วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 14:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2013, 22:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ก.ค. 2013, 22:27
โพสต์: 76

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วัดอุโมงค์ และสวนพุทธธรรม จ.เชียงใหม่
รูปภาพ

วัดดอุโมงค์ และสวนพุทธธรรม สองชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกสถานที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของพุทธนิคม

เชียงใหม่แห่งเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกัน

วัดอุโมงค์ (อุโมงค์เถรจันทร์) เป็นชื่อเรียกวัดเก่าที่ "พระเจ้ากือนาธรรมิกราช" ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย

วัดอุโมงค์นี้หมายเอาเฉพาะบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีกำแพงอิฐปรากฏอยู่ทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกจากขอบสระใหญ่ ด้านเหนือตรงไปทางทิศเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันจรดกำแพงอิฐพอดี ยาวประมาณ 100 วา ด้านเหนือจากแนวกำแพงเหนือโรงพิมพ์ปัจจุบันทางทิศตะวันตก จนถึงขอบสระหลังวัดอุโมงค์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านตะวันตกจากขอบ สระแนวกำแพงด้านเหนือ ถึงขอบสระใหญ่ใต้พระเจดีย์ ยาวประมาณ 100 วา, ด้านใต้จากขอบสระหลังพระเจดีย์ตรงไปทางตะวันตกออกจรดกำแพงทิศตะวันออกหน้าพระอุโบสถ ยาวประมาณ 100 วา มีพระอุโบสถขนาดย่อมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพระเจดีย์ใหญ่แบบลังกาวงศ์ และอุโมงค์ (ถ้ำ) 1 อุโมงค์ มีทางเข้า 3 ทาง ตั้งอยู่ตลอดแนววัดด้านตะวันตก และมีศาลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากหน้าอุโมงค์ไปประมาณ 1 เส้น คิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 25 ไร่
รูปภาพ

สวนพุทธธรรม เป็นชื่อใหม่ที่ภิกขุปัญญานันทะ ประธานวัดอุโมงค์ ในสมัยนั้น (2492-2509) ตั้งขึ้นเรียกสถานที่ป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ ที่พุทธนิคมเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นที่อยู่ของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้แสวงหาความสงบ พื้นที่ซึ่งเรียกว่า สวนพุทธธรรมนี้กว้างมาก รวมเอาวัดไผ่11กอ (เวฬุกัฏฐาราม ซึ่งพระเจ้ามังรายมหาราชทรงสร้างไว้ถวายเป็นที่พำนักของพระมหากัสสปะเถระ ชาวลังกา ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น) วัดอุโมงค์เถรจันทร์ และวัดอื่นๆ (ที่อยู่ใกล้วัดอุโมงค์ทั้ง 4 ด้าน) อีก 4 วัดเอาไว้ด้วยทั้งหมด

ประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) มีหลักฐานทางตำนานไม่สู้จะละเอียดนัก ต้องอาศัยหลักการทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่เข้าช่วยจึงได้ความชัดขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สู้จะมั่นใจว่าประวัติที่นำมาเสนอท่านนี้จะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบริเวณที่ถูกเรียกว่า สวนพุทธธรรม นี้มีวัดอยู่หลายวัด สร้างเก่าบ้างใหม่บ้างสับสน ซับซ้อนยิ่งวัดเหล่านี้เป็นวัดกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (นับจากพระเจ้ามังรายเป็นต้นมา) ทรงสร้างสืบๆ ต่อกันมาเป็นระยะเวลาเกือบ 700 ปีด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สันนิษฐานยากขึ้นไปอีก แต่ถึงแม้การศึกษายากเพียงไร หลักฐานที่ค้นได้ และนำมาประกอบการเขียนเรื่องนี้ ทำให้มั่นใจว่าจะทำให้ท่านเข้าใจประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

รูปภาพ

ก่อนการศึกษาประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ความทราบธรรมเนียบการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณไว้ด้วยว่า เมื่อทรงสร้างพระราชวัง และเมืองหลวงเสร็จแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับสองก็คือ วัดสำคัญประจำเมืองทั้งสี่ทิศ หรือสองทิศ (เหนือ, ใต้) และวัดพิเศษภายในราชวัง สำหรับเป็นที่สักการบูชาของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อีก 1 วัดเสมอ ความจริงเรื่องนี้หาดูได้ตามเมืองหลวงของไทยสมัยโบราณ เช่นเชียงแสน, สุโขทัย, อยุธยา, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช, ฯลฯ และกรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองหลวงปัจจุบันการที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อน ถือว่าการสร้างวัดเป็นสิ่งสำคัญอันดับสองรองจากการสร้างวังนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บรรพบุรุษของพวกเรามั่นคงในศีลธรรมมีน้ำใจสูงมาก เห้นความสำคัญของพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งยึดเอาพุทธศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ต้น จนกลายเป็นความรู้สึกฝังใจว่า ชาติไทยกับพุทธศาสนาแยกจากกันไม่ได้มาจนทุกวันนี้

รูปภาพ

ประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า เมื่อ พระเจ้ามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ตกลงพระทัยที่จะสร้างเมืองใหม่ที่ป่าเลาคา (ต้นเลาคา และต้นหญ้าคา) ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพแล้ว ได้แต่งตั้งราชบุรุษถือพระราชสาส์นไปทูลเชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานทั้งสองคือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาปรึกษาการสร้างเมืองที่ เวียงเหล็ก (ที่ตั้งวัดเชียงมั่นทุกวันนี้) หลังจากที่สามกษัตริย์ได้ตกลงกันว่า ควรสร้างราชธานีใหม่ กว้าง 800 วา ยาว 1000 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกแล้วก็ทำพิธีฝังเสาหลักเมืองใน วันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือนหกใต้) ปีวอก พ.ศ. 1839 ฝังหลักเมืองแล้วใช้พลเมือง 5 หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชเวศน์มณเฑียรสถาน อีก 4 หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และกำแพงเมือง ก่อสร้างอยู่เป็นเวลา 4 เดือนก็แล้วเสร็จหลังจากฉลองเมืองใหม่เป็นการใหญ่ 7 วัน 7 คืนแล้ว กษัตริย์ทั้งสามก็พร้อมใจกันตั้งนามเมืองใหม่ว่า”เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”

หลังจากสร้างราชธานีเรียบร้อยแล้ว พระเจ้ามังรายมหาราชได้ทรงสร้างวัดสำคัญฝ่ายคามวาสี (วัดสำหรับภิกษุที่ชอบอยู่ในเมือง เพื่อเรียนพุทธวจนะ) ประจำเมืองทั้ง 4 ทิศพร้อมทั้งวัดภายในพระราชวังด้วย และทรงสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดสำหรับภิกษุที่เรียนพุทธวัจนะแล้ว ออกไปหาความสงบในป่า บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน) บริเวณชานพระนครขึ้นหลายวัด เช่น วัดเก้าถ้าน เป็นต้น

พระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา และพระภิกษุสามเณร ทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสีด้วยปัจจัยสี่ ให้มีกำลังใจศึกษา และปฏิบัติพระธรรมวินัยตามความสามารถแห่งตนอย่างดียิ่งทั้งสองฝ่าย กาลต่อมาพระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระสหายผู้ครองนครสุโขทัย ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา ที่มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มาสั่งสอนพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายปริยัติ และฝ่ายปฏิบัติแก่ชาวเมืองสุโขทัยปรากฏเกียรติคุณว่า พระสงฆ์ลังกาแตกฉานพระไตรปิฎกเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าพระไทยที่มีอยู่เดิม เกิดศรัทธาเสื่อมใส ประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ขอพระสงฆ์ลังกา จากพระเจ้ารามคำแหงมหาราชมา 5 รูป เมื่อได้พระลังกา 5 รูป อันมีพระมหากัสสปะเถระ เป็นหัวหน้ามาสมพระประสงค์แล้ว เกิดลังเลพระทัยไม่ทราบว่าจะนำพระลังกา 5 รูปนี้ไปอยู่วัดไนดี จะนำไปอยู่กับพระไทยเดิมทั้งฝ่ายคามวาสีก้เกรงว่าพระลังกาจะไม่สบายใจ เพราะระเบียบประเพณีในการประพฤติอาจจะไม่เหมือนกัน

ในที่สุดได้ตกลงพระทัยสร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีเฉพาะพระลังกาขึ้นวัดหนึ่งต่างหากที่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ (สถานที่ซึ่งเรียกว่าวัดอุโมงค์ สวนพระพุทธธรรมทุกวันนี้) การสร้างวัดไผ่ 11 กอครั้งนั้นพระองค์ประสงค์จะสร้างเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาประดิษฐานในลานนาไทยเป็นครั้งแรก จึงขอให้พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้วางแผนผังวัดให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และประเพณีอันดีงามของชาวพุทธจริงๆ เมื่อพระมหากัสสปะเถระวางแผนผังวัดออกเป็นเขตพุทธาวาส (สถานที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น พระเจดีย์ พระอุโบสถ) และสังฆาวาส (สถานที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่น สาลาแสดงธรรม กุฏิพระโรงฉัน) เรียบร้อยแล้วพระเจ้ามังรายมหาราชได้เป้นผู้อำนวยการสร้างวัดใหม่ตามแผนผังนั้น โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ แม้พระเจดีย์ใหญ่อันเป็นหลักชัยของวัด ก็สร้างทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกาทั้งหมด (พระเจดีย์ที่พระเจ้ามังรายสร้างอันเดียวกับพระเจดีย์ใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรมทุกวันนี้ แต่ของเดิมย่อมกว่าที่ใหญ่ขึ้นยังไม่เก่านัก และมองเห็นลวดลายสวยงามชัดเจน เป็นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชรัชกาลที่ 9 แงราชวงศ์มังรายทรงบูรณะขึ้นใหม่ด้วยการพอกปูนทับของเก่า พร้อมกับการสร้างอุโมงค์ให้พระมหาเถรจันทร์อยู่ระหว่าง
พ.ศ. 1910-1930) สร้างวัดเสร็จเรียบร้อย และทำการฉลองแล้ว ทรงขนานนามว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) จากนั้น ก็นิมนต์คณะสงฆ์จากลังกาเข้าอยู่จำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

หลังจากทรงสร้างวัดถวายคณะสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วทรงสนพระทัยในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดให้ความอุปถัมภ์แก่พระสงฆ์ไทย และพระสงฆ์ลังกาด้วยปัจจัยสี่และหมั่นมาฟังธรรมเทศนาจากพระสงฆ์เสมอ การใดที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญแล้ว จะทรงกระทำการนั้นทันที นอกจากจะสนพระทัยพระพุทธศาสนาเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงแนะนำชักชวนพระบรมวงศานานุวงศ์และประชาชนให้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา โดยพากันมาวัดในวันพระเพื่อให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เทศนาจากพระสงฆ์และเจริญภาวนาหาความสงบใจอีกด้วย

วัดที่พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนศรัทธาเลื่อมใส สนใจไปให้ทาน รักษาศีลฟังธรรมเทศนา และเจริญภาวนามากที่สุดในสมัยนั้น คือ วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระลังกาที่มาจำพรรษาอยู่มีความรู้ในธรรมวินัยดี มีความสามารถในการแสดงธรรมมาก มีความประพฤติเรียบร้อย และเคร่งครัดในระเบียบวินัยมากกว่าพระอื่นๆ ความดีงามของพระลังกาในครั้งนั้นเป้นเหตุให้กุลบุตรสมัครเข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณรมากมาย ยิ่งนับวันเกียรติคุณของพระลังกาวงศ์ขจรขจายไปทั่วทิศ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว และตั้งหลักได้มั่นคงในลานนาไทยเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์

หลังจากพระเจ้ามังรายมการาชทรงสวรรคต เพราะถูกฟ้าผ่า ที่สี่แยกเมืองเชียงใหม่ เมือพระชนมายุได้ 80 พรรษา (พ.ศ. 1860) แล้ว กิจการพระศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงทันที เพราะพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรัชทายาทครองเมืองเชียงใหม่สมัยต่อมา เช่น พระเจ้าชัยสงคราม (พ.ศ. 1860-1861) พระเจ้าแสนกู่ (พ.ศ.1865-1871) พระเจ้าคำฟู (พ.ศ.1871-1877) ไปประทับอยู่เมืองเชียงราย และเชียงแสนเสียหมดคงตั้งพระโอรสที่เป็นรัชทายาทครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะมหาอุปราชเท่านั้นประการหนึ่ง และเพราะมัวแต่รบพุ่งพุ่งชิงชัยแย่งราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าพี่ เจ้าน้อง เจ้าลุง เจ้าอา อีกประการหนึ่ง

ครั้นถึงสมัยนั้น พระเจ้าผายู (ประสูติที่เชียงใหม่ เป็นมหาอุปราชแล้วประทับอยู่เชียงใหม่ตลอดเวลา) เป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1877 การพระศาสนาจึงค่อยกลับเจริญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมสัมมาปฏิบัติ ยึดหลักพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ งานศาสนาชิ้นแรกที่ทรงทำคือ โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาอภัยจุฬาเถระ กับพระสงฆ์ 10 รูปจากเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) มาเป็นสังฆราชครองวัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) ซึ่งทรงสร้างขึ้น การที่พระเจ้าผายูต้องแต่งตั้งพระมหาเถระในจังหวัดลำพูนเป็นพระสงฆ์ในลานนาไทยไม่ได้แต่งตั้งพระมหาเถระในเชียงใหม่นัน แสดงว่าพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งสยามวงศ์และลังกาวงศ์ เมื่อ 40 ปีก่อนโน้น เสื่อมลงอย่างน่าใจหาย พระเจ้าผายูทำนุบำรุงประเทศชาติและพระพุทธศาสนาได้ประมาณ 33 ปี ก็สวรรคตในปี พ.ศ. 1910


ที่มา : http://www.chiangmai.go.th/cmweb/temple ... tory2.html

.....................................................
".....มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห....."
".....อัชฌาศัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณาเป็นลักษณะของความเป็นมหาบุรุษ....."


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2013, 07:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนากับบทความนี้ค่ะ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร