วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 12:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว




คำอธิบาย: มหาชวนเปรียญธรรม7ประโยคแห่งวัด บวรๆ
4(314).jpg
4(314).jpg [ 31.85 KiB | เปิดดู 9652 ครั้ง ]
หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด พระผู้บูชาไฟ-เผากิเลสในใจมนุษย์ เวบหนังสือพิมพ์สยามรัฐ - 3/12/2548 สมัยสงครามอินโดจีน พระเกจิอาจารย์ดังหลายรูปต่างเป็นที่พึ่งทางกายและใจของบรรดาทหารหาญ และชาวบ้าน ดังนั้น วัตถุมงคล-เครื่องรางของขลังของพระเกจิในยุคนั้น จึงโด่งดังมาจนทุกวันนี้ และมีมูลค่าในการเช่าหาที่ค่อนข้างสูง “ผ้าประเจียด” ของ “หลวงพ่อโอภาสี แห่งอาศรมบางมด กทม.” เป็นเครื่องรางอย่างหนึ่งที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนสมัยนั้น เพราะมีคุณานุภาพอันวิเศษยิ่ง ท่านจัดพิธีปลุกเสกที่วัดบวรนิเวศฯ โดยอาราธนาพระเถระผู้ทรงวิทยาคมมาร่วมพิธีด้วย 3 รูปคือ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา และหลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา ฉะเชิงเทรา เมื่อทหารนำไปใช้ปฏิบัติการในสมรภูมิ ปรากฏว่ายิงไม่ออกบ้าง ยิงไม่ถูกบ้าง ข้าศึกเห็นทหารไทยก็พากันเสียขวัญ ถึงขนาดตั้งฉายาให้ว่า “ทหารผี” ไม่เพียงเท่านั้น พระเครื่องต่างๆ ของท่าน ยังสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนร่ำลือมากมาย และเชื่อในความขลังไม่รู้คลาย หลวงพ่อโอภาสี เป็นศิษย์เอกรูปหนึ่งของหลวงพ่อกบ วัดเขาสาลิกา จ.นครนายก ซึ่งสำเร็จทางเตโชกสิณ มีนามเดิมว่า “ชวน” เป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช บุตรของนายมิตร นางล้วน นามสกุล “มลิวัลย์” อายุได้ 5 ขวบ บิดาและมารดานำไปฝากไว้กับอาจารย์ ณ สำนักวัดใต้ เพื่อที่จะได้เล่าเรียนหนังสือ ก่อนจะนำไปฝากบวชเป็นสามเณร ณ สำนักวัดโพธิ์ โดยมีท่านอาจารย์ที่วัดนี้เป็นพระอุปัชฌาย์ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่เป็นเวลานานพอสมควรจนความรู้แตกฉาน จึงได้ลาบิดาและมารดาเดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยฝากตัวเป็นศิษย์ของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ศึกษาได้ระยะหนึ่งจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเล่าเรียนทางด้านพระพุทธศาสนาในวิชาการต่างๆ เป็นเวลานานหลายปี จึงได้เข้าสอบไล่แปลพระปริยัติธรรม สอบได้เปรียญ 3 ประโยค กระทั่งถึงเปรียญ 7 ประโยคตามลำดับ ท่านมหาชวนได้เป็นที่เคารพของประชาชน ทำให้คนรู้จักท่านมากขึ้น เพราะเห็นว่าการปฏิบัติภารกิจประจำวันของท่านเริ่มเปลี่ยนไป เพราะแทนที่จะนั่งหลับตาภาวนาเหมือนกับพระเกจิอาจารย์อื่นๆ แต่ท่านกลับบูชาเพลิงพร้อมกันไปด้วย ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สินเงินทองมีค่าใดๆ ก็ถูกนำเอาไปโยนเข้ากองไฟเสียหมด ไม่มีการเสียดายด้วยประการใดทั้งสิ้น แม้ท่านจะเผาไปมากเท่าใด ก็มีผู้ศรัทธานำไปถวายให้เผามากยิ่งขึ้น สิ่งของที่ท่านนำไปบูชาเพลิงนั้น หากท่านผู้ใดต้องการจะขอ ท่านก็ยินดีให้ การกระทำของท่าน ประชาชนจึงนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วกรุง บางคนก็มองในแง่อัศจรรย์ ซึ่งไม่เคยพบเห็น บางคนก็คิดว่าท่านวิกลจริต เพราะได้เห็นท่านมุ่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยจะจุดธูปเทียนบูชาพระมีควันตลบอบอวนไปทั่วห้อง ทำให้บางคนคิดว่าไฟกำลังไหม้กุฏิของท่าน แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นท่านนั่งสงบอยู่ที่หน้าบูชาพระในลักษณะของผู้ที่กำลังทำสมาธิ จึงจะเข้าใจว่าท่านเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยที่ตัวท่านเองไม่มีความกังวลใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะยึดมั่นความสันโดษเป็นที่ตั้ง และท่านจะฉันอาหารเพียงมื้อเพลมื้อเดียวเท่านั้น สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ที่หน้าโต๊ะบูชาในกุฏิของท่านและบริเวณรอบๆ จะเต็มไปด้วยพระบรมรูปหล่อ และพระบรมรูปฉายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจำนวนมากมาย


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:19, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว


ทุกวันเมื่อฉันเพลเสร็จท่านจะเข้าห้องเพื่อทำสมาธินานจนกระทั่งถึง 4 โมงเย็น หลังจากนั้นก็จะไปทำวัตรสวดมนต์เย็นในโบสถ์ เสร็จแล้วก็จะกลับเข้าห้องบำเพ็ญภาวนาทำสมาธิต่อไปจนเช้าของอีกวันหนึ่ง เมื่อท่านปฏิบัติเช่นนี้นานเข้า ได้มีผู้ที่เคารพไปหา ท่านมักจะกล่าวเสมอๆ ว่า “มหาชวนนั้นตายไปแล้ว อาตมาไม่ใช่มหาชวน” แต่ถ้าถามถึงอายุ ก็จะได้รับคำตอบว่า “อายุของอาตมานั้นไม่ทราบ แต่เวลานี้ 60 ปีเศษแล้ว” ทุกคนที่ได้ฟังต่างก็แปลกใจและตีความหมายไม่ออก จึงทำให้มีผู้เชื่อกันไปว่า หลวงพ่อโอกาสีมิใช่ตัวของมหาชวนโดยแท้จริง แต่เป็นวิญญาณของเทพเจ้าหรือผู้วิเศษองค์หนึ่งที่มาอาศัยร่างของมหาชวนอยู่เท่านั้น ประมาณปีพ.ศ. 2484 หลวงพ่อโอภาสีได้ออกจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร นัยว่าเสด็จพระอุปัชฌาย์ไม่ทรงโปรดการกระทำของท่าน และได้จาริกธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ จนพบกับองค์พจนสุนทร พระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการค้นคว้าเรื่องวิญญาณ และได้รับคำแนะนำให้ไปอยู่ที่ ต.บางมด อ.บางขุนเทียนซึ่งมีศาลเจ้าอยู่ด้วย เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าวก็เกิดความพอใจและได้ปักกลดลงในที่ของนายเนียม คหบดี ซึ่งเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาคนหนึ่งในย่านนั้น ในตอนกลางคืน ท่านได้ใช้ความสงบวิเวกในบริเวณสวนนี้ทำกิจของท่านด้วยการนั่งหลับตาพนมมือเข้าสมาธิอยู่ใกล้กับกองไฟที่ท่านสุมไว้อย่างสว่างไสว ต่อมาเจ้าของสวนและชาวบ้านละแวกนั้นได้เรียกชื่อท่านว่า “หลวงพ่อโอภาสี” และได้พร้อมใจกันสร้างกุฏิเล็กๆ ถวายเพื่อป้องกันแดดฝน แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจมากนัก และก็ยังคงเคร่งครัดการสุมไฟไว้ตลอดทั้งคืนเช่นเดิม ในเวลาต่อมา การก่อไฟของหลวงพ่อได้กลายมาเป็นการเผาจตุปัจจัยสิ่งของต่างๆ ที่ประชาชนนำมาถวาย เป็นต้นว่า ธนบัตรนับจำนวนหมื่นๆ ผ้าที่ประชาชนนำมาทอดเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกระป๋อง หรือแม้แต่เครื่องประดับต่างๆ ก็โยนเข้ากองเพลิงทั้งสิ้น เหล่าชาวบ้านที่รู้จุดประสงค์ของท่านก็ต่างนำน้ำมันก๊าซไปถวายเพื่อใช้ในการเผาปัจจัยต่างๆ นั่นเอง ซึ่งหลวงพ่อเคยกล่าวว่า “โดยปกติ แสงไฟที่เผาผลาญสรรพสิ่งอื่นๆ จนมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านไปนั้นก็จัดเป็นธาตุที่มีความร้อนสูงอยู่แล้ว แต่ทว่าจิตใจของมนุษย์เรายังมีความร้อนยิ่งไปกว่า กล่าวคือ ร้อนด้วยความโลภ โกรธและหลง ไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น การที่อาตมานำเอาจตุปัจจัยไทยทานทั้งหลายที่มีผู้นำมาถวายมาเผาเสียเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นพุทธบูชาขอให้ช่วยดับความร้อนในกายใจของมนุษย์ให้หมดไป หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ เผากิเลสทั้งหลายให้หมดไปนั่นเอง” หลวงพ่อโอภาสีมรณภาพไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2498 เป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว แต่สังขารยังมิได้มีการเผา ยังคงอยู่ในสวนอาศรมบางมด มีพุทธศาสนิกชนผู้เคารพศรัทธาไปกราบไหว้บูชามิได้ขาด ประหนึ่งท่านยังมีชีวิตอยู่


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:23, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว




[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[.jpg
[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[[.jpg [ 111.16 KiB | เปิดดู 9653 ครั้ง ]
รายชื่อ พระเกจิอาจารย์ที่จารแผ่นชนวน และ ร่วมพิธีพุทธาภิเษก :b8: :b8: :b8:


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:28, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว


พระกริ่งอรหัง ๒๔๙๘ วัดราชบพิธฯ ชนวนทองพันปีหลวงพ่อโอภาสี เกร็ดประวัติหลวงพ่อโอภาสี โดย แล่ม จันท์พิศาโล ข้อมูลจาก พระกริ่งอรหัง ๒๔๙๘ เป็นพระกริ่งที่วงการพระเครื่อง ส่วนหนึ่ง เช่าหากันในนาม พระกริ่งหลวงพ่อโอภาสี ทั้งนี้เนื่องจากได้รับ ทองชนวน (ทองเก่าพันปี) จากหลวงพ่อโอภาสี มาเป็นส่วนผสมในการหล่อสร้างด้วย พระกริ่งอรหัง เป็นองค์พระพุทธปฏิมากร ที่ได้จำลอง มาจากองค์ พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ คือ "พระพุทธอังคีรส" และได้ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิธฯ โดยมีพระคณาจารย์ ๑๐๘ รูป นั่งปรกปลุกเสก ความเป็นมาของ พระกริ่งอรหัง นี้ อาจารย์ ส.พลายน้อย ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่ง ของประวัติ หลวงพ่อโอภาสี...ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในเรื่องกฤตยาคมอยู่มาก โดยเฉพาะท่านมีความเคารพศรัทธาเลื่อมใส หลวงพ่อโอภาสี และเคยได้รับครอบน้ำมนต์สำหรับเก็บใส่น้ำล้างหน้าจากหลวงพ่อโอภาสีไว้ด้วย ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มียศ พลเอก ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ท่านได้สร้าง พระกริ่งอรหัง ไว้รุ่นหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื่องจากในปีนั้นท่านมีอายุครบ ๔ รอบ ๔๘ ปี จึงเห็นว่า ควรจะสร้างพระพุทธปฏิมากร องค์พระประธานไว้ในบวรพุทธศาสนาสักองค์หนึ่ง พอดีกับในขณะนั้น ทาง วัดสุวรรณจินดาราม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กำลังวางรากโบสถ์ และยังไม่มีองค์พระประธาน พลเอกสฤษดิ์ จึงตกลงใจสร้าง พระประธานถวาย โดยได้ปรึกษากับ พระธรรมปาโมกข์ (สมเด็จพระสังฆราช-วาสน วาสโน) และ พระครูอาทรธรรมานุวัตร วัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่พลเอกสฤษดิ์มีความเคารพนับถืออย่างยิ่ง พระพุทธรูปที่สร้างนี้เป็นแบบขัดสมาธิ แบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๒ ศอก ประกอบพิธีหล่อที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม. เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ และได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธสยมภูพรรณพิจิตร พร้อมกันนั้น ท่านก็ได้จัดสร้าง พระกริ่งอรหัง โดยจำลองรูปแบบจากองค์พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธฯ คือ พระพุทธอังคีรส พระกริ่งอรหัง ที่สร้างมีจำนวน ๑๐,๐๐๙ องค์ และพระคะแนน ซึ่งเป็น พระกริ่ง ๒ หน้าเหมือนกัน อีกจำนวน ๑๐๐ องค์ ในการสร้างพระ-เททองผสมโลหะ-หล่อพระในคราวนั้น คณะกรรมการตกลงกันว่า จะว่าจ้างทีมสร้างและหล่อพระของ นายช่างฟุ้ง บ้านช่างหล่อ ไปปั้นหุ้นถอดแบบพระกริ่งและเทผสมโลหะหล่อพระในมณฑลพิธีภายในบริเวณวัดราชบพิธฯ สำหรับแผ่นโลหะ ทองคำ เงิน นาก ทองแดง ทองเหลือง ได้ลงอักขระเลขยันต์ โดยพระคณาจารย์จากทั่วเมืองไทย ประมาณกว่า ๑๐๘ แผ่น เท่าที่มีหลักฐานแน่นอน คือ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ พระสังฆราช (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ปลด กิตติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร, หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด, พระภาวนาโกศลเถระ (พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อสด) วัดปากน้ำ, หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง, พระครูวินิตศีลคุณ (หลวงพ่อลา) วัดโพธิ์ศรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น สำหรับ หลวงพ่อโอภาสี ท่านได้บริกรรม ทองชนวน ให้กับพลเอกสฤษดิ์ไว้ผสมกับทองที่จะหล่อพระประธาน และพระกริ่งอรหังครั้งนั้นไว้ด้วย โดยท่านบอกว่าเป็น "ทองเก่าพันปี" พิธีผสมโลหะหล่อพระและพิธีพุทธาภิเษกฯ ได้ประกอบกันที่วัดราชบพิธฯ เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ ปีมะแม เวลา ๐๙.๒๕ น. เป็นเวลาปฐมฤกษ์ เป็นการจัดพิธีทั้งหมดให้สำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน โดยใช้เวลาตลอดทั้งวันทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า โดยมีพระครูอาทรธรรมานุวัตร เป็นผู้ดำเนินการฝ่ายพระสงฆ์, พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานจุดเทียนชัย, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโนทัย) วัดสระเกศ เป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา และพระคณาจารย์ร่วมบริกรรมคาถา นั่งปรกปลุกเสก ภายในบริเวณพิธี อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงปู่ธูป วัดแค นางเลิ้ง, หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ, หลวงพ่อไพฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิตร, พระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาส, ท่านพ่อลี วัดอโศการาม, หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว, หลวงพ่อเสงี่ยม วัดสุทัศนฯ, เจ้าคุณศรีฯ (ประหยัด) วัดสุทัศนฯ, หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง, หลวงพ่อมิ่ง วัดกก, เจ้าคุณผล วัดหนัง, หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว ฯลฯ


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:55, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว


หลังจากนั้นพลเอกสฤษดิ์ ได้ถวายพระกริ่งอรหัง แด่สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น นพวงศ์) วัดบวรฯ จำนวนหนึ่ง ถวายพระครูอาทรฯ จำนวนหนึ่ง เพื่อแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญในครั้งนั้น และอีกจำนวนหนึ่งได้ถวายให้วัดสุวรรณจินดาราม อ.ลาดหลุมแก้ว ส่วนที่เหลือพลเอกสฤษดิ์ได้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติสนิทมิตรสหาย และเหล่าบรรดาทหารทั้งหลายที่ใกล้ชิด เนื่องในโอกาสทำบุญวันคล้ายวันเกิดอายุ ครบ ๔๘ ปี ของท่าน พระกริ่งอรหัง ในส่วนของพระครูอาทรฯ ท่านได้แจกไปส่วนหนึ่งและเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่งประมาณ ๑๕๐ องค์ ท่านได้มอบให้กับ พระครูวิบูลธรรมธัช วัดราชบพิธฯ เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้ศรัทธาสาธุชนได้ร่วมกันทำบุญเช่าบูชา นำปัจจัยถวายวัดราชบพิธฯ ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเพื่อการศึกษาของเยาวชนในท้องที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ขนาดขององค์ พระกริ่งอรหัง กว้าง ๒.๐ ซม. สูง ๓.๕ ซม. เป็นเนื้อโลหะผสม ...ติดต่อสอบถามได้ที่ พระครูวิบูลธรรมธัช โทร. ๐-๒๒๒๑-๑๘๘๘, ๐-๑๙๓๐-๖๓๘๘ หรือที่ "มด" โทร. ๐-๖๕๖๕-๕๒๗๔ พระกริ่งอรหัง นี้ อาจารย์ ส.พลายน้อย ได้เขียนไว้ว่า...สร้างขึ้นด้วยพิธีแบบลงเลขยันต์และพิธีพุทธาภิเษก เพื่อให้ทรงคุณพระทั้งฝ่าย พระเดช และ พระคุณ ในฝ่ายพระเดช ทำหน้าที่กำจัดและป้องกันส่วนเสีย จึงแสดงผลดีในเชิงคงกระพันชาตรี อยู่คงคมศัตราวุธ แคล้วคลาด ปลอดภัย เพราะแสดงอำนาจปราบสิ่งตรงกันข้ามให้สลาย ในฝ่ายพระคุณ ทำหน้าที่รักษาและก่อส่วนดี จึงแสดงผลดีในทางให้เกิด เมตตา มหานิยม ศรีสวัสดี ลาภสักการะ ความสำเร็จ เพราะแสดงอำนาจ ฝ่ายสร้างความดี เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะนำ พระกริ่งอรหัง ติดตัวไปไหน จึงควรทำใจให้เลื่อมใสและเชื่อมั่นจริงๆ ในคุณพระ แล้วอาราธนาด้วยพระคาถา "อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวี คงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง" พระคาถานี้ หลวงพ่อโอภาสี ได้นำมาจารึกไว้หลังเหรียญกลมที่สร้างครั้งแรก ที่มีรูปสวัสติกะ (๒๔๙๕) นั่นคือข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในประวัติของหลวงพ่อโอภาสี อนึ่ง ตามที่เคยมีผู้เข้าใจกันว่า พระกริ่งอรหัง รุ่นนี้ หลวงพ่อโอภาสี ได้ปลุกเสกให้ด้วยนั้น เป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เนื่องจากวันประกอบพิธีที่วัดราชบพิธฯ คือ วันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๙๘ ซึ่งทางคณะกรรมการได้นิมนต์ หลวงพ่อโอภาสี ไปร่วมนั่งปรกปลุกเสกด้วย ตามความประสงค์ของ พลเอกสฤษดิ์ โดยตรง แต่พอดี หลวงพ่อโอภาสี ได้มรณภาพเสียก่อน คือ ท่านได้มรณภาพในตอนเช้าของ วันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๔๙๘ ก่อนพิธี ๑๖ วันเท่านั้น (ในปัจจุบันสรีระของหลวงพ่อโอภาสียังคงอยู่ที่วัดหลวงพ่อโอภาสี บางมด) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคารพเลื่อมใสใน หลวงพ่อโอภาสี ต่างก็ให้ความศรัทธาเช่าหา พระกริ่งอรหัง รุ่นนี้กันมาก เพราะถือว่ามีส่วนผสมของ "ทองเก่าพันปี" ที่หลวงพ่อโอภาสี ได้ปลุกเสกไว้แล้วนั่นเอง อีกทั้งยังมีพระคณาจารย์เก่งๆ ในสมัยนั้นลงจารแผ่นทองชนวนและร่วมนั่งปรกปลุกเสกหลายท่านด้วยกัน จึงมีความเชื่อกันว่าเป็นพระกริ่งที่มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยเลยทีเดียว และถ้าหากจะนับถึงความเก่า "พระกริ่งอรหัง" มีอายุการสร้างมาแล้ว ๔๙ ปี นับว่าเป็นพระกริ่งเก่าพอสมควรอีกรุ่นหนึ่งที่น่าสักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง อภินิหารของหลวงพ่อโอภาสี เกร็ดประวัติหลวงพ่อโอภาสี คัดจากหนังสือคุณทองทิว สุวรรณทัต โพสท์ใน บรรดาเกจิอาจารย์ทั้งหลายซึ่งมีอภินิหารหรือคุณธรรมอันวิเศษที่มรณภาพไปแล้วนั้น ถ้าใครเอ่ยถึง หลวงพ่อโอภาสี ก็คงจะอดอัศจรรย์ในคุณวิเศษอันสืบเนื่องจากผลการปฏิบัติของท่านไม่ได้ และด้วยเหตุนี้จึงมีผู้อ่านหลายท่านขอให้ผู้เขียนนำประวัติของท่านมาเล่าสู่ให้ฟังกันบ้าง ระหว่างปี 2484-2485 ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่จำได้ว่าผู้คนทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงพากันไปชุมนุมที่หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร นับแต่ถนนหน้าวัดบวรฯไปจนจรดตลาดบางลำพูมีคนเข้าแถวเต็มไปหมด ได้ความภายหลังว่ามารอหลวงพ่อโอภาสี แจกพระเครื่องที่ท่านทำพิธีปลุกเสก ในครั้งนั้น ชื่อเสียงของ หลวงพ่อโอภาสี โด่งดังไปทั่งสารทิศ เพราะพิธีกรรมของท่านแปลกพิสดารเกินกว่าคนธรรมดาจะกระทำได้ กล่าวคือ ท่านขนเอาสมบัติพัสถานในกุฏิของท่าน ไม่ว่าจะเป็นตู้โต๊ะ หนังสือตำรา ถ้วยโถโอชามอันเป็นของเก่าแก่มีราคา ตลอดจนกองธนบัตรที่มีคนมาถวาย มากองสุม ณ บริเวณสนามหญ้า แล้วจุดไฟเผาท่ามกลางความตกตะลึงของพระภิกษุสามเณร และผู้คนที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง พอไฟมอดลงแล้วท่านก็เดินหายไปในกุฏิเพื่อสวดมนต์ภาวนาของท่านต่อไป การประกอบพิธีกรรมอันประหลาดของท่านซึ่งมีติดต่อกันหลายครั้งในสมัยนั้น ทำให้วัดบวรนิเวศวิหารพลุกพล่านไปด้วยผู้คนเป็นประวัติการณ์ จึงเป็นเหตุให้หลวงพ่อโอภาสีต้องออกจากวัดบวรฯในเวลาต่อมา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว


และในที่สุดท่านก็ไปอยู่ที่อาศรม ณ ตำบลบางมด เรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ของพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีความรู้ในพระธรรม พระวินัย จนสอบได้เปรียบแปดประโยคท่านนี้ ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมเรื่องราวของท่านจากหนังสือบางเล่ม และจากท่านผู้รู้บางท่าน พอได้ใจความมาเสนอดังต่อไปนี้ หลวงพ่อโอภาสี หรือ พระมหาชวน โอภาสี (ป.เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2441 เรียนหนังสือจบขั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สอบได้นักธรรมโทจึงเดินทางมาศึกษาบาลีควบคู่ไปกับนักธรรมเอก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญ 8 ประโยค จากนั้นได้หันมาปฏิบัติตามลำพัง เป็นสำคัญกระทั่งในวันหนึ่งท่านได้ประกาศว่า "มหาชวนนั้นตายไปแล้ว บัดนี้เหลือแต่โอภาสีผู้ปรารถนาในความหมดสิ้นจากอาสวะทั้งหลาย" ท่านเจ้าคุณราชธรรมนิเทศ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า "มีสิ่งที่น่าประหลาดอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวกับหลวงพ่อโอภาสีเห็นเขาพูดกันว่า เมื่อครั้งท่านยังเป็นพระมหาชวนนั้นที่แก้มซีกขวาของท่านยังไม่มีไฝฝ้า แต่ครั้นมาเป็นหลวงพ่อโอภาสีกลับมีปานดำขึ้นที่แก้มจนเห็นได้ชัด ไม่ทราบว่าปานนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะคนเรามักจะมีปานหรือไฝก็มีกันแต่เล็กแต่น้อย นี่ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว อายุตอนนั้นประมาณ 40 ทำไมปานเกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ทราบ" เกี่ยวกับเรื่องอภินิหารของหลวงพ่อโอภาสีนั้นดูจะมีหลายประการ โดยเฉพาะได้แก่การมีหูทิพย์ ตาทิพย์ และวาจาสิทธิ์ ท่านกล่าวคำใดออกมาไม่ใคร่จะพลาดจากคำนั้น ซึ่งอาจจะสืบจากผลการปฏิบัติอย่างแรงกล้าของท่านก็เป็นได้ มีเรื่องเล่าว่า เคยมีสุภาพสตรีสูงอายุท่านหนึ่ง มีความศรัทธาหลวงพ่อโอภาสีเหลือเกิน ถึงแก่ปรารภกับญาติพี่น้องที่บ้านว่า อยากได้เส้นผมของหลวงพ่อไว้บูชา ครั้นต่อมาสุภาพสตรีท่านนั้นไปนมัสการหลวงพ่อ พอก้มลงกราบ ยังไม่ทันจะกล่าวอะไรหลวงพ่อก็ยกมือจับเส้นผมของท่าน พร้อมกับบอกว่า "ผมของอาตมาสั้นออกอย่างนี้ จะตัดไปให้โยมได้อย่างไร" สุภาพสตรีท่านนั้นถึงแก่นั่งตกตะลึงพูดไม่ออก ครั้งหนึ่งได้มีสุภาพสตรีผู้สูงด้วยอำนาจวาสนาท่านหนึ่งพาบริวารไปนมัสการหลวงพ่อที่สวนส้มบางมด ได้สนทนาปราศรัยกับท่านเป็นอันดี ชั่วครู่หลวงพ่อเหลือบไปเห็นแหวนเพชรในนิ้วมือของสุภาพสตรีท่านนั้น เปล่งประกายสุกสกาวจึงถามว่า "ถ้าอาตมาจะขอแหวนวงนี้จากคุณโยม จะเสียดายไหม" สุภาพสตรีท่านนั้นถอดแหวนออกจากนิ้วนางประเคนท่านแทนคำตอบทันที ท่ามกลางความชื่นชมของบริวาร หลวงพ่อรับไว้ หยิบพลิกดูไปมาแล้วหันไปหยิบค้อนที่อยู่ข้างหลัง วางแหวนเพชรที่ไม่รู้ว่ากี่กะรัตลงบนพื้นแล้วตอกด้วยค้อนบัดนี้! สุภาพสตรีท่านนั้นเกือบเป็นลม หลวงพ่อโอภาสีมองหน้าพลางเปรยออกมาว่า "ของดี ๆ อย่างนี้ จะสูญได้อย่างไร" สุภาพสตรีผู้นั้นหมดกำลังใจจะสนทนาต่อ อ้อมแอ้ม ๆ ออกมาสอง-สามประโยค ก็นมัสการลากลับไม่เหลียวหลัง ปรากฏว่าเย็นวันนั้น หลังจากอาบน้ำชำระกายเรียบร้อยแล้ว เปิดโถแป้งออกมา ตั้งใจจะหยิบแป้งขึ้นมาผัด กลับเห็นแหวนเพชรวงที่หลวงพ่อโอภาสีทุบจนแตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ วางอยู่ในนั้นชัดแจ้ง...เป็นวงแหวนสมบูรณ์เหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน! อีกคราวหนึ่ง คุณหลวงประเสริฐรัฐวิจารณ์ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ขององค์การท่าเรือฯ ผู้รู้จักคุ้นเคยกับหลวงพ่อมาช้านาน ได้เข้าไปนมัสการและสนทนาด้วย จนได้เวลาพอสมควรจะลากลับหลวงพ่อกลับบอกว่าประเดี๋ยวก่อน แล้วท่านก็ลุกเข้าไปในอาศรมถือธนบัตรใบละ 100 จำนวนสองใบมายื่นให้คุณหลวงพลางบอกว่า "เก็บไว้ให้ดี เป็นเงินก้นถุง" คุณหลวงก้มลงกราบรับไว้ด้วยความปีติยินดี แต่เมื่อกลับมาบ้านแล้ว ท่านนึกไปถึงเพื่อนคนหนึ่งซึ่งไปรับราชการอยู่ที่กรุงวอชิงตัน อเมริกาในขณะนั้น เพราะเพื่อนผู้นี้เคยปรารภกับท่านว่าอยากได้เงินก้นถุงของหลวงพ่อโอภาสีมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสจะได้กับเขา คุณหลวงประเสริฐคิดถึงเพื่อนผู้นั้นก็อยากจะสละเงินก้นถุงที่ตนได้มาให้แก่เพื่อนไปก่อน ด้วยคิดว่าท่านอยู่ใกล้กับหลวงพ่อ วันหน้าคงจะมีโอกาสขอได้ใหม่ ท่านจึงจัดแจงจดหมายเลขธนบัตรเอาไว้ แล้วส่งเงินนั้นไปให้เพื่อนที่วอชิงตันทันที ต่อมาอีกสามสี่วัน คุณหลวงไปนมัสการหลวงพ่ออีกครั้ง พอหลวงพ่อเห็นหน้าท่านก็หยิบธนบัตรใบละ 100 สองใบส่งให้คุณหลวง พลางหัวเราะบอกว่า "ไม่ต้องตกใจดอกคุณหลวง เขาไปเที่ยววอชิงตันมา!" ก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพเพียงไม่กี่วัน พุทธสมาคมแห่งประเทศอินเดียได้นิมนต์ให้หลวงพ่อเดินทางไปร่วมประชุมสงฆ์ทั่วโลก หลวงพ่อรับนิมนต์ ทั้งได้ส่งสานุศิษย์ผู้ติดตามอันได้แก่ นายสนิท วชิรสาร กับ นายยี.อี.เอิร์ด เดินทางล่วงหน้าไปก่อนหนึ่งสัปดาห์ ส่วนหลวงพ่อจะเดินทางไปโดยลำพังในวันที่ 31 ตุลาคม 2498 หลวงพ่อบ๋าวเอิง ทราบข่าวว่า หลวงพ่อโอภาสีจะไปอินเดียก็จะขอติดตามไปด้วย แต่หลวงพ่อบอกว่า "ขณะนี้ท่านมีธุระมาก อย่าเพิ่งไปดีกว่า และอาตมาไปครั้งนี้ก็ไม่ต้องใช้พาสปอร์ตเหมือนคนอื่นเขา จึงให้ร่วมไปไม่ได้" ภายหลังจาก นายสนิท วชิรสาร กับ นาย ยี.อี.เอิร์ดเดินทางไปถึงอินเดีย ได้พำนักอยู่ในพุทธวิหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทางพุทธสมาคมอินเดียจัดไว้รับรอง ครั้นเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 31 ตุลาคม 2498 นายยี.อี.เอิร์ด ได้เห็นภาพของหลวงพ่อโอภาสีลอยเด่นอยู่เหนือศีรษะ ใบหน้าของท่านอิ่มเอิบสดใส ภาพนั้นปรากฏเพียงชั่วครู่ก็เลือนหายไป ครั้นตกบ่ายได้มีคนเข้ามาบอกแก่คนทั้งสองว่า มีพระแก่รูปหนึ่งรอพบอยู่ข้างนอก จึงรีบชวนกันออกไป กลับพบหลวงพ่อโอภาสียืนรออยู่! ท่านบอกว่า "ฉันมาตามคำพูด ไม่มีอะไรมาห้ามฉันได้ อย่าแปลกใจเลย" ศิษย์ทั้งสองดีอกดีใจ รีบพาหลวงพ่อเข้าไปยังพุทธวิหารพลางขอตัวเพื่อไปเอาของในห้องพักของตน เตรียมจะนำหลวงพ่อออกชมบ้านเมืองอินเดีย แต่ในขณะนั้นเอง มีบุรุษไปรษณีย์นำโทรเลขมาส่ง คนทั้งสองเปิดโทรเลขอ่านดูแล้วต้องยืนตัวแข็งเพราะข้อความมีว่า "หลวงพ่อโอภาสีมรณภาพเช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2498 กลับด่วน" ปัจจุบันศพของหลวงพ่อโอภาสียังคงอยู่ในอาศรมบางมดเชิญผู้มีจิตศรัทธาไปนมัสการได้


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:58, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว




คำอธิบาย: หลวงพ่อกบ
1227002239.jpg
1227002239.jpg [ 33.8 KiB | เปิดดู 9654 ครั้ง ]
1227002364.jpg
1227002364.jpg [ 26 KiB | เปิดดู 9650 ครั้ง ]
อภินิหารหลวงพ่อโอภาสี ๒ จากนิตยสารโลกหน้ามีจริง โพสท์ในเวบกองทัพพลังจิต > พุทธศาสนา > พระเครื่อง - วัตถุมงคล โดย พระมหาชวน เปรียญ ๗ ประโยค ได้เข้ามาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร จนได้เปรียญ ๗ ประโยค ครั้นเมื่อท่านได้ไปทอดกฐินที่วัดหลวงพ่อกบ วัดเขาสาลิกา ที่ลพบุรี ได้เห็นหลวงพ่อกบ หลวงพ่อกบ เผาสมบัติที่มีผู้นำมาถวาย จึงเข้าไปกราบนมัสการเรียนถามเหตุผล เมื่อได้ฟังธรรมจากหลวงพ่อกบแล้วก็เลื่อมใส จนเมื่อกลับมาถึงวัดบวรนิเวศวิหาร ก็หยุดการเรียนปริยัติหันมาเรียนทาง ปฏิบัติ ออกธุดงค์และบูชาไฟตามรอยหลวงพ่อกบ วัดเขาสาลิกา บรรดาพระในวัดบวรนิเวศวิหารเข้าร้องเรียนเรื่อง มหาชวนเผาข้าวของที่มีผู้นำมาถวายและ บูชาไฟ ว่าอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้วัดบวรฯ ขึ้นได้ อีกประการหนึ่งวัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดหลวง ฝ่ายธรรมยุต การบูชาไฟย่อมขัดกับข้อวัตรปฏิบัติแห่งธรรมยุติกนิกาย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรฯ ขณะนั้น จึงเรียกมหาชวนมาพบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงให้มหาชวนเลือกปฏิบัติสองทาง คือทางแรกอยู่ในสำนักวัดบวรฯ ต่อไป แต่ต้องยุติการบูชาไฟ และทางที่สอง คือย้ายออกจากวัดบวรฯ ไปจำพรรษาที่อื่น มหาชวนกราบทูลว่าขอเลือกทางที่สอง คือแบบแบกกลดธุดงค์ออกจากวัดบวรฯ มหาชวนซึ่งต่อมาได้เรียกตัวเองว่า “โอภาสี” โดยบอกว่า มหาชวนได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ที่อยู่นี่คือ “โอภาสี”


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:31, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว




64.jpg
64.jpg [ 204.87 KiB | เปิดดู 9649 ครั้ง ]
หลังจากนั้นหลวงพ่อโอภาสีได้ไปอาศัยลานดินว่างในสวนส้มที่ตำบลบางมดเป็นที่ปักกลด โดยออกบิณฑบาต และบูชาไฟ มีผู้ที่เคยไปนมัสการท่านที่วัดบวรนิเวศวิหารติดตามมาคอยอุปัฏฐาก ต่อมาเจ้าของสวนได้ถวายที่ดินโดยรอบสถานที่ที่ท่านปักกลดทำ เป็นสำนักสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นวัดโอภาสีจนทุกวันนี้ ตอนนั้นชาวสวนแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งบอกว่าหลวงพ่อโอภาสี ทำให้สวนของพวกเขาอยู่ในอันตราย หากกองไฟที่หลวงพ่อโอภาสีเผาสมบัติลุกลาม ไหม้สวนจนวอดวายเป็นขนัดๆ นายตี๋ อันธพาลรับจ้างเป็นรายแรกที่มาลองดีกับหลวงพ่อโอภาสี นายตี๋เล่าว่า ได้รับค่าจ้างจากเจ้าของสวนที่ไม่พอใจหลวงพ่อโอภาสี ว่าจ้างให้ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้หลวงพ่อโอภาสีถอนกลดออกไปจากพื้นที่เสีย คืนแรกนายตี๋ได้เก็บก้อนหินขนาดเหมาะมือใส่ถุงปุ๋ยมาแอบซ่อนไว้ไม่ไกลจากกลดที่หลวงพ่อปักไว้ พอได้โอกาสเหมาะ หลวงพ่อโอภาสีอยู่เพียงลำพัง ก็ใช้ก้อนหินขว้างปากลดของหลวงพ่อ ถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง ก้อนที่ถูกก็ปรากฏสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นแก่ตาตนคือ พอก้อนหินกระทบหลังคากลด ก็เกิดกระเด้งกลับมาอย่างแรง ทีแรกก็เฉียดตัวนายตี๋ นายตี๋จึงคำรามในใจว่า แน่นักเรอะ! คราวนี้แหละจะเขวี้ยงให้ผ่านประตูกลดที่เปิดไว้ให้ถูกตัวหลวงพ่อเลยทีเดียว ให้มันรู้กันไปว่าจะแน่สักแค่ไหน ‘‘พอผมขว้างก้อนหินเข้าไปตรงจุดที่ผมกะไว้ ก้อนหินก็กระเด็นย้อนกลับมาด้านบน หล่นลงมากลางกบาลของผมพอดี หัวแตกเลือดไหลโกรก จนผมต้องวิ่งไปเข้าโรงพยาบาลให้หมอเย็บถึง ๑๐ เข็ม ไม่อาจไปรบกวนหลวงพ่อได้อีก พอแผลหายผมจึงไปกราบเท้าท่าน ไปสารภาพให้ท่านอโหสิให้แก่ผม ท่านยิ้มแล้วพูดกับผมว่า... ‘‘อาตมาไม่ได้คิดร้ายกับใคร ไม่พยาบาทใคร กรรมของโยมต่างหากที่มันย้อนกลับไปทำร้ายโยม’’ ทางด้านนายโสม ผู้ว่าจ้างนายตี๋ให้เอาก้อนหินไปขว้างใส่กลดของหลวงพ่อโอภาสี แต่นายตี๋กลับกลายไปเป็นศิษย์อุปัฏฐากหลวงพ่อแทน จึงเกิดความเคียดแค้นมาก คืนนั้นกินเหล้าย้อมใจจนได้ที่ แล้วเอาปืนพกเหน็บเอว แอบเข้ามาที่ใกล้ๆ กับกลดของหลวงพ่อโอภาสี ชักปืนขึ้นมาหันปากกระบอกขึ้นฟ้า แล้วตะโกนร้องว่า ‘ไปให้พ้นโว๊ย ไปเผาของที่อื่น หากยัง อยู่ที่นี่ชาวบ้านเขาจะเดือดร้อน’ จากนั้นก็รัวกระสุนเข้าใส่กลดจนหมดลูกโม่ สะใจแล้วก็เดินทางกลับบ้าน นายโสมเล่าว่า ‘‘เช้ามืดวันรุ่งขึ้น มีตำรวจจากกองปราบมาล้อมบ้านผม เอาหมายค้นมาด้วย มาค้นบ้านและยึดปืนที่ผมเอาไปยิงขู่หลวงพ่อโอภาสีเมื่อคืนก่อน โดยระบุว่าจะเอาไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นปืนกระบอกเดียวกันกับที่ก่อคดีฆ่านายสุชาย เจ้าของสวนย่านเดียวกับผมหรือเปล่า แต่ผมไม่ได้เป็นคนทำ’’ กว่าเรื่องจะเรียบร้อย นายโสมต้องถูกนำตัวไปสอบสวนแล้วสอบสวนอีก เสียเงินเสียทองจ้างทนายมาสู้ความ จนหมดเงินไปมากมาย ที่สุดก็ต้องมากราบหลวงโอภาสีเพื่อขอให้ท่านช่วย โดยสารภาพผิดว่าเคยเอาปืนมายิงขู่หลวงพ่อตอนกลางคืน หลวงพ่อโอภาสีท่านก็อโหสิและพรมน้ำมนต์ให้ ในที่สุดนายโสมก็พ้นผิดและได้กลายมาเป็นศิษย์ของหลวงพ่อโอภาสีเช่นกัน นายกวย ชายชาวจีนซึ่งเช่าที่ดินทำสวนผักในบริเวณนั้น เห็นว่าสำนักสงฆ์ของหลวงพ่อโอภาสีมีข้าวของมากมาย น้ำมันก๊าด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันบัว เครื่องใช้ไม้สอยวางไว้มากมาย นายกวยเลยถือวิสาสะมาหยิบเอาไปใช้ ตอนแรกก็แค่เอาขวดมากรอกน้ำมันก๊าดเมื่อ เห็นว่าหลวงพ่อโอภาสีไม่ว่าอะไรก็เลยหิ้วไปเป็นปี๊บ ต่อมาเมื่ออยากได้อะไรก็มาหยิบฉวยเอาไปตามใจชอบ ผู้ดูแลสำนักสงฆ์จึงไปกราบเรียนหลวงพ่อโอภาสีเรื่องที่นายกวยมาหยิบข้าวของไปตามอำเภอใจ หลวงพ่อโอภาสีจึงพูดกับผู้ดูแลสำนักสงฆ์ว่า ‘‘ไอ้คนบ้า หากอยากได้อะไรมาขอ มีหรือจะไม่ให้ ก็ของพวกนี้ เขาเอามาถวาย เผาทิ้งยังทำได้เลย แล้วคนมาขอเอาไปกินไปใช้ ใครจะปฏิเสธ ไอ้คนนี้มันทำบ้าๆ’’ หลังจากหลวงพ่อโอภาสีพูดว่า ไอ้คนบ้า ได้เพียงไม่กี่วัน นายกวยก็กลายเป็นบ้า ร้องเล่นเต้นงิ้วไปตามเรื่อง งานการไม่ทำ วิ่งไปมาร้องเพลงแต่เพลงงิ้ว ญาติพาไปปากคลองสานก็รักษาไม่หายกลับเป็นหนักขึ้นอีก จนมีชาวจีนที่เป็นศิษย์ของหลวงพ่อโอภาสีไปบอกว่า อาจเป็นเพราะนายกวยไปลักขโมยของจากสำนักสงฆ์เลยเป็นบ้า จึงช่วยกันมัดนำตัวไปหาหลวงพ่อโอภาสี พอไปถึงท่านก็พูดว่า ‘‘อ๋อ นี่หรือที่ชอบมาขโมยของในสำนักสงฆ์ ขอดีๆ ทำไมจะไม่ให้ นี่คงบ้าๆ บอๆ ใช้กรรมไปพอสมควรแล้วนี่ ทีหลังอยากได้อะไรก็มาขอดีๆ หายได้แล้ว ไม่ได้บ้าอะไรนี่นา เป็นคนดี ๆ แท้ ๆ จะบ้าได้อย่างไรกัน’’


แก้ไขล่าสุดโดย หลับอยุ่ เมื่อ 27 ม.ค. 2010, 19:32, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2010, 23:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว


สิ้นคำหลวงพ่อ นายกวยก็ได้สติกลับเป็นนายกวยคนเดิม ทำหน้าตาเหรอ ถามว่าตนมาอยู่ที่สำนักสงฆ์ได้อย่างไร พอรู้เรื่องละเอียดก็เข้ามากราบขอโทษ หลวงพ่อได้ให้น้ำมันก๊าด กับน้ำมันบัวแก่นายกวยอย่างละหนึ่งปี๊บ นายสมานได้เล่าถึงอภินิหารของหลวงพ่อโอภาสีให้ผู้เขียนฟังว่า ได้มานมัสการหลวงพ่อให้ลงธนบัตรขวัญถุงชนิดใบละ ๑๐๐ บาท หลังจากหลวงพ่อลงให้เรียบร้อย จึงเอากลับมาที่ร้านขายอาหาร กะว่าจะเอาไปใส่กรอบ ก็พอดีญาติกัน เดินทางจากสหรัฐฯ กลับมาเยี่ยมบ้าน ได้คุยกัน ญาตินายสมานบอกว่าจะกลับไปเปิดร้านอาหารที่ลอสแองเจลิส อยากได้ธนบัตรขวัญถุงไปไว้ที่ร้านสักใบ นายสมานจึงเอาธนบัตรขวัญถุงที่หลวงพ่อโอภาสีลงให้มอบให้ญาติเอาไปใส่กรอบติดร้านขายอาหาร โดยคิดว่าเดี๋ยวตนไปหาหลวงพ่อให้ทำให้ใหม่ได้ หลังจากนั้นนายสมานก็นำธนบัตรใบละ ๑๐๐ บาทใบใหม่ไปให้หลวงพ่อโอภาสีลงให้ แต่ใบที่ท่านส่งกลับมาให้ปรากฏว่าเป็นธนบัตรขวัญถุงใบที่ตนได้ให้ญาติเอาไปสหรัฐอเมริกา เป็นใบเดียวกันแน่นอนเพราะตนเองจำหมวดหมายเลขได้แม่นยำ แล้วหลวงพ่อโอภาสีก็พูดขึ้นว่า ‘‘น่าจะเก็บไว้ให้ดี เป็นของเฉพาะตัว กลับให้ท่านบินไปสหรัฐฯ ท่านเลยกลับมาอยู่เมืองไทย ใบใหม่ที่เอามา จะลงให้แล้วส่งไปอเมริกาเอง ไม่ต้องเป็นห่วง’’ หลายเดือนต่อมา มีจดหมายจากญาติที่สหรัฐฯ มาถึงนายสมานใจความในจดหมายเล่าว่า ‘‘อยู่ดี ๆ ธนบัตรขวัญถุงที่ให้มาและเราใส่กรอบผนึกแขวนไว้ที่ฝาผนังใกล้กับโต๊ะแคชเชียร์ ก็หายไปเหลือแต่กรอบเปล่า ๆ โดยไม่รู้ว่าหายไปได้อย่างไร แต่แล้ววันหนึ่งเราก็แทบไม่เชื่อสายตา ในกรอบกลับมีธนบัตรขวัญถุงอยู่ภายใน เป็นใบละ ๑๐๐ บาท แต่หมวดตัวเลขผิดกับของเก่า หากเรามีเวลากลับมาเมืองไทย ช่วยพาเราไปหาอาจารย์ของนายด้วย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร