ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=35006
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 12 ต.ค. 2010, 14:08 ]
หัวข้อกระทู้:  ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

รูปภาพ
พระแม่น้า “พระนางมหาปชาบดีโคตมี”
นำเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) ไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี



ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b40: :b47: :b40:

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงออกเทศนาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ เหล่าเจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ เช่น เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายเทวทัต ซึ่งเป็นพระญาติก็ได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์หลายรูป

“พระนางมหาปชาบดีโคตมี” ก็อยากบวชเหมือนกับเจ้าชายทั้งหลายบ้าง จึงทูลขอพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมกับเหล่าภิกษุสงฆ์ไปประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) จำนวนมากได้ปลงผมและนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเดินเท้าเปล่าไปยังป่ามหาวัน เพื่อทูลขออุปสมบท

เมื่อถึงป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้แจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์จึงนำความกราบทูลแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิเสธและตรัสกับพระอานนท์ว่า “อย่าเลยอานนท์ การบวชสตรีอย่าเป็นที่ชอบใจของเธอเลย”

พระอานนท์จึงกราบทูลถามว่า “บุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ในเรื่องนี้ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สตรีก็มีศักยภาพที่จะบรรลุที่สิ้นสุดทุกข์เช่นเดียวกับบุรุษ”


พระอานนท์จึงกราบทูลถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช ในเมื่อสตรีก็มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้”

ในที่สุดพระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ แต่ก็ทรงมีข้อแม้ว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีต้องสามารถปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการได้ พระองค์จึงทรงยินดีประทานอุปสมบทให้


โดย ครุธรรม ๘ ประการนั้น ประกอบด้วย

๑. ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา ๑๐๐ ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น
๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓. ภิกษุณีจงถามวันอุโบสถและฟังโอวาทจากภิกษุ
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย
๕. ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
(คือลงโทษกักบริเวณตัวเองตามกรรมวิธีของสงฆ์)
๖. ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ
๘. ภิกษุณีไม่พึงตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุตักเตือนภิกษุณีได้


เมื่อพระอานนท์นำความแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีแล้ว พระนางก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางบวช โดยการบวชของพระนางถือว่าสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม ๘ ประการ (ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา) ส่วนเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) ของพระนางก็ให้ภิกษุสงฆ์บวชให้ การบวชเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) ของพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงกระทำขึ้นโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์

หลังจากอุปสมบทแล้ว “พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี” รับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีทรงเคารพนับถือพระพุทธองค์มาก ถึงกับทรงกล่าวว่า “รูปกายของพระพุทธองค์ พระนางเป็นผู้เลี้ยงให้เจริญเติบโต นับเป็นมารดาของพระพุทธองค์ทางร่างกาย แต่ธรรมกายของพระนาง พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญ นับเป็นบิดาของพระนาง”

“พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี” ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู” แปลว่า “ผู้รู้ราตรีนาน” ซึ่งหมายความว่า “ผู้มีประสบการณ์มาก” นั่นเอง



คัดลอกบางตอนจาก : หนังสือสิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:b8: :b8: :b8:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20382

:b47: พระปชาบดีโคตมีเถรี : เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6731

:b47: ภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46460

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/