วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.พ. 2022, 20:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เทศน์กัณฑ์พิเศษ

หลวงปู่ (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ที่พวกญาติโยมพากันทำมาทั้งหมดนั้นเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เป็นการสร้างบาปทำบุญ จะทำอีกกี่ร้อยครั้งก็ตามคนตายก็ยังเป็นผีเปรตอยู่อย่างเดิม เพราะการทำบุญไม่ถูกบุญ พรุ่งนี้อาตมาจะพาทำ แต่ก่อนอื่นจะขอเทศนาอธิบายวิธีการที่ถูกต้องให้พวกเราได้เข้าใจเสียก่อนว่า การทำบุญจะทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า เป็นการลงทุนแล้วได้บุญมากที่สุด ทานหรือบุญที่จะทำนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ถ้าประกอบและถึงพร้อมด้วยองค์ ๓ ประการ ทานนั้นย่อมได้ผลมาก เป็นบุญมาก คือ ต้องถึงพร้อมด้วยบริสุทธิ์ ๓ ดังต่อไปนี้...

บริสุทธิ์ข้อที่ ๑ ได้แก่ “วัตถุทานที่จะให้ต้องบริสุทธิ์”


วัตถุทานบริสุทธิ์ ได้แก่ สิ่งของทรัพย์สมบัติที่จะสละให้เป็นทานนั้นต้องเป็นสิ่งของของตนที่หาได้มาโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้มาโดยการเบียดเบียนบุคคลอื่น สัตว์อื่น ไม่ลักไม่ปล้นไม่ยักยอก ฉ้อโกงของจากใครทั้งสิ้น แม้แต่พริก เกลือ มะเขือ ก็ตาม ต้องบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ไม่เบียดเบียนชีวิต เลือดเนื้อของสัตว์ทุกชนิด เช่น ปลา โค กระบือ หมู เป็ด ไก่ หรืออื่นๆ ก็ตาม อย่างที่พวกเราพากันฆ่าหมู ฆ่าควาย เอาเลือดเอาเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระ หรือนำมาเลี้ยงแขก ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นการสร้างบาปทำบุญ วัตถุทานที่เป็นเนื้อสัตว์นั้นเป็นของไม่บริสุทธิ์ แม้จะพูดกันว่าทำบุญๆ ย่อมไม่ได้บุญเลยแม้แต่นิดเดียวและย่อมจะเป็นบาปเพิ่มขึ้นอีกด้วย ถ้าการทำอาหารของเราจำเป็นจะต้องประกอบด้วยเนื้อสัตว์ก็ให้ไปจัดหากันมาจากตลาดสดที่เขามีไว้ขายสำเร็จแล้ว โดยที่เราไม่มีส่วนรู้เห็นในการฆ่านั้น เนื้อสัตว์จึงจะเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์อย่างนี้จึงจะนำมาประกอบเป็นวัตถุทานได้ และที่ว่าไม่ลักขโมย หรือยักยอกสิ่งของใดๆ มาทำบุญ สิ่งของนั้นย่อมเป็นของบริสุทธิ์ ถ้าลักขโมยหรือหยิบฉวยโดยที่เจ้าของเขายังไม่อนุญาต สิ่งของนั้นย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน อย่าคิดว่าเพียงของเล็กน้อยแม้แต่พริก เกลือ มะเขือ เหล่านี้ก็ตามถ้าไม่ใช่ของเรา เราต้องขอให้เจ้าของเขาอนุญาตก่อนหรือจัดซื้อมาจากตลาด จึงจะจัดเป็น “ทานที่บริสุทธิ์”

บริสุทธิ์ข้อที่ ๒ ได้แก่ “เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์”

การให้ทานนั้น เจตนาที่แท้จริงแล้วเป็นการขจัดความโลภ ความขี้ตระหนี่เหนียวแน่น และการให้ก็เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วยความเมตตาของตน และต้องให้โดยเจตนาสัมปทา ๓ ประการ คือ

๑. ปุพฺพเจตนา “เจตนาก่อนให้ทาน ก็ต้องมีจิตใจเบิกบานชื่นชมยินดีว่าตนจะให้ทาน”

๒. มุญฺจนเจตนา “เจตนาขณะกำลังให้ทาน ก็มีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส”

๓. อปราปรเจตนา “เจตนาหลังจากการให้ทาน จะผ่านไปนานสักเท่าไรก็ปลื้มใจยินดี ไม่คิดเสียดายใน ภายหลัง”

เจตนาอันบริสุทธิ์ในการทำทานนั้นอยู่ที่การทำจิตให้โสมนัส เบิกบาน รื่นเริง ยินดี ประกอบในการทำทานนั้นเป็นสำคัญ และสำคัญที่สุดคือให้มุ่งเพื่อที่จะสงเคราะห์สัมภเวสี ผีเปรตเวทนาตนนั้น เพื่อให้เขาได้พ้นจากความทุกข์ ให้ผีเปรตเหล่านั้นได้รับความสุขเพราะทานของเรานั่นเอง นี่แหละจึงเรียกว่าการทำทานโดยใช้สติปัญญา ไม่ใช่ทำด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา หรืองมงายปราศจากหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอนไว้ ไม่จำเป็นว่าวัตถุทานจะมากหรือน้อย จะเป็นของเลวหรือประณีต ให้ทำตามกำลังทรัพย์ตามกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่ การทำทานแต่ละครั้งต้องอย่าให้เบียดเบียนตนเองหรือครอบครัว เช่น มีน้อยก็อย่าฝืนใจทำให้มากเกินกำลังของตัวเอง จนตัวเองและครอบครัวเดือดร้อน เป็นทุกข์ เศร้าหมอง และอย่าฝืนใจทำ อย่าทำโดยเสียไม่ได้ ถ้ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งทำเสียเลยจะดีกว่า

บริสุทธิ์ข้อที่ ๓ ได้แก่ “เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์”


เนื้อนาบุญที่จะกล่าวถึงนี้ ได้แก่ บุคคลหรือปฏิคาหกผู้รับทานจากพวกเรานั่นเอง หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ที่พวกเราได้นิมนต์ท่านมาเป็นผู้รับทานนั้น นับว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความหมายสำคัญที่สุด ในจำนวนองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ...วัตถุทานอันบริสุทธิ์ก็ดี เจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาลก็ดี แต่ถ้าเราได้ปฏิคาหกผู้รับทานของเราเป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่มีศีล ย่อมไม่ใช่เนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ นับเป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่เราทำไปนั้นย่อมมีอานิสงส์ลดน้อยถอยลงอย่างน่าเสียดาย

ขอยกรูปแบบมาเปรียบให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า เหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในนา

หว่านด้วยเมล็ดข้าวที่เป็นพันธุ์ดี พร้อมที่จะงอกงามเจริญเติบโต (วัตถุทานบริสุทธิ์)

ผู้หว่านข้าว คือ เจ้าของนาก็มีเจตนาเพื่อทำนาให้เกิดผลผลิตโดยสมบูรณ์ (เจตนาบริสุทธิ์)

นาที่หว่านข้าวลงไปนั้นอุดมสมบูรณ์ เปรียบดังพระสงฆ์ผู้รับไทยทาน

เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ (บุญเขตบริสุทธิ์)


แต่ถ้าหากที่นานั้นเป็นพื้นนาที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่งอกเงยก็ย่อมไม่เหมือนกัน เมล็ดข้าวที่ไปตกในที่มีดินดี มีปุ๋ย มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ข้าวก็งอกงามมีผลผลิตที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกในที่แห้งแล้งกันดาร เช่น เป็นที่ทราย ที่ขาดน้ำขาดปุ๋ย ข้าวก็จะแห้งเหี่ยวเฉาและตาย ย่อมไม่ได้ผลใดๆ แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของผืนนา

การทำทานนั้นผลิตผลที่เราต้องการ คือ “บุญ” หากปฏิคาหกหรือพระสงฆ์นั้นไม่เป็นเนื้อนาบุญที่ดีสำหรับการทำทานแล้ว ผลของทานที่เรียกกันว่า “บุญ” บุญนั้นก็จะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างไม่สมบูรณ์ ตรงนี้ปฏิคาหกผู้รับทานของเรานับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อย บุญที่เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้กับญาติของเราที่วายชนม์ไปสู่ปรโลกเบื้องหน้าจะได้รับส่วนกุศลของเราหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับพระสงฆ์ผู้เป็นปฏิคาหกผู้ที่รับไทยทานของพวกเราด้วยเป็นสำคัญ...

ในทางตรงกันข้าม ถ้าพระสงฆ์ผู้รับทานของเรานั้นท่านเป็นผู้มีศีลที่สมบูรณ์ มีคุณธรรมสูงส่งด้วยแล้วนั่นชื่อว่าเป็น เนื้อนาบุญที่ดีเยี่ยม เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทานที่เราทำไปย่อมบังเกิดเป็นผลมากอย่างหาที่สุดไม่ได้เลย การทำบุญทำทานของเรานั้นจึงอย่าสักแต่ว่าทำ จะทำทั้งทีควรเลือกหาสถานที่ทำ เลือกเนื้อนาบุญที่ดี เราจะไม่เหนื่อยเปล่า ไม่เสียของฟรีๆ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้อีกว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ เจตนาในการทำบริสุทธิ์ ทานนั้นจะมีผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับดังนี้

ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ๑๐๐ ครั้ง ได้บุญน้อยกว่าทำทานแก่มนุษย์ผู้ไม่มีศีลเพียงครั้งเดียว (เพราะสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ใช่เนื้อนาบุญ)


ทำทานกับมนุษย์ผู้ไม่มีศีลไม่มีธรรม ๑๐๐ ครั้ง ได้บุญน้อยกว่าทำทานกับมนุษย์ผู้มีศีลห้าเพียงครั้งเดียว

ทำทานกับมนุษย์ผู้มีศีลห้า ๑๐๐ ครั้ง ได้บุญน้อยกว่าทำทานกับมนุษย์ผู้มีศีลแปดเพียงครั้งเดียว

ทำทานกับมนุษย์ผู้มีศีลแปด ๑๐๐ ครั้ง ได้บุญน้อยกว่าทำทานกับมนุษย์ผู้มีศีลสิบเพียงครั้งเดียว


ถวายทานแก่สามเณรผู้มีศีลสิบ ๑๐๐ ครั้ง ได้บุญน้อยกว่าทำทานแก่สมมุติสงฆ์ผู้มีศีล ๒๒๗ เพียงครั้งเดียว

ถวายทานแก่สมมุติสงฆ์ผู้มีศีล ๒๒๗ ถึง ๑๐๐ ครั้ง ได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระโสดาบันเพียงครั้งเดียว


ถวายทานแก่พระโสดาบัน ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระสกทาคามีเพียงครั้งเดียว

ถวายทานแก่พระสกทาคามี ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระอนาคามีบุคคลเพียงครั้งเดียว

ถวายทานแก่พระอนาคามีบุคคล ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระอรหันต์เพียงครั้งเดียว

ถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว


ถวายทายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว

ถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานแม้เพียงครั้งเดียว

ถวายสังฆทานที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทานเพียงครั้งเดียว

ถวายวิหารทาน ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทานเพียงครั้งเดียว

การให้ธรรมทาน ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการให้อภัยทานเพียงครั้งเดียว การให้อภัยทาน คือ การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม การทำทานตามลำดับที่กล่าวมาทั้งหมด ผลบุญที่ได้นั้นก็ยังต่ำกว่า “ศีล” ไม่ว่าจะเป็นศีลห้า ศีลแปด หรือศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด ซึ่งมีอานิสงส์เพิ่มยิ่งขึ้นไปตามประเภทของศีลที่รักษา

แต่ศีลนั้นแม้จะมีอานิสงส์มากมายเพียงไร ก็ยังได้บุญน้อยกว่า “การภาวนา” เพราะว่าการภาวนานั้นเป็นการรักษาจิตใจ เป็นการซักฟอกให้จิตสะอาด เบาบางหมดจดจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏ การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีขั้นสูงสุด ประเสริฐที่สุดในทางพระพุทธศาสนา จัดเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา


ดังนั้น พวกเราที่ต้องการทำบุญทำทานอุทิศกุศลผลบุญไปให้เปรตชนของพวกเราที่ล่วงลับไปให้เขาได้รับผลอานิสงส์จากการทำบุญของพวกเราแล้ว ต้องวางเจตนาให้ถูกต้อง จึงจะมีบุญเพียงพอที่จะอุทิศไปให้ญาติของพวกเราได้ดังที่อธิบายมา ก็หวังว่าญาติโยมคงเข้าใจกันบ้าง จึงขอสรุปลงไว้แต่เพียงนี้ก่อน วันพรุ่งนี้ให้พากันจัดเตรียมสิ่งของที่จะใช้ทำบุญเสียใหม่ให้ถูกต้อง ว่าแล้วหลวงปู่ก็ขอตัวไปพักผ่อนยังวัดใกล้ๆ บ้านซึ่งเป็นวัดที่ฝังศพญาติไว้นั่นเอง...


หลังจากนั้น ญาติพี่น้องก็ช่วยสะพายอัฐบริขารตามไปส่งหลวงปู่ หลวงปู่เข้าพักยังกุฏิหลังเล็กๆ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากหลุมฝังศพบักขี้ยานั่นเอง ตกกลางคืนหลังจากหลวงปู่สวดมนต์นั่งสมาธิภาวนาเสร็จแล้ว ประมาณยามหนึ่ง ความเงียบของป่าช้าสมัยนั้นเงียบเชียบอย่างที่สุด หลวงปู่เอนกายเพื่อจะจำวัด พลันก็ได้ยินเสียงคนตักน้ำล้างเท้าที่ตั้งอยู่ตีนบันได เสียงขันกระทบตุ่มน้ำดังแก๊งๆ !...เสียงพื้นกระดานด้านนอกกุฏิดัง “ออดๆ แอดๆ” เหมือนมีคนเดินขึ้นมาหา...หลวงปู่เข้าใจว่าคงมีพระเณรในวัดที่เคยรู้จักกันมาเยี่ยมจึงลุกขึ้นเดินไปเปิดประตูทันที ว่าง...! ไม่ปรากฏเห็นร่างอาคันตุกะใดๆ ทั้งสิ้น มองไปที่ตุ่มน้ำยังเห็นขันแกว่งไปมา หลวงปู่หันหลังกำลังจะเดินกลับไปยังที่พักอีกครั้ง เสียงแบบเดียวกันก็ดังขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง หลวงปู่ผลักประตูออกทันที ว่าง...! พร้อมกับมีเสียงคล้ายคนกระโดดลงจากกุฏิ ดังตุบ !...หลวงปู่จึงเดินตามลงไปที่เสียงนั้นท่ามกลางแสงเดือนสลัวๆ มองไม่เห็นร่างว่าเป็นผู้ใด มีแต่เสียงเดินลากโซ่ตรวนดัง...ก๊อง...แก๊งๆ...!...เดินอ้อมกุฏิด้านนี้เสียงลากโซ่ก็ดังอยู่ฝั่งตรงข้าม หลวงปู่จึงตัดสินใจเดินไปที่หลุมศพแล้วเอาผ้าสรงน้ำปูนอนข้างๆ หลุมศพนั่นเอง หลังจากนั้นก็ไม่มีเสียงเดินลากโซ่ตรวนให้ได้ยินอีกเลยจนสว่าง รุ่งเช้าวันใหม่จึงได้ช่วยกันจัดเตรียมพิธีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติกัน...

พิธีทำบุญให้เปรต

เช้าวันใหม่ หลวงปู่ได้สำรวจตรวจดูสิ่งของต่างๆ ที่ได้กะเกณฑ์ให้ญาติพี่น้องจัดหามาทำทาน จะเป็นประเภทครุภัณฑ์ก็ดี ซึ่งมี มีด จอบ เสียม เสื่อ เพื่อจะได้ถวายใช้หนี้คืนสงฆ์ อาหารคาวหวานที่จะถวายพระสงฆ์ก็ดี ญาติโยมก็ได้จัดไว้ตามที่หลวงปู่บอกทั้งสิ้น ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติที่นิมนต์มารับไทยทานมาพร้อมแล้ว หลวงปู่ก็เริ่มประกอบพิธี ให้ญาติพี่น้องทุกคนบูชาพระรัตนตรัย รับศีลห้า ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็นำกล่าวคำถวายทานด้วยตัวเองว่า นะโม ๓ จบ...อิทัง เม ทานัง, ญาติกานัง, เปตานัง, ทักขินัง โหตุ...ผลทานของพวกข้าพเจ้าทั้งหลาย, ที่กระทำในวันนี้, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอแผ่ผลอุทิศ, ไปให้แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย, ที่ล่วงลับไปสู่ปรโลกเบื้องหน้า, มีนามว่า นาย.......(ออกชื่อ นามสกุล)...ถ้าหากว่าญาติของข้าพเจ้า...นาย.......(ออกชื่อ นามสกุล), ยังไม่ทราบข่าวสารนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอฝากข่าวสารการทำบุญนี้แด่เทพเจ้าทั้งหลาย มีรุกขเทวดา ภุมมเทวดา และอากาศเทวดา เป็นต้น จงนำข่าวสารการทำบุญนี้ไปแจ้งแก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีนามว่า นาย.......(ออกชื่อ นามสกุล), จนกว่าจะได้รับทราบ เมื่อทราบแล้ว ขอจงได้อนุโมทนา เมื่ออนุโมทนาแล้ว หากตกทุกข์ได้ยาก ก็ขอให้พ้นจากทุกข์ เมื่อมีความสุขแล้ว ก็ขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ...

(คำถวายทานอุทิศข้างต้นนี้ หลวงปู่ได้นำมาใช้ที่วัดเขาสุกิมจนถึงทุกวันนี้ แต่ปรับปรุงให้สละสลวยเหมาะสมกับพื้นบ้านเล็กน้อย)

หลวงปู่ได้กล่าวเสริมไว้อีกว่า การทำบุญนอกจากองค์ประกอบทั้ง ๓ ตามตำนานดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้ว ก็ยังต้องเพิ่มการกล่าวคำอุทิศให้เฉพาะเจาะจง ออกชื่อ นามสกุล และน้อมจิตให้ดิ่งเป็นสมาธิในขณะกล่าว ให้นึกเห็นเป็นรูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางของบุคคลที่เราต้องการอุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นได้ยิ่งดี ถ้าทำได้อย่างนี้บุญกุศลไม่มีตกหล่นไปไหน ย่อมถึงแก่เปรตชนผู้รอรับส่วนกุศลอย่างแน่นอน...

หลวงปู่ได้เดินทางกลับไปโปรดให้ญาติได้พ้นจากทุกข์ในครั้งนี้ เป็นที่อนุโมทนาสาธุการของชาวบ้านและญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครพบเห็นหรือถูกผีเปรตบักขี้ยาหลอกหลอนอีก


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก :
หนังสือชีวประวัติพระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ฉบับสมบูรณ์
วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58572

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58572

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43691

:b47: ทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญมาก (หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=53041

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2022, 13:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2023, 13:48 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร