วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 03:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2013, 00:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น :b8:

นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสอนคฤหบดีอุบาสก ตรัสพระคาถาว่า

บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึก ด้วยคิดว่า
เมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่
เรา เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง เพื่อช่วยตนให้พ้น
จากโจรภัยบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง ในคราวทุพภิกข-
ภัยบ้าง ในคราวคับขันบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝั่งไว้ใน
โลก ก็เพื่อประโยชน์นี้แล.

ขุมทรัพย์นั้น ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาไป
ทั้งหมด ในเวลาทุกเมื่อที่เดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์
เคลื่อนจากที่ไปเสียบ้าง ความจำของเขาคลาดเคลื่อน
เสียบ้าง นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ยักษ์ทั้งหลายลัก
ไปเสียบ้าง ผู้รับมรดกที่ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขา
ไม่เห็นบ้าง ในเวลาที่เขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ทั้งหมด
นั้น ย่อมสูญไป.

ขุมทรัพย์คือบุญ ของผู้ใด เป็นสตรีก็ตาม เป็น
บุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีล สัญญมะความ
สำรวม ทมะความฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี
ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี
ในพี่ชายก็ดี.

ขุมทรัพย์นั้น ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใคร ๆ ไม่อาจ
ผจญได้ เป็นของติดตามตนไปได้ บรรดาโภคะ
ทั้งหลายที่เขาจำต้องละไป เขาก็พาขุมทรัพย์คือบุญ
นั้นไป.

ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแต่ชนเหล่าอื่น
โจรก็ลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใด ติดตามตนไปได้
ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น (ตามที่กล่าวมานั้น).

บุญนิธินั้น อำนวยผลที่น่าปรารถนาทุกอย่างแก่
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. เทวดาและมนุษย์ปรารถนา
นักซึ่งอิฐผลใด ๆ อิฐผลทั้งหมดนั้น ๆ อันบุคคลย่อม
ได้ด้วยบุญนิธินี้.

ความมีผิวพรรณงาม ความมีเสียงเพราะ ความมี
ทรวดทรงดี ความมีรูปงาม ความเป็นใหญ่ยิ่ง ความ
มีบริวาร อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญ
นิธินี้.

ความเป็นพระราชาเฉพาะประเทศ ความเป็น
ใหญ่ [คือจักรพรรดิราช] สุขของพระเจ้าจักรพรรดิที่
น่ารัก ความเป็นพระราชาแห่งเทวดาในทิพยกายทั้ง
หลาย อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญ-
นิธินี้.

สมบัติของมนุษย์ ความยินดีในเทวโลก และ
สมบัติคือพระนิพพานอันใด อิฐผลทั้งหมดนั้นอัน
บุคคลย่อมได้ ด้วยบุญนิธินี้.

ความที่บุคคลอาศัยสัมปทา(ความถึงพร้อม) คุณเครื่องถึงพร้อม
คือมิตรแล้ว ถ้าประกอบโดยอุบายที่ชอบ เป็นผู้ชำนาญ
ในวิชชาแล้วมุตติ อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อมได้
ด้วยบุญนิธินี้.

ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมี ปัจเจกโพธิ
และพุทธภูมิ(สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า)อันใด อิฐผลทั้งหมดนั้น อันบุคคลย่อม
ได้ด้วยบุญนิธินี้.

บุญสัมปทา คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนั้น เป็น
ไปเพื่อประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิต
ผู้มีปัญญา จึงสรรเสริญความเป็นผู้ทำบุญไว้แล.


จบนิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ :b41:

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... =195&Z=236
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=9


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2013, 03:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย :b8:

อุโบสถศีล คือ ศีลที่คฤหัสถ์ผู้มีจิตเลื่อมใสเข้าจำ

ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์ ทั้งด้วยตนเองและให้ผู้อื่่นฆ่า

๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เว้นจากการขโมย

๓. อพรหมจริยา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์

๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ พูดไม่ตรงกับความเป็นจริง

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี เว้นจากการดืมน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และเว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษทั้งปวง

๖. วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงเป็นต้นไป)

๗. นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสน มาลาคัลธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล เว้นจากการประดับตกแต่งร่างกายด้วยของหอมและดอกไม้

๘. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี เว้นจากการนั่งและนอนบนที่นอนสูง

การเข้าจำอุโบสถจะเข้าจำทุก 3 วันคือ วัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ ของทุกปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักข์ คำว่าปาฏิหาริยปักข์ นี้ อรรถกถาธรรมิกสูตรแก้ไว้ว่า

มีห้าเดือน คือ เดือน 8 ช่วงเข้าพรรษาสามเดือนและเดือน 12 (ตามจันทรคติ)
อาจารย์พวกอื่น ว่ามี 3 เดือนเท่านั้น คือ เดือน 8, 12 และ เดือน 4
อาจารย์บางพวกว่า มี 4 วันคือ วัน 13 ค่ำ , 1 ค่ำ , 7 ค่ำ และ 9 ค่ำ ก่อนและหลังวันอุโบสถแห่งปักษ์ ในทุกๆปักษ์

อรรถกถา ท่านแสดงว่า ชอบอย่างใดก็พึงถือเอาอย่างนั้น. อันผู้ใคร่บุญพึงทำได้ทุกอย่าง พึงผูกใจไว้ว่า ผู้มีใจเลื่อมใสปาฏิหาริยปักษ์นี้ด้วยประการฉะนี้ ไม่เว้นแม้แต่วันเดียว เข้าถึงองค์ ๘ ทำให้สมบูรณ์ด้วยดี บริบูรณ์ด้วยดี พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘.


การนับวันผมอ้างอิงจากธรรมิกสูตรที่ 14 และอรรถกถา ซึ่งหากไปเปิดในคำภีร์อื่นหรืออาจารย์ท่านอื่นก็อาจจะมีรายละเอียดต่างออกไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ธ.ค. 2013, 19:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือน

1. มีนิจศีล คือ มีศีล ๕

นอกจากตนจะมีศีลแล้วก็ไม่ควรบอกให้ผู้อื่นทำผิดศีล หรือ อนุญาตให้ผู้อื่นทำผิดศีล
เช่น เมื่อตนเองไม่ฆ่าเอง ก็ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่อนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า ดังนี้ เป็นต้น

อนึ่งผู้ครองเรือนทั้งหลายควรเว้นจากเมถุนธรรม หากท่านมีคู่อยู่แล้ว ก็ควรพอใจเฉพาะคู่ของตนไม่ประพฤติผิดในกาม

2. ในวันอุโบสถ มีจิตเลื่อมใสเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร ทั้งปกติอุโบสถและปาฏิหาริยปักข์อุโบสถ เพื่อขัดเกลาจิตให้สะอาดยิ่งขึ้น

3. พึงมีจิตเลื่อมใสให้จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะแด่พระภิกษุสงฆ์ ตามสมควร ตามกำลังของตน

4. เว้นจากมิจฉาวณิชชา-การค้าขายที่ผิด คือ เว้นจากการการขายอาวุธ เว้นจากการค้ามนุษย์ เว้นจากการค้าขายสัตว์ที่ยังมีชีวิต เว้นจากการขายสุราของมึนเมา และเว้นจากการขายยาพิษ

5. มีความกตัญญู เลี้ยงดูบิดามารดาอย่างดี

ข้อปฏิบัติเหล่านี้ คฤหัสต์ควรปฏิบัติเพื่อความสุขสวัสดี เพื่อความเจริญ เพื่อความขัดเกลา เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นเทพที่มีรัศมีแผ่ซ่านออกจากตน

อนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ควรไม่ประมาทในบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา เจริญบุญกุศลทุกประการให้ยิ่งขึ้นไป


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 31 ม.ค. 2014, 23:27, แก้ไขแล้ว 16 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2013, 08:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย :b8:

ข้อความบางส่วนจากราชสูตรที่ 2


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว
ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว
พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า

" แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบ
ด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์
และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ฯ"


ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และ โมหะ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว
ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว
พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า

" แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบ
ด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์
และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ฯ "


ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า พ้นไปจากทุกข์แล้ว ฯ


http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... 741&Z=3772


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 02 ธ.ค. 2013, 08:19, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2013, 17:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อุโบสถ มี ๓ อย่าง คือ

1. โคปาลกอุโบสถ (อุโบสถที่เปรียบด้วยลูกจ้างเลี้ยงโค)
2. นิคัณฐอุโบสถ (อุโบสถคือการเข้าจำของนิครนถ์ทั้งหลาย)
3. อริยอุโบสถ (อุโบสถคือการเข้าจำของพระอริยเจ้าทั้งหลาย)

อุโบสถ 2 อย่างแรกนั้นไม่มีผลมากเลย ส่วนอุโบสถอย่างที่ 3 คืออริยอุโบสถนั้นเป็นอุโบสถที่มีผลมาก

(พุทธวัจน์) ดูกรนางวิสาขา อุโบสถมี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โคปาลกอุโบสถ ๑
นิคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑

ดูกรนางวิสาขา ก็โคปาลกอุโบสถเป็นอย่างไร

ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนนายโคบาล เวลาเย็นมอบฝูงโคให้แก่เจ้าของแล้ว
พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้โคเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ ดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ
พรุ่งนี้โคจักเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ จักดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ แม้ฉันใด

ดูกรนางวิสาขา ฉันนั้นเหมือนกัน คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า
วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ กินของชนิดนี้ๆ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ
จักกินของกินชนิดนี้ๆ เขามีใจประกอบด้วยความโลภอยากได้ของเขา
ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น ดูกรนางวิสาขาโคปาลกอุโบสถเป็นเช่นนี้แล

ดูกรนางวิสาขา โคปาลกอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก



ดูกรนางวิสาขา ก็นิคัณฐอุโบสถเป็นอย่างไร

ดูกรนางวิสาขา มีสมณนิกายหนึ่ง มีนามว่านิครนถ์ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า
มาเถอะ พ่อคุณท่านจงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศบูรพา ในที่เลยร้อยโยชน์ไป
จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศปัจจิมในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์
ที่อยู่ทางทิศอุดรในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศทักษิณในที่เลยร้อยโยชน์ไป
นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ไม่ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ด้วยประการฉะนี้

นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกในวันอุโบสถเช่นนั้นอย่างนี้ว่า มาเถอะ พ่อคุณ ท่านจงทิ้งผ้าเสียทุกชิ้นแล้ว
พูดอย่างนี้ว่า เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลในบุคคลและสิ่งของ
ใดๆ ในที่ไหนๆ ดังนี้

แต่ว่ามารดาและบิดาของเขารู้อยู่ว่าผู้นี้เป็นบุตรของเรา แม้เขาก็รู้ว่าท่านเหล่านี้เป็นมารดาบิดาของเรา
อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่าผู้นี้เป็นบิดาสามีของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่าผู้นี้เป็นบุตรภรรยาของเรา
พวกทาสและคนงานของเขารู้อยู่ว่าท่านผู้นี้เป็นนายของเรา ถึงตัวเขาก็รู้ว่าคนเหล่านี้เป็นทาสและคนงานของเรา
เขาชักชวนในการพูดเท็จ ในสมัยที่ควรชักชวนในคำสัตย์ ด้วยประการฉะนี้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะ
มุสาวาท พอล่วงราตรีนั้นไป เขาย่อมบริโภคโภคะเหล่านั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะอทินนาทาน

ดูกรนางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถเป็นเช่นนี้แล ดูกรนางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมากไม่แผ่ไพศาลมาก

อุโปสถสูตร http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.p ... 421&Z=5666
อรรถกถาอุโปสถสูตร http://www.84000.org/tipitaka/attha/att ... b=20&i=510


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 10 ธ.ค. 2013, 19:07, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2013, 18:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อริยอุโบสถมี ๕ อย่างคือ

1. พรหมอุโบสถ
2. ธรรมอุโบสถ
3. สังฆอุโบสถ
4. ศีลอุโบสถ
5. เทวดาอุโบสถ

(พุทธวัจน์) ดูกรนางวิสาขา ก็อริยอุโบสถเป็นอย่างไร

ดูกรนางวิสาขาจิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร
ก็จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร

" ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม "

เมื่อเธอหมั่นนึกถึงพระตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ

ดูกรนางวิสาขา ศีรษะที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด
จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรฉันนั้นเหมือนกัน

จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร
ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ...

ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม
และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 10 ธ.ค. 2013, 19:14, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2013, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


(พุทธวัจน์) ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร
จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร

" ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
อันบุคคลผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน
เมื่อเธอหมั่นนึกถึงธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ "

ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนกายที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร
ดูกรนางวิสาขา ก็กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร
จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยเชือก จุรณสำหรับอาบน้ำ
และความพยายามที่เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ

ดูกรนางวิสาขา กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด
จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ...

ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำธรรมอุโบสถอยู่ อยู่ร่วมกับธรรม
และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2013, 19:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


(พุทธวัจน์) ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร
ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร

" ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ หมั่นระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม
เป็นผู้ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี
เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า "

เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร
ก็ผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยเกลือ
น้ำด่าง โคมัย น้ำ กับความเพียร อันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ

ดูกรนางวิสาขา ผ้าที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด
จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ...

ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์
และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์ เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วด้วยความเพียรอย่างนี้แล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2013, 19:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


(พุทธวัจน์) ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร
ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร

" ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด
ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทยแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหา ทิฐิลูบคลำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ "

เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

ดูกรนางวิสาขาเปรียบเหมือนกระจกเงาที่มัวจะทำให้ใสได้ด้วยความเพียร ก็กระจกเงาที่มัวจะทำ
ให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้ใสได้เพราะอาศัยน้ำมัน เถ้า แปรง
กับความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ

ดูกรนางวิสาขา กระจกที่มัวจะทำให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด
จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน

ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร
ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน ...

ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล และมีจิต
ผ่องใสเพราะปรารภศีล เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2013, 19:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


(พุทธวัจน์) ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร
ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร

" ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงเทวดาว่า
เทวดาพวกชั้นจาตุมหาราชิกามีอยู่
เทวดาพวกชั้นดาวดึงส์มีอยู่
เทวดาพวกชั้นยามามีอยู่
เทวดาพวกชั้นดุสิตมีอยู่
เทวดาพวกชั้นนิมมานรดีมีอยู่
เทวดาพวกชั้นปรินิมมิตวสวัตตีมีอยู่
เทวดาพวกที่นับเนื่องเข้าในหมู่พรหมมีอยู่
เทวดาพวกที่สูงกว่านั้นขึ้นไปมีอยู่

เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มี
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มี
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มี
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มี
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มี "

เมื่อเธอระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนกับของเทวดาเหล่านั้นอยู่
จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนทองที่หมองจะทำให้สุกได้ก็ด้วยความเพียร
ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สุกได้เพราะอาศัยเบ้า
หลอมทอง เกลือ ยางไม้ คีม กับความพยายามที่เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ

ดูกรนางวิสาขา ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด
จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ...

ดูกรนางวิสาขาอริยสาวกเช่นนี้เรียกว่าเข้าจำเทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา
มีจิตผ่องใสเพราะปรารภเทวดา เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้
ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2013, 19:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


เจริญรอยตามพระอรหันต์


ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนั้นย่อมเห็นประจักษ์ว่า

พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอายมีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลายละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลเว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้านจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลกจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แม้จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันหนเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาลจนตลอดชีวิต แม้เราก็บริโภคหนเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดจากการบริโภคในเวลาวิกาล ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถจักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากฟ้อนรำขับร้อง การประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรงประดับและตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวจนตลอดชีวิต แม้เราก็เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องการประโคมดนตรีและดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้าจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือบนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 17 ธ.ค. 2013, 20:54, แก้ไขแล้ว 8 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2013, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อริยอุโบสถอันบุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก


อริยอุโบสถมีผลมากเพียงไร มีอานิสงส์มากเพียงไร มีความรุ่งเรืองมากเพียงไร
มีความแผ่ไพศาลมากเพียงไร :b41:


ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนผู้ใดพึงครองราชย์เป็นอิศราธิบดีแห่งชนบทใหญ่
๑๖ แคว้นเหล่านี้ อันสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ
วัชชี มัลละ เจตีวังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ

การครองราชย์ของผู้นั้นยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขที่เป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 17 ธ.ค. 2013, 20:17, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2013, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ดูกรนางวิสาขา ๕๐ ปีซึ่งเป็นของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๕๐๐ ปีอันเป็นทิพย์เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดูกรนางวิสาขา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความ เป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อจะนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย


ดูกรนางวิสาขา ๑๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น พันปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรนางวิสาขา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แลจึงกล่าวว่า ราชสมบัติของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์เป็นของเล็กน้อย


ดูกรนางวิสาขา ๒๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นยามา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น สองพันปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นมายา ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไปพึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นมายา ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย


ดูกรนางวิสาขา ๔๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นดุสิต โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือนโดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๔,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือสตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต ดูกรนางวิสาขาเราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย


ดูกรนางวิสาขา ๘๐๐ ปีอันเป็นของมนุษย์ เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของเทวดาชั้นนิมมานรดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๘,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณของอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่าราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย


ดูกรนางวิสาขา ๑,๖๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือนโดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดีดูกรนางวิสาขา เราหมายความเอาข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ฯ


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 17 ธ.ค. 2013, 20:15, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2013, 20:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


" บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงงดเว้นเมถุน
อันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล ในกลางคืน
ไม่พึงทัดทรงดอกไม้ ไม่พึงลูบไล้ของหอม และพึงนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ซึ่งเขาปูลาด
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แลว่า อันพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดทุกข์ทรงประกาศไว้
พระจันทร์ พระอาทิตย์ ทั้งสองที่น่าดู ส่องแสง โคจรไปทั่วสถานที่ประมาณเท่าใด
และพระจันทร์ พระอาทิตย์นั้น กำจัดความมืด ไปในอากาศทำให้ทิศรุ่งโรจน์
ส่องแสงอยู่ในนภากาศทั่วสถานที่มีประมาณเท่าใด ทรัพย์ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี
แก้วไพฑูรย์ ทองสิงคี และทองคำ ตลอดถึงทองชนิดที่เรียกว่าหฏกะ
เท่าที่มีอยู่ในสถานที่ประมาณเท่านั้น ยังไม่ถึงแม้ซึ่งเสี้ยวที่ ๑๖ ของอุโบสถ
ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ดุจหมู่ดาวทั้งหมดไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ฉะนั้น.
เพราะฉะนั้นแหละ สตรีบุรุษผู้มีศีล เข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘
ทำบุญซึ่งมีสุขเป็นกำไร เป็นผู้ไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงสัคคสถาน ฯ "



:b8: :b8: :b8:


ที่มา อุโปสถสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... 421&Z=5666


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2014, 11:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


การรักษาอุโบสถ เป็นการงดเว้นการเสพอารมณ์อันเป็นข้าศึกของกุศล มากกว่าเพียงรักษาศีล ๕ ที่เป็นนิจศีลตามปกติ เช่น การเว้นจากการเสพเมถุนธรรม เว้นจากการขับร้อง ดูการละเล่น ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับ ประพรมด้วยของหอมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปด้วยกับโลภะทั้งนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อนิพพานหรือความดับทุกข์แต่ประการใด การรักษาศีลอุโบสถจึงเป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น จิตก็ย่อมสงบจากอกุศลมากขึ้น โอกาสที่กุศลจะเกิดก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ที่รักษาอุโบสถควรให้ทาน ไม่โกรธ เจริญเมตตา ฟังธรรม อบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทเจริญกุศลทุกอย่างให้ยิ่งขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ตามปัจจัย

การรักษาอุโบสถศีลที่เป็นอริยอุโบสถ ย่อมมีอานิสงส์มาก เป็นปัจจัยให้ได้รับความสุขต่างๆ ทั้งที่เป็นของมนุษย์และที่เป็นทิพย์ แต่ความสุขเหล่านั้นก็ไม่เที่ยงมีความเสื่อมและดับไปเป็นธรรมดา พระนิพพานเท่านั้นที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่แปรปรวน ผู้ปรารถนาพระนิพพานคือความดับสนิทแห่งทุกข์ควรรักษาอุโบสถศีล แม้ผู้กระทำบุญปรารภการเวียนว่ายตายเกิด ต้องการจะบังเกิดในสวรรค์ก็พึงรักษาอุโบสถ ท่านทั้งหลายจึงไม่ควรประมาทพึงประพฤติอุโบสถกรรม


:b41:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron