วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 17:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2010, 13:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.ย. 2008, 21:24
โพสต์: 28

ที่อยู่: นนทบุรี

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วัดหลวงขุนวิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นวัดป่าที่อยู่ในป่าจริงๆ ที่ตั้งของวัดนี้อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านและแหล่งชุมชน เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติมาก

ประวัติของวัดหลวงขุนวิน

....ในสมัยพุทธกาลหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายนานได้ 25 พรรษา ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ในพระวิหารเชตะวัน ปัจจุบันสมัยใกล้รุ่งคืนหนึ่งพระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า “อายุตถาคตได้ 60 พรรษา นับแต่นี้ไปอีก 20 พรรษาบริบูรณ์ก็จะนิพพานไปเวไนยสัตว์ผู้มีบุญสมภารมาก (มีบุญสะสมไว้มาก) ต่างก็เข้ามาสู่ในคำสอนของคถาคตสำเร็จมรรคสำเร็จผลไป สัตว์โลกที่มีสมภารอ่อน (มีบุญที่สะสมไว้น้อย) ก็ยังมีอีกมาก เราสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ถึงมรรคถึงผลนั้นก็หาได้สอนเต็มที่ไม่ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่พอเต็ม 25 อสงไขยทุกตัวสัตว์ได้ เราก็จักนิพพานไป สมควรเราจะตั้งจิตอธิษฐานไว้ยังพระพุทธศาสนา พระบาท พระธาตุ และพระรัตนตรัย เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของคนและเทวดาทั้งหลาย ประการหนึ่ง เมื่อเรานิพพานไปแล้วและเพื่อให้พระศาสนาอยู่เฝ้าสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์ ชักจูงเข้าสู่พระนิพพานให้ครบจำนวนประมาณ 25 อสงไขย ตามพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

....อีกประการหนึ่ง เมื่อเรานิพพานไปแล้วได้ตั้งพระพุทธศาสนาไว้ 5,000 พรรษา คือ เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้ 2,000 พรรษา เข้าไปสู่ 3,000 พรรษา บาปและกรรมเวร 5 ประการ จะมาครอบงำยุยงส่งเสริมให้คนและสัตว์ทั้งหลายถึงความพินาศฉิบหาย เหตุนั้นเราควรไปตั้งจิตอธิษฐานยังพระบาทและพระธาตุไว้ในที่อันสมควรเพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนและเทวดาทั้งหลายให้เป็นเสมือนดั่งตัวเรายังทรมานดำรงชีวิตอยู่”

....ความรำพึงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าในข้อนี้บังเกิดขึ้นแก่พระองค์ในวันเดือนเจียง (เดือนอ้าย) วันเพ็ญ จากนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเถระอรหันต์ 3 รูป คือพระโสณเถระ 1 พระอุตตระเถระ 1 พระอานนทเถระ 1 พร้อมด้วยพระอินทร์ทรงกั้นฉัตรแก่พระพุทธเจ้า และยังมีพระยาองค์หนึ่งพระนามว่าพระยาอโศกราช (พระเจ้าอโศกมหาราช) เมืองใหญ่ในกุสินารา พระองค์ทรงบังเกิดปสาทศรัทธาทรงเป็นผู้อุปัฏฐาก (อุปถัมภ์บำรุง) พระพุทธเจ้าในเชตวันมหาวิหาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพาท่านทั้งหลายดังกล่าวมานี้ เสด็จออกจากเชตวันมหาวิหาร ในวันเดือนเจียง แรม 2 ค่ำ เสด็จเข้าสู่เมืองกุสินารา เมืองคูลวา (ทมิฬ) เมืองแกว (ญวน) เมืองลังกา เมืองละโว้ อโยธยา ทวารวดีทั้งมวล เสด็จขึ้นไปเมืองจีนหลวง เมืองเวเทหะ (จีนฮ่อ) เมืองโกศล เมืองลื้อไทย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2010, 13:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.ย. 2008, 21:24
โพสต์: 28

ที่อยู่: นนทบุรี

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

....ความเป็นจริงแล้วหลักฐานความเป็นมาของพระธาตุวัดหลวงฯ ไม่สามารถหาได้ในปัจจุบัน เพราะสร้างมาหลายยุคหลายสมัย มีทั้งรุ่งเรืองบ้างและเสื่อมบ้าง บางสมัยก็กลายเป็นวัดร้างหลายปี การเช่นนี้จึงทำให้หลักฐานความเป็นมาของวัดหลวงขุนวินสาบสูญไป ฉะนั้น เป็นการพยายามอย่างยิ่งที่จะรวบรวมประวัติความเป็นมาให้บริบูรณ์ได้ จึงสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความเลื่อมใสและได้กราบทูลขอพระเกศาธาตุ พระพุทธองค์ทรงประทานให้แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบไว้บนยอดเตี้ยๆ ลูกหนึ่งชื่อว่า พระธาตุม่อนเปี้ยะดังนี้แล

หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงจาริกมาทางทิศที่จะมาเพื่อประทับรอยพระบาท แต่ในสถานที่นั้นหินที่เป็นก้อนใหญ่ไม่ค่อยมีจึงได้หินก้อนหนึ่งกว้างประมาณ 1 ศอก และยาว 2 ศอก จึงนำมาถวายพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทให้ แต่เนื่องจากหินก้อนเล็กไปจึงปรากฏเฉพาะรอยฝ่าพระบาทเท่านั้น ส่วนส้นและนิ้วพระบาทหายไป และพระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ว่า พระพุทธบาทนี้ไม่เต็มรอยเพราะแหว่งไป (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า หวิดไป) ฉะนั้น เมืองนี้จึงมีชื่อว่าเมืองหวิด ต่อมาได้ชื่อว่า เมืองวิน ดังนี้แล

...จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จจาริกมายังบริเวณที่ตั้งของวัดหลวงขุนวินปัจจุบันนี้ และพอจะสันนิษฐานได้ว่า ปู่หลาน เดิมนั้นคงจะมีบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดหลวงฯ และพระพุทธองค์ทรงรับบิณฑบาตในที่นี้ หลังจากทรงฉันภัตตาหารแล้ว มีชาวลัวะ 2 ท่าน คือ ขุนสาบและขุนสระเมิง มีจิตเลื่อมใส ได้กราบทูลขอพระเกศาธาตุ พระพุทธองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์แล้วทรงประทานเส้นพระเกศา 5 เส้น จึงได้สร้างพระเจดีย์ 5 ยอด บรรจุเอาไว้ เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของชนทั้งหลายตราบจนทุกวันนี้

....หลังจากนั้น วัดหลวงขุนวิน ได้เจริญรุ่งเรืองและถึงความเสื่อมไปตามยุคตามสมัยเรื่อยมา ครั้นต่อมามีหลักฐานจารึกในใบลานว่า เจ้าหมื่นคำซาว ฐานะเป็นน้องของขุนหลวงวิลังคะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ทำนุบำรุงวัดหลวงฯ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีครูบาปัญญาวงศา เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 1760 ได้เจริญรุ่งเรืองมาถึงปี พ.ศ. 1802 พม่าตีเมืองเชียงใหม่แตกวันนี้จึงกลายเป็นวัดร้าง

....ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2497 ครูบาอุ่นเรือน สุภทฺโท วัดบ้านควน ตำบลพรหมหลวง อำเภอสันป่าตอง มาบูรณะวัดนี้อีกครั้งหนึ่ง สร้างเสร็จได้นิมนต์ครูบาอภิชัย ขาวปี มาเป็นประธานร่วมฉลอง เมื่อปี พ.ศ. 2501 ครั้นต่อมา ปี พ.ศ. 2530 ครูบาอุ่นเรือน อาพาธหนักและได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2507 ที่วัดบ้านควน ต่อมาเจ้าชื่น สิโรรส ได้นิมนต์หลวงปู่เณรไจ๋ อุ่นเรือน จากวัดอุโมงค์เถรจันทร์ มาจำพรรษาในปี พ.ศ. 2505 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2532 พระอาจารย์สมบูรณ์ รตฺนญาโณ จำพรรษาอยู่ได้ 8 ปี และได้มอบให้แก่พระอาจารย์จรัญ ทกฺขญาโณ แห่งวัดสังฆทานดูแลสืบไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร