วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.พ. 2013, 16:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดหนัง ราชวรวิหาร
แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร


:b47: นามและที่ตั้งวัด

วัดหนัง ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๐ ฝั่งขวาหรือนัยหนึ่งฝั่งเหนือคลองด่าน
ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๕๐

เดิมมีสถานะเป็นวัดราษฎร์ มีอาณาบริเวณไม่กว้างขวางนัก
มีสืบมาแต่โบราณ มีนามว่า วัดหนัง มาแต่เดิม
แม้ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว ก็มิได้พระราชทานนามใหม่
สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
กำหนดอย่างต่ำน่าจะเป็นในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ)
มิฉะนั้นต้องสูงขึ้นไปกว่านั้น ข้อนี้มีเลขพุทธศักราชจารึกที่ระฆังเป็นสำคัญ
ระฆังใบนี้เป็นของเก่ามีมาก่อน แต่วัดได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง
ตามจารึกปรากฏว่า สร้างแต่ พ.ศ. ๒๒๖๐
พระมหาพุทธรักขิตกับหมื่นเพ็ชร์พิจิตร เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยภิกษุสามเณร
ทายกทายิกา ตลอดจนมีตาเถรเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งสมาคมสร้างระฆังนี้ด้วย

คลองด่านในอดีต ถือว่าเป็นคลองที่มีความสำคัญยิ่งต่อจังหวัดธนบุรี
เพราะเป็นต้นคลองมหาชัย เชื่อมทางคมนาคมระหว่างจังหวัดต่างๆ
ในลุ่มน้ำท่าจีนและในลุ่มน้ำแม่กลองกับจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองนี้
เดิมนั้นลำคลองคงกว้างกว่าในบัดนี้ เรือขนาดใหญ่สัญจรไปมาได้สะดวก
สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) เสด็จประพาสท้องทะเล
ก็เสด็จผ่านทางคลองด่านหลายครั้ง ตามชายฝั่งคลองปรากฏว่า
มีวัดตั้งอยู่เรียงราย ไม่ขาดระยะ บางวัดเคยได้รับราชูปการจากราชสำนักก็มี
เช่น วัดไทร ตรงข้ามปากคลองบางมด
สมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักเดิม
ทำนองเป็นที่ประทับแต่ครั้งยังเป็นนายเดื่อหรือหลวงสรศักดิ์ มาปลูกเป็นหอไตรไว้
นี้แสดงว่าคลองด่าน มีวัดมากมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
และวัดหนังนี้ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดมีสีมาชนิดพัทธสีมา ผูกเฉพาะพระอุโบสถ


รูปภาพ
ศาลาท่าน้ำหน้าวัด ภาพถ่ายเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๓


:b47: นามผู้สร้างและปฏิสังขรณ์

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ร้างมานาน ๒๐๐ ปีเศษ
จึงไม่ทราบว่าเดิมใครเป็นผู้สร้าง กล่าวเฉพาะยุคเป็นพระอารามหลวงนี้
สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม

ด้วยเหตุนี้เองที่วัดแห่งนี้ไม่ได้มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน
ตามแบบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่เป็นวัดแบบไทยๆ เพราะพระบรมราชชนนีของพระองค์ทรงสถาปนาขึ้น

มูลเหตุที่ทรงสถาปนาวัดหนังเป็นพระอารามหลวง
น่าจักเนื่องด้วยราชินิกูลสาย “พระชนนีเพ็ง”
พระชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย
พื้นแพดั่งเดิมเป็นชาวสวนวัดหนัง มีนิวาสถานอยู่แถวย่านนี้
คำเล่าของ “หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์” ว่าอยู่ที่บางหว้า


ในการเรียบเรียงประวัดหนังนี้ มีเรื่องน่าเสียดายอยู่หลายประการ
เป็นต้นว่าสถาปนาวัดเมื่อไร ไม่มีวันเดือนปีปรากฏ
พระประธานในพระอุโบสถเป็นของสร้างสมัยสุโขทัย แต่ที่มาไม่ปรากฏชัด
เพราะสมุดรายงานหมายสั่งการประจำวันซึ่งบันทึกเหตุการณ์ประจำแต่ละวัน
มีผู้ทำสูญเสียไป นอกจากทำให้สูญเสียเหตุการณ์
เป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
แล้ว
ยังทำให้ประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สูญเสียไปด้วยมิใช่น้อย

วัดหนังเริ่มสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อไร
อนุมานตามเหตุการณ์ พอจะได้เค้าเงื่อนบ้าง ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พ.ศ. ๒๓๖๗
ระยะกาลตอนนี้นับว่าสมเด็จพระศรีสุลาลัย บรรลุถึงภาวะเป็นอัฉริยนารี
ผู้สูงศักดิ์อย่างสูงสุดในพระชนม์ชีพ เป็นกาลระยะหนึ่งซึ่งพระองค์ควรจะพึงคำนึงถึง
การทรงทำกรณีอะไรสักอย่างหนึ่ง อันเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติ
ทั้งส่วนพระองค์ ทั้งส่วนราชินิกูล ให้ปรากฏอยู่ชั่วกาลนาน
เรื่องที่นิยมมากที่สุดในยุคนั้น ไม่มีอะไรอื่นดีกว่าการสร้างวัด
สมเด็จพระศรีสุลาลัย สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐
ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทำการฉลองวัดหนัง ณ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ นั่นเอง
การเริ่มสถาปนาคงอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๘

การสถาปนาวัดหนังคงจะอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
แต่ไม่ทราบว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใครบ้างเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง
แต่มีปรากฏในพงศาวดารภาคที่ ๓๓
บุพภาคพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เพียงว่า สมเด็จกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงเป็นนายต้นทำการจนแล้วเสร็จ

ปูชณียสถานเสนาสนะต่างๆ ในยุคที่ยังเป็นวัดราษฎร์
เดิมทำอย่างไรและมีอะไรเท่าไรไม่ทราบ
ในยุคสถาปนาพระอารามหลวงนี้
สิ่งก่อสร้างในเขตสถาปนาเป็นของทำใหม่ทั้งสิ้น
สิ่งที่มิได้ทรงสร้างมีปรากฏเพียงพระประธานในพระอุโบสถ
พระพุทธรูปศิลา ๒-๓ องค์ ในพระวิหารตอนหลัง กับระฆังอีก ๑ ระฆัง


รูปภาพ
พระวิหาร ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.พ. 2013, 17:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ)


พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖
ได้บันทึกความเห็นในเรื่องการสถาปนาพระอารามนี้ มีใจความตอนหนึ่งว่า

การสร้างวัดในภูมิลำเนาเดิมนอกจากเป็นการกุศลแล้ว
ยังเป็นเกียรติแก่สกุลวงศ์ด้วย ธรรมดาของสัญชาตญาณของบุคคล
เมื่อได้บรรลุอิทธิพลในถิ่นอื่น ย่อมจะคำนึงถึงถิ่นเดิมของตน
เมื่อเป็นโอกาสมักจะประกอบกิจการเป็นพิเศษอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่ง
ในภูมิลำเนาเดิมของตนหรือของบรรพบุรุษเพื่อเป็นอนุสรณ์
หรือเป็นที่ชื่นชมแก่มวลญาติมิตรชาวถิ่นนั้น

การสถาปนาพระอารามในครั้งนั้น
ได้ทำการรื้อถอนเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดั่งเดิม
ที่อยู่ภายในเขตออกไปทั้งหมด ทดแทนด้วยถาวรวัตถุของใหม่ขึ้นมาแทนที่
มีเพียงพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาในพระวิหารตอนหลัง
และระฆังอีกหนึ่งใบ เท่านั้น ที่เป็นของดั่งเดิมมีมาแต่โบราณ

ถาวรวัตถุและเสนาสนะต่างๆ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ครั้งนั้นประกอบไปด้วย

แนวกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออก ความยาวประมาณ ๗๗.๗๐ เมตร
ด้านทิศตะวันตกความยาวประมาณ ๔๗.๒๘ เมตร
และทิศใต้ความยาวประมาณ ๔๗.๒๘ เมตร

แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก มีศาลาซุ้มประตู
มีเฉลียงโดยรอบเหนือประตูเดิมเขียนลายรูปพระพุทธบาท
ประกอบด้วยลายลักษณ์อัตถุตรสตมหามลคล เรียกว่า ศาลาพุทธบาท

ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสไม่ทรงโปรดลายรูปพระพุทธบาทนี้
ทางวัดจึงใช้ผ้าทายางผลึกเอาไว้ แล้วฉาบปูนเคลือบอีกชั้นหนึ่ง

ซึ่งศาลาดังกล่าวนี้ ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง
เช่น ในสมัยหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นเจ้าอาวาส ๑ ครั้ง
สมัยพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส ๒ ครั้ง
นอกกำแพงแก้วด้านนี้มี พระเจดีย์คู่
ชั้นประทักษิณสัญฐานแปดเหลี่ยม มีบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้า

นอกจากนี้แล้ว แนวกำแพงแก้วด้านอื่นๆ
จะประกอบด้วยศาลาซุ้มประตูมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาด


:b47: ถาวรวัตถุภายในเขตกำแพงแก้ว

พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนตามลักษณะศิลปะของยุคนั้นโดยแท้
ด้วยฝีมือของช่างหลวง ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามอลังการ
สมดังเป็นพระอารามหลวง โดยเป็นชนิดมุขอัด ๕ ห้อง เฉลียงรอบมีเสาหารรับ
พนักระวาง เสากรุกระเบื้อง ปรุหลังคามุขลดชั้นหนึ่ง ปีกลดชั้นคอสอง
และชั้นเฉลียง รวม ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ (เปลี่ยนตอนหลัง) ช่อฟ้าหน้าบัน
ประดับกระจก พื้นปูหินอ่อน ประตูด้านหน้า ๒ ด้านหลัง ๒ หน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง
กรอบประตูหน้าต่างปั้นลวดลายประกอบ กรอบเช็ดหน้าปิดทองทึบ
ในบานด้านนอก เขียนลายรดน้ำ รูปทรงกระทิน ด้านในลงพื้นฝุ่นน้ำมัน
เขียนลายทองประเภทช่อพะเนียง ผนังด้านในเขียนลายทองประเภทดอกไม้ร่วง
มีลายคอสอง โดยรอบเพดานลงชาดโรยดาวทอง ขื่อเขียนลายตาสมุก
ปลายขื่อ ๒ ข้างเขียนลายกรวยเชิงทับ หลังประตูหน้าต่างประกอบกรอบกระจก
ไม้จำหลัก ลายปิดทองหมู่ ๓ เขียนลายห้อนักโก้ บันไดขึ้นลงต่อกับชาลา
ด้านข้างด้านละ ๒ บันได ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานในสีมาสิลาจำหลักซุ้มละ ๑ คู่
ด้านกว้าง ๑๓.๑๕ เมตร ยาว ๒๐.๔๐ เมตร สูง ๑๖ เมตรเศษ
ชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน เป็นฐานแว่นฟ้า ๒ ชั้น ฐานพระ ๑ ชั้น
แบบชุกชีในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ
แต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเหมาะแก่ขนาดพระอุโบสถ
ก่อย่อไม้ ๑๒ ปั้นลายปิดทองประดับกระจก
ชั้นต้นประดิษฐานพระสาวก ๓ องค์ ชั้นสอง ๒ องค์

พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณฝีมือช่างยุคสุโขทัย
หล่อด้วยโลหะประเภทสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัย
ส่วนสูงจากทับเกษตรถึงปลายพระเกศ ๙๘.๔๒ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๗๐.๘๖ นิ้ว
ทำจารึกอักษรไทยโบราณที่ฐาน อ่านโดย นายฉ่ำ ทองคำวรรณ
ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณ กรมศิลปากร ได้ความดังนี้

“แต่แรกตั้งพระเจ้าองค์นี้ ศาสนาได้ ๑,๙๖๖ ปี
ในปีเถาะ สามเดือน ในเดือนแก้ว ยี่สิบสี่วัน ในวันอาทิตย์
พ่อพระยาเจ้าไทย พ่อขุนเมดทาเจ้า

(นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็น เมธาเจ้า)
และไว้ให้นายลก คงลำเรอ เป็นข้าพระเจ้านี้
ชั่วลูก ชั่วหลาน แต่สิ้นศาสนาพระเป็นเจ้าแล”


เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า พระประธานในพระอุโบสถ
ซึ่งเป็นปัจจุบันถวายพระนามว่า “พระพุทธปฏิมากร”
สร้างโดยเจ้านายราชวงศ์พระร่วง ในราวปี พ.ศ. ๑๙๖๖ ยุคสุโขทัยตอนปลาย
ได้มีการจัดผู้ดูแลรักษาคือ นายลก คงลำเรอ
และระยะเวลาดังกล่าว อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้สถาปนาขึ้นมาแล้ว ๗๓ ปี
ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๖๗)
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเดิมองค์พระประธานประดิษฐานที่ใด
ก่อนจะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอารามแห่งนี้
แต่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปในจำนวน ๑,๒๔๘ องค์
ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
โปรดให้อัญเชิญลงมาจากวัดร้างในเมืองสุโขทัย และได้บูรณะสมบูรณ์งดงามดีแล้ว
จึงได้โปรดพระราชทานมาประดิษฐานยังวัดหนัง แต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดราษฎร์


พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ
ก่อสร้างด้วยศิลปะตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีขนาดทรงจิตรกรรมอย่างเดียวกับพระอุโบสถ ที่ต่างกันคือมีประตูด้านละ ๑ ประตู
กับภายในก่อเป็นสายบัวกระเบื้องปรุกั้นกลางเป็น ๒ ห้อง เดินถึงกันไม่ได้
ห้องหน้าก่อชุกชียาวเต็มส่วนกว้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงเป็นแถว ๕ องค์
ส่วนห้องหลังประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา” พอกปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัย
สูงสุดพระรัศมี ๒.๖๔ เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๑๐ เมตร
พระพุทธรูปศิลา พระประธานองค์นี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระประธานของวัด
และพระวิหารก็สันนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถเก่า ก่อนที่จะถูกบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓

พระปรางค์ ประดิษฐานอยู่ระหว่างกลางพระอุโบสถกับพระวิหาร
มีความสูง ๒๒.๓๐ เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓.๖๐ เมตร
มีลานประทักษิณ ๓ ชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยม
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถมากราบสักการะกันได้
โดยบริเวณหน้าพระปรางค์นั้นมีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ ๑ แท่น
เรือนไฟหิน ๑ คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ ๑ คู่
โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ ๓ นั่นเอง


พระเจดีย์คู่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร
เป็นทรงย่อไม้สิบสองประดับด้วยกระจกสีทอง

พระเจดีย์สี่มุม บริเวณมุมกำแพงของพระอุโบสถ
และพระวิหารมาบรรจบกันทั้ง ๔ มุม ก่อเป็นฐานประทักษิณสูง
ขั้นถัดไปจึงเป็นองค์พระเจดีย์ทรงย่อไม้สิบสอง

ศาลาราย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว ด้านทิศเหนือและทิศใต้
มีด้านละ ๒ หลัง ส่วนด้านทิศตะวันออกมี ๔ หลัง


:b47: เสนาสนะอื่น

หอไตร ก่อด้วยอิฐถือถือปูน ระฆังประจำหอ เป็นของเก่ามีมาแต่ดั่งเดิม
ต่อมาเกิดรอยแตกร้าวจึงปลดลงมาเก็บรักษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔
และใช้ระฆังใบใหม่แทน

ศาลาการเปรียญ ก่อด้วยอิฐถือปูนจำนวน ๕ ห้อง
อยู่ด้านทิศใต้ของวัด พื้นลาดปูนขาวยกพื้นสูงกว่าระดับพื้นไม่มากนัก
ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาดิน ต่อมาระดับพื้นดินและพื้นศาลาเสมอกัน
ฤดูฝนน้ำท่วมถึง และทรุดโทรมลงตามลำดับ
ได้รื้อถอนในสมัยพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส

ศาลาการเปรียญหลังใหม่
สร้างโดยหลวงปู่รอด ครั้งเป็นพระครูธรรมถิดาญาณ
ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าไม้และค่าแรง
ส่วนค่าอิฐปูนเป็นพระราชทรัพย์ได้รับพระราชทานมา

ศาลาสกัด อยู่ด้านใต้ศาลาการเปรียญหลังเก่า
ลักษณะเป็นศาลารายหน้าวัด ต่อมาชำรุดผุพังใช้การไม่ได้

ศาลาท่าน้ำ เป็นศาลาท่าน้ำขึ้นลงของศาลาหลังเก่า
บริเวณคลองและผุพังไปนานแล้ว

คณะหมู่กุฏิสงฆ์ ในช่วงของการสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่นั้น
การสร้างหมู่กุฏิสงฆ์ได้จัดระเบียบให้เป็นสัดส่วน ดังนี้

คณะเหนือ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือหมู่กุฏิ สร้างด้วยไม้
แบ่งออกเป็น ๒ หมู่ หมู่หน้าอยู่ด้านทิศตะวันออก
ซึ่งกุฏิเจ้าอาวาสยุคนั้นอยู่ในหมู่นี้ หมู่ ๒ อยู่ถัดไปด้านทิศตะวันตก

คณะใต้ ตั้งอยู่ตอนใต้กำแพงแก้วลงมา เดิมมี ๒ หมู่

คณะสระ เป็นคณะที่สร้างจากการได้รื้อถอน
หมู่เสนาสนะในเขตการสถาปนา มาสร้างขึ้นใหม่
สมัยหลวงปู่รอด พำนัก ณ วัดหนัง ได้เป็นเจ้าคณะสระ
ต่อมาได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร

นอกจากถาวรวัตถุส่วนต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว
ยังมีอีกหลายอย่างที่ได้รับการสถาปนาหรือสร้างขึ้นใหม่ในช่วงนี้
กล่าวได้ว่าเป็นพระอารามที่มีความสวยงามมากที่สุดอีกพระอารามหนึ่ง
ภายหลังการบูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง
และจัดงานเฉลิมฉลองสมโภช เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐

นอกจากนี้บริเวณริมคลองด่านก็ยังมี พระมณฑป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
ซึ่งจำลองแบบมาจากวัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี


รูปภาพ

รูปภาพ
พระปรางค์สีขาวองค์ใหญ่ วัดหนัง ราชวรวิหาร
ประดิษฐานอยู่ระหว่างกลางพระอุโบสถกับพระวิหาร
ภายในบรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ไว้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.พ. 2013, 17:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b47: ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร

เจ้าอาวาส ผู้ปกครองดูแลวัดตั้งแต่ดั่งเดิมมานั้น
ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกไว้ หรืออาจจะชำรุดเสียหายไปตามกาล
เริ่มปรากฏมีหลักฐานเมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ดังนี้


รูปที่ ๑ พระนิโรธรังสี

ชื่อเดิมว่ากระไร เป็นบุตรใคร ชาติอะไร ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน ไม่ทราบ
เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกในยุคการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง
และในช่วงก่อนการสถาปนาท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้อยู่แล้ว
เป็นพระเถระที่เชียวชาญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาสูง
ทำนองจักเป็นที่เคารพนับถือของราชนิกูลสายบ้านวัดหนังมาก่อน
ครั้นเมื่อวัดหนังได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระนิโรธรังสี


รูปที่ ๒ พระโพธิ์วงศาจารย์ (ขาว)

ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดพัทลุง
เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่สำนักวัดหงส์รัตนาราม
ภายหลังมาอยู่วัดราชโอรสาราม
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ๖ ประโยค ที่ พระญาณไตรโลก
ภายหลังจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาครองวัดหนัง
พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระโพธิวงศาจารย์

ยุคพระนิโรธรังสี และพระโพธิ์วงศาจารย์ (ขาว) ครองวัด
เป็นเวลากำลังเจริญ การศึกษายังเป็นไปด้วยดี
ปูชนียสถานแลเสนาสนะ แม้จักชำรุดบ้าง ก็คงไม่มาก
เพราะเป็นของทำใหม่ย่อมมีคุณภาพทนทาน
ทั้งทางราชการก็ยังเอาใจใส่ปฏิสังขรณ์อยู่


รูปที่ ๓ พระราชกวี (มุ้ย)

เป็นชาวสมุทรสาคร แต่ได้มาอุปสมบทที่วัดหนัง
ศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักวัดหงส์รัตนารามบ้าง
และจากสำนักของพระโพธิวงศาจารย์ (ขาว) บ้าง
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์
เป็นราชาคณะชั้นสามัญที่ พระราชกวี และเป็นเจ้าอาวาส


รูปภาพ

รูปที่ ๔ พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง)

เป็นบุตรนายแจ่ม นางจีด ชาติไทย
ภูมิลำเนาเดิมอยู่ใน อ.คุ้งเผาถ่าน อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี
อุปสมบท ณ วัดหนัง โดยมี พระราชกวี (มุ้ย) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระวิสุทธิโสภณ (โล้) วัดนางนอง
กับ พระปลัดยา วัดราชโอรส เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
เดิมเป็นพระปลัดฐานานุกรมในพระราชกวี (มุ้ย) ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาส
พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง) ถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘


รูปภาพ

รูปที่ ๕ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๖๙

:b44: ประวัติและปฏิปทา
“พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44681

รูปภาพรูปภาพรูปภาพ

รูปที่ ๖ พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ)
พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๕๐๒

:b44: ประวัติและปฏิปทา
“พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50733

รูปภาพรูปภาพรูปภาพ

รูปที่ ๗ พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๒

:b44: ประวัติและปฏิปทา
“พระสุนทรศีลสมาจาร (หลวงพ่อผล คุตฺตจิตฺโต)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=48674

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปที่ ๘ พระธรรมศีลาจารย์ (สุกรี สุตาคโม)
พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๕๓

เป็นบุตรนายพรม นางมะลิ จุไรทอง ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ที่ ๗
ต.บางแค อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี เกิดวันศุกร์ แรม ๗ คํ่า เดือนยี่ ปีเถาะ
ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐
เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี เข้าเรียนหนังสือไทยชั้นประถม
ในโรงเรียนประชาบาลวัดม่วง ต.หลักสอง กิ่ง อ.หนองแขม จ.ธนบุรี
เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔
แล้วศึกษาภาษาบาลีกับหนังสือขอมอยู่กับพระอาจารย์สุวรรณ อมตธมฺโม
ต่อจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖
ณ วัดม่วง ตำบลหลักสอง กิ่งอำเภอหนองแขม
โดยมี พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) วัดหนัง เป็นพระอุปัชฌาย์
อยู่สำนักวัดม่วง ๑ พรรษา พระอุปัชฌาย์ขอให้มาอยู่วัดหนัง
ได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมและบาลีเป็นเปรียญธรรม ๔ ประโยค

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ พัทธสีมาวัดหนัง
โดยมี พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) วัดหนัง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต) วัดหนัง
สมัยยังเป็นพระครูภาวนาภิรัต เป็นพระกรรมวาจาจารย์
และพระบริหารบรมธาตุ (ประเสริฐ ธมฺมธีโร) วัดนางชี
สมัยยังเป็นพระมหาประเสริฐ ป.ธ.๖ อยู่ที่วัดหนัง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

งานปกครอง
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง
พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นเจ้าคณะเขตภาษีเจริญ-หนองแขม

สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นพระครูสังฆรักษ์
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระครูปลัด
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นพระครูพิศาลสุตาคม (ผจล.ชท.)
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นพระครูพิศาลสุตาคม (ผจล.ชอ.)
พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระวิเชียรกวี
พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นพระราชรัตนโมลี
พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นพระเทพวรมุนี
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นพระธรรมศีลาจารย์


รูปภาพ

รูปที่ ๙ พระวิเชียรโมลี (ขวัญชัย นิติสาโร ป.ธ. ๙)
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๓-ปัจจุบัน

สถานะเดิม
ชื่อ ขวัญชัย นามสกุล อเนกา ฉายา นิติสาโร
เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙
ปัจจุบันอายุ ๓๗ ปี พรรษา ๑๖
บิดาชื่อ นายประมวล มารดาชื่อ นางสงวน
เกิด ณ บ้านยางเครือ ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

บรรพชา
เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ณ วัดพิชโสภาราม
บ้านแก้งเหนือ ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
โดยมี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
แต่ครั้งยังเป็นพระครูวิศาลเขมคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑ ณ พระอุโบสถวัดหนัง ราชวรวิหาร
โดยมี พระธรรมศีลาจารย์ (สุกรี สุตาคโม)
แต่ครั้งยังเป็นพระราชรัตนโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวิธานวรกิจ เป็นพระกรรมวาจารย์
พระครูปลัดฉลวย (ปัจจุบันเป็นพระครูปลัดศีลวรวัฒน์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

วิทยฐานะ
พ.ศ. ๒๕๓๒ ชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านนางเติ่ง ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๔ น.ธ. เอก วัดพิชโสภาราม สำนักเรียนคณะจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๕ ป.ธ. ๓ วัดพิชโสภาราม สำนักเรียนคณะจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. ๒๕๓๘ ป.ธ. ๖ วัดหนัง ราชวรวิหาร สำนักเรียนวัดราชโอรสาราม
พ.ศ. ๒๕๔๔ ป.ธ. ๙ วัดหนัง ราชวรวิหาร สำนักเรียนวัดสร้อยทอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ)
พ.ศ. ๒๕๔๓ ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. ๒๕๔๘ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รม.)
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ตำแหน่งคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๑ เป็นเลขานุการเจ้าคณะเขตภาษีเจริญ
พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร

สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระวิเชียรโมลี”

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2013, 07:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b39: วัดหนัง ราชวรวิหาร ในปัจจุบัน

รูปภาพ

พระอุโบสถ

รูปภาพ

พระเจดีย์, พระวิหาร

รูปภาพ

รูปภาพ

พระเจดีย์, พระวิหาร, พระปรางค์, พระอุโบสถ
พระปรางค์ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร

รูปภาพ

รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร
ภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนัง ราชวรวิหาร


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

ภายใน “พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา” วัดหนัง ราชวรวิหาร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภายในวัด ที่มีข้าวของที่น่าสนใจหลากหลาย
ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบ้านกับวัดอีกด้วย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2013, 17:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนัง ราชวรวิหาร

จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมของมีค่าของวัด
และชุมชนในเขตจอมทอง อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
โดยจัดแสดงเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะสภาพความเป็นจริง
ของชาวสวนย่านชุมชนข้าหลวงเดิม
ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์จักรีในอดีต

รูปแบบการนำเสนอมุ่งเน้นความเป็นไทยท้องถิ่น
ที่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมในเมืองธนบุรี คือการทำสวนผลไม้
ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และในอีกหลายๆ แง่มุม ทั้งความเป็นอยู่
รวมถึงเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสและเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้
โดยมีวิทยากรเป็นคนท้องถิ่นซึ่งมีความรู้และประสบการณ์
คอยให้คำแนะนำ พร้อมการสาธิตอธิบายอย่างถูกต้อง


ลักษณการจัดแสดง

๑. ประเภทเครื่องใช้ของพระสงฆ์ หรือของที่อุทิศถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
เช่น ตู้พระไตรปิฎกในสมัยต่างๆ ตู้พระธรรมที่จัดแสดงอยู่มีหลายประเภท
เช่น ตู้ปิดทองทึบ ตู้ลายเขียนสีจีน ตู้ลายรดน้ำ เป็นต้น

๒. สมุดข่อย สมุดไทย ซึ่งมีการเขียนตำรายา ตำรานวดแผนโบราณ
สมุดพระมาลัย ที่มีคุณค่า และความสวยงามอย่างยิ่ง พระพุทธรูปในสมัยต่างๆ
หนังสือธรรมะที่หายาก รวมทั้งคัมภีร์ใบลาน และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

๓. ประเภทตำรายา และสิ่งของเครื่องใช้ โดยจะเน้นให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตในอดีต
ที่ต้องพี่งพาอาศัย “หมอพระ” จัดแสดงเครื่องยา ตำรายา เครื่องมือปรุงยา
โดยเฉพาะตำรายาโบราณจากสมุดข่อย ที่มีความสำคัญต่อการรักษาในสมัยโบราณ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงการดำรงชีวิตระหว่างชุมชนกับวัดในพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน

๔. ประเภทของใช้ชาวบ้าน กลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์
โดยมีการจัดแสดง “ครัวไทยโบราณ” ในสถานที่จริง
สะท้อนได้ถึงกลิ่นควันไฟที่ลังหุงข้าว ต้มแกง
ยังมีห้องเรือนไทยโบราณ ที่จัดประกอบกันเข้ายุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
เครื่องใช้ เครื่องมือจักสาน เครื่องไม้ใผ่ในยุคเก่าของชาวสวนก็มีอยู่ครบ
ของเล่นเด็ก โต๊ะนักเรียน รวมถึงตำราเรียนในสมัยก่อน
ก็ยังมีการรวบรวมมาจัดแสดงไว้เช่นกัน


รูปภาพ
พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๗



ประวัติความเป็นมา

อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เดิมเป็นกุฏิที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์อยู่ทางด้านคณะเหนือ
ของวัดหนัง ราชวรวิหาร และได้เป็นกุฎิของพระครูภาวนาภิรัตน์
ก่อนที่ท่านจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๗
ในพระราชทินนามที่ พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
ซึ่งท่านได้ใช้กุฏิหลังนี้เป็นสถานที่รักษาผู้คนแบบยาแผนโบราณด้วย
หรือเรียกอีกอย่างว่า หมอพระรับรักษาผู้คนทั่วไป
และเนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดหนัง ราชวรวิหาร ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระ
ตามแบบของหลวงปู่เอี่ยม จึงทำให้มีคนนับถือมาก อย่างเช่นในช่วงสงครามอินโดจีน
ในแต่ละวันก็มีทหารมากมายเข้ามาขอวัตถุมงคลเพื่อคุ้มครองตัวในการที่จะออกไปรบ
ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์บ้าง พระปิดตาบ้าง โดยเฉพาะผ้ายันต์มีคนมาขอจำนวนมาก
ทำให้ทำไม่ทันที่จะแจก ท่านจึงต้องทำเป็นตราปั้มรูปตัวยันต์ขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้ทันแจก

ครั้งท่านได้รับตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ย้ายไปอยู่ทางฝั่งคณะใต้ของวัด
เนื่องจากมีโยมมาสร้างกุฏิหลังใหม่ถวายไว้ ข้าวของท่านก็ได้นำไปบางส่วน
ทางด้านกุฎิทางนี้ก็มีลูกศิษย์ของท่านคือ พระครูวิบูลศีลวัตร (ช้วน ปาสาทิโก)
นามสกุลเดิม อ่องสาธร รับดูแลต่อมา และท่านยังให้ความอนุเคราะห์แก่บุคคลทั่วไป
ทั้งด้านการรักษาแบบยาแผนโบราณ และวัตถุมงคล
ในช่วงปลายอายุของท่าน เนื่องจากความชราของท่านทำให้การรับรักษาต้องหยุดลง
ดังนั้น ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ถูกเก็บลงไว้ที่ห้องเก็บของด้านบนและด้านล่างของกุฎิ
โดยที่ท่านสั่งห้ามมิให้ใครเข้าไปยุ่งในบริเวณนั้นเลย
หลังจากที่ท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ก็ได้มีการจัดทำความสะอาดกุฎิ
โดยมี พระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร (นามสกุลเดิม สรวยโภค)
รับการดูแลในการทำความสะอาด ก็พบสิ่งของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จำนวนมาก
ท่านจึงเก็บและรวบรวม เหตุที่มีมากอาจเนื่องจากท่านเป็นพระเถระมีผู้คนนับถือมาก
จึงได้มีการนำข้าวของมาถวายไว้มาก อีกทั้งเคยเป็นแหล่งรวมผู้คนทั้งศิษย์วัด
ผู้คนที่เข้ามารับการรักษา และเป็นกุฏิหลังเก่าที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน

เมื่อพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร ได้รวบรวมแล้วเห็นว่ามีมาก
จึงได้คิดว่าจะจัดเป็นอาคารอนุสรณ์ของพระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)
เนื่องจากพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร เป็นคนที่ชอบเที่ยวดูพิพิธภัณฑ์
ก็เห็นของหลายๆ สิ่งในพิพิธภัณฑ์มีเหมือนกับที่วัด จึงได้คิดริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น
โดยออกแบบความคิดของท่านเอง ใช้เวลาจัดในการวางรูปแบบอยู่ประมาณ ๒ ปี
โดยใช้งบส่วนตัว และดำเนินการจัดวาง และทำข้อมูลเองทั้งสิ้น
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นคนชาวธนบุรี เขตจอมทองโดยกำเนิด ครอบครัวเป็นชาวสวนลิ้นจี่ในเขตนี้
จึงได้ทันใช้ทันเห็นและใช้ของต่างๆ เหล่านี้ ก็จึงไม่แปลกที่จะจัดวางได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
และให้คำอธิบายอย่างครบถ้วน อย่างที่ว่านักวิชาการก็สู้ผู้มีประสบการณ์ไม่ได้
ข้าวของที่จัดแสดงนั้น จะเป็นของวัดอยู่ประมาณเกินครึ่ง
ส่วนอื่นที่เหลือก็มีการจัดหาจัดซื้อเข้ามาบ้าง เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ
เช่น วิถีชีวิตภูมิปัญญาชีวิตชาวสวน เครื่องครัวโบราณ
พิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้คนเข้าชมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่ทีแรกยังไม่เป็นที่รู้จัก
จึงมีเพียงแต่นักเรียนโรงเรียนวัดหนัง เข้ามาศึกษาบ้าง
จนมีผู้สนใจเริ่มเข้ามาดูชม เพื่อศึกษาวิถีชีวิตบ้าง การจัดทำบ้าง


วันเวลาเปิดทำการ

เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ได้ทุกวัน
โดยเปิดให้เข้าชมตามนัดหมายล่วงหน้า


ติดต่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์

โปรดโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าทุกครั้ง
- พระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร โทรศัพท์ ๐๘๙-๗๙๒-๑๑๓๑
- คุณสุรศักดิ์ อุดมหรรษากุล โทรศัพท์ ๐๘๗-๐๐๙-๒๙๐๐
E-mail : theopium@hotmail.com

สำหรับการเดินทางมายังวัด มีรถประจำทางสาย ๔๓, ๑๑๑ ผ่าน


รูปภาพ

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง “หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร”
ภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนัง ราชวรวิหาร


รูปภาพ
ภายใน “พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา” วัดหนัง ราชวรวิหาร

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดหนัง ในอดีต

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: :b8: :b8: รวบรวมมาจาก : (๑) หนังสือ ประวัติวัดหนังราชวรวิหาร
ที่ระลึกงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพพระธรรมศีลาจารย์ (สุกรี สุตาคโม ป.ธ.๔)
๑๘-๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ถึง ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑
(๒) ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44681

:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณน้อมเศียรเกล้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=32820

:b44: ประวัติและปฏิปทา
“หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร (หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44681

:b44: หลวงปู่เอี่ยม ผู้ถวายคำพยากรณ์แด่รัชกาลที่ ๕
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=44707

:b44: ประวัติและปฏิปทา
“พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50733

:b44: ประวัติและปฏิปทา
“พระสุนทรศีลสมาจาร (หลวงพ่อผล คุตฺตจิตฺโต)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=48674

:b44: ประมวลภาพ “พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48556

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2014, 07:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


ไปทำบุญที่วัดหนังมาแล้วค่ะ ชื่นใจชุ่มใจจริงๆเลย กราบหลวงปู่เอี่ยมอีกครั้งเจ้าค่ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ส.ค. 2015, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2019, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b20:
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2019, 09:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2021, 09:36 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร