วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 18:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2009, 13:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b45: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
หรือ “พระแก้วมรกต”
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร


“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต”
พระประธานคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ
มีเส้นจีวรคาดเข่าทั้งสองข้าง พระองค์อวบอ้วน พระพักตร์กลมอูม
พระขนงโก่ง หลังพระเนตรอูม พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางสลักขอบทั้งสองเส้น
พระหนุเป็นปม พระรัศมีซึ่งอยู่เหนือพระเกตุมาลาเป็นต่อม
ชายสังฆาฏิยาว ฐานรองรับเป็นฐานเขียง มีหน้ากระดานโค้งออกข้างนอก

ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ เซนติเมตร
สูงตั้งแต่ฐานเฉพาะทับเกษตรถึงพระเมาลี ๒๖ เซนติเมตร
และสูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร ๖๖ เซนติเมตร
ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ


จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอรวบรวมได้ว่า
องค์พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในประมาณปีพุทธศักราช ๕๐๐
โดยพระนาคเสนเถระ เมืองปาฏลีบุตร รัฐปัตนะ อินเดีย

สถิตอยู่ได้ประมาณ ๓๐๐ ปี ต่อมาในสมัยพระเจ้าสิริกิติกุมาร
เกิดสงครามกับพวกนอกศาสนา จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต
ไปประดิษฐานไว้ที่เกาะลังกา ในประมาณปีพุทธศักราช ๘๐๐
และสถิตอยู่ที่เกาะลังกามาเป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี

ต่อมาในปี พ.ศ.๑๐๐๐ พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ
แห่งพุกาม ประเทศพม่า ซึ่งมีพระเดชานุภาพมาก ได้ส่งพระเถระ
ไปขอพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกต โดยให้บรรทุกเรือสำเภามา
แต่ระหว่างทางเกิดลมพัดแรงจึงถูกพายุพัดพาไปที่กัมพูชา
ภายหลังพระเจ้าอนุรุทธมหาราชได้ส่งคนไปขอพระแก้วมรกตคืน
แต่พระนารายณ์วงศ์แห่งกรุงกัมพูชาให้คืนมาแต่พระไตรปิฎก
แต่ไม่คืนพระแก้วมรกตมาด้วย
ต่อมาเกิดน้ำท่วมที่กัมพูชาจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต
มาที่เมืองอินทปัฐ นครวัด และประดิษฐานเป็นเวลา ๓ เดือนเศษ


รูปภาพ
พระแก้วมรกต ขณะทรงเครื่องฤดูฝน

รูปภาพ
พระแก้วมรกต ขณะทรงเครื่องฤดูหนาว

รูปภาพ
พระแก้วมรกต ขณะทรงเครื่องฤดูร้อน


ในปีพุทธศักราช ๑๘๙๐ ได้มีผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาที่กรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
และในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ซึ่งทรงครองราชย์ครั้งที่ ๒ นั้น ได้มีการปราบปรามกรุงสุโขทัยให้เป็นเมืองขึ้น
ขณะนั้นเมืองวชิรปราการ (กำแพงเพชร) ซึ่งเป็นหัวเมืองหนึ่งแห่งกรุงสุโขทัย
จึงต้องตกเป็นของกรุงศรีอยุธยาด้วย

ซึ่งต่อมากรุงศรีอยุธยาได้ส่งขุนนางผู้ใหญ่คือ พระยาญาณดิศ
ไปปกครองเมืองกำแพงเพชร นางจันทร์ผู้เป็นมารดาของพระยาญาณดิศ
ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย ซึ่งที่เมืองกำแพงเพชรนี้เองที่สันนิษฐานว่า
พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว
ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
โดยด้านทิศเหนือของวัดสร้างติดกับบริเวณวังโบราณ (สระมน)
วัดพระแก้วนี้จัดได้ว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีพระสงฆ์พำนักจำพรรษา
โดยจะมีเฉพาะเขตพุทธาวาสเท่านั้น เช่นเดียวกับที่
วัดมหาธาตุ สุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา

เชื่อกันว่าเดิมนั้นพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดของวัด
โดยจะมีฐานไพทีขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนมีฐานมณฑปย่อมุม
แต่ปัจจุบันส่วนยอดได้หักพังหมดแล้ว ซึ่ง ณ ตรงนี้เองที่เชื่อกันว่า
ในอดีตเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และในตำนานพระพุทธสิหิงค์
ได้กล่าวไว้ว่า พระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร
ในสมัยพระยาญาณดิศเป็นเจ้าเมือง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระญาติวงศ์กับกษัตริย์อยุธยา

ภายหลังพระยาญาณดิศ ได้มอบพระแก้วมรกตให้กับเจ้ามหาพรหม
แห่งเมืองเชียงราย เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๗๙
ซึ่งในเวลานั้นเมืองเชียงรายเกิดความระส่ำระส่าย
เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนพระแก้วมรกตให้พ้นจากสายตาของศัตรู
จึงได้เอาปูนทาพร้อมลงรักปิดทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์
ที่วัดพระแก้ว เชียงราย ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า วัดป่าเยี้ยะ
และสถิตอยู่ที่วัดพระแก้วเชียงรายเป็นเวลา ๔๕ ปี

จากนั้นก็อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่ลำปางอีกเป็นเวลา ๓๒ ปี
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๗๙-๒๐๑๑
จากลำปางอัญเชิญขึ้นเหนือไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
เป็นเวลา ๘๕ ปี

จากเชียงใหม่ไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ ๒๒๕ ปี
แต่เก่าก่อนตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา
ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกหนักกับพม่าจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
ทางเวียงจันทน์ถือโอกาสแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระ

จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชได้
และตั้งราชธานีใหม่ จึงได้ส่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นเมืองขึ้นเหมือนเดิม
ศึกครั้งนั้นทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด
ก่อนได้อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับคืนสู่แผ่นดินไทย

ครั้งแรกเมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี
ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม
ประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๕ ปี

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อชนะศึกเมืองเวียงจันทน์
และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาก็เกิดความยินดี
ดั่งว่าพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บารมีคู่บ้านคู่เมือง
ครั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
ได้สำเร็จ และได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์

รวมระยะเวลาที่องค์พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศไทย
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๒๑ จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา ๒๒๗ ปี


รูปภาพ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ขณะทรงเครื่อง ๓ ฤดู

รูปภาพ

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

รูปภาพ
พระมณฑปยอดปราสาทเจ็ดชั้น ตั้งอยู่บนฐานไพที
ตรงกลางระหว่างปราสาทพระเทพบิดร และพระศรีรัตนเจดีย์
ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ mr.chanchai


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
มีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
เพื่อเป็นพุทธบูชา สำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน


เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นประกอบด้วยมงกุฎพาหุรัด
ทองกร พระสังวาล เป็นทองลงยา ประดับมณีต่างๆ จอมมงกุฎประดับด้วยเพชร
เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน เป็นทองคำ เป็นกาบหุ้มองค์พระอย่างห่มดอง
จำหลักลายที่เรียกว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พระเศียรใช้ทองคำเป็นกาบหุ้ม
ตั้งแต่ไรพระศกถึงจอมเมาฬี เม็ดพระศกลงยาสีน้ำเงินแก่
พระลักษมีทำเวียนทักษิณาวรรต ประดับมณีและลงยาให้เข้ากับเม็ดพระศก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงสร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูหนาว ถวายอีกชุดหนึ่ง
ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยด้วยลวดทองเกลียว
ทำให้ไหวได้ตลอดเหมือนกับผ้า ใช้คลุมทั้งสองพาหาขององค์พระ

บุษบกทองที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
สร้างด้วยไม้สลักหุ้มทองคำทั้งองค์ ฝังมณีมีค่าสีต่างๆ ทรวดทรงงดงามมาก
เป็นฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ เดิมบุษบกนี้ตั้งอยู่บนฐานชุกชี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ สลักลายวิจิตรหนุนองค์บุษบกให้สูงขึ้น
บนฐานชุกชีด้านหน้าประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี
เป็นพระพุทธรูปที่คิดแบบขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ โดยไม่มีเมาฬี มีรัศมีอยู่กลางพระเศียร
จีวรที่ห่มคลุมองค์พระเป็นริ้ว พระกรรณเป็นแบบหูมนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป

หน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒
องค์ด้านเหนือพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
องค์ด้านใต้พระนามว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธรูปทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๓ เมตร
ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิหุ้มทองคำ เครื่องทรงเป็นทองคำลงยาสีประดับมณี

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามพระแก้วมรกต
ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาช้านาน
ดังมีใจความในหนังสือเรื่องตำนานพระแก้วมรกต
ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
พิมพ์ในหนังสือตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร
(พ.ศ.๒๕๐๔) กล่าวถึง พระราชพิธีตอนสถาปนาพระนคร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ความว่า...

...ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร
แลสมโภชพระอารามกับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเป็นกำหนด
จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า
กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยาบรมราชธานี
เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริ
สำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้...


ข้อความข้างต้นจึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของพระแก้วมรกต
ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์
ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของสยามประเทศแห่งใหม่
ต่อจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี


วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว
เป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทย
ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอยู่ไม่ขาดสาย


รูปภาพ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต”
----------

:b8: :b8: :b8: หนังสือไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด
กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน


:b44: คำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น เรื่องประวัติของพระแก้วมรกต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19699

:b44: พระเทพฯ ทรงดูแลอุปัฏฐากพระแก้วมรกตมาหลายชาติแล้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=45102

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร