วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 14:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2013, 15:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โมคคัลลานสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต


[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลา
มิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ

ก็สมัยนั้นแล ท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่
ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์
ครั้นแล้วทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน
ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ
เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น


พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว
ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

ดูกร โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ดูกร โมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ


ดูกร โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ
เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้
เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว
ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว
ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย
แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึง อาโลกสัญญา
ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น
กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ
ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา
สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา
ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น
พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ
ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ


ดูกร โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า
เราจักไม่ชูงวง [ถือตัว] เข้าไปสู่ตระกูล

ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง
ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว
เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้
เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้ มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา
เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน
เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ


เพราะฉะนั้นแหละ โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เราจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน

ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องหวังการพูดมาก
เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน
เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ ฯ


ดูกร โมคคัลลานะ
อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่
แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้


คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
ก็แต่ว่า เสนาสนะอันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน
ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น
เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนั้น ฯ


เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ
ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน
มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน
มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ


พ. ดูกร โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า
ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น
ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง
ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น

พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอพิจารณาเห็นอย่างนั้นๆ อยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก

เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว
ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ
ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


ดูกร โมคคัลลานะ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล
ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน
เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน
มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ



:b51: จบพระสูตร :b51:
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v ... 873&Z=1938

:b50: กระทู้ที่เกี่ยวเนื่องสำหรับศึกษาเพิ่มเติม :b50:

ประวัติพระโมคคัลนานะเถระ
อัครสาวกเบื้องซ้าย เอตทัคคะหรือเป็นเลิศกว่าผู้อื่นในด้านฤทธิ์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7531

วิธีแก้ง่วง (เรียบเรียงโดยอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=20355

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร