วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 14:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=25



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2012, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รัชกาลที่ ๗
พระมหากษัตริย์นักปกครองของไทย


“สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” ทรงเป็น กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา แล้วเลื่อนเป็น กรมหลวง เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพียง ๑๕ วัน ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระประชวรมาเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระราชอนุชาที่จะสืบราชสมบัติก็ได้เสด็จล่วงไปหมดสิ้น ยังแต่พระอนุชาองค์น้อยนี้ ที่มีสิทธิในราชบัลลังก์ยิ่งกว่าพระราชวงศ์ทั้งปวง

จึงทรงระบุพระนามไว้ในพระราชหัตถ์เลขานิติกรรมว่า ถ้าพระองค์ไม่มีพระราชโอรส ก็ขอให้ราชสมบัติตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว ราชบัลลังก์แห่งพระราชจักรีวงศ์จึงได้ตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ โดยที่พระองค์มิได้ทรงคาดหมายมาก่อน แม้ว่าพระองค์จะปฏิเสธที่จะเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ในรัชสมัยของพระองค์ นับแต่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ครอบงำไปทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้พยายามแก้ไขโดยตัดงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้รายจ่ายได้ดุลยภาพกับรายได้ของประเทศ และพระองค์เองก็ทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ โดยทรงตัดงบประมาณการใช้จ่ายในพระราชสำนัก จากปีละ ๙ ล้านบาท เหลือเพียง ๖ ล้านบาท

สำหรับการปกครองประเทศสยามในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงจัดระเบียบการบริหารงานบุคคลของชาติด้วยการตรา “พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๑” ขึ้นบังคับใช้ โดยตามกฎหมายฉบับนี้จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” คอยทำหน้าที่ดูแลการบรรจุแต่งตั้ง การเคลื่อนย้าย การให้ความดีความชอบ รวมทั้ง การควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยของข้าราชการ โดยทรงโปรดให้มีการสอบแข่งขันบุคคลเข้าบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่ใครประสงค์จะเข้ารับราชการ ก็ไปฝากเนื้อฝากตัวกับหัวหน้าส่วนราชการนั้น ซึ่งหัวหน้าส่วนท่านนั้นจะรับหรือไม่ก็ได้

นอกจากนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ออก “พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุขแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑” โดยมีขอบเขตครอบคลุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภค และการเงิน เช่น กิจการไฟฟ้า การประปา รถราง รถไฟ การเดินอากาศ การชลประทาน การขุดคลอง การออมสิน และการประกันภัย เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นรากฐานของระเบียบที่ใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขการปกครองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยหลังจากเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วทรงโปรดให้สถาปนาคณะอภิรัฐมนตรีขึ้น เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน แทนที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยแต่พระองค์เดียว ทรงฟื้นฟูการประชุมเสนาบดีให้มีความสำคัญ และทรงแนะนำให้รู้จักการทำงานเป็นคณะและรับผิดชอบร่วมกัน อีกทั้งยังทรงแต่งตั้งสภากรรมการองคมนตรี เพื่อเป็นที่ปรึกษาข้อราชการและฝึกหัดการประชุมรัฐสภา

สำหรับเรื่องของการปูพื้นฐานในการปกครองตนเองของประชาชนนั้น ได้ทรงโปรดให้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น แต่กฎหมายดังกล่าวได้ร่างเสร็จเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้รู้ทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพื่อเตรียมพระราชทานให้แก่ประชาชน ในโอกาสฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ ๑๕๐ ปี แต่ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ทรงทูลคัดค้านว่ายังไม่สมควรแก่เวลา จึงเป็นอันต้องรอคอยการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีบุคคลคณะหนึ่งชื่อว่า “คณะราษฎร์” ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงยินยอมโดยดี เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนชาวไทยอยู่แล้ว ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้แก่ประชาชน เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้เสด็จไปรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ โดยพระองค์ได้มีข้อข้องพระราชหฤทัยกับรัฐบาลคณะปฏิวัติในขณะนั้นหลายประการ โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลคณะปฏิวัติในสมัยนั้นได้ปฏิบัติการในการปกครองประเทศที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ และเมื่อไม่มีทางตกลงกันได้ พระองค์จึงทรงประกาศสละพระราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รวมเวลาครองราชย์สมบัติได้ ๑๐ ปี

และหลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ทรงใช้ชีวิตส่วนพระองค์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งได้ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รวมพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา
ซึ่งแม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่ประชาชนชาวไทยก็ยังน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อยู่ตลอดเวลา ที่พระองค์ทรงเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย

เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเชิญชวนข้าราชการ ส่วนราชการ องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป วางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา


เรียบเรียงโดย สุวรรณา มารีนี
สำนักประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

http://www.parliament.go.th

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร