วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 02:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2020, 20:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.พ. 2019, 18:59
โพสต์: 25

โฮมเพจ: https://www.facebook.com/proyrak/
แนวปฏิบัติ: ศึกษาธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักใช้กรรม แก้กรรม พัฒนากรรม เกิดสันติสุข
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ ฟังเพลง
สิ่งที่ชื่นชอบ: ท่องเที่ยว
ชื่อเล่น: พรหมสิทธิ์
อายุ: 38

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นมุจจลินท์ หรือต้นควงไม้จิก เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นมหาโพธิ์ ห่างไป ๑.๗ กิโลเมตร

ในพุทธประวัติกล่าวว่า ครั้งนั้นได้เกิดพายุฝนตกลงมาตลอดทั้ง ๗ วัน ๗ คืน พญานาคนามว่า “มุจจลินท์” จึงขึ้นจากบาดาลมาขนดล้อมรอบพระวรกายพระพุทธเจ้า ถึง ๗ รอบ  และแผ่พังพานใหญ่เพื่อปกป้องพระองค์จากพายุฝนและสัตว์ร้าย

ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต แล้วพระพุทธเจ้าทรงเปล่งคำอุทานว่า

"ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมได้สดับแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นจริงอย่างไร, ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก, ความนำอัสมิมานะ คือถือว่าตัวตนให้หมดได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง."

พระพุทธเจ้าพิจารณาความสงัด แม้กระทั่งว่าฝนตก ก็ถือว่ามีความสงัดอยู่ เพราะฝนตกจะมาเกี่ยวข้องหรือครอบงำจิตใจของพระพุทธเจ้าให้ละความเพียรไม่ได้ ความสงัดไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียง แต่เสียงนั้นเข้าไปเกี่ยวจิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้ นี่แหละ "ความสงัด"

ยกตัวอย่างเช่น เราไปอยู่ท่ามกลางผับ เสียงเพลงดังมากเลย แต่จิตของเราสงัดได้ ข้างนอกเกี่ยวเราไม่ได้ นี่แหละความสงัด ถ้าเราแปลความสงัดผิด เราก็หลงทาง ต้องไปแสวงหาที่อยู่ป่าช้า หรือที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องฝึกสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกี่ยวใจเรา เมื่อสิ่งแวดล้อมเกี่ยวใจเราไม่ได้ ฉะนั้น เราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ก็เกิดความสงัด

จนกระทั่งเมื่ออากาศปลอดโปร่งดีแล้ว พญานาคมุจจลินท์จึงคลายขนดนาคออก แล้วจำแลงตนแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาถวายอัญชลีกราบพระพุทธเจ้า

ในเหตุการณ์เช่นนี้ คำว่าพญานาคมุจจลินท์มานั่งปรกพระพุทธเจ้าตลอดทั้ง ๗ วัน เป็นปริศนาธรรมก็คือ จิตของพระพุทธเจ้ามาปรกพระพุทธเจ้า เพราะจิตของพระพุทธเจ้าเห็นว่าสิ่งนี้ดี จิตของพระพุทธเจ้าจึงทำดีต่อไป

ซึ่งขณะนั้นฝนตกตลอดเลย และจิตของพระพุทธเจ้ารู้ว่าฝนนี้ดี ตกมาแล้วเราชื่นช่ำ ฝนตกก็เหมือนไม่ตก

ฉะนั้น จิตของพระพุทธเจ้ามีเป็นปรกขึ้นมา ฉะนั้น พระพุทธเจ้านั่งเสวยสุขอยู่ตรงนั้น แม้ฝนจะตกตลอด ๗ วันก็ยังไม่เป็นไร นี่แหละ จิตของพระพุทธเจ้ามาปรกคุ้มครองพระพุทธเจ้า

จิตของพระพุทธเจ้าย่อมสูงกว่าสิ่งต่างๆ ย่อมเข้าใจกว่า แต่พระพุทธเจ้าย่อมเอื้อโอกาสให้ได้แสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม

จิตของพระพุทธเจ้า ก็คือ "ปัญญาญาณ" แห่งพุทธองค์มาปรกพระพุทธเจ้า แต่รูปที่แสดงให้คนเห็นนั้น พระพุทธเจ้าเอื้อให้เป็นลักษณะรูปของพญานาค

หรือจะพูดง่ายๆ ว่า แม้แต่สัตว์ยังรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ ตนต้องมาทำหน้าที่นั้น ความหมายปริศนาธรรมเป็นเช่นนั้น

สิ่งที่มาปรกพระพุทธเจ้าก็คือ "บารมี อภิปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า"

พระพุทธเจ้าจึงไม่มีจิตที่จะเบื่อหน่าย คลายจากการเสวยวิมุตติสุข ณ ตรงนั้น เพราะพระพุทธเจ้ากำลังเสวยวิมุตติสุขกับสิ่งที่ตนเองตรัสรู้ธรรมนั้น ดื่มด่ำกับธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น การดื่มด่ำก็เปรียบเสมือนกับฝน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่สำเนียกตรงนี้พระพุทธเจ้าก็ต้องลุกจากที่นั่งสมาธิ ณ ตรงนั้น ก็ต้องวุ่นวายใจ แม้ว่าฝนตกพระพุทธเจ้าก็ยังมีปิติสุข ณ ตรงนั้น

เหมือนกับบางท่าน ฝนรั่ว ก็นั่งนอนดูเม็ดฝนที่ตกจากหลังคาได้ จิตใจไม่กระวนกระวาย

ความหมาย "ปรก"

คำว่า "ปรก" นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า
"ปรก ๑ (๑) [ปฺรก] น. ซุ้มเล็ก ๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส.
(๒) [ปฺรก] ก. ปก, ปิด, คลุม, เช่น พระนาคปรก ผมปรกหน้า.
ปรก ๒ [ปฺรก] น. เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก เช่น ในพิธีพุทธาภิเษก ว่า คณะปรก."

และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

"ปก-ปรก"

ปก แปลว่า ปิดหรือคลุมทั้งหมด หรือ แผ่ออกคลุมเบื้องบน เช่นในคำกล่าวว่า เสือพีเพราะป่าปก. หรือในคำปริศนามีว่า อะไรเอ่ยต้นเท่าครกใบปกดิน ซึ่งคำเฉลยคือ กอตะไคร้.

ส่วนคำว่า ปรก แปลว่า คลุมอยู่ข้างบน เช่น พระนาคปรก คือพระพุทธรูปปางที่ประทับบนขนดหางพญานาค และมีพญานาคแผ่พังพานคลุมอยู่ข้างบนเพื่อปกป้องภยันตรายถวายพระพุทธเจ้า. คนที่ไว้ผมยาวลงมาปิดหน้าผากก็มักจะเรียกว่า ไว้ผมปรกหน้า.

ปก กับ ปรก มีความหมายว่าคลุมอยู่ข้างบน. แต่ ปก ใช้กับการปิดหรือคลุมทั้งหมด. ส่วน ปรก ใช้กับการคลุมเพียงบางส่วนเท่านั้น"

นฤมล บุญแต่ง (๓ เมษายน ๒๕๕๖) ในสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยังอธิบายอีกว่า "ปก ปรก และปลก" กล่าวคือ

หลายคนอาจเคยสะกดคำบางคำไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตนเองคิดว่าไม่ยาก วันนี้จึงขอเสนอคำกลุ่มหนึ่งที่หลายคนเห็นว่าไม่ยากแต่มักสะกดผิด คือกลุ่มคำว่า ปก ปรก และปลก

ขอเริ่มที่คำว่า ปก ก่อน คำว่า ปก นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า หมายถึง แผ่ออกคลุมเบื้องบน อย่างคำว่า ปกดิน เราก็ต้องใช้ ปก ที่สะกดว่า ป ปลา-ก ไก่ อย่างใบไม้หรือต้นไม้ที่มีใบปกดิน ก็ใช้ ปก คำนี้ แล้ว ปก ยังมีความหมายอีกความหมายหนึ่งว่า กระดาษหรือผ้าหรือหนังเป็นต้นที่หุ้มอยู่ภายนอกสมุดหรือหนังสือที่บางคนเรียกว่า ใบปก และ ปก ยังหมายถึง แผ่นผ้าที่ติดกับคอเสื้อพับตลบลงมาหรือแบะออกทั้ง ๒ ข้าง ก็ได้ ในภาษาไทยยังมีคำหลายคำที่มีคำว่า ปก นำหน้า เช่น ปกกระพอง จะหมายถึง เครื่องปกส่วนที่นูนเป็นปุ่ม ๒ ข้างหัวช้าง ปกเกศ หมายถึง ปกเกล้า หรือ คุ้มครอง ปกครอง หมายถึง ดูแล ก็ได้ คุ้มครอง ก็ได้ ระวังรักษา ก็ได้ และยังหมายถึง บริหาร ก็ได้อีกด้วย ส่วนคำว่า ปกปักรักษา หมายถึง ดูแลรักษา
ส่วนคำว่า ปรก ที่สะกดเช่นนี้ มีความหมาย ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ซุ้มเล็ก ๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส (อ่าน ปะริวาด) และยังมีความหมายที่ ๒ ที่เป็นคำกริยา หมายถึง ปก ก็ได้ หมายถึง ปิด ก็ได้ แล้วก็หมายถึง คลุม ก็ได้ เราใช้ ปรก ที่สะกดอย่างนี้ในคำหลายคำ เช่น พระนาคปรก ผมปรกหน้า แต่ถ้าได้ยินคำว่า คณะปรก คำ ปรก จะเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก เช่น ในพิธีพุทธาภิเษก
สุดท้ายคือคำว่า ปลก ที่สะกดว่า ป ปลา-ล ลิง-ก ไก่ คำนี้ไม่ได้อ่านว่า ปฺลก แต่อ่านว่า ปะหฺลก มีความหมายว่า อาการที่ยกมือไหว้ถี่ผงก ๆ และเราใช้แก่กริยาไหว้ คือ ไหว้ปลก ๆ แต่ถ้าเป็นคำว่า กะปลกกะเปลี้ย ที่หมายถึง อ่อนเพลีย หรือไม่แข็งแรง จะอ่านว่า กะปฺลกกะเปฺลี้ย.
อ.เปลื้อง ณ นคร อธิบายคำว่า "ปรก" แปลว่า น. ซุ้มเล็กๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส, เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสกว่า คณะปรก. ก. ปก, ปิด, คลุม, เช่น พระนาคปรก.
พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ NECTEC's Lexitron Dictionary กล่าวว่า "ปรก" [v.] cover [syn.] ปก,ปิด,คลุม ตัวอย่างประโยคนักร้องชายชื่อดังไว้ผมยาวปรกไหล่"
สรุปแล้ว "ปรก" ก็คือ
ความหมายทางรูป ก็คือ ยกตัวอย่าง มีคนไปนั่งแล้วมีแสงรัศมีเปล่งออกมารอบกาย หรือตรงศีรษะ ที่มาปรกหรือคลุมเรา หรือปกป้องคุ้มครองเรา
ความหมายทางนาม ก็คือ ปัญญาญาณ ณ ตอนนั้นเกิดขึ้นมาให้เราได้มีความคิดที่จะแก้ไขเรื่องต่างๆ ไม่เกิดความประมาท ไม่เกิดสิ่งที่เป็นสิ่งที่จะมาทำร้ายเราได้ แสดงว่าเรามิดชิด รอบครอบ ครอบคลุม สิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความประมาท นี่แหละเรียกว่า ปรก
คำว่า "ปรก" นี้ ในความหมายก็ตรงกับธรรมิกเถรคาถามาใน พระไตรปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต รุกขธรรมชาดก ว่า
"ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี" แปลว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ฉะนั้น ประโยชน์หรืออานิสงส์จึงเกิดขึ้นแก่ผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติคือ
"ผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมปรกปักรักษาผู้ปฏิบัติธรรม"
คำว่า "ปัก" ในที่นี้ หมายถึง ยึดมั่นถือมั่นที่จะดูแลรักษา

ตอบคำถามที่ยังคาใจ ๔ ข้อ
๑. พระพุทธเจ้าหมดกิเลสสิ้นแล้ว ด้วยสภาพ ด้วยฌาน ของท่านเอง พระพุทธเจ้าทรงไม่ได้ทุกข์กับฝน หรือ ลมหนาวแต่อย่างใด?
พระพุทธเจ้าเข้าฌาน แล้วพระพุทธเจ้าต้องออกจากฌานไหมล่ะ? ก็ต้องออกจากฌาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่ฤาษีว่า จะปฏิบัติได้ฌานแกร่งกล้าแค่ไหน ระดับสูงสุด เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ต้องออกจากฌานอยู่ดี แล้วเราก็ต้องทุกข์อีก
พระพุทธเจ้าจึงประกาศออกมาว่า การได้ฌานแก้ทุกข์ไม่ได้ ถ้าหากฌานแก้ทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าคงอยู่ปฏิบัติฌานกับท่านอาจารย์อาฬารดาบส กาลามโคตร (ได้สำเร็จสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓) และอุทกดาบส รามบุตร (ได้อรูปฌาน ๔ ครบเป็นสมาบัติ ๘) แต่ได้แล้วก็ยังทุกข์อีก
พระพุทธเจ้าจึงประกาศใหม่ว่า จะต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถึงจะแก้ทุกข์ได้
พระพุทธเจ้าประกาศอย่างเป็นทางการว่า "ฌาน" แก้ทุกข์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าเมื่อเข้าฌานแล้วจึงถอยออกมา จึงมาคิดค้นใหม่ว่า โอ้....สุดท้ายต้องถอยมาอยู่ขั้นที่ ๓ แล้วมาเจริญวิปัสสนา
วิปัสสนาจึงจะรู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร? แก้เหตุทุกข์ได้ ผลนั้นจึงเปลี่ยน

๒. นาคมุจจลินท์ อาศัยในสระน้ำบริเวณนั้น เห็นพระพุทธเจ้าเกิดศรัทธา มีกุศลจิต จึงมาขนดกายพันรอบองค์พระพุทธเจ้า นี้เป็นเรื่องการทำบุญ ทำกุศลด้วยจิตของนาคมุจจลินท์เอง และประโยชน์ก็ได้แก่ตัวท่านมุจจลินท์เอง?
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงคิดเช่นนั้น เพื่อเอื้อให้โอกาสแก่นาคให้แสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ให้โอกาสนาคมุจลินท์ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาขนดพันรอบกายพระพุทธเจ้าได้

๓. การเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า เป็นการระลึกถึงคุณของสถานที่ คุณของต้นโพธ์ คุณของพระธรรม เป็นการพิจารณาพระธรรม ไม่ได้เป็นการชื่นชม หรือดื่มด่ำกับความสุขแบบที่ชาวโลกเฉลิมฉลองกันอย่างนั้น
การคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดแล้ว แสดงว่าจิตพระพุทธเจ้าก็จะถูกเหนี่ยว ถูกสภาวะแวดล้อมเหนี่ยว
สิ่งการณ์ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ท่านจะมาทบทวนว่า ธรรมแต่ละข้อสิ่งใดในการณ์ข้างหน้าที่จะดำเนินต่อไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเสวยวิมุตติสุขทั้ง ๗ สัปดาห์นี้ พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านวางแผน ที่จะเจริญ ที่จะแสดง ที่จะไปสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์ ประกาศพระศาสนา
การเสวยวิมุตติสุขก็คือการเตรียมตัว ทบทวนวิชาการต่างๆ ว่าจะทำยังไงในแต่ละขั้นตอน ขั้นที่ ๑ จะทำยังไง ขั้นที่ ๒ จะทำยังไง จะทำอะไรอย่างไรบ้าง
เราอย่าไปดูถูกพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าไปติดอยู่กับความสุข ณ ตรงนั้น เราไปแปลคำว่าเสวยวิมุตติสุขไม่ถูก ถ้าเราไปแปลอย่างนั้นก็จะหมายความว่าพระพุทธเจ้ายึดติดกับความสุข ณ ตรงนี้ หรือจะมาสำนึกบุญคุณตรงนี้ มันคนละเรื่องกันเลย เพราะว่าพระพุทธเจ้ามีปิติสุขแต่พระองค์ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในปิติสุขนี้แล้ว
ถ้าพระพุทธเจ้ายังติดสุขแล้วจะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร?
แรกๆ พระพุทธเจ้าจะคำนึงว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นมันยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้
ขั้นต่อมา พระพรหมมาอาราธนาพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยแล้วว่าจะสั่งสอนทั้ง ๓ โลก คือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกบาดาล (นรก) พระองค์จึงต้องวางแผน
การเสวยวิมุตติสุขนี้ก็คือ พระพุทธเจ้าท่านต้องวางแผนว่าในเมื่อเรามีปณิธานว่า จะสอนสัตว์โลกทั้ง ๓ โลก คือ โลกมนุษย์ โลกสวรรค์และโลกนรก ต้องวางแผนทำยังไง ถ้าไม่มีการวางแผนก็ทำไม่ถูกต้อง ทำแล้วติดๆ ขัดๆ
การเสวยวิมุตติสุข นั่นก็คือ "วิมุตติ" แปลว่า การหลุดพ้น นั่นก็คือ ให้เวไนยสัตว์หลุดพ้นจากความทุกข์แล้วมาเกิดความสุข ไม่ใช่ว่าให้พระพุทธเจ้ามีความสุข อย่างนี้ไม่ใช่ เพราะว่าพระพุทธเจ้ามีความสุขเพียงพอแล้ว แต่เอื้อให้สัตว์โลกทั้ง ๓ โลก ได้มีความสุข เพื่อที่จะเอื้อให้สัตว์โลกได้มีวิชาอะไรไปให้เขาหลุดจากความทุกข์แล้วมีความสุข วิชาที่ว่านี้ก็คือ อริยสัจ ๔ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ประกาศว่าต้องมีเมตตา กรุณา แต่พระองค์ประกาศอริยสัจ ๔ ก่อน กล่าวคือ เราต้องรู้จักเหตุก่อน แล้วเราเมตตาถึงจะเมตตาถูก ถ้าไม่ทำเช่นนี้เราไปเจริญเมตตา เป็นเมตตาไม่รู้เรื่อง เป็นเมตตาปลอมเยอะแยะ
บางคนทั่วไปยังเข้าใจผิดว่า อริยสัจ ๔ ไปแก้ทุกข์ อย่างนี้ไม่ใช่นะ คือ อริยสัจ ๔ เป็นข้อกรรมฐานแห่งจิตว่า เราทำอะไรเราจะต้องตั้งฐานจิตให้ถูกต้อง
เราจะต้องตั้งอริยสัจ ให้ถูกต้องก่อน ถ้าเราตั้งอริยสัจไม่ถูกต้อง แม้ว่าเราจะมีเมตตายังไงก็จะกลายเป็นเมตตาดำ
เป็นการประกาศหลักการ หลักการเป็นเช่นนี้ เราต้องเอาอะไรมาเป็นฐานจิตให้ถูกต้อง ถ้าเราฐานจิตไม่ถูกต้อง เราย่อมปฏิบัติเพี้ยน
"อริยสัจ ๔ คือ มาหาหลักการที่ถูกต้องในการปฏิบัติ เจริญธรรม"
อันนี้คือหัวใจใหญ่ ใหญ่กว่าการแก้ทุกข์ เพราะว่าเราเข้าใจตรงนี้ ตรงนี้สามารถไปแก้ทุกข์ได้ คือ นำเอาหลักการตรงนี้ไปแก้ทุกข์
สมมติว่า หลักการตรงนี้ได้โอสถทิพย์แล้ว เราก็นำไปแก้โรคอะไรก็ได้
พอเราได้หลักการที่ถูกต้อง ทำอะไรก็เป็นทิพย์ เป็นมงคล ทำอะไรดีหมด จะแก้ทุกข์ไม่ได้ยังไง?
อริยสัจ ๔ ก็คือ การเข้าไปค้นหาหลักที่ถูกต้องในธรรม แล้วนำมาเจริญตั้งเป็นปณิธานของเราที่จะไปกระทำ แก้ไขปัญหาต่างๆ
ยกตัวอย่าง เราหุงเข้าทำไมถึงไม่สุก พอข้าวสุกแต่ทำไมมันเละ เราก็ต้องมาใช้หลักธรรมอริยสัจ ๔ ไปค้นหาดูว่าหลักการในธรรม หรือในธรรมชาติสิ่งนั้นเป็นเช่นใด เพราะเหตุใดจึงทำให้ไม่สุกหรือสุกแล้วสุกเกินจนเปียกแฉะ เมื่อเราได้หลักการแล้ว หาสาเหตุพบเจอแล้ว เราก็นำหลักการนั้นไปแก้ไขทุกข์ปัญหานั้น
นี่เป็นหลักปรมัตถ์ นี่แหละ เป็นหลักการขั้นสูง ขั้นฐานจิต พอเรามีหลักการเช่นนี้ เราไปทำอะไรก็มีหลักเราก็จะสบายทุกอย่าง ถ้าเราไม่มีหลักเราก็เป๋ไปเป๋มา ไหวไปไหวมา

๔. "ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดมาก การเอาความรู้สึก หรือปัญญาแบบปุถุชนไปนึกคิดเอง ก็ดูจะเป็นความคิดที่หยาบไป การจะเอาพระธรรมไปสอนคน คนสอนก็ต้องมีความรู้มากพอที่จะสอนเขา เอาการคิดเอง หรือนิทานเรื่องเล่า ผิดบ้างถูกบ้าง ไปสอนเขา คนเรียนก็ต้องเรียนแบบผิดๆ แล้วก็จำไปแบบผิดๆ.........มีโทษนะท่าน"
ธรรมะเป็นสิ่งปกติในธรรม ที่ทุกคนสัมผัสอยู่ตลอดเวลา แต่คุณได้ศึกษาแล้วหรือยัง?คำว่า "ศึกษา" คือ หาอริยสัจ ถ้าคุณไม่มีหลัก คุณไม่เข้าใจ คุณปฏิบัติยังไงก็ผิดอยู่ดี
เพราะถ้าเราเป็นพระอรหันต์แล้วเราจะมาคิดค้นหาแนวทางทำไม ก็เพราะเราเป็นปุถุชนจึงต้องมาคิดค้นแนวทาง เพื่อปฏิบัติตามแนวทางนั้นไปสู่ความเป็นพระอรหันต์
เป็นพระอรหันต์แล้วต้องมาเรียนอริยสัจ ๔ ทำไม อย่างนี้ก็เป็นบ้าแล้ว เราเป็นปุถุชน นี่แหละต้องมาร่ำเรียน ศึกษาเพื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำไปปฏิบัติเข้าสู่พระอรหันต์
เป็นพระอรหันต์ยังไม่รู้ว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ด้วยอะไร? เป็นพระอรหันต์เพราะอะไร เป็นพระอรหันต์ทำไม อย่างนี้บ้าแล้ว ก็จบแล้ว
ตรงนี้ให้เข้าใจด้วยว่า ธรรมะเป็นเรื่องปกติทุกวันที่เราจะต้องเจอ แต่คุณจิตไม่ปราณีต ไม่ได้เรียนรู้ว่าคืออะไร จึงขาดอริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ เป็นหลัก แต่ถ้าเราไม่มีหลัก เราทำก็เป๋ง่าย ผิดทางได้ง่าย แต่ถ้ามีหลักก็จะถูกทาง พอเราถูทางก็จะปฏิบัติได้บรรลุถึง ฉะนั้นอริยสัจ สำคัญมาก
เพราะเราสำคัญผิดมากว่า อริยสัจต่ำ เช่น ถูกตีแล้วมีทุกข์ แล้วเราไปหาความทุกข์ อย่างนี้ไม่ใช่เลย ต้องสูงกว่านี้ คือมีหลักการว่า ทุกข์ตัวนั้นทำไมถึงทุกข์ เหตุใดล่ะถึงถูกตี ไม่ใช่ไปดูว่าถูกตีแล้วจึงต้องมาคิด คนละเรื่อง ต้องมาคิดว่าทำไมเราถึงต้องไปถูกเขาตี? ตัวถูกตีนี่มาจากไหน? นี่แหละ สูงกว่าไหม? นี่แหละเป็นหลักการ
รายการอ้างอิง
เปลื้อง ณ นคร "ปรก" ในพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย สืบค้นเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖. จาก https://dictionary.sanook.com/search/di ... /%E0%B8%9B %E0%B8%A3%E0%B8%81
นฤมล บุญแต่ง. ๒๕๕๖. ปก ปรก และปลก. สืบค้นเมื่อ ๑๖ พฤศิกายน ๒๕๖๑. จาก(http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%9B%E0%B8%81- %E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0% B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B9%93-%E0%B9%8 0%E0%B8%A1%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99- %E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95)
พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ NECTEC's Lexitron Dictionary. "ปรก" สืบค้นเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖. จาก https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-en- exitron/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%81
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา "ปรก" ใน พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๖. http://www.royin.go.th/dictionary/index.php
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ๒๕๕๑. " ปก-ปรก" บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

.....................................................
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2020, 09:52 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร