วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระอารามหลวง-วัดประจำรัชกาล

:b47: :b45: :b47:

“วัด” ทั้งหมดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (๒) สำนักสงฆ์

วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา คือ วัดที่มีอุโบสถเป็นที่ทำสังฆกรรม
คำว่า วิสุงคามสีมา ในที่นี้หมายถึง เขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างอุโบสถ


ส่วน “สำนักสงฆ์” คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงไม่มีอุโบสถ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา สถานที่ชุมนุมสำคัญของพุทธศาสนาสนิกชนหรือสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ก็คือ วัด ในประเทศไทยมีวัดเป็นจำนวนมาก ประเภทของวัดแบ่งตามสภาพฐานะมี ๓ ประเภท คือ (๑) พระอารามหลวงหรือวัดหลวง (๒) วัดราษฎร์ และ (๓) วัดร้าง

พระอารามหลวงหรือวัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ พระราชทานเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมาหรือแก่วัดเอง หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระอารามหลวง รวมทั้ง วัดที่ประชาชนทั่วไปสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ และขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงด้วย เช่น วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เป็นต้น

วัดราษฎร์ คือ วัดที่ประชาชนทั่วไปสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างวัดและประกาศตั้งวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายจากทางราชการแล้ว และช่วยกันทะนุบำรุงวัดสืบต่อกันมาตามลำดับ วัดราษฎร์ หมายถึง วัดทั้งชนิดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ซึ่งมิได้รับเข้าเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดประสาทบุญญาวาส เขตดุสิต กรุงเทพฯ เป็นต้น

วัดร้าง คือ วัดที่ทรุดโทรมไม่มีพระสงฆ์พำนักอาศัยจำพรรษา ซึ่งทางราชการจะขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้างไว้ วัดร้างเองโดยสภาพยังเป็นนิติบุคคลอยู่โดยสมบูรณ์ และหากบูรณปฏิสังขรณ์ได้อาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป เช่น วัดไชยวัฒนาราม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น


สถาบันหลักของประเทศไทยประการหนึ่งคือ พระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่คนไทยกว่าร้อยละ ๙๐ นับถือมาแต่โบราณกาล ดังปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงความตอนหนึ่งว่า

“คนไทยในสมัยสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว...”

รูปภาพ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร


รูปภาพ
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร


ดังนั้น พระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัย จึงทรงถือเอาการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นพระราชภาระที่สำคัญยิ่ง ดังเช่นพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการก่อนขึ้นครองราชย์ว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”


เมื่อพระองค์ทรงดำรงสิริราชสมบัติได้ไม่นาน ก็ทรงสถาปนาวัดโพธิ์ อันเป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส มีอาณาเขตกว้างขวางถึง ๕๐ ไร่ ประกอบไปด้วยพระอุโบสถ พระวิหารทิศ พระระเบียง พระวิหารคด พระมหาเจดีย์ และอาคารอื่นๆ อีกหลายหลัง มีความวิจิตรงดงามยิ่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ให้วิจิตรงดงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจารึกสรรพวิชาต่างๆ ถึง ๘ หมวดลงบนแผ่นหินอ่อน ไว้ให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” พระอารามหลวงแห่งนี้จึงเป็นสมบัติของชาติที่ล้ำค่า เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเดินทางมาชื่นชมเป็นจำนวนมากไม่แพ้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง อันถือว่าเป็นสุดยอดของงานศิลปกรรมของชาติไทย

พระอารามหลวงในรัชกาลต่อๆ มาก็เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะทรงสถาปนาพระอารามหลวงขึ้นใหม่ ๓ พระอารามแล้ว ยังได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม จนอาจกล่าวได้ว่าดุจทรงสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้ง ทรงสร้างวัดที่คงค้างอยู่ในรัชกาลก่อน ทั้ง ๒ ประการนี้รวม ๑๗ วัด อีกทั้งทรงอุปถัมภ์การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ อีกถึง ๓๓ วัด พระอารามหลวงที่ทรงสร้างเองและที่ผู้อื่นสร้างถวายจึงเกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์เป็นจำนวนมาก

ในปัจจุบันรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการยกฐานะวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ดังที่เคยมีประเพณีปฏิบัติมาแต่เดิมที่เจ้านาย ข้าราชบริพาร หรือประชาชน สร้างวัดถวายและพระมหากษัตริย์ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง จึงได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ.๒๕๑๘

ตามระเบียบฯ ดังกล่าว มีเกณฑ์พิจารณาหลายประการ เช่น วัดราษฎร์นั้นต้องเป็นวัดที่เป็นหลักฐานมีเสนาสนะถาวร มีปูชนียวัตถุที่เป็นโบราณสถานหรือโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ เป็นวัดสำคัญของท้องถิ่น หรือเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของทางราชการเป็นประจำ หรือเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป มีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไปติดต่อกันเป็นเวลาตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไปนับจากปีปัจจุบัน ฯลฯ

เมื่อนายอำเภอและเจ้าคณะอำเภอพิจารณาเห็นว่า วัดราษฎร์ใดมีลักษณะเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะทำรายงานขอความเห็นชอบขึ้นไปตามลำดับ จนถึงกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และมหาเถรสมาคม (มส.) แล้วจึงจะนำความขอพระราชทานยกวัดราษฎร์นั้นขึ้นเป็นพระอารามหลวงต่อไป

รูปภาพ
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร


พระอารามหลวงแต่ละวัดอาจมีฐานะหรือระดับชั้นแตกต่างกันออกไป การจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวงหรือวัดหลวงเริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบแบ่งชั้นพระอารามหลวงหรือวัดหลวงออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะดังนี้

พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ วัดที่บรรจุพระบรมอัฐิ หรือวัดที่มีเกียรติอย่างสูง แบ่งออกเป็น ๓ ระดับหรือชนิด คือ

๑) ราชวรมหาวิหาร
๒) ราชวรวิหาร
๓) วรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ หรือวัดที่มีเกียรติ แบ่งออกเป็น ๔ ระดับหรือชนิด คือ

๑) ราชวรมหาวิหาร
๒) ราชวรวิหาร
๓) วรมหาวิหาร
๔) วรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดที่มีเกียรติ วัดประจำหัวเมือง วัดสามัญ หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง แบ่งออกเป็น ๓ ระดับหรือชนิด คือ

๑) ราชวรวิหาร
๒) วรวิหาร
๓) สามัญ คือไม่มีสร้อยต่อท้ายชื่อวัด

แต่การแบ่งชั้น แบ่งระดับนั้น คงจะทำให้เกิดความสับสนในการทำความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ดังที่ผู้เรียบเรียงบทความนี้ไปพบพระอารามหลวงสำคัญในจังหวัดภาคกลางวัดหนึ่ง ท่านเขียนคำอธิบายว่า วัดนี้เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร ซึ่งคำว่าวรวิหารนั้น เป็นระดับไม่ใช่ชั้น และความจริงวัดนั้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ระดับวรวิหาร ดังนั้นน่าจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับชั้นและระดับหรือชนิดของพระอารามหลวงเป็นความรู้รอบตัวไว้

รูปภาพ
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร


การกำหนดแบ่งชนิดต่างๆ ของพระอารามหลวงเริ่มมีขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ ดังนี้

ราชวรวิหาร ได้แก่ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี หรือสมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์

วรวิหาร ได้แก่ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี หรือสมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา หรือแก่วัดเอง รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงควรยกเป็นเกียรติยศ จัดว่าเป็นวัดมีเกียรติ

ราชวรมหาวิหาร ได้แก่ พระอารามชนิดราชวรวิหารที่เป็นพระอารามใหญ่โต และมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต

วรมหาวิหาร ได้แก่ พระอารามชนิดวรวิหารที่เป็นพระอารามใหญ่โตและมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต

สามัญ ได้แก่ พระอารามหลวงที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นวัดที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย

พระอารามหลวงหรือวัดหลวงที่มีฐานะสูงสุด คือ ชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร มีทั้งหมด ๖ วัด อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๔ วัด คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์), วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง), วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดสุทัศนเทพวราราม ส่วนที่เหลืออีก ๒ วัดนั้นอยู่ต่างจังหวัด คือ วัดพระปฐมเจดีย์ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม และวัดพระพุทธบาท ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

ชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร มีเพียง ๒ วัด คือ วัดชนะสงคราม และวัดสระเกศ


รูปภาพ

ปัจจุบัน พระอารามหลวงทั่วประเทศมีทั้งหมด ๒๖๙ วัด อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๙๐ วัด ที่เหลืออีก ๑๗๙ วัดกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ (ข้อมูลปี พ.ศ.๒๕๕๖) นอกจากนี้แล้ว ยังมีพระอารามหลวงอีกประเภทหนึ่งที่สมควรกล่าวถึง คือ วัดประจำรัชกาล เท่าที่ถือปฏิบัติสืบกันมามีดังนี้

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ คือ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

วัดประจำรัชกาลที่ ๓ คือ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๔ คือ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๕ คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๖ คือ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

วัดประจำรัชกาลที่ ๗ คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๘ คือ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๙ คือ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

วัดประจำรัชกาลที่ ๑๐ คือ วัดวชิรธรรมสาธิต วรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)


ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย ที่เติบโตเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทยมากว่า ๒,๐๐๐ ปี นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่พระพุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลานานเช่นนี้ ย่อมเนื่องมาจากการทำนุบำรุงศาสนาของเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำประเทศ

ตลอดยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินไทยแต่ละพระองค์ต่างก็ทรงมีความเลื่อมใส และให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นมากมาย สำหรับในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ก็เช่นกัน พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ก็ได้ทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในภายหลังเราจึงยกย่องให้วัดซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีความผูกพันเหล่านี้เป็น “วัดประจำรัชกาล” ของแต่ละพระองค์

เหตุผลของการยึดถือวัดใดวัดหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้ให้เหตุผลไว้ว่า “วัดซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น มักจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ท่านทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ และให้ความสนใจกับวัดนี้เป็นพิเศษ หรือมีความผูกพันกับวัดนี้มากๆ เมื่อพระองค์สวรรคต พระบรมอัฐิก็จะถูกนำไปบรรจุอยู่ที่ฐานของพระประธาน แต่การประกาศว่าวัดไหนเป็นวัดประจำรัชกาลนี้ ไม่ได้มีการประกาศออกเป็นทางการ เพียงแต่เกิดจากการที่คนพูดกันว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลนี้ๆ และดูจากความผูกพันที่พระองค์ท่านทรงมีให้กับวัดนั้นๆ มากกว่า”

สำหรับในส่วนของประวัติความเป็นมาของการกลายมาเป็นวัดประจำแต่ละรัชกาลนั้น ก็นับได้ว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้ตัววัดเลยทีเดียว ความจริงแล้วการสร้างวัดประจำรัชกาล ไม่เคยมีราชประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์ทรงสร้างวัดก็เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ด้วยก็ได้ เช่น เป็นสถานที่พระบรมราชสมภพ เป็นนิวาสสถานเดิมของพระราชบรรพบุรุษ เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในสงคราม เป็นต้น

รูปภาพ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร


รูปภาพ
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร


การถือเป็นวัดประจำรัชกาลเป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยพระองค์ได้ทรงอัญเชิญส่วนหนึ่งของพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ไปประดิษฐานไว้ที่ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรามราม และวัดราชโอรสาราม ตามลำดับ ดังนั้น จึงเป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดเสด็จสวรรคต ก็จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารไปประดิษฐานไว้ที่วัดใดวัดหนึ่ง อันทรงสร้างหรือทรงเกี่ยวข้อง และถือเป็นวัดประจำรัชกาล

อย่างใดก็ตาม ในทางนิตินัย วัดประจำรัชกาลได้สิ้นสุดลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยได้มีพระราชดำริว่า พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานครมีเป็นจำนวนมากแล้ว และการสร้างวัดนั้นก็เพื่อประโยชน์ในทางศึกษาของเยาวชนด้วย เพราะการศึกษาของไทยแต่โบราณกาลมาก็เริ่มที่วัด ดังนั้น จึงทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน ขึ้นเพื่อแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล และให้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

การกำหนดว่าวัดใดเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ เพื่ออาราธนาเจ้าอาวาสวัดนั้นมาในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ จึงเป็นการกำหนดโดยทางพฤตินัยเท่านั้น นอกจากนั้นในทางปฏิบัติยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องวัดประจำรัชกาลที่ ๕ กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จดำรงสิริราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ ปีต่อมาคือปีพุทธศักราช ๒๔๑๒ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสถาปนา “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” ทันที เพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลตามพระราชประเพณี

ต่อมาในปลายรัชกาล ได้ทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิต ขึ้นเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถนอกพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งแปรพระราชฐานมาประทับเกือบเป็นการถาวร จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์ “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” อันเป็นวัดโบราณขึ้นอย่างวิจิตรงดงามยิ่ง เพื่อเป็นการทำผาติกรรมที่ใช้ที่ดินบางส่วนของวัดมาเป็นที่หลวง และทรงถือว่าวัดนี้เป็นวัดประจำพระราชวังสวนดุสิต ดังปรากฏในสร้อยชื่อของวัด และมีลายพระราชหัตถเลขาโปรดเกล้าฯ ไว้ว่า เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่ก็ไม่มีพระราชกระแสยืนยันว่าโปรดให้เป็นวัดประจำรัชกาล จึงถือกันในทางปฏิบัติว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงปฏิบัติตามพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการที่จะไม่สร้างวัดประจำรัชกาลขึ้นอีก ประกอบกับได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นงานใหญ่ เมื่อมีการอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารจากประเทศอังกฤษกลับมายังเมืองไทยแล้ว จึงได้แบ่งพระบรมราชสรีรังคารส่วนหนึ่งอัญเชิญมาประดิษฐานที่แท่นชุกชีฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ ดังนั้น จึงถือกันในทางปฏิบัติว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๗ โดยมิได้ไปลบล้างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงแต่ประการใด

พระอารามหลวงจึงเป็นการยืนยันถึงพระราชศรัทธาในพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพระพุทธศาสนา อันเป็นแบบฉบับให้บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในการสร้างและอุปถัมภ์ศาสนสถานให้เจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางของประชาคมแทบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอบรมบ่มนิสัยชาวไทย ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองสืบไป

รูปภาพ
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร


รูปภาพ
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ



วัดวชิรธรรมสาธิต วรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

---------------

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) บทความเรื่องพระอารามหลวง
เรียบเรียงโดย ศ.พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา

(๒) หนังสือวัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ ของกรมศิลปากร

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ ถึง ๓...วัดเก่า ทำใหม่





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19404





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19388





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19383

วัดประจำรัชกาลที่ ๔-๕...สร้างใหม่ด้วยใจศรัทธา





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19364





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342

วัดประจำรัชกาลที่ ๖-๘...ไม่สร้าง แต่บำรุง





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19364





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19319





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2008, 09:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดประจำรัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19317





.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2009, 10:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ค. 2009, 23:11
โพสต์: 1044

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณ ข้อมูล ครับ

ได้สาระอย่างมากเลยครับ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ตักบาตรทุกวัน....ได้บุญทุกวัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2018, 06:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร