ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) จ.บึงกาฬ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45844
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 12 ก.ค. 2013, 19:03 ]
หัวข้อกระทู้:  หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) จ.บึงกาฬ

รูปภาพ

:b45: :b46: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อพระใหญ่ หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
พระประธานในอุโบสถ วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้)
บ้านท่าไคร้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ


“หลวงพ่อพระใหญ่” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ศูนย์รวมจิตใจของชาวบึงกาฬ และชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงในฝั่งประเทศลาวที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงแถบนี้ โดยประดิษฐานเป็น พระประธานในอุโบสถ วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 5 ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยล้านช้าง ดั้งเดิมเป็นพระพุทธรูปทองสำริดที่มีความงดงาม แต่ต่อมามีการพอกปูนฉาบไว้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการอำพรางจากเหตุการณ์สงคราม มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร, จากฐานถึงยอดพระเกศสูง 2.10 เมตร, จากพระชานุ (เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร, จากพระศอ (คอ) ถึงยอดพระเกศสูง 1.20 เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 เหยียดลงอย่างมีระเบียบเหมือนพระพุทธรูปทั่วๆ ไป ประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2537 นี้

ปัจจุบันอุโบสถวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระใหญ่” กำลังอยู่ในช่วงการบูรณะ อุโบสถแห่งนี้ให้เฉพาะผู้ชายเข้าได้เท่านั้น ส่วนผู้หญิงให้กราบไหว้บูชาสักการะที่หน้าอุโบสถ

ตามประวัติไม่มีหลักฐานระบุชัดว่า “หลวงพ่อพระใหญ่” สร้างขึ้นในสมัยใด มีเพียงตำนานและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่หลายรุ่น หลายสมัยเล่าสืบต่อกันมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว จนถึงยุคสมัยหลังๆ ว่า แต่ก่อนคนเหล่านี้ส่วนมากได้อพยพครอบครัวมาจากเมืองยศ (บริเวณจังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขง และร่นขึ้นมาทางเขตชัยบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองบึงกาฬ) การตั้งถิ่นฐานอยู่นั้นก็เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย คือที่ใดไม่เหมาะสมในการดำรงชีวิต ต้องประสบกับภัย และมีการระบาดของโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวาตกโรค โรคไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ถูกรบกวนจากสัตว์ร้ายหรือภูตผีปีศาจต่างๆ ก็พากันหลบหนีภัยย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่เหมาะสมต่อไป ชนกลุ่มนี้ก็เหมือนกันต่างย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่เหมาะสม จนกระทั่งถึงบ้านท่าไคร้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นเป็นที่เหมาะสมดีก็ตกลงใจกันตั้งหลักฐานที่ทำมาหากินในบริเวณนี้

จากนั้นต่างก็จับจองพื้นที่ทำมาหากิน แล้วเริ่มขยายอาณาบริเวณไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณที่รกทึบที่สุดเป็นป่าดงดิบ มีไม้นานาพันธุ์ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้สัก ไม้ไผ่ป่า ขี้นอยู่อย่างหนาแน่น และเต็มไปด้วยสัตว์ป่าหลายชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นป่ารกทึบมากชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ จึงได้ร่วมกันในการถากถางเพื่อจะได้มีพื้นที่มากขึ้น หลังจากที่ได้ทำการถากถางอยู่เป็นเวลาหลายวัน ก็พบพุ่มไม้ที่สูงและหนากว่าที่อื่นๆ เมื่อถางป่าดังกล่าวออกก็พบ “หลวงพ่อพระใหญ่” ที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์พันรอบองค์อยู่ จึงได้นำเถาวัลย์ออก แล้วปัดกวาดบริเวณรอบๆ ก็พบว่าพระเกตุมาลาขององค์หลวงพ่อพระใหญ่หัก เพราะถูกช้างป่ากระชากเถาวัลย์ลงมาเพื่อหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และเห็นเป็นรูปร่างของสถานที่บำเพ็ญบุญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่าง

องค์หลวงพ่อพระใหญ่นั้นตั้งแต่ได้ค้นพบมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการเคลื่อนย้ายหรือต่อเติมแต่อย่างใด มีเพียงต่อพระเกตุมาลาที่หักให้คงสภาพเดิม และแท่น 4 เหลี่ยมที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระใหญ่ได้สร้างโอบแท่นเดิม เพื่อให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น และมีผู้ที่มาขอพรจากองค์หลวงพ่อพระใหญ่ เมื่อได้สมความปรารถนาแล้วก็ได้นำสีทองมาทาสมโภชพระพุทธรูป จึงทำให้องค์หลวงพ่อพระใหญ่เหลืองอร่ามเป็นสีทองทั้งองค์

บางความเชื่อก็ว่า “หลวงพ่อพระใหญ่” ท่านลอยน้ำมาติดที่ริมน้ำโขง

รูปภาพ

:b45: ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อพระใหญ่

1. เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ปรากฏว่ามีแสงสว่างจ้ากว่าแสงตะเกียงเจ้าพายุ ลอยมาจากอุโบสถวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) ข้ามไปยังบ้านปากบึง ฝั่งประเทศลาว จากนั้นข้ามกลับมาที่เดิมแล้วดับลงที่อุโบสถ

2. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 ได้รื้อซากอุโบสถเก่าของวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) เพื่อสร้างใหม่ ช่างและคนงานล้วนเป็นคนญวนพากันขุดเพื่อลงรากเสาเข็ม พอขุดลงไปพบพระพุทธรูปองค์เล็กจำนวนมากหลายพันองค์ พวกช่างและคนงานเหล่านั้นเห็นว่าเป็นของเก่าก็พากันเอาไปโดยมิได้บอกใคร หลังจากนำเอาพระพุทธรูปเหล่านั้นไปยังไม่ทันข้ามคืน เกิดเป็นบ้าบ้าง เกิดท้องร่วงอย่างรุนแรงบ้าง เกิดเป็นไข้อย่างฉับพลันบ้าง จนต้องนำเอาพระพุทธรูปกลับคืนมาไว้ที่เดิมในตอนกลางคืน และอาการที่ป่วยต่างๆ ได้หายไปเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

3. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496-2497 เด็กหญิงชาวบ้านท่าไคร้ไปอาศัยอยู่กับญาติที่ชลบุรี ได้ขี่จักรยานไปซื้อของ ถูกรถสิบล้อชนจนจักรยานหักป่นปี้ ส่วนเด็กหญิงคนนั้นตกกระเด็นไปตกฟากถนนอีกฝั่งหนึ่ง ลุกขึ้นได้ปัดฝุ่นแล้วก็เดินได้สบายไม่มีอาการบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่รถสิบล้อคันที่ชนกลับมีไฟลุกใหม้ท่วมเสียหายทั้งคัน ที่หนูน้อยคนนี้รอดตายอย่างปาฏิหาริย์เพราะมีรูปถ่ายของหลวงพ่อพระใหญ่อัดกรอบพลาสติกห้อยคอ

4. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 เด็กสาวบ้านท่าไคร้กับน้องสาวไปธุระที่บ้านดงหมากยาง ขากลับจวนค่ำถูกคนร้ายจี้เอาสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาทไป จึงต้องครึ่งวิ่งครึ่งเดินกลับบ้าน บอกเล่าเหตุการณ์ให้พ่อ-แม่ฟัง แล้วรีบไปบอกหลวงพ่อพระใหญ่ ขอให้ติดตามเอาสร้อยกลับคืนมา เวลาล่วงมา 3 วัน คนในบ้านหลังนั้นแทบจะไม่เชื่อสายตา เพราะสร้อยคอเส้นที่ถูกจี้เอาไปทิ้งอยู่ระเบียงหน้าบ้าน โดยสร้อยคออยู่ในสภาพเดิมทุกประการ

5. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2512-2513 ก่อนสร้างอุโบสถวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) หลังปัจจุบัน ได้มีแสงสว่างออกมาจากต้นโพธิ์ข้างอุโบสถ แล้วข้ามไปบ้านปากบึง ฝั่งประเทศลาวอีก แสงสว่างเช่นนี้จะปรากฏในวันพระ 2-3 เดือนต่อครั้ง และมักจะมีผู้พบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง

6. ร.อ.คำม้าว จันทวงศ์ เป็นคนบ้านปากบึง ฝั่งประเทศลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านท่าไคร้ ก่อนที่จะไปราชการสงครามก็ได้มาบนหลวงพ่อพระใหญ่ไว้ทุกครั้ง ซึ่ง ร.อ.คำม้าว ได้เกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาทุกครั้ง จึงศรัทธาต่อหลวงพ่อพระใหญ่และได้บริจาคเงินจำนวน 2 หมื่นบาทสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน

7. เมื่อปี พ.ศ. 2528 ชาวบ้านประชุมตกลงกันเอาช่างภาพมาถ่ายรูป หลวงพ่อพระใหญ่ เพื่ออัดกรอบพลาสติกให้ญาติโยมผู้ศรัทธาได้บูชาสักการะไว้ประจำตัว ก่อนช่างภาพจะถ่ายรูปได้ตกแต่งขันข้าว ดอกไม้เพื่อสักการะและขอขมาแล้วจึงลงมือ ช่างภาพถ่ายรูปหลวงพ่อพระใหญ่ประมาณ 10 กว่ารูป เมื่อนำเอาไปล้างแล้วไม่มีรูปหลวงพ่อพระใหญ่ติดเลยแม้แต่น้อย ฟิล์มมืดดำ ชัตเตอร์ไม่ลั่น กดก็ไม่ลงเหมือนมีอะไรมาขัดไว้

8. มีผู้ถือเหรียญหลวงพ่อพระใหญ่ จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบอุบัติเหตุ แต่ก็ปลอดภัยทุกคน

ผู้ที่มากราบไหว้องค์หลวงพ่อพระใหญ่ มีความเชื่อว่าจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีตำแหน่งการงานที่ใหญ่ขึ้น มีโชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านที่นี่หลังบนบานสมหวังแล้ว มักนิยมแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟน้อย (บั้งไฟลูกเล็ก) 9 ลูก ยิงข้ามไปยังฝั่งโขง นับเป็นการแก้บนที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอึกแห่งหนึ่ง

:b45: งานประจำปีเพื่อสักการะหลวงพ่อพระใหญ่

ประชาชนในสมัยก่อนได้มาขอพรจากหลวงพ่อพระใหญ่ ให้ช่วยเมตตาปกปักษ์รักษาและป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้หมดไป และก็ได้สมดังความปรารถนา ดังนั้น จึงได้ร่วมกันจัดให้มีการน้อมระลึกถึงพระคุณที่หลวงพ่อพระใหญ่ได้เมตตากรุณาตลอดมา โดยจัดงานสมโภชปีละ 2 ครั้ง ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน คือ

ครั้งที่ 1 ประเพณีบุญเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ มีการถวายปราสาทผึ้ง 2 หลังเพื่อสักการะหลวงพ่อพระใหญ่ด้วย

ครั้งที่ 2 ประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ จัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลวันสงกรานต์หนึ่งสัปดาห์ของทุกปี โดยจะจัดงานให้ตรงกับวันเสาร์-วันอาทิตย์ งานประเพณีนี้ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) และชาวอำเภอเมืองบึงกาฬ มีพุทธบริษัทจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

รูปภาพ

:b45: สิ่งปลูกสร้างภายในวัดโพธาราม

วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ และมีงานเทศกาลประจำทุกปี ซึ่งประชาชน-พุทธบริษัทต่างก็ให้ความสนใจและเคารพนับถือเป็นอย่างมาก วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย มี น.ส.3 มีทะเบียนวัดถูกต้องตามระเบียบของทางคณะสงฆ์ แต่ก็พึ่งจะได้รับการพัฒนามาเมื่อประมาณ 20 ปีกว่า โดยมีสิ่งปลูกสร้างภายในวัดตามศรัทธา ดังนี้

1. อุโบสถ (หลังปัจจุบัน) ซึ่งมีหลวงพ่อพระใหญ่ประดิษฐานเป็นพระประธาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2513 กว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 150,000 บาท สร้าง 5 ปีจึงแล้วเสร็จ

2. ศาลาการเปรียญ 1 หลัง 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ กว้าง 15 เมตร ยาว 18 เมตร สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 350,000 บาท

3. กุฏิ 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ 3 ห้องพร้อมห้องน้ำ สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 200,000 บาท

4. กุฎิชั้นเดียวพื้นสูง 1 เมตร 1 ห้อง สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 800,000 บาท

5. โรงครัวหนึ่งหลังชั้นเดียว 2 ห้อง พื้นคอนกรีต สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 30,000 บาท

6. แท้งค์น้ำฝน แบบ ฝ.33 ของกรมอนามัย 6 แท้งค์

7. บ่อน้ำตื้น 1 บ่อ ลงท่อคอนกรีตเสริมเหล็กประมาณ 6 เมตร

8. กำแพงวัด 3 ด้าน ก่อด้วยอิฐบล็อก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 200,000 บาท

เนื้อที่ของวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) มีทั้งหมดประมาณ 5 ไร่เศษ เป็นพื้นที่ราบ 3 ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม ทางวัดมีโครงการถมที่ดินให้เสมอกัน งานประจำปีของวัดอีกงานหนึ่งที่สำคัญคือ งานบุญมหาชาติ จะจัดให้มีใน 4 เดือนข้างขึ้นของทุกปี นอกจากนี้แล้วในวันพระ 8 ค่ำ และ 14-15 ค่ำ ชาวบ้านท่าไคร้จะพร้อมใจกันลงรวมกันที่วัด เพื่อไหว้พระสวดมนต์ ฟังเทศน์ เวียนเทียน ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ดีงามอีกอย่างหนึ่ง


:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ ::
http://pra-kuang.blogspot.com/2012/09/b ... _2768.html
http://www.ubonpra.com/board/index.php?topic=161.0
http://www.muangthai.com/thaidata/53816 ... B8%AC.html

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/