วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 11:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=28



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ย. 2013, 07:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
:b8: นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.
:b44: :b44: :b44:
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=7

นี้เรื่องกรุงเวสาลี

การนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า

ก็กรุงเวสาลีนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติ ก็มั่นคงไพบูลย์ ด้วยว่า ในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็เหมือนกัน

เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
สมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมาก มีคน
เกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง
มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มี
สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ.


สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง. คนยากคนจนตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร. พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร. แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น. เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย. ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือทุพภิกขภัย อมนุสสภัยและโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชะรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น. พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการ ตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด.

เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นพิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไรๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้อย่างไร. ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านี้ย่างเท้าลงเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป.

บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป.

ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นจึงดีพระทัย ตรัสว่า

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญจะไม่เสด็จมาน่ะสิ. เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา.

ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัยแล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมากส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัย แล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เจ้าลิจฉวีทั้งสองพระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบเรื่องราวแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด.

พระราชาไม่ทรงรับรอง ตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด.

เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า เมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลี การอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาล จบสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปกรุงเวสาลีแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับจะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น โปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์ ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุ ๕๐๐ รูปแวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นพร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารหลังหนึ่งๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน.

ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.

เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่าจะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลีและแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูปๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑป ประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น. ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ.

เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา. นาคราชทั้งหลายมีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา. ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา สิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวี กรุงเวสาลี.

ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ. ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืด มีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไป ส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ. ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.

พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนใกล้ประตูพระนครทรงเรียกท่านพระอานนท์มา สั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร.

การวิสัชนาปัญหาเหล่านี้ว่า ก็พระสูตรนี้ ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้พิสดาร ตั้งแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไปด้วยประการฉะนี้.

ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตรนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ท่านพระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร. พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิ�ฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตูทั้งหลายก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลายกำแพงเมืองหนีไป. พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลายก็พากันออกมาบูชาพระเถระด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้. ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้าและมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร. แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่นๆ ด้วย. แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นแหละแก่ทุกคนแล.
ก็มาติกา หัวข้อใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า ข้าพเจ้าจักประกาศนัยนี้ว่า รัตนสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด มาติกานั้นเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้พิสดารแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้.

:b51: :b51: :b51: :b51: :b51: :b51: :b51:
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ย. 2013, 07:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


ในวันนี้ประเทศชาติของพวกเราเกิดภัยไม่ต่างจากกรุงเวสาลี ในอดีต
ขอพวกเราจงร่วมใจกันสวดรัตนสูตร กัันให้มากที่สุดทุกคนช่วยกันสวดไว้ บอกต่อๆ กันไปด้วยค่ะ
:b8:

:b8: ขอบพระคุณค่ะ เว็บ http://dhamma.vayoclub.com/index.php?topic=386.0

บทสวด รัตนสูตร พร้อมคำแปล
ขัดระตะนะสุตตัง


- ราชะโต วา โจระโต วา มะนุสสะโต วา อะมะนุสสะโต วา อัคคิโต วา อุทะกะโต วา ปิสาจะโต วา ขาณุกะโต วา กัณฏะกะโต วา นักขัตตะโต วา ชะนะปะทะโรคะโต วา อะสัทธัมมะโต วา อะสันทิฏฐิโต วา อะสัปปุริสะโต วา จัณฑะหัตถิอัสสะมิคะโคณะกุกกุระอะหิวิจฉิกะมะนิสัปปะทีปิอัจฉะตะ รัจฉะสุกะระมะหิสะ ยักขะรักขะสาทีหิ นานาภะยะโต วา นานาโรคะโต วา นานาอุปัททะวะโต วา อารักขังคัณหันตุ ฯ

- ขอเหล่าเทพดาจงคุ้มครองให้พ้นจากราชภัย โจรภัย มนุสสภัย อมนุสสภัย อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากปีศาจ ภัยจากเคราะห์ร้ายยามร้าย จากโรคภัยไข้เจ็บ จากอสัทธรรม จากมิจฉา ทิฏฐิ คือความเห็นผิด จากคนชั่ว จากภัยต่างๆ อันเกิดแต่สัตว์ร้ายนานาชนิด และจากอมนุษย์ มียักษ์และนางผีเสื้อน้ำ เป็นต้น จากโรคต่างๆ จากอุปัททวะต่างๆ

- ปะณิธานะโต ปัฏฐายะ ตะถาคะตัสสะ ทะสะ ปาระมิโย ทะสะ อุปะปาระมิโย ทะสะ ปะระมัตถะปาระมิโย ปัญจะ มะหาปะริจจาเค ติสโส จะริยา ปัจฉิมัพภะเว คัพภาวักกันติง ชาติง อะภินิกขะมะนัง ปะธานะจะริยัง โพธิปัลลังเก มาระวิชะยัง สัพพัญญุตะญาณัปปะฏิเวธัง นะวะ โลกุตตะระธัมเมติ สัพเพปิเม พุทธะคุเณ อาวัชชิตวา เวสาลิยา ตีสุ ปาการันตะเรสุ ติยามะรัตติง ปะริตตัง กะโรนโต อายัสมา อานันทัตเถโร วิยะ การุญญะจิตตัง อุปัฏฐะเปตวา ฯ

- เราทั้งหลาย จงตั้งจิตอันประกอบไปด้วยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ดังพระอานนทเถระผู้มีอายุ นึกถึงพระพุทธคุณทั้งหลายแม้ทั้งปวงของพระตถาคตเจ้า จำเดิมแต่ปรารถนาพุทธภูมิมา คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓ เสด็จลงสู่คัพโภทร ในภพมีในที่สุด ประสูติ เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ บำเพ็ญทุกขกิริยาชนะมาร ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์นวโลกุตรธรรม ๙ ดังนี้ แล้วกระทำพระปริตรตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ในภายในกำแพง ๓ ชั้น ในเมืองเวสาลี

- โกฏิสะตะสะหัสเสสุ จักกะวาเฬสุ เทวะตา ยัสสาณัมปะฏิคคัณหันติ ยัญจะ เวสาลิยัมปุเร
โรคามะนุสสะทุพภิกขะสัมภูตันติวิธัมภะยัง ขิปปะมันตะระธาเปสิ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

- เทวดาทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาล ย่อมรับเอาแม้ซึ่งอาชญาแห่งพระปริตรอันใด อนึ่ง พระปริตรอันใด ยังภัย ๓ ประการอันเกิดจากโรค อมนุษย์ และข้าวแพงในเมืองเวสาลี ให้อันตรธานไปโดยเร็วพลัน เราทั้งหลาย จงสวดพระปริตรอันนั้นเทอญ.

บทระตะนะสุตตัง

- ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข
สัพเพ วะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง
ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ
ทิวา จะ รัตโต จะ หะรันติ เย พะลิง ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตา ฯ

- หมู่ภูตประจำถิ่นเหล่าใด ประชุมกันแล้วในนครนี้ก็ดี เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้ดีใจและจงฟังภาษิตโดยเคารพ เพราะเหตุนั้นแล ท่านภูตทั้งปวงจงตั้งใจฟัง กระทำไมตรีจิต ในหมู่มนุษยชาติ ประชุมชนมนุษย์เหล่าใด ย่อมสังเวยทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาหมู่มนุษย์เหล่านั้น

- ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา สัคเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง
นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันใดอันหนึ่ง ในโลกนี้หรือโลกอื่น หรือรัตนะอันใด อันประณีตในสวรรค์ รัตนะอันนั้นเสมอด้วยพระตถาคตเจ้าไม่มีเลย แม้อันนี้ เป็นรัตนะ อันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต
นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พระศากยมุนีเจ้า มีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใดเป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมฤตธรรมอันประณีต สิ่งไรๆ เสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- ยัมพุทธะเสฏโฐ ปะริวัณณะยี สุจิง สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ
สะมาธินา เตนะ สะโม นะ วิชชะติ อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิอันใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวซึ่งสมาธิอันใด ว่าให้ผลโดยลำดับ สมาธิอื่นเสมอด้วยสมาธินั้นย่อมไม่มี แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัฏฐา จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ
เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- บุคคลเหล่าใด ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระสุคต ควรแก่ทักษิณาทาน ทานทั้งหลาย อันบุคคลถวายในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- เย สุปปะยุตตา มะนะสา ทัฬเหนะ นิกกามิโน โคตะมะสาสะนัมหิ
เต ปัตติปัตตา อะมะตัง วิคัยหะ ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่าใด ในศาสนาพระโคดมเจ้า ประกอบดีแล้ว มีใจมั่นคง มีความใคร่ ออกไปแล้ว พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ถึงพระอรหัตผลที่ควรถึงหยั่งเข้าสู่พระนิพพาน ได้ซึ่งความดับกิเลส โดยเปล่าๆ แล้วเสวยผลอยู่ แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- ยะถินทะขีโล ปะฐะวิง สิโต สิยา จะตุพภิ วาเตภิ อะสัมปะกัมปิโย
ตะถูปะมัง สัปปุริสัง วะทามิ โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- เสาเขื่อนที่ลงดินแล้ว ไม่หวั่นไหวด้วยพายุ ๘ ทิศ ฉันใด ผู้ใด เล็งเห็นอริยสัจทั้งหลาย เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นสัตบุรุษผู้ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม อุปมาฉันนั้น แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- เย อะริยะสัจจานิ วิภาวะยันติ คัมภีระปัญเญนะ สุเทสิตานิ
กิญจาปิ เต โหนติ ภุสัปปะมัตตา นะ เต ภะวัง อัฏฐะมะมาทิยันติ
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พระโสดาบันจำพวกใด กระทำให้แจ้งอยู่ ซึ่งอริยสัจทั้งหลายอันพระศาสดาผู้มีปัญญาอันลึกซึ้งแสดงดีแล้ว พระโสดาบันจำพวกนั้น ยังเป็นผู้ประมาทก็ดี ถึงกระนั้น ท่านย่อมไม่ถือเอาภพที่ ๘ (คือเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ) แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- สะหาวัสสะ ทัสสะนะสัมปะทายะ ตะยัสสุ ธัมมา ชะหิตา ภะวันติ
สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉิตัญจะ สีลัพพะตัง วาปิ ยะทัตถิ กิญจิ
จะตูหะปาเยหิ จะ วิปปะมุตโต ฉะ จาภิฐานานิ อะภัพโพ กาตุง
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อันใดอันหนึ่งยังมีอยู่ ธรรมเหล่านั้น อันพระโสดาบัน ละได้แล้ว พร้อมด้วยทัสสนะสมบัติ (คือโสดาปัตติมรรค) ทีเดียว อนึ่งพระโสดาบันเป็นผู้พ้นแล้ว จากอบายทั้ง ๔ ไม่อาจเพื่อจะกระทำอภิฐานทั้ง ๖ (คืออนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีต) แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- กิญจาปิ โส กัมมัง กะโรติ ปาปะกัง กาเยนะ วาจายุทะ เจตะสา วา
อะภัพโพ โส ตัสสะ ปะฏิจฉะทายะ อะภัพพะตา ทิฏฐะปะทัสสะ วุตตา
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พระโสดาบันนั้น ยังกระทำบาปกรรม ด้วยกายหรือวาจาหรือใจได้บ้าง (เพราะความพลั้งพลาด) ถึงกระนั้นท่านไม่ควรเพื่อจะปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความเป็นผู้มีทางพระนิพพาน อันเห็นแล้ว ไม่ควรปกปิดบาปกรรมนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- วะนัปปะคุมเพ ยะถา ผุสสิตัคเค คิมหานะมาเส ปะฐะมัสมิง คิมเห
ตะถูปะมัง ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ นิพพานะคามิง ปะระมัง หิตายะ
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พุ่มไม้ในป่า มียอดอันบานแล้ว ในเดือนต้นคิมหะแห่งคิมหฤดูฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมให้ถึงพระนิพพาน เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย มีอุปมาฉันนั้น แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- วะโร วะรัญญู วะระโท วะราหะโร อะนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงทราบธรรมอันประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำมาซึ่งธรรมอันประเสริฐ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า
ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

- ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสมิง
เต ขีณะพีชา อะวิรุฬหิฉันทา นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- กรรมเก่าของพระอริยบุคคลเหล่าใดสิ้นแล้ว กรรมสมภพใหม่ย่อมไม่มี พระอริยบุคคลเหล่าใด มีจิตอันหน่ายแล้วในภพต่อไป พระอริยบุคคลเหล่านั้น มีพืชสิ้นไปแล้ว มีความพอใจงอกไม่ได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา ย่อมปรินิพพานเหมือนประทีปอันดับไป ฉะนั้น แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี

- ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข
ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- ภูตประจำถิ่นเหล่าใด ประชุมกันแล้วในพระนครก็ดี เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระพุทธเจ้าผู้มาแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทพดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมี

- ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข
ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- ภูตประจำถิ่นเหล่าใด ประชุมกันแล้วในพระนครนี้ก็ดี เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระธรรมอันมาแล้วอย่างนั้น อันเทพดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมี

- ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข
ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ ฯ

- ภูตประจำถิ่นเหล่าใด ประชุมกันแล้วในพระนครนี้ก็ดี เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระสงฆ์ผู้มาแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทพดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมี.

:b51: :b51: :b51: :b51: :b51: :b51: :b51: :b51:
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2015, 11:22 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร