ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

พระพุทธมารวิชัย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47889
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 10 มิ.ย. 2014, 18:30 ]
หัวข้อกระทู้:  พระพุทธมารวิชัย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

รูปภาพ

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

:b45: :b46: :b45:

พระพุทธมารวิชัย
พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)


“วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่
ซึ่งราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดโพธารามที่แน่ชัด
แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑
ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี
ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้


ปัจจุบันภายใน พระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
มีขนาดหน้าตัก ๓ ศอกคืบ นามว่า “พระพุทธมารวิชัย” หรือนามทางการว่า
“พระพุทธมารวิชัย อภัยปรปักษ อัครพฤกษโพธิภิรมย อภิสมพุทธบพิตร”
พระพุทธมารวิชัยองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณ และปรากฏในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ว่า
“เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยนาก เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาอินทร์เมืองสวรรคโลก
ชำรุดหาพระกรมิได้”
กล่าวไว้เพียงเท่านี้ และไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
ใครเป็นผู้สร้าง ในข้อนี้สันนิษฐานจาก ตำนานของเมืองสวรรคโลก เป็นลำดับดังนี้

เมืองสวรรคโลกเป็นเมืองโบราณ ตั้งแต่พวกล่ะว้ายังเป็นใหญ่ เดิมเรียกชื่อว่า “เมืองชะเลียง”
และตัวเมืองชะเลียงตามที่สันนิษฐานกันในชั้นหลังนี้ว่า ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดมหาธาตุ
ซึ่งราษฎรเรียกว่าวัดน้อย ครั้นต่อมาพวกขอมได้แผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงได้ปกครองเมืองชะเลียง
ครั้นถึงประมาณในราว พ.ศ. ๑๗๐๐ พวกไทยได้ลงมาตั้งเป็นอิศรมีอำนาจอยู่ที่เมืองเชียงแสน
ฝ่ายขอมเกรงว่าไทยจะแผ่อำนาจลงมาข้างใต้ จึงพร้อมกันยกบาธรรมราชขึ้นเป็นหัวหน้า
ให้จัดการบ้านเมือง เมื่อไทยแผ่อำนาจลงมาจริงพวกขอมก็สู้ไทยไม่ได้
ไทยจึงได้เมืองชะเลียงตั้งเป็นที่มั่นก่อน ครั้นต่อมาไทยจึงได้สร้างเมืองขึ้นใหม่
อีกเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตก เมืองชะเลียงนั้นสร้างให้เป็นเมืองมีป้อมปราการมั่นคง
เรียกชื่อว่า “เมืองศรีสชนาไลย” เป็นราชธานีของไทยขึ้นในแดนสยามเป็นปฐม
ไทยจึงตั้งหน้าทำสงครามกับพวกของเมืองสุโขทัยต่อมา
จนถึงราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ไทยจึงได้เมืองสุโขทัยจากพวกขอม
พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ซึ่งเรียกกันว่า “พระร่วง” จึงได้มาเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองสุโขทัย
นับเป็นรัชชกาลที่ ๑ ในราชวงศ์พระร่วง ส่วนเมืองศรีสัชนาไลยนั้นยังคงเป็นราชธานี
คู่กันกับเมืองสุโขทัยตลอดมา จนถึงรัชชกาลที่ ๓
และต่อมาเมื่อพระเจ้าเลือไทยเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองสุโขทัย เป็นรัชชกาลที่ ๔ นั้น
จึงให้พระเจ้าลิไทยพระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชไปครองเมืองศรีสัชนาไลย
ดังปรากฏในศิลาจารึกครั้งรัชชกาลพระเจ้าลิไทยนั้นว่า
“เมื่อครั้งมหาศักราช ๑๒๖๙ (พ.ศ. ๑๙๐๐) ศกกุน
พระมหาธรรมราชาลิไทยเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาไลย”
ดังนี้

ส่วนพระพุทธมารวิชัยฯ พระองค์นี้ซึ่งปรากฏว่าหล่อด้วยนากทั้งพระองค์
จึงเห็นว่าเกินกำลังที่ราษฎรพลเมืองจะสร้างได้ นอกจากเจ้านายผู้ครองนครเท่านั้น
เพราะฉะนั้นจึงน่าจะสันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปซึ่งพระเจ้าลิไทยได้สร้างขึ้น
ในสมัยเมื่อยังเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาไลยนั้น
ทั้งได้ปรากฏว่า พระเจ้าลิไทย นั้นทรงพระศรัทธากล้าหาญและรอบรู้แตกฉาน
ในพระไตรปิฎกอย่างยอดเยี่ยมในสมัยนั้น และเมื่อได้เสวยราชย์ครองกรุงสุโขทัยแล้ว
ยังทรงสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และพระศรีอาริย์เป็นต้น
และยังได้ทรงบำเพ็ญกุศลอื่นๆ อีกเป็นอันมาก จนได้พระนามปรากฏว่า “พระเจ้าธรรมราชา”
ครั้นต่อมากรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงจนถึงเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา
เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ ส่วนเมืองศรีสัชนาไลยซึ่งเคยเป็นราชธานีมีเจ้านายปกครองมาแต่เดิมนั้น
คงเป็นแต่เมืองมีเจ้าเมืองปกครองเท่านั้น ถึงเช่นนั้นก็ยังถือว่าเมืองศรีสัชนาไลย
เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง เพราะเป็นเมืองหน้าด่านต่อแดนประเทศลานนาเชียงใหม่
ซึ่งยังเป็นอิศรอยู่ในสมัยนั้นแต่ที่เรียกชื่อว่าเมืองสวรรคโลกนั้น
จะได้บัญญัติในยุคใดหาทราบไม่ และชื่อนี้แรกปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร
เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ว่า “ทรงตั้งนักพระสุทันบุตรพระเจ้ากรุงกัมพูชา
ซึ่งเป็นพระราชบุตรบุญธรรมขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก”
ดังนี้

เมืองสวรรคโลกนั้นนับตั้งแต่เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาแล้วมา
ยังต้องระส่ำระสายหลายครั้งหลายหนดังนี้ คือ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระยายุทธิศฐรเจ้าเมืองเอาใจออกห่างไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชเจ้านครเชียงใหม่
ได้นำกองทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๔
จนถึงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก
และการสงครามระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับพระเจ้าติโลกราชนั้น
ได้ติดพันกันมาช้านานจนถึง พ.ศ. ๒๐๑๘ พระเจ้าติโลกราชจึงได้ขอเป็นไมตรี
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คราวพระเจ้าหงษาวดียกกองทัพ
มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ ก็เดินกองทัพมาทางเมืองสวรรคโลก
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น
พระยาสวรรคโลกเข้าใจว่า สมเด็จพระนเรศวรจะสู้พระเจ้าหงษาวดีไม่ได้
จึงตั้งแขงเมืองอยู่ สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเสด็จไปตีเมืองสวรรคโลก
และเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทำสงครามกับพระเจ้าหงษาวดีต่อมาในครั้งนั้น
ทรงเห็นว่ากำลังไทยในหัวเมืองฝ่ายเหนือไม่พอที่จะตั้งต่อสู้ฆ่าศึกได้
จึงให้กวาดผู้คนในหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาตั้งต่อสู้ฆ่าศึกที่พระนครศรีอยุธยาแห่งเดียว
เมืองสวรรคโลกจึงเป็นเมืองร้างอยู่ถึง ๘ ปี จนสมเด็จพระนเรศวรมีชัยชนะ
สงครามชนช้างกับพระมหาอุปราชแล้ว จึงได้กลับตั้งเมืองสวรรคโลกขึ้นอีก
แต่นั้นมาเมืองสวรรคโลกยังคงนับว่าเป็นเมืองโท มิได้เป็นเมืองสำคัญดุจกาลก่อน
มาถึงครั้งที่พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลังนั้น
เนเมียวสีหบดีแม่ทัพทางเหนือยกลงมาทางเมืองสวรรคโลก
เมืองสวรรคโลกก็ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ฆ่าศึกได้
เจ้าเมืองกรมการอพยพผู้คนพลเมืองหนีเข้าป่าไปหมด

ต่อมาเมื่อครั้งกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีมีชัยชนะพระฝาง
ได้หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นอาณาเขตหมดแล้ว จึงตั้งเมืองสวรรคโลกขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓
และในปีนั้นเองโปมะยุง่วนให้กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกลงมาตีเมืองสวรรคโลก
แต่ครั้งนี้กองทัพเมืองเชียงใหม่ตีเมืองสวรรคโลกไม่ได้
ครั้งอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘
เจ้าเมืองกรมการเมืองสวรรคโลกก็ต้องอพยพผู้คนพลเมืองหนีเข้าป่าไปอีก
ครั้งถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรฯ เมื่อไทยมีชัยชนะแก่พม่าแล้ว
พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ ให้ตั้งเมืองสวรรคโลกขึ้นอีก
แต่บ้านเมืองถูกฆ่าศึกศัตรูย่ำยีมาหลายครั้งหลายหน จนผู้คนพลเมืองร่อยหลอ
ไม่พอที่จะรักษาตัวเมืองได้ จึงโปรดฯ ให้ตั้งที่ว่าการเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลบ้านวังไม้ขอน
เรียกชื่อว่า “เมืองสวรรคโลก” จนบัดนี้ ก็เมื่อบ้านเมืองต้องระส่ำระสายหลายครั้งหลายหน
ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นฉะนี้ ส่วนเจดีย์สถานต่างๆ ในทางพระศาสนานั้นไม่ต้องสงสัยว่า
จะต้องชำรุดทรุดโทรมลงสักเพียงใด เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ นั้นได้โปรดฯ ให้เชิญพระพุทธมารวิชัยฯ
ลงมาจากวัดเขาอินทร์เมืองสวรรคโลกครั้งนั้น จึงปรากฏว่าชำรุดจนถึงกับหาพระกรมิได้
และเมื่อทรงปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้ว จึงทรงบรรจุพระบรมธาตุ
แล้วเชิญประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหน้า
ถวายพระนามว่า “พระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์”

ครั้งถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนามใหม่ว่า
“พระพุทธมารวิชัย อภัยปรปักษ อัครพฤกษโพธิภิรมย อภิสมพุทธบพิตร” ดังนี้
และโปรดฯ ให้จารึกพระนามลงในแผ่นศิลาประดับฐานไว้ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้


:b8: คัดลอกเนื้อหาบางตอนมาจาก ::
วัดประจำรัชกาลที่ ๑ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/