วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 13:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2013, 12:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 ส.ค. 2011, 13:22
โพสต์: 79


 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
แสดงธรรมที่สังเวชนียสถาน สถานที่ตรัสรู้
เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘


การปฏิบัติเพื่อสร้างกิเลส

ณ สถานที่แห่งนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ภายหลังที่พระองค์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยามาทุกแบบทุกรูป และไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่างๆ สำนักอาจารย์ใด ฤาษีตนใด ที่มี ชื่อเสียงโด่งดังและเก่งที่สุดในสมัยนั้น พระองค์ทรงไปศึกษาหมดทุกหนทุกแห่ง ศึกษาจนจบหลักสูตรของคณาจารย์นั้นๆ ซึ่งคณา- จารย์สมัยนั้นนิยมการบำเพ็ญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ได้อภิญญา คือ บำเพ็ญสมาธิ ฌานสมาบัติ มุ่งที่จะให้จิต สงบ นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ภายในจิตเพียงอย่างเดียว แล้วจุดมุ่งหมายของการ ปฏิบัติก็เพื่อจะสร้างชื่อเสียง เป็นอันว่าคณาจารย์หรือนักปฏิบัติ ในสมัยนั้นยังถูกโลกธรรมหรือเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะ เพราะ ยังติดอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นินทา ทุกข์ การปฏิบัติ ก็มุ่งที่จะสร้างบารมีให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่นิยมนับถือ ของปวงชนในยุคนั้นสมัยนั้น จึงอยู่ในลักษณะแห่งการปฏิบัติ เพื่อแสวงหาลาภผล แสวงหาบริวาร ไม่ได้มุ่งเพื่อความหลุดพ้นโดยตรง

แต่จะด้วยประการใดก็ตาม การปฏิบัติของท่านเหล่านั้น ก็เป็นการสร้างบารมี เพราะความเข้าใจของคนในยุคนั้น ความสำเร็จที่เขาพึงประสงค์อยู่ตรงที่ว่า ในเมื่อปฏิบัติเคร่งครัดบำเพ็ญ ตบะแก่กล้า พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ หรือพระเจ้าที่เขานับถือ จะประทานพรให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งสุดแท้แต่เขาจะสร้างปณิธานความปรารถนาไว้อย่างไร ก็เป็นอันว่า การปฏิบัติเพื่อมุ่งลาภผล ชื่อเสียง เป็นที่ประทับใจของปวงชนในยุคนั้นสมัยนั้น การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสร้างกิเลส เขาเอาโลกธรรมเทิดไว้บนศีรษะ

สมาธิในฌานตัดกิเลสไม่ได้

แต่เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์ได้ทรง ศึกษาในสำนักของคณาจารย์นั้นๆ เข้าไปศึกษาในสำนักอาจารย์ ใด อาจารย์นั้นก็หมดภูมิ คือหมดภูมิที่จะสอนพระองค์อีกต่อไป เช่นอย่างไปปฏิบัติในสำนักของอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็สอนพระองค์ได้เพียงแค่ฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เท่านั้น เมื่อถึงฌานขั้นนี้แล้ว อาจารย์ทั้งสองก็บอกว่าหมดภูมิแล้ว ไม่มีอะไรจะสอนท่านอีกต่อไป ขอให้ท่านอยู่ในสำนักเพื่อช่วยอบรมสั่งสอนประชาชน ศิษยานุศิษย์ต่อไปเถิด

เมื่อพระพุทธองค์ได้พิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว คือ พระองค์สังเกตอย่างนี้ ในขณะที่จิตของพระองค์อยู่ในสมาธิ ฌาน ขั้นที่ ๔ ร่างกายตัวตนก็หายหมด มีแต่จิตดวงเดียว นิ่ง สว่าง ลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่าง แต่จิตอาศัยความสว่างเป็นอารมณ์ ความรู้สึกยินดีไม่มี ความรู้สึกยินร้ายไม่มี คณาจารย์เหล่านั้นเขาจึงถือว่าเขาหมดกิเลสแล้ว แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงศึกษาจนจบหลักสูตรของอาจารย์ดังกล่าว ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ มองหากิเลสตัวใดก็ไม่มี เป็นจิตบริสุทธิ์สะอาดแท้จริง แต่ยังไม่เป็นอมตะ เพราะเมื่อออกจากสมาธิมาแล้ว เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ความยินดียินร้ายยังมีปรากฏอยู่ในจิต

พระองค์จึงพิจารณาอย่างรอบคอบว่า นี่มันยังไม่สิ้นสุด ยังไม่ถึงที่สุด ถ้าหากว่าเราหมดกิเลสอย่างแท้จริง อยู่ในสมาธิเป็นอย่างไร กิเลสไม่มี เมื่อออกจากสมาธิแล้ว กิเลสมันก็ต้องหมดไป สิ่งที่ส่อแสดงให้พระองค์รู้ว่าพระองค์ยังมีกิเลสอยู่ ก็เพราะยังมีความยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ แล้วก็ยังยึดมั่นอยู่ ในสังขารร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา ดังนั้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า เรายังไม่สำเร็จ

เอาโลกธรรมมารองนั่ง

ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้รับหญ้าคา ๘ กำของโสตถิยพราหมณ์ กุสสะ แปลว่า หญ้าคา คา แปลว่า ข้อง แปลว่า ติด มาตอนนี้ พระองค์เอาหญ้าคา ๘ กำมาขดเป็นบัลลังก์ประทับนั่ง มุ่งหน้ามุ่งตาประพฤติปฏิบัติ โดยไม่มุ่งผลประโยชน์อันใดในด้านวัตถุธรรม มุ่งแต่ที่จะดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ ความหมดกิเลส ความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเอาโลกธรรม ๘ มารองนั่ง แทนที่จะเอาเทิดไว้บนศีรษะดังก่อน คราวนี้เอาโลกธรรมมารองนั่ง

ในเมื่อพระองค์ประทับนั่งเป็นที่เรียบร้อย พระองค์นั่งอย่างไร เราเคยเห็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอย่างไร พระองค์ก็ประทับนั่งอย่างนั้น อันนี้ไม่ต้องอธิบาย พอพระองค์ประทับนั่งขัด สมาธิเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น คือ กำหนดรู้อยู่ที่จิตของพระองค์เพียงถ่ายเดียว ไม่ได้สนใจกับสิ่งใดๆ

จุดเริ่มของการปฏิบัติอยู่ที่ลมหายใจ

แต่ในช่วงขณะจิตนั้นเอง พอพระองค์มาวิตกว่าเราจะเริ่ม กันที่จุดไหน อตีตารมณ์คืออารมณ์ในอดีตได้ผุดขึ้นมาในพระทัยของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงหวนรำลึกถึงเมื่อสมัยยังเป็นพระ กุมาร ขณะพระบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ พี่เลี้ยงนางนมผูกพระอู่ ให้บรรทมอยู่ใต้ต้นหว้า ในช่วงที่พี่เลี้ยงนางนมและคนทั้งหลายกำลังเพลิดเพลินในการดูมหรสพ ดูพิธีแรกนาขวัญ ได้ปล่อยให้ พระองค์บรรทมในพระอู่ใต้ต้นหว้าแต่เดียวดาย ณ โอกาสที่ว่างจากการคลุกคลีจากผู้คนนั้นเอง พระองค์ขณะเป็นพระกุมารเล็กๆ ทรงวิตกถึงลมหายใจ กำหนดรู้ลมหายใจเป็นอารมณ์ นัยว่าพระ องค์ได้สำเร็จปฐมฌานตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เมื่อพระองค์มารำลึกถึงที่ตรงนี้ พระองค์ก็ได้ความรู้ตัวขึ้นมาว่า จุดเริ่มของการปฏิบัติอยู่กันที่ตรงนี้ คือ เราจะกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ เพื่อศึกษาให้รู้ความเป็นจริงของร่างกาย แล้วพระองค์ก็มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-หายใจออก

วิธีการของพระองค์นั้น เพียงแต่มีพระสติกำหนดรู้จิตอยู่ เท่านั้น แต่เพราะอาศัยที่กายกับจิตของพระองค์ยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ เมื่อจิตอยู่ว่างๆ สิ่งที่จะปรากฏเด่นชัด ก็คือลม หายใจ เพราะอาศัยที่พระองค์เคยบรรลุปฐมฌานมาแล้ว จิตของ พระองค์จึงจับลมหายใจเข้า-หายใจออก แต่พระองค์เพียงแต่มีพระสติกำหนดรู้ลมหายใจเฉยๆ ไม่ได้บังคับลมหายใจ ไม่ได้บังคับจิตให้สงบ ปล่อยไปตามธรรมชาติ

พระองค์กำหนดเอาพระสติอย่างเดียว รู้ที่จิต บางครั้งลมหายใจปรากฏว่าหยาบ คือหายใจแรงขึ้น พระองค์ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ในบางครั้งลมหายใจค่อยละเอียดลง ละเอียดลง คล้ายๆ กับจะหยุดหายใจ พระองค์กลัวว่ามันจะเลยเถิด พระองค์ก็นึกว่าลมหายใจยังอยู่ เพื่อกระตุ้นเตือนจิตให้มีความหยาบขึ้น ลมหายใจก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น แล้วก็กำหนดรู้ลมหายใจอย่างไม่ลดละ แล้วพระองค์ไม่ได้นึกว่า ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด เพียงแต่กำหนดรู้เฉยอยู่ เท่านั้น ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติของจิต

เห็นอาการ ๓๒

เมื่อหนักๆ เข้า จิตยึดลมหายใจอย่างเหนียวแน่น ในบาง ครั้งพระองค์มองเห็นลมหายใจวิ่งออก-วิ่งเข้า เป็นท่อยาวสว่าง เหมือนหลอดไฟนีออน หนักๆ เข้า พอจิตสงบละเอียดเข้าไปใน ระหว่างอุปจารสมาธิ จิตของพระองค์วิ่งเข้าไปสงบ นิ่ง สว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ไปรวมตัวอยู่ในท่ามกลางระหว่างทรวงอก ความสว่างไสวแผ่ซ่านออกมาทั่วร่างกาย พระองค์มีความรู้สึกประหนึ่งว่าความสว่างได้ครอบคลุมพระกายของพระองค์อยู่ ในช่วงนั้นทำให้พระองค์เกิดความรู้ความเห็น เห็นอาการ ๓๒ ที่เรายึดมาเป็นบทสวดมนต์ในปัจจุบันนี้

อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แล,
อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา,
อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป,
ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ,
ปูโร นานัปปะการัสสะ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมี
อะสุจิโน ประการต่างๆ,
อัตถิ อิมัส๎มิง กาเย มีอยู่ในกายนี้,
เกสา คือผมทั้งหลาย, โลมา คือขนทั้งหลาย,
นะขา คือเล็บทั้งหลาย, ทันตา คือฟันทั้งหลาย,
ตะโจ คือหนัง, มังสัง คือเนื้อ,
นะหารู คือเอ็นทั้งหลาย, อัฐิ คือกระดูกทั้งหลาย,
อัฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก, วักกัง ม้าม,
หะทะยัง หัวใจ, ยะกะนัง ตับ,
กิโลมะกัง พังผืด, ปิหะกัง ไต,
ปัปผาสัง ปอด, อันตัง ไส้ใหญ่,
อันตะคุณัง ไส้น้อย, อุทะริยัง อาหารใหม่,
กะรีสัง อาหารเก่า, มัตถะเก มัตถะลุงคัง เยื่อในสมอง
ปิตตัง น้ำดี, เสมหัง น้ำเสลด,
ปุพโพ น้ำเหลือง, โลหิตัง น้ำเลือด,
เสโท น้ำเหงื่อ, เมโท น้ำมันข้น,
อัสสุ น้ำตา, วะสา น้ำมันเหลว,
เขโฬ น้ำลาย, สิงฆาณิกา น้ำมูก,
ละสิกา น้ำไขข้อ, มุตตัง น้ำมูตร
เอวะ มะยัง เม กาโย กายของเรานี้อย่างนี้,
อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา,
อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป,
ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ,
ปูโร นานัปปะการัสสะ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมี
อะสุจิโนติ. ประการต่างๆ อย่างนี้แล.

ความรู้อันนี้ พระพุทธองค์ได้รู้เห็นก่อนการตรัสรู้ แล้วก็กลายเป็น กายคตาสติสูตร ที่เราผู้ปฏิบัติยึดเป็นแนวทางแห่งการพิจารณาอสุภกรรมฐาน

เมื่อจิตของพระองค์ไปสงบ นิ่ง สว่าง อยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำให้พระองค์รู้ความเป็นจริงของร่างกายทั่วหมดใน ขณะจิตเดียว คือ พระองค์มองเห็นหัวใจกำลังเต้น สูบฉีดโลหิตไป เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย มองเห็นปอดกำลังสูดอากาศเข้าไปเลี้ยงร่างกาย มองเห็นตับกำลังแยกเก็บอาหารอันละเอียดไว้สำหรับเลี้ยงร่างกาย มองเห็นตับอ่อนกำลังทำหน้าที่ช่วยย่อย อาหารและนำเอากรดมาช่วยย่อยอาหาร ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พระองค์รู้ทั่วถ้วนหมดทุกสิ่งทุกอย่างในขณะจิตเดียว

เตรียมก้าวสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตตระ

แล้วพระจิตของพระองค์ก็วิตกอยู่กับสิ่งเหล่านี้ กำหนดรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งจิตละเอียดลงไป ละเอียดลงไป กายจางหายไป ยังเหลือแต่จิตนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในจักรวาลนี้ คล้ายๆ กับว่ามีแต่จิตของพระองค์ดวงเดียวเท่านั้นสว่างไสวอยู่ ในตอนนี้จิตของพระองค์เป็นจิต พุทธะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเป็น อัตตา ทีปะ มีตนเป็นเกาะ เป็น อัตตะ สรณา มีตนเป็นที่ระลึก คือ ระลึกรู้อยู่ที่ตน รู้อยู่ที่จิต อัตตา หิ อัตโน นาโถ จิตมีตนเป็นตนของตน

เมื่อพระจิตของพระองค์ไปดำรงอยู่ในสมาธิขั้นจตุตถฌานนานพอสมควร ต่อนี้จะได้ลำดับองค์ฌาน

ปฐมฌาน มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

วิตก หมายถึงจิตไปรู้อยู่ในสิ่งๆ หนึ่ง หรือบางทีรู้เฉพาะใน จิตเพียงอย่างเดียว แล้วก็มีปีติ มีความสุข มีเอกัคคตาความเป็นหนึ่ง คือจิตรู้อยู่ที่จิต อันนี้เป็นปฐมฌาน

ทุติยฌาน จิตไม่ได้ยึดสิ่งรู้ แต่รู้อยู่ที่ตัวเอง แต่ก็ยังรู้สึกว่า มีปีติ มีสุข และมีเอกัคคตา

ตติยฌาน เมื่อจิตสงบละเอียดลงไป ปล่อยวางปีติ ยังเหลือ แต่ความสุข มีความเป็นหนึ่ง ก็อยู่ในฌานที่ ๓ ตอนนี้จะรู้สึกว่ากายละเอียด ค่อยจางไป จางไป แต่ยังปรากฏอยู่ จิตจะเสวยสุขในปีติอย่างล้นพ้น ซึ่งจะหาความสุขใดเปรียบเทียบไม่ได้

จตุตถฌาน แล้วในที่สุดกายก็หายไป ความสุขก็พลอยหายไปด้วย ยังเหลือแต่จิตนิ่ง สว่างไสว อยู่เท่านั้น จิตเป็นหนึ่งคือ เอกัคคตา แล้วก็เป็นกลางโดยเที่ยงธรรม ซึ่งเรียกว่าอุเบกขา
ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า :
ฌานที่ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๒ ประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ฌานที่ ๓ ประกอบด้วยองค์ ๒ คือ สุข กับเอกัคคตา
ฌานที่ ๔ ประกอบด้วยองค์ ๒ คือ เอกัคคตากับอุเบกขา เป็นอันว่า ในช่วงนั้นจิตของพระองค์ดำรงอยู่ในจตุตถฌาน

เมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว แทนที่จะก้าวหน้าไปอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่พอขยับจะเคลื่อนจากฌานที่ ๔ วกเข้าไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ คือ เข้านิโรธสมาบัติ จิตอยู่ในนิโรธสมาบัติ กับความสว่าง จิตรู้อยู่ในจิตอย่างละเอียด สัญญา เวทนาดับ ไปหมด แต่ก็ยังมีเหลือรู้อยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้น สัญญาเวทยิตนิโรธเป็นฐานสร้างพลังจิต คือ พลังสมาธิ พลังสติปัญญา เพื่อเตรียมก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตตระ

ผู้รู้แจ้งโลก

เมื่อจิตของพระองค์ดำรงอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ สร้างพลังเพียงพอแล้ว จิตเบ่งบานออกมาอีกทีหนึ่ง สามารถแผ่รัศมีสว่างไสวครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังดวงจิต ดวงนี้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ แม้จะส่องแสงลงมาสู่โลก ก็ส่องไปได้ในเฉพาะที่ที่ไม่มีสิ่งกำบัง แต่จิตของพระพุทธองค์นั้นส่อง สว่างไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่มีสิ่งกำบัง ไม่มีอะไรที่จะปิดบังดวงจิตดวงนี้ได้ ทรงมองทะลุจนกระทั่งบาดาลถึงพิภพพญานาค มองทะลุจนกระทั่งผืนแผ่นดิน พระองค์สามารถกำหนดความหนาของแผ่นดินได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ในช่วงนั้นทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็น โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก

โลกตามความหมายในทางธรรมะมีอยู่ ๓ โลก

ยมโลก ได้แก่ โลกเบื้องต่ำ คือ ต่ำกว่าภูมิมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานลงไป ได้แก่ ภพของภูตผีปีศาจ อสุรกาย สัตว์นรก

มนุสสโลก ได้แก่ แดนเป็นที่อยู่ของมนุษย์และสัตว์ผู้มีกาย มีใจ

เทวโลก ได้แก่ แดนเป็นที่อยู่ของเทวดา ตั้งแต่เทวดาชั้น จาตุม สูงสุดจนกระทั่งถึงพรหมโลกชั้นอกนิฏฐาพรหม

พระองค์ทรงรู้พร้อมในขณะจิตเดียว ทั้งยมโลก มนุสสโลก เทวโลก

การตรัสรู้ของพระพุทธองค์

แล้วความรู้ที่เกิดต่อไปอีก ทำไมสัตว์ทั้งหลายจึงมีประเภทต่างๆ กัน อันนี้พระองค์ยังไม่ได้คิดเช่นนั้น เพียงแต่มองเห็นความแตกต่างของมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ภูต ผี ปีศาจ เปรต อสุรกาย ทั้งหลายเท่านั้น

แล้วก็รู้กฎของกรรมเป็นสิ่งจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่างๆ รู้กิเลสคืออวิชชาที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม

แต่ในขณะที่พระองค์รู้นั้น รู้นิ่งอยู่เฉยๆ แต่ว่ารู้จนกระทั่ง เหตุ รู้ทั้งปัจจัย รู้ทั้งความเป็นไปของมวลหมู่สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลนี้ แต่จิตดวงนี้คิดไม่เป็น พูดไม่เป็น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น รู้ เห็น แล้วก็สามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ เอาไว้พร้อมหมด ทั้งเรื่องของ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ บันทึกไว้พร้อมไม่มีขาดตกบกพร่องตามวิสัยของพระสัพพัญญูอันนี้เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสรู้ในขณะที่จิตไม่มีร่างกายตัวตน จิตดวงนี้แม้ไม่มีร่างกายตัวตน สามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าพูดไม่เป็น คิดไม่เป็น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จิตของเรานี่จะคิดได้ ต่อเมื่อสัมพันธ์อยู่กับร่างกาย เมื่อแยกออกจากกายไปแล้ว ไม่มีเครื่องมือ จึงคิดไม่เป็น ความคิดมันเกิดจากประสาททาง สมอง จิตไม่มีร่างกายตัวตน ไม่มีรูปไม่มีร่าง จึงไม่มีมันสมองที่จะ ใช้เป็นความคิด เพราะฉะนั้น รู้เห็นอะไรก็ได้แต่นิ่งลูกเดียว แต่ สามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้พร้อมหมด ไม่มีขาดตกบกพร่อง

เจริญวิปัสสนา พิจารณาทบทวน

เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นโลกวิทูละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว จิตของพระองค์ถอนจากสมาธิขั้นนี้มา พอมารู้สึกว่ามีกาย ตอนนี้ได้เครื่องมือแล้ว จิตของพระองค์จึงมาพิจารณาทบทวนสิ่งที่รู้เห็นนั้นซ้ำเติมอีกทีหนึ่ง เรียกว่า เจริญวิปัสสนา

ทรงพิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ ตั้งแต่ชาติที่ ๑, ๒, ๓, ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสน ชาติ ล้านชาติ ไม่มีที่สิ้นสุด ว่าพระองค์เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง กว่าจะได้มาถึงการตรัสรู้นี่ นอกจากพระองค์รู้เรื่องของพระองค์เองแล้ว ยังสามารถรู้เรื่องของคนอื่น สัตว์อื่นได้ด้วย ว่ามวล สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลนี้ได้เกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ เคยเป็นอะไรมาบ้าง อันนี้เป็นความรู้เรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

จิตพระองค์พิจารณาเรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณคือญาณ รู้ชาติก่อนภพก่อนว่าเคยเกิดเคยตายมาแล้วกี่ครั้งกี่หน นอกจากพระองค์จะรู้เรื่องของพระองค์เองแล้ว พระองค์ยังสามารถ รู้เรื่องของคนอื่นและสัตว์อื่น จนกระทั่งเรื่องของเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ว่าพวกทั้งหลายเหล่านี้ตายเกิดมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ อันนี้เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงพิจารณาเรื่องนี้จบลงในปฐมยาม

แล้วก็พิจารณาการเกิดและจุติของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามอำนาจของกรรม จุติก็คือตาย เกิดก็คือเกิดนั่นแหละ ทำไมสัตว์ทั้งหลายจึงมีประเภทต่างๆ กัน อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย เพราะกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย จึงได้เป็นภาษิตขึ้นมาว่า กัมมัง สัตเต วิภัชชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่างๆ กัน เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงสอนธรรมแก่มวลสัตว์ทั้ง หลาย พระองค์จึงสอนให้พิจารณากรรมเป็นส่วนใหญ่ว่า เรามี กรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มี กรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กฎของกรรมเกิดจาก การทำ การพูด โดยอาศัยความคิดเป็นผู้ตั้งเจตนา ว่าจะทำ จะพูด จะคิด ในเมื่อทำอะไรลงไปโดยเจตนา สิ่งนั้นสำเร็จเป็นกรรม เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงในมัชฌิมยาม

แล้วก็ทรงคำนึงต่อไปอีกว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม ก็มาได้ความเป็นภาษาสมมติบัญญัติว่า เพราะอวิชชาความรู้ไม่จริง ความรู้ไม่จริงนี่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้ง หลายทำกรรมตามที่ตนเข้าใจว่าถูกต้อง แต่สิ่งที่สัตว์เข้าใจและ มีความเห็นว่ามันถูกต้องนั้น บางอย่างมันก็ถูกต้องตามใจของตน เอง แต่มันขัดกับกฎธรรมชาติ บางอย่างมันก็ถูกต้องตามใจของตนเองและถูกกับกฎธรรมชาติด้วย ดังนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ไม่จริง จึงทำกรรมดี ทำกรรมชั่ว คละเคล้ากันไป หมายถึงทำกรรมที่เป็น บาป ทำกรรมที่เป็นบุญ ทำกรรมที่ชั่ว ทำกรรมที่ดี ภาษาบาลีว่า กุศลกรรม คือกรรมดี อกุศลกรรม คือกรรมชั่ว ทำไปตามความ เข้าใจของตนเอง ในเมื่อทำแล้วก็ย่อมได้รับผลของกรรม ได้รับผลของกรรมแล้วก็ต้องเกิดอีก เกิดมาอีกก็อาศัยกิเลสคืออวิชชาตัวเดียวนั่นแหละ ทำกรรมแล้วทำกรรมเล่า เกิดแล้วเกิดเล่า ไม่ รู้จักจบจักสิ้น เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร เรื่องนี้พระองค์พิจารณาจบลงในปัจฉิมยาม

อรหัตตมัคคญาณบังเกิด

ในเมื่อพระองค์ได้พิจารณา ๓ เรื่อง ตามลำดับญาณทั้ง ๓ จบลงแล้ว จิตของพระองค์ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่ได้ตรัสรู้นี้เป็นความจริงแท้ ไม่แปรผัน ในช่วงขณะ จิตนั้น อรหัตตมัคคญาณจึงบังเกิดขึ้น ตัดกิเลสอาสวะขาดสะบั้นไปในปัจฉิมยาม จึงได้พระนามว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้น เชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ด้วยประการฉะนี้

อันนี้คือลักษณะการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

รู้อริยสัจ

พระพุทธองค์อาศัยกายกับใจเป็นหลักในการปฏิบัติ กำหนดจิตให้มีสติรู้เรื่องของกายคือลมหายใจเข้า-หายใจออก การกำหนด รู้ลมหายใจเข้า-หายใจออก ทำให้พระองค์รู้ความจริงอย่างหนึ่งว่า ร่างกายนี้เป็นอยู่ด้วยลมหายใจ หยุดหายใจเมื่อไรตายเมื่อนั้น ลมหายใจเมื่อเข้าไปแล้วไม่กลับออกมาก็ตาย เมื่อออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีกก็ตาย

นอกจากจะทำให้พระองค์รู้ความจริงของร่างกายแล้ว ยังรู้ ความจริงอีกอันหนึ่ง คือ มรณัสสติ รู้ความตาย

ในขณะใดที่จิตของพระองค์รู้อยู่กับลมหายใจ พระองค์ก็ให้มันอยู่ไป ในบางครั้งจิตปล่อยวางลมหายใจ ไปเกิดความรู้ ความคิดขึ้นมา พระองค์ก็มีพระสติกำหนดรู้ความจริงของใจ คือ รู้ความจริงว่าธรรมชาติของใจต้องคิด เพราะความคิดเป็นอาหารของใจ

ความคิดเป็นการบริหารใจให้เกิดมีพลังงาน ความคิดเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของใจ ความคิดนี่แหละเป็นสิ่งที่เป็นสภาวะให้เรากำหนดรู้ว่า อะไรไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิด-ดับ ความคิดนี่แหละมันมายั่วยุให้เราเกิดกิเลส อารมณ์ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ แล้วก็เกิดสุข เกิดทุกข์ ในเมื่อสุข ทุกข์ ปรากฏ พระองค์กำหนดพระสติรู้ความสุขและความทุกข์อย่างไม่ลดละ เมื่อพระจิตของพระองค์มีพลังแก่กล้าขึ้นก็เกิดปัญญา รู้เห็น ความจริงว่า นี่คือทุกขอริยสัจ ทุกขัง อริยสัจจัง ทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ

เมื่อรู้ความจริงอันประเสริฐแล้ว พระองค์ก็ย้อนมาพิจารณา ว่าความทุกข์นี่มันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากตัณหาคือความทะเยอทะยาน ทีนี้การกำหนดรู้ตัณหาของพระพุทธองค์ พระองค์กำหนดรู้แต่เพียงในจิตเท่านั้น โดยกำหนดว่า ความยินดี คือ กามตัณหา ความยินร้าย คือ วิภวตัณหา ความยึดมั่นถือมั่น คือ ภวตัณหา ในเมื่อมีความยึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดก่อภพเรียกว่าความมีความเป็น เมื่อมีภพ ก็มีชาติ จิตก็ปรุงแต่งเรื่อยไป

ชาติปิ ทุกขา ถ้าไปยึดความคิดปรุงแต่งก็เป็นทุกข์ แต่ถ้า จิตเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม ไม่อคติลำเอียง รู้แล้วปล่อยวาง ก็ ไม่มีความทุกข์

ชราปิ ทุกขา ถ้าไปยึดอยู่ในความรู้ความคิดนั้นนานๆ ก็กลายเป็นความแก่

มรณัมปิ ทุกขัง ถ้าถอนจิตไม่ขึ้น ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดไป ตายจริง เห็นอยู่ที่ตรงนั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจ ปริเทวนาการ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันพลัดพรากจากเราไป

รู้ไตรลักษณ์

กฎธรรมชาติคือสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ นับแต่กายกับใจของเรา สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ กฎธรรมชาติของเขา ก็คือ เกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ทรงอยู่ ดับไป ภาษาพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติว่า อนิจจัง ไม่เที่ยงทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่เป็นตัวของตัวเอง

แล้วสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำไมมันจึงทำให้มนุษย์เรานี้ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น ที่เราต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น เพราะเราไปสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นมนุษย์ ผู้มีใจสูง เราดันทุรังไปเบ่งอำนาจ คือว่าไปเบ่งทับสิ่งที่มันเป็นไป ตามกฎธรรมชาติ อยากให้มันเป็นไปตามความต้องการของเรา ในเมื่อมันไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา มันขัดใจเรา เราก็เกิดความทุกข์ นี่ สาเหตุมันก็อยู่กันที่ตรงนี้

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว ท่านพิจารณารู้แจ้งเห็นชัดทุกสิ่งทุกอย่าง สภาวะทั้งหลายทั้งปวงซึ่งบัญญัติว่าเป็นสภาวธรรมนั้นเขามีกฎตายตัวอยู่ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่เป็นตัวของตัวเอง

ไตรสิกขาคือแนวทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

ดังนั้น วิถีทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาจิตใจในตอนนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นแหละ พระองค์สอนให้อบรมมากๆ กระทำ มากๆ ทำจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนถึงความเป็นเองโดยธรรมชาติ

ศีล ที่เป็นไปโดยธรรมชาติเป็นอธิศีล สมาธิ ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ คือ จะกำหนดก็ตาม ไม่กำหนดก็ตาม สมาธิมันมีอยู่ทุก ลมหายใจ คือสตินั่นเอง ปัญญา คือ สติความรู้พร้อม ก็มีพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ท่านจึงว่าเป็นไปตามธรรมชาติของสมาธิ

สมถสมาธิเป็นฐานสร้างพลังงาน

สมาธิตามความเข้าใจของนักปฏิบัติในปัจจุบันนี้ เช่นอย่าง เราบริกรรมภาวนาอะไรก็ตาม พอเริ่มบริกรรมภาวนา เราก็ข่ม จิตลงไป ข่มจิตลงไป อาศัยการฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญ เราสามารถจะให้จิตนิ่งเมื่อไรเราก็ทำได้ แต่อันนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่า สมาธิ มันเป็นแต่เพียงความสงบที่เราแต่งเอาได้เท่านั้น สมาธิที่ เป็นไปโดยธรรมชาติ เมื่อจิตของเราหยุดนิ่ง ปล่อยวางอารมณ์เดิมคือบริกรรมภาวนา จิตมันจะสงบวูบๆๆ ลงไป ไปจนกระทั่งถึงจุดสุดท้าย คือ ไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ร่างกายตัวตนหายหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น อันนี้เป็นสมาธิตามธรรมชาติของสมาธิสมถกรรมฐาน

สมาธิสมถกรรมฐาน จิตสงบนิ่งลงแล้วไปรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว ความรู้อื่นไม่เกิดขึ้น สมาธิในสมถะนี่แหละ นักปฏิบัติ ในบ้านเมืองเรากลัวนักกลัวหนา กลัวว่าจิตมันจะไปติดสมถะ พอเริ่มปฏิบัติแล้วเราจึงกลัว กลัวในสิ่งที่ยังไม่มีในตัวเรา เราไปกลัวเสียก่อนแล้ว สมาธิมันก็ไม่เกิด สมาธิขั้นสมถะนี่เป็นฐานสร้างพลังงาน แม้ว่าในขณะที่อยู่ในสมาธิอาจจะไม่เกิดภูมิความรู้อะไรก็ตาม แต่ถ้าหากว่าจิตของเราผ่านสมาธิขั้นสมถะบ่อยๆ เข้า เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จิตของเราจะมีสติสัมปชัญญะเตรียม พร้อมอยู่ทุกขณะจิต สติตัวนี้มันจะมาวิ่ง วิ่งตามสิ่งที่เป็นเรื่องชีวิตในปัจจุบัน คือ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด คือการทำ การพูด การคิด ไม่ว่าเราจะขยับไปทางไหน สติมันจะมาทำหน้าที่ของมันพร้อมทุกขณะจิต

เมื่อเรามีสติเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ศีล สมาธิ ปัญญา มันรวมพร้อมกันอยู่ที่ตรงนี้ เอกายโน มัคโค สัมมทักขาโต ความประชุมพร้อมแห่งองค์อริยมรรครวมลงเป็นหนึ่ง เหลืออยู่แต่ สติวินโย สติเป็นผู้นำ เมื่อเรามีสติเป็นผู้นำ รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เราก็ประหนึ่งว่ามีสมาธิรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา จิตของเรามั่นคงต่อการกำหนดรู้ เราก็ได้สมาธิ ความรู้นั้น ความรู้ เท่าเอาทัน ไม่หลงในสิ่งที่เราสัมผัสรู้ มันก็เป็นปัญญา เป็นวิชชา รู้แจ้งเห็นจริง

สมาธิขั้นสมถะนี่มันจะให้ผลต่อเมื่อเราออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว

สมาธิสมถะ-สมาธิวิปัสสนา

ทีนี้สมาธิบางอย่าง พอจิตสงบนิ่งลงไปปั๊บ เพียงแค่อุปจาร-สมาธิ มันเกิดความคิด เกิดความรู้ ผุดขึ้นอย่างกับน้ำพุ แล้วสติ สัมปชัญญะจะรู้พร้อมอยู่ทุกขณะจิต และพร้อมๆ กันนั้นก็จะเกิดมีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง คือจิตรู้อยู่ตรงจุดที่เกิดความคิด แต่ไม่วิ่งตามความคิดนั้น อันนี้เรียกว่า สมาธิมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

สมาธิในสมถะก็ดี สมาธิในวิปัสสนาก็ดี ย่อมอาศัยองค์ฌาน คือ เวลาเราปฏิบัตินั่งสมาธิ บางทีเราภาวนา พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ-พองหนอ หรือพิจารณาอะไรก็ตาม ในเมื่อจิตมันเริ่มมี สมาธิขึ้นมา พอจิตสงบๆๆ ลงไป พอเกิดความสว่าง ร่างกายตัวตน ยังปรากฏในความรู้สึก แต่จิตเข้าสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ ในช่วงนี้ถ้าหากจิตของเราส่งกระแสออกนอก จะเกิดมโนภาพ ซึ่งเราเรียกว่านิมิต บางทีก็มองเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นภูตผีปีศาจ เปรต อสุรกาย มาปรากฏอยู่ต่อหน้า อันนี้จิตของเราส่งกระแสออกไปข้างนอก แล้ว มันก็เกิดมโนภาพ

จิตมันสร้างมโนภาพขึ้นมาทำไม สร้างขึ้นมาเพื่อสอนตัว เองตามสมรรถภาพกำลังความสามารถของจิต ในเมื่อเกิดนิมิตขึ้นมาแล้ว ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถประคองจิตให้รู้เฉยอยู่ในที นิมิตนั้นจะปรากฏให้เรามองเห็นได้นาน ถ้าหากเกิดเอะใจหรือตกใจขึ้นมา สมาธิถอน ภาพนิมิตนั้นมันจะหายไป

ถ้าหากว่าเราไม่ตกใจ ไม่เอะใจ จิตของเรากำหนดรู้เฉยอยู่ เท่านั้น อย่าไปนึกพิจารณาอะไรเป็นอันขาด พอเราตั้งใจคิดขึ้นมา เท่านั้น จิตถอนจากสมาธิ นิมิตหายไป เพราะสมาธิถอน ถ้าหาก ว่าเราสามารถประคองจิตให้รู้เฉยอยู่ คือรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียวแล้วไม่ต้องไปนึกคิดอะไร ดูอยู่เฉยๆ ถ้าหากว่าจิตของเราสงบแน่วแน่ขึ้น นิมิตมันชัดเจนขึ้น เป็นภาพนิ่ง ไม่ไหวติง นิมิตนั้นเป็นอุคคหนิมิต เรียกว่านิมิตติดตา บางทีออกจากสมาธิมาแล้วก็ยังมองเห็นอยู่ในส่วนลึกๆ ของจิต

เมื่อจิตได้อุคคหนิมิต สมาธิได้อุคคหนิมิต สมาธิในขั้นนี้ เรียกว่า สมถกรรมฐาน สมาธิที่ได้อุคคหนิมิตเรียกว่าสมถกรรมฐาน เพราะดูภาพนิ่ง รู้ภาพนิ่ง แต่หากว่าภาพนิมิตนั้นมีการขยาย ตัวใหญ่ขึ้น ย่อตัวเล็กลง หรือสลายตัวไป แล้วตั้งขึ้นมาใหม่ กลับไป-กลับมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา สมาธิอันนี้เป็นสมาธิวิปัสสนา นิมิตเป็นปฏิภาคนิมิต

การภาวนาได้อุคคหนิมิต จัดเป็นสมาธิสมถกรรมฐาน ถ้าได้ปฏิภาคนิมิต จัดเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนากรรมฐาน นี่ ขอให้ท่าน ทั้งหลายพึงทำความเข้าใจอย่างนี้

ทีนี้ ถ้าจิตของท่านไม่วิ่งออกไปข้างนอก พอสงบละเอียดดีแล้ว ตามลมเข้ามา มานิ่งสว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำ ให้เราผู้ปฏิบัติมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในกาย ดังที่กล่าวมาแล้ว ในเบื้องต้น ถ้าหากว่าจิตไม่ไปในทาง ๒ อย่างนั้น พอสงบแล้ว ก็ไปรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว แล้วจะรู้เห็นสิ่งที่เกิด-ดับ อยู่กับจิต ตลอดเวลา ซึ่งเราเรียกว่ารู้การเกิดและการดับ การเกิดและการดับ เพียงแต่เกิด-ดับๆ สลับกันไปนี่แหละ เมื่อจิตของเรามีสมาธิมั่นคง มีสติแน่วแน่ กำหนดรู้ความเกิดและความดับอยู่ตลอดเวลา ขณะที่กำหนดรู้อยู่นั้น เป็นการปฏิบัติภาควิปัสสนากรรมฐาน แต่เมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้ว พอมาเกิดความรู้ว่า อ้อ! ทุกสิ่งทุก อย่างมันก็ไม่เที่ยง แม้แต่ความคิดมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้แจ้งเห็นชัดอย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา

ความรู้ความเห็นอันใดที่เกิดในสมาธิจิต ถ้าหากว่าเพียงรู้ เพียงเห็นอยู่เท่านั้น เป็นแต่เพียงภาคปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ใช่วิปัสสนา แต่เมื่อจิตเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาว่า สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ นี่ทุกข์ นี่สมุทัย นี่นิโรธ นี่มรรค นี่อนิจจัง นี่ทุกขัง นี่อนัตตา ความรู้ดังที่กล่าวนี้เป็นความรู้แจ้งเห็นจริง เรียกว่า ความรู้ขั้นวิปัสสนา

ทีนี้ ขอให้ท่านพึงกำหนดเอา สมถะ กับ วิปัสสนา อย่างง่ายๆ

เมื่อท่านสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน อันนี้เป็นสมถะ

แต่ความรู้ว่า นี่คือสมาธิ นี่ปีติ นี่ความสุข นี่ความเป็นหนึ่งเอกัคคตา อันนี้เป็นความรู้เรื่องวิปัสสนา เพราะเมื่อก่อนนี้เราอาจจะสงสัยว่า สมาธิคืออะไร สมาธิคืออะไร แต่ในเมื่อเราปฏิบัติได้สมาธิแล้ว เราก็รู้ทันทีว่านี่คือสมาธิ จิตสงบ นิ่ง เป็นสมาธิ ความรู้ว่านี่จิตสงบเป็นสมาธิ นั่นเป็นวิปัสสนา

ถ้ากำหนดหมายรู้เอาอย่างนี้มันง่ายดี ไม่ต้องไปเถียงกัน

ให้สมาธิเป็นไปเองตามธรรมชาติ

ทีนี้ข้อที่ควรระวัง ในเมื่อจิตของเราเข้าถึงสมาธิโดยธรรมชาติแล้ว ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของสมาธิ ระวังอย่าให้ความตั้งใจหรือความคิดที่จะให้จิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้นมาแทรกในขณะนั้น ถ้าหากว่าเกิดความคิดที่จะตั้งใจว่าให้จิตเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้แล้ว สมาธิมันจะถอน ในเมื่อสมาธิถอนแล้ว เราก็ต้องเริ่มต้นใหม่

เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราตั้งใจปฏิบัติอยู่นั้น อะไรมันจะเกิดขึ้น จะมีขึ้น อะไรมันจะดับไป อะไรมันจะเป็นไปอย่างไร ปล่อยไปตามธรรมชาติ เราเอาสติตัวเดียวเท่านั้นตามรู้ไปทุกระยะ

การทำสมาธิ คือ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จะเป็นอะไรก็ได้

แล้วขอทำความเข้าใจอีกในตอนหนึ่งว่า เคยมีคำกล่าวว่า ทำสมาธิให้ได้สมาธิแน่วแน่แล้วน้อมจิตไปสู่การพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน อันนี้อย่าไปเข้าใจผิด ถ้าหากเพียงแต่บังคับจิตให้หยุด นิ่งได้ อันนี้สามารถน้อมจิตไปพิจารณาอะไรได้ แต่ถ้าหากว่าสมาธิมันเกิดเป็นเองโดยธรรมชาติแล้ว ถ้ามันลึกลงไป แน่วแน่ ลงไป ไปถึงขั้นสมถะหรือขั้นฌาน เราไม่มีสัญญาเจตนาที่จะน้อมจิตไปในทางใดทั้งสิ้น จิตจะเป็นไปอย่างไร จะลึกลงไปแค่ไหน ละเอียดแค่ไหน จะเกิดภูมิความรู้อะไรขึ้นมา จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ตามพลังของศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราบำเพ็ญพร้อมแล้ว จะเป็นพลังหนุนส่งให้จิตของเราปฏิวัติไปตามขั้นตามภูมิ ตามขั้นตอนของสมาธิและวิปัสสนา

การปฏิบัติเอาดีต้องมีศีล

การปฏิบัติธรรมที่เราจะเอาดีกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สิกขาบทวินัย อย่างต่ำแม้แต่ศีล ๕ ต้องให้บริสุทธิ์สะอาด ถ้า หากว่าศีลยังบกพร่อง เราก็พยายามปฏิบัติกันเรื่อยไปจนกว่ามันจะสมบูรณ์ ในตอนแรกๆ นี่เราใส่เสื้อขาดไปก่อน เมื่อเรามีเสื้อขาดใส่ มันก็ยังดีกว่าคนที่ไม่มีเสื้อจะใส่ ดังนั้น ศีลนี่เราอาจจะขาดตกบกพร่อง ด่างพร้อยบ้าง ทะลุบ้าง มันก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ตั้งใจรักษาศีลเสียเลย เมื่อเรารักษาศีล แล้วบำเพ็ญสมาธิภาวนา เรื่อยไป สร้างพลังจิตให้พลังเข้มแข็งมั่นคง มั่นคงต่อการที่จะตั้งใจละอะไรและเจริญอะไร

เอาละ วันนี้ขอให้ธรรมะเป็นคติเตือนใจเพียงแค่นี้


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร