วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 32 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 10:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




พ่อ-แม่-ลูก.gif
พ่อ-แม่-ลูก.gif [ 11.44 KiB | เปิดดู 10318 ครั้ง ]
บทความนี้นำจากหนังสือ "สตรีหลุดพ้นขึ้นเหนือมหาพรหม" หน้า ๙๔
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ [ป.อ.ปยุตฺโต]

หญิง-ชาย พัฒนาเป็นอริยชน คู่ครอง พัฒนาเป็นคู่ชีวี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 10:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หญิง-ชาย พัฒนาเป็นอริยชน คู่ครอง พัฒนาเป็นคู่ชีวี

ขอยกตัวอย่างหลักธรรมมาดูตามพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกแห่งหนึ่ง [สํ.สฬ.๑๘/๔๘๔/๓๐๖] แสดงถึงการที่สตรีพัฒนาขึ้นเป็นอริยชน มีใจความว่า

สตรี มีกำลัง ๕ ประการนี้ จะอยู่ครองเรือนอย่างแกล้วกล้ามั่นใจ คือ กำลังรูปสมบัติ [รูปพละ] ๑ กำลังทรัพย์ [โภคพละ] ๑ กำลังญาติ [ญาติพละ] ๑ กำลังบุตร [ปุตตพละ] ๑ กำลังความประพฤติ [ศีลพละ] ๑

สตรีที่มีกำลัง ๕ ประการนี้ ครองเรือน (บ้างก็ถึงกับ) ข่มขี่สามี

สตรีที่มีกำลัง ๕ ประการนี้ ครองเรือน (บ้างก็ถึงกับ) ครอบงำสามี เอาสามีไว้ใต้อำนาจ

อย่างไรก็ดี บุรุษผู้มีกำลังแห่งอิสริยะ คือ ความเป็นใหญ่ อย่างเดียวก็ครอบงำครองสตรีไว้ใต้อำนาจ โดยที่กำลังทั้ง ๕ ข้างบนนั้นป้องกันไม่ได้

สตรีที่มีพลัง จะบริบูรณ์ก็เมื่อครบทั้ง ๕ กำลังนี้ แต่ในบรรดากำลังทั้งหมดนั้น กำลังศีลสำคัญอย่างยิ่ง เป็นตัวตัดสิน

ถึงแม้สตรีใด จะมีกำลังรูปสมบัติ หรือมีกำลังทรัพย์ หรือมีกำลังญาติ หรือมีกำลังบุตร แต่ถ้าไม่มีกำลังศีล เสียศีล ความประพฤติไม่ดี ไร้จรรยา ก่อความเสียหาย หมู่ญาติ ก็ไม่เอาไว้ในวงศ์ตระกูล

ถึงคราวชีวิตแตกดับ กำลัง ๔ อย่างแรกพาไปสวรรค์ไม่ได้ แต่จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ด้วยกำลังศีล เมื่อมีศีล ๕ ก็จะครองเรือนได้อย่างแกล้วกล้ามั่นใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของของสตรีในระดับปุถุชน หรือสตรีทั่วๆไป ที่เรียกกันสามัญว่า มาตุคาม สตรีพึงพัฒนาขึ้นไปให้ยิ่งกว่านี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปถึงสตรีในระดับอริยชนว่ า

อริยสาวิกาเจริญ พัฒนา ด้วยอริยาวัฒิ [การพัฒนาแบบอริยชน หรือความเจริญงอกงามอย่างอริยชน] โดยเจริญพัฒนาด้วยวัฒิ [การพัฒนา ความเจริญงอกงาม เพิ่มพูน ดอกผล หรือกำไร] ๕ ประการ คือ

๑. พัฒนาด้านศรัทธา มีความเชื่อประกอบด้วยปัญญา เชื่อมีเหตุผล รู้เข้าใจมั่นในคุณโพระรัตนตรัย รักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ มั่นใจในกรรมดี โดยมุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม และมีกำลังจิตสดใสด้วยใจมั่นมุ่งแน่วสู่จุดหมายที่ดีงามอันเลิศประเสริฐสูงสุด

ข้อแรกนี้ พึงสังเกตว่ามีความสำคัญมาก เป็นจุดฐานเริ่มที่สร้างความหมาย ตั้งจุดหมายให้แก่ชีวิต และการมีพลังมุ่งสู่จุดหมายนั้น คือ การที่จะพัฒนาชีวิตให้ก้าวไปสู่จุดหมาย

๒. พัฒนาด้านศีล ดำเนินชีวิตสุจริต ปลอดเวรภัย ไร้การเบียดเบียด ไม่ใช้ความรุนแรง มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล ๕ และสัมมาชีพ รู้จักสื่อสาร พูดจริง พอดี อ่อนหวาน สมานสามัคคี มีสาระ กิริยาวาทะงดงาม

๓. พัฒนาด้านสุตะ ใฝ่ใจเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ สดับรับฟังเรื่องราวข่าวสาร โดยไตร่ตรองพิจารณาอย่างเปิดใจและให้รู้เท่าทัน มีความรู้ธรรมที่พึงประพฤติปฏิบัติ เพื่อเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตของตน แนะนำสั่งสอนในครอบครัว และแก่คนที่ควรแนะนำ

๔. พัฒนาด้านจาคะ มีน้ำใจเผื่อแผ่เสียสละ ใส่ใจรับฟังทุกข์สุขของคน มีน้ำใจและใจกว้าง พร้อมที่จะให้ปันช่วยเหลือ แผ่ขยายกระจายประโยชน์สุขออกไป สละนอกสละใน ข้างนอกสละวัตถุ ข้างในสละกิเลส ความโลภเห็นแก่ได้ ครองเรือนด้วยใจไร้มลทินแห่งความตระหนี่กีดกัน

๕. พัฒนาด้านปัญญา มองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต มีความรู้เข้าใจที่จะทำให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องดีงาม ไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้เป็นที่มาของทุกข์ รู้จักวิเคราะห์วิจัยให้ปัญญาดับทุกข์แก้ปัญหา จัดกิจ คิดการ ดำเนินงานให้สำเร็จได้โดยถูกวิธี

อริยสาวิกา หรือสตรีชั้นอริยชน ที่พัฒนา ๕ ด้านนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้จับเอาสาระของชีวิตได้ ได้สิ่งประเสริฐของชีวิตในโลกนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 11:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอให้พิจารณาการพัฒนาของสตรี โดยเทียบชีวิตที่ตรัสไว้ในต่างระดับ

๑. สตรีทั่วไป คือ มาตุคาม แต่สตรีอริยชนทรงเรียกว่า อริยสาวิกา

๒. สตรีปุถุชน ที่เก่งดี มีพละ คือกำลัง ๕ อย่าง ส่วนสตรีอริยชน มีวัฒิ คือการพัฒนา หรือความเจริญงอกงาม ๕ ประการ

๓. สตรีปุถุชน ยังอยู่กับความคิดจิตใจที่คำนึงถึงการที่จะแข่งจะข่มกับฝ่ายบุรุษ โดยใช้กำลัง ๕ อย่าง ส่วนสตรีอริยชน พ้นไปแล้วจากสภาพจิตที่มีการคิดแข่ง-ข่มนั้น ไปอยู่กับความคิดจิตใจที่มุ่งไปในการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามด้วยวัฒิ ๕ อย่าง ซึ่งถ้าได้บุรุษที่มีชีวิตแห่งการพัฒนาอย่างนี้ด้วย ก็จะเข้าถึงสภาพชีวิตจิตใจในระดับของความเสมอสมาน

[พละ/กำลัง ๕ อย่างนั้น มิใช่ว่าสตรีอริยชนจะต้องทิ้งไป แต่เธอสามารถเปลี่ยนแนวทางใหม่โดยใช้มันป็นทุนเป็นกำลังหนุนในการพัฒนาชีวิต ไม่ใช้เป็นเครื่องขับเคลื่อนการแข่ง-ข่มกัน]

๔. สตรีปุถุชน ถึงจะมีกำลังบริบูรณ์และประสบความสำเร็จในการครองเรือน หรือแม้ถึงกับเอาชนะแข่งขึ้นเหนือบุรุษ แต่ก็เป็นเรื่องเปลือกผิวอยู่ข้างนอก ไม่เข้าถึงแก่นสารของชีวิต ส่วนสตรีอริยชน เมื่อพัฒนาชีวิตจิตปัญญาของตนด้วยวัฒิ ๕ พระพุทธเจ้าสรุปว่า เธอจับเอาสาระของชีวิต หรือเข้าถึงแก่นสารของการมีชีวิตในโลกนี้แล้ว [เป็นชีวิตไม่ว่างเปล่า]

ในระดับปุถุชน ทางฝ่ายบุรุษ ชีวิตมีการเจริญพัฒนาต่างแนวทางห่างไกลจากสตรี แต่ในระดับอริยชน การพัฒนาเรียกได้ว่าเป็นอย่างเดียวกัน และเมื่อเป็นอริยชนแล้ว ก็มีคุณสมบัติเสมอกัน

เมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นคู่ครอง ถ้าเป็นอริยชนระดับโสดาบันด้วยกัน ก็สามารถมีคุณสมบัติของคู่ครองที่เป็นคู่ชีวิต โดยมีคุณธรรมอันเป็นคุณสมบัติที่ได้พัฒนาชีวิต พัฒนาความเป็นมนุษย์มาเท่าๆ กัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “สมชีวิธรรม”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 14:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในพุทธกาล มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ สามีภรรยาคู่หนึ่ง เป็นอริยชนชั้นโสดาบันทั้งสองฝ่าย รักกันมาก บอกว่าจะเกิดอีกเมื่อไร ก็ขอให้ได้พบกัน ถึงกับได้กราบทูลแสดงความปรารถนานี้กะพระพุทธเจ้า และพระองค์ก็ได้ตรัสหลักสมชีวิธรรมที่ว่านั้น [องฺ.จตุกฺก.๒๑/๕๖/๗๒] ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน ใกล้สุงสุมารคิรนคร แคว้นภัคคะ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาค...เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนกุลบิดาคหบดี...

นกุลบิดาคหบดี และนกุลมารดาคหปตานี เข้ามาเฝ้า....ครั้นแล้ว นกุลบิดาคหบดี กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับแต่เวลาที่ตระกูลนำนกุลมารดาคหปตานี ซึ่งยังเป็นสาวมาเพื่อข้าพระองค์ผู้ยังเป็นหนุ่ม ข้าพระองค์มิได้รู้สึกจะประพฤตินอกใจเธอแม้แต่ด้วยใจเลย ที่ไหนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า ข้าพระองค์ทั้งสองปรารถนาพบกันทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า

[นกุลมารดาคหปตานี ก็ได้กราบทูลอย่างนั้นเหมือนกัน]

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กูกรนกุลบิดาคหบดี และคหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสอง หวังจะพบกันทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า ทั้งสองนั่นแล พึงเป็นสมสัทธา [มีศรัทธาเสมอกัน] สมศีล [มีศีลเสมอกัน] สมจาคา [มีจาคะเสมอกัน] สมปัญญา [มีปัญญาเสมอกัน]

ทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา เป็นคู่ภรรยา-สามี ที่รู้เข้าใจคำบอกความต้องการของคน ครองตนอยู่ในศีล ดำเนินชีวิตโดยธรรม พูดจาถ้อยคำแสดงน้ำใจรักแก่กัน สรรพประโยชน์ ความเจริญงอกงามจะประดังมา ความผาสุกจะเกิดมี ใครที่ไม่เป็นมิตรก็หงอยไป ทั้งสองฝ่ายมีศีลสมกัน ครั้นประพฤติธรรมแล้วในโลกนี้ คู่ชีวีที่สมศีลสมพฤตินั้น ก็เป็นผู้บันเทิงในเทวสมาคม รื่นรมย์กับสิ่งอันน่าปรารถนา ร่าเริงเบิกบาน

พึงทราบว่า นกุลบิดาและนกุลมารดา สามีภรรยาคู่นี้ เวลานั้นสูงอายุแล้ว แต่ยังรักกันมั่นคง เป็นโสดาบันทั้งคู่ และทั้งสองท่านได้รับยกย่อยเป็นเอตทัคคะเหมือนกัน [องฺ.เอก.๒๐/๑๕๑-๒/๓๓] คือ นกุลบิดาเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้คุ้นสนิทฝ่ายอุบาสก และนกุลมารดาเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้คุ้นสนิทฝ่ายอุบาสิกา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 17:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นอันว่า “สมชีวิธรรม” มี ๔ ข้อดังว่ามา ขอให้สังเกตคำว่า “สม” [สม,สมะ] ในหลักธรรมชุดนี้ ซึ่งมีใช้ในภาษาไทย จะไม่แปลว่า “เสมอ” ก็ได้ ก็ทับศัพท์ไปเลย ดังนั้น สมชีวิธรรม แทนที่จะว่า มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ก็แปลได้สะดวกขึ้นอีกว่า มีศรัทธาสมกัน มีศีลสมกัน มีจาคะสมกัน มีปัญญาสมกัน

ที่แท้นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่เข้าใจความหมายให้ชัด คือ คำบาลีว่า “สม” นี้ แปลว่า เสมอ สมาน ร่วมกัน เท่ากัน เข้ากัน หรือกลมกลืน ก็ได้ทั้งสิ้น เพราะมีนัยอย่างเดียวกัน เช่นว่า คนที่เสมอกัน เท่ากัน ก็ไปกันได้ เมื่อคนรับสุขรับทุกข์เสมอกัน หรือเท่ากัน ก็คือร่วมสุขร่วมทุกข์กัน

แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ความหมายนี้ค่อนข้างเป็นปัญหา อาจเป็นเพราะเวลานี้ กระแสสังคมถูกดูดดึงหนักไปทางระบบธุรกิจ ใจคนคำนึงหรือเอียงไปทางด้านผลประโยชน์มากสักหน่อย เวลาพูดคำว่าเสมอกัน เท่ากัน คนมักจะมีความรู้สึกในเชิงจ้องที่จะแก่งแย่ง เรียกร้องจะได้จะเอา เกี่ยงกัน หรือแย่งชิงกัน ในที่นี้ ขอให้ข้ามพ้นนัยแบบเสมอ-แย่งชิงกันนี้ไปก่อน แต่ขอให้จับเอานัยที่ว่า เสมอ –สมานกัน

อีกอย่างหนึ่ง ขอให้สังเกตว่า ธรรมที่คู่ครองในขั้นคู่ชีวิต มีเสมอหรือสมกันนี้ ก็คือ องค์ธรรมในชุดการพัฒนาของอริยชน คือ อริยาวัฒิที่สตรีพัฒนาตัวจากมาตุคามขึ้นเป็นอริยสาวิกานั่นเอง ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา แต่ในสมชีวิธรรม หายไปข้อหนึ่ง จาก ๕ เหลือ ๔

ข้อซึ่งไม่มีที่นี่ คือ สุตะ [สิ่งที่ได้เรียนสดับ คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เล่าเรียน] ทำไมจึงหายไป คำตอบก็ง่ายๆ ว่า สุตะ คือ ข้อมูล ข่าวสาร เรื่องที่เล่าเรียนกันนั้น แต่ละคนควรพัฒนาแน่ แต่ข้อมูลความรู้นั้น ต่างคน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เสมอกัน ตรงเรื่องกัน หรือเข้ากัน

เอาง่ายๆ คนหนึ่ง ค้นหาความรู้ทางดาราศาสตร์ รู้เชียวชาญไปหมด ไม่ว่าเรื่องพระจันทร์หรือลึกเลยไปถึงหลุมดำ อีกคนหนึ่ง รู้แต่ตำราทำกับข้าว ไม่รู้เรื่องดาวอะไรด้วย ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่อีก ๔ ข้อ ต้องไปกันได้ เช่น ปัญญา ความรู้เข้าใจ อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

ยิ่งกว่านั้น ความรู้สุตะ บางทีไม่ตรงไม่เท่ากันนั่นแหละ กลับเอามาเสริมกันได้ รู้คนละเรื่องต่างกัน กลายเป็นยิ่งดี

แล้วยิ่งกว่านั้นอีก บางคนมีสุตะน้อยเต็มที แต่ปัญญาไวคมชัด ฟังสุตะนิดหน่อยรู้เข้าใจทันที ส่วนอีกคนหนึ่งเรียนสุตะไว้นักหนา จบอะไรต่อมิอะไรมา แต่เอาสุตะที่ได้เรียนไว้มาใช้แทบไม่ได้ไม่สำเร็จสักกรณี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มิ.ย. 2014, 18:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในเรื่องธรรมะ มีตัวอย่างมากกมาย บางคนจำได้แม่นยำ จบหลากหลายคัมภีร์ แต่ก็ได้แค่จำ ไม่เข้าถึงความหมาย เรียนกี่ปีก็ไม่ไปถึงไหน ส่วนอีกคนหนึ่ง ปัญญาไว ได้ฟังพุทธพจน์เพียงหนึ่งคาถา เกิดดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยชนทันที

เป็นอันว่า สมชีวิธรรมเอาแค่ ๔ ข้อ นั่นแหละต้องสมเสมอไปกันได้ มิฉะนั้น ชีวิตร่วมกันจะไม่อาจยั่งยืน

แล้วก็เป็นอันอีกว่า ในขั้นอริยชนนี้ ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ก็มีการพัฒนาอย่างเดียวกัน เสมอกัน เพราะเป็นเรื่องของตัวชีวิตเอง ที่เป็นธรรมชาติ มีความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันเท่ากัน ไปกันจนจบถึงที่สุด ดังในพุทธคาถา แห่งอัจฉราสูตร [สํ.ส.๑๕/๑๔๔/๔๕] ที่ว่า [ละรายละเอียดบ้าง]

ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้นชื่อว่าทิศไม่มีภัย...
ธรรมรถนั้น เราบอกให้ว่า มีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี
ผู้ที่มียานเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษคนใด
เขาย่อมใช้ยานนั้น [ขับไป] ถึงในสำนักแห่งนิพพาน

เมื่อถึงตอนนี้ การพัฒนาทั้งของบุรุษและสตรีก็มาบรรจบกัน อย่างอริยชนที่เป็นโสดาบัน ซึ่งส่วนมากครองเรือน ก็จะมีชีวิตคู่ครองแบบคู่ชีวี ที่อยู่ร่วมกันกลมกลืนราบรื่น มีความเสมออย่างสมานในสุขสามัคคี แล้วก็สามารถหวังที่จะพบกันอีกในภายหน้าไม่ว่าจะเกิดที่ใด เหมือนในกรณีของนกุลบิดา-นกุลมารดาที่ได้ยกมาให้ดูนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2014, 09:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องอย่างนี้ บรรดาชาวพุทธน่าจะเอาใจใส่กันให้มากสักหน่อย การพัฒนาระดับนี้ควรจะถือเป็นสำคัญ เป็นการสร้างสรรค์สังคมระดับพื้นฐานในวงกว้าง เช่น ควรยกย่องคู่ครองตัวอย่าง ที่เดินตามรอยอริยชนเช่นดังนกุลบิดาและนกุลมารดา ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแนวทางไว้แล้วนั้น

อุบาสกอุบาสิกาหลายท่านจะไปสนใจในเรื่องสมถะวิปัสสนาไกลออกไปบ้าง ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว อุบาสิกาเป็นเอตทัคคะทางบำเพ็ญฌานก็มี หรืออุบาสกอนาคามีเป็นเอตทัคคะทางธรรมกถึก หลายท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ให้ความรู้แก่บริษัททั้งสี่ รวมทั้งถวายความรู้แก่พระสงฆ์ ก็เป็นเรื่องกุศลที่สำคัญ เป็นด้านพิเศษ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่ควรละเลยหลงลืมพุทธบริษัททั่วไปและมหาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ ควรสร้างฐานของสังคมไว้ให้มั่นให้ดี โดยตั้งต้นที่ชีวิตคู่ครองและครอบครัวที่เป็นจุดร่วม เป็นศูนย์รวมแหล่งเริ่มต้นแห่งนี้

ช่วยกันใส่ใจยกย่องชีวิตคู่ครองของครอบครัวโสดาบัน ที่อยู่กันด้วยคุณธรรม มีความเสมอสมานสุขในสามัคคี รักกันมั่นคงยืนยงตราบเท่าที่ชีวิตจะสืบต่อไปได้ เอาขึ้นมาชู ให้ประชาชนมีคู่ชีวีอริยชนเป็นแบบอย่างติดไว้ในบรรยากาศของจิตใจ ชนิดที่นึกขึ้นมาได้ทันที

จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงความเอาใจใส่ให้ความสำคัญไว้เป็นแบบอย่าง ถึงกับว่า ในทางสมมติบัญญัติ แห่งวินัยสงฆ์ ถ้าครอบครัวสกุลใด ด้านศรัทธาพัฒนา แต่ด้านโภคะหดหาย ทรงอนุญาตให้สงฆ์พิจารณาสวดประกาศตั้งครอบครัวนั้นเป็นเสขะ เรียกว่าเสกขสมมติ มิให้ภิกษุทั้งหลาย ไปรบกวนหาของขบฉัน นี่เป็นเครื่องบอกให้สนใจไม่ละเลยเรื่องพื้นฐานของสังคม

เท่าที่กล่าวมานี้ สรุปทวนความอีกทีว่า การพัฒนาชีวิตของสตรีเมื่อขึ้นมาถึงขั้นเป็นอริยชน ก็มาบรรจบ กับ บุรุษที่พัฒนาระดับชีวิตของปุถุชน ขึ้นมาอยู่ในขั้นเป็นอริยชน สตรีและบุรุษที่พัฒนาเป็นอริยชนนั้น มีความเสมอ-สมานกัน ไม่เพียงแต่ในชีวิตครอบครัว แต่คือทั่วทั้งสังคม

อย่างไรก็ดี ที่ว่านั้นคือภาวะที่มุ่งจะไปให้ถึงให้เป็น แต่เมื่อยังไปไม่ถึง ดังที่เป็นอยู่ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้พัฒนาอย่างนั้น ก็มาดูสภาพตามที่เป็นอยู่ และที่ปรารถนาจะให้เป็น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2014, 13:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: อนุโมทนาค่ะ

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2014, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดังที่ว่าแล้ว เราแบ่งขั้นการพัฒนาของสังคมมนุษย์ได้ ตามระดับการพัฒนาชีวิตของคนเป็น ๓ ขั้น คือ

๑. ระดับปุถุชนดิบ ที่มนุษย์ทำการตามความชอบใจหรือไม่ชอบใจของตน ใช้กำลังกายกำลังแขน (กายพละ, พาหุพละ) เป็นอำนาจ ทำร้าย ทำลาย แย่งชิง ข่มขี่ ข่มเหง ครอบงำกัน

ในระดับนี้ มนุษย์ไม่มีความเสมอภาค แต่มีสภาพข่มขี่ครอบงำกัน

๒. ระดับนิติธรรม ที่มนุษย์มีปัญญาและใช้ปัญญาบนฐานของคุณธรรมอันเกิดจากการที่ได้พัฒนาจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว บัญญัติจัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกาเป็นระเบียบระบบแบบแผน โดยตกลงที่จะอยู่ร่วมกันตามบัญญัตินั้น ไม่ถืออำนาจด้วยกายพละ หรือพาหุพละที่เคยใช้ทำการตามความชอบใจหรือไม่ชอบใจของตน เป็นอันอยู่กันด้วยนิติธรรม หรือเอานิติธรรมเป็นอำนาจ นับถือกฎหมายเป็นผู้ปกครอง หรือให้รัฐอยู่ใต้กฎหมาย เป็นนิติรัฐ หรืออะไรทำนองนั้น สุดแต่สมมติ คือ ตกลงกันแล้วก็บัญญัติไป

ในระดับนี้ มนุษย์ได้รับความเสมอภาคตามบัญญัติโดยนิติธรรม แต่ยังค่อนไปในทางที่จะเป็นความเสมอ แบบเพ่งจ้องแย่งชิงความเท่ากัน

๓. ระดับอริยธรรม ที่ว่าเมื่อมนุษย์ผู้มีปัญญาบัญญัติจัดตั้งวางระบบให้สังคมอยู่กันด้วยนิติธรรม มีนิติธรรมเป็นอำนาจขึ้นมาได้ เหล่ามนุษย์ก็พัฒนาตนขึ้นมา ให้ตัวเองมีชีวิตจิตปัญญาที่สอดสมกลมกลืนเข้ากับนิติธรรมที่บัญญัติจัดตั้งนั้นได้ โดยสามารถและพร้อมที่จะเป็นอยู่ทำการตามบัญญัติทั้งหลายเหมือนมีนิติธรรมอยู่ในตัวเอง ให้บัญญัติเป็นเพียงข้อที่ตกลงหมายรู้ร่วมกันว่าจะอยู่จะทำอะไรกันอย่างไร สมตามความหมายที่แท้จริงของมัน มิใช่เป็นเครื่องกำหนดกดบังคับจำใจฝืนทำ

ในระดับนี้ มนุษย์มีความเสมอภาคโดยธรรม เต็มความหมายของจิตปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว เป็นความเสมอแบบสมาน หรือเสมอแท้จริง

แน่นอนว่า เราย่อมหวังให้สังคมมนุษย์พัฒนาขึ้นมาถึงระดับที่ ๓ อันนับได้ว่า เป็นสังคมที่ดีอย่างมั่นใจ เป็นที่ซึ่งมวลมนุษย์มีความเสมอและอยู่กันอย่างสมาน ที่เรียกว่าเป็นเสมอแบบสมาน หรือเสมอ - สมาน รวมและร่วมกันได้จริงในความสามัคคี

แต่เท่าที่อารยธรรมปัจจุบันจะหวังให้ และพยายามยันกันไว้อย่างค่อนข้างง่อนแง่น ก็คือ ระดับที่ ๒ ซึ่งเน้นย้ำกันนัก ที่จะให้กฎหมายขึ้นปกครองคน เป็นนิติธรรม [the rule of law] ให้บ้านเมืองอยู่ใต้กฎหมาย เป็นนิติรัฐ [Rechtsstaat; a rule-law state]

ในระดับที่ ๒ นี้ นิติธรรม นอกจากอำนายระบบแห่งการอยู่ร่วมกันแก่สังคมแล้ว ก็ยังเป็นเหมือนแผนที่อันชี้นำบอกทางให้หมู่มนุษย์รู้สาระแนวทางและที่หมายในการพัฒนาตัวและชีวิตของตน โดยนำนิติธรรมมาประสานเข้าเป็นวิถีชีวิตของตน ยกธรรมขึ้นเป็นใหญ่ เหนือความเห็นแก่ตัว ให้ข้างนอก ธรรมแห่งนิติเป็นใหญ่ ข้างใน ธรรมแท้ของอริยะครองใจ

ถ้าไม่ตระหนักถึงความหมายนัยหลังที่ว่านี้ มนุษย์ก็จะไม่สำนึกที่จะพัฒนาตนขึ้นสู่ระดับของอริยธรรม

ในภาวะที่ขาดการพัฒนาเช่นนั้น เขาก็จะอยู่ภายใต้นิติธรรมที่มีความหมายเป็นเครื่องกำหนดกดบังคับหรือจำต้องฝืนใจทำดังที่ว่ามาแล้ว และความพยายามที่จะฝ่าฝืนละเมิดก็ย่อมจะมีกำลังแรงขึ้น โดยสัมพัทธ์กับสภาพจิตปุถุชนดิบ และความขาดสำนึกแห่งการพัฒนาชีวิตของเขานั้น

เวลานี้ สังคมในระดับนิติธรรมจึงอยู่ในภาวะแห่งการแข่งชิงกันของแรงสวนทาง ๒ ด้าน คือ ด้านหนึ่งเป็นการพัฒนาตนของคนขึ้นสู่ระดับชีวิตแห่งอริยธรรม กับ อีกด้านหนึ่งเป็นภาวะของการที่จะเป็นอยู่ทำการโดยถือตามความชอบใจ - ไม่ชอบใจของตน ในระดับชีวิตของปุถุชนดิบ ที่นิติธรรมมิใช่เป็นเนื้อตัวแห่งชีวิตของเขา แต่เป็นภาวะกดบีบที่เขาฝืนใจจำต้องทำ

ในสภาพที่เป็นอยู่บัดนี้ ที่พูดได้ว่าด้านแรกอ่อนแรงมาก เพราะแทบไม่มีแม้แต่ความตระหนักสำนึกรู้ ไม่ต้องพูดถึงความมุ่งมั่นพัฒนา ที่ถือได้ว่าไมมี ในสภาพเช่นนี้ แรงถ่วงดึงลงสู่สภาพสังคมในระดับของปุถุชนดิบ ก็ย่อมมีกำลังแรง และเมื่อเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องพูดถึงว่าสังคมจะพัฒนาขึ้นสู่ระดับของอริยธรรม แม้แต่จะดำรงตัวให้คงอยู่ในระดับแห่งนิติธรรม ก็แสนจะยาก และเมื่อคนไม่พัฒนาตัวขึ้นมาให้ถึง สถานะของความเสมอภาคก็อยู่ด้วยเชื่อรั้งดึง ซึ่งคลอนแคลนหวั่นจะหลุดจะขาดเรื่อยไป

ถ้าแนวโน้มเป็นอย่างนี้ การใช้อำนาจแหงกายพล และพาหุพลในการเป็นอยู่ทำการโดยถือความชอบใจ - ไม่ชอบใจเป็นประมาณ ในระดับของปุถุชนดิบ ก็ย่อมจะแพร่หลายเฟื่องฟูมากขึ้นๆ ซึ่งก็หมายถึงการไม่มีความเสมอกัน มีแต่การแข่ง-ข่มกันด้วยอำนาจของแรงกายแรงแขนดังที่ว่านั้น

เมื่อถึงขั้นนี้ก็ย่อมกระทบต่อสาถนและการพัฒนาของสตรี เพราะสตรีอาศัยความเสมอกันที่นิติธรรมอำนวยให้ แม้ว่าจะยังเป็นแค่ความเสมอแบบเพ่งจ้องจะแย่งชิง ก่อนที่จะขึ้นไปสู่ความเสมอ - สมานในระดับของอริยธรรม ถ้านิติธรรมไม่มี สตรีก็สูญเสียความเสมอภาคไปโดยง่าย

ถึงตรงนี้ ก็รวบรัดลงข้อสรุปได้ว่า บัดนี้ นอกจากต้องเร่งปลุกให้คนตระหนักสำนึกในการที่จะพัฒนาตนของแต่ละคนขึ้นไปสู่อริยธรรมแล้ว สตรีก็จะต้องตื่นตัวเป็นพิเศษในการพัฒนาตนและช่วยพัฒนาคนในขั้นนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 17 มิ.ย. 2014, 12:36, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2014, 16:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เราตั้งนิติธรรมขึ้นไว้ให้เป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพบนฐานของความเสมอภาค แต่นิติธรรมไม่เป็นหลักประกันทีแท้และยั่งยืน ถึงจะวางระบบคุมคานกันมั่นแน่น แต่นิติธรรมก็เป็นหลักประกันที่จบในตัวเองไม่ได้ อริยธรรมที่พัฒนาขึ้นมาในตัวคนต่างหาก เป็นหลักประกันที่แท้ของนิติธรรม

ถ้าคนหลงระเริงประมาท ไม่พัฒนาจิตใจ และปัญญา ให้ตนเป็นคนที่มีอริยธรรม คนนั่นแหละก็จะทำให้นิติธรรมล้มคว่ำตั้งอยู่ไม่ได้

ถ้าพัฒนาคนให้มีอริยธรรมไม่ได้ แต่ว่าคนขาดความรักธรรม ไม่รักความจริง ไม่ถือความถูกต้อง แค่นี้นิติธรรมก็ง่อนแง่น

นิติธรรมที่แท้มิใช่ตัวกำหนดกำกับให้คนมีความเสมอภาคเท่านั้น แต่มันเป็นระบบการสร้างโอกาสและส่งเสริมให้คนพัฒนาตนให้มีอริยธรรม ที่จะเป็นหลักประกันให้นิติธรรมเป็นของแท้และยั่งยืนอยู่ได้

ต้องให้คนพัฒนาตนเข้าในวิถีของอริยธรรมด้วยการศึกษาตั้งแต่ชีวิตช่วงแรก คือตั้งแต่ต้นปฐมวัยที่ยังอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านในครอบครัว จึงจะมีโอกาสซึมซับอริยธรรมเข้าในเนื้อตัวของชีวิตและเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ตัวได้

แน่นอนว่า บุคคลที่จะเป็นแกนของงานการศึกษาพัฒนานี้ ก็คือสตรีผู้เป็นแม่ ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมประสานพาให้ตั้งแต่ชายที่เป็นพ่อมาเข้าร่วมขบวนการศึกษาเพื่อนำบุคคลใหม่เข้าในวิถีแห่งอริยธรรมนั้น

ที่จุดนี้ จึงเป็นการย้ำสำทับบทบาทของสตรีโดยสถานของแม่ในครอบครัว ที่จะเป็นหลักประกันของสังคมในการพัฒนาคนขึ้นสู่อริยธรรม เพราะการพัฒนาอริยธรรมให้ได้ผลแท้ ก็คือเริ่มจากการอบรมเลี้ยงดูของแม่ที่สมานกับพ่อ ในครอบครัวนี้

ในที่สุด สตรีก็เป็นผู้กำไว้ในมือซึ่งชะตากรรมของสังคม และนี่ก็คือจะต้องย้ำเน้นหลักอริยาวัฒิแห่งการพัฒนาสตรีสู่ความเป็นอริยชนนั่นเอง

ถ้าสตรีเป็นอริยสาวิกา มารดาก็เลี้ยงดูบุตรธิดาให้เติบโตงอกงามขึ้นในวิถีของความเป็นอริยชน ที่จะสร้างสังคมในระดับแห่งอริยธรรมให้สำเร็จได้อย่างมั่นใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2014, 17:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องทั้งหมดนี้บอกว่า ความเป็นบุรุษสตรีมิใช่มีสาระแค่จะมาเพ่งจ้องกันอยู่ในการที่จะได้จะเอาอะไรๆ ให้เท่ากัน หรือคอยระวังไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เราไม่ควรจบอยู่แค่ท่าทีเชิงข่มแย่งชิง แต่ควรคิดควรมองกว้างออกไป ให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่จะได้ประโยชน์เต็มที่ของสภาวะ

มนุษย์ที่แยกมีหญิงมีชาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ว่า เมื่อไม่อาจให้สมบูรณ์ในอันเดียวได้ ก็มีทางเลือกที่จะแยกกันไปเอาส่วนต่างมาเติมกัน ให้รวมเป็นเต็ม แต่เมื่อเข้าถึงอริยภาวะ ก็จะมีความเสมอกันแท้ตามสภาวะ

เมื่อยังอยู่ในภาวะปุถุชน แม้จะยังไม่พ้นงานแก้ปัญหาการแข่ง-ข่มระวังความเท่าเทียม แต่น่าจะสำนึกว่า จุดเน้นแท้อยู่ที่การรู้ทันทางเลือกโดยรู้เข้าใจรู้จักว่าจะให้ทางเลือกที่ต่างกันนั้นๆ อย่างไร ให้ได้คุณค่าประโยชน์สูงสุด ด้วยความตระหนักรู้ที่จะเอามาเสริมเติมกัน

ทั้งนี้ คุณค่าและประโยชน์ของแต่ละทางเลือก ที่มากหรือน้อย สูงหรือด้อย ย่อมขึ้นต่อกาลเทศะ โดยมีสมมติบัญญัติครอบอยู่ด้วย

เมือเป็นอริยชน ก็เป็นอยู่และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้สอดคล้องสมควร ด้วยความรู้เท่าทัน ตามที่มันเป็นสมมติบัญญัติ เพื่อสังคมในโลก

เมื่อยังเป็นปุถุชน ก็ไม่ลืมที่จะพัฒนาตนขึ้นสู่อริยภาวะที่ความต่างสลาย ความไม่เท่าละลาย บรรจบเป็นภาวะเสมอสมานอย่างที่ได้กล่าวมา

(จบตอน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2014, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: อนุโมทนาค่ะ

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2014, 05:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เห็นคำถามนี้ ซึ่งตรงหัวข้อนี้พอดีเลย คุณปลีกวิเวก มองคำถามนี้ยังไงครับ


เนื่องจากในสังคมปัจจุบันมีอัตราการหย่าร้างสูง คู่ครองถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่มีผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส พระพุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนเรื่องการเลือกคู่ครองเอาไว้ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกคู่ครองที่เหมาะสม 4 ประการ จะทำให้สามารถครองรักกันได้อย่างราบรื่น และยืดยาว หลักธรรมนี้มีชื่อว่า "สมชีวิตธรรม 4" จึงอยากทราบว่าปัจจุบันมีการนำหลักสมชีวิตธรรม 4 มาใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกคู่มากน้อยเพียงใด ?

http://pantip.com/topic/32215940

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2014, 10:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.ย. 2010, 09:07
โพสต์: 761

แนวปฏิบัติ: อานาปาฯ
งานอดิเรก: ศึกษาพุทธธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ปฏิบัติธรรม
ชื่อเล่น: ปลีกวิเวก
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


tongue สวัสดีค่ะคุณกรัชกาย

ตอบแบบตรงประเด็นเลย หลักสมชีวิตธรรม 4 นั้นไม่ค่อยได้ถูกนำเอามาใช้กับชีวิตการครองเรือนหรือการเลือกคู่ครองในยุคปัจจุบัน...บางคนยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยด้วยซ้ำไป...ตัวปลีกวิเวกเองก็เพิ่งมาทราบว่าพระพุทธเจ้าของเราทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของฆราวาสด้วยก็ตอนที่มาศึกษาพุทธธรรมนี่แหละค่ะ
จากที่เราก็เห็นๆกันว่าปัญหาหย่าร้างของผู้ครองเรือนและปัญหาการเลิกกันของคู่รักในวัยรุ่นมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นมากในเวลานี้...สืบเนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ทราบเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ชีวิตตนและครอบครัวเจริญงอกงามขึ้นมีความสุขขึ้น...คนส่วนใหญ่จึงใช้วิธีแก้ปัญหาบนพื้นฐานของตัณหา คืออยากได้ อยากเอา อยากเป็น เอาความต้องการของตนเป็นใหญ่ เมื่อทุกคนคิดกันอย่างนี้มันก็เลยเกิดการเบียดเบียน แก่งแย่ง ทำเพียงเพื่อสนองความต้องการของตนเอง สังคมโดยรวมก็จะค่อยๆเสื่อมลงในที่สุด

ปลีกวิเวกมองว่าสังคมเราทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ขาดปัญญา...อาศัยความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยการพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล..ไม่ค่อยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมว่าสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่ดีที่จะทำให้ชีวิตเจริญงอกงามเกื้อกูลต่อชีวิตเป็นอย่างไร...ครั้งนึงปลีกวิเวกเองก็เป็นอย่างนั้นเชื่อในภูมิปัญญาของตนเองมากเกินไป...

สถาบันครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากที่จะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกที่ควรให้กับบุตรหลานของเรา ค่อยๆ อบรมสั่งสอนเริ่มจากสิ่งง่ายๆที่เขาพอจะทำได้ตามสติปัญญาตามวัยของเขา...เขาก็จะค่อยๆรู้และปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมไปได้เอง...แต่สิ่งที่สำคัญคนในครอบครัวต้องมีความรู้ก่อน...อันนี้เป็นเรื่องยาก...จะหวังพึ่งแต่ที่โรงเรียนก็ไม่ได้...วิชาพุทธศาสนาก็สอนพอเป็นพิธีไปอย่างนั้น...ยัดเยียดแต่เนื้อหา(รวมทุกวิชา)แต่ไม่ได้สนใจว่าจะได้ผลหรือไม่เด็กๆจะได้ความรู้ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้อย่างไร...เพราะคุณครูบางท่านก็หาคุณธรรมไม่ได้เลยเหมือนกันแต่อย่างว่าแหละค่ะเพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะไปทำอะไรดำรงตำแหน่งอะไรในสังคมก็มาจากสถาบันครอบครัวทั้งนั้น...เขาได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาแบบไหนก็จะเป็นไปในแบบนั้น...

วัดก็เป็นอีกสถาบันนึงที่มีความสำคัญมากต่อคนในชุมชน..ถ้าญาติโยมไปวัดแล้วได้ความรู้ได้ปัญญากลับมาเอาไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ก็จะช่วยเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความรู้ความเข้าใจนำไปสั่งสอนคนในครอบครัวได้ แต่ถ้าไปวัดที่พระท่านก็ไม่รู้เพราะไม่ได้ศึกษา และไม่สอนในสิ่งที่ควรสอน ญาติโยมก็ยิ่งไม่รู้ไปกันใหญ่...

ดูจะตอบยาวเกินประเด็นที่คุณกรัชกายถามไปหน่อย...ปัญหาทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันเหมือนลูกโซ่ที่ต่อเนื่องกันไป...

.....................................................
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุสเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้คู่ความดี คือผู้ที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์และเทวดา
วรรคทอง วรรคธรรม โดยท่าน ว.วชิรเมธี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 32 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร