระโดดโลดเต้นอยู่บนต้นไม้ด้วยความดีใจ จนกิ่งไม้ที่ตนเหยียบอยู่นั้นหักโค่นเป็นเหตุให้ตกลงมา และถูกตอไม้เสียบ จนถึงแก่ความตาย แต่ด้วยจิตที่มีความเลื่อมใส จึงได้ไปปฏิสนธิบนดาวดึงส์เทวโลก บังเกิดเป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง แวดล้อมด้วยนางอัปสร ๑,๐๐๐ นางเป็นบริวาร

ส่วนพระยาช้างปาลิไลยกะนั้น เมื่อถึงแก่ความตายลงแล้วก็ได้ไปปฏิสนธิ บนดาวดึงส์เทวโลก บังเกิดเป็นเทพบุตร มีนามว่า “ปาลิไลยกะเทพบุตร” อาศัยอยู่ในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ และมีนางอัปสร ๑,๐๐๐ นางเป็นบริวาร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพยากรณ์ “พระยาช้างปาลิไลยกะ” ในทสโพธิสัตตุปปัตติกถา (อนาคตวงศ์ ฉบับร้อยแก้ว) ให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้สดับว่า

ดูก่อน ! พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เจริญ เมื่อพระศาสนาของพระติสสะ สัมมาสัมพุทธเจ้าล่วงไปแล้วในกัปนั้น พระยาช้างปาลิไลยกะ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่ในอนาคต ทรงพระนามว่า “สุมังคละ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จักทรงมีพะวรกายสูง ๖๐ ศอก แสงสว่างแห่งพุทธรัศมีจากพระวรกายของพระองค์ในเวลากลางวัน จักปรากฏเป็นดังเช่นกับแสงสีทอง และในเวลากลางคืนจักปรากฏเป็นดังเช่นกับแสงสีเงิน พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงมีต้นกากะทิงเป็นไม้ตรัสรู้ ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์ จักมีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง อันเป็นต้นไม้ที่ให้สำเร็จประโยชน์ได้ดังใจปรารถนา ห้อยย้อยด้วยสิ่งของนานาชนิดบังเกิดขึ้นแล้ว มหาชนทุกหมู่เหล่าไม่ต้องทำไร่ไถนา ไม่ต้องค้าขาย จักอาศัยต้นกัลปพฤกษ์เลี้ยงชีพ คนทั้งปวงอาศัยต้นกัลปพฤกษ์นั้น เล่นสนุกสนาน เพลิดเพลินอยู่เป็นนิตย์ และด้วยพุทธานุภาพคนทั้งหลายจะเสวยความสุขประหนึ่งทิพยสุข

อนึ่ง การถวายอุปัฏฐากแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระยาช้างปาลิไลยกะในครั้งนั้น ในปัจจุบันได้ปรากฏเป็นปางหนึ่งของพระพุทธรูปปางนี้ว่า “พระปางปาลิไลยก์” (มักสะกดผิดเป็น ป่าเลไลย ป่าเลไลย์ ป่าเลไลยก์ ฯลฯ)

ลักษณะของพระพุทธรูปปางเลไลย์นี้ จะปรากฏเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่บนศิลาขนาดใหญ่ วางพระบาททั้ง ๒ เสมอกันกับพื้น พระหัตถ์ซ้ายวางค่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) ข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่บนพระชานุข้างขวา แล้วปรากฏเป็นกริยาทรงรับการถวาย และเบื้องหน้าของพระพุทธรูปจะปรากฏเป็นรูปปั้นของพระยาช้างปาลิไลยกะ นั่งหมอบแล้วชูงวงถือกระบอกน้ำถวาย พร้อมกับรูปปั้นของวานรนั่งหมอบแล้วถือรวงผึ้งถวาย

***************************************

:b44: พระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์ อนุสรณ์พระสงฆ์ทะเลาะกัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=41164

:b44: ช้างปาลิไลยกะ มีความรักในพระพุทธเจ้า (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45910

:b44: พระพุทธปาลิไลย พระประธานในพระวิหารทิศเหนือมุขหน้า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=41165

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ในแคว้น โกสัมพี…. นั้นมีพระ
"พากุละ” "ชนะโรคา"…. มหาสงฆ์
ยามกำเนิด อาบน้ำ…. ตามจำนงค์
ปลาใหญ่หลง คงอาหาร…. พาลกลืนกิน

• ปลาแหวกว่าย สายน้ำ…. ข้ามธานี
"พาราณสี" แว่นแคว้น…. แดนถวิล
เศรษฐีใหญ่ ได้ปลา…. ตามเคยชิน
เห็นเด็กดิ้น ในท้องปลา…. พางุนงง

• ช่วยชูชุบ อุปถัมภ์…. พร่ำรักษา
จนเติบกล้า ปัญญาเลิศ…. เกิดไหลหลง
พ่อแม่เก่า เข้าแสดง…. แจ้งจำนงค์
ทูลเจ้าองค์ พาราณสี…. ให้ตีความ

• ทรงให้ร่วม รวมกัน…. หมั่นรักษา
แต่นั้นมา จึงเป็น…. เช่นท้วงถาม
"พากุละ" ภาระ…. คือชื่อนาม
ทั่วเขตขาม ตามเพรียก…. ร้องเรียกกัน

• ครั้นภควา ท่านมา…. พาราณสี
โปรยธรรมชี้ ถูกผิด…. ให้คิดฝัน
ท่านติดตาม ถามจิต…. คิดทุกวัน
จนถึงขั้น ขอบวช…. สวดที่ใจ

• ธ ทรงแจง แ้จ้งแหล่ง…. แห่งกรรมฐาน
เจ็ดวันผ่าน อรหันต์…. ขั้นสดใส
ตลอดหก สิบปี…. จรลีไป
แคว้นน้อยใหญ่ ใ้ห้ธรรม…. ไว้นำคน

• ยามนิพพาน ท่านใช้…. เตโชกสิน
ร่างทุกชิ้น สิ้นไป…. ในเวหน
เหลือเสียงธรรม ท่านให้…. ในกมล
ก่อเกิดผล ค้นพบ…. สยบมาร

“พระพากุละ” เป็นบุตรของมหาเศรษฐี ในพระนครโกสัมพี เหตุที่ท่านได้นามว่า พากุละ เพราะท่านอยู่ในตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งหลาย หรืออีกประการหนึ่ง เพราะท่านเป็นผู้ที่ ตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองได้เลี้ยงดูรักษา

เมื่อท่านเกิดได้เพียง ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยญาติของท่าน ได้จัดทำงานมงคลโกนผมไฟ และได้ขนานนามท่านด้วย พวกพี่เลี้ยงได้พาท่าน ไปอาบน้ำชำระร่างกายที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นปรากฏว่า ได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งว่ายมา ตามกระแสน้ำ แลเห็นทารกนั้นเข้าสำคัญว่าเป็นอาหารจึงได้ฮุบทารก นั้นกลืนเข้าไป ในท้องทราบว่าทารกนั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการ เมื่ออยู่ในท้องปลาก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เลย แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนนอนบนที่นอนธรรมดา แต่ด้วยอำนาจบุญญาธิการของทารกนั้น ทำให้ปลาตัวนั้นเกิดความเดือดร้อนกระวนกระวาย เที่ยวแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำบังเอิญไป ติดข่ายของชาวประมงในพระนครพาราณสี

เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่ายปลาตัวนั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงได้เอาปลานั้นไปเร่ขาย โดยตั้งราคาไว้ถึงหนึ่งพันกหาปณะ ในพระนครนั้นมีเศรษฐี ท่านหนึ่งมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่หาบุตรธิดาไม่ได้เลย พร้อมด้วยภรรยาได้ซื้อปลานั้น ราคาพันกหาปณะ และได้แล่ปลานั้นออก จึงได้พบทารกนั้นนอนอยู่ในท้องปลา เมื่อได้เห็นก็เกิดความรักใคร่ราวกะว่าเป็นบุตรของตน ได้เปล่งอุทานขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า เราได้ลูกในท้องปลาแล้วดังนี้ เศรษฐีและภรรยาได้เลี้ยงดูทารกนั้นเป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย

ครั้นต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาเดิมได้ทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปยังบ้านของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีพอแลเห็นทารกนั้นก็จำได้ทันทีว่า เป็นบุตรของตน จึงได้ขอทารกนั้นคืนโดยแสดงเหตุผลตั้งแต่ต้นให้ท่านเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีทราบ แต่ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมคืนให้ เศรษฐีผู้เป็นมารดาบิดา เมื่อเห็นว่าคงจะเป็นการตกลงกันไม่ได้ จึงได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองช่วยกัน รักษาเลี้ยงดูทารกนั้นไว้เป็นคนกลาง เศรษฐีทั้งสองนั้นได้ผลัดเปลี่ยนกันรักษาเลี้ยงดู ไว้ในตระกูลของตนๆ มีกำหนดคนละ ๔ เดือน อาศัยเหตุการณ์ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ ทารกนั้นจึงได้นามว่า พากุละ ตั้งแต่นั้นมา

พากุลกุมารก็ได้รับการเลี้ยงดูจากตระกูลเศรษฐีทั้งสองเป็นอย่างดียิ่ง จนเด็กนั้นเจริญวัย ขึ้นตามลำดับ เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมาร พร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเข้าเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ของพระองค์แล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท พยายามทำความเพียร เจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ท่านเพียรพยายามประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า ตั้งแต่อุปสมบทมา ในพระพุทธศาสนาได้ ๖๐ ปี ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเกิดเลย และ “เป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษาร่างกายด้วยเภสัชต่างๆ โดยที่สุด แม้ผลสมอชิ้นหนึ่งท่านก็ไม่เคยฉัน ตามประวัติของท่านกล่าวว่าการที่ท่าน เป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น เป็นผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎี และให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้าง “เป็นผู้มีโรคาพาธน้อย”

กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพุทธศาสนามีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้ “อเจลกัสสปปริพาชก” ผู้เป็นสหายเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผล ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา พระพากุลเถระ ดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธนิพพาน แต่ก่อนจะนิพพาน ท่านได้เข้าเตโชสมาบัตินั่งนิพพาน ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้นเอง

“อเจลกัสสปปริพาชก” ท่านผู้นี้น่าจะเป็นคนละคน กับท่านพระมหากัสสปเถระ เพียงแค่ชื่อพ้องกันเท่านั้น ท่านเป็นผู้ที่ถามคำถามแด่พระพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธเจ้าแสดง "เจลกัสสปสูตร" กล่าวคือ แสดงปฏิจจสมุปบันธรรม นั่นเอง


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 15:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

✿ ครั้นรุ่งแจ้ง แสงอุษา…. เพลาเช้า
ธ ทรงเข้า ในย่าน…. ผ่านถนน
"ภิกขาจาร บิณฑบาต" ….. บ้านผู้คน
เสียงสับสน วุ่นวาย….. ตะกายมอง

✿ แม้พระนาง พิมพา…. ก็มาเฝ้า
เพราะหลงเงา เศร้าจิต….. คิดหม่นหมอง
เปิดพระแกล แลตาม….. น้ำตานอง
ตะลึงจ้อง ร้องสะอื้น….. ต้องฝืนองค์

✿ พระแม่เจ้า เรียกหา….. พระราหุล
พ่อเนื้ออุ่น กุมาร….. วงศ์วานหงส์
เจ้าจงแล แค่เถระ….. ที่เจาะจง
คือพระสงฆ์ องค์สง่า….. เกินหน้าใคร

✿ พระหน่อเนื้อ เชื้อกษัตริย์….. ขัตติยา
องค์เจ้าฟ้า บิดาเจ้า….. อย่าสงสัย
ธ จากแม่ แรมรอน….. สอนใครใคร
ทิ้งแม่ไว้ ให้โศก….. วิโยคครวญ

✿ ข้างฝ่าย พระเจ้า…. สุทโธทนะ
แถบผงะ ร้องร่ำ…. เพราะกำ สรวล
ด้วยทราบความ ตามพิมพา…. มาเล่าทวน
เลยรีบด่วน คลาไคล…. เพื่อไปตาม

รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารทั้งหมด จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในเมือง ชาวเมืองแตกตื่นกันโกลาหล ด้วยไม่เคยคิดว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งกษัตริย์โดยพระชาติกำเนิด จะเสด็จภิกขา = เที่ยวขอเขากิน ปฐมสมโพธิรายงานเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า "ในขณะนั้นบรรดามหาชนชาวเมืองแจ้งว่า พระผู้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารเที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต ดังนั้น ก็ชวนกันเปิดแกลแห่งเรือนทั้งหลายต่างๆ อันมีพื้น ๒ ชั้น แล ๓ ชั้น เป็นต้น แต่ล้วนขวนขวายในกิจที่จะเล็งแลดูพระสัพพัญญู อันเสด็จเที่ยวบิณฑบาตทั้งสิ้น"

แม้พระนางพิมพายโสธราผู้เคยเป็นพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพระทัยไม่เคยสร่าง โศกีตลอดมา ได้ยินเสียงชาวเมือง อื้ออึงถึงเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าเมืองมาตามถนน ก็จูงพระหัตถ์ราหุลผู้โอรส ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ ๗ ปี เสด็จไปยังช่องพระแกล ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จนำหน้าพระสงฆ์มา พระนางก็ทรงชี้ให้ราหุลดู และตรัสบอกโอรสว่า "นั่นคือพระบิดาของเจ้า"


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 110 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร