วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 07:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2008, 09:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระสมเด็จชินปัญชรสมณโคดมเจ้า พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง


สักการะ 4 สังเวชนียสถานเมืองกรุง ที่ “วัดพรหมรังษี” ดอนเมือง

สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไปนั้น คงจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของพุทธชาดกเกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้ามาหลายครั้งแล้ว บางคนไม่เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น แต่ยังได้เดินทางไปถึงสถานที่เหล่านั้นในประเทศอินเดียและเนปาลด้วย เพราะชาวพุทธเชื่อกันว่าการได้ไปสักการะสถานที่เหล่านี้ หรือที่เรียกว่า “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” สักครั้งหนึ่งในชีวิตถือเป็นสิ่งที่ได้บุญกุศลแรง จึงได้มีบริษัททัวร์รับจัดทริปพาไปสักการะสังเวชนียสถานในประเทศอินเดียและเนปาลอยู่หลายบริษัทด้วยกัน

เหตุที่หลายคนต้องการไปสักการะสถานที่เหล่านี้ก็เนื่องจากว่า ใน ปรินิพพานสูตร ได้มีการกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า

รูปภาพ
พระพุทธรูป 28 พระองค์ พระประธานในอุโบสถ


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่กาลก่อนมา หลังจากออกพรรษาแล้ว มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มากราบไหว้พระพุทธองค์อย่างเนืองแน่น บัดนี้พระพุทธองค์จะปรินิพพานแล้ว จะให้พวกข้าพระองค์กราบไว้บูชาสิ่งใดพระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงตอบพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ หลังจากเราตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกเธอมีความรำลึกถึงเรา เดินตามรอยแห่งเรา จงพากันกราบไหว้สถานที่ทั้ง 4 ของเรา คือ ลุมพินีวัน สถานที่เราประสูติหนึ่ง โพธิมณฑล สถานที่เราตรัสรู้หนึ่ง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่เราแสดงปฐมเทศนาหนึ่ง และ กุสินารานคร สถานที่เราจะปรินิพพาน นี่แหละอานนท์ เป็นสถานที่สักการบูชา เป็นเนื้อนาบุญของพวกเธอทั้งหลายสืบต่อไป”

รูปภาพ
รูปหล่อหลวงพ่อโต ภายในวิหารสมเด็จฯ โต


แต่สำหรับผู้ที่กำลังศรัทธาแต่ไม่มีกำลังทรัพย์พอจะเดินทางไปไหว้ไกลถึงอินเดียและเนปาลนั้น ก็ไม่ต้องเสียใจหรือเสียดายไป เพราะในกรุงเทพฯ เองก็มีสังเวชนียสถานครบทั้ง 4 แห่ง รวมอยู่ในวัดเดียวให้ได้กราบไหว้กัน นั่นก็คือที่ “วัดพรหมรังษี” ในเขตดอนเมืองนี่เอง

วัดพรหมรังษี ไม่ใช่วัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 โดยคณะศิษยานุศิษย์ที่มีความเคารพศรัทธาใน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) แม้จะไม่ใช่วัดเก่าแก่ แต่ความโดดเด่นของวัดพรหมรังษีนี้ก็อยู่ที่สิ่งก่อสร้างน่าสนใจ อย่างสังเวชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ ซึ่งแม้จะไม่ได้จำลองมาจากต้นแบบทุกกระเบียดนิ้ว แต่ก็งดงามและน่าศรัทธาไม่แพ้กัน

รูปภาพ
รูปหล่อองค์พุทธมารดาและพระรูปของพระพุทธเจ้าปางประสูติ


สำหรับการก่อสร้างสังเวชนียสถานจำลองในวัดพรหมรังษีนี้ก็ได้เริ่มจากการสร้าง “ปราสาทพุทธมารดา” ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย ส่วนด้านในมีรูปหล่อองค์พุทธมารดาและพระรูปของพระพุทธเจ้าปางประสูติประดิษฐานไว้

ครั้นเมื่อได้เข้าไปกราบสักการะด้านใน ก็เห็นว่าบนฝาผนังนั้นมีภาพเขียนจิตรกรรมเป็นเรื่องราวการประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศิลปะสมัยใหม่แต่ก็วาดได้อย่างงดงามได้อารมณ์มากทีเดียว ถ้าสาธุชนท่านใดได้เข้าไปกราบก็อย่าลืมแวะชมกันด้วย

รูปภาพ
เจดีย์พุทธคยาจำลอง ด้านบนเป็นอุโบสถ
ส่วนด้านล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตดอนเมือง



จากนั้นก็ไปชมสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าต่อ สถานที่แห่งนี้คงจะคุ้นตาสำหรับหลายๆ คน เพราะมี “เจดีย์พุทธคยา” (จำลอง) ตั้งเด่นเป็นสง่า อีกทั้งด้านหลังองค์เจดีย์ยังมี ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นหน่อจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย มาปลูกไว้ และยังได้สร้าง พระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งเป็นแท่นที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งอธิษฐานจิตบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มาจำลองไว้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้อีกด้วย

คราวนี้อ้อมมาทางด้านหน้าเจดีย์พุทธคยากันบ้าง เจดีย์องค์นี้นอกจากจะเป็นการจำลองสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ด้านบนเจดีย์ก็ยังใช้เป็นพระอุโบสถของวัดอีกด้วย มิน่าล่ะ บางคนมองหาเท่าไรก็ยังไม่เห็นว่าโบสถ์ของวัดนี้ตั้งอยู่ตรงไหน ที่แท้ก็อยู่บนองค์เจดีย์นี่เอง

รูปภาพ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระแท่นวัชรอาสน์จำลอง


และเมื่อได้ขึ้นไปกราบสักการะพระประธานด้านบน ก็ต้องทึ่งในความสวยงาม เพราะด้านบนนี้มี พระประธานประดิษฐานอยู่ถึง 28 พระองค์ ด้วยกัน ซึ่งก็เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง 28 พระองค์นั่นเอง ซึ่งวัดที่มีพระประธานมากขนาดนี้ก็เพิ่งเคยเห็นอยู่เพียงสองวัด คือ วัดพรหมรังษี และ วัดอัปสรสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เท่านั้น

แม้พระอุโบสถแห่งนี้จะไม่ได้มีขนาดกว้างใหญ่มากนัก แต่ก็มีบรรยากาศที่เงียบสงบและเย็นสบายมากๆ ที่เย็นสบายก็เพราะสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง อีกทั้งพระประธานทั้ง 28 พระองค์ก็งดงามเป็นสีทองจับตา สร้างบรรยากาศของความศรัทธาได้ดีทีเดียว

รูปภาพ
พระสถูปเจดีย์ สถานที่แสดงปฐมเทศนา


จากสถานที่ตรัสรู้ ก็เดินมายัง “พระสถูปเจดีย์ สถานที่แสดงปฐมเทศนา” ซึ่งได้จำลองและย่อสัดส่วนมาจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ภายในพระสถูปเจดีย์ก็มีรูปหล่อพระพุทธเจ้าทรงกำลังแสดงพระธรรมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ซึ่งกำลังนั่งพนมมือฟังธรรมจากพระพุทธองค์อยู่

และไม่ไกลกันนั้นก็คือ “พระสถูปเจดีย์ สถานที่ปรินิพพาน” ภายในมีรูปหล่อพระพุทธเจ้าในปางปรินิพพานประดิษฐานอยู่บนแท่น รูปร่างคล้ายภูเขาย่อมๆ

และนอกจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลที่จำลองมานี้แล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ได้แก่ “วิหารสมเด็จฯ โต” ซึ่งภายในพระวิหารนั้นนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ แล้ว ก็ยังมีรูปหล่อเหมือนท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) อยู่หลายองค์ในหลายอิริยาบถด้วยกัน เช่น ขณะแสดงพระธรรมเทศนา, ขณะนั่งสมาธิ, ขณะบริกรรม, ขณะเดินธุดงค์ และขณะบิณฑบาต เป็นต้น

รูปภาพ
พระสถูปเจดีย์ สถานที่ปรินิพพาน


และมี “พระสมเด็จชินปัญชรสมณโคดมเจ้า” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ที่สร้างขึ้นเป็นถาวรวัตถุสิ่งแรกๆ ภายในวัด อีกทั้งมีพระพุทธรูปปางทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยา และสิ่งสำคัญอื่นๆ อีกมากที่สาธุชนต้องมาเยี่ยมชมด้วยตนเอง

หากชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดจนทั่วแล้ว ก็อย่าลืมแวะเวียนมาที่ชั้นล่างของเจดีย์พุทธคยา (จำลอง) เพราะที่ชั้นล่างของเจดีย์นี้เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตดอนเมือง” ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเขตดอนเมืองไว้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของเขตดอนเมือง ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่า ดอนอีเหยี่ยว และดอนอีแร้ง ก่อนจะมารู้จักกันในชื่อดอนเมือง เพราะเป็นสถานที่ตั้งของสนามบินดอนเมือง

รูปภาพ
ภายในพระสถูปเจดีย์ สถานที่ปรินิพพาน


ฉะนั้น ข้อมูลภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังทำให้เราได้รู้ว่า เมื่อก่อนนี้ชาวดอนเมืองยังคงประกอบอาชีพทางการเกษตร มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาอยู่กับสายน้ำจากคลองเปรมประชากร ยังปลูกผัก จับปลา สานเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนกันอยู่ นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังได้ทราบถึงวัฒนธรรม ประเพณี และของดังขึ้นชื่อประจำถิ่นในแถบดอนเมือง ตลอดจน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแถบนี้อีกด้วย

ได้ครบทั้งการมาไหว้พระ ไหว้สังเวชนียสถาน 4 ตำบล แล้วก็ยังได้ข้อมูลความรู้จากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตดอนเมือง “วัดพรหมรังษี” จึงเป็นอีกหนึ่งธรรมสถานที่น่าสนใจในเขตกรุงเทพฯ ที่อยากจะให้สาธุชนผู้สนใจทุกท่านได้ลองมาเยี่ยมชมกัน

รูปภาพ
ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตดอนเมือง


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดพรหมรังษี ตั้งอยู่เลขที่ 24/1 หมู่ 5 ซอยศิริสุข ถนนสรงประภา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210 การเดินทาง วิ่งเข้ามาตามถนนช่างอากาศอุทิศ (ซอยข้างสำนักงานเขตดอนเมือง) วิ่งตรงมาเรื่อยๆ จนถึงหมู่บ้านศิริสุข วัดจะอยู่ท้ายหมู่บ้านศิริสุข สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 0-2565-2653

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 มกราคม 2551 16:13 น.

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2009, 11:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ก.ค. 2009, 20:12
โพสต์: 791

แนวปฏิบัติ: พุทโธและสัมมาอรหัง
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: ใต้ร่มโพธิญาณ
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อีกหนึ่งวัดที่ต้องไปสักการะให้ได้ในโอกาสที่เหมาะสม สาธุ

.....................................................
ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมี 30 ทัศ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จนิพพานไปแล้ว มากยิ่งกว่าเม็ดกรวดเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง 4 ด้วยเดชะพระพุทธานุภาพ พระธรรมมานุภาพ พระสังฆานุภาพ พระบารมีพระโพธิสัตว์ พระปัจเจกโพธิสัตว์เจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายและพระบารมีขององค์พระสมณะโคดมบรมครู ขอได้ส่งพลังมายังตัวข้าพเจ้า จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บและสรรพเคราะห์ทั้งหลายในกายของข้าพเจ้า จงหายไปสิ้นทั้งหมดขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะต่ออุปสรรคและมารทั้งหลาย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร