ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=20015
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  เว็บมาสเตอร์ [ 11 ม.ค. 2009, 19:29 ]
หัวข้อกระทู้:  หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน


รูปภาพ

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) มีชาติกำเนิดในสกุล “อินหา” เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับเดือน ๓ ปีระกา เวลา ๐๕.๑๐ นาฬิกา ที่บ้านหนองโดน ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี บิดาชื่อนายพร มารดาชื่อนางสอน อินหา ท่านเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยได้รับฉายามคธว่า “ฐานิโย” ซึ่งแปลความหมายว่า “ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม” หลวงพ่อเล่าประวัติของท่านว่า “เมื่อมีคนมาถามถึงสกุลรุนชาติ หลวงพ่อบอกเสมอว่าหลวงพ่อเป็นเด็กขอทาน กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ อาจเคยทำกรรมพรากชีวิตสัตว์ไว้จึงต้องเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เกิด”

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงพ่อพุธเดินทางจากวัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเป็นบุคคลที่ช่างคิดเป็นนักวิชาการ เพราะพระองค์ทรงใช้พระทัยคิดอย่างไม่หยุดยั้ง การคิดด้วยการตั้งใจนี้เป็นเรื่องของสมาธิ ถึงแม้จะทรงรับสั่งด้วยทางโลกก็ตามแต่ก็มีคุณธรรมแฝงอยู่ทุกประการ คราวหนึ่งพระองค์ท่านทรงเสด็จไปหัวหิน ท่านมีรับสั่งนิมนต์หลวงพ่อพุธไปแสดงธรรมโดยเฉพาะ


๏ การปฏิบัติธรรมดั่งที่พระอาจารย์เสาร์สอน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมดั่งที่ท่านอาจารย์เสาร์สอนมา

หลวงพ่อพุธ : โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ

การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่งพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕

การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ ปีติ และความสุข ก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต

ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

ถ้าจะเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน

บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔

จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง ผู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน

เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้นสมถกรรมฐาน

และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

ถ้าหากมีอนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

เมื่อผู้ปฏิบัติมาฝึกฝนอบรมจิตของตนเองให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมา จิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป หลักการปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ก็มีดังนี้


๏ กรรมเก่า

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ดิฉันยังไม่เข้าใจคำว่า “กรรมเก่า” เจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : คำว่า กรรม คือ การกระทำ เมื่อเราถือว่าทำลงไปแล้วไม่ถือว่ามีผลอะไร ทำแล้วก็ทำไป คนที่คิดเช่นนั้นก็มีมาก เว้นเสียแต่ว่า ผู้ที่ทำจิตทำใจ หรือว่าฝึกฝนอบรมมาจนจิตใจน้อมเชื่อในผลแห่งกรรมนั้นแหละ จึงจะเชื่อว่ากฎของกรรมนั้นมีจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ พวกที่ยังตื่นอยู่กับสังคมโลก ตื่นอยู่กับความสนุกเพลิดเพลิน ตื่นอยู่กับความร่ำรวย หรือยศถาบรรดาศักดิ์ พวกเหล่านี้มักจะลืมตน และมักไม่คำนึงถึงว่าผลกรรมที่เราได้กระทำในปางก่อนนั้นมาสนับสนุนให้เราได้ดิบได้ดีในปัจจุบัน

โดยวิถีของกรรมแล้ว จากปัญหาที่ว่า คนที่เขาทำชั่วมาก ทำไมเขาจึงได้ดี อันนี้ก็เพราะว่า

ความชั่วในปัจจุบันยังไม่ให้ผลแก่เขา เขาจึงเจริญรุ่งเรือง เพราะอาศัยผลกรรมในอดีตชาติปางก่อนมาสนับสนุน เขาจึงได้ดิบได้ดี

เรื่องนี้ยากนักที่จะปลงใจเชื่อกันได้ นอกจากจะมาบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำจิตบริกรรมภาวนา ทำใจให้สงบสว่าง นั่นแหละจึงจะโน้มน้าวใจเชื่อลงไปได้

เคยมีลูกศิษย์เป็นนายตำรวจผู้หนึ่ง เขาไปอุปสมบทอยู่ด้วย ได้สอนให้เขาบริกรรมภาวนา เริ่มต้นด้วยการภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อภายหลังเขาตั้งใจจริงจนกระทั่งจิตสงบ สว่าง มีความรู้ธรรมเห็นธรรมปรากฏขึ้นภายในจิตของเขา สิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นออกมา สิ่งที่น่าภูมิใจที่สุดมีอย่างหนึ่ง คือ เขาพูดว่า

“เมื่อก่อนนี้รับราชการเป็นนายตำรวจ ยังไม่ทันซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านได้พระราชทานให้ได้เงินเดือนมาสำหรับเลี้ยงชีวิต เมื่อมาภาวนาจนจิตสงบแล้ว รู้เหตุ รู้ผล รู้สึกว่างานที่เรากระทำนี้ยังไม่คุ้มกับพระราชทรัพย์ที่ได้พระราชทานมาสำหรับเลี้ยงชีวิต”

และเขาได้ปฏิญาณว่า

“ผมจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์จนตลอดชีวิต”


๏ พระปัจเจกพุทธเจ้า

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ดิฉันขอยกข้อดีว่า ถ้าไม่มีพระบวรพุทธศาสนานี้คงจะอยู่บนโลกนี้ด้วยความยากลำบาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเป็นแสงสว่างจริงๆ ทำให้สามารถระงับความโกรธ ความเกลียด ความผิดหวังอะไรได้ทุกอย่าง และน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านได้มีพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าอย่างไรเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรงที่ไม่แสดงธรรมและไม่ตั้งศาสนา ถ้าใครทำบุญทำทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเพียงแต่ให้ศีลให้พร หรือถ้าแสดงธรรม ก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราวพอที่จะจับเอามาปฏิบัติได้ อย่างดีก็เพียงแต่แนะนำให้รักษาศีล ให้ภาวนา ให้ทาน เป็นแต่เพียงแนะนำเท่านั้น ส่วนมากไม่แสดงธรรมเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยนิสัยของท่านพระปัจเจกพุทธะไม่มุ่งที่จะมีสาวก ถ้าหากจะมีคำสอนปรากฏอยู่บ้าง ก็เป็นไปเพื่อชีวิตของท่านเท่านั้น ไม่ไว้สาวกเพื่อสืบพระศาสนา

การตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็มีความเสมอกันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วๆ ไปก็คือ ความเป็นอาสวักขยญาณ คือ ความสามารถทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป

พระปัจเจกพุทธเจ้าบางองค์ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ มีความละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งสามารถตัดกิเลสออกจากจิตไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนมากพระปัจเจกพุทธเจ้าจะสำเร็จเป็นพระปัจเจกได้โดยเจโตวิมุตติ คือ การทำจิตให้ละเอียดลงไป แล้วก็ตัดกิเลสด้วยกำลังจิตที่เข้มแข็งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระองค์ท่านแล้ว ท่านจึงไม่สามารถแสดงธรรมได้อย่างกว้างขวางอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับพระพุทธเจ้าโดยทั่วๆ ไป

นี่คือข้อแตกต่างระหว่างพระปัจเจกพุทธเจ้าและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ดิฉันอยากจะถามว่าสมัยนี้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าบ้างไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : หากอาศัยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าของเราทรงกำหนดอายุพระศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปี พระศาสนาขณะนี้ได้ดำเนินมา ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว ศาสนาพุทธก็ยังปรากฏอยู่ในโลก ยังไม่ว่างจากพระศาสนา ในช่วงนี้ยังมีพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่ ยังไม่สิ้นอายุของพระศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่มี ถ้าอาศัยหลักฐานตามคัมภีร์แล้วก็จะยืนยันได้ตามนั้น ปัจจุบันนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี


๏ ฆราวาสบรรลุธรรมได้หรือไม่

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : หากเผื่อว่าไม่ได้บวชเป็นพระนี้ จะสามารถชำระจิตของท่านจนสามารถบรรลุถึงธรรมได้ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : อาศัยตามหลักฐานในพระคัมภีร์ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะชำระจิตให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้นได้

ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา พระองค์ก็สำเร็จพระอรหันต์ ในขณะทรงเป็นฆราวาสอยู่ เพราะเมื่อได้ฟังเทศน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็สำเร็จพระอรหันต์ทั้งๆ ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่

ในปัจจุบันนี้ คฤหัสถ์ที่ยังครองเพศอยู่ก็สามารถที่จะปฏิบัติในทางจิต ทำให้มีจิตสงบเป็นสมาธิ รู้ธรรมเห็นธรรมได้เหมือนกับพระในพระพุทธศาสนา


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : หมายความว่า ถ้าแม้ว่าเข้าถึงพระอรหันต์แล้ว ถ้าไม่บวชก็วางเบญจขันธ์ได้อย่างสิ้นเชิงใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : ตามพระคัมภีร์ก็ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้านำมาพิจารณาให้รู้แน่นอน และจะหาเหตุผลมาขัดแย้ง ก็อาจจะมีทาง เพราะในแง่ที่จะขัดแย้งได้มีว่า โดยธรรมชาติของพระอรหันต์แล้วท่านจะวางเบญจขันธ์ คลายความยึดมั่นหมดกิเลสตัณหา มานะทิฏฐิ แม้อาสวะน้อยหนึ่งก็ไม่มีในจิตใจของท่าน อาจจะดำรงชีพอยู่จนกระทั่งอายุขัยก็ย่อมเป็นได้ ถ้าหากว่าหามติมาขัดแย้งได้ แต่ว่าคุณของความเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นคุณธรรมหรือเป็นสัจธรรมที่สูง ซึ่งโดยหลักธรรมชาติของธรรมะชั้นนี้แล้วจะไปสิงสถิตอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ซึ่งเป็นร่างของชาวบ้านธรรมดา เป็นการไม่คู่ควรกัน จึงสามารถทำให้ร่างของฆราวาสผู้สำเร็จอรหันต์แล้วต้องสลายตัวไป อันเป็นกฎความจริงของธรรมชาติในขั้นนี้

ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับแร่ธาตุบางอย่างในโลกนี้ ในเมื่อมาพบกันเมื่อใดแล้วจะต้องมีปฏิกิริยาสลายตัวหรือเกิดธาตุใหม่ขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้ ธาตุแท้แห่งพระอรหันต์ที่บริสุทธิ์สะอาดอย่างแท้จริง เมื่อเกิดอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ธรรมดา จึงมีประสิทธิภาพหรือมีอำนาจที่จะทำให้ร่างกายของคฤหัสถ์สลายตัวลงไปได้ เพราะเป็นร่างกายที่ไม่ควรที่จะรองรับคุณธรรมของพระอรหันต์

รูปภาพ

๏ บาปกรรมอยู่ที่ใจ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ดิฉันสนับสนุนให้ประชาชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้เจ้าค่ะ เคยมีลูกศิษย์ของท่านอาจารย์แบนเรียนด้วยความหวังดีว่า “อย่าทำเลยหม่อนไหม วันๆ หนึ่งชาวบ้านต้มไหมเป็นล้านๆ ตัว”

เพราะเหตุว่าเห็นสภาพที่เขาอดอยาก พิการ อดอยาก ตาบอด ก็เลยคิดว่าการสนับสนุนให้เขาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้น แม้ว่าเขาผลิตแล้วไม่นำออกมาขายก็ไม่ได้เงินมาเลี้ยงชีพ.

ดิฉันอยากจะช่วยเด็กๆ ที่ยากจน แต่ลูกศิษย์พระอาจารย์ก็เตือนมาเรื่อยๆ ก็เลยคิดว่าเราได้ช่วยคนมามากๆ ดีกว่าคนที่เขาไม่ได้เข้าวัด ไม่ทำอะไรเลย เราหากินสุจริต ทำบุญได้ หากินได้ ทำอะไรได้ เลี้ยงลูกได้ พระคุณเจ้ามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : ตามที่แนะนำให้ราษฎรเขาทำอย่างนั้น เพียงแต่ว่าได้แนะนำให้เขาเลี้ยง แต่ไม่ได้แนะนำให้เขาต้มตัวไหม ในเมื่อเขาทำขึ้นมาแล้ว เขาจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของเขา

ส่วนจะขัดข้องกังวลใจ เพื่อความเข้าใจก็ถือเสียว่าเพียงแต่ได้แนะนำวิธีทางดำเนินชีวิตเท่านั้น ซึ่งมีหลายวิธีการที่เขาจะทำ ในเมื่อเขาทำลงไปแล้ว เขาจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แม้ว่าจะไม่สั่งให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาทำไปเอง ถ้าหากสมมติว่าทำใจได้อย่างนี้ก็เป็นที่เบาใจ มากขึ้น

และข้อเปรียบเทียบเวลานี้ เป็นการแนะนำวิชาอาชีพแต่มิได้สั่งให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นฆ่าสัตว์ เพราะไม่ได้สั่งว่าให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่เพียงว่า ปลูกหม่อนนะ เลี้ยงไหมนะ ทำอะไรเพียงแค่นี้ ในเมื่อมีผลิตผลแล้ว เขาจะทำอะไรเป็นหน้าที่ของเขา เช่น อาจจะแต่งตั้งใครสักคนหนึ่งที่มีความชำนิชำนาญในเรื่องนี้ให้คำแนะนำ ถ้าจะเปรียบก็คล้ายกับว่า หมอทั้งหลายเขารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนมากหมอจะไม่มีคำพูด หรือความตั้งใจเจาะจงลงไปว่า ฉันจะฆ่าเชื้อโรคอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นแต่เพียงว่าคนนี้ป่วยเป็นโรคอย่างนั้น จะให้ยาอย่างนี้ เพื่อให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บ

ที่ได้มีเมตตาแก่ประชาชน ที่แนะนำให้เขาทำอยู่ในปัจจุบัน พยายามทำใจว่าได้แนะนำให้เขาทำอย่างนี้ เมื่อเขาปลูกหม่อนแล้วจะต้องมีสัตว์สำหรับกินหม่อน เขาจะหาอะไรมาทำ

นอกจากตัวไหมใบหม่อน เมื่อเขามาเลี้ยงเติบโตขึ้นมาแล้ว เขาจะไปทำรวงทำรังที่ไหน รวงรังของเขาจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา คนที่เขาเลี้ยงเขาย่อมรู้จักหน้าที่ของเขาว่าเขาควรทำอย่างไร

เพื่อไม่ให้เป็นการกังวลใจมากนัก อาตมาขอแนะนำวิธีทางทำให้เบาใจ เมื่อแนะนำให้เขารู้จักประกอบอาชีพ พยายามนึกในใจว่าเราไม่ได้แนะนำให้เขาฆ่าสัตว์ เขาจะทำอะไรเป็นหน้าที่ของเขา ให้พยายามทำใจอย่างนี้ อาตมาเห็นว่าความกังวลใจอาจจะลดน้อยลงไป

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : บาปกรรมทั้งหลายนี่อยู่ที่ใจจริงๆ ใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : อยู่ที่ใจ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : ทีนี้ถ้าเผื่อว่า จิตใจของดิฉันมิได้ใส่ใจในเรื่องตัวไหมเลย แต่ใส่ใจในเรื่องที่ช่วยชีวิตเด็ก ไม่ให้ตาย ไม่ให้พิการ อันนี้สำคัญกว่าใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : สำคัญกว่า


๏ คุณธรรมพระอริยะ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : เมื่อพระอริยบุคคล อันมีพระโสดาบัน ท่านไม่ผูกพยาบาท ท่านไม่ทำร้ายคน หรือเบียดเบียนคน ท่านอยู่ในศีล ๕ ใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : อยู่ในศีล ๕

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : มีกล่าวไว้ในพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อพุธ : มีกล่าวในพระพุทธศาสนา

ลักษณะน้ำใจของพระโสดาบัน เป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย คือ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงไม่กวัดแกว่ง มีความรักในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง มีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงไม่เปลี่ยนแปลง

ทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำบุญก็บุญ จะบาปก็บาป ไม่มีการคัดค้าน เป็นสมาธิจิต เมื่อมีการกระทบจิตใจ บางทีอาจจะโกรธ แต่ไม่ผูกพยาบาท พระโสดาบันเต็มไปด้วยการให้อภัย เรียกว่าให้อภัยทาน ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตใครทั้งสิ้น

เช่นอย่างพระมหาบพิตร ต้องลงพระปรมาภิไธยรับสั่งให้ทำอะไรลงไป เช่น การให้อภัยโทษ และมีการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด อาตมาเคยพิจารณาดูแล้วในเรื่องนี้ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน คิดว่าไม่มีทางที่จะได้รับบาป เพราะรัฐธรรมนูญการปกครองมาจากมติคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตราเป็นกฎหมายนั้นๆ ออกมา จึงเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการปลอดพ้นจากสิ่งที่เป็นบาปกรรม จริงอยู่ อาจจะมีพระปรมาภิไธย แต่ก็โดยกฎหมายโดยมติของปวงชน

ที่อาตมาต้องอธิบายดังนั้นก็เพราะมีผู้มาถามบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาตมภาพได้แก้ปัญหาเขาไว้อย่างนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : พระสกทาคามี ท่านมีคุณสมบัติอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : พระสกทาคามีละสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนกับพระโสดาบัน คือ ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ระงับราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง แต่สังโยชน์นี้ที่ละได้เท่ากันกับพระโสดาบัน แตกต่างกันตรงที่ระงับ ราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง จิตอยู่เหนือพระโสดาบันนิดหน่อย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : พระโสดา พระสกทาคามีนี้ กามราคะยังมีอยู่ คือ หมายถึงความรักสวยรักงามยังติดอยู่มิใช่หรือเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : ยังติดอยู่ มีเรื่องในพระพุทธประวัติ เป็นเรื่องของนางวิสาขาว่า นางวิสาขาไปลืมเครื่องประดับไว้ในอารามของพระพุทธเจ้า แล้วพระอานนท์เป็นผู้เก็บเครื่องประดับตกแต่งอันนั้นรักษาไว้

เมื่อนางวิสาขามาวัด พระอานนท์แจ้งให้ทราบว่านางลืมเครื่องประดับคุณค่ามหาศาลไว้ในวัดนี้ อาตมภาพเก็บเอาไว้ นางวิสาขาก็เรียนกับพระอานนท์ว่า เครื่องประดับของดิฉันที่พระคุณเจ้าได้เก็บรักษาไว้ ไม่ขอรับคืน ขอยกถวายเป็นสมบัติของสงฆ์

ฝ่ายพระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ก็รับสั่งว่า ของประดับเหล่านี้แม้จะเป็นของมีค่าสูง แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรับสงฆ์

นางวิสาขาก็ทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้นจะทรงให้ปฏิบัติอย่างไร

พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า ให้รับเอาของคืนไป

นางวิสาขาทูลว่า การที่รับของคืนนั้นเป็นการไม่สมควร ขอปวารณาสร้างพระวิหารถวาย

อันนี้เป็นหลักฐานที่พระโสดาบันยังใช้เครื่องประดับอยู่


๏ พลังใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : อยากขอให้พระคุณเจ้านั่งแผ่เมตตาให้กับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ขอให้ท่านมีความร่มเย็นเป็นสุข

หลวงพ่อพุธ : อันนี้รู้สึกเป็นกิจวัตรที่ได้กระทำมาเป็นประจำแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : อยากเรียนถามพระคุณเจ้าว่า เคยฝันถึงท่านพระพุทธยอดฟ้า เคยฝันถึงท่านหลายครั้ง ไม่ทราบว่าฝันถึงท่านเองหรือใจนึกถึง

หลวงพ่อพุธ : พลังใจที่ได้เคารพบูชา ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรดาพระบรมมหากษัตราธิราชเจ้าทั้งหลายในอดีตนั้น ย่อมเป็นพลังอันหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้จิตใจของพระองค์ ปฏิพัทธ์ถึงพระองค์ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยความแน่นอน ซึ่งปกติแล้วความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของความดี ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม เป็นพื้นฐานให้เกิดความดี

ดังนั้น การที่ได้ฟังเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนา ที่คิดว่ายังไม่เป็น ยังไม่ชำนาญนั้น เพราะความกตัญญูกตเวทีอันนี้ จะช่วยเกื้อกูลอุดหนุนน้ำใจของท่านให้ดำเนินไปสู่สมาธิที่ถูกต้อง

เท่าที่เคยได้ฟังที่วัดป่าสาลวันเมื่อครั้งนั้นว่า เมื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตสงบสว่างลงไปแล้ว หายหวาดกลัวในสิ่งต่างๆ อันนี้คือจิตของท่านมีสมาธิและเข้าสมาธิได้ง่าย

แต่การทำสมาธิบางครั้งบางคราวนั้น เราอาจจะไม่สมประสงค์ในการกระทำ คือจิตอาจไม่มีความสงบตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการสะสมกำลังไว้ เมื่อเวลาเหมาะสมเมื่อใด จิตจะสงบลงเป็นสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อขณะใดที่เกิดความกลัว กลัวจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติ เป็นผู้อบรมอยู่เป็นประจำนั้น จะวิ่งเข้าสู่ความเป็นสมาธิโดยไม่ตั้งใจ

อันนี้เคยมีปรากฏการณ์ให้อาตมภาพได้ทราบหลายครั้งหลายหน ในชีวิตนี้รถเคยคว่ำถึง ๒ หน

ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ไปจังหวัดอุบลฯ กลับมาจะถึงจังหวัดนครราชสีมาอยู่แล้ว ห่างเพียง ๑๐ กว่ากิโลเมตรเท่านั้น รถคว่ำที่โค้งด่านเกวียน เขตตัวเมืองนครราชสีมา

ขณะที่รู้สึกตัวว่าเกิดอันตราย จิตจะวิ่งเข้าสู่สมาธิโดยไม่ตั้งใจ ในขณะนั้นรู้สึกตัวว่าตัวเองลอยอยู่บนอากาศ บริเวณรอบๆ สว่างไสวไปหมด ทั้งข้างหน้าข้างหลัง

ภายในจิตใจคล้ายๆ กับว่ามันสั่งให้รถหลบเสาซีเมนต์ข้างถนนซึ่งเขาปักไว้เป็นแถว เมื่อมองดูแล้วก็มองเห็นต้นเสาแต่ละต้นคล้ายมันปรากฏ และรถหลบเสาซีเมนต์นั้นไปได้ แต่ต้นสุดท้ายที่รถจะไปปะทะ มันมืดมองไม่เห็นต้นเสา รถก็ไปปะทะต้นเสาซีเมนต์นั้น แล้วรถก็พลิกคว่ำลงไป

คงจะเป็นเพราะเดชะบุญ จิตวิ่งเข้าสู่สมาธิโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นเอง ทำให้อาตมภาพและทุกคนในรถไม่เป็นอันตราย

ดูสภาพของรถแล้วรู้สึกว่าเสียหายมาก ใครๆ มองแล้วก็รู้สึกว่า ไม่มีใครเหลือสักคนที่นั่งไปในรถ อันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๕ ที่ผ่านมานี้ ครั้งนี้จะไปรับถวายที่ดินที่เขาอุทิศให้สร้างวัด พอไปถึงอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากนางรองประมาณ ๑๓ กิโลเมตร บังเอิญยางแตกทั้งข้างหน้าและข้างหลังพร้อมกัน รถวิ่งลงไปข้างถนน เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะนั้น คล้ายๆ ตนเองลอยขึ้นไปบนอากาศ รู้สึกตัวเองเมื่อรถมันหายกลิ้งแล้ว พอรถหยุด ได้ถามว่ามีใครเป็นอะไรบ้างไหม เขาบอกว่าไม่มีอะไร ไม่มีใครเจ็บ

เหตุการณ์ทั้ง ๒ ครั้งนี้เกิดขึ้นคล้ายๆ กัน แปลกตรงที่ว่าไม่ได้ตั้งใจเข้าสมาธิ พอเกิดขึ้นแล้วมันเกิดขึ้นของมันเอง

จึงได้คติมาเตือนใจบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทโธ ธัมโม สังโฆนี้ระลึกไว้ให้ดี ควรระลึกไว้จนมันเกิดติดนิสัย

บางครั้งมิได้ตั้งใจจะนึก จิตจะนึกขึ้นมาเองว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ บางครั้งเมื่อทำอะไรผิดพลาด แทนที่จะไปนึกอย่างอื่น กลับมานึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ และพูดออกมาโดยมิได้ตั้งใจ

อันนี้เพราะอาศัยจิตติดอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆนั้น เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นมา จิตมันก็วิ่งเข้าหาพุทโธ ธัมโม สังโฆโดยไม่ได้ตั้งใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจะสิ้นใจ ถ้าหากเราไม่ได้สร้างพื้นฐานลมหายใจ ทุกขเวทนาต่าง ๆ มันจะมารบกวนจะทำให้จิตไขว่คว้าหาที่พึ่ง ถ้าว่าเราไม่นึกถึงอะไรให้มั่นคงไว้สักอย่างหนึ่ง จิตก็จะไม่มีที่ยึด ก็จะไขว่คว้าไปต่างๆ บางทีก็อาจจะไปเกาะสิ่งที่เป็นอบายภูมิ เพราะจิตไม่มีที่พึ่งที่ระลึก จิตนั้นก็จะไปสู่อบายภูมิ เป็นสภาพที่ไม่มีความเจริญ

พุทโธ ธัมโม สังโฆนี้เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ แม้จิตจะไม่สงบก็ตามเป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ


๏ นิมิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : นิมิตมีหลายอย่างบางอย่างแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่างหนึ่งและอีกอย่างหนึ่งก็ให้เห็นเหมือนฝัน และอีกอย่างหนึ่งก็แสดงให้เห็นเหมือนทิพย์ เป็นนิมิตความหมาย ขอท่านอาจารย์ได้อธิบายให้ฟัง

หลวงพ่อพุธ : นิมิตก็มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องรู้ของจิต นิมิตจะเกิดขึ้นได้ในจิตสมาธิ คือผู้ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปจิตสงบสว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดขึ้นมาในลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน ภูตผี ปีศาจ เทวดา และอีกอย่างหนึ่งในการพิจารณาอสุภกรรมฐานหรือธาตุกรรมฐาน ในขั้นต้นผู้ปฏิบัติอาศัยการน้อมนึกพิจารณาน้อมไปสู่การเป็นอสุภกรรมฐาน ความไม่สวยไม่งามน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย น้อมไปสู่ความเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือเป็นองค์ประชุมของธาตุ ๔ ด้วย

ความตั้งใจก็ดีเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิก็จะเกิดนิมิตภายนอกขึ้นมา เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาดูนิมิตภายนอกกาย นิมิตภายนอกกายจะย้อนกลับเข้ามาภายใน หมายถึงจิตนั้นน้อมเข้ามาภายในกาย ในขณะที่จิตรู้อยู่ภายในตัวนั้น จิตจะมีลักษณะตั้งอยู่ระหว่างกลางของกาย แล้วจิตจะไปรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกาย เมื่อจิตมองดูสิ่งที่รู้เห็นอยู่ภายในกายนั้น จิตจะพิจารณากายต่อไปจนกระทั่งจิตละเอียดลงไปจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจะมีลักษณะคล้ายๆ กับถอนตัวออกจากร่างกายแล้วจิตจะมาลอยเด่นอยู่ แล้วจิตจะย้อนกลับไปมองดูกายเดิม

ในเมื่อจิตย้อนกลับไปมองดูกายเดิม จิตก็มองเห็นกายในลักษณะที่นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม แล้วกายนั้นจะแสดงอาการขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายไป ในที่สุดก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็หลุดออกไปเป็นชิ้นๆ และแตกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ในที่สุดกระดูกก็หลุดละเอียดลงไปและหายไปในที่สุด

อันนี้เป็นนิมิตซึ่งเกิดขึ้นในจิตโดยปราศจากสัญญาใดๆ ที่น้อมนึก นิมิตอันนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต ในขณะที่จิตมองเห็นนั้น จิตยังไม่บอกว่าเป็นอะไรเรียกว่าอะไร คือเมื่อกายที่จิตมองเห็นนั้นมีอาการต่างๆ ผิดแปลก เช่นขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพังลงไปดังที่ได้บรรยายมานั้น อันนี้จิตอยู่ในขั้นปฏิภาคนิมิต เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตในขั้นสมถะ

เมื่อจิตมองดูนิมิตนั้นนิมิตนั้นอาจจะหายไป เมื่อนิมิตนั้นหายไป ก็ยังเหลือแต่สภาวะจิต ผู้รู้ นิ่ง สดใส สว่างชั่วขณะหนึ่ง ก็จะเกิดภูมิรู้ขึ้นภายในจิต คือมีแต่เกิดขึ้น ดับไป อยู่ภายในจิต จิตของผู้ปฏิบัติก็จะจดจ้องมองดูจิตที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากเจตนาสัญญาใดๆ ทั้งนั้น

สิ่งที่มองเห็นนั้นเรียกว่าอะไรเรียกไม่ถูก ไม่มีความหมายในสมมติบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักกัปวัตนสูตร สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นี้หมายถึงอะไร จะเรียกชื่อตามสมมติบัญญัติไม่ถูก พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันนี้เป็นความรู้ของจิตที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรมขั้นสูง ถ้าหากว่าจิตมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปแล้วก็ถอนออกมาจากสภาวะรู้อย่างนั้นจิตของผู้ปฏิบัติดีในขั้นนี้ก็เรียกว่าจิตอยู่ในขั้นสมถะกรรมฐาน

แต่ถ้าหากสิ่งที่จิตมองดูนั้นเกิดอนิจสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งที่รู้เห็นนั้นเป็นของไม่เที่ยงแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็จะวิ่งเข้าสู่ภูมิวิปัสสนา

ในขณะที่จิตรู้อย่างนั้น ไม่มีอะไรปรากฏ คือมีแต่จิตผู้รู้นิ่งเด่นอยู่ และสิ่งที่ผู้รู้ก็ปรากฏอยู่ คือจิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต และมีสติตามรู้จิตคือสิ่งรู้อันนั้น อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติอยู่ในภูมิจิตภูมิธรรมขั้นสูง และอีกอย่างหนึ่งในลักษณะเช่นนี้ไปตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า ในกาลใดก็ดีเมื่อธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร ในกาลนั้นความสงสัยย่อมสิ้นไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : สำหรับนิมิตนี้ถ้าเป็นถึงอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิต ทำให้สามารถที่จะเห็นได้จากการที่เราดู หมายความว่าภาพที่เห็นนิมิตอีกอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับฝันมีความจริงเพียงใด กายหยาบหรือนิมิตในฝัน ตัวเองมีนิมิตว่าอย่างนั้นแล้วไปถามว่าแปลว่าอะไร บางทีก็มีความจริงหรือบางทีก็ไปถามพระอาจารย์ อธิบายว่ามีนิมิตว่ากระไรบ้าง และท่านก็บอกว่านิมิตอย่างนั้นๆ ที่แปลนิมิต เรื่องนิมิตนี้มีความจริงอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : นิมิตนี้บางครั้งก็มีความจริง บางครั้งก็ไม่มีความจริง เหมือนๆ กับความฝัน คือนิมิตหรือการฝันในขั้นนี้เป็นเรื่องพื้นๆ โดยทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : แต่เรื่องนิมิตนี้เคยนำไปถามท่านผู้ทรงศีลหรือพวกหมอดู เคยไปถามท่าน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ได้ไปถามหลวงปู่ขาวว่าจะเป็นอย่างไรกับเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านมีนิมิตหรือเปล่า หลวงปู่ท่านก็บอกว่ามีนิมิต เห็นแปลกก็ตีความหมายว่าไม่มีอะไรมาก แต่ท่านก็ตีความว่าไม่ค่อยจะดี อย่างนี้นิมิตของผู้ทรงศีลจะเป็นความหมายได้อย่างไร และอีกอย่างหนึ่งถ้าท่านแปลมาจะมีวิธีการอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : นิมิตของผู้ทรงศีลก็อาศัยความมีศีล และอาศัยความคิดที่เกิดขึ้นของความรู้ เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา โดยพิจารณาในนิมิตสมาธิภาวนา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นจริง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : คำว่าอุคคหนิมิตมีความหมายมาจากคำว่า การทำจิตใจให้มีสติ ไม่ให้หลงในความสวยความงามในทางตรงใช่ไหม

หลวงพ่อพุธ : ความมีสติ ความไม่หลงติดในความสวยความงาม เป็นผลเกิดจากการพิจารณาทำอุคคหนิมิตให้เกิดขึ้นได้แล้ว แต่อุคคหนิมิตหมายถึงสิ่งที่มองเห็นติดตา เกิดจากการเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งจนเกิดสมาธิแน่วแน่ มองเห็นเป็นนิมิต ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็นเรียกว่าอุคคหนิมิต

อีกอย่างหนึ่งเมื่อโยคาวจรมาพิจารณาอาการ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมไปสู่ความเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด สกปรก โสโครก จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสว มีปิติสุข เอกัคคตาเป็นหนึ่งแน่วแน่ แล้วเกิดนิมิตมองเห็นอาการใดอาการหนึ่งในอาการ ๓๒ เช่น กระดูกเป็นต้น หรือเกิดนิมิตมองเห็นสิ่งปฏิกูลภายในร่างกายก็ดี หลับตาก็มองเห็น ลืมตาก็มองเห็นติดตา เรียกว่าอุคคหนิมิต มีผลเพื่อบรรเทาราคะให้เบาบางลง หรือขจัดราคะให้หมดไปตามกำลังแห่งสมาธิและสติปัญญา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : การพิจารณาความไม่สวยไม่งามนี้ มันเป็นสมมติบัญญัติ ไม่มีความหมาย หรือแล้วแต่จะคิดไปใช่หรือไม่

หลวงพ่อพุธ : แล้วแต่จะคิด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนที่จะเกิดความจริงขึ้นมา ต้องอาศัยความเป็นจริงที่ปรุงแต่งขึ้นมา เพื่ออบรมจิตของตัวเองให้มีความคล้อยตาม และเกิดความเชื่อถือว่าเป็นอย่างนั้น

ถ้าหากจะพิจารณาในปัจจุบันนี้ ให้พิจารณาน้อมไปถึงอดีต หากร่างกายนี้แตกสลายไปแล้ว ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี หนังก็ดี ฟันก็ดี ล้วนแต่แตกสลายไป ให้น้อมไปพิจารณาเพื่อให้จิตเกิดความรู้ความจริงเห็นจริง แม้จะไม่เกิดความเห็นอย่างนี้ แม้จิตจะไม่น้อมเข้าไปสู่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องดังกล่าวก็ตาม


๏ ผลของการทำบุญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : การทำบุญ ผลบุญที่ได้อยู่ที่ไหน จะได้อยู่ที่จิตของเรา หรือจะได้อยู่ที่เราจะได้ผลบุญ คนเราส่วนมากเวลาทำบุญคิดว่าจะได้ผลบุญอย่างนี้

แต่บางทีก็ฟังดูว่า ถ้าทำบุญทำทานหรือทำอะไรมันก็ได้กุศล ผลมันก็ได้อยู่ที่ใจ เลยทำให้ผลอยู่ที่จิตใจของเราและก็เป็นการขัดเกลาจิตใจของเรา

หลวงพ่อพุธ : การทำบุญ โดยความมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตของผู้กระทำนั้น ให้เป็นผู้มีเมตตาอารีอารอบแก่บุคคลอื่น และการทำบุญนั้นเพื่อกำจัดกิเลส เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เกิดมีวิชชากว้างขวาง อารีอารอบรู้จักเอื้อเฟื้อแก่มนุษย์และสัตว์

แต่สำหรับอุบายโดยตรง เพื่อเป็นการจูงใจผู้ที่จะหลงผิดได้ทำบุญ เพื่อผลบุญจะติดตัวไปหลังจากตายแล้ว จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง อันนี้ก็เป็นอุบายเท่านั้น

รูปภาพ

๏ ความหมายของกรรมฐาน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : คำว่ากรรมฐานมีความหมายอย่างไร ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วยเจ้าค่ะ

หลวงพ่อพุธ : กรรมฐาน ตามความหมายของคำศัพท์ หมายความว่า เป็นที่ตั้งแห่งการงาน ความหมายในทางธรรมะ หมายถึง การทำงานทางจิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตโดยตรง เรียกว่า กรรมฐาน

อารมณ์ของกรรมฐาน พุทโธ เป็น พุทธานุสติ เป็นที่พึ่งของการงานในทางจิตใจ ธัมโม ธรรมะ ก็เป็นที่ตั้งการงานของจิตอย่างหนึ่ง สังโฆ พระอริยสงฆ์ ก็เป็นที่ตั้งการงานทางจิต อย่างหนึ่ง

อานาปานสติ การกำหนดรู้ลมหายใจ หายใจเข้าออกก็ให้รู้ว่าสั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด สบายหรือไม่สบาย เป็นที่ตั้งของกรรมฐานอย่างหนึ่ง

คำว่า กรรมฐาน จึงหมายถึง ที่ตั้งการงานในทางจิต

พูดถึงหลักกรรมฐานตามแนวทางปฏิบัติ เฉพาะอารมณ์ของสมถกรรมฐานมีถึง ๔๐ อย่าง ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ มีอนุสติ ๑๐ อสุภ ๑๐ ธาตุกรรมฐาน ๔ และอารมณ์อื่นๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถะ และเป็นที่ตั้งแห่งการงานในทางจิตทั้งนั้น

พูดถึง อนุสติ หมายถึง การระลึกถึง อารมณ์ จิตใจ

ในอนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ คือ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์และรวมทั้งอนุสติ ๘ ข้อข้างต้น อันนี้เป็นกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริกรรมภาวนา การบริกรรมภาวนาสามารถทำจิตให้สงบลงได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ

แต่อนุสติข้อที่ ๙ และ ๑๐ ได้แก่ กายคตาสติและอานาปานสตินั้น กายคตาสติ คือ การพิจารณากายเป็นอารมณ์ อานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ อารมณ์กรรมฐาน ๒ อย่างนี้ สามารถทำจิตของผู้ปฏิบัติให้สงบ และสามารถเดินเข้าไปสู่ความเป็น อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ โดยลำดับ และการกำหนดรู้ลมหายใจก็ดี การพิจารณากายคตาสติก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้จัดเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นแนวทางยังจิตใจให้สงบในขั้นสมถกรรมฐานด้วย และจะเป็นเครื่องหมายให้จิตรู้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย เพราะการพิจารณากายก็ย่อมบ่งถึงการเปลี่ยนแปลงภายในกาย คือ กายปกติ ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ในสภาพปกติ

ผู้ปฏิบัติพิจารณากายคตาสติ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นไปได้ ๒ อย่าง คือ

ประการแรก ให้มองเห็นร่างกายที่พิจารณาอยู่นั้นเป็นของปฏิกูล สกปรก น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพัง ไม่สวย ไม่งาม อันนี้เพื่อกำจัดราคะ ความกำหนัดยินดี เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บวชในพระธรรมวินัยต้องปฏิบัติ ในแง่พิจารณากายคตาสติมุ่งสู่จุดอสุภกรรมฐาน เป็นสิ่งจำเป็นมาก

และอีกแง่หนึ่งนั้น พิจารณากายโดยกำหนดอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่จะน้อมจิตให้รู้ลงไปในแง่เป็นธาตุกรรมฐาน คือ เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนกระทั่งให้จิตสามารถมองเห็นว่า ร่างกายทั้งหมดนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จริงๆ

ในการพิจารณาน้อมใจเชื่อ และพิจารณาย้อนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นว่า ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนกระทั่งจิตสงบลงไปแล้ว สามารถรู้ความจริงปรากฏขึ้นเป็นนิมิต ให้เห็นว่ากายของเราเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แยกเป็นส่วนๆ แล้ว ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ว จิตจะได้ความรู้ขึ้นมาว่า ร่างกายทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประชุมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น เพราะความเป็นสัตว์ เป็นชีวิต เป็นเรา เป็นเขา ไม่มี

ในเมื่อความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นชีวิตไม่มี ภายในจิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า กายของเรานี้จะเป็นเราเขาเพียงแค่สมมุติบัญญัติ เมื่อพิจารณาแยกออกมาจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นเขาเป็นเรา หรือเป็นสัตว์บุคคล เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนที่แท้จริง

อันนี้คือจุดมุ่งหมายของการพิจารณากายคตาสติ

และพร้อมๆ กันนั้น แม้ว่าการพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี การพิจารณากายเป็นอสุภกรรมฐาน เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด ไม่สวย ไม่งาม เป็นของโสโครกก็ดี การพิจารณากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนเห็นชัดลงไปก็ดี ถ้าหากว่าจิตรู้แต่เพียงแค่การเป็นไปอย่างนี้ แม้ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็เป็นเพียงขั้น สมถกรรมฐาน เท่านั้น

แต่ถ้าหากว่าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติตนไปสู่ อนัตตสัญญา คือ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน วิปัสสนาญาณ ก็บังเกิดขึ้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน


๏ ทำดีได้ดี

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : คนที่เรียกตนเองว่าเป็นคริสต์ แต่ตัวเองเป็นพุทธ ดิฉันไม่เข้าใจ อย่างเพื่อนของดิฉันก็เหมือนกัน สงสัยเรื่องกรรม พระท่านว่าให้ทำดี เราทำดี แต่ไม่เห็นได้ดี คนอื่นเขาไม่เห็นได้ทำดี แต่กลับได้ดีและร่ำรวยมีอำนาจวาสนา ส่วนเราทำดีนี่จะไม่ได้ดี

ขอคำอธิบายว่า ทำดีได้ดีนี้ หมายถึงความดีที่ยั่งยืน มิได้หมายถึงดีสำหรับกายเนื้อเฉพาะตอนนี้เท่านั้น หรือในชาตินี้ดีเอาตัวรอดหรือเป็นผู้ประเสริฐ ทำดีแล้วจะเอาตัวรอดได้ ปลอดภัยได้ หมายความว่าสักวันหนึ่งคงจะได้ความดีใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ : ใช่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า คนทำความชั่วเมื่อผลแห่งความชั่วยังไม่ปรากฏแล้ว เขาก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความชั่ว บางครั้งคนทำดี แต่ผลแห่งความดีนั้นยังไม่ปรากฏ เขาก็ยังไม่รู้ว่าความดีที่เขาทำนั้นเป็นความดี

ส่วนมากความรู้สึกของคนเราโดยทั่วๆ ไป เขาก็มักจะพูดกันว่า บางคนทำแต่บาปแต่กรรม ทำไมเขาจึงร่ำรวยมียศถาบรรดาศักดิ์ เขามักจะพูดกันอย่างนั้น แต่เรานี้ทำดีแล้วไม่ได้ดี อันนี้ก็มีคนเขาถามบ่อยๆ และก็ได้แก้ให้เขาไปว่า

คนที่คุณกระทำความดีกับเขา เพราะเขาไม่มีดีจะให้คุณ คุณจึงไม่ได้ดี เพราะคุณมุ่งไปเอาดีกับคนซึ่งไม่มีความดี คุณไม่มุ่งเอาความดีกับตนเอง ถ้าคุณทำดีกับตนเอง คุณย่อมจะได้ดี เช่น คุณปฏิบัติราชการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความดี ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต งดเว้นแต่สิ่งซึ่งมันผิดวินัยในหน้าที่ราชการ แม้ผู้บังคับบัญชาไม่เห็นความดีของคุณ คุณก็ได้ทำความดีในหน้าที่ของคุณอย่างพร้อมมูลแล้ว และผลความดีของคุณย่อมปรากฏแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ ผู้ที่พึ่งอำนาจความดีของคุณ

ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเป็นครูสอนนักเรียน ผลความดีที่คุณทำอย่างตรงไปตรงมา ความดีก็ได้แก่นักเรียนคือลูกศิษย์ของคุณนั่นเอง นักเรียนคือลูกศิษย์ของคุณ ได้วิชาความรู้ ได้สอบ สอบผ่านไป ความภาคภูมิใจที่คุณได้ทำให้ลูกศิษย์ได้รับผลสำเร็จ นั่นแหละคือความดีที่ไม่มีใครจะลบล้างได้

เพราะฉะนั้น หากเราไปทำความดีแล้วไม่หวังเอาความดีจากผู้อื่น ถ้าผู้นั้นเขามีความดีของเขา ก็จะให้ความดีแก่เรา แต่ถ้าเขาไม่มีความดีพอ เขาก็ไม่ให้ความดีแก่เรา เราก็ผิดหวัง

เพราะในสังคมมนุษย์ คนดีประเภทหนึ่งเขาถือความมั่งมี ความร่ำรวย ถือยศถาบรรดาศักดิ์เป็นความดี และคนอีกประเภทหนึ่ง เขาถือความดีที่เขากระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นความดีที่ตนสร้าง คนประเภทนี้ถึงแม้ว่าใครจะให้ดีก็ตามไม่ให้ดีก็ตาม แต่เขาก็ภูมิใจในการที่เขาได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่บริสุทธิ์สะอาดแล้ว


:b8: :b8: :b8: คัดลอกมาจาก...หนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

เจ้าของ:  ปิยาภา [ 08 ก.ค. 2009, 15:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

:b8: :b8: :b8: ไม่มีใครในโลกที่เสมอเหมือนในหลวงของเราอีกแล้ว :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  herb [ 18 พ.ย. 2009, 15:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

อนุโมทนาครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก

เจ้าของ:  daoduan [ 02 ก.ย. 2015, 09:13 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

สาธุๆๆค่ะ :b8: :b27:

เจ้าของ:  อุบาสกน้อย [ 18 ก.ค. 2017, 08:45 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

Kiss Kiss Kiss

เจ้าของ:  sirinpho [ 30 ส.ค. 2018, 08:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

Kiss
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Duangtip [ 20 เม.ย. 2019, 07:56 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอบปัญหาธรรมเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

:b39: :b44: น้อมกราบพระอริยสงฆ์ องค์หลวงพ่อเจ้าค่ะ
ขอน้อมรำลึกถึงยอดมงกุฎแห่งแผ่นดินพระองค์นี้ด้วยเจ้าค่ะ

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/