วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2020, 18:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, ธันวาคม ๒๕๔๘
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๒ เนกขัม
หน้า ๔๘๑-๔๘๙


รูปภาพ

เนกขัม
พระธรรมเทศนาโดย...
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดง ณ วัดเจริญสมณกิจ จังหวัดภูเก็ต
วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนค่ำ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

ได้แสดงถึงเรื่องการทำทาน และอานิสงส์ของการทำทาน ตลอดถึงการรักษาศีล และอานิสงส์ของการรักษาศีล สำรวมอินทรีย์ จนถึงหัดสมาธิภาวนาให้เกิดปัญญาวิปัสสนา เป็นลำดับมาแล้ว

การฟังเทศน์ในตอนคืนวันนี้ จะต้องฟังด้วยความสงบ และจะได้ฟังเรื่องการทำทาน รักษาศีล ภาวนา อย่างแสดงมาแล้วนั้นด้วย แต่ทาน ศีล ภาวนา ที่จะฟังต่อไปนี้ เป็น ทาน ศีล ภาวนา ที่มีอยู่ในภาวนาแห่งเดียวกัน

แท้จริงว่ากันโดยเฉพาะแล้ว ภาวนา คือการเสียสละ หรือที่เรียกว่า เนกขัม

คำว่า สละ หรือว่า ออก ก็ดี มิได้สละให้ใคร แต่สละในใจ ทำทานในใจ ทานของที่มีอยู่ในใจ ทานแบบนี้มิใช่ทานของดิบของดี เป็นทานสิ่งที่ผู้รู้ทั้งหลายเห็นน่าเกลียด แต่เป็นสิ่งที่คนโง่ทั้งหลายปรารถนา

ฉะนั้น การทำทานแบบนี้จึงไม่จำเป็นให้เฉพาะคนนั้นคนนี้ทอดผ้าบังสุกุลเลย เมื่อสละทอดบังสกุลของไม่ดี ศีลก็จะเกิดมีขึ้นในคนผู้ฉลาดทั้งหลาย เพราะศีลมิใช่ของคนโง่

ส่วน สละ หรือ เนกขัม การออกก็ดี มิได้ออกไปไหน ใครบวชก็มิได้ออกไปนอกโลกนอกฟ้า

พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านออกบวช ท่านก็บวชอยู่ในบ้านในเมือง อาศัยบิณฑบาต ฉันกับข้าวชาวบ้าน เหมือนดังพระภิกษุที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้เอง

ที่ท่าน ออก หรือ สละ นั้น คือออกจากสิ่งที่สกปรกท่านไม่ต้องการ อันได้แก่ กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นเครื่องยั่วยวนชวนให้ใจติดหลงมัวเมาต่างหาก

ผู้เข้าถึงภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิได้แล้ว ไม่ว่าจะออกบวชหรือไม่ก็ตาม ย่อมเห็นโทษในเบญจกามคุณนี้เหมือนกันทั้งนั้น เรียกว่าเนกขัมด้วยใจ

ดังมีเรื่องในพุทธกาลว่า มีแม่บ้านคนหนึ่งเห็นพระจำนวน ๓๐ รูป เดินรุกขมูลมาจวนเข้าพรรษา เกิดศรัทธาเข้าไปหา ไหว้แล้วถามถึงความต้องการของพระภิกษุเหล่านั้น ก็ได้ทราบว่า ท่านต้องการเสนาสนะที่อยู่จำพรรษา แกพร้อมด้วยลูกบ้านจึงจัดเสนาสนะถวาย

เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นได้เสนาสนะแล้ว วันเข้าพรรษาพระเถระผู้ใหญ่จึงประชุมตั้งกติกาทำความเพียรกันว่า พวกเราไม่อยู่รวมกันถึงสองรูป หากใครมีธุระอะไรแล้ว ขอให้มาตีระฆังสัญญาณที่ศาลานี้

หลังจากเข้าพรรษาแล้วหลายวัน ยายแก่แม่บ้านคิดถึงพระของแกจึงได้หาของถวายพระ ให้คนใช้ถือตามหลังแกไป

พอไปถึงวัดเห็นศาลาว่าง ไม่มีพระอยู่ แกตกใจว่าพระหายไปไหนหมด ?

พอดีเจอคนเฝ้าศาลายังอยู่ แกจึงถาม ได้รับคำตอบว่าพระยังอยู่ เมื่อยายต้องการพบท่านแล้ว ตีระฆังสัญญาณ ท่านก็จะมาเอง

แกก็ให้ตีระฆัง พอพระได้ยินเสียงระฆังต่างก็มากันคนละทิศละทาง ทำเอายายแก่ตกตะลึงงงงันพร้อมกับอุทานในใจว่า ตาย ! พระของเราชะรอยจะทะเลาะกันเสียแล้ว เราไม่รู้เลยว่าเพราะเรื่องอะไรกัน ?

พอท่านมารวมกันเรียบร้อยแล้ว ยายแกคลานเข้าไปหาท่านผู้เป็นเถระถามว่า ท่านทะเลาะอะไรกันจึงมิได้อยู่รวมกัน ?

พอท่านผู้เป็นหัวหน้าอธิบายให้ฟังว่า พวกอาตมามิได้ทะเลาะอะไรกัน แต่แยกกันอยู่ทำความเพียรภาวนา

แกจึงโล่งใจแล้วก็สนใจในคำว่า ภาวนา แกจึงซักถามท่านว่า คำว่าภาวนาๆ นั้น ทำอย่างไรกันเจ้าคะ เช่นตัวดิฉันนี้จะทำได้หรือไม่ ?

ท่านก็ตอบว่า คือพิจารณาเกิดดับของอัตภาพอันนี้ โยมก็ทำได้ไม่เลือก

โชคดีพอแกไปทำเข้าก็ได้ ปรัตตวิชา คือ รู้วาระจิตของคนอื่น พระเหล่านั้นคิดนึกอะไรแกก็รู้ได้หมด

พอออกพรรษาแล้ว พระเหล่านั้นละอายใจ เกรงว่าแกจะรู้วาระจิตของตน เพราะเรายังเป็นพระปุถุชนอยู่ มันอาจคิดไปต่างๆ นานาก็ได้ แล้วพากันไปเพื่อเฝ้าพระศาสดา

พอพระองค์ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงบัญชาให้กลับไป ณ ที่นั้นอีก ทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด

เรื่องนี้แสดงว่า เนกขัม คือการสละ หรือการออกจากกามคุณ ๕ มิใช่ทำได้แต่ผู้บวช หรือบวชแล้วจึงจะสละได้ ยายแก่แม่บ้านแกก็ยังสามารถบวชใจแกได้ก่อนพระเสียด้วยซ้ำ บวชกายแล้ว ใจยังไม่บวชเลย

นี่แหละ เนกขัม คือ การสละ หรือออก มิได้สละไปไหน ออกไปไหน สละแล้ว ออกแล้ว ก็อยู่ในโลกนี้กับเขาผู้ที่ยังไม่สละไม่ออกด้วยกัน แต่มันเป็นการสละภายใน ออกภายใน กามคุณ ๕ มิได้มีติดอยู่ที่ใจของผู้นั้นต่างหาก

ในเมื่อผู้นั้นยกเอารูปนามอันเป็นที่ตั้งของกามคุณ ๕ ขึ้นมา พิจารณาให้เห็นเป็นของเสื่อมสูญสิ้นไปอยู่เสมอ เหมือนกับยายแก่แม่บ้านคนที่กล่าวนั้น

เมื่อแกมีความสมัครรักใคร่สนใจในอุบายที่พระสอนให้ แกไม่ประมาท เร่งทำความเพียรปรารภความสิ้นความเสื่อมแห่งอัตภาพของตน จนเบื่อหน่ายเห็นโทษในเบญจกามคุณ จิตเข้าถึงภาวนาเอกัคตารมณ์ เกิดปรจิตตวิชา รู้วาระจิตของคนอื่นได้

คราวนี้พวกเราเล่าจะทำอย่างไรจึงจะสละ หรือเนกขัมได้อย่างยายแม่บ้านคนนั้น ?

จริงอยู่ ทุกคนเกิดมาแล้วต้องได้อัตภาพอันมีค่านี้มาพร้อมแล้วทุกคน ยายแม่บ้านคนนั้นก็เช่นเดียวกับพวกเรา และก็ต้องถนอมเลี้ยงรักด้วยกันทั้งนั้น

ฉะนั้น จึงยากอยู่สำหรับผู้มิได้พิจารณาให้เห็นสภาพตามเป็นจริงของมัน จะเห็นโทษของมันได้ เพราะมีหลายอย่างเป็นเครื่องปกปิดไว้ โดยเฉพาะก็คือเห็นว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว เราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เรายังไม่แก่ ยังไม่ตาย เป็นต้น

แต่ถ้าพิจารณาถี่ถ้วนแล้วการที่เราถนอมเลี้ยงดูอัตภาพอันนี้ ด้วยอาหารการบริโภค เป็นต้น ก็เพื่อบำบัดความทุกข์ คือมันทุกข์อยู่แล้วจึงหาของมาบำบัด มิใช่ส่งเสริมความสุข

การหาเครื่องนุ่งเครื่องห่มมาหุ้มห่อปกปิดมัน ก็คล้ายกับผ้าพันแผลของเน่าของปฏิกูลนั่นเอง

หาเครื่องมุงเครื่องบัง กันแดดร้อนลมฝนหรืออันตรายต่างๆ ก็คือเป็นการป้องกันทุกข์อันจะมาถึง

การแสวงหาหมอหายามารักษา ก็คือการยาแผล ยาเรือรั่ว หลังคาบ้านรั่วนั่นเอง

สรุปแล้ว ปัจจัย ๔ ที่อัตภาพอันนี้อาศัยอยู่นั้น เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ชั่วคราว มิใช่เป็นการแก้ทุกข์แท้ และเพื่อกันแตกมิให้มันบุบสลายไปเร็ว

ผู้ที่อาศัยปัจจัย ๔ นั้นด้วยความเพลิดเพลินมัวเมา จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้หลงอยู่ในเบญจกามคุณโดยแท้

ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษแห่งอัตภาพอันนี้แล้ว ท่านก็ปกปักรักษาเลี้ยงดู อาบน้ำชำระขัดถู เหมือนกับผู้ที่ยังไม่เห็นโทษ แต่ท่านทำโดยไม่เป็นไปเพื่อความเมาหลงลืมตัว ทำด้วยความไม่ประมาท มีสติ เห็นโทษอยู่เสมอ

ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับคนป่วยเป็นแผล อาหาร คนไข้มิใช่รับประทานด้วยความหิวและอร่อย แต่เพื่อบำบัดให้มีกำลังพอทรงตัวอยู่ได้

ผ้านุ่งผ้าห่ม ถึงจะเป็นของดีและใหม่เอี่ยม มิใช่นุ่งห่มด้วยความหลงเพลิดเพลิน นุ่งห่มเพื่อปกปิดร่างอันซูบโซสกปรกต่างหาก

อาคารที่อยู่ ถึงแม้จะหรูหราโอ่โถงสักปานใดก็ดี คนไข้ที่ไปอยู่อาศัยนั้นมิได้อยู่ด้วยความสนุกสนาน เหมือนการไปพักชายหาดชายทะเลเลย ไปอยู่ด้วยการจำเป็นเพื่อสะดวกแก่การรักษาไข้เท่านั้น

ยาที่กินก็เหมือนกัน มิใช่เป็นของเอร็ดอร่อยอะไร ถึงแม้บางอย่างจะเคลือบน้ำตาล ก็เพื่อให้กลืนง่ายสบายคอเท่านั้น ที่กินก็เพื่อประโยชน์แก่การบำบัดไข้

ทุกคนเกิดมาในโลกนี้แล้ว จำเป็นต้องไปกับโลกเขา หากทำผิดแปลกแตกต่างความนิยมประเพณีของเขา เขาก็หาว่าเราเป็นบ้า ประเดี๋ยวอยู่กับเขาไม่ได้

ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเป็นไปกับโลกเขา แต่อย่าให้เมาหลงจนเกินขอบเขต มีสติเพ่งพิจารณาให้เห็นตามสภาพเป็นจริงอยู่เสมอ

การเป็นอยู่ของผู้รู้กับผู้หลงผิดกัน ผู้หลงมิใช่หลงแต่ตัวคนเดียวเท่านั้น ยังทำให้คนอื่นพลอยหลงตามอีกด้วย

การหลงในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็คือหลงเงาหลงงม หลงจมอยู่ในความแก่นั่นเอง แล้วก็ประดิษฐ์คิดแต่งรูปแก่แปรสภาพ ให้คนอื่นเห็นว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวสวยงาม พลอยตามหลงอีกด้วย

หลงว่าตนไม่เจ็บไม่ไข้ คือหลงไถลผิดไปจากความจริง ความจริงแล้วความไม่สบายไม่ว่าจะด้วยประการใด ทั้งหมดเรียกว่าไข้ ด้วยกันหมดทั้งนั้น

หลงว่าตนไม่ตาย ยิ่งเป็นการหลงงมงายใหญ่ สิ่งใดถ้าแปรจากสภาพเดิมแล้วเรียกว่า ตาย ทั้งนั้น เราแปรมาจากวัยต่างๆ ก็คือ เราตายมาแล้วโดยลำดับ แต่กลับว่าตนยังไม่ตาย

ฉะนั้น ทุกคนขอได้พิจารณาตามอุบายดังได้บรรยายมานี้ จึงจะเห็นโทษของอัตภาพอันนี้ อันเป็นที่ตั้งของกามคุณ ๕ จึงจะปล่อยวางอุปาทานเสียได้ แล้วจะเห็นอัตภาพอันนี้เป็นแต่เพียงบัญญัติอันหนึ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธาตุก็ดี ขันธ์ก็ดี มิใช่ตัวตนบุคคลอะไรเลย การพิจารณาแยกบุคคลออกให้เป็นแต่สักว่า เป็นธาตุ ๔ ก็ดี เป็นขันธ์ ๕ ก็ดี เป็นวิธีการปล่อยวางความยึดถือมั่นในรูปกายได้อย่างดีที่สุด

จะเห็นชัดตามเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ขอให้ยึดแนวพิจารณานี้ไว้ให้มั่น อย่าประมาท เพียรพยายามพิจารณาอยู่เสมอ อาจได้ความรู้ และความเห็นอันแปลกๆ เกิดขึ้นมาในความเพียรนั้นในวันหนึ่งจนได้

การปฏิบัติธรรม ถ้าทำไม่ถูกตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือปฏิบัติถูกแต่เราไม่ทำฉันทะ ความพอใจในคำสอนนั้น ก็จะไม่เกิดความเพียร (วิริยะ)

เมื่อขาดฉันทะ วิริยะ ทั้งสองประการนี้แล้ว ก็จะไร้ผลอันตนปรารถนา แล้วจะมีแต่ความเบื่อหน่ายเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม นอกจากจะไม่เป็นกุศลแก่ตนแล้ว จะเพิ่มบาปโทษให้เกิดมีขึ้นอีกด้วย

นั่นคือจะไปโทษคำสอนของพระพุทธเจ้า อันสมบูรณ์ด้วยเหตุผลและคุณค่าอย่างประเสริฐ ว่าปฏิบัติตามแล้วไร้ผล

เหมือนคำพูดของบางคนผู้ไม่เข้าใจในพระศาสนาว่า “บวชอยู่นานบาปมากบวช ๒-๓ วันก็พอแล้ว” คือการบวชนานมันท้อใจ ทำอะไรก็ไม่ถูกไม่เป็นกับเขา จับวอกจับลิงมาขังไว้ในกรงมันก็น่าเห็นใจ เป็นบาปแน่เพราะความกลุ้มใจ

บวช ๒-๓ วันแรกกำลังศรัทธายังกล้าและไม่รู้จักอะไรเป็นอะไร บวชชนิดนั้นเขาถือว่าบวชเอาบุญ มิใช่บวชให้รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไร เกือบจะถือเอาตัวเหลืองๆ นั้นเป็นตัวบุญไปอีกด้วยซ้ำ

ความคิดเห็นชนิดนี้ มันไกลจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากเสียเหลือเกิน ซึ่งก็มีอยู่ในใจของเหล่าพุทธบริษัทเป็นจำนวนมากทีเดียว

แท้จริงการบวชเป็นการบำเพ็ญบุญโดยแท้ ขอแต่ให้รู้ว่ามาบวชนั้น คือเรามาทำความงดเว้นจากการทำชั่วทุกประการ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น

งดเว้นจากการทำความชั่วมากกว่าฆราวาส แล้วจึงทำความพอใจในความดีของตน ที่ตนได้ทำดีอยู่นั้น แล้วหมั่นพยายามรักษาความดีอันนั้นไว้ให้มั่นคง ก็จะเกิดความพอใจในของดีอันตนไม่เคยได้มาก่อน

บุญ คือ ความอิ่มใจ พอใจ ในการที่ได้เห็นความดีที่ตนได้บำเพ็ญแล้ว ก็จะเกิดมีขึ้นในตนของตน จึงจะเรียกว่า บุญ

ผู้เห็นบุญอย่างนี้แม้จะบวชอยู่ตั้งร้อยปีก็จะไม่บาป เห็นเป็นการบำเพ็ญบุญตลอดเวลา เขาบวชอยู่นานก็เหมือนการบวชของเขาครู่เดียว เปรียบเหมือนบุคคลประกอบธุรกิจเมื่อได้รับผลเจริญก้าวหน้า เวลา ๑๒ ชั่วโมงของเขาเหมือนครู่เดียว เวลาของเขาเป็นของมีค่ามาก


การละชั่วทำดี เห็นเป็นบาป การไม่ทำดีละความชั่วก็ไม่เห็นเป็นบุญ เช่นนั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกันต่อไปอีกแล้ว

เมื่อพวกเราพากันมาหัดภาวนา พิจารณาความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แห่งอัตภาพอันนี้ หากยังไม่เห็นชัดเจนตามเป็นจริงก็ดี ก็ได้ชื่อว่าเราพากันมาเจริญภาวนาทำอุบายกัมมัฏฐาน ซึ่งแต่ก่อนเรายังมัวเมาหลงอยู่ ไม่เคยเจริญภาวนา

มาบัดนี้เราได้เจริญอุบายนั้นให้เกิดมีในใจของเรา จึงควรทำความพอใจรักใคร่ เพียรพยายาม ทำไปเสมออย่าได้ท้อถอย

เมื่อทำไปจนเกิดความรู้แจ้ง เห็นชัดตามเป็นจริง เพราะความปล่อยวางในเบญจกามคุณ แล้วจะเกิดความปลื้มปีติอิ่มใจ เห็นตัวบุญเกิดขึ้นมาในใจของตนนั่นเอง นั่นแหละเป็นปรมัตถทาน ทานอย่างอุกฤษฏ์ ได้อานิสงส์อย่างเลิศ

เมื่อจิตปล่อยวางไม่เพลิดเพลินหลงมัวเมาในกามคุณแล้ว ก็สงบเป็นปกติ เป็นศีลปรมัตถ์ พ้นจากอาสวะอย่างหยาบได้

จิตที่สงบละนิวรณ์ ๕ เข้าถึงเอกัคตา จนเป็นอัปปนาสมาธิ ย้อนออกมาพิจารณาขันธ์ อันเป็นที่ยึดมั่นของอุปาทาน บังเกิดญาณ เห็นอาการของขันธ์ทั้งภายนอกภายใน เป็นไปตามพระไตรลักษณ์ จิตก็จะหลุดพ้น ไม่ถืออะไรว่าเป็นเรา เป็นของๆ เราต่อไปอีก

รวมความแล้ว ทาน ศีล ภาวนา สงเคราะห์ลงเป็นเนกขัม คือการสละออกจากกามคุณ ๕ และกองกิเลสบาปธรรมโดยสิ้นเชิง


แสดงธรรมมิกถาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวํ ด้วยประการฉะนี้ฯ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35963

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” วัดหินหมากเป้ง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42782


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2020, 09:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2020, 23:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2021, 04:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2023, 14:28 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร