วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 00:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 36 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2014, 03:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓๑ ลักษณะพุทธศาสนา - จิตตวิสุทธิ (๒)
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร
--------------------------------------------------------------
กรรมฐาน ๘๔,๐๐๐
จะแสดงจิตตวิสุทธิต่อ กรรมฐาน ๔๐ ประการ
และสติปัฏฐาน ๔ ได้แสดงแล้ว ก็เป็นอันว่ายัง
ไม่หมดกรรมฐานแม้สำหรับเพื่อสมาธิอันเรียกว่าสมถกรรมฐาน
พระอาจารย์ผู้อธิบายกรณียเมตตสูตร
ได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้า
ได้ทรงสอนกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐
กรรมฐาน อันจำนวน ๘๔,๐๐๐ นี้
เป็นคำที่พระอาจารย์
ได้แสดงจำนวนพระธรรมขันธ์ เรียกว่า ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ โดยที่ได้แสดง
ไว้ว่าพระไตรปิฏกคือ พระวินัยปิฏก
พระสุตตันนปิฏกและพระอภิธรรมปิฏก
ที่แบ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันจารึกไว้
เป็นตัวอักษรเป็น ๓ หมวด คำว่า “ปิฏก” แปลว่า
ตะกร้า ไตร แปลว่า สาม ติ- ปิ - ฏะ - กะ ไตรปิฏก
ก็แปลว่า ๓ ตะกร้า เหมือนอย่างว่าเอาพระวินัยมาใส่
ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าวินัยปิฏก เอาพระสูตรมาใส่
ไว้ตะกร้าหนึ่ง ก็เรียกว่าสุตตันตปิฏก
เอาพระอภิธรรมมาใส่ไว้ตะกร้าหนึ่ง
ก็เรียกว่าอภิธรรมปิฏก ความหมายก็คือว่าหมวด
หรือกอง เช่นเดียว
กับคำว่าธรรมขันธ์ที่แปลว่ากองของธรรมอันหมาย
ความว่าธัมมะหลายๆ ข้อที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็รวม
อยู่เป็นหมวดเดียวกัน ก็
เป็นธรรมขันธ์อันหนึ่งเรียกว่ากองแห่งธรรม
สมมติว่าธัมมะหมวดที่มีอุปการะมากในทุกะหมวด ๒ ก็มี
๒ ข้อ คือสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ก็
เป็นธรรมขันธ์หนึ่ง คือกองแห่งธรรมกองหนึ่งดั่งนี้
เป็นต้น และ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้เอา ๒ หาร
ก็เป็น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คราวนี้
ส่วนวินัยปิฏกกับสุตตันตปิฏกนั้น
ก็เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาแบ่งเป็น ๒ เมื่อแบ่งเป็น ๒
ส่วนหนึ่งก็เป็น ๒๑,๐๐๐ เพราะฉะนั้นพระวินัยปิฏกจึงมี
๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฏกก็มี
๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมเข้าก็เป็น ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ แต่ว่าจะมีใครเคยนับหรือเปล่า
ไม่ทราบ แต่ก็เป็นจำนวนที่พระอาจารย์ท่านตั้งเอาไว้
ก็เห็นจะต้องถือเอาความหมายว่ามีมากนั้นเอง
และพระอาจารย์
ผู้อธิบายพระสูตรดังกล่าวข้างต้น ท่านบอกว่า
พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานภิกษุทั้งหลายนั้น
๘๔,๐๐๐ กรรมฐาน หรือ ๘๔,๐๐๐ ข้อ ก็
เป็นอันว่าพระธรรมขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นกรรมฐาน
ทั้งนั้น
อันที่จริงพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าทุกๆ อย่างผู้ที่
เป็นบัณฑิตถือเป็นข้อกรรมฐานได้ทั้งนั้น
คือว่าอารมณ์ทั้ง ๖ ซึ่งจิตรับทางทวารทั้ง ๖
ดังที่กล่าวมาแล้วอยู่ทุกๆ วัน ทุกๆ เวลานั้น ก็
เป็นกรรมฐานได้ทั้งหมด รูปที่ตาเห็นทั้งหมด
เสียงที่หูได้ยินทั้งหมด
กลิ่นรสโผฏฐัพพะที่จมูกลิ้นกายได้ทราบทั้งหมด
และธัมมะคือเรื่องราวที่ใจได้รู้ได้คิดทั้งหมด
บัณฑิตถือเป็นกรรมฐานได้ทั้งนั้น
เพราะว่าเมื่อมีสติกำหนดในอารมณ์ทั้งปวงเหล่านั้น
อยู่ทุกอิริยาบถ อารมณ์ทั้งปวงเหล่านั้นก็
เป็นกรรมฐานทั้งนั้น ดังเช่นที่มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุ
หรือภิกษุณีรูปหนึ่งท่านไปบิณฑบาต กลับ
จากบิณฑบาตก็เอาน้ำล้างเท้า น้ำที่เทล้างเท้านั้น
เมื่อเทลงไปทีแรกก็ปรากฏเป็นน้ำไหล แล้วค่อยๆ
ซึมไหลไปในแผ่นดินหมด
ท่านก็มาจับอาการที่น้ำไหลซึมลงไปในแผ่นดินหมด
นั้นมาพิจารณา ว่าทุกอย่างที่เป็นสังขารก็เป็นสิ่งที่เกิด
และดับ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมอันที่จริงนั้นเมื่อ
เข้ามาบวชก็ต้องบิณฑบาตกันอยู่ทุกวันๆ และก็
ต้องมีน้ำล้างเท้ากันอยู่ทุกวันๆ แต่ในวันอื่นนั้นไม่
ได้ตั้งสติที่จะพิจารณา สติไม่เกิดก็ไม่เป็นกรรมฐาน
แต่เมื่อสติเกิดขึ้นจิตที่กำหนดก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์
เป็นจิตตวิสุทธิขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจึง
ได้ปัญญามองเห็นเกิดดับจากน้ำที่เทล้างเท้า ซึ่ง
เป็นน้ำที่ไหลแล้วก็ค่อยๆ ซึมหายไปในแผ่นดินหมด
อันแสดงว่าสังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่เกิดดับ
ชีวิตนี้ก็เกิดดับดั่งนั้น ก็เป็นตัวปัญญาซึ่ง
เป็นวิปัสสนาขึ้นมา
หรือแม้ในสมัยหลังนี้ที่ท่านแสดง
ถึงพระเถระรูปหนึ่งที่มีชาวบ้านหลังวัดเขาด่ากัน
ท่านก็เอาธูปเทียนมาจุดพนมมือฟัง ว่านานๆ จะ
ได้ยินเสียงด่าแบบนี้สักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นแม้ที่เสียงด่า
กันนี้ก็เป็นกรรมฐานเหมือนกัน
ในเมื่อกำหนดพิจารณาลงไป
ว่าคนเราเมื่อโทสะเกิดขึ้นก็เป็นดั่งนี้ ด่า
กันโครมครามอย่างนี้ ตีกันด่ากัน เพราะฉะนั้น
ถ้าใครเห็นเป็นกรรมฐานในคำด่า
ได้ก็แปลว่าโทสะก็สงบ จิตก็บริสุทธิ์
แม้เสียงเพลงที่ร้องก็มีเล่าไว้
ว่าพระเถระรูปหนึ่งไปบิณฑบาต
ได้ยินเสียงเพลงที่ชาวบ้านร้อง ก็กำหนดเสียงเพลง
และเนื้อเพลงที่แสดงถึงความเกิดดับ คือว่าท่านไปจับ
ความไปในความเกิดดับ แต่เนื้อเพลงนั้น
จะว่าอย่างไรท่านไม่ทราบ แต่ว่าท่านจับความไป
ในทางสิ่งที่แสดงถึงการเกิดดับ ก็เป็นกรรมฐานขึ้น
ได้เหมือนกัน ก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นได้เหมือนกัน ก็
เป็นอันว่าทั้งเสียงด่าทั้งเสียงร้องเพลงนั้นบัณฑิตถือ
เป็นกรรมฐานได้ทั้งนั้น ให้สำเร็จประโยชน์เหมือน
กัน เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ากรรมฐานนั้นมี
อยู่รอบตัวเมื่อรู้จักที่จะคิดให้ถูกทางของกรรมฐาน
แล้ว ก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น เพราะฉะ
นั้นที่พระอาจารย์ว่าพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน
๘๔,๐๐๐ แก่ภิกษุทั้งหลายนั้นก็มีเหตุผล
คือว่าทรงจับเรื่องที่บังเกิดขึ้นเป็นกรรมฐานทั้งนั้น
ผู้ที่ได้อ่านเรื่องธรรมบท หากมาคิดในแง่นี้แล้วก็
จะเห็นว่าเป็นเช่นนั้น
การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่กล่าว
ไว้ว่าอาการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ๓
อย่างในนวโกวาทคือ ๑. ทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้
๒. ทรงแสดงธรรมมีนิทาน คือเหตุที่ตรองตาม
ให้เห็นจริงได้ และ ๓.
ทรงแสดงธรรมที่มีปาฏิหาริย์ คือผู้ฟังย่อม
ได้รับผลตามสมควรแก่ความปฏิบัติ อันนี้เป็น
ความจริง ปฏิบัติได้ผลจริง
และข้อที่ว่าทรงแสดงธรรมเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริง
ในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นนั้น
ก็คือว่าธัมมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งสิ้นนั้น
ทรงแสดงในตนเอง ไม่ใช่ทรงแสดงที่อื่น
เหมือนอย่างนายแพทย์ที่ศึกษาวิชาแพทย์นั้นก็ศึกษาภาย
ในร่างกายของมนุษย์และของสัตว์ทั้งนั้น
และเมื่อประกอบยารักษา
ก็ประกอบยารักษาร่างกายของสัตว์และคนทั้งนั้น
ไม่ใช่ที่อื่น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมภาย
ในดั่งนี้ จึงรู้ได้เห็นได้ด้วยตัวเอง ถ้าทรงแสดงที่
อื่นข้างนอก เช่นทรงแสดงเรื่องโลกมีที่สุดโลก
ไม่มีทีสุดเป็นต้น ผู้ฟังก็ได้แต่เชื่อเท่านั้น หรือไม่เช่น
นั้นก็ไม่เชื่อเอาเสียเลย ที่จะรู้นั้นไม่มี ได้แต่เชื่อ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงพยากรณ์
ในเรื่องภายนอกทั้งหลายดังกล่าว
ทรงพยากรณ์คือแสดงแก้ไขแต่ภาย
ในดังที่แสดงว่าทรงบัญญัติทุกข์ บัญญัติเหตุเกิดทุกข์
บัญญัติความดับทุกข์ บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึง
ความดับทุกข์ ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง
ในพระบาลีนั้นท่านใช้คำว่า ทรงแสดงโลก
ทรงแสดงเหตุเกิดโลก ทรงแสดงความดับโลก
ทรงแสดงทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ก็หมาย
ถึงทรงแสดงทุกข์เป็นต้นนั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงรู้
ได้เห็นได้
และทรงแสดงธรรมมีนิทานคือเหตุที่
ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ คำว่า “นิทาน” นี้
เป็นคำบาลีที่ท่านใช้ ว่าทรงแสดงธรรมมีนิทาน
แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเป็นนิทานที่เล่าอ้างกัน
เป็นเรื่อง แต่หมายความว่ามีเหตุที่ทรงปรารภ
และเหตุที่ปรารภนั้นมีแสดงไว้ในธรรมบทมาก
คือบางทีก็เสด็จไปบิณฑบาต เห็นเด็กกำลังตีงูกัน
ก็ทรงจับขึ้นมาแสดงเป็นธัมมะสั่งสอน ซึ่งโดย
ความก็คือว่าทุกๆ สัตว์บุคคลต่างก็รักชีวิตของตน
ต้องการความสุขอยู่ด้วยกัน จึงไม่ควรทำร้ายกัน
ไม่ควรจะก่อทุกข์ให้แก่กัน
ก็ทรงปรารภเอาเหตุที่เกิดขึ้นมาจับเป็นธัมมะสั่งสอน
ก็เหมือนอย่างที่เล่าทีแรกว่า ภิกษุ
หรือภิกษุณีรูปหนึ่งท่านกลับจากบิณฑบาตล้างเท้า
ก็เห็นน้ำซึมหายไปโดยลำดับ ก็ได้ความคิดถึง
ความเกิดดับของสังขารทั้งหลายดังที่เล่ามานั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอาเรื่องที่เกิดขึ้น
ในปัจจุบันนี้แหละเป็นตัวนิทานคือตัวเหตุ มาแสดง
เป็นธัมมะแล้ว ทุกๆ เรื่องนั้นก็เป็นกรรมฐานทั้งนั้น
และก็โดยเฉพาะทุกคนเมื่อเป็นบัณฑิตคือเป็นผู้ฉลาด
ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ก็ย่อม
สามารถจับเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาสอนตัวเอง
เป็นกรรมฐานขึ้นได้ทุกๆ อย่างเหมือนกัน เพราะฉะ
นั้นเรื่องที่เป็นกรรมฐานนั้นจึงมีมากมาย ใช้ได้ทั้งนั้น
ดั่งที่กล่าวมาแล้วว่าด่าก็ใช้ได้ ร้องเพลงก็เป็นได้
ดั่งนี้เป็นต้น
สรุปหลักปฏิบัติกรรมฐาน ๕ ประการ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัส
ไว้อีกปริยายหนึ่ง สรุปข้อที่ปฏิบัติเป็นกรรมฐาน
ในการที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นจิตตวิสุทธิไว้เพียง ๕
ประการ เป็นหลัก คือ
ประการที่ ๑ เพื่อสงบกิเลสกองราคะ
อันกิเลสกองราคะนั้นย่อมเกิดขึ้น
ในอารมณ์ที่ยึดถือว่าสวยงาม เพราะฉะนั้นก็
ใช้กรรมฐานสำหรับพิจารณาว่าไม่สวยงาม
เช่นกายคตาสติ สติพิจารณากาย ดังที่
ในสติปัฏฐานแสดงไว้ในหมวดปฏิกูลปัพพะ ข้อที่ว่า
ด้วยสิ่งปฏิกูลที่พระอุปัชฌาย์เอามาสอนนาค
ผมขนเล็บฟันหนังว่าเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สวยงาม
หรือว่าพิจารณาอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดังที่
ได้เคยแสดงมาแล้ว เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้จิตสงบ
จากราคะได้ เพราะว่าราคะนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่
ในอารมณ์ที่เห็นว่าสวยงาม
หรืออารมณ์ที่ยึดถือว่างาม เพราะฉะนั้นก็
ต้องพิจารณาว่าไม่งามในทางตรงกันข้าม ซึ่งเป็นสัจ
จะคือความจริง เพราะว่าสิ่งที่ยึดถือว่างาม
นั้นอันที่จริงไม่งาม เพราะมองในแง่ที่ปฏิกูลต่างๆ
ของผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น
ข้อที่ ๒ เพื่อจะสงบกองกิเลสโทสะ อันกิเลสกองโทสะ
นั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ยึดถือว่าไม่งามอันตรง
กันข้าม เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ต้องใช้กรรมฐานที่จะทำ
ให้เห็นว่างาม จึงได้ตรัสสอน
ให้เจริญเมตตาแผ่จิตออกไปให้มีความสุข ไม่มีภัย
ไม่มีเวรไม่มีทุกข์ รักษาตนให้สวัสดีอันตรงกันข้าม
กับโทสะ เพราะเมตตานั้นจะทำ
ให้จิตกลับอ่อนโยนเห็นว่างาม ในบุคคลหรือ
ในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะนั้น ดังจะพึงเห็นได้
ว่าคนที่มีเมตตาต่อกันนั้น จะมองเห็นกันด้วยสายตาที่
เป็นมิตรจิตใจที่เป็นมิตร ไม่ขัดลูกตาก็คืองาม
เหมือนอย่างพ่อแม่เห็นลูก พ่อแม่เต็มไปด้วยเมตตา
ในลูก เพราะเห็นว่าลูกงามไม่ขัดลูกตา มีความรัก
แม้ว่าหน้าตาจะเขลอะขละอย่างไรหรือว่าลูก
จะเจ็บป่วยน่าเกลียดอย่างไรก็ยังเห็นว่างามอยู่นั่นเอง
ด้วยความรัก อาบน้ำให้ได้ปฏิบัติได้รักษาให้ได้
ไม่รังเกียจในสิ่งไม่สะอาดต่างๆ ของร่างกาย ทำ
ให้ลูกได้ นี่เป็นข้อ ๒ และเมื่อทำในข้อ ๒ นี้ก็
จะดับโทสะได้
เพราะฉะนั้นให้เทียบเคียงกันในระหว่าง ๒ ข้อก่อน
คือข้อ ๑ นั้นให้เห็นว่าไม่งามในอารมณ์อัน
เป็นที่ตั้งของราคะ เพราะว่าราคะนั้นตั้งอยู่
ในอารมณ์ที่ยึดถือว่างาม เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้
ด้วยกรรมฐานที่พิจารณาว่าไม่งาม แต่อันที่จริงก็
ไม่งาม คือมองในแง่ที่ไม่งามในส่วนที่ไม่งาม เพื่อ
จะดับกิเลสกองราคะ คราวนี้มาถึงข้อ ๒
กิเลสกองโทสะกลับใช้กรรมฐานข้อเมตตา
ให้เห็นว่างาม เพราะว่าโทสะนั้นเกิดขึ้น
ในอารมณ์ที่เห็นว่าไม่งามขัดลูกตา ทำให้ขัดใจ
เพราะฉะนั้นเมื่อได้เมตตาแล้วก็จะดับโทสะได้
ความที่เห็นว่าไม่งามอันเป็นที่ตั้งของโทสะก็หายไป
เพราะฉะนั้นจึงตรงกันข้าม
คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ ให้หัดทำกรรมฐานทั้ง ๒ อย่าง
คือว่าในอารมณ์บางอย่างนั้นเป็นที่ตั้งคือชนวน
ให้เกิดโทสะก็มี เป็นชนวนในเกิดราคะก็มี เพราะฉะ
นั้นก็หัดทำกรรมฐานในอารมณ์เช่นนั้นว่าเป็นสิ่งที่
ไม่งามได้ คือให้สงบได้ทั้งราคะทั้งโทสะ
เพราะว่าแม้กรรมฐานที่กำหนดพิจารณาว่าไม่งาม
เช่นกายคตาสติดังกล่าว หรืออสุภกรรมฐาน
พิจารณาซากศพก็ย่อมระงับได้ทั้ง ๒ เหมือนกัน
ระงับกองราคะก็ได้ ระงับกองโทสะก็ได้ อันหมาย
ความว่าเมื่อปฏิบัติ
ในกรรมฐานสำหรับระงับกิเลสกองราคะ
โดยตรงคือกายคตาสติ สติที่พิจารณากายว่า
ไม่งดงาม ก็สงบกิเลสกองราคะลงไปได้ แต่ว่าก็อย่า
ให้กิเลสกองโทสะเกิดขึ้นด้วย
เพราะบางทีกิเลสกองโทสะนั้นบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ไม่รู้ว่าเป็นโทสะ แต่อันที่จริงเป็นโทสะ
เป็นการประทุษร้าย
ดังเช่นที่มีเล่าว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานก็กายคตาสตินี่แหละ
ทำให้ภิกษุทั้งหลายมองเห็นว่าร่างกายนี้
เป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด เต็มไปด้วยของปฏิกูล
ไม่สะอาดต่างๆ กิเลสกองราคะก็สงบ
แต่คราวนี้มันเกินไป
คือเกิดรังเกียจร่างกายขึ้นมาว่าสกปรก อยู่
กับสิ่งที่สกปรกทุกวัน ทำลายมันเสียดีกว่า
ก็เลยฆ่าตัวตาย ดังนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึง
ต้องมีเมตตาประกอบด้วย เพราะว่าชีวิตร่างกายนี้
ต้องเมตตา พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ฆ่า แต่ให้เลี้ยงเอา
ไว้เพื่อทำประโยชน์ต่อไป อย่างเมตตาที่สอนนั้นก็สอน
ให้มีเมตตาเอ็นดูอยู่ในชีวิตทั้งหลาย ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ให้ฆ่า ไม่ให้ทำลาย การฆ่าตัวตายนี้ก็
เป็นโทสะเหมือนกัน แต่เป็นโทสะอย่างละเอียด มัน
เป็นโมหะนั่นแหละมากกว่า แต่อาการที่ทำลายนั้นก็
เป็นเรื่องคล้ายๆ
ของโทสะที่แปลว่าเครื่องประทุษร้ายเพราะฉะนั้น
ต้องอย่าให้เลยเถิดไป ต้องมีเมตตามากำกับไว้ด้วย
บางทีถ้าเบื่อๆ หนักเข้าไปก็โยนทิ้ง นี่ก็ไม่ได้ ไม่ควรที่
จะโยนทิ้ง ต้องเลี้ยงไว้ต้องรักษาไว้
คราวนี้มาถึงข้อที่ ๔ ก็เหมือนกัน คือว่ามุ่งเพื่อที่
จะทำลายโทสะดับโทสะ ก็เจริญเมตตา แต่เมื่อ
ได้เมตตาแล้วอย่าให้เมตตานั้นกลายเป็นราคะขึ้นมา
เพราะฉะนั้นจึงให้พิจารณาให้เห็นความปฏิกูลคู่
กันไปด้วย ดังเช่นเจริญเมตตาไปในสัตว์บุคคล
ทั้งหลาย ก็เกิดจิตเมตตามีความรักใคร่ปรารถนา
ให้เป็นสุข แต่บางทีก็เลยเกิดราคะในสัตว์บุคคลนั้น
ด้วย ดั่งนี้ก็ไม่ถูกต้อง เมตตาก็กลายเป็นราคะไป
เพราะฉะนั้นก็ต้องให้พิจารณาในข้อที่เป็นของ
ไม่งามประกอบกันไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องแบ่ง
กันว่าส่วนไหนควรพิจารณาไปในทางที่ไม่งาม
ส่วนไหนควรพิจารณาว่างาม อย่าให้เป็นกิเลสทั้ง ๒
ฝ่าย และเพื่อให้ไม่เป็นกิเลสทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น จึง
ต้องมีกรรมฐานคู่กันอยู่ดั่งนี้ สำหรับที่จะช่วยกัน
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงต้องหัดไว้ทั้ง ๒
ส่วน หัดทำกรรมฐานในด้านพิจารณาให้เห็นว่า
ไม่งาม เช่นกายคตาสติ อสุภกรรมฐานด้วย
และก็หัดพิจารณาในด้านว่างามคือเมตตาไว้ด้วย
เพราะเมตตาจะเห็นว่างาม แม้ในวัตถุสิ่งเดียวกันนั้น
เช่นมุ่งที่จะสงบราคะก่อน พิจารณาว่าไม่งาม แต่ก็
ให้มีเมตตากำกับด้วย เพื่อจะได้ไม่ทำลาย แล้วก็ใน
ส่วนที่เพื่อทำลายโทสะก็เหมือนกัน แผ่เมตตาไปเพื่อที่
จะระงับโทสะทำลายโทสะก็ต้องหัดที่จะพิจารณา
ในด้านที่เป็นกายคตาสติหรืออสุภกรรมฐาน คือ
ในทางที่เห็นว่าไม่งามนั้นด้วย เพื่อไม่ให้เมตตากลาย
เป็นราคะ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๔
คราวนี้มาถึงข้อที่ ๕ เมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้แล้วก็เว้นได้ทั้ง
๒ คือไม่ต้องใช้กรรมฐานเพื่อระงับราคะ คือ
ในทางพิจารณาว่าไม่งาม
และกรรมฐานเพื่อระงับโทสะ คือ
ในทางพิจารณาว่างามอันเป็นทางตรงกันข้ามกันนั้น
เว้นได้เสียทั้ง ๒ อย่าง และทำจิตให้เป็นอุเบกขา คือ
เข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในกลางในภายใน มีสติความระลึก
ได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวกำกับอยู่ เป็นการตั้งสงบ
อยู่ภายในเป็นอุเบกขา ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๕
นี้เป็นวิธีปฏิบัติทำจิตตวิสุทธิ์ คือทำจิต
ให้บริสุทธิ์ตามที่พระพุทธเจ้า
ได้ทรงสั่งสอนสรุปเอาไว้ ว่าวิธีปฏิบัตินั้นมี ๕
ประการดั่งนี้ กรรมฐานทั้งหมดจะมีกี่ข้อก็ตาม
ก็เพื่อให้ได้ผลตามหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้
๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๖
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ
สุวฑฺฒโน)
บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่อง
ในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2014, 03:44 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓๒ ลักษณะพุทธศาสนา - ทิฏฐิวิสุทธิ
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร
--------------------------------------------------------------
การชำระทิฏฐิเป็นวิปัสสนากรรมฐาน
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๓ คือทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่ง
ความเห็น วิสุทธิข้อที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งศีล ข้อที่ ๒ จิตตวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งจิต ก็คือศีลและสมาธิ ข้อที่ ๑
คือศีลนั้นต้องมีเป็นภาคพื้น ข้อที่ ๒ คือสมาธิต้องมี
เป็นบาทของวิปัสสนา คือของปัญญา และตั้งแต่ข้อที่ ๓
ไปจนถึงข้อที่ ๗ เป็นตัวปัญญาหรือเป็นตัววิปัสสนา
เพราะฉะนั้นการแสดงอธิบายวิปัสสนากรรมฐาน
หรือปัญญาในไตรสิกขา จึงอธิบายได้
ด้วยวิสุทธิตั้งแต่ข้อ ๓ จนถึงข้อที่ ๗ รวมเป็น ๕ ข้อ
ข้อที่ ๓ นี้เป็นตัววิปัสสนาข้อแรก คือจะ
ต้องปฏิบัติทำทิฏฐิคือความเห็นให้หมดจดบริสุทธิ์ก่อน
อันทิฏฐิคือความเห็นนั้น สำหรับขั้นที่ทำให้บริสุทธิ์
ในที่นี้ ก็คือความเห็นในตัววิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา
คำว่า “ภูมิ” นั้นเราใช้เรียกกันว่าภูมิชั้น
หรือว่าภูมิแผ่นดิน ภูมิของวิปัสสนา
นั้นก็คืออารมณ์ของวิปัสสนา ที่ตั้งของวิปัสสนา
ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น จะต้อง
ได้วิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของวิปัสสนา
เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา อันเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ
และวิปัสสนาภูมิในที่นี้หมาย
ถึงการปฏิบัติชำระทิฏฐิคือความเห็นเสียก่อน
อันการชำระทิฏฐิคือความเห็นเสียก่อนนั้น ก็จะ
ต้องมีศีลมีสมาธิเป็นพื้นฐานเป็นบาทมาโดยลำดับ
คือว่าศีลนั้นเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
ราคะโทสะโมหะที่เป็นอย่างหยาบ อันเป็นเหตุ
ให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจาทางใจ และก็จะ
ต้องมีสมาธิสำหรับที่จะสงบ
หรือชำระกิเลสอย่างกลางคือนิวรณ์
ก็คือราคะโทสะโมหะซึ่งเป็นขั้นนิวรณ์ที่เกิดขึ้นในใจ
เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะสงบตั้งมั่นลงได้ ก็น้อมจิตที่
เป็นสมาธิอันมีศีลเป็นพื้นฐานนี้ซึ่งเป็นจิตที่สงบ
มากำหนดพิจารณาดูอัตภาพนี้ คือความ
เป็นอัตตาตัวตนนี้ ว่าอัตภาพนี้คือความเป็นอัตตาตัวตนนี้
เป็นอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวตน
เป็นสัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล
อัตตสัญญากับสัตตสัญญานี้ กล่าวรวมกัน
ในภาษาไทยอย่างง่ายๆ ก็คือความ
เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ความสำคัญหมายว่า
เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
รู้ขันธ์ ๕ หรือนามรูป
อันความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเรา
เขานี้เกิดขึ้นที่ไหน ก็เกิดขึ้นที่กองทั้ง ๕
ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์
กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา
สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
เพราะเหตุที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ นี้ว่า เอตํ มม นี่
เป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ เอโส เมอตฺตา นี่
เป็นอัตตาตัวตนของเรา หรือกล่าวสั้นว่า
เป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕
จึงชื่อว่าอุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือดังกล่าว
ฉะนั้นอัตภาพนี้ก็คือตัวอัตตาสัญญาสัตตสัญญา
ซึ่งตั้งขึ้นที่ขันธ์ ๕ นี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา
จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้น
จึงกำหนดพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นอย่างนี้
ก็คือเป็นมหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ อันได้แก่ธาตุทั้ง ๔
คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เรียกว่ามหาภูตรูป
และอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คืออาศัยซึ่งมหาภูตรูป
นั้นอยู่ เป็นต้นว่าประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท
โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท
กายประสาท วิสัยคือสิ่งที่ต่อกันกับประสาททั้ง ๕ นั้น
ก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ดั่งนี้
เป็นต้น ก็เป็นกองหนึ่งเรียกว่ารูปขันธ์ กองรูป เวทนา
เป็นอย่างนี้ คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือ
เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ก็รวม
เป็นกองหนึ่งเรียกว่าเวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญา
เป็นอย่างนี้ คือความจำหมายต่างๆ
จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำเรื่องราว
ทั้งหลาย ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าสัญญาขันธ์
กองสัญญา สังขารเป็นอย่างนี้ คือความปรุงคิดหรือ
ความคิดปรุงต่างๆ
คิดปรุงรูปคิดปรุงเสียงคิดปรุงกลิ่นคิดปรุงรสคิดปรุงโผฏฐัพพะคิดปรุงเรื่องราวต่างๆ
ก็รวมเป็นกองหนึ่งเรียกว่าสังขารขันธ์ กองสังขาร
วิญญาณเป็นอย่างนี้ คือว่ารู้เห็น
คือรู้รูปทางตาที่เรียกว่าเห็น
รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยินหรือได้ฟัง
ทราบกลิ่นทางจมูก ทราบรสทางลิ้น
ทราบสิ่งถูกต้องทางกาย
และรู้เรื่องที่คิดที่นึกทางมโนคือใจ ก็รวม
เป็นกองหนึ่งเรียกว่าวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
เรียกว่ารูปก็เพราะเป็นสิ่งที่
ต้องชำรุดทรุดโทรมไป และอีก ๔ กอง
นั้นรวมเรียกว่านาม ก็เพราะ
เป็นสิ่งที่น้อมไปของจิตเพื่อรับอารมณ์ทางทวารทั้ง
๖ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เพราะว่าจิตที่น้อมออกรับอารมณ์นั้นก็คือรับรู้
นั้นเอง เป็นเวทนาก็เป็นรู้อย่างหนึ่ง คือว่ารู้เป็นสุข
เป็นทุกข์เป็นกลางๆ ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข
เป็นสัญญาก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้จำหมาย
เป็นสังขารก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด
เป็นวิญญาณก็รู้อย่างหนึ่งคือรู้ที่เรียกว่าเห็นที่เรียกว่า
ได้ยินเป็นต้น จึงเรียกว่านามดูให้รู้จักว่ารูป
เป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขาร
เป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ รวมเข้าก็คือว่ารูป
เป็นอย่างนี้ นามเป็นอย่างนี้ ดูให้รู้จัก
รู้อายตนะ ๑๒
และก็ดูให้รู้จักสืบไปถึงอายตนะ ๖ ก็คืออายตนะภาย
ใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ที่ต่อกัน ว่าตาเป็นอย่างนี้ รูป
เป็นอย่างนี้ หูเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ จมูกเป็นอย่างนี้
กลิ่นเป็นอย่างนี้ ลิ้นเป็นอย่างนี้ รสเป็นอย่างนี้ กาย
เป็นอย่างนี้ โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องเป็นอย่างนี้
มโนคือใจเป็นอย่างนี้ ธัมมะคือเรื่องราวเป็นอย่างนี้
อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ก็เป็น ๑๒
รู้ธาตุ ๑๘
ต่อจากนี้ก็ดูให้รู้จักธาตุทั้ง ๑๘ ธาตุทั้ง ๑๘ นั้นก็คือ จักขุ
ตา รูปและจักขุวิญญาณ โสตะ หู เสียง
และโสตวิญญาณ ฆานะ จมูก กลิ่นและฆานวิญญาณ
ชิวหา ลิ้น รสและชิวหาวิญญาณ กาย โผฏฐัพพะ
และกายวิญญาณ มโน ใจ ธัมมะเรื่องราว
และมโนวิญญาณ ๖ กับ ๓ ก็เป็น ๑๘ เรียกว่าธาตุ ๑๘
ที่เรียกว่าธาตุ ๑๘ นั้นก็โดยอธิบายว่า ทั้งหมดนี้ทรง
หรือดำรงภาวะของตนอยู่ตามประเภท
เช่นจักขุคือตาก็ทรงภาวะเป็นตาดำรงภาวะเป็นตาอยู่
รูปก็เช่นเดียวกัน จักขุวิญญาณก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นจึงมีจักขุคือตา มีรูปและมีจักขุวิญญาณ
ถ้าหากว่าไม่มีความทรงภาวะของตนอยู่แล้ว ก็จะ
ไม่ปรากฏว่ามีจักขุคือตา ไม่ปรากฏว่ามีรูป
และมีจักขุวิญญาณ
ฉะนั้นจึงเรียกว่าธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ แต่
ไม่ใช่หมายความว่าทรงอยู่หรือดำรงอยู่ตลอดไป
หมายความว่าทรงอยู่ดำรงอยู่ในขณะที่ตั้งอยู่
เพราะว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้ง
นั้น หรือเรียกว่าสังขตธรรม
ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว
ซึ่งมีลักษณะ ๓ คือมีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความตั้ง
อยู่ปรากฏ และเมื่อตั้ง
อยู่ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่าง
อื่นปรากฏ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ ๒ คือความตั้ง
อยู่ปรากฏนั้น ก็เพราะมีความเป็นธาตุคือยังตั้งอยู่ได้
แม้ว่าจะตั้งอยู่แล้วก็จะ
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็ตามแล้วในที่สุดก็
ต้องแตกสลายไปก็ตาม แต่ก็ยังมีภาวะที่ตั้งอยู่
ตรงนี้แหละที่มีความเป็นธาตุ จึงรู้ว่าธาตุ ๑๘
รู้สภาพหรือสภาวธรรม
และต่อจากนี้ก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร
ความที่มากำหนดดูให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป
และอายตนะ ๑๒ กับธาตุ ๑๘ ดั่งนี้ เรียกว่า
เป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา และกำหนด
ให้รู้จักว่าทั้งหมดนี้เป็น สภาวธรรม สภาวธรรม
นั้นแปลว่าธรรมที่มีภาวะของตนเอง
ที่เรียกว่ามีภาวะของตนเองนั้นก็คือว่ามีความเกิดขึ้น มี
ความตั้งอยู่ และเมื่อตั้งอยู่ก็มี
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปของตนเอง
คือมีลักษณะของตนเองดังที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๓ นั้น
และคำที่ว่าของตนเองนี้ ก็ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัย แต่ว่ามีเหตุมีปัจจัยซึ่งจะกล่าวในข้อต่อไป
สำหรับในข้อนี้ยังไม่กล่าวถึงเหตุถึงปัจจัย ก็
เพราะเหตุและปัจจัยนั้นเอง จึงทำให้มี
ความเกิดขึ้นปรากฏเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น
และเหตุปัจจัยนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยที่เนื่องกับสัตว์บุคคล
ไม่ใช่ว่าไม่เนื่องกับสัตว์บุคคล แต่
ความที่มีสัตว์บุคคลมาเนื่องนี้ ก็มาเนื่องตามความ
เป็นไปที่เรียกว่าสภาพภาวะของตนนั้น คือต้องมาเข้า
ในวงของเหตุผลที่เป็นตัวสภาพคือตัวภาวะของตน มา
เข้าวงจรหรือวงกลมหรือเข้าทางของเหตุผลที่
เป็นภาวะของตน เอาแต่เพียงว่า
ความเกิดขึ้นของขันธ์อายตนะธาตุดังกล่าวนี้ แม้ว่า
จะมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ก็ยังต้องประกอบ
กับเหตุปัจจัยอื่นๆ เข้ามาอีก เช่นว่าจะ
ต้องมีสัตว์ที่เรียกว่าคันธัพพะ เข้ามาถือปฏิสนธิ
โดยที่สัตว์ผู้มาถือปฏิสนธินั้นยังมีกิเลสและมีกรรม
ซึ่งเป็นวัฏฏะ มีกรรมเป็นชนกกรรม กรรมที่ทำ
ให้เกิด จึงมาถือปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา
และก็มีความก่อกำเนิดขึ้นมาไปตามภาวะของตน
รู้สามัญลักษณะ
ฉะนั้น คำว่าสภาพตามภาวะของตนนั้น จึงหมายความว่า
ตามเหตุปัจจัยของตนเองเหมือนอย่างต้นไม้ที่บังเกิดขึ้น
คนอาจจะเป็นผู้ปลูกคือปลูกเพาะเมล็ด
หรือว่าตนเอามาปลูกรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ยเป็นต้น
แต่ว่าความแตกออกของเมล็ดเป็นหน่อหรือว่าเป็นต้น
โดยลำดับนั้น ต้นไม้แตกเป็นหน่อจนถึง
เป็นต้นตามภาวะของตนเอง คือตามเหตุปัจจัยของตนเอง
หรือของต้นไม้นั้นเอง คนคอยแต่เพียงรดน้ำเป็นต้น
คอยบำรุงเท่านั้น แต่ความเกิดของต้นไม้นั้น
เป็นไปตามสภาพตามภาวะของตน หมาย
ความว่าตามเหตุปัจจัยของต้นไม้นั้นเอง
ดั่งนี้เรียกว่าสภาพและความเป็นสภาพนี้ก็ไม่
ได้หยุดเพียงความเกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น ยังมีความตั้ง
อยู่ปรากฏและเมื่อตั้งอยู่ก็ยังมี
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่าง
อื่นปรากฏอีก ดั่งนี้ก็เป็นไปตามสภาพคือภาวะของตน
คนเราจะไปฝืนสภาพของขันธ์อายตนะธาตุไม่ได้ คือ
จะไปฝืนให้เป็นไปตามที่ชอบใจไม่ได้
ขันธ์อายตนะธาตุเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เติบใหญ่ขึ้น
เรียกว่าเจริญขึ้นมา
เมื่อเรียกตามถ้อยคำธรรมดาของร่างกาย
ก็เรียกว่าเป็นเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่เป็นหนุ่มเป็นสาว
เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่ลงไปหง่อมลงไป
แล้วก็แตกสลายในที่สุด นี้เป็นสภาพคือ
เป็นไปตามภาวะของตนเองทั้งนั้น
ที่เราเรียกว่าคติธรรมดา อันนี้แหละคือตัวสภาพ
มีกำลังแข็งแรง ไม่ต้องการที่จะแก่จะหง่อมที่
จะแตกสลาย แต่ว่าก็แก้ไขห้ามไม่ได้ ก็ต้อง
เป็นไปตามสภาพ และความที่
เป็นไปตามสภาพดั่งนี้ตั้งแต่เกิด ความเกิดขึ้นปรากฏ
ความตั้งอยู่ปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนไป
เป็นอย่างอื่นปรากฏ คือปรากฏให้กำหนดรู้ได้
ให้เห็นให้สัมผัสได้ว่าเป็นอย่างนั้นให้รู้ได้ และ
ความที่ปรากฏเกิด ตั้งอยู่
และแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปนี้
ก็มีลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น แต่ว่าเมื่อรวมขึ้นโดย
ทั่วไปแล้ว คือดูที่ตรงกันหมดของสิ่งที่
เป็นสังขารที่ปรุงแต่งทั้งหมดแล้ว ก็รวมเข้ามาได้
เป็นลักษณะ ๓ อันเรียกว่า สามัญลักษณะ
ลักษณะที่ทั่วไปของสังขารทั้งปวง
ก็คืออนิจจลักขณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักขณะ
ลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักขณะ ลักษณะที่
เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ซึ่งอันนี้ก็ได้เคยอธิบายมาบ้าง
แล้ว ก็จะยังไม่พูดไม่อธิบายในสามัญลักษณะนี้
พิจารณาให้รู้จักสามัญลักษณะ คือลักษณะที่ตรง
กันหมดเหมือนกันหมดของสิ่งที่เป็นสังขารทุกอย่าง
ให้รู้จัก ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันไปนั้น ก็อาจ
จะมีที่แตกต่างกันไปเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ เช่นว่าขันธ์
๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ มี
ความเกิดปรากฏ ความตั้งอยู่ปรากฏ มี
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ
ที่ลักษณะที่แตกต่างกันไปก็มีมาก เช่นว่าโดยรูป ก็อาจ
จะมีบางคนเตี้ย บางคนสูง บางคนปานกลาง
บางคนผิวดำ บางคนผิวขาว อะไรเหล่านี้ อายตนะ ๑๒
ธาตุ ๑๘ ก็เหมือนกัน ก็ต่างกันอย่างนั้นบ้างต่าง
กันอย่างนี้บ้าง ตามลักษณะเฉพาะตัวๆ ไป แต่ว่าก็รวม
กันได้ว่า ทุกๆ ขันธ์ ๕ ทุกๆ อายตนะ ๑๒ ทุกๆ ธาตุ ๑๘ นั้น
ย่อมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตามิ
ใช่ตัวตนเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้
เป็นแต่เพียงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ดังที่
ได้อธิบายแล้วข้างต้นว่าอุปาทานขันธ์
หรือสัตตสัญญาอัตตสัญญานั้นเท่านั้น แต่อันที่จริงนั้น
ไม่มีตัวเราของเราที่แท้จริงอะไรเลย บังคับให้
เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ทั้งนั้น ต้อง
เป็นไปตามสภาพดังที่กล่าวมาแล้ว
สรุปการชำระทิฏฐิ
ผู้ทำวิปัสสนานั้นเมื่อได้มีศีลและได้ทำสมาธิให้ใจสงบ
แล้วก็มาจับพิจารณาชำระทิฏฐิคือความเห็น
ความเห็นที่ยังยึดถืออยู่ในตัวตนของเรานี้ โดยกำหนดดู
ให้รู้จัก
๑. ก็คือให้รู้จักขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒
ธาตุ ๑๘ อันเรียกว่าวิปัสสนาภูมิ
ให้รู้จักสภาพของสิ่งเหล่านี้ตามที่กล่าวมาแล้ว ว่า
ต้องเป็นไปตามสภาพคือภาวะเหตุปัจจัยของตัวเอง
ตั้งแต่ความเกิดปรากฏ ตั้งแต่ความตั้งอยู่ปรากฏ
ตั้งแต่เมื่อตั้งอยู่
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏดังที่กล่าวมา
แล้ว ให้รู้จักสภาพว่าสิ่งเหล่านี้
เป็นไปตามสภาพคือภาวะเหตุผลของตนเองของแต่ละสิ่งเหล่านี้
และความปรากฏนั้นย่อมปรากฏให้เห็นได้ให้สัมผัส
ได้เป็นต้น ให้กำหนดพิจารณาให้รู้ได้ โดยที่
ต้องมีลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมาย ซึ่งลักษณะ
เป็นเครื่องกำหนดหมายนั้นปรากฏ ความปรากฏ
นั้นปรากฏโดยที่มีลักษณะนั้น
เป็นเครื่องกำหนดหมาย ถ้าไม่มีลักษณะ
เป็นเครื่องกำหนดหมายแล้ว ก็ปรากฏให้รู้ไม่ได้
ให้พิจารณาไม่ได้ ที่ปรากฏคือปรากฏให้รู้
ได้พิจารณาได้ ซึ่งรวมเข้ามาแล้วก็คือว่า
ในไตรลักษณ์ ลักษณะคือเครื่องกำหนดหมาย
กำหนดให้รู้ได้พิจารณาได้ ว่าไม่เที่ยงอย่างนี้
เป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นอนัตตาอย่างนี้ ถ้า
ไม่ปรากฏก็พิจารณาให้รู้ไม่ได้ นี่ปรากฏ
เหมือนอย่างว่าจะร้องบอกด้วยซ้ำว่า ฉันไม่เที่ยงนะ ฉัน
เป็นทุกข์นะ ฉันเป็นอนัตตานะ อย่ามายึดถือ
เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วก็คล้ายๆ กับว่าขันธ์ ๕ ที่ย่อ
เป็นรูปนาม อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ จะตะโกนบอก
อยู่ตลอดเวลาว่าอย่ามายึดถือ อันที่จริงนั้นข้าพเจ้า
ไม่เที่ยง ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าเป็นอนัตตา
ประการที่ ๒ ก็ให้รู้จักสภาพ
ประการที่ ๓ ก็คือให้รู้จักสามัญลักษณะ
รวมเป็น ๓ ประการ ประการที่ ๑ ให้รู้จักขันธ์ ๕
ย่อเป็นนามรูป อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ประการที่ ๒
ให้รู้จักสภาพของสิ่งเหล่านี้ และประการที่ ๓
ให้รู้จักสามัญลักษณะของสิ่งเหล่านี้ การปฏิบัติดั่งนี้
เป็นการปฏิบัติทำทิฏฐิความเห็นให้หมดจด ให้หมดจด
จากความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
และเมื่อพิจารณาไปจนรู้จักทั้ง ๓ ประการนี้ ก็ย่อม
จะได้ทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็น อัน
เป็นวิสุทธิข้อที่ ๓ อันนับว่าเป็นวิปัสสนาข้อที่ ๒
๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๖
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ
สุวฑฺฒโน)
บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่อง
ในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2014, 03:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓๓ ลักษณะพุทธศาสนา - กังขาวิตรณวิสุทธิ
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร
--------------------------------------------------------------
ชำระความสงสัยที่เกิดขึ้น
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
เมื่อได้เริ่มทำปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐาน
ชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้ว
ก็ถึงขั้นที่ปฏิบัติชำระความสงสัยที่เกิดขึ้น
เพราะว่าย่อมจะมีความสงสัยถึงตัวเราในอดีตบ้าง
ในอนาคตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง เพราะว่าเมื่อ
ยังมีอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าตัวเรา ของเรา
สัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์ ดังที่
จะเรียกรวมกันว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เมื่อยังมี
ความสำคัญหมายอยู่ ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเรา
เขาบังเกิดขึ้น เพราะความยึดถือ
ในขันธ์อายตนะธาตุดังที่ได้กล่าวแล้ว ก็ย่อม
จะมีกังขาคือความสงสัยเกี่ยวแก่ตัวเราของเรา
ในกาลทั้ง ๓ นั้น และแม้ว่าจะชำระความเห็น
ให้บริสุทธิ์ได้ ด้วยกำหนดพิจารณา
ให้พบขันธ์อายตนะธาตุ อันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความยึดถือว่าตัวเราของเรานั้น กำหนด
ให้รู้จักหน้าตาของขันธ์อายตนะธาตุ และกำหนด
ให้รู้จักสภาพคือภาวะความเป็นของขันธ์อายตนะธาตุ
นั้น ที่มีที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ดังที่ได้กล่าว
แล้ว ว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมดับไป ซึ่ง
ความเกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมดับไปนั้น ก็
เป็นไปตามเหตุปัจจัยของขันธ์อายตนะธาตุนั้นเอง
ปรากฏอยู่
ตามที่กล่าวนี้ก็กล่าวตามพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า
อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย
ปญฺญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ จิตสฺส อญฺญถตฺตํ
ปญฺญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ก็มี
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ
ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ ยกเอาข้อเสื่อมดับไป
เป็นข้อที่ ๒ เมื่อตั้งอยู่
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นข้อที่ ๓
แต่ว่าที่อธิบายนั้นจับตามลำดับเพื่อให้เข้าใจง่าย คือว่า
ความเกิดขึ้นปรากฏ ความตั้งอยู่ก็ปรากฏ และ
ความเปลี่ยนแปลงเสื่อมสิ้นไป ในที่สุดก็ปรากฏ เอา
ความตั้งอยู่มาไว้เป็นที่ ๒ เอาความเสื่อมสิ้นไปมา
เป็นข้อที่ ๓ ก็มีความเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธภาษิต
นั้น นี้เป็นสภาพของขันธ์อายตนะธาตุ คือความมีความ
เป็นที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนเอง และก็กำหนด
ให้รู้จักสามัญลักษณะ คือลักษณะเครื่องกำหนดที่
ทั่วไปของขันธ์อายตนะธาตุ ก็คือที่ปรากฏทั้ง ๓
นั้นนั่นเอง เมื่อรวมเข้าแล้วก็มีลักษณะทั่วไปก็คือ
ลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่
เป็นอนัตตา กำหนดให้รู้จักไตรลักษณ์ ดั่งนี้
เป็นวิธีชำระทิฏฐิความเห็นให้บริสุทธิ์ แต่ว่าในขั้นนี้ก็
ยังละอุปาทานไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ย่อมจะมี
ความสงสัยอยู่เกี่ยวกับตัวเราของเราที่ฝังลึกอยู่
ในกาลทั้ง ๓ ตัวเราของเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของ “
กังขา” คือความสงสัยอย่างยิ่ง และวิจิกิจฉาในนิวรณ์
๕ ก็มีตัวเราของเรานี่แหละเป็นที่ตั้งของวิจิกิจฉา
เป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเป็นมูลฐานของวิจิกิจฉา
ทั้งปวง
ละความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเรา
อันความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเราในกาลทั้ง ๓
นั้น ก็คือความสงสัยที่ปรารภกาลที่
เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว ว่าตัวเราได้มีแล้วได้เป็น
แล้วในอดีตหรือไม่หนอ ตัวเราไม่ได้มีแล้วไม่ได้
เป็นแล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้มีได้เป็นอะไร
แล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้มีได้เป็นอย่างไร
แล้วในอดีตหรือหนอ ตัวเราได้เป็นอะไรแล้วจึง
ได้เป็นอะไรอีกต่อไปในอดีตหรือหนอ ดั่งนี้ นี้
เป็นกังขาความสงสัยในอดีตหรือปรารภส่วนที่
เป็นอดีต สรุปเข้าแล้วก็เป็น ๕ ประการ ส่วน
ความสงสัยที่ปรารภอนาคตกาลข้างหน้าที่ยังไม่มา
ถึง รวมเข้าแล้วก็ได้แก่ความสงสัยว่า เราจักมีจัก
เป็นต่อไปในอนาคตหรือหนอ เราจักไม่มีไม่เป็น
ในอนาคตหรือหนอ เราจักเป็นอะไรหรือหนอ
ในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหรือหนอในอนาคต
เราจักเป็นอะไรแล้วจึงจะเป็นอะไรต่อไปในอนาคต
หรือหนอ ส่วนความสงสัยที่ปรารภปัจจุบันรวม
เข้าก็คือ เดี๋ยวนี้เรามีเราเป็นอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้เรา
ไม่มีไม่เป็นอยู่หรือหนอ เดี๋ยวนี้เราเป็นอะไร
หรือหนอ เดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไรอยู่หรือหนอ
เดี๋ยวนี้สัตว์นี้คือตัวเรานี้มาจากไหนหรือหนอ
เดี๋ยวนี้สัตว์นี้คือตัวเราจักไปในที่ไหนต่อไปหรือหนอ
ดั่งนี้ รวมเข้าก็เป็น ๖ ประการ เหล่านี้เป็น
ความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราของเรา
พิจาณาจับเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ หรือนามรูป
เพราะฉะนั้นเมื่อชำระทิฏฐิคือความเห็น
ให้บริสุทธิ์ดังกล่าวมาแล้ว
เมื่ออัตตสัญญาสัตตสัญญา
ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเราสงบลงไปได้
ปรากฏเป็นขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาแทน แม้ว่าจะ
ได้พิจารณาให้รู้จักสภาพคือความ
เป็นไปของขันธ์อายตนะธาตุตามเหตุปัจจัยของตนคือเกิดขึ้นตั้ง
อยู่เสื่อมดับไปดังกล่าวนั้น และรวมเข้ามา
ให้รู้จักสามัญลักษณะคือลักษณะที่
ทั่วไปของขันธ์อายตนะธาตุ แม้อย่างนั้นก็ย่อมจะมี
ความสงสัยว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้มาจากไหน
ปรารภกาลทั้ง ๓ ได้เช่นเดียวกัน
ในอดีตขันธ์อายตนะธาตุได้มีหรือไม่มี
ในปัจจุบันขันธ์อายตนะธาตุมีอยู่หรือไม่มี
ในอนาคตขันธ์อายตนะธาตุมีอยู่หรือไม่มี และถ้ามี
อยู่ก็มาจากไหน เหมือนอย่างว่ามองเห็นเด็กที่
เขามาวางทิ้งเอาไว้ที่หน้าบ้านของตน
หรือที่ถนนหน้าบ้าน ก็ย่อมจะต้องมี
ความสงสัยว่าเด็กคนนี้ลูกใคร ใครเอามาทิ้งไว้ ฉัน
ใดก็ดี
เมื่อพิจารณากำหนดแม้ว่าเห็นขันธ์อายตนะธาตุว่า
เป็นอย่างนี้ๆ เห็นหน้าตาของขันธ์อายตนะธาตุ แต่ก็ย่อม
จะมีความสงสัยได้ว่าขันธ์อายตนะธาตุนี้มาจากไหน ทั้ง
ในอดีตทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต เพราะฉะ
นั้นทางพุทธศาสนาและโดยเฉพาะ
ในข้อปฏิบัติวิธีทำวิปัสสนาถัดจากชำระความเห็น
ให้บริสุทธิ์ดังกล่าวนั้น จึงได้สอน
ให้พิจารณาจับเหตุปัจจัยของนามรูป ก็ขันธ์ ๕
นั่นแหละ ก็คือขันธ์อายตนะธาตุดังกล่าวมา
นั้นยกเอาขันธ์ ๕ ที่ย่อเป็นนามรูปขึ้นเป็นที่ตั้ง
จับเหตุปัจจัยของนามรูป และก็
ได้แสดงเหตุปัจจัยของนามรูปไว้ สำหรับ
ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาธุระจะพึงจับขึ้นพิจารณา คือ
ให้รู้จัก สามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยที่ทั่วไปของนามรูป
ทั้ง ๒ อย่างหรือของขันธ์ ๕ ทั้งหมด
ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า อวิชชา ตัณหา
อุปาทาน และกรรม เป็นสามัญปัจจัยแห่งนามรูป
อวิชชาก็คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็คือไม่รู้
ในอริยสัจ ตัณหาก็คือความดิ้นรนทะยานอยาก
อุปาทานก็คือความยึดถือ
กรรมก็คือการงานที่บุคคลกระทำทางกายทางวาจาทางใจ
เป็นกรรมที่ดีก็มี เป็นกรรมที่ชั่วก็มี เป็นกรรมที่
เป็นกลางๆ ก็มี อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมทั้ง ๔ นี้
เป็นสามัญปัจจัยแห่งนามรูป และได้สอนให้รู้จัก
วิสามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยที่ไม่เป็นสามัญคือ
ทั่วไปแก่นามรูปเหมือนกันทั้งหมด แต่ว่า
เป็นเหตุปัจจัยจำเพาะของแต่ละข้อในขันธ์ ๕ หรือย่อ
เป็นนามรูป ก็คือให้รู้จักว่าอาหารที่บริโภคเข้าไป
เป็นวิสามัญปัจจัยแห่งรูป อาหารที่บริโภคเข้าไป
นั้นก็เช่นข้าวสุกและอาหารทั้งปวงสำหรับที่
จะทะนุบำรุงร่างกาย รวม
เข้าก็คือว่าธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมนั้นเอง
เป็นอาหารที่บุคคลบริโภค
เข้าไปสำหรับทะนุบำรุงร่างกาย
เพราะว่ารูปกายนี้ก็ประกอบขึ้น
ด้วยธาตุดินน้ำลมไฟ ธาตุดินน้ำลมไฟที่ประกอบเข้า
เป็นรูปกายนี้ก็สิ้นไปเสื่อมไปอยู่ตลอดเวลา จึง
ต้องมีอาหารคือธาตุดินน้ำไฟลมใหม่
เข้าไปทะนุบำรุงเพิ่มเติมเอาไว้ รูปกายนี้จึงดำรงอยู่
ได้
เพราะฉะนั้นในข้อนี้ดูเข้ามาสักหน่อยก็จะเห็นได้ ว่า
เป็นสภาวธรรมอย่างไร
เป็นสามัญลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็น
อยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ที่เป็นไปตามสภาพ
หรือที่เป็นตัวสภาพคือความมีความเป็นที่
เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนนั้น ก็ได้กล่าวมาแล้ว
เกิดขึ้นตั้งอยู่และแปรปรวนเปลี่ยนแปลงดับไป นี่
เป็นตัวสภาวธรรมและก็
เป็นไปตามสภาวธรรมดั่งนี้ ธาตุ
ทั้งหลายที่มาประกอบเข้าเป็นรูปกายอันนี้
ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงดับไป
อยู่ทุกขณะจิต จึงต้องการอาหาร
เข้าไปบำรุงเพิ่มเติมอยู่ทุกขณะเช่นเดียวกัน จะเห็น
ได้ชัดก็คือว่าทุกคนต้องบริโภคลม
อยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก คือต้องหายใจ
เข้าหายใจออกกันอยู่ทุกขณะ หยุดไม่ได้ เพราะว่า
ต้องการธาตุลมนี้เข้าไปเพิ่มเติมส่วนที่เสื่อมสิ้นไป
อยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก และ
ในธาตุลมอันนี้อันที่จริงก็มีธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟรวม
เข้าอยู่ในธาตุลมนี้ด้วยที่เป็นอย่างละเอียด ถ้าหากว่า
ต้องหยุดหายใจสักครู่เดียว ชีวิตก็จะดับแล้ว
ก็แสดงว่าธาตุที่เข้าไปดำรงเลี้ยงชีวิตอันเป็น
ส่วนรูปกายนี้ต้องเสื่อมดับอยู่ทุกขณะลมหายใจ
เข้าออกทีเดียว ต้องเข้าไปซ่อมแทนกันให้
ได้ทุกขณะลมหายใจเข้าออกทีเดียวจะเว้นเสียไม่ได้
เพราะฉะนั้นอาหารรวมเข้าก็คือธาตุทั้ง ๔ นี้จึง
เป็นวิสามัญปัจจัยของรูป ซึ่งต้องการ
อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
คราวนี้มาถึงนาม อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖
เป็นวิสามัญปัจจัยแห่งวิญญาณอันเป็นส่วนจิต
ก็คือว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ นี้ต้องประจวบกัน
จึงจะเกิดวิญญาณ รู้รูปก็คือเห็นรูป รู้เสียงก็คือ
ได้ยินเสียงเป็นต้น ถ้าหากว่าอายตนะภายใน ๖ ภายนอก
๖ ไม่ประจวบกัน วิญญาณก็ไม่บังเกิดขึ้น
ถ้าคนหลับตาเสียไม่ดูอะไร จักขุวิญญาณก็ไม่เกิด
คนที่ตาบอดจักขุวิญญาณก็ไม่เกิด หูหนวกโสตวิญญาณก็
ไม่เกิด หรือคนที่ตาดีหูดี ถ้าหากว่าไม่ดูไม่ฟัง คือไม่ทำ
ให้อายตนะภายในภายนอกในข้อตาข้อหูนั้นมาประจวบ
กัน จักขุวิญญาณโสตวิญญาณก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน
แต่ว่าคนเรานั้นแม้ว่าจะพิการตาบอดหูหนวก
แต่อายตนะคู่ที่ ๖ นั้นยังอยู่คือมโนกับธัมมะ และอาจจะ
ใช้ทดแทนได้ เช่นใช้กายอันเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๕
กับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องทดแทนได้บ้าง
ทดแทนตาได้ ดังเช่นที่เคยเล่าแล้วถึงคนตาบอด
และมาหัดปฏิบัติทางจิตให้อ่านหนังสือได้
หรือดูอะไรได้บ้างเป็นต้น ที่ท่านกล่าวสันนิษฐาน
กันว่าใช้กายส่วนใดส่วนหนึ่งทดแทน ถ้าไปปิดกายส่วน
นั้นเสียวแล้วก็มองไม่เห็น แต่นั่นต้อง
ใช้อาศัยอำนาจสมาธิจิตเข้ามาช่วย แต่โดยปรกติ
แล้วอายตนะภายในและภายนอกดังกล่าว
เป็นวิสามัญปัจจัยของวิญญาณ ผัสสะอันเกิด
เพราะวิญญาณกับอายตนะภายในอายตนะภายนอก
เป็นวิสามัญปัจจัยโดยตรงและ
โดยอ้อมแห่งเวทนาสัญญาสังขาร
รู้จักสามัญปัจจัยและวิสามัญปัจจัย
เพราะฉะนั้นก็ให้พิจารณาจับปัจจัย
หรือเหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ ย่อเข้า
เป็นนามรูปดังกล่าวมานี้ ให้รู้จักทั้งที่เป็นสามัญปัจจัย
ทั้งที่เป็นวิสามัญปัจจัยดังกล่าวมานั้น
และเมื่อพิจารณากำหนดอยู่ดั่งนี้แล้ว ก็ย่อมจะได้
ความรู้ที่สรุปเข้ามา ว่านามรูปที่มีมาในอดีตก็ตาม ที่
จะมีในอนาคตก็ตาม หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ตาม
ย่อมมีสามัญปัจจัยคือเหตุปัจจัยที่เป็นสามัญ อัน
ได้แก่อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม
และย่อมมีวิสามัญปัจจัย ก็ได้แก่อาหาร
เป็นวิสามัญปัจจัยของรูป อายตนะภายใน ๖
อายตนะภายนอก ๖ เป็นวิสามัญปัจจัยของวิญญาณ
และผัสสะอันเกิดจากวิญญาณประกอบ
ทั้งอายตนะภายในอายตนะภายนอก เป็นวิสามัญปัจจัย
ทั้งโดยตรงทั้งโดยอ้อมแห่งเวทนาสัญญาสังขาร
โดยตรงนั้นก็คือเป็นวิสามัญปัจจัยเวทนา โดยอ้อม
นั้นก็คือตลอดถึงสัญญาและสังขาร และทั้ง ๓
นี้ย่อมเป็นปัจจัยของกันและกันอีกด้วย ก็คือเวทนาก็
เป็นเหตุปัจจัยแห่งสัญญา สัญญาก็
เป็นเหตุปัจจัยแห่งสังขาร ก็คือว่าเมื่อมีเวทนาก็ย่อม
จะมีสัญญาคือความจำหมายได้ในอารมณ์ของเวทนา
นั้น คือเวทนาบังเกิดขึ้นอาศัยผัสสะที่สืบเนื่องมา
จากวิญญาณ ประกอบด้วยอายตนะภาย
ในอายตนะภายนอก สัญญาก็ย่อมจำหมาย
ในอายตนะภายในอายตนะภายนอกเหล่านั้น และ
ในวิญญาณเหล่านั้นได้ด้วย และเมื่อมีสัญญา
ความจำหมาย ก็ย่อมมีสังขารคือความคิดปรุงหรือ
ความปรุงคิดอยู่ ในอารมณ์ที่สัญญาจำหมายได้แล้ว
นั้น ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาจำหมายไว้ได้
สังขารก็ปรุงแต่งอะไรไม่ได้ สังขาร
จะปรุงแต่งอะไรได้นั้น ก็ปรุงแต่งได้
ในอารมณ์คือเรื่องที่สัญญาจำไว้ได้ ดูง่ายๆ
ก็คือว่าเราจะคิดปรุงแต่งอะไรที่เราลืมแล้วย่อม
ไม่ได้ เราจะปรุงแต่งอะไรได้ก็ต้อง
ในเรื่องที่เราจำได้กำหนดไว้ได้ จึงจะปรุงแต่ง
คือคิดปรุงแต่งอะไรต่อไปอีกได้ เพราะฉะ
นั้นสังขารก็ต้องอาศัยสัญญา แต่ก็สืบเนื่องมา
จากตัวผัสสะนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา แล้วก็สืบมา
ถึงสัญญาสืบมาถึงสังขาร
จะยกเอาผัสสะนั่นขึ้นมาข้อเดียว ว่าเป็นวิสามัญปัจจัย
โดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงก็คือเวทนา
โดยอ้อมก็คือตลอดถึงสัญญาสังขาร
แต่ว่าสัญญาสังขารนั้นก็ต้องอาศัยสืบมา
จากเวทนาดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้นก็
ให้จับพิจารณากำหนดเหตุปัจจัยของนามรูปดังกล่าวมานี้
ให้เห็นชัด ว่านามรูปพร้อมทั้งอายตนะธาตุ
นั้นย่อมมีเหตุปัจจัยของตนดั่งนี้
และเหตุปัจจัยของนามรูปดังที่กล่าวมานี้นั้นเอง ทำ
ให้นามรูปบังเกิดขึ้นตั้งอยู่และแปรดับไป เพราะฉะ
นั้นการที่กำหนดจับให้รู้เหตุปัจจัยของนามรูปนี้
จึงทำให้รู้จักตัวสภาวธรรมดีขึ้น ดังที่ได้กล่าว
แล้วว่าสภาวะนั้นคือสภาพ ภาวะความเป็น
ความมีตามเหตุปัจจัยของตน นี้เรียกว่าสภาพ ความมี
ความเป็นตามเหตุปัจจัยของตน จำเอา
ไว้ว่าสภาพแปลอย่างนี้
คราวนี้ตัวนามรูปก็เป็นตัวสภาวธรรมเอง คือ
เป็นสิ่งที่มีขึ้นเป็นขึ้นตามเหตุปัจจัยของตน
และตัวนามรูปนี้เมื่อเป็นตัวสภาวธรรมในตัวเอง ก็
ต้องเป็นไปตามสภาวธรรมคือ
เป็นไปตามภาวะตามเหตุปัจจัยของตน เพราะฉะนั้นที่
แล้วมานั้นยังไม่ได้จับอธิบายว่าอะไรเป็นตัวเหตุปัจจัย
ที่เป็นที่ตั้งของคำว่าสภาวธรรมนี้ มาวันนี้จึงมาอธิบาย
ถึงตัวเหตุปัจจัยอันได้แก่สามัญปัจจัยของนามรูป อัน
ได้แก่อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม
และวิสามัญปัจจัยของนามรูป อัน
ได้แก่อาหารอายตนะภายในอายตนะภายนอก
และผัสสะดังที่กล่าวมานั้น
นี้แหละคือตัววิสามัญปัจจัยแห่งนามรูป รวมเข้า
แล้วสามัญปัจจัยและวิสามัญปัจจัยแห่งนามรูปทั้ง ๒
นี้ ก็คือเหตุปัจจัยของนามรูป นามรูปจึง
เป็นตัวสภาวธรรมและต้องเป็นไปตามสภาวธรรม
กล่าวคือเมื่อมีเหตุปัจจัยนามรูปก็เกิด
เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยนามรูปก็ดับ
เมื่อมีตัณหาอุปาทานกรรมนามรูปก็เกิด
เมื่อสิ้นอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมนามรูปก็ดับหมด
ไม่เกิดอีก เมื่อมีอาหารรูปก็ตั้งอยู่
เมื่อสิ้นอาหารรูปก็ดับ
และที่เห็นง่ายก็ดังยกตัวอย่างเช่นธาตุลมที่กล่าวมา
นั้น ลมยังเดินเข้าออกอยู่ทุกลมหายใจ
เข้าออกรูปก็ตั้งอยู่ และเมื่อสิ้นลมเสียเมื่อ
ใดรูปก็ดับ อายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบ
กันวิญญาณก็เกิด เมื่ออายตนะภายในภายนอก
ไม่ประจวบกันวิญญาณก็ดับ
เมื่อผัสสะเกิดเวทนาสัญญาสังขารก็เกิด
เมื่อผัสสะดับเวทนาสัญญาสังขารก็ดับ และ
ในข้อหลังนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเปรียบเทียบไว้
ในที่อื่น ว่าเหมือนอย่างไม้สีไฟ ๒ อันที่มาสีกัน ก็เกิดไฟ
ก็คือเมื่อมีผัสสะ อันสืบเนื่องมาจากวิญญาณ
กับอายตนะภายอายตนะภายนอกประจวบ
กันเวทนาก็เกิด เมื่อไม้สีไฟ ๒ อันนั้นแยกกันเสียไฟก็
ไม่เกิด และขณะที่สีกันไฟเกิด เมื่อแยกกันเสียไฟก็ดับ
เมื่อผัสสะดับเวทนาก็ดับ
และสัญญาสังขารก็ดับไปตามกัน เพราะฉะนั้น
ความเกิดขึ้นของนามรูปนี้ก็
เพราะปัจจัยของนามรูปเกิด
คือเมื่อมีปัจจัยนามรูปก็เกิด เมื่อไม่มีปัจจัย
หรือว่าปัจจัยนั้นดับ นามรูปก็ดับ จะเป็นในอดีตก็ตาม
ในอนาคตก็ตามในปัจจุบันก็ตามก็เป็นอยู่ดั่งนี้
ไม่มีเหตุปัจจัยอื่นนอกไปจากนี้ มีเหตุปัจจัยอยู่เพียงเท่านี้
เหมือนอย่างว่าเมื่อจับเหตุปัจจัยของฝนตกได้ ฝนที่ตก
ในอดีตฝนที่ตกอยู่เดี๋ยวนี้ฝนที่ตกต่อไปข้างหน้า ก็
เพราะเหตุปัจจัยอันเดียวกัน เมื่อมีเหตุปัจจัย
ให้ฝนตกเมื่อใดฝนก็ตกเมื่อนั้น
ในอดีตล่วงไปกี่พันกี่หมื่นกี่แสนปีก็อย่างนี้
เดี๋ยวนี้ก็อย่างนี้ ต่อไปข้างหน้าก็อย่างนี้ เป็นอันเดียวกัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปค้นหา
ถึงเหตุปัจจัยของฝน ว่าเมื่อล้านปีมาแล้ว
เพราะอะไรจึงตก เดี๋ยวนี้เพราะอะไรจึงตก
ต่อไปข้างหน้าอีกล้านปีเพราะอะไรจึงตก
แล้วก็ตกมากี่ครั้งไม่จำเป็น ไม่จำเป็นจะ
ต้องไปรวมบัญชี เมื่อจับเหตุปัจจัยได้แน่นอนแล้วก็
เป็นอันเดียวกัน นี่เป็นเรื่องฝนที่ยกมาเป็นตัวอย่าง
เรื่องของนามรูปก็เช่นเดียวกัน นามรูปในอดีตจะนาน
เท่าไรก็ตาม ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ตาม ในอนาคตก็ตาม ถ้า
ยังมีเหตุปัจจัยอยู่ ในอนาคตนานเท่าไรก็ตาม
ก็เหตุปัจจัยอันเดียวกันนี้เท่านั้น ไม่มีแตกต่างกันไปอย่าง
อื่น เมื่อเหตุปัจจัยเกิดนามรูปก็เกิด
เมื่อเหตุปัจจัยดับนามรูปก็ดับ เพราะฉะ
นั้นเมื่อพิจารณาจับเหตุปัจจัยให้ได้แน่นอนอย่างนี้
เป็นอันเดียวกันอย่างนี้แล้ว ก็สิ้นความสงสัยในนามรูป
จิตก็ไม่พะวักพะวน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า
ได้กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณ
เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๖
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ
สุวฑฺฒโน)
บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่อง
ในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2014, 03:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓๔ ลักษณะพุทธศาสนา -
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร
--------------------------------------------------------------
กำหนดพิจารณานามรูป
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิ
ใช่ทาง เมื่อได้ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ทำจิต
ให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลายอันนับว่าได้ปฏิบัติศีล
ให้เป็นภาคพื้น เป็นที่รองรับ เป็นที่ทรง
ไว้แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ทำจิตให้บริสุทธิ์คือให้
เป็นสมาธิ สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลาย เป็นบาทของวิปัสสนา จึงได้จับปฏิบัติ
ในวิปัสสนา ตั้งต้นแต่ชำระความเห็นให้บริสุทธิ์
และกำหนดจับเหตุปัจจัยแห่งนามรูปจนข้ามพ้น
ความสงสัยเกี่ยวแก่นามรูปทั้งหลาย
เพราะจับเหตุปัจจัยได้แล้ว
จึงปฏิบัติกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘
กำหนดจับพิจารณารวมเข้ามาในขันธ์ ๕ ย่อลง
เป็นนามรูป
โดยลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อตามที่พระอาจารย์
ได้แนะนำไว้ เช่นกำหนดจับพิจารณารูป ว่า
เป็นสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม
กำหนดจับพิจารณาเวทนา ว่าเป็นความรู้สุขทุกข์และ
เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข กำหนดพิจารณาสัญญา ว่า
เป็นความรู้ที่จำหมาย กำหนดพิจารณาสังขาร ว่าเป็น
ความรู้ที่ปรุงแต่ง กำหนดจับพิจารณาวิญญาณ ว่า
เป็นความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียง
ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
และรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
กับรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่า
นั้นที่ประสบพบผ่านมาแล้ว
หรือที่คาดคิดล่วงหน้าไปข้างหน้าและก็กำหนดรวม
เข้ามาเป็นรูปนาม โดยที่รูปก็คือเป็นสิ่งที่
ต้องชำรุดทรุดโทรมดังกล่าวนั้น
และสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมนั้นก็คือเป็นมหาภูตรูป
คือรูปที่เป็นส่วนใหญ่ คือที่เป็นธาตุทั้ง ๔ ปฐวีธาตุ
ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ
ธาตุลม กับอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และ
เป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คือประสาททั้ง ๕
จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท
ชิวหาประสาท กายประสาท และเป็นวิสัยคือ
เป็นอารมณ์ของประสาททั้ง ๕ นั้น คือรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงที่
เป็นเพศชายเพศหญิงเป็นต้น บรรดาที่อาศัยอยู่
กับมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น จึงล้วนเป็นสิ่งที่
ต้องชำรุดทรุดโทรม และเป็นนามก็คือ
เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งเป็น
ความรู้ดังกล่าว
ก็คืออาการที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวาร
ทั้ง ๖ ก็สมมติเรียกว่าเป็นวิญญาณ ทีแรกก็คือ
ความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียง
เป็นต้นตามที่กล่าวแล้ว เรียกว่าจักขุวิญญาณ
โสตวิญญาณเป็นต้น แล้วก็เป็นสัมผัส ก็คืออายตนะภาย
ในอายตนะภายนอกมาประจวบกันก็เป็นสัมผัส แล้วก็
เป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขาร แล้วก็
เป็นวิญญาณขึ้นอีก รวมก็เป็น
ความรู้คือที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์ที่เข้ามาทางทวาร
ทั้ง ๖ จึงเรียกว่านาม
ที่แปลว่าอาการที่จิตน้อมออกไปรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวาร
ทั้ง ๖ ก็ปรากฏเป็นวิญญาณเป็นสัมผัส เป็นเวทนา
เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก แต่ว่า
ในขันธ์ ๕ นั้นไม่กล่าวถึงสัมผัส และเอาวิญญาณไปไว้
เป็นข้อท้าย เอาเวทนาไว้เป็นข้อต้น จึงนับว่า
เป็นเวทนาสัญญาสังขาร ซึ่งพิจารณาดู
แล้วที่ท่านเรียงอย่างนี้ก็สะดวกแก่การพิจารณา
เพราะว่าเมื่อจับพิจารณารูป ซึ่ง
เป็นของหยาบกำหนดได้ง่าย แล้วก็มาเวทนา ซึ่งเวทนา
นั้นก็บังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ เวทนาก็
เป็นของหยาบแม้จะเป็นนามธรรม คือเป็นตัว
ความรู้ดังกล่าวนั้น แต่ก็บังเกิดขึ้นแก่ทั้งกายทั้งใจ
กำหนดได้ง่าย จึงเอามาไว้ในข้อที่ ๒
แล้วก็จับกำหนดพิจารณาสัญญาซึ่ง
เป็นนามธรรมอย่างเดียวกัน แล้วก็สังขาร
แล้วก็จับพิจารณาวิญญาณ
เพราะว่าการพิจารณาสังขารนั้น
คือการพิจารณาความรู้ที่เป็นการปรุงแต่งของใจ
ปรุงแต่งรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
และธัมมะคือเรื่องราว
และเมื่อจับพิจารณาการปรุงแต่งอย่างนี้ ก็
เป็นการง่ายที่จะจับพิจารณาวิญญาณ ซึ่งเป็นตัว
ความรู้เห็นรู้ได้ยินเป็นต้นดังกล่าวนั้น
เพราะว่าวิญญาณนี้ก็เกิดจากความปรุงแต่ง
คืออายตนะภายนอกอายตนะภายในประจวบกัน
หรืออีกอย่างหนึ่งท่านแสดงว่านามรูป
เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอานามรูป
ก็นามรูปนี้เองเมื่อมาประจวบกันเข้าก็ให้เกิด
เป็นวิญญาณ และหากจะพิจารณา
ให้ชัดขึ้นก็อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบ
กัน เช่นตากับรูปมาประจวบกันเข้าก็เกิด
เป็นจักขุวิญญาณ คือว่าความรู้ที่เรียกว่า
ความเห็นคือเห็นรูปทางตาอันนี้ก็เป็น
ความปรุงแต่งเหมือนกัน เพราะฉะ
นั้นเมื่อจับพิจารณาสังขาร ก็จับพิจารณาวิญญาณ
ได้สะดวกขึ้น แล้วเป็นการจับพิจารณา
ให้พบต้นทางของนามธรรมทั้งหลายด้วย
คือนามธรรมทั้งหลายนั้นก็มาจากอายตนะภาย
ในอายตนะภายนอกที่ประจวบกัน หรือ
จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากนามรูปก็ได้ รูปก็รูป
นั้นเอง นามก็คือบรรดานามทั้ง ๔
หรือว่าเอาตัวมโนคือใจนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นทวาร
ในของจิตดังที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆ ซึ่ง
ต้องมีประกอบอยู่ในอายตนะภายในทุกข้อ
เช่นว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็ต้องมีมโน
เข้ามาประกอบด้วย จึงจะทำให้เกิดจักขุวิญญาณ
ความรู้เห็นรูป อันตัวมโนที่มาประกอบนั้นก็คือตัวนาม
นั้นเอง ก็แปลว่าทั้งรูปทั้งนาม
หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คืออายตนะภาย
ในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นปัจจัย
ให้เกิดจักขุวิญญาณเป็นต้น เพราะฉะ
นั้นการที่มีแสดงเอาไว้ ๒ อย่าง ว่านามรูป
เป็นเหตุปัจจัยของวิญญาณ
อีกอย่างหนึ่งแสดงว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอก
เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ถ้าหากว่าอธิบายไม่เอามโน
เข้ามาประกอบด้วยก็เห็นได้ยาก
ถ้าหากว่าอธิบายเอามโนเข้ามาประกอบด้วย ก็จะเห็น
ได้ง่าย ว่าเรียกว่านามรูปก็ได้เป็นปัจจัย
ให้เกิดวิญญาณ ก็เพราะว่าจะต้องมีมโน
เข้ามาประกอบด้วยทุกข้อดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจะ
เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณขึ้นได้
วิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญา
เพราะฉะนั้นก็กำหนดพิจารณา
ให้รู้จักลักษณะจำเพาะข้อของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานี้
และก็จับพิจารณารวมกันเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่
ก็คือรวมกันเข้าขันธ์ ๕ ทุกข้อ นามรูปทั้งหมด
ซึ่งมีลักษณะจำเพาะๆ ดังที่กล่าวมานั้น ก็ล้วน
เป็นสิ่งที่ต้องไม่เที่ยงคือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นทุกข์คือตั้ง
อยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และ
ต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และ
ต้องเป็นอนัตตา คือไม่เป็นอัตตาตัวตนเพราะบังคับให้
เป็นไปตามปรารถนามิได้ แม้ว่าขันธ์ ๕ หรือนามรูป
ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานั้น ก็
ต้องเป็นสิ่งที่อนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ และ
เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดังที่กล่าวมา
นั้นทุกข้อไปเหมือนกันเช่นว่าในข้อรูป ทั้งที่
เป็นมหาภูตรูป ทั้งที่เป็นอุปาทายรูป ก็เป็นสิ่งที่
ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่มีลักษณะเป็น
ความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ ก็ล้วนเป็นอนิจ
จะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตา และเมื่อรวมกันเข้า
ทั้งหมดเป็นหมวดเป็นหมู่ทั้งสิ้น ก็เป็นอนิจจะเป็นทุกขะ
และเป็นอนัตตาทั้งหมด และเมื่อประมวลเข้า
ทั้งหมด ทั้งที่เป็นส่วนอดีตทั้งที่เป็นส่วนอนาคตทั้งที่เป็น
ส่วนปัจจุบัน อดีตก็คือว่าที่เกิดมาแล้วที่มีมาแล้ว
อนาคตก็คือว่าที่จะเกิดจะมีต่อไป ที่
เป็นปัจจุบันก็คือที่เกิดตั้งอยู่ในปัจจุบัน และทั้งที่
เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก และทั้งที่เป็นส่วนหยาบ
ทั้งที่เป็นส่วนละเอียด ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีประณีต ทั้งที่
เป็นสิ่งที่หยาบหรือเลว ทั้งที่อยู่ไกลทั้งที่อยู่ใกล้
ทั้งหมด ก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะคือเป็นทุกข์
อนัตตามิใช่อัตตาตัวตนทั้งนั้น
เมื่อกำหนดพิจารณาลงไปในไตรลักษณ์ดั่งนี้
ทีแรกก็ต้องอาศัยสัญญาคือความกำหนดหมาย
ความกำหนดหมายหรือว่าความจำ ตามที่พระพุทธเจ้า
ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้และนำเอาความจำ
นั้นมากำหนดพิจารณาดู ตั้งแต่ชำระทิฏฐิคือความเห็น
ให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยลำดับ ก็จะเกิด
วิปัสสนาญาณ คือความรู้ที่เป็นตัวความเห็นแจ้งขึ้น
ในขันธ์ ๕ ในนามรูป ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงอย่างนี้ ๆ
เป็นทุกขะคือเป็นทุกข์อย่างนี้ ๆ เป็นอนัตตามิ
ใช่ตัวตนอย่างนี้ ๆ ปรากฏชัดขึ้น อันกล่าวได้ว่า
เป็นวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาที่บังเกิดขึ้น
วิปัสสนูปกิเลส
เมื่อได้พบกับวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญา
จากการปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานมาถึงขั้นนี้
ท่านแสดงว่าจะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ที่แปลว่าเครื่องที่
เข้ามาทำวิปัสสนาให้เศร้าหมองขึ้น ๑๐ ข้ออย่าง
ใดอย่างหนึ่ง
วิปัสสนูปกิเลสดังที่กล่าวนี้ก็คือ โอภาส แสงสว่าง
ญาณ ความหยั่งรู้ที่ชัดแจ้งหรือว่าแจ่มแจ้ง ปีติ
ความอิ่มใจ ปัสสิทธิ ความสงบ สุข คือความสุข
ความสบายกายความสบายใจ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ
คือมีความเชื่อที่บังเกิดขึ้นอย่างมั่นคง ปัคคาหะ
ความเพียร คือรู้สึกว่ามีกำลัง
ความเพียรที่บังเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งชนิดที่ว่า
จะปฏิบัติทำวิปัสสนาต่อไปกันอีกนานเท่าไหร่
จะทำเรื่อยไปโดยไม่หยุดก็ทำได้ อุปัฏฐาน คือสติอัน
ได้แก่ความที่มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม อุเบกขา
ความวางจิตเป็นกลาง คือความที่มีจิตเป็นกลาง
ไม่ยินดีไม่ยินร้ายมั่นคง แม้จิตจะเที่ยวไปในอารมณ์
ทั้งหลาย ก็เป็นกลางอยู่ได้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นิกันติ
ความพอใจ คือมีความพอใจต้องการจับจิตจับใจ
ในวิปัสสนาปฏิบัติและในผลที่ได้รับเป็นอย่างยิ่ง
อาการเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น และอันที่จริง
นั้นอาการที่บังเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นเรื่องปรกติหรือ
เป็นเรื่องสามัญทั่วไปของ
ผู้ที่ปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานทั้งหลาย
เมื่อการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้เข้า
ถึงระดับที่ปรากฏเป็นตัวความรู้เห็นแจ้ง ในขันธ์ ๕
ในนามรูปโดยไตรลักษณ์ชัดแจ้งปราศจาก
ความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าข้ามพ้นความสงสัย
ทั้งหลายได้แล้ว ก็จะเกิดอาการเหล่านี้เป็นผลที่
ได้รับในขั้นนี้ เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่
เป็นผลโดยตรง เพราะว่าผลโดยตรงนั้น
ต้องการที่จะกำจัดกิเลสและกองทุกข์
แต่ว่าผลเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ซึ่งบังเกิดขึ้น
และเมื่อได้รับประสบผลเช่นนี้ ถ้าหากว่าเกิด
ความหลงเข้าใจผิดขึ้นว่านี้เป็นตัวมรรคตัวผลที่
ต้องการและบัดนี้
ได้บรรลุมรรคบรรลุผลแล้ว คือ
ได้ประสบความสำเร็จแล้ว หากมีความเข้าใจดั่งนี้
อาการที่ปรากฏเหล่านี้จึง
จะเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส คือเครื่องที่เข้าไปทำ
ให้วิปัสสนาเศร้าหมอง อันผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานและ
ได้ประสบอาการดังที่กล่าวมานี้ บางท่านที่เคย
ได้ฟังมาปรากฏเป็นเสียงมาร้องบอกก็มี ว่าเธอสำเร็จ
แล้ว และท่านที่ปฏิบัติเมื่อ
ได้ยินเสียงมาตะโกนบอกว่าสำเร็จแล้ว บางท่านก็เชื่อ
รีบไปบอกพระที่เป็นผู้ร่วมปฏิบัติว่าสำเร็จแล้ว
เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติซึ่งเป็นผู้รู้หลักก็ชี้แจงให้ฟัง จึง
ได้เกิดความเข้าใจขึ้นว่าไม่สำเร็จ ที่เป็นดั่งนี้ก็มี
หรือบางทีก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็น
เป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำก็มี
ดังที่ท่านรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำ
ครั้งแรกก็แนะนำว่าให้ทำเรื่อยไปไม่ต้องหยุด จึง
ได้ทำเรื่อยไปไม่นอน แต่ยังยอมฉัน เมื่อถึงเวลาก็ฉัน
แต่ต่อมาก็เห็นพระพุทธเจ้ามาประทานคำแนะนำอีกว่า
ต้องไม่ฉัน เมื่อถึงขนาดนี้เพื่อนฝูงก็
ต้องไปตามอาจารย์มาช่วยให้คำแนะนำแก้ไข
ก็ประสบความสำเร็จในการแก้ไข ก็รู้ตัว
ในภายหลัง เหล่านี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นอาการเหล่านี้นั้นอันที่จริงไม่ใช่
เป็นวิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา
หรือเป็นสามัญของผู้ปฏิบัติ เมื่อเข้าถึงขั้นก็
จะเกิดอาการเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องทำญาณคือ
ความหยั่งรู้ ว่าอาการที่ปรากฏเหล่านี้ยังไม่ใช่
เป็นมรรคยังไม่ใช่เป็นผล คือไม่ใช่
เป็นทางที่บรรลุอันเรียกว่ามรรคและไม่
ใช่ผล แต่เรียกว่าเป็นอาการที่บังเกิดขึ้นอัน
เป็นสิ่งที่พลอยได้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ไม่ติดอยู่
ในอาการเหล่านี้ มีความรู้ว่าไม่ใช่เป็นตัวมรรคไม่
ใช่เป็นตัวผล แต่เป็นอาการที่บังเกิดขึ้นแก่
ผู้ปฏิบัติตามขั้นตอนเท่านั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็
ไม่ติดไม่ยินดี ก็ปฏิบัติต่อไป ปรารภขันธ์อายตนะธาตุ
หรือขันธ์ ๕ นามรูป พิจารณาในไตรลักษณ์
ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นต่อไป
ดั่งนี้เรียกว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิ
ใช่ทาง
๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๖
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ
สุวฑฺฒโน)
บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่อง
ในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2014, 04:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓๕ ลักษณะพุทธศาสนา -
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร
--------------------------------------------------------------
ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๖ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ เมื่อได้
ความรู้จักว่าอะไรเป็นทาง อะไรมิใช่ทาง ตามอธิบาย
ในวิสุทธิข้อที่ ๕ แล้ว ก็จะทำให้การปฏิบัติ
ในวิปัสสนากรรมฐาน
ได้ดำเนินตรงแน่วไปสู่ทางแห่งวิปัสสนา
คือปัญญาที่เห็นแจ้งรู้จริงในสังขารทั้งหลาย โดย
ไม่มีความรู้ผิดเห็นผิดที่จะทำให้พลัด
หรือหลงทางแห่งวิปัสสนาไป เพราะฉะนั้นในขั้นที่
จะปฏิบัติแน่วไปตรงทางแห่งวิปัสสนาอันแท้จริงนั้น
ก็ใคร่จะกล่าวย้ำตรงหัวต่อนี้ ๒ ข้อ
ข้อหนึ่งก็คือหลงผิดในทางแห่งวิปัสสนาตามที่กล่าวมา
แล้วเป็นอันตรายสำคัญแห่งความปฏิบัติก้าวหน้า
วิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่จะเข้ามาทำ
ให้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเศร้าหมองไป ที่ท่านยกขึ้น
ไว้ ๑๐ ประการนั้น ก็เป็นข้อสำคัญ แต่ว่าแม้จะมีข้อ
อื่นอีกอันหมายความว่าความเห็นผิดเข้าใจผิดในนิมิต
เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนจะนอกไปจากนั้นอีก เมื่อ
เป็นทางที่ผิดแล้ว ก็นับเข้าในวิปัสสนูปกิเลสทั้งสิ้น
ดังที่ยกมาเล่าแล้วที่พระผู้ปฏิบัติ
ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแสดงแนะนำนั้น ซึ่งก็ล้วน
เป็นนิมิตคือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นขึ้นมา อัน
เป็นภาพมายาที่หลอกให้เข้าใจผิด
เพราะว่าข้อที่แนะนำนั้นเป็นข้อที่ปฏิบัติมิได้ เพราะฉะ
นั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องทำความรู้ล่วงหน้าไว้ แม้ว่า
จะเกิดนิมิตมองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสแนะนำอย่างโน้นอย่างนี้อะไร
โดยตรง แต่เมื่อข้อแนะนำนั้นๆ ไม่ถูกต้อง ก็
เป็นอันว่านั่นเป็นภาพมายา และภาพมายานี้
ถ้าไปปฏิบัติด้วยความหลงผิดก็เกิดอันตราย
มีอีกเรื่องหนึ่ง ได้รู้จักเองกับพระองค์หนึ่ง
เป็นพระชาวต่างประเทศซึ่งไปปฏิบัติอยู่
ในวัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี
ก็นั่งปฏิบัติทำกรรมฐาน แต่ว่าจะปฏิบัติ
ด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่ก็ได้ปีติได้สุข
ในการปฏิบัติ ซึ่งปีติสุขในการปฏิบัตินั้นแม้
ในขั้นสมาธิก็ย่อมได้ ดังที่มีแสดงไว้
ในองค์ของปฐมฌานคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
เอกัคคตาก็คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
วิตกก็คือความนำจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน
วิจารก็คือความที่ประคองจิตไว้
ในอารมณ์ของกรรมฐานไม่ให้ตก ปีติ ความอิ่มใจ
สุขก็คือความสบายกายสบายใจแล้วก็เอกัคคตา นี่
ในขั้นสมาธิ ก็ได้มีนิมิตเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จ
เข้ามาทางหน้าต่าง และก็เสด็จออกไปทางหน้าต่าง
ก็ตามเสด็จออกไปทางหน้าต่าง
รุ่งขึ้นก็มีคนเห็นพระรูปนั้นตกมาสลบ
อยู่ที่ข้างกุฏิตรงหน้าต่างนั้น ก็นำไปส่งโรงพยาบาล
พยาบาลแก้ไขกันต่อไป ดั่งนี้อาจจะเป็นสมถูปกิเลสก็
ได้ คือสิ่งที่มาทำให้การปฏิบัติ
ในสมถกรรมฐานเศร้าหมองไป และแม้
ในขั้นปฏิบัติวิปัสสนานี้ ก็ย่อมจะได้ภาวะของจิตเป็น
ความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่งดังที่แสดงแล้ว
ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น
จะปรากฏนิมิตเป็นประการใดประการหนึ่งก็ตาม
ซึ่งนอกทางวิปัสสนาไปแล้วก็อย่าไปยึดถือ
อย่าไปหลงผิดว่าเป็นจริงเป็นจัง อันจะทำให้
เป็นอันตรายแก่วิปัสสนาปฏิบัติเอง
ต้องถือทางปฏิบัติแห่งวิปัสสนา
กล่าวคือจับพิจารณาขันธ์ ๕ หรือนามรูป
โดยไตรลักษณ์ต่อไปเป็นประการสำคัญ คือ
ไม่ทิ้งวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเอง
ต้องถือวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเป็นหลักต่อไป
โดยไม่ไปหลงพะวักพะวงกับภาวะของจิตต่างๆ
หรือนิมิตต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น และข้อนี้ก็ได้กล่าวไว้
แล้ว ว่าอันภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ นั้น
อาจบังเกิดขึ้นได้แก่ผู้ปฏิบัติทุกคนในข้อใดข้อหนึ่ง
หรือหลายข้อ บางอย่างก็
เป็นผลของวิปัสสนาปฏิบัติเรียกว่าเป็นผลพลอยได้
คือเมื่อจิตได้ญาณคือความหยั่งรู้ในวิปัสสนาดีขึ้น
โดยลำดับ ก็ชำระฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อ
เป็นดั่งนี้ ก็ทำ
ให้จิตที่เคยดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายกลับสงบลง
และก็ทำให้จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลสนั้นผ่องใสขึ้น
จึงได้ความสงบได้ความสุขอันประณีต
ก็ปรากฏออกมาเป็นตัวสุขเวทนา กายใจสบาย
เหมือนอย่างว่าการนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้มีลมพัดสบาย
คราวนี้ถ้าไปติดกับความสบายนั้นเสียแล้ว ก็ทำ
ให้นั่งพักอยู่นั่นแหละ ไม่ออกจากต้นไม้เดินทางต่อไป
เพราะจะต้องเดินทางกันต่อไปอีก ยัง
ไม่สิ้นสุดของการเดินทาง หรือบางทีก็ไป
เข้าใจว่าต้นไม้ที่ไปนั่งพักนั้นเป็นสุดทางแล้ว เห็นว่าเป็น
ความสุขเป็นความสงบพอแล้ว ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าทำ
ให้ชะงักการปฏิบัติอยู่แค่นั้น
อันผลต่างๆ หรือภาวะต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นนั้น
ตัวของภาวะนั้นๆ ไม่ใช่เป็นตัวกิเลส ไม่ใช่
เป็นตัววิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้
จะพึงพบ ก็เป็นอาการหรือ
เป็นภาวะที่ปรากฏขึ้นตามขั้นตอนของการปฏิบัติ
นั้นเอง เพราะฉะนั้นในตัวเองของสิ่งเหล่านั้นไม่
เป็นวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าว แต่จะเป็นก็ในเมื่อผู้ปฏิบัติ
ได้หลงยึดถือเข้ามาหรือไปหลงติด เมื่อไปหลงติด
เข้าเมื่อใด ภาวะหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นนั้นก็กลาย
เป็นวิปัสสนูปกิเลสไป เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง
อย่าไปยึดถืออย่าไปติด ปล่อยให้ผ่านๆ ไปเสีย
แล้วก็ปฏิบัติ
ในทางวิปัสสนาต่อไปคือเดินทางปฏิบัติต่อไปไม่หยุด
อยู่แค่นั้น แม้จะ
เป็นนิมิตอะไรปรากฏเห็นโน่นเห็นนี่ก็ตาม
จะเห็นพระพุทธเจ้าเห็นเทวดามารพรหม ผีสาง
เห็นป่าเห็นเขา เห็นอะไรทั้งนั้น นั่นเป็นนิมิตทั้งนั้น
อย่าไปยึดถือเกี่ยวเกาะ อย่าไปหวาดกลัว
อย่าไปหลงตื่น อย่าไปเชื่อฟัง เป็นนิวรณ์ที่แวบเข้ามา
ในใจได้ เรียกว่าเป็นสัญญาเก่าก็ได้ หรือว่าจะ
เป็นมารอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาขัดขวางก็ได้
เพราะฉะนั้นก็อย่าไปหลงยึดถือทั้งนั้น ปล่อยวางไป
อะไรจะปรากฏขึ้นมาก็ช่าง
ก็จับปฏิบัติคือว่าเดินทางปฏิบัติต่อไป
พิจารณาสรุปลงในสังขารโดยไตรลักษณ์
อีกข้อหนึ่งก็คือให้ทำความเข้าใจ
ว่าอารมณ์ของวิปัสสนาอันเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน
หรือวิปัสสนาภูมินั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ยกเอาขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาพิจารณา
หรือว่ายกเอาแต่เพียงขันธ์ ๕ ย่อมาเป็นนามรูป
ก็สรุปหมดนั่นแหละ
อีกคำหนึ่งก็คือว่ายกเอาคำว่าสังขารขึ้นมา
เป็นที่รวมสรุป คำว่าสังขาร
นั้นแปลว่าสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง ทั้งหมดนั่นแหละรวม
เข้าในคำว่าสังขารได้ ทั้งขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป
ทั้งอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สิ่งซึ่งผสมปรุงแต่ง
ทั้งหมดรวมเข้าในคำว่าสังขารนั้น เพราะฉะนั้นท่าน
จึงเรียกว่าสังขารเป็นบทสรุปก็มี
หรือเรียกว่าพิจารณาสังขาร
โดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้
หรือว่าเรียกว่าสภาวธรรม พิจารณาสภาวธรรม
โดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ คำว่าสภาวธรรมนั้นก็
ได้อธิบายมาแล้ว ก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดนั่นแหละ
สภาวธรรม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สังขาร ยกเอาคำ
ใดคำหนึ่งขึ้นมาก็ได้ทั้งนั้น คลุมถึงกันทั้งหมด
เพราะฉะนั้นแม้ว่าอะไรจะปรากฏ
เป็นเทวดามารพรหม เป็นต้นไม้ภูเขา เป็นผู้หญิงเป็น
ผู้ชาย อะไรที่เป็นนิมิตโผล่เข้ามาในการปฏิบัติ
แล้วละก็จับเข้าในสังขารนี่ทั้งหมด
เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น รวมอยู่
ในขันธ์อายตนะธาตุนี่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็อย่าไปตั้ง
เป็นสมมติบัญญัติอะไรขึ้น อย่าไปตั้ง
เป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นเทวดาเป็นมารเป็นพรหม เป็น
ผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นภูเขาเป็นต้นไม้ เพราะว่ามา
ถึงขั้นวิปัสสนานี้ แปลว่าชำระความเห็น
ให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิแล้ว ไม่
ใช่สัตตสัญญาอัตตสัญญา
ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
แต่ว่าพิจารณาจับเข้ามาถึงขันธ์อายตนะธาตุ
ถึงสภาวธรรมถึงตัวสังขารนี้ ก็ต้องจับอันนี้แหละ
เป็นหลัก อย่าให้กลับวกไปหาอัตตสัญญาสัตตสัญญา
ความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาขึ้นมาอีก
ถ้าปรากฏอะไรขึ้น เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเรา
เขาอะไรขึ้น ก็ให้ปล่อยวางทั้งหมด แปลว่าจะดึง
ให้ผิดทางไปเสียแล้ว ต้องกลับมา
เข้าสู่ขันธ์อายตนะธาตุสภาวธรรมสามัญลักษณะ
สภาวธรรม สังขาร โดยสามัญลักษณะนี้นั่นแหละ
ทั้งหมด อันนี้แหละเป็นทางตรงโดยตรง เดินต่อไป
ในทางนี้ เพราะฉะนั้นอารมณ์
หรือภาวะอะไรที่บังเกิดขึ้นอันจะทำให้หลงผิดทางไป
นั้น ต้องคิดเสียว่าเป็นเรื่องที่บังเกิดขึ้นแก่
ผู้ปฏิบัติทุกคน และก็บังเกิดขึ้นตามขั้นตามตอน
เป็นผลพลอยได้ก็มี เป็นนิวรณ์หรือเป็นมาร
เข้ามาก็มี ฉะนั้นก็อย่าไปหลง สำคัญที่
ผู้ปฏิบัติเองอย่าไปหลงเข้า ต้องยึดอยู่
ในทางของวิปัสสนา
คือจับขันธ์อายตนะธาตุสังขารสภาวธรรม
เดินไปทางสามัญลักษณะนี่แหละ
ทั้งหมดตรงแน่วไปทีเดียว ไม่พะวงอะไรทั้งหมด เมื่อ
เป็นดั่งนี้แล้ว วิปัสสนาญาณ ๙ จะบังเกิดขึ้น
วิปัสสนาญาณ ๙
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้ง
ความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏ
เป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึง
ความเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่
จะพ้นไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึง
ด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วย
ความวางเฉยเสีย
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไป
โดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ
ข้อ ๑ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ ก็คือจะ
ได้ความรู้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งความเกิดทั้ง
ความดับ คือจะเห็นสังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ว่ามี
ความเกิดขึ้นมีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อจับพิจารณารูปหรือขันธ์ ๕ ก็จะเห็นว่าขันธ์ ๕
นั้นเกิดดับไปอยู่
เมื่อจับพิจารณาอายตนะจับพิจารณาธาตุก็จะเห็น
ว่าสิ่งทั้งปวงนี้เกิดดับไปอยู่ อันหมายความว่า สังขารข้อ
ใดโผล่ขึ้นมา ก็จะเห็นเกิดเห็นดับของสังขารข้อ
นั้นพร้อมกันไปทีเดียว ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติต้องทำความ
เข้าใจ ว่าเช่นมีบุคคลหนึ่งเดินมา มองเห็นด้วยตาก็ดี
ด้วยใจคือคิดไปถึงก็ดี ความรู้ความเห็นของ
ผู้ปฏิบัติทำวิปัสสนานั้นจะไม่เห็นว่าคนเดินมา แต่
จะเห็นว่าขันธ์ ๕ มาหรือนามรูปมาหรือสังขารมา
และจะไม่เห็นแค่นั้น จะเห็นว่าเกิดว่าดับพร้อม
กันไปทีเดียว คือสิ่งที่มานั้นเกิดสิ่งที่มานั้นดับ
อะไรที่เห็นทางตาก็จะเห็นอย่างนี้ทั้งหมด อะไรที่
ได้ยินทางหูก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด
อะไรที่ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็จะเห็นดังนี้
ทั้งหมด อะไรที่เกิดขึ้นทางใจด้วยความคิดก็จะเห็นดังนี้
ทั้งหมด คือว่าเห็นขันธ์ ๕ เห็นว่าอายตนะเห็นว่าสังขาร
ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งหมด คือ
ไม่ยึดถือว่าเป็นชายเป็นหญิงเป็นช้างเป็นม้าเป็นบ้าน
เป็นเรือนเป็นโคเป็นกระบือทั้งหมด แต่จะเห็นเป็นขันธ์
เป็นธาตุเป็นอายตนะเป็นสังขาร แล้วขณะที่ได้เห็นที่
ได้ยินที่นึกขึ้นนั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นสังขารทั้งหมด
และเกิดดับทั้งหมด อันนี้จะรู้สึกว่าต่างจากผู้ที่มิ
ได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้ คือผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้นั้น
สิ่งที่ปรากฏทางอายตนะทั้งหมดนี้ดังเช่นทางตาก็จะ
เป็นชายเป็นหญิงเป็นต้นไม้เป็นภูเขา
เป็นแก้วแหวนเงินทองเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ทั้งหมด ทางหูก็
เป็นเสียงนั้นเสียงนี้
เสียงสรรเสริญเสียงนินทาเสียงเล่าเรื่องอะไรต่างๆ
ทางจมูกก็เป็นกลิ่นที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง รสก็เป็นรสสิ่ง
นั้นสิ่งนี้ ถูกลิ้นบ้างไม่ถูกลิ้นบ้าง ทางกายก็ดีบ้าง
ไม่ดีบ้าง ทางใจก็
เป็นเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้างอะไรต่างๆ
เป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ทั้งนั้น เพราะว่า
เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปทั้งนั้น แล้วก็
ไม่ปรากฏความดับความเกิด ปรากฏเป็นความดำรง
อยู่ตั้งอยู่ เกิดข้างต้นก็ไม่เห็น ดับข้างปลายก็ไม่เห็นทั้ง
นั้น ปรกติเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาแล้วจะ
ไม่เห็นเป็นอย่างนั้น เห็นเป็นสังขารทั้งหมด จะเป็นรูป
เป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ
เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง
ทั้งหมด ไม่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งนั้น และ
เป็นสิ่งเกิดสิ่งดับทั้งนั้น แปลว่าเกิดปรากฏดับปรากฏ
เห็นเกิดเห็นดับทันทีพร้อมกันไป ดั่งนี้แหละจึงจะ
เป็นข้อที่ ๑ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
และเมื่อได้ข้อ ๑ นี้แล้ว
เมื่อวิปัสสนาญาณนี้แก่กล้าขึ้น ก็จะเห็นว่าดับ
ดับไปแต่เพียงอย่างเดียว อะไรโผล่ขึ้นมาก็เห็นดับทั้ง
นั้น ไม่มีความตั้งอยู่ปรากฏ เห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด
เพราะฉะนั้นในข้อนี้ท่าน
จึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามารดาที่มีบุตร ๓ คน ที่ทำ
ความผิดถูกเขาตัดสินประหารทั้ง ๓ คน เวลา
เขานำบุตร ๓ คนไปประหารก็ประหารทีละคน
มารดาก็ไปยืนดูอยู่ด้วย เห็นเขาประหารคนที่ ๑ ไป
แล้ว และก็กำลังประหารคนที่ ๒ และคนที่ ๓
นั้นกำลังรออยู่
แต่มารดาก็รู้สึกว่าเหมือนอย่างถูกประหารไป
แล้วเหมือนกัน แม้ว่าสังขารนั้นจะตั้งอยู่ แต่ก็รู้สึกว่า
ไม่มีหวังเสียแล้วที่จะตั้งอยู่ ต้องถูกประหาร
เป็นอันดับที่ ๓ ต่อไป เพราะฉะ
นั้นการที่เห็นดับก็เห็นอย่างนี้ แม้ว่าจะเห็นสังขาร
ทั้งหลายปรากฏเป็นรูปเป็นเสียงเป็นต้น แต่ว่าก็จะ
ต้องดับ เพราะฉะนั้นเมื่อวิปัสสนาญาณอันนี้แก่กล้าขึ้น
แล้วก็จะเห็นแต่ดับๆ ทั้งนั้น แม้จะตั้งอยู่ก็ดับ ความดับก็
จะมาอยู่แล้ว เหมือนอย่างมารดาที่รอบุตรคนที่ ๒
กำลังจะถูกประหาร ยังไม่ถูกประหารก็จริง
แต่ว่าก็จะถูกประหารเป็นอันดับต่อไปแล้ว
ความหวังที่จะตั้งอยู่ไม่มีแล้ว จึงเห็นดับเห็นดับไป
ทั้งหมด ดั่งนี้ก็เป็นข้อที่ ๒ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ
คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ เห็นสังขารปรากฏ
เป็นของน่ากลัว ก็โดยที่เมื่อมีความเห็นว่าต้องเกิด
ต้องดับอยู่ดั่งนั้น ก็จึงเป็นเหมือนอย่างว่า
เป็นเรือนที่ถูกไฟไหม้ เพราะฉะนั้นเรือนที่ถูกไฟไหม้
นั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ไม่กลัวก็เพราะมายืนดู
อยู่ข้างนอก ไม่ได้ตั้งอยู่ในเรือนไม่ได้ยืนอยู่
ในเรือนที่กำลังไฟไหม้ แปลว่าดูอยู่ข้างนอก
ก็เห็นเรือนกำลังถูกไฟไหม้หมดไปเป็นของน่ากลัว
ไม่ควรที่จะเข้าไปใกล้เรือนที่กำลังถูกไฟไหม้นั้น
ต้องถอยห่างออกมา ฉะนั้นจึง
ได้ญาณข้อต่อไปก็คือคำนึงเห็นโทษ เมื่อ
เป็นของน่ากลัวอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่มีโทษไม่มีคุณ ก็
เป็นข้อที่ ๔ และเมื่อคำนึงเห็นโทษดั่งนั้น แล้วก็จะเกิด
ความเบื่อหน่าย ก็เป็นข้อที่ ๕ เมื่อเบื่อหน่ายก็ใคร่ที่
จะพ้นไปเสีย ก็เป็นข้อที่ ๖ เมื่อใคร่ที่จะพ้นไปเสีย
ก็พิจารณาหาทาง ก็เป็นข้อที่ ๗ การพิจารณาหาทาง
นั้นก็คือเดินทางปฏิบัติวิปัสสนานั้นต่อไปนั้นเอง และเมื่อ
ได้พบทาง ก็ย่อมจะได้ข้อที่ ๘ คือว่าวางเฉยเสียได้
ในสังขารทั้งหลาย
ในข้อนี้ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าคนจับปลาวางข้องจับปลาไป
ในแม่น้ำ เมื่อรู้สึกว่าปลาจะเข้าข้องก็ยกขึ้นมา
ก็เอามือล้วงไปจับที่คอของปลา แล้วก็ยกขึ้นมา
ก็ปรากฏว่าไม่ใช่ปลาเสียแล้ว เป็นงู เมื่อ
เป็นเช่นนี้ก็เกิดความกลัว มองเห็นโทษของงูว่ากัด
เข้าก็ตาย ฉะนั้นก็เกิดความหน่ายในงู ก็ใคร่ที่
จะพ้นไปเสีย จึงได้จับงูนั้นให้มั่นไม่ให้กัดได้แล้วก็ชูขึ้น
แกว่งไปแกว่งมาให้งูอ่อนกำลังลง แล้วก็เหวี่ยงทิ้งไป
เมื่อเหวี่ยงทิ้งไปแล้วก็ได้ความสบาย พ้นภัย
ท่านเปรียบไว้ว่า ความที่จับยึดถือสังขารทั้งหลายว่า
เป็นตัวเราของเรานั้น ก็เปรียบเหมือนว่าจับงูด้วย
ความหลง ก็คือด้วยความไม่รู้
เหมือนอย่างล้วงลงไปในข้องนึกว่าปลา
จับมั่นแต่เมื่อยกขึ้นมาดูแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ปลาแต่
เป็นงู เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่า
เป็นงูก็เปรียบเหมือนอย่างว่าความที่ยึดถือสังขาร เมื่อ
ได้ปัญญามองเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้น
เป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่ดับๆ ไปโดยส่วนเดียว ก็เกิด
ความรู้เห็นขึ้นมา ว่าความที่ยึดถือว่า
เป็นตัวเราของเรานั้นยึดถือผิดแต่ว่ายังปล่อยไม่ได้
เพราะว่ายังยึดเอาไว้อยู่ ถ้าปล่อยไม่ดีก็จะ
เป็นอันตราย ปัญญาที่จะปล่อยก็ยังไม่ถึงในขณะนั้น
แต่ก็เรียกว่าไม่มองเห็นแล้วว่ายึดถือผิด
และก็ปรากฏว่าเป็นของที่น่ากลัวเพราะ
เป็นสิ่งที่เกิดดับเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นดั่งนี้
จึงเห็นโทษ เหมือนอย่างว่าจับงูขึ้นมาก็เห็นโทษว่างูมันกัด
ให้ตายได้ จึงมีความหน่ายงู ก็เหมือนอย่างมีความหน่าย
ในสังขารทั้งหลาย มีความใคร่จะพ้นจากสังขาร
ทั้งหลาย ก็เหมือนใคร่ที่จะพ้นจากงู
คราวนี้พิจารณาที่จะพ้นก็คือพิจารณาหาทางที่
จะปล่อยวางสังขารนั้นเอง ก็เหมือนอย่างพิจารณาว่า
จะหาทางเหวี่ยงงูออกไปอย่างไร งูจึงจะ
ไม่หวนมากัดเอา เพราะฉะนั้นเมื่อหาทางที่จะปล่อยงู
ได้ ก็ชูงูขึ้นเหนือศีรษะแล้วก็เหวี่ยงงูทิ้งไปเสียให้ไกล
ก็เหมือนอย่างความที่วางสังขารได้ ก็มีความเฉย คือ
ความที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน มีความเบาสบาย
อันเรียกว่าวางเฉย อันเป็นข้อที่ ๘
เพราะเมื่อเหวี่ยงงูไปพ้นแล้ว ก็แปลว่าวางเฉยในงูนั้น
ได้ เมื่อวางสังขารได้ ก็แปลว่าวางเฉยในสังขาร
ทั้งหลายได้
จึงมาถึงข้อที่ ๙ ที่เมื่อได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว
ก็พิจารณาโดยสมควร กำหนดรู้อริยสัจ
ก็คือพิจารณาถึงความรู้ความเห็นที่ได้มาจน
ถึงขั้นวางสังขารทั้งหลายลงได้ ได้ความวางเฉย
ในสังขารแล้ว กับที่ได้ปฏิบัติมา
โดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมาถูก
ต้องตามแนวอริยสัจ หรือตามแนวโพธิปักขิยธรรม
อันเป็นทางที่ถูกต้อง และที่จะปฏิบัติต่อไป ก็
เป็นทางที่ถูกต้องแก่โพธิปักขิยธรรมหรือแก่อริยสัจ
ที่ท่านมีอุปมาเหมือนอย่างว่า มีมหาอมาตย์ ๘ คน
ผู้มีหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีของพระราชา
ได้ถวายข้อวินิจฉัย
พระราชาก็ทรงอนุมัติไปตามข้อวินิจฉัยของมหาอมาตย์
ทั้ง ๘ คนนั้น
และข้อที่พระราชทานพระบรมราชานุมัติไปนั้น
ก็สอดคล้องกับหลักของนิติธรรม อัน
เป็นพระราชนิติหรือกฏหมายของแผ่นดิน
แปลว่าพระราชาทรงอนุมัติไปตามวินิจฉัยของมหาอมาตย์
ทั้ง ๘ และก็โดยถูก
ต้องต่อหลักนิติธรรมของบ้านเมืองอีกด้วย นี้ก็
เป็นข้อที่ ๙ เรียกว่าปรีชาเป็นไป
โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ วิปัสสนาญาณ
ทั้ง ๙ นี้เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติอัน
เป็นวิสุทธิข้อที่ ๖
๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ
สุวฑฺฒโน)
บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่อง
ในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2014, 06:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งที่ ๓๖ ลักษณะพุทธศาสนา - ญาณทัสสนวิสุทธิ
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร
--------------------------------------------------------------
วิสุทธิขั้นกำจัดกิเลสได้หรือพ้นโลก
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็น
ญาณทัสสนวิสุทธินี้ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔
วิสุทธิข้อที่ ๗ นี้จึงเป็นญาณทัสสนะ ความรู้เห็น
ในอริยมรรค ๔ อันได้แก่ โสดาปัตติมรรค
สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตมรรค จึงเป็นญาณทัสสนะที่
เป็นโลกุตระอันแปลว่าอยู่เหนือโลก ฉะ
นั้นวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ จึงเป็นวิสุทธิซึ่ง
เป็นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลก หรือว่า
เป็นโลกุตรวิสุทธิ วิสุทธิที่อยู่เหนือโลก ส่วนวิสุทธิ ๖
ข้อข้างต้น ตั้งแต่สีลวิสุทธิจน
ถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นวิสุทธิที่ยัง
เป็นโลกิยธรรม ธัมมะที่ยังเกี่ยวกับโลก หรือ
เป็นโลกิยวิสุทธิ วิสุทธิที่ยังเกี่ยวกับโลกหรือยัง
เป็นขั้นโลก ฉะนั้นจึงพึงเข้าใจว่าขั้นแห่งธรรมปฏิบัติ
ในพุทธศาสนานั้น เบื้องต้นก็ยังขั้นโลก
หรือขั้นโลกิยธรรม ส่วนขั้นที่กำจัดกิเลส
ได้เรียกว่าขั้นโลกุตรธรรมที่แปลว่าพ้นโลก
หรือว่าเหนือโลก และแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ คือเป็น
ขั้นปุถุชน ที่แปลว่าคนที่ยังมีกิเลสหนาแน่น “ปุถุ”
แปลว่าหนาหรือมาก ฉะนั้นจึงหมายถึงคนจำนวนมากก็
ได้ กับ ขั้นอริยชน คือคนที่เป็นอริยะ อันหมาย
ถึงว่ากำจัดกิเลสได้ และคำว่าอริยะนี้ก็ใช้
เป็นชื่อของหมู่คนที่มีความเจริญ ดังที่แสดงไว้
ในพุทธประวัติ ว่าในชมพูทวีป ในขั้นแรกก็
เป็นที่อาศัยของหมู่ชนอันไม่มีความเจริญเรียกว่า “
มิลักขะ” หรือว่า “ทัสสยุ”
แต่ต่อมามีชนที่เรียกตัวเองว่า “อริยะ” ได้ยก
เข้ามาอาศัยอยู่ และก็ปราบพวกมิลักขะหรือทัสสยุ
นั้นให้พ่ายแพ้ไป และทำพวกนั้นให้เป็นทาส
พระพุทธเจ้าก็ได้ประสูติขึ้นในหมู่ชนเหล่าอริยะ
ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงกำจัดกิเลส
ได้สิ้นเชิง และ
ได้ทรงประกาศพุทธศาสนาสั่งสอนธัมมะ
ให้หมู่เวไนยนิกรได้ดวงตาเห็นธรรม
และกำจัดกิเลสได้ และก็ได้เรียกหมู่ชนที่
ยังกำจัดกิเลสไม่ได้ว่าปุถุชน
และก็เรียกเหล่าชนที่กำจัดกิเลสได้ว่าอริยชน
แต่คำว่าอริยะนี้ ภาษาสันสกฤตว่าอารยะ
ดังที่เรามาเรียกกันในบัดนี้ว่าอารยประเทศ
หรือเรียกหลักธรรมที่ปฏิบัติสำหรับชนที่มี
ความเจริญหรือหมู่คนที่มี
ความเจริญว่าอารยธรรม ก็คือคำว่าอริยะ
ในภาษาบาลีนั้นเอง เป็นคำเดียวกัน
อริยบุคคล
อริยชนนั้นก็มาจากปุถุชนนั้นเอง ในเบื้องต้นก็ยัง
เป็นปุถุชน และปุถุชนนี้เองถ้ายังมีกิเลสหนาแน่นมาก
ไม่มีดวงตาที่จะเห็นธัมมะแม้ในขั้นต้นขั้นต่ำ
ก็เรียกว่าอันธพาลปุถุชน ปุถุชนที่เป็นอันธพาล คือ
เป็นผู้เขลาเหมือนอย่างเป็นผู้บอด ไม่ใช่หมาย
ความว่าตานอกหรือตาเนื้อบอด แต่หมาย
ความว่าตาใจบอด คือไม่มีปัญญาที่จะรู้เห็นธัมมะแม้ที่
เป็นขั้นต้นขั้นต่ำ พูดง่ายๆ ว่า
ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไร เมื่อปุถุชนผู้
ได้สดับธัมมะของพระอริยะคือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และได้มีศรัทธา ได้มีปัญญา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ แต่
ยังไม่ตัดกิเลสได้ ก็เรียกว่ากัลยาณปุถุชน
ปุถุชนที่ดีงาม ต่อเมื่อตัดกิเลสได้จึง
จะเรียกว่าอริยชน และสำหรับที่ตัดกิเลสได้นี้ก็
ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือที่ตัดกิเลสได้บางส่วน
กับตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ตัดกิเลสได้บางส่วนนั้นก็มี ๓
คือ โสดาบัน แปลว่าผู้
ถึงกระแสแห่งธรรมตัดสังโยชน์ได้ ๓ สกทาคามี
แปลว่าผู้มาอีกก็เพียงครั้งเดียว ก็ตัดสังโยชน์ได้ ๓
เหมือนอย่างโสดาบันนั่นแหละ แต่ทำกิเลส
ให้เบาบางลง คือทำราคะโทสะโมหะ
ให้เบาบางลงยิ่งขึ้นได้อีก อนาคามี แปลว่าผู้ไม่มาอีก
ที่ท่านแสดงว่าไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส
และนิพพานในพรหมชั้นนั้น ตัดสังโยชน์ได้ ๕
กับอรหันตบุคคลหรือพระอรหันต์ ตัดสังโยชน์ได้
๑๐
บุคคล ๔ จำพวกนี้เรียกว่า อริยบุคคล ดังที่ได้สวด
ในบทสังฆคุณว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ
หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยทิทํ จตฺตาริ
ปุริสยุคานิ คือคู่แห่งบุรุษบุคคล ๔ คือ บุคคล ๔ คู่
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา นับเรียงตัวก็เป็นบุรุษบุคคล ๘
บุรุษบุคคล ๔ คู่ก็คือ คู่ที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่
ในโสดาปัตติมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒ พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค กับพระผู้ตั้ง
อยู่ในสกทาคามิผล คู่ที่ ๓ พระผู้ตั้งอยู่
ในอนาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล คู่ที่
๔ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค และพระผู้ตั้งอยู่
ในอรหัตผล นับรายบุคคลก็เป็น ๘ นับเป็นคู่ก็เป็น
๔ คู่ดั่งนี้ และท่านผู้ที่
ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลแล้ว
ก็เรียกว่าโสดาบัน พระผู้ตั้งอยู่ในสกาทาคามิมรรค
กับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผลแล้ว
ก็เรียกว่าสกทาคามีหรือสกทาคามีบุคคล พระผู้ตั้ง
อยู่ในอนาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล
แล้ว ก็เรียกว่าอนาคามีหรืออนาคามีบุคคล พระ
ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว
ก็เชื่อว่าพระอรหันต์หรืออรหันตบุคคล
โลกุตรธรรม
อันมรรคผลดังกล่าวกับนิพพานอีกหนึ่ง
เรียกว่าโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลก
หรือธัมมะที่พ้นโลก และนิพพานอันเป็นข้อที่ ๙ นี้
ท่านเรียกว่าอนุปาทาปรินิพพานก็มี คำว่า “
อนุปาทาปรินิพพาน” นี้แปลว่าปรินิพพาน
คือดับกิเลสได้โดยรอบ คือดับกิเลสได้หมดสิ้น
อนุปาทาไม่ยึดมั่น คือไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งสิ้น
เรียกว่าอนุปาทาปรินิพพาน แต่ก็เรียกสั้นคำเดียวว่า
นิพพาน อันหมายความว่าดับกิเลส แต่ที่
เป็นนิพพานอย่างสูงสุดก็คือดับกิเลสได้ทั้งหมด
แต่เมื่อพิจารณาดูนิพพานที่ท่านใช้ในที่ต่างๆ
แล้วก็สรุปลงได้ ว่าอันมรรคผลที่ตัดกิเลสก็
ยังมีแบ่งเป็น ๒ คือตัดกิเลสได้บางอย่าง กับตัดกิเลส
ได้ทั้งหมด นิพพาน ก็เป็นอย่างเดียวกัน ตัดกิเลส
ได้บางอย่างก็เป็นนิพพาน ตัดกิเลสได้ทั้งหมดก็
เป็นนิพพาน และที่ตัดกิเลสได้ทั้งหมดนี่แหละ
จึงเรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน คือดับกิเลสได้
โดยรอบ ได้โดยสิ้นเชิง ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก
ทั้งหมด เพราะฉะนั้นโลกุตรธรรม ธัมมะที่
อยู่เหนือโลกในพุทธศาสนานั้น จึงมี ๙ อัน
ได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑
อันมรรคผลนิพพานนี้ท่านแสดงไว้ว่ามรรค
นั้นเมื่อตั้งเป็นมรรคจิตขึ้น ก็ดับ ผลนั้นเมื่อ
เป็นผลจิตขึ้น ก็ดับ ส่วนนิพพานนั้นเป็นอมตธรรม
ไม่เกิดไม่ดับ เป็นธัมมะที่บรรลุถึง ตามที่
ได้เคยอธิบายแล้ว ว่านิพพานนั้นตามศัพท์แปลว่าออก
จากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด
คำว่าเครื่องร้อยรัดนั้นมาจากคำว่าวานะ คือนิพพาน
นั้นประกอบขึ้นด้วยศัพท์ว่า นิ แปลว่าออก กับวานะ
แปลว่าเครื่องร้อยรัด
หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่าลูกศร มาประกอบ
เป็นคำว่านิพพาน ก็แปลว่าออกจากกิเลส
เป็นเครื่องร้อยรัดหรือว่าออกจากกิเลสที่
เป็นเหมือนอย่างลูกศรเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะ
นั้นเมื่อดับกิเลสได้ทั้งหมด สภาพจิตบริสุทธิ์สิ้นเชิง
ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งหมด หรือ
ไม่มีลูกศรคือกิเลสเสียบแทงทั้งหมด
ถอนลูกศรคือกิเลสเสียบแทงจิตทั้งหมดแล้ว
เป็นจิตที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์ด้วยประการ
ทั้งปวง นี้คือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพจิตที่เป็นนิรามโย
ไม่มีโรคคือกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเสียแทงทั้งหมด
เป็นจิตที่มีอนามัยสมบูรณ์ มีเสรีอย่างสมบูรณ์ คือ
ไม่มีโรคสิ้นเชิง โรคคือกิเลสเป็นเครื่องเสียบแทง
ให้เจ็บช้ำลำบาก ไม่มีลูกศรเสียบแทงใจให้เป็นทุกข์
ทั้งหมด สภาพจิตที่เป็นดั่งนี้เป็นสภาพจิตที่เป็นนิพพาน
หรือเป็นนิพพานธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิต ซึ่งดำรง
อยู่ตลอดไป แต่ว่ามรรคนั้นทำหน้าที่กำจัดกิเลส
เมื่อทำหน้าที่กำจัดกิเลสได้แล้วก็สิ้นหน้าที่มรรค
ผลนั้นเล่าก็เป็นผลของการกำจัดกิเลส เมื่อ
เป็นผลขึ้นแล้วก็หมดหน้าที่ เพราะฉะ
นั้นสภาพนิพพานจึงดำรงอยู่ตลอดไป
เพราะฉะนั้น
จึงมีเปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างการเดินทางไปสู่ที่
ใดที่หนึ่ง
เช่นว่าการเดินทางไปสู่พระปฐมเจดีย์ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นที่ไปเพื่อนมัสการ การไปนั้น
เป็นมรรค จะไปด้วยรถยนต์ จะไปด้วยรถไฟ หรือ
จะไปด้วยพาหนะอะไร ตลอดจนถึงเดินไปก็ตาม
เป็นการไปที่เทียบได้กับมรรค การ
ถึงพระปฐมเจดีย์เทียบได้กับตัวผล และที่
ถึงคือพระปฐมเจดีย์นั้นก็คือนิพพาน อันการไป
นั้นเมื่อไปจนถึงก็สิ้นหน้าที่ของการไป
เรียกว่าการไปก็ดับ ก็ถึง ถึงนั้นก็มีหน้าที่เท่าที่ไปถึง
เมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง ก็
เป็นอันว่าหมดหน้าที่ของผล ผลก็ดับ จึงอยู่แต่ที่
ถึงคือพระปฐมเจดีย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นการไปเมื่อ
ถึงก็หมดหน้าที่ของการไป และเมื่อถึง
แล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง เพราะฉะนั้นท่าน
จึงแสดงว่ามรรคกับผลนี้เป็นสังขตธรรม
ธัมมะที่มีปัจจัยปรุง เพราะว่าต้องปรุงต้องแต่งคือ
ต้องปฏิบัติ ปุถุชนหรือสามัญชน
หรือแม้แต่กัลยาณปุถุชนก็ต้องปฏิบัติ
เมื่อยกเอาวิสุทธิ ๗ นี้ขึ้นเป็นทางปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติ
ในวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ตั้งแต่สีลวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงข้อที่ ๖
คือปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งข้อที่ ๖ นี้เมื่อปฏิบัติจน
ถึงวิปัสสนาญาณข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชา
เป็นไปตามสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ
ท่านแสดงว่าเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของ
ความเป็นปุถุชน คือเมื่อปฏิบัติในสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ
และจับปฏิบัติ
ในวิปัสสนากรรมฐานจับตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นมา จน
ถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อที่ ๖
ซึ่งทุกข้อนี้คือตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิมาจน
ถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิรวมเป็น ๔ ข้อ นี้คือ
เป็นการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิปัสสนา
โดยตรง และเมื่อปฏิบัติมาจน
ถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก็คือวิปัสสนาญาณ ๙
ถึงข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณดังกล่าวนั้น ก็
เป็นอันว่าได้ถึงที่สุดของวิปัสสนาญาณในภูมิของปุถุชน
วิปัสสนาญาณ ๑๖ ชั้น
เมื่อได้บรรลุ
ถึงขั้นวิปัสสนาญาณที่สุดของภูมิของปุถุชนดั่งนี้แล้ว
สืบขึ้นไปจะบรรลุ โคตรภูญาณ
อันแปลว่าญาณครอบโคตร อันหมายความว่า
เป็นญาณที่อยู่ในระหว่างแห่งภูมิปุถุชน
และภูมิอริยชน เทียบได้เท่า
กับเส้นขีดคั่นพรหมแดนระหว่างประเทศ เมื่อ
จะก้าวข้ามประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ก็จะ
ต้องผ่านเส้นขีดคั่นพรหมแดนนี้ ฉันใดก็ดี ความที่
จะก้าวข้ามจากภูมิปุถุชนไปสู่ภูมิอริยชนก็
จะผ่านโคตรภูญาณ
แปลว่าญาณครอบโคตรคือครอบระหว่างโคตรของปุถุชน
กับโคตรของอริยชน
โคตรก็คือโคตรตระกูลนี่แหละ ใช้ในความหมาย
ถึงความที่จะข้ามไป
จากโคตรคือภูมิปุถุชนไปสู่โคตรคือภูมิของอริยชน
และท่านแสดงว่าอันที่จริงนั้นโคตรภูญาณนี้เองเท่า
กับเป็นที่สุดของภูมิปุถุชนจริงๆ
และวิปัสสนาญาณคือตัวโคตรภูญาณนี้ก็
เป็นวิปัสสนาญาณนั้นเอง แต่
เป็นวิปัสสนาญาณที่ครอบโคตร เพราะฉะนั้น
จึงสูงกว่าเข้าไปสู่โคตรอริยบุคคล จึงบรรลุ
มัคคญาณ คือวิปัสสนานั่นเองซึ่งเป็นตัวมรรค
กำจัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง และเมื่อ
ได้มัคคญาณคือวิปัสสนาญาณที่
เป็นตัวมรรคกำจัดกิเลสได้ ก็ได้ ผลญาณ
คือวิปัสสนาที่เป็นตัวผล และต่อจากนั้นก็ได้
ปัจจเวกขณญาณ
คือญาณที่พิจารณารู้ว่ากำจัดกิเลสอะไรได้แล้ว
และจะต้องกำจัดกิเลสอะไรต่อไป
หรือว่ากำจัดกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว กล่าวคือเมื่อ
ได้มัคคญาณผลญาณที่
เป็นขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล
สกทาคามิมรรคสกทาคามิผล
อนาคามิมรรคอนาคามิผล
อรหัตมรรคอรหัตผล หากได้มรรคผล ๓
ข้างต้น ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละได้
แล้วและกิเลสที่จะละต่อไป
เพราะว่ามรรคผลทั้ง ๓ ข้างต้นนั้นละกิเลส
ได้บางส่วนแล้ว และจะต้องละต่อไป แต่ว่าเมื่อ
ได้อรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว
ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละไปแล้ว
ทั้งหมด
มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ ทั้ง ๓ นี้
เป็นโลกุตระ ก็นับรวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗
ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็น
เพราะฉะนั้นญาณทัสสนวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ เมื่อ
จะกล่าวรวมทั้งหมด ก็นับตั้งแต่โคตรภูญาณ
มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เป็น ๔
ญาณทั้ง ๔ นี้รวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ
และท่านได้แสดงวิปัสสนาญาณทั้งหมด คือนับจากที่
ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้รวมเป็นญาณ ๑๖ ชั้น
กล่าวคือ ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น
เป็นวิปัสสนาญาณข้อแรก เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า
นามรูปววัตถานญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดนามรูป
กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้
เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
ปัจจยปริคคหณญาณ หรือ ปัจจยปริคคหญาณ
ญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้เหตุปัจจัย ก็มา
ถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่ง
ความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ก็เรียกว่า
มัคคามัคคญาณ หรือ สัมมสนญาณ ญาณที่
เป็นเครื่องพิจารณาให้รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง นี่รวม
เป็น ๓ กับปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่ง
ความรู้ความเห็นในปฏิปทาคือทางปฏิบัติ อัน
ได้แก่วิปัสสนาญาณ ๙ ๙ กับ ๓ ก็รวมเป็น ๑๒ และมา
ถึงวิสุทธิข้อที่ ๗ ก็ได้ญาณ ๔ ข้อคือ โคตรภูญาณ
มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ อีก ๔ ก็รวม
เป็น ๑๖ ก็ได้แก่ญาณ ๑๖ ก็เป็นวิปัสสนาญาณทั้งหมด
แต่ว่าในวิสุทธิข้อ ๗ นี้ท่านมักจะยกแสดงเพียงมัคคญาณ
ว่าได้แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ อันที่จริงนั้นก็รวมเข้าทั้ง ๔
นั่นแหละ คือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ
และปัจจเวกขณญาณ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าวิสุทธิ ๕
ข้อข้างหลัง ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธินี้
เป็นตัววิปัสสนาญาณทั้งหมด
และท่านได้มีแสดงเป็นอุปมาไว้ถึงญาณที่กล่าว
ในขั้นสูงข้างหลังนี้
ว่าเหมือนอย่างว่าเจ้าของเรือนบริโภคในเวลาเย็น
ก็ขึ้นสู่ที่นอนแล้วนอนหลับไป เรือนก็ถูกไฟไหม้ขึ้นมา
เจ้าของเรือนตื่นขึ้นเห็นไฟไหม้เรือนก็กลัว จึงได้คิด
อยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะออกไปได้ไม่ต้องถูกไฟไหม้
เห็นทางแล้วก็รีบหนีออกไป ก็ไปยืนอยู่ในที่ที่พ้นไฟ
โดยเร็ว การที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ ของปุถุชน
ทั้งหลายว่าตัวเราของเรา
ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนที่บริโภคแล้ว
ก็ขึ้นไปสู่ที่นอนและก็หลับไป การที่ได้มีญาณ
โดยที่ปฏิบัติทางปฏิบัติที่ชอบ ได้เห็นไตรลักษณ์
ได้ญาณ คือความหยั่งรู้ปรากฏว่าขันธ์ ๕
เป็นของน่ากลัว
ก็เหมือนอย่างเวลาที่เจ้าของเรือนตื่นขึ้นมา
เห็นไฟกำลังไหม้เรือนก็กลัว ญาณที่ทำให้ใคร่
จะพ้นออกไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนใคร่ที่
จะออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ ก็มองเห็นทางที่จะออก
สัจจานุโลมิกญาณ
คือญาณที่อนุโลมแก่สัมมาปฏิปทาที่ปฏิบัติมาแล้ว
และแก่อริยสัจหรือโพธิปักขิยธรรมที่
จะปฏิบัติต่อไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนเห็นทางที่
จะหนีออกจากเรือนที่ไฟไหม้ โคตรภูญาณ
ก็เหมือนอย่างการที่เจ้าของเรือนที่ไฟไหม้นั้นออกไป
จากเรือนที่ไฟไหม้ได้ มัคคญาณ
ก็เหมือนอย่างการที่ออกไปได้โดยเร็ว
ผลญาณก็เหมือนการที่ออกมาได้แล้วและยืนอยู่
ในที่ที่ปลอดภัย ท่านเปรียบไว้อย่างนี้
โลกุตรธรรมเป็นธัมมะที่บรรลุถึงได้
คราวนี้ก็ใคร่จะได้กล่าวว่าการที่กล่าว
ถึงโลกุตรธรรมหรือกล่าวถึงอริยบุคคลนั้น ก็
ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นธัมมะที่สุดเอื้อม
เมื่อเป็นปุถุชนหรือเป็นสามัญชนก็ไม่สามารถที่
จะปฏิบัติได้ แต่อันที่จริงนั้นความเข้าใจดั่งนั้นไม่ถูก
เพราะว่าการที่จะก้าวเข้าไปสู่ความ
เป็นอริยบุคคลบรรลุถึงโลกุตรธรรมได้ ก็
ต้องปฏิบัติมาตั้งแต่ในขั้นธรรมปฏิบัติที่ยังอยู่
ในขั้นโลกหรือสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนนั้นเอง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้แสดงวิสุทธิ ๗
นี้มาตั้งแต่ในข้อ ๑ คือตั้งแต่ในข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ นี้
เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสามัญชนหรือปุถุชนทั้งนั้น
และเมื่อได้ปฏิบัติขึ้นมาโดยลำดับแล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่
ความเป็นอริยบุคคลหรือก้าวขึ้นสู่โลกุตรธรรม
ได้เอง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงถึงโคตรญาณ
ก็แปลว่าต้องก้าวขึ้นมาโดยลำดับๆ เหมือนอย่างจะก้าว
จากเขตประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งก็ต้องเดินไป
โดยลำดับ เมื่อถึงเส้นกั้นเขตแดนอันเป็นโคตรภูญาณ
ก็เป็นอันว่าก้าวข้ามเส้นนี้แล้ว ก็ไปสู่อริยภูมิ
ไปสู่โลกุตรธรรมได้โดยลำดับ ก็
เป็นขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง รวมความเข้า
แล้วเวไนยชนคือชนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ
ได้ก็พึงปฏิบัติได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่าน
จึงเปรียบวิสุทธิ ๗ นี้ไว้อีกอย่างหนึ่ง ว่าเหมือนอย่าง
เป็นรถ ๗ ผลัด คือมาจาก รถวินีตสูตร
ที่พระสารีบุตรเถระได้สนทนา
กับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตร
ได้ถามท่านพระปุณณมันตานีบุตร
ว่าท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสีลวิสุทธิหรือ
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าไม่ใช่
พระสารีบุตรก็ถามไปทีละข้อว่าเพื่อจิตวิสุทธิหรือ
เป็นต้นไปจนถึงข้อญาณทัสสนวิสุทธิ
ว่าท่านปฏิบัติเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านก็ตอบว่า
ไม่ใช่ คราวนี้ท่านพระสารีบุตรก็ถามอีก
ว่าท่านปฏิบัติเว้นไปจากหรือนอกไปจากวิสุทธิทั้ง ๗ นี้
หรือ ท่านพระปุณณะท่านก็ตอบว่าไม่ใช่อีกเหมือนกัน
ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไป ว่าถ้าเช่น
นั้นท่านปฏิบัติพรหมจรรย์นี้เพื่ออะไร
ท่านพระปุณณะก็ตอบว่าเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
คือเพื่อความดับกิเลสโดยรอบคือสิ้นเชิงทั้งหมด
ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งหมด ท่านพระสารีบุตร
จึงถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้
เมื่อท่านถามว่าท่านปฏิบัติเพื่อสีลวิสุทธิหรือ ก็ตอบว่า
ไม่ใช่ เมื่อถามไปทุกข้อทั้ง ๗ ข้อท่านก็ตอบว่าไม่ใช่
และเมื่อท่านถามอีกว่าท่านปฏิบัตินอกไปจากหรือเว้น
จากวิสุทธิ ๗ นี้หรือ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่อีก
ท่านอธิบายอย่างไร
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าคือว่า
การปฏิบัติพรหมจรรย์นี้มิใช่ยุติลงแค่วิสุทธิข้อ
ใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจน
ถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด
และที่ท่านตอบว่าท่านปฏิบัติไม่นอกไปจากทั้ง ๗ ข้อนี้
ก็หมายความว่าท่านก็ต้องปฏิบัติอยู่ในทั้ง ๗ ข้อนี้
โดยลำดับนั้นเอง แต่ว่าไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าเพื่อ
ให้บรรลุอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และ
ถ้าหากว่าท่านตอบว่าไม่ใช่แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่
ต้องปฏิบัติกัน เมื่อไม่ต้องปฏิบัติกันแล้ว ใครๆ
ก็บรรลุอนุปาทาปรินิพพานกันได้ แต่ว่าไม่ใช่เช่น
นั้น ต้องปฏิบัติ แต่ว่าไม่ใช่ยุติลงเพียงข้อ
ใดข้อหนึ่งเพียงเท่านั้น คือไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่า
ต้องให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพาน
เป็นที่สุด จึงเปรียบเหมือนอย่างการเดินทางด้วยรถ
๗ ผลัดของพระเจ้ากรุงสาวัตถี
คือเมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีจะเสด็จ
จากกรุงสาวัตถีไปสู่เมืองสาเกตโดยรถม้าพระที่นั่ง ก็
จะต้องเปลี่ยนกันถึง ๗ ผลัด คราวนี้เมื่อเสด็จ
โดยรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๑ ไปจนถึงผลัดที่ ๒
ก็ขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๒ ก็เรื่อยๆ ไปดั่งนี้จน
ถึงผลัดที่ ๗ ก็เสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๗ ก็ไป
ถึงประตูเมืองสาเกต ก็ลงจากรถม้าพระที่นั่ง
เข้าสู่เมืองสาเกต ฉันใดก็ดี การปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗
ข้อนี้ก็ต้องปฏิบัติไปทั้ง ๗ ข้อโดยลำดับ จนถึงข้อที่ ๗ ก็
จะบรรลุต่อไปถึงอนุปาทาปรินิพพานอัน
เป็นข้อที่สุดของพรหมจรรย์ท่านสอนไว้ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นในพรรษากาลนี้
ได้สอนลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงวิสุทธิ
๗ ก็เป็นการที่กล่าวลักษณะพุทธศาสนาในด้านสรุป
เข้าในไตรสิกขา คือสีลสิกขา จิตตสิกขา
และปัญญาสิกขา อันสีลสิกขานั้นก็
ได้แก่การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นสีลวิสุทธิ
จิตตสิกขาเป็นการปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์
เป็นจิตตวิสุทธิ ปัญญาสิกขานั้นก็
ได้แก่ตัววิปัสสนาปัญญาอันได้แก่วิสุทธิอีก ๕
ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ก็
เป็นอันว่าหลักปฏิบัติเหล่านี้
เป็นหลักปฏิบัติจิตตภาวนา จะเป็นเครื่องอบรมจิต
ทำจิตนี้ให้บริสุทธิ์จากอุปกิเลส คือกิเลสที่
เข้ามาทำจิตให้เศร้าหมองไป ดังที่พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสสอนไว้ถึงจิตตภาวนาว่า “จิตนี้
เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง
จิตนี้เศร้าหมองไป
ด้วยอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา
อันทำจิตให้เศร้าหมอง จิตนี้บริสุทธิ์หมดจดหลุดพ้น
ได้จากอุปกิเลส พระองค์ตรัสอริยสาวกผู้ได้สดับ
แล้วว่าเป็นผู้มีจิตตภาวนา”
เพราะฉะนั้นก็เป็นอันยุติการอบรม
ในพรรษากาลนี้ในวันนี้เพียงเท่านี้ ก็ขอให้มี
ความเจริญในพระธรรมวินัย ในสัมมปฏิบัติ พร้อม
ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกท่านเทอญ
๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๖
--------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ
สุวฑฺฒโน)
บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่อง
ในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 36 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron