วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ส.ค. 2009, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 เม.ย. 2009, 16:30
โพสต์: 133

อายุ: 0
ที่อยู่: Uttaradit

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....
ประติมากรรมรูปเคารพ
โดย นายสุรศักดิ์ เจริญวงศ์


ประติมากรรมรูปเคารพ เป็นงานศิลปกรรมเพื่อแสดงความเชื่อทางศาสนา เป็นหลักใหญ่ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา เป็นการรับใช้พระพุทธศาสนาในทางศิลปะด้วยงานศิลปกรรม เนื่องจาก สังคมไทย มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพุทธ-ศาสนาอย่างลึกซึ้ง และมีมานานก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงปัจจุบัน จึงเชื่อคำสั่งสอนของพุทธศาสนาอย่างฝังใจ ได้แก่ เชื่อในพระรัตนตรัยเชื่อในการกระทำของมนุษย์ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในความจริง ตลอดจนเชื่อความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารต่างๆ รูปแบบของประติมากรรมจึงเป็นรูปทรงแห่งวัตถุที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นสิ่งแทน เป็นสิ่งพรรณนาความรู้สึกอุดมคติ และความเชื่อที่เป็นนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรม

อาจแบ่งประติมากรรมรูปเคารพตามลักษณะของการแสดงออกได้ ๒ ประเภทคือประติมากรรมรูปคน และประติมากรรมรูปสัญลักษณ์


ประติมากรรมรูปคน

ในประเทศไทยพบประติมากรรมรูปคนที่เป็นรูปเคารพตามคติทางศาสนาต่างๆ คือ เทวรูปในศาสนาฮินดู พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายานและพระพุทธรูปในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท ประติมากรรมรูปคนที่สร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชานี้ถือการสร้างพระพุทธรูปเป็นประติ-มากรรมรูปคนที่สำคัญและมีการสร้างสรรค์เป็นจำนวนมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะลัทธิเถรวาท เป็นที่ยอมรับนับถือของคนไทยต่อเนื่องกันมานานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันพระพุทธรูป จึงเปรียบเสมือนหัวใจของศิลปวัตถุทางศาสนาเพราะเป็นอุเทสะเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า และเพื่อน้อมใจให้พุทธศาสนิกชน ได้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ จึงกำหนดแบบท่าทางของพระพุทธรูปเป็นปางต่างๆ ตามพุทธประวัติ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย กำหนดรูปพระองค์ประทับขัดสมาธิพระหัตถ์ขวาวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา (หน้าตัก) แสดงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติตอนที่พระองค์ชี้นิ้วพระหัตถ์ขวาลงพื้นดินเพื่ออ้างแม่พระธรณีให้มาเป็นพยานว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญบุญบารมีมากมายในอดีตชาติ สมควรแก่พระรัตนบัลลังก์ที่พระองค์ประทับอยู่เพื่อตรัสรู้ มิใช่พระยาวัสวดีมาร ซึ่งมาผจญเพื่อชิงสิทธินั้น เรื่องราวอันเป็นบุคลาธิษฐานได้รับการกำหนดแบบเป็นรูปธรรมขึ้นเป็นปางต่างๆ การกำหนดแบบท่าทางของพระพุทธรูปเช่นนี้ถือเป็นกฎเกณฑ์มานานแล้วในประเทศอินเดีย แล้วสืบทอดมาสู่ศิลปะของประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนาและรับอิทธิพลของศิลปะนั้น ซึ่งรวมทั้งศิลปะของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย

พระพุทธรูปของไทยเป็นรูปเปรียบหรือรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า แต่มิได้หมายความว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระพุทธลักษณะดั่งพระพุทธรูปช่างไทยส่วนใหญ่มักศึกษาธรรมจนเข้าถึงแก่นแท้ สามารถสร้างพระพุทธรูปได้งดงามยอดยิ่งดูดั่งรูปเนรมิต รวมพระลักษณะของพระองค์เข้าด้วยหลักธรรม ที่แสดงความรู้แจ้งเห็นจริง การบรรลุพระอรหัตผล การสร้างพระพุทธรูปมิได้มุ่งหมายแสดงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าแต่เพียงส่วนเดียว แต่ต้องทำให้งามต้องรวมใจคนทั้งหลายด้วย เพราะพระพุทธรูปเป็นศูนย์รวมของศาสนิกชนเพื่อกราบไหว้บูชา สิ่งที่แฝงอยู่ในองค์พระพุทธรูปเป็นเรื่องชวนศึกษาอยู่ไม่น้อยดังเช่น เมื่อเรามองดูพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนอกจากจะทำให้ผู้ดูรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วประติมากรรมยังแสดงคุณค่าความงามทุกส่วนตั้งแต่ปลายพระบาทจรดปลายพระรัศมี แสดงความสมบูรณ์ลงตัวของธาตุต่างๆ (องค์ประกอบ) ทางทัศนศิลป์ ทั้งเส้นรูปนอกที่อ่อนหวานประ-สานกลมกลืนกับเส้นที่แบ่งส่วนต่างๆ ภายในขององค์พระพุทธรูป ปริมาตร ความนูนโค้งเว้าของส่วนต่างๆ ที่เปล่งปลั่งกลมกลึง พื้นผิวของพระวรกายที่มันวาว เกลี้ยงเรียบและตึงเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดรูปร่างและรูปทรงที่ให้ความรู้สึกถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ให้ความรู้สึกอิ่มเอิบใจทัศนธาตุทุกสิ่งประสานกันเป็นเอกภาพ สร้างคุณค่าความงามทางศิลปะอย่างเต็มที่ ประติมากรรมพระพุทธรูปของไทยแม้จะเป็นประติมากรรมรูปคนหรือเลียนแบบคนแต่เน้นความงามที่ถือเอาคุณค่าทางสุนทรียภาพ เป็นสำคัญโดยไม่ถือความถูกต้องของความงดงามตามระบบร่างกายมนุษย์ที่เป็นอยู่ในธรรมชาติจริงๆ ประสงค์สะท้อนความงามให้รูปลักษณ์ที่ต้องตาต้องใจเป็นสิ่งเจริญศรัทธา อิ่มเอิบใจ น่ากราบไหว้บูชาแสดงรสนิยมคตินิยม และความเป็นเชื้อชาติในงานประติมากรรมไว้ได้อย่างชัดเจนยิ่ง

เนื่องจากความสำคัญของพระพุทธรูปที่เป็นศูนย์รวมความเชื่อของสังคม จึงต้องสร้างพระพุทธรูปขึ้นด้วยวัตถุที่มีความคงทนถาวรและมีคุณค่า เช่น หินแกรนิต หินอ่อน หยก ทองคำ หรือโลหะที่มีค่าต่างๆ หากจำเป็นต้องสร้างด้วยวัตถุที่มีความคงทนน้อย เช่น หินทราย ไม้ หรือปูนก็จะตกแต่งผิววัสดุนั้นให้มีคุณค่าขึ้น ด้วยการลงรักปิดทองคำเปลวทับหรือตีแผ่นทองหุ้มปิดไว้ประติมากรรมเหล่านี้จึงมักจะสำเร็จลงด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริงเต็มไปด้วยความวิริยะอุตสาหะและกรรมวิธีการสร้างอย่างยอดเยี่ยม

ปฏิมากรรมรูปคนของไทยกล่าวโดยสรุปมีลักษณะพิเศษดังนี้

๑. ไม่แสดงความแตกต่างของพื้นผิว มักทำเป็นผิวเกลี้ยงเรียบสร้างความงามของรูปให้เกิดโดยการแสดงความสูงต่ำของพื้นผิว รูปทรงช่องไฟ แสดงความโค้งเว้าของปริมาตรทั้งส่วนพระเศียร พระศอ พระอุระ พระวรกาย พระพาหาจนเกิดความอ่อนหวานคดโค้งของเส้นรูปนอกและเส้นภายใน มีความอ่อนหวานทั้งส่วนละเอียดและส่วนรวม ก่อให้เกิดแสงเงา ความมันวาวของตัวประติมากรรมเอง เกิดการแบ่งแยกในส่วนย่อยแล้วรวมกันเป็นเอกภาพในส่วนใหญ่ มีความงามจากการประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุของศิลปะ

๒. ไม่แสดงความเหมือนจริงและไม่แสดงการเลียนแบบรูปคนในธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงของกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูกชัดเจนรวมทั้งไม่แสดงอารมณ์แบบมนุษย์ ประติมากรรมรูปคนของไทยทั้งพระพุทธรูป เทวรูป หรือพระโพธิสัตว์ แม้จะมีอวัยวะทุกสิ่งทุกส่วนเลียนแบบคนที่มีอยู่ในธรรมชาติแต่ไม่มีส่วนใดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าของรูปประติมากรรมเหมือนความเป็นจริงในธรรมชาติเลย มิใช่ช่างไทยขาดฝีมือและความเข้าใจ แต่ช่างไทยเจตนาสร้างประติมากรรมรูปคนเพื่อต้องการเน้นความงามตามอุดมคติ สร้างลักษณะของศิลปะเป็นศิลปะแบบประดิษฐ์ มีลักษณะเหนือความจริง เน้นความสมบูรณ์ทางทัศนธาตุของศิลปมากกว่า

๓. ไม่นิยมปั้นรูปเหมือน ตามคติความเชื่อแต่โบราณ ไม่มีการสร้างรูปเหมือนบุคคลไว้สักการะบูชา นอกจากการสร้างรูปแทนเท่านั้น รูปแทนเหล่านั้นมักสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือเทวรูปเช่น พระเจ้าอู่ทองในวัดพุทไธสวรรย์ พระพุทธรูปทรงเครื่องรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๔. ลีลาท่าทางของประติมากรรมรูปเคารพของไทยล้วนเป็นแบบแผนที่กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ขึ้นอย่างมีระเบียบและถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เรียกลีลาท่าทางของรูปเคารพ โดยเฉพาะพระพุทธรูปนี้ว่า ปาง แต่ละปางจะมีความหมายและแสดงเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในพุทธประวัติที่เป็นเรื่องยาว แต่สรุปด้วยท่าทางหรือปางแบบง่ายๆ เพียงท่าเดียวเท่านั้น เช่น ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางห้ามสมุทร และปางลีลาเป็นต้น


ประติมากรรมรูปสัญลักษณ์

เป็นประติมากรรมที่ได้รับรากฐานอิทธิพล การสร้างมาจากอินเดียโบราณภายหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้มีการสร้างรูปเคารพแสดงเรื่องราวทางพุทธศาสนาเป็นพุทธประวัติขึ้น แต่การสร้างพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพในประเทศอินเดียสมัยนั้นเป็นของต้องห้าม บรรดาศิลปินชาวอินเดียคิดหาทางสร้างรูปเคารพเป็นสัญลักษณ์แสดงเรื่องราวปางต่างๆ ของพระพุทธองค์ขึ้นโดยไม่ทำเป็นพระพุทธรูป การสร้างรูปสัญลักษณ์นี้แม้เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกในแคว้นคันธารราษฎร์ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๓๗๐โดยชนชาติกรีกที่นับถือพุทธศาสนา และการสร้างพระพุทธรูปแพร่หลายไปในที่ต่างๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะในประเทศไทยแต่การสร้างรูปเคารพที่เป็นรูปสัญลักษณ์ยังคงทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย แม้จะไม่มีจำนวนมากเท่าการสร้างพระพุทธรูปและเทวรูปก็ตามประติมากรรมรูปสัญลักษณ์จะสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนพุทธประวัติตอนสำคัญๆ เมื่อพุทธศาสนิกชนเห็นก็จะเข้าใจความหมายของรูปสัญลักษณ์นั้นได้ลึกซึ้งเป็นอย่างดี เช่น

ดอกบัว เป็นเครื่องหมายแห่งการประสูติ
บัลลังก์และต้นโพธิ์ เป็นเครื่องหมายแห่งการตรัสรู้
ธรรมจักรและกวางหมอบ เป็นเครื่องหมายแห่งการปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
สถูป เป็นเครื่องหมายแห่งปรินิพพาน

นอกจากรูปสัญลักษณ์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีรูปสัญลักษณ์อื่นที่ช่างชาวพุทธศาสนานิยมสร้างกันมากคือ รอยพระพุทธบาท อันเป็นเครื่องหมายแห่งการประทับรอยแห่งพุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงบนผืนแผ่นดินที่พระธรรมของพระองค์เผยแพร่ไปถึง ใบเสมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการสมมติกำหนดเขตขัณฑสีมาส่วนที่เป็นพุทธาวาสแดนบริสุทธิ์แห่งศาสนา และ พระพิมพ์หรือพระเครื่องเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าปางต่างๆ ขนาดเล็ก สำหรับติดตัวไว้เพื่อเคารพบูชา


บรรณานุกรม
• นายสุรศักดิ์ เจริญวงศ์

.....................................................
" สติปัญญา เราใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จริง แต่สตินั้นแท้จริงแล้ว เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิต มีคุณค่าอย่างเหลือที่จะประมาณ "


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร