วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 15:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


การรักษาศีล

การรักษาศีลนี้นอกจากจะมีอานิสงส์ทำให้เราได้สำเร็จความสุข มีสุภาพร่างกายที่แข็งแรง

ที่สำคัญที่สุดยังให้สำเร็จพระนิพพาน ตามนัยที่ท่านบอกอานิสงส์ไว้ว่า

สีเลน สุคตึ ยนฺติ ผู้จะถึงสุคติทั้งชาตินี้ชาติหน้า ก็ด้วยอำนาจศีล

สีเลน โภคสมฺปทา ผู้จะสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ ก็ด้วยอำนาจศีล

สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ผู้จะถึงพระนิพพาน อันดับเสียได้ซึ่งกองทุกข์ทั้งปวง ก็ด้วยอำนาจศีล

ตสฺมา สีลํ วิโสธเย เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา ปรารถนาความสุขแก่ตน
ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า พึงชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ เป็นการชอบยิ่ง

"ไม่สำรวมระวังในการบริโภค รับประทานอาหารจุบจิบ ถือได้ว่าไม่สำรวมในศีล"

คำนิยาม

1. ศีล - หมายถึง ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย,
ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจา ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม,
การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ,
ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่ขึ้น,
ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ, มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา

(พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์)

2. จุบจิบ - อาการที่กินพร่ำเพรื่อทีละเล็กทีละน้อย, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ กิน
เป็น กินจุบกินจิบ, โบราณใช้ว่า กระจุบกระจิบ

(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


วิสุทธิ หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความหมดจด

• ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล คือ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์และต้องตั้งใจรักษา ทำให้สามารถปฏิบัติ สมาธิกับวิปัสสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปาริสุทธิศีล 4 ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้แก่
1. ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบท คือ ศีลและมารยาทที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ในส่วนของพระภิกษุ ได้แก่ พระปาติโมกข์ และข้อวัตรที่แสนจะเรียบร้อย ดังปรากฏในพระวินัยปิฎก, ในส่วนของฆราวาส ได้แก่ ศีลห้า ศีลแปด เป็นต้นและมารยาทต่างๆ เช่น พูดไพเราะอ่อนหวาน เป็นต้นนั่นเอง.
2. อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์6 ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อรับรู้อินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น ระวังไม่ให้โกรธ นี้ก็จัดเป็นขั้นศีล.
3. อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ของพระได้แก่สิกขาบท 6 ข้อ(ที่ท่านระบุไว้ในคัมภีร์ปริวาร), ของฆราวาสก็ได้แก่อาชีพที่ไม่ผิดศีล เช่น ไม่ทำอาชีพเพชฌฆาตฆ่าคน เป็นต้น.
4. ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ คือ การพิจารณาใช้สอยปัจจัย ให้เป็นไปตามประโยชน์ที่แท้ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา คือ ไม่ใช่ว่าอยากกินก็เลยกิน อยากใช้ก็เลยใช้นั่นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 15:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


อินทรียสังวรศีลเกิดขึ้นได้อย่างไร

อินทรียสังวรศีล เกิดขึ้นเองหลังจากการตามรู้กายใจแล้วจิตจำสภาวะได้ถึงจุดหนึ่ง ซึ่งการรักษา ศีล 5 ศีล 8 หรือ ศีล10 จำเป็นต้องมีการ ตั้งใจและมีเจตนาที่จะละเว้น ที่จะไม่ทำผิดศีล

อินทรียสังวรศีลเกิดจากการที่เราหมั่นตามรู้กาย-ใจจนจิตจดจำ
สภาวะธรรมต่างๆได้เป็นเหตุให้"สติตัวจริง"เกิด และเมื่อสติตัวจริงเกิด
สติก็จะคุ้มครองรักษาจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำเมื่อมีการกระทบอารมณ์
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถูกคนด่า จิตเกิดความโกรธก็มี"สติรู้ทัน"ความโกรธ
ที่เกิดขึ้น ความโกรธก็จะครอบงำจิตไม่ได้ จิตจะเกิดความสงบตั้งมั่นเป็น
ปกติอยู่ ก็เลยไม่ต้องมีเรื่องทะเลาะวิวาทด่ากัน ทำร้ายกันให้ต้องผิดศีลเป็นต้น

ส่วนอินทรียสังวรศีลนั้น เกิดเมื่อ
ตามรู้ กายใจ แล้ว เมื่อจิตเกิดโทสะ จิตเกิดราคะ หรือเกิดโมหะ ให้ "รู้" ว่าจิตมีโทสะ ราคะ โมหะ ไปเรื่อยๆโดยไม่ได้ ห้ามหรือกดข่ม จนสติ เกิดขึ้นได้เอง

การสำรวมระวังจะเกิดขึ้นเองจากเมื่อพอมี"สติ" รู้ทัน ได้เองบ่อยๆ ก็จะเกิดมีอินทรียสังวรศีลขึ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค สฬายตนวิภังคสูตร


๗. สฬายตนวิภังคสูตร (๑๔๙)
[๘๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันเนื่องด้วยอายตนะ ๖
มากมายแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๘๒๖] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อ
ไม่รู้ไม่เห็นจักษุ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นรูป ตามความเป็นจริง เมื่อ
ไม่รู้ไม่เห็นจักษุวิญญาณ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นจักษุสัมผัส ตามความ
เป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่
ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อม
กำหนัดในจักษุ กำหนัดในรูป กำหนัดในจักษุวิญญาณ กำหนัดในจักษุสัมผัส
กำหนัดในความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุข
ก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นกำหนัดนักแล้ว ประ-
กอบพร้อมแล้ว ลุ่มหลง เล็งเห็นคุณอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความพอกพูน
ต่อไป และเขาจะมีตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เจริญทั่ว จะมีความกระวน-
กระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว จะมีความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจ
เจริญทั่ว จะมีความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว เขาย่อมเสวยทุกข์ทาง
กายบ้าง ทุกข์ทางใจบ้าง ฯ
[๘๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นโสตะ ตามความ
เป็นจริง...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นฆานะ ตามความเป็นจริง...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นชิวหา ตามความเป็นจริง...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นกาย ตามความเป็นจริง...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นมโน ตามความเป็นจริง เมื่อ
ไม่รู้ไม่เห็นธรรมารมณ์ ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นมโนวิญญาณ ตามความ
เป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นมโนสัมผัส ตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ไม่เห็นความ
เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อมกำหนัดในมโน กำหนัดใน
ธรรมารมณ์ กำหนัดในมโนวิญญาณ กำหนัดในมโนสัมผัส กำหนัดในความ
เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นกำหนัดนักแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว
ลุ่มหลง เล็งเห็นคุณอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความพอกพูนต่อไป และเขา
จะมีตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี อันมี
ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ เจริญทั่ว จะมีความกระวนกระวายแม้ทางกาย
แม้ทางใจเจริญทั่ว จะมีความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว จะมีความ
เร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจเจริญทั่ว เขาย่อมเสวยทุกข์ทางกายบ้าง ทุกข์
ทางใจบ้าง ฯ
[๘๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุ ตามความ
เป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นรูป ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุวิญญาณ ตาม
ความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุสัมผัส ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นความ
เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น
เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อมไม่กำหนัดในจักษุ ไม่กำหนัด
ในรูป ไม่กำหนัดในจักษุวิญญาณ ไม่กำหนัดในจักษุสัมผัส ไม่กำหนัดในความ
เสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น
เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนักแล้ว ไม่ประกอบพร้อม
แล้ว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕ ถึงความไม่พอกพูน
ต่อไป และเขาจะละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้ จะละความกระวนกระวาย
แม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเดือดร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละ
ความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ เขาย่อมเสวยสุขทางกายบ้าง สุขทางใจ
บ้าง บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็น
สัมมาทิฐิ มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ มีความ
พยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ มีความระลึกอันใด
ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ มีความตั้งใจอันใด ความตั้งใจอันนั้นย่อม
เป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีใน
เบื้องต้นเทียว ด้วยอาการอย่างนี้ เขาชื่อว่ามีอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐถึงความ
เจริญบริบูรณ์ ฯ
[๘๒๙] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐนี้อยู่อย่างนี้ ชื่อว่า
มีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือสมถะและวิปัสสนา
คู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรม
ที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำให้แจ้งธรรม
ที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน มีข้อที่
เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์ คือรูป คือเวทนา คือสัญญา
คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คืออวิชชา
และภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือสมถะ
และวิปัสสนา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือ
วิชชาและวิมุตติ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ
[๘๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นโสตะ ตามความเป็น
จริง ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นฆานะ ตามความเป็นจริง ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นชิวหา ตามความเป็นจริง ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นกาย ตามความเป็นจริง ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นมโน ตามความเป็นจริง เมื่อรู้
เมื่อเห็นธรรมารมณ์ ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นมโนวิญญาณ ตามความ
เป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นมโนสัมผัส ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นความเสวย
อารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะ
มโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง ย่อมไม่กำหนัดในมโน ไม่กำหนัดใน
ธรรมารมณ์ ไม่กำหนัดในมโนวิญญาณ ไม่กำหนัดในมโนสัมผัส ไม่กำหนัดใน
ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่
เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ตามความเป็นจริง เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนัก
แล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็นโทษอยู่ ย่อมมีอุปาทานขันธ์ ๕
ถึงความไม่พอกพูนต่อไป และเขาจะละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ สหรคตด้วย
ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้
จะละความกระวนกระวายแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ จะละความเดือดร้อนแม้ทาง
กาย แม้ทางใจได้ จะละความเร่าร้อนแม้ทางกาย แม้ทางใจได้ เขาย่อมเสวย
สุขทางกายบ้าง สุขทางใจบ้าง บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด
ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฐิ มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็น
สัมมาสังกัปปะ มีความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ มีความตั้งใจอันใด
ความตั้งใจอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา
ย่อมบริสุทธิ์ในเบื้องต้นเทียว ด้วยอาการอย่างนี้ เขาชื่อว่ามีอัฏฐังคิกมรรคอัน
ประเสริฐถึงความเจริญบริบูรณ์ ฯ
[๘๓๑] เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า
มีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้ คือ สมถะและวิปัสสนา
คู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรม
ที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำให้แจ้งธรรม
ที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน มีข้อที่
เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป คือเวทนา คือสัญญา
คือสังขาร คือวิญญาณ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คืออวิชชา
และภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือสมถะ
และวิปัสสนา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน คือ
วิชชาและวิมุตติ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ สฬายตนวิภังคสูตร ที่ ๗

-----------------


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคศีล ปริเฉทที่ ๑ สีลนิเทศ หน้าที่ ๕๑ - ๕๕

(หน้าที่ 51)
พวกเธอจงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก มีความเคารพศีล ตามรักษาศีล ในกาลทุกเมื่อ เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหางเหมือนมารดารักษาบุตรที่รัก เหมือนคนตาเอกรักหน่วยตาข้างเดียวฉะนั้นเถิด
แม้ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า “มหาสมุทรมีความดำรงอยู่เป็นธรรมดา ไม่ไหลล้นฝั่งไป แม้ฉันใด ดูก่อนปหาราทะ สาวกทั้งหลายของเราก็เหมือนอย่างนั้น ไม่ล่วงข้ามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้วสำหรับสาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต” ก็แหละ ในอรรถาธิบายนี้ นักศึกษาพึงเล่าเรื่องทั้งหลายของพวกพระเถระที่ถูกพวกโจรมัดไว้ในดงประกอบด้วย ดังนี้
เรื่องพระเถระถูกโจรมัด
ได้ยินว่า โจรทั้งหลายมัดพระเถระด้วยเครือหญ้านาง ให้นอนอยู่ในดงชื่อมหาวัตนี พระเถระได้เจริญวิปัสสนาตลอด ๗ วัน ทั้ง ๆที่นอนอยู่นั่นเทียว ได้บรรลุพระอนาคามิผลแล้ว ถึงซึ่งมรณภาพไปในดงนั่นเอง แล้วไปบังเกิดในพรหมโลก
ยังมีพระเถระรูปอื่น ๆ อีก ในตัมพปัณณิทวีป (ประเทศลังกา) ถูกพวกโจรเอาเถาหัวด้วนมัดให้นอนอยู่ เมื่อไฟป่าลามมา ท่านก็หาได้ตัดเถาวัลย์ไม่ เริ่มเจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์สมสีสี ปรินิพพานแล้ว พระอภยเถระผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ทีฆนิกายพร้อมด้วยภิกษุห้าร้อยรูปมาเห็นเข้า ได้ทำฌาปนกิจศพของพระเถระนั้น แล้วให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้
เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้มีศรัทธาแม้อื่น เมื่อจะชำระปาติโมกขสังวรศีลให้บริสุทธิ์ พึงยอมสละแม้ชีวิตโดยแท้ ไม่พึงทำลายปาติโมกขสังวรศีล อันพระโลกนาถเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว
๒. สติเป็นเหตุให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จ
อนึ่ง ปาติโมกขสังวรศีล อันโยคีบุคคลพึงให้สำเร็จด้วย ศรัทธา ฉันใด อินทรียสังวรศีล อันโยคีบุคคลก็พึงให้สำเร็จด้วย สติ ฉันนั้น จริงอยู่ อินทรียสังวรศีลนั้นชื่อว่า มีสติเป็นเหตุให้สำเร็จ เพราะอินทรีย์ทั้งหลายที่ตั้งมั่นอยู่ด้วยสติแล้ว เป็นสภาพอัน

(หน้าที่ 52)
บาปธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นจะพึงรั่วไหลเข้าไปมิได้ เพราะเหตุนั้น อันโยคีบุคคลพึงระลึกถึงพระอาทิตตปริยายสูตรโดยนัยมีอาทิว่า “จักขุนทรีย์ อินทรีย์คือจักษุ ถูกทิ่มแทงแล้วด้วยซี่เหล็กที่เผาอย่างร้อนลุกโชนมีแสงลุกโชติช่วงอยู่ ยังนับว่าประเสริฐ ส่วนการยึดถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูปทั้งหลายอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ ไม่ประเสริฐเลย” ดังนี้แล้ว เมื่อวิญญาณเกิดทางจักษุทวารเป็นต้น ในอารมย์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น พึงกั้นความยึดถือซึ่งนิมิตเป็นต้น ที่บาปธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นจะพึงรั่วไหลเข้าไป พึงทำอินทรียสังรศีลนี้ให้สำเร็จเป็นอย่างดี ด้วย สติ อันไม่หลงลืมเถิด
ก็แหละ เมื่ออินทรียสังวรศีลนี้อันภิกษุไม่ทำให้สำเร็จด้วยประการดังกล่าวมา แม้ปาติโมกขสังวรศีลก็พลอยเป็นอันตั้งอยู่ไม่นานดำรงอยู่ไม่นานไปด้วย เหมือนข้าวกล้าที่เขาไม่ได้จัดการล้อมรั้ว ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ไม่ทำให้อินทรีสังวรศีลสำเร็จนี้ ย่อมจะถูกพวกโจรคือกิเลสปล้นเอาได้ เหมือนบ้านที่เปิดประตูทิ้งไว้ย่อมจะถูกพวกโจรขโมยเอาได้ฉะนั้น อนึ่ง ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตของภิกษุนั้นได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธวจนะ ที่ตรัสไว้ว่า –
จงรักษาอินทรีย์ ที่รูป, เสียง, กลิ่น, รส, และผัสสะทั้งหลาย เพราะว่า ทวารเหล่านี้ถูกเปิดทิ้งไว้ไม่รักษา ย่อมจะถูกใจโจรคือกิเลสปล้นเอา เหมือนพวกโจรปล้นบ้าน ฉะนั้น
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ฉันนั้น
แต่เมื่ออินทรียสังวรศีลนั้นอันภิกษุทำให้สำเร็จแล้ว แม้ปาติโมกขสังวรศีลก็พลอยเป็นอันตั้งอยู่ได้นานดำรงอยู่ได้นานไปด้วย เปรียบเหมือนข้าวกล้าที่เขาจัดล้อมรั้วดีแล้ว ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ทำให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จแล้วนี้ ย่อมจะไม่ถูกพวกโจรคือกิเลสปล้นเอาได้ เปรียบเหมือนบ้านที่ปิดประตูดีแล้ว พวกโจรทั้งหลายก็ขโมยไม่ได้ ฉะนั้น อนึ่ง ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตของภิกษุนั้นไม่ได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า –

(หน้าที่ 53)
จงรักษาอินทรีย์ ที่รูป,เสียง, กลิ่น, รสและผัสสะทั้งหลาย เพราะว่า ทวารเหล่านี้ที่ปิดแล้วระวังดีแล้ว อันพวกโจรคือกิเลส ปล้นไม่ได้ เหมือนพวกโจรปล้นบ้านที่ปิดประตูดีแล้วไม่ได้ ฉะนั้น
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงหลังคาดีแล้วไม่ได้ ฉันใด ราคะย่อมรั่วไหลเข้าไปสู่จิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น
ก็แหละ พระธรรมเทศนานี้ นับเป็นพระธรรมเทศนาชั้นอุกฤษฏ์อย่างยิ่ง
ขึ้นชื่อว่าจิตนี้นั้นเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลพึงบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วด้วยมนสิการถึงอสุภกัมมัฏฐาน แล้วพึงทำให้อินทรียสังวรศีลสำเร็จ เหมือนอย่างพระวังคีสเถระผู้บวชไม่นานเถิด
เรื่องพระวังคีสเถระ
ได้ยินว่า เมื่อพระวังคีสเถระผู้บวชแล้วไม่นาน กำลังเดินบิณฑบาตไปนั้น ความกำหนัดเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะได้เห็นสตรีคนหนึ่ง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียนพระอนันทเถระว่า –
กระผมถูกไฟคือกามราคะเผาเข้าแล้ว จิตของกระผมถูกเผาจนเกรียม สาธุ ท่านผู้โคตมโคตร ขอท่านได้กรุณาโปรดบอกอุบายเครื่องดับไฟให้ด้วย
พระอานันทเถระได้กล่าวแนะว่า -
จิตของเธอถูกเผาเกรียมเพราะสัญญาวิปลาส เธอจงเว้นสุภนิมิตอันประกอบด้วยความกำหนัดเสีย จงอบรมจิตด้วยอสุภกัมมัฏฐาน ทำให้ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมย์เป็นหนึ่ง
เธอจงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย โดยเป็นอื่น โดยเป็นทุกข์ และโดยมิใช่ตน จงทำความกำหนัดอันยิ่งใหญ่ให้ดับไปเสีย จงอย่าได้มีความเร่าร้อนต่อไปเลย

(หน้าที่ 54)
พระวังคีสเถระบรรเทาความกำหนัดได้แล้ว ก็เที่ยวบิณฑบาตต่อไป
อีกประการหนึ่ง อันภิกษุผู้บำเพ็ญอินทรียสังวรศีล พึงเป็นเหมือนพระจิตตคุตตเถระ ผู้อยู่ในถ้ำใหญ่ชื่อกุรัณฑกะ และพระมหามิตตเถระ ผู้อยู่ในมหาวิหารชื่อโจรกะ
เรื่องพระจิตตคุตตเถระ
ได้ยินว่า ในถ้ำใหญ่กุรัณฑกะ ได้มีจิตกรรมเกี่ยวกับเรื่องเสด็จออกทรงผนวช ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายถึง ๗ พระองค์ เป็นสิ่งที่หน้าจับใจ ภิกษุเป็นจำนวนมาก พากันเที่ยวจาริกชมเสนาสนะ มองเห็นจิตกรรมแล้ว เรียนพระเถระว่า “จิตรกรรมเป็นสิ่งที่หน้าจับใจมาก ขอรับ” พระเถระพูดว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฉันอยู่ในถ้ำเกินหกสิบปีมาแล้ว ไม่ทราบดอกว่ามีจิตรกรรมหรือไม่มี อาศัยพวกเธอซึ่งมีตาจึงทราบในวันนี้เดี๋ยวนี้เอง” ได้ยินว่า พระเถระถึงจะอยู่ตลอดกาลเท่านั้น ก็ไม่เคยลืมตาขึ้นมองดูถ้ำเลย อนึ่ง ตรงที่ปากถ้ำของพระเถระนั้น ได้มีต้นกากะทิงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แม้ต้นไม้นั้นพระเถระก็ไม่เคยมองขึ้นดูเลย ครั้นเห็นเกสรร่วงลงมาที่พื้นดินตามลำดับปี จึงทราบว่าต้นไม้นั้นบาน
พระราชาทรงสดับคุณสมบัติของพระเถระแล้ว มีพระราชประสงค์เพื่อจะทรงนมัสการ จึงได้ทรงส่งราชบุรุษไปนิมนต์ถึง ๓ ครั้ง ครั้นพระเถระไม่มา จึงทรงให้ผูกถันของสตรีผู้มีลูกอ่อนทั้งหลายในบ้านนั้น แล้วประทับตราพระราชลัญจกรไว้ ได้มีพระราชโองการว่า “ทารกทั้งหลายอย่าได้ดื่มน้ำนม ตลอดเวลาที่พระเถระยังไม่มา” พระเถระจึงได้มาสู่หมู่บ้านใหญ่ เพราะความเอ็นดูแก่ทารกทั้งหลาย พระราชาทรงทราบแล้ว ทรงรับสั่งให้พาไปในพระราชวังว่า “พนาย พวกเธอจงพาพระเถระเข้าไป ฉันจักรับศีล” ครั้นทรงนมัสการทรงให้ฉันเสร็จแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “พระคุณเจ้า วันนี้ยังไม่มีโอกาส พรุ่งนี้หม่อมฉันทรงจักรับศีล” ครั้นแล้วทรงรับบาตพระเถระ เสด็จตามส่งไปหน่อยหนึ่งแล้ว พร้อมด้วยพระราชเทวีทรงนมัสการแล้วเสด็จกลับ พระราชาจะทรงไหว้ก็ช่าง พระราชเทวีจะทรงไหว้ก็ช่าง พระเถระคงถวายพระพรว่า “ขอพระมหาราชาจงทรงเกษมสำราญเถิด” เป็นทำนองนี้ล่วงไปถึง ๗ วัน พวกภิกษุจึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ เมื่อพระราชาทรงไหว้อยู่ก็ดี ทำไมท่านจึงถวายพระพรเพียงอย่างเดียวว่า ขอพระมหาราชาทรงพระเกษมสำราญเถิด” พระเถระตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฉัน

(หน้าที่ 55)
ไม่ได้ทำความกำหนดแยกว่า พระราชาหรือพระราชเทวี” โดยล่วงไปได้หนึ่งสัปดาห์ พระราชาทรงดำริว่า “การที่พระเถระอยู่ ณ ที่นี้ เป็นความลำบาก” จึงทรงพระกรุณาปลดปล่อยไป พระเถระไปถึงถ้ำใหญ่กุรัณฑกะ ได้ขึ้นสู่ที่จงกรมในส่วนแห่งราตรี เทวดาที่สิงอยู่ ต้นกากะทิงได้ยืนถือประทีปด้ามให้อยู่ ครั้งนั้น กัมมัฏฐานของท่านได้ปรากฏบริสุทธิ์ยิ่งนัก พระเถระดีใจว่า “วันนี้ทำไมหนอ กัมมัฏฐานของเราจึงปรากฏชัดเสียเหลือเกิน” แล้วทำภูเขาให้สะเทือนสะท้านไปทั้งลูก ได้บรรลุพระอรหัตแล้วในลำดับแห่งมัชฌิมยาม
เพราะฉะนั้น แม้กุลบุตรอื่น ๆ ผู้ใคร่ต่อประโยชน์ของตน ไม่พึงเป็นผู้มีหน่วยตาลอกแลก เหมือนลิงในป่า เหมือนมฤคาตกใจตื่นในวนา และเหมือนทารกาอ่อนสะด้งกลัว
พึงทอดจักษุ พึงแลดูชั่วแอก อย่าพึงไปสู่อำนาจของจิตอันมีปกติเหมือนลิงในป่า
เรื่องพระมหามิตตเถระ
ฝ่ายมารดาของพระมิตตเถระ ได้เกิดเป็นโรคฝีมีพิษขึ้น แม้ธิดาของท่านก็บวชในสำนักของภิกษุณีทั้งหลาย ท่านจึงพูดกับธิดาว่า “แม่ ไปเถอะ จงไปสำนักของพี่ชาย เรียนถึงภาวะที่แม่ไม่สบายแล้วนำเอายามา” นางได้ไปกราบเรียนพี่ชายแล้ว พระเถระพูดว่า “ฉันไม่รู้ที่จะเก็บยาทั้งหลายมียารากไม้เป็นต้นมาปรุงให้เป็นเภสัชได้ ก็แต่ว่า ฉันจักบอกยาให้แก่เธอว่า “นับจำเดิมตั้งแต่บวชมา ฉันไม่เคยทำลายอินทรีย์ทั้งหลายแลดูรูปอันเป็นวิสภาค ด้วยจิตอันประกอบด้วยโลภะเลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสบายจงมีแก่โยมมารดาของฉัน” เธอจงไปแล้วกล่าวคำนี้ พลางลูบร่างกายให้แก่โยมมารดาด้วย” ภิกษุณีนั้นไปเรียนข้อความนี้แก่มารดาแล้ว ได้กระทำตามพระเถระแนะนำทุกประการ ฝีของพระอุบาสิกาได้ฝ่อ อันตรธานหายไปเหมือนก้อนฟองน้ำในทันทีทันใดนั้นนั่นแล มารดาของพระเถระนั้นลุกขึ้นมา เปล่งวาจาแสดงถึงความดีใจว่า “ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทำไมจะไม่พึง ทรงลูบศรีษะของภิกษุผู้เช่นบุตรของเราด้วยพระหัตถ์อันวิจิตรไปด้วยลายตาข่ายเล่า”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 16:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 14:39
โพสต์: 34


 ข้อมูลส่วนตัว


ผมได้ปฏิบัติรรมในตอนแรกๆ ก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องศีลมากนัก ทำให้การปฏิบัติไม่ค่อยก้าวหน้า ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้ปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ผมจึงกลับมาทบทวนศีลและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ จนถึงปัจจุบันผมยึดหลักโดยการรักษาศีล 5 และอินทรียสังวรศีล ในการปฏิบัติครับ การปฏิบัติจึงค่อยดีขึ้นมากครับ จะรู้ด้วยตัวเองครับในเรื่องนี้ ขอให้เจริญในธรรมครับทุกๆท่าน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2013, 23:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




ศีลไม่ใช่อื่น.jpg
ศีลไม่ใช่อื่น.jpg [ 69.5 KiB | เปิดดู 6724 ครั้ง ]
:b20: O สิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวง มีศีลเป็นฐาน :b20:

ศีลเป็นฐาน ปัญญาเป็นยอด ผู้มีศีลคือผู้มีฐานที่จะรองรับสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงได้ และในบรรดาสิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีปัญญาเป็นสิ่งสูงสุด สิ่งดีงามทั้งหลายทั้งปวงมีศีลเป็นฐาน เกิดแต่ศีลเป็นต้น ศีล ๕ ศีลแม้เพียงศีล ๕

ย่อมเป็นฐานให้เว้นการเบียดเบียนทำลายชีวิต
เว้นจากการเบียดเบียนถือเอาทรัพย์สินสิ่งของของผู้อื่น
เว้นจากการผิดประเวณี
เว้นจากการเจรจาให้เกิดความเข้าใจผิดจากความจริง
เว้นจากเหตุแห่งความมั่วเมาคือสุราเมรัยเครื่องดองของเมาทั้งหลาย

สิ่งที่ศีลทำให้เว้นได้ทั้งปวง ล้วนเป็นความไม่ดีไม่งาม การเว้นสิ่งไม่ดีไม่งาม ก็คือความดีงาม


:b8: :b8: :b8:


:b44: ♡✿(◕‿◕)✿♡ กราบอนุโมทนาบุญกับท่านกัลยาณมิตรและกัลยาณธรรม ขอให้คุณเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป มีดวงตาเห็นธรรมมีความสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม ธรรมรักษา เทวดาคุ้มครองนะเจ้าค่ะ ♡✿(◕‿◕)✿♡ :b8: :b8: :b8: :b20:

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร