วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 21:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2008, 15:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุโบสถวัดเทวราชกุญชร


สักการะพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่ “วัดเทวราชกุญชร”

เวลาที่นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาผ่านที่ท่าน้ำเทเวศร์ทีไร สายตาก็จะมองไปเจอสิ่งก่อสร้างภายในวัดแห่งหนึ่ง ดูท่าว่าจะเป็นศาลาหรือวิหารของวัด มองเห็นหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเห็นได้ชัด และที่ท่าน้ำของวัดนี้ก็มักจะมีคนมาปล่อยหอยปล่อยปลาหรือมาให้อาหารปลาอยู่บ่อยๆ

มารู้ทีหลังว่าวัดนี้คือ “วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” พระอารามหลวงในย่านเทเวศร์ จึงตั้งใจไว้ว่าจะต้องเข้าไปไหว้พระและชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดให้ได้สักวันหนึ่ง

หลังจากสบโอกาสเหมาะในวันที่อากาศดี ก็ได้มากราบพระที่วัดเทวราชกุญชรนี้จนได้ และก็ได้รู้ประวัติของวัดนี้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมมีชื่อว่า วัดสมอแครง คู่กับ วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก คำว่า “สมอแครง” นั้น น่าจะมาจากคำว่าถมอแครง เป็นภาษาเขมร แปลว่าหินแกร่ง แต่เรียกเพี้ยนกันต่อมาเป็นวัดสมอแครง

รูปภาพ
พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านหลังเป็นอาคารไม้สักทอง


จนมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์ทรงรับวัดสมอแครงนี้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดเทวราชกุญชร” โดยนำชื่อมาจากพระนามเดิมของ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ต้นสกุล กุญชร ณ อยุธยา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้ที่ทรงเป็นคนบูรณปฏิสังขรณ์วัด

ตามชื่อของวัดเทวราชกุญชรนั้น หากแปลให้ตรงตัวก็คือช้างของเทวดา หรือหมายถึงพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณนั่นเอง ดังนั้นตราสัญลักษณ์ของวัดเทวราชกุญชรซึ่งเขียนขึ้นโดยกรมศิลปากรนั้นจึงเป็นภาพพระอินทร์ทรงประทับบนช้างเอราวัณ พระอินทร์ทรงถือวชิราวุธซึ่งเป็นอาวุธประจำพระองค์ มีฉัตรสีขาว 7 ชั้น อยู่ด้านซ้ายและขวาประทับนั่งอยู่บนช้างเอราวัณ

และเมื่อเร็วๆ นี้ ทางวัดเทวราชกุญชรก็ได้จัดทำประติมากรรมหล่อสัมฤทธิ์เป็น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของวัดเทวราชกุญชร เพื่อมาประดิษฐานไว้ที่วัดให้ประชาชนได้สักการะกัน แต่ก่อนที่จะไปไหว้พระอินทร์ ก็ตามเรามาไหว้พระและชมสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจภายในวัดกันก่อนดีกว่า

รูปภาพ
[color=#BFFF00]พระพุทธเทวราชปฏิมากร พระประธานภายในพระอุโบสถ [/color]


สถานที่แรกที่ฉันมุ่งตรงไปก็คือ พระอุโบสถ ของวัดเทวราชกุญชร ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีรูปทรงคล้ายกับพระอุโบสถวัดพระแก้ว และเข้าไปกราบพระประธานภายในพระอุโบสถของวัด ซึ่งมี “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” พระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งสง่าเป็นพระประธานอยู่ด้านใน ซึ่งนามของพระพุทธรูปนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้พระราชทานให้

และสิ่งที่น่าสนใจภายในพระอุโบสถที่จะขอแนะนำให้ได้เดินชมกันก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัด ที่ด้านบนเหนือช่องหน้าต่างเขียนเป็นภาพเทวดาชุมนุมกันขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนสิ่งที่น่าสนใจก็อยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังส่วนล่างลงมาระหว่างช่องหน้าต่าง ซึ่งวาดเป็น รูปพระภิกษุกำลังปลงอสุภกรรมฐาน หรือเจริญกรรมฐานด้วยการเพ่งมองศพ เพื่อให้เห็นว่าคนเราที่ดูสวยสดงดงามยามมีชีวิตนั้น พอตายลงก็กลายเป็นซากศพ เป็นของน่าเกลียดโสโครก โดยการเจริญกรรมฐานประเภทนี้จะเป็นการระงับอารมณ์ใคร่และกามารมณ์ ก็เป็นภาพจิตรกรรมที่แปลกแตกต่างจากวัดอื่นๆ ไม่น้อย

รูปภาพ
เข้าไปกราบพระในมณฑปจตุรมุขกันได้


ออกจากพระอุโบสถมาแล้ว อย่าลืมไปกราบพระใน มณฑปจตุรมุข มณฑปที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2536 แทนที่พระอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรมมากแล้ว ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งด้านตรงข้ามพระประธานก็ยังมี หุ่นขี้ผึ้งรูปจำลองพระอริยมุนี (ศรี ฐิตพโล) อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 9 ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของบรรดาลูกศิษย์เป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมกันสร้างหุ่นขี้ผึ้งจำลองรูปของท่านขึ้นมาให้ได้สักการะกัน

กราบพระเรียบร้อยแล้วคราวนี้เราจะไปสักการะพระอินทร์กัน รูปหล่อของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณนี้ได้มีการขนย้ายและบวงสรวงกันมาตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งก็มีประชาชนมากมายมาร่วมขบวนแห่ และได้ไปชมการนำพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณขึ้นประดิษฐานบนแท่น

และสำหรับผู้ที่ต้องการมากราบสักการะพระอินทร์นั้น ทางวัดก็ได้เตรียมเครื่องบูชาทิพย์ไว้ให้บริการ เพราะไม่อนุญาตให้บูชาด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ หรือจุดธูปเทียนปิดทองแต่อย่างใด และเครื่องบูชาทิพย์ที่ว่านั้นก็ประกอบไปด้วยผ้าปกกระพอง ผ้าเยียรบับ พู่จามรี สายประโคน และดอกไม้ทิพย์ พร้อมธูปเทียน ทอง เงิน นาก

รูปภาพ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภิกษุปลงอสุภะ


รูปหล่อของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ นี้ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารไม้สักทองที่กำลังก่อสร้างเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด โดยอาคารไม้สักทองนี้แต่เดิมเคยเป็นบ้านไม้สักทองหลังใหญ่อยู่ที่จังหวัดแพร่ ก่อนจะถูกขายและนำมาไว้ที่นาวิน ปาร์ค ที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี และจากนั้น ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ก็ได้ถวายบ้านสักทองหลังนี้ให้แก่วัดเทวราชกุญชร เพื่อสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้สักทองให้เป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ เป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ.2549 และทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ด้วย

ที่วัดเทวราชฯ ยังไม่หมดสิ่งที่น่าสนใจแต่เพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเดินชมไปรอบๆ ก็ได้เห็นอาคารหลายหลังใกล้ๆ กับอาคารไม้สักทอง ซึ่งเป็นอาคารทรงปั้นหยาหลังคามุงกระเบื้องว่าว ดูแล้วได้บรรยากาศของอาคารสมัยเก่า อาคารทรงปั้นหยาชั้นเดียวทาด้วยสีเหลืองสดใสนั้นเป็น โรงเรียนพระปริยัติธรรม ส่วน อาคารเทวราชธรรมศาลา นั้นก็คือศาลาการเปรียญ เป็นอาคาร 2 ชั้น ศิลปะทรงไทยตรีมุข มีบันไดทางขึ้นสองทางทั้งซ้ายและขวา ด้านบนมีพระพุทธรัตนโกสินทร์มหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระราชทานให้ไว้

รูปภาพ
กุฏิเทวราชกุญชร กุฏิของเจ้าอาวาส


ส่วน กุฏิเทวราชกุญชร นั้น ก็เป็นกุฏิของเจ้าอาวาส เป็นอาคารทรงปั้นหยาสองชั้นสวยงามเช่นกัน และถัดจากจากกุฏิเทวราชกุญชรคือ เรือนเทวราชธรรมสภา อาคารทรงตรีมุขสองชั้นที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตก ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเลขานุการของวัด ซึ่งสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ในวัดนี้ถูกบูรณะขึ้นมาจนสะอาดเรียบร้อยสวยงามอย่างที่เห็นทุกวันนี้ก็ในช่วงปี พ.ศ.2544 ที่ พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต) มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้นั่นเอง

และนี่ก็เป็นอีกวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่อยากจะแนะนำให้คนที่ชอบเข้าวัดเข้าวาได้มากราบไหว้สักการะพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และชมความงดงามของสิ่งก่อสร้างภายในวัดกัน

รูปภาพ
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต) เจ้าอาวาส


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 90 ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 หากมาจากทางเทเวศร์เมื่อถึงแยกสี่เสาเทเวศร์ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างหอสมุด วัดจะอยู่ตรงสุดซอย มีรถประจำทางสาย 3, 9, 16, 19, 30, 32, 33, 43, 64, 65, 110 ผ่าน สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0-2281-2430

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 มิถุนายน 2550 16:57 น.

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร