วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2013, 21:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ก.ค. 2013, 22:27
โพสต์: 76

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปีชวด (หนู) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุศรีจอมทอง

พระธาตุศรีจอมทอง
รูปภาพ

<= วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร
ความสำคัญ

พระธาตุศรีจอมทอง เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุ ส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณ เมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
รูปภาพ
พระธาตุศรีจอมทอง

คำบูชาพระธาตุศรีจอมทอง (ตั้งนโม 3 จบ)

นะโมพุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลี

โลหะกูเฎ ปะติฎฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ

กิตติมันตัง มะโนหะ รัง อะหัง วันทามิ

อสัพพะทา อัง คะวะเย ปุเรรัมเมิโกวิลา

รัคคะปัพ พะเต สะหิเหมะคูหา คัพเภ

ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทา ..

—————————————————————————————————-

ปีฉลู (วัว) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุลำปางหลวง

รูปภาพ

พระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง

บันไดนาค วัดพระธาตุลำปางหลวง
รูปภาพ
และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง
ประวัติพระธาตุลำปางหลวง ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริก ไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้ง แล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียร ได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมให้คงคู่กับบวรพุทธศาสนาสืบไป ..

พระธาตุลำปางหลวง

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง

ปะติฎฐาสัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ

คุตตา อุตตะราภิทัยยา นะมามิหันตัง

วะระชินะธาตุง ฐะเปติ มะหา ฐาเน

เจติยัง ปูชิตา นะเะเทเวหิ

อะหัง วันทามิ ธาตุโย ..

—————————————————————————————————-

ปีขาล (เสือ) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุช่อแฮ
รูปภาพ
วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้าน คู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง
รูปภาพ
พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้างปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท)เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสนสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง

พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

โกเสยยะ ธะชัคคะ

ปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม

พุทธะ เกสาธาตุ ปะติฎฐิตา

อะหัง วันทามิ สัพพะทา

อะหัง วันทามิ ธาตุโย

อะหัง วันทามิสัพพะโส ..

—————————————————————————————————-

ปีเถาะ (กระต่าย) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุแช่แห้ง
รูปภาพ
วัดพระธาตุแช่แห้ง

วัดพระธาตุแช่แห้ง หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตี๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ตัวพระธาตุตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนาไทย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทองครับ

พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
รูปภาพ
พระธาตุแช่แห้ง จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวยและทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง

ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเก

ปุเร เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง

จิรัง วันทามิหันตัง ชินะธาตุโย

โส ตะถาคะตัง

อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต ..

—————————————————————————————————-

ปีมะโรง (งูใหญ่) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
รูปภาพ
พระอุโบสถ หอไตร วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ฯ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง”

รูปภาพ
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วถึงกันแต่เดิมที่ดินบริเวณวัดนี้เป็น

ภายในหอลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ตลาด เรียกชื่อว่า วัดลีเชียง (ลี หมายถึง ตลาด) จนถึงปี พ.ศ. 1888 พระเจ้าผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิพระราชบิดา ของพระองค์ สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ได้แก่ วิหารลายคำที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม พระอุโบสถ์หอไตรที่มีปูนปั้นรูปเทวดาประดับ และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา

พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยโสปิ

เตโข ยัตถะ จิตโตโส สักกาโร

อุปาโท สะกาละพุทธะสาสะธัง โชตะยันโตวะ

ทีโป สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนยะ

พุทโธติ นะมามิ สิหิงคะพิมพัง

สุวัณณาภิรัมมัง ลังกาชาตัง ..


—————————————————————————————————-

ปีมะเส็ง (งูเล็ก) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา (เจดีย์เจ็ดยอด)
รูปภาพ
เจดีย์เจ็ดยอด วัดโพธารามมหาวิหาร

วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เดิมชื่อวัดเจดีย์เจ็ดยอด หรือ วัดเจ็ดยอด? ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมด
รูปภาพ

เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา

พระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ณ พุทธคยา สำหรับชาวล้านนายังมีความเชื่อว่าต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงเกิดเป็นประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์
พุทธคยา คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ


คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง

อะนิมิสสะกัง ตะติยัง จังกะมะ

เสฏฐัง จะตุตถะกัง ระตะนะฆะรัง

ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง

ฉัฏฐัง ราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจ

จะลินทัง อะหัง วันทามิ ทูระโต

—————————————————————————————————-

ปีมะเมีย (ม้า) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง
รูปภาพ
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง

พระเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า พระธาตุประจำผู้เกิดปีมะเมีย ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศพม่า พระเจดีย์ชเวดากอง มีความสูง ๙๙ เมตร ยอดบนสุดของพระเจดีย์ ประดับด้วยทองคำ ทำเป็นทรงกลม ตกแต่งด้วยอัญมณี ถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่ง “พระนิพพาน” หรือการหลุดพ้นจากการเวียนว่าย ตายเกิด


รูปภาพ
วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก

สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเมีย สามารถเดินทางไปมนัสการพระบรมธาตุเมืองตาก ที่วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก แทนพระธาตุชเวดากองที่ประเทศพม่าได้ เนื่องจากเป็นเจดีย์ที่พระครูพิทักษ์ (ทองอยู่) ได้จำลองแบบมา จากพระธาตุชเวดากองโดยครอบพระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้ ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดนี้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเมืองตาก จนมาถึงดอยมหิยังคะที่ร่มรื่น และทรงมอบพระเกศาธาตุให้พระอรหันต์ พร้อมทั้งรับสั่งว่า หลังจากที่เสด็จปรินิพานแล้วให ้นำพระเกศาธาตุมาบรรจุไว้ที่นี่ พระบรมธาตุเจดีย์เมืองตากจึงเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ ในวันขึ้น ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ( ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี จะมีงานพิธีสมโภชและสักการะพระบรมธาตุ เรียกว่า งานประเพณีขึ้น พระธาตุเดือนเก้า
คำบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ชเวดากอง (ตั้งนโม 3 จบ)

ชัมพูทีเป วะระฐาเน สิงคุตตะเร มะโนรัมเม สัตตะระตะนะ ปะฐะมัง กะกุสันธัง สุวัณณะทัณฑัง ธาตุโย ฐัสสะติ ทุติยัง โกนาคะมะนัง ธัมมะกะระณัง ธาตุโย ฐัสสะติ ตะติยังปิ กัสสะปัง พุทธะจีระรัง ธาตุโย ฐัสสะติ จะตุตถัง โคตะมะ อัฏฐะเกสะ ธาตุโย ฐัสสะติ

—————————————————————————————————-

ปีมะแม (แพะ) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระบรมธาตุดอยสุเทพ
รูปภาพ
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร หรือ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร

ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ
พระบรมธาตุได้ถูกบรรจุไว้ใต้พระธาตุเจดีย์ บนดอยสุเทพ ซึ่งเมื่อมีการบรรจุพระบรมธาตุแล้ว พระบรมธาตุได้แผ่ความเป็น มงคลจากองค์พระบรมธาตุไปจนทั่วทั้งเมือง ดังนั้น พระบรมธาตุจึงถือเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณืของบ้านเมือง ทำ ให้ต้องมีการกราบไหว้บูชาและบูรณะพระธาตุดอยสุเทพมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย
รูปภาพ
พระธาตุดอยสุเทพ ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ การประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์บนเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมีขึ้นราวปี พ.ศ. ๑๙๑๖ สมัยพญากือนา (พ.ศ.๑๘๙๘-๑๙๒๘) ในยุคทองของล้านนา พระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระจาก สุโขทัย มาเชียงใหม่ พระสุมนเถระจึงอัญเชิญพระบรมธาตุที่พบเมืองปางจามาด้วย พระบรมธาตุนี้ได้ทำ ปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์ องค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดบุปผาราม อีกองค์หนึ่งพญากือนาได้อาราธนาสถิต เหนือช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายที่ประดิษฐาน ช้างมงคลเดินขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ แล้วร้องสามครั้ง ทำทักษิณาวรรต สามรอบ และล้ม (ตาย) ลง ภายหลังอัญเชิญ พระบรมธาตุลงมา พญากือนาให้ขุดหลุมประดิษฐาน พระบรมธาตุ และก่อพระเจดีย์สูง ๕ วา ต่อมาปี พ.ศ.๒๐๘๑ สมัยพระเจ้าเกษเกล้าได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงใหญ่สีทองเช่นทุกวันนี้ มีความเชื่อว่าหากบูชาพระธาตุในทิศทั้งสี่แล้วจะทำ ให้มีสติปัญญาดี สมัยก่อนในวันวิสาขบูชามีประเพณีการขึ้น พระธาตุ โดยชาวบ้านจะเดินลัดเลาะป่าขึ้นสู่องค์พระธาตุ

คำไหว้บูชาพระบรมธาตุดอยสุเทพ

นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

ทิศเหนือ

ปัญญะวา อัสสะมิงเยวะ จันทิมา อิวะธาระยัง ปีฏะกัตตะเย สาสะนะนัีช ยานิเกติฯ

ทิศใต้

ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะจีวะรัง ยัง ยัง ชาตัง สังฆะมัชเฌ ปุจฉา สุวาหะฯ

ทิศตะวันออก

โมกขะปะฐะมะวะรัง อะปายะนิวาระณัง อะระหัง สัคคะโสปาณังฯ

ทิศตะวันตก

สุวัณณะเจติยัง เกสาวะระมัตถะุลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะกัง นะระเทเวหิ สัพพะปูชิตัง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ

—————————————————————————————————-

ปีวอก (ลิง) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุพนม
รูปภาพ
วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
พระธาตุพนม เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ประดิษฐานบนเนินที่เรียกว่าภูกำพร้า ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว 52 กิโลเมตร พระธาตุพนมสร้างขึ้นแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์คือ พระยาสุวรรณภิงคารนะ พระยาคำแดง พระยาอินทปัตถะนคร พระยาจุลนีพรหมทัต และพระยานันทเสน เพื่อบรรจุพระอุงรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ลักษณะพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม หรือทรงแจกัน ก่อด้วยอิฐมีลวดลายจำหลักลงไปในแผ่นอิฐ มีซุ้มคั่นด้านละซุ้ม ซ้อมกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาอย่างวิจิตร พระธาตุพนมได้รับการบูรณะเรื่อยมาตามกาลเวลา และในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลง ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
รูปภาพ
คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฎฐิมายะ อุปะริมายะ

ทิสายะ กะปะณะสิริส สะมิง

ปัพพะเต กัสสะเปนะ ฐาปิตัง

พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะ มามิ เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง

ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง

อะหัง วันทามิ สัพพะทา

—————————————————————————————————-

ปีระกา (ไก่) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุหริภุญชัย
รูปภาพ
พระบรมธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำผู้เกิดปีระกา ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน ..
วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
พระบรมธาตุหริภุญชัย มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายัง ชัยภูมิของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง พระยาชมพูนาคราช และพระยากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะผู้หนึ่งนำลูกสมอมาถวาย พระองค์ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ที่นี่ในอนาคตจะเป็น นครหริภุญชัยบุรี เป็นที่ประดิษฐาน พระสุวรรณเจดีย์ ซึ่งบรรจุธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีก เต็มบาตรหนึ่ง ในครั้งนั้นพระญาทั้งสองได้ทูลขอพระเกศาธาตุ นำไปบรรจุในกระบอกไม้รวกและโกศแก้วใหญ่ ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ ต่อมาในสมัยพระยาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ราว พ.ศ.๑๔๒๐) ได้เสด็จลงห้อง พระบังคน แต่มีกาขัดขวางไม่ให้เข้า ภายหลังทรงทราบว่าที่แห่งนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวัง และขุดพระบรมธาตุมาบรรจุโกศทองคำ และสร้างมณฑปปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุหริภุญชัยได้รับ การบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ภายในวัดยังมี พระสุวรรณเจดีย์ เจดีย์ยุคแรกในศิลปะหริภุญชัย เจดีย์เชียงยัน เจดีย์เก่าแก่ทรงปราสาทห้ายอด และ หอระฆัง ที่แขวนกังสดาลใหญ่ เป็นต้น ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำ พระธาตุหริภุญชัย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนี้จะต้องนำมาจากบ่อน้ำบนยอดดอยขะม้อ ที่อยู่นอกเมือง ตามธรรม เนียมปฏิบัติแต่โบราณ


รูปภาพ
พระบรมธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุ ซึ่งแต่เดิมถูกเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้รวก และใส่ไว้ในโกศแก้วอีกชั้นหนึ่ง ต่อมากษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนทุกพระองค์ ก็ได้บูรณะและพัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยเปลี่ยนจากโกศแก้วเป็นโกศทอง และเปลี่ยนเป็นมณฑป จนในที่สุดเป็นเจดีย์และได้ขยายขนาดของเจดีย์ ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูงถึง ๒๕ วาครึ่ง กว้าง ๑๒ วาครึ่

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

สุวัณณะเจติยัง หะริ ภุญชะยัฎฐัง

วะระโมลีธารัง อุรัฎฐิ เสฎฐัง

สะหาอังคุลิฎฐิง

กัจจายะเน นะ ฐิตะปัตตัปปะการัง

สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิธาตุง

—————————————————————————————————-

ปีจอ (สุนัข) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระบรมธาตุเ้จดีย์เกศแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
รูปภาพ
(หรือ พระธาตุอินทร์แขวน หรือพระบรมธาตุเจดีย์วัดเกตุการาม อ.เมือง จ.เชียงใหม่)
พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ที่อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นเจดีย์ที่บรรจุ เครื่องทรงและพระเมาฬีของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งทรงสละทิ้งเมื่อคราวออกผนวช และยังเป็นที่เก็บรักษาพระเขี้ยวแก้ว ของพระพุทธองค์ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพอีกด้วย
พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย รัฐมอญ พม่า

และด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้นนอกจากนมัสการด้วยการบูชารูปแล้วยังสามารถบูชาได้ที่ พระธาตุอินทร์แขวน


รูปภาพ
พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย รัฐมอญ พม่า

พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย ในภาษามอญ หมายความว่า หินรูปหัวฤๅษี พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า บนยอดเขา ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวนคือ มีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลกโดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ พระธาตุอินทร์แขวนนับเป็น1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าต้องไปสักการะ
แต่ถ้าในประเทศไทย เราสามารถบูชา พระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ วัดเกตการาม วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตั้งอยู่เลขที่ 96 บ้านวัดเกต ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็น การสะดวกในการเดินทาง เพื่อกราบไหว้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ชื่อของวัดเสียงเหมือนคำว่า “เกศ” แก้วจุฬามณี ด้วยครับ
รูปภาพ
พระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬา

มะณี สะรีระปัพพะตา ปูชิตา

สัพพะ เทวานัง ตังสิระสา ธาตุ

อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

—————————————————————————————————-

ปีกุน (หมู) พระธาตุประจำปีเกิดนักษัตร คือ พระธาตุดอยตุง
รูปภาพ
พระธาตุดอยตุง สมัยครูบาศรีวิชัย
รูปภาพ
พระบรมธาตุดอยตุง

พระธาตุประจำผู้เกิดปีกุญ (กุน) ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุดอยตุง ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
พระบรมธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บนดอยสูงซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ดังที่พระพุทธเจ้า ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนที่จะสร้างพระเจ้าอชุตราชให้ทำทุง (ตุง) มีความยาว ๑,๐๐๐ วา ปักบนยอดเขาหากทุงปลิวไปถึงที่ใด ก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงพระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย ๕๐ องค์ พญามังรายจึงได้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม บางตำนานว่าที่มาชื่อดอยตุง เนื่องจากพระมหากัสสปะ ได้อธิษฐานตุงยาว ๗,๐๐๐ วาไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ พระบรมธาตุดอยตุงได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ได้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทองค์ปัจจุบันพระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ไทใหญ่ หลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานมนัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน ๓
รูปภาพ
วัดพระมหาชินธาตุเจ้า หรือ วัดพระธาตุดอยตุง

องค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีอยู่ ๒ องค์ โดยมีเรื่องเล่าว่าได้มีการนำพระบรมธาตุมาบรรจุที่ดอยตุงถึง ๓ ครั้ง แต่ละครั้ง ก็จะมีการก่อเจดีย์ขึ้นด้วย แต่มีเพียง ๒ องค์เท่านั้นที่ได้รับการบูรณะและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระเจดีย์ทั้ง ๒ องค์นี้เป็นที่ ประดิษฐานของพระบรมธาตุส่วนไหปลาร้า และพระธาตุย่อย
แต่เดิมดอยตุงมีชื่อว่า “ดอยปู่เจ้า” เมื่อพระพุทธเจ้านิพพาน พระมหากัสสปได้อธิษฐานให้มี “ตุง” หรือธง ๗ สี ยาว ๗ พันวา กว้าง ๕ พันวา มาปักไว้เพื่อบูชาพระบรมธาตุ ด้วยเหตุที่ตุงมีขนาดใหญ่ ผู้คนจึงมองเห็นได้แต่ไกล จึงพากันเรียกดอย แห่งนี้ใหม่ว่า “ดอยตุง”

พระธาตุดอยตุง ถูกกำหนดให้เป็นพระธาตุเจดีย์ของผู้ที่เกิดปีกุญ เนื่องเพราะปู่เจ้าลาวจกและพระยามังราย ต้นวงศ์กษัตริย์ เชียงใหม่ต่างก็ประสูติใน “ปีกุญ“

พระธาตุดอยตุง ปัจจุบันที่บูรณะกลับไปสมัยครูบาศรีวิชัย

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

อิมัสสะมิง ภัททะกัปเป จะตุพุทธา พุชฌิต ตะวา กะกุสันธะโกนาคะมะนะ

กัสสะปะ โคตะ มะราชะเคเห จะระติ

ปิณฑายะ มิถิลายะนะ คะเรสิ จะระติ ปิณฑายะ อะตีตาพุทธาเน อิมัสมิง ฐาเนสีทิ สิริสุภะปะวะรัง

มังคะลัง ตะโมลากะถามุนิราชัง สาทะรัง นมามิหันตัง วะระชินาธาตุง อะหัง

วันทามิ สัพพะทานะตัง วะชิระ

ธาตุโย อะระหัง วันทามิ สัพพะทา


ที่มา : http://www.tlcthai.com/travel/10072

.....................................................
".....มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห....."
".....อัชฌาศัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณาเป็นลักษณะของความเป็นมหาบุรุษ....."


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ส.ค. 2013, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


รู้ไว้ใช่ว่า... ขอโมทนามากๆนะคะคุณหมอกดอย :b8: rolleyes


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร