วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 18:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2013, 08:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b45: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธไสยาสน์ หรือ “พ่อท่านบรรทม”
พระประธานในถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ)
บ้านหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา


วัดคูหาภิมุข ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดหน้าถ้ำ” วัดเก่าแก่ของเมืองยะลา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 136 หมู่ที่ 1 บ้านหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา วัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 52 ไร่เศษ ระยะทางห่างจากตัวเมืองยะลาไปตามถนนหลวงหมายเลข 409 ประมาณ 8 กิโลเมตร

วัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2390 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 4 โปรดเกล้าฯ ให้ นายเมือง บุตร พระยายะหริ่ง เป็น พระยายะลา ให้มีราชทินนามว่า พระยาณรงค์ฤทธิ์ ศรีประเทศวิเศษวังษา ตั้งที่ว่าราชการอยู่ที่บ้านท่าสาป เมื่ออยู่นานเข้า เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างวัดขึ้น เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลในหมู่บ้าน จึงได้ขออนุญาตสร้างวัดขึ้นที่ริมเขาหน้าถ้ำที่มีพระนอนแห่งนี้

ภายในวัดคูหาภิมุข มีถ้ำใหญ่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา และพระพุทธรูปปางอื่นๆ มากมาย นอกจากนี้ภายในถ้ำคูหาภิมุขยังมีหินงอกหินย้อยเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น ม่าน เศียรช้างเอราวัณ และมีน้ำใสสะอาดไหลรินจากโขดหินธรรมชาติ มีความร่มรื่น ตรงบันไดทางขึ้นไปยังปากถ้ำ มีรูปปั้นยักษ์ ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าเขา” ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ ดัดแปลงปรับปรุงเป็นศาสนสถาน มีปล่องที่เพดานถ้ำยามแสงแดดส่องลงมาดูสวยงามมาก รวมทั้งมีการติดตั้งไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวที่จะชมถ้ำมืดแห่งนี้ด้วย

วัดคูหาภิมุข เป็นวัดที่สำคัญของเมืองยะลา มีพิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย เก็บวัตถุโบราณที่ได้มาจากวัดถ้ำภูเขากำปั่น พระพิมพ์ดินดิบ สถูปเม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อ “วัดหน้าถ้ำ” เป็น “วัดคูหาภิมุข”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยายะหริ่งมาสร้างเมืองยะลา ตั้งที่ว่าราชการ ณ บ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป และสร้างวัดขึ้นที่ริมเขาหน้าถ้ำที่มีพระพุทธไสยาสน์ภายในถ้ำ

ปี พ.ศ.2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯมาประทับแรมที่วัดนี้ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผาหินในบริเวณวัดคูหาภิมุข


:b44: ตำบลหน้าถ้ำ

ภาพพิกัดทางภูมิศาสตร์ของวัดคูหาภิมุขตำบลหน้าถ้ำเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบร่องรอยศาสนสถาน เมืองโบราณ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่พบเทวรูปสำริด กำแพงเมือง พระพิมพ์ดินดิบแบบทวารวดีศรีวิชัย ภาพเขียนสีพระพทธรูปฉาย ภาพเขียนสีราชรถมีสัตว์เทียม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 ยะลาเป็นชุมชนเกษตร นักโบราณคดีได้พบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์บริเวณถ้ำคูหาภิมุข เป็นภาพพระพุทธฉายและภาพราชรถแกะสลักไว้บนหน้าผา ภายในบริเวณถ้ำคูหาภิมุข


:b44: พระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์ ชาวตำบลหน้าถ้ำนิยมเรียกว่า “พ่อท่านบรรทม” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ วัสดุก่ออิฐถือปูน ปั้นด้วยดินเหนียวโดยใช้ไม่ไผ่เป็นโครง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัยรุ่งเรือง ราว พ.ศ. 1300 หรือสมัยเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนคร ขนาดความยาวของพระเศียรถึงพระบาท 81 ฟุต 1 นิ้ว โดยรอบองค์พระ 35 ฟุต ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา เป็นพระพุทธรูปที่แสดงออกถึงพัฒนาการหรือการผสานศิลปวัฒนธรรมต่างยุคเข้าไว้ด้วยกัน

เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพนาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์แบบหินยาน ชาวใต้ถือกันว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 3 ของภาคใต้ เช่นเดียวกับพระบรมธาตุเมือง จ.นครศรีธรรมราช และพระธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี


มีคำกล่าวว่าหากได้มาเยือนยะลา ต้องมากราบไหว้ขอพรพระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุขแห่งนี้ จะได้ชื่อว่ามาถึงยะลาอย่างแท้จริง และหากได้มาอธิษฐานบนบานองค์พระพุทธไสยาสน์ที่ถ้ำแห่งนี้ มักจะได้ผลสำเร็จสมปรารถนา

มีประวัติว่า พบครั้งแรกปั้นด้วยดินดิบ โครงไม้ไผ่สานเป็นตะแกรง ภายในองค์พระกลวงสามารถเดินลอดเข้าไปได้ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2464 องค์พระถูกน้ำจากเพดานหยดลงมาถูกพระอุระทะลุเป็นรูลึก เจ้าอาวาสจึงสั่งให้ช่างเหล็กผูกประสานไว้ จากนั้นจึงโบกปูนทับไว้ภายนอก ส่วนข้างในที่เป็นดินเหนียวปั้นเป็นลวดลายสังวาลย์ต่างๆ นั้น เก็บบรรจุรักษาไว้ภายในองค์พระเช่นเดิม

พุทธลักษณะต่างจากพระนอนองค์อื่นๆ คือ มีพญานาคทอดตัวยาวและแผ่พังพานปรกอยู่เหนือเศียร พระกรขวาทอดออกไปข้างหน้าตามแบบอินเดีย ที่ปรากฏโดยทั่วไปนั้นพระกรมักหักศอกตั้งฉาก ส่วนพระหัตถ์ยันรับพระเศียรไว้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นรูปหนึ่งของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

ประดิษฐานภายในถ้ำคูหาภิมุข วัดคูหาภิมุข เดิมชื่อ วัดหน้าถ้ำ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 วัดคูหาภิมุข มีพระพุทธรูป สมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง ใกล้ๆ กับวัดมีภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู สวยงามมาก ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนทำหินอ่อนจำหน่าย หินอ่อนสีชมพูจากยะลามีความสวยงาม มีชื่อเสียงระดับประเทศ



:b44: พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย

พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดคูหาภิมุข มีวัตถุโบราณที่ขุดค้นได้จากถ้ำต่างๆ ในตำบลหน้าถ้ำ ได้แก่ ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น กรมศิลปากรค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ สมัยศรีวิชัย สถูป เม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป ขวานหินขัด และบริเวณสนามบินท่าสาป ได้ค้นพบโคกอิฐ เนินดิน ซากกำแพงเมืองโบราณ เครื่องถ้วยชาม เทวรูปพระนารายณ์สำริด สูงประมาณ 1 ศอก (0.5 เมตร) พระพุทธรูปแกะสลักในแผ่นหินมีสภาพสมบูรณ์ จำนวน 3 องค์ กว้าง 21.50 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมาตร สลักเป็นรูปนูนต่ำ รูปพระพุทธเจ้าประทับนั่ง ปางสมาธิ อีกองค์หนึ่งชำรุดครึ่งหนึ่งมีแร่พระเศียร พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง

พระพุทธรูปที่ค้นพบที่ถ้ำคนโท ที่เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหินมีอยู่ 3 องค์องค์ที่สมบูรณ์ ที่สุดสลักในแผ่นหินกว้าง 21.5 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร สลักเป็นรูปนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้า ประทับนั่งแสดงปางสมาธิ ส่วนอีกรูปหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ชำรุดเสียครึ่งหนึ่งมีแต่พระเศียร พระพุทธรูปสำริด ที่พบจากถ้ำคนโทมีจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ตกเป็นสมบัติเอกชนและไม่เป็นที่ เปิดเผยว่าอยู่ที่ใดบ้าง ที่เป็นสมบัติของวัดคูหาภิมุขเพราะชาวบ้านนำมาถวาย ซึ่งมักจะไม่สมบูรณ์ มีทั้งที่เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง บางองค์ก็สันนิษฐานว่าเป็น แบบศรีวิชัย แต่ ยังไม่มีการยืนยันให้แน่นอนลงไปได้ เนื่องจากภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู ซึ่งหาได้ยากมาก รัฐบาลจึงได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนสำรวจทำหินอ่อนออกจำหน่าย ปัจจุบันหินอ่อนสีชมพู จากยะลามีชื่อเสียงมาก แต่ในอนาคต ถ้ำสำเภา ถ้ำคนโท และเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพิมพ์ในภูเขาแห่งนี้คงจะสูญหายไปด้วย

จากบันทึกของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการข้างต้น ทำให้ทราบว่าพื้นที่จังหวัดยะลาบริเวณตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กัน และพัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์


:b8: ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหาและรูปภาพ :
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=14766
http://www.learners.in.th/blogs/posts/498938
http://loveyala.blogspot.com/2013/04/wa ... giant.html

:b46: นอนอย่างไรจึงเรียก “สีหไสยาสน์” : มหานาลันทา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=28581

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร