วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 16:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2008, 21:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2008, 10:18
โพสต์: 185


 ข้อมูลส่วนตัว


ทำไมพระไทยต้องไปเรียนที่อินเดีย

โดย
พระมหาวิเชียร ธมฺมวชิโร
นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาพุทธศาสนา

ประเทศไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นในด้านศิลปวัฒนธรรมหลายๆ ด้าน ที่เห็นได้ชัดได้แก่ ด้านภาษา และพิธีกรรมทางศาสนาแม้ว่าไทยจะรับวัฒนธรรมบางอย่างมาจากอินเดีย แต่ปัจจุบันคนไทยก็ยังไม่นิยมชมชอบวัฒนธรรมอินเดียมีเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังหลงใหลอยู่เช่นนักศิลปิน ช่างศิลป์และนักประวัติศาสตร์ เป็นต้นพิธีกรรมและวิถีชีวิตบางอย่างไทยได้รับมาจากอินเดียโดยการถ่ายทอดมาจากคนบางกลุ่มที่มาศึกษาเล่าเรียนที่อินเดียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในอดีตอินเดียไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประเทศอื่นที่จะมาศึกษาเล่าเรียนเป็นเพราะเหตุผลด้านความเป็นอยู่ และด้านวิชาการที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับปัจจุบันประเทศอินเดียเป็นที่ยอมรับด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีและด้านภาษาแม้ในสาขาอื่นก็เป็นที่ยอมรับเช่นกัน อย่างเช่นศาสนา ปรัชญา ศิลปะ สังคม การเมืองการปกครองนโยบายการต่างประเทศ เป็นต้น คนต่างชาติเริ่มมาศึกษาสาขาวิชาต่างๆ มากขึ้นเพราะระบบการศึกษาของอินเดียได้พัฒนาดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับทั่วไป

ทุกวันนี้คนไทยให้การยอมรับระบบการศึกษาของอินเดียเช่นกันการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันมีส่วนคล้ายคลึงกับระบบการศึกษาของอินเดียเช่น ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือระบบแอดมินชั่น (Admission) ที่ประเทศไทยได้นำไปใช้เมื่อต้นปีนี้แต่อินเดียได้ใช้ระบบนี้มานานแล้ว

ถ้าถามว่าทำไมคนไทยจึงมาเรียนที่อินเดียคงจะตอบได้หลายประเด็น แต่มีเพียง 3 ประเด็นเท่านั้นที่คิดว่าน่าจะเป็นจุดสนใจให้คนไทยมาเรียนต่อที่อินเดียในขณะนี้คือ 1. อินเดียใช้ระบบการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 2. ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเรียนต่อในต่างประเทศอื่นๆ 3. มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่อินเดียมีการเรียนการสอนได้มาตรฐาน ส่วนประเด็นอื่นๆ แล้วแต่จุดประสงค์แต่ละคน

ปัจจุบันคนไทยที่มาเรียนต่ออินเดียเท่าที่ได้รู้จัก มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1. กลุ่มศาสนาได้แก่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา 2. กลุ่มคนไทยเชื้อสายอินเดีย และ 3. กลุ่มคนทั่วไปที่สนใจซึ่งได้ศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆเหตุผลของกลุ่มคนไทยดังกล่าวที่มาเรียนที่นี่จะไม่เหมือนกันเพราะเป้าหมายที่แตกต่างกัน

กล่าวเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ไทยที่มาเรียนที่นี่ก่อนที่จะเดินทางมาเรียนต่อที่อินเดียมีหลายคนถามว่า ทำไมต้องไปเรียนที่อินเดียไปเรียนอะไรที่นั่นและเรียนที่ไทยไม่ได้หรือ? ขณะนั้น ไม่มีคำตอบบอกแต่ว่ามีรุ่นพี่เรียนจบมาก่อน และมีความสนใจอยากจะมาเรียนดังนั้น เพื่อเป็นการตอบคำถามว่า ทำไมพระไทยต้องมาเรียนที่อินเดีย พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มพระสงฆ์ไทยที่มาศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียในประเด็นต่างๆ จะนำเสนอให้ผู้สนใจได้รับทราบในประเด็นนี้

กลุ่มพระสงฆ์ไทยที่มาเรียนต่อที่อินเดีย

ปัจจุบันมีพระสงฆ์ไทยที่มาศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียเป็นจำนวนมากกล่าวเฉพาะมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่พระสงฆ์ไทยกำลังศึกษาต่อ ในปี 2549 นี้ เช่นมหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี BanarasHindu University เมืองพาราณสีมี จำนวน 67 รูปมหาวิทยาลัยเดลี University of Delhi มี จำนวน 24 รูปมหาวิทยาลัย ปูเณ่ PuneUnivsersity มีจำนวน 13 รูป และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายรูปจากการพบเห็นและพูดคุยกับพระสงฆ์ที่มาศึกษาต่อ มีพระสงฆ์ไทย 3 กลุ่มที่มาศึกษาต่อที่อินเดียคือ.-

1. กลุ่มแรก ได้แก่พระสงฆ์ฝ่ายการศึกษาหมายถึงพระสงฆ์ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยของสงฆ์ไทยทั้ง 2 แห่ง คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งเป็นอาจารย์สอน และเป็นเจ้าหน้าที่รวมทั้งพระสงฆ์ที่ทำงานในโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งสายนักธรรมบาลี และ สายสามัญศึกษาประจำวัดต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งผู้บริหาร และครูสอนที่ลามาศึกษาต่อ

2. กลุ่มที่สอง ได้แก่พระสงฆ์ฝ่ายบริหารคณะสงฆ์หมายถึง พระสงฆ์ที่เป็นพระสังฆาธิการที่มีตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ ได้แก่ เจ้าอาวาสผู้ช่วยเจ้าอาวาส เจ้าคณะต่างๆ และพระเลขานุการ เป็นต้น ที่ลามาศึกษาต่อ

3. กลุ่มที่สามได้แก่ พระสงฆ์ทั่วไปที่มีความประสงค์จะมาศึกษาต่อเพิ่มวิทยฐานะความรู้และนำไปช่วยเผยแผ่ศาสนา

เหตุผลที่พระสงฆ์ไทยมาเรียนต่อที่อินเดีย

ถ้าจะให้ตอบเฉพาะตัวแล้วการมาศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย มี 2 สาเหตุด้วยกัน คือ

1. อยากพัฒนาภาษาอังกฤษ
2. ต้องการเวลาในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่

แต่ถ้าพิจารณาเหตุผลหลายๆ อย่างจากพระสงฆ์หลายรูปแล้วแต่ละรูปจะมีเหตุผลในการมาศึกษาต่อที่นี่ที่ไม่เหมือนกันแต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ อย่างแล้วพอจะสรุปเหตุผลทั้งหมดที่พระสงฆ์มาศึกษาที่นี่ ได้ดังนี้

1. เป็นประเทศที่เหมาะแก่การเรียนต่อสำหรับพระสงฆ์

ดังที่ทราบว่าประเทศอินเดียเป็นดินแดนถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลพระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศไทยได้ก็เพราะพระสงฆ์จากอินเดียที่นำไปเผยแผ่ในปัจจุบันแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมไปจากอินเดียแล้วแต่ว่ายังมีหลักฐานอันเป็นมรดกทางศาสนาไว้ให้ชาวพุทธรุ่นหลังได้เห็นอยู่นักปราชญ์ชาวอินเดียหลายคนได้เขียนตำราเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากมายหลายมหาวิทยาลัยในอินเดียได้เปิดการสอนสาขาบาลีและพระพุทธศาสนามีนักศึกษาหลายชาติที่มาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่างเช่น ไทย พม่าเวียดนาม กัมพูชา มองโกเลีย ภูฐาน ธิเบต ลาว เนปาลและศรีลังกา เป็นต้นหรือแม้แต่ชาวตะวันตกบางประเทศ ยังมาศึกษาด้วยและชาวพุทธหลายประเทศได้มาสร้างวัดที่อินเดียสามารถกล่าวได้ว่าอินเดียในปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาความเป็นพุทธศาสนายังปรากฏให้ได้ซึมซับอยู่มีธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่คนอินเดียปฏิบัติดังเช่นสมัยพุทธกาลซึ่งทำให้มองเห็นภาพในอดีตและทำให้เข้าใจถึงความเป็นอยู่ในสมัยนั้นได้อย่างแท้จริงเพราะดินแดนเป็นประเทศที่ให้กำเนิดพระพุทธศาสนาและเป็นแหล่งที่สามารถผลิตวิชาการทางศาสนาแก่ชาวพุทธได้พระสงฆ์จึงนิยมที่จะมาศึกษาที่นี่และชาวพุทธไทยก็ยอมรับการไปศึกษาต่อที่อินเดียของพระสงฆ์ด้วยหลายสิ่งหลายอย่างมาประกอบแล้วอินเดียจึงเป็นประเทศที่เหมาะสมแก่การเรียนของพระสงฆ์ไทยในขณะนี้

2. มีพระสงฆ์ไทยเคยมาเรียนจบจากที่นี่

ประเทศอินเดียถือว่าเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่มีพระสงฆ์ไทยมาศึกษาต่อมากที่สุดดูตามสถิติข้อมูลแต่ละมหาวิทยาลัยในอินเดียที่พระสงฆ์ไทยเคยมาศึกษาต่อและจบการศึกษาไปเมื่อรวมแล้วน่าจะมีประมาณ 1,000 รูปขึ้นไปมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี เมืองพาราณสีถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีพระสงฆ์ไทยรุ่นแรกมาศึกษาต่ออย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2507 จากนั้น พระสงฆ์ไทยได้มาศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆในอินเดียหลายแห่งด้วยกัน จากการมีพระนักศึกษารุ่นแรก ก็มีรุ่นที่สอง สามและรุ่นอื่นๆ ตามมาเพราะผลิตผลและผลงานของรุ่นพี่ที่มาศึกษาต่อเมื่อท่านเหล่านั้นได้กลับไปไทยได้แสดงความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้พระนักศึกษารุ่นน้องๆ อยากมาศึกษาต่อด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยใดที่มีพระสงฆ์ไทยเคยเรียนมาก่อนจะสะดวกและง่ายในการติดต่อกับมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย เอกสารการศึกษารวมทั้งแนวการศึกษาต่างๆ ด้วย

3. ได้วิทยฐานะที่ถูกต้องและได้เรียนในสาขาวิชาที่ต้องการ

ในอดีตระบบการศึกษาของพระสงฆ์ไทยและของรัฐบาลได้แยกออกจากกันทุกอย่างการศึกษาของพระสงฆ์จึงไม่มีทิศทางที่แน่นอนและรัฐบาลไทยยังไม่มีการรับรองวุฒิบัตรและปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์นอกจากนี้ การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์เปิดสอนเพียงระดับปริญญาตรีและผู้บริหารคณะสงฆ์ยังไม่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ไปเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐก็ยังไม่อนุญาตให้เรียนได้ด้วยทำให้พระสงฆ์บางรูปผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของสงฆ์ที่ประสงค์จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและได้รับการรับรองคุณวุฒิทางกฎหมายที่ถูกต้องต้องเดินทางมาเรียนที่อินเดียเพราะมหาวิทยาลัยของอินเดียให้การรับรองปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้รับการรับรองสถานภาพและปริญญาบัตรจากรัฐบาลไทยแล้วได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกและมหาวิทยาลัยทางโลกหลายแห่งได้อนุญาตให้พระสงฆ์เข้าไปเรียนต่อได้แต่ว่าการเปิดหลักสูตรการศึกษาในระดับโทและเอกของมหาวิทยาลัยสงฆ์มีบางสาขาวิชา และรับจำนวนจำกัดด้วยส่วนมหาวิทยาลัยทางโลกที่อนุญาตให้พระสงฆ์เข้าไปเรียนอนุญาตให้เรียนต่อได้เฉพาะบางสาขาวิชาเช่นกันไม่สามารถเรียนต่อได้ทุกวิชาพระสงฆ์บางรูปที่ประสงค์จะเรียนต่อในคณะที่ต้องการที่ประเทศไทยแต่ว่าไม่มีที่เรียน หรืออาจจะสอบเข้าไม่ได้ จึงต้องมาเรียนต่อที่อินเดียแต่ส่วนมากแล้วจะมาเรียนในคณะที่ต้องการ

4. มีเวลาเรียนอย่างเต็มที่

ดูจากกลุ่มพระสงฆ์ไทยที่มาเรียนต่อที่อินเดียแล้วเห็นได้ว่าพระสงฆ์ไม่ใช่มีหน้าที่แค่ทำพิธีกรรมและเรียนอย่างเดียวบางคนอาจจะคิดว่าพระสงฆ์ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากบิณฑบาตมาฉันเช้า ไปสวดมนต์ฉันเพลนอกวัด และจำวัดกลางคืนมีชาวพุทธหลายท่านที่เข้าใจอย่างนี้ที่จริงแล้ววิถีชีวิตของพระสงฆ์คือชีวิตแห่งการเรียนรู้ทุกรูปที่บวชมาแล้วต้องเรียนหนังสือตั้งแต่ปีแรก เริ่มตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี ชั้นโทและชั้นเอก เป็นเวลา 3 ปีถ้ารูปใดประสงค์จะเรียนต่อสายบาลี ต้องเรียนอีกอย่างน้อย 9 ปีจึงจะจบหลักสูตร นี้กล่าวเฉพาะการเรียนสายนักธรรมและบาลีแต่บางรูปที่เรียนทั้ง 2 สายคือสายนักธรรมบาลี และทางโลกคือระดับมัธยมศึกษา ระดับปริญญาตรี โท และปริญญาเอก ต้องใช้เวลาเรียนเช่นเดียวกับคนทั่วไป พระสงฆ์ผู้ที่ศึกษาใช่ว่าจะเรียนหนังสืออย่างเดียวต้องรับภาระหน้าที่อย่างอื่นด้วย เช่น ทำงานด้านการสอน เช่นเป็นครูสอนภายในวัด เป็นอาจารย์สอนประจำมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั่วไป ทำงานด้านการปกครองเช่นเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะต่างๆ และเป็นพระเลขานุการ เป็นต้น บางรูปอาจทำหน้าที่ด้านการเผยแผ่พระศาสนา เช่นเป็นพระนักเทศน์อบรมข้าราชการและเยาวชนและพระธรรมทูต เป็นต้นการทำงานของพระสงฆ์ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะปฏิเสธไม่ได้แม้ว่าขณะเรียนหนังสืออยู่ ก็ต้องทำงานไปด้วย ดังนั้น การมาศึกษาต่อที่อินเดียจะทำให้มีเวลาในการศึกษาอย่างเต็มที่ทั้งมีสมาธิพร้อมที่จะเรียนรู้วิชาการต่างๆ ได้เป็นอย่างดีและสามารถที่จะเรียนจบได้ภายในเวลาที่กำหนด

5. ค่าเรียนไม่แพงเหมือนในต่างประเทศอื่น

ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระสงฆ์ต้องเดินทางมาเรียนที่อินเดียประเทศอินเดียแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ใหญ่มีประชากรนับพันล้านแต่รัฐก็ยังส่งเสริมให้ทุกคนได้รับการศึกษาทุกคนสามารถจะศึกษาต่อในระดับที่ต้องการได้เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนที่ถูกมากนอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้สนับสนุนให้ชาวต่างชาติมาศึกษาต่อในประเทศอินเดียด้วย เช่น ทุน ICCR และ JRF ฯลฯ โดยในแต่ละปีทางรัฐบาลจะมีทุนให้นักศึกษาต่างชาติแต่ละประเทศๆ ละ 10 ถึง 14 ทุนมาศึกษาต่อที่อินเดียส่วนผู้ที่ไม่ได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาล ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองแต่ว่าจ่ายไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในต่างประเทศอื่นพระสงฆ์ไทยที่เลือกมาเรียนที่นี่เพราะค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมืองไทยโดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก จะมีพระสงฆ์มาเรียนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในหลักสูตรปริญญาเอกจะถูกกว่าประเทศไทยมากที่เมืองไทยอาจจะเสียค่าเล่าเรียนถึง 5 แสนบาทขึ้นแต่ที่อินเดียเสียเฉพาะค่าธรรมเนียมแรกเข้าประมาณ 700 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 25,000 บาทในขณะนี้ (ในบางสาขาวิชาที่เกี่ยวกับวิชาชีพอาจจะจ่ายแพงมากกว่านี้) ที่เหลือคงจ่ายเฉพาะค่าที่พักและอาหารเฉลี่ยแล้ว ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ไม่เกิน 400,000 บาท

พระสงฆ์ที่มาเรียนที่อินเดียส่วนมากจะได้รับทุนการศึกษามาจากหน่วยงานหรือวัดที่สังกัดอยู่ บางรูปอาศัยทุนญาติโยมที่อุปถัมภ์ และบางรูปก็อาศัยทุนญาติพี่น้องอย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ที่มาเรียนที่นี่ได้ก็เพราะการอุปถัมภ์ของชาวพุทธไทยที่มีความเข้าใจและเห็นใจพระสงฆ์ บางคนรับเป็นเจ้าภาพถวายทุนการศึกษาเรียนจนจบหลักสูตรทั้งปริญญาโทและเอก ดังที่ทราบแล้วว่าพระสงฆ์ที่เข้ามาบวชศึกษาเล่าเรียน เพราะไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาเช่นเดียวกับทางโลกเพราะขาดปัจจัยด้านทุนทรัพย์และความพร้อมหลายๆ อย่างดังเช่นทางโลก ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาแล้ว คงไม่มีโอกาสได้มาศึกษาในระดับสูงได้เช่นนี้ ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ทางคณะสงฆ์หรือรัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์ได้เล่าเรียนทั้งในประเทศไทยและอินเดีย

6. ใช้เวลาในการเรียนไม่นาน

การศึกษาในต่างประเทศไม่ว่าเฉพาะในอินเดียหรือในประเทศอื่นๆ ต้องมีความลำบากแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ ค่าใช้จ่ายที่พักอาศัยอาหารการกิน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการศึกษาในต่างประเทศที่ใช้เวลาไม่มากจะลดความลำบากและประหยัดเวลาไปได้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาแต่ละประเทศแต่ละระดับจะใช้เวลาไม่เหมือนกัน เฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อินเดียเมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้ว จะใช้เวลาศึกษาน้อยกว่าไทย คือการศึกษาในระดับปริญญาตรี ใช้เวลา 3 ปี ปริญญาโท 2 ปีอนุปริญญาเอก 1 ถึง 2 ปีและในระดับปริญญาเอก 2 ถึง 3 ปีเมื่อพิจารณาเวลาการศึกษาแล้วการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อินเดียจะใช้เวลาไม่มาก ถ้าเรียนได้ไปตามระบบการประหยัดเวลาในการศึกษาได้ ก็เท่ากับการช่วยประหยัดงบประมาณไปด้วย

7. ได้พัฒนาภาษาอังกฤษ

ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งของพระสงฆ์ไทย แม้กระทั่งคนไทยทั่วไปที่ต้องการมาศึกษาในต่างประเทศก็เพราะต้องการจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นการศึกษาในประเทศไทยก็สามารถจะพัฒนาภาษาอังกฤษได้เช่นกัน แต่ว่าจะพัฒนาได้ช้าได้ผลไม่เต็มที่ และไม่ได้ประสบการณ์จริงทั้งนี้เพราะไม่ได้นำมาภาษามาใช้ในระบบหรือชีวิตประจำวัน

คนไทยเชื่อกันว่าการไปศึกษาในต่างประเทศ จะสามารถพัฒนาภาษาอังกฤษได้เร็ว ได้ผลอย่างเต็มที่และได้สัมผัสกับเจ้าของภาษาจริงๆ โดยเฉพาะด้านการเขียน อ่านและพูดอาจเป็นจริงได้ในบางประเทศแต่ว่าในประเทศอินเดียอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นสิ่งที่คนไทยยอมรับในการใช้ภาษาอังกฤษของคนอินเดียคือระบบการเรียนการสอนเป็นระบบอังกฤษ ได้เขียน ได้อ่านตำราภาษาอังกฤษและได้พบปะพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษกับเพื่อนต่างชาติ (เฉพาะบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น)แต่สิ่งที่คนไทยไม่ยอมรับคือสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษของคนอินเดียบางคนก็พูดได้ดีแบบสไตล์อังกฤษแต่ส่วนมากจะพูดกันแบบสไตล์อังกฤษบ่นภาษาแขก (ฮินดี) ซึ่งทำให้คนไทยงงได้อย่างไรก็ตาม ตามเมืองใหญ่ๆ ของอินเดีย จะสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษเพราะได้เรียนมาตั้งแต่เล็กๆ ในระบบการศึกษาของอินเดีย ตั้งอนุบาลจนถึงปริญญาใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนซึ่งระบบนี้ ได้รับการถ่ายทอดมาจากประเทศอังกฤษสมัยยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษการที่คนไทยได้มาสัมผัส ได้มาเรียนรู้ในระบบการศึกษาของอินเดียคือการได้เรียนรู้ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษไปด้วยโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยตามเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่นเดลีปูเน่แบงกะลอเป็นต้น

การเรียนรู้ภาษาอังกฤษในประเทศอินเดียทุกวันนี้มีมาตรฐานที่ค่อนข้างดีและเป็นที่ยอมรับสำหรับคนไทยเป็นจุดเริ่มต้นบันไดที่เปิดโอกาสให้คนบางคนได้เรียนรู้ในระบบอังกฤษมีความสามารถ และได้ประสบการณ์ที่จะเรียนรู้และนำไปใช้ในอนาคตเพื่อเป็นฐานไปสู่การเรียนรู้ที่ดีกว่านี้ได้เป็นอย่างดี

ประการหนึ่งการมาศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย บางสาขาวิชาไม่ต้องมีผลรับรองการทดสอบภาษาอังกฤษอย่างเช่น TOEFL และ IELTS ฯลฯ คนไทยบางคนที่ภาษาไม่ค่อยดีที่ไม่สามารถสอบผ่านภาษาอังกฤษเพื่อมารับรองผลการเรียนต่อได้หรือต้องการมาพัฒนาภาษาให้ดีจึงนิยมมาเรียนที่นี่

พระสงฆ์ไทยที่มาเรียนที่นี้ก็เพื่อจะเรียนรู้และพัฒนาภาษาอังกฤษเช่นกัน เพราะในภาวะปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษได้มีบทบาทต่อการทำงานในทุกตำแหน่ง แม้ในด้านพระพุทธศาสนาพระสงฆ์ก็มีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติร่วมกับต่างประเทศ อย่างเช่นการประชุมพุทธศาสนาโลก การเสนอผลงานทางวิชาการ เป็นต้นและด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็เช่นกันถ้าพระสงฆ์สามารถสื่อสารและตอบโต้ภาษาอังกฤษได้จะทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปได้ทั่วโลก

(มีต่อ)






โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2008, 21:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2008, 10:18
โพสต์: 185


 ข้อมูลส่วนตัว


สถาบันและสาขาที่เรียน

ในอินเดียมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่พระสงฆ์ไทยมาศึกษาต่อมีตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกเพราะมหาวิทยาลัยในอินเดียได้ให้การรับรองปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยบางมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยในอินเดียที่พระสงฆ์ไทยนิยมไปศึกษาต่อในปัจจุบันจะเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งเคยมีพระสงฆ์ไทยเรียนมาก่อนแล้วและเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองที่มีบรรยากาศทางศาสนาและมีวิชาการที่เหมาะแก่การศึกษาต่อของพระสงฆ์รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่ ก.พ.ไทยให้การยอมรับวิทยฐานะทางกฎหมายด้วยซึ่งได้แก่มหาวิทยาลัยเหล่านี้

1. มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ

2. มหาวิทยาลัยเดลี เมืองเดลี กรุงนิวเดลี

3. มหาวิทยาลัยปูเน่ เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎร์

4. มหาวิทยาลัยปัญจาบ เมืองจันดิการ์ รัฐปัญจาบ

5. มหาวิทยาลัยมัทราส เมืองเชนไน รัฐทมิฬนาดู

6. มหาวิทยาลัยไมซอร์ เมืองไมซอร์ รัฐการ์นาตะกะ

7. มหาวิทยาลัยมคธ เมืองคยา รัฐพิหาร

8. มหาวิทยาลัยออรังกบาด เมืองออรังกบาด รัฐมหาราษฏร์

9. มหาวิทยาลัยนาคปูร์ เมืองนาคปูร์ รัฐมหารัชตะ

10. มหาวิทยาลัยคุรุเกษตรา เมืองคุรุเกษตรา รัฐหรายนะ

11. มหาวิทยาลัยอัครา เมืองอัคร่า รัฐอุตตรประเทศ

12. มหาวิทยาลัยกัลกัตตา เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก

13. วิศวภารตีศานตินิเกตัน เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก

14. สัมปูรณานัน สันสกฤต เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ

15. มหาวิทยาลัยออลาหาบาด เมืองออลาหบาด รัฐอุตตรประเทศ

16. มหาวิทยาลัยไฮเดอราบาด เมืองไฮเดอราบาด รัฐอันตรประเทศ ฯลฯ

มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่มีเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้นที่ศึกษาอยู่ยังมีคนไทยที่ศึกษาอยู่ร่วมกันอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นอีกที่พระสงฆ์ไทยศึกษาอยู่แต่คงไม่มากในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีบรรยากาศและความโดดเด่นทางวิชาการที่ไม่เหมือนกันแต่โดยทั่วไปแล้วทุกมหาวิทยาลัยจะมีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ มีความสงบร่มรื่นเป็นธรรมชาติมีต้นไม้และสิ่งแวดล้อมเหมาะแก่การเรียนรู้แต่ความโดดเด่ดทางวิชาการนั้น ถ้ามองในแง่คนอินเดีย อาจจะไม่เหมือนคนไทยในแต่ละมหาวิทยาลัยสำหรับคนไทยก็อาจจะมองแตกต่างกันเช่นกันเพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน

ในการเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในอินเดียของพระสงฆ์ไทยก่อนอื่นจะพิจารณาค่าใช้จ่ายก่อน รองลงมาเรื่องวิชาการ ระยะเวลาที่ศึกษาและสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้ความนิยมทั้งจากคนอินเดียและคนไทยที่แตกต่างกันมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ๆ จะได้รับความนิยมมากกว่ามหาวิทยาลัยในเมืองเล็กเพราะความเพียบพร้อมหลายอย่างที่แตกต่างกันเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องแรกที่ต้องพิจารณาเพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนและค่าครองชีพที่แตกต่างกันเรื่องวิชาการ ก็สำคัญ บางมหาวิทยาลัยต้องวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษและความรู้เฉพาะด้านก่อนเข้าเรียนถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยต้องการก็สามารถเข้าเรียนได้

สำหรับสาขาวิชาที่เป็นที่นิยมและยอมรับจากพระสงฆ์ไทยร่วมทั้งคนไทยที่มาเรียนในอินเดียในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะแตกต่างกันโดยทั่วไปแล้วพระสงฆ์จะมาศึกษาด้านพุทธศาสตร์ปรัชญาสันสกฤต ภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และจิตวิทยาทุกสาขาวิชาที่กล่าวมามีสอนทุกมหาวิทยาลัย ที่บอกไว้แต่ว่ามีความโดดเด่นและเป็นยอมรับจากคนไทยที่แตกต่างกัน ดังนี้

- ด้านวรรณคดีอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยปูเณ่ ไฮเดอราบาด และไมซอร์

- ด้านภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดลีมัทราสกัลกัตตา และไมซอร์

- ด้านพุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี เดลีและมคธ

- ด้านปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี อัคราปูเน่ มัทราสและคุรุเกษตรา

- ด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปัญจาบและเดลี

- ด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยยวาหระลาล เนห์รู (JNU) ออรังคบาดและพาราณสี

- ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยออรังคบาด พาราณสี และนาคปูร์

- ด้านสันสกฤต ที่สัมปูรณานัน สันสกตฤ วิศวภารตีศานตินิเกตันและมัทราส

อย่างไรก็ตามในแต่ละมหาวิทยาลัย สาขาวิชาที่เหมือนกัน แต่จะมีเนื้อหารายวิชาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายและการจัดการของแต่ละมหาวิทยาลัย

ผลผลิตและบทบาทของพระสงฆ์ไทยที่มาเรียนที่อินเดีย

พระพุทธศาสนาในไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียหลายด้านด้วยกันโดยเฉพาะด้านภาษา วรรณกรรม จารีต ประเพณีซึ่งไทยได้นำมาประยุกต์ปรุงแต่งจนกลายเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของไทยเมื่อกล่าวไปแล้วผู้ที่ขับเคลื่อนหรือมีบทบาททำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ขยายทำให้เป็นเคารพศรัทธาและรู้จักของไทยคือพระสงฆ์โดยเฉพาะพระสงฆ์ผู้ที่มาศึกษาต่อที่อินเดียพระสงฆ์กลุ่มนี้เมื่อขณะกำลังศึกษาอยู่หรือจบการศึกษาไปแล้ว ได้สร้างผลผลิตและแสดงบทบาทมากมายทั้งในอินเดียและไทยซึ่งเห็นได้ ดังนี้

1. เป็นพระสังฆาธิการ ในการปกครองคณะสงฆ์

ไทยมีวัดทั่วประเทศประมาณ 30,000 กว่าวัดมีพระภิกษุสามเณร ประมาณ 300,000 รูป มีระบบการปกครองคณะสงฆ์ เช่นเดียวกับระบบปกครองของรัฐเมื่อมีวัดและพระภิกษุสามเณรมากมายจึงต้องมีผู้มาปกครองดูแลบริหารจัดการ ซึ่งพระผู้ทำหน้าที่ปกครองนี้ภาษาพระเรียกว่าพระสังฆาธิการหมายถึง ผู้ทำงานเพื่อส่วนร่วมพระกลุ่มนี้มีหน้าที่เปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรีผู้ว่า นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งภาษาพระเรียกว่า เจ้าคณะเช่นถ้าปกครองครองระดับจังหวัด เรียกว่าเจ้าคณะจังหวัด เป็นต้นจากข้อมูลตำแหน่งพระสังฆาธิการผู้ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในระดับต่างๆส่วนมากได้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามาจากอินเดียทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก บางรูปจบที่ไทยก็มี พระสงฆ์เหล่านี้ได้ทุ่มเทตั้งใจต่อสู้ศึกษาเล่าเรียนจนได้วิทยฐานะ กลับไปทำงานเพื่อพระศาสนาด้วยความรู้ความสามารถ ทำให้งานของคณะสงฆ์ดำเนินไปด้วยดีและสามารถที่ทำงานประสานงานกับรัฐได้อย่างดี

2. เป็นพระผู้บริหาร พระนักวิชาการ และครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์

ไทยมีมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กทม. และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์กทม.นอกจากนี้ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยยังมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ และศูนย์การศึกษาที่ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์อีก ประมาณ 80 แห่งทั่วประเทศแต่ละแห่งมีนักศึกษาทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่เรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี บางแห่งเปิดสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้วย ในระบบการบริหารของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งผู้บริหารระดับสูงต้องสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาและเป็นพระภิกษุเท่านั้นส่วนนักวิชาการและครูอาจารย์ มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส

จากข้อมูลรายนามผู้บริหารระดับสูงในมหาวิทยาลัยวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ และศูนย์การศึกษาแต่ละแห่งทั่วประเทศส่วนมากสำเร็จการศึกษามาจากอินเดียทั้งระดับปริญญาโทและเอก อย่างเช่นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเดลีอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำเร็จปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสีส่วนพระนักวิชาการ และครูอาจารย์ก็เช่นเดียวกันส่วนมากเป็นพระสงฆ์ที่จบการศึกษามาจากอินเดียแต่ในปัจจุบันที่ประเทศไทยมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งเปิดการสอนระดับปริญญาโทและเอก และมหาวิทยาลัยของรัฐเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ศึกษาได้พระสงฆ์ที่จบการศึกษาจากอินเดียจะลงน้อยลง อย่างไรก็ตามทั้งพระสงฆ์ที่จบการศึกษาที่อินเดีย และที่ไทยถ้าไม่ลาสิกขาไปประกอบอาชีพอย่างฆราวาส ส่วนมากแล้วจะทำงานเป็นครูอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์และมหาวิทยาลัยของรัฐบางรูปเป็นทั้งครูอาจารย์และมีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ด้วย ดังนั้น พระสงฆ์ที่จบการศึกษาจากอินเดียจึงมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมไทยในฐานะเป็นผู้ทำงานเพื่อส่วนร่วมเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้สั่งสอน อบรม ศีลธรรมจริยธรรมและนำหลักธรรมไปสู่สังคมอย่างแท้จริง

3. เป็นพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

นอกจากพระสงฆ์ที่สำเร็จการศึกษาจากอินเดียจะทำงานด้านการปกครองคณะสงฆ์และงานวิชาการหรือการสอนในมหาวิทยาลัยแล้วมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์กลุ่มนี้ ได้แสดงบทบาทและทำหน้าที่เพื่ออุทิศแก่สังคมในการนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในนานาประเทศจนสามารถทำให้ต่างประเทศได้รู้จักพระพุทธศาสนาดียิ่งขึ้น พระสงฆ์กลุ่มนี้ภาษาพระเรียกว่าพระธรรมทูตหมายถึงพระผู้นำหลักธรรมคำสอนไปเผยแผ่แก่ผู้อื่นให้เข้าใจ พระสงฆ์บางกลุ่มหลังจากสำเร็จการศึกษาจากอินเดียแล้ว ได้นำความรู้ ความสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในอินเดียและต่างประเทศอื่นๆมีหลายรูปได้ไปสร้างวัดเป็นเจ้าอาวาส หรือไปทำงานเผยแผ่คำสอนในต่างประเทศ อย่างเช่นที่อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน นิวซีแลนด์ เป็นต้นพระสงฆ์เหล่านี้ ผ่านระบบการศึกษาในอินเดีย มีความคุ้นเคยกับชาวต่างชาติเข้าใจวัฒนธรมและอัธยาศัยของชาวต่างชาติ และสามารถที่จะสื่อสารกับพวกเขาได้สามารถที่จะนำพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของไทยไปเผยแผ่ให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้พระสงฆ์บางกลุ่มทั้งที่สำเร็จการศึกษาและกำลังศึกษาอยู่ที่อินเดียได้ทำหน้าที่เสียสละเวลาในการทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากรให้ความรู้แก่บุคคลผู้เดินทางมากราบสังเวชนียสถานที่อินเดียซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปได้ทำหน้าที่นี่ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ประจำที่จะต้องปฏิบัติด้วยเพราะทุกครั้งที่มีคณะคนไทยหรือชาวต่างชาติมาแสวงบุญที่อินเดียบริษัททัวร์หรือญาติโยมต้องนิมนต์พระสงฆ์กลุ่มนี้ เป็นผู้นำในการแสวงบุญพระสงฆ์เหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดีเพราะได้ศึกษาและเรียนรู้อยู่ที่นี่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยในแต่ละสถานที่จริง สามารถที่จะถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับอินเดียได้เป็นอย่างดี

4. เป็นผู้สร้างสายสัมพันธ์ไทย-อินเดียเป็นอย่างดี

แม้ว่าในปัจจุบันไทย จะไม่มีความสัมพันธ์กับอินเดียอย่างแนบแน่น ทั้งนี้จะด้วยเหตุผลอันใดก็แล้วแต่แต่ถ้ามองไปในด้านวัฒนธรรมทางศาสนาแล้วไทยมีความสัมพันธ์กับอินเดียเป็นอย่างดีทั้งนี้ก็เพราะพระสงฆ์ผู้ที่มาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ได้ช่วยเป็นสายสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีกับคนอินเดียทั้งในด้านวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุพระสงฆ์ที่เรียนที่นี่แต่ละมหาวิทยาลัยมีการจัดกลุ่มหรือสมาคมของนักศึกษาไทยขึ้นมีการจัดกิจกรรมหลายอย่างภายในกลุ่มและนอกกลุ่ม ชาวต่างชาติจะรู้จักพระสงฆ์ไทยดีพระสงฆ์ที่นี่ ได้แสดงวัฒนธรรมด้านพุทธศาสนาของความเป็นไทยให้ปรากฏบ่อยครั้งที่คนอินเดียเห็นพระสงฆ์จะเข้าใจว่าเป็นคนไทยในบางแห่งแม้ว่าพวกเขาจะเป็นชาวฮินดู ยังได้นิมนต์พระสงฆ์ไปฉันและอบรมธรรมแก่พวกเขาที่บ้านด้วย

สำหรับพระสงฆ์ที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่แล้วได้มีบทบาทอย่างมากยิ่งในการสร้างคุณูปการะแก่พระพุทธศาสนาในอินเดียโดยเฉพาะการอนุรักษ์พุทธสถานและวัฒนประเพณีชาวพุทธและเป็นผู้นำในการชักนำคนไทยให้รู้จักพระพุทธศาสนาในอินเดียได้เป็นอย่างดีปัจจุบันในอินเดียมีวัดไทยอยู่ 10 กว่าวัดพระสงฆ์ที่เป็นประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาส ส่วนมากจะสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาเอกที่อินเดียส่วนผู้ที่ร่วมงานบริหารภายในวัดก็สำเร็จการศึกษาที่อินเดียเช่นเดียวกันพระสงฆ์กลุ่มนี้ถือว่าทำงานหนักทั้งการสร้างวัด การบริหารคนและการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์วัดไทยในอินเดียมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ สืบสาน ประเพณีศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างไทยและอินเดียโดยการนำของประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาส วัดไทยในอินเดียถือว่าเป็นพุทธสถานหรือวัฒนธรรมด้านวัตถุที่ทำให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่ในอินเดียเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดียประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาสแต่ละวัดได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติทั้งในไทยและอินเดียมากมายบางวัดมีการจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อให้บริหารแก่คนอินเดียและคนไทยฟรีหรือในราคาที่ประหยัดเช่น วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และวัดไทยสิริราชคฤห์ ฯลฯมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนอินเดียหรือพระสงฆ์ภายในวัดออกไปสอนหนังสือตามชุมชนเป็นต้นวัดไทยยังก่อประโยชน์แก่คนอินเดียบางกลุ่มได้มีรายได้ในการทำงานในฐานะเป็นผู้ทำงานภายในวัดอีกบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของวัดไทยในอินเดียคือการให้บริการที่พักอาศัยแก่คนไทย ผู้ที่เดินทางมากราบไหว้สังเวชนียสถานวัดทุกวัดมีที่พักให้แก่คนไทยรวมทั้งชาวต่างชาติซึ่งทุกคนสามารถเข้าอาศัยอาศัยได้กิจกรรมทั้งหมดนี้ ส่วนมากจะเป็นบทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ที่มาศึกษาและสำเร็จการศึกษาที่อินเดีย ดังนั้นพระสงฆ์กลุ่มนี้ ถือว่าเป็นผู้ให้บริการทั้งความรู้ ความเอื้อเฟื้อและบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งคนไทยและอินเดีย

คงเป็นที่เข้าใจบ้างแล้วว่าทำไมพระไทยต้องมาเรียนที่อินเดียนี่เป็นเพียงบางเหตุผลที่ได้นำเสนอเพื่อทำความเข้าใจแก่ผู้ที่ต้องการจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากทำความเข้าใจกับชาวพุทธคนไทยทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้แน่นอนบางท่านอยากจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการมาเรียนของพระสงฆ์ที่นี่เพราะความเข้าในเรื่องที่แตกต่างกันก่อนที่จะมาเรียนที่อินเดียก็เคยสงสัยเช่นกันว่าทำไมพระไทยต้องไปเรียนที่อินเดียแต่เมื่อได้เรียนรู้ ได้มาเห็น ได้มาอยู่เองแล้ว จึงได้ความรู้กระจ่างขึ้น

อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนได้เข้าใจว่าพระมีหน้าที่ต้องศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติและการอบรมสั่งสอนผู้อื่นการศึกษาทางธรรม มีให้ศึกษาที่ประเทศไทยส่วนการศึกษาทางโลกก็มีให้ศึกษาเช่นกันแต่อาจจะมีเหตุผลหลายอย่างที่ท่านต้องเดินทางมาเรียนต่อนอกประเทศเช่นกันคนไทยที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศอยากให้สังคมได้เข้าใจในวิถีชีวิตของพระสงฆ์ว่าท่านต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าในเหตุการณ์ต่างๆของโลก ต้องศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต และเพื่อยกระดับฐานะให้ดีขึ้น ถ้าสังคมให้โอกาสให้การสนับสนุนส่งเสริมเท่ากับว่าได้ผลิตบุคลากรเพื่อมาทำงานในการสร้างสรรค์สังคมและประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น.


http://www.thaitsg.net/index.php?option ... &Itemid=44


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2014, 10:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร