วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 23:59 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 ธ.ค. 2011, 15:07
โพสต์: 40


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระเจ้าทองทิพย์
พระประธานในอุโบสถ วัดพระเจ้าทองทิพย์
ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย


พระพุทธรูปทองทิพย์ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถ วัดพระเจ้าทองทิพย์ ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย (โทร. ๐๕๓-๗๐๘๒๒๗) วัดพระเจ้าทองทิพย์เดิมเป็นวัดร้าง อยู่ในเขตบ้านป่าหวาย ซึ่งในอดีตเป็นป่าหวายทั้งหมู่บ้าน (ปัจจุบันก็ยังพอมี) เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๐๙๔ พระเจ้าเชียงใหม่ทรงพระนามว่า พระเจ้าเกษมเกล้า ได้ยกพระราชธิดาพระนามว่า พระนางยอดคำ ให้แก่พระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต หรือกษัตริย์ลาว ซึ่งมาทูลขอไปเป็นพระมเหสีพระเจ้าโพธิสาร และพระนางยอดคำได้ครองราชสมบัติร่วมกันเป็นเวลานานหลายปี ก็ยังไม่มีโอรส และพระธิดาเลย ไม่มีผู้ที่จะสืบสันติวงศ์ต่อไป พระเจ้าโพธิสารดำริขึ้นว่า พระพุทธรูปทองทิพย์เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่มาแต่โบราณ ประดิษฐานประจำนครนี้มาช้านาน และกิตติศัพท์ว่าใครไปขอท่าน มักจะประสบความสำเร็จ ในวันหนึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา พระเจ้าโพธิสารและพระนางยอดคำ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร จึงเสด็จไปยังวิหารพระพุทธรูปทองทิพย์ เมื่อบูชาเนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานของพระราชโอรส ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทองทิพย์ ต่อจากนั้นไม่นานพระนางยอดคำก็ทรงตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดก็มีประสูติกาลเป็นพระโอรสสมดังที่พระเจ้าโพธิสารได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้

พระบรมวงศานุวงศ์ และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมตั้งชื่อพระกุมาร และได้ถวายพระนามว่า ไชยเชษฐากุมาร ตราบจนกระทั่งพระไชยเชษฐากุมารเติบโตมีอายุ ๑๕ ปี พระอัยกาหรือพระเจ้าตา ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเชียงใหม่ ได้สวรรคตโดยไม่มีทายาทสืบราชสมบัติต่อไป บรรดาท้าวพระยาอำมาตย์ราชวงศ์ในนครเชียงใหม่ จึงพร้อมในกันมาทูลเชิญ พระไชยเชษฐาไปครองราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ได้ทูลขอต่อพระเจ้าโพธิสาร พระเจ้าโพธิสารก็ทรงอนุญาตให้ไปครองเชียงใหม่ และได้ทรงแนะนำต่อพระไชยเชษฐาว่าการเสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ ให้อาราธนาพระพุทธรูปทองทิพย์ พระพุทธรูปที่เสมือนให้กำเนิดท่านมา เพราะพระเจ้าโพธิสารได้ไปตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากพระพุทธรูปองค์นี้ พระไชยเชษฐาก็เชื่อตามคำแนะนำของพระบิดา อัญเชิญพระพุทธรูปทองทิพย์ไปนครเชียงใหม่ด้วย พระไชยเชษฐาทรงเรือพระที่นั่งมาตามลำน้ำโขงแล้วเข้ามายังแม่น้ำกก ต่อจากนั้นก็แยกเข้ามายังแม่น้ำลาว จนเรือพระที่นั่งมาถึงตรงจุดที่ตั้งวัดพระเจ้าทองทิพย์ในปัจจุบัน เรือพระที่นั่งก็มาติดอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรมากีดขวางอยู่เลย ลูกเรือจะถ่อเรือ จะเข็นเรืออย่างไรเรือก็ไม่ยอมเคลื่อนที่ต่อไป ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นเพราะเทพยดาที่รักษาองค์พระพุทธรูป เห็นว่าที่เชียงใหม่นั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ และปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่เป็นอันมากแล้ว จึงใคร่ให้พระพุทธรูปทองทิพย์ประดิษฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เทพยดาจึงดลบันดาลให้เรือพระที่นั่งติดให้เห็นเป็นที่อัศจรรย์

พระไชยเชษฐาเห็นความพยายามของลูกเรือแล้วว่าเรือไม่ไปแน่ น่าจะมีสาเหตุมาจากพระพุทธรูป จึงโปรดให้นิมนต์พระพุทธรูปทองทิพย์ขึ้นฝั่ง ณ จุดที่ตั้งวัดพระเจ้าทองทิพย์ในปัจจุบัน แล้วสร้างเป็นมณฑปไว้เป็นที่ประดิษฐาน และตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาสเสด็จไปหลวงพระบาง ก็ยังมีโอกาสแวะมานมัสการได้ เพราะอยู่ในเส้นทางที่จะต้องผ่านเมื่อเดินทางจากเชียงใหม่ไปหลวงพระบาง คือมาทางบกก่อนแล้วจึงต่อทางเรือในภายหลัง ต่อมาพระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตตนาคนหุตสวรรคต ทางล้านช้างก็เกิดการจลาจลวุ่นวายเพราะไม่มีผู้สืบราชสมบัติ เสนาบดีกรุงศรีสัตตนาคนหุต จึงกลับมาทูลเชิญพระไชยเชษฐาธิราช กลับไปครองราชสมบัติล้านช้างที่หลวงพระบาง และทางเชียงใหม่เองก็ไม่เรียบร้อยเพราะพระชนมายุของพระไชยเชษฐาก็น้อย และเป็นหลานตาของกษัตริย์องค์ก่อน การจลาจลแข็งข้อของขุนนางมีมาก พระไชยเชษฐาครองเมืองด้วยความลำบากอยู่แล้ว ดังนั้นจึงรับคำเชิญ และก่อนเสด็จไปก็คงไม่แน่ใจว่า จะสามารถครองสองแผ่นดินไว้ในพระราชอำนาจได้ การเสด็จกลับไปล้านช้างในครั้งนี้ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเชียงใหม่ไปด้วยหลายองค์ เช่น "พระแก้วมรกต" พระพุทธสิหิงค์ พระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณี ฯลฯ โดยเฉพาะพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร แก้วมรกตนั้นไปอยู่ลาวเสียสองร้อยกว่าปี จนพนักงานเฝ้าหอพระในนครเวียงจันทน์ที่ไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ดี ไม่รู้ว่าพระแก้วมรกตคือพระพุทธรูปที่นำไปจากเมืองไทย ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ พระไชยเชษฐานำไปหลวงพระบาง และต่อมาพระไชยเชษฐา ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งองค์หนึ่งเมื่อปราบจลาจลวุ่นวายในล้านช้างได้แล้ว ขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลาวหรือศรีสัตตนาคนหุต หรือล้านช้าง เป็นแว่นแคว้นของลาวภาคกลางทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็ได้มาสร้างนครเวียงจันทน์ที่อยู่ห่างออกมาอีกร่วม ๖๐๐ กิโลเมตร อยู่ห่างจากริมโขงฝั่งไทย ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ทางด้านจังหวัดหนองคาย ซึ่งปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทอดข้ามลำน้ำโขงให้ไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก (แต่จริง ๆ แล้วบางทีก็ไม่สะดวกเพราะลาวปิดเอาดื้อ ๆ )

พระพุทธรูปสำคัญที่พระไชยเชษฐานำกลับไป (แต่ไม่กล้าอัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์กลับไป คงไว้ ณ ที่เดิม) แล้วเอาไปไว้ที่หลวงพระบาง และต่อมาก็เอาไปประดิษฐานไว้ที่เวียงจันทน์ เป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปี คือตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๑๑๕ จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราช ได้ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เป็นแม่ทัพไปตีลาว เมื่อตีลาวได้ทั้งประเทศแล้ว ตอนยกทัพกลับมาได้นำพระพุทธรูปสำคัญที่ลาวเอาไปจากไทยกลับมาทั้งหมด และได้นำพระบาง พระพุทธรูปสำคัญยิ่งของลาวกลับมาด้วย เป็นผลให้พระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม วันในวังของแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช ตราบจนกระทั่งได้สร้างวัดพระแก้ว วัดในวังของกรุงรัตนโกสินทร์แล้วเสร็จจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนพระบางนั้น ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มอบพระบางคืนให้แก่กษัตริย์ลาวไปและนำไปประดิษฐานไว้ที่นครหลวงพระบาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของลาว นครหลวงพระบาง ซึ่งเดิมคือวังของเจ้ามหาชีวิต กษัตริย์ลาวซึ่งเป็นลาวภาคกลาง (มีลาวเหนือทางเวียงจันทน์ ลาวใต้ที่จำปาสัก) ผมเคยไปสักการะพระบางที่นครหลวงพระบางมาแล้ว และไม่แน่ใจว่าผมเคยเขียนเล่าให้ฟังหรือเปล่า

พระพุทธรูปทองทิพย์จึงคงประดิษฐานอยู่ในป่าเป็นเวลา ประมาณ ๔๐๐ ปีเศษ ตราบจน พ.ศ.๒๓๖๘ ครูบายาโณ พร้อมด้วยอุบาสก ๓ คน ได้ร่วมกันสร้างวิหารพระพุทธรูปทองทิพย์ และได้แนะนำให้ประชาชนได้ทราบถึงความเป็นมา และความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปทองทิพย์ ประชาชนได้ทราบก็พากันมาสักการบูชาจนเกิดประเพณีงานประจำปีขึ้น

พ.ศ.๒๓๙๗ ท่านครูบายะ ครูบาถา ครูบาพรหม เจ้าหลวงผู้ครองเชียงราย และพระยาไชยวงศ์ ผู้รักษาเมืองหนองขวาง (อำเภอแม่สรวย) ได้ร่วมกันบูรณะวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองทิพย์

ต่อมา พ.ศ.๒๔๒๐ เจ้าดารารัศมี และเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้มาทำการสักการบูชาพระพุทธรูปทองทิพย์ และมาพักแรมอยู่ในป่าแห่งนี้หลายคืน เห็นว่าวิหารนั้นชำรุดมากจึงแนะนำให้ครูบาชัยวุฒิวชิรปัญญา วัดบ้านโป่ง รื้อวิหารเดิมสร้างเสียใหม่ ได้ถวายเงินช่วย ๒๐๐ รูปี จึงได้มีการบูรณะใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ เกิดไฟป่าไหม้ลุกลามเข้ามาจนชิดวิหารพระพุทธรูปทองทิพย์ พระพุทธรูปในวิหารหลายองค์ ถูกความร้อนจากภายนอกถึงขั้นหลอมละลาย แต่พระพุทธรูปทองทิพย์ไม่เป็นไร ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระครูสุนทรสีลสารเจ้าคณะอำเภอแม่สรวย จึงได้บูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ.๒๕๐๖ พระประพันธ์จากจังหวัดนครราชสีมาได้มาพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก

พุทธลักษณะของพระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๘๕ เซนติเมตร ส่วนสูงทั้งฐาน ๑๒๐ เซนติเมตร และประดิษฐานไว้บนที่สูงเหนือพระประธานในอุโบสถ สูงเด่นเป็นสง่าน่าเคารพบูชายิ่ง ส่วนในอุโบสถก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือจิตรกรชาวเหนือยุคใหม่ แต่ก็วาดได้สวยงามทีเดียว เช่นภาพพระพุทธองค์ทรงโปรด โปรดองค์คุลีมาล โปรดนางนันเจ้า โปรดอนาบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ภาพชุดทรงโปรดนี้หากอยากชม โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงแม่สรวย ก็ให้มาที่อุโบสถวัดคลองเกตุที่อดีตเจ้าอาวาสคือ พระเกจิอาจารย์สำคัญ หลวงปู่ บุญตา เมื่อบูรณะอุโบสถวัดคลองเกตุ โดยมีผมเป็นประธานเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ นั้นบูรณะแล้วผมได้ให้ช่างชาวเหนือจากกรมศิลปากร วาดภาพพระพุทธองค์ทรงโปรดเอาไว้น่าจะครบทุกปาง เป็นภาพที่งดงามทีเดียว

วัดที่พระเจ้าทองทิพย์ได้สร้างเหรียญพระเจ้าทองทิพย์เอาไว้รุ่นหนึ่ง และนำเหรียญจำนวนประมาณ ๑,๐๐๐ บรรจุไว้ที่ฐานพระพุทธรูปทองทิพย์ ที่เหลือก็ให้เช่าบูชา โดยตั้งราคาไว้เพียงเหรียญละ ๓๙ บาท ต่อมาเป็นตามศรัทธา ท่านเจ้าอาวาสนำมาแจกผม ผมทราบว่าเหลืออีกประมาณ ๖๐๐ เหรียญ ผมก็เช่าเพิ่มเพื่อนำมาแจกจ่ายกัน เหรียญจำนวน ๖๐๐ เหรียญเศษนี้คงหมดไปในเวลาไม่ช้านี้ ใครอยากมีบุตร อยากประสบความสำเร็จในงานใหญ่ ๆ ลองไปบูชาแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอต่อพระเจ้าทองทิพย์ และหากสำเร็จเช่นมีบุตรสมปรารถนา ก็ขอเป็นประธานสร้างพระเจ้าทองทิพย์เป็นพระบูชา ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ หรือ ๙ นิ้ว ออกให้เช่าบูชากัน จะได้มีผู้นำไปกราบไหว้บูชา ปัจจัยก็ได้บูรณะวัดที่เจริญน้อยเต็มทีอีกต่อไป และนามพระพุทธรูปทองทิพย์ที่ท่านประดิษฐานอยู่ในป่ามากว่า ๔๐๐ ปี จะได้ถึงคราวดังเสียที ผลที่ตามมาคือความเจริญของอำเภอแม่สรวย

การเดินทางไปวัดพระเจ้าทองทิพย์ หากไปจากเชียงใหม่ ไปตามถนนสายผ่านดอยสะเก็ด แม่ขจาน เวียงป่าเป้า จนถึงหลักกิโลเมตร ๑๒๑ ก็เลี้ยวซ้ายตรงคอสะพานไปอีก ๔ กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายเข้าโรงงานเชียงราย ไวน์เนอรี่ เลยพาต่อไปอีก ๘๐๐ เมตร พบป้ายวัดปักอยู่ทางซ้ายให้เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านป่าหวาย ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำลาว เข้าหมู่บ้านป่าหวายวิ่งต่อไปจะถึงวัด รวมระยะทางช่วงนี้ประมาณ ๑ กิโลเมตร

ทีนี้กลับมาชิมอาหารในมื้อเย็น ผมกลับมกินอาหารเย็นที่เชียงใหม่ หากมาจากกรุงเทพ ฯ เข้าถนนไฮเวย์ สายลำพูน-เชียงใหม่ แล้ววิ่งมาจนถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายจะไปสนามบินเชียงใหม่ให้เลี้ยวซ้าย ไปทางจะไปสนามบินเชียงใหม่ ตอนนี้มีสะพานข้ามสี่แยกต่างๆ แยะทีเดียว แต่พอถึงสะพานที่ข้ามสี่แยก ซึ่งจะมองเห็นอาคารโรบินสัน หรือเซ็นทรล แอร์พอร์ต อยู่ตรงหัวมุมทางซ้ายก็ให้ตรงผ่านสี่แยกไป อย่าขึ้นสะพาน พอผ่านสี่แยกไปแล้ว ผ่านโรบินสัน ก็จะพบร้าน "สวนผัก" อยู่ทางซ้ายมือตรงข้างสะพานกิ่งลงพอดีอยู่ติดสโมสรการบิน

ร้านสวนผัก ปลูกผักเอง ปลูกโดยวิธีไฮโดร โปนิคส์ คือใช้แต่น้ำกับปุ๋ยเท่านั้น ไม่ใช้ดินในการปลูกเลย และไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง ปลอดสารพิษชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าไปในร้านที่ประดับด้วยต้นไม้ ทั้งผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ กล้วยไม้ มีแปลงผักที่ปลูกไว้โชว์ ปลูกไว้ในแปลงที่จะเอามาทำอาหาร และจำหน่ายโดยจัดส่งไปจำหน่ายตามซุปเปอร์ทั้งหลายในตัวเมืองเชียงใหม่ โต๊ะอาหารมีทั้งกลางแจ้ง คือใต้ร่มไม้ ต้นไม้และในร่มห้องแอร์ แต่หากนั่งกินกันกลางคืนด้วยละก็ กลางแจ้งน่านั่งมีบรรยากาศดีที่สุด

มาร้านผักต้องกินอาหารพวกสลัด "เซฟสลัด" จัดมาในชามใบโต เป็นสลัดรวมหลายชนิดผักชามนี้ ๔ คนยังพอกิน มีน้ำสลัดให้เลือก ๓ แบบ คือน้ำข้น มายองเนส น้ำใส และน้ำใสรสเปรี้ยว ผมสั่งมาทดลองทั้ง ๓ แบบ ปกติให้แบบเดียว จึงต้องจ่ายเงินให้กับน้ำสลัดอีก ๒ แบบ

ผักสด หวานกรอบ และมีเนยแข็งวางข้างหน้า ไส้กรอกโรยหน้ามาด้วย

สลัดสั่งมาได้เป็นจาน หากไม่สั่งเซฟสลัด เช่นสลัดไก่ สลัดเนื้ออบ ซีซาร์สลัด เป็นต้น

น้ำผลไม้น้ำสมุนไพร เช่น น้ำตะไคร้ มะตูม หรือสั่งน้ำปั่น ผมสั่งน้ำแตงโมปั่น เป็นอาหารหวานได้เลย

อย่าข้ามไปคือ ไส้กรอกราดซ๊อสเห็ด เป็นไส้กรอกเยอรมันชิ้นโต อร่อยมาก หาไส้กรอกรสนี้กินหายาก ราดด้วยซ๊อสเห็ดเข้มข้น มีผักสลัดวางเคียง

ซุปหัวหอม ส่งกลิ่นหอมมาแต่ไกล ร้อนควันโฉ่

อาหารพิเศษอื่น ๆ เช่น ซุป ไก่อบ สตูว์ หรือข้าวราดหน้า ผมหิวข้าว สั่งข้าวสตูว์ลิ้นวัว ให้ข้าวสวยกลิ่นหอมมา ๑ ถ้วย หากไป ๒ คน จะสั่งข้าวเพิ่มอีกถ้วยก็ยังพอสำหรับน้ำสตูว์ลิ้นวัว ที่ให้สตูว์ลิ้นมา ๑ ถ้วย พร้อมด้วยน้ำปลาพริกขี้หนูสด รสสตูว์ยอดเยี่ยมทีเดียว ราดหน้าด้วยน้ำสตูว์จนชุ่มแล้วจึงชิม เนื้อลิ้นนุ่มหั่นมาเป็นชิ้นลูกเต๋าน่ากิน ตามด้วยสลัด

อิ่มแล้วไปเดินงานปิดถนนท่าแพให้คนเดิน ซึ่งจะมีทุกวันอาทิตย์ ปิดตั้งแต่สี่แยกอุปคุต ไปจนยังช่องประตูท่าแพ ขายสินค้าหัตถกรรม และมีการมาผลิตให้ชมเช่นการทอผ้าด้วยกี่กระตุกเป็นต้น เดินให้หิวจะได้ไปหาโรตีสายไหมกินกันอีก



ที่มา...
http://www.moohin.com/about-thailand/to ... thip.shtml


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร