วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2011, 19:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b47: :b47: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

รูปภาพ

“พระพุทธรูปศิลาขาว” หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
เป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)
ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๐๐๐-๑๖๐๐)
ชาวบ้านมักจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อประทานพร”


พระพุทธรูปศิลาขาว ทำจากศิลาสีขาว (White Stone) ขนาดใหญ่
มีพุทธลักษณะทั่วไปเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
ประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาททั้งสอง (ปรลัมพปาทาสนะ)
ลงบนฐานทำเป็นกลีบบัวบานรองรับ คือวางฝ่าพระบาทบนดอกบัว
ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ภัทรอาสน์” หรือ “ภัทราสนะ”
พระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปวางหงายอยู่เหนือพระเพลา (ขา, ตัก) ซ้าย
ส่วนพระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ (หน้าอก) หันฝ่าพระหัตถ์ออก
ปลายพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้)
จีบงอโค้งจรดกันเป็นวงกลม ส่วนอีกสามนิ้วของพระหัตถ์ขวากางออก
องค์พระพุทธรูปในท่าทางของพระหัตถ์แบบนี้ เรียกว่า “ปางแสดงธรรม”
ขนาดความสูงจากยอดพระเกตุถึงปลายพระบาท ๓.๗๖ เมตร หรือ ๑๔๘ นิ้ว


พระพุทธรูปศิลาขาว องค์ที่ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะและขนาดเช่นเดียวกันกับ
“พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ฯ” หรือ “หลวงพ่อขาว”
ที่ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์


จากบันทึกประวัติสังเขปพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม
ที่พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปชฺโชติโก)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ได้จัดทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในคราวที่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
กล่าวเอาไว้มีความตอนหนึ่งดังนี้

“...ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา)
ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเวลานั้นว่างจากเจ้าอาวาส
กุฏิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกันกับ “สามเณรบุญ”
(ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระพุทธวิถีนายก
ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์
ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงพระเณรและชาวบ้าน ต.พระปฐมเจดีย์
ไปช่วยกันขนอิฐจากวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง
(ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระราชทานนามวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ใหม่ว่า สวนนันทอุทยาน)
เพื่อนำมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร

ปรากฏว่าพบเห็นจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณซากโบราณสถานที่นั้น
โดยมีพระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ขององค์พระพุทธรูปโผล่พ้นยอดจอมปลวกขึ้นมา
คณะของท่านพระปลัดทองจึงได้ช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออก
ก็พบพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่องค์นี้ มีรอยต่อเป็นท่อนๆ
จึงถอดรอยตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔
(ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ครองราชสมบัติ ๗ ปี นับถึง พ.ศ. ปัจจุบันได้ ๙๓ ปี...”


สำหรับประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๔ องค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะและขนาดอย่างเดียวกันนั้น
นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในหนังสือ
“พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” ว่าพระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว ๔ องค์
แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม
โดยพบสถูปโบราณสมัยทวารวดีองค์ใหญ่ มีร่องรอยว่ามีมุขประจำ ๔ ทิศ
และในแต่ละมุขทิศเคยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทประจำอยู่นั้น


ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร
หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
รัชกาลที่ ๒-๓ แห่งกรุงศรีอยุธยาตามลำดับ
ได้มีการขนย้ายพระพุทธรูปศิลาขาวมาประดิษฐานไว้ในวัดพระยากง
ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบครบ ๓ องค์
คงทิ้งไว้ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม) ๑ องค์ กับชิ้นส่วนขององค์พระบางท่อน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้นำองค์พระพุทธรูปศิลาขาวที่คงอยู่ ณ ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม) นั้น
ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือไปจัดตั้งไว้ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์

ส่วนที่นำไปไว้ที่วัดพระยากง เกือบครบ ๓ องค์นั้น ต่อมาประมาณกว่า ๒๐ ปีมานี้
ได้มีพุทธบริษัทผู้ศรัทธานำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดพระยากงบางส่วน
มาปฏิสังขรณ์ประกอบเป็นองค์พระ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดขุนพรหม
ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันกับวัดพระยากง

ส่วนที่ยังคงอยู่ที่วัดพระยากง ก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียร
ของพระพุทธรูปศิลาขาว ๒ พระเศียรให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย
แล้วลักลอบนำมาขายไว้ ณ ร้านค้าของเก่า ในเวิ้งนครเกษม (เวิ้งนาครเขษม) ๒ ร้าน
ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ติดตามคืนมาได้จนครบเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐

ครั้นเมื่อนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ไปสำรวจดูที่วัดพระยากง
ก็พบชิ้นส่วนอื่นๆ ของพระพุทธรูปศิลาขาวอีก จึงลองประกอบกับพระเศียรของพระพุทธรูป
ที่ได้มาจากร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษม แต่ก็ไม่สามารถประกอบกันได้อย่างสนิท
และยังพบว่าพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดขุนพรหม ซึ่งปฏิสังขรณ์ด้วยการโบกปูนทับให้เรียบเสมอกัน
ก็ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูปคนละองค์กัน จึงได้แยกส่วนต่างๆ ออกมาประกอบใหม่
แล้วนำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่เก็บรักษาไว้ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร มาลองประกอบด้วย ก็พบว่าสามารถประกอบกันได้อย่างสนิท

ฉะนั้น นายธนิต อยู่โพธิ์ และกรมศิลปากรด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จึงได้นำพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่อยู่วัดขุนพรหม กับชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั้งหมดที่วัดพระยากง
และชิ้นส่วนขององค์พระที่มีอยู่ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
รวมทั้ง พระเศียรองค์พระ ๒ พระเศียร ที่ติดตามคืนมาได้จากร้านค้าของเก่าดังกล่าว
มาประกอบกันขึ้นเต็มองค์อย่างสมบูรณ์และปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมโดยลดส่วนสัด ได้ทั้งหมด ๓ องค์
แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร หนึ่งองค์
ประดิษฐานไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งองค์
และได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นที่บูชาสักการะของพุทธบริษัท ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ)
ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
อีกหนึ่งองค์
ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ พระพุทธรูปศิลาขาวองค์นี้ได้รับขนานนามโดย
พระสนิทสมณคุณ (พระอาจารย์แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น
ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
เมื่อรวมกับพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่รัชกาลที่ ๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็น
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ด้วยกันก็เป็นอันครบ ๔ องค์

ทั้งนี้ พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่พบอยู่ในจอมปลวกที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ
แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหารนั้น
เป็นองค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในกระบวนพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด ๔ องค์


รูปภาพ
พระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร
พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
๑. หนังสือ พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี
เรียบเรียงโดย นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
๒. หนังสือ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
ที่ระลึกงานฉลองสมโภชองค์พระปฐมเจดีย์ ครบ ๑๕๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๕๔๖)
๓. หนังสือ “เรื่องพระปฐมเจดีย์ กรมศิลปากรตรวจสอบชําระใหม่
และการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์”
จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมสิริชัย (ชิต ชิตวิปุลเถร)
เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๘
๔. หนังสือ ศิลปะชวา : ผู้เขียน รศ.ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี
๕. ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : น้ายักษ์ naryak.com


:b49: พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียว
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471

:b50: พระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19289

:b50: พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี ปรากฏในโลกเพียง ๖ องค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=48134

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2011, 10:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระพุทธรูปศิลาขาว
“หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : เฟซเหยี่ยวร้าย เจ้าชายน้ำแข็ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2011, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี

พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดี
ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๐๐๐-๑๖๐๐

ปางแสดงธรรม-ปางปฐมเทศนา ปรากฏในโลกเพียง ๖ องค์เท่านั้น
(ตามที่มีหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยอย่างยิ่ง
โดยในประเทศไทยพบ ๕ องค์ และในประเทศอินโดนีเซียพบ ๑ องค์ ดังนี้


:b47: องค์ที่ ๑ พระพุทธรูปศิลาขาว
“หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๒ พระพุทธรูปศิลาขาว
พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร
หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ฯ” หรือ “หลวงพ่อขาว”
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๓ พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๔ พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


พระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๔ องค์ดังกล่าว
เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะและขนาดอย่างเดียวกัน


:b47: องค์ที่ ๕ พระพุทธรูปศิลาเขียว
“พระคันธารราฐ” พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์ (พระวิหารน้อย)
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา
คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๖ พระพุทธรูปศิลาขาว ประเทศอินโดนีเซีย
ประทับนั่งห้อยพระบาท วางฝ่าพระบาทบนดอกบัว
ปางปฐมเทศนา
(ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)
ประดิษฐาน ณ พระวิหารเมนดุต จันทิเมนดุต (Candi Mendut)
หรือวัดเมนดุต (Mendut Temple) พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุด
ในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งเป็นอาคารทรงปราสาทยอดสถูปที่สร้างครอบศาสนสถานเดิมที่ก่อด้วยอิฐ
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำจากหินภูเขาไฟเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ตั้งอยู่ห่างจากบุโรพุทโธ (Borobudur) ไปทางทิศตะวันออก ๓ กิโลเมตร
ทั้งนี้ จันทิเมนดุตหรือวัดเมนดุตเป็นวัดในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน

พระพุทธรูปศิลาขาวในประเทศอินโดนีเซียองค์นี้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนจริง
คือ มีขนาดสูง ๓ เมตร แกะสลักจากหินลาวาภูเขาไฟอายุ ๑,๒๐๐ กว่าปี
หันพระพักตร์
(หันหน้า) ไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนับว่าแปลกกว่าองค์พระพุทธรูป
ในจันทิ
(วัด, เจดีย์, ศาสนสถานที่บรรจุเถ้ากระดูกหรืออัฐิของผู้ตาย) อื่นๆ
ที่ล้วนหันพระพักตร์
(หันหน้า) ไปทางทิศตะวันออกทั้งสิ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ได้เสด็จฯ ทรงทอดพระเนตร “พระวิหารบุโรพุทโธ” และ “พระวิหารเมนดุต”
ในการนี้ สมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
พระพุทธรูปองค์หนึ่ง พร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี
ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาแด่ล้นเกล้าทั้ง ๒ พระองค์


ในจำนวนพระพุทธรูปศิลา ๖ องค์นี้ มีเพียงองค์เดียวที่สร้างขึ้นจากศิลาเขียว
อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา

ส่วนที่เหลือทั้งหมดสร้างขึ้นจากศิลาขาวทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ยังเกิดความสับสนกันอยู่เนืองๆ


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ในคราวเสด็จฯ ทรงทอดพระเนตร
“พระวิหารบุโรพุทโธ” และ “พระวิหารเมนดุต” ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๓
ในการนี้ สมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
พระพุทธรูปองค์หนึ่ง พร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี
ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาแด่ล้นเกล้าทั้ง ๒ พระองค์


:b47: :b44: :b47:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2020, 10:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระพุทธรูปศิลาขาว
“พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ฯ” หรือ “หลวงพ่อขาว”
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b50: พระพุทธนรเชษฐ์ฯ หรือ “หลวงพ่อขาว”
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=59071

รูปภาพ

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณสุรีย์ ฉิมรุ่งเรือง

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณเปรม นครปฐม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2020, 10:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

ปางปฐมเทศนา
(ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)


:b50: :b47: :b50:

“ปาง” เป็นคำในภาษาไทย
หมายถึง ท่าทางของพระหัตถ์, เรื่องราวในพุทธประวัติ
ส่วน “มุทรา” เป็นคำในภาษาสันสกฤต
หมายถึงเฉพาะท่าทางของพระหัตถ์ เช่น


ปางปฐมเทศนา = ธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra Mudra)
ปางแสดงธรรม = วิตรรกมุทรา (Vitarka Mudra)
ปางมารวิชัย = ภูมิสปรรศมุทรา (Bhumisparsa Mudra)
ปางสมาธิ = ธยานมุทรา (Dhyana Mudra)
ปางประทานอภัย = อภยมุทรา (Abhaya Mudra)
ปางประทานพร = วรทมุทรา (Varada Mudra)


:b39:

พระพุทธรูป “ปางแสดงธรรม” (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)
เป็นปางที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงพระธรรมคำสอน
ให้แก่พระสาวก หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป
พระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ (หน้าอก) หันฝ่าพระหัตถ์ออก
ปลายพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้)
จีบงอโค้งจรดกันเป็นวงกลม ส่วนอีกสามนิ้วของพระหัตถ์ขวากางออก
กล่าวคือ จีบนิ้วพระหัตถ์ขวาเป็นวงกลม
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่เหนือพระเพลา (ขา, ตัก) ซ้าย

เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ทราบถึงการแสดงธรรม

สำหรับพระพุทธรูปที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก
กับปางแสดงธรรมนั้น คือ “ปางปฐมเทศนา”
(ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ประกาศพระธรรม
ที่พระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้วแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (วันอาสาฬหบูชา)
หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือ ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน
พระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนาเป็นคนแรก จึงกราบทูลขออุปสมบท
โดยพระพุทธองค์ทรงทำการอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
(พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง) นับเป็น “ปฐมสาวก”
ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะขึ้นครั้งแรกในโลก
เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ โดยบริบูรณ์
คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ลักษณะของพระพุทธรูปปางปฐมเทศนานี้ ยกพระหัตถ์ขึ้น ๒ ข้าง
ท่าทางของพระหัตถ์ขวา เหมือนปางแสดงธรรม
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในลักษณะประคองหมุน
กล่าวคือ จีบนิ้วพระหัตถ์ทั้งสองข้างเป็นวงกลมซ้อนกัน

โดยมีบริบทเป็น “ธรรมจักร” กับ “กวางหมอบ”
ซึ่งมีความหมายถึงการหมุนวงล้อแห่งธรรม
และหากแม้ไม่มีบริบทก็ตีความภาพได้ว่าเป็นปางปฐมเทศนา


:b8: :b8: :b8: ผู้โพสต์ได้ใช้...หนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม
พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เป็นแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหาปางแสดงธรรม-ปางปฐมเทศนา


รูปภาพ

:b49: :b49: พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียว
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471

:b50: พระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19289

:b50: พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี ปรากฏในโลกเพียง ๖ องค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=48134

:b50: พระพุทธรูป “ปางแสดงธรรม” กับ “ปางปฐมเทศนา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=59080

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron